- คุยกับ คิว-คณาสิต พ่วงอำไพ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Non-binary Thailand และเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘นอกกล่องเพศ ; NON-BINARY’ ถึงความลื่นไหลทางเพศนอกกรอบการแบ่งเพศเป็นสองขั้วตรงข้ามคือ ชายและหญิงและ LGBTQ แต่คือ non-binary กลุ่มชายขอบของสังคม cisgender heterosexual (คนตรงเพศมีรสนิยมรักต่างเพศ)
- “หลักการ self-determination ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกนิยามที่เรารู้สึกปลอดภัย สบายใจ และเป็นตัวเองมากที่สุด หลายๆ ครั้งคิวจะเจอแบบนี้ อัตลักษณ์ที่มีอยู่ก็เยอะแล้วนะแล้วทำไมยังต้องเรียกตัวเองเป็นสิ่งใหม่อีก จริงๆ มันเป็นคำถามที่ไม่ควรถามเพราะเวลาเราเลือกหยิบยืมอะไร แสดงว่าอัตลักษณ์นั้นมันสะท้อนตัวตนและความรู้สึกปลอดภัย สังคมควรจะเรียนรู้เรื่องความหลากหลายของผู้คน ไม่ใช่บอกผู้คนว่าคุณไม่ควรเป็นอะไรมากกว่านี้”
เพราะเพศไม่ได้มีแค่ชายและหญิง กลุ่ม non-binary ที่ปฏิเสธการแบ่งอัตลักษณ์หรือสำนึกทางเพศ (gender identity) แบบขั้วตรงข้ามชาย-หญิง จึงออกมาเคลื่อนไหวเพื่ออธิบายสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่
คิว-คณาสิต พ่วงอำไพ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Non-binary Thailand และเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘นอกกล่องเพศ ; NON-BINARY’ ก็เช่นกัน เขาออกมาสื่อสารเรื่อง non-binary ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์เป็นเวลากว่า 5 ปี ในช่วงหลังนี้เขามองว่าสังคมไทยยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากอย่างก้าวกระโดด แต่ในด้านทัศนคติ สิทธิและความเท่าเทียมก็ยังคงเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องเรียกร้องต่อไป
คิวในวัย 32 ปี เรียกตัวเองว่า นักขับเคลื่อนสิทธิของบุคคลนอนไบนารี่และกลุ่มคนชายขอบ เราชวนคิวมาคุยในฐานะ non-binary แต่คิวบอกกับเราว่า จริงๆ แล้ว “เขา” ไม่สามารถเป็นตัวแทนของ non-binary ทั้งหมดได้ เพราะ non-binary นั้นหลากหลายมาก (คิวให้ใช้คำแทนตัวว่า “เขา” ได้ ในความหมายที่เป็นคำกลางๆ ไม่ได้เจาะจงเหมือน “เขา” ที่ใช้แทนผู้ชาย หรือ “เธอ” ที่ใช้แทนผู้หญิง)
เมื่อเกริ่นกับคิวว่าจะคุยกันไม่ใช่แค่เรื่องตัวตน แต่จะขอความเห็นไปจนถึงเรื่องซีรีส์วาย และความรัก เขาบอกว่า ดีเลย เพราะเขาเองก็ไม่ค่อยได้พูดเรื่องอื่นๆ มาก่อนนอกจากอธิบายความเป็น non-binary ให้สังคมเข้าใจ
คุณคิวค้นพบตัวเองว่าเป็น non-binary ตั้งแต่เมื่อไร
คำถามนี้เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อย แต่ก็ตอบยากและตอบไม่เหมือนกันทุกครั้งเลย ถ้าค้นพบคำในความหมายของ non-binary ก็เมื่อประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมานี้เอง แต่ตัวตนที่เป็น non-binary ของคิวเป็นมาตั้งแต่เกิด เพราะเราตระหนักรู้มาตั้งนานแล้วว่าตัวเราไม่ใช่ผู้หญิงและผู้ชาย เรามีการแสดงออกแบบ feminine (ไปทางผู้หญิง) ตั้งแต่ 7 ขวบ อันนี้คุณยายเป็นคนบอกคิวแล้วก็ไปค้นเจอรูปสมัยตอนเด็ก เราพอยต์เท้า เราปากแดง ยิ่งกว่าตอนนี้อีก ซึ่งเราไม่รู้ตัวนะ เราจำไม่ได้ด้วยว่าตอน 7 ขวบเราเป็นแบบนั้น เราค้นพบว่าเป็น non-binary ตั้งแต่ 7 ขวบแล้ว แต่คำนิยามนี่เรามาค้นพบจากโลกอินเตอร์เน็ต
จริงๆ เรารู้ตัวมานานแล้วแหละ นิยามใดๆ ก็ตามที่มีอยู่ในสังคม ณ ตอนนั้น เช่น กะเทย เกย์สาว ตุ๊ด หรือคนข้ามเพศ เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเราทั้งนั้น แล้วเราล่ะเป็นอะไร เราก็เลยค้นหาตัวเองว่ามันจะมีมั้ยคำอื่นที่ใช้นิยามตัวตนของเรา ตอนนั้นรู้สึกอึดอัดมาก เพราะเราเลือกนิยามไม่ได้ แล้วเท่าที่มีอยู่ นิยามที่ใกล้เคียงตัวเราก็คือ เกย์สาว เพราะเรามีความ feminine แต่เกย์ก็จะเหมือนเหยียดเรา เราก็ไม่ค่อยพอใจสักเท่าไร ถ้ารู้กันในกลุ่มเกย์ เกย์กระแสหลักก็คือต้องเป็นเกย์แมน จะเป็นบทบาททางเพศอะไรก็แล้วแต่ จะรุกจะรับ ก็ต้องเป็นเกย์แมนถึงจะได้รับการยอมรับ แต่เกย์สาวเหมือนเป็นคำเหยียด ประมาณว่า แกไม่ใช่เกย์จริงๆ หรอก จริงๆ ก็เป็นพวกตุ๊ดที่แต่งตัวมาเพื่อจะหากิน เราก็ไม่ได้รู้สึกชอบใจนะ เรารู้สึกว่า การใช้อัตลักษณ์ตัวนี้มันคือการถูกเหยียด ถูกลดทอนคุณค่า เป็นเกย์แหละ แต่ก็เป็นอีกคลาสนึง ในขณะที่เราก็ไม่ได้เป็นเหมือนผู้หญิงข้ามเพศ เวลาเราไปอยู่ในกลุ่มกะเทย เขาก็จะเรียกเราว่า กะเทยง่อย ก็คือกะเทยที่ไม่สามารถ หรือไม่มีความสนใจใดๆ ที่จะกลายเป็นผู้หญิงที่สวยและดีตามขนบได้ แล้วแน่นอนว่า เราก็ไม่ใช่ผู้ชายอยู่แล้ว เราก็ไม่ได้รับการต้อนรับใดๆ จากสังคมชาย-หญิงอยู่แล้ว
คุณคิวคิดว่าทุกวันนี้ non-binary เป็นชายขอบมั้ย
เป็นแน่นอนค่ะ เป็นชายขอบของชายขอบด้วย เรารับรู้ได้เลยตลอด 5 ปี โอเค สถานการณ์วันนี้เหมือนจะดีขึ้น เหมือนสังคมจะรู้จักคำว่า non-binary มากขึ้นก็จริง แต่เมื่อเทียบกับเมื่อก่อน ตอนนี้ในเรื่องสิทธิมันยังไม่ได้ก้าวหน้าไปไหน non-binary ยังเป็นชายขอบในกลุ่มของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เวลาเราพูดถึง LGBTIQ ตัวอักษร N ของ non-binary มันยังไม่ได้อยู่ในนั้นเลย แม้กระทั่ง LGBT เอง คนยังไม่รู้เลยว่าตัวอักษรแต่ละตัวมันสื่อสารถึงกลุ่มไหนด้วยซ้ำ แล้วของเราเองไม่มีตัวอักษรในนั้น คุณคิดดูว่าคนจะเข้าใจถึง non-binary ได้มั้ย
