- มากกว่าความสำเร็จของผลงาน คือการได้เรียนรู้ทักษะ 4C (Critical Thinking, Creativity, Collaboration และ Communication) ผ่านกระบวนการทำงานที่ค่อยๆ กระตุ้นความกล้าในการลองผิดลองถูกโดยไม่ถูกตัดสิน และช่วยเปลี่ยนคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงความเห็น ให้กลายเป็นคนที่พูดได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
- ‘ชุดพ่นละอองน้ำในโรงเรือนจิ้งหรีดด้วยระบบ IOT’ จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี นวัตกรรมที่เกิดจากปัญหาการเลี้ยงจิ้งหรีดของชุมชน เป็นหนึ่งใน 15 ผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้มาจัดแสดงในพิธีปิดโครงการต่อกล้าอาชีวะ ประจำปี 2564
- ชุดพ่นละอองน้ำฯ นี้สามารถสั่งงานผ่านสมาร์ทโฟนบนแอปพลิเคชัน Blynk ที่คิดค้นขึ้นเอง เมื่ออุณหภูมิสูงเกินไป เครื่องนี้จะปล่อยละอองน้ำออกมา เพื่อลดอุณหภูมิลงอยู่ที่ 25 องศา ซึ่งเหมาะกับการเจริญเติบโตของจิ้งหรีด ช่วยทุ่นแรงและประหยัดเวลาในการฉีดน้ำเองของเกษตรกร
“เมื่อได้ความรู้ มีทักษะแล้ว เราต้องนำไปประกอบอาชีพให้ได้จริง ถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด” หัวหน้าทีมจิ้งหรีดซู่ซ่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี สะท้อนมุมมองจากการได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมและการลงมือทำจริง
ทว่ามากกว่าประโยชน์ของผลงานหรือนวัตกรรมที่เยาวชนคิดค้นขึ้น คือการที่พวกเขาได้เรียนรู้ผ่านการวางแผน การทำงานเป็นทีม กระบวนการคิดที่เป็นระบบ การลงมือทำ รวมถึงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน นำไปสู่ผลงานที่ภาคภูมิใจ เป็นการพัฒนาเยาวชน ผ่านการพัฒนาผลงาน ตามเป้าหมายหลักของ ‘โครงการต่อกล้าอาชีวะ’ โดยการสนันสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
The Potential พาไปดู ตัวอย่างโครงการของกลุ่มเยาวชนอาชีวศึกษา ‘ชุดพ่นละอองน้ำในโรงเรือนจิ้งหรีดด้วยระบบ IOT’ จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี นวัตกรรมที่เกิดจากปัญหาการเลี้ยงจิ้งหรีดของชุมชน หนึ่งใน 15 ผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้มาจัดแสดงในพิธีปิดโครงการต่อกล้าอาชีวะ ประจำปี 2564 และการนำเสนอสรุปผลในการพัฒนาต่อยอดผลงาน ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี
แก้โจทย์ด้วยเทคโนโลยี ไอเดีย ‘ชุดพ่นละอองน้ำในโรงเรือนจิ้งหรีดด้วยระบบ IOT’
อุณหภูมิในการเลี้ยงจิ้งหรีดในโรงเรือนที่สูงขึ้น ทำให้จิ้งหรีดกินน้ำและกินอาหารน้อยลง ส่งผลกระทบต่อการเจริญเจริญเติบโตของจิ้งหรีด นี่คือปัญหาหลักที่ทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีโครงการเลี้ยงจิ้งหรีดในวิทยาลัยและกลุ่มเกษตรกรในชุมชนรอบๆ พบเจอเช่นเดียวกัน
