- หากเราดำเนินชีวิตมาโดยถูกกดทับและตีกรอบจากอะไรหลายอย่าง เราอาจเคยรู้ว่าเราเป็นใคร? แต่หลายห้วงขณะ เรากลับรับรู้ถึงการดำรงซ้อนอยู่ของใครอีกคน หรือการกลายเป็นใครอีกหลายคนเกินกว่าที่เคยเข้าใจ
- ภัทรารัตน์ ชวนสำรวจบุคลิกภาพหลากหลายที่อาจซุกซ่อนอยู่ภายในกระแสสำนึกของเรา ผ่าน เกรซ มาร์คส์ ที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตด้วยเหตุฆาตกรรมที่เธอเข้าไปมีส่วนร่วม กระทั่งมีจิตแพทย์ที่ต้องการหาคำตอบว่าเกรซมีความผิดจริงหรือไม่ ด้วยการเข้าไปในดินแดนที่ยังมิได้ถูกสำรวจในจิตใจเกรซ
- เมื่อสังคมหล่อหลอมให้เราเป็นแค่บางอย่าง ซึ่งบางทีก็เพียงเพื่อจะได้รู้ว่าต้องปฏิสัมพันธ์กับเราด้วยกรอบของการสัมพันธ์กับ อะไร เราก็คุ้นเคยเพียงกับสิ่งนั้น และสูญเสียความเชื่อมโยงกับรูปแบบการดำรงอยู่อื่นๆ ไป
1.
เกรซ มาร์คส์ (ตัวละครจาก Alias Grace) ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ด้วยมูลเหตุฆาตกรรมที่เธอเข้าไปมีส่วนร่วมเมื่ออายุเพียงสิบหกในช่วงปี 1843 ดูเหมือนว่าเกรซในวัยเยาว์นั้นได้ให้การต่อศาลไปตามที่ทนายเกลี้ยกล่อม โดยที่ผ่านมาทั้งทนายและสื่อต่างๆ ก็ดูจะรู้เรื่องของเธอมากว่าตัวเธอเองเสียอีก เพราะเธอเองก็จำรายละเอียดของการฆาตกรรมไม่ได้
อย่างไรเสียเกรซก็ถูกตัดสินว่ามีความผิดไปแล้วและต้องรับโทษในเรือนจำ ซึ่งมาจนถึงบัดนี้ก็กินเวลายาวนานดุจนิรันดร์ แต่ไม่กี่ปีมานี้เองที่ผู้อำนวยการเรือนจำได้ให้นักโทษประพฤติดีอย่างเธอเข้าไปทำงานบ้านในตอนกลางวันที่บ้านของเขา ซึ่งจะได้กลายเป็นที่นัดพบระหว่างเธอกับจิตแพทย์ ไซมอน จอร์แดน ผู้วิจัยเรื่องโรคทางสมองและระบบประสาท เขาเดินทางมาสืบค้น “ดินแดนที่ยังมิได้ถูกสำรวจ” (a terra incognita) ในจิตใจเธอ เพื่อดึงเสี้ยวความทรงจำอันลอยเลื่อนเลือนหายของเธอให้กลับคืนมา ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้ประจักษ์ว่าเธอมีความผิดจริงหรือไม่?