ในมุมมองของเรา เรารู้สึกว่า เราเป็นชายขอบของสังคม cisgender heterosexual (คนตรงเพศมีรสนิยมรักต่างเพศ) แต่ในกลุ่มของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเอง LGBT คนอื่นๆ อัตลักษณ์อื่นก็ไม่รู้จักหรือพยายามทำความเข้าใจว่า non-binary คืออะไร หรือเป็น non-binary เพื่ออะไร มีตัวตนอยู่จริงด้วยเหรอ มีปัญหาหรือเปล่า หรือแค่อยากจะตั้งขึ้นมาเก๋ๆ
มันก็เป็นปัญหาที่เราเองรู้สึกว่า อุ้ย คนที่เป็น LGBT ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต้องเข้าใจเราสิว่าเราเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเหมือนกัน แต่เปล่าเลย เขาก็ไม่เข้าใจเราเหมือนกัน ไม่ต่างอะไรกับในสังคม
เพราะฉะนั้นในมุมมองของกลุ่ม non-binary อยากให้สังคมมองเรื่องเพศอย่างไรบ้าง
แน่นอนเลยก็คือ สังคมต้องหลุดพ้นจาก gender binary (การแบ่งเพศเป็นสองขั้วตรงข้ามคือ ชายและหญิง) ก่อน เพราะสังคม ไม่ใช่แค่ไทยด้วยนะ สังคมโลกถูกครอบงำด้วยแนวคิดแบบสองเพศแบบขั้วตรงข้าม มันทำให้ทุกอย่างถูกตัดสิน ถูกกำหนดไปหมดว่าบุคคลเกิดมาเป็นมนุษย์ มีเพศกำเนิดนี้เป็นผู้หญิง มีเพศกำเนิดนี้เป็นผู้ชายก็ต้องมีบทบาท กฎเกณฑ์ หน้าที่แบบไหน ถ้าสังคมยังตั้งหลักและถูกครอบงำด้วยชุดแนวคิดนี้ หรือจะเรียกว่าค่านิยมก็แล้วแต่ มันย่อมเป็นปรปักษ์ต่อการที่จะเปิดรับ เข้าใจความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น non-binary ทุกๆ ความหลากหลายในเรื่องของแรงปรารถนาทางเพศ ทางใจ การแสดงออกใดๆ ก็ตาม
รวมถึงเพศชาย เพศหญิงด้วย?
ถูกต้อง เพราะเขาเองก็ถูกครอบด้วย gender binary ไง ว่าผู้ชายจะต้องเข้มแข็ง จะต้องเป็นผู้นำ ผู้หญิงต้องทำงานบ้าน ต้องสวย รักสวยรักงาม อ่อนหวาน มันก็จะมีกรอบเกณฑ์ ซึ่ง gender binary นี้เองที่สร้างปัญหาให้กับคนทุกคนในสังคม มันจะมีแหละคนที่สามารถเป็นไปตามค่านิยมของ gender binary ได้ และได้รับประโยชน์จากการเป็นสิ่งนั้น คือคุณสามารถเป็นผู้ชายตามบรรทัดฐานได้ คุณก็มีความก้าวหน้าตามบรรทัดฐานของสังคม แต่กลุ่มคนที่ไม่สามารถเป็นไปได้ล่ะ เขาเป็นยังไง
ถ้าเรามองอีกแบบนึง ลบบรรทัดฐานพวกนั้นออก ไม่ต้องเอาความเป็นชายมาใส่ในเพศชาย ชายไม่ต้องแข็งแรงบึกบึนก็ได้ จะยังมีปัญหาอยู่มั้ยสำหรับ non-binary
มีค่ะ เพราะว่ายังไม่หลุดพ้นจาก non-binary นะ สิ่งที่คนแค่พ้นมันคือ gender role (บทบาททางเพศ) มันเป็นลูกสมุนของ gender binary ถ้าบทบาทหายไป แต่ถ้าสังคมยังเชื่อในความเป็นผู้ชาย-ผู้หญิงตามเพศกำเนิดอยู่ นั่นก็คือการลดตัวตนของ non-binary ก็จะไม่มีทางเข้าใจกลุ่มคนที่ไม่ใช้ผู้ชายและผู้หญิงอยู่ดี สุดท้าย non-binary ก็อาจจะถูกมองเป็นพวกเพ้อเจ้อ เป็นผู้ป่วย เป็นคนวอนนาบี (wanna be) อยากจะมีตัวตนในสังคมรึเปล่า โอเค สถานการณ์มันอาจจะดีขึ้นกับคนที่เป็น cisgender heterosexual (คนตรงเพศมีรสนิยมรักต่างเพศ)
ตอนนี้คุณคิดว่า สังคมไทยมองเรื่องเพศเปลี่ยนไปมั้ย ดีขึ้นมั้ย
เปลี่ยนไป อันนี้เทียบกับช่วงชีวิตของคิวเอง เพราะคิวเองมีประสบการณ์ตรงในเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติ อคติ ตีตราต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ทับซ้อน คือ ในฐานะที่เรามีมุมมองกับสังคมว่าเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่แล้วกับตัวเราที่เป็น non-binary มันก็จะซับซ้อนขึ้นไปอีก
ถามว่า สังคมมันเปลี่ยนไปมั้ย แน่นอนค่ะ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และเปลี่ยนไปในช่วงหลังๆ เนี่ยเร็วขึ้นนะ ในเรื่องของความเข้าใจ แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องสิทธิทางกฎหมายที่ยังถูกแช่แข็งไว้เหมือนเดิม ไม่ต่างไปจากเมื่อ 10 หรือ 20 ปีก่อนเลย แต่ความเข้าใจในสังคมนี้เริ่มมาแล้ว เริ่มเข้าใจมากขึ้น ซึ่งแน่นอน..ความเข้าใจในสังคมมันเป็นรากฐานที่สำคัญคือจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายขึ้นในวันหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะว่าโลกของเราเชื่อมต่อกันแบบไร้พรมแดนมากขึ้น ต้องขอบคุณในเรื่องของอินเทอร์เน็ตจริงๆ เพราะมันทำให้เราค้นพบข้อมูลแล้วก็ชุมชนความหลากหลายทางเพศที่อยู่ในโลกโซเชียลได้ไวขึ้น ได้มากขึ้น การได้แลกเปลี่ยนสร้างชุมชนอะไรกันขึ้นมา ทำให้มีพื้นที่ปลอดภัยที่จะแลกเปลี่ยนสร้างความเข้าใจ จากเดิมไม่มีอินเทอร์เน็ต เราไม่รู้จะเดินไปทางไหน หาคนที่เป็น non-binary ตรงไหน แล้วใครที่จะบอกเราว่าเป็น non-binary เพราะว่าการที่เราบอกว่าเราเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศมีผลกระทบต่อตัวเรา ใครที่อยู่ๆ จะเดินมาบอกนั้นไม่มีหรอก
gender fluid เป็นส่วนหนึ่งของ non-binary มั้ย หรือว่าเป็นคาแรกเตอร์หนึ่งด้วยมั้ย
