- การศึกษาไทยควรเตรียมความพร้อมให้เด็กก้าวสู่ยุคดิจิทัลและนวัตกรรมได้อย่างรู้เท่าทัน ไม่ใช่แค่ความรู้ในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่เป็นการฝึกทักษะ วิธีคิด และความรู้ความสามารถ นำผู้เรียนไปสู่ ‘การเรียนรู้วิธีการสร้างการเรียนรู้’ (learning how to learn) ด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่สนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- คนที่รู้จักลูกดีที่สุด คือ พ่อแม่ ดังนั้น พ่อแม่ควรให้ความสำคัญและสนับสนุนสิ่งที่ลูกสนใจ กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่ลูกสนใจนั้นสามารถต่อยอดด้วยทรัพยากรที่มีอยู่แล้วได้หรือไม่ หรือทำอย่างไรได้บ้าง? เพราะเมื่อพ่อแม่เห็นความสำคัญในสิ่งที่ลูกสนใจจะทำให้ลูกเห็นคุณค่าในตนเอง อย่าให้ลูกออกจากบ้านไปโดนระบบการศึกษาทำร้าย กลับมาบ้านแล้วโดนพ่อแม่ทำร้ายซ้ำเติมอีก
- รูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้เด็กได้คิดและลงมือทำด้วยตัวเอง นอกเหนือจากการเรียนด้านวิชาการ ผู้สอนต้องทุ่มแรงกาย แรงใจและเวลาอย่างมาก เพื่อกระตุ้นให้เด็กไม่กลัวการลองผิดลองถูก
สถาบันครอบครัวและการศึกษายุคใหม่ต้องอัพเดทเวอร์ชั่นตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ทันความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย คำเปรียบเปรยนี้คงไม่เกินจริงนักหากเทียบกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องและไร้ขีดจำกัด
การอัพเดทตัวเองทำให้พ่อแม่และโรงเรียนเข้าใจเด็กและโลกมากขึ้น ความรู้ความเข้าใจจะเป็นตัวช่วยกำหนดทิศทางการเลี้ยงดูและการสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับเด็กและเยาวชน กระตุ้นให้ผู้ปกครองและโรงเรียนตื่นตัวเพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กออกไปใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่และเต็มศักยภาพ
หมออร – แพทย์หญิงกัลย์สุดา อริยะวัตรกุล เจ้าของเพจเลี้ยงลูกไปด้วยกันกับหมออร และ อมฤต เจริญพันธ์ ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม โรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ (VERSO) ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามผู้บุกเบิกโคเวิร์กกิ้ง สเปซ (co-working space) ในประเทศไทย ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดในเวทีเสวนา ‘TK Park x EDSY เตรียมพร้อมเด็กไทยในวันที่โลกเปลี่ยน’ ไว้เป็นตัวเลือกเวอร์ชั่นหนึ่งให้ผู้ปกครองและโรงเรียนได้ใช้เป็นแนวทางอัพเดทตัวเอง
‘เทคโนโลยี’ และ ‘นวัตกรรม’ เรื่องควรรู้และเท่าทัน
ทำอย่างไรเมื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมจู่โจมเข้ามาในชีวิตได้ทุกเมื่อ?
