- ‘การเขียน’ เป็นส่วนหนึ่งของทักษะการสื่อสาร และทักษะการจัดการตนเองที่สะท้อนในการรู้จักแบ่งเวลา มีวินัยและรับผิดชอบต่อภาระงานของตนเอง รวมไปถึงพัฒนาการด้านอื่นๆ ซึ่งจะติดตัวไปตลอดและเป็นพื้นฐานที่ดีต่อการทำงานไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพอะไร นี่คือผลลัพธ์ของ ‘วิธีสมุดบันทึก’
- ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ของนักเขียนรุ่นเยาว์ที่ชื่อว่า ‘ในใจ’ เจ้าของผลงานหนังสือ ‘ความในใจ’ รวมถึงในฐานะนักแปลที่อาจจะอายุน้อยที่สุดในประเทศไทย และ คุณแม่สิตางศุ์ แรงหนุนสำคัญที่ทำให้เด็กคนหนึ่งได้ทำในสิ่งที่รัก และมีความสุขในสิ่งที่เลือก
- “สำหรับหนูแล้วก็ไม่ได้ถือว่าเป็น Passion นะคะ เพราะว่าไม่ได้เป็นอะไรที่หนูอยากทำเป็นอาชีพตลอดชีวิต แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขค่ะ หนูรู้สึกว่า Passion กับความสุขไม่เหมือนกัน การแปลและการเขียนสำหรับหนู เป็นเหมือนความสุขมากกว่า เพราะเป็นสิ่งที่ทำแล้วสบายใจค่ะ”
หลายคนอาจคุ้นชื่อของ ‘เด็กหญิงในใจ เม็ทซกะ’ เจ้าของรางวัลชมเชยจากการประกวดหนังสือดีเด่น พ.ศ. 2560 กับผลงานหนังสือ ‘ความในใจ’ และในฐานะนักแปลที่อาจจะอายุน้อยที่สุดในประเทศไทยกับผลงานเรื่อง ‘บิลลี่กับมนุษย์จิ๋ว’ เขียนโดย โรอัลด์ ดาห์ล ซึ่งแปลเมื่อตอนที่เธออายุได้ 12 ปี และถูกตีพิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565
กว่าจะมาเป็นนักเขียนตัวน้อยที่หลายคนทึ่งในความสามารถ ในใจเริ่มต้นการเขียนจากความชอบส่วนตัวประกอบกับแรงผลักดันของคุณแม่ ซึ่งได้ชักชวนให้เข้าร่วมโครงการ ‘วิธีสมุดบันทึก’ ของอาจารย์มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ตั้งแต่ในใจอายุได้ 9 ปี กระทั่งมีผลงานหนังสือเล่มแรก ‘ความในใจ’ ที่เจ้าตัวเขียนและวาดภาพประกอบเอง
ถึงตอนนี้ ‘เด็กหญิงในใจ’ เติบโตเป็น ‘นางสาวในใจ’ ในวัย 15 ปี กำลังศึกษาอยู่เกรด 10 หรือเทียบเท่ากับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIDS) ยังคงผลิตงานเขียนและผลงานการแปลอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพราะรางวัลหรือความสำเร็จ แต่ด้วยเหตุผลว่า “เป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ครอบครัว’ คือแรงหนุนสำคัญที่ทำให้เด็กคนหนึ่งได้ทำในสิ่งที่รัก และมีความสุขในสิ่งที่เลือก
ในช่วงบ่ายๆ ของวันธรรมดาๆ วันหนึ่ง The Potential ชวนคุณแม่สิตางศุ์ เชยกลิ่น และ ‘น้องในใจ’ มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวบนเส้นทางการเขียนที่ไม่ใช่แค่พรสวรรค์ แต่ต้องอาศัยวินัยและการฝึกฝน รวมถึงมุมมองของผู้เป็นแม่ในการซัพพอร์ทลูกให้เติบโตในแบบที่เขาต้องการ
บทที่หนึ่ง : วาดความฝันในสมุดบันทึก
หากถามถึงจุดเริ่มต้นบนเส้นทางนักเขียนของ ‘ในใจ’ คุณแม่สิตางศุ์เล่าว่า มาจากการที่เพื่อนแนะนำโครงการครอบครัวหนังสือรุ่นที่ 2 ว่ามีกิจกรรมให้เด็กเขียนเรื่องสั้นๆ ก็เลยสนใจเพราะตอนนั้นในใจเพิ่งย้ายจากนิวยอร์กกลับมาอยู่เมืองไทยได้ยังไม่ถึงปี ภาษาไทยของน้องยังไม่ค่อยดีเท่าไร ก็เลยคิดว่าถ้าลูกได้ไปเข้าร่วมกิจกรรม น่าจะช่วยให้ภาษาไทยดีขึ้น จึงพาไปเข้าร่วมโครงการ ‘สมุดบันทึก’ ของอาจารมกุฏ อรฤดี ตอนนั้นในใจอายุ 9 ขวบ
“ตอนเด็กๆ ในใจเคยแต่งเรื่อง ‘เมืองสีฟ้า’ ตอนนั้นเราอ่านแล้วก็รู้สึกว่าก็สนุกดี คิดว่าเขามีจินตนาการที่ดี ไม่ได้คิดว่ามันจะไปไกลถึงขนาดที่สำนักพิมพ์เอาไปพิมพ์ แต่พอเข้าโครงการแล้วอาจารย์มกุฏเห็นแวว เราเองก็เลยพยายามที่จะเพาะเมล็ดพันธุ์ให้โตขึ้น”
หลังจากเข้าโครงการ ‘วิธีสมุดบันทึก’ แล้วเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?
“เห็นเยอะเลยค่ะ รู้สึกว่าทักษะของในใจก้าวกระโดดมากเลย เขารู้ศัพท์มากขึ้น เรียบเรียงประโยคได้ดีขึ้น จากตอนช่วงแรกๆ ที่เขาเรียงคำเรียงประโยคไม่ค่อยได้ กลายเป็นว่าเขาก็สามารถใช้โครงสร้างประโยคได้ค่อนข้างถูกต้อง อาจจะมีผิดบ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่ก็ถือว่าช่วยเรื่องภาษาไทยได้เยอะ เพราะเวลาเขียนเขาก็ต้องคิดว่า ถ้าเอามาเรียบเรียงประโยคแบบนี้ต้องใช้ศัพท์คำไหน ควรเอามาผสมกันยังไง ซึ่งพอเกิดความคิดแล้ว ก็จะทำให้เขาขวนขวายหาความรู้ หรือใช้วิธีถามเรา ไม่ก็ไปเปิดหาในพจนานุกรมค่ะ”
คุณแม่เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ตั้งแต่แรก ขณะที่ ‘ในใจ’ ก็คิดว่าการใช้ภาษาไทยของตัวเองดีขึ้น
“จริงๆ ตัวหนูเองก็ชอบและสนใจเรื่องการเขียนจดบันทึกอยู่แล้วตั้งแต่ต้นค่ะ ติดแค่ว่าตอนนั้นเรายังไม่เก่งภาษาไทย ตอนเรียนที่นิวยอร์กเขาก็มีสอนแต่งกลอน แต่ง Poem สอนเขียนเล่าเรื่อง ให้เขียนเรื่องของตัวเอง แต่ก็เป็นภาษาอังกฤษ พอช่วงแรกๆ ที่ต้องเขียนเป็นภาษาไทยก็รู้สึกว่ายาก เพราะหนูติดการใช้สำนวนภาษาอังกฤษ เวลาเขียนก็เลยจะผิดๆ ถูกๆ บ้าง
เวลาคิดหนูจะชอบคิดเป็นภาษาอังกฤษก่อนในหัว แล้วค่อยแปลออกมาเป็นภาษาไทยอีกที หนูก็เลยคิดว่าตัวเองคงจะต้องฝึกให้เยอะขึ้น เลยอ่านหนังสือมากขึ้นโดยเฉพาะหนังสือภาษาไทย ซึ่งประโยชน์ที่ได้จาก ‘วิธีสมุดบันทึก’ คือการได้ฝึกเขียนภาษาไทยมากขึ้นนี่แหละค่ะ พอเราได้เขียนทุกๆ วัน ก็เป็นเหมือนการซ้อมให้ชิน แล้วเราก็จะทำได้ดีมากขึ้น”
นอกจากการเขียน อะไรคือสิ่งที่ได้จากวิธีสมุดบันทึก ?
