- ตลอด 50 ปี ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ระบบการศึกษาไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ จนทำให้เป้าหมายทางการศึกษาทั้งในระดับโรงเรียนและระดับอุดมศึกษา ถูกเบี่ยงเบนไปจากคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน
- งานประชุมวิชาการ Education Journey 50 ปี การศึกษาไทย จัดเสวนาหัวข้อ ‘ถอดบทเรียนงานพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนจากโมเดลกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย’ จากผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ใน 4 โครงการ
- แต่ละโครงการต่างมีมุมมอง เป้าหมาย และรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป ทว่ามีเป้าหมายร่วมกันคือ การยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ สร้างการเปลี่ยนแปลงและช่วยพัฒนาการศึกษาในแต่ละพื้นที่
ตลอด 50 ปี ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าระบบการศึกษาไทยนั้นได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจสังคม ความเชื่อ และการให้คุณค่ากับปริญญาบัตร จนทำให้เป้าหมายทางการศึกษาทั้งในระดับโรงเรียนและระดับอุดมศึกษา ถูกเบี่ยงเบนไปจากคุณภาพการเรียนรู้ สู่การมุ่งผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของความสำเร็จตามค่านิยมของสังคม
อีกทั้งการยึดโยงกับระบบราชการ ได้ทำให้เกิดแนวปฏิบัติของโรงเรียนที่สนองตอบการวัดและประเมินผลแบบตายตัว บุคลากรทางการศึกษาถูกโถมทับด้วยภาระงานและนโยบายจากบนลงล่าง ขาดแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ ส่งผลต่อการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่สามารถส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพลิกผันของสังคมโลก
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาได้มีความพยายามจากหลายภาคส่วนเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ให้พ้นไปจากกับดักดังกล่าว โดยหลายโครงการได้สร้างการเปลี่ยนแปลงและช่วยพัฒนาการศึกษาในแต่ละพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งใน งานประชุมวิชาการ Education Journey 50 ปี การศึกษาไทย ได้มีการ ‘ถอดบทเรียนงานพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนจากโมเดลกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย’ จากผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ใน 4 โครงการ ได้แก่
โครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดย รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์
โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา โดย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ หัวหน้าชุดโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา
โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง โดย ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ.
โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดย ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จังหวัดเชียงราย
แต่ละโครงการต่างมีมุมมอง เป้าหมาย และรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป The Potential ชวนถอดรหัสความสำเร็จของแต่ละโครงการผ่านการบอกเล่าของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ท่าน
โครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา: รศ.ประภาภัทร นิยม
“เรื่องของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็น Movement ของการเปลี่ยนแปลงทิศทางการศึกษา เดิมการศึกษาจะเป็นในลักษณะของการที่ ‘ผู้จัดอยากจัดอะไร’ แต่ไม่ได้ถามว่า ‘ผู้รับอยากได้อะไร’ ทีนี้พอเรามาปรับกลับหัวกลับหางกัน คือไปสู่การที่ผู้รับการศึกษาอยากได้อะไร จึงเป็นการปฏิรูปการศึกษาอีกแบบหนึ่งที่วิธีคิดไม่เหมือนเดิม
ความเข้าใจเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย ต้องทดลองใน Education Sandbox ก็เป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาล ซึ่งในช่วงนั้นเรามีวิสัยทัศน์ของรัฐบาลคือ ประเทศไทยมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และพูดถึงเรื่องคณะกรรมการอิสระที่ท่านได้ชูประเด็นการบริหารจัดการศึกษาใหม่ที่เน้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และมีพรบ. ขึ้นมาหลายฉบับ ซึ่งก็มีการร่างพรบ.การศึกษาฉบับใหม่ด้วย มีพรบ. ย่อยคือ พรบ. ปฐมวัย และ พรบ. พื้นที่นวัตกรรมการสึกษา”
