- ในบรรดากรอบคิดหรือชุดคำศัพท์ที่ใช้อธิบายปรากฎการณ์ทางสังคม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น BANI World เป็นคำที่กำลังได้รับความสนใจในวงวิชาการ
- BANI เป็นผลงานของนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน Jamais Cascio เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของตัวอักษรหน้าคำศัพท์ 4 คำ ได้แก่ Brittle ความเปราะบาง, Anxious ความกังวล, Nonlinear การคาดเดายาก, Incomprehensible ความเข้าใจได้ยาก
- ‘การรู้โดยสัญชาตญาณ’ (Intuition) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยคลี่คลายความไม่รู้หรือความไม่เข้าใจได้ จากการศึกษาพบว่าการเรียนรู้โดยสัญชาตญาณเกิดขึ้นในเด็กตั้งแต่อายุประมาณ 6 ขวบ เด็กในช่วงวัยนี้เรียนรู้และตัดสินใจโดยอาศัยสัญชาตญาณได้แล้ว
“ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นได้?”
“ทำไมพวกเขาถึงทำอย่างนั้น?”
“พวกเขากำลังคิดอะไรอยู่?”
“ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งของนี้ คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร?”
ภาวะของความสับสน งุนงง พยายามทำความเข้าใจแต่จับต้นชนปลายไม่ถูก บทสรุปสุดท้ายพบว่า ยิ่งค้นหาคำตอบยิ่งไม่เข้าใจและไม่สามารถหาเหตุผลที่เข้าท่ามาอธิบายได้ เป็นสภาวะที่ใช้อธิบาย ‘Incomprehensible’ หรือ ‘ความไม่เข้าใจ’ ในโลกโกลาหล หรือ BANI World ได้เป็นอย่างดี
Incomprehensible – ภาพลวงตาของข้อมูลความรู้ ที่ยิ่งค้นหายิ่ง (ไม่) ค้นพบ
จาไมส์ คาสซิโอ (Jamais Cascio) นักมานุษยวิทยาและนักเขียนผู้มีความสนใจด้านอนาคต อธิบายว่า ใน BANI World หรือ โลกโกลาหล เรารู้สึกเหมือนกำลังพยายามค้นหาคำตอบสำหรับปัญหาที่ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่สามารถกำกับหรือควบคุมอะไรได้ และไม่สามารถตีความได้ว่าสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่นั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร หลายต่อหลายครั้งกลับพบว่า คำตอบที่ค้นเจอไม่น่าพอใจและไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
อีกแง่หนึ่ง กล่าวได้ว่า ‘การคิดว่ารู้’ เปรียบเสมือนภาพลวงตาของความรู้ หลายคนเข้าใจว่าตนเองเข้าใจแล้ว ทำให้ปิดประตูรับการเรียนรู้หรือความรู้ที่ต่างไปจากเดิม
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมักเห็นพ้องตรงกันว่า ‘ยิ่งรู้มากเท่าไหร่ ยิ่งตระหนักได้ว่าแทบไม่รู้อะไรเลย’ เพราะคำตอบที่ได้จากคำถามหนึ่ง มักนำไปสู่คำถามถัดไป จึงเหมือนการยิ่งค้นหาก็ยิ่งไม่ค้นพบคำตอบ
ด้วยเหตุนี้ คาสซิโอ จึงกล่าวว่า BANI World เป็นโลกที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้พัฒนาแนวคิดหรือวิธีการใหม่ๆ เพื่อตอบคำถามที่ตนสงสัยและตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เข้าใจได้ยาก
ยิ่งโปร่งใส ยิ่งสร้างความเข้าใจ
นวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้น และข้อมูลข่าวสารที่แพร่หลายจนท่วมท้น ความต้องการรู้ การอยากทำความเข้าใจ ยิ่งทำให้ความต้องการหาคำตอบมีมากขึ้น แต่ใช่ว่าทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องหรือเชื่อถือได้
