- Love, Simon เป็นภาพยนตร์แนว Coming of Age ในปี 2018 บอกเล่าเรื่องราวของ ไซมอน หนุ่มม.ปลายที่เป็นเกย์แต่กลับต้องปิดบังตัวเองมาโดยตลอด
- ฉากที่น่าประทับใจที่สุดคงหนีไม่พ้นฉากที่ไซมอนตัดสินใจบอกพ่อแม่เรื่องเพศสภาพของตัวเอง ซึ่งคำตอบของพ่อแม่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ปลดล็อกไซมอนให้ก้าวเดินไปบนเส้นทางของเขาอย่างมีความสุข
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นภาพยนตร์รักในช่วงวัยรุ่นของเพศที่สามเรื่องแรกที่บริษัทภาพยนตร์ระดับยักษ์(ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟ็อกซ์)ของฮอลลีวู้ดผลิตขึ้น
“แอบตุ้งติ้งใช่ไหม” คำถามจากคนรอบตัวที่ผมได้ยินตั้งแต่เด็ก อาจเป็นเพราะผมเป็นคนเรียบร้อย ขี้อาย แถมยังชอบตุ๊กตาแฮมทาโร่ มากกว่าจะสะสมพวกหุ่นยนต์เท่ๆ
ยืนยันตรงนี้ก่อนว่าผมเป็นชายแท้ และต่อให้ผมจะมีความหลากหลายทางเพศหรือชอบผู้ชายแบบที่เพื่อนหลายคนหวัง ผมก็ไม่ได้มองว่าการชอบพอเพศเดียวกันเป็นเรื่องแปลกหรือน่าอาย แต่การต้องทนอยู่กับคนที่มีทัศนคติต่อต้าน LGBT ต่างหากคือปัญหาสำคัญ
สมัยเรียนโรงเรียนชายล้วน ครูประจำชั้นของผมอาศัยจังหวะที่ ‘เอ’ (นามสมมติ) เพื่อนเกย์คนหนึ่งขอไปเข้าห้องน้ำ บอกกับพวกผมว่าแม่ของเพื่อนคนนี้โทรมาปรึกษาหลังจากพาลูกไปพบจิตแพทย์ และขอให้โรงเรียนช่วยทำยังไงก็ได้ให้ลูกกลับมาเป็นผู้ชาย ครูจึงกำชับให้ทุกคนคอยช่วยเหลือเพื่อนคนนี้ให้กลับมาใน ‘ทางที่ถูกที่ควร’
“การเป็นตุ๊ดเป็นเกย์คืออาการทางจิตแต่มันรักษาได้ ฉะนั้นพวกเธอก็ช่วยครูดูเพื่อนหน่อยละกัน” ครูกล่าวทิ้งท้าย
ผมไม่แน่ใจว่าครูจะพูดประโยคนี้ทำไม เพราะหลังจากนั้น เอาเป็นว่านอกจากจะถูกล้อเรื่องเพศสภาพเหมือนเดิมแล้ว เอยังถูกล้อว่าเป็นโรคจิตเพิ่มเติม ส่วนครูประจำชั้นก็ดูจะเพิกเฉยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นราวกับปล่อยเป็นตามเวรตามกรรม
แม้เอกับผมจะไม่ได้สนิทกันมากนัก แต่เราก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเสมอ และผมกล้ายืนยันว่าตัวเองไม่เคยบูลลี่เอ เพราะเขาเป็นคนนิสัยดีและอ่อนโยนกว่าเพื่อนของผมหลายคน ดังนั้นพอได้ดูหรือได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับเพศทางเลือก ผมมักจะย้อนกลับมานึกถึงเหตุการณ์นี้ พร้อมกับตั้งคำถามว่าถ้าสมมติผมชอบพอเพศเดียวกันจริงๆ ผมควรจะประกาศตัวไปเลย หรือแอบซ่อนตัวตนเอาไว้เหมือนกับ ‘ไซมอน’ ตัวละครเอกจากภาพยนตร์เรื่อง Love, Simon
ไซมอน เป็นหนุ่มหล่ออเมริกันชั้นม.6 ที่ชีวิตค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ครอบครัวฐานะดี เพื่อนฝูงรักใคร่กลมเกลียว แถมครูที่โรงเรียนก็ออกจะเอ็นดูเขาเป็นพิเศษ
