- เมื่อเข้าสู่วัยมัธยม เด็กๆ ควรเข้าใจว่าทำไมต้องลงทุน โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเล่าให้ฟังเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่จะทำให้มูลค่าเงินในอนาคตลดลงได้หากไม่มีลงทุน รวมถึงพลังของการทบต้นที่ทำให้ยิ่งลงทุนเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้น
- เมื่อก้าวเข้าสู่วัยมหาวิทยาลัยหรือเริ่มทำงาน ก่อนจะตบเท้าเข้าไปเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น พ่อแม่ควรชวนลูกมาทำความรู้จักตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้สามารถเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมให้ได้
- เมื่อลูกเริ่มทำงานในบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ก็ควรให้คำแนะนำเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่หากลูกไม่มีภาระอะไรก็ควรหักสะสมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อประโยชน์ในอนาคต
เมื่อเด็กก้าวย่างสู่วัยรุ่น เขาจะเจอกับโลกใบที่กว้างขึ้น บางคนอาจได้ยินได้ฟังกลุ่มเพื่อนพูดคุยถึงคนที่ร่ำรวยจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หากลูกแสดงท่าทีสนใจเรื่องดังกล่าว พ่อแม่บางคนก็อาจใจร้อนรีบส่งลูกไปเข้าค่ายหรือสมัครคอร์สการลงทุนให้เจ้าตัวเล็ก หวังปั้นให้เป็นวอร์เรน บัฟเฟตต์ เมืองไทยที่เริ่มซื้อขายหุ้นครั้งแรกตั้งแต่อายุ 11 ขวบ
ค่ายและคอร์สเหล่านี้มีเป้าหมายคล้ายคลึงกันนั่นคือการฝึก ‘เลือกหุ้น’ ที่จะทำกำไรในอนาคต แต่คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมมหาเศรษฐีจากการเล่นหุ้นถึงมีอยู่แค่เพียงหยิบมือ? คำตอบก็คือการจะเลือกหุ้นแล้วร่ำรวยนั้นทำได้จริงแต่ทำได้ยากมาก เพราะอย่าลืมว่าในตลาดมีแต่นักการเงินเขี้ยวลากดินที่เปี่ยมประสบการณ์และความรู้ทางทฤษฎี บ้างทำงานฉายเดี่ยว บ้างทำงานเป็นทีม คนเหล่านี้พร้อมจะ ‘ฟัน’ นักลงทุนหน้าใหม่ที่ ‘รู้น้อย’ กว่าตนเอง
ดังนั้น ก่อนที่จะหุนหันพลันแล่นส่งลูกไปตะลุยโลกการเงินแบบหวังฟันกำไรระยะสั้นไม่ต่างจากการเล่นหวย หรือฝันว่าเด็กๆ จะเป็นอัจฉริยะที่มองตลาดหุ้นอย่างทะลุปรุโปร่ง เรามาเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไปแบบปุถุชนคนธรรมดา เข้าใจสาเหตุที่ต้องลงทุนในวัยมัธยม เพื่อให้พร้อมลงทุนจริงเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน
วัยมัธยม เข้าใจว่าทำไมต้องลงทุน
1. ไม่ลงทุนคือขาดทุน ว่าด้วยอัตราเงินเฟ้อ
หลายครั้งที่ผู้ใหญ่ชื่นชอบที่จะรำลึกความหลังสมัยเด็กว่าด้วยราคาสินค้าต่างๆ เช่น แต่ก่อนกินข้าวจานละ 20 บาทแต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว หรือสมัยพ่อแม่จีบกันใหม่ๆ กางเกงยีนส์ยังตัวหลักร้อยไม่มีหรอกนะที่จะต้องเสียเงินซื้อหลักพัน ฯลฯ
แต่ไหนๆ ก็จะพูดถึงราคาสินค้าในสมัยก่อนแล้ว ก็ชวนเด็กๆ คิดต่อว่าทำไมข้าวของถึงราคาแพงขึ้นทุกวัน แล้วพ่วงเรื่องเงินเฟ้อเข้าไปด้วยสิครับ!
