- การจัดโครงงานบูรณาการกับการสร้าง Co – Agent เป็นการดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการออกแบบแผนการเรียนการสอน ไม่ว่าจะครู ผู้ปกครอง นักเรียน หรือแม้แต่ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับชุมชน เกิดเป็นการเรียนรู้จริงในชีวิตประจำวัน
- หน่วยการเรียนรู้เรื่องขยะ ผลลัพธ์ที่สำคัญคือ เด็กมองขยะด้วยสายตาใหม่ ขยะไม่ได้ไร้ค่าแต่กลับมีมูลค่า เราสามารถสร้างมูลค่าให้กับขยะได้ แต่ที่สำคัญคือ เราจะไม่สร้างขยะเพิ่ม
- การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ไม่ใช่แค่เปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการสอน แต่รวมไปถึงการวัดและประเมินผลที่จะต้องเน้นเรื่องการสะท้อนให้นักเรียนรู้ว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง และปรับอย่างไรเพื่อให้เกิดการพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งหัวใจสำคัญควบคู่ไปกับการใช้คำถามกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก
หัวใจสำคัญในการออกแบบการเรียนรู้ คือ การฟังเสียงของนักเรียน ซึ่งจะนำไปสู่บทเรียนที่มีจุดริเริ่มจากการทำงานร่วมกันระหว่างนักเรียนกับครู โดยที่นักเรียนเป็น ‘เจ้าของการเรียนรู้’ นี่คือแนวคิดในการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของโรงเรียนบ้านกู้กู โรงเรียนเล็กๆ ใจกลางเมืองภูเก็ต โดยเน้นการเรียนรู้เชิงรุกหรือ Active Learning ที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกถึงการเป็น Co – Agent ความคิดเห็นของนักเรียน เป็นตัวจุดประกายให้ครูนำไปออกแบบการเรียนรู้
โดยความสนใจของเด็กๆ ในครั้งนี้คือเรื่องขยะ เพราะพวกเขามองว่า “ถ้ามีขยะในโรงเรียน โรงเรียนก็จะสกปรก” ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าอยู่
โรงเรียนแห่งนี้มีกระบวนการทำงานกันอย่างไรในการพาคุณครูและนักเรียนเดินไปพร้อมๆ กัน แล้วหน้าตาห้องเรียนของแต่ละระดับชั้นเป็นแบบไหน ถอดความจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Online PLC Coaching เรื่องเล่าจากครูต้นแบบ ครั้งที่ 1 ของเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ผ่านห้องเรียนที่เล็กแต่เต็มไปด้วยประสบการณ์ ในหัวข้อ ‘การจัดการเรียนรู้โครงงานฐานบูรณาการกับการสร้าง Co – Agent’ หน่วยการเรียนรู้เรื่อง ‘ขยะ’ โรงเรียนบ้านกู้กู จังหวัดภูเก็ต
โรงเรียนบ้านกู้กู สถานศึกษาแห่งความสุข
การจัดโครงงานบูรณาการกับการสร้าง Co – Agent เป็นการดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการออกแบบแผนการเรียนการสอน ไม่ว่าจะครู ผู้ปกครอง นักเรียน หรือแม้แต่ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับชุมชน เกิดเป็นการเรียนรู้จริงในชีวิตประจำวัน โดยยังไม่ทิ้งเป้าหมายเดิม นั่นคือเน้นให้ผู้เรียนมีสมาธิ อ่านออก เขียนได้ คิดวิเคราะห์เป็น แยกแยะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และสามารถเชื่อมโยงทักษะหรือองค์ความรู้ที่ได้ไปสู่การตัดสินใจและเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง ซึ่งมาจากการสะท้อนของครู นักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงการสังเคราะห์จากข้อมูลผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของนักเรียนที่ผ่านมา
“สำหรับโรงเรียนบ้านกู้กู หลังจากที่เราได้เข้าร่วมโครงการการพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เป็นโครงการ TSQP2 ของกสศ. และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลง คือ เราดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเข้ามา โดยเริ่มจากการย้อนมองตัวเอง โดยมองจากการวิเคราะห์ข้อมูล สารสนเทศที่เรามี จากที่เราจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนการที่จะไปถึงเป้าหมายสถานศึกษาแห่งความสุข ทั้งวงของผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา และที่สำคัญที่สุดก็คือนักเรียน” ครูศิวพร ไกรนรา ครูประจำวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เล่าถึงการจัดการเรียนรู้โครงงานฐานบูรณาการกับการสร้าง Co – Agent
แล้วทำอย่างไรจึงจะไปสู่สถานศึกษาแห่งความสุขได้ คำถามนี้ นักเรียน ซึ่งเป็นผู้ที่ใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงในการเรียนรู้ รวมถึงเล่นในโรงเรียนแห่งนี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยในมุมมองของนักเรียนนั้น สำคัญคือ ความรู้สึกและความต้องการของตัวนักเรียนเอง
“เด็กๆ รู้สึกอย่างไร อะไรทำให้อยากจะมาโรงเรียน โรงเรียนแห่งความสุขของเขาหน้าตาเป็นอย่างไร เด็กๆ ต้องการอะไร อยากเห็นอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสภาพแวดล้อม อยากให้ครูสอนแบบไหน อยากให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของลูกและดูแลลูกอย่างไร หรือแม้กระทั่งตัวของนักเรียนเองเขาก็จะต้องสะท้อนออกมาด้วยว่า เขาจะต้องปฏบัติตนอย่างไรที่จะทำให้การเรียนรู้หรือการอยู่ในโรงเรียนมีความสุข จากทุกภาคส่วนตรงนี้เราก็ได้เป้าหมายแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนขึ้น”
ในการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านกู้กู อย่างแรกคือ ไม่ได้มองว่า คุณครูจะสอนอะไร แต่เลือกที่จะฟังเสียงของผู้เรียนว่า อยากจะเรียนอะไร?
