- เปิดคลินิกวัยรุ่นกับ หมอโอ๋ เลี้ยงลูกนอกบ้าน คุยกันเรื่องจิตวิทยาวัยรุ่น เริ่มตั้งแต่ปกติวัยรุ่นเข้ามาพบด้วยเรื่องอะไร, ความเชื่อที่ว่าวัยรุ่นต้องรู้จักตัวเองอย่างครบถ้วนบริบูรณ์นั้นจริงไหม ไม่เจอได้หรือเปล่า, วัยรุ่นกับการค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งมีผลต่อการยอมหรือไม่ยอมรับนับถือตัวเอง
- “ส่วนตัวไม่อยากให้วัยรุ่นรู้สึกว่าเราจะต้องรีบเจอตัวตน แต่อยากให้ใช้คำว่า ‘เราควรจะทำความรู้จักตัวเอง’ เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่เปลี่ยนผ่าน แต่เดิม (วัยอนุบาล วัยเด็ก) เราพัฒนาตัวตนผ่านคนเลี้ยงดู พอเป็นวัยรุ่นก็ค่อยเริ่มพัฒนาตัวตนผ่านตัวเอง ฉันชอบ/ไม่ชอบอะไร ถนัดอะไร รักอะไร จุดแข็งจุดอ่อนฉันคืออะไร เราก็พัฒนาตัวตนผ่านการรู้จักตัวเองมากขึ้น แต่การที่สังคมบอกเราว่าเมื่อเข้าวัยรุ่นแล้วเราต้องรู้จักตัวเองมากเพียงพอจนเราควรเลือกอะไรให้กับชีวิตตัวเองได้ …นี่มันทำให้เกิดความเครียดสูงมากเลยนะ”
- “คุณค่าภายในจะมาจาก 3 เรื่องหลัก คือ ตัวเขาเป็นคนที่มีคุณค่า, มีความหมาย และ มีศักยภาพ ฉะนั้นพ่อแม่ก็ต้องทำให้เขารู้ว่า การเป็นเขามันมีคุณค่ากับพ่อแม่ยังไง”
ถ้าบอกว่าวัยไหนคือวัยที่ถูกทำงานและให้ความรู้ในสัดส่วนที่น้อยที่สุด วัยพรีทีนกับวัยรุ่นอาจคือคำตอบนั้น ส่วนใหญ่เราอาจให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูเด็กวัยอนุบาลหรือปฐมวัยมากกว่า ทั้งที่ช่วงวัยรุ่นก็เป็นวัยเปลี่ยนผ่านทั้งเชิงภายภาพ ตัวตน (การรู้สึกถึงตัวเอง การรับรู้ต่อตัวเอง ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยที่มาจากเห็นว่าตัวเองเป็นใคร) และจิตใจ
พอดแคสต์ ‘ในโลกวัยรุ่น’ อีพีที่ 4 นี้ กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร บรรณาธิการเว็บไซต์ The Potential และผู้ดำเนินรายการ ชวนคุยกันถึง ‘จิตวิทยาวัยรุ่น’ โดยเฉพาะเรื่องการมองเห็นคุณค่าในตัวเองกับ แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ซึ่งคนส่วนใหญ่จะรู้จักเธอในฐานะกุมารแพทย์ และนักเขียน แต่จริงๆ แล้วเนื้องานหลักของคุณหมอคือ ‘หมอเด็กเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น’ ซึ่งมีคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาล และทำคลินิกวัยรุ่นในโรงเรียนด้วย
ในอีพีนี้ หรือ บทความนี้เราชวนคุยกันก่อนเรื่อง จิตวิทยาวัยรุ่น คลินิกวัยรุ่นที่คุณหมอทำงานนั้น ปกติวัยรุ่นจะเข้ามาพบด้วยเรื่องอะไร, ความเชื่อที่ว่าวัยรุ่นต้องรู้จักตัวเองอย่างครบถ้วนบริบูรณ์นั้นจริงไหม ไม่เจอได้หรือเปล่า, วัยรุ่นกับการค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งมีผลต่อการยอมหรือไม่ยอมรับนับถือตัวเอง
ชวนวัยรุ่นฟังเพื่อได้หาทางออกคลี่คลายการยอมรับนับถือในตัวเอง และผู้ใหญ่ควรฟังมากกว่าในฐานะผู้ที่ต้องอยู่และคอยซัพพอร์ตสนับสนุนทุกการเติบโตและค้นพบตัวเองของวัยรุ่น
สามารถรับฟังทาง Podcast คลิก
ส่วนใหญ่วัยรุ่นที่เข้ามาปรึกษา เขามาด้วยปัญหาอะไร หรือต้องการอยากรู้เรื่องอะไรบ้างครับ
