- ความยืดหยุ่นทางจิตใจเป็นเรื่องของการเรียนรู้จากความผิดหวัง ข้อผิดพลาด หรือความพ่ายแพ้
- ผู้ปกครองเป็นหน่วยสนับสนุนให้เด็กๆ เผชิญหน้ากับความท้าทาย แทนการลงสนามไปเข้าไปแก้ปัญหาให้พวกเขา
- หากสามารถพัฒนาให้เด็กมีความยืดหยุ่นทางจิตใจ จะช่วยให้พวกเขายอมรับความจริงได้ พึงพอใจกับชีวิต แต่ไม่ทิ้งความฝัน และนำมาสู่การเคารพตัวเอง
พ่อแม่เป็นห่วงเป็นใยลูกเสมอ
แต่ความห่วงใยอาจกลายเป็นความทุกข์ใจ หากพ่อแม่เอาแต่ประคบประหงม ประคับประคอง และเข้าไปโอบอุ้มลูกทุกครั้งเมื่อต้องเผชิญปัญหา
แน่นอนว่า พ่อแม่ควรแสดงออกให้ลูกๆ อุ่นใจว่าพร้อมอยู่เคียงข้างพวกเขาเสมอ
แต่จะดีกว่าไหม…ถ้าพ่อแม่เองก็มั่นใจได้ว่า ไม่ว่าจะเกิดปัญหา อุปสรรค ความเปลี่ยนแปลงหรือข้อผิดพลาดอะไรขึ้นก็ตาม ลูกของเราจะรับมือ เรียนรู้ ปรับตัวและผ่านมันไปได้อย่างรวดเร็ว แล้วกลับมาตั้งต้นใหม่ได้ทุกครั้ง
เรากำลังพูดถึง “ความยืดหยุ่นทางจิตใจ” หรือ “Resilience”
ทำไมความยืดหยุ่นทางจิตใจจึงสำคัญ?
ความยืดหยุ่นทางจิตใจช่วยให้เด็กรับมือกับความท้าทายในชีวิตได้ เช่น เมื่อต้องเปลี่ยนห้องเรียนไปเจอเพื่อนใหม่ เมื่อถูกบูลลี่จากเพื่อนหรือจากคนรอบข้าง เป็นคุณสมบัติที่ได้มาจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ชีวิต เป็นกระบวนการตอบสนองระหว่างบุคคลกับสภาพแวดล้อม ที่แสดงออกแตกต่างกันไปตามลักษณะนิสัยส่วนตัวและภูมิหลังของแต่ละบุคคล จากการศึกษา พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนๆ หนึ่งกับครอบครัวและผู้คนรอบตัว รวมถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก มีส่วนสำคัญต่อการสร้างประสบการณ์เชิงบวกและลบ ซึ่งส่งผลต่อความยืดหยุ่นทางจิตใจ
ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ เด็กบางคนรับมือกับเรื่องราวแย่ๆ ในชีวิตได้ดี ขณะที่เด็กบางคนไม่สามารถยอมรับความผิดหวังในชีวิตได้เลย จนนำมาสู่ปัญหาทางสุขภาพจิตและการแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
เด็กที่มีความยืดหยุ่นทางจิตใจจะรับมือกับเหตุการณ์แย่ๆ แล้วเติบโตขึ้นได้อย่างมีคุณภาพ นั่นหมายถึง การเป็นพลเมืองที่มีสุขภาพกายและจิตใจดี และใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ
เปรียบเทียบ Resilience กับกระดานหกและจุดศูนย์ถ่วงที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ความยืดหยุ่นทางจิตใจไม่ใช่แค่เรื่องของการล้มแล้วลุก กลับสู่ภาวะปกติให้เร็วเพียงเท่านั้น และไม่ใช่แค่เรื่องความเข้มแข็งทางจิตใจ แต่เป็นการเรียนรู้จากความผิดพลาด จากสิ่งที่ทำไม่ได้แล้วหาวิธีใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพื่อก้าวเดินต่อ
ข่าวดี คือ ความยืดหยุ่นทางจิตใจ เป็นลักษณะนิสัยที่เรียนรู้ได้!