“เด็กๆ มีการสะท้อนออกมาว่า เขาอยากให้โรงเรียนสะอาด เนื่องจากมีขยะเกิดขึ้นในโรงเรียนเยอะ หรือบางครั้งมีชาวบ้านเข้ามาใช้พื้นที่ ก็จะมีขยะเพิ่มขึ้น ตรงนี้ที่เขาสะท้อนเราจึงเอามาพัฒนาเป็นหน่วยการเรียนรู้ต่อ”
โดยครูจะมาร่วมกันจัดวง PLC ระดมสมองพัฒนาหน่วยการเรียนรู้ไปสู่เป้าหมาย นั่นก็คือ การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะชีวิต และการนำไปเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง ซึ่งวิธีการในวง PLC จะมีเครื่องมืออยู่ 3 ตัวด้วยกัน คือ LS (Lesson Study), Coaching และ DE (Development Evaluation)
“สำหรับหน่วยการเรียนรู้นี้ เรามองว่าครูเองก็ต้องพัฒนาหรือเติมเต็มในเรื่องของการสร้างชุดคำถาม โดยเฉพาะชุดคำถามขั้นสูงที่จะกระตุ้นให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ แล้วทำชุดคำถามอย่างไร ที่จะให้เด็กคิดเป็นลำดับขั้นไปสู่เป้าหมายที่เขาต้องการได้ ซึ่งการใช้ชุดคำถามตรงนี้จะเป็นการบ่มเพาะนักเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานไปสู่การทำโครงงาน”
นอกจากนี้อีกส่วนหนึ่งก็คือ การวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนา ในระหว่างทางของการเรียนรู้มีการให้ฟีดแบคกลับไปกลับมาระหว่างนักเรียนกับครูตลอด และปิดท้ายด้วยการถอดบทเรียน
กระบวนการสร้าง Co – Agent
สำหรับขั้นตอนการจัดโครงงานบูรณาการกับการสร้าง Co – Agent ในหน่วยการเรียนรู้ ‘ขยะ’ เริ่มต้นจากการเสนอและตัดสินใจเลือกประเด็นการเรียนรู้โดยการมีส่วนร่วมของนักเรียน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงประเด็นเดียว จะต้องมีการโหวตเลือกประเด็น เพราะฉะนั้นนักเรียนก็จะต้องยอมรับในข้อตกลงและกติกาของห้อง จากนั้นครูจัดวง PLC ระดมสมองเพื่อพัฒนาหน่วยการเรียนรู้โครงงานฐานบูรณาการ
“ที่สำคัญไม่ใช่แค่ครูที่เป็นผู้จัดการเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนเท่านั้น เรายังดึงโค้ชจากชุมชนก็คือ ชาวบ้านที่มีองค์ความรู้ในด้านการจัดการขยะมาเสริมให้กับครูและนักเรียน ทั้งยังได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้กับครูด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่จะทำให้การเรียนรู้ของเราไปสู่โครงงานฐานบูรณาการได้ จะต้องมีการคิดเกิดขึ้นและการจะกระตุ้นให้เขาเกิดการคิดได้ ครูก็จะต้องมีการออกแบบชุดคำถาม”
และจากหน่วยการเรียนรู้เรื่อง ‘ขยะ’ นี้ ก็เกิดเป็นกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะ โดยได้ออกมาเป็น 6 หน่วยการเรียนรู้ 6 ระดับชั้น เริ่มตั้งแต่ปฐมวัย เรียนรู้ว่า ‘อะไรคือขยะ’, ในระดับชั้นป.1 จะเป็นหน่วยการเรียนรู้ Trash to know ขยะน่ารู้, ชั้นป.2 เรื่องแฟนซีรีไซเคิล, ชั้นป.3 เรื่อง Work to make, ชั้นป.4 เรื่องเล่าของขยะ ส่วนชั้นป.5 และ ป.6 จะเป็นเรื่องบริษัทเพิ่มมูลค่าขยะ โดยภายใต้เป้าหมายเดียวกับคือการเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะ
บูรณาการเข้ากับวิชา เชื่อมโยงสมรรถนะ