เราต้องแยกกัน มันมี 2 คำ gender fluid กับ gender fluidity เป็นคนละเรื่อง gender fluidity จะพูดถึงความลื่นไหลทางเพศในเรื่องของสำนึกทางเพศว่าคนเรามันมีโอกาสนะที่จะเปลี่ยนแปลงสำนึกทางเพศหรือรูปแบบพฤติกรรมทางเพศของตัวเราได้ คนที่ไม่เปลี่ยน ถามว่ามีมั้ยก็มีแหละ แต่มันก็มีโอกาสไง นั่นแปลว่าเราจะมาบอกว่า ฉันจะเป็นผู้ชายแท้ไปตลอดกาลก็อาจจะไม่ใช่ก็ได้นะ คือถ้าเราเชื่อในเรื่องของ fluidity จะทำให้เรารู้สึกว่า สังคมเราทุกคนมันมีการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นการยอมรับต่อความหลากหลายทางเพศก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาเพราะว่าทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้
อันที่เป็น subset (ส่วนย่อย) ของ non-binary อันนั้นคือ gender fluid มันเป็น gender identity หมายถึงสำนึกทางเพศที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาในแต่ละช่วงสถานการณ์ เช่น วันนี้รู้สึกเป็นผู้ชายแต่งตัวบอยๆ ออกบ้าน กลับมานอนบ้านตื่นเช้ามารู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิง แต่งตัว feminine ออกบ้านสลับไปมาตามแต่สถานการณ์ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องสลับกันระหว่างชายและหญิงเท่านั้นแต่จะลื่นไหลกับสำนึกใดก็ได้ที่มีภาวะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ เป็น non-binary พรุ่งนี้เป็นผู้ชาย หรือจาก non-binary อัตลักษณ์ที่ 1 สู่ non-binary อัตลักษณ์ที่ 2 มันเป็นหนึ่งในกลุ่มของสำนึกทางเพศ
คำว่า gender identity หลายคนจะเรียกว่าอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ แต่ที่คิวใช้คำว่าสำนึกทางเพศเพราะว่าคำแปลความหมายของ gender identity มันคือสิ่งที่มนุษย์หนึ่งคนรับรู้อยู่ภายในของตัวเอง เป็นความรู้สึกลึกล้ำ ลุ่มลึกที่ไม่สามารถบอกได้ แต่บอกได้แค่ว่า เราเป็นอะไรแค่นั้น แต่ว่าเพราะอะไรเราถึงเป็นเนี่ยตอบไม่ได้
แล้วมันเป็นหลักการสากลเลยที่เขาจะเรียกว่า self-determination ก็คือเขาให้ยึดว่าคนหนึ่งคนจะเป็นเพศสภาพใดตามแต่ที่เขาบอก ไม่ต้องมีการตั้งคำถามว่า ทำไมเธอถึงเป็น นี่คือหลักสิทธิมนุษยชน
เพราะฉะนั้น gender fluid ก็เป็นสำนึกทางเพศหนึ่งที่อยู่ในร่มใหญ่ที่เรียกว่า non-binary คือ non-binary เป็น gender identity ใช่มั้ย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นร่ม หรือ umbrella term (คำที่ให้ความหมายแทนโดยกว้าง) ของอัตลักษณ์หรือสำนึกทางเพศอีกมากมายหลายร้อยหลายพันที่อยู่ในนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึง non-binary เมื่อเทียบกับ LGBT แล้วมันใหญ่กว่าเยอะเลย มันรวมอัตลักษณ์มากมายจนไม่สามารถมี non-binary สักคนขึ้นมาพูดได้ว่าตัวเองเป็นตัวแทนของ non-binary ได้
non-binary แยกตัวเองออกจาก queer มั้ย
แยกค่ะ ต่างกันแน่นอน
ต่างกันยังไง แล้วมีอะไรคาบเกี่ยวกันมั้ย
จริงๆ เป็นคำถามยอดฮิตเลย ถ้าพูดแบบนี้ non-binary ฟังดูเป็นร่มใหญ่ แล้ว queer มันไม่ครอบคลุมถึงอีกเหรอ ขอตอบทีละประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง ทำไมเราถึงไม่เรียกตัวเองว่าเป็น queer หรือเรียกตัวเองว่าเป็นอย่างอื่น อย่างที่บอก เป็นหลักการ self-determination ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกนิยามที่เรารู้สึกปลอดภัย สบายใจ และเป็นตัวเองมากที่สุด หลายๆ ครั้งคิวจะเจอแบบนี้ อัตลักษณ์ที่มีอยู่ก็เยอะแล้วนะแล้วทำไมยังต้องเรียกตัวเองเป็นสิ่งใหม่อีก จริงๆ มันเป็นคำถามที่ไม่ควรถามเพราะว่าเรารู้สึกว่า เวลาเราเลือกหยิบยืมอะไร แสดงว่าอัตลักษณ์นั้นมันสะท้อนตัวตนของเราแล้วเรารู้สึกปลอดภัย เรารู้สึกกับสิ่งนี้ จริงๆ สังคมควรจะเรียนรู้เรื่องความหลากหลายของผู้คน ไม่ใช่บอกผู้คนว่าคุณไม่ควรเป็นอะไรมากกว่านี้
ทีนี้ queer กับ non-binary ต่างกันยังไง queer เนี่ยจะพูดถึงความเป็นขบถในเรื่องเพศ queer เป็นร่มที่ใหญ่ หลายๆ ครั้งที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือต่างประเทศ เอาไว้เรียกขบวนการ LGBT บางทีเขาก็จะไม่เรียกขบวนการ LGBTIQA อะไรแบบนี้ เขาจะเรียกเป็นขบวนการ queer เป็นร่มของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่พูดถึงความเป็นขบถ ขบถยังไงล่ะ ก็รักเพศเดียวกัน G ก็เหมือนกัน หรือ T เป็นเรื่องของ gender identity ที่ไม่สอดคล้อง ไม่ตรงเพศตามกำเนิด ก็ถือว่าเป็น queer ไปจากบรรทัดฐานของสังคม
ฉะนั้น queer เป็นร่มใหญ่ ฟังดูเป็นร่มใหญ่สุด ในขณะเดียวกัน นอกจาก queer จะเป็น umbrella term อย่างที่คิวบอก queer เองก็ยังเป็นอัตลักษณ์นึงด้วย คนถามว่าเธอเป็นอะไร LGBT บางคนก็บอกว่าฉันเป็น Q นะ ก็คือเรียกตัวเองว่า เป็นขบถในเรื่องเพศ แต่ไม่ได้เจาะจงว่าตัวเองขบถเรื่องไหน เคยได้ยิน SOGIEsc (Sexual Orientation, Gender Identity, Expression and Sexual Characteristics) มั้ย เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่เอาไว้สำรวจตัวตน ที่จะบอกว่า gender identity นะมันแยกจาก gender expression (การแสดงออกทางเพศ) นะ มันแยกจากเพศกำเนิดนะ มันแยกจากรสนิยมทางเพศ แต่ queer ไม่ได้บอกเราว่าเขาเป็น queer ด้านไหน
แล้ว non-binary ไม่ใช่ขบถ หรือว่าก็เป็น?