หนึ่งในปัจจัยที่ส่งเสริมให้เด็กพัฒนา resilience ได้ คือ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือใครก็ตามที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าบุคคลนั้นเป็นคนสำคัญในชีวิต
ลองจินตนาการถึงกระดานหกที่มีจุดศูนย์ถ่วงอยู่ตรงกลาง ภาพนี้จะทำให้เราเข้าใจการพัฒนาความยืดหยุ่นทางจิตใจได้ดีขึ้น ข้างหนึ่งของกระดานหก คือ ผลลัพธ์หรือการแสดงออกเชิงลบ อีกด้านหนึ่ง คือ ผลลัพธ์หรือการแสดงออกเชิงบวก
ความสัมพันธ์ที่ดีสร้างการตอบสนองส่วนบุคคลที่ทำให้เด็กรู้สึกถึงความมั่นคง ปลอดภัย และส่งเสริมศักยภาพของเด็ก เป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีในชีวิต เมื่อนำมาประกอบกับการได้เรียนรู้ทักษะชีวิตด้านอื่นๆ ตั้งแต่วัยเด็ก องค์ประกอบทั้งหมดจะเป็นตัวเคลื่อนจุดศูนย์ถ่วงให้ย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้เด็กมีแนวโน้มแสดงออกเชิงบวกมากกว่าลบ พฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ ยกตัวอย่างเช่น เด็กตั้งเป้าหมายใหม่ด้วยตัวเองได้ หรือการขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เมื่อเจอปัญหา
6 วิธี ช่วยเด็กๆ สร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจ
1. รับรู้ความรู้สึกของพวกเขา
การจัดการกับเรื่องยากๆ และความผิดหวังในชีวิตไม่ใช่เรื่องสนุก การปลอบประโลมเด็กๆ ด้วยการบอกพวกเขาว่า “มันไม่ใช่เรื่องแย่หรอก” หรือ “อย่าเสียใจไปเลย” ก็ไม่ได้ช่วยให้พวกเขารับมือกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้ หรือทำให้เข้มแข็งขึ้น ในทางกลับกันผู้ใหญ่ช่วยให้เด็กรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของตัวเองได้ ด้วยการพูดหรือเล่าถึงสิ่งที่พวกเขากำลังรู้สึก แม้ความรู้สึกนั้นจะเป็นเรื่องแย่แค่ไหน สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำ คือ การเป็นผู้ฟังที่ดี การทำให้เด็ก “รู้จักตัวเอง” (Self-awareness) เป็นส่วนสำคัญของการสร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจ
2. พูดคุยเกี่ยวกับจุดแข็งหรือจุดเด่นของพวกเขาอย่างตรงไปตรงมา
การหยุดความคิดไม่ให้นึกถึงเรื่องที่ทำผิดพลาดหรือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน ผู้ปกครองสามารถชี้ให้เด็กๆ เห็นจุดแข็งหรือข้อดีของตัวเองจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทำให้เด็กมองเห็นศักยภาพของตัวเอง ซึ่งช่วยให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) บทสนทนาลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเฉพาะช่วงที่เด็กๆ มีปัญหาเท่านั้น แต่เป็นบทสนทนาที่ควรเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในชีวิตประจำวัน
3. พร้อมให้การสนับสนุน แต่ไม่ลงไปแก้ปัญหาให้
เด็กที่มีความยืดหยุ่นทางจิตใจไม่มองว่าการทำพลาดแล้วกลับมาลองทำใหม่เป็นเรื่องน่าอาย พวกเขาจะกลับไปคิด แล้วกลับมาทำพร้อมกับวิธีการใหม่ ผู้ใหญ่ช่วยส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมแบบนี้ได้ด้วยการเสนอความช่วยเหลือ แต่ไม่กระโดดเข้าไปลงมือแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เช่น การถามด้วยความสงสัยในสิ่งที่เด็กทำ เช่น “แม่สงสัยจังว่าลูกทำอะไรอยู่? เป็นยังไงบ้าง มีอะไรเล่าให้ฟังไหม?”
การดึงเด็กๆ ออกจากการเผชิญหน้ากับปัญหา หรือกระโดดเข้าไปช่วยแก้ปัญหาแทน ไม่ช่วยสร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจ กลับจะทำให้พวกเขา ท้อเก่ง บ่นเก่ง ล้มเลิกเก่ง แต่การปล่อยให้พวกเขาลงมือทำด้วยตัวเอง สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง จะส่งเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจที่สร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจให้กับพวกเขา
4. เล่าสู่กันฟังถึงบทเรียน สิ่งที่ได้เรียนรู้ จากการลงมือทำสิ่งต่างๆ
ในสถานการณ์แบบเดียวกันที่เกิดขึ้น เด็กแต่ละคนเรียนรู้ได้แตกต่างกัน ผู้ใหญ่ไม่ควรคาดหวังคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียวจากเด็ก การเปิดโอกาสให้เด็กได้พูดถึงความยากลำบากที่พวกเขาต้องเผชิญ วิธีการที่พวกเขาใช้แก้ปัญหา ช่วยกระตุ้นให้พวกเขาเห็นความเป็นไปได้และความสามารถในตัวเอง เป็นเหมือนการถอดบทเรียนจากสิ่งที่ทำ เพื่อหาแนวทางทำสิ่งนั้น หรือไปประยุกต์กับการทำสิ่งอื่นๆ ให้ดีขึ้น
5. แสดงออกและทำให้พวกเขารู้สึกว่า การขอความช่วยเหลือจากพวกใหญ่เป็นเรื่องที่ดีและทำได้ทุกเมื่อ
ผู้ใหญ่ควรสื่อสารให้เด็กรู้ว่าความล้มเหลวหรือการทำผิดพลาด ไม่ใช่เรื่องน่าอายและไม่เกี่ยวข้องกับความอ่อนแอ หรือความไม่เอาไหน การเดินเข้ามาขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เป็นสัญญาณของความเข้มแข็งอย่างหนึ่ง แล้วเมื่อได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากเด็ก ผู้ใหญ่ควรถามถึงสิ่งที่เด็กๆ ต้องการ
เช่น “ลูกต้องการให้ช่วยอะไร เพื่อให้ผ่านเรื่องนี้ไปได้”
“หนูต้องการให้ใครช่วยหนูในเรื่องนี้” เป็นต้น
6. สร้างความมั่นใจ และทำให้พวกเขาเชื่อมั่นว่า ปัญหาทุกอย่างแก้ไขและปรับปรุงได้ เพื่อไม่ให้เด็กๆ ยึดติดกับผลลัพธ์จากการทำแบบเดิมๆ เด็กที่มีความยืดหยุ่นทางจิตใจมีความเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำในที่สุด แม้ว่าต้องเจอกับปัญหา อุปสรรค หรือความเครียดต่างๆ ความเชื่อนี้ทำให้พวกเขากล้าเสี่ยงและกล้าลงมือทำ ซึ่งนำมาสู่การพัฒนาศักยภาพของตัวเอง
ความสัมพันธ์ของ Resilience กับ Growth Mindset
ความยืดหยุ่นทางจิตใจสัมพันธ์กับกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) โดยตรง
Growth Mindset คือ กรอบความคิดที่เชื่อว่าทุกคนพัฒนาความสามารถของสมอง เพื่อเรียนรู้และแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ตรงข้ามกับ Fixed Mindset หรือ กรอบความคิดตายตัว ที่ตีกรอบตัวเองหรือถูกตีกรอบ คิดว่าตนเองทำได้แค่นี้ หรือคิดว่าความสามารถของตัวเองถูกกำหนดไว้แล้ว คงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้อีกแล้ว แม้จะพยายามแค่ไหนก็ตาม
การพร้อมรับมือกับปัญหา กล้าเสี่ยง และไม่กลัวความเปลี่ยนแปลง เป็นสัญญาณของ Growth Mindset นั่นหมายความว่า หากสามารถพัฒนาให้เด็กมีความยืดหยุ่นทางจิตใจ พวกเขาจะพัฒนา Growth Mindset ไปด้วยในตัว หรือหากเด็กได้รับการพัฒนาเรื่อง Growth Mindset พวกเขาจะมีความยืดหยุ่นทางจิตใจที่ดีด้วยเช่นกัน
คำถามต่อไปนี้ เป็นชุดคำถามที่นำไปใช้เพื่อพัฒนาความยืดหยุ่นทางจิตใจและ Growth Mindset ได้
- วันนี้เกิดอะไรขึ้นที่โรงเรียนแล้วทำให้หนูรู้สึกไม่ดีหรือเปล่า หนูดูเครียดๆ ไปนะ?
- ลูกคิดว่าครั้งต่อไปจะใช้วิธีที่แตกต่างออกไปยังไง เพื่อแก้สถานการณ์ให้ดีขึ้น?
- วันนี้ลูกอยากทำอะไร ท้าทายตัวเองยังไงบ้าง?
- หนูอยากเรียนรู้อะไรอีกบ้าง?
- หนูได้เรียนรู้/ ได้ประสบการณ์อะไรบ้างจากการทำเรื่องนี้?
- ลูกได้ลองใช้วิธีการอะไรไปแล้วบ้าง ลงมือทำเรื่องนี้?
- ลูกได้ขอความช่วยเหลือจากใครบ้าง?
- ลูกคิดว่าจะเปลี่ยนวิธีการไปทำแบบไหนอีก?
- หนูภูมิใจกับผลลัพธ์ที่ออกมาไหม เพราะอะไร?
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก International Resilience Project โปรเจคใหญ่ที่ศึกษาเกี่ยวกับความยืดหยุ่นทางจิตใจของเด็ก จากผู้เข้าร่วม 11 ประเทศทั่วโลก ได้สรุปถึงการพัฒนาความยืดหยุ่นทางจิตใจว่ามาจาก 3 แหล่ง สอดคล้องกับ 6 วิธี สร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ได้แก่
1. บุคคลรอบตัวเด็ก ผู้คอยสนับสนุน สร้างแรงบันดาลใจและเป็นกำลังใจ
2. ตัวเด็กเอง เป็นส่วนผสมของทัศนคติ ความเชื่อ และทักษะชีวิตที่ถูกหล่อหลอมจากประสบการณ์ เช่น ทักษะการแก้ปัญหา ความภาคภูมิใจในตัวเอง การเห็นคุณค่าในตัวเอง การรู้จักตัวเอง ความสามารถในการจัดการตนเอง การควบคุมอารมณ์ และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นต้น
3. ความสัมพันธ์ ระหว่างเด็กกับครอบครัวและสังคมรอบตัว ที่ทำให้เด็กรู้สึกมีที่พึ่งและพึ่งพิงได้
ยกตัวอย่างเช่น นักวิจัยได้ตรวจสอบผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นผู้รอดชีวิต จากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ ประเทศศรีลังกา ปี 2004 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 31,000 คน ผลการศึกษาพบว่าความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างแม่กับลูกมีอิทธิพลและเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญ ทำให้วัยรุ่นกลุ่มที่ศึกษาเติบโตขึ้น มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีหลังผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายครั้งนั้นมาได้
ปลายทางแล้ว ความยืดหยุ่นทางจิตใจ ช่วยปกป้องเด็กๆ จากความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า ช่วยให้พวกเขายอมรับความจริงได้ พึงพอใจกับชีวิต แต่ไม่ทิ้งความฝัน และนำมาสู่การเคารพตัวเอง ทั้งนี้และทั้งนั้น นอกจากเด็กๆ แล้ว ดูเหมือนว่าทักษะนี้เป็นทักษะที่ผู้ใหญ่เองควรต้องฝึกฝนด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
https://developingchild.harvard.edu/resources/inbrief-the-science-of-resilience-2/
https://www.apa.org/topics/resilience/guide-parents-teachers