ก็เยอะเลยค่ะ ตั้งแต่ตัววัยรุ่นเอง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ทางกายภาพก็เช่นการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวที่บางคนก็เข้าเร็วเข้าช้าไม่เหมือนกัน ความสูงเตี้ย สิว ประจำเดือนไม่ปกติ ส่วนด้านพฤติกรรม ก็เช่นการทะเลาะกับเพื่อน ปัญหาแกล้งกัน ปัญหากับพ่อกับแม่ ปัญหาเรื่องการเรียน ปัญหาความเครียด อีกส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหาพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เพศสัมพันธ์ ยาเสพติด ซิ่งมอเตอร์ไซค์
แต่ที่เยอะๆ เลยตอนนี้ เป็นปัญหาเรื่องสุขภาพจิต มีตั้งแต่เรื่องเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า รู้สึกไม่มีคุณค่า พวกนี้ก็จะเป็นปัญหาของวัยรุ่นเยอะ
แปลว่า ความเครียด ความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า เรื่องการเสพติด การไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นคล้ายๆ กับโรคประจำ หรือปัญหาประจำ เรียกว่าเรื่องนี้เรื่องธรรมดาไหมครับที่วัยรุ่นต้องเจอ
เป็นธรรมดาที่ต้องเจอ ต้องบอกว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง เช่น ด้านกายภาพ ความกังวลว่าเพื่อนสูงแล้วแต่เรายังไม่สูง เพื่อนยังไม่มีนมแต่เรามีแล้ว มันมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านตัวตนและทางกายภาพค่อนข้างเยอะ มันก็นำมาซึ่งความเครียดในส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้ก็มีปัญหาทางด้านการปรับตัวกับสังคม ความต้องการการยอมรับจากเพื่อน แถมต้องตามแฟชั่น ต้องอินเทรนด์ เพื่อนมีแฟนเราก็อยากมีด้วย เป็นปัญหาที่ต้องปรับตัวเข้าสู่สังคมรวมไปถึงต้องพัฒนาตัวเอง ฉันชอบอะไร ฉันอยากทำอะไร อีกเดี๋ยวต้องตัดสินใจเข้ามหาวิทยาลัย ต้องเลือกสายอาชีพ ต้องเลือกสายงาน มันอยู่กับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะฉะนั้นมันก็ทำให้วัยรุ่นเป็นวัยที่อาจจะมีความสับสนทางด้านความคิดค่อนข้างเยอะ
สนใจเรื่องการพัฒนาตัวตนครับ เหมือนว่า Self ของเขา หรือตัวตนของเขา มันยังค้นหาอยู่เนอะ ทีนี้ถ้าเขาไม่เจอมันจะส่งผลอะไร จะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเขา หรือปัญหาอะไรบ้าง
เอาจริงๆ วัยรุ่นก็เป็นวัยที่ถูกกำหนดว่าคุณจะต้องเจอตัวตนนะเพราะมันจะส่งผลกับทางเลือกในอนาคต การเลือกสายเรียน การเลือกอาชีพ การเข้ามหาวิทยาลัย แต่เอาจริงๆ หมอว่ามนุษย์เราพัฒนาตัวตนตลอดชีวิต เราค้นเจอตัวเราตลอดชีวิตเลยนะ คือ มันไม่ได้มีจุดว่าถ้าฉันเจอตัวเองในวัยรุ่นแปลว่าฉันได้เจอตัวเองแล้ว หลายคนมาเจอตัวเองคือทำงานเสร็จแล้ว เรียนจบแล้ว บางคนเจอตัวเองตอนได้มาทำอะไรที่รักตอนอายุ 50 กว่าก็มี
ฉะนั้นโดยส่วนตัวไม่อยากให้วัยรุ่นรู้สึกว่าเราจะต้องรีบเจอตัวตน แต่อยากให้ใช้คำว่า ‘เราควรจะทำความรู้จักตัวเอง’ เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่เปลี่ยนผ่าน แต่เดิม (วัยอนุบาล วัยเด็ก) เราพัฒนาตัวตนผ่านคนเลี้ยงดู พอเป็นวัยรุ่นก็ค่อยเริ่มพัฒนาตัวตนผ่านตัวเอง ผ่านการรู้จักว่าฉันชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อะไรที่ฉันถนัด อะไรที่ฉันรัก อะไรที่มันเป็น Passion ของฉัน อะไรที่ฉันทำได้ดี จุดแข็งของฉันคืออะไร จุดอ่อนคืออะไร เราก็พัฒนาตัวตนผ่านการรู้จักตัวเองมากขึ้น ทีนี้การที่สังคมบอกเราว่าเมื่อเข้าวัยรุ่นแล้วเราต้องรู้จักตัวเองมากเพียงพอจนเราควรเลือกอะไรให้กับชีวิตตัวเองได้ …นี่มันทำให้เกิดความเครียดสูงมากเลยนะ
การไม่เจอตัวเองทำให้เรากดดันตัวเอง เครียด