เป็นขบถเหมือนกัน แต่ non-binary บอกเราว่าเขาเป็นขบถเรื่อง gender identity เพราะฉะนั้นสองคำนี้มันทับซ้อนกันแล้วเราจะได้เห็นบ่อยๆ ในต่างประเทศว่า คนที่เปิดตัวเป็น queer และเป็น non-binary ด้วยก็จะมีอยู่จำนวนนึง อย่างคิว ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็น queer เพราะการที่เราเรียกตัวเองว่า non-binary ก็แปลว่าเราเป็นขบถในเรื่อง gender identity แล้วไง เรื่องอื่นเราอาจจะไม่ได้เป็นขบถก็ได้ เพราะว่าคนที่เป็น non-binary สามารถที่จะกลายเป็นมีลักษณะที่แสดงออกไม่ได้แตกต่างจากชายหญิงตามบรรทัดฐานสังคม รสนิยมก็อาจจะเหมือนกัน สมมติคนนึงเกิดมาเป็นเพศกำเนิดชาย เรามองไป การแสดงออกเขาก็เหมือนผู้ชายอื่นๆ ในสังคม เป็น masculine (มีลักษณะเป็นชาย) เขาก็ดูชอบผู้หญิงนะ แต่เขาบอกว่าเขาเป็น non-binary เอ๊ะ มันเป็นได้เหรอ ได้ค่ะ เพราะนั่นคือ gender identity ของเขา มันไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับ gender expression และ sexual orientation (รสนิยมทางเพศ) ของเขา เพราะฉะนั้นรูปแบบอื่นของเขาอาจจะไม่ใช่ queer ไง
gender expression ของคุณคิวเป็นยังไง
ก็จะออก feminine คำว่า gender expression มันมีหลายมิติด้วยนะ ถ้าเรื่องของการแต่งตัว คิวจะแต่งตัวแบบ androgynous ที่จะออกไปทาง feminine ก็คือผสมผสานระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง เสื้อผ้าบางทีอาจจะใส่กางเกง แต่เสื้อบางทีก็จะเป็นระบายพลิ้วๆ เป็นลูกไม้ ทาลิปสติกสีแดง แต่งหน้า หรือไม่ก็ feminine ไปเลย คือใส่กระโปรง แต่งหน้า แต่มันก็อาจจะไม่เลย คือผมไม่ได้ยาว ไม่ได้ออกไปทางผู้หญิงจ๋า อย่างกะเทยที่เป็นสาวข้ามเพศ แต่ก็มีเฉดไปทางนั้น ส่วนเสียง ปกติเขาก็จะเรียกเป็นเสียงกะเทยตุ๊ด คือฟังดูก็รู้ว่าไม่ใช่ผู้ชาย อันนี้ก็เป็นรูปแบบนึงของ expression เป็น androgynous voice ก็คือเสียงที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของเรา
แล้วคุณคิวชอบผู้ชายหรือผู้หญิง หรืออื่นๆ
ตอนแรกเราเป็นเกย์สาว คิวก็รู้สึกว่าเป็น non-binary พอเราเป็น non-binary แล้วมันควรจะใช้คำศัพท์ที่รักเพศเดียวกันไม่ได้แล้ว เราเป็น non-binary แล้วเพศเดียวกับเราคือใครล่ะ สมมติเราชอบผู้ชาย เราเป็น non-binary เขาเป็นผู้ชาย ไม่ใช่เพศเดียวกัน แต่ถามว่าผู้ชายเป็นเพศตรงข้ามกับ non-binary มั้ย ก็ไม่ใช่อีก เพราะการเป็น non-binary ไม่มีเพศตรงข้าม คำว่า เพศตรงข้ามหรือ heterosexual ในสังคมมันมีความหมายแค่หมายถึงชายกับหญิงเท่านั้น สมมติถ้าคุณเป็นหญิงข้ามเพศไปชอบผู้ชาย อันนี้คือคุณรักเพศตรงข้ามนะ คุณก็จะเป็น transgender heterosexual แต่พอเป็น non-binary ต้องสร้างคำใหม่ขึ้นมา เป็นเรื่องปกติ เพื่ออธิบายความหลากหลายทางรสนิยมของเรา
คิวก็จะเรียกตัวเองว่า… ถ้าเป็นรสนิยมหรือว่าแรงปรารถนาทางเพศและทางใจ คิวก็จะเป็น uranic แปลว่า non-binary ที่ชอบผู้ชาย ผู้ชายในที่นี้ก็ทั้ง cisgender (คนตรงเพศ) และ transgender นะ และ uranic ก็ชอบ non-binary ที่เขาเรียกว่า man-aligned non-binary และอื่นใดนอกจากนี้ยกเว้นผู้หญิงและ woman-aligned non-binary สำหรับ non-binary มันก็จะจำเพาะเจาะจงไงว่ารสนิยมของเราแบบนี้ ถ้าอันนี้ไม่ได้เลย ซึ่งคนที่ควรรู้ก็คือ non-binary ด้วยกัน มันซับซ้อนมากขึ้น
เราจะบอกได้มั้ยว่า non-binary มีแนวโน้มที่จะชอบ non-binary ด้วยกัน
บอกไม่ได้ ไม่มีแนวโน้มใดๆ มันมี non-binary ที่ไม่ชอบ non-binary เลย ก็มี แต่ฉันเป็น non-binary ไง จะชอบแต่ผู้ชายอย่างเดียว หรือผู้หญิงอย่างเดียว พอเห็น non-binary ด้วยกันแล้วไม่ปาร์ก (ถูกใจ) เลยก็มี เพราะฉะนั้นเรียกว่าแนวโน้มไม่ได้เลย มันเลยมีการสื่อสารไง ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วเรื่อง gender identity กับ sexual orientation มันเป็นอิสระต่อกัน ถ้าคุณเป็น non-binary มันไม่ได้แปลว่าคุณจะมีแนวโน้มชอบเพศใดเลยแล้วแต่คนที่เป็น non-binary คนนั้น อย่างคิวก็แบบนึง คนอื่นก็แบบนึง คิวไม่สามารถจะบอกได้ว่า ถ้าคนนี้เป็น non-binary เนี่ยเขาจะต้องมีการแสดงออกประมาณนี้
คุณคิวพูด “ค่ะ” เหมือนคุณกำลังมีสำนึกทางเพศไปทาง feminine ถูกมั้ยคะ
ไม่เกี่ยวค่ะ อันนี้ทางต่างประเทศเขาก็จะมีปัญหาเรื่อง pronoun (คำสรรพนาม) กัน
กำลังจะถามเรื่องภาษานี่แหละ คุณมองภาษาที่มีขึ้นเฉพาะสำหรับผู้ชาย สำหรับผู้หญิงยังไง
