- การเข้ามาของโซเชียลมีเดีย ทำให้ความกลัวในโลกยุคใหม่ ผูกโยงเข้ากับสังคมในโลกเสมือน เป็นความกลัวที่เชื่อมโยงกับความรู้สึก มากกว่า ความกลัวทางกายภาพ
- “โฟโม” (Fear of Missing Out: FoMO) อาการที่เกิดขึ้นมาจากความรู้สึกกลัวไม่เป็นที่ยอมรับ กลัวการโดนปฏิเสธจากคนรอบข้างและสังคม ซึ่งเป็นเรื่องไม่ผิดแปลก แต่ความกลัวในรูปแบบที่ว่า ส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนขึ้น ในยุคที่ผู้คนเข้าถึงเรื่องรอบตัวและไกลตัวได้ง่ายจากอินเทอร์เน็ต และสื่อออนไลน์
- สิ่งที่น่ากังวล คือ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว เมื่อความกลัวคืบคลานจนฝังรากลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขานำตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น ดูเหมือนว่าโซเชียลมีเดียกำลังทำให้สถานการณ์แย่ลง โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder)
ความกลัวเป็นอารมณ์พื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์ เช่นเดียวกับความสุข และความเศร้า เมื่อความกลัวเกิดขึ้น สมองจะทำงานเพื่อแสดงพฤติกรรมตอบสนองความกลัวนั้น 2 รูปแบบ คือ “สู้” (Fight) หรือ “หนี” (Flight) สิ่งนี้เป็นสัณชาตญาณที่ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตรอดอยู่ได้ เพราะจะถูกปลุกขึ้นก่อนเสมอในยามสุ่มเสี่ยงกับความอยู่รอดของชีวิต เช่น เมื่ออยู่ท่ามกลางความมืด ต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ การเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ๆ หรือ อยู่ในสถานการณ์อันตรายบางอย่าง
สิ่งที่น่าสนใจ คือ การเข้ามาของโซเชียลมีเดีย ทำให้ความกลัวในโลกยุคใหม่ ผูกโยงเข้ากับสังคมในโลกเสมือน เป็นความกลัวที่เชื่อมโยงกับความรู้สึก มากกว่า ความกลัวทางกายภาพ
การกลัวตกกระแส กลัวพลาดการรับรู้เรื่องบางอย่าง กลัวตามไม่ทันเรื่องที่คนอื่นรู้ หรือถ้าไม่รู้ กลัวพูดกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง เป็นความกลัวที่เกิดจากความต้องการเชื่อมต่อกับสิ่งที่คนอื่นทำอยู่อย่างต่อเนื่อง
ลึกๆ แล้วความกลัวเหล่านี้ เกิดขึ้นมาจากความรู้สึกกลัวไม่เป็นที่ยอมรับ กลัวการโดนปฏิเสธจากคนรอบข้างและสังคม ซึ่งเป็นเรื่องไม่ผิดแปลก แต่ความกลัวในรูปแบบที่ว่า ส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนขึ้น ในยุคที่ผู้คนเข้าถึงเรื่องรอบตัวและไกลตัวได้ง่ายจากอินเทอร์เน็ต และสื่อออนไลน์
เรากำลังพูดถึง อาการ “โฟโม” (Fear of Missing Out: FoMO) ที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง
ฉันต้องเป็นกลุ่มแรกๆ ที่รู้ก่อนใคร
ฉันรู้สึกดีและรู้สึกพิเศษกว่าใครที่ได้แชร์เรื่องนี้
ถ้าฉันสนใจเรื่องนี้ แล้วโพสต์ออกไป โพสต์ของฉันต้องได้ยอดไลค์และยอดแชร์เยอะแน่ๆ
ในโลกออนไลน์ ยอดไลค์และยอดแชร์ จากคนทั้งที่รู้จัก และไม่รู้จัก กลายเป็นตัววัดความสำเร็จที่สร้างความภาคภูมิใจ ขณะเดียวกันกลายเป็นความคาดหวัง เพราะเมื่อไม่ได้อย่างใจต้องการ หลายคนกลับจิตตก เกิดภาวะเครียด อารมณ์เสีย หงุดหงิด เพราะรู้สึกไม่ได้เป็นคนสำคัญ หนักกว่านั้น คือ การตกอยู่ในห้วงความคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ
ข้อมูลจากการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างการเล่นโซเชียลมีเดียกับโฟโม พบว่าคนส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวเอง แต่วนเวียนอยู่กับการเช็คมือถือ เพื่อดูผลตอบรับจากสิ่งที่ตัวเองนำเสนอ (feedback) และติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องที่ตัวเองสนใจ หรือสิ่งที่คนในกลุ่มและสังคมของตัวเองสนใจ เพื่อให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่เหล่านั้น
อันที่จริงโฟโมไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เกิดขึ้นได้ในทุกวัย แต่พบมากในเด็กและวัยรุ่น เพราะเป็นช่วงที่สมองส่วนอารมณ์พัฒนาเยอะ สมองส่วนเหตุผลยังพัฒนาไม่เต็มที่ เป็นวัยที่ยังค้นหาตัวเอง อยากเป็นที่ยอมรับ และอยากได้รับความสำคัญ
สิ่งที่น่ากังวล คือ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว เมื่อความกลัวคืบคลานจนฝังรากลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขานำตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น ดูเหมือนว่าโซเชียลมีเดียกำลังทำให้สถานการณ์แย่ลง โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder)
ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ กับ Feedback ที่ทำร้ายจิตใจได้อย่างฝังลึก
พอล โดแลน (Paul Dolan) ศาสตราจารย์จาก วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE: London School of Economics and Political Science ) และ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘Happiness by Design: Change What You do, Not How You Think’ กล่าวว่า
เมื่อวัยรุ่นติดอยู่ในวงล้อมของความกลัวแบบโฟโม พวกเขาจะหลบหลีกจากโลกแห่งความจริงและศักยภาพที่มี เพื่อมองหาตัวตนของตัวเองในอีกพื้นที่หนึ่ง พื้นที่ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกมีความสุข เมื่อไรก็ตามที่พวกเขารู้สึกไม่มีความสุขเท่าที่ควรในโลกแห่งความจริง วัยรุ่นมักวางความสนใจผิดที่ผิดทาง ซึ่งในยุคนี้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงง่ายที่สุดและดูดเวลาในชีวิตประจำวันไปไม่น้อย
“ความสุขขึ้นอยู่กับคุณวางความสนใจไว้ที่ไหน สิ่งที่คุณสนใจเป็นตัวกำหนดความสุขของคุณ” โดแลน กล่าว
ข้อมูลจาก รามาชาแนล (Rama Channel) ชี้ให้เห็นว่า ยอดไลค์ ยอดแชร์ ทำให้ผู้รับสารรับรู้ว่ามีคนชอบในสิ่งที่ทำ การได้โหลดแอพยอดนิยมต่างๆ มาใช้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระแส ไม่ตกเทรนด์ และได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมในโลกเสมือนจริง เป็นพฤติกรรมที่สะท้อนถึง “การเสพติด” อย่างหนึ่ง
เป็นการเสพติดเสียงตอบรับจากผู้อื่น โดยเฉพาะเสียงตอบรับเชิงบวก ส่งผลกระทบตามมาอย่างไม่ทันรู้ตัว และไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าคนกลุ่มนั้นจะเป็นคนสนิท แค่คนรู้จัก หรือไม่รู้จักกันเลย
ยกตัวอย่าง ผลกระทบที่เกิดขึ้น ได้แก่
หนึ่ง โรคหลงตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองเก่งและดี เพราะมีผู้ติดตามเยอะ
สอง รับฟังคนอื่น โดยเฉพาะคนรอบข้างน้อยลง แต่ให้ความสำคัญกับคนที่ไม่ร้จักในโลกโซเชียลมีเดียมากขึ้น
สาม เมื่อมีคนไม่เห็นด้วย ถูกตำหนิ บางคนรู้สึกไม่พอใจ ทนไม่ได้ โกรธแค้น บางคนหมดความมั่นใจ คิดมาก ไม่มีความสุขกับชีวิตจริง เป็นสาเหตุของข้อที่ สี่ คือ โรคซึมเศร้า
