- ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2554 ธันย์คือเด็กสาววัย 14 ปีที่ตกเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก หลังไปเรียนซัมเมอร์ที่สิงคโปร์และประสบอุบัติเหตุตกลงไปในราง MRT ก่อนถูกรถไฟฟ้าทับจนสูญเสียขาทั้งสองข้าง
- หลังการพักฟื้นที่ยาวนาน ธันย์กลับมาเมืองไทยพร้อมให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยทัศนคติเชิงบวกที่เปี่ยมด้วยความหวังและพลังในการใช้ชีวิต จนใครต่อใครต่างเรียกขานเธอว่า ‘สาวน้อยคิดบวก’
- ปัจจุบัน ธันย์มองว่าอุบัติเหตุครั้งนั้นคือไดอารี่แสนรักที่เธอภูมิใจ เพราะนอกจากจะเป็นหลักสูตรเร่งรัดที่ทำให้เธอตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิต บทเรียนของเธอยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย
“แกร่งดังเช่นภูผา ใหญ่และสูงเสียดฟ้า หนึ่งชีวิตคือธรรมดา กี่รอยแผลยินดีรับมา ในคราที่โลกโหดร้าย ไม่หลีกหนีไปไหน ไม่เคยคิดหวั่นไหว ตระหง่านไว้ให้ใครได้ชื่นชม หนึ่งชีวิตท่ามกลางคลื่นลม มีปะปนดีร้าย”
(เพลง ‘ดัม-มะ-ชา-ติ’ – Bodyslam)
ในวันที่รู้สึกท้อแท้กับปัญหาต่างๆ ในชีวิต เชื่อว่าหลายคนคงจะหาเพลงความหมายดีๆ สักเพลง หนังสือดีๆ สักเล่ม หรือไม่ก็ใครสักคนที่คอยปลอบประโลมความเปราะบางที่ซ่อนอยู่ในใจ ชวนให้เรามองโลกอย่างมีความหวัง แม้โจทย์ชีวิตจะยากเกินรับไหว
The Potential ชวนคุยกับ ‘ธันย์’ ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ นางเอก MV เพลง ดัม-มะ-ชา-ติ ที่ครั้งหนึ่งเธอเคยตกเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก จากกรณีเด็กหญิงชาวไทยอายุ 14 ปีประสบอุบัติเหตุถูกรถไฟฟ้าที่สิงคโปร์ทับจนสูญเสียขาทั้งสองข้าง ทว่าด้วยมุมมองทัศนคติที่ดีทำให้เธอสามารถเปลี่ยนเรื่องร้ายๆ ให้กลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการเรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต กระทั่งสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดหลายอย่าง สู่การเป็น ‘สาวน้อยคิดบวก’ ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน
ชีวิตวัยเด็กของธันย์เป็นยังไง?
บ้านเกิดของธันย์อยู่ที่จังหวัดตรัง ครอบครัวฐานะปานกลาง พ่อแม่ทำงานค้าขาย ไม่มีพี่เลี้ยงดูแล เพราะฉะนั้นครอบครัวจะเน้นให้ช่วยเหลือตัวเองเป็นหลัก ใครพอทำอะไรได้ก็ทำ ไม่เป็นภาระซึ่งกันและกัน เราก็จะถูกสอนให้หาข้าวกินเอง ไปโรงเรียนเอง รับผิดชอบชีวิตตัวเอง ซึ่งจะเป็นแบบนั้นทั้งตัวธันย์และพี่สาว เพราะฉะนั้นชีวิตจึงเป็นเหมือนเด็กที่แก่นๆ หน่อยเอาตัวรอดได้ เพราะการอยู่ต่างจังหวัดก็จะมีสภาวะที่ต้องดิ้นรนเยอะ ทุกเช้าต้องตื่นเองและรีบวิ่งขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียนให้ทัน
ตอนเด็กๆ ธันย์เรียนกลางๆ ค่อนไปทางแย่นิดหน่อย โชคดีที่ที่บ้านไม่ได้ปลูกฝังค่านิยมว่าจะต้องเรียนได้ที่เท่านั้นเท่านี้ ยิ่งที่บ้านมีพี่น้องสองคน ซึ่งพี่สาวธันย์ได้สร้างความประทับใจให้พ่อแม่ไปหมดแล้ว ทั้งกีฬาเด่น การเรียนเริ่ด ความประพฤติดี มีชื่อติดหน้าโรงเรียน ทุกคนจำชื่อพี่ได้ คือเวลาเข้าไปในโรงเรียนทุกคนก็จะจำว่า อ้อ! นี่น้องสาวของคนนี้ พี่เป็นยังไงบ้าง ตอนเด็กเป็นแบบนั้น เราก็รู้สึกว่าเราเรียนไม่เก่งมากก็ไม่เป็นไรเพราะพ่อแม่ได้รับคำชมเรื่องพี่ไปมากแล้ว
ฟังดูเหมือนว่าชีวิตก็มีความสุขดี แต่แน่นอนว่าธันย์ก็ต้องมีเรื่องทุกข์ใจบ้าง?
ถึงครอบครัวไม่ได้มีค่านิยมเรื่องผลการเรียน แต่เราก็รู้สึกว่าพอมาถึงจุดหนึ่ง ชีวิตก็เกิดจุดเปลี่ยนตั้งแต่ก่อนไปสิงคโปร์ คือเรื่องการบูลลี่กันในโรงเรียนสมัยป.6 แม้จะไม่ใช่การบูลลี่หนักๆ แบบเป็นกลุ่มเป็นแก๊ง แต่มันเป็นการบูลลี่จากเพื่อนที่นั่งข้างเรา เพราะเราเรียนไม่เก่ง แล้วเขาก็เอาศักยภาพเรามาล้อเลียน
ตอนนั้นเราเลยรู้สึกว่าไม่ชอบอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ เพราะเหมือนเขากดดันเราเพื่อให้ตัวเองเหนือกว่า รู้สึกแย่ สภาพจิตใจไม่แฮปปี้ จากปกติเรียนได้ที่เท่าไหร่ครอบครัวก็ไม่ได้ว่า มันเลยกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการศึกษาของธันย์ จากที่เรียนได้ที่โหล่ๆ ก็ค่อยๆ กลับมาหาจุดที่ท้าทายหรือแก้สิ่งนั้นให้เราเรียนเก่งขึ้น หลังจากนั้นก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อย้ายโรงเรียน ไม่อยากอยู่ที่นี่แล้ว ซึ่งโรงเรียนอื่นในต่างจังหวัดก็มีไม่กี่โรงเรียนที่จะอัพเลเวลจากที่ที่เป็นอยู่ ช่วงนั้นเลยตั้งใจเรียน เปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง จากเมื่อก่อนกลับมาบ้านสิ่งแรกที่ทำคือการเล่นเกมสร้างสวนสัตว์ กลายเป็นวิ่งกลับบ้านมาอ่านหนังสือสอบ ตื่นเช้าก็อ่านต่ออีก มันเหมือนหาจุดของตัวเองได้ว่าจริงๆ แล้วเราก็มีความเก่งนะ จนกระทั่งธันย์สอบติดโรงเรียนประจำจังหวัดที่แข่งขันสูงอย่างจุฬาภรณราชวิทยาลัย
ตอนนั้นมีความฝันหรือวางอนาคตไว้ไหมว่าอยากเป็นอะไร?
ตอนนั้นธันย์มีความฝันตามค่านิยม อย่างสมัยนั้นเขาฮิตอยากเข้าวงการบันเทิง เด็กหลายคนน่าจะอยากเป็นนักร้องดารา ธันย์เลยรู้สึกว่าตัวเองก็อยากเป็น หรือบางทีก็อยากเป็นแอร์โฮสเตส หรือทำอาชีพที่ได้เงินเยอะๆ มีการยอมรับทางสังคม ตอนนั้นเวลาคุณครูถามแต่ละปีก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่มีอาชีพที่เราอยากเป็นจริงๆ พอโตขึ้นมาหน่อย เราก็รู้แค่ว่าภาพใหญ่ๆ ของทุกอาชีพที่เราอยากเป็น คือเราอยากทำอะไรก็ได้ที่สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง เช่น หมอหรืออาชีพอื่นที่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของคนอื่นดีขึ้น
ช่วงมัธยมก็เริ่มเลือกสายการเรียน ตอนนั้นรู้สึกอยากช่วยเหลือคน ธันย์เลยคิดว่าแผนการเรียนที่ซัพพอร์ตที่สุดคือวิทย์-คณิต เพราะเราไม่รู้ว่าจะเป็นแพทย์หรือเปล่าหรือจะเป็นจิตแพทย์หรืออาจจะเป็นพยาบาล ตอนนั้นเลยเลือกสายวิทย์เพราะเป็นสายที่ค่อนข้างกว้าง
แล้วทำไมถึงได้ไปเรียนที่สิงคโปร์?
พอเรารู้สึกว่ารู้จักชีวิตที่บ้านเกิดหมดแล้ว ช่วยเหลือตัวเองได้ เลยอยากออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง เริ่มมีความคิดอยากไปที่ที่เราไม่เคยไป ที่ที่ไม่มีใครรู้จักเรามาก่อน และไม่รู้จะช่วยเหลือเรายังไง มันเหมือนเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่เราจะได้เรียนรู้ ตอนนั้นเลยตัดสินใจสอบชิงทุนพวก AFS ปรากฏว่าธันย์ได้ที่แคนาดา แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไปเพราะว่าระยะเวลาที่ไปกับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียมันไม่คุ้ม ธันย์ก็เลยตัดสินใจลองหาวิธีการใหม่ ก็ไปรู้จักคุณลุงคนหนึ่งที่เคยไปเรียนที่สิงคโปร์มาก่อน เขาช่วยติดต่อผู้ปกครองที่อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ให้ รวมถึงช่วยจัดการเรื่องต่างๆ ธันย์ก็เลย Backpack ไปตอนปิดเทอมใหญ่ม.2 ไม่ได้ขึ้นเครื่องบิน พ่อขับรถจากตรังไปส่งหาดใหญ่ เพื่อซื้อตั๋วรถทัวร์นั่งผ่านมาเลเซียไปที่สิงคโปร์ จากนั้นก็ใช้ชีวิตอยู่ที่สิงคโปร์ 1 เดือน
แล้วอุบัติเหตุก็เกิดขึ้นระหว่างนั้น?