ด้วยความตั้งใจอยากจะแก้ไขปัญหานี้ จึงเกิดการรวมตัวกันของทีมงานคุณภาพ ‘จิ้งหรีดซู่ซ่า’ ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า ‘ชุดพ่นละอองน้ำในโรงเรือนจิ้งหรีดด้วยระบบ IOT’ ที่ผ่านการระดมสมองของ ภู มีน ภาค และภูมิ นักศึกษาวิทยาลัยแห่งนี้ โดยมีอาจารย์ปู – พนาไพร กันทัด และ ว่าที่ร้อยตรีวิชิต พรหมอินทร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ
“ในวิทยาลัยมีโครงการที่ให้เด็กหารายได้ระหว่างเรียน ซึ่งวิทยาลัยเกษตรสนับสนุนอยู่แล้ว เรียนไปด้วยมีรายได้ไปด้วย แล้วผมก็ได้ทำโครงการนี้มาก่อน เริ่มแรกก็คือทำโครงการเลี้ยงจิ้งหรีดก่อน ทีนี้ก็เจอปัญหา ก็เลยออกสำรวจในชุมชนพื้นที่อำเภอพนม ซึ่งมีรัฐวิสาหกิจชุมชนที่ทำอาชีพนี้อยู่เยอะ แล้วชุมชนก็เจอปัญหาเหมือนกัน ก็คือว่าอุณหภูมิในโรงเรือนสูง เสียเวลากับการใช้ฟ็อกกี้ฉีดน้ำจำนวนมาก ดังนั้นพวกเราจึงคิดโมเดลขึ้นมา แล้วก็สมัครเข้าโครงการต่อกล้าอาชีวะ เมื่อได้รับงบประมาณสนับสนุนจึงเกิดเครื่องตัวนี้ขึ้นมา” ภู – ภูวิศ สุดประเสริฐ หัวหน้าทีมพัฒนา ชุดพ่นละอองน้ำฯ ทีมจิ้งหรีดซู่ซ่า พูดถึงที่มาของผลงานชิ้นนี้
สำหรับกระบวนการทำงานของเครื่องพ่นละอองน้ำในโรงเรือนจิ้งหรีดด้วยระบบ IOT คือโซล่าเซลล์จะรับพลังงานจากแสงอาทิตย์หลังจากนั้นจะส่งไปยังโซล่าชาร์จ โซล่าชาร์จจะส่งพลังงานมาเก็บไว้ในแบตเตอรี่ ส่งต่อไปให้รีเลย์ (อุปกรณ์ที่เปลี่ยนไฟฟ้าให้เป็นพลังงานแม่เหล็ก ใช้ในการควบคุมวงจรต่างๆ) เพื่อเปลี่ยนกระแสไฟจาก 12 โวลต์ เป็น 5 โวลต์ เมื่อเปลี่ยนพลังงานแล้วก็จะส่งพลังงานมาเลี้ยงอุปกรณ์ต่างๆ ภายในเครื่อง จากนั้นตัวประมวลผลกลางจะสั่งให้รีเลย์เปิดปั้มน้ำพ่นออกมาเป็นละออง
โดยตัวเครื่องพ่นละอองน้ำในโรงเรือนจิ้งหรีดด้วยระบบ IOT สามารถสั่งงานผ่านระบบสมาร์ทโฟนบนแอปพลิเคชัน Blynk ที่มีภาคและภูมิเป็นผู้รับหน้าที่คิดค้นและเขียนโค้ดจนออกมาเป็นแอปที่ว่านี้
“การทำงานของตัวเครื่องนี้จะวัดความชื้น โดยมีตัวเซ็นเซอร์วัดความชื้น วัดอุณหภูมิ แล้วก็จะมีระบบประมวลผล เมื่ออุณหภูมิสูงเกินไป มันจะปล่อยละอองน้ำออกมา เพื่อลดอุณหภูมิให้มันต่ำลงอยู่ที่ 25 องศาครับ” ภาค – ศิวพากย์ มุกดา ผู้รับหน้าที่เกี่ยวกับงานพัฒนาระบบสั่งการด้วยสมาร์ทโฟนและดูแลซ่อมแซมเครื่องพ่นละอองน้ำฯ ทีมจิ้งหรีดซู่ซ่า อธิบายการทำงานของตัวเครื่อง
“app blynk ที่เราได้เชื่อมต่อกับตัวเครื่องไว้ ค่าที่แสดงผลผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนก็จะมีค่าความชื้น และอุณหภูมิภายในโรงเรือน โดยจะมีเซ็นเซอร์ในการบอกความชื้นและอุณหภูมิในตัวเครื่องในโรงเรือนของเรานะครับ ถ้าเราจะเปิดใช้งานเราก็กดปุ่มเปิดใช้งาน ตัวเครื่องก็จะเริ่มพ่นละอองน้ำ โดยควบคุมการทำงานผ่าน app blynk ครับ” ภูมิ – ยุทธภูมิ หีดจินดา หนึ่งในทีมจิ้งหรีดซู่ซ่า อธิบายเสริมถึงการสั่งการผ่านระบบ IOT
