- เทศกาลการเรียนรู้พลเมืองเยาวชนสงขลาส่องแสง การเรียนรู้ที่แท้ สร้างสรรค์พลเมืองเท่าทันโลก ประจำปี 2563 พื้นที่แสดงผลงานของพลเมืองเยาวชนสงขลา กำลังสำคัญที่จะช่วยพัฒนาจังหวัดสงขลาในอนาคต เป้าหมายไม่ใช่แค่โครงการที่ให้เด็กได้ทำ แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้เด็กๆ ได้คิด ได้ลงมือทำ
- Authentic Learning หรือกระบวนการเรียนรู้ที่ออกแบบให้คนได้ไปเจอกับเรื่องจริง ชีวิตจริง และได้ทำจริง โดยมีครูพลเมืองและพี่เลี้ยง ช่วย ‘ช้อน’ ประเด็น ผลักดัน และเชื่อมโยงปัญหาที่ใครอื่นคิดว่าเป็นเรื่องเล็กอย่าง การอนุรักษ์พันธุกรรมผักพื้นบ้าน, ประวัติศาสตร์ชุมชน, ลวดลายผ้ามันย้อม, ขยะ, โซล่าเซลล์ และอื่นๆ ให้ยกระดับเพื่อเชื่อมไปสู่ประเด็นอื่นในสังคมได้
ภาพ: เดชา เข็มทอง / The Potential
“The Young Citizen เราเลื่อมใสในคำว่า ‘เล็กแต่ลึก’ และ การพาคนไปเจอกับ ‘เรื่องจริง ชีวิตจริง’ เราออกแบบกระบวนการโดยให้เด็กเลือกเรื่องที่อยากทำเอง ซึ่งส่วนใหญ่มันก็ใกล้ตัวใกล้ชีวิตเค้า พอเค้าได้ทำอะไรที่มันเชื่อมโยงกับตัวเอง หัวใจเค้าก็ถูกขยายนะ
“ทุนที่เรามีคืออะไร? ต้องเล่าก่อนว่าสงขลาเป็นเมืองอพยพ เด็กจากสามจังหวัดชายแดนและอื่นๆ ย้ายเข้ามาอยู่ มาเรียนที่นี่ เรียกได้ว่าสงขลาเป็นเมืองหลวงของภาคใต้ก็ว่าได้ ทุนที่เรามีประการแรกเลยคือประชากรเด็กก็ได้ นอกจากเรายังมีทุนทางสังคมวัฒนธรรม ทุนเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องหาด และทุนความรู้ ทั้งหมดนี้เลยเป็นข้อได้เปรียบในการทำงานเยาวชนมาก”
คือคำของ พรรณิภา โสตถิพันธุ์ หรือ ‘ป้าหนู’ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานขับเคลื่อนหลายมิติ ทั้งเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเด็กและเยาวชน กล่าวถึงเด็กๆ ร่วมร้อยชีวิต จาก 10 โครงการ ที่นำโครงการของตัวเองมาแสดงในเทศกาลการเรียนรู้พลเมืองเยาวชนสงขลาส่องแสง การเรียนรู้ที่แท้ สร้างสรรค์พลเมืองเท่าทันโลก* วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ณ หอศิลป์สงขลา Songkla Art Center
Authentic Learning คือคำที่ป้าหนูและทีมงานสงขลาฟอรั่มพูดบ่อยในครั้งนี้ ความตั้งใจคือ นี่ไม่ใช่แค่โครงการที่ให้เด็กได้ทำ แต่คือ ‘กระบวนการเรียนรู้’ ที่ออกแบบให้คนได้ไปเจอกับเรื่องจริง ชีวิตจริง และได้ทำจริง โดยมีครูพลเมืองและพี่เลี้ยง ช่วย ‘ช้อน’ ประเด็น ผลักดัน และเชื่อมโยงปัญหาที่ใครอื่นคิดว่าเป็นเรื่องเล็กอย่าง การอนุรักษ์พันธุกรรมผักพื้นบ้าน ประวัติศาสตร์ชุมชน ลวดลายผ้ามันย้อม ขยะ โซล่าเซลล์ และอื่นๆ ให้ยกระดับเพื่อเชื่อมไปสู่ประเด็นอื่นในสังคมได้
ก่อนจะว่ากันถึงประเด็น ‘เล็กแต่ลึก’ ว่าโยงกับ ‘เรื่องจริง ชีวิตจริง’ อย่างไร ขอกล่าวถึงโครงการที่เด็กๆ ทำกันมาในระยะ 6-7 เดือน และนำมาแสดงในครั้งนี้ทั้ง 10 โครงการก่อน ดังนี้
- โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมผักพื้นบ้าน: ผักเหนาะ สร้างการมีส่วนร่วมชุมชนคลองยอ
- โครงการประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านแหลมสน: ประวัติศาสต์ชุมชนฉบับนี้เขียนด้วยมือเรา
- โครงการเกษตรปลอดสารพิษ: ผักปลอดภัย ปลูกด้วยหัวใจพลเมือง