ตอนนั้นธันย์อายุ 14 ปี (พ.ศ.2554) จริงๆ เหตุการณ์ทุกอย่างในวันนั้นเกิดขึ้นเร็วมาก คือธันย์เรียนซัมเมอร์ที่สิงคโปร์ระยะเวลา 1 เดือน ไปใช้ชีวิตทำกิจกรรมทุกอย่างเหมือนได้ไปเรียน Manage ชีวิตตัวเองอย่างเต็มตัว วันนั้นจำได้ว่าอยู่มา 3 สัปดาห์แล้ว เดินทางก็คล่องแล้ว สัปดาห์สุดท้ายก่อนกลับเลยนัดเพื่อนจะไปเที่ยวกันวันอาทิตย์ ธันย์ก็ไปยืนรอรถไฟฟ้าเหมือนปกติทุกวัน แต่วันนั้นเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันคือเรายืนรอหลังเส้นเหลืองคนแรก หลังจากนั้นคนก็เริ่มมาต่อแถวหลังเราเยอะขึ้น เพราะเป็นเวลาที่คล้าย Prime Time ที่นั่น กระทั่งได้ยินเสียงว่ารถกำลังเข้ามา คนก็เริ่มดันกัน หลังจากนั้นธันย์ก็ถูกเบียดและตกลงไปเลย
ตอนนั้นทั้งตกใจทั้งสับสน มันมีหลายอารมณ์มาก มันไม่ได้เหมือนหนังที่เจอเหตุการณ์แล้วร้องกรี๊ดเสียสติ แต่ธันย์มีความรู้สึกแบบ…มันเกิดอะไรขึ้น พยายามเรียบเรียงอยู่ คือทุกอย่างมันเหมือนรวมๆ กัน พอธันย์ตกลงไป สิ่งแรกที่ธันย์จำได้ก็คือธันย์จับหน้าตัวเองแบบในหนัง
ธันย์ไม่แน่ใจว่ามันคือเรื่องจริงหรือมันคือความฝัน แต่ทุกอย่างมันเหมือนจริงมาก มีทั้งความร้อนทั้งบรรยากาศทั้งซาวด์ทั้งเอฟเฟกต์ พอเราควบคุมสติได้แล้ว ก็บอกตัวเองว่ามันคือเรื่องจริงนะ
วันนั้นธันย์จำได้ว่าธันย์ใส่กางเกงยีนส์ขาเดฟ แล้วธันย์ใส่มือถือในกระเป๋ากางเกง พวกเพื่อนที่รู้ว่าเราเป็นคนตรงต่อเวลาก็โทรมาตามด้วยความเป็นห่วง แบบเฮ้ย!เป็นอะไร ไม่ตื่นหรือเปล่า เกิดอะไรขึ้น ธันย์จำได้ว่าพออยู่ใต้ท้องรถก่อนที่เจ้าหน้าที่จะลงมาช่วยเราก็รับสายแล้วบอกเพื่อนว่า เราเกิดอุบัติเหตุ ช่วยติดต่อใครก็ได้ เพื่อนก็ช่วยสื่อสารติดต่อเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยเหลือ
จากนั้นธันย์คิดว่าทำยังไงก็ได้ให้คนรู้ว่าเราอยู่ตรงนั้น พยายามใช้เสียงเรียกให้ดังที่สุดเท่าที่จะทำได้ พยายามเงยหน้าขึ้นไปมองตรงช่องแคบๆ ที่เห็นเวลาเราจะก้าวข้ามรถ เราก็เห็นว่ามีคนอยู่ข้างบนที่เห็นเราแล้วตื่นตระหนกกัน แล้วอยู่ดีๆ ก็มีรปภ.คนหนึ่งเดินมา เขาก็นั่งก้มมองมาที่ช่องแคบตรงนั้น เราก็บอกเขาว่า “Help Me Please” ใช้ภาษาง่ายสุดเลย เขาก็แบบ “Ok Ok Don’t Move” ธันย์ก็ทำอะไรไม่ได้ต้องรออยู่ใต้ท้องรถ
ด้วยบรรยากาศตอนนั้น ธันย์พยายามที่จะลุกออกมา พยายามที่จะขยับ คือด้วยความที่ธันย์เป็นเด็กมากทำให้ธันย์ไม่แน่ใจว่ารถไฟมันจะเคลื่อนอีกไหม หรือว่ามันจะต้องทำยังไงคืออยากเอาตัวเองออกไปจากตรงนั้น สุดท้ายพอรอไปสักพัก ก็มีเจ้าหน้าที่เอาอุปกรณ์ลงมาทีละคน เหมือนเขาต้องคลานเข้ามาใต้ท้องรถ แล้วเอาเปลมารับธันย์ ค่อยๆ ลากธันย์ออกไป เพราะรถไฟก็เคลื่อนที่ไม่ได้ จะให้ยกรถไฟขึ้นก็ไม่ได้ ทำได้วิธีการเดียวคือต้องเอาธันย์ออกมาจากใต้ท้องรถ ตอนนั้นจำได้ว่าเขามาช่วยเราแล้ว เขาก็พยายามอุ้มเราเข้าไปตรงเปล
หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น เมื่อธันย์รับรู้ว่าตนเองต้องสูญเสียขาทั้งสองข้าง สภาพจิตใจเป็นอย่างไร?
หลังถูกส่งมาโรงพยาบาลตอนนั้นยังมีสติอยู่ก็เหมือนรู้เหตุการณ์จนกระทั่งไปอยู่ห้องผ่าตัด แล้วธันย์ได้คุยกับคุณหมอ ได้เห็นเหตุการณ์สุดท้ายของตัวเองก่อนดมยาสลบ คุณหมอบอกธันย์ว่าจะ “Cut Your Legs” แล้ว ซึ่งธันย์เองก็เตรียมใจไว้แต่แรกประมาณ 50% เพราะตอนอยู่ใต้ท้องรถ ไม่ใช่ว่าเราไม่พยายามช่วยเหลือตัวเอง เราพยายามจะคลานออกมา แต่มันเป็นความรู้สึกที่เราไม่มีความรู้สึกแล้ว มันไม่เหมือนกับเวลาเรากระดิกนิ้ว ตอนนั้นเหมือนจะยกตัวขึ้นมาแล้วมันก็ล้มลงไปเลยแบบไม่มีความรู้สึก ตอนนั้นธันย์เตรียมใจส่วนหนึ่งว่ามันน่าจะต้องโดน แล้วพออยู่ห้องผ่าตัดจริงๆ รู้ว่าต้องโดนจริงๆ ก็เข้าใจว่าคงทำอะไรไม่ได้
ความรู้สึกตอนนั้นก็คืออยากให้คุณหมอทำยังไงก็ได้ อยากรักษาให้หาย จะเป็นยังไงก็ได้เหมือนยอมรับทุกการตัดสินใจ แต่แค่รับฟังว่าเหตุการณ์ลำดับมันเป็นแบบไหนยังไงแล้ว
หลังจากสลบไปแล้วตื่นขึ้นมา ธันย์ก็รู้เลยว่ามันไม่ใช่ความฝัน มันคือความรู้สึกที่เออ…เกิดขึ้นจริงๆ นะ แต่มันแปลกมากตรงที่เราร้องไห้ออกมา แต่ไม่ได้ฟูมฟาย เรามองไปที่ผ้าห่มบางๆ แล้วเห็นว่าตั้งแต่ช่วงเข่าลงไปมันเรียบไปกับเตียง ซึ่งตอนนั้นมันเป็นความรู้สึกแบบ Blank Blank ว่างเปล่ามาก
อีกอย่างการรักษามันเจ็บมันปวดมาก เราเลยโฟกัสอยู่แค่การรักษา ความรู้สึกธันย์คือไม่สนใจอะไรแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องโรงเรียนหรืออะไรก็ตาม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในช่วงอุบัติเหตุ มันจะมีความคิดฟุ้งซ่านขึ้นมาเยอะมากว่า อ้าว…แล้วจะกลับไปเรียนยังไง เหลือแค่อาทิตย์เดียวแล้วนะ จะใช้ชีวิตยังไง มันเหมือนมีความแพนิกต่อเหตุการณ์ในอนาคตที่เป็นแผนที่เราเตรียมไว้ แล้วเรากลัวว่าจะทำมันไม่ได้ แต่พอเกิดอุบัติเหตุแล้วเราอยู่บนเตียงคนไข้จริงๆ วินาทีนั้นมันเหมือนสภาพแวดล้อมควบคุมทำให้เราตระหนักได้เองว่าเราคงทำไม่ได้แล้ว มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าโอเค เราหยุดความคิดตรงนี้แล้วมาโฟกัสกับปัจจุบันที่อยู่กับการรักษา ธันย์ก็ทิ้งไปเลย ไม่เป็นห่วงการเรียน หยุดไปเลย โฟกัสแค่จะรักษายังไงต่อไป จะอยู่อย่างนี้ยังไง จะกลับมาเดินได้แบบไหน จะใช้ชีวิตในอนาคตยังไง
ธันย์คิดถึงประโยคหนึ่งคือ “การทิ้งสิ่งที่มี แล้วอยู่กับสิ่งที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน และค่อยๆ สร้างมันขึ้นมาใหม่” ประโยคนี้เป็นความรู้สึกที่โอเค เรายอมทิ้งสิ่งที่เราเคยทำ ทิ้งทุกอย่าง พักมันไว้ก่อน อาจจะไม่ได้ถึงกับเทมันไปเลย แต่ว่าพักมันไปก่อน เพราะว่าทำอะไรกับมันไม่ได้ มาอยู่ที่การรักษา หยุดทุกอย่าง ค่อยๆ เคลียร์ทีละอย่าง มันก็รู้สึกว่าสภาพจิตใจกลับมาดีขึ้น
ดังนั้น เวลาเจอเหตุการณ์แล้วมันทำให้ชีวิตคนๆ หนึ่งฟุ้งซ่าน เครียด วิตกจริต หรืออะไรก็ตาม ธันย์ว่ามันเกิดจากการคาดหวังต่อสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น กลัวมันจะไม่เป็นไปตามแผนที่เราตั้งไว้
