- 4Cs ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม 4 ด้านเป็นรูปแบบการสอนที่ปลุกกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียน ซึ่งจะเป็นทักษะสำคัญของคนในศตวรรษที่ 21
- ภายในปี 2020 ความคิดสร้างสรรค์จะทวีความสำคัญมากขึ้นจนกลายเป็น 1 ใน 3 ทักษะที่สำคัญที่สุด และไม่เพียงเท่านั้น การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา การสื่อสาร ถือเป็นทักษะอันดับต้นๆ ที่โลกใหม่กำลังมองหา
- ความรู้เชิงวิชาการมีความจำเป็นเพื่อเป็นฐานไปสู่ความเชี่ยวชาญเชิงลึก แต่ทักษะเชิงความคิด(สร้างสรรค์ วิเคราะห์) และการเข้าสังคมกับผู้อื่น(ทำงาน สื่อสารกับผู้อื่น) หรือ ทักษะ4Cs คือสะพานเชื่อมพวกเขากับโลกการใช้ชีวิตจริง
- การปลูกฝังทักษะ 4Cs ต้องเสริมสร้างทั้งจากครอบครัวและโรงเรียน ต้องอาศัยเวลา แรงกายใจสนับสนุน
สังคมกำลังตื่นตัวกับปัญหาการตามไม่ทันของระบบการศึกษา สร้างบุคลากรให้ออกมารับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก – ช้าเกินไป
คนว่างงานอาจจะเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เพราะไม่มีงาน แต่งานต่างหากที่ไม่ต้องการคน
‘การศึกษา’ คือกลไกสำคัญที่จะเข้ามาแก้ปัญหานี้ ฟังดูย้อนแย้ง แต่ปัญหาระบบการศึกษาต้องแก้ไขด้วยการศึกษาจริงๆ
เครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรจากทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจ การศึกษา มูลนิธิ และองค์กรไม่แสวงผลกำไร ภายใต้ชื่อ P21 หรือ ภาคีความร่วมมือเพื่อการศึกษาในศตวรรษที่ 21 (The Partnership for 21st Century Learning) ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2002 ที่สหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรฐานการศึกษาที่เน้นสร้างทักษะความรู้ที่จำเป็นสำหรับนักเรียน ทั้งในด้านการทำงานและการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับความเป็นไปดังกล่าว
ภาคี P21 อาศัยแนวทางจากครูผู้สอน นักการศึกษา และนักพัฒนาองค์กรธุรกิจต่างๆ มากำหนดกรอบการพัฒนาการศึกษาขึ้นเรียกว่า กรอบการเรียนรู้ทักษะจำเป็นเพื่อศตวรรษที่ 21 (Framework for 21st Century Learning) โดยกรอบการเรียนรู้นี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสถานศึกษาที่สหรัฐอเมริกาเองและอีกหลายประเทศ
ในกรอบการเรียนรู้ทักษะจำเป็นเพื่อศตวรรษที่ 21 หัวข้อสำคัญที่ภาคการศึกษาทั่วโลกกำลังให้ความสนใจคือ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม (Learning and Innovation Skills) โดยสะท้อนให้เห็นจากความพยายามคิดค้นหลักสูตร นโยบายให้ชั้นเรียนมีรูปแบบการสอนที่ปลุกกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียนมากขึ้น (Self-Learning)
โดยเปลี่ยนโฟกัสจากครูเป็นผู้ให้ข้อมูลความรู้ มาเป็นเด็กเป็นผู้ค้นหาข้อมูล คิดและเรียนรู้เองจากประสบการณ์ลงมือปฏิบัติจริง จากกรอบการเรียนรู้ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า สิ่งที่โรงเรียนควรสอนควบคู่ไปกับความรู้เชิงวิชาการคือ ทักษะที่จำเป็นอย่าง การคิดสร้างสรรค์ มีวิจารณญาณ การทำงานร่วมกันและการสื่อสาร อันเป็นพื้นฐานสากล ที่ภาคี P21 ชี้ว่าจำเป็นในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21
4Cs หรือทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม 4 ด้าน มีดังนี้
1. Creativity and Innovation
- คิดนอกกรอบและต่อยอดเป็น
- มีกระบวนคิดเปิดกว้าง เป็นตัวของตัวเองไม่ซ้ำใคร (Originality) สามารถมองหาโอกาสและประเมินความเป็นไปได้
- ถ่ายทอดความคิดให้ผู้อื่นเข้าใจได้และยอมรับมุมมองผู้อื่นอย่างใจกว้าง
- สามารถต่อยอดไอเดียความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้น
2. Critical Thinking and Problem Solving
- คิดอย่างมีวิจารณญาณและแก้ปัญหาเองได้
- ช่างสังเกต มองเห็นปัญหา ตั้งคำถาม
- อธิบายเหตุและผลตามสถานการณ์และมุมมองที่หลากหลายได้ มองภาพรวมเพื่อไปสู่ผลลัพธ์ปลายทางจากระบบที่ซับซ้อนออก
- ประเมินและตัดสินใจจากการสังเกต หารือหลากหลายมุมมอง หาข้อมูล หลักฐานข้อพิสูจน์ได้
- ถอดบทเรียนความรู้ ข้อเสนอแนะหรือสิ่งที่ควรปรับปรุงจากประสบการณ์
- แก้ไขปัญหาด้วยวิธีที่ต่างไปจากเดิมหรือรู้จักประยุกต์หนทางแก้ปัญหามาใช้กับเรื่องใหม่ได้
3. Communication
- สื่อสารได้ถูกต้องเหมาะสม
- มีทักษะการพูด เขียน และสื่อภาษากายได้ตรงตามวัตถุประสงค์ (เช่น เพื่อแจ้งข่าว สอน โน้มน้าว หรือปลุกกระตุ้น)
- รับข้อมูลและตีความหมายได้ถูกต้อง รวมถึงนำเสนอต่อผู้อื่นได้ชัดเจน
- ปรับใช้สื่อและเทคโนโลยีให้เหมาะกับจุดประสงค์ และสามารถประเมินประสิทธิภาพของแต่ละสื่อได้
- สื่อสารได้ในทุกบริบทที่แตกต่างหลากหลาย (รวมถึง ใช้ภาษาได้มากกว่า 1 ภาษา)
4. Collaboration
- การทำงานร่วมกับผู้อื่น
- ทำงานเป็นทีม ยืดหยุ่น ปรับตัวให้ทำงานในสถานการณ์หรือทีมที่แตกต่างกันได้ เพื่อเป้าหมายเดียวกัน
- ยอมรับความสามารถและความแตกต่างของปัจเจกบุคคลควบคู่ไปกับการมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
ทักษะ 4Cs สำคัญอย่างไร
ทักษะ 4Cs ไม่ใช่แนวทางสู่ความสำเร็จในบริบทการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังจำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออกด้วย วารสารและบทความทางการศึกษาในช่วงหลังล้วนมีเนื้อหาปลุกกระตุ้นความสำคัญเพื่อจุดประกายการเปลี่ยนแปลงในแวดวงการศึกษาให้เกิดขึ้น
อเล็กซ์ เกรย์ (Alex Gray) นักเขียนจากแวดวงวารสารซึ่งกำลังสนใจกับประเด็นการจ้างงานของตลาดโลกเศรษฐกิจสังคมใหม่นี้ หยิบยกรายงาน The Future of Jobs ซึ่ง World Economic Forum จัดทำขึ้นเมื่อปี 2016ได้สำรวจฝ่ายทรัพยากรบุคคลในองค์กรชั้นนำต่างๆ ที่ เพื่อดูแนวโน้มทักษะที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานปี 2020 มากล่าวถึงในบทความ ‘The 10 skills you need to thrive in the Fourth Industrial Revolution’ ของเธอว่า
ผลจากความรุดหน้าทางเทคโนโลยี ความต้องการของมนุษย์ที่อยากได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยให้ชีวิตและการทำงานสะดวกสบายขึ้น ภายในปี 2020 ความคิดสร้างสรรค์จะทวีความสำคัญมากขึ้นจนกลายเป็น 1 ใน 3 ทักษะที่สำคัญที่สุด และไม่เพียงเท่านั้น การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา การสื่อสาร ถือเป็นทักษะอันดับต้นๆที่โลกใหม่กำลังมองหาเช่นกัน
มีเรียม ชุนนิง(Mirjam Schöning), Head of Learning through Play in Early Childhood programme, และ คริสตินา พิทโคมบ์ (Christina Witcomb), Senior Communication Manager แห่งสถาบัน The Lego Foundation ซึ่งคลุกคลีกับชั้นเรียนพัฒนาทักษะเด็กเล็กจากกิจกรรมการเล่น ก็นำรายงานการสำรวจชิ้นนี้มาอ้างถึงในบทความ ‘This is the one skill your child needs for the jobs of the future’ เช่นเดียวกัน
แนวการสอนแบบให้เด็ก ‘เล่นมากกว่าเรียน’ ขององค์กร The Lego Foundation เป็นตัวอย่างการสอนสมัยใหม่ ซึ่งตรงกันข้ามกับการสอนแบบเก่าที่ครูเขียนกระดานหน้าชั้นเรียนแล้วให้เด็กอ่าน ตามที่ The Lego Foundation เด็กจะเชื่อมโยงทักษะของตนที่ถูกพัฒนาจากการเล่นหรือทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เข้ากับโลกภายนอก
งานวิจัยที่จัดทำขึ้นในนิวซีแลนด์เรื่อง ‘Children learning to read later catch up to children reading earlier’ โดย เซบาสเตียน เอลิซาเบธ และ อีเลน (Sebastian P.Suggate, Elizabeth A.Schaughency และ Elaine Reese) ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Early Child hood Research Vol. 28 ของ Science Direct สนับสนุนการสอนสไตล์นี้
งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทดลองเปรียบเทียบระหว่างเด็กที่เริ่มอ่านเขียนเมื่ออายุ 5 ขวบกับเด็กที่เริ่มเมื่ออายุ 7 ขวบ พบว่า เมื่ออายุครบ 11 ปี เด็กที่เริ่มเรียนช้ากว่ามีทักษะอ่านเขียนเท่าๆ กับเด็กที่เริ่มเรียนก่อน แถมยังมีความเข้าใจในสาระความรู้ได้ดีกว่า
มีเรียมและคริสตินามองว่าสำหรับนักเรียน องค์ความรู้เชิงวิชาการยังมีความจำเป็นอยู่เพื่อเป็นฐานไปสู่ความเชี่ยวชาญเชิงลึก แต่ทักษะเชิงความคิด(สร้างสรรค์ วิเคราะห์) และการเข้าสังคมกับผู้อื่น(ทำงาน สื่อสารกับผู้อื่น) หรือ ทักษะ4Cs คือสะพานเชื่อมพวกเขากับโลกการใช้ชีวิตจริงนั่นเอง
เมื่อมองถึงผลกระทบที่โลกอนาคตมีต่อแนวอาชีพ ผลรายงานจากกระทรวงแรงงานแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า ทักษะความสามารถที่ตลาดแรงงานปัจจุบันต้องการเปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว
นักเรียนจำนวน 65 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน จะประกอบอาชีพใหม่ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งงานเหล่านั้นต้องอาศัยทั้งการติดต่อสื่อสารและการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหารูปแบบใหม่ๆ
ลำพังเพียงทักษะอ่านเขียนกับวิชาสามัญไม่เพียงพออีกต่อไป ทักษะ 4Cs กลายมาเป็นทักษะบังคับที่ต้องมีและจะมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะนี่คือยุคสมัยที่คนทำงานต้องคิดสร้างสรรค์เป็น แก้ปัญหาเองได้ สื่อสารและร่วมงานกับคนอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
4Cs สอนได้ ไม่ใช่พรสวรรค์
Creativity and Innovation มักถูกเชื่อว่าเป็นพรสวรรค์ที่บางคนเท่านั้นที่มี แต่จริงๆ เป็นเรื่องที่สร้างกันได้ จากการฝึกให้แก้ปัญหา คิดเป็นระบบ หรือแค่ได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน
คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องประกอบอาชีพด้านออกแบบ หรือสร้างนวัตกรรมยิ่งใหญ่เสมอไป เรากำลังพูดถึงทักษะการคิดที่สามารถเห็นปัญหาได้หลากหลายมิติ โดยเฉพาะมิติที่ยังไม่เคยได้รับความสนใจมาก่อน
นักเรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์จะมองเห็นสิ่งที่เชื่อมต่อจากการวางแผนภาพใหญ่มาสู่รายละเอียดเล็กน้อยได้ ฝึกคิดและมองจากหลายมุมจนเคยชิน ยังก่อเกิดไอเดียที่มีทางเลือกหลากหลายและมีคุณภาพมากขึ้น ท้ายที่สุดทักษะนี้จะส่งต่อไปถึงผู้อื่นได้ โดยอาจเป็นแรงบันดาลใจ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ร่วมกันและใช้ประโยชน์จากความคิดเหล่านั้น
ที่สำคัญ ความผิดพลาดล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์ และทุกครั้งที่เกิดขึ้นหมายถึง การแก้ไขให้ดีขึ้น พัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
Critical thinking ให้โอกาสเด็กแก้ปัญหาด้วยตนเอง อาจเป็นแค่เกมแก้ปริศนา หรือจับผิดรูปภาพอย่างง่ายๆ
สำหรับศตวรรษที่ 21 ข้อมูลต่างๆ ทั้งข่าวสาร หรือโฆษณาเสิร์ฟถึงมือเราเพียงแค่เลื่อนหน้าจอ ทักษะการคิดวิเคราะห์หรือวิจารณญาณจึงสำคัญมาก ต้องแยกให้ออกว่าอะไรคือความคิดเห็น อะไรคือข้อเท็จจริง สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องสนับสนุนไม่ใช่การบอก แต่ต้องให้เขาเข้าถึงข้อมูลเองแล้วเปิดโอกาสให้ซักถาม แสดงความเห็น สร้างบรรยากาศให้บ้านและโรงเรียนเป็นพื้นที่ให้เขากล้าถกเถียงโต้แย้งสิ่งที่คิดกับผู้อื่นบนพื้นฐานของเหตุและผล กระตุ้นด้วยคำถามว่า “เพราะอะไร” เพื่อให้เขาอธิบาย
Collaboration คือ การทำงานเป็นทีมเวิร์ค เมื่อเราต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ทักษะนี้จึงจำเป็น กิจกรรมที่จะปลูกฝังให้มีทักษะนี้ได้คือการทำงานเป็นทีม ภายใต้เป้าหมายบางอย่างร่วมกัน แต่สิ่งที่ควรนำมาใส่ใจคือ ทำอย่างไรให้เคารพความคิดต่างของผู้อื่น ในขณะที่ยังรักษาจุดยืนของตนเองเอาไว้ได้แม้ยังไม่มีใครเห็นด้วย ทำอย่างไรให้พวกเขามองเห็นตนเองเป็นส่วนหนึ่งของทีม ชั้นเรียน ครอบครัว ชุมชน และ สังคม ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น จึงต้องควบคู่ไปกับการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นด้วย
Communication คือ การถ่ายทอดความคิดเห็นของตนให้ชัดเจนและรวดเร็ว แต่ละวันที่การสื่อสารเกินกว่าครึ่งในชีวิตประจำวัน อาศัยตัวหนังสือผ่านแอพพลิเคชั่น ข้อความ หรืออีเมล
ความหมายที่สื่อออกไปโดยขาดโทนเสียงกำกับอาจส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกผู้รับผิดเพี้ยนไป เช่นเดียวกับการพูดคุยต่อหน้าหรือผ่านโทรศัพท์ น้ำเสียงและกิริยาท่าทางเป็นองค์ประกอบที่มีผลต่อสารที่จะส่งไปยังผู้รับเช่นกัน เจตนาคืออะไร ผู้รับคือใคร ก็มีผลในการสื่อสาร คุณครูอาจให้นักเรียนทำแคมเปญโฆษณาสินค้า จัดกลุ่มอภิปรายในชั้นเรียนหัวข้อที่พวกเขาสนใจ โต้วาที หรือเปิดพื้นที่ให้ได้แสดงความสามารถบ่อยๆ
ก้าวข้ามอุปสรรคในระบบการศึกษา