กดดันตัวเองมากเลย เพราะเอาจริงๆ เราคาดหวังกับวัยรุ่นเยอะมากเลยว่าอยากให้เขาเจอตัวตน อยากให้เขาเจอตัวเอง แต่ว่าชีวิตของเด็กวัยรุ่นบ้านเราคือ เช้าเรียนหนังสือ เย็นเรียนพิเศษ เสาร์-อาทิตย์ติวกวดวิชา เล่นหน้าจอ มันอยู่แค่นี้ มันจะไปเจอตัวตนยังไง เพราะฉะนั้นพื้นที่ของเด็กบางคนในการจะเจอตัวเองมันไม่เยอะพอ ไม่มีประสบการณ์เยอะพอที่จะรู้ว่าอะไรใช่ อะไรไม่ใช่
ส่วนตัวหมอเลยคิดว่าอยากให้เขาเข้าใจว่ามันเป็นวัยที่เขาควรจะทำความรู้จักตัวเอง แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะต้องเจอตัวเอง หลายครั้งการไปเจอตัวเองคือการเรียนรู้ว่าสิ่งนั้นมันไม่ใช่ มันก็เป็นการเจอตัวเองแบบหนึ่งนะ เราเป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์เราก็เจอว่า นักศึกษาแพทย์หลายคนเข้ามาด้วยความรู้สึกว่ามันใช่ แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่ มันก็เป็นการเจอตัวเองรูปแบบหนึ่ง หลายคนก็ออกไปทำอย่างอื่น หลายคนก็กัดฟันเรียนจนจบ แล้วก็ไม่เอาแล้ว ไม่เป็นหมอแล้ว แล้วก็ไปทำอย่างอื่น บางอย่างมันก็เจอผ่านประสบการณ์ อย่าไปกลุ้มใจกับมันมากว่าเรายังไม่เจอตัวเองซักที บางคนก็ไปเจอตัวตนตอน 30 40 อย่างตัวหมอ มาเจอตัวตนว่าชอบเขียนหนังสือตอนอายุ 30 กว่าแล้ว แล้วก็พบว่ามันเป็นงานที่รักมากด้วยนะ ฉะนั้นเราก็มาเจอ มารู้จักตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่อย่างน้อยเข้าใจว่ามันถูกบังคับให้เลือก เพราะฉะนั้นถ้าเจอตัวเองแล้วชัดก็ดี ถ้าเจอตัวเองแล้วไม่ชัดก็ค่อยๆ รู้จักตัวเองไป อะไรที่ไม่ใช่ก็ตัดออกไป อะไรที่อาจจะใช่ก็ลองเลือกมัน
ฟังแล้วรู้สึกอุ่นใจขึ้นเลยครับว่าสังคมกำหนด สังคมกดดันว่าเราต้องรู้จักตัวเอง เราเข้าอายุ 15 18 พอเราไม่ได้เจอตัวเอง เราเฟลด์ เราก็กดดัน เกิดความทุกข์ ต่อมาคุณหมอได้อธิบายว่าเส้นทางของการเจอตัวเองมันยาวมาก แล้วค่อยไปเจอก็ได้ไม่เป็นไร และถึงต่อให้เราเจอตัวเองในวัยรุ่น มันก็อาจจะไม่ใช่ในอนาคตก็ได้
ใช่ มันอาจจะไม่ใช่เราในอีก 10 20 ปีข้างหน้าก็ได้ เพราะเราก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะฉะนั้นหมอเลยไม่อยากกำหนด (fix) ว่าเราต้องได้คำตอบ และหมอรู้สึกว่าเราควรจะโฟกัสกับวิธีการว่าเราควรจะทำยังไง เราถึงจะได้มีประสบการณ์ในการรู้จักตัวเองในหลายๆ แง่มุม
งั้นก็ถามต่อเลยฮะ ถ้าวัยรุ่นฟังอยู่ วิธีการที่จะแนะนำกับวัยรุ่น ถ้าเขาจะทำความรู้จักตัวเองในช่วงวัยรุ่นนี้ เขาควรจะทำยังไง
หมอคิดว่าคือการเอาตัวเองไปอยู่ในประสบการณ์หลากหลายรูปแบบ คือตำรามันเป็นความรู้ แต่ไม่ได้ให้ประสบการณ์ที่สั่นสะเทือนความรู้สึกเรา พี่คิดว่าการที่เราเอาตัวเองไปสร้างประสบการณ์ให้กับตัวเอง เช่น อาจจะไปเจอว่าเราอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟังแล้วเราโคตรมีความสุขเลย เราชอบทำงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนที่เขาประสบความยากลำบาก อันนี้คือเราเจออะไรบางอย่างของตัวเรา หรืออย่างหมอเองชอบอ่านหนังสือตอนเด็กๆ ชอบอ่านนิยายน้ำเน่าแบบเป็นบ้าเป็นบอ แล้วก็อ่านเยอะมาก ตอนนั้นเราไม่รู้เลยนะว่าเราอ่านหนังสือทำไม แต่เรารู้สึกว่าสนุก มีความสุขกับการอ่านหนังสือ แล้ววันหนึ่งก็มาเจอว่าเรามีความสุขกับการเขียน มันคือการเอาตัวเองลงไปในพื้นที่ที่ทำให้เรามีประสบการณ์ว่าอะไรทำให้เราเกิดความรู้สึกที่มันสั่นสะเทือนเรา ตอนนั้นพี่เจอว่าตัวเองชอบเขียนหนังสือ มีคนๆ หนึ่งชวนพี่เขียนเกี่ยวกับวัยรุ่นนี่แหละลงเว็บไซต์ แล้วพี่ก็ลองเขียนดู เขียนเสร็จแล้วรู้สึกว่าชอบ
