- ‘วิลเลี่ยม’ เด็กชายผู้ที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม สามารถประดิษฐ์กังหันลมเพื่อใช้ปั้มน้ำไปยังพื้นที่เกษตรกรรมได้สำเร็จ
- การเรียนรู้ของวิลเลี่ยมเกิดขึ้นบน ‘พื้นที่รอยต่อการเรียนรู้’ คือการที่ตัวเขาได้แลกเปลี่ยนกับครู เพื่อนสนิท (กิลเบิร์ต) และหนังสือในฐานะตัวแทนของความรู้ในเชิงซับซ้อน
- The Boy Who Harnessed the Wind นอกจากจะพาให้เราเห็นถึงความสำคัญของนั่งร้านในพื้นที่รอยต่อการเรียนรู้ ที่จะเป็นสะพานเชื่อมให้เด็กเกิดการพัฒนาทางความคิดหรือความเข้าใจโลกทางสังคมที่เขาอยู่ ผ่านภาษาและความรู้ ยังชวนตั้งคำถามสำคัญว่า “การศึกษากำลังเป็นพื้นที่รอยต่อแบบไหนกันแน่?”
ในฉากสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่อง ‘ชัยชนะของไอ้หนู’ หรือ The Boy Who Harnessed the Wind ‘วิลเลี่ยม’ เด็กชายผู้ที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม สามารถประดิษฐ์กังหันลมเพื่อใช้ปั้มน้ำไปยังพื้นที่เกษตรกรรมได้สำเร็จ ในข้อเขียนนี้จึงอยากชวนวิเคราะห์เรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านทฤษฏีการเรียนรู้ที่เน้นสังคมวัฒนธรรม (Sociocultural Learning Theory) เพื่อทำความเข้าใจการเรียนรู้ของวิลเลี่ยมท่ามกลางบริบทสังคมวัฒนธรรมที่เขาเผชิญ จนนำไปสู่การลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลง
ภาษาและความรู้ในโลกของวิลเลี่ยม
ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริง โดยบอกเล่าเรื่องราวของวิลเลี่ยม เด็กหนุ่มที่เติบโตมาในครอบครัวชาวไร่ในประเทศมาลาวี ในช่วงกลางปี 2000 ที่ประชาชนต้องเผชิญกับพิษเศรษฐกิจและภัยแล้งอย่างหนัก ชีวิตของเขามีพ่อเป็นเสมือนครูที่คอยถ่ายทอดความรู้และวิธีการทำการเกษตรให้เขาอยู่ตลอดเวลา ระบบความรู้ที่ถูกถ่ายทอดผ่านวิถีเกษตรกรรมเหล่านี้จึงมีความสำคัญทั้งสำหรับตัววิลเลี่ยมเองและครอบครัว เพราะเป็นความรู้ที่จะทำให้พวกเขามีรายได้ มีกิน และมีชีวิตรอด ในมุมมองของ Sociocultural learning theory ความรู้ที่วิลเลี่ยมได้เรียนรู้จากพ่อไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เข้าไปมีส่วนปฏิสัมพันธ์ต่อโลกทางสังคมที่เราอาศัยอยู่บนผลประโยชน์บางอย่างร่วมกับผู้อื่น เช่น เพื่อจะมีชีวิตรอด เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโลก
มนุษย์ต้องสร้าง ‘ภาษาและความรู้’ ขึ้นมาเพื่อที่จะใช้ทำความเข้าใจ รับมือ ให้ความหมาย หรือทำบางสิ่งบางอย่างกับโลกที่เขาดำรงอยู่เพื่อวันนี้และพรุ่งนี้ ดังนั้น ‘ภาษาและความรู้’ จึงไม่ได้แยกขาดจากเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของมนุษย์ และก็ยังเป็นผลผลิตทางปัญญาที่มนุษย์ยุคก่อนหน้าสร้างขึ้นมาเพื่ออนาคต
Vygotsky มองว่า เด็กคือคนที่เติบโตท่ามกลาง ‘ชีวิตทางปัญญา’ (intellectual life) ผ่านภาษา สำหรับเขาภาษาเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรม (cultural tool) ที่สำคัญ ไม่ใช่แค่เครื่องมือเพื่อการสื่อสารแต่ภาษาโดยตัวมันเองเป็นผลมาจากเงื่อนไขผลประโยชน์ทางสังคม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ที่มนุษย์เข้าไปมีส่วน นำมาสู่การสร้างแนวคิด ให้คำอธิบาย หรือนิยามความหมายของโลกที่กำลังเผชิญ ในแง่นี้ ภาษามีส่วนสัมพันธ์กับความคิด ในภาพยนตร์เราจะเห็นได้ว่าภาษาและความรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรมเป็นสิ่งที่ช่วยให้วิลเลี่ยมผู้มาทีหลังเข้าใจโลกที่เขาดำรงอยู่ ผ่านการสอนหรือพิธีกรรมจากผู้เป็นพ่อ ครอบครัว และชุมชนที่เขาเติบโตมา