เกรซอาจได้รับอภัยโทษหากมีข้อสนับสนุนจากแพทย์ว่าเธอเป็นผู้บริสุทธ์
เกรซเล่าเรื่องราวของเธอให้หมอหนุ่มฟัง เธอมีพื้นเพในไอร์แลนด์ พ่อกับแม่ของเธอมีลูกด้วยกันมากมายเกินกว่าที่พ่อผู้ติดเหล้าหนักและชอบข่มเหงจะสามารถหาเลี้ยงได้ พวกเขาจึงอพยพไปสู่ประเทศแคนนาดาอันเป็นดินแดนแห่งความหวังใหม่
เมื่อเรือได้เทียบถึงฝั่งฝัน เกรซได้งานเป็นแม่บ้านประจำของครอบครัวเศรษฐีในโตรอนโตและได้กลายเป็นเพื่อนสนิทกับ แมรี่ แม่บ้านสาวหัวใจนักปฏิวัติซึ่งหมิ่นแคลนชนชั้นที่สูงกว่า แต่กลับตกบ่วงพิศวาสของบุตรชายเจ้าบ้าน เธอตั้งครรภ์กับสุภาพบุรุษผู้ร่ำรวยและเขาก็เลือกจะทอดทิ้งเธอเพื่อรักษาสถานะของตนเอง และแทนที่จะต้องทนอยู่อย่างอับอายและยากแค้น เธอตัดสินใจทำแท้งด้วยคมมีดสุภาพบุรุษ ซึ่งพาเธอไปสู่ปรโลก
หลังจากเพื่อนรักสิ้นใจ เกรซก็ย้ายไปทำงานที่บ้านในเขตชนบทของ ธอมัส คินเนียร์ โดยสาวน้อยต้องทำงานร่วมกับ เจมส์ แมคเดอร์มอตต์ แรงงานหนุ่มท่าทีหยาบกร้าน ซึ่งดูเหมือนว่าได้สานสัมพันธ์บางประการกับเธอ อีกทั้งเธอต้องอยู่ร่วมกับ แนนซี่ มอนต์โกเมอรี่ ซึ่งมีสัมพันธ์สวาทกับคุณผู้ชายและหวาดหวั่นว่าเขาจะหันมาสนใจเกรซ ความระแวงทำให้บรรยากาศในบ้านตึงเครียดขึ้นทุกทีกระทั่งในที่สุด แนนซี่ก็ได้ไล่เกรซและเจมส์ออก น่าเศร้าที่พวกเขาต้องจากลากันด้วยความตาย เจมส์ลงมือฆ่าแนนซี่และเจ้าของบ้านโดยอ้างภายหลังว่าเกรซยุยงให้ฆ่าแนนซี่เพื่อแลกกับรสรัก
หลังบทสนทนายาวนานกับเกรซ นายแพทย์จอร์แดนก็ยิ่งไม่อาจมั่นใจว่าเรื่องเล่าของเธอส่วนไหนเป็นจริงหรือเป็นสิ่งลวง จนท้ายที่สุดเขาก็ได้ปล่อยให้ดร.ดูปองต์ สะกดจิตเกรซ
แล้วในห้วงภวังค์แห่งการสะกดจิต เกรซก็พูดจาด้วยน้ำเสียง “ไม่เหมือนเกรซ” อีกทั้งก็มีท่าทีที่มิได้รักษามารยาทนักราวกับว่าผีแมรี่กำลังเข้าสิง เสียงนั้นบอกเป็นนัยว่าแมรี่ได้ใช้ร่างของเกรซยั่วยวนเจมส์ รวมถึงมีส่วนร่วมกับเจมส์ในความตายของแนนซี่ด้วย
แต่ก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าแท้จริงแล้วเกรซถูกวิญญาณแมรี่สิงตอนลงมือ? หรือเธอมีความผิดปรกติในลักษณะที่มีหลายบุคลิก (dissociative identity disorder -DID) ซึ่งก็คือมีสองบุคลิกหรืออาจมากกว่านั้น โดยแต่ละบุคลิกสามารถจะมีความนึกคิดและพฤติกรรมแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
หรือเธอแค่ยืมตัวตนของแมรี่มาบอกเล่าเรื่องราวส่วนที่สังคมไม่อนุญาตให้เธอพูดโดยปราศจากการลงทัณฑ์ กันแน่?
2.
เกรซ และเสียงของผีแมรี่
นับแต่วัยเยาว์ เกรซเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ชายเป็นใหญ่กว่าหญิง อีกทั้งฐานะทางบ้านก็ทำให้เธอต้องดิ้นรนมาโดยตลอด และความเป็นพลเมืองชั้นรองของเธอก็ยิ่งชัดเจนเมื่ออพยพไปที่แคนนาดา เธอผ่านหลายเหตุการณ์รุนแรงซึ่งสามารถสร้างแผลใจและความไม่ไว้วางใจผู้ชายผู้มีอำนาจมากกว่าได้อย่างลึกล้น แต่เธอก็ยังดำเนินชีวิตต่อไป ในความเข้มแข็งเช่นว่านั้นเธอยังดูอ่อนโยนและน้อมลงให้คนที่มีผลรวมอภิสิทธิ์มากกว่า แต่ก็มีความขบถและชาญฉลาดที่เธอรู้จักซุกซ่อนไว้ เธอมีบุคลิกภาพและการแสดงออกไม่เหมือนแมรี่ และยิ่ง ไม่อาจแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาเหมือนแมรี่ที่ตายไปแล้วได้ เพราะความเป็นหญิงในยุคของเธอซึ่งถูกสารพัดสิ่งกดทับและทำให้เงียบนั้น จะถูกปลดปล่อยออกมาอย่างปลอดภัยได้ก็ต่อเมื่อผู้หญิงคนนั้นไม่มีสภาพบุคคลอีกต่อไป..