แม้ทักษะการเรียนรู้ข้างต้นเป็นเรื่องที่เราได้ยินมาโดยตลอด แต่ความเป็นจริงคือ ตราบใดที่ระบบการศึกษายังยึดเอาเกรดเฉลี่ยเป็นตัวชี้วัดความสามารถทางวิชาการอย่างเหนียวแน่น บุคลากรปลายทางของเราก็คงเป็น ‘นักท่องจำ’ ที่คิดวิเคราะห์ไม่เป็น กลัวกับปัญหา และบ้าการแข่งขัน
อีริค พี. เอ็ม. เวอร์มูเลน (Erik P.M. Vermeulen) อาจารย์และนักบริหารธุรกิจผู้เขียนบทความ ‘Education is the Key to a Better Future, But “We Must TEACH Them How to LEARN!’ และ ‘Does Education ‘Kill’ Creativity?’ ซึ่งเผยแพร่บนเวปไซต์แลกเปลี่ยนความรู้และทัศนะในแวดวงต่างๆ ชื่อ Hackernoon.com ชี้ข้อบกพร่องของการศึกษายุคปัจจุบันและ 4 อุปสรรคใหญ่ที่ต้องเจอในการปฏิรูปการศึกษาอย่างตรงไปตรงมาว่า
ปัจจัยที่นักเรียนละเลยการเข้าถึงความรู้ด้วยตนเอง (Self-Learning) โดยไม่รู้ตัว มาจากระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม นักเรียนถูกป้อนชุดความรู้เพียงเพื่อนำไปสอบวัดประเมินศักยภาพ(ความจำ)เป็นเกรดเฉลี่ยเท่านั้น ความรู้เหล่านั้นไม่ได้เชื่อมโยงกับชีวิตจริงและหลังสอบเสร็จเด็กๆ ก็ลืม
นอกจากไม่กระตุ้นให้คิดสร้างสรรค์หรือใฝ่หาความรู้นอกห้องเรียน ยิ่งไปกว่านั้นแพทเทิร์นที่ปฏิบัติต่อกันมาคือ ยกย่อง เชิดชูเฉพาะนักเรียนคะแนนดี คนที่คิดต่างจากตำราและตั้งคำถามยังถูกมองเป็นตัวตลก ด้านภาครัฐผู้กำหนดนโยบาย ก็ยังคงยึดลำดับขั้นและถือการวัดประเมินแบบเดิมเป็นบรรทัดฐาน ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ยากจะแก้ไข และทำให้ครูผู้สอนหมดแรงจูงใจไปปรับปรุงพัฒนาชั้นเรียน ครั้นจะริเริ่มแนวทางใหม่ๆ ก็อาจไปขัดแนวทางการประเมินหรือคำสั่งต้นสังกัด
ปัญหาสุดท้ายอยู่ที่สถานศึกษาส่วนใหญ่มักมองการสอนที่เน้นพัฒนาการเรียนรู้ด้านการคิดสร้างสรรค์ เป็นแค่ ‘ภาพลักษณ์เด็กฉลาดยุคใหม่’ ที่เอาไว้โฆษณาเพียงเท่านั้น แต่กลับใช้หลักสูตรเดิม ที่ไม่ได้ออกแบบเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้อย่างแท้จริง
โดยสรุป การปลูกฝังทักษะ 4Cs ไม่มีรูปแบบขั้นตอน 1-2-3-4 และบรรทัดฐานตายตัว ในกระบวนการเสริมสร้าง ครอบครัวและโรงเรียน ต้องอาศัยเวลา แรงกายใจสนับสนุน เมื่อการปฏิรูปการศึกษายังเป็นเรื่องยาก อาจเริ่มจากทำอย่างไรจึงจะบูรณาการทักษะ 4Cs เข้าในการสอนเนื้อหาหลักด้านวิชาการได้บ้าง
สิ่งสำคัญอันดับแรกคือพ่อแม่ คุณครูต้องมีใจที่เปิดกว้าง รวมถึง บ้าน สังคมแวดล้อม โรงเรียนต้องมีบรรยากาศให้เด็กเห็นคุณค่าและเคารพความคิดทั้งของตนเองและผู้อื่น เปิดโอกาสให้แสดงความเห็น และกล้าลองทำสิ่งที่ท้าทายใหม่ๆ ฝึกให้คุ้นเคยกับการพึ่งพาตนเอง ตัดสินใจและรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ด้วยตนเอง โดยไม่เอาความล้มเหลวผิดพลาดเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ รวมทั้งให้คำแนะนำและแรงสนับสนุนเมื่อพวกเขาต้องการ ให้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับผู้อื่น เช่น กิจกรรมกีฬา ค่ายพัฒนา อาสาสมัคร น่าจะเป็นหนทางให้เขาได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะดังกล่าว จากการสำรวจความสัมพันธ์และผลกระทบระหว่างตนเอง คนรอบข้าง และเหตุผลจากแง่มุมต่างๆ ที่มีต่อสถานการณ์ ติดตัวต่อไปในอนาคต