ไหลลื่น เขียนดี ภาษาที่ใช้โดนใจคน
ใช่ อ่านของตัวเองก็แอบชอบ แล้วความรู้สึกตรงนี้แหละที่เจอ นี่คือเรา นี่คือสิ่งที่เราชอบตัวเอง นี่คือสิ่งที่เราสร้างประโยชน์กับคนอื่นได้ด้วยนะ ฉะนั้นหมออยากให้วัยรุ่นหาพื้นที่ที่เราจะลอง ลองเข้าไปถามว่าเขาทำอะไร ลองเข้าไปทำงานหลายๆ รูปแบบ ลองไปช่วยเขาขายของ เฮ้ย…เราชอบเกี่ยวกับเงิน รับเงิน จัดการบัญชี เราเอาตัวเองเข้าไปทำจิตอาสาแล้วเราจะได้เจอว่างานที่สร้างความหมายกับคนอื่นมันมีความหมายกับตัวเราจังเลย มันก็จะเป็นแทร็คที่ทำให้เราก้าวไปสู่จุดที่เราอยากทำ
คล้ายๆ กับได้ลอง พอได้ลอง ได้ทำ เสร็จแล้วมันก็จะทำให้เราเจออะไรบางอย่างที่มันแปลกใหม่สำหรับเรา
เจออะไรที่ไม่ใช่ ก็เป็นการเจอว่าอันนี้มันไม่ใช่ ฉันไม่มีวันอยู่แบบนี้ สมมติว่าอ่านหนังสือให้คนตาบอดแล้วเรารู้สึกว่าเจ็บปวด ฉันอยู่กับคนที่มีความทุกข์แบบนี้ไม่ได้เลย ก็จะได้รู้เลยว่าอาชีพแบบนี้ไม่เหมาะกับเรา ทีนี้การเจอตัวเองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง พี่คิดว่ามันเป็นการค่อยสะสมการรู้จักตัวเอง เหมือนแฟน การไปเจอคนที่ไม่ใช่ก็เป็นการเรียนรู้มหาศาลว่าแบบนี้ยังไงก็ไม่ได้ เป็นการเจอรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน
ที่กล่าวไปคือการแนะนำกับวัยรุ่น แต่ถ้าให้แนะนำกับคนใกล้ตัววัยรุ่น อย่างพ่อแม่ ครู หรือใครก็ตามที่ไม่มีโอกาสได้ทำงานกับวัยรุ่น จะแนะนำเขายังไงดีครับ
หมอว่ามันเกิดจากการตั้งคำถาม เราชอบถามลูกว่า ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’ บางทีเด็กก็จะตอบแบบแคบๆ เช่น เป็นอาชีพนั้น อาชีพนี้
แต่จริงๆ หมออยากให้เราตั้งคำถามว่า ‘เขามีความสุขกับการได้ทำอะไร’ อะไรที่เขาถนัด อะไรที่เขาทำแล้วมีความสุข อะไรเป็นงานที่เขารัก อะไรที่ทำแล้วรู้ว่านี่คือความสามารถ อะไรคือสิ่งที่เขาถนัดและมีความสุขกับการได้ทำ พี่ว่าคำถามเหล่านี้มันจะค่อยๆ ประกอบร่างขึ้นมาเป็นสิ่งที่เขาจะอยู่กับมันได้ในอนาคต เป็นสิ่งที่เขารัก สิ่งที่เขารู้สึกว่าถนัด เป็นสิ่งที่เขาให้ความหมาย เขารู้สึกว่าการได้ทำสิ่งนี้แล้วเขาได้เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างและมีคุณค่าทางจิตใจ หรือมันเป็นสิ่งที่โลกมีความต้องการด้วย จริงๆ มันก็คืออิคิไก ค่อยๆ ให้ลูกค้นหาตัวเอง
เคยเจอพ่อแม่ที่มีลูก ป. 5 ป. 6 บอกว่าเราว่า ‘คุณหมอ ลูกยังไม่รู้เลยว่าเขาอยากเป็นอะไร’ นี่มันก็ไปตีกรอบให้ลูกว่าต้องเจอ ต้องได้ ต้องใช่ บางทีหมอบอกว่าอย่าไปสนใจเลย เราถามตัวเองดีกว่าว่าเราทำให้ลูกมีประสบการณ์ที่หลากหลายมากพอหรือยัง ประสบการณ์นอกตำราด้วยนะ
แสดงว่าไปโฟกัสที่นอกห้องเรียน นอกตำรา ไปเรื่องประสบการณ์ชีวิต และก็คือการถามน้องๆ ถามวัยรุ่น ว่าอะไรที่ทำแล้วเขามีความสุข โจ้ฟังหมอโอ๋แล้วรู้สึกเย็นดีจัง รู้สึกว่าเราได้ไปค้นตัวตน และเราเองก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย
ต้องบอกแบบนี้ ในฐานะที่หมอสามารถตั้งคำถามกับลูกแบบเปิดกว้างได้ คือเราอยู่ในบริบทที่ไม่ได้คาดหวัง และคิดว่าตัวเองต้องพึ่งพาลูก หรือมีลูกขึ้นมาเพื่อตอบสนองความฝันความต้องการบางอย่าง เพราะว่าหมออยู่ในจุดที่เราเอาตัวรอดของเราได้ แต่ประเด็นคือบริบทของสังคมบ้านเรา เยอะมากเลยนะที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่จุดเดียวกับที่หมออยู่ การมีลูกคนหนึ่งของเขา เด็กคนนี้อาจจะทำให้เขาลืมตาอ้าปากได้ เด็กคนนี้อาจจะทำให้คนในบ้านเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นต้องบอกแบบนี้ว่า มันมีบริบทอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ความต้องการของพ่อแม่เท่านั้น
หมอเข้าใจว่าหลายบ้าน หลายครอบครัวก็อยู่ที่บริบทที่เขาไม่สามารถที่จะตั้งคำถามแบบนี้กับลูกได้ แบบที่เขาเปิดกว้างกับลูกได้จริงๆ ซึ่งอยากให้พ่อแม่ชั่งน้ำหนักสิ่งเหล่านี้ไว้แล้วกันว่าสิ่งที่เราคิดว่ามันสำคัญ มันจำเป็นกับความฝันและชีวิตของลูก จะทำยังไงให้มันมีความสมดุล หรือทำให้เขาก็เป็นคนหนึ่งที่โตขึ้นไปแล้วมีชีวิตที่มีความสุข ในเส้นทางที่ตัวเองเลือกได้
ขณะเดียวกันเราก็ต้องอยู่กับความเป็นจริง ที่ทุกบ้านเลือกได้ว่าอยากให้ที่ลูกทำได้ตามใจตามสบายหมด เอาจริงๆ เราไม่ได้โชคดีที่อยู่ในสังคมแบบนั้น
แปลว่าเราก็ต้องช่วยบาลานซ์ความสุข ความฝัน ไม่ให้เกินไปกว่าความเป็นไปได้จริง
ใช่ หมอคิดว่าเราก็ต้องช่วยกันขับเคลื่อนสังคมให้คนทุกคนสามารถทำอาชีพที่ตัวเองรักได้ แบบที่ไม่ถูกความกดดัน ทับถมมาจากความคาดหวังของพ่อแม่
ทีนี้โจ้อยากขยับมาที่การรู้จักตัวเองในอีกเฉดหนึ่ง เป็นเรื่องที่เราเองก็อาจยอมรับตัวเองไม่ได้ สังคมก็ไม่ยอมรับเรา ยกตัวอย่างเรื่องเพศหลากหลาย ซึ่งพี่หมอโอ๋ก็ทำคลินิกเรื่องเพศหลากหลายด้วย เป็นยังไงครับ สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่น
หมออยากใช้คำว่า เราอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน คือเราก็เห็นเลยว่าสังคมจำนวนหนึ่งมีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ ให้การยอมรับ หมอมีพ่อแม่ที่จูงมือลูกเข้ามาแล้วบอกว่ายอมให้ลูกเขาเคลื่อนไปเป็นอีกเพศหนึ่งโดยที่อยากให้เขา (ลูก) มีความสุขแบบปลอดภัย เราเห็นการยอมรับของครอบครัว ที่อยากให้ลูกเป็นในสิ่งที่เป็นตัวตนของลูก
ขณะเดียวกันเราก็ยังเจอครอบครัวที่คาดหวังให้ลูกเป็นตามเพศกำเนิด เป็นเพศที่สังคมบอก เพราะฉะนั้นมันก็เลยทำให้เห็นเป็นภาพว่ากำลังเปลี่ยนผ่าน มันเป็นภาพที่มีการขับเคลื่อนที่ทำให้เราเข้าใจตรงนี้มากขึ้น
ส่วนใหญ่ปัญหาที่วัยรุ่นเข้ามาคลินิกเพศหลากหลาย ปัญหาของเขาคืออะไรครับ เช่น ถูกบูลลี่ ยังสับสนไม่อยากยอมรับ ยังไม่กล้าเปิดเผยตัวเอง หรือมีปัญหาเชิงไหนบ้างครับ
มีตั้งแต่ยอมรับตัวเองไม่ได้ สับสน ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร homophobia (การเกลียดกลัวคู่รักเพศหลากหลาย) ก็มี / Transphobia (อาการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ) บางคนไม่อยากเป็นสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่อยากแตกต่างก็มี หรือหลายคนยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นได้แต่ครอบครัวไม่ยอมรับแล้วเกิดความรู้สึกเครียด รู้สึกกังวล รู้สึกแย่ ซึมเศร้าก็มี หรือมีความรู้สึกว่ายอมรับตัวเองได้แต่ว่าก็ไม่มีความสุขกับเพศที่ตัวเองที่จะไปเป็นเพศอีกเพศหนึ่ง ก็มี