pronoun ในต่างประเทศเขาสู้กันมากที่จะใช้คำว่า they, them แต่ว่าประเทศไทยโชคดีที่ pronoun ของเราใช้คำว่า “เขา” ที่มันเป็นกลางทางเพศอยู่แล้วมันเลยไม่มีปัญหาเรื่องนี้ แต่กลับกันสังคมเรามีคำลงท้ายที่บอกเพศก็คือ คำว่า “ครับ” กับ “ค่ะ” นั่นแหละคือประเด็น ถ้าเราเป็น non-binary ที่ไม่มีส่วนใดของสำนึกที่ใกล้ชิดกับความเป็นชายเป็นหญิงเลย แน่นอนมันจะมี non-binary ที่เป็น woman-aligned คือ non-binary ที่ใกล้ชิดกับผู้หญิง เขาก็จะใช้ “ค่ะ” เขาก็จะไม่รู้สึกกระดากใจ โอเค ฉันเป็น non-binary จริง แต่ว่าส่วนนึงในสำนึกของฉันก็มีความเป็นผู้หญิงอยู่ด้วย แต่ถ้าเป็น non-binary ที่ไม่มีส่วนใดในสำนึกเลยที่เกี่ยวข้องกับผู้ชายหรือหญิง อย่างคิวเป็น maverique นี่คืออัตลักษณ์ย่อยในร่ม non-binary เราไม่มีส่วนใดของสำนึกในตัวเราที่ไปชิดใกล้กับความเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงเลย เป็นเอกเทศ แต่มีเพศอยู่ เพราะฉะนั้นเราไม่โดนใจหรอกกับคำว่า “ครับ” หรือแม้กระทั่ง “ค่ะ” ที่เราใช้อยู่ แต่สังคมมันมีตัวเลือกอะไรให้เราล่ะ บางคนบอกว่าถ้างั้นไม่ต้องลงเสียงสิ อย่าลืมว่าการลงเสียงครับ, ค่ะ ของเราเนี่ยนอกจากจะเป็นการระบุเพศแล้วยังเป็นเรื่องของมารยาทและความเป็นทางการด้วย คุณสามารถเขียนบันทึกหรือเอกสารราชการที่มันเป็นเกี่ยวกับระบบระเบียบโดยที่ไม่ลงท้ายได้มั้ย แทนที่คนจะเข้าใจว่าเราไม่ได้มีสำนึกที่ไม่ใช่ชายและหญิง คนจะเข้าใจว่าเราเป็นคนไร้มารยาท นี่คือสิ่งที่สังคมไทยต้องแก้ ก็คือต้องหาคำลงท้ายที่เป็นกลางทางเพศให้ได้และใช้ยอมรับในทางราชการได้
คุณเรียกร้องถึงการสร้างภาษาใหม่มั้ย
แน่นอน แต่อันนั้นคือในอนาคต เพราะตอนนี้ non-binary หลุดโลกสำหรับทุกคนแล้ว แต่แน่นอนในวันนึง อย่าว่าแต่ภาษาใหม่เลยค่ะ อาจจะต้องเป็นกฎหมาย ระเบียบรัฐ หรือโลกใหม่ด้วยซ้ำ แต่อันนั้นไว้ก่อน อาจจะเป็นการเคลื่อนไหวใน 5 ปี 10 ปี คือสุดท้ายแล้วถ้าคุณอยากจะเข้าใจ non-binary คุณจะต้องสร้างระบบภาษาที่อาจจะเรียกว่า เป็นกลางทางเพศก็ได้ ไม่ใช่ภาษาของ non-binary แต่หมายถึงภาษาที่สามารถสื่อสารเรื่องราวของทุกๆ เพศได้โดยที่ไม่ถูกกำกับความรับรู้หรือเป็นข้อผิดพลาดหรือข้อจำกัดของตัวภาษาเอง
ตอนนี้ซีรีส์วายกำลังมา คุณดูซีรีส์วายมั้ย
คิวไม่ดูซีรีส์วายค่ะ
แล้วคุณมองซีรีส์วายยังไง ยอมรับมั้ย
เป็นคำถามที่ต้องขอบคุณ ไม่เคยมีใครถามคิวเรื่องนี้มาก่อน คิวก็แยกเรื่องการยอมรับออกเป็นส่วนๆ เนอะ หนึ่ง ยอมรับในฐานะที่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลก โอเค เราปฏิเสธไม่ได้ว่าซีรีส์วายมีอยู่จริง มีฐานนิยม มีคนเขียนได้รับความนิยมอยู่ มีตัวตนอยู่ในแวดวงของการทำหนังภาพยนตร์และศิลปะ แต่ถ้ายอมรับในเรื่องของคุณค่าของการมีอยู่ของซีรีส์วาย อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม คิวเองจะไม่บอกหรอกว่า เราไม่ยอมรับ คือเราค่อนข้างเปิดกว้างนะ มีแนวโน้มที่จะยอมรับ
เพียงแต่ว่า ตอนนี้ซีรีส์วายเองยังมีปัญหาประเด็นหนึ่ง จริงๆ น่าจะเคยได้ยินไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์หรือว่าเฟซบุ๊กที่ว่า คุณหยิบยืมเอาตัวตนของเกย์ ซึ่งเกย์เนี่ยมีตัวตนอยู่จริง เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ คุณหยิบยืมเอาอัตลักษณ์ตัวตนไปใช้ในซีรีส์วาย แต่คุณปฏิเสธว่า ผู้ชายสองคนนั้นไม่ได้เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แค่เขารักกันโดยไม่มีเงื่อนไข ในขณะที่คุณเอาตัวตนนี้ไปเพื่อใช้ในการทำซีรีส์วาย ได้เงิน ได้ชื่อเสียง ได้ฐานแฟนคลับในระบบทุนนิยม แต่คุณกลับไม่ได้ส่งเสริมให้สิทธิของ LGBTQ+ โดยเฉพาะเกย์ในสังคมมันดีขึ้นเลย เพราะคุณเลือกที่จะบอกว่ามันไม่ใช่เกย์ มันเป็นจินตนาการ ผู้ชายที่รักกับผู้ชายเขาไม่ได้เป็นเกย์นะ ปกติเขาก็ใช้ชีวิตแบบ cisgender heterosexual แล้วอยู่ดีๆ เขามาปิ๊งกัน มันห้ามไม่ได้ มันไม่จำกัดเพศขึ้นมา ก็เลยรักกันเฉพาะคู่พระเอก-นายเอกเท่านั้นเอง ไม่ใช่เกย์
คุณปฏิเสธว่านี่ไม่ใช่ความหลากหลายเพื่อที่จะ romanticize (ทำให้เป็นเรื่องสวยงามโรแมนติก) มันว่านี่คือความรักที่ไม่จำกัดเพศ แต่คุณไม่ได้ส่งเสริมคุณค่าให้สังคมตระหนักเห็นถึงตัวตนที่มีอยู่ในสังคมจริงๆ ว่า เกย์ก็มีคุณค่า แทนที่คุณจะใช้อัตลักษณ์นี้ไปเลย ก็ยอมรับไปสิว่ามันคือซีรีส์เกย์ เป็นความรักที่เกิดขึ้นในสังคมจริงๆ
อันนี้มันอาจจะมีเรื่องลึกของผู้ที่เสพงานซีรีส์วาย คือสาวๆ ที่คิดว่า เป็นเกย์ไม่ได้สิ ถ้าเป็นเกย์ ฉันก็จินตนาการไม่ได้ ที่ฉันชอบซีรีส์วาย ฉันเห็นผู้ชายสองคน ฉันชอบทั้งคู่ เขาควรจะต้องเป็นผู้ชาย ฉันถึงจะเข้าถึงพวกเขาได้ ถ้าเขาเป็นเกย์ก็แปลว่าจินตนาการของฉันมันจบแล้ว ฉันก็จะเป็นผู้หญิงที่จะเข้าไปแทรกในความสัมพันธ์ของพวกเขาไม่ได้ หรือแทนตัวเองเป็นนางเอก นายเอกไม่ได้ มันก็เลยเป็นแฟนตาซีที่มาตอบสนองความต้องการของผู้หญิงโดยละทิ้งความเป็นจริงและละทิ้งการที่จะเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ และอีกประเด็นหนึ่งของซีรีส์วายก็คือ นักแสดงที่ใช้ cisgender heterosexual มาแสดงเพราะต่อยอดได้ แต่ไม่เปิดพื้นที่ให้เกย์ หรือ ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้แสดง
เพราฉะนั้นพระเอก-นายเอกไม่ใช่ตัวแทนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในชีวิตจริง?