เนื่องจากเงินเป็นแค่สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน มูลค่าที่แท้จริงจึงไม่คงที่ เงิน 20 บาทในอดีตจึงมีอำนาจในการซื้อไม่เท่ากับเงิน 20 บาทในปัจจุบัน ส่วนใหญ่แล้วมูลค่าของเงินจะค่อยๆ ลดลงหรือที่เราเรียกว่าภาวะเงินเฟ้อ หมายความว่าถ้าเราเก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ นอกจากเงินก้อนนั้นจะไม่งอกเงยแล้วอาจจะมีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ เพราะผลตอบแทนพ่ายแพ้ต่ออัตราเงินเฟ้อ
เป้าหมายขั้นต่ำที่สุดของการลงทุนก็คือการเอาชนะเงินเฟ้อนี่แหละครับ เพราะคงไม่มีใครอยากปล่อยให้เงินที่หาได้มาอย่างยากลำบากสูญเสียมูลค่าไปต่อหน้าต่อตา ดังนั้น การปล่อยปละละเลยทิ้งเงินไว้โดยไม่บริหารจัดการก็ไม่ต่างจากการที่เราจะยากจนลงทุกวันเนื่องจากเงินเฟ้อนั่นเอง
รู้แบบนี้ อย่าลืมชวนเจ้าตัวเล็กในบ้านย้ายเงินที่ฝากฝังไว้ในกระปุกหมูแล้วเอาไปหาทางเลือกลงทุนเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อนะครับ
2. ลงทุนก่อนรวยกว่า ว่าด้วยพลังของการทบต้น
บางคนอาจรู้สึกแปลกใจถ้าผมแนะนำให้คุณสอนลูกเรื่องวางแผนเกษียณตั้งแต่วัยมัธยม แต่คุณจะเริ่มเข้าใจหากรู้จักพลังของการทบต้นที่ทำให้ยิ่งลงทุนเร็วยิ่งทำให้ผลตอบแทนทบทวี
ลองเล่นเกมส์คณิตศาสตร์ง่ายๆ กับเด็กๆ ในบ้านก็ได้ครับ สมมติให้ลูกฝากเงินไว้ 1,000 บาท ถ้าครบ 1 ปีจะได้ผลตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเวลาผ่านไป 1 ปีก็จะได้ผลตอบแทน 100 บาท เงินก้อนดังกล่าวก็จะงอกเงยเป็น 1,100 บาท แต่ถ้าฝากไปครบ 10 ปี เงินก้อนดังกล่าวจะงอกเงยไปเป็นเท่าไหร่?
ง่ายขนาดนี้ไม่ต้องกดเครื่องคิดเลขให้เมื่อยมือก็ได้คำตอบคือ 2,000 บาท ก็ได้ผลตอบแทนปีละ 100 บาท 10 ปี ผลตอบแทนรวมก็ต้องเท่ากับ 2,000 บาทสิ
คำตอบนี้ผิดครับ เพราะเจ้าตัวเล็กลืมเอาผลตอบแทนเข้ามาคิดคำนวณเป็นเงินก้อนใหม่ที่ใช้ลงทุน เช่น สิ้นปีที่หนึ่ง เงินลงทุนจะเพิ่มจาก 1,000 บาทเป็น 1,100 บาท ผลตอบแทนที่ได้จึงเพิ่มจาก 100 บาทต่อปีเป็น 110 บาทต่อปี คำนวณแบบนี้ต่อกันไปเรื่อยๆ ก็จะได้เงินตอนสิ้นปีที่ 10 เท่ากับ 2,593.74 บาท แบ่งเป็นเงินต้น 1,000 บาท ผลตอบแทน 1,000 บาท และผลตอบแทนที่ทบต้นสูงถึง 593.74 บาท!
สำหรับใครที่ขี้เกียจคำนวณให้ยุ่งยาก หลากหลายเว็บไซต์ก็มีเครื่องมือสำเร็จรูปสำหรับการคำนวณ เช่น ห้องเรียนนักลงทุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถ้ามีเวลาก็ลองชวนลูกเข้าไปกดเล่นดูนะครับ จะได้เห็นภาพว่าลงทุนก่อนรวยกว่าจริงๆ!