หลายเคสมากเลยนะฮะ สมมติว่าเขาเจอกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ไม่ว่าจะกรณีไหนนะครับ แล้วนำมาซึ่งความซึมเศร้า เกลียดตัวเองต่างๆ นานา เราจะมีวิธีอะไรที่จะช่วยให้เขาบาลานซ์หรือหาสมดุลได้มั้ยครับ
หลักๆ ก็คือให้เขากลับมาทำความเข้าใจกับตัวเอง การที่เขาบอกว่าเขายอมรับตัวเองไม่ได้ จริงๆ มันมีที่มาจากมุมมองทางเพศที่หลากหลายว่าเขามองตัวเองอย่างไร ตั้งแต่ความคาดหวัง…เขาคาดหวังต่อตัวเองอย่างไร คนรอบข้างคาดหวังกับเขาหรือเขาคาดหวังกับคนรอบข้างอย่างไร แล้วเขาอาจจะแบกรับกับความคาดหวังของคนรอบๆ ข้างเขาอยู่ จากนั้นก็จะทำงานกับการปรับมุมมอง การปรับความคาดหวัง ทำให้เขากลับมายอมรับกับสิ่งที่ตัวเองเป็น มันเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากๆ ของการเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความสุข ใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ คือการยอมรับตัวเอง และมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองเป็น
เห็นว่าพี่หมอโอ๋ไปจัดตั้งคลินิกในโรงเรียนด้วย อยากให้เล่าให้ฟังหน่อยว่าอะไรทำให้ไปตั้งคลินิกในโรงเรียน ไปแล้วเจออะไรบ้าง
จริงๆ เป็นอาจารย์ของหมอเอง ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ท่านทำคลินิกในโรงเรียนก่อน เพราะอาจารย์เห็นว่ามันมีวัยรุ่นจำนวนหนึ่งเลยที่เขาไม่สามารถเดินเข้ามาหาหมอในโรงพยาบาลได้เพราะติดกฎหมายที่ว่า ถ้ามาหาหมอต้องมีพ่อแม่มาด้วย แต่มันก็จะมีวัยรุ่นจำนวนมากเลยที่เขามีปัญหา เขาอาจจะไม่มีผู้ปกครองพามา ผู้ปกครองไม่เห็นความสำคัญหรืออะไรก็ตาม อาจารย์ก็เลยไปตั้งคลินิกวัยรุ่นในโรงเรียนมัธยม ตอนนั้นมีประมาณ 5 แห่งในกรุงเทพฯ หมอก็เลยเหมือนมาสานต่องานของอาจารย์ งานที่เราทำก็ไปดูวัยรุ่นในโรงเรียน ส่วนหนึ่งเราก็เป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับนักศึกษาแพทย์ของแพทย์ประจำบ้านด้วย ให้เขาเห็นว่าการทำงานเชิงรุก เชิง Proactive Intervention เป็นยังไง เราก็ไม่ได้ทำแค่คลินิก แต่ไปทำโครงการ ไปทำงานพัฒนาโรงเรียนเกี่ยวกับวัยรุ่น อันนี้ก็ทำให้เขาเห็นการทำงานเชิงรุก ก็เหมือนได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
ตื่นเต้นมาก เพราะเหมือนกับว่าได้มีพื้นที่ที่เขาได้ทำความเข้าใจตัวเอง มีคนมาตั้งคำถามดีๆ กับเขา เขามีปัญหาแล้วหาทางออกได้ตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะโรงเรียนเขาไปทุกวัน มันก็จะช่วยป้องกันปัญหาได้จริงๆ ประเด็นสุดท้ายที่อยากขอความรู้ครับ คือเรื่องของการเสพติด เราเข้าใจอยู่ว่าพัฒนาการวัยรุ่นหนึ่งในนั้นคือ ‘การลอง’ ปัญหาที่เข้ามาที่คลินิกเป็นเพราะอะไรหรือยังไงครับ
มีตั้งแต่การอยากรู้อยากลอง การอยากได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน เพื่อนทำอะไรกันเราก็อยากจะเหมือนเขา ทีนี้ก็อยากจะชดเชยความทุกข์บางอย่าง เด็กจะรู้สึกว่ามันก็ทำให้ลืมความทุกข์ ทำให้คลายเครียด มันก็ทำให้เขาเกิดความรู้สึกดีๆ ขึ้นมา
โดยเฉพาะกับเด็กที่มีความทุกข์หลายๆ รูปแบบ มีความเครียด มีความกลุ้มใจ มีความสัมพันธ์ที่แย่ๆ เขาก็จะใช้สารเสพติดในการเป็นทางออกหนึ่ง มันก็มาจากการที่เขาไม่เห็นว่ามันก็มีทางออกอื่นที่จะช่วยทำให้เขากลับมาจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ มันก็มาจากหลากหลายสาเหตุ