ก้าวออกจากโรงเรียน สู่คำถามถึงวันพรุ่งนี้
พ่อของวิลเลี่ยมส่งเขาเข้าโรงเรียนเพื่อหวังให้เขามีโอกาสและมีอนาคตที่ดีขึ้นจากการศึกษา อย่างไรก็ตาม วิลเลี่ยมเข้าไปเรียนได้เพียงไม่นานก็ถูกบังคับให้ออกจากโรงเรียนกลางคัน เนื่องจากครอบครัวของเขาไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียนได้ ถึงแม้ครอบครัวจะพยายามอย่างเต็มที่ แต่ผลผลิตทางการเกษตรที่หดหายจากภัยแล้งที่สาหัสนำไปสู่ปัญหาความอดอยากและหนี้สินที่ตามมา ในขณะที่ผู้คนบางส่วนเริ่มหาทางออกด้วยการขายที่ดินทำกินและย้ายไปอยู่ที่อื่น เรื่องราวที่เกิดขึ้นกลับเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เด็กหนุ่มลุกขึ้นมาท้าทายต่อสภาพความแร้นแค้นจากภัยแล้งที่เกิดขึ้น ส่วนนี้สะท้อนให้เห็นว่า ภาษาและความรู้ที่ถูกส่งต่อมาจากคนรุ่นก่อนหน้า ไม่อาจช่วยให้วิลเลี่ยมรับมือกับปัญหา หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสังคมที่ไม่ต้องเผชิญภัยแล้งในวันพรุ่งนี้ได้
ก่อนที่จะถูกบังคับให้ออกจากโรงเรียน วิลเลียมสังเกตเห็นรถจักรยานของครูสอนวิทยาศาสตร์ เขาพบว่าไฟหน้ารถสว่างขึ้นจากการปั่นของล้อจักรยาน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความสงสัยว่าแท้จริงแล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไร เขาตั้งคำถาม และได้คำตอบจากครูว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเรียกว่า ‘ไดนาโม’ ความสงสัยและความปรารถนาที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดำรงอยู่ผลักให้เขาเดินกลับเข้าไปในชั้นเรียนอีกครั้ง และเป็นอีกครั้งที่วิลเลี่ยมถูกปฏิเสธจากครูใหญ่
อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาถูกขอให้ออกจากโรงเรียน แทนที่จะร้องขอความเมตตาให้ได้กลับเข้าเรียน วิลเลี่ยมเริ่มต่อรองกับครูวิทยาศาสตร์ด้วยความลับเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของครูกับพี่สาว เขาขอให้ครูพาไปที่ห้องสมุด การมาที่ห้องสมุดครั้งนี้ทำให้เขาได้พบกับหนังสือวิทยาศาสตร์เล่มหนึ่งที่ช่วยให้คำอธิบาย ขยายความเข้าใจ และไขข้อสงสัยของเขา สุดท้ายแล้วหนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็น “นั่งร้าน” ที่ช่วยให้เขาสร้างกังหันลมขึ้นมาได้ในที่สุด
หนังสือในพื้นที่รอยต่อการเรียนรู้
หนังสือทำให้วิลเลียมพัฒนาความคิดได้อย่างไร? สำหรับ Vygotsky แนวคิด (concept) มี 2 ระดับ ระดับแรก คือแนวคิดในระดับชีวิตประจำวัน (everyday concept) ซึ่งเป็นสิ่งที่เราใช้อธิบายเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ทั่วไปในชีวิต ส่วนที่สองคือ แนวคิดในระดับซับซ้อน (academic concept) เป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้อธิบายสิ่งที่ต่างๆ ที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การที่ไฟหน้ารถติด ถ้าอธิบายแบบง่ายๆ อาจอธิบายได้ว่าไฟติดจากการปั่นจักรยาน แต่ในระดับที่ซับซ้อนคำอธิบายคือไฟติดจากพลังงานไฟฟ้าไดนาโม ในแง่นี้ Vygotsky เห็นว่า พื้นที่ทางการศึกษาจึงเป็นพื้นที่สำคัญที่ช่วยให้เด็กได้เข้าถึงความรู้ในระดับที่ซับซ้อน ซึ่งคนที่ทำหน้าที่ตรงนั้นก็คือครู ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีประสบการณ์มากกว่า