มันจะมีสองอย่างคือเสียดายต่อสิ่งที่ยังไม่เกิดที่เรามีโอกาสจะได้ทำ กับอันที่สองคือเสียดายว่าโอกาสนั้นเราจะไม่ได้ทำมันอีก ธันย์เลยมองว่าการที่ทำสิ่งอื่นแทนมันช่วยได้จริงๆ คือบางคนอาจแนะนำให้ลองใช้เวลาเปลี่ยนไปอยู่สถานที่อื่น เปลี่ยนสังคมเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เพื่อให้สภาพจิตใจดีขึ้น จริงๆ ของธันย์คล้ายคลึงกับวิธีการแบบนั้นแหละ แต่แค่ธันย์หันมาโฟกัสอย่างอื่นที่เหมือนสร้างกำลังใจเล็กๆ ให้เรา ซึ่งมันมีค่ามากเลยนะ เพราะตอนนั้นพอธันย์หยุดความคิดเรื่องการเรียน พักไว้ก่อน แล้วมาโฟกัสกับการกายภาพ การรักษา มันทำให้เราเห็นกำลังใจเล็กๆ ที่เราทำ แล้วเรารู้สึกว่ามันทำให้เห็นศักยภาพของตัวเอง
อย่างช่วงที่รักษา ธันย์จะมีสายอุปกรณ์ต่างๆ เต็มตัวไปหมด แถมต้องอาบน้ำ ทานข้าว ทำอะไรทุกอย่างบนเตียงเป็นเวลาเกือบสองเดือน จนไม่เคยคิดว่าเราจะสามารถดำรงชีวิตด้วยตนเอง กระทั่งวันแรกที่หมออนุญาตให้ธันย์ลุกจากเตียงคนไข้มานั่งวีลแชร์ ธันย์เลยได้ลองเข็นวีลแชร์เข้าห้องน้ำด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องเรียกพยาบาล ธันย์เข้าไปในห้องน้ำเล็กๆ พอเข้าไปวีลแชร์มันก็พอหมุนได้นิดหน่อย แต่เรารู้สึกมีความสุขมากที่สามารถหมุนไปเรื่อยๆ จนสามารถปิดประตูได้ ทีนี้ธันย์อยากจะหยิบของสักอย่างหนึ่ง น่าจะเป็นกล่องทิชชู่ซึ่งอยู่สูงมาก จากเมื่อก่อนคือเดินเข้าห้องน้ำแล้วก็หยิบหรือไม่ก็เขย่งก็หยิบได้แล้ว แต่วันนั้นมันเป็นความรู้สึกที่เขย่งไม่ได้แล้ว หยิบไม่ได้แล้ว แต่มันแปลกมากตรงที่เราเห็นไม้อันหนึ่งตั้งอยู่ในห้องน้ำ เราก็หยิบไม้อันนั้นมาเขี่ยมันลงมา มันเป็นความรู้สึกที่ เฮ้ย! ก็ทำได้นี่หว่า มันเป็นความรู้สึกแบบนั้นเลย
ทุกวันนี้ธันย์ยังจำได้อยู่เลย มันเป็นความสุขในห้องน้ำที่เรารู้สึกว่าเป็นโมเมนต์ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน มันเลยทำให้ธันย์ย้อนกลับมาว่าการที่เราอยู่กับปัจจุบันแล้วมีความสุขกับปัจจุบันที่มีอยู่ และพัฒนามันไปเรื่อยๆ พอเห็นพัฒนาการของตัวเอง มันก็สร้างความสุขได้ จนถึงปัจจุบันธันย์ก็ยังเป็นแบบนั้น
แน่นอนว่าระหว่างพักฟื้น ธันย์ต้องรับมือกับสื่อที่เข้ามาหาข่าว ตรงนี้ รู้สึกว่ามันหนักหนาหรือกระทบต่อความรู้สึกมากน้อยแค่ไหนในวัย 14 ปี?
ในมุมธันย์คือกระทบช่วงแรกๆ เพราะคดีตอนนั้นเป็นข่าวใหญ่ เหมือนทอล์คออฟเดอะทาวน์ของสิงคโปร์เลย เพราะที่นั่นไม่ค่อยเกิดอุบัติเหตุใหญ่ แล้วธันย์เป็นชาวต่างชาติด้วย
ผลกระทบจริงๆ น่าจะเป็นความรู้สึกช่วงแรกมากกว่า ตอนนั้นธันย์ลืมตาขึ้นมาอยู่ในห้อง ICU ที่มีสี่เตียง แล้วยังงดเยี่ยม มีการจำกัดคนเยี่ยมก็เลยทำให้สื่อยังไม่สามารถเข้าหาเราได้ ธันย์เลยมีเวลาช่วงหนึ่งที่ได้อยู่กับตัวเองประมาณ1-2 อาทิตย์ ทีนี้พอหลังจากออกจากห้องนั้น เขาก็จะย้ายเราไปห้องเดี่ยว ซึ่งระหว่างรอย้ายธันย์ต้องไปอยู่ในห้องรวมก่อน ก็คือไปนอนรอปกติ ปรากฏว่าตอนนั้นแหละที่ทุกคนแห่กันขึ้นมาเยอะเลย
ภาพแรกที่ธันย์ตื่นขึ้นมาเห็นคือทุกคนยืนรุมล้อมรอบเตียงเพื่อจะเอาสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไปเขียนในข่าว แล้วมีกล้องใหญ่ๆ เต็มไปหมด ธันย์เองตอนนั้นก็ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาที่จะพูดได้ขนาดนั้น แล้วทุกคนรัวถามภาษาอังกฤษซึ่งไม่รู้จะตอบยังไง ยิ่งตอนนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เหมือนมีกระแสเกิดขึ้นด้วย เลยยิ่งทำให้เด็กอายุ14 อย่างธันย์รู้สึกว่ามันเป็นประเด็นที่ใหญ่มากและธันย์ก็ไม่รู้ว่าการคุยภาษาอังกฤษโต้ตอบกลับไปจะมีผลต่อรูปคดีหรืออะไรหรือเปล่า มันเลยทำให้ธันย์รู้สึกไม่อยากคุยกับใครเลย รู้สึกว่าไม่ตอบดีกว่า แบบทำนิ่งๆ แล้วก็หลับไปบนเตียง เพราะตอนนั้นเราก็มีสายระโยงระยางเต็มไปหมด ก็ทำสะลึมสะลือเรียกพยาบาลมาให้ยาแล้วก็หลับไป จำได้ว่านอนบ่อยมาก ซึ่งการนอนจะมีสองเหตุผลหลัก คือหนึ่ง ไม่อยากเจอนักข่าวเพราะไม่รู้เขาจะเขียนอะไร สองคือบาดแผลมันค่อนข้างเจ็บมาก เลยรู้สึกว่าการหลับเป็นสิ่งที่ลดความเจ็บปวดได้ในตอนนั้น
ดังนั้นสื่อคือจุดที่ทำให้ธันย์อยากรีบออกจากโรงพยาบาล เหมือนเราไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากให้เขามาหาเรา อยากรีบหาย อยากรีบออกไป มันรู้สึกแบบนั้นจริงๆ อยากกลับบ้านกลับประเทศไทยแล้ว เพราะมันรู้สึกปลอดภัยกว่า เพราะตอนอยู่สิงคโปร์ ธันย์รู้สึกถึงสายตาที่จับจ้องเราตลอดเวลาไม่ว่าเราจะทำอะไร โดยเฉพาะสื่อที่บางทีก็มีการบิดเบือนกันไปจนรู้สึกว่ามันสร้างผลกระทบกับเราในการออกไปใช้ชีวิต
ดูเหมือนว่าธันย์จะไม่ได้มานั่งอาลัยอาวรณ์กับขาที่สูญเสียไป แต่เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ คือมุมอย่างนี้ใครๆ ก็อาจจะพูดได้ แต่คนที่คิดได้ทำได้จริงๆ น้อยมาก โดยเฉพาะกับเด็กอายุแค่ 14 ?
ธันย์เริ่มจากเห็นความสำคัญของตัวเองก่อน ประโยคนี้เป็นประโยคที่สร้างจุดเริ่มต้นเลยนะ ธันย์ไม่ใช่คนที่เกิดอุบัติเหตุแล้วตื่นขึ้นมาแฮปปี้มีความสุขหรือเห็นคุณค่าในตัวเองเลย เพราะถ้าเป็นแบบนั้นคือมันเซอร์ไพรส์เกินไป ธันย์มองว่าตัวธันย์เองก็เคยเศร้าเสียใจกับขาที่สูญเสียไป แต่มีวันหนึ่งจำได้ว่าตื่นขึ้นมา ได้สติแล้ว เหมือนกับว่าเคยร้องไห้นะ แบบเออ! ทำไมเหตุการณ์ถึงเกิดขึ้นกับเรา ทำไมเราต้องเจอเรื่องใหญ่โต ทำไมต้องขึ้นศาลตั้งแต่อายุ14 คือทุกอย่างประดังประเดเข้ามา แต่พอเราร้องไห้เสร็จแล้ว มันมีความรู้สึกแวบหนึ่งเข้ามาว่าแล้วมันจะไปยังไงต่อ จะร้องไห้แบบนี้อีกสิบปียี่สิบปี จะอยู่บนเตียงแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน คือมันมีความคิดหนึ่งว่าอยากออกไปจากสภาพแวดล้อมที่เรารู้สึกแย่ มันก็เลยทำให้เราค่อยๆ พัฒนาสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราพอจะทำได้และออกจากสภาพแวดล้อมแบบนั้น
ทราบมาว่าธันย์เคยบอกคุณพ่อว่าชีวิตเลยความตายมาแล้ว อยากให้ช่วยขยายความประโยคนี้เพิ่มเติม?