อีกในหนึ่งเสียงของผีแมรี่ ก็คือเสียงที่ผู้หญิงอย่างเกรซซึ่งยังมีชีวิตไม่ได้รับอนุญาตให้เปล่งออกมา แต่หยิบยืมใช้ได้นั่นเอง
เสียงที่เธอนั้นไม่ได้ยิน
หากเราดำเนินชีวิตมาโดยถูกกดทับและตีกรอบจากอะไรหลายอย่าง เราอาจเคยรู้ว่าเราเป็นใคร? แต่หลายห้วงขณะ เรากลับรับรู้ถึงการดำรงซ้อนอยู่ของใครอีกคน หรือการกลายเป็นใครอีกหลายคนเกินกว่าที่เคยเข้าใจ พวกเขาอาจคล้ายหรือแปลกแยกแตกต่างไปจากบุคลิกหลักของเรา บ้างก็เป็นคน บ้างก็คล้ายกับสัตว์ป่า และบ้างก็เป็นเพียงภาวะรู้สึกตัวที่ผสานซ่านไปในอากาศธาตุและผืนป่าซึ่งโอบล้อม
เมื่อสังคมหล่อหลอมให้เราเป็นแค่บางอย่าง ซึ่งบางทีก็เพียงเพื่อจะได้รู้ว่าต้องปฏิสัมพันธ์กับเราด้วยกรอบของการสัมพันธ์กับ อะไร เราก็คุ้นเคยเพียงกับสิ่งนั้น และสูญเสียความเชื่อมโยงกับรูปแบบการดำรงอยู่อื่นๆ ไป
กระทั่งแม้ไม่มีใครหักห้าม เราก็ได้กักเก็บตัวตนและความทรงจำมากมายเหล่านั้นไว้ในพื้นที่ที่เราเองก็เข้าถึงไม่ได้ และตัวตนในเงื้อมเงาเหล่านั้นก็สามารถขับเคลื่อนให้เรากระทำการบางอย่างไปโดยปราศจากความรู้สึกตัว ซึ่งบ้างก็อาจสร้างผลลัพธ์ที่เราชอบ แต่ก็มักให้โทษบ่อยครั้งกว่าคล้ายเกรซที่อาจเป็นฆาตกรเพราะถูกผีแมรี่สิง
3.
สดับฟัง ปล่อยให้มันปรากฏ
อย่างไรก็ตาม เราสามารถชิงเข้าถึงกระแสเสียงเหล่านั้นก่อนที่มันจะทำลายเรา โดยสามารถเริ่มต้นจาก
- รู้สึกถึงสิ่งที่รบกวนเราในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้เราหลงใหลอย่างรุนแรง หรือวิตกกังวล หรือโกรธ (ดูตัวอย่างการทำงานกับความโกรธที่ ยักษ์นนทก: โกรธเพราะปล่อยให้คนอื่นล้ำเส้น (และ/หรือถูกสะกิดแผล?)
