- ธรรมชาติสร้างให้มนุษย์ต้องหาคู่ครองเพื่อมีลูกหลานสืบเผ่าพันธ์ การเจ็บปวดเพราะความรักจึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับมนุษย์ แม้ปัจจุบันเราสามารถเลือกเป็นโสด ไม่จำเป็นต้องหาคู่หรือมีลูกหลานแล้วก็ตาม
- “รักตัวเองให้ได้ก่อน แล้วค่อยไปรักคนอื่น” คำแนะนำสุดฮิตปลอบใจเมื่อยามเราประสบปัญหาความสัมพันธ์ การรักตัวเองยังไม่มีนิยามที่ชัดเจน บางก็มองว่าคือการหลงตัวเอง แต่ในสังคมไทยมองคำนี้ในแง่บวก
- มีงานวิจัยพบว่า หากใครรักตัวเองไม่มากพอในแง่ของการไม่เห็นของคุณค่าตนเอง คนนั้นมักจะกลายเป็นคนขี้หวาดระแวง คนขี้หึงเกินเหตุนั้นไม่ได้เกิดแค่จากการไม่เชื่อใจคนรักเท่านั้น แต่เพราะไม่มั่นใจคุณค่าของตนเองด้วยว่าดีพอที่คนรักจะเห็นค่าไม่ไปเลือกคนอื่น
ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกลแค่ไหน ‘ปัญหาหัวใจ’ ก็ยังเป็นเรื่องที่คนเรานั้นให้ความสำคัญเสมอครับ การอกหัก ผิดหวังจากความรัก ชีวิตคู่มีปัญหา ล้วนแต่เป็นปัญหาที่สร้างความทุกข์ให้คนเราเป็นอันดับต้นๆ จนบางคนต้องตกในภาวะซึมเศร้า หรือถึงขั้นจบชีวิตตัวเองก็มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
‘ความรัก’ ที่มีต่อคู่รักหรือแฟนนั้นเป็นความรู้สึกที่ธรรมชาติสร้างมาให้เราหาคู่ครองเพื่อมีลูกหลานสืบทอดเผ่าพันธุ์ต่อไปที่เป็นประเด็นหลักๆ ของการวิวัฒนาการ ดังนั้น การเจ็บปวดเพราะความรักเลยเป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์ที่ฝังอยู่ในยีนของเรา ที่เรากลัวคู่ของเราจะทิ้งไป ถึงแม้ปัจจุบันนั้นมนุษย์ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการสืบทอดเผ่าพันธุ์อีกแล้ว ค่านิยมสมัยใหม่ คู่ไหนไม่อยากมีลูกก็ไม่ผิดอะไร หรือการอยู่เป็นโสดก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเดือดร้อน แต่เพราะความทุกข์จากความรักมันอยู่ในวิวัฒนาการมันเลยมีพลังรุนแรง ถึงขั้นให้คนที่ดูเข้มแข็งในด้านอื่น ๆ ถึงกับเสียหลักได้ตอนช้ำรัก (อ่านเพิ่มเติมใน Attachment Theory: เหตุใดเราต้องการอยู่ใกล้คนรักตลอดเวลา)
เมื่อปัญหาความรักสำคัญขนาดนี้ คนเราเลยสรรหาสารพัดวิธี หรือคำพูดปลอบใจมาช่วยทุเลาปัญหาดังกล่าว เวลาที่คนเจ็บปวดเพราะความรักนั่งซึมเศร้า ไม่กินไม่นอน หรือแม้แต่ทำร้ายตัวเอง หนึ่งในคำคมหรือคำปลอบใจยอดนิยมที่สุดสำหรับกรณีนี้คือ “รักตัวเองให้ได้ก่อน แล้วค่อยไปรักคนอื่น” วันนี้เราจะมาดูการรักตัวเองในแง่จิตวิทยากันครับ ว่ารักตัวเองมันคืออะไร แล้วมันจำเป็นจริง ๆ หรือ แล้วมันไปเกี่ยวอะไรกับชีวิตรักของเรา