- โครงการไก่ไข่อารมณ์ดี: ไม่ใช่แค่ไก่อารมณ์ดี แต่ตัวเรามีพัฒนาการเกิดขึ้นมากมาย
- โครงการผ้ามัดย้อมคนต้นปริก: ค้นหาลวดลายและความหมาย ผ้ามัดย้อมฅนต้นปริก
- โครงการศึกษาสถานการณ์ขยะและแนวทางลดปริมาณขยะในโรงเรียน: ลดปริมาณขยะ เริ่มที่ตัวเราก่อน
- โครงการเศษขยะ: ชุมชนสร้างถังกินแกง เพื่อขยะเปียก
- โครงการอนุรักษ์ขนมพื้นบ้าน: การเรียนรู้ชีวิตชุมชนผ่านขนมพื้นบ้าน
- โครงการศึกษาความต้องการและการใช้โซล่าเซลล์ในชุมชนอำเภอจะนะ: โซล่าเซลล์สร้างชีวิตให้ชุมชน สร้างเยาวชนให้คิดไกล
- โครงการพี่สอนน้องให้อ่านเขียน: นักศึกษากับการเผชิญหน้าการศึกษาในโลกยุคใหม่
‘เล็กแต่ลึก’ และ ‘เรื่องจริง ชีวิตจริง’ : กระบวนการเรียนรู้เยาวชนสงขลาที่ทำให้หัวใจของเด็กๆ ถูกขยาย
เพราะหัวข้อของงานมีคีย์เวิร์ดที่คำว่า ‘พลเมือง’ อันให้นัยกว้างถึงผู้ที่มีสิทธิและหน้าที่ต่อ ‘เมือง’ ในฐานะประชาชนของประเทศใดประเทศหนึ่ง หลายคนอาจถามว่า ประเด็นเล็กๆ ที่เด็กทำโครงการในชุมชนอย่าง 10 ประเด็นข้างต้น มันจะเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นสังคมใหญ่อย่างไร
น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี นักวิจัย นักเคลื่อนไหว และเจ้าหน้าที่สงขลาฟอรั่มอธิบายว่า หากดูแค่ประเด็นที่เด็กๆ ทำนั้น ก็จริงอยู่ที่มันเป็นเรื่องใกล้ตัวและอาจมองว่าเป็นประเด็นเล็ก แต่หากมองให้ดี ทุกประเด็นที่เด็กทำนั้นเชื่อมกลับไปยังประเด็นใหญ่ของสังคมได้ เช่น โครงการโซล่าเซลล์ โดยกลุ่ม จช.นำแสง นี่คือคำตอบของชุมชนเรื่องพลังงานสะอาด อธิบายให้ใหญ่กว่านั้น พื้นที่สงขลาถูกจับจ้องโดยกลุ่มทุนที่ต้องการเข้ามาพัฒนาเมือง หนึ่งในโครงการใหญ่คือโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่โครงการของเด็กๆ อย่างโซล่าเซลล์กำลังบอกคนในชุมชนหรือนักกำหนดนโยบายว่า นี่ไง… นี่คือคำตอบที่เด็กๆ เค้าคิดและหาข้อมูลมา และมันผ่านการหารือกับชุมชนมาแล้วด้วย
หรืออย่างโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมผักพื้นบ้าน ผักเหนาะ ก็เป็นเรื่องเดียวกับสิ่งแวดล้อม เป็นการตอบและตั้งคำถามต่อการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ไม่ใช่แค่มีปัญหาแค่ในสงขลาแต่เป็นประเด็กร่วมในสังคม หรืออย่างโครงการประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านแหลมสน นี่ก็เป็นการตอบคำถามเรื่องอัตลักษณ์คนในพื้นที่
“key person คือครู พี่เลี้ยงในชุมชน และ กระบวนการ ว่ารู้เท่าทันประเด็นเหล่านี้มั้ย และทำยังไงให้คนเหล่านี้นำกระบวนการ พาเด็กๆ ไปเห็นประเด็นใหญ่ที่มันเชื่อมโยงกันเหล่านี้ให้ได้ ซึ่งนี่คือสิ่งที่สงขลาฟอรั่มทำ คือทำงานกับ key person เหล่านี้ด้วย” น้ำนิ่งกล่าวและย้ำว่า เด็กจะเห็นภาพใหญ่ไม่ได้หากไม่ลงมือทำ นี่คือห้องเรียนจริง ทำจริง รู้สึกจริง ตั้งคำถามกับมันจริงๆ อย่างที่ปรากฎในชื่องานว่าคือกระบวนการแบบ Authentic Learning หัวใจของโครงการ The Young Citizen ที่เด็กๆ เอาผลงานมานำเสนอในวันนี้ และการเดินทางของโครงการมาเป็นปีที่ 7 แล้ว
ถามอย่างกำปั้นทุบดิน หากเราเข้าใจแล้วว่าโครงการที่เด็กทำนั้นเชื่อมโยงประเด็นสังคมในภาพใหญ่ได้ แต่ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมหลายอย่างที่นำมาแสดงในงานนี้จะถูกนำไปใช้และพัฒนาต่อจริงหรือ?