รศ.ประภาภัทร เล่าว่า นี่เป็นไอเดียที่ไปผสานกับคณะกรรมการอิสระ ก็เลยดีไซน์ Education Sandbox ในสเกลจังหวัดที่เป็นสเกลที่จัดการได้พอสมควร เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่มาที่มีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 4 ข้อ ได้แก่
- สร้างและพัฒนากลไกความร่วมมือทุกภาคส่วน
- เพิ่มผลสัมฤทธิ์ ผลิต/พัฒนา/ขยายผล นวัตกรรมการศึกษา
- ลดความเหลื่อมล้ำ
- กระจายอำนาจและให้อิสระ
ซึ่งจุดเด่นของกระบวนการทำงานก็คือ การทำเรื่องของ Ownership และ Empowerment เพื่อสร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าของของการจัดการศึกษาในพื้นที่ของจังหวัด โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจจากภาคีต่างๆ แล้วมาแชร์เป้าหมายร่วมกัน
“กลไกที่ดำเนินงานสำคัญๆ ก็มีคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และจากคณะกรรมชุดนี้ก็ตั้งอนุกรรมการไปอีก 6 ชุด เพื่อดูแลเรื่องของวิชาการ บุคคล งบประมาณ ยุทธศาสตร์ และการมีส่วนร่วม และมีคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่ในจังหวัด หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ ดำเนินงานในพื้นที่และประสานกับคณะกรรมการนโยบายฯให้บรรจุวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น ประกอบไปด้วยองค์ประกอบในพื้นที่ที่มาจากเขตพื้นที่การศึกษาของ สพฐ. ไม่ว่าจะเป็น สพป. สพม. และทุกสังกัดทั้ง อบจ. อบต. และมีทั้งภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมมาเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อน ก็ค่อนข้างจะดูดีทั้งสองชุด แต่ก็ไม่ได้ง่ายเช่นนั้น
หลักๆ คือเราไปเคลื่อนสร้างระบบนิเวศในพื้นที่ของการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ รวมถึงนิเวศในโรงเรียนแและสถานศึกษาเสียใหม่ เพราะไม่เช่นนั้นภาชนะดีๆ ที่เราได้มาก็จะเล็กเกินไป หรือรั่ว หรือรับไม่ได้ บางทีใส่ไปครั้งหนึ่งก็หายไป ไม่มีคนทำต่อ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราไปทำคือไปเคลื่อนระบบนิเวศให้สมบูรณ์ขึ้นทั้งในระดับจังหวัด และระดับสถานศึกษา
เราต้องการความร่วมมือจากผู้คนหลายฝ่ายมาก ตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติ ที่สำคัญคือต้องทำอย่างไรเราจึงจะสามารถสร้างระบบนิเวศขึ้นมาใหม่ทำให้สิ่งที่เราคิดและทำ สามารถเกิดขึ้นจริงกับนักเรียนได้”
“นวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมและความสำเร็จที่เกิดขึ้น มี 2 ระดับด้วยกันค่ะ ระดับบนก็จะเป็นระดับนโยบาย ที่มีการออกประกาศของคณะกรรมการนโยบายที่ออกในราชกิจจานุเบกษาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านวิชาการที่ปลดล็อกไปได้หลายอย่าง
โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถเลือกใช้หลักสูตรได้หลายประเภท ไม่จำเป็นต้องใช้เฉพาะหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐานปี 2551 ที่มี 8 สาระวิชา แต่สามารถที่จะเลือกพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของตัวเองได้ และมีการออกประกาศเกณฑ์รับรองการวัดและประเมินผล เทียบโอนตามมาตรฐาน
ลงไปในระดับกลาง หรือ MESO ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัดว่าจะใช้วิธีไหน แต่ที่ดิฉันทำที่ระยองก็สามารถไปได้เยอะ เกิดโครงสร้างที่จริงจังและชัดเจนมากขึ้น เพราะเราใช้ฐานภาคีการมีส่วนร่วมอยู่วงตรงกลาง อีกด้านคือสร้างเป้าหมายร่วมกันเป็น Ownership จากภาคีประมาณ 65 ภาคี ให้มีความเป็นเจ้าของ เป็นเจ้าภาพ
ใน 10 จังหวัดจึงมียุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และมีหลักสูตรจังหวัดด้วยคือ ‘Rayong Macro’ พอจัดระบบหลักสูตรได้ จึงเริ่มมีการโฟกัสที่ท้องถิ่น การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาก็มีความเป็นไปได้