แม้คำว่า ‘รักตนเอง’ เป็นที่คุ้นเคยกันในบทเพลง ในละคร และแน่นอนในคำคม แต่คำนี้ยังไม่มีนิยามที่ชัดเจนนักในแวดวงวิชาการเท่าไรครับ ในวงการวิชาการฝั่งตะวันตก คำว่า ‘รักตนเอง’ จะทำให้บางคนนึกถึง ‘การหลงตนเอง’ ซึ่งเป็นในแง่ร้าย มองว่าตนเองมีมีค่าสำคัญกว่าใครๆ สนใจแต่ตัวเองเป็นหลัก ซึ่งก็อาจจะเรียกว่าเป็นนิยามหนึ่งก็ได้ แต่รักตนเองที่เราจะพูดถึงในวันนี้อยู่ในแง่ที่คนไทยนิยมใช้กันตอนสอนหรือตอนปลอบใจจะเป็นในแง่ที่เป็นในแง่ดีมากกว่า
หลายๆ คนเมื่อได้ยินว่า ‘รักตนเอง’ ก็อาจจะพอเข้าใจว่า ก็หมั่นให้ความสุขกับตนเอง หรือดูแลร่างกายสุขภาพของตัวเองให้ดี นั่นก็เป็นแง่มุมหนึ่งที่สำคัญครับ แต่พอนึกถึงแต่ความหมายนี้ หลายๆ คนที่มีคนมาบอกว่า “ให้รักตนเองมากขึ้นสิ” เลยรู้สึกว่าแล้วฉันไม่รักตนเองตรงไหน ทุกวันนี้ที่อยู่ก็เพื่อหาความสุขใส่ตัวเนี่ยแหละ นี่ยังเรียกว่ารักตัวเองไม่พออีกหรือ คำตอบคืออาจจะไม่พอครับ
‘รัก’ กับ ‘การให้คุณค่า’ นั้นเป็นของคู่กันเสมอ เรารักสิ่งใดเราก็ให้คุณค่าสิ่งเหล่านั้นมาก คนที่กำลังมีปัญหาเรื่องความรักมักจะมีปัญหาเรื่องการให้คุณค่าของตนเองไปด้วย มนุษย์เรานั้นเป็นปกติที่อยากให้ตนเองเป็นสิ่งที่มีค่า และควรค่าต่อสิ่งใดๆ บ้าง ไม่ว่าจะเป็นควรค่าต่อความสุข ต่อความสำเร็จ ต่อความรัก แต่มนุษย์เราก็เป็นสิ่งมีชีวิตขี้สงสัย ที่เรามักจะไม่มั่นใจว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเรามีค่าจริงหรือเปล่า ใครจะตอบคำถามนี้ให้เราได้ หลายๆ คนที่ปวดใจเหลือเกินตอนรักไม่สมหวัง หรือตอนคนรักทอดทิ้งไปนั้น เพราะมองว่าตัวเองไม่มีค่า ด้วยความคิดที่ว่า “ฉันไม่มีค่าถ้าไม่มีเขา” หรือ “ไม่มีใครรักฉันสักคน แล้วฉันจะมีค่าอะไรอีก” ในทางจิตวิทยา ความคิดเหล่านี้มันไม่สมเหตุสมผลเลยครับ
เพราะมนุษย์เรานั้นต่างมีค่าด้วยกันทุกคน โดยเฉพาะมีค่ากับตนเอง ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งนั้นที่จะทำให้เราไม่มีค่า และการรู้ว่าตัวเรานั้นมีค่าเสมอนี่แหละ คือ หนึ่งในแง่มุมของการรักตนเองที่หลายๆ คนมักจะหลงลืมไป