ตอนเกิดอุบัติเหตุ มันมีหลายความรู้สึกหลายความคิดเหมือนพัดลมที่เข้ามาแล้วหมุนๆๆ อยู่ในสมองของเรา ซึ่งตอนนั้นความคิดหนึ่งที่ธันย์มีเลยก็คือจะกลับไปเรียนยังไง กลับไปใช้ชีวิตแบบไหน เพื่อนจะยอมรับได้ไหม แล้วจะบอกพ่อแม่ยังไง จะทำอะไรก่อน จะตายไหม มันมีหลายคำถามเกิดขึ้นในสมอง และมีหลายเหตุการณ์มากที่อยู่ดีๆ มันตีกลับเข้ามา มันเป็นเหตุการณ์ที่เราเคยพูดว่าเดี๋ยวค่อยทำดีกว่า แบบเฮ้ย! ยังไม่ถึงเวลาหรอก แล้วก็มีประโยคว่ามันยังไม่ใช่โอกาสของเรา รอโตขึ้นอีกนิด รอวันพรุ่งนี้ หรือรออีกสักสิบปีเดี๋ยวค่อยทำ คือมันมีคำเหล่านี้ผุดขึ้นมาในตอนเกิดอุบัติเหตุ จนตอนนั้นเรารู้สึก เฮ้ย! ถ้าเราตายวันนี้คือโคตรเสียดายชีวิตเลย เสียดายที่ยังไม่ได้ทำ ตอนนั้นก็เลยรู้สึกว่าจะทำยังไงก็ได้ให้มีชีวิตรอดกลับมา
พอมีชีวิตรอดกลับมาก็เลยเป็นเหมือนธงหลักให้ธันย์รู้สึกว่าเราจะทำให้ชีวิตเรากลับมาเป็นปกติที่สุด และเราจะทำในสิ่งที่เราอยากทำเลย
ทุกคนจะเห็นว่าทำไมธันย์ไปทำอันนั้นอันนี้ ทั้งการเรียน กิจกรรมต่างๆ มันเป็นเพราะว่าเมื่อก่อนเราเป็นหนึ่งคนที่เคยผลัดไปเรื่อยๆ คิดว่าโอกาสมันมาบ่อยๆ แต่พอเกิดอุบัติเหตุมันเป็นหนึ่งเรื่องที่สอนตัวเองว่าโอกาสมันไม่ได้มีบ่อยๆ ถ้ามีโอกาสทำในสิ่งที่อยากทำ แล้วเราสามารถสลับสับเปลี่ยนเวลาได้ เราก็ควรจะทำมันเลย เพราะเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เราจะได้ทำมันไหม หรืออีกสิบปีโครงการนั้นจะยังอยู่หรือเปล่า แล้วมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ คือทุกวันนี้ผ่านมาสิบปี ธันย์เจอหลายสิบกิจกรรมที่ถ้าเมื่อก่อนธันย์คิดว่าเดี๋ยวค่อยทำก็ได้ ก็คือน่าจะไม่ได้ทำเลยสักโครงการเพราะว่าโครงการนั้นส่วนใหญ่ได้ทุนมาทำปีนี้ ปีหน้าก็คือไม่มีแล้ว แต่ที่ไหนได้ ปีที่เราตัดสินใจไปทำปีนั้นมันดันต่อยอดงานอื่นๆ มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นเหมือนสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรียนรู้ว่าอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่สอนเราจนถึงปัจจุบันเหมือนกัน
อุบัติเหตุครั้งนั้นส่งผลให้ธันย์ต้องเปลี่ยนแผนต่างๆ ในชีวิตมากแค่ไหน อย่างเช่นเรื่องการเรียน?
ใช่ค่ะ ตอนนั้นธันย์เรียนสายวิทย์คณิต เมนหลักของธันย์น่าจะมุ่งสายการแพทย์เป็นหลัก ก่อนเกิดอุบัติเหตุมีความตั้งใจว่าอยากเรียนไม่ทันตแพทย์ก็แพทย์หรือจิตแพทย์ที่สามารถช่วยเหลือคน ซึ่งอาจจะเป็นด้วยกระแสก็ได้เลยมีธงแบบนี้ กระทั่งพอเกิดอุบัติเหตุ สิ่งแรกที่มาดูเลยคือข้อจำกัดเรื่องขา เราไม่สามารถใช้อุปกรณ์บางอย่าง ยกคนไข้ หรือไปช่วยซัพพอร์ตคนอื่นๆ ได้ ประกอบกับคุณสมบัติของแพทย์ในประเทศไทยจะมีกำหนดอยู่แล้วว่าคุณสมบัติแบบนี้มันไม่ได้ ก็เลยย้อนกลับมาว่าแล้วอยากจะทำอะไร
ตอนนั้นก็เลยมองว่าอยากเป็นนักจิตวิทยา เพราะเราเจอ Inspiration คือนักจิตวิทยาที่เขามาคุยกับเราช่วงแรกๆ หลังเกิดอุบัติเหตุ คือเขาไม่ได้มาคุยแบบจริงจัง หรือมาถามปัญหาสุขภาพจิต แต่เหมือนเป็นนโยบายของโรงพยาบาลอยู่แล้วที่ต้องเข้ามาประเมินผู้ที่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรง แล้วยิ่งตอนนั้นธันย์ก็เป็นผู้เยาว์ ธันย์ก็คุยกับเขาแล้วเขาก็ติ๊กๆๆ จนผ่านเกณฑ์การประเมินของเขา จากนั้นก็มีโอกาสได้เจอกันนอกรอบบ้าง เลยรู้สึกว่ามันเป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือคน ได้เข้าใจคน เหมือนมันย้อนกลับมาว่าเราก็สนใจวิธีคิดของเราเหมือนกันว่าทำไมเราถึงคิดแบบนี้ได้ มันเริ่มต้นจากอะไร ธันย์รู้สึกว่ามันมีความสำคัญที่ว่าพอเราคิดแบบนี้เราก็เห็นว่า เออ…ชีวิตมันก็เดินหน้าต่อไปได้และช่วยเหลือคนอื่นต่อไปได้ ก็เลยเปลี่ยนธงมาเป็นด้านนี้
ทีนี้โชคชะตาก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ธันย์ว่าเด็กทุกคนก็เป็นเหมือนกันจะมีธงอย่างหนึ่ง แล้วสุดท้ายก็ดูจังหวะชีวิตด้วย สุดท้ายธันย์ก็ตัดสินใจย้ายมาเรียนที่กรุงเทพ ด้วยความที่แพทย์และกายอุปกรณ์อยู่ที่นี่หมด ธันย์เรียนต่อที่มาแตร์เดอีวิทยาลัย พอจบม.6 ก็ไปสมัครสอบตรงติดที่วารสารฯ ธรรมศาสตร์ เพราะตอนนั้นธันย์เริ่มเข้ามาในวงการสื่อ เลยรู้สึกว่าการสื่อสารค่อนข้างสำคัญ พอดีว่าคอร์สเอาท์ไลน์ของธรรมศาสตร์ เขามีเรียนวิชาโทเป็นจิตวิทยาด้วย ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ใช่สำหรับเรา นอกจากนี้ธรรมศาสตร์ค่อนข้างเปิดโอกาสให้คนพิการ เลยทำให้รู้สึกอยากเปลี่ยนพาร์ทจากสังคมมาแตร์ที่เป็นอีกฟีลหนึ่ง มาลองใช้ชีวิตที่สามารถเดินไปจ่ายตังค์ขึ้นรถตู้นั่งไปรังสิตหรืออยู่หอ ก็ตัดสินใจไปเรียนต่อที่นั่น แต่ก็ยังไม่ทิ้งความฝัน เพราะสุดท้ายก็มาต่อปริญญาโทที่คณะจิตวิทยา จุฬาฯ
พอได้เรียนจิตวิทยาจริงๆ แล้ว เราวิเคราะห์ตัวเองในการรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร?
มันทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าทุกอย่างมีสเต็ปของมัน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ คนๆ นี้จะคิดบวกเลย มันเหมือนเป็นการสะสมภูมิในชีวิต เพราะฉะนั้นมันเลยย้อนกลับมาว่าเป็นเพราะเราเริ่มสะสมภูมิตั้งแต่วันแรกที่อยู่โรงพยาบาลเลยหรือเปล่า ที่ครอบครัวหรือสภาพแวดล้อมไม่ได้ทำให้เราดูเป็นคนไร้ความสามารถ หมายถึงว่าเขาอยู่ซัพพอร์ตเรา แต่ในทางกลับกัน เขาไม่ได้อยู่ซัพพอร์ตเพื่อให้เราดูเหมือนภาระเขา เพราะไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อนหรือคนหลายๆ คนที่มาเยี่ยมเรา คือเขาก็ร้องไห้ก็สงสารเรา แต่เขาไม่ได้ทำให้ธันย์รู้สึกว่าธันย์จะทำอะไรไม่ได้อีกแล้วในชีวิตนี้
ยกตัวอย่างเช่น เขาจะถามว่ากินข้าวไหม ธันย์ก็บอกว่ากินข้าว เขาก็โอเค ลงไปด้วยกันไหมเดี๋ยวไปกินกัน หรือหิวน้ำไหม ตั้งน้ำไว้ตรงนี้นะ โดยที่เขาไม่ได้บอกว่าเอาน้ำไหมเดี๋ยวเราหยิบให้แล้วรีบเอามาวางไว้ที่ตัก คือธันย์สังเกตว่าหลายๆ เคสส่วนใหญ่เขาจะดูแลทุกอย่างให้รู้สึกประทับใจที่สุด แต่คนรอบข้างเขาไม่ดูแลเราแบบนั้น คือถามว่าเขาพร้อมช่วยไหม…ใช่เขาพร้อมช่วยเรา แต่ในทางกลับกันเขาจะไม่ยัดเยียดการช่วยเหลือให้เรา มันเลยทำให้เรารู้สึกดีมากตรงที่เราได้เข็นวีลแชร์ย้ายตัวไปหยิบน้ำเอง ได้ช่วยเหลือตัวเอง ได้มีสิทธิเลือกตัดสินใจว่าจะกินไม่กิน จะอะไรยังไง เลยเป็นเหมือนสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราเห็นศักยภาพตัวเองและพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ
ขยายความอีกนิดได้ไหมว่าความคิดบวกของธันย์ หลักๆ มาจากอะไรบ้าง?