“ปัญหาคือ เพราะคุณไม่เคยเชื่อว่าความคิดจากเด็กมันทำแล้วเปลี่ยนจริงได้ คือไม่เคยคิดและเอานโยบายหรือไอเดียของเด็กๆ ไปสานต่อ” น้ำนิ่งตอบด้วยการตั้งคำถามกลับไม่รู้ว่าดอกผลที่เกิดจากพลเมืองเยาวชนสงขลาจะเติบโตเช่นไร เพราะคำตอบที่ได้ย่อมต้องอาศัยเวลาในการฟูมฟัก แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือ เกิดความร่วมมือในระดับท้องถิ่น อย่างที่สุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก รับลูกโดยการให้ทีมสงขลาฟอรั่มเป็นโคช ถ่ายทอดการทำงานเช่นนี้ให้กับครูในโรงเรียนเทศบาลเมืองปริก ทำโครงการด้วยกระบวนที่เหมือนกัน เพราะเชื่อว่า กระบวนทัศน์แห่งการเรียนรู้ได้เปลี่ยนไปแล้ว
สุริยาเล่าว่า ในโรงเรียนเทศบาลเมืองปริก นอกจากจะจัดการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระตามหลักสูตรทั่วไป ยังเพิ่ม 4 สาระท้องถิ่น โดยเรียนรู้ร่วมกันคือ เทศบาลท้องถิ่น โรงเรียน และ ชุมชน จัดการเรียนรู้ดังนี้ วิถีชุมชน, สิ่งแวดล้อม, ภัยพิบัติ และ เศรษฐกิจพอเพียง
ท่ามกลางปัญหาการศึกษาทั้งเรื่องคุณภาพและโลก disruption ที่ทุกคนตั้งคำถามกันว่าเราจะผลิตประชากรประเทศในทิศทางไหน การเดินทางของ The Young Citizen ในปีที่ 7 นี้ อาจเป็นอีกหนึ่งคำตอบว่าการเรียนรู้ที่ ‘ทำให้หัวใจถูกขยาย’ ต้องมาจากความรู้สึก การลงมือทำ และการร่วมมือของคนหลายหน่วยงานไม่ใช่แค่ภาคโรงเรียน และคงไม่ใช่แค่เยาวชนได้เรียนรู้ แต่อาจพูดได้ว่านี่คือพื้นที่ที่ให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน
อาจเป็นอย่างที่น้ำนิ่งกล่าว หากเราฟังเสียง ฟังไอเดีย ฟังการเดินทางเพื่อแก้ปัญหาเมืองดีๆ เราอาจเห็นนโยบายสร้างสรรค์ที่มาจากการมีส่วนร่วมชุมชนก็ได้ อย่างน้อยๆ ก็ 10 โครงการนี้แล้ว
*เทศกาลการเรียนรู้พลเมืองเยาวชนสงขลาส่องแสง การเรียนรู้ที่แท้ สร้างสรรค์พลเมืองเท่าทันโลก ภายใต้ชื่อโครงการ The Young Ciizen ความร่วมมือระหว่างทีม สงขลาฟอรั่ม, มูลนิธิสยามกัมมาจล, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ หอศิลป์สงขลา Songkla Art Center |