- ความคิดสร้างสรรค์เป็น ‘กระบวนการ’ (process) ที่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้อย่างมีลำดับขั้นตอน
- กระบวนการคิดสร้างสรรค์ (Creative Process) เป็นการทำงานของสมอง มีขั้นตอน และฟันเฟืองสำคัญคือ เป้าหมาย ความฝัน เพื่อนำมาเป็นแรงกระตุ้นให้กระบวนการคิดได้เดินเครื่อง
- ความคิดสร้างสรรค์เป็นความสามารถในการใช้จินตนาการกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ที่ดีกว่าเดิม เกิดผลิตภัณฑ์หรืองานบริการที่แตกต่างหลากหลาย
- นี่คือ 7 นิสัยหรือความคุ้นชินในการใช้ชีวิต ที่อาจเข้ามาทำลายความคิดสร้างสรรค์โดยไม่รู้ตัว
ราได้ยินคำว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’ (Creativity) อยู่บ่อยครั้งในแทบทุกสาขาอาชีพ แลtมักมาพร้อมคำว่า ‘คิดนอกกรอบ’ ถ้าเป็นเมื่อก่อนภาพจำของความคิดสร้างสรรค์ถูกจำกัดวงแคบอยู่ในแวดวงงานวาดงานเขียน ซึ่งสังคมมองว่าเป็น ‘ศิลปะ’ แขนงต่างๆ รวมทั้งไว้ใช้เวลาพูดถึงศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นอาวุธสำคัญในการคิด ยกตัวอย่างเช่น นักวาด นักปั้น นักเขียนและกวี เป็นต้น
แต่ในโลกยุคปัจจุบันความคิดสร้างสรรค์ได้รับการประกอบร่างใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นแค่คำเฉพาะในแวดวงศิลปะอีกต่อไป แต่อยู่ในทุกวันของทุกคน
ลืมคำพูดที่ใช้อธิบายตัวเองว่า “เป็นคนไม่มีความคิดสร้างสรรค์” ไปได้เลย เพราะความคิดสร้างสรรค์เป็น ‘กระบวนการ’ (process) ที่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้อย่างมีลำดับขั้นตอน
ก่อนจะไปสู่ กระบวนการคิดสร้างสรรค์ (Creative Process) เรามาดูกันก่อนว่า จริงๆ แล้วเรารู้จักหรือสนิทกับความคิดสร้างสรรค์มากแค่ไหน
ความคิดสร้างสรรค์เป็นความสามารถในการใช้จินตนาการ (เชื่อว่าจินตนาการเป็นทักษะอย่างหนึ่ง) กระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ที่ดีกว่าเดิม เกิดผลิตภัณฑ์หรืองานบริการที่แตกต่างหลากหลาย นอกจากนี้ยังเป็นทัศนคติ (Attitude) หรือภาวะทางจิตใจ (State of Mind) ที่มีความเชื่อมโยงกับเปลี่ยนแปลง (Change) ความท้าทาย (Challenges) รวมไปถึงความเสี่ยงต่าง ๆ (Risks)
จึงไม่น่าแปลกใจที่คนมีความคิดสร้างสรรค์มักเป็นคนชอบเสี่ยงและทำอะไรแผลงๆ ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า หรือทำในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะมีคนทำ เห็นได้จากผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งเฟสบุ๊ก อิลอน มัสก์ (Elon Musk) นักธุรกิจ นักลงทุนและวิศกร ผู้ร่วมก่อตั้งเทสลาร์อิงค์ (Tesla Inc.) สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางบกและการขนส่งทางอวกาศ หรือแม้แต่ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Brandson) นักธุรกิจชาวอังกฤษ เจ้าของธุรกิจกว่า 360 บริษัท ภายใต้ชื่อการค้า “เวอร์จิ้น” (Virgin)
ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการสร้างกระบวนการคิดสร้างสรรค์ สิ่งที่น่าสนใจและอยากชี้ให้เห็นก่อนคือ สมองคนเราชอบทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ แล้วอยากทำแบบนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ธรรมชาติการทำงานของสมองส่งผลต่อพฤติกรรมจนกลายเป็นนิสัยเฉพาะตัวของแต่ละคน ลองนึกเล่นๆ ว่า หากเราไม่เคยหรือไม่ช่วยกระตุ้นให้สมองคิดอย่างสร้างสรรค์ทุกวัน ๆ แต่กลับทำในสิ่งตรงข้ามที่น่าเบื่อหน่าย คงไม่ต้องเดาว่าอะไรจะเกิดขึ้น
ผลลัพธ์คือ สมองจะตื้อตัน คิดอะไรไม่ออก…?! นานวันเข้าประสิทธิภาพในการคิดก็ยิ่งลดลง
ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้สมองตีบตัน จนความคิดสร้างสรรค์ไม่สามารถแทรกซึมออกมาได้ ทุกคนควรเฝ้าระวัง 7 นิสัยหรือความคุ้นชินในการใช้ชีวิต ที่อาจเข้ามาทำลายความคิดสร้างสรรค์โดยไม่รู้ตัว
1. เป็นคนมีเหตุผลมากไปหรือเปล่า
ความคิดสร้างสรรค์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสภาวะที่ระบบคิดเต็มไปเหตุผล (Logic) และการใช้เหตุผล (Rationality)
ทั้ง 2 อย่างเป็นประตูปิดกั้นความสร้างสรรค์ อีกทั้งยังไม่ช่วยให้เข้าใจสิ่งรอบตัวอย่างลึกซึ้ง ความคิดสร้างสรรค์ไม่สามารถวัดหรือคำนวณได้ด้วยสูตรวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ในขณะที่ใช้เหตุผลเพื่อคิดวางแผนหรือตัดสินบางอย่าง เราควรปล่อยให้จินตนาการได้ออกมาทำงานบ้าง
2.ทางออกแรกดีแล้วจริง ๆ หรือ?