ธันย์ว่าทุกอย่างเกิดจากการเรียนรู้ ธันย์มองว่าความคิดบวกหรือความคิดเชิงพัฒนามันเกิดจากอย่างแรกคือสิ่งแวดล้อม สองคือการเรียนรู้ด้วยตัวเอง คนทุกคนสามารถพัฒนาความคิดได้
เราจะเห็นว่าบางคนที่ล้มเหลวมากๆ แล้วภายหลังประสบความสำเร็จ หรือกลับมาใช้ชีวิตได้ก็ไม่ใช่ว่าปัจจุบันเขาไม่มีความทุกข์นะ เขาก็มีความทุกข์ แต่อดีตมันสอนให้เขาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขหรือเปลี่ยนวิธีคิดเขาได้เร็ว
คุณอาจจะไม่เคยเห็นมุมร้องไห้ของเขาก็ได้เพราะเขาลุกขึ้นมาได้ไว เรื่องทุกข์คือเป็นเรื่องปกติของทุกคนที่มีความรักโลภโกรธหลงหรือความรู้สึกไม่พอใจบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งธันย์เองก็เคยรู้สึกช็อตฟีล ร้องไห้ แต่อาจใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งวันแล้วก็กลับไปเที่ยวกับเพื่อนได้ คุยกับคนที่เราทะเลาะด้วยได้ หรือกลับมาทำงานต่อได้แล้ว ซึ่งทุกอย่างสามารถพัฒนาต่อไปได้ และมันอาศัยระยะเวลา พวกนี้ไม่สามารถเรียนรู้ได้ในวันเดียว หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมคนคิดบวกแล้วคิดบวกได้เลย คือทุกอย่างมันต้องค่อยๆ พัฒนา ตัวธันย์เองเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วก็ไม่ได้มองโลกขนาดนี้ มันค่อยๆ เรียนรู้กับชีวิตไปเรื่อยๆ ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ พอคนเห็นในจุดที่ผ่านมา 10 กว่าปี คนก็อาจจะรู้สึกว่าทำไมยังสม่ำเสมอ ยังแฮปปี้อยู่ คือจริงๆ มันมากขึ้นกว่าเดิมนะ เพราะเราต้องเจอสังคมที่ค่อนข้างแตกต่างไปเรื่อยๆ ยิ่งโตยิ่งต้องเจอสกิลที่ยากขึ้น
หลังข่าวอุบัติเหตุในครั้งนั้น เมื่อหลายปีก่อนธันย์กลับมาเป็นข่าวอีกครั้งในบทบาทผู้สำรวจความสุขคนไข้ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง?
ตอนนั้นเป็นโปรเจกต์ที่โรงพยาบาลทำกึ่ง CSR ขึ้นมา ธันย์เรียนอยู่ปีสองก็มีความสนใจเพราะมันอิงกับสิ่งที่เราอยากเป็น ได้ไปพูดคุยกับคนไข้ เหมือนเราในอดีตที่มีคนมาคุยกับเรา และเราก็คุ้นเคยกับการอยู่ในโรงพยาบาล ก็เลยตัดสินใจลองสมัครดูเพื่อหาประสบการณ์ด้วย ซึ่งย้อนกลับมาตรงที่ธันย์บอกไปว่าธันย์ไม่อยากพลาดโอกาส คือมันมาแล้วก็ไม่รู้จะมีในปีถัดไปอีกหรือเปล่า แล้วคุณสมบัติในตอนนั้นมันได้ พอสมัครไปเสร็จ ธันย์ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องสำเร็จเสมอไป แค่ได้สมัครได้เข้าร่วมโครงการ แค่นี้ก็แฮปปี้แล้ว ผลลัพธ์จะได้ไม่ได้ยังไงก็ไม่ได้สร้างความเครียดให้กับเรา แต่สุดท้ายเราก็ได้มาทำ 6 เดือนตามสัญญา
คนอาจจะเข้าใจว่างานนี้เป็นเหมือนจิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัดหรือเปล่า จริงๆ ไม่ใช่ ตำแหน่งธันย์คือการไปเป็นผู้ฟังมากกว่า ซึ่งถือเป็นทักษะหลักของอาชีพนี้ เราต้องฟังให้เยอะ คุยให้น้อย มีความเข้าใจเขามากกว่าการใช้ความคิดตัวเองในการตัดสิน
ธันย์มองว่าอาชีพนี้จะดูเหมือนง่ายก็ง่าย เหมือนยากก็ยาก แต่มันเป็นทักษะที่น้อยคนจะใช้ เพราะคนส่วนใหญ่จะมีความคิดเป็นของตัวเองและมีความคิดในสมองแล้วว่าถ้าฉันเป็นเธอฉันจะทำแบบนี้ แบบนั้นฉันไม่ทำหรอก แต่อาชีพนี้ไม่ได้ ต้องทำทุกอย่างให้ว่างและเข้าไปพร้อมรับฟัง เขาคุยอะไรมาเราก็แค่โต้ตอบเพื่อให้เขาพูดในประโยคหรือเรื่องถัดไป หลังจากนั้นก็อาจซัพพอร์ตส่วนอื่นๆ ที่เขาต้องการ ณ ตอนนั้น เช่น การเข้ารับบริการด้านอื่นๆ
จากการได้พูดคุยกับคนอื่นๆ ธันย์คิดว่าการที่คนเราจมอยู่กับความทุกข์แล้วออกมาไม่ได้ คิดบวกไม่ได้ สาเหตุส่วนใหญ่มันคืออะไร?
จริงๆ การคิดบวกไม่ได้เป็นสิ่งที่ยากหรือจับต้องไม่ได้ ธันย์ว่าทุกคนสามารถคิดบวกได้ เมื่อก่อนธันย์ก็มองว่าการคิดบวกเป็นเหมือนการมองทุกอย่างให้ดีเยี่ยม ชื่นชมตัวเอง ซึ่งเราอาจจะถูกปลูกฝังจากไลฟ์โค้ชหรือใครที่ให้ชื่นชมตัวเอง บอกรักตัวเอง
แต่การคิดบวกสำหรับธันย์หมายถึงการถอยออกมานิดหนึ่ง มันไม่ใช่การเข้าข้างตัวเองแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ขนาดนั้น แต่มันเป็นการมองภาพความจริงที่เกิดขึ้นมากกว่าแล้วอยู่กับปัจจุบันให้เป็น
สำหรับการมองโลกของธันย์ มันจะแบ่งออกเป็น 3 Sequence เหมือนมีโลกสวย – คิดบวกจะอยู่ตรงกลาง – และธรรมะ คือธันย์จะไม่มองทุกอย่างเป็นขาวแบบผุดผ่องให้อภัย กับอีกอันหนึ่งมันจะไม่ใช่ฟีลแบบโห! ทุกอย่างสวยงามเป็นสิ่งที่เราวาดฝันไว้ แต่การคิดบวกสำหรับธันย์คืออยู่ตรงกลางระหว่างสองสิ่งนี้ คืออยู่กับโลกปัจจุบันของตัวเอง ใช้ในสิ่งที่มี อยู่กับสิ่งที่เป็น ทำสิ่งที่มีให้ต่อเติมออกไปพัฒนาต่อไป เพราะฉะนั้นการคิดบวกของธันย์มันก็เลยเหมือนอยู่ในสถานการณ์ไหนธันย์ก็คิดบวกได้ เป็นความรู้สึกที่เรามองอีกมุมมากกว่า
ความคิดบวกสำหรับธันย์มันทำให้เราเป็นคนไม่โทษสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่กลับมามองตัวเองว่าเราได้ทำอะไรเพื่อประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่เรามองข้ามไปหรือเปล่า คือมันเกิดการคิดบวกสำหรับธันย์บ่อยมากเลย เช่น หลายคนอาจมองว่าธันย์ประสบความสำเร็จเยอะ แต่จริงๆ ธันย์ก็พลาดโอกาสไปเยอะเหมือนกัน ซึ่งโอกาสที่พลาดไปเคยเป็นทุกข์นะ ร้องไห้เสียใจแต่มันฟื้นกลับมาได้เร็ว เพราะเรารู้สึกว่าอย่างน้อยเราก็ได้กลับมาบ้านได้มาทำอย่างอื่นที่เราอยากทำ หรือได้มีเวลาทำกิจกรรมมากกว่าคนอื่น มันคือการอยู่กับหลักความจริง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หลอกตัวเอง เพราะมันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ณ ปัจจุบัน
ตอนนี้ธันย์ทำงานอะไรบ้าง?