ขณะที่สารคดี The Social Dilemma (ออกอากาศทาง Netflix) ที่นำเสนอผลกระทบของโซเชียลมีเดีย ต่อสังคมโลก ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของอดีตพนักงานหลายคนทั้งจากเฟสบุ๊ก กูเกิ้ล ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม พินเทอร์เรส ฯลฯ ผู้เคยทำงานเบื้องหลัง เป็นทั้งผู้ออกแบบ วางแผนและสร้างอัลกอริทึมให้กับโปรแกรมต่างๆ รวมถึงนักวิชาการและนักลงทุนจากซิลิคอนวอลเลย์ กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่มีใครคิดมาก่อนว่าโซเชียลมีเดียได้พาทุกคนมาถึงจุดนี้ ความคาดหวังของพวกเขาในตอนนั้น ต้องการเพียงสร้างสรรค์ผลงาน และเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวก และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน แต่ตอนนี้ “มนุษย์” ได้กลายเป็น “ผลิตภัณฑ์” (product) หนึ่ง ในโซเชียลมีเดียไปเป็นที่เรียบร้อย
สารคดีนำเสนองานวิจัย สรุปยืนยันข้อมูลที่น่าตกใจว่า การใช้โซเชียลมีเดียเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย และทำให้เด็กรุ่นใหม่ทำร้ายตัวเองมากขึ้น ข้อมูลสถิติการฆ่าตัวตายในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจหลังปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่โซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามาครอบงำ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คน บนหน้าจอมือถือ
พบอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 ในกลุ่มวัยรุ่นเพศหญิง ช่วงอายุ 15-19 ปี และเด็กผู้หญิงอายุ 10-14 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 151 สถิติผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล จากกการทำร้ายตัวเองแบบไม่ร้ายแรง ในกลุ่มวัยรุ่นเพศหญิง ช่วงอายุ 15-19 ปี มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 62 และเด็กผู้หญิงอายุ 10-14 ปี มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 189
“มีเพียงสองอุตสาหกรรมเท่านั้นที่เรียกลูกค้าของตัวเองว่า ‘ผู้ใช้’ นั่นคือ การค้ายาเสพติด และซอฟท์แวร์” – เอ็ดเวิร์ด ทัฟเต้ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และศาสตราจารย์กิตติคุณ ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ รัฐศาสตร์และสถิติ แห่งมหาวิทยาลัยเยล กล่าว
“There are only two industries that call their customers ‘users’: illegal drugs and software,” said Edward Tufte, a computer scientist and a professor emeritus of computer science, political science and statistics at Yale University.
ใช้ชีวิตอย่างไรให้ปลอดจากอาการโฟโม
ในโลกศตวรรษที่ 21 คงเป็นการยากหากบอกให้หลีกเลี่ยงการใช้อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย เพราะอีกด้านหนึ่งโลกออนไลน์ก็ยังมีด้านที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ การติดต่อสื่อสารกับผู้คน การสร้างความบันเทิง รวมถึงเพื่อการทำธุรกิจ สังคมในแอพพลิเคชั่นและโปรแกรมซอฟต์แวร์ต่างๆ กลายเป็นแหล่งรวมผู้คนจากทั่วโลก ในเชิงธุรกิจที่แห่งนี้เป็นตลาดขนาดใหญ่ การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด คือ การรู้เท่าทันและการรู้จักคัดกรองข้อมูล
ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการสังเกตพฤติกรรมของตัวเอง และพฤติกรรมของเด็ก เพราะผู้ใหญ่เองก็เผชิญหน้ากับโฟโมได้เช่นเดียวกัน
ถึงตรงนี้ลองมาเช็คกันดูสักหน่อยว่า มีอาการเหล่านี้กันอยู่หรือเปล่า?