เมื่อต้องเผชิญกับปัญหา การเลือกแก้ปัญหาจากทางออกแรกทางออกเดียว โดยไม่มีแพลนบีหรือวิธีสำรอง อาจทำให้กระบวนการแก้ปัญหายืดเยื้อ เพราะไม่มีแนวทางพลิกแพลงเมื่อเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้า นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างกรอบความคิดหรือการทำงานให้จำกัดขอบเขตอยู่ในพื้นที่ที่เป็นตัวเลือกเดียว จนสมองไม่ต่อยอดการคิดแก้ปัญหาด้วยวิธีการอื่น
3.เชื่อว่าคำตอบที่ถูกต้องมีแค่คำตอบเดียว
คำตอบเดียวทำให้ชีวิตไม่มีทางออก การเดินทางไปถึงที่หมายใดสักที่หนึ่ง ไม่ได้มีเพียงเส้นทางเดียวเสมอไป
ในความเป็นจริงการทำงานและการใช้ชีวิตเพื่อไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ สามารถเดินทางไปได้หลากหลายเส้นทาง ทางที่เร็วและใกล้อาจจะไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด ทางที่ไกลอาจน่าเบื่อ แต่ทำให้ได้ซึมซับบรรยากาศระหว่างทางซึ่งเป็นประสบการณ์ให้ได้เรียนรู้มากกว่าก็เป็นได้ แต่เพราะความคุ้นชินที่สร้างขึ้นทำให้สมองของเรามักเลือกเดินไปบนเส้นทางเดิมที่เป็นเพียงคำตอบเดียว
4.ขาดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ
หากเราต้องเริ่มทำสิ่งใหม่สักอย่างหนึ่ง เช่น การเริ่มบทเรียนที่ไม่เคยเรียนมาก่อนและไม่เคยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น การลงมือทำสิ่งที่ไม่เคยทำและไม่รู้พื้นฐาน หากไม่มีครูหรือผู้ที่มีความชำนาญมาช่วยอธิบาย ความเครียดจะเกิดขึ้น ความเครียดนี้จะปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ทุกช่องทาง
5.มีความรู้ที่เชี่ยวชาญมากเกินไป
อีกมุมหนึ่งก็เป็นปัญหา การคิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่าง รู้ไปหมด จนเกิดความทะนงตนและมั่นใจตัวเองมากเกินไป หรือที่มักเรียกว่า ‘อีโก้’ อาจทำให้พลาดโอกาสดีๆ ที่เปิดพื้นที่ให้ได้เรียนรู้และเติบโต
6.ชีวิตที่เต็มไปด้วยข้อมูล
หยุดใช้ชีวิตที่ห้อมล้อมไปด้วยข้อมูลมากเกินไป จนไม่มีพื้นที่เหลือพอให้ความคิดสร้างสรรค์ได้ออกมาโลดแล่น ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงานหรือการใช้ชีวิต
เลือกใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงเท่าที่จำเป็น แบ่งพื้นที่เผื่อไว้ให้ตัวเองได้แสดงความคิดเห็น ได้คิด และได้ใช้จินตนาการประกอบข้อมูลเหล่านั้น
7.คิดว่าตัวเองไม่สร้างสรรค์…นี่แหละตัวปัญหาสำคัญ!!
การที่เราไม่สนใจกระบวนการคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแล้วมองข้ามมันไป เป็นคนละเรื่องกับการไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ทุกคนมีศักยภาพในการคิดอย่างสร้างสรรค์ แต่หลายครั้งที่เกิดความกลัวทำให้ตัดสินเอาเองว่าความคิดนั้นไม่ดีพอ หรืออาจมีหลายครั้งที่เคยคิดไม่ออก เราดันบอกตัวเองว่านั่นเป็นเพราะตัวเราไม่มีความคิดสร้างสรรค์ แล้วเชื่อแบบนั้นอย่างสนิทใจ
ความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณลักษณะที่สร้างได้ กระบวนการคิดสร้างสรรค์ (Creative Process) เป็นการทำงานของสมองที่มีขั้นตอนในการคิด ฟันเฟืองสำคัญของกระบวนการนี้คือ เป้าหมาย ความฝัน หรือสิ่งที่อยากทำให้เกิดขึ้น เพื่อนำสิ่งนั้นมาเป็นโจทย์และแรงกระตุ้นให้กระบวนการคิดได้เดินเครื่องเมื่อเครื่องติดก็เหมือนสมองได้ฝึกคิดอย่างถูกวิธี เป้าหมายปลายทางที่วางไว้เป็นแรงดึงดูดให้คิดต่อและพยายามทำให้ได้จนสำเร็จ
ได้ยินแบบนี้หลายคนที่เคยถอดใจกับความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองน่าจะมีความหวังขึ้นมาบ้าง บทความนี้เราได้ทำความรู้จักกับความคิดสร้างสรรค์และความคุ้นชินในการใช้ชีวิตที่เป็นตัวขโมยความคิดสร้างสรรค์กันไปแล้ว ครั้งหน้าเราจะชวนมาเรียนรู้ต่อว่าขั้นตอนการเพาะบ่มความคิดสร้างสรรค์ให้งอกงามทำได้อย่างไร พร้อมตัวอย่างที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คิดแล้วกล้าลงมือทำ…