3. อย่าถูกหลอกเพราะหวังรวยเร็ว
โลกสมัยนี้มีกลโกงสารพัด ยิ่งบนอินเทอร์เน็ตยิ่งแล้วใหญ่เพราะเหล่านักต้มตุ๋นลงทุนยิงโฆษณาหวังหลอกเหยื่อที่หลงเชื่อไม่กี่รายให้นำเงินมา ‘ร่วมลงทุน’ เพื่อหวังผลตอบแทนแบบทะลุฟ้า เช่น 5 เปอร์เซ็นต์ต่อสัปดาห์พร้อมการันตีเงินต้น เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าต้องช่วยกันหาเพื่อนมาร่วมกันรวยกับโอกาสสุดพิเศษนี้อย่างน้อย 3 คน เพื่อรับโบนัสพิเศษอีกมากมาย
ผลตอบแทนล่อตาล่อใจขนาดนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์เองก็คงตั้งขยี้ตาว่า ‘ทำได้ยังไง!?’ เพราะผู้บริหารกองทุนระดับเซียนก็ยังสร้างผลตอบแทนระยะยาวเฉลี่ยได้ราว 20 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แถมยังไม่การันตีเงินต้นเพราะบางปีก็ต้องเจอกับภาวะขาดทุนซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการลงทุน
การฉ้อฉลดังกล่าวเรียกว่า ‘แชร์ลูกโซ่’ ที่ตัวการหลักไม่ได้นำเงินที่ระดมมาได้ไปลงทุนอะไรหรอกครับ แต่เป็นการนำเงินดังกล่าวไปจ่ายเป็นผลตอบแทนให้ฐานนักลงทุนเก่า พร้อมทั้งใช้เป็นแรงจูงใจให้หาเงินลงทุนมาเพิ่มเพื่อป้องกันไม่ให้เงินขาดมือ เมื่อใดก็ตามที่จำนวนเงินลงทุนหน้าใหม่เริ่มน้อยลงจนส่อเค้าว่าแชร์ลูกโซ่จะล่ม เจ้ามือก็จะเผ่นหนีไปพร้อมกับเงินก้อนใหญ่ ลอยแพเหล่าคนที่หวังรวยทางลัดจากผลตอบแทนที่สูงเกินจริง
ข่าวแชร์ลูกโซ่ขึ้นพาดหัวหน้าหนึ่งไม่เว้นแต่ละปี เมื่อ 30 ปีก่อนก็เจ้ามืออาจจะหลอกว่านำเงินลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ส่วนปัจจุบันก็จะลวงว่าเอาเงินไปลงทุนในบิตคอยน์ แต่ไม่ว่าแชร์ลูกโซ่รูปแบบใด วันหนึ่งก็ย่อมพังทลายลงเสมอ
เมื่อสอนลูกลงทุนแล้วก็อย่าลืมบอกให้ระวังกลโกงมากมายที่จะเชิญชวนให้รวยทางลัด โดยพ่อแม่ต้องเน้นย้ำเสมอว่าทางลัดเหล่านั้นไม่มีอยู่จริง และไม่มีใครที่กลายเป็นเศรษฐีจากการลงทุนตามที่เพื่อนชักชวนหรือโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต
วัยมหาวิทยาลัย – เริ่มทำงาน ลงสู่สนามจริง
1. รู้ตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน
เมื่อพูดถึงการลงทุน ทุกคนจะพุ่งเป้าไปที่ตลาดหลักทรัพย์เป็นอย่างแรก แต่ความจริงแล้วเรามีทางเลือกมากมายในการลงทุนที่นอกเหนือจากหุ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำหรือน้ำมัน กองทุนรวม ไปจนถึงตราสารอนุพันธ์
แต่ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะนำเงินก้อนดังกล่าวไปลงทุนกับอะไรดี เราต้องเริ่มจากทำความเข้าใจว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยขนาดไหน เพราะทางเลือกในการลงทุนแต่ละอย่างมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน เราจึงต้องคำนึงถึงความรู้ความเข้าใจ เป้าหมายการลงทุน ระยะเวลาที่คาดหวัง และสัดส่วนที่ยอมรับให้ขาดทุนได้
สมมติว่าลูกต้องการเก็บเงินเพื่อเรียนปริญญาโท แน่นอนว่าพ่อแม่คงไม่อยากให้อนาคตทางการศึกษาของลูกขึ้นอยู่กับการขึ้นลงของตลาดหลักทรัพย์ หรือผลประกอบการของบริษัทที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ถ้าลูกต้องการเก็บเงินไปเที่ยวตอนสิ้นปี แบบนี้จะเสี่ยงหน่อยก็ไม่มีปัญหาเพราะถ้าโชคเข้าข้างก็อาจได้บินไปต่างประเทศ แต่ถ้าชะตาไม่เป็นใจอย่างน้อยไปพักผ่อนที่หัวหินก็ไม่เสียหาย
การประเมินความเสี่ยงเป็นขั้นตอนสำคัญที่ห้ามมองข้ามอย่างเด็ดขาด เนื่องจากเป้าหมายการลงทุนอาจไม่ใช่การสร้างผลตอบแทนมากที่สุด แต่เป็นการแบกรับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินก้อนดังกล่าวไปใช้ต่างหาก โดยพ่อแม่อาจชวนลูกไปลองเล่นแบบสอบถามบนเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น
2. จัดเต็มในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สำหรับลูกหลานใครที่เริ่มต้นชีวิตมนุษย์เงินเดือนโดยการทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ เรื่องการเงินแรกๆ ที่ต้องตัดสินใจ คือ จะจัดสรรเงินเดือนกี่เปอร์เซ็นต์เข้าไปในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลอาจยื่นใบมาให้เลือกตั้งแต่ 2 เปอร์เซ็นต์จนถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน
ถ้าไม่มีภาระต้องผ่อนบ้านผ่อนรถผ่อนหนี้ กยศ. ใดๆ ผมขอแนะนำให้หักมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ใส่เข้าไปในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นายจ้างเองก็ต้องจ่ายเงินสมทบเข้าไปเช่นกัน ดังนั้น ยิ่งเราใส่เงินเข้าไปมากเท่าไหร่ นายจ้างก็จะจ่ายสมทบให้มากเท่านั้น แถมเงินที่ใส่ลงไปยังถูกนำไปลงทุนโดยมืออาชีพอีกด้วย
นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจนะครับ อย่าลืมว่าพนักงานเอกชนทั้งหลายพอเกษียณอายุไปแล้วรายได้ก็จะลดจนแทบเหลือศูนย์ จะไปรอหวังพึ่งพาลูกหลานก็ใช่ที่ ทางที่ดีควรจัดการชีวิตตัวเองให้เรียบร้อย เตรียมแผนเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งวิธีหนึ่งคือการสะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเรื่อยๆ พอเกษียณอายุก็อาจมีเงินหลักล้านรออยู่ในบัญชีแบบไม่รู้ตัว
ข้อดีอีกหนึ่งอย่างของการหักเงินเดือนเข้าไปในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือเงินที่ถูกหักไปลงทุนนั้นจะเพิ่มขึ้นอัตโนมัติ เนื่องจากยอดที่หักจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน เมื่อเงินเดือนขึ้นเราก็จะออมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ถือเป็นการอำนวยความสะดวกแบบไม่ต้องเปลืองสมองคิด
3. จงลงทุนแบบคนขี้เกียจ
คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยต้องการรวยทางลัด บางคนถึงขั้นนั่งขะมักเขม้นเฝ้าหน้าจอซื้อหลายหลักทรัพย์แม้กระทั่งในเวลางาน เวลาว่างก็อ่านข่าวเศรษฐกิจ ฟังพอดแคสท์ ดูยูทูบการลงทุน เพื่อหวังจะสร้างผลตอบแทนได้เหนือกว่าคนอื่น แต่ลองนึกดูดีๆ นะครับ ว่าการที่เราทุ่มเทเวลามากมายไปกับการลงทุน แล้วผลตอบแทนที่ได้มันคุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไปหรือเปล่า
แน่นอนครับว่าการศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุนไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าต้องลงทุนลงแรงแล้วเอาชนะตลาดได้ 1 หรือ 2 เปอร์เซ็นต์ สู้เอาเงินไปลงในกองทุนรวมหรือกองทุนดัชนี จ่ายค่าธรรมเนียมเล็กน้อยให้มืออาชีพบริหารจัดการ แล้วเอาเวลาไปตั้งใจทำงานหลัก หารายได้เสริมจากงานรอง หรือพักผ่อนอยู่กับครอบครัวไม่ดีกว่าหรือ?