ต่อมาในเรื่องการ Empowerment ก็เกิดนวัตกรรมขึ้นเยอะแยะเลย มีการสร้างกลไกในพื้นที่ขึ้นที่เรียกว่า Rayong Inclusive Learning Academy เกิดนวัตกรรมเชิงระบบและการยกระดับทั้งสภาพสังคม เทคโนโลยี และชุมชน โรงเรียนก็จะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง เราก็ใช้งานวิจัยเข้าไปช่วยทำเป็นการเปลี่ยน 7 เรื่ององคาพยพ
ยกระดับที่ 2 คือการลงไปทำกับโรงเรียน ก็จะได้เรื่องของครู สมรรถนะครู และผู้อำนวยการ รวมถึง School Concept ต่างๆ ซึ่งน่าอัศจรรย์ใจมากที่ 50 โรงเรียนนั้นมี School Concept ไม่เหมือนกันเลย เพราะแต่ละแห่งก็ขึ้นอยู่กับบริบท บางแห่งใกล้ชิดกับการเกษตร ก็เน้นทางเกษตร บางแห่งอยู่ใกล้เทคโนโลยีเขาก็ไปทาง AI เป็นต้น
ยกระดับที่ 3 คือผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ในระดับกลางที่เป็นโครงสร้าง สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย คณะกรรมการบริหาร (Rayong Inclusive Learning Academy: RILA) โดยตัว Move หลัก หรือ RILA Move คือภาคีที่จัดการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ที่จะไปเชื่อมโยงกับโรงเรียนด้วย
และเราจะมี RTA หรือ Rayong Teacher Academy ตรงนี้คือการผลิตครูโดยเอาคนระยองมาเป็นครูระยอง แล้วจึงค่อยเอาเข้าสู่ระบบ เราก็รับสมัครคนที่เรียนสายต่างๆ แล้วอยากเป็นครู โดยจัดโปรแกรม 4 โปรแกรม
ส่วนในระดับ Micro หรือระดับโรงเรียนและสถานศึกษา ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่สร้าง School Vision ด้วยกัน ในโรงเรียนเล็กๆ พบว่าทำได้ง่ายมาก เพราะเขามีความเป็นเจ้าของและมีฝันของตนเอง เราก็ไปช่วยเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองให้เขาเป็นหนึ่งเดียวกัน และปรับบทบาทมายเซ็ตผู้อำนวยการและครูให้มีความเป็นโค้ช ผู้อำนวยการหลายคนก็กลายเป็น Super Coach ที่สามารถไปโค้ชโรงเรียนอื่นๆ ได้ด้วย และเกิดเป็นระบบโค้ชในพื้นที่ กลายเป็นระบบ Micro และ Meso ก็มาเชื่อมต่อและเสริมกัน”
โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา: รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ
โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันของ 8 มหาวิทยาลัยใน 18 จังหวัด โดย ‘เพาะพันธุ์ปัญญา’ เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ดังนั้น Pain point ของเพาะพันธุ์ปัญญาและการศึกษา คือการที่คุณครูขาดทักษะการสอนโครงงานใน ‘แนวคิดผลเกิดจากเหตุ’ อีกทั้งยังไม่มีใครพัฒนาครูในเรื่องนี้ทั้งกระบวนทัศน์ การสอน การประเมิน และการเรียนรู้
“การประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้วิชาโครงงานปิดตายมาหลายทศวรรษ ครูยังขาดการตั้งคำถาม ทั้ง Cognitive และ Affective ก็ไม่ดีพอ จับประเด็นแบบ KM ไม่คล่อง จึงมีปัญหาทั้งกระบวนการ AL และ PLC ระบบอำนาจที่ครอบงำมานานทำให้ครูไม่กล้าหลายๆ อย่าง รวมถึงกรรมการสถานศึกษาและชุมชนไม่ได้รับการ Empower เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา
ประเด็นที่กล่าวมาเป็นจุดที่เราเข้าไปทำ แต่ที่เหลือยังมีอีกมากมาย ทีนี้พอเรามาวิเคราะห์การศึกษาในช่วงนั้นประมาณสัก 20 ปีที่แล้ว นี่ก็เป็น Standard Base Education ที่ทุกคนก็ยอมรับว่าทำให้การศึกษามันถดถอย มันอาจจะดีในบางส่วน เช่น พื้นที่การศึกษาที่กำลังเดินไปข้างหน้า
สมรรถนะจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดการปฏิบัติ ซึ่งเราต้องใช้ VASK ในการทำงาน เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้เด็กไทยมีสมรรถนะ มันหนีไม่พ้นที่เราต้องเข้าใจการเรียนรู้ทั้งสามขั้นของ Bloom ว่า จากการเรียนไปสู่ขั้นเข้าใจและไปสู่การนำไปใช้”
สรุปหลักการเพาะพันธุ์ปัญญาในการศึกษา
- การเรียนรู้ต้องผ่านประสบการณ์ ปฏิรูปวิชาโครงงาน ปฏิบัติให้ถึงปริยัติโดยผ่านปฏิเวธ
- วิจัยคือเส้นทางไปสู่ปัญญาผ่านการสร้างความรู้ วิจัยอยู่ที่เด็ก ไม่ใช่ครู
- โครงงาน RBL เป็นทางลัดของ CBE และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคุณภาพการศึกษา
- ต้องเป็น RBL ที่มีสมมุติฐานในระบบคิด ‘ผลเกิดจากเหตุ’ จากโจทย์มีบริบทใกล้ตัว
- ต้องพัฒนาระบบ/กลไกการเรียนรู้จากการทำโครงงาน
- พัฒนา mindset การเรียนรู้จากการทำโครงงาน (หลักสูตร การสอน การประเมิน)
- พัฒนาครู ผู้บริหารสถานศึกษา กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน ศน.