ทักษะการทำงานเป็นทีม ส่วนสำคัญของความสำเร็จ
เมื่อถามถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีมว่าพบเจอปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้างไหม แล้วเราแก้ไขสถานการณ์นั้นอย่างไร? ภูตอบทันทีว่า
“ในการทำงานร่วมกัน ต่างคน ต่างนิสัย ต่างบุคลิกภาพ เราจะต้องรู้จักการวางแผน เราต้องมาคุยกัน ต้องเปิดใจคุยกันก่อนว่า งานนี้จุดประสงค์ของงานคืออะไร แล้วเราก็วางแผน กำหนดเป้าหมายว่าเราต้องการที่จะพัฒนาโรงเรือนจิ้งหรีดให้เป็นระบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เป็นการเกษตรยุคใหม่ที่ไม่ได้เป็นการทำการเกษตรที่เสียแรงและเสียเวลาเหมือนเมื่อก่อน จากนั้นก็ร่วมมือกัน”
การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามความเก่งและความถนัดของแต่ละคนนั้นก็เป็นสิ่งที่คนในทีมเดียวกันต้องใส่ใจ เพราะเมื่อแต่ละคนได้ใช้ความสามารถที่มีทำหน้าที่นั้นๆ เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขามองเห็นศักยภาพของตัวเองชัดเจนขึ้น
ภูเล่าให้ฟังต่อถึงการทำงานเป็นทีมว่า “เหมือนผมเองมีความรู้ที่น้อยมากๆ แต่มีน้องสองคนที่มีความรู้โดนเด่น (ภาค กับ ภูมิ) เกี่ยวกับเรื่องระบบ ส่วนมีนก็จะเก่งเรื่องการลงชุมชน เพราะด้วยความที่แม่เป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่แล้ว น้องก็จะเก่งเรื่องนี้ ส่วนผมก็จะรับผิดชอบเกี่ยวกับการเลี้ยงจิ้งหรีด วางแผนว่าจะเลี้ยงแบบไหน แล้วก็คอยดูแลจิ้งหรีด
เราก็ต้องนำหลายๆ คนมาปรับทัศนคติให้ตรงกัน ใครเก่งด้านไหนคนนั้นก็จะเป็นผู้นำด้านนั้น แล้วเราก็มาแชร์ความรู้กัน เพื่อที่จะให้ประสบความสำเร็จ ให้งานเราบรรลุวัตถุประสงค์ที่พวกเราตั้งไว้”
“อย่างเรื่องการลงชุมชน เพื่อไปค้นหาข้อมูลของเกษตรกร ในการทำงานกับชุมชนจะบอกว่ายากไหม ก็ไม่ยากครับ แค่เราต้องเปิดใจแล้วก็เข้าไปให้ถึงเขา เปิดรับว่าเขาต้องการแบบไหน เราก็ได้เข้าไปให้คำแนะนำ แล้วในการสื่อสารกับเกษตรกรที่ต่างวัยก็ไม่เป็นอุปสรรคครับ เพราะแม่ผมเป็นผู้นำชุมชน เวลามีงานอะไรผมก็ได้ติดตามไปด้วยตลอด ได้เห็นการทำงานของแม่ ก็เรียนรู้จากตรงนั้น” มีน – ณรงค์ชัย ทิมทอง หนึ่งในทีมจิ้งหรีดซู่ซ่า เล่าให้ฟังถึงหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบ
มากกว่าความสำเร็จของผลงาน คือการได้เรียนรู้ทักษะ 4C
ในกระบวนการทำงานร่วมกัน พวกเขาร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่คิดไอเดีย – วางแผน – คิดค้น – ทดลอง – สรุปผล กว่าที่จะมาเป็น ‘ชุดพ่นละอองน้ำในโรงเรือนจิ้งหรีดด้วยระบบ IOT’ ผลงานที่นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อวงการเกษตรแล้ว กระบวนการทำงานที่ผ่านการเวิร์กชอปยังค่อยๆ กระตุ้นความกล้าในการลองทำสิ่งใหม่ ให้ทั้ง 4 คน ได้ลองผิดลองถูกโดยไม่ถูกตัดสิน หรือฝึกทักษะสำคัญอย่างการสื่อสารที่หลายคนบอกว่า ช่วยเปลี่ยนคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงความเห็น ให้กลายเป็นคนที่พูดได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
ซึ่งทักษะต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่โครงการฯคาดหวังว่าเยาวชนอาชีวศึกษาจะสามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ ประกอบด้วย ทักษะ 4C คือ Critical Thinking (คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล), Creativity (คิดนอกกรอบ), Collaboration (การทำงานเป็นทีมได้ดี) และ Communication (การสื่อสาร จับประเด็นได้)
“สิ่งที่ผมได้เพิ่มจากโครงการนี้ก็คือการทำแผนที่ดี แล้วก็การทำงานเป็นทีมที่ถูกต้อง คือเคยคิดว่าวิธีการทำงานแบบเดิมอาจจะดีแล้ว แต่มันไม่ใช่
ในการทำงานเราได้เรียนรู้ต่างๆ มากมาย เราต้องวางแผนอย่างไร ต้องมีระบบ ต้องมีการจัดการที่ดี จะต้องพูดคุยกัน ไม่คิดว่าตัวเองเป็นใหญ่ ทุกคนมีสิทธิที่จะคิด ออกเสียง แล้วก็ทำ” ภู กล่าว
ในส่วนของมีน ภาค และภูมิ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นอกจากความรู้เรื่องเทคโนโลยี การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ และเรียนรู้การทำงานร่วมกันที่ดีเพื่อให้กลายเป็นทีมเวิร์ก ‘การพูด’ ‘การสื่อสาร’ คือทักษะที่ทั้ง 3 คน คิดว่าได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น
“โครงการนี้มอบโอกาสให้เด็กบ้านๆ ทั่วไป ได้สอนหลายอย่าง ไม่ใช่เฉพาะเกี่ยวกับเรื่อง IOT หลักๆ ที่ผมได้เห็นจากน้องๆ ในทีม คือ ทักษะการสื่อสาร อันนี้ต้องยอมรับจริงๆ ว่าค่ายนี้ได้ให้เทคนิคและให้ความรู้ แนวทาง การสื่อสารที่ถูกต้อง และเหตุที่สมควรจะสื่อสาร หัดต่อรอง กล้าที่จะต่อรอง อันนี้ที่เห็นได้ชัดว่าน้องๆ ในทีมและตัวผมเองก็พัฒนาขึ้นมาจริงๆ” ภู หัวหน้าทีมจิ้งหรีดซู่ซ่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี ทิ้งท้าย
โครงการต่อกล้าอาชีวะ เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาศักยภาพของตนเองผ่านการพัฒนาผลงาน ผ่านการพัฒนาทักษะ 4C ได้แก่ Critical Thinking, Communication, Creativity และ Collaboration โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยปีนี้เป็นปีแรกที่เปิดพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบให้แก่กลุ่มนักเรียนอาชีวะจากทุกสถาบันส่งผลงานเข้ามา และคัดเลือกเหลือเพียง 15 ผลงานสุดท้ายจากทั่วประเทศ เพื่อนำมาจัดแสดงในพิธีปิดโครงการต่อกล้าอาชีวะ ประจำปี 2564 พร้อมพิธีมอบโล่ เกียรติบัตร และการนำเสนอสรุปผลในการพัฒนาต่อยอดผลงาน ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี จัดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2565 |