- ตระหนักว่าเรากำลังเสพติดอะไร หรือใส่ใจความฝันของเรา (ดูตัวอย่างการทำงานกับสิ่งที่เราเสพติดที่ Swan Lake 2: ข้อมูลที่จิตสำนึกไม่รับทราบ แต่หาทางไปปรากฏในความฝันและการเสพติด) หรืออาการป่วยไข้ (ดูตัวอย่างการทำงานกับความฝันและอาการป่วยที่ โกลมุนด์: ความทรงจำที่ถูกฝังกลบ การเยียวยาผ่านความฝัน และสัญญาณการเปลี่ยนแปลง) ในเรื่องนี้ดร.มินเดล (Arnold Mindell) นักจิตวิทยาวิเคราะห์ผู้พัฒนาจิตวิทยาเชิงกระบวนการ ได้สังเกตผู้คนที่มีอาการเจ็บปวดทางร่างกายว่ามักจะมีปฏิกิริยาในลักษณะที่ทำให้เจ็บปวดกว่าเดิมราวกับพวกเขาอยากสัมผัสความเจ็บปวดมากขึ้นไปอีก เช่น คนเจ็บตาเอามือไปกดตาตัวเอง หรือคนที่เป็นกลากกลับยิ่งเกา
มินเดลรู้ว่าร่างกายมนุษย์มีกลไกที่จะเยียวยารักษาตัวเอง และการทำให้อาการแย่ลงอาจเป็นหนึ่งในกลไกนั้น นั่นแปลว่าการ “ขยายอาการ” ออกมาสามารถช่วยทำให้กระบวนการแห่งชีวิตของเราที่ถูกจองจำณ ส่วนใดส่วนหนึ่ง กลับมาไหลลื่นได้อีกครั้ง
ดังนั้น เราสามารถ “เชื่อมโยง” ว่าสิ่งรบกวนใจหรือความป่วยไข้ของเรา ฯลฯ มีเสียง หรือภาพ และสารอะไรบ้าง?
- เราสามารถพูดคุยกับทีละเสียง และโดยมีความสำนึกรู้และไม่ไปละเมิดผู้อื่น เราสามารถทดลองกลายเป็นสิ่งเหล่านั้นให้ชัดมากขึ้นทีละอย่าง หรือ
- ถ่ายทอดมันออกมาเป็นอักษรซึ่งเราอาจบันทึกออกมาเป็นภาษาอื่น ซึ่งช่วยปลดเราออกจากความคิดครอบงำในวัฒนธรรมที่ภาษาหลักของเราสังกัด หรือ
- เราสามารถวาดภาพที่เห็นออกมาในกระดาษ หรือ
- เคลื่อนไปโดยไร้การกำกับของเหตุผลตายตัว
เราสามารถจงใจเล่นบทบาทสมมุติและขยายแก่นสารของสิ่งต่างๆ อันผุดเกิดขึ้นเหล่านั้นซึ่งมักมิใช่บุคลิกหลักของเรา เมื่อมันอยู่ในความรับรู้ เราก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะทำความเข้าใจ ปรับแปร หรือเพียงแต่โอบอุ้มมันไปอย่างซื่อตรงได้อย่างนุ่มนวล แทนที่จะต้องถูกขับเคลื่อนด้วยแรงปะทุอันเชี่ยวกรากของสิ่งที่เราไม่ตระหนักว่ามีอยู่ภายใน
4.
เมื่อได้ปล่อยให้สารัตถะต่างๆ ที่เคยซุกซ่อนอยู่ มีช่องทางได้เผยตัวออกมาในการดำรงอยู่ของเราได้อย่างรู้ตัวมากมายขึ้นเรื่อยๆ เราก็เริ่มจะเห็นว่าโลกภายในสามารถเป็นแหล่งบรรจุทุกตัวละครที่เรามองเห็นในโลกภายนอก เมื่อเข้าไปรู้และเรียนรู้จากมัน ก็เสมือนหนึ่งว่าเราได้รู้จักสิ่งที่มีลักษณะทำนองเดียวกันในโลกภายนอกนั้นด้วย หนำซ้ำยังอาจพบเสี้ยวความทรงจำบางอย่างที่หายไป ซึ่งเชื่อมร้อยเหตุการณ์ / ภาวะหนึ่งเข้ากับอีกเหตุการณ์/ อีกภาวะหนึ่ง ทำให้พวกมันเริ่มเชื่อมโยงกันอย่างสมเหตุสมผล หรือเกิดความหมายใหม่ขึ้นมาทั้งที่ก่อนหน้ามันดูเหนือความเข้าใจ
และเราก็ไม่รู้สึกแปลกแยกจากตัวตนและความทรงจำเหล่านั้นอีกต่อไป