วินัยและการจัดการเวลา คือสิ่งที่แม่สิตางศุ์เล่าว่า เกิดขึ้นหลังจากเริ่มเขียนบันทึกและทำจนเป็นนิสัย ในใจเริ่มรู้จักการจัดการเวลาและรู้จักค้นคว้ามากขึ้น เขาจะรู้เองว่าถ้ามีเวลาว่างก็ควรมานั่งเขียนสมุดบันทึก โดยตอนช่วงอายุประมาณ 7-10 ขวบ ในใจจะใช้เวลากับสมุดบันทึกเยอะมาก แต่เมื่อเริ่มโตขึ้น การเรียนก็เข้มข้นมากขึ้นตามระดับชั้น ทำให้ต้องลดเวลาที่ใช้เขียนบันทึกไปบ้างตามส่วน
“ด้วยความที่เขายังเป็นเด็ก และแม้ว่ามันจะเป็นโครงการของเด็ก แต่เราก็ต้องสอนให้เขามีความรับผิดชอบ บางทีเวลาเขาเล่นเกม หรือทำนู่นนี่ประสาเด็ก แล้วเล่นเพลินมากไป เราก็อาจจะต้องคอยเตือนว่าหนูทำอันนี้แล้วหรือยัง แต่ถ้าบังคับมากๆ เขาก็จะรู้สึกต่อต้าน เพราะมันก็จะมีช่วงวัยนึงที่เราพูดอะไรมากๆ เขาอาจจะรู้สึกรำคาญได้ พอเรารู้ตัวแล้วก็ต้องค่อยๆ ถอยออกมา ถ้าเขาหลงไปทางอื่น เราต้องค่อยๆ ตะล่อมกลับมาค่ะ”
ในมุมของในใจเอง แม้จะใช้เวลากับการเขียนค่อนข้างเยอะ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าถูกบังคับ เพราะเวลาที่ได้เขียนความคิดตัวเองออกมาเหมือนเป็นการระบาย และรู้สึกสนุก
“หนูคิดว่าถ้าหากว่าโดนบังคับ มันก็เป็นสิ่งที่ฝืนทำได้ยากนะคะ เพราะการเขียนคือต้องอยากเขียนเอง ถ้าไม่อยากเขียนก็จะเขียนไม่ออก มันเป็นสิ่งที่เราต้องอยากทำเอง บางครั้งหนูก็เคยรู้สึกอยากพักผ่อน แต่ก็ไม่เคยมีความคิดว่าจะไม่ทำแล้ว หรือรู้สึกว่าอยากทิ้งไปเลย”
สำหรับการแบ่งเวลาในการเขียน ในใจบอกว่าจะใช้เวลาว่าง เช่น เวลาไม่มีการบ้าน หรือหลังทำการบ้านเสร็จ หรือไม่มีอะไรทำ แต่ไม่ได้มีการกำหนดเวลาว่าต้องเขียนตอนนี้ตอนนั้น
“ตอนที่แปลหนังสือก็ใช้เวลาเหมือนกับตอนที่เขียนหนังสือค่ะ จะแบ่งเวลาตอนว่างมาแปลไปเรื่อยๆ ซึ่งก็มีบางช่วงที่รู้สึกว่าไปต่อไม่เป็นเพราะแปลไม่ออก ไม่รู้จะแปลยังไงดี ก็จะพักไว้ หรือว่าข้ามไปตรงอื่นที่รู้สึกอยากแปลมากกว่าไปก่อน จริงๆ แล้วหนูก็ใช้เวลาในการแปลนานเหมือนกัน แต่คุณตาก็ไม่ได้เร่งอะไร ก็ทำไปตามความเร็วของตัวเองค่ะ”
