- ‘ความกล้าหาญทางวิชาการ (academic courage)’ เป็นความมุ่งมั่นในการเผชิญหน้ากับความยากลำบากและความกลัวทางเรื่องวิชาการ
- ความกล้าหาญและความมั่นใจส่งผลต่อการเรียนไม่แตกต่างกัน แต่ความมั่นใจมีลักษณะยืดหยุ่นมากกว่า หมายถึงว่าถ้านักเรียนมีความมั่นใจ พวกเขาจะนำมาปรับใช้กับการเรียนได้หลากหลายรูปแบบมากกว่า
- แม้ความมั่นใจจะส่งผลดีต่อการเรียนมากที่สุด แต่ความกล้าหาญกลับสามารถนำมาใช้เป็นปัจจัยสนองตอบต่อผลสัมฤทธิ์การเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ปิดจุดอ่อนได้ดี หากนักเรียนเกิดความรู้สึกว่ามีความยากลำบากหรือความกลัวในการเรียนเรื่องวิชาการ
เวลาพูดถึงความกล้าหาญ เรามักนึกถึงสถานการณ์พิเศษที่ไม่ใช่กิจวัตรประจำวันซึ่งเราต้องลงมือทำบางอย่าง โดยเฉพาะการต่อสู้กับความกลัว จนบางคนก็บอกว่าความกล้าหาญกับความกลัวเป็นสองหน้าของเหรียญเดียวกัน แต่เป็นเช่นนั้นแน่หรือ?
จะมีหนทางใดหรือไม่ที่เราจะสร้างหรือสนับสนุนให้เด็กๆ เกิดความกล้าหาญ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการศึกษาหาความรู้ของเด็กๆ เหล่านั้น?
มาดูกันที่คำถามแรกกันก่อนนะครับ ความกล้าหาญกับความกลัวเป็นปลายสองด้านของอุปนิสัยที่ตรงกันข้ามจริงหรือไม่?
ปีเตอร์ มูริส (Peter Muris) จากสถาบันจิตวิทยาในสังกัดมหาวิทยาลัยอีราสมัสแห่งรอตเตอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ทำการทดลองที่น่าสนใจในเรื่องนี้เอาไว้ [1]
เขาทดสอบในเด็กๆ อายุ 8-13 ปี รวม 51 คน เริ่มจากการสัมภาษณ์ด้วยคำถามว่า เด็กๆ ได้เคยทำอะไรในชีวิตที่คิดว่าเป็นเรื่องกล้าหาญที่สุดไว้บ้างหรือไม่ พร้อมกับให้จัดระดับความกลัวและความกล้าหาญในเหตุการณ์นั้นไว้
จากนั้นก็ทดลองแยกต่างหาก โดยนำเด็กๆ มาทำแบบทดสอบที่เรียกว่า CM-C (Courage Measure for Children) ที่ออกแบบมาเป็นดัชนีวัดระดับความกล้าหาญโดยรวมของเด็กแต่ละคน นอกจากนี้ ยังให้ทำแบบทดสอบยังประเมินระดับความกระวนกระวายใจและแบบทดสอบที่ใช้ดูว่าคนไหนมีอุปนิสัยชื่นชอบทำอะไรที่ตื่นเต้นมากน้อยแค่ไหน
แบบทดสอบ CM-C นี่ มีคนคิดประดิษฐ์ไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 2009 โน่น โดยจะมีเนื้อหารวม 12 ข้อ เช่น “ฉันพยายามเอาชนะความกลัวของตัวเอง” “ฉันเชื่อว่าตัวเองทำตัวกล้าหาญ” “หากฉันกังวลใจเกี่ยวกับอะไรสักอย่าง ฉันจะเผชิญหน้ากับมันหรือทำอะไรสักอย่าง” โดยเด็กๆ จะต้องให้คะแนนเป็น 4 ระดับดังนี้ ให้ 1 คือ คำกล่าวดังกล่าวไม่จริง ให้ 2 คือ มีส่วนจริงอยู่บ้าง ส่วน 3 คือ ข้อความเป็นความจริง และ 4 ก็หมายความว่า จริงมากๆ
