- ทำไมเด็กบางคนเลือกที่จะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ทำไมบางคนยอมทุ่มเท ในขณะที่อีกคนยอมแพ้ ทำไมวิดีโอที่นักเรียนเลือกดูถึงสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายได้ แม้ปราศจากครู พวกเขากำลังเรียนรู้จากอะไร? ชวนทำความเข้าใจบนมุมมองจิตวิทยาการเรียนรู้ผ่านการสังเกต เลียนแบบ และเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น หรือ social cognitive theory
- ในด้านหนึ่งทฤษฎีนี้กำลังบอกเราว่า การเรียนรู้ของนักเรียนไม่ได้ถูกจำกัดไว้เพียงการรับรู้จากบทบาทของครูเท่านั้น แต่ยังรวมถึงใครหรือสิ่งใดก็ตามที่ผ่านเข้ามา ทุกอย่างล้วนกลายเป็นโมเดลการเรียนรู้ของพวกเขาได้ หรือแม้กระทั้งตัวเขาเองกลายเป็นโมเดลให้กับคนอื่นด้วย
- ขณะที่คำพูดอย่าง “ดูอย่างเด็กข้างบ้านเขาได้เกรด 4 เกือบทุกตัว ลูกต้องทำให้ได้นะ” ทำให้เด็กข้างบ้านถูกรับรู้ในฐานะโมโดลที่เขาควรปฏิบัติตามเพื่อความสำเร็จ และนำมาสู่การสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ หรือมองอีกแง่หนึ่งอาจเป็นการสร้างแรงกดดันก็ได้เช่นกัน
ในห้องเรียนหนึ่ง เด็กคนหนึ่งบอกกับครูว่า ไม่มีวันที่เขาจะวาดรูปสวยได้แบบเพื่อน
ในครอบครัวหนึ่ง เด็กคนหนึ่งทุ่มเทกับการเรียนอย่างหนัก เพื่อพิสูจน์ให้พ่อเห็นว่าเขาทำได้ดีกว่าเพื่อนข้างบ้าน
ในห้องนอนหนึ่ง เด็กคนหนึ่งกำลังพัฒนาทักษะการเต้นเพลง k -pop จากวิดีโอในยูทูบที่เขารับชมในทุกๆ คืน
ทั้งสามเรื่องราวคงเป็นเหตุการณ์ที่ใครหลายคนคุ้นเคยกันดี ทั้งจากประสบการณ์ตรงของตัวเองหรือเคยพบเห็นในช่วงจังหวะหนึ่งของการเป็นนักเรียน เรื่องราวเหล่านี้บอกอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับมุมมองการเรียนรู้ ทำไมเด็กบางคนเลือกที่จะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ทำไมบางคนยอมทุ่มเท ในขณะที่อีกคนยอมแพ้ ทำไมวิดีโอที่นักเรียนเลือกดูถึงสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายได้ แม้ปราศจากครู พวกเขากำลังการเรียนรู้จากอะไร? ในข้อเขียนนี้ผู้เขียนอยากชวนมาทำความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนมุมมองจิตวิทยาการเรียนรู้ผ่านการสังเกต เลียนแบบ และเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น หรือที่เรียกว่า social cognitive theory
โมเดลการเรียนรู้กับการสังเกตและเลียนแบบ
แนวคิดเกี่ยวกับความเข้าใจทางสังคมหรือ social cognitive theory วางอยู่บนมุมมองทางจิตวิทยาที่โต้แย้งกับมุมมองแบบพฤติกรรมนิยม (behaviorism) ที่เชื่อว่า การเรียนรู้ของมนุษย์จะต้องอาศัยสิ่งเร้าเป็นตัวกระตุ้นด้วย เช่น การให้รางวัล และการลงโทษ แต่จิตวิทยา social cognitive theory เห็นว่า ตัวมนุษย์เองนั้นสร้างการเรียนรู้ผ่านการตีความทางสังคม จากการสังเกตหรือข้อมูลที่ได้รับมาจากประสบการณ์ ผู้คนและสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวจึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเรียนรู้ของคนแต่ละคน ผ่านการสังเกต เลียนแบบ ทำตาม หรือนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ
นักจิตวิทยาคนสำคัญของทฤษฎีนี้ อย่าง Bandura เห็นว่า การเรียนรู้เป็นเสมือนกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัว มนุษย์แปลงสิ่งที่รับรู้ไปสู่ตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ที่จะนำทางการกระทำของเรา Bandura เรียกสัญลักษณ์เหล่านั้นว่า ‘โมเดล’ (model) ของการเรียนรู้ เขาเห็นว่าในสังคม มนุษย์จะมองหาโมเดลหรือต้นแบบของการเรียนรู้เพื่อเป็นเสมือนไกด์นำทางในการพัฒนาการเรียนรู้ของตัวเอง ในแง่นี้โมเดลจึงมีอิทธิพลและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในตัวเรา
ในอีกด้านหนึ่งทฤษฎีนี้กำลังบอกเราว่าการเรียนรู้ของนักเรียนไม่ได้ถูกจำกัดไว้เพียงการรับรู้จากบทบาทของครูเท่านั้น แต่ยังรวมถึงใครหรือสิ่งใดก็ตามที่ผ่านเข้ามา ทุกอย่างล้วนกลายเป็นโมเดลการเรียนรู้ของพวกเขาได้ หรือแม้กระทั้งตัวเขาเองกลายเป็นโมเดลให้กับคนอื่นด้วย
ตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งเลียนแบบเสียง ท่าทาง และคำพูดจากตัวละครในการ์ตูนที่เขารับชมผ่านโทรทัศน์อยู่บ่อยครั้ง หรือในโมเดลความเป็นเพศ เด็กชายเห็นเพื่อนเพศเดียวกันเล่นหุ่นยนต์จำนวนมาก และในขณะที่เพื่อนผู้หญิงเล่นตุ๊กตาเป็นส่วนใหญ่ ทั้งหมดนี้ทำให้เด็กรับรู้ว่าอะไรคือของเล่นที่เขาควรจะเล่นให้ตรงกับเพศของตัวเอง และอะไรที่ไม่ควรเล่น (ทั้งที่จริงๆ แล้ว โมเดลเรื่องเพศก็ถูกผลิตซ้ำผ่านของเล่นในสังคมจนกลายเป็นมายาคติ)
ในขณะเดียวกันโมเดลก็ถูกให้ความหมายไปในหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นตัวแบบของความสำเร็จ ตัวแบบที่ควรหลีกเลี่ยง หรือตัวแบบที่สูงส่งเกินกว่าจะทำตามได้ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มาจากจากการตีความหรือการรับรู้จากสิ่งที่แต่ละคนมองเห็น
ในชั้นเรียนหนึ่ง เด็กคนหนึ่งเห็นเพื่อนถูกลงโทษจากการทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมตามความคาดหวังของครู เพื่อนของเขาได้กลายเป็นโมเดลของการยับยั้ง (model as inhibition) ที่คอยย้ำเตือนว่าอะไรที่เขาไม่ควรทำหากไม่ต้องการถูกลงโทษ
ในอีกกรณีหนึ่ง เด็กอาจมองเห็นครูในฐานะโมเดลของคนที่มีความสามารถสูง เมื่อฟังสิ่งที่ครูสอน เขาอาจรู้สึกว่าตัวเขาไม่มีวันเข้าใจบทเรียนได้อย่างที่ครูเป็น แต่เด็กบางคนก็อาจมองว่าครูคือโมเดลที่เขาสามารถจะเป็นได้ งานศึกษาของ Gartoon เกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็กชนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่ง ยังพบว่า ก่อนที่เด็กจะตัดสินใจด้วยตนเองได้ ผู้ใหญ่เป็นโมเดลสำคัญที่เด็กๆ จะเรียนรู้อย่างใกล้ชิดในทุกๆ วัน
การเปรียบเทียบทางสังคม การแข่งขัน และการกำกับตนเอง
โมเดลยังสัมพันธ์กับการเปรียบเทียบทางสังคม (social comparison) ด้วย ทฤษฎีของ Festinger ชี้ให้เห็นว่า คนแต่ละคนเปรียบเทียบความสามารถของตัวเองกับคนอื่นเสมอ โดยใช้มาตรฐานบางอย่างเพื่อดูว่าตัวเองเหมือนหรือต่างไปอย่างไร
การเปรียบเทียบนั้นเกิดขึ้นจากการรับรู้ข้อมูลในเชิงเปรียบเทียบหรือแข่งขันจากผู้คนอื่นที่อยู่รายล้อม เช่น เพื่อนร่วมชั้น ผู้ปกครอง ครู ฯลฯ เราสามารถย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ที่เด็กต้องการจะพิสูจน์ให้พ่อเห็นว่าเขาทำได้ดีกว่าเพื่อนข้างบ้าน ซึ่งนั่นก็อาจมาจากการที่พ่อของเขาพูดเปรียบเทียบความสามารถของลูกกับเด็กข้างบ้านอยู่ตลอด คำพูดอย่าง “ดูอย่างเด็กข้างบ้านเขาได้เกรด 4 เกือบทุกตัว ลูกต้องทำให้ได้นะ” ทำให้เด็กข้างบ้านถูกรับรู้ในฐานะโมโดลที่เขาควรปฏิบัติตามเพื่อความสำเร็จ และนำมาสู่การสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ หรือมองอีกแง่หนึ่งอาจเป็นการสร้างแรงกดดันก็ได้เช่นกัน
Schunk และทีมที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับแรงจูงใจในการเรียนรู้ ชี้ว่า การเปรียบเทียบทางสังคมกับการพัฒนาการเรียนรู้อาจส่งผลการรับรู้ความสามารถตนเอง (self-efficacy) ได้ทั้งในแง่บวกและลบขึ้นอยู่กับว่าใครคือคนที่กำลังถูกเปรียบเทียบด้วย เช่น เด็กอาจรู้สึกกับตัวเองในเชิงบวก เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มีความสามารถต่ำกว่าตัวเอง หรือในงานศึกษาของ Watkins ที่ประเทศจีนเกี่ยวกับมุมมองของนักเรียนที่มีต่อการแข่งขัน พบว่า นักเรียนแต่ละคนมีทั้งความรู้สึกบวกและลบ กลุ่มหนึ่งเห็นว่า การแข่งขันและเปรียบเทียบกับคนอื่นจะช่วยให้เขาได้มุมมองที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จ ขณะบางกลุ่มก็เห็นว่ามันได้สร้างความกดดันมหาศาลในการเรียนรู้
ในสังคมไทย อย่างที่เราคุ้นเคยกันดี รั้วของโรงเรียนได้กลายเป็นพื้นที่ของการแสดงความยินดีกับความสำเร็จ รูปของนักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยติดได้ถูกแปะติดลงบนรั้วกำแพงทุกๆ ปี จนกลายเป็นโมเดลของความสำเร็จที่เรียกร้องให้นักเรียนทุกคนต้องเดินตามมาตรฐาน
หลายคนเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ในเชิงบวกผ่านตัวอย่างของความสำเร็จ ในทางตรงกันข้าม หลายคนเห็นว่า มันกลับกลายเป็นการสร้างความกดดันลงบนตัวเด็ก หรือพยายามทำให้โมเดลความสำเร็จและการเป็น ‘นักเรียนที่ดี’ ถูกผูกไว้กับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น
นอกจากนี้ Schunk ยังตั้งข้อสังเกตว่า การเปรียบเทียบในบางครั้งก็ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างตัวเองกับคนอื่น แต่เป็นการเปรียบเทียบกับตัวเองในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน
ในแนวคิดนี้ ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การกำกับตัวเอง (Self-regulation) ในการเรียนรู้ของเด็ก สามารถเกิดขึ้นได้จากการที่พวกเขาสังเกตตัวเอง (self-observation) เกี่ยวกับความสามารถหรือสิ่งที่ตัวเองทำได้ จากนั้นก็ทำการตัดสินตัวเอง (self-judgment) โดยการเปรียบเทียบตัวเองกับมาตรฐานหรือเป้าหมายบางอย่างเพื่อประเมินความาสามารถ ณ ปัจจุบัน สุดท้ายจะนำไปสู่การมีปฏิกิริยาต่อตัวเอง (self-reaction) ถึงความเชื่อมั่นในการบรรลุเป้าหมายหรือพัฒนาได้ ซึ่งหากเด็กไม่เชื่อมั่นก็ยากที่จะเกิดแรงจูงในการเรียนรู้ เราอาจจินตนาการสิ่งนี้ผ่านเหตุการณ์ที่สามที่เด็กกำกับการเรียนรู้การเต้นของตนเองผ่านบทเรียนจากวีดีโอยูทูบ
ทั้งหมดนี้คือ Social cognitive theory ที่ช่วยฉายให้เราเห็นว่า เด็กคนหนึ่งเกิดการเรียนรู้จากคนรอบข้าง หรือแม้กระทั้งสื่อ และสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเขาในฐานะโมเดลอย่างไร
บางครั้งโมเดลก็หยิบยื่นความท้าทายและตัวแบบของความสำเร็จที่คอยการกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ในสิ่งที่อยากจะเป็น อยากทำตามเพื่อบรรลุเป้าหมาย แต่ในขณะเดียวกันโมเดลก็ได้สร้างความกดดัน ความรู้สึกเชิงลบต่อตัวเอง ไปจนถึงการล้มเลิกและหลีกเลี่ยง เมื่อไม่สามารถเดินตามตัวแบบที่เป็นอยู่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นอีกโจทย์ที่ท้าท้ายสำหรับครูในการจัดการศึกษา
อ้างอิง
F.Garton, A. (2007). Learning Through Collaboartion :Is There a Multicultural Perpsective ? Culture,motivation,and learning : a multicutural perpsective , 195-216.
Schunk,D.,Meece,J.,& Pintrich,P. (2014). Motivation in Education Theory, Research and Applications. England: Pearson .Walkins, D. (2007). The Nature of Competition: The Views of Students from Theree Regions of the People’s Repulic of China. Culture,motivation,and learning : a multicutural perpsective, 217-234.