ตอนนี้ธันย์ยังทำงานกับโรงพยาบาลอยู่ เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการสำรวจความสุขคนไข้ ได้เซ็นสัญญาต่อในแผนกสื่อสารองค์กรตามที่เราเรียนจบมา ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ตามประสบการณ์และไอเดียที่เรามี
อีกส่วนหนึ่ง คือทำงานด้านการสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งจริงๆ เป็นพาร์ทที่มาแบบงงๆ เหมือนกัน จุดเริ่มต้นคือตอนธันย์อายุ 15 ปี กลับมาประเทศไทยและได้รับเชิญไปออกรายการเพราะตอนนั้นข่าวเราเป็นกระแสสังคม ซึ่งตอนแรกคิดว่าเราจะไปออกดีไหม เพราะด้วยความที่ไม่เคยอยู่ในสายสื่อ เราไม่รู้ว่าภาพนี้จะติดไปอีกนานไหม แต่ตัดสินใจไปออกเพราะธันย์มีประโยคเดียวในสมองเลยว่า ธันย์ไม่อยากตอบคำถามซ้ำๆ ไม่ใช่ว่ากลัวหรือตอกย้ำว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมต้องนั่งวีลแชร์ แต่ธันย์มองว่าแค่อยากพูดทีเดียวให้คนเข้าใจจะได้ไม่ต้องมาถามอีก
อย่างแรกตอนกลับมาไทย ธันย์คิดว่าคนพิการหลายคนอาจเคยเจอว่าพอสภาพร่างกายเราเปลี่ยนแปลงแล้วกลับไปใช้ชีวิตในสังคม สิ่งแรกที่ทุกคนต้องรู้สึกคือเพื่อนคนนี้ที่เราเคยสนิทมากๆ เขาจะชินกับการที่เรานั่งวีลแชร์ไหม เขาจะชินกับการที่เราขึ้นบันไดแบบนี้ จากเมื่อก่อนที่ขึ้นฟึ้บๆ ๆ ตอนนั้นเลยอยากออกรายการเพื่อทำให้ทุกคนรู้ว่าฉันมาในลุคใหม่ที่มันเป็นแบบนี้นะ จำได้ว่าตอนรายการแรกยังไม่มีขาเลยนั่งวีลแชร์ไป พอไปออกรายการนั้นเลยรู้สึกพอใจว่าเรากลับมาใช้ชีวิตโดยที่ได้ปลดล็อกตัวเอง
หลังจากจบรายการก็มีโทรศัพท์จากบริษัทและองค์กรต่างๆ เชิญไปบรรยายให้กับพนักงานค่ะ ซึ่งที่แรกที่ธันย์ไปคือสยามพารากอน ก็พูดบรรยายให้ทีมพนักงานฟัง พอจบก็โอเค เพราะเราได้ทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำแล้ว แต่พอจบจากงานนั้น มันก็มีงานเข้ามาอีกเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ ธันย์เลยรู้สึกว่ามันเหมือนงานอดิเรกที่เราทำ ว่างเราก็ไป มันก็เหมือนการพัฒนาสกิลไปเรื่อยๆ จากงานแรกนั่งสัมภาษณ์ งานต่อมาคือนั่งสัมภาษณ์ในระยะที่ยาวขึ้น จนงานต่อไปคืองานที่พูดคนเดียวในระยะเวลา 15 นาที อาชีพนี้เลยเหมือนโตมาพร้อมกับสกิลการพูดของธันย์เรื่อยๆ จนตอนนี้ทำงานมา 11 ปีแล้วค่ะ
ตอนแรกธันย์คิดว่า 5 ปี ก็คงหยุดแล้วแหละ ไม่พูดเรื่องเดิมซ้ำๆ แต่ทุกวันนี้ 11 ปีก็ยังพูดเรื่องเดิม(หัวเราะ) เลยรู้สึกว่าอย่างน้อยมันก็เป็นหนึ่งสิ่งที่สอนเราเหมือนกัน อีกหนึ่งอย่างคือธันย์มองว่าพอเราก้าวข้ามมาถึงจุดที่ยอมรับตัวเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว ทุกวันนี้ธันย์ก็ยังโดนคนถามนะว่า “ถามได้ไหมคะว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ยังไง จะกระทบกระเทือนจิตใจไหมคะ” ธันย์บอกถามได้เลยค่ะ เหมือนทำให้ธันย์รู้ว่าจริงๆ แล้วการพูดซ้ำๆ ไม่ได้เป็นการตอกย้ำนะ มันเหมือนพอเราเลยช่วงเวลาหนึ่งไปสักพัก แล้วเราคุยมันไปเรื่อยๆ
ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่าการที่ธันย์ไปบรรยายมันเหมือนสะท้อนกลับมาให้เราเห็นคุณค่าในตัวเอง มันกลายเป็นเหมือนไดอารี่เรื่องหนึ่งที่เรารัก ทุกวันนี้ธันย์ก็ยังรักเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันคือไดอารี่หนึ่งที่เราได้เห็นว่ามันสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนมากมาย มันทำให้คนได้เรียนรู้อะไรจากชีวิตเรา
มันเหมือนหลักสูตรเร่งรัดในชีวิต ถ้าเป็นคนอื่นอาจเรียนรู้สิ่งนี้ทั้งชีวิต แต่ธันย์ได้เจอโจทย์ที่เข้ามาท้าทายตั้งแต่เด็กและแก้โจทย์นี้ได้สำเร็จ?
ใช่ๆ ทุกครั้งเวลาเจอกลุ่มคนที่เพิ่งพิการใหม่ๆ เขาก็จะถามว่าออกมาใช้ชีวิตยังไงให้มีกำลังใจ เขายังติดกับการอยู่ที่บ้าน สิ่งที่ธันย์บอกเขาคือก็ลองออกมาใช้ชีวิตเลย เพราะถ้าไม่ลองออกมาใช้ชีวิตเราก็เหมือนไม่ผ่านบททดสอบขั้นที่หนึ่งสองสามไปจนถึงขั้นแอดวานซ์ เราจะไม่รู้ว่าต้องใช้ชีวิตแบบไหน เราจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแค่เข็นวีลแชร์บนทางสโลปเราเข็นไหวไหม มันตอบไม่ได้หรอกว่ามันต้องใช้ระยะเวลาแค่ไหนเพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน ตัวธันย์เองมีรุ่นพี่ที่ใช้ระยะเวลา 10-20 ปีมันดูนานนะ แต่ตัวธันย์เองออกจากบ้านทุกวันก็ร่นระยะเวลาเหลือแค่ 5-6 ปี
ดังนั้น การพาตัวเองไปสู่การเรียนรู้ใหม่ๆ เราก็จะเจอกับโอกาสใหม่ๆ และสิ่งเหล่านั้นจะทำให้เราพัฒนาความคิดไปเรื่อยๆ จากที่เมื่อก่อนเราคิดว่าเราทำได้แค่นี้อยู่แค่บ้าน แต่ถ้าคุณออกมาคุณก็จะเห็นว่าศักยภาพแค่ขึ้นทางลาดคุณก็จะรู้สึกภูมิใจ เหมือนที่ธันย์นั่งวิลแชร์เข้าห้องน้ำครั้งแรกธันย์ก็รู้สึกว่าเราได้ทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำได้
ระหว่างทัศนคติของคนในสังคมกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ อะไรเป็นปัญหาในการดำเนินชีวิตของเรามากกว่ากัน?
เมื่อก่อนธันย์คิดว่าทั้งสองอย่าง แต่พอใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ มันเกิดประโยคขึ้นมาในสมองว่า “สุดท้ายแล้วเราก็เปลี่ยนทั้งสองสิ่งไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์” แล้วมันก็มีประโยคหนึ่งกลับมาอีกว่า “มันคือปัญหาของเขา ไม่ใช่ปัญหาของเรา (หัวเราะ)” เพราะสุดท้ายมันคือประโยคนี้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาพแวดล้อมหรือว่าจะเป็นปัญหากับบุคคล
เรื่องสภาพแวดล้อม ปัญหาของเขาไม่ใช่ปัญหาของเรา มันหมายถึงว่าสุดท้ายแล้วเราต้องใช้ชีวิตให้ได้อยู่ดี ไม่ว่าจะหงุดหงิดที่ไม่มีทางลาด บันไดมันก็ไม่หายไปอยู่ดี หรือไม่ว่าเราจะเป็นทุกข์ร้องไห้ เจ้าของร้านเขาก็ไม่ทำทางลาดให้เราอยู่ดี มันก็เลยเป็นความรู้สึกแบบนั้นขึ้นมา
สำหรับบุคคลภายนอก ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตทั้งคนที่เข้าใจทั้งคนที่แสดง Reaction หรืออะไรต่างๆ สุดท้ายแล้วมันก็ย้อนกลับมาว่ามันคือปัญหาของเขาไม่ใช่ปัญหาของเราจริงๆ สุดท้ายเราก็ยังใช้ชีวิตของเราต่อไปได้ ต่อให้เขาจะรู้สึกไม่โอเคกับเรา หรือทำให้เรารู้สึกแย่ สุดท้ายมันก็ต้องดูสิ่งที่เป็นปัญหาเรามากกว่า เพราะฉะนั้นเราก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไปเรื่อยๆ มันเลยทำให้ธันย์หันกลับมามองตัวเองมากกว่ามองคนอื่น หันมามองว่าเราขาดศักยภาพอะไร ขาดตกบกพร่องอะไร เราไม่ดีตรงไหน แล้วต้องพัฒนายังไง
เช่น ทางขึ้นมีสเต็ปใช่ไหมเราก็ไปฝึกขึ้นบันได หรือมีทางลาดเราก็ลองไปเข็นวีลแชร์ให้มันขึ้นได้ หรือถ้าเราขาดสกิลไหนก็แค่ไปฝึก หรือทุกวันนี้บางครั้งธันย์ไม่ได้ใส่ขาเทียม แต่ก็ยังกระโดดลงสระ ว่ายน้ำหรือไปทุกที่เราอยากจะไปได้ หรือการเข้าสังคม ธันย์ก็อยู่กับหลายๆ สังคมได้
คนอาจมองว่าธันย์เฟรนด์ลี่ แต่จริงๆ คือเราไม่ได้มองว่าคนรู้สึกยังไง เราแค่ทำให้โมเมนต์ ณ ตอนนั้นมีความสุขที่สุดมากกว่า ถ้าเรารู้สึกว่าอยู่ตรงนั้นไม่สบายใจ เราก็แค่ Leave ออกมาอยู่โซนอื่นแค่นั้นเอง มันคือการปรับที่ตัวเรา
สุดท้ายแล้วธันย์ว่านี่เป็นวิธีการที่ดีนะ เพราะเราไม่ได้เอาความรู้สึกตัวเองไปแขวนไว้กับคนอื่น มันทำให้เราไม่ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อใครหรือสิ่งไหน สิ่งที่เรากลับมาให้ความสำคัญคือดูว่าเรายังขาดตกบกพร่องส่วนไหน หรือส่วนไหนที่เราพอจะช่วยซัพพอร์ตได้
แต่เรื่องสภาพแวดล้อม ธันย์มองอีกพาร์ทหนึ่งคือไม่ใช่เราจะมองว่าบันไดมันไม่ใช่ปัญหา เราก็ยังมองว่ามันเป็นปัญหาแหละ แต่แค่เราอาจจะดูว่าประสบการณ์ตรงนี้มันจะเอาไปพัฒนาต่อยอดด้านสิ่งก่อสร้างยังไงในอนาคต หรือสิ่งปลูกสร้างที่ยังไม่เกิด อาจจะเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เอาไปทำงานในด้านอื่นๆ ที่ทุกคนอาจจะเคยเห็นอย่างพวก Universal Design (การออกแบบเพื่อมวลชน) ต่างๆ
ทุกวันนี้ รุ่นพี่ของธันย์หลายคนอาจรู้สึกว่าพอมาร้านๆ หนึ่ง เจอบันไดแล้วเขาขึ้นไม่ได้ ก็จะอยากให้มันมีทางลาดนะ แต่สำหรับธันย์ ธันย์มองว่าเปลี่ยนอะเปลี่ยนได้ แต่ว่าเริ่มต้นเปลี่ยนจากสิ่งที่มันยังไม่สร้างให้ก่อน ส่วนสิ่งที่มันทำอยู่แล้วเราอาจจะแนะนำร้านหรืออะไรก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วร้านก็มีเจ้าของคือมันไม่สามารถที่จะเปลี่ยนได้ตามใจเราทันที ธันย์ก็จะอยู่แบบสายกลางมากกว่า ไม่ได้เอาสภาพแวดล้อมหรือเอาบุคคลอื่นมายึดติดกับตัวเรา เลยทำให้เรารู้สึกว่าเราก็ฟรีสไตล์ไปได้ทุกที่
คือเราไม่มานั่งโกรธว่าทำไมมันเป็นแบบนั้นแบบนี้ ไม่ใช่เพราะเราโลกสวยแต่ไม่อยากเอาทุกข์มาแบกไว้?