บางคนทำร้ายตัวเองเพื่อพิสูจน์ให้คนรักหันมาสนใจ ซึ่งจริงๆ ก็คือต้องการตอบตัวเองให้ได้ว่า ‘ฉันมีค่า’ การแก้ไขความรู้สึกไม่มีค่านี้ ไม่ได้แก้ที่ต้องมีคนมาบอกรัก มีคนรักมาเอาอกเอาใจคอยทำให้เรารู้สึกว่ามีค่า แต่มันต้องแก้ด้วยการรู้ว่า ตัวเรานั้นมีค่าเสมอและนั่นไม่เกี่ยวด้วยว่าใครจะรักหรือไม่รัก ทำดีหรือไม่ทำดีกับเรา ความมั่นใจและยืนยันในคุณค่าตรงนี้ได้ นี่คือหนึ่งในทักษะของการรักตัวเองเป็นครับ
หากมีคนมารักเรา ทำดีกับเรา แน่นอนว่าเรามีค่าในสายตาเขา แต่การที่เราหาคนรักไม่ได้เสียที หรือคนที่เรารักไม่รักเราตอบ หรือคนรักทำไม่ดีกับเรา หรือวันหนึ่งเกิดทิ้งเราไป ไม่ว่าคนอื่นจะมองว่าเรามีค่าหรือไม่ คนรักตัวเองเป็นต้องมั่นใจได้ว่านั่นไม่เกี่ยวกับคุณค่าของตัวเราเลย
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เรามั่นใจว่าตัวเรามีค่านั้น ไม่ได้ดูจากการที่คนรอบตัวทำอย่างไรกับเรา แต่คือตัวเราเองนี่แหละครับที่เห็นค่าของตัวเราเองเป็นหรือไม่
กลับมาที่คำถามว่า “ทำไมต้องรักตัวเองให้ได้ก่อนจะรักคนอื่น” การวิจัยพบว่าหากใครรักตัวเองไม่มากพอในแง่ของการไม่เห็นของคุณค่าตนเอง คนนั้นมักจะกลายเป็นคนขี้หวาดระแวง หึงหวง ติดคนรัก ไม่กล้าทิ้งระยะห่าง กลัวว่าเขาจะหมดรัก กลัวว่าเขาจะนอกใจ คนอื่นอาจจะดีกว่าเราและเขาอาจจะไม่เลือกเราก็ได้ คนขี้หึงเกินเหตุนั้นไม่ได้เกิดแค่จากการไม่เชื่อใจคนรักเท่านั้น แต่เพราะการไม่มั่นใจคุณค่าของตนเองด้วยว่าดีพอที่คนรักจะเห็นค่าไม่ไปเลือกคนอื่นแทน
บางคนก็แสดงออกโดยการตามใจคนรักจนเกินเหตุ ตามใจทุกอย่าง ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ แม้จะเห็นอยู่ว่ามันไม่ใช่แต่ไม่กล้าขัดใจสักอย่าง ตอนที่คนรักทำร้ายจิตใจก็ไม่พูด ตอนโกรธก็ไม่กล้าแสดงออก ไม่เป็นตัวของตนเองเลยตอนอยู่กับคนรัก เพราะไม่มั่นใจว่าถ้าเกิดไม่เอาใจ หยุดตามใจเขา เขาอาจจะไม่เห็นค่าของตนแล้วก็ได้
ปัญหาเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลเสียต่อความรักในระยะยาวครับ ไม่มีใครชอบคนรักที่ขี้หึงเกินเหตุ ไม่มีใครอยากได้คนรักที่เหมือนไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ตามใจทุกอย่างจนไม่รู้เลยว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร คนที่รักตัวเองไม่พอนั้น มองเผินๆ เหมือนจะเสียสละทุกอย่างเพื่อความรักและคนรัก แต่หลายครั้งมันกลับเป็นความหมกมุ่นในการพยายามหาคุณค่าให้ตัวเองด้วยการมีความรัก จนเห็นเรื่องนี้สำคัญไปกว่าสิ่งที่คนรักต้องการ สำคัญกว่าความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง การหาคุณค่าให้ตัวเองด้วยการใช้คนอื่นยืนยัน เปรียบแล้วเหมือนการเติมน้ำลงในถังน้ำรั่ว ถึงเราจะรู้สึกว่าคนรักคอยเติมคุณค่าของตัวเราผ่านการเอาใจ ผ่านคำบอกรัก แต่เพราะชีวิตคู่นั้นมันย่อมมีช่วงเวลาที่แต่ละคนต้องให้ความใส่ใจกับสิ่งอื่นบ้าง ห่างกันบ้าง ผิดใจบ้าง ทะเลาะบ้าง ความรู้สึกของเรามันก็จะรั่วไปตามเหตุการณ์เหล่านี้