ไม่ใช่ คุณกำลังบอกแค่ว่านี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในมิติของความโรแมนติกอะไรบางอย่างที่มันห่างไกลออกไป ไม่สื่อสารถึงอะไรเลย มันแค่จินตนาการของฉันเท่านั้น ก็เหมือนกับที่เราชอบคู่จิ้นชาย-ชายในวงการดาราเกาหลี แต่ถ้าเขาเป็นเกย์ขึ้นมาจริงๆ คุณก็รับไม่ได้ มันคือปรากฏการณ์เดียวกันคือฉันจิ้นให้เขารักกัน แต่ฉันไม่ได้ยอมรับความรักของเกย์ที่เป็น homosexual นะ นั่นจึงทำให้ซีรีส์วายในมุมมองของคิว ฟังดูมันอาจจะไม่เป็นมิตร ตราบใดก็ตามที่มันยังเป็นแบบนี้อยู่ เราไม่รู้สึกได้เลยว่ามันจะส่งผลดีให้กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังไง ในฐานะที่เราเป็นนักขับเคลื่อนสิทธิทางเพศเราก็คาดหวังว่าสิ่งที่มีกระแสอยู่มันจะช่วยตรงนี้ได้ อย่างน้อยๆ ตัวตนที่ถูกหยิบยืมไป เธอมองเห็นและยอมรับมันได้มั้ย
ความรักแบบคู่จิ้นชาย-ชายจะเป็นกระบอกเสียงให้ความรักของกลุ่ม non-binary ได้รึเปล่า
เป็นคำถามที่ดีมาก จะตอบแบบนี้นะคะ คือซีรีส์วายยังไม่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับชายรักชายได้เลย ชายรักชายที่หยิบยืมอัตลักษณ์จริงๆ จากสังคมมา คุณยังไม่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มนี้ได้เลย แล้วคุณคาดหวังจริงๆ เหรอว่าซีรีส์จะเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่ม non-binary ได้ และ non-binary เองก็มีรูปแบบความสัมพันธ์ที่มากกว่านี้ มันไม่ใช่แค่นี้ คือ หนึ่ง มันเป็นไม่ได้อยู่แล้วด้วยตัวคุณสมบัติของการจิ้นแบบนี้ สอง ที่หยิบอัตลักษณ์มาใช้มันก็ยังเป็นไปไม่ได้เลยแล้วยังจะคาดหวังอีกเหรอ
แล้วข้อดีที่คุณคิวมองเห็นในซีรีส์วายคืออะไร
ข้อดีของซีรีส์วาย คิวมองตรงที่ว่า ซีรีส์วายได้รับความนิยมใช่มั้ย มีฐานลูกค้าจำนวนนึง มันดีตรงที่มันสามารถที่จะตอบสนองจินตนาการของผู้คน สร้างความนิยมได้ ถ้าเราเติมส่วนสำคัญที่คิวบอกลงไป คือเปลี่ยน mindset (วิธีคิด) หรือปรับ ค่อยๆ พัฒนาให้ซีรีส์วายเป็นมากกว่าแค่ความรักในจินตนาการ ให้เป็นตัวตนความรักของคู่ที่เป็น homosexual จริงๆ ในสังคม นั่นแปลว่า เอาตัวตนและการต่อสู้ของเกย์เข้าไปในซีรีส์จริงๆ เพื่อให้เป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกัน ถ้าทำแบบนี้มันก็จะมีคุณค่าขึ้นมาทันที เพราะว่าซีรีส์วายเป็นที่นิยม แต่ประเด็นที่ตั้งคำถามต่อก็คือ ถ้าเราทำแบบนี้ความนิยมของซีรีส์วายอาจจะดับลงไปเลยก็ได้ เพราะเหตุผลที่ได้รับความนิยมนั้นเป็นเพราะเป็นการปฏิเสธรึเปล่า อันนี้เป็นคำถามของเราเอง พอเราพยายามที่จะทำแบบนี้ ทุกคนบอกโอเค แก้กันเถอะ พอแก้เสร็จปั๊บ ซีรีส์วายหายไปเลย มันอาจจะไม่ได้รับความนิยมอีกก็ได้
เราบอกได้มั้ยว่า สาววายอาจจะไม่เข้าใจ non-binary
ไม่ได้
คือมันอาจจะเป็นความชอบหนึ่งของเขา?
ใช่ จริงๆ แล้วเขาอาจจะเข้าใจเรื่อง homosexual ดีเลยแหละ แล้วก็อาจจะยอมรับสิทธิของเกย์ด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าในมุมมองเขามันต้องแยกกัน อันนี้คือพื้นที่จิ้นของฉัน ฉันจะจิ้นฉันจะเสียหายอะไรมั้ย คือฉันจะชอบแบบนี้ แต่ในขณะที่ในสังคมฉันก็ไม่ได้เพิกเฉยนะ ฉันก็สู้เรื่อง LGBTQ เพียงแต่ว่าเธอไม่เอาสองเรื่องนี้มารวมกันได้มั้ย บางทีสาววายเป็นคนที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าในพื้นที่นั้นเขามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวที่เขาจะจิ้นและแยกเรื่องนี้ออกจากกัน non-binary ก็ไม่ได้เชื่อมโยงกับซีรีส์วาย ฉะนั้นมันก็จะมีทั้งคนที่เก็ตเรื่องเราและไม่เก็ต
แล้วนิยามความรักของ non-binary เป็นยังไง
อันดับแรก คิวก็คงต้องพูดในฐานะที่เป็นนิยามความรักของตัวคิวที่เป็น non-binary แล้วกัน เพราะคิวไม่สามารถเป็นตัวแทนของ non-binary ทุกกลุ่มได้ และโดยเฉพาะ aromantic non-binary ที่เขาไม่มีแรงดึงดูดทางใจกับใครยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพูดเรื่องนี้ที่เราจะเป็นตัวแทนของเขา
ถ้าอย่างนั้นนิยามความรักของคุณคิวเป็นยังไง
เป็นคำถามที่ตอบยากมากเลย เหมือนคำถามปรัชญา จะตอบว่ายังไงดี นิยามความรักนี่หมายถึงว่ายังไง คือมุมมองต่อความรักเหรอ
แบบนั้นก็ได้ เช่น บางคนเขาจะบอกว่า ความรักไม่จำกัดเพศ ถ้าเราจะรัก ก็รักได้
โอเค สำหรับคิว คิวไม่ค่อยโดนใจกับคำว่า ความรักไม่จำกัดเพศเท่าไร เหตุผลเพราะว่าไม่ว่าจะเป็นความรักต่อเพศใด หรือไม่เน้นเรื่องเพศ หรือไม่มีความรัก ในความหมายที่ว่าไม่มีแรงดึงดูดทางใจกับใครเลย ก็ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าเหมือนกันหมดในรูปแบบความสัมพันธ์แบบคู่รัก มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ คือจะไม่ยกตัวขึ้นมาว่า คนที่มีความรักดีกว่าคนที่ไม่มีหรือคนที่เข้าไม่ถึงมัน มันเป็นคำตอบเชิงในคุณค่าและเปรียบเทียบ