แต่ใครจะรู้ว่าในรอยยิ้มและความสมบูรณ์แบบที่ใครหลายคนเห็น ไซมอนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจตั้งแต่อายุ 13 ปี เมื่อจู่ๆ เขาก็เกิดอาการตกหลุมรัก ‘แดเนียล แรดคลิฟฟ์’ (นักแสดงผู้รับบทแฮร์รี่ พอตเตอร์) อย่างหนักถึงขั้นเก็บไปฝันเป็นเดือนๆ และถือเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสาย LGBT ของเขา
ไซมอนเก็บงำความลับนี้เป็นเวลาประมาณ 5 ปี กระทั่งวันหนึ่งที่เขาได้เข้าไปในเว็บไซต์กอสซิปยอดนิยมของโรงเรียน และได้พบอีเมลของ ‘บลู’ ซึ่งเป็นชื่อสมมติของเพื่อนนิรนามร่วมโรงเรียนที่ระบุว่าแม้ชีวิตของเขาก็ค่อนข้างดีงาม แต่ไม่มีใครเลยที่รู้ว่าเขาเป็นเกย์ ทำให้ไซมอนตัดสินใจส่งอีเมลหาบลูเพื่อแชร์ความรู้สึกร่วมจนกลายเป็นเรื่องราวสุดแสนประทับใจ
สำหรับผม ฉากที่ตราตรึงที่สุดในเรื่องคือการที่ไซมอนเปิดใจบอกพ่อกับแม่ถึงเพศสภาพของตัวเอง เพราะถึงแม้มันจะไม่ใช่การสนทนาที่ดีหรือราบรื่น โดยเฉพาะพ่อที่ช็อตฟีลทุกคนด้วยการปล่อยมุกทำนองว่าที่ไซมอนเป็นเกย์อาจเพราะเสียเซลฟ์เรื่องแฟนเก่าที่คิ้วหนาๆ ก่อนลุกออกจากวงสนทนาอย่างหัวเสีย แต่หลังจากนั้นพอมีสติ พ่อกลับเป็นคนเดินไปขอโทษไซมอนและแสดงออกว่าเขาเสียใจที่ไม่รู้ว่าลูกต้องจมอยู่กับความลับอันแสนอึดอัดนี้มานานหลายปี
“พ่อขอโทษนะ พ่อไม่ควรพลาดมันไป ไอ้มุกโง่ๆ พวกนั้น…แต่เผื่อว่าพ่อส่งสารไปไม่ถึง พ่อแค่อยากให้ลูกรู้ว่าพ่อรักลูกนะ และพ่อภูมิใจในตัวลูกมาก พ่อจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรในตัวลูกเลย…มาให้พ่อกอดหน่อย”
ผมไม่แน่ใจว่าผู้อ่านที่เป็นพ่อคนคิดเห็นอย่างไรกับการขอโทษลูกเมื่อตนพลาดพลั้งทำให้ลูกเสียใจ แต่สำหรับผมในฐานะลูกที่พ่อไม่เคยพูดคำว่า ‘ขอโทษ’ แถมยังมักตั้งคำถามกับผมต่อว่า “ระหว่างความถูกต้องกับความสงบสุขมึงจะเลือกอะไร?”
ผมชอบการแสดงออกของพ่อในฉากนี้ที่ยอมลดทิฐิหรืออีโก้ของความเป็นพ่อลงเพื่อขอโทษลูกในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตัวเอง แถมคำว่าขอโทษนี้ได้ช่วยทลายกำแพงระหว่างพ่อกับไซมอนให้กลับมาหยอกล้อพูดคุยกันดังเดิม
นอกจากพ่อของไซมอนจะกล้าเอ่ยปากขอโทษแล้ว ผมชื่นชมในการใช้คำพูดประกอบทั้งคำว่า ‘รักลูก’ ‘ภูมิใจในตัวลูก’ ‘ไม่เปลี่ยนลูก’ หรือการสวมกอดลูกโดยไม่ต้องพูดอะไรให้มากความ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นยาที่สมานความทุกข์ทรมานใจของไซมอนที่คั่งค้างมาแสนนาน
ด้านแม่ของไซมอนก็เป็นตัวอย่างที่ดีของแม่ที่เข้าอกเข้าใจ รู้จักรับฟังอย่างไม่ตีตรา และยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็นโดยไม่เคยแสดงอาการล้อเลียนหรือทำให้ลูกรู้สึกด้อยค่าตัวเอง
“แม่รู้ว่าลูกมีความลับ สมัยที่ลูกยังเด็ก ลูกสดใสร่าเริงมาก แต่สองสามปีมานี้ ลูกเหมือนคนกำลังกลั้นหายใจ แม่เคยอยากถามลูกเรื่องนี้แต่แม่ไม่อยากละลาบละล้วง แม่อาจจะตัดสินใจผิดพลาด…