- พัฒนาผู้ผลิตและพัฒนาครูให้เข้าใจและมีสมรรถนะ (ในการผลิตและพัฒนา)
“การพัฒนาครูเราต้องมองเป็น 3 เฟือง คือ 1 เราต้องพัฒนาระบบนิเวศในโรงเรียนก่อน ระบบที่ 2 ระบบพัฒนาครู เพราะระบบแรกต้องหมุนเฟืองระบบพัฒนาครู และระบบที่ 3 คือระบบ ศน.(ศึกษานิเทศก์) ที่มาช่วยหนุนเฟืองของการทำโครงงานที่ครูเป็นโค้ชมันจะไปได้ แต่ถ้า ศน. หมุนผิดทาง ปัญหามันจะเกิด conflict ระหว่างครูกับสถานศึกษาขึ้นทันที”
“เมื่อพูดถึงเรื่องการพัฒนาทักษะของเด็ก คือเมื่อเด็กเป็นผู้ปฏิบัติเอง เราก็รู้นะ เพราะเวลาเด็กเขามานำเสนอเราจะดูออกเลยว่าเขาพูดในสิ่งที่เขาทำ ไม่ได้พูดในสิ่งที่ครูสอนให้ท่อง เด็กเหล่านี้เวลาทำงานเขาจะมีทักษะสำคัญหลายๆ ทักษะ ที่เราเห็นชัดคือทักษะทางสังคมที่สูงมาก เพราะว่าเขามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ออกไปชุมชน ถกเถียง หาความเห็น ยอมรับความเห็นซึ่งกันและกัน
การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม คือเวลาเด็กทำงานเราจะเห็นอย่างหนึ่งคือ เด็กเกิดการปะทะกัน เกิดปะทะทางอารมณ์ ฉุนเฉียวบ้างอะไรบ้าง เป็นธรรมชาติของเด็ก แต่เราต้องสร้างและดึงจุดนั้นออกมาเป็นการเรียนรู้ เด็กพวกนี้จะคิดเป็นทำเป็น แก้ปัญหาเป็น สื่อสารเป็น เพราะฉะนั้นทักษะใหม่ที่เราพยายามจะทำในหลักสูตรสมรรถนะ เขาก็ได้กันครบ
มนุษย์เรารู้จากประสบการณ์ คุณครูก็มีหน้าที่ดึงเอาประสบการณ์ที่เขารู้ แต่จะทำยังไงจึงจะดึงสาระวิชาที่เรียนไปแล้วในห้องเรียนมาบูรณาการให้เกิดความรู้ใหม่ให้ได้ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือเด็กทำ แล้วครูโค้ชให้เด็กเกิดการเรียนรู้ขึ้น เราจึงเรียกว่าเป็น ‘โครงการวิจัย’
ส่วนเรื่องของความสำเร็จผมแยกออกเป็น 3 ปัจจัยหลัก ประการแรกคือ มีทุนและมีเวลาที่มากพอและต่อเนื่อง สกว. สนับสนุนมาระยะ 10 ปีแรก หรือเรียกว่า ‘ยุววิจัย’ ให้เด็กทำวิจัย ในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา เพราะฉะนั้นเราสะสม เรามีทุน เรามีเวลาพอ เราสั่งสมความรู้มาค่อนข้างเยอะ
ประการที่สองคือ มีอิสรภาพพอสมควรในการทำงาน ไม่มีใครมายุ่งกับเราเท่าไหร่นัก บอร์ดรับฟังความคิดเห็นกันละกัน และซัพพอร์ตเราสารพัด สิ่งนี้จึงทำให้คนทำงานสบายใจในการทำงาน
จุดสำคัญที่สุดคือประการที่สาม เรามีขบวนการพี่เลี้ยงจาก 8 มหาวิทยาลัย สิ่งที่เราทำคือเราสร้างหนี้บุญคุณ เราไปเปลี่ยนหนี้ที่ครูเคยได้ในระบบอำนาจ เพราะเป็นระบบที่เราเอาพี่เลี้ยงเข้าไป โดยที่เราเทรนด์พี่เลี้ยงใหม่ทุกๆ 6 เดือน ซึ่งเขาก็ไม่ใช่นักการศึกษา แต่เราเทรนด์ให้เขาเข้าใจเรื่องการศึกษา เข้าใจครู เข้าใจปัญหาของเขา เราเข้าไปอย่างกัลยาณมิตร และใช้จิตตปัญญา”
“ในการนำไปขยายผลต่อสู่ชุมชน ที่ผมเน้นคือเรื่องผลเกิดจากเหตุ หลายคนก็อาจนึกว่าเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ใช่เลย โครงงานที่ประสบความสำเร็จที่สุดไม่ใช่โครงงานวิทยาศาสตร์ เพราะส่วนใหญ่จะทำในห้องแล็บ ไม่มีชีวิตชีวาและอารมณ์ความรู้สึก เราจึงไปสามารถโค้ชเด็กให้เขา Transform จากประสบการณ์ทางอารมณ์ความรู้สึกได้ เพราะฉะนั้นโครงงานเป็นเหตุเป็นผลที่มีคุณค่าที่สุดของเพาะพันธุ์ปัญญาคือ โครงงานในชุมชนและโครงงานทางด้านสังคมศาสตร์