สำหรับแบบทดสอบความกระวนกระวายใจหรือกังวลใจที่นำมาใช้ชื่อ SCARED (ตั้งชื่อได้เหมาะมากๆ) มาจากชื่อเต็มว่า The Screen for Child Anxiety Related Emotional Disorders) เป็นคำถามให้ประเมินตัวเองอีกเช่นกัน ประกอบด้วยคำถามจำนวน 41 ข้อ แบ่งเป็น 5 กลุ่มย่อย คือ
- ความกลัวอย่างหนักชนิดโฟเบีย เช่น เมื่อตกใจกลัว หัวใจเต้นเร็ว
- ความกระวนกระวายใจแบบทั่วๆ ไป เช่น ฉันเป็นคนขี้กังวล
- ความกังวลใจแบบต้องแยกตัว เช่น ฉันไม่ชอบอยู่ห่างไกลจากครอบครัวของฉัน
- ความกลัวทางสังคม เช่น ฉันไม่ชอบคนไม่คุ้นเคยกัน และ
- ความกลัวที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน เช่น ฉันกลัวที่ต้องไปโรงรียน โดยเด็กๆ ต้องให้คะแนนเป็น 3 แบบ คือ ให้ 0 หมายถึง แทบไม่รู้สึกเช่นนั้นเลย แต่หากให้ 1 คือ บางครั้งก็เป็นแบบนั้น และหากให้ 2 คือ เป็นแบบนั้นบ่อยๆ
ส่วนแบบทดสอบที่ใช้ดูว่าคนไหนมีอุปนิสัยชื่นชอบทำอะไรที่ตื่นเต้นมากน้อยแค่ไหน ใช้แบบทดสอบชื่อ SSSC (The Sensation Seeking Scale for Children) ที่มี 10 ข้อ เพื่อวัดว่ามีแนวโน้มจะเข้าร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทางร่างกายมากแค่ไหน เช่น สกี กระโดดร่มชูชีพ และปีนเขา
สำหรับแบบทดสอบสุดท้ายนี้แบ่งเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ 1 คือ ไม่จริง จนถึง 5 คือ จริงที่สุด
หลังจากนั้นก็ยังมีการสัมภาษณ์รายคนอีกด้วย แต่คราวนี้คณะนักวิจัยจะเป็นผู้ให้คะแนนจากคำตอบที่ได้รับ สิ่งที่สรุปได้จากการสัมภาษณ์ก็คือ เด็กๆ มีความกล้าจะทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายทางกายมากที่สุดคือ 33.3% ของทั้งหมด รองลงมาก็คือ การนั่งรถไฟเหาะตีลังกา (18.8%) และการเผชิญหน้ากับสัตว์ที่ตัวเองกลัว (12.5%)
ส่วนในกลุ่มหัวข้อที่กลัวค่อนข้างมาก ได้แก่ การเผชิญหน้ากับคนน่ากลัว การต้องผ่าตัดหรือรักษาทางการแพทย์ การต้องช่วยเหลือคนอื่น และการแสดงอะไรสักอย่างต่อหน้าผู้คน ทั้งหมดนี้มีคนกล้าทำอยู่แค่ 5%
แต่ที่กลัวที่สุดมีแค่คนเดียว (2.1%) ตอบว่าไม่กลัว ได้แก่ การเล่นกีฬาที่ต้องจับคู่กับเด็กที่โตกว่า
เมื่อประมวลข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกัน คณะนักวิจัยสรุปเป็นภาพรวมว่า เด็กแทบทั้งหมด (94%) ให้ข้อมูลว่าตัวเองเคยทำอะไรที่แสดงความกล้าหาญมาแล้วในชีวิต แต่ที่น่าสนใจคือ ระดับความกลัวและความตื่นเต้นขณะทำเรื่องพวกนั้น กลับไม่แสดงความสัมพันธ์ที่ชัดเจน คือ อาจจะกลัวมากแต่กังวลใจน้อย หรือกลับกัน เป็นต้น
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ในวีรกรรมที่เล่ามานั้น ผลประเมินความกล้าหาญกับความกลัวไม่ได้ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ความกล้าหาญกับความกลัวจึงไม่ได้เป็นสองหน้าของเหรียญเดียวกันหรือสิ่งที่ตรงกันข้ามบนสเกลวัดเสียทีเดียว!