อาจจะแปลกสักหน่อยหากผมจะแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่บอกลูกว่าจงขี้เกียจเรื่องการลงทุน เปิดดูพอร์ตฟอร์ลิโอสักเดือนละครั้งสองครั้ง แล้วเอาเวลาที่เหลือไปตั้งใจทำงานเพื่อแสวงความก้าวหน้าในอาชีพ ดีกว่าจะมาทุ่มเทกับการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อหวังส่วนต่างไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เว้นเสียแต่ว่าเด็กๆ จะมีความสุขที่ได้ทำสิ่งเหล่านี้จริงๆ โดยไม่มาโอดครวญว่าอ่านเรื่องหุ้นจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน แต่ทำไมถึงไม่รวยกับเขาสักที
ว่าด้วยกฎของ 72
ในโลกการเงินมีกฎจำง่ายมากมายนับไม่ถ้วน แต่กฎที่ลูกๆ รู้ยิ่งเร็วยิ่งดี คือ กฎของ 72 (Rule of 72)
กฎดังกล่าวนั้นแสนเรียบง่าย เป็นการคำนวณคร่าวๆ ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่เงินต้นที่ลงทุนไว้จะงอกเงยเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า โดยคิดจากตัวเลข 72 หารด้วยผลตอบแทนต่อปี
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราลงทุนได้ผลตอบแทน 7 เปอร์เซ็นต์ ตามกฎของ 72 จะได้ว่าต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี (คำนวณจาก 72 หารด้วย 7) เงินจึงจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า แต่ถ้าเราลงทุนได้ผลตอบแทน 20 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จะใช้เวลาเพียงราว 3 ปีครึ่ง ส่วนใครที่ลงทุนสบายๆ ความเสี่ยงต่ำที่สร้างผลตอบแทน 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปีก็ต้องรอถึง 24 ปี
กฎดังกล่าวสื่อสารปัจจัยหลัก 3 ประการที่ส่งผลต่อการลงทุน นั่นคือ (1) ผลตอบแทน ยิ่งมากก็ยิ่งดี (2) ระยะเวลาที่ใช้ลงทุน ยิ่งนานก็ยิ่งดี และ (3) เงินที่นำมาลงทุน ยิ่งเยอะก็ยิ่งดี การตัดสินใจลงทุนทุกครั้งจึงไม่ควรมองข้ามสามประเด็นนี้ เพื่อให้ผลลัพธ์ของการลงทุนเป็นไปตามที่คาดหวัง
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ความเสี่ยง วาทะติดปากของเหล่านักการเงิน คือยิ่งผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็สูงเป็นเงาตามตัว ดังนั้น ทางเลือกการลงทุนที่เรามีโอกาสกำไรมหาศาลก็จะสามารถทำให้เราขาดทุนมหาศาลได้เช่นกัน
สำหรับผู้เขียน การลงทุนที่ดี ไม่ใช่ทางเลือกที่ทำให้เรารวยล้นฟ้าและสามารถเกษียณอายุได้ตอนอายุ 35 ปี แต่เป็นการบริหารจัดการเงินที่เก็บหอมรอมริบมาได้อย่างยากลำบากเพื่อให้งอกเงยในอัตราที่สมน้ำสมเนื้อกับความเสี่ยงที่เรารับได้ สิ่งที่ผมอยากให้พ่อแม่ปูพื้นฐานให้กับลูกจึงไม่ใช่ทางลัดรวยเร็ว แต่เป็นการตอบคำถามว่าเราลงทุนไปเพื่ออะไรและจะจัดการเงินอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้นโดยที่ลงแรงน้อยที่สุด