ระบบเหตุผลแบ่งเป็น 2 ระบบ คือระบบเหตุผลของธรรมชาติ ที่มันเป็นอย่างนั้นเพราะกฎของธรรมชาติเป็นอย่างนั้น กับเหตุและผลของมนุษย์ เป็นระบบที่มนุษย์กำหนดผลในอนาคต เพราะนั้นสังคมศาสตร์จึงเป็นวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง แต่เป็นวิทยาศาสตร์สังคมใต้กฎของมนุษย์ แต่ละพื้นที่จึงมีกฎต่างกัน
เด็กจึงสามารถประยุกต์ระบบเหตุผลได้ซึ่งเหตุผลของมนุษย์ก็สามารถดิ้นได้ การทำโครงงานจึงสามารถปฏิรูปการสอนสังคมศาสตร์ได้ด้วย ถ้าเราเข้าใจว่าระบบเหตุผลมันอยู่ในวิถีชีวิตของมนุษย์ที่มนุษย์สร้างสังคมขึ้นมา เราจะออกแบบโครงงานขึ้นมาแบบที่ไม่ใช่แบบสอบถาม แต่เป็นวิธีที่สร้างเหตุและสังเกตผล เด็กก็จะสามารถสร้างหลักการทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ขึ้นมาได้”
โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง: ดร.อุดม วงษ์สิงห์
“ต้นทางของการผลิตครู เราต้องเห็นปลายทางของโรงเรียน เพื่อที่เราจะสร้างครูให้ทำงานอยู่ในโรงเรียนได้และลดปัญหาต่างๆ ซึ่งพื้นที่สำคัญของการสร้างคุณภาพการเรียนรู้คือโรงเรียน”
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ เล่าว่าได้ทำงานร่วมกับ กสศ.ประมาณ 3 ปีกว่า ทำให้ได้เห็นถึงต้นทุนก่อนหน้าของภาคีเครือข่ายค่อนข้างมาก ซึ่งโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP นั้นได้คีย์เวิร์ดมาเป็นตัวนำ โดย T คือ Teacher, S คือ School, Q คือ Quality และ P คือ Program หรือ Project
“ผมย้อนกลับไปถึงความเชื่อของเรื่องนี้ ว่าทำไมเราถึงเชื่อว่าโรงเรียนจะพัฒนาตนเองได้ เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หัวใจการจัดการเรียนรู้คือห้องเรียน แต่ว่าห้องเรียนก็คงไม่ได้ตั้งอยู่ในที่สาธารณะทั่วไป แต่ตั้งอยู่ในโรงเรียน ดังนั้นห้องเรียนกับโรงเรียนจึงเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ เราก็เลยหันไปดูไกด์ไลน์ของการทำงาน และเราก็มองว่ามีใครบ้างที่พูดถึงเรื่องนี้
เราไปเจอวิจัยชิ้นสำคัญของ John Hattie เป็นการวิจัยขนาดใหญ่ที่วิเคราะห์มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ หรือคุณภาพของเด็กหรือผู้เรียนบ้าง จากการวิจัยก็ได้มาเป็น 6 เรื่องที่สำคัญๆ คือ
- ครูต้องรู้จักศักยภาพของเด็ก
- การรวมพลังของครูทั้งโรงเรียน
- นักเรียนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาตัวเอง
- การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัย
- การปรับเปลี่ยนวิธีการออกแบบการเรียนรู้ของครู
- การดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงหรือการจับสัญญาณเด็กนักเรียนให้ได้
นี่เป็น 6 ปัจจัยที่สำคัญมากๆ ที่จะส่งผลต่อปัจจัยการเรียนรู้ของเด็ก เพราะฉะนั้นกสศ. เองจึงได้มาออกแบบการเรียนรู้ของเด็ก โดยกระบวนการทำงาน 2 ส่วนที่สำคัญในโรงเรียน คือชั้นเรียนหรือโรงเรียนที่เป็นสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัวเด็กที่สุด เราก็เลยสร้างเป็นโมเดลที่เป็นมาตรการของการหนุนการเรียนรู้ทั้งในสองส่วนให้ครอบคลุม ทั้งในโรงเรียนที่เป็นระบบบริหารจัดการและชั้นเรียน”
“ช่วง 3 ปีกว่าๆ ของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ประมาณ 700 โรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการของเราเป็นโรงเรียนที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก คือเป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีเด็กยากจน ด้อยโอกาสในสัดส่วนที่สูง เพราะฉะนั้นมาตรการที่เราพยายามให้โรงเรียนหมุนตามมาตรการ ก็มีนวัตกรรมให้โรงเรียนเลือกจาก 11 พี่เลี้ยงหรือ 11 ทีม ที่เข้าไปช่วย เราก็พยายามทำให้เกิด 2 ส่วน จากทั้งโรงเรียน ทั้งการบริหารจัดการและนวัตกรรมทีใช้ในชั้นเรียน เพื่อสร้างเด็กให้เกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 หรือว่า เรียกว่า ‘สมรรถนะ’ นั่นเอง ก็คือในส่วนของ VASK (Attitude, Skills, Knowledge) หรือคุณค่าที่เด็กจะต้องเห็น
โมเดลที่เกิดขึ้นจากโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ในต้นแบบเองเราพบทั้ง 4 เรื่อง เรื่องแรกคือ ผลการเรียนของเด็ก โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการกับทาง TSQP ผลการเรียนของเด็กก็สูงขึ้น โดยจะเป็น RT ของเด็กชั้น ป.1 ก็สูงขึ้น ในรายละเอียดในเชิงสถิติและตัวเลข
สองคือทักษะของเด็ก โครงการนี้ไม่ได้จำกัดทักษะแค่เฉพาะในชั้นเรียนหรือโรงเรียน แต่มีการถามไถ่ถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ให้มีส่วนร่วมในการฟีดแบ็กทักษะของเด็ก ทั้งในชีวิตประจำวันด้วยซึ่งเด็กก็ได้นำกลับไปใช้ที่บ้านตัวเอง
และเรื่องทัศนคติ หรือ Attitude ซึ่งถ้าเราดูแค่ที่ตัวเด็กอย่างเดียวคงไม่ได้ ผลที่เกิดขึ้นใน 700 โรงเรียน เราพบว่าคุณครูส่วนใหญ่ ประมาณ 60-70% มีทัศนคติที่มองว่าตัวเองต้องปรับจากคนสอนมาเป็นคนแนะนำหรือเป็นโค้ชในการเรียนรู้ของเด็ก
อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการ ในมาตรการที่เราใส่เข้าไป ที่เห็นผลที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือฐานข้อมูล ที่ทุกโรงเรียนต้องทำระบบสารสนเทศ ซึ่งเราก็ต้องบันทึกข้อมูลเชิงคุณภาพลงไปด้วยว่าเด็กแต่ละคนเขามีภูมิหลัง หรือครูค้นพบอะไรบ้างจากการเยี่ยมบ้าน พอใส่ข้อมูลตรงนี้ลงไปก็จะทำให้ระบบการช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ดีขึ้น ก็ไม่ถึงกับว่าเป็นรายบุคคลเสียทีเดียว แต่เราจะได้จัดกลุ่มเด็กว่าแต่ละกลุ่มต้องดูแลอย่างไรด้วยลักษณะอาการที่คล้ายกัน
ส่วนที่สองคืออัตราการหลุดออกจากระบบของโรงเรียนหรือเด็ก drop out จากการสำรวจปีล่าสุด เราเก็บข้อมูลของเด็กที่เป็นช่วงชั้นรอยต่อก็พบว่ามี 78% ที่คงอยู่
จากช่วงโควิดที่ผ่านมา ผู้ปกครองหันมามองเด็กมากขึ้น จริงอยู่ว่าโรงเรียนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มเด็กที่ยากจนค่อนข้างเยอะ แต่พอเด็กอยู่บ้านก็ได้ใกล้ชิดกับผู้ปกครอง ผู้ปกครองก็มีการถามเข้ามาที่โรงเรียน ว่าทำอย่างไรให้ช่วยลูกของเขาหน่อย ถือว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญ เพราะเราเห็นว่าผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้
สุดท้ายการปรับตัวของโรงเรียนที่ถือว่าเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เราคาดหวังให้เปลี่ยน 6 มาตรการที่เราหมุนในโรงเรียนบางส่วน ก็ได้ถอดเอาไปใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสมของโรงเรียน อันนี้ทุกโรงเรียนก็จะมีครูแกนนำ แต่ในมิติของครูแกนนำในโครงการ TSQP จะไม่มี Power ในลักษณะของการบอกหันซ้ายหันขวาได้ทั้งโรงเรียน แต่ว่าเป็นครูที่มีทักษะทางวิชาการที่จะช่วยผู้อำนวยการและเพื่อนครูในการจัดการเรียนรู้ในลักษณะของ Active Learning ให้ได้”
โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นและพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล: ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์
โครงการนี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่ห่างไกล โดยเชื่อมโยงกับโครงการเดิมที่รู้จักกันในชื่อของ ‘โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ที่พยายามตอบโจทย์สังคมในประเด็นที่ว่า คุณภาพครูมีส่วนทำให้ระบบการศึกษามีคุณภาพต่ำ ซึ่งแท้จริงแล้วสาเหตุอย่างหนึ่งอาจจะมาจากการผลิตครูยังไม่รัดกุมเท่าไรนัก
“พอผลักดันทั้งโครงการเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และโครงการครูรุ่นใหม่หลายโครงการ ก็ยังไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ จนกระทั่งได้มาพบกับทาง กสศ. จึงเป็นโครงการที่แก้ปัญหาคุณครูที่โยกย้ายในพื้นที่ห่างไกล เพราะเราประสบปัญหาโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล มีอัตราการโยกย้ายสูงเพราะครูไม่ใช่ครูพื้นถิ่น
กสศ.เองก็มองว่าวิธีลดความเหลื่อมล้ำคือให้คนในพื้นถิ่น ที่มีโอกาสในการเรียนต่ำอยู่แล้วให้มาเรียนไปเป็นครู และกลับมาสอนที่ถิ่นตัวเอง เพราะจะยิ่งทำให้ได้แต้มต่ออีกหลายเท่า ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ จึงเกิดขึ้น
โครงการนี้จึงเป็นที่ผลิตครูเพื่อตอบสนองชุมชน ในขณะที่ผมเองก็ทำงานต่อเนื่องอีกนิดหนึ่ง คือพอเราผลิตครูเพื่อให้กลับไปพัฒนาท้องถิ่นตัวเอง เราก็ต้องป้องกันบางเรื่องในท้องถิ่นตัวเองด้วย จึงเกิด ‘โครงการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล’ ซึ่งผมก็มีโอกาสได้ไปเตรียมโรงเรียนให้กับน้องๆ ที่กำลังจะจบครู ให้กลับไปทำงานที่โรงเรียนในพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีคุณภาพ
เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมการทำงานบางอย่างที่โรงเรียนเปลี่ยนแปลง แรงเสียดทาน อุปสรรคบางอย่าง การทำงานของโรงเรียนบางอย่างที่เกิดขึ้นในโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ก็จะถูกทีมพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเข้าไปช่วยปรับมายเซ็ตของคุณครู ปรับวัฒนธรรมของโรงเรียน หาน็อตตัวสำคัญเพื่อจะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน และกระตุ้นให้โรงเรียนพัฒนาตนเอง”
ดร.ศุภโชค มองว่าปัญหาในการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เป็นเรื่องของการโยกย้ายคุณครู เพราะคุณครูที่มาทำงานอาจจะอยู่ได้สักระยะหนึ่ง แต่เวลาต่อมาก็จะโยกย้ายไปที่อื่น จึงเกิดสภาวะขาดแคลนคุณครู ดังนั้นโครงการที่ทำมาจึงเป็นโครงการที่ทำให้ครูสามารถอยู่และทำงานพัฒนาโรงเรียนได้ในระยะยาวและยั่งยืน
“สิ่งที่ปรากฏชัดเจนคือการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตครู หลักสูตร หรือเทคนิคในการผลิตครูออกมาเปลี่ยนไป จากที่เขาใช้วิธีการเดิมๆ ก็จะถูกแทรกแซงด้วยวิธีการ กระบวนจากความต้องการของพวกเรามากขึ้น เราก็ฟีดแบ็กให้กับมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการว่า เราอยากได้ครูแบบนี้ ชุมชนแบบนี้