ใช่ค่ะ นอกจากนี้ธันย์รู้สึกว่าชีวิตเราต้องดำเนินต่อไป หรือทำในสิ่งที่มันเป็นแพสชันของเรา แต่สิ่งต่างๆ ของคนอื่นมันเป็นเหมือนปัญหาของเขา ถ้าเราไม่มองไม่ใส่ใจ เราก็อยู่กับตัวเองและพัฒนาของเราไป ธันย์มองว่าพอมาถึงจุดหนึ่งที่เราทำอะไรบางอย่างที่อาจจะเปลี่ยนความคิดได้ สุดท้ายแล้วมันง่ายกว่าการที่ต้องเดินไปบอกเขา เราแค่ทำให้เขาเห็น แล้วเขาก็จะเปลี่ยนมุมมองเปลี่ยนความคิดเอง เพราะธันย์ก็เคยเจอกับตัวเอง แรกๆ สมัยที่เกิดอุบัติเหตุใหม่ๆ ตอนนั้นสังคมของพ่อแม่ เขาอาจจะมองว่า มีลูกพิการ…น่าสงสารจังเลยต้องเลี้ยงดู ธันย์ก็ไม่ได้บอกพ่อนะว่าให้โทรหาเพื่อนคนนั้นเลยเดี๋ยวธันย์จะบอกว่าธันย์จะสู้แล้ว ธันย์ก็ไม่ได้เอาปัญหาเขามาแขวนกับเรา ธันย์ก็ให้เขามองภาพไปเรื่อยๆ
สุดท้ายทุกวันนี้เขาก็เห็นธันย์ออกรายการ ใช้ชีวิต ไปทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เขาก็เปลี่ยนคำพูดนั้นกลับมาชื่นชมพ่อ มันเลยทำให้ธันย์มองว่ามันไม่ใช่ปัญหาเรา เราก็พัฒนาของเราต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันง่ายกว่าด้วยที่เขาเปลี่ยนคำพูดเองโดยที่เราไม่จำเป็นต้องเดินไปบอก ดังนั้นเปลี่ยนที่ตัวเราง่ายกว่าการที่เราไปเปลี่ยนคนอื่น
ถึงตอนนี้อะไรคือแพสชันหรือเป้าหมายชีวิตของธันย์?
เป้าหมายชีวิตคืออยากจะใช้ประสบการณ์หรือความพิการของตัวเองต่อยอดไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสายวิชาชีพหรือสายอื่นๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือสังคม เป็นแพสชันที่เกิดขึ้นใหม่ เพราะหนึ่งธันย์มองว่าประสบการณ์ชีวิตเรามีประโยชน์กับคนอื่น สองคือเรารู้สึกว่าประสบการณ์ความพิการที่เกิดขึ้นมันก็มีประโยชน์กับสังคมหรือว่าประเทศชาติในการพัฒนาต่อยอด ธันย์เลยมีแพสชันอยากทำกิจกรรมเพื่อสังคม
ทุกวันนี้ต่อให้เป็นงานเล็กๆ ที่ไม่มีงบ ถ้ามีเวลาจะไป เพราะอย่างน้อยเราต้องได้อะไรบ้างแหละ ได้ขนมฟรี(หัวเราะ) ได้เจอเพื่อน มันก็เลยเป็นเหมือนสิ่งที่เราเห็นคุณค่าในหลายมิติมากกว่า เราไม่ได้เห็นว่าทุกอย่างต้องมีเงินถึงจะมีคุณค่าเสมอไป แต่การที่ไปแล้วได้ความรู้คือคุณค่าอย่างหนึ่ง ไปแล้วได้รู้จักสิ่งใหม่ๆ ทุกวันนี้ที่คนเห็นว่าเราทำหลายอย่างมากๆ มันไม่ใช่เป็นเพราะเรามีชื่อเสียง
ธันย์ว่าชื่อเสียงมันเป็นสิ่งที่มาแล้วก็หายไป แต่สิ่งที่ยังรักษาชื่อเสียงธันย์อยู่ทุกวันนี้ คือการที่ธันย์ออกไปทำสิ่งต่างๆ แล้วมันก็รวมกันเป็นก้อนใหญ่ๆ เหมือนที่ทุกคนเห็น
สำหรับคนที่อยากได้กำลังใจและคอยเป็นกำลังใจให้ธันย์ อีกหนึ่งช่องทางที่สามารถติดตามได้คือเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘น้องธันย์ สาวน้อยคิดบวก’?
เพจนี้วัตถุประสงค์หลักคือ อยากทำเป็น Memory ให้ตัวเองว่าเราเจอเรื่องราวอะไรมาบ้าง ร่วมกิจกรรมอะไรมาบ้าง อยากเก็บรูปภาพ อยากเขียนความรู้สึกเรื่องราว แต่สุดท้าย ณ ปัจจุบัน เพจนี้มันสร้างประโยชน์คือเป็นหนึ่งช่องทางที่ทำให้เราได้คุยกับคนที่เขาไม่มีโอกาสที่จะได้คุยกับเรา ยกตัวอย่างเช่น มีคนพิการบางคนที่อยู่ต่างจังหวัดไกลๆ ไม่มีทุนทรัพย์ก็ส่งรูปมาว่าผมถูกตัดขามาสามปีแล้ว ต้องทำยังไงบ้าง หรือบางคนเป็นคุณแม่ทักมาว่าลูกเพิ่งพิการจะเรียนต่อแบบไหน ใช้ชีวิตยังไง ก็เหมือนเป็นประสบการณ์ที่เราเคยผ่านมาแล้วเราก็ไปแชร์ให้เขาฟัง อ๋อ! ลองช่องทางนี้ดูนะคะ ลองแบบนี้ดูนะคะ มันเลยเป็นฟีลว่านอกจากเราจะได้แชร์แล้ว เราก็ได้ทราบว่าปัญหาจริงๆ ที่เขาเจอกันส่วนใหญ่คืออะไร
หรืออีกเคสหนึ่งที่จำได้แม่นคือ เขารู้สึกท้อเพราะถูกบูลลี่ในโรงเรียน แล้วที่บ้านไม่ยอมรับและจะไม่ให้เขาไปทำงานที่กรุงเทพ เพราะคิดว่าเป็นคนพิการไปแล้วก็เหมือนไปลำบากประมาณนี้ เขาก็เครียดว่าสุดท้ายเขาก็ทำอะไรไม่ได้เลย ไปเรียนก็ไม่มีความสุข อยู่บ้านก็ทำอะไรไม่ได้ ทั้งๆ ที่ใจอยากจะทำงาน ธันย์ก็ใช้วิธีที่เคยทำแนะนำเขา แต่ไม่ได้บอกว่าต้องไปคุยกับพ่อหรือต้องทำแบบนั้นแบบนี้นะ เพราะชีวิตคนเราไม่เหมือนกัน บางทีครอบครัวเขาไม่ได้เหมือนครอบครัวเรา แต่สิ่งที่ธันย์บอกคือแนวทางว่าตอนนี้ก็มีการทำงานที่บ้านนะ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังไม่ให้ก็ลองดูก่อนไหม จะให้ข้อมูลเขามากกว่าว่าพอจะมีช่องไหนที่พอจะลดช่องว่างของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ธันย์มองว่าการช่วยหรือให้เขาไปเลยเหมือนเราไม่ได้รู้ชีวิตเขาจริงๆ แล้วเราก็ไม่รู้ด้วยว่ามันจะส่งผลกระทบยังไง ก็คำนึงถึงชีวิตเขาต่อไปด้วยเหมือนกัน เพราะการชี้นำเกินไปเราก็ไม่โอเค ธันย์ก็เป็นคนหนึ่งที่ถ้ามีใครมาชี้นำแล้วเราไม่ประสบความสำเร็จมันก็อาจจะรู้สึกเฟลได้
ในอนาคตมีโครงการอะไรที่อยากทำอีกบ้าง?