เราจะไม่ชอบคำประมาณว่า มนุษย์ต้องมีหัวใจ ทุกคนต้องมีความรัก คือมันจำเป็นเหรอ แล้วการที่ฉันไม่มีความรักแปลว่าฉันสูญเสียคุณค่าเหรอ มันก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นมุมมองของคิวต่อความรัก ก็จะเป็นว่า ความรักมีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกัน ไม่ว่าคุณจะรักใครที่ตัวตนของเขา ไม่ว่าคุณจะรักใครโดยที่ไม่สนใจเรื่องเพศของเขา ไม่ว่าคุณไม่สามารถที่จะมีแรงดึงดูดทางใจกับเพศอื่นได้ หรือไม่มีความรู้สึกเรื่องนี้ก็ไม่ได้แปลว่าคุณเป็นคนที่มีคุณค่าน้อยกว่าคนอื่น เราจะสื่อสารอย่างนี้ คนที่มีความรักก็ดีค่ะ คุณจะได้รักใคร หัวใจคุณเรียกร้อง มีความรัก มีความสุข แต่ในขณะเดียวกันคนที่ไม่มีความรัก คุณไม่ต้องมานั่งทุกข์ระทมอะไรทั้งสิ้น ถ้าคุณไม่ได้โหยหามันนะ คือมันไม่เหมือนกันนะ ที่คิวพูด คิวหมายถึงว่าคนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางใจ คนที่เป็น aromantic ไม่ผิด แต่โอเค คนที่อยากมีความรักแต่ไม่ได้รักมา แน่นอนก็ต้องทุกข์อยู่แล้ว
ขอขยายความนิดนึง ที่พูดกันว่ารักไม่จำกัดเพศ คิวไม่รู้สึกดีเท่าไร บางทีเรารู้สึกว่า ฉันเป็น non-binary ถ้าใครสักคนจะมารักฉัน ฉันก็อยากให้เขารู้ว่าฉันกำลังรักกับ non-binary คนนี้อยู่ ไม่ใช่ว่ารักกับเพศไหนก็ได้ คือมันฟังดูเหมือนจะโรแมนติกนะ แต่ในความรู้สึกคิวมันเหมือนกับว่าเราถูกลบตัวตนบางอย่างออกไป
เราพูดถึงเรื่องสำนึกทางเพศ การแสดงออกทางเพศ การที่เราจะเข้าใจ non-binary เราต้องทำความเข้าใจเรื่องอื่นใดอีกมั้ย
อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ non-binary มันเป็นหมวดเดียวที่คุณต้องเข้าใจเลยคือ gender identity แล้ว gender identity ก็คืออย่างที่บอก คุณจะเข้าใจได้อย่างไรถ้าคุณไม่มีประสบการณ์ร่วมตรงนั้น อย่างเดียวก็คือ รับฟังและเชื่อในสิ่งที่เขาบอกด้วยหลักการของ self-determination คุณไม่ต้องตัดสินหรอก คุณรับฟัง เรื่องราวของเขา เหตุผลอะไรที่คุณอยากรู้ก็รับฟังมัน แต่คุณไม่มีสิทธิไปบอกเขาว่าเขาใช่หรือไม่ใช่
นอกจากเรื่อง gender identity แล้ว สิ่งหนึ่งที่คุณต้องมีเยอะๆ เลยก็คือการเปิดใจรับฟังค่ะ โดยไม่ตัดสินตีตราและการจินตนาการถึงความเป็นไปได้นอกกรอบกล่องเพศ อันนี้ยากนะ สำหรับคนที่โตมาในสังคมที่เป็นชายหญิง หรือ gender binary แม้กระทั่ง non-binary เอง
แล้วคุณจะจินตนาการออกว่ามันมีมนุษย์สักคนหรือกลุ่มหนึ่งที่มันนอกเหนือไปจากนี้ เหตุผลนึงไม่ใช่คุณไม่เข้าใจ แต่คุณปิดกั้นความเป็นไปได้หรือจินตนาการที่จะพาคุณเปิดโลกไปสู่ non-binary ซึ่งมันไม่ได้ผิดซะทีเดียว เพราะสิ่งที่มันเกิดขึ้นในตัวคุณ มันเกิดจากการที่คุณถูกหล่อหลอมมาด้วยแนวคิดแบบ gender binary มาทั้งชีวิต แม้กระทั่ง non-binary เองก็ยังยากลำบากที่จะเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะเราถูกสอนมาแบบนี้ให้ปิดรับความเป็นไปได้นอกกรอบกล่องเพศ อันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเพศเรื่องเดียว มันหมายถึงทุกๆ เรื่องด้วยเพราะในสังคมปัจจุบันมันมีความหลากหลายเกิดขึ้นเยอะ สิ่งที่เราดีรับการถ่ายทอดหรือปลูกฝังมาจากเดิม บางครั้งมันกลายเป็นอุปสรรคที่จะทำให้เราเปิดใจ เรียนรู้ และยอมรับสิ่งใหม่ๆ ที่มันเกิดขึ้นโดยที่ยังไม่ทันได้พูดคุยแลกเปลี่ยนด้วยซ้ำ ไม่ได้แล้ว ตัดสินไปก่อนจากประสบการณ์ จากสิ่งที่สังคมบอกว่า ใช่ บอกว่าดี บอกว่าสิ่งนี้ต้องเป็นแบบนี้ มันปิดกั้นคุณจากการเข้าใจกลุ่มคนใหม่ๆ ที่คุณรู้สึกว่าเขาแปลกออกไป
เมื่อคนที่เป็น non-binary โตมาในสังคมที่มีความเชื่อว่าเพศคือชายและหญิง จะเกิดอะไรขึ้น
ทุกวันนี้เราก็เกิดมาเป็นแบบนั้น แต่คำถามนี้คือถ้าไม่มีการค้นพบเลยใช่มั้ย แบบนี้ก็ตาย ชีวิตแย่แน่นอนค่ะ นึกถึงตัวเอง ประสบการณ์ของคิว คิวจะตกอยู่ในบ่วงเวรบ่วงกรรมมาก ถ้าในสังคมจริง มันก็คือประวัติจริงของคิวนั่นแหละ
เราโตขึ้นมาในค่านิยมชายหญิง เราพบความหลากหลายทางเพศก็จริง แต่เราก็จะรู้สึกว่าเราไม่มีคุณค่า ไม่มีความมั่นใจ ทุกวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นและยังส่งผลกระทบกับคิวก็คือเรื่องความเชื่อมั่นในตัวเอง การกล้าแสดงออก การพูดจา
คือคิวรู้สึกได้เลยว่า คิวมีความมั่นใจในการที่จะไปพูดหน้าชั้นเรียนหรือพูดในที่สาธารณะไม่เท่าคนอื่น เหตุผลนึงเพราะเรื่อง gender (เพศ) สมัยเด็กๆ เราไม่อยากจะพูดกับใคร เพราะถ้าเราพูด เราแสดงออกพฤติกรรมอะไรมากๆ เขาจะรับรู้ว่าเราเป็น LGBT แล้วเราก็จะถูกล้อ ครูบอกว่าเป็นสิ่งที่ผิด ทำให้เราไม่มีความกล้าค่ะ เรารู้สึกว่า เราไม่อยากพัฒนาความสามารถทางด้านนี้ด้วย หลายคนอาจจะบอกว่าไม่เกี่ยว แต่เราว่ามันเกี่ยวเพราะมันทำให้คิวไม่กล้าเลย