ดังนั้น การพัฒนาทางความคิด (cognitive) ในคนคนหนึ่งจึงไม่ใช่การเปลี่ยนระดับแนวคิดในชีวิตประจำวันมาสู่การคิดที่ซับซ้อน แต่เป็นการที่แนวคิดในชีวิตประจำวันที่มีอยู่ในตัวของเด็กได้ปฏิสัมพันธ์กับแนวคิดซับซ้อนที่มีการจัดระบบ ซึ่งนำไปสู่การสร้างความรู้ความเข้าใจขึ้นมาใหม่ในตัวคนคนหนึ่ง
เมื่อมองถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ‘หนังสือ’ รวมถึงครูวิทยาศาสตร์ ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนความรู้ในระดับที่ซับซ้อน (และมีประสบการณ์มากกว่า) ที่พาวิลเลี่ยมไปสำรวจว่าอะไรคือสิ่งที่เขารู้อยู่ ณ ขณะนั้น และอะไรคือสิ่งที่เขาอาจยังไม่รู้ และกำลังจะเดินไปสู่การทำความเข้าใจ
Sociocultural learning theory เห็นว่า ในการเรียนรู้ มีพื้นที่ตรงกลางที่เรียกว่า “Zone of Proximal Development (ZPD) หรือพื้นที่รอยต่อการเรียนรู้” ซึ่งอยู่ระหว่างสิ่งที่เด็กมีอยู่ในตัว อย่างความคิดความเข้าใจและคำอธิบายจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันและแนวคิดก่อนหน้า แต่เมื่อได้เจอสถานการณ์หรือเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ เมื่อแนวคิดเหล่านั้นกลับไม่สามารถใช้ทำความเข้าใจโลกได้อีกต่อไป จึงทำให้เกิดพื้นที่อีกฝากของ ZPD คือสิ่งที่เด็กต้องการจะเป็น ทำได้ หรือเข้าใจได้
ดังนั้น การมีอยู่ของ academic concept จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะเป็นนั่งร้านในพื้นที่รอยต่อที่จะช่วยเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ในการแลกเปลี่ยนเพื่อขยับขยายมุมมองต่อโลกความเป็นจริงที่เด็กใช้ชีวิตอยู่ออกไป และเช่นเดียวกัน เมื่อเขาเผชิญหน้าสถานการณ์ที่ต่างออกไป ท้าทาย หรือที่ไม่คุ้นเคย พื้นที่อย่าง ZPD ก็จะมีความสำคัญขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อเป็นนั่งร้านให้คนคนหนึ่งได้ก้าวกระโดดไปข้างหน้า
การเรียนรู้ของวิลเลี่ยมที่เกิดขึ้นบนพื้นที่รอยต่อก็คือการที่ตัวเขาได้แลกเปลี่ยนกับครู เพื่อนสนิท (กิลเบิร์ต) และหนังสือในฐานะตัวแทนของความรู้ในเชิงซับซ้อน จนนำมาสู่การทดลองครั้งแรกที่วิลเลี่ยมและกิลเบิร์ตสามารถทำให้วิทยุใช้งานได้จากการปั่นไฟด้วยพลังไดนาโม ถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เขาพัฒนาความคิด ความเข้าใจต่อโลกในมุมที่ต่างไปจากเดิม รวมถึงความเชื่อมั่นในการสร้างการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งท้ายที่สุดเขาสามารถสร้างกังหันลมเพื่อแจกจ่ายน้ำไปยังพื้นที่เกษตรกรรมขึ้นมาได้สำเร็จ
เรื่องราวของ The Boy Who Harnessed the Wind นอกจากจะพาให้เราเห็นถึงความสำคัญของนั่งร้านในพื้นที่รอยต่อการเรียนรู้ ที่จะเป็นสะพานเชื่อมให้เด็กเกิดการพัฒนาทางความคิดหรือความเข้าใจโลกทางสังคมที่เขาอยู่ ผ่านภาษาและความรู้ ในเรื่องยังชวนให้เรากลับมาตั้งคำถามสำคัญว่า “การศึกษากำลังเป็นพื้นที่รอยต่อแบบไหนกันแน่?” แบบที่คอยผลิตซ้ำผ่านการหยิบยื่นภาษา ความคิด ความรู้ ที่ทำให้เด็กเข้าใจโลกแบบเดิมผ่านความรู้ของอดีต หรือจะเป็นพื้นที่จะพาเด็กไปสู่ความก้าวหน้าและความเป็นไปได้ของอนาคต
อ้างอิง
หนังสือ Vygotsky’s Educational Theory in Cultural Context
หนังสือ Psychological tools: A sociocultural approach to education