แล้วคนรอบตัววัยรุ่นอย่างพ่อแม่ คุณครู ผู้ใหญ่ หรืออาจจะเป็นคล้ายๆ กับคนทำงานเยาวชน ถ้าจะช่วยสร้างคุณค่าในตัวเองให้วัยรุ่นได้ เขาควรจะทำยังไง
ก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคุณค่าภายในมาจากไหน คุณค่าภายในจะมาจากหลักๆ 3 เรื่อง คือ เรื่องการที่ทำให้ตัวเขาเป็นคนที่มีคุณค่า, ตัวเขาเป็นคนที่มีความหมาย และ ตัวเขาเป็นคนที่มีศักยภาพ พี่คิดว่าอันนี้เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ก็ต้องทำให้เขารู้ว่า การเป็นเขามันมีคุณค่ากับพ่อแม่ยังไง
ทำยังไงครับ เช่น ต้องพูด ต้องสื่อสารกับเค้าเหรอครับ
ก็แสดงความรัก การใส่ใจ การส่งภาษารักของเขาให้กับเขา หมอคิดว่าตัวเขาจะรู้สึกมีคุณค่า เวลาที่เราอยู่ด้วยกันแต่เราละเลยกัน มันจะทำให้อีกคนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ตัวเองไม่เป็นที่สนใจ ไม่มีความหมายกับใคร ดังนั้น การให้เวลาคุณภาพกับลูก การเล่นกับเขาในวัยเด็ก การรับฟังเขา การที่เขามีความทุกข์อะไรแล้วเราอยู่ตรงนั้นกับเขา อันนี้เป็นการให้คุณค่า ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่ากับพ่อแม่ อีกอันหนึ่งก็คือ การทำให้เขารู้สึกว่าตัวเขาเป็นคนที่มีความหมาย ตัวเขาเป็นคนที่รัก ตัวเขาเป็นคนที่มีความสำคัญ ไม่ทำให้รู้สึกว่าการมีลูกหลายคนแล้วเขาเป็นภาระ
เช่น พ่อแม่บ่นใช่ไหมครับ บ่นต่างๆ นานา
บ่น ‘มีเธอแล้วฉันเหนื่อยจริงๆ ทำให้ฉันต้องมาบ่นทุกวัน ทำไมยังไม่ได้เรื่องแบบนี้’ แต่เปลี่ยนเป็นทำให้เขารู้สึกว่า ตัวเขาเป็นคนที่มีความหมาย คือ การเป็นเขาแล้วมันมีความหมายกับเราด้วย พี่จะขอบคุณลูกเสมอ ขอบคุณลูกบ่อยๆ เลย ‘ขอบคุณมากเลยนะที่หนูมาเป็นลูกแม่ แม่มีความสุขขึ้นมากเลย แม่มีชีวิตที่แบบแฮปปี้มากเลยที่มีหนูเป็นลูก’ ซึ่งสิ่งเหล่านี้พี่รู้สึกว่ามันสร้างตัวตน มันสร้างความรู้สึกมั่นคงภายในว่าฉันเป็นคนที่มีความหมายกับคนอื่นนะ มันไม่ใช่ว่าแค่เขามีเราเท่านั้น แต่การที่เรามีเขามันโคตรมีความหมายกับชีวิตเราเลย หมอว่าสิ่งนี้สำคัญ
กับอีกอันหนึ่งก็คือการสร้างตัวตนว่าเขาก็มีศักยภาพ ซึ่งตรงนี้พี่ก็ว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก คือ บางทีเด็กไทยก็ไปผูกติดว่าเด็กดีกับเด็กเรียนเก่ง ‘ลูกบ้านนี้ดีจังเลย สอบได้ที่นี่ ลูกบ้านนี้เก่งจังเลยสอบได้ที่นี่ เอนท์ติดที่นู่นที่นี่’ คือมันผูกความสำเร็จของเด็กคนหนึ่งไว้กับการเรียนดี แต่จริงๆ แล้วคนเราเกิดมามีศักยภาพที่หลากหลายมาก การเป็นเด็กที่เล่นกีฬาเก่ง เล่นดนตรีเก่ง หรือไม่ได้มีอะไรเก่งเลยนะ แต่ใช้ชีวิตเก่ง ใช้ชีวิตแบบไม่เป็นภาระกับใคร ไม่เป็นมลพิษกับใคร นี่คือคุณค่าที่เขาควรจะรู้ว่า นี่เป็นศักยภาพอันหนึ่ง เพราะฉะนั้นชื่นชมลูก ชื่นชมในความเป็นตัวเขา ชื่นชมในศักยภาพของเขาที่มันไม่ต้องเหมือนพิมพ์นิยม ที่เราอยากให้เด็กในสังคมเป็น พี่คิดว่า อันนี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ช่วยลูกได้
บางทีมันยากเหมือนกันนะ การที่แม่ชื่นชมลูก
กลัวเหลิงใช่มั้ย? มันยาก เพราะเราเติบโตมากับวัฒนธรรมที่มีความเชื่อเรื่องอำนาจด้วย แบบ…เวลาชมลูกแล้วทำให้รู้สึกว่าลูกต้องมาเท่ากับเรา เดี๋ยวลูกยิ่งจะเหลิง เดี๋ยวลูกจะตัวพอง ตัวพองของลูกคือพองมาใกล้เรา เพราะฉะนั้นมันก็จะทำให้พ่อแม่ไม่ค่อยชม เพราะจริงๆ แล้ว