ในทางตรงกันข้าม ผลจากแบบทดสอบ CM-C ชี้ว่า ความกล้าหาญสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับความกังวลใจ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความกล้าหาญสำหรับเด็กๆ แล้ว คือการเอาชนะความกังวลใจ ไม่ใช่ความกลัว ข้อสรุปสุดท้ายคือ เด็กๆ ที่มีอุปนิสัยชอบการผจญภัยและมองหาความตื่นเต้นในชีวิต จะเป็นกลุ่มที่แสดงความกล้าหาญโดยรวมมากกว่าเด็กๆ ส่วนที่เหลือ
ดังนั้น หากจะสนับสนุนให้เด็กๆ เกิดความกล้าหาญ ไม่ใช่ลดความกลัว แต่ต้องหาทางลดความกังวลใจ
มาถึงคำถามที่สอง ความกล้าหาญมีผลต่อการเรียนหรือไม่? และถ้ามี มีผลอย่างไรกันแน่?
มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร School Psychology Quarterly ค.ศ. 2011 ที่ศึกษาเรื่องนี้ [2]
คนที่ทำวิจัยไว้คือ มาร์ติน แอนดรูว์ เขาศึกษาในเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย 7,637 คน จากโรงเรียน 14 แห่งในออสเตรเลีย โดยนิยามคำว่า ‘ความกล้าหาญทางวิชาการ (academic courage)’ ว่าเป็นความมุ่งมั่นในการเผชิญหน้ากับความยากลำบากและความกลัวเรื่องทางวิชาการ
โดยเขาดูว่ามันมีผลต่อการทำนายผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการได้หรือไม่ (วัดเฉพาะเรื่องการรู้หนังสือและความสามารถด้านเลขคณิต) นอกจากนี้ ยังดูผลของมันต่อตัวชี้วัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางวิชาการ (เช่น การวางแผน การจัดการงานที่ได้รับมอบหมาย การจัดการกับจุดอ่อนของตัวเอง การไม่ผูกพันกับการเรียน การมีส่วนร่วมกับชั้นเรียน ความรู้สึกว่าการไปโรงเรียนนั้นสนุก และการมองเรื่องการเรียนเป็นเรื่องดี ฯลฯ)
เขาวิเคราะห์แบบจับกลุ่มปัจจัยหลักเป็น 4 แบบ ประกอบด้วยความกล้าหาญ ความมั่นใจ การหลบเลี่ยง และการรู้สึกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผลการทดลองได้มาจากการสังเกตและเก็บข้อมูลจากในห้องเรียนจริง และจากการที่นักเรียนทำแบบทดสอบ
เมื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาสร้างเป็นสมการแบบจำลองโครงสร้าง จึงได้ข้อสรุปว่า ความกล้าหาญและความมั่นใจส่งผลต่อการเรียนไม่แตกต่างกัน แต่ความมั่นใจมีลักษณะยืดหยุ่นมากกว่า หมายถึงว่านักเรียนนำมาปรับใช้กับการเรียนได้หลากหลายรูปแบบมากกว่า
เรื่องที่น่าสนใจคือ ความกล้าหาญเป็นอุปนิสัยที่มีลักษณะยืดหยุ่นกว่าการหลบเลี่ยงและการรู้สึกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อย่างเห็นได้ชัด ในทุกหัวข้อตัววัดที่ใช้
พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ แม้ความมั่นใจจะส่งผลดีต่อการเรียนมากที่สุด แต่ความกล้าหาญกลับสามารถนำมาใช้เป็นปัจจัยสนองตอบต่อผลสัมฤทธิ์การเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ปิดจุดอ่อนได้ดี หากนักเรียนเกิดความรู้สึกว่ามีความยากลำบากหรือความกลัวในการเรียนเรื่องวิชาการ
นักเรียนต้องเข้าใจให้ได้ว่า ความผิดพลาดต่างๆ เป็นโอกาสและเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ การวัดความสำเร็จในการเรียนจึงควรอยู่ในรูปของการความก้าวหน้าและพัฒนาเทียบกับตนเองในอดีต วิธีนี้ยังทำให้ง่ายที่จะเกิดความร่วมมือและการทำงานเป็นทีม เพราะนักเรียนไม่รู้สึกว่าเพื่อนเป็นคู่แข่ง
สรุปทั้งหมดที่เล่ามาคือ หากอยากให้เด็กๆ เรียนได้ดี ต้องสนับสนุนให้เด็กๆ เกิดความกล้าหาญ แต่ไม่ใช่เรื่องของการลดความกลัวล้วนๆ แต่ต้องเป็นการสอนให้รู้จักจัดการกับความกังวลใจ จนไม่กลัวความยากลำบาก จนเกิดความมุ่งมั่นในการเรียนอย่างต่อเนื่อง