- วิธีการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ส่งผลต่อการสร้างประสบการณ์เดิม และการพัฒนาของสมองส่วน EF ขึ้นอยู่กับคุณภาพของประสบการณ์เดิมนั้น
- วินัยเชิงบวกทำหน้าที่เชื่อมโยง ระหว่าง ‘การแสดงออกทางพฤติกรรม’ และ ‘การใช้ทักษะสมองส่วนเหตุผล หรือ EF’
- คำว่า ห้าม-ไม่-อย่า-หยุด เป็นคำที่ควรละเว้นในการสร้างวินัยเชิงบวก
ภาพ: มูลนิธิสยามกัมมาจล
ประโยคที่ว่า ‘พ่อแม่ย่อมรู้จักลูกดีที่สุด’ เป็นความจริงหรือไม่…?
พ่อแม่ทุกคนรู้หรือไม่ว่า เริ่มตั้งแต่ลูกน้อยยังอยู่ในท้อง คุณก็ได้กลายเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการสร้างและปลูกฝังตัวตนของเขาแล้ว เพราะวิธีการที่พ่อแม่เลือกใช้เลี้ยงลูกสามารถเปลี่ยนโครงสร้างและการทำงานของสมองของพวกเขาได้ตั้งแต่แรกเกิดจนโต ดังนั้นเด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมามีนิสัยอย่างไร ขึ้นอยู่กับสองมือของพ่อแม่ที่จะช่วยถักและสานพฤติกรรมที่ดีของลูกขึ้นมา
จากงานเสวนาเรื่อง ‘เลี้ยงลูกถึงหัวใจด้วยวินัยเชิงบวก’ ที่จัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล อาจารย์หม่อม หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของงานวิจัย ‘101S เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก&พัฒนาการสมอง จิตใจ และพฤติกรรม’ เสนอว่า ถ้าพ่อแม่เข้าใจการทำงานเบื้องหลังของสมองที่ส่งผลต่อพฤติกรรมต่างๆ ของลูกได้ จะเป็นเครื่องมือชั้นดี ที่จะทำให้รู้ว่าจะต้องสอนลูกอย่างไร ซึ่งมีโครงสร้างทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่
- สมองส่วนสัญชาตญาณ ที่แสดงพฤติกรรมออกมาอย่างอัตโนมัติ
- สมองส่วนอารมณ์ ที่แสดงพฤติกรรมว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร แล้วถ้าไม่ชอบจะแสดงเป็นพฤติกรรมทันที โดยที่ไม่ส่งข้อมูลไปให้สมองส่วนหน้าวิเคราะห์หรือหาเหตุผล
- สมองส่วนเหตุผล (Executive Function-EF) ที่แสดงพฤติกรรมผ่านการทำงานของสมองชั้นสูง คิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา ควบคุมอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก และการตัดสินใจ ก่อนจะแสดงพฤติกรรมใดออกมา
ถ้าสมองไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม เด็กจะกลับไปใช้สมองส่วนสัญชาตญาณและส่วนอารมณ์มากกว่า ดังนั้นอาการลงไปชักดิ้นชักงอ ร้องกรื๊ด เรียกร้องความสนใจเวลาอยากได้ของเล่น หรือ อาการอ้างเหตุผลร้อยแปดเมื่อถูกจับได้ว่าโกหก ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ออกมาจากสมองส่วนสัญชาตญาณและอารมณ์ที่ถูกพัฒนาเต็มที่ตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง เป็นพฤติกรรมธรรมชาติที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด ไม่ต้องมีใครสอนเด็กก็ทำได้อย่างอัตโนมัติ
“ถ้าอยากให้ลูกแสดงพฤติกรรมที่ดีออกมา ประสบการณ์เดิมต้องมีคุณภาพ”
แล้วประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพสร้างได้อย่างไร
การที่เด็กจะได้พัฒนาฝึกสมองส่วนเหตุผล หรือ EF ขึ้นอยู่กับประสบการณ์เดิมและคุณภาพของประสบการณ์นั้น ซึ่งสร้างได้ง่ายๆ จากการให้ความรัก ความอบอุ่น ความผูกพันและให้พื้นที่ปลอดภัย พ่อแม่จะกลายเป็นวัคซีนที่ยอดเยี่ยมในการทำให้ลูกค่อยๆ สร้างตัวตนที่เป็นตัวเขาขึ้นมา
แล้วเมื่อโตขึ้นเขาจะมีนิสัยอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์เดิมเหล่านี้ หากเด็กพลาดการฝึกฝนสมองช่วงนี้ไป สมองส่วนอารมณ์จะเข้าควบคุมพฤติกรรมของลูกทั้งหมด
“สมมุติลูกเราเป็นเด็กชายอายุ 15 ปี เดินออกจากบ้านไปเจอเพื่อนมายืนรอหน้าบ้าน แล้วชักชวนไปเสพยา ก่อนที่เขาจะตัดสินใจไปหรือไม่ไป เขาจะดึงประสบการณ์เดิมที่เคยเจอมาทั้งหมดประมวลผลก่อน หากลูกเรามีประสบการณ์ที่ไม่ดี เคยถูกพ่อต่อว่า แม่ก็ไม่เคยแสดงความรัก ไปโรงเรียนก็ไม่มีเพื่อนคบ อาจทำให้เขาตัดสินใจไปเสพยากับเพื่อนก็ได้” อาจารย์หม่อมยกตัวอย่าง
นอกจากการให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์เดิมแล้ว ‘วินัยเชิงบวก’ ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้เด็กในวันนี้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าได้อย่างมีคุณภาพ
วินัยเชิงบวก คืออะไร
วินัยเชิงบวก คือการสอนและฝึกฝนลูก โดยปราศจากความรุนแรงทางกายวาจา เน้นการส่งเสริมวิธีการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ไม่บังคับหรือควบคุมลูก รวมถึงลงโทษหรือทำร้ายร่างกายและจิตใจ สอนให้ลูกประสบความสำเร็จโดยให้ความรู้และความรักควบคู่กัน
วินัยเชิงบวกจึงทำหน้าที่คล้ายสะพานเชื่อมโยง ระหว่าง ‘การแสดงออกทางพฤติกรรม’ และ ‘การใช้ทักษะสมองส่วนเหตุผล หรือ EF’ ฉะนั้น อาจารย์หม่อมจึงชวนพ่อแม่สำรวจเทคนิคสร้างวินัยเชิงบวก ดังนี้
สมองคือกระปุก
พ่อแม่เคยถามตัวเองไหมว่า วันๆ หนึ่ง เราพูดอะไรกับลูกบ่อยที่สุด ‘ตั้งใจหน่อย’ ‘เร็วๆ’ ‘อย่าชักช้า’ ‘กินข้าวให้หมด’ ถ้าเปรียบสมองลูกเป็นกระปุกออมสิน ถ้อยคำเหล่านี้ก็คือเหรียญที่ลูกจะหยิบขึ้นมาใช้ พ่อแม่ควรจะไตร่ตรองก่อนว่าจะหยอดอะไรลงไปในกระปุกบ้าง อย่าแบกเหรียญทั้งหมดที่เคยเจอมาใส่ให้เขา
พ่อแม่มักหยอดคำพูดเชิงบังคับในทุกๆ วัน ให้กับลูก เช่น กินผักเดี๋ยวนี้ ดื่มนมให้หมด ตื่นได้แล้ว ดึกแล้วไปนอน ล้างมือด้วย อย่าเอามือแคะขี้มูก ทำการบ้านหรือยัง ฯลฯ ซึ่งคำพูดเหล่านี้ล้วนไม่ได้ส่งเสริมให้ลูกฝึกใช้ประสบการณ์ตัวเองและสมองส่วน EF ในตัดสินใจเอง ควรจะเปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่นๆ บ้าง แทนที่จะบังคับและพูดแต่เรื่องเดิมๆ กับลูก
“พ่อแม่ทุกคนจงจำไว้ว่าการหยอดน้ำเสียง หยอดท่าทาง หยอดภาษากาย ของพ่อแม่แต่ละคน ย่อมส่งผลต่อการสร้างประสบการณ์ของลูกได้”
อย่ามา NO!
‘อย่าวิ่ง!’ ‘หยุดพูด!’ ‘ห้ามเถียง!’ พ่อแม่หลายคนมักจะใช้คำพูดเหล่านี้ในการหยุดพฤติกรรมของลูกอยู่บ่อยๆ แต่คำว่า ห้าม-ไม่-อย่า-หยุด เป็นคำที่ควรละเว้นในการสร้างวินัยเชิงบวก เนื่องจากชุดคำมักจะได้ผลแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะต้องใช้การประมวลระดับสูง สมองเด็กต้องประมวลผลถึง 2 รอบ
เมื่อพูดกับลูกว่า ‘อย่าวิ่ง’ สิ่งที่สมองของเด็กจะประมวลได้เป็นอันดับแรกคือ ‘วิ่ง’ ดังนั้นถ้าอยากให้ลูกทำอะไร ควรจะบอกตรงๆ ให้เขาเข้าใจง่ายๆ เด็กยังประสบการณ์น้อย จึงจำเป็นต้องใช้คำพูดที่ชัดเจนและไม่ทำให้สับสน ถ้าจะบอกลูกว่า ‘อย่าวิ่ง’ ให้เปลี่ยนเป็นพูดว่า ‘ค่อยๆ เดิน’
ปลอบหรือสอน
เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมต่างๆ ให้พ่อแม่สังเกตว่าเขากำลังใช้สมองส่วนไหนในการทำงาน เมื่อใดก็ตามที่พฤติกรรมลูกมาจากสมองส่วนอารมณ์ เช่น ร้องไห้ โวยวาย กรื๊ด กระทืบเท้า ดิ้น ทุบตีพ่อแม่ ฯลฯ แสดงว่าสมองส่วนอารมณ์ไม่ส่งข้อมูลไปสมองส่วน EF เป็นช่วงเวลาที่ยังสอนไม่ได้ ให้พ่อแม่มีสติและควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้เสียก่อน อย่าเพิ่งสอน เพราะเด็กจะรู้สึกต่อต้าน
วินัยเชิงบวกจะช่วยให้พ่อแม่รู้จักลูก เข้าใจลูก และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกมากขึ้น รวมถึงเป็นอาวุธในมือของพ่อแม่ที่ใช้สร้างถนนที่แข็งแรงให้ลูกเดินในอนาคต จากการป้องกันและการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งช่วยพัฒนาสมองทั้งด้านอารมณ์และสังคม
แม้ไม่มีเวลาตายตัวสำหรับการฝึกวินัยเชิงบวก ไม่สามารถตั้งเป้าหมายกับลูกได้ว่าต้องฝึกกี่เดือน กี่ปี ถึงจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน เพราะการรับรู้ของเด็กแต่ละคน แต่ละช่วงวัยย่อมไม่เหมือนกัน ยิ่งถ้าลูกอายุน้อยไม่ถึง 1 ขวบ พ่อแม่ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแต่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโครงสร้างการทำงานของสมองของลูกทั้งหมด
“ถ้าอยากให้ลูกเป็นคนอย่างไร เราก็ควรจะเป็นคนแบบนั้น” เป็นสมการที่พ่อแม่ยุค 2018 ควรนึกถึงไว้เสมอ เพราะจะทำให้เราตัดสินใจได้ว่า จะเลือกหยิบเหรียญใดหยอดลงในกระปุกที่มีชีวิตใบนี้ เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพมากที่สุด