ปีแรกเราก็หมุนเครื่องมือสำคัญตัวหนึ่งที่เราเชื่อว่ามันเปลี่ยนแปลงโรงเรียนได้ คือกระบวนการ PLC ที่มีประสิทธิภาพ แต่หลายโรงเรียนมักจะ Misconcept กระบวนการ PLC ไปคุยกันเรื่องอื่น แต่จริงๆ Q-PLC เป็นเรื่องของการเรียนรู้ โดยเรื่องหนึ่งที่เราค้นพบว่าเราต้องผลักให้โรงเรียนรู้เรื่องนี้มากขึ้น กระบวนการหลักที่สำคัญของโครงการนี้คือ เราจะเซ็ตทีมขึ้นมาอีกทีมหนึ่ง เรียกว่า ‘ทีมหนุนเสริม’ ที่จะใช้พลังจากทีมเดิม
จุดเด่นของโครงการนี้ประเด็นหนึ่งคือ การหมุนโรงเรียนวิธีนี้เป็นการหมุนในแนวระนาบด้วยตัวโรงเรียนเองและตัวเพื่อนๆ ที่อยู่ใกล้โรงเรียนกันเอง ไม่ใช่แนวดิ่งที่เป็นเชิงสั่งการจากกระทรวงหรือสพฐ. เราออกแบบวิธีการทำงานและเครื่องมือ จนกระทั่งเรามองว่าปีแรกก็พอ Q-PLC ได้
ปีถัดมาก็เรียนรู้ว่าการ PLC ต้องวิ่งไปหาห้องเรียนเลย ถึงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เราจึงพัฒนาเครื่องมือที่สำคัญให้กับโรงเรียนกลุ่มนี้ ทั้งคู่มือการทำงานของโรงเรียน รวมทั้งพัฒนาซอฟท์แวร์ ทุ่นแรงให้กับทีมทำงาน เพื่อที่จะทำให้เราทำงานกันง่ายขึ้น แล้วก็ขับเคลื่อนด้วยตัวเองมากขึ้น หลังจากดำเนินการกันก็พบกลไกสำคัญที่เป็นน็อตอยู่ 3 ตัว คือ
- การใช้กระบวนการ PLC เป็นคานงัดสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างวัฒนธรรมคุณภาพของโรงเรียน โดยเชื่อมโยงกับการประเมินเพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพตามหลักเกณฑ์ วPA ที่กำลังประกาศใช้
- การหนุนเสริมและสนับสนุนทรัพยากรซอฟท์แวร์ลดภาระงานธุรการ สื่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ แหล่งความรู้และองค์ความรู้ที่จำเป็นในการจัดการเรียนรู้สำคัญให้แก่ครู โดยเน้นเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นที่ห้องเรียน
- พัฒนาผู้บริหารที่เป็นตัวแปรสำคัญของการสร้างการเปลี่ยนแปลงจึงต้องเร่งพัฒนาทักษะที่จำเป็น(Q-Goal /Q-Info/Q-Network) เจตคติ (ความทุ่มเท อุดมการณ์ ความเป็นนักพัฒนา) และสนับสนุนองค์ความรู้ที่จำเป็นในการพัฒนาโรงเรียนแก่ผู้อำนวยการ
และกลไกลหนึ่งที่หมุนอยู่และทำให้โรงเรียนทำได้ดีคือการหนุนเสริม เราก็ได้ถอดบทเรียนจากทีมหนุนเสริมทั่วประเทศ และวิธีการเข้าถึงโรงเรียนในแนวระนาบ ที่เรียกว่า S.A.V.E Model”
รูปแบบการหนุนเสริมเพื่อพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล (S.A.V.E Model)
- Solution : ทีมหนุนเสริมและโรงเรียนร่วมทำความเข้าใจ และหาแนวทางในการพัฒนา
- Access : เข้าถึง สร้างความไว้วางใจ และพัฒนา
- Value : ค้นหาปัจจัยความสำเร็จเพื่อสร้างคุณค่าในการทำงานของโรงเรียน
- Encourage : นำพาต่อยอด จนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร
“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ไม่ได้เน้นเฉพาะเรื่องของการผลิตครูอย่างเดียว แต่เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับคุณครูที่จะไปบรรจุที่โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านั้นด้วย เรื่องของการพยายามเข้าไปทำงานในวัฒนธรรมการทำงานในโรงเรียน เรื่องของการ PLC ที่มีคุณภาพ และการพยายามที่จะสร้างความร่วมมือและทำให้เห็นว่าในโรงเรียนมีทั้งที่เป็นผู้นำตามตำแหน่งและผู้นำตามธรรมชาติ และการทำงานร่วมกับเครือข่าย”