อยากทำโครงการที่ต่อยอดให้กับเพื่อนๆ น้องๆ คนอื่นๆ ได้มีโอกาสเหมือนเรา คือหนึ่งธันย์มองว่ามันเป็นทักษะชีวิตที่ต่อยอดได้ ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นด้านกีฬาด้านอาชีพหรือด้านอะไรที่เฉพาะเจาะจง ธันย์ว่ามันเป็นทุกด้านเลย ถ้ามีโอกาสคืออยากทำโครงการเกี่ยวกับคนพิการไปเรื่อยๆ ธันย์มองว่าสมัยธันย์เมื่อ 10 ปีที่แล้วโครงการน้อยมากและยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่านี้เลย แต่ทุกวันนี้มันมีการรณรงค์ทำอะไรเยอะแยะมากขึ้น คือถ้ามีโอกาสแล้วมีวัยวุฒิคุณวุฒิที่ยังพอช่วยได้ก็อยากสร้างโครงการเพื่อต่อยอดเขาไป เพราะเราก็เป็นหนึ่งคนที่เมื่อสิบปีที่แล้วไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง จะใช้ชีวิตแบบไหน จะไปโรงเรียนยังไง จะเข้าไปในมหาวิทยาลัยแบบไหน มันเหมือนเป็นภาพที่ทำให้เราเห็นตัวเองเมื่อก่อน
ที่สำคัญคือปัจจุบันธันย์ยังเห็นน้องๆ ที่เพิ่งพิการ เขายังไม่รู้จักด้วยซ้ำว่ามหาวิทยาลัยในกรุงเทพก็เปิดรับเยอะแยะแล้วนะ เพราะข่าวสารพวกนี้อาจยังไปไม่ถึง หรือค่านิยมที่ว่าคนพิการจบม.6 ก็คือแทบไม่มีโอกาสเรียนต่อแล้ว ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเปิดกว้างมากขึ้น รวมถึงตำแหน่งงานในบริษัทต่างๆ หรือประเภทขององค์กรบริษัทที่มีการจ้างงานคนพิการ คือมันมีดีเทลที่ลึกมากๆ
ถ้าสมมติตัวธันย์เองวันนั้น Leave ตัวเองออกจากสังคมคนพิการ กลับมาใช้ชีวิตกับคนปกติทั่วไปเลยซึ่งสามารถทำได้ แต่ธันย์ไม่ได้เลือกเส้นทางนั้น ธันย์มาเข้าใจตัวเองตอน 3-4 ปีหลังเกิดอุบัติเหตุว่าจริงๆ แล้วธันย์พัฒนาชีวิตมาถึงตรงนี้ได้เป็นเพราะธันย์เรียนรู้จากรุ่นพี่คนพิการนะ เพราะฉะนั้นถ้าธันย์เอาตัวเองไปอยู่กับสังคมเพื่อนๆ กลุ่มเดิม เท่ากับธันย์ไม่มีอะไรที่พัฒนาต่อไปเลย คือแค่รักษาความเป็นปกติให้กับตัวเองแค่นั้น แต่จะไม่ได้เรียนรู้ว่ามันมีองค์กรนี้มีแหล่งเหล่านี้อยู่ ทุกวันนี้ธันย์มีข้อมูลเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการเรียน ที่ผลิตวีลแชร์ บริษัทหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ก็มาจากสิ่งเหล่านี้แหละ
ถ้าอนาคตมีโอกาสก็อยากทำโครงการที่เหมือนสร้างโอกาสให้คนพิการ ลดความเหลื่อมล้ำด้านการสื่อสารให้เขาเข้าถึงมากขึ้น อย่างน้อยก็เป็นช่องทางให้เขาวางแผนว่าจะเดินไปทางไหน
ตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุที่สิงคโปร์ เคยมีสักครั้งไหมที่คิดว่า ถ้าวันนั้นไม่เกิดเหตุการณ์ขึ้นเราจะเป็นยังไง?
เคยคิดค่ะ แต่ก็มองภาพไม่ออกเหมือนกัน อาจจะเป็นคนที่เรียนจบมาแล้วกลับไปทำงานที่บ้านและใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป ขับรถไปทำงานกลับมาบ้าน อาจไม่ได้ใช้ชีวิตในเชิงลบแต่คงธรรมดาปกติไม่หวือหวา แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพาร์ทตอนนั้นเราจะมีความสุขในรูปแบบไหน เราอาจจะมีความสุขแบบฟีลทำอาสาหรือเปล่า ธันย์ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ธันย์คิดว่ามันก็คงไม่ได้ต่างจากตรงนี้เยอะ แต่วิธีการอาจแตกต่างไป
ทุกวันนี้ธันย์มีความภูมิใจในตัวเอง?
ใช่ค่ะ ทุกวันนี้รู้สึกภูมิใจนะ จุดไหนที่เรารู้สึกยังไม่ภูมิใจก็พัฒนาไปเรื่อยๆ มันก็กลายเป็นเหมือนแพสชันใหม่ๆ ที่เราอยากจะทำแหละ ธันย์ว่าคนทุกคนไม่ได้มีลิมิตในชีวิตของตัวเอง สมมติเรามีลิมิตบางอย่าง เราก็จะรู้สึกว่าเราอยากได้มากกว่านั้น สุดท้ายแล้วความสุขก็เหมือนกันแหละที่เรารู้สึกว่าถ้าปีนี้เรามีความสุข แต่ปีหน้าเราก็ไม่อยากให้มันมีความสุขแค่เท่านี้ เราอยากมีความสุขให้มากขึ้นกว่าเดิม มันเป็นเหมือนสิ่งที่เราพัฒนาไปเรื่อยๆ ทุกปีแหละ ธันย์ก็หาสิ่งใหม่ๆ ทำตลอดเพราะว่าอาจจะด้วยลักษณะนิสัยที่ธันย์ชอบทำอะไรใหม่ๆ ก็เลยทำให้ธันย์อยากออกไปเรียนรู้ด้วย ได้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเห็น
ในมุมของสาวน้อยคิดบวก ธันย์มีอะไรอยากบอกกับน้องๆ คนรุ่นใหม่ที่อาจกำลังรู้สึกว่าชีวิตมันช่างหนักเหนื่อย หมดพลัง สิ้นหวัง?
ธันย์ว่ามันเป็นวัฏจักรของชีวิตที่ทุกคนต้องเจอ แต่แค่จะเจอรุนแรงระดับไหน ไม่มีใครที่โลกสวยงามตั้งแต่เด็กจนโตหรอก คือทุกคนต้องเจอจุดเปลี่ยนหรือความผิดหวังบ้าง
สิ่งที่อยากบอกน้องๆ ก็คือว่าคนเราผิดหวังได้แต่อย่าผิดหวังนาน และอย่าใช้ความผิดหวังนั้นในทางที่ผิด
ซึ่งในที่นี้หมายถึงว่าพอเราผิดหวังแล้ว ถ้าเราใช้ชีวิตเพื่อประชดความผิดหวัง สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ได้มามันก็จะได้เป็นความผิดหวังแหละ เหมือน 1+1 ได้ 2 มันก็เหมือน ผิดหวัง+ผิดหวัง มันก็ได้ผิดหวัง
ธันย์รู้สึกว่าชีวิตเราเหมือนสมการ ถ้าเราใช้ชีวิตแบบแฮปปี้+แฮปปี้ สุดท้ายเราก็จะมีความสุข หรือความผิดหวัง+แฮปปี้บ้าง ผสมกันสุดท้ายมันก็ยัง 50:50 ธันย์เลยมองว่าถ้าเราผิดหวังระดับหนึ่งแล้ว เราต้องใช้ชีวิตให้เกินกว่าความผิดหวังที่เราเจอแล้วเราจะค้นพบว่า
จริงๆ แล้วความผิดหวังมันเป็นไดอารี่ เหมือนกับธันย์ในวันนี้ที่มันกลับกลายเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่เอาไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้
ความผิดหวังของใครหลายๆ คนก็ไม่ได้เป็นความผิดหวังที่ต้องปิดประตูแบบปิดตายไปเลย มันอาจจะเป็นประโยชน์กับคนในองค์กร คนในสังคมหรือคนอื่นๆ ในชีวิต ถ้าไม่มีคนผิดหวังมันก็จะไม่มีคนที่สอนบทเรียนหรือสอนให้กับคนอื่นๆ ที่ยังไม่เจอความผิดหวังก็ได้ คืออย่ามองว่าความผิดหวังมันเป็นด้านลบเสมอไป สุดท้ายเมื่อเจอความผิดหวังเราก็แค่แก้ไขความผิดหวังเหล่านั้นแล้วก็พยายามสร้างสิ่งที่มีความสุขให้มากกว่าความผิดหวังที่เราเจอ
เหมือนทุกวันนี้ธันย์เจอความผิดหวังจากอุบัติเหตุ เพราะฉะนั้นต่อไปมันก็จะต้องเป็นความสุขที่มากกว่าสิ่งที่เราเจอ ทุกคนก็จะเห็นว่าทำไมเราถึงใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขไม่มีลิมิตโน่นนี่นั่น จริงๆ มันมีกรอบของมันอยู่แล้วคือไม่ได้ใช้ชีวิตแบบสุดโต่งขนาดนั้น แค่เราได้ใช้ชีวิตในสิ่งที่เรารู้สึกว่าแฮปปี้มีความสุข ไปไหนที่เราอยากไป มีสิทธิ์ในการตัดสินใจทำในสิ่งที่เราอยากทำ มันน่าจะเป็นจุดที่ธันย์รู้สึกแฮปปี้สำหรับตัวธันย์เอง ซึ่งธันย์เชื่อว่าน้องๆ หลายคนที่เขาอาจเจอความผิดหวังอยู่ เขาก็จะมีกรอบความสุขของเขาที่เขาสามารถมีความสุขได้และออกไปใช้ชีวิตได้