ในวิชาวิทยาศาสตร์ซึ่งมีครูศิวพรเป็นผู้สอน เธอเล่าว่า ในหน่วยการเรียนรู้เรื่องขยะ ได้เชื่อมโยงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสาร การเปลี่ยนแปลงทางเคมีและทางกายภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยของการศึกษาการย่อยสลายของขยะแต่ละประเภท หรือจะเป็นวิชาคณิตศาสตร์ ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของ ครูบุษบาวรรณ นามมล ที่เชื่อมโยงในเรื่องการนำเสนอข้อมูลทางสถิติของขยะ ในบริษัทเพิ่มมูลค่าขยะ
“เนื่องจากเป็นวิชาสุดท้ายในกระบวนการสอนของหน่วยนี้ ต้องรวบรวมข้อมูลสถิติ ข้อมูลการซื้อขายขยะของนักเรียนแต่ละห้อง ซึ่งในหน่วยบริษัทเพิ่มมูลค่าขยะ พี่ๆ เขาจะเป็นผู้นำหรือเจ้าของบริษัท เป็นคนบันทึกข้อมูลว่าแต่ละห้องขายขยะในแต่ละสัปดาห์ได้เท่าไร ขายอะไรได้มากกว่า พอบันทึกเสร็จ ในหน่วยนี้ครูจะให้เขามาออกแบบการนำเสนอข้อมูล โดยจะให้อิสระกับนักเรียนในการออกแบบ”
“และในระหว่างการออกแบบในขั้นตอนการสอนครูก็จะให้เขาร่วมกันคิดคำถามกลุ่มละ 3 ข้อจากข้อมูลที่เขาสร้างเพื่อนำมาถามเพื่อนๆ กลุ่มอื่นๆ หลังจากนำเสนอกันเรียบร้อยก็จะมาร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด และตอบคำถามว่า ปีการศึกษาหน้าบริษัทเพิ่มมูลค่าขยะของโรงเรียนเราจะมีทิศทางการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งนี่ไม่ใช่การถามเพื่อเปรียบเทียบ แต่เป็นการถามเพื่อให้นักเรียนวิเคราะห์แนวโน้ม หรือความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
แนวทางการจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์
- การออกแบบกิจกรรมที่บ่มเพาะทักษะและสมรรถนะทางคณิตศาสตร์
- การสร้างโจทย์ปัญหาจากสถานการณ์ในชีวิตประจำวันให้เป็นสูตรทางคณิตศาสตร์
- การใช้ทักษะด้านคณิตศาสตร์ในการแปลงข้อมูลและนำเสนอ
- การใช้คำถามที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง สถานการณ์ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชน (Situated Learning)
- การทำงานเป็นทีมของนักเรียนเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน
- การให้ข้อมูลย้อนกลับกับนักเรียนในการปรับปรุงชิ้นงาน
“ในการเปลี่ยนแปลง อย่างแรกเลย นักเรียนมีใจในการอยากเรียนคณิตศาสตร์ ทัศนคติที่ดีต่อการเรียนคณิตศาสตร์ พอนักเรียนเปิดในรับ พฤติกรรมเชิงบวกต่อการเรียนรู้ก็จะเกิด เช่น การให้ความร่วมมือคุณครูในการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม ควาสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนก็ดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียนก็ดีขึ้น ทั้งเพื่อนกับเพื่อน และพี่กับน้อง เมื่อความสัมพันธ์จากการทำงานเป็นทีมเกิดขึ้น กระบวนการเรียนรู้ที่ดี มีความสุขก็เกิด และความรู้ที่ได้ก็นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ ด้วย มีการประชาสัมพันธ์จากพี่สู่น้อง เพื่อให้น้องๆ ช่วยกันคัดแยกขยะ แล้วก็ลดประมาณขยะ”
ห้องเรียนปฐมวัย อะไรคือขยะ