ความเหลื่อมล้ำ เช่น การเข้าไม่ถึงอุปกรณ์สื่อสาร นำมาสู่การคาดการณ์คำตอบที่ยิ่งสร้างความสับสน คาสซิโอ กล่าวว่า ความไม่เข้าใจนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อมูลที่มีมากล้น และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เร็วเกินไปจนเกิดช่องว่างทางสังคม
ทั้งนี้ การคลี่คลายความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้นจากความไม่รู้ สามารถแก้ไขได้ด้วย ‘ความโปร่งใส’ (Transparency) หรืออีกด้านหนึ่ง คือ การเปิดเผย (ข้อมูล) ให้ได้มากที่สุด รวมถึงการนำประสบการณ์ทั้งจากความล้มเหลวและความสำเร็จมาเป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจ หรือที่เรียกว่า ‘การรู้โดยสัญชาตญาณ’ (Intuition)
ยกตัวอย่างเรื่องความโปร่งใสในตลาดอาหาร หลายบริษัทนำเสนอคุณค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยการระบุที่มาหรือต้นทางของอาหาร รวมถึงส่วนประกอบที่เป็นจุดเด่น และส่วนประกอบอื่นๆ อย่างละเอียด ยิ่งให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคมากเท่าไหร่ ยิ่งได้รับความน่าเชื่อถือและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในตลาด ช่วยดึงดูดผู้บริโภคให้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมากขึ้น ทลายกำแพงของความไม่รู้ด้วยข้อมูลที่โปร่งใสและเข้าถึงได้
ในมุมมองด้านการศึกษา Transparency in Learning and Teaching (TiLT) หรือ ความโปร่งใสในการเรียนรู้และการสอน เป็นชุดกลยุทธ์การสอนอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในชั้นเรียน กลยุทธ์การสอนนี้มุ่งเน้นการนำเสนอและสร้างความเข้าใจให้ผู้เรียนเห็นภาพรวมของการเรียนรู้และตอบข้อสงสัยต่อไปนี้ของผู้เรียน
- ทำไมต้องเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้? เป้าหมายของการเรียนรู้คืออะไร ข้อมูลความรู้เหล่านี้จะช่วยให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ได้อย่างไร แล้วส่งผลต่ออาชีพหรือการใช้ชีวิตของพวกเขาในอนาคตอย่างไร?
- ขั้นตอนการเรียนรู้ประกอบด้วยอะไรบ้าง? มีอะไรที่ต้องสนใจเป็นพิเศษ?
- การทำกิจกรรมต่อไปนี้ จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาหรือหลักสูตรได้ดีขึ้นอย่างไร?
- ผู้สอนจะใช้เกณฑ์อะไรประเมินผลงานของผู้เรียน?
จากการศึกษาโดย แมรี่ แอน วินเคิลเมส (Mary-Ann Winklemes) พบว่า การสอนที่โปร่งใสช่วยให้ผู้เรียนทำงานในแต่ละรายวิชาได้ดีขึ้น และมีแนวโน้มที่จะศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นโดยไม่ลาออกกลางคัน นอกจากนี้ ยังช่วยลดช่องว่างด้านความสำเร็จ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เรียนที่ด้อยโอกาส ผลการวิจัย ระบุว่า เมื่อผู้สอนใช้กลยุทธ์การสอนแบบ TiLT ผู้เรียนมีความมั่นใจในตัวเองเชิงวิชาการมากขึ้น มีความรู้สึกเป็นเจ้าของการเรียนรู้ และรู้สึกว่าทักษะที่ตนกำลังพัฒนาจะเป็นที่ยอมรับในการประกอบอาชีพในอนาคต
การเพิ่มความโปร่งใสในหลักสูตร
ทั้งนี้ ผู้สอนสามารถสร้างความโปร่งใสให้กับหลักสูตร ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับผู้เรียนได้ดังนี้
- ผู้สอนอธิบายเป้าหมายการเรียนรู้ของงานที่มอบหมายแก่ผู้เรียนอย่างชัดเจน โดยระบุวัตถุประสงค์ ขั้นตอนการทำงาน และเกณฑ์ประเมินความสำเร็จ ตั้งแต่เริ่มต้น
- วัดความเข้าใจของผู้เรียนระหว่างการเรียนรู้ และอธิบายเหตุผลให้ผู้เรียนรับทราบ
- ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมประเมินผลงานของตนเอง หรือ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันในชั้นเรียน
- เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พูดคุยและซักถามถึงข้อติดขัดในการเรียน นอกจากนี้ ผู้สอนสามารถให้คำแนะนำผู้เรียนเพื่อพัฒนาและปรับปรุงผลงานของผู้เรียนก่อนประเมินผลได้
- ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมวางแผนหัวข้อการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับหลักสูตร/เนื้อหาที่ผู้สอนกำลังวางแผนการสอน
ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้เรียน ตีพิมพ์ในวารสารด้านการศึกษา “The Journal of Effective Teaching” ปี 2013 กล่าวถึงการออกแบบการเรียนการสอนที่มีความโปร่งใสว่า
“ฉันเข้าใจว่าทำไมถึงต้องทำโปรเจกต์นี้…การเรียนส่วนใหญ่หากเราได้รับมอบหมายให้ทำงานกลุ่ม เราจะรู้สึกเหมือนครูขี้เกียจเลยให้ทำงานกลุ่ม ทำให้ไม่อยากเข้าเรียนในสัปดาห์ถัดไป แต่การออกแบบหลักสูตรให้มีความโปร่งใสทำให้เราเห็นว่าครูไม่ได้ทำให้เรายุ่งและเสียเวลาไปเปล่าๆ เรามองเห็นภาพว่าความคิดของเราจะถูกนำไปใช้ในการวางแผนการสอน ทำให้เราทำโปรเจกต์ได้อย่างตั้งใจและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเห็นความเชื่อมโยงว่าทำไปเพื่ออะไร แล้วมีประโยชน์อะไรกับตัวเอง”
สร้างความเข้าใจผ่านการรู้โดยสัญชาตญาณ
นอกจากความโปร่งใสแล้ว คาสซิโอ กล่าวว่า ‘การรู้โดยสัญชาตญาณ’ (Intuition) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยคลี่คลายความไม่รู้หรือความไม่เข้าใจได้ จากการศึกษาพบว่าการเรียนรู้โดยสัญชาตญาณ (Intuitive Learning) เกิดขึ้นในเด็กตั้งแต่อายุประมาณ 6 ขวบ นั่นหมายความว่า เด็กในช่วงวัยดังกล่าวเรียนรู้และตัดสินใจโดยอาศัยสัญชาตญาณได้แล้ว
การเรียนรู้โดยสัญชาตญาณเริ่มต้นจากประสาทสัมผัส (Senses) และการรับรู้ (Perceptions) ทำงานเชื่อมต่อกับจิตใต้สำนึก (Subconscious) ซึ่งเป็นพื้นที่สะสมประสบการณ์และที่เก็บตัวของคุณลักษณะต่างๆ (Personality) ที่สะท้อนความเป็นตัวตนของแต่ละบุคคล การแก้ปัญหาโดยสัญชาตญาณมักเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร เนื่องจากไม่มีประสบการณ์มาก่อน เราจึงตอบสนองต่อสถานการณ์ลักษณะนี้ด้วยลางสังหรณ์ตามแรงกระตุ้นโดยสัญชาตญาณ
การศึกษาในปี 1976 (https://catalogue.nla.gov.au/Record/5310587)) เกี่ยวกับการคิดโดยสัญชาตญาณชี้ให้เห็นพัฒนาการของเด็กวัย 6 ขวบที่สอดคล้องกับคำอธิบายตามทฤษฎีการพัฒนาทางสติปัญญญาของเด็ก โดย ฌอง เปียเจย์ (Jean Piaget) นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวคือ
“ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 7 ปี เป็นช่วงเวลาแห่งชีวิตที่เจตจำนง (willing) ค่อยๆ พัฒนาขึ้นเพื่อวางรากฐานการใช้ชีวิต คำว่าเจตจำนงในที่นี้ให้ความหมายถึงความมุ่งมั่นตั้งใจตามธรรมชาติ เช่น พัฒนาการของเด็กทารกตั้งแต่การตั้งไข่ พยายามเกาะ ยืน แล้วเดิน การพูดและการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งเกิดขึ้นตามสัญชาตญาณ ไม่ต้องใช้ความรู้สึกหรือการคิดวางแผน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กในช่วงวัยนี้จะไม่รู้สึกหรือไม่คิดอะไรเลย เพียงแต่แรงกระตุ้นที่มีอิทธิพลมากที่สุด คือ การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ หรือการเลียนแบบ” (https://thepotential.org/knowledge/willing-feeling-thinking/)
อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้โดยสัญชาตญาณทำงานสัมพันธ์และสนับสนุนการเรียนรู้อย่างมีเหตุผล มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) นักข่าวและเจ้าของหนังสือด้านสติปัญญาที่มียอดขายถล่มทลายอย่าง ‘The Tipping Point’ และ ‘Blink’ กล่าวว่า การเรียนรู้โดยใช้เหตุผลอาจใช้เวลานับเดือน ขณะที่การเรียนรู้โดยสัญชาตญาณเกิดขึ้นได้ภายในช่วงเสี้ยววินาที แต่ทั้งสองส่วนมีความเกี่ยวข้องกัน เพราะท้ายที่สุดเมื่อเติบโตขึ้นการทำตามสัญชาตญาณจะผสมผสานเข้ากับประสบการณ์ชีวิต สอดคล้องกับงานวิจัยจาก University of Tübingen ประเทศเยอรมันนีที่ผลการศึกษาสนับสนุนว่า การตัดสินใจโดยสัญชาตญาณมักเริ่มต้นจากประสบการณ์เดิมเสมอ (https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/27110441/)
ทั้งนี้ แม้วัยเด็กจะไม่มีประสบการณ์มากนัก แต่ข้อได้เปรียบของพวกเขาคือ วัยเด็กมีความคิดสร้างสรรค์สูงจากการไม่ถูกจำกัดภายใต้กรอบหรือการพยายามใช้เหตุผลมากเกินไป การตอบสนองโดยสัญชาตญาณของพวกเขาจึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติตามธรรมชาติ
สรุปได้ว่าสัญชาตญาณที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติ ในระยะยาวเกิดขึ้นจากการลงมือทำลองผิดลองถูก สั่งสมเป็นชุดความรู้หรือคลังข้อมูลส่วนตัวจากประสบการณ์ที่ระบบสมองจะทำมาประมวลผลเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์บางอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน แล้วผสมผสานกับการคิดอย่างมีเหตุผล ทั้งหมดทั้งมวล สะท้อนให้เห็นแนวทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่หนีไม่พ้นการเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้เรียนรู้จากการลงมือทำ (Learning by Doing)
BANI World หรือ โลกโกลาหลนี้ เต็มไปด้วยสิ่งแปลกใหม่ที่ชวนให้ไม่เข้าใจมากมาย คนเราจึงต้องการความชัดเจนเพื่อสร้างความรู้สึกมั่นคง ทั้งความโปร่งใสและการรู้โดยสัญชาตญาณจะช่วยให้เราพาตัวเองออกจากเขาวงกต คลี่คลายความไม่เข้าใจในสิ่งที่ไม่รู้ ให้กระจ่างชัดขึ้นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
https://thepotential.org/knowledge/bani-world-ep1-brittle/
https://thepotential.org/knowledge/bani-world-ep2-anxious/
https://thepotential.org/knowledge/bani-world-ep3-nonlinear/
อ้างอิง
https://exploringyourmind.com/intuitive-learning/
https://www.gse.harvard.edu/news/ed/20/05/teacher%E2%80%99s-intuition
https://medium.com/@cascio/facing-the-age-of-chaos-b00687b1f51d
https://thinkinsights.net/leadership/bani/
https://resources.kenblanchard.com/blanchard-leaderchat/dealing-with-change-in-a-bani-world
https://tilthighered.com/tiltexamplesandresources
https://citl.indiana.edu/teaching-resources/diversity-inclusion/tilt/index.html