คนอื่นอาจจะบอกว่ามันเป็นเรื่องทักษะทั่วไปของทุกคน แค่ฝึกเราก็จะทำได้ดีขึ้น ไม่ เพราะเธอมีพื้นที่ไง เพราะเธอเป็น cisgender heterosexual เวลาไปพูดหน้าชั้นเรียน เธอไม่ถูกล้อเรื่อง gender แน่ๆ ของคิวนี่โดนล้อแน่ โตมาในโรงเรียนชายล้วน อาจารย์มองว่า กะเทยคือดอกไม้ประดิษฐ์ประดับโรงเรียน คุณคิดว่าคนที่เป็นอย่างเราจะกล้าออกไปพูดจาฉะฉานหน้าชั้นเรียนมั้ย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นถ้าเราโตมาในสังคมที่มีความเชื่อว่าเพศมีแค่สองเพศ ส่วนความแตกต่างจากนี้คือความผิดปกติ มันจะทำให้กลุ่มเด็กที่เป็น non-binary เป็น LGBT หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ โตขึ้นมาขาดความมั่นใจ มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต เรื่องโรคซึมเศร้า เรื่องการเข้าสังคม
นี่เป็นเหตุผลนึงที่คิวต้องสู้เรื่อง non-binary ต้องตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ได้แลกเปลี่ยนกัน ถ้าไปอยู่ที่อื่น เวลาพูดว่าฉันเป็น non-binary เมื่อ 5-6 ปีก่อน คิวเจออะไร หนึ่ง เป็นบ้า สอง พอคุยกับ LGBT ด้วยกันมันคงเป็นแฟชั่นแหละเดี๋ยวก็หาย ตัวตนของเราเป็นแค่แฟชั่น เป็นสิ่งที่มันฉาบฉวย หรือ LGBT ที่เรียกตัวเองว่า queer ก็บอกว่า เธอจะเป็นอะไรเพิ่มขึ้นมา เธอรู้มั้ยการที่เธอจำแนกตัวเองขึ้นมาเพิ่มมันสร้างปัญหาให้กับสังคม กลายเป็นเราเป็นตัวปัญหา
ถ้าสังคมยังทำเหมือนกับว่าเราไม่มีตัวตน แน่นอนปัญหาของเราไม่มีทางได้รับการแก้ไข แน่นอนเด็กที่เป็น non-binary ไม่มีทางได้เชิดหัวขึ้นมาในสังคมนี้อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีได้หรอกถ้าคุณยังไม่ได้เรียนรู้ นี่คือสิ่งที่เราเจอจาก queer อันนี้กำลังจะสื่อสารว่าคนที่เป็น LGBTIQ ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะเข้าใจเราไปมากกว่าคนที่เป็น cisgender heterosexual มันก็มีปัญหากันคนละรูปแบบ
ตอนนี้เคลื่อนไหวเพื่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ทำกิจกรรมอะไรบ้าง
พอคิวค้นพบคำว่า non-binary เราก็คิดก่อนจะเอายังไงต่อดี แต่ตอนนั้นฉันเป็น non-binary คนเดียว ก็หาเพื่อนก่อน คนเดียวเราอาจจะรู้สึกว่าเราไม่สามารถตอบปัญหาทั้งหมดได้ว่ามันเป็นแค่อาการทางจิตรึเปล่า หรือว่ามันมีตัวตนจริงมั้ย คิวก็เริ่มต้นจากการหาเพื่อน คิวก็ได้เพื่อนกลุ่มนึง จากการลองถามคำถามอะไรบางอย่างทำให้เรามั่นใจว่าคนนี้มีแนวโน้มหรือมีโอกาสจะเป็น ก็แชทไปคุยกันส่วนตัว ทุกอย่างเกิดในเฟซบุ๊กนะคะ พอได้สักคนสองคน เราต้องการพื้นที่ปลอดภัยแล้วเพราะไม่ว่าเราจะไปพูดที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มข่าวความหลากหลายทางเพศที่พูดเหมือน LGBT ทุกคนมาปรึกษาได้ แต่พอเป็น non-binary ไปบอกว่าเป็นประสาทรึเปล่าคะ เรารู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัยแล้ว ก็เลยไปสร้างกลุ่มเอง สร้างกลุ่ม Non-binary Thailand ขึ้นมา เริ่มต้นจากการคุยกันก่อน คุยกันให้ตกผลึกก่อน เราสามคนไม่ได้บ้าไปจริงๆ อย่างที่เขาว่าใช่มั้ย เราจะยืนยันหลักการนี้ยังไงล่ะ ก็ศึกษาเพิ่มเติม ทฤษฎีนั่นทฤษฎีนี่เพื่อที่จะมายืนยันตัวตนของเรา
ถ้าเป็นมุมมองของคิวตอนนี้ คิวรู้สึกตลก คือหมายถึงว่า ฉันต้องค้นหาเพื่อมายืนยันในสิ่งที่ฉันเป็นทำไม ในเมื่อฉันก็เป็นตัวของฉันอยู่แล้ว แต่ว่าต้องให้ได้รับการยอมรับทางวิชาการไงหรือยอมรับในระดับนึง เราก็ต้องทำแบบนั้น พอตั้งกลุ่ม ศึกษากันเสร็จ ก็ได้เรื่องได้ราวแล้ว สร้างพื้นที่ปลอดภัยเสร็จ ต่อไปก็เริ่มต้นสร้างความเข้าใจในสังคมก่อน non-binary คืออะไร เริ่มมีนักข่าวมาติดต่อไปทำบทสัมภาษณ์
เราพูดมากขึ้นๆ ในเฟซบุ๊ก มันก็เริ่มมีคน เอ๊ะ non-binary คืออะไร มันคืออะไรนะ คนยังไม่รู้จักนะ แต่เห็นละคำว่า non-binary บางคนบอกว่าเรื่องมากเนอะ เพศมันก็คืออยู่ระหว่างขาเท่านั้นแหละ เราก็โดนด่าสารพัดเหมือนกัน
แต่อย่างน้อยๆ คำว่า non-binary เนี่ยเริ่มกระจายออกไปแล้ว แง่ดีหรือไม่ดีเราไม่รู้ แต่คนก็ยังไม่เข้าใจ เราเริ่มออกบทความไปสักพักนึงก็มีนักกิจกรรมจากกลุ่มกลุ่มหนึ่งที่เขาขับเคลื่อนรณรงค์อยู่ในภาคประชาสังคมจริงๆ นอกเหนือจากเฟซบุ๊ก เขาก็เห็น เขาก็ชวนเราไปทำงานเอ็นจีโอ เราก็ตกปากรับคำทันทีว่า โอเค ดีเหมือนกัน เพราะพื้นที่แค่เฟซบุ๊กมันคงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้แค่ระดับนึงนะ หลังจากนั้นเราก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในเวทีสาธารณะต่างๆ การจัดงานแคมป์ในพื้นที่ต่างๆ ของนักกิจกรรม ทำให้นิยามของ non-binary มันแพร่กระจายในหมู่นักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศและออกสู่สังคม แล้วก็ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ในระยะเวลา 5 ปี จริงๆ ก็ไม่ถึง 5 ปีด้วย ที่ผ่านมามันก็เสียเวลาไปกับการนั่งสร้างความเข้าใจและสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองไป 2-3 ปีแล้ว
เห็นว่าทำเพจด้วย ฝากเพจได้เลย
เพจ ‘นอกกล่องเพศ : NON-BINARY’ ก็มาติดตามได้ หรือว่าถ้าใครอยากจะเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยก็เรียนเชิญที่กลุ่ม Non-binary Thailand: กลุ่มนอนไบนารี่แห่งประเทศไทย เสิร์ชแล้วก็จะขึ้น ในกลุ่มก็จะพูดสัพเพเหระแต่ก็ปลอดภัยค่ะ