อีกหนึ่งระดับชั้นที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ ปฐมวัยหรือระดับชั้นอนุบาลนั่นเอง ซึ่งเป็นช่วงวัยแห่งการเริ่มต้นเรียนรู้ และท้าทายครูผู้สอนในการสร้างสรรค์กิจกรรมที่ไม่น่าเบื่อ ขณะเดียวกันต้องไม่เป็นการยัดเยียดให้เด็กเรียนรู้ด้วย โดย ครูสุภาภรณ์ ปราณเกิด ครูชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนบ้านกู้กู เล่าถึงห้องเรียนปฐมวัยว่า คำถามของนักเรียนนั้นสามารถต่อยอดไปสู่การทำโครงงานในเรื่องที่เด็กๆ สนใจได้
สำหรับการจัดการเรียนรู้ระดับปฐมวัยในหน่วยการเรียนรู้เรื่องขยะนั้น ครูสุภาภรณ์อธิบายโดยเริ่มจาก
- การลงพื้นที่สำรวจเพื่อสร้างความตระหนักให้กับนักเรียน จากปัญหาขยะ
- การใช้คำถามที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง สถานการณ์ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชน (Situated Learning)
- การมีส่วนร่วมในการเรียนรู้กับพี่ประถมศึกษา
- การทำงานเป็นทีมของนักเรียนเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน
- การให้ข้อมูลย้อนกลับกับนักเรียนและการถามต่อยอดเพื่อสรุปเป็นประเด็นที่ศึกษาต่อโดยใช้โครงงานที่บูรณาการกับชีวิตจริง
“ในความคิดของเด็กๆ ปฐมวัย แน่นอนว่าพวกเขาอยากจะเรียนรู้ในสิ่งที่สวยงาม ถ้าพูดเรื่องขยะแล้ว เด็กๆ ก็ต้องอี๊… ขึ้นมา ดังนั้นหน่วยขยะจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับเด็กและครูปฐมวัย ว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องขยะที่เด็กๆ ร้องอี๊ให้กลายเป็นเรื่องที่ว้าวได้”
และเนื่องจากการทำความสะอาดหรือเก็บขยะในบริเวณโรงเรียนเป็นกิจวัตรที่เด็กๆ ทุกคนในโรงเรียนบ้านกู้กูจะต้องทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว และแต่ละคนจะมีบริเวณที่จะต้องรับผิดชอบ ซึ่งหลังจากที่ได้โจทย์ในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันมาแล้ว ก็นำมาเชื่อมโยงกับกิจกรรมที่ทำอยู่เป็นประจำ
“ทีนี้ครูที่เป็นโค้ชก็จะเริ่มใช้คำถามเพื่อให้เด็กเกิดการสังเกตว่า เด็กๆ เห็นขยะที่ถูกทิ้งตามจุดต่างๆ ของโรงเรียนแล้วรู้สึกอย่างไร ขยะที่เด็กๆ พบมีอะไรบ้าง และอะไรบ้างที่คิดว่าเป็นขยะ เด็กๆ ลองเล่าให้คุณครูฟังสิคะ ทำไมเด็กๆ จึงคิดว่ามันคือขยะ เด็กๆ ก็ตอบคำถามจากประสบการณ์ของตนเองว่า ถ้ามีขยะอยู่ในโรงเรียน โรงเรียนก็จะสกปรก ซึ่งขยะในความหมายของพวกเขา ก็คือสิ่งที่ทิ้งแล้ว ไม่ใช้แล้ว”
จากนั้นที่ทั้งเด็กและครูได้สำรวจ และรวบรวมขยะตามจุดต่างๆ รอบบริเวณโรงเรียน เพื่อทำการแยกประเภทขยะจากความคิดและประสบการณ์เดิมของเด็กเอง โดยถ่ายทอดความคิดผ่านผลงานศิลปะและนำเสนอหน้าชั้น
“หลังจากได้เรียนรู้การแยกขยะในห้องเรียนแล้ว ยังมีพี่ประถมและวิทยากรจากธนาคารขยะจิตอาสา มูลนิธิพัฒนาป่าตอง มาให้ความรู้เพิ่มเติมและทำกิจกรรมคัดแยกขยะร่วมกัน ซึ่งในส่วนนี้เด็กก็จะเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า ทำไมเราต้องแยกขยะ และทำไมเราต้องลดปริมาณขยะ เนื่องจากเกี่ยวกับการย่อยสลายของขยะด้วย”