เรื่องนี้คุณแม่กล่าวเสริมว่า เป็นข้อดีของการทำงานกับอาจารย์มกุฏ “อาจารย์เข้าใจเด็กและธรรมชาติของเด็กค่ะ อาจารย์จะไม่กำหนดว่าต้องทำเสร็จเมื่อนั้นเมื่อนี้ เพราะว่าเมื่อไหร่ที่กำหนด เด็กก็จะเริ่มกดดัน เขียนไม่ออก จะรู้สึกว่าเป็นงาน นานมากกว่าอาจารย์จะถามความคืบหน้าแต่ละครั้ง แต่ก็ไม่เคยกำหนดเวลาค่ะ”
บทที่สอง : มากกว่ารางวัลคือความสุข
“การมีรางวัลหรือการที่มีคนซื้อหนังสือเรา มันก็เป็นอะไรที่พอเห็นแล้วภูมิใจ ว่าเราทำได้ขนาดนี้เลยนะ พอมันมีผลออกมาดีมันก็ทำให้รู้สึกมีแรงบันดาลใจทำมากขึ้น หรือเวลามีคนเห็นงานเราแล้วชอบ ก็รู้สึกว่าเราก็ทำได้เหมือนกัน”
นี่คือส่วนหนึ่งของความในใจจากในใจ ซึ่งเธอบอกว่าไม่ได้คาดหวังแต่แรกว่าผลงานจะต้องได้รับการตีพิมพ์หรือรางวัล ที่เขียนก็เพราะชอบ รู้สึกมีความสุข และคิดว่าแค่นั้นก็ดีที่สุดแล้ว
“ตอนแรกไม่นึกว่าคุณตาจะเอาไปพิมพ์เป็นหนังสือค่ะ นึกว่าคุณตาจะเอาไปทำเป็น Flash card พอรู้ว่าทำเป็นหนังสือ แล้วเราไปเจอหนังสือตัวเองวางขายอยู่ในร้านหนังสือก็ตื่นเต้น ดีใจ ที่เห็นลายมือลายเส้นตัวเองอยู่ในหนังสือ และก็รู้สึกว่าความรู้สึกนี้เป็นสิ่งสำคัญค่ะ
เราเป็นเด็ก เราก็อยากรู้สึกภูมิใจ เพราะมันเป็นเหมือนกำลังใจให้เราอยากทำต่อ ทำทุกอย่างให้ออกมาดี แล้วก็รู้สึกภูมิใจในตัวเอง”
ในใจบอก ซึ่งแน่นอนว่าอีกคนที่ยิ้มกว้างด้วยความภูมิใจก็คือคุณแม่
“เราก็ภูมิใจในตัวน้องอยู่แล้ว เขาก็โชคดีด้วยที่เขามีคนรอบข้างที่คอยซัพพอร์ต หรือว่าช่วยไกด์ไปในทางที่ถูกต้อง กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขาทำงานออกมาได้ดีค่ะ”
เมื่อถามว่าถ้าทำมาเรื่อยๆ แล้วไม่ได้ผลตอบรับอะไร จะยังมีความสุขกับการเขียนอยู่ไหม?
ในใจตอบทันทีว่า “ก็มีความสุขนะคะ เพราะเราไม่ได้เขียนเพื่อใคร การเขียนก็เป็นสิ่งที่มาจากความรู้สึกเราเอง เราไม่ได้เขียนเพื่อให้ได้รับคำชม หรือว่าเพื่อให้มีผลดีออกมา เป็นอะไรที่เขียนเพื่อความบันเทิงของตัวเอง แค่เป็นความคิดของตัวเองเลยค่ะ ไม่จำเป็นต้องมีความคิดของคนอื่นมาเกี่ยวข้อง”
แล้ว ‘การเขียน’ สำหรับในใจ ถือว่าเป็น Passion หรือเปล่า?
“สำหรับหนูแล้วก็ไม่ได้ถือว่าเป็น Passion นะคะ เพราะว่าไม่ได้เป็นอะไรที่หนูอยากทำเป็นอาชีพตลอดชีวิต แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขค่ะ หนูรู้สึกว่า Passion กับความสุขไม่เหมือนกัน การแปลและการเขียนสำหรับหนู เป็นเหมือนความสุขมากกว่า เพราะเป็นสิ่งที่ทำแล้วสบายใจค่ะ”
บทที่สาม : ในวันที่นักเขียนน้อยเข้าสู่วัยรุ่น
จากเด็กหญิงตัวเล็กๆ วันนี้นักเขียนน้อยเติบโตเป็นนางสาวในใจ เริ่มต้นชีวิตวัยรุ่นพร้อมกับชื่อเสียงและคำชื่นชมจากคนรอบข้าง ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงกดดันนี้ไมได้มีเฉพาะกับผู้เป็นลูกเพียงคนเดียว แต่ได้สร้างความคาดหวังและแรงกดดันให้กับคนเป็นพ่อแม่ด้วย
“บางทีคนเป็นพ่อเป็นแม่มันอดไม่ได้หรอกที่จะคาดหวังสูง แต่พอรู้ตัวเราก็ต้องตบตัวเองให้ลงมา ให้อยู่บนความเป็นจริง เพราะมันไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ แม้แต่ตัวเราเอง ก็ต้องคอยเตือนตัวเองเสมอ”
คุณแม่แลกเปลี่ยนความเห็นว่า การมีลูกที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นบางทีก็รู้สึกว่าคุยกับลูกยากขึ้น เพราะบางครั้งอยากให้ลูกไปขวาแต่เขาอยากไปซ้าย ก็มีการคุยกับคุณแม่คนอื่นๆ ที่มีลูกวัยเดียวกันเหมือนกัน อย่างเช่นในสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่มีแม่ๆ นักเขียนที่อายุไล่เลี่ยกันก็จะมาแชร์ประสบการณ์และทำความเข้าใจคนวัยนี้ด้วยกัน
“เราก็พยายามย้อนนึกถึงตัวเองตอนที่อยู่วันเดียวกันกับเขา ว่าถ้าเราโดนแบบนี้เราคงไม่ชอบ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ควรทำแบบนี้กับลูก ซึ่งเราเองก็ผ่านวัยนั้นมานานแล้ว อาจจะจำไม่ค่อยได้แล้วเหมือนกัน แต่ก็รู้ว่าจริงๆ คนวัยนี้เขาก็จะมีโลกส่วนตัวของเขา ถ้าเราไปก้าวก่ายมากเขาก็จะรู้สึกต่อต้าน เพราะฉะนั้นเราก็แค่คอยดูอยู่ห่างๆ ก็พอ”
ก่อนหน้านี้คุณแม่พูดถึงการเล่นเกมหรือใช้อินเทอร์เนต ที่ผ่านมามีการกำหนดเวลาในการใช้สื่อออนไลน์ไหม?
“ถ้าจะให้ห้ามก็คงไม่ได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ แต่เราจะใช้วิธีจำกัดเวลาเอา พอเห็นว่าน้องเริ่มใช้เวลากับสิ่งนี้เยอะไปก็จะมีตักเตือนบ้างค่ะ” คุณแม่กล่าว ก่อนที่ในใจจะพูดต่อว่า
“จริงๆ หนูก็เล่นเกมและใช้ออนไลน์ได้มากตามที่ตัวเองอยากใช้ค่ะ แต่หนูจะมีเวลาว่างที่แบ่งออกมาอ่านหนังสือ เขียนหนังสือด้วย ซึ่งปกติตัวหนูเองก็ไม่ได้รู้สึกอยากใช้ หรืออยากเล่นเกมมากขนาดนั้น อีกอย่างคือพอโตแล้วหนูก็ทำอะไรตามใจตัวเองได้มากขึ้น คุณแม่ก็ไม่ได้ห้ามเวลาที่หนูอยากจะทำอะไร รู้สึกว่าสามารถทำอะไรก็ทำได้ตามที่ต้องการค่ะ”
บทที่สี่ : บนเส้นทางสู่อนาคต
“หนูเคยคิดว่าจะเป็นนักเขียนนะคะ แต่ก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพราะบางทีก็รู้สึกไม่ได้อยากเป็นนักเขียนไปตลอด บางครั้งก็อยากให้การเขียนเป็นงานอดิเรก เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำแล้วเราเพลิน ไม่รู้สึกว่าโดนบังคับ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่แน่ใจค่ะ ว่าจะเขียนเป็นอาชีพไหม ตอนนี้ที่คิดไว้ในอนาคตคืออยากลองเขียนบทหนังหรือบทละครค่ะ”
แม้จะยังไม่แน่ใจว่าเส้นทางนับจากนี้ไป ในใจจะยึดการเป็นนักเขียนเป็นอาชีพในอนาคตหรือไม่ แต่ทั้งเธอและคุณแม่ต่างก็มั่นใจว่า ‘การเขียน’ คือทักษะที่จะติดตัวไปตลอดและเป็นพื้นฐานที่ดีต่อการทำงานไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพอะไร
“ถ้าเขาอยากเป็นนักเขียนจริงๆ และจริงจังกับมัน ทั้งพ่อทั้งแม่ก็ชอบนะคะ ทั้งชอบและดีใจค่ะ และถึงแม้ว่าในอนาคตเขาอาจจะอยากทำอย่างอื่น ก็ไม่อยากให้ทิ้งการเขียน เพราะเราคิดว่ามันน่าเสียดายถ้าเขาทิ้งไปเลย อยากให้เขาทำควบคู่กับอะไรที่เขาชอบด้วย เพราะคิดว่างานเขียนมันสามารถเขียนในสถานภาพไหนก็ได้ และจริงๆ แล้วเกือบทุกสายงานก็เกี่ยวข้องกับการเขียนค่ะ”
บทส่งท้าย : รู้จักวิธีสมุดบันทึก
ไม่ว่าจะเป็นการเขียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทักษะการสื่อสาร หรือทักษะการจัดการตนเองที่สะท้อนในการรู้จักแบ่งเวลา มีวินัยและรับผิดชอบต่อภาระงานของตนเอง รวมไปถึงพัฒนาการด้านอื่นๆ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลลัพธ์ของ ‘วิธีสมุดบันทึก’ ซึ่งคุณแม่สิตางศุ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า
“หลายคนอาจยังไม่ค่อยเข้าใจว่าวิธีสมุดบันทึกคืออะไร วิธีสมุดบันทึกก็คือการที่เราหาสมุดเปล่าๆ เป็นสมุดที่ไม่มีเส้น ถ้าเป็นสมุดที่เย็บกี่ด้วยก็จะดี จะได้ไม่ขาดเป็นชิ้นๆ แล้วปล่อยให้ลูกวาดรูปหรือเขียนอะไรก็ได้ เพราะบางทีเวลาที่เด็กมีอะไร จะออกมาทางรูปที่เขาวาด หรือที่ตัวหนังสือที่เขาเขียน เป็นวิธีที่เราจะสังเกตได้ว่าลูกเรามีความสามารถยังไง หรือเขามีความทุกข์ใจ มีความรู้สึกยังไงตอนนี้”
โดยใน ‘โครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์’ อาจารย์มกุฏ หรือ‘คุณตาสมุดบันทึก’ จะให้เด็กๆ เขียนจดหมายมาขอสมุดบันทึกเพื่อเข้าร่วมโครงการ จากนั้นให้เด็กๆ เขียนบันทึกแล้วส่งกลับมาให้คุณตาอ่าน
“เมื่ออาจารย์มกุฏได้ดูสมุดบันทึกของเด็กๆ แล้วเห็นแววก็จะส่งเสริมให้เป็นนักเขียน หรือถ้าพ่อแม่คนไหนไม่สามารถที่จะดูออกว่าอันนี้หมายความว่ายังไง ก็สามารถเขียนถามไปในกล่องข้อความของอาจารย์ได้ ถ้าอาจารย์ว่างก็จะมาตอบค่ะ
แต่ว่าที่ดีที่สุดเลยคือเวลาที่ลูกเขียนเรื่องอะไร เราอย่าไปสอนนำ ปล่อยให้เขาเขียนไปเอง อย่างเด็กเล็กถ้าสะกดผิด อาจารย์บอกว่า อย่าไปเร่ง อย่าไปแก้ให้เขาสะกดถูก ณ ตอนนั้น ปล่อยให้เขาสะกดผิดไปก่อน เพราะไม่อย่างนั้นความคิดเขามันจะสะดุด”
คุณแม่สิตางศุ์ให้ข้อคิด และในฐานะผลลัพธ์ที่น่าภาคภูมิใจของวิธีสมุดบันทึก ในใจได้ฝากความรู้สึกทิ้งท้ายว่า
“อยากแนะนำว่า ถ้าอยากเขียนบันทึกหรือวาดรูป มันไม่ได้จำกัดว่าจะอายุ 80 หรือ 5 ขวบ ทุกคนเขียนได้หมด หนูคิดว่าวิธีสมุดบันทึกของคุณตาก็เป็นอะไรที่ใครๆ ก็นำไปใช้ได้ มันเป็นอะไรที่ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ ทำอะไร เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีผลออกมา หรือว่าต้องเอาไปให้คนอื่นดูก็ได้ เหมือนทำให้ตัวเองมีความสุขก็พอค่ะ”