- นึกภาพไม่ออกว่าตัวเองจะผ่านวันหนึ่งไปได้อย่างไรถ้าไม่มีมือถือ
- รู้สึกว่ามือถือสั่นแจ้งเตือนอยู่ตลอด ทั้งที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
- รีเฟรชหน้าจอมือถือบ่อยครั้ง เพื่อดูว่ามีอะไรอัพเดทเข้ามาหรือไม่
- มีความรู้สึกกังวล และรู้สึกว่าต้องตอบเมสเสจต่างๆ ในทันที ตลอด 24 ชั่วโมง
- รู้สึกว่า “จำเป็น” ต้องโพสต์ในโซเชียลมีเดียทุกวัน
- เบื่อหน่าย ไม่พอใจในชีวิตตัวเอง ตามล่าหาแรงบันดาลจากการเข้าไปดูคนอื่น
- รู้สึกซึมเศร้า เปล่าเปลี่ยว เมื่อไม่ได้ออนไลน์
- ตัดสินใจอยากเป็น อยากทำตาม อยากมีชีวิต ตามกระแสในโซเชียลมีเดีย เท่าที่ตัวเองเห็น
ถ้าผู้ปกครองเองมีภาวะเสพติดโซเชียลมีเดีย และมีอาการโฟโม สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง คือ การแบ่งเวลาให้กับลูกมากขึ้น เริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายๆ ด้วยการ
ไม่นำมือถือเข้าในห้องนอน
เลี่ยงการไถหน้าจอ หน้าฟีดเรื่อยเปื่อยโดยไม่จำเป็น! เพราะการกดคลิ๊ก เข้าดูสิ่งที่โปรแกรมหรือซอร์ฟแวร์จัดสรรให้ นำไปสู่การเสพติด
ข่าวสาร ข้อมูลต่างๆ ที่ขึ้นข้อความทำนองว่า “แนะนำสำหรับคุณ” ไม่ต้องกดเข้าไปดู แต่ใช้มือถือเพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ที่ต้องการ เข้าไปอ่านสิ่งที่สนใจ เพลงที่อยากฟัง รายการที่ชอบ จากเว็บไซต์โดยตรงแทน
แน่นอนว่า วิธีการที่ว่ามานี้ นำไปใช้กับเด็กๆ ได้เช่นเดียวกัน
พ่อแม่จะรับมือกับ Fear of Missing Out ได้อย่างไร?
ความสนใจของผู้ปกครองที่มีต่อเด็ก ช่วยสลายความกลัวต่อการไม่ถูกยอมรับจากคนแปลกหน้า จนต้องสร้างตัวตนให้คนแปลกหน้ายอมรับในเด็กและวัยรุ่นได้
การสื่อสารเชิงบวก พูดคุย เปิดกว้าง และทำความเข้าใจในสิ่งที่เด็กและวัยรุ่นต้องการ เช่น การชื่นชมในสิ่งที่พวกเขาทำได้ดี การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยไม่จำเป็นต้องมีปลายทางเพื่อค้นหาคำตอบที่ถูกต้องที่สุด ไม่ตัดสินถูกผิด การพร้อมตอบคำถามในสิ่งที่พวกเขาอยากได้คำตอบ เพื่อที่พวกเขาจะไม่ใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในการค้นหา และสร้างตัวตนของตัวเอง (ในทางที่ผิด) เป็นหนทางที่ช่วยกอบกู้สถานการณ์ได้
อธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่า…
หนึ่ง โซเชียลมีเดียไม่ใช่ทุกสิ่ง และไม่ใช่โลกแห่งความจริงทั้งหมด
สอง การพลาดอะไรบางอย่าง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอในชีวิต อธิบายให้เห็นภาพว่า ในชีวิตจริงหลายครั้งเราก็เคยพลาดอะไรหลายๆ อย่าง เช่น ตื่นสายไปโรงเรียนไม่ทัน ลืมข้าวของ พลาดรายการโปรด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงในชีวิต
แล้วเราจะปรับตัวแก้ปัญหาโฟโม (Fear Of Missing Out: FoMO รวมถึงปัญหาจากการใช้อินเทอร์เน็ต (Problematic Internet Use: PIU) ได้อย่างไร?
“ปิดการแจ้งเตือน ทุกแอพในมือถือ” ผู้ร่วมให้สัมภาษณ์ในสารคดี The Social Dilemma ตอบเป็นเสียงเดียวกัน
การปิดการแจ้งเตือนแอพพลิเคชั่น เป็นวิธีการหนึ่งที่ง่ายและทำได้ทันที ขณะที่คนกลุ่มหนึ่ง ผู้ได้ชื่อว่าเคยมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์โลกออนไลน์ขึ้นมา กำลังผลักดันให้มีระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย เพื่อกำหนดและควบคุมการทำงานของโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะโมเดลธุรกิจ ที่สร้างกำไรให้กับบริษัทเหล่านี้อย่างมหาศาลตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันก็สร้างความกลัวซึ่งเป็นผลกระทบเชิงลบไว้ในจิตใจของผู้คนอยู่ไม่น้อย
อ้างอิง
Noor Bloemen, David De ConinckSocial. (2020) Media and Fear of Missing Out in Adolescents: The Role of Family Characteristics
Dorit Alt, Meyran Boniel-Nissim. (2018) Parent–Adolescent Communication and Problematic Internet Use: The Mediating Role of Fear of Missing Out (FoMO), Jounal of Family Issuues 39
https://www.childnexus.com/blog/article/fomo-and-how-it-might-affect-children-with-attention-issues#
สารคดี The Social Dilemma