การเป็นเกย์มันเป็นเรื่องของลูก มีสิ่งต่างๆ ที่ลูกต้องผ่านมันไปตามลำพังซึ่งแม่ไม่ชอบเลย ทันทีที่ลูกเปิดตัว ลูกบอกว่า “แม่ครับ ผมยังเป็นผมคนเดิม” แม่อยากให้ลูกฟังคำนี้จากปากแม่ ลูกยังเป็นลูกคนเดิม ไซมอน และลูกยังเป็นลูกชายคนเดิมที่แม่ชอบหยอก และคนเดิมที่พ่อเขาพึ่งพาในแทบจะทุกเรื่อง และยังเป็นพี่ชายคนเดิมที่คอยพูดชมอาหารของน้อง แม้แต่ตอนที่มันไม่อร่อย แต่ตอนนี้ลูกไม่ต้องกลั้นหายใจแล้วนะ ไซมอน ลูกสามารถเป็นตัวเองได้เต็มที่อย่างที่ไม่ได้เป็นมานานมาก ลูกคู่ควรกับทุกสิ่งที่ลูกปรารถนา”
แม้จะประโยคนี้ของแม่จะค่อนข้างยาว แต่ผมเชื่อว่าทุกคนคงจะรู้สึกอิ่มเอมกับคำพูดอันแสนอบอุ่นของแม่ที่ทำให้ไซมอนรู้ว่าไม่ว่าเขาจะเป็นยังไง แม่ก็จะรัก ยอมรับ สนับสนุน พร้อมเป็นที่พักพิง และให้คุณค่าของไซมอนผ่านนิสัยที่สุภาพอ่อนโยนของเขา ซึ่งหลังจากที่ไซมอนได้ยิน ผมจึงไม่แปลกใจเลยที่เขาจะกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอีกครั้ง ทั้งยังกล้าที่จะโพสต์ยอมรับเพศสภาพของตนเอง
“…ใครก็ตามที่มีคอมพิวเตอร์ใช้คงรู้แล้วว่า โพสต์เมื่อไม่นานนี้บนเว็บนี้ประกาศว่าผมเป็นเกย์ แม้วิธีการจะเลวร้าย แต่ข้อความเป็นเรื่องจริง ผมเป็นเกย์ ผมฝืนทรมานตัวเองเพื่อซ่อนความจริงนี้มานานมาก ผมมีเหตุผลต่างๆ นาๆ คิดว่าไม่ยุติธรรมที่เกย์เท่านั้นต้องเปิดเผยตัวตน ผมเกลียดความเปลี่ยนแปลง แต่ความจริงก็คือผมแค่กลัว ตอนแรกผมคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติของเกย์ แต่แล้วผมก็รู้ว่าไม่ว่าจะยังไงการประกาศตัวเองให้โลกรู้เป็นเรื่องที่น่าหวั่นกลัว เพราะถ้าโลกนี้ไม่ชอบเราล่ะ ดังนั้นผมจึงทำทุกทางเพื่อปกปิดความลับ
ผมทำร้ายคนที่ดีที่สุดและสำคัญที่สุด และผมอยากให้พวกเขารู้ว่าผมเสียใจ พอกันทีกับความกลัว พอกันทีกับการอยู่ในโลกที่ผมไม่ได้เป็นตัวเอง…”
แน่นอนว่าทั้งผมและไซมอนก็ไม่ได้โลกสวยหรือมองว่าการที่ใครออกมายอมรับว่าเป็นเกย์จะง่ายดายทั้งหมด เพราะถึงแม้สังคมสมัยนี้จะเปิดกว้างยอมรับความหลากหลายได้กว่าอดีต แต่นั่นไม่ได้แปลว่าการบูลลี่หรือด้อยค่าเรื่องเพศสภาพจะหายไป
อย่างไรก็ตามผมเชื่อลึกๆ ว่าต่อให้โลกภายนอกจะโหดร้ายแค่ไหน ขอเพียงครอบครัวเข้มแข็ง เรื่องแย่ๆ ที่ประสบพบเจอก็ย่อมทุเลาเบาบางลง
Love, Simon หรืออีเมลลับฉบับไซมอน สร้างจากหนังสือชื่อเดียวกันของ Becky Albertalli นักเขียนและนักจิตวิทยาคลินิกผู้เชี่ยวชาญด้านวัยรุ่นโดยเฉพาะ ดังนั้นเรื่องจากปลายปากกาของเธอจึงไม่เพียงแค่จำลองสถานการณ์ปัญหาที่วัยรุ่นต้องเผชิญ แต่ยังแอบสอดแทรกวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นเข้าไปอย่างแนบเนียน |