การศึกษาไทยควรเตรียมความพร้อมให้เด็กก้าวสู่ยุคดิจิทัลและนวัตกรรมได้อย่างรู้เท่าทัน อมฤต กล่าวว่า ดิจิทัลและนวัตกรรมในที่นี้ไม่ใช่แค่ความรู้ในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต หรือมือถือ เท่านั้น แต่เป็นการฝึกทักษะ วิธีคิด และความรู้ความสามารถ นำผู้เรียนไปสู่ ‘การเรียนรู้วิธีการสร้างการเรียนรู้’ (learning how to learn) ด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่สนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วจะดียิ่งขึ้นหากสถาบันการศึกษาทำงานเป็นทีมร่วมกับครอบครัว
“จากประสบการณ์ส่วนตัวในระดับปริญญา ผมมัวแต่เรียนและตั้งใจเรียนมาก พอจบมาแล้ว กลายเป็นว่าสิ่งที่เรียนรู้มาตกเทรนด์หมดเลย ผมตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดว่าเป็นแบบนี้ไปได้ยังไง ถ้าผมได้รู้จักซิลิคอนวัลเลย์ ได้รู้จักสตาร์ทอัพเร็วกว่านี้ ผมคงได้ทำอะไรอีกเยอะเลย แต่ในความเป็นจริงผมรู้จักเรื่องพวกนี้หลังจากเรียนจบแล้ว ดังนั้นถ้าเราสามารถส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมตั้งแต่เนิ่นๆ ได้ พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องมาเริ่มหลังเรียนจบ แล้วต้องใช้เวลาทำความเข้าใจเพื่อสร้างอาชีพให้กับตัวเองอีกเป็นสิบปี ทำให้เสียเวลาและเสียโอกาสไปเยอะ”
อมฤต กล่าวว่า วิถีชีวิตทุกวันนี้พ่อแม่มีเวลาจำกัด บางบ้านไม่มีอุปกรณ์ หรือพ่อแม่อาจไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นโรงเรียนต้องเข้ามาช่วยเติมช่องว่างในจุดนี้ หากเด็กมีความสามารถในการใช้และเข้าใจเทคโนโลยี โลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเชนหรือบิทคอยน์ รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ จะสร้างความได้เปรียบเป็นอย่างมากในอนาคต
สนใจในสิ่งที่ลูกสนใจ แล้วให้ลงมือทำ
ครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้ลูกเกิดความกล้า กล้าลงมือทำและกล้าผิดหวัง สถาบันการศึกษาเข้ามาต่อยอดในสิ่งที่ลูกอยากเป็นเพื่อไปให้ถึงปลายทาง ทั้งนี้ ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในระบบการศึกษาแบบใด จะเป็นโรงเรียนประจำตำบล อำเภอ จังหวัด โรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนอินเตอร์ คนที่รู้จักลูกดีที่สุด คือ พ่อแม่
ดังนั้น พ่อแม่ควรให้ความสำคัญและสนับสนุนสิ่งที่ลูกสนใจ กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่ลูกสนใจนั้นสามารถต่อยอดด้วยทรัพยากรที่มีอยู่แล้วได้หรือไม่ หรือทำอย่างไรได้บ้าง?
เพราะเมื่อพ่อแม่เห็นความสำคัญในสิ่งที่ลูกสนใจจะทำให้ลูกเห็นคุณค่าในตนเอง อย่าให้ลูกออกจากบ้านไปโดนระบบการศึกษาทำร้าย กลับมาบ้านแล้วโดนพ่อแม่ทำร้ายซ้ำเติมอีก
อมฤต กล่าวว่า โรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ เปิดพื้นที่ให้เด็กสร้างการเรียนรู้จากความต้องการของตัวเองผ่านการทำโครงงานที่สนใจ (Project-based Learning) สนับสนุนการคิดเชิงออกแบบ (Designing Thinking) ให้ผู้เรียนคิด วางแผน ลงมือทำโครงงานและแก้ไขปัญหาอย่างอิสระ กระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองนี้ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้กับผู้เรียน เนื่องจากเด็กๆ จะได้ฝึกฝนทักษะการจัดการรับมือกับปัญหา เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรคเฉพาะหน้า ทั้งจากการทำงานด้วยตัวเองและทำงานร่วมกับผู้อื่น
“เราจัดพื้นที่การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนให้เด็กๆ ทำโปรเจกต์ของตัวเอง เพราะเชื่อว่าเมื่อได้ลงมือทำ เด็กจะได้เรียนรู้และรู้ความต้องการของตัวเอง เด็กจะมีโอกาสเลือกว่าอยากทำโปรเจกต์อะไร แล้วเข้ามาคุยกับที่ปรึกษาเพื่อวางแผนการทำงาน โรงเรียนทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ซึ่งเป็นผู้รู้เฉพาะทางที่มีประสบการณ์จริง เรียกว่า Learning Designer (ผู้ออกแบบการเรียนรู้) เราให้เด็กๆ มองหาผู้รู้จากภายนอกได้ด้วยเพราะครูไม่ได้รู้ไปหมดทุกอย่าง เช่น บางโปรเจกต์เขาก็ประสานกับอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีความรู้เฉพาะทางเรื่องที่เขาสนใจมาให้คำแนะนำในโครงการ”
“เราเชื่อในการคิดเชิงออกแบบ วิธีคิดของนักออกแบบที่คิดวิเคราะห์ มองเห็นปัญหา ลองทำ ออกไปปรับจูนกับฟีดแบคหลังจากทำออกมาแล้วและลงมือแก้ไข เด็กจะวางแผนทำอะไรก็ได้ ตั้งเป้าหมายเอง เปลี่ยนใจและลองใหม่ได้ตลอด สามารถทำตามแรงบันดาลใจของตัวเองได้
ในกระบวนการเรียนรู้ทางโรงเรียนจะไม่ตัดสินหรือวัดผล แต่มองไปที่การพัฒนาทักษะ ความเชี่ยวชาญและศักยภาพของผู้เรียนในเรื่องเหล่านั้น เพื่อดูว่าเขาได้รับสิ่งที่ต้องการหรือค้นพบตนเองแล้วหรือยังมากกว่า วันนี้เขาอยากเป็นเชฟต่อมาอยากเป็นนักลงทุน เขาจะสามารถเปลี่ยนชีวิตตัวเองแบบ 360 องศาได้ทุกเมื่อ เพราะเด็กได้ปลูกฝังให้เชื่อในการเรียนรู้ทุกเรื่องได้ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้สำคัญมากกว่าการวัดผล ทำให้เด็กๆ สามารถออกแบบชีวิตของตัวเองได้ ทำให้เขาใช้ชีวิตในอนาคตได้อย่างสบายมาก” อมฤต อธิบาย
ด้านหมออร กล่าวเสริมว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้เด็กได้คิดและลงมือทำด้วยตัวเอง นอกเหนือจากการเรียนด้านวิชาการ ผู้สอนต้องทุ่มแรงกาย แรงใจและเวลาอย่างมาก เพื่อกระตุ้นให้เด็กไม่กลัวการลองผิดลองถูก
“การเรียนรู้ตรงนี้เชื่อมกับคำว่า growth mindset (กรอบความคิดที่เชื่อว่าสามารถพัฒนาศักยภาพและความสามารถของตัวเองได้ด้วยความพยายามและการสั่งสมประสบการณ์) ไม่เหมือนกับหลักสูตรที่ทำมาแล้วและวัดผลตามเกณฑ์เหมือนกันทุกคน เพราะการสอนไม่ได้มาจากครูเท่านั้นแต่ยังมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้นมาสอนลูกด้วย
ผู้ปกครองเองก็สามารถปลูกฝังความคิดเรื่องการสร้างการเรียนรู้ให้ลูกได้ตั้งแต่เด็กๆ โดยทำบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ให้ลูกกล้าลองผิดลองถูก ชมลูกเฉพาะเจาะจงไปที่กระบวนการไม่ชมเฉพาะผลลัพธ์ ปลูกฝังเรื่องการรักการเรียนรู้และไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ทำยังไงให้ลูกล้มลุกเรียนรู้ให้ไว ไม่ยึดติดกับความผิดพลาดในอดีต ตรงนี้พ่อแม่สามารถเริ่มได้เลยด้วยตัวเอง”
‘ภาษา’ ปลดล็อคข้อจำกัดการเรียนรู้
เมื่อผู้คนทั่วโลกมีปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างง่ายดายมากขึ้น การเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การรู้จักตัวเองหรือประเทศของตัวเอง การเลี้ยงลูกให้เป็นพลเมืองโลกที่มีความรับผิดชอบต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในความต่างและความเท่าเทียมกัน ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกเล็กในระดับปฐมวัย หมออร กล่าวว่า พ่อแม่ไม่ต้องตกใจเพราะอนาคตยังอีกยาวไกลและยังมีความเปลี่ยนแปลงอีกมากมายที่จะผ่านเข้ามา แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ขอบเขตของประเทศไม่มีพรมแดนอีกต่อไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ นอกจากการพัฒนากระบวนการคิด ทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ต่างๆ ‘ภาษา’ ยังคงมีบทบาทสำคัญที่ช่วยปลดล็อคข้อจำกัดการเรียนรู้และการสร้างความเข้าใจกับเรื่องราวรอบตัว
“การเลี้ยงลูกให้เป็นพลเมืองของโลก ลูกต้องมีทักษะการยืดหยุ่นและการปรับตัวสูงมาก เรามองไปถึงการทำงานกับคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ถ้าลูกเราไม่เปิดใจ ไม่ปรับตัว ไม่มองคนอื่นในมุมที่ต่างออกไป แล้วตัดสินคนอื่นว่า แบบนี้ผิด…ฉันถูก ก็จะกลายเป็นปัญหา หรือแม้กระทั่งการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับโลกในอนาคตและเด็กรุ่นใหม่”
“ภาษาอังกฤษเป็นภาษาพื้นฐานที่สองที่เด็กควรได้เรียนรู้ สมองเด็กอายุ 2-7 ปีเป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้ภาษาได้ดีที่สุด เรียกว่า เป็นช่วงเวลาสำคัญ (critical period) หรือหน้าต่างแห่งโอกาส (window of opportunity) ที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างเป็นธรรมชาติและเร็วที่สุดโดยไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรมาก
หากเลยช่วงนี้ไปมีการศึกษาพบว่าความสามารถการเรียนรู้ของสมองจะค่อยๆ ลดลง ถามว่ายังเรียนรู้ได้มั๊ย คำตอบคือยังเรียนรู้ได้ ไม่ว่าลูกจะอยู่ประถม มัธยมหรือแม้แต่ผู้ใหญ่เอง เราเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต แต่ตอนนี้เรารู้ว่ามีช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่พ่อแม่จะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ด้านภาษาของลูกเข้าไปได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรให้ลูกเริ่มเรียนภาษาที่สองเพื่อพัฒนาเป็นทักษะติดตัวไปในอนาคต แน่นอนว่าหลายครอบครัวมีข้อจำกัด เราก็ต้องมาดูว่าสามารถช่วยให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ไหม” หมออร อธิบาย
เด็กแต่ละคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในรูปแบบที่แตกต่างกัน อมฤต กล่าวว่า การศึกษาไม่จำเป็นต้องเรียนโรงเรียนอินเตอร์เท่านั้นถึงจะดีที่สุด ผู้ปกครองสามารถเลือกและนำไอเดียจากข้อมูลและสื่อรอบตัวไปประยุกต์ใช้ที่บ้านได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องของการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน โรงเรียนจำเป็นต้องเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ปกครองและเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการศึกษาในส่วนนี้ด้วย
“การเรียนรู้ด้านภาษาเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กหาความรู้ด้วยตัวเองได้กว้างไกลขึ้น ทำให้เด็กเข้าถึงข้อมูลความรู้ภาษาต่างประเทศได้ เขาอาจสนใจเรียนรู้เรื่องการสร้างสะพานจากการใช้ซอร์ฟแวร์ แล้วโรงเรียนสอดแทรกภาษาอังกฤษเข้าไปผสมผสานอยู่ในนั้น แล้วฝึกทักษะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่จำเป็นแตกต่างกันตามแต่ละโปรเจคและช่วงวัยของเด็ก…ประสบการณ์ที่เด็กได้เรียนรู้ ได้แก้ปัญหาจะทำให้เขามีความมั่นใจ มีความเป็นผู้นำพร้อมก้าวไปในอนาคตและพร้อมเผชิญอุปสรรคที่จะผ่านเข้ามาในชีวิต”
การเตรียมความพร้อมให้ลูกไม่ได้อาศัยความสมบูรณ์แบบของใครคนใดคนหนึ่ง แต่อาศัยความร่วมมือกันทั้งจากครอบครัว โรงเรียน และมีปัจจัยอื่นๆ เช่น สิ่งแวดล้อมรอบตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง หัวใจสำคัญของการสร้างความพร้อม คือ การเปิดใจเรียนรู้และปรับตัว ซึ่งก็คือการหมั่นอัพเดทตัวเองของครอบครัวและโรงเรียนที่เป็นสถาบันหลักในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน