‘ป้าหนู’ เป็นชื่อที่ พรรณิภา โสตถิพันธุ์ แทนตัวเอง และคำเดียวกันนั้นก็เป็นข้อความที่ใครๆ ใช้เรียกตัวเธอจนติดปาก ป้าหนูเป็นที่รู้จักมานานในฐานะผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานขับเคลื่อนหลายมิติ ทั้งเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเด็กและเยาวชน ผ่านการใช้เครื่องมือแทบทุกประเภท ทั้งการสื่อสาร และเครือข่ายผู้คนที่จับมือสร้างฝันด้วยกัน มันเป็นฝันที่ให้ค่ากับบ้านเกิดเมืองนอนเป็นสำคัญ
การทำงานกับเด็กและเยาวชนมานาน พาเราให้มาคุยกับป้าหนูผ่านโจทย์ที่เรียบง่ายว่า เด็กๆ ที่มาทำงานกับสงขลาฟอรั่ม พวกเขาทำโครงการอะไรบ้าง และที่สำคัญกว่านั้นคือ ในฐานะผู้เฝ้ามองแล้ว ป้าหนูเห็นการเติบโตของเด็กๆ เป็นอย่างไร
มีคำถามไม่มาก แต่คำตอบเหล่านั้นยาวนัก แนะนำให้จิบอะไรอุ่นๆ แล้วเริ่มทำความรู้จักไปพร้อมกัน
1. เริ่มต้น
ทำอะไรมาบ้างก่อนที่จะมาเกาะเกี่ยวเรื่องงานเยาวชน
เป็นคนที่ทำงานด้านการศึกษานอกระบบโรงเรียน แล้วได้รับอิทธิพลจากปรัชญาคิดของ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นคนที่บุกเบิกการศึกษานอกระบบโรงเรียนในยุคที่เจิดจรัส ตอนนั้นเราเป็นเด็กรัฐศาสตร์เพิ่งจบใหม่ๆ ปีนั้นเป็นปีแรกที่การศึกษานอกโรงเรียนเปิดโลกทัศน์ว่า งานการศึกษาไม่ได้เป็นเรื่องของการศึกษาอย่างเดียว ต้องมีสาขาอื่นๆ เข้ามาด้วย ก็ลองเข้ามาทำดู
ปรัชญาการศึกษานอกโรงเรียนสร้างระบบคิดให้เราว่า การศึกษานอกระบบ มันไม่ใช่แค่ทำอยู่ในระบบ แต่ต้องอยู่ในวิถีชีวิตจริงๆ ด้วย
ปี 2523 ตอนนั้นเราเพิ่งเปิดเรื่องการเรียนการสอนทางไกลเป็นครั้งแรกในประเทศไทย แล้วก็มีการเรียนการสอนผ่านวิทยุและไปรษณีย์ โดยมีสถานีภูมิภาคอยู่ 4 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง แล้วก็จะมีสถานีวิทยุเครือข่ายเพื่อการศึกษา มีการผลิตรายการวิทยุเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนทางไกลให้กับนักศึกษาของเรา ซึ่งตอนนั้นประเทศไทยกำลังรณรงค์เรื่องของการไม่รู้หนังสือ ลูกศิษย์ของเราเลยเป็นกลุ่มคนที่ไม่รู้หนังสือ ตั้งแต่จบ ป.4 มาพ่อแม่ไม่ให้เรียนหนังสือ ออกไปทำนา ทำสวน ทำสวนยาง พอโตขึ้นมาก็กลับมาเรียนใหม่ ก็เข้ามาสู่โครงการของเรา
เราใช้เครื่องวิทยุของหลวง นักเรียนลงทะเบียนเรียน การผลิตรายการ ทุกอย่างฟรีหมด เราคิดถึงคนที่อยู่นอกระบบที่ไม่ได้ลงทะเบียนเรียนกับเรา แล้วคลื่นวิทยุก็มีอยู่เยอะมาก แต่เอามาใช้เรื่องของการโฆษณาเยอะ แต่ไม่ได้พูดเรื่องของบ้านเมือง ตอนนั้นตัวเองคุกรุ่นในเรื่องเหล่านี้มาก เลยตัดสินใจซื้อคลื่นวิทยุเพื่อจะมีสถานีเป็นของตัวเอง แล้วเอาประเด็นที่ไม่ใช่เรื่องวิชาการที่สอนในโรงเรียน เป็นวิชาที่อยู่ในชีวิตประจำวันมาพูด อย่างเรื่องทะเลสาบ แล้วร้อยไปสู่เรื่องอื่นๆ เรื่องของมิติวัฒนธรรม ประเพณี วัฒนธรรมตาลโตนด สารพัดเรื่อง ทำให้เรามีเครือข่ายของคนที่ไม่ใช่แค่ลูกศิษย์ที่เรียนทางไกลกับเรา อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่จุดประกายให้ตัวเองว่า เรื่องของการศึกษานอกโรงเรียนไม่ใช่เรื่องของวิชาการอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของวิถีชีวิตของคนทั่วไปด้วย
ก็ทำสองอย่างนี้คู่ขนานกันไป แล้วในขณะเดียวกันก็เริ่มที่จะคิดถึงกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ที่ด้อยโอกาส ได้มีโอกาสเจอกับ UNICEF ได้คุยเรื่องเด็กที่ก้าวพลาด แล้วก็ได้ออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่ก้าวพลาดอยู่ 10 ปี
หลังจากนั้นได้ไปฝึกอบรมเรื่องสื่อที่ประเทศเยอรมนี ได้รับทุนของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ช่วงนั้นเราทำเรื่องรายการวิทยุ ‘โลกสดใสในบ้านเกิด’ เป็นแนวคิดเรื่องพลเมือง ความเป็นประชาสังคม น่าจะเป็นประมาณแผน 7-8 (แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ) ที่พูดเรื่องประชาสังคม คุณหมอประเวศ วะสี เริ่มเดินสายเกี่ยวร้อยเรื่องประชาสังคม ‘สงขลาฟอรั่ม’ ก็เกิดขึ้น พร้อมๆ กันนั้นก็มี ‘บางกอกฟอรั่ม’ พวกเมืองใหญ่ๆ จากระดับภาคเมื่อกี๊ที่เราทำเรื่องวิทยุทางไกล เราก็เริ่มมองระดับที่เล็กลงคือจังหวัดของเรา มองเห็นความเป็นสงขลามากขึ้น
สงขลาฟอรั่มคืออะไร
‘สงขลาฟอรั่ม’ เราให้ความสนใจหลายประเด็นหลายเรื่องที่คนไม่ค่อยได้พูดกัน เรามีห้องประชุมใหญ่ในศูนย์การค้าแล้วถ่ายทอดสดในบางประเด็น เช่น ทำน้ำเสียให้เป็นน้ำใสที่จะลงไปในทะเลสาบ เรื่องวัฒนธรรมตาลโตนด สารพัดประเด็นที่เป็นประเด็นร้อนๆ ในตอนนั้น ตอนนั้นเราเริ่มมีเพื่อนที่เป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัย มีน้องๆ NGOs ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ชนบทที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากขึ้น มีประเด็นที่สะท้อนกลับมากขึ้น มีนักวิชาการเข้าคิวกันต่อสัปดาห์ มี Radio Forum เราตั้งชื่อว่า ‘สงขลา สนทนา’ รายการวิทยุสงขลา แล้วอีกสถานีที่หาดใหญ่ก็เป็น ‘หาดใหญ่สนทนา’ จะมีพวกสปอนเซอร์คือพวกศูนย์การค้าที่เขาจะให้ห้องประชุม มีคนมาฟังประมาณ 50-100 คน แล้วก็ที่ฟังออกอากาศ ซึ่งก็จะมี feedback กลับมา มีคนเขียนเล่าเรื่องบ้านเกิดของตัวเอง เราก็เลยคิดที่จะจัดเวทีเรียนรู้ร่วมกัน ก็เริ่มที่จะเกิดแล้วเวที เมื่อก่อนเราใช้สื่อ ไม่เห็นหน้าเห็นตา อันนี้ก็จะเริ่มจากปีละครั้ง เดือนละครั้ง
เมื่อก่อนเราจะคิดถึงเรื่องอาชีพ เช่น ขึ้นตาลโตนด ทำนา ทนายความเพื่อผู้ยากไร้ แล้วแต่ประเด็นในตอนนั้น ตอนหลังกลายเป็นว่า ประเด็นเหล่านี้เราไม่มีคนมาถ่ายทอด เห็นได้ชัดเรื่องตาลโตนด เมื่อก่อนในคาบสมุทรสทิงพระ หมายถึงว่าได้ไปเรียนหนังสือก็เพราะพ่อขึ้นตาล เลี้ยงดูจนโต แต่ปี พ.ศ. นั้น คนขึ้นตาลแทบจะไม่มีแล้ว แก่ลงแล้ว แล้วยิ่งปัจจุบันยิ่งหายาก
แล้วตอนนั้นป้าหนูทำวิจัยเรื่องวัฒนธรรมตาลโตนด กับศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ทำให้เรารู้สึกลุ่มลึกในวัฒนธรรมคนใต้ แล้วเราก็คิดถึงคนรุ่นหลังที่ควรจะสืบทอดอะไรดีๆ ซึ่งเป็นสิ่งเชย ที่จริงมันเป็นเรื่องก้าวหน้า มีพืชพันธุ์ธัญพืชหลายอย่างที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนสงขลาและคนใต้ ก็เลยทำให้คิดโครงการเยอะมากเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน
ครั้งแรก เรากับน้อง NGOs เคยตั้งโรงเรียน ชื่อ ‘โรงเรียนพลเมืองเด็ก’ ชื่อแค่โครงการเด็กและเยาวชนไม่พอแล้ว ไม่มีพลัง ต้องมีคำว่าพลเมือง ตอนหลังเราก็มาเป็น ‘พลเมืองเยาวชน The Young Citizen’ จนถึงปัจจุบัน
จะเห็นว่าสิ่งที่ทำไม่ได้เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดไปจากชีวิตที่เรามี สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนสิ่งที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ ลูกหลานเราต้องเรียนรู้ ตัวเราเองก็ต้องเรียนรู้ แล้วตัวประเทศชาติเอง ถ้าคนในประเทศชาติเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้ มันก็น่าจะเป็นสิ่งที่เข้มแข็ง มีตัวตน มีพลัง มีความคิด มีองค์ความรู้ แล้วจะเติบโตไปเรื่อยๆ
เช่นตอนที่เราทำกับเด็กทั่วไป เป็น forum ทั่วไป เราก็ได้องค์ความรู้ที่ได้มาเป็นองค์รวม พอเราทำกับเด็กที่ก้าวพลาดก็ทำให้เรารู้ว่า เด็กในสังคมถูกบ่มเพาะด้วยสิ่งที่เราประณามเขาว่า เขาไม่ดี เขามีปัญหา แต่สิ่งเหล่านั้นไม่เคยถูกคลี่คลายว่าเป็นอย่างไร จนมาได้เจอกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้เปิดใจคุยกันเรื่องนี้เยอะมาก กว่าที่จะออกแบบโครงการพลังเยาวชนที่เคารพในสิ่งที่เด็กเลือกทำ โดยที่ไม่ไปตีกรอบว่า เราเป็นผู้ใหญ่ เราผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อน โรงเรียนนี้ควรจะทำเรื่องนี้ อยู่จังหวัดนี้ควรจะทำเรื่องนี้ เราขอให้เด็กสมัครมา เรามีกติกาอยู่ 2-3 ข้อเท่านั้น
ถ้าเด็กๆ จะเข้ามาเสนอโครงการ The Young Citizen ต้องทำอย่างไรบ้าง
เราให้เด็กรวมตัวกันมา เพราะไม่ต้องการให้เขาเป็น one man show อยากให้เขาเป็นทีม เห็นตรงกันแล้วอยากทำแบบนี้ ลองพูดมาดิบๆ เขียนมาดิบๆ ก่อน ไม่ต้องมีแบบฟอร์ม บอกมาก่อนว่าอยากเปลี่ยนแปลงอะไร อยากทำให้มันดีขึ้น ไม่ต้องเป็นปัญหาก็ได้ เพียงแต่ว่าอยากทำให้มันดีขึ้นจากที่เขาเห็นอย่างไร
ที่จริงเราเริ่มต้นแบบไม่ต้องมีตัวโครงการที่เด็กเอามาเสนอก็ได้ เรียนรู้ไปกับโรงเรียนเราก็ทำ อย่างตอนนี้มีโรงเรียนของเทศบาลแห่งหนึ่งไม่อยากทำเป็นกลุ่มแล้ว อยากเอาโรงเรียนของเขาไปเป็น The Young Citizen เลย เขาเป็นโรงเรียนระดับเทศบาลตำบล เราก็เริ่มออกแบบกับเขาโดยที่ไม่มีงบ
แต่กรณีที่เป็นเด็ก หากมีความคิดดีๆ หรือความคิดไม่ดีก็ได้ เพียงแค่เห็นว่าเรื่องนี้มีความรู้สึกอยากจะศึกษา และอยากทำด้วย ก็เอาโครงการมานั่งคุยกัน เพราะจะว่าได้มองเขามองเราตั้งแต่เริ่มต้นเลย
ต้องคุยกันก่อนว่าที่อยากทำจริงๆ คืออะไร หัวใจมันอยู่ตรงไหน คุยมาเลย ไม่ต้องมากลัวว่าจะเชย หรืออาย เด็กอยากทำอย่างไร และในที่สุดมันเกิดเปลี่ยนแปลงอะไร เอาสองคำในการคิดโครงการ คือ หนึ่ง ทำอะไร สอง มันเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่อยากให้มันดีขึ้นอย่างไร
เราก็จะมีกระบวนการของโค้ชที่ช่วยเขา คลี่ของเขาออก ตอนที่เขาพูด เราจะตกลงกับโค้ชทุกคนเลยว่าต้องเคารพสิ่งที่เด็กคิด เพราะเราค้นพบแล้วว่า ที่เรามองว่าเชยๆ พอมันเติบโตขึ้นในที่สุดทำได้ดีหมดเลย ฉะนั้นเราต้องเคารพในสิ่งที่เด็กคนเบื้องต้นก่อน แต่ตั้งคำถามเพื่อให้เขาสะท้อนออกมา แล้วก็ (ถาม) ใช่ ไม่ใช่ ใช่ ไม่ใช่ ไปเรื่อย
ตั้งคำถามในเชิงคุณค่าก่อน เช่น คุณค่ากับโรงเรียน หรือชุมชน เพราะว่าเด็กของเรามีหลายแบบ เป็นเด็กในโรงเรียนเดียวกัน เป็นเด็กต่างโรงเรียนแต่อยู่ในชุมชนเดียวกัน หรือเป็นเด็กชุมชนเดียวกัน บางคนเป็นลูกชาวนาอยู่ในชุมชนท่าข้ามเหมือนกัน แต่อยู่หาดใหญ่คนนึง อยู่น้ำน้อยคนนึง อยู่หลากหลายมาก แต่สนใจประเด็นเดียวกัน ฉะนั้นให้เขาตอบหลายมุมมองเท่าที่เขาจะตอบได้ เราก็จะช่วยออกแบบ ถ้าถนัด mind map ก็ mind map อยากให้เป็นแผนที่ก็ทำแผนที่ หรือจะให้เป็นรูปก็ให้เขามาวาดเอง ที่สุดก็เหมือนเป็น ‘แผน’ คร่าวๆ ในโครงงานของเขา ในความเข้าใจของเขา
ไปเข้าฐานที่สองอีก เพื่อที่จะคิดแผนให้เป็นตัวโครงการ ที่เราคิดอย่างนี้เรามาจากฐานคิดอะไร หลักการแล้วเหตุผลคืออะไร เขาก็อาจจะบอกได้มากขึ้นกว่า 1 ข้อ เริ่มคิด 1 2 3 ให้เขาเล่าจนกลายเป็น ‘หลักการและเหตุผล’ แล้วอะไรที่มาเสริมได้บ้าง เอามาหนุน ถามเขา จริงไหมอย่างนี้ เราไปค้นตรงไหน กว่าหลักการและเหตุผลจะเสร็จ ก็ต้องเอาให้ชัดเพื่อให้มันกลายเป็นที่พิงหลัง
พอที่พิงหลัง แล้วอยากจะทำอะไรบ้าง แตกออกมาสิ ก็คือ ‘วัตถุประสงค์’ แต่เราจะไม่พูดแบบที่เป็นทางการนะ เด็ก 5 คนอยากจะแบ่งหน้าที่ทำอะไรบ้าง ในงานนี้มีงานอะไรบ้าง ก็ลองดู อันไหนไม่ชำนาญเราก็จะเอาใครมาช่วย หรือเราจะไปเพิ่มพูนความรู้อย่างไร จะทำอันไหนก่อนอันไหนหลัง ธงเราเราก็จะมีเครื่องมือง่ายๆ ธงน้องเป็นอย่างนี้นะ ขีดเป็นเส้นอย่างนี้นะ มีธงขึ้นมานะ ระยะเวลาทั้งหมด 12 เดือน ลองแบ่งดู กว่าที่เราจะเดินไปที่ธงที่ปักอยู่ตรงนี้ เส้นนี้น้องต้องเดินผ่านอะไรบ้าง ก็ขีดให้เขาเห็น มันก็จะเป็นบานแบบนี้ แล้วมันถึงจะเจอธง ธงก็คือ ‘เป้าหมาย’ ที่จะไปเจอ
เส้นนี้น้องลองแบ่งสิ ในตอนนี้วางแผน 3 เดือนไปแล้ว เหลืออีก 9 เดือนน้องจะทำอะไร ตรงไหนบันทึก เริ่มแผนแล้ว ก็จะเห็นได้ว่ามันเคลื่อน ฉะนั้นน้องจะเริ่มเห็น คำว่า ‘กระบวน’
ตอนที่เราเจรจากับแหล่งทุนก็เหมือนกัน เขาบอกถ้าจะเอื้ออารีกับเรานะ เอื้อการเรียนรู้และปฏิรูปการศึกษาในโมเดล Young Citizen ของเราสำเร็จนะ โปรดให้เวลาเราเติบโตกับกระบวน ไม่ใช่ว่าอบรมเด็กหนึ่งอาทิตย์ แล้วก็บอกว่าเด็กเราเป็นพลเมืองแล้ว ป้าหนูไม่สามารถฝืนทำแบบนั้นได้
2. เติบโต
โดยข้อเท็จจริงแล้วเราตั้งคำถามสั้นๆ เพียงว่า ให้ยกตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ น่าประทับใจ ถามสั้น แต่ตอบยาว ไม่ใช่ยาวเพราะความไม่กระชับ แต่ยาวเพราะมีหลายโครงการที่ติดอยู่ในความทรงจำ ซึ่งป้าหนูของเด็กๆ เล่ามาเป็นฉากๆ ดังนี้ |
เรื่องกล้วยที่ไม่กล้วย
อย่างเด็กที่ชะแล้ (ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา) ทำเรื่องกล้วย เขาเริ่มต้นจากการได้ยินข่าวว่า ปลูกกล้วยหอมที่ลาวแล้วก็ทิ้งหมดเลย เพราะว่ากินไม่ได้ มีการฉีดสารเคมีเยอะ ในขณะที่ชะแล้บ้านเขาเป็นแหล่งปลูกกล้วยเก่าแก่ เป็นกล้วยพันธุ์พื้นเมือง แล้วก็เป็นกล้วยสมุนไพรด้วย ชื่อกล้วยบางชื่อเขาได้ยินมาแต่เล็กๆ แต่พันธุ์มันกำลังจะหมดลงไปแล้ว เขารู้จักแค่กล้วยใข่กับกล้วยหอมที่มีอยู่ในท้องตลาด ซึ่งปัจจุบันก็จะแพงขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็หาไม่ค่อยได้
เด็กกลุ่มนี้ก็รวมตัวกันเสนอโครงการขึ้นมา จากกล้วยเชยๆ ที่มีอยู่ในบ้านเขา เป็นหน่อเล็กๆ ที่ไม่ขึ้นแล้ว เขาเอามาปรึกษาครูวิทยาศาสตร์ มาทำห้องแล็บเพื่อขยายพืชพันธุ์ ออกหน่อเป็นต้นอ่อนๆ แล้วขยายพันธุ์มาเป็นต้นเล็กๆ แล้วก็ศึกษากับปู่ย่าตายาย คนที่ยังรู้จักพันธุ์ แล้วก็ขยาย
ในพื้นที่ของเขามีอยู่ 13 พันธุ์ ตอนนี้เขาเก็บรวบรวมได้ประมาณ 5-6 พันธุ์ในหนึ่งปี แล้วก็ทำแล็บซึ่งเราก็ดูว่ากะแค่เรื่องเล็กๆ เรื่องกล้วยที่แยกหน่อ ต้นนิดเดียว เวลาที่แยกหน่อของมันที่จะเอามาขยายพันธุ์ แล้วกว่าจะเติบโตขึ้นมาเป็นต้นใหญ่ ใช้ความอดทนเยอะมาก แต่ในระหว่างนั้น น้องเขาได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก
เล่นกับไฟ (ฟ้า)
ตัวอย่างอีกกลุ่มหนึ่งคือโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ รุ่นพี่ทำเรื่องโซลาร์เซลล์ชุมชนที่อยู่ใกล้มีอยู่หลายที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แล้วตอนนี้เรื่องโซลาร์เซลล์กำลังดัง เขาก็เอาวิชาที่เขามี กับครูคนหนึ่งที่ชอบเรื่องนี้มารวมกลุ่มกันทำโซลาร์เซลล์ โดยหาจากขยะ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่คนเอามาทิ้ง แล้วก็เอาชิ้นส่วนบางส่วนที่พอจะเอามาทำได้ โรงเรียนก็สร้างอุปกรณ์จำนวนหนึ่งให้เขาศึกษาเรื่องโซลาร์เซลล์ จนในที่สุดเขาสามารถสร้างโซลาร์เซลล์ได้ พอทำสำเร็จ พวกชุมชนที่อยู่ใกล้ๆ ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ หรือคนทำนาทำไร่ละแวกนั้น ก็มารับช่วงต่อเพื่อเรียนรู้
จะเห็นได้ว่าจากเด็กที่สนใจสิ่งที่เล็กๆ จิตใจเขาจะโตขึ้น จากโรงเรียนที่กลายเป็นชุมชนเล็กๆ ของเขา โรงเรียนไปบอกชุมชนที่อยู่ใกล้ๆ จนวันที่เราไปเยี่ยมโรงเรียน กลุ่มชุมชนที่อยู่แถวนั้น เขาจะชื่นชมวิชาเล็กๆ ที่เด็กเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองสนใจ ต่อไปก็ไม่ได้คิดถึงแค่ตัวเอง ไม่ใช่คุณค่าของตัวเอง ไม่ใช่คุณค่าของชุมชน เป็นเรื่องของโลกแล้วว่า เรื่องพลังงาน น้ำมัน ฟอสซิล เขาก็จะศึกษามากขึ้น มากกว่าแต่ก่อนที่คิดแคบๆ
เด็กรุ่นนี้อยู่โครงการกับเรามา 3 ปี เขาเอนทรานซ์เข้าวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เขาบอกว่าเขายังใส่ใจเรื่องนี้อยู่ เขาคิดว่าเรื่องนี้ยังมีโลกอีกกว้างไกลมาก แล้วเขาก็แตะมือกับน้อง ตอนนี้น้องเข้า ม.3 มารับช่วงต่อกลุ่มนี้ เพื่อให้กลุ่มยังคงทำงานต่อไป
ลูกสาวลูกชายแห่งท้องทะเล
หรืออีกตัวอย่างคือเด็กที่ทะเลสวนกง ถือว่าเป็นชุมชนที่ดังอยู่แล้วเรื่องการต่อสู้เพื่อชุมชนของตัวเอง จากเด็กๆ วัยรุ่นที่เคยสนใจเรื่องยาเสพติด เที่ยวห้าง เขาเริ่มมาสนใจเรื่องภูมิปัญญาที่พ่อแม่เขามี เช่นเรื่องการฟังเสียงปลา รู้ชนิดของปลาจากการฟังเสียง เด็กจะต้องศึกษาใช่ว่าอยู่ดีๆ จะเป็นได้ เขาเริ่มสนใจ เวลาพ่อออกเรือก็ตามไปด้วย พ่อมีวิธีการฟังเสียงปลาอย่างไร ถึงจะรู้ว่าตรงนี้มีปลากระบอก ตรงนี้มีปลาชนิดโน้นชนิดนี้
หรือลูกสาวก็เริ่มดูว่าปลาเค็มที่เกิดจากการฝังทราย แมลงวันไม่ตอม แล้วทำเป็นปลาเค็มได้ดีว่าเอาไปตากอีกแบบหนึ่ง คือตากในทราย หรืออาบด้วยแดดอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็มีอีกหลายภูมิปัญญา อีก 7-8 ภูมิปัญญาที่เด็กได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่ แล้วเด็กรู้จักการบันทึก การอธิบาย ทำขายด้วย คนไปศึกษาดูงานที่สวนกงเยอะ เมื่อก่อนก็ต้องเอาคนข้างนอกมา นักวิชาการมาอธิบาย ต่อไปนี้เด็กวันรุ่นเราก็สามารถที่จะอธิบายได้ เป็นเจ้าของเรื่องได้
หรือว่าน้องๆ ที่เคยเห็นพี่ๆ ที่หาดสมิหลามาวัดพื้นที่หาด แล้วรู้การเปลี่ยนแปลงของหาด สามารถที่จะต่อสู่กับหน่วยคิดของราชการได้ รู้ว่าหาดแหว่งเป็นอย่างไร แล้วก็เอาองค์ความรู้อื่นๆ มาประกอบได้อีก จะมีอาสาสมัครมาวัดหาด มาเรียนรู้เรื่องหาด เด็กสมิหลาก็จะเอาความรู้ที่ตัวเองมี เคลื่อนมาที่เทพา มาที่หาดบางหลิง แล้วหาดบางหลิงอาจมีพ่อแม่มากกว่าที่หาดสมิหลา เพราะเขามีกลุ่มประมง เป็นวิถีประมงที่มีราคา มูลค่าเยอะ ฉะนั้นนอกเหนือจากวัดหาดแล้ว เขาก็เลือกจะศึกษาระบบนิเวศของหาดแถบนั้น แล้วก็ทำให้รู้ว่าตรงนั้นอุดมสมบูรณ์มากมาย
พ่อที่จับกุ้งเคยไปทำกะปิ เราไม่เคยสนใจเลยว่าถิ่นที่เราเกิดอยู่ กะปิเทพาเป็นกะปิที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และดีที่สุดของสงขลา แต่ว่าเราไม่เคยสนใจ เพราะเด็กเขาเริ่มเป็นเด็กสมัยใหม่ แต่พอเห็นว่าแม่ทำกะปิ แล้วทุกวันนี้เขารู้ว่าแพ็คเกจต้องสะอาด มีอนามัย เด็กก็เริ่มเรียนหนังสือมากขึ้น เพื่อจะเอาองค์ความรู้มาใช้ มันก็จะเปลี่ยนไปจากเดิม จะคิดสิ่งเหล่านี้มากขึ้น จะเห็นได้ว่าจากสิ่งธรรมดา เห็นในวิถีชีวิตจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เรามีโครงการของเด็กๆ เล็กๆ อีก 100 โครงการเลย
ห้องสมุดคาเฟ่
มีตัวอย่างหนึ่งที่ป้าหนูคิดว่าไม่ลืมคือ ตามจริงแล้วกระบวนการที่เด็กทำ นอกเหนือจากที่เขาได้หยิบสิ่งที่ธรรมดาที่สุดที่เขามองเห็นในสายตาเรา แต่มันวิเศษสุดสำหรับเขา แล้วสามารถสร้างร่วมกับเพื่อนๆ เป็นทีม มีกระบวนการการเรียนรู้เรื่อยๆ หลังจากนั้นสามารถสร้างเป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้กับบ้านเกิด ชุมชน โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนก็ถือว่าเป็นชุมชนของเด็กด้วย
จริงๆ แล้วที่นั่นเป็นชุมชนยากจน พ่อแม่ยากจนมาก เด็กเรียนแค่ ม.3 ก็ต้องลาออก โครงการเรารับเด็กอายุ 12-24 ปี เด็กวัยรุ่นจนถึงวัยรุ่นตอนปลาย เด็กกลุ่มนี้ขึ้นมา 12 ก็คือเขาขึ้นมา ม.1-2 เท่านั้นเองที่มาทำโครงการกับเรา พอ ม.3 เขาก็ต้องออกโรงเรียนแล้ว แต่สิ่งที่พวกเขาทำคือ เด็กๆ เหล่านี้สร้างห้องสมุดไว้ จน ณ ปัจจุบันนี้ผู้อำนวยการซึ่งยังเป็นคนเดิมยังภูมิใจ พวกเขาตั้งชื่อว่า ‘ห้องสมุดคาเฟ่เคลื่อนที่ พี่สอนน้อง’ เพราะเขามองเห็นว่าตอนที่เขาเรียนอยู่ที่นั่น เวลาว่างเขาอยากอ่านหนังสือ แต่พอเขาย่างก้าวเข้าไปในห้องสมุด ห้องสมุดทำให้เขาไม่อยากหยิบอะไรขึ้นมาอ่าน ตั้งแต่หนังสือ เข้าไปกี่ครั้งๆ ก็เหมือนเดิม แล้วก็ไม่ได้เป็นหนังสือที่เขาสนใจ บรรณารักษ์ก็หวงหนังสือ ไม่มีกิจกรรมอะไรที่มีชีวิตชีวา ไม่สนุก เขาก็มองว่าควรจะมีหนังสือดีๆ ซึ่งจริงๆ เราไม่ควรรังเกียจให้เด็กอ่านหนังสืออ่านเล่น ก็คือหนังสือนิทานในความรู้สึกของเด็ก
เขาฝันว่าห้องสมุดเล็กๆ จะมีสิ่งเหล่านี้ครบ และอีกสิ่งที่สำคัญมากก็คือ เด็กโรงเรียนนั้นอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ บางคนจบ ม.3 เหมือนเขาแล้วก็ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซึ่งเขาคิดว่าการใช้เวลาที่เด็กจะต้องสร้างเอง ฝึกเอง เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง อันนี้ฟังจากตอนที่เขาเอาโครงการ ห้องสมุดคาเฟ่เคลื่อนที่พี่สอนน้อง มานำเสนอเรา
ตอนที่เขามานำเสนอเรา ทั้งห้องประชุมกำลังกลั่นกรองโครงการจะหัวเราะ ตลกชื่อโครงการ แต่ความหมายที่เขาอธิบายมันลึกซึ้งมาก แล้วกระบวนการกว่าที่เขาจะได้ห้องสมุดนี้ขึ้นมา เขาเขียนจดหมายบรรยายทั้ง 5 ข้อ ว่าเขามีความจำเป็นอย่างไร เขาถึงต้องเขียนขอหลายหน่วยงาน รวมแล้วที่เขาวิ่งกับครูคนที่เห็นด้วยกับเขา แล้วกับญาติๆ ของเขาที่ประทับใจกับโครงการของเขาก็ช่วยกันเขียนจดหมายรวม 200 ฉบับ ส่งไปร้านหนังสือ หรือสำนักพิมพ์ เพื่อที่จะขอให้กิจกรรมของเขาเกิดขึ้นได้
เขารอจนกว่าโครงการจะสิ้นสุดอยู่แล้ว จนเดือนสุดท้ายสำนักพิมพ์รวมตัวกัน ร้านหนังสือรวมตัวกันแล้วเอาหนังสือมาให้เขา แล้วเขาก็สามารถออกแบบโครงการภายในหนึ่งเดือนนั้น โครงการนี้เป็นโครงการที่เรายกเว้นเวลาให้เขานะ ครูที่โรงเรียนก็… ทุกคนจะร้องไห้ด้วยความซาบซึ้งใจ อยากให้เห็นภาพอันนี้ก่อนที่เด็กเขาจะจบ ม.3 แล้วเขาก็ได้จัดเล่นละครครั้งแรก เขาเอานิทานที่เขาได้มาเล่าให้น้องฟัง ได้ฉลองห้องสมุด แล้วก็ได้ห้องสมุดจริงๆ ณ ปัจจุบันทุกคนก็ยังพูดถึง ครูก็ไม่เคยโกรธที่เด็กบอกว่า บรรณารักษ์เป็นนางยักษ์ มันทำให้ทุกอย่างพลิกไปหมดเลย ครูคนนั้นย้าย แต่ครูก็ยังปลื้มกิจกรรมนี้อยู่ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่มาจากความธรรมดา ความต้องการของเขาไม่ได้วิเศษอะไรเลย
พอทำโครงการเด็กๆ กลุ่มนี้ก็บอกว่าเขามีพลังที่มากขึ้น คือไม่ได้คิดเหมือนเมื่อก่อนว่าคิดแค่ที่ตัวเองคิดนิดเดียว แต่จะคิดอะไรที่เชื่อมโยงกับวิชา งานที่เขาทำ สิ่งเล็กๆ ที่เขาทำมันเชื่อมโยงกับคนอื่น น้องๆ ได้อ่านหนังสือมากขึ้น รักหนังสือมากขึ้น ที่อื่นที่เคยบริจาคหนังสือก็เอามาบริจาคให้โรงเรียนเขา โรงเรียนก็มีหนังสือมากขึ้น ครูก็ขยายงาน ห้องสมุดกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ เดี๋ยวนี้ในห้องของเขาเป็นที่นั่งประชุมของครู เป็นที่ให้เด็กมาแสดงละครตามวันสำคัญๆ ทางวรรรคดี นิทาน จากเรื่องหนังสือ โรงเรียนนี้ชื่อว่า โรงเรียนบ่อทรัพย์ (อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา) เราอาจะไปเยี่ยมโรงเรียนของเขาได้ แล้วก็ให้ครูเก่าๆ ที่ยังอยู่ เล่าให้ฟังได้ ผอ. ก็ยังปลื้มห้องสมุดนี้อยู่ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง
มุสลิมะห์แถวหน้า
มีมุสลิม 2-3 กลุ่มที่ประทับใจมาก ประทับใจตั้งแต่เปิดรับสมัคร เวลาเราเราเปิดรับสมัคร งบประมาณเรามีจำกัด เราก็จะรับได้ไม่มาก ฉะนั้นเราก็จะไม่ประชาสัมพันธ์สุดเหวี่ยง แต่ที่น่าทึ่งมากคือมีเด็กส่งเฟซบุ๊คในสงขลาฟอรั่ม เขาเรียนที่โรงเรียนปอเนาะ เรียนแต่ศาสนา กิจกรรมเนี่ย เขารู้สึกเครียด แล้วเขาเป็นผู้หญิง บางทีเขานำไม่ค่อยได้ ด้วยวิถีของความเชื่อ เขาเลยอยากมีโครงการอะไรที่ทำแล้วให้เห็นว่าเด็กผู้หญิงก็นำหน้าได้ ด้วยวิถีของความเป็นผู้หญิงที่อ่อนโยนประณีต แล้วเป็นที่ยอมรับได้
เขาก็เขียนโครงการมาให้เรา ‘ห้องน้ำห้องส้วม’ และ ‘สาม อ. เอาอ้วนออก’ อีกโครงการเป็นโครงการประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ แต่ชื่อเขาจะหวือหวากว่านี้ เขาก็ทำเป็นลำดับ คือมุสลิมะห์นี่หมายถึงน้องมุสลิมที่เป็นผู้หญิง เวลาที่ผู้หญิงเสนออะไรเขาก็จะปัดไว้อยู่ข้างหลัง ผู้นำมักจะต้องเป็นผู้ชาย ทีนี้บางเรื่องผู้หญิงเป็นผู้นำได้ เช่น เขาเลือกเรื่องห้องส้วม เพราะเขามองว่าทุกคนได้รับผลกระทบจากห้องส้วมนี้บ่อย เนื่องจากห้องส้วมนี้เป็นห้องส้วมผู้ชาย ปัสสาวะเหม็น เขาอาสาทำความสะอาดร่วมกับเพื่อนผู้ชายด้วย แต่ว่าผู้หญิงเป็นผู้นำ พอมันสะอาด ห้องอาหาร (อยู่ใกล้ๆ) นี่นั่งกันทั้งหมดนะ ก็จะได้รับ… ภาษาพุทธบอกว่า ‘อานิสงส์’ มีความสุขกันถ้วนหน้า แล้วสิ่งนี้ก็ได้เป็นสิ่งที่ได้มาพูดกันอีกหลายเรื่องที่จะเกิดขึ้นตามมา ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงจะมีความอดทน มีมานะความพยายามสูง ทำได้
ทำต่อไปคือ ‘สาม อ. เอาอ้วนออก’ เพราะแนวโน้มของเด็กมุสลิม มุสลิมะห์ก็อ้วนเหมือนกัน โดยเฉพาะเด็กผู้ชายก็อ้วน ครูก็อ้วน ฉะนั้นเขาอยากทำการออกกำลังกาย คนมาสมัครต้องมีคู่มือที่จะต้องจดบันทึกการออกกำลังกายของตัวเอง แล้วการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คือต้องปฏิบัติตามที่เขานำเสนอทุกอย่าง
กติกานี้ถึงจะทำให้มาสมัครเป็นสมาชิกของเขาได้ ทุกคนก็มีแรงจูงใจของเขาอยู่แล้ว อยากลดน้ำหนัก เวลาออกกำลังกาย เด็กกลุ่มนี้ก็จะยืนอยู่ข้างหน้า เป็นผู้นำ ไปออกแบบ พอเสร็จก็มีกระบวนการที่ให้สมาชิกทุกคนต้องบันทึก มาชั่งน้ำหนัก สารพัดเท่าที่เขาจะมี เขาก็จะเล่าให้เราฟัง เขาภูมิใจมากเลย เขาเป็นมุสลิมะห์ที่ได้ยืนอยู่ข้างหน้า แล้วทุกคนที่ได้มาร่วมกิจกรรมกับเขา มีทั้งผู้หญิงผู้ชาย แล้วทุกคนก็ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แล้วก็เห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ
Beach for Life
กลุ่มนี้ถือว่าเป็นบทพิสูจน์ของสิ่งที่เราพูดมาทั้งหมดว่า เขาเอามาทำจริง แล้วเขาก็เป็นพลเมืองในหลายๆ มิติ ที่คนเอาวิพากษ์วิจารณ์กันได้หลายมิติ เช่น หนึ่ง ความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งเด็กบางกลุ่มของเราก็ยังหน่อมแน้ม แต่กลุ่มนี้นี่ใช้ได้เลย เขารับผิดชอบ
สอง ในเรื่องของความยุติธรรม เขาจะเริ่มมองเห็นในประเด็นอื่น ความเป็นธรรม ความยุติธรรม สิทธิของมนุษย์ต่างๆ เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตัวเองทำ อย่างเด็กเมื่อกี๊ เรื่องห้องน้ำ ห้องส้วม ยังไม่ไปคิดเรื่องกฎหมายอะไรเท่าไหร่ จนกว่าบางประเด็นจะไปกระทบ แต่อันนี้ไปหมดเลย ให้เห็นความเป็นพลเมืองในหลายมิติที่ได้ โดยเขาเริ่มจากสิ่งที่เขารักเหมือนกัน กลุ่มนี้เป็นเด็กโรงเรียนที่อยู่ใกล้หาดสมิหลามากที่สุด อกหักก็ต้องวิ่งไปหาด ไปกรี๊ดอยู่ริมทะเล เด็กวัยนี้ก็มีความรักด้วยกันทั้งนั้นเป็นเรื่องธรรมดา สอบตกไม่ได้คะแนนดั่งใจ สารพัดเรื่อง ความทุกข์ไปอยู่ที่หาด แล้วก็วันหนึ่งเขามีความรู้สึกว่า สุขเขาก็มาหาดเลย เสาร์อาทิตย์พ่อแม่ยังพามาหาดเลย ฉลองสอบได้คะแนนดี รับน้องมาหาดหมด แต่เขาไม่เคยเห็นเลยว่าหาดเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
เวลาเราพูดเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราคิดไปถึงป่า ภูเขา ตีตั๋วไปไกลๆ แต่หาดหน้าบ้าน ข้างโรงเรียนตัวเองไม่สนใจ
เรื่องนี้เกิดขึ้นจากเด็กคนหนึ่งที่ทำ ‘Beach for Life’ ครั้งแรก เขาใช้ชื่อว่า ‘หาดเพื่อชีวิต’ เป็นภาษาไทยก่อน คือที่ว่ามาทั้งหมดก็เพื่อชีวิตของเขาจริงๆ ทีนี้มีครูคนหนึ่ง เราถือว่าเป็นครูใหญ่ในสายเรา ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ ซึ่งเป็นคนที่ต่อสู้กับโครงสร้างแข็งกับการทำลายหาดมาโดยตลอด ณ ปัจจุบันท่านไปออกบวชแล้ว คือสู้เรื่องนี้คือเครียดมากๆ ตัวเราเอง ณ ปัจจุบันก็เครียด เพราะเรื่องมันเป็นผลประโยชน์ซับซ้อน แล้วความรู้พออธิบายแล้วมันยากมากที่จะเข้าใจ มันต้องใช้ความอดทนมากที่จะศึกษาและเรียนรู้เรื่องนี้ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จาก ม.4 ที่เขาเริ่มต้น จน ณ ปัจจุบันเขาจบมหาวิทยาลัยมาสองปีแล้ว ปีนี้เป็นปีที่ 7 แล้วที่เด็กสู้ต่อเนื่องมา แล้วก็สร้างกลุ่มของเขามาเรื่องๆ จากระบบนิเวศ ระบบธรรมชาติ เขาก็ไปดูว่าคำว่านิเวศมันประกอบด้วยอะไรบ้าง จาก ดร.สมบูรณ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพียงคนเดียวก็มี ดร.สมปรารถนา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งสนใจในเรื่องของ citizen science บ้านเราเรียกแค่ว่าพลังพลเมืองเยาวชนนะ เขาก็ไปเรียนที่ญี่ปุ่น ที่ญี่ปุ่นเขาให้คุณค่าการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ คือให้คนธรรมดาสามัญมาเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ผ่านระบบธรรมชาติด้วย
อาจารย์ก็สนใจเรื่องนี้ ก็ตรงกับวิธีคิดของเราเรื่องพลเมืองเหมือนกัน สาขานี้ก็ต้องเป็นสาขาที่ต้องใช้แล็บ ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ แล้วเด็กพวกนี้ก็คุยกับนักวิชาการ หรือสายวิทยาศาสตร์ เขาจะทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ทั้งในเรื่องกายภาพ ชีวภาพ อะไรหลายๆ อย่าง เวลาอธิบายเรื่องทะเล เขาจะเข้าใจได้ดี ก็กลายเป็นว่าเรียนรู้ในเรื่องวิชาการเข้าใจได้ง่ายขึ้น แล้วในมิติสังคม ทางสงขลาฟอรั่มก็จะเสริมเขาในมิติของการมีส่วนร่วม เพราะเรื่องพวกนี้เมื่อมีคนไม่รู้ เราก็ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ขึ้น เด็กในกลุ่มนี้ก็บอกว่า “ป้าหนู การเรียนรู้ในส่วนนี้ของป้าหนูมันไม่พอ มันต้องการมีส่วนร่วมที่แท้ด้วยนะ” เพราะเขาบอกว่าที่เขาเห็นมันไม่แท้
เขาก็ลิสต์มาเลยว่า ไม่แท้ตรงที่ว่าเกณฑ์คนมาให้นั่งฟังอย่างเดียว เหลือ 10 นาทีสุดท้ายคน 500 คนใครจะแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ ฉะนั้นมันต้องมีมากกว่า 5 ข้อที่เขียนไว้ ต้องวางแผน… เด็กพวกนี้มันก็ศึกษาอีกว่านอกจาก 5 ข้อที่ว่านั้นต้องมี ที่แท้ด้วย ลึกซึ้งด้วย ด้วยจิตวิญญาณด้วย ลงมือทำ ลุ่มลึกกับมันด้วย
ในแต่ละปีเขาก็จะมีจุดเน้น ตอนนี้เราทำกิจกรรมที่คิดว่าเป็นภารกิจของกลุ่มนี้ นอกเหนือจากตัวเขาเติบโตแล้วก็คือต้องให้ความรู้กับสังคม โดยเฉพาะสังคมคนสงขลา ซึ่งยังมีข้อขัดแย้งในเรื่องของการฟื้นฟูหาดสมิหลา บางคนบอกว่าอยากเอาโครงสร้างแข็งลงเลย สร้างเขื่อนไปเลย จะต้องไม่ต้องมาสร้างทุกปี แต่อีกทีมหนึ่งบอกว่า หาดที่มันยาวไป มันสามารถสยบคลื่นที่แรงๆ ให้ราบได้ด้วยหาดที่กว้างและราบเรียบ แล้วมันเป็นอย่างนี้มาไม่รู้กี่หมื่นปี แต่เป็นเพราะว่าเราเอาโครงสร้างแข็งไปวางไว้
ฤดูกาลจะมีอยู่ 2 ฤดูกาล มันก็จะมีหน้าที่คลื่นแรงและไม่แรง คลื่นสงบกับคลื่นแรง แต่เราไปโกรธคลื่นตอนที่คลื่นแรง เราก็ไปหาอะไรมาขวางมัน ถ้าไม่ถาวร หมายความว่า สร้างเพื่อพยุงมันไว้เพื่อหน้านี้ แล้วค่อยเอาออก เพื่อให้มันเป็นระบบธรรมชาติเหมือนเดิม แต่นี่เราเอากระสอบหนักเป็นสิบๆ กิโลกรัมวางเป็นภูเขาเลย หรือสร้างเขื่อน หรือระเบิดก้อนหินใหญ่ๆ จากภูเขามาวางเรียง คือเป็นโครงสร้างแข็งถาวรเลย ฉะนั้นเวลาตอนหน้าคลื่นปะทะ แล้วมันก็กระชากทรายที่มีตามธรรมชาติออกหมด มันก็พัง
ฉะนั้นหาดประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะสมิหลา คนสงขลาหลายๆ คนช่วยกัน มีอยู่ 7.8 กิโลเมตร เราทำงาน 7-8 ปีที่เราทำงานหนักอยู่ตรงนี้ สองกิโลเมตรที่สาหัสที่สุดก็คือตรงบริเวณหาดชลาทัศน์ ส่วนที่เหลือตรงนางเงือกก็ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวได้สวยงาม แต่เผลอเมื่อไหร่ก็จะมีการสร้างอะไรขึ้นมา หน้ามรสุมเรื่องภัยพิบัติก็มาพร้อมๆ กัน ถ้าเราไม่ช่วยกันระมัดระวัง ช่วยกันสื่อสาร ที่เด็กบอกว่า เราไม่ทะเลาะแล้ว เราต้องใช้ gentle action เป็นวิถีที่อ่อนโยน เล่าให้ฟัง เราก็ถือว่าหัวใจของเขาไม่ได้สร้างด้วยกระสอบทราย ไม่ได้ทำด้วยก้อนหิน เขาก็ soft เหมือนกับทราย ยืดหยุ่น นิ่มนวล เวลามันจะผนึกกำลังกันจะเอาชนะคลื่น มันก็คือหาดทั้งหาดที่มันชนะ เราก็พยายามที่จะเอาปรัชญาตรงนี้
3. การเติบโต
ทำไมโครงการที่เด็กๆ ทำส่วนมากจึงสัมพันธ์โดยตรงกับบ้านเกิด
จริงๆ แล้วมันมาจากคำที่เคยพูดและเคยรู้สึก คือ ไม่มีใครรักทะเลสาบสงขลากับเราเลย เหมือนมันต้องหาจุดที่เป็นศูนย์กลาง แล้วเราก็เชื่อเรื่องบ้านเกิด เพราะโครงการที่เกิดขึ้นครั้งแรก สงขลาฟอรั่ม เกิดขึ้นครั้งแรกในนามของ ‘โลกสดใสในบ้านเกิด’ เราฝันในเชิงบวกว่า จะสร้างอะไรในบ้านเกิดฉัน คลื่นวิทยุก็รณรงค์ตามมาตรา 70 เพื่อที่จำให้เห็นว่าในบ้านเราเรามีคลื่นของเราเอง เรามีสิทธิ์ที่จะซื้อคลื่นแล้วมาทำรายการของเราเอง ซึ่งตอนนั้นมันยากมาก แม้ตอนนี้มันคนละเรื่องเลย แถมเรายังมี social network แต่ตอนนั้นเราจะพูดเรื่องของเราสักทีหนึ่ง มันอุดรูเราหมด
ฉะนั้นมันมาจากความรู้สึกนี้จริงๆ ความรู้สึกนี้แรงมาก แรงมาจนถึงปัจจุบัน เรามีความรู้สึกว่า แม้แต่คำนี้ก็ยังคุกรุ่นอยู่ในใจป้าหนู บางเรื่องมันเหมือนมันพูดกันอยุ่ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทยอยู่ที่กรุงเทพฯ เหรอ เราพยายามจะทำให้ เราไม่ต้องตะโกนไปที่กรุงเทพฯ ได้ไหม ให้พูดอยู่ที่บ้านเรา ให้เราทำสิ่งนี้ให้มันดี ให้ที่สงขลามันดี นครปฐมดี โคราชดี ทั้งประเทศก็ดี มันก็เหมือนถ้าความเป็นพลเมืองมันดีทุกจุด เราคิดแค่นี้ ไม่มีทฤษฎีมากเลย
แล้วเวลาให้เด็กคิด ก็ไม่เห็นต้องโก้เก๋ให้เขาไปคิดอะไรที่มันไกลตัว มันจะเก๋มากถ้าเขาคิดในสิ่งที่เราไม่คิดเลยนะ อันนี้คิดได้อย่างไร มันอยู่ตรงนี้นี่เอง ถ้าเราทำให้เขาเอ๊ะกับสิ่งเหล่านี้ ทำขึ้นมาให้ดี แข็งแรง ถ้าเขามองตรงจุดที่มันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเขาได้ ชัดเจน มองอย่างรู้คุณค่า เขาก็จะมองเห็นสิ่งอื่นมีคุณค่าด้วย
เด็กๆ ที่ทำกิจกรรมกับเราเติบโตไปเป็นคนแบบไหน
ที่เราพูดให้เด็กทุกรุ่นมาตั้งแต่ไหนแต่ไรก็คือว่า เราจะไม่พูดนะว่าลูกเป็นเด็กสงขลาฟอรั่ม จะเหมือนไว้ตัวหน่อยๆ ให้เกียรติเขาด้วย เขาก็ต้องเป็นเขาสิ ที่เราอยากเป็นพลเมือง เรายังไม่อยากจะสังกัดพรรคไหนเลย เราก็อยากจะเป็น ทำไมโลกนี้จะต้องขึ้นอยู่กับพรรคไหนหมด ประเทศหนึ่งควรจะมีพลเมืองที่อิสระ ที่มีความเป็นพลเมือง เราอยากจะสร้างแบบนั้น
เวลาอธิบายไม่รู้เด็กจะเข้าใจแบบนั้นหรือเปล่า แต่พยายามอธิบาย ลูกติดชิพพลเมืองไว้ ไม่มียี่ห้อ แล้วลูกไปเป็นอาชีพอะไรก็ได้ เหมือนที่ทำห้องสมุดคาเฟ่เคลื่อนที่ เขาบอกเขาไม่มีเงิน แต่ก็ไม่ชอบร้านสะดวกซื้อแบบ หนูว่าเขาเอาเปรียบ แต่เขาให้ทุนเรียนฟรี พอจบ ม.3 เขาก็อยากเรียนต่อ
เราบอก ลูกก็อย่าคิดอย่างนั้นสิ ลูกก็เป็นพลเมืองดี ลูกไปสังกัดไหนก็ได้ แต่ไม่เอาเปรียบ ลูกก็เป็นคนดีตรงนี้ แล้วลูกอีกหลายคนจะไปเป็นอาชีพอะไรก็ได้ แต่ความเป็นพลเมืองมันไม่ได้บอกว่าลูกเป็นวิศวกรไม่ได้ ลูกไปเป็นอะไรก็ได้ ไปเป็นหมอก็ได้ เด็กของเราเป็นหลายอาชีพมาก แต่ที่ยังสนิทสนม ยังติดต่อกันส่วนใหญ่ก็เป็นนักพัฒนา บางคนก็อยู่ พอช. ในตำแหน่งที่ดี น่าพอใจ บางคนที่เราเคยต่อสู้กับบริษัทน้ำมัน แล้วเขาก็บรรจุเป็นพนักงานบริษัทน้ำมันที่เคยเป็นคู่กรณีกับเรา แต่เขาก็ได้เอาหลักคิดเรื่องมูลนิธิทางสังคมดีๆ ไปสร้างการเปลี่ยนแปลง เขามาเจอเราแล้วก็ยังมาพูดให้ฟัง ไม่โกรธกันเลย
หลังสุดนี่คือจบแล้วแต่ก็ยังทำงานกับเราอยู่ ก็คือทีมของน้ำนิ่ง (ชื่อเด็กคนหนึ่งที่เคยทำโครงการ) ที่จบไปได้สองปี นอกจากนั้นก็กระจายอยู่ตามสาขา น้ำหนักน่าจะเป็นมากก็คือบัณฑิตอาสา กับนักพัฒนา NGOs สายต่างๆ ข้าราชการนี่น้อยมาก อาจจะมี แต่น้อยมาก ส่วนใหญ่อยู่แล้วลาออกไปทำอิสระ