การชมมันพัฒนาศักยภาพภายในของลูก เวลาที่เรารู้สึกดีกับตัวเอง เราก็อยากจะทำสิ่งดีๆ นี้ต่อ การชมมันสร้างคอนเนกชั่น สร้างสายสัมพันธ์ มันสร้างให้คนๆ หนึ่งเห็นคุณค่าของเรา เห็นสิ่งดีๆ ที่เราได้ทำ ดังนั้นหมอว่าการเลี้ยงลูก สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือไม่ใช่การเลี้ยง การสอน การฝึกวินัย แต่จริงๆ คือการมีสายสัมพันธ์ที่ดี
สุดท้ายนี้ อยากให้พี่หมอช่วยขมวดหน่อยว่า จิตวิทยาวัยรุ่นหรือว่าการรู้จักตัวเองมันสำคัญยังไงกับช่วงวัยรุ่น
คิดว่าการรู้จักตัวเองมันก็เป็นงานหนึ่งที่เราต้องพัฒนาการเรียนรู้ตัวเองไปเรื่อยๆ แต่การรู้จักตัวเองวันนี้ก็ไม่ได้เป็นการบอกว่าเรารู้จักตัวเองดีแล้ว อย่างที่บอกมนุษย์เรามันเปลี่ยนตลอดเวลา แต่การรู้จักตัวเอง หมอไม่ได้คิดว่ามันเป็นแค่การรู้ตัวเองว่าเราชอบอะไร เราถนัดอะไร แต่เป็นการรู้จุดแข็ง จุดอ่อน รู้ข้อดี ข้อเสีย แล้วยอมรับตัวเองได้ การรู้จักตัวเองมันอาจไม่สำคัญเท่ากับการเห็นคุณค่าในตัวเอง การเห็นคุณค่าในตัวเองมันเป็นบริบทที่สำคัญมากๆ ของการที่จะมีความสุข หรือว่ามีชีวิตที่มันสมดุล หรือมีความสงบในชีวิต การเห็นคุณค่าในตัวเองไม่ได้แปลว่าเราจะเห็นข้อดีของตัวเอง แต่เป็นการเห็นตัวเองทั้งในรูปแบบข้อดี และข้อเสีย และเราสามารถยอมรับตัวเองได้ในฐานะการเป็นมนุษย์คนหนึ่งว่า มนุษย์เราก็จะเป็นแบบนี้แหละ เราก็มีข้อดี มีจุดที่ต้องพัฒนา
ขณะเดียวกันก็มีความเป็นมนุษย์ที่อยากพัฒนาตัวเอง เมื่อเห็นข้อบกพร่องของตัวเองแล้ว เราก็พยายามพัฒนาข้อบกพร่องของเราให้เป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น จริงๆ ก็อาจจะไม่ใช่หน้าที่ของวัยรุ่นแต่เป็นหน้าที่ของมุนษย์ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน ก็ทำความรู้จักตัวเอง ที่จะทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเอง การเห็นคุณค่าตัวเองในมนุษย์มันไม่ใช่แค่เรื่องของการเห็นศักยภาพตัวเอง แต่มันเป็นการเห็นความหมายของตัวเองด้วย การที่เรารู้ว่าตัวเองเป็นคนที่มีคุณค่า มีความหมาย มีศักยภาพ พี่คิดว่ามันเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของการที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของตัวเอง
ฉะนั้นการที่เราจะรู้ว่าเรามีความหมาย เป็นที่รัก หลายครั้งมันไม่ได้สร้างมาจากแค่ตัวเรา จริงๆ แล้วมันสร้างมาจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ที่ทำให้เด็กคนหนึ่งโตขึ้นมาแบบเป็นที่รักและเห็นคุณค่าของตัวเอง ฉันเป็นคนที่มีความสำคัญ ฉันเป็นคนที่มีความหมายกับพ่อแม่ แต่เด็กหลายคนก็ไม่ได้เติบโตมาแบบโชคดีแบบนั้น วัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ก็อาจจะเป็นวัยที่จะต้องกลับมาที่จะให้ความรักนั้นกับตัวเอง โดยการเห็นคุณค่าตัวเองและยอมรับความเป็นมนุษย์ที่ธรรมดาของตัวเอง รักและเมตตาตัวเอง แปลว่า โอบกอดตัวเองได้ แม้ว่าเราจะผิดพลาด แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบ แม้ว่าเราจะล้มเหลว แม้ว่าเราจะมีข้อไม่ดีมากมาย แต่ว่าเราสามารถที่จะโอบกอด สามารถที่จะบอกกับตัวเองได้ว่า ไม่เป็นไรนะ เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งแหละ เดี๋ยวเราก็ค่อยๆ พัฒนาตัวเองไปนะ