คนรักที่รักตัวเองไม่มากพอก็จะไม่มั่นคง ความรักสะดุดนิดหน่อยก็สะเทือนไปว่าตัวเองไม่มีคุณค่า และนั่นมันเหมือนสร้างแต่ความสิ้นหวังตลอดเวลา แต่ถ้ารักตัวเองมากพอ เวลามีอะไรมากระทบก็ยังคงตั้งหลักไว้ได้อยู่ ยังรู้ว่าเราไม่ใช่คนที่อีกฝ่ายนึกจะไม่รักก็ไม่รัก นึกจะทิ้งก็ทิ้ง เพราะรู้ว่าเราเองก็เป็นคนที่มีค่า และควรค่าแก่การได้ความรัก
ชีวิตคู่นั้นมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวว่าจะรอดหรือไม่รอด บางคู่ที่ไปด้วยกันไม่ได้ก็ไม่ได้แปลว่ามีใครทำอะไรผิดหรือฝ่ายไหนไม่ดี ดังนั้นหากต้องเลิกเรา มันก็คือเรื่องปกติของชีวิต อย่างไรก็ตามการรักตนเองไม่พอจะยิ่งส่งผลเสียรุนแรงตอนถูกชีวิตรักจบลง เพราะมันจะรู้สึกแย่ว่าตัวเองไร้ค่าเนื่องจากคนที่รักที่จะมาคอยยืนยันว่าตัวเรามีค่านั้นไม่อยู่แล้ว ดังนั้นจะฟื้นตัวจากอาการช้ำรักได้ยากลำบาก
ถึงตรงนี้คงเห็นแล้วว่าการ ‘รักตนเอง’ ให้เป็นนั้นมันเหมือนทำให้เราเข้มแข็ง พร้อมที่จะมีรักในแบบที่แข็งแรง และถึงจะผิดหวัง หรือคบแล้วเลิกรากัน เราก็ยังก้าวต่อไปได้
คนที่รักตนเองพอก็เหมือนคนที่เตรียมตัวพร้อมในการเผชิญกับชีวิตรักมากกว่า หรือแม้แต่จะไม่มีคนรักผ่านเข้ามา คนที่รักตนเองก็ยังอยู่ได้ไม่สิ้นหวัง
การรักตนเองที่เราพูดถึงในแง่นี้เกี่ยวข้องกับ ‘บุคลิกภาพ’ หรือความแตกต่างของแต่ละคนที่ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่เกิด บุคลิกภาพด้าน ‘รูปแบบความผูกพัน’ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการรักตนเอง คนที่รูปแบบความผูกพันในแบบวิตกกังวลสูงจะเจอปัญหาเรื่องรักตัวเองน้อยไปในแง่ไม่เห็นคุณค่าตัวเอง เพราะถูกหล่อหลอมมาว่าตั้งแต่เด็กว่าตนเองนั้นไม่มีค่าเพียงพอที่คนอื่นจะรักจะผูกพันด้วย (อ่านเพิ่มเติมใน เหมือนดูเย็นชา แต่ใช่ว่าไม่รัก) บุคลิกภาพของคนเรานั้นเปลี่ยนยาก และใช้เวลานาน แต่ก็เปลี่ยนได้นะครับ ดังนั้นหากคิดว่าเรามีปัญหาในด้านนี้เราก็ยังแก้ไขได้
สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้คือการปรับมุมมอง การที่อยู่ๆ จะบอกว่า คนทุกคนต่างมีค่าด้วยกันทั้งนั้น อาจจะฟังดูไม่รู้สึกซื้อใจเราได้ บางคนอาจรู้สึกว่ามันเชื่อได้ยากว่าเรามีค่าจริงๆ ถ้าไม่มีคนอื่นมาบอกว่ามีค่า ถ้าแบบนั้นเราอาจจะลองคิดถึงคุณค่าของตัวเราให้ชัดก็ได้ว่าเรานั้นมีค่าอยู่เสมอไม่ในแง่มุมใดก็แง่มุมหนึ่ง เราคือเพื่อนที่ดีของเพื่อนเรา เราเป็นคนที่คนในครอบครัวของเราให้ความสำคัญ หรือแม้แต่เราเป็นเจ้าของที่สัตว์เลี้ยงของเรานั้นรักมากๆ ต่อให้เรานึกไม่ออกเลย ก็ค่อยๆ คิด ค่อยๆ หาไปครับ แต่ขอให้มั่นใจได้ว่าไม่มีใครหรอก ที่ไม่มีความสำคัญต่อใครสักคนเลย ที่เราไม่ค่อยรู้ว่าเรามีค่า เพราะเรามักจะตีกรอบเลือกคุณค่าที่เราตั้งเองว่า จะมีค่าต้องมีแฟน จะมีค่าต้องประสบความสำเร็จ จะมีค่าต้องหน้าตาดี หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งจริงๆ แล้วเกณฑ์เหล่านั้นมันไม่จำเป็นเลย
ผมชอบคำพูดในการ์ตูน The Embalmer ที่มิทสึคาซึ มิฮาระเขียน มีคำที่กล่าวไว้ว่า “แค่เรามีชีวิตอยู่ นั่นก็ถือว่ามีค่าแล้วกับคนรอบตัว” หากใครรู้สึกว่าตนไม่มีค่า ขอให้นึกไว้ว่าหากวันนึงเราไม่อยู่แล้ว ต้องมีคนเสียใจมากแค่ไหน
การรักตนเองไม่ใช่แค่เรื่องของคนที่ยังไม่มีคนรักหรือมีปัญหากับความรักเท่านั้น คนที่มีคู่รักอยู่หากรู้สึกว่ายังขาดส่วนนี้ไปก็ลองมาปรับความคิดดูได้ครับ ความคิดที่รักตัวเองเป็นจะดีต่อความสัมพันธ์ที่มีในระยะยาว อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เราเชื่อใจคนรักได้มากขึ้น ลดความวิตกกังวล ความหึงหวงเกินเหตุที่ได้รับผลมาจากการรักตัวเองไม่พอ การที่เราไปรักใคร แทนที่จะไปเรียกร้องพยายามดึงให้ใครมาเห็นว่าเรามีค่า ตัวเรานี่แหละครับต้องเห็นคุณค่าของตัวเราเองให้ได้ก่อนคนอื่นๆ
จริงๆ แล้วอาจจะฟังดูกลับกัน แต่ทางจิตวิทยามีทฤษฎีที่ชื่อว่า ‘self-fulfilling prophecy’ คือ พอเราคาดหวัง เราเชื่อในสิ่งไหน ตัวเราเองจะไปทำสิ่งที่มันสอดคล้องกับความหวังและความเชื่อของเราโดยไม่รู้ตัว และสิ่งที่เราทำนั้นจะไปส่งผลให้สิ่งที่เราหวังเราเชื่อกลายเป็นความจริง ดังนั้น เห็นค่าในตัวเราเองให้มากๆ ไว้ แล้วมันอาจจะช่วยให้คนที่เราชอบหันมาเห็นค่าเราก็ได้ และวิธีนี้ยังทำให้เรามีรักในแบบที่สบายๆ ไม่ต้องเกร็งมากตอนอยู่หน้าเขา เพราะเรารู้ว่าตัวเรานั้นมีค่าพออยู่แล้ว ไม่ต้องฝืนปรับตัวจนเกินเหตุไปเพื่อให้เขามารัก รักที่ดีแน่นอนว่ามันต้องปรับตัวเข้าหากันบ้าง แต่ต้องเป็นรักในแบบที่เรายังเป็นตัวของตัวเองได้อยู่จริงไหมครับ