แต่เรื่องราวยังไม่จบเพียงเท่านี้ ครูสุภาภรณ์เล่าต่อว่า เนื่องจากโรงเรียนมีบริษัทเพิ่มมูลค่าขยะ เด็กๆ ต่างก็ช่วยรวบรวมขยะทั้งที่เก็บจากในโรงเรียน ขยะจากที่บ้าน นำมาขายให้กับบริษัทเพิ่มมูลค่าขยะ ซึ่งในการซื้อขายนี้เอง เด็กๆ เขาพบว่าเงินที่ได้จากการขายขยะน้อยกว่าที่พวกเขาคาดไว้มาก
“มีเด็กคนหนึ่งถามครูขึ้นมาว่า ทำไมได้เงินน้อยจัง ต้องทำยังไงถึงจะได้เงินเยอะขึ้นกว่าเดิม นี่แหละค่ะเป็นสิ่งแรกที่ครูรู้สึกว่าจากอี๊เริ่มจะเป็นว้าวแล้วค่ะ”
“จากนั้นนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาต่อยอดโครงงานสร้างมูลค่า เราก็มาคุยกันระหว่างครูกับเด็กๆ เราจะทำขยะให้มีประโยชน์ได้อย่างไร โดยที่มีข้อตกลงร่วมกันว่าเราจะไม่เพิ่มขยะอีกแล้วนะ เราจะใช้ขยะเท่าที่เรามีอยู่นี่แหละนำมาทำให้มีมีค่ามาขึ้น ซึ่งเด็กๆ ก็อยากเรียนรู้ในขยะประเภทแผงไข่และหลอดดูด โดยที่เด็กจะมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของการเรียนรู้ตั้งแต่ วิธีการออกแบบ หาความรู้ นอกจากการถามครูแล้ว จะหาความรู้ได้อย่างไร ถามพ่อแม่ได้ไหม หรือสืบค้นจากอินเทอร์เน็ต เด็กๆ เขาก็จะเสนอความคิดออกมาด้วยตัวเอง”
ในครั้งนั้นได้ข้อสรุปว่า จะนำแผงไข่มาทำเปเปอร์มาเช่ (Paper mache) นำหลอดดูดมาทำหมอนหลอด ซึ่งหมอนหลอดนั้นสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่ติดเตียงได้ด้วย โดยช่วยไม่ให้เกิดแผลกดทับ จะเห็นว่าเด็กๆ อยากรู้และอยากทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นด้วย ไม่ใช่แค่ต่อตัวเองเท่านั้น
“เมื่อเด็กๆ ทำทุกอย่างทุกกระบวนการสำเร็จแล้วก็มีการนำเสนอผลงานจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้กับพี่ประถมและผู้ปกครองด้วย ตรงนี้เห็นจุดพีคอย่างหนึ่ง คือการเปลี่ยนมุมมองว่า ฉันจะต้องไปเก็บขยะให้ได้เยอะๆ เพื่อมาขายได้เงิน แต่เป็นลักษณะของการให้เขาได้เห็นเอง ประสบเองว่าพอขายไปแล้วเงินที่ได้กับปริมาณขยะมันไม่ได้สมดุลกัน การสร้างวงการพูดคุยกันจากสิ่งที่เขาพบเจอหรือสถานการณ์ในชีวิตจริง แล้วครูเป็นโค้ชที่สำคัญมากเลยในการที่ทำให้นักเรียนเปลี่ยนมุมมองว่าเราต้องมาช่วยกันดูแลเรื่องปริมาณขยะในโรงเรียน หรือทำยังไงให้ขยะเพิ่มมูลค่าได้”
และที่สำคัญคือ เด็กๆ ไม่ได้เลือกเก็บเฉพาะขยะที่มีมูลค่า แต่เก็บสิ่งที่เป็นขยะทั้งหมด แล้วนำไปคัดแยกก่อนที่ขยะแต่ละประเภทจะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี นอกจากนี้ยังต่อยอดไปสู่การจัดการขยะเปียก เนื่องจากเด็กๆ เกิดความสงสัยว่า เศษอาหารที่กินเหลือ หรือวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่เหลือทิ้งนั้น จะสามารถนำไปทำอะไรต่อได้บ้าง
อย่างไรก็ตามการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ไม่ใช่แค่เปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการสอน แต่รวมไปถึงการวัดและประเมินผลที่จะต้องเน้นเรื่องการสะท้อนให้นักเรียนรู้ว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง และปรับอย่างไรเพื่อให้เกิดการพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งหัวใจสำคัญควบคู่ไปกับการใช้คำถามกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก