- ไปเรียนรู้รากเหง้าของคนลาว คนขมุ คนกะเหรี่ยง ผ่านจานอาหารท้องถิ่นในงาน ‘เทศกาลรสชาติแห่งท้องถิ่น’ เทศกาลอาหารครั้งใหญ่ประจำอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ทั้งเป็นงานที่เด็กๆ จะได้เล่นอิสระด้วยของเล่นเสริมพัฒนาการที่ไม่ได้มาจากของเล่นพลาสติกด้วย
- ระหว่างที่ชิมอาหารก็ไปคุยกับ ป้าโก้ – สิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์ แม่งานสำคัญที่ทำให้เกิดเทศกาลครั้งนี้ เพราะเธอเชื่อว่า ‘อาหารสร้างการเรียนรู้ เป็นชุมชน และเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชน’
- ‘อยากรู้จักชุมชน’ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ป้าโก้ไปจัดการกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กๆ ในชุมชน เพื่อพวกเขา (รวมถึงตัวป้าโก้) จะได้รู้จักพื้นที่ๆ ตัวเองอาศัยอยู่มากขึ้น ใช้เวลาศึกษาเก็บข้อมมูลอยู่ 12 ปีก็แตกใบอ่อนมาเป็นเทศกาลครั้งนี้
ขนมตาควาย หลามไก่ แจ่วผีโพง ยำหมากอ้งกา
หลายคนได้ยินชื่อคงเริ่มสงสัยละว่ามันคืออาหารอะไร? หน้าตา รสชาติจะเป็นยังไง? ขอบอกว่าเราเป็นคนหนึ่งที่เกิดคำถามนี้ เพียงแค่เดินเข้ามาในงาน ‘เทศกาลรสชาติแห่งท้องถิ่น’ งานเทศกาลอาหารครั้งใหญ่ประจำอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ถือเป็นจุดเด่นของงานเทศกาลอาหารที่จะไม่ได้เจอเมนูที่เรามักเจอตามงานอาหารพวกลูกชิ้นปิ้ง ข้าวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยวเรือ ข้าวแต๋น แต่เป็นอาหารท้องถิ่นจากประชากรหลักของบ้านไร่ ซึ่งก็คือคนลาว คนขมุ (ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในลาวและตอนเหนือของไทย) คนกะเหรี่ยง ฯลฯ ถือเป็นหัวใจของเทศกาลนี้ที่เราจะได้กินอาหารท้องถิ่นพร้อมๆ กับเรื่องรู้รากเหง้าของพวกเขาผ่านจานอาหาร
สิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์ หรือนิคเนมที่ทุกคนเรียกกันว่า ‘ป้าโก้’ แม่งานสำคัญที่ทำให้เกิดเทศกาลครั้งนี้ เพราะเธอเชื่อว่า ‘อาหารสร้างการเรียนรู้ เป็นชุมชน และเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชน’
เทศกาลอาหารที่ชาวบ้านเป็นเจ้าของ และมีความภูมิใจในท้องถิ่นเป็นเครื่องชูรส อาหารในงานเป็นอาหารชาติพันธ์ของคนในท้องที่ ไม่ว่าจะลาว กะเหรี่ยง และชาติพันธ์อื่นที่อพยพมาตั้งรกรากในพื้นที่ เทศกาลอาหารที่คนส่วนใหญ่แต่งกายด้วยผ้าซิ่นตีนแดง และเสื้อผ้าสีคราม
เราต่างรู้ว่าอาหารไม่ใช่แค่รสชาติ แต่คือรสนิยม ชาติพันธ์ุสัญชาติที่มาพร้อมหน้าตาอาหาร ความหลังวัยเด็กว่าเราเคยกินอาหารนี้ครั้งแรกที่ไหน เมื่อไร กับใคร กินแล้วเรารู้สึกอย่างไร บรรยากาศในการกินครั้งนั้นเป็นอย่างไร (ถ้าความทรงจำกับอาหารมันดีนะ ฮึ่ย… เราคงจำได้ไม่เลือน) และอื่นๆ ที่ทำให้อาหาร ไม่ใช่แค่อาหารเลย
บทความชิ้นนี้ไม่ได้พาไปชิมอาหาร (เพราะเราชิมไปจนเต็มคราบแล้ว! อิอิ) แต่อยากชวนดูวิธีคิดและการเดินทางของคนจัดงานอย่าง ป้าโก้ และ ป้าโก้เป็นนักพัฒนา นักจัดกระบวนกร ที่เมื่อสิบปีก่อนเธอและลุงเบ้ – ปุณพจน์ ศรีเพ็ญจันทร์ คู่ชีวิต ทั้งคู่ทำงานเป็นนักพัฒนา นักอนุรักษ์ กระบวนกร ผู้อยู่เบื้องหลังหลายอย่าง หรือที่ทุกคนจะเก็ตได้เร็วๆ ก็คือโครงการใบไม้เปลี่ยนเมือง (โครงการแปรรูปวัสดุจากธรรมชาติให้กลายเป็นภาชนะสำหรับใส่อาหาร) สองสามีภรรยาคู่นี้คือผู้อยู่เบื้องหลัง
ชิม-ช็อป-เด็ก(เล่นอิสระ)-ทำมือ: เครื่องปรุงหลากรสใน ‘เทศกาลรสชาติแห่งท้องถิ่น’
ณ ลานวัดบ้านไร่ยามเย็นหากเป็นวันเสาร์ธรรมดาคงเงียบสงัดไร้ผู้คน แต่วันนี้กลับเต็มไปด้วยซุ้มไม้เรียงรายต่อแถวยาวล้อมรอบกลางลานวัด เพื่อขายอาหารและสิ่งของต่างๆ บรรดาต้นไม้ต่างประดับประดาไปด้วยไฟและตุง (เครื่องที่ใช้ประดับหรือประกอบในพิธีกรรมของคนภาคเหนือ) ผู้ร่วมงานต่างพากันนุ่งซิ่น สวมชุดพื้นเมืองของตัวเอง
งานเทศกาลรสชาติแห่งท้องถิ่นปีนี้ถือเป็นปีที่สอง ป้าโก้เล่าว่า งานเทศกาลท้องถิ่นปีแรก (ปี 2562) เริ่มต้นจากอยากให้คนได้รู้จักอาหารท้องถิ่นในหมู่บ้านสะนำ (ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านไร่) อย่างยำหมากอ้งกาอาหารขึ้นชื่อของคนหมู่บ้านสะนำ (หรือยำเพกา นำเพกามาล้างด้วยโซดาให้หายขม แล้วปิ้งด้วยเตาถ่านให้สุก จากนั้นปรุงรสด้วยน้ำปลา มะขามเปียก น้ำตาลปี๊บ และกะทิสด เสร็จแล้วโรยหอมซอยและผักชี) หลามไก่ของคนลาว น้ำพริกจากคนกะเหรี่ยง เป็นต้น จึงจัดเป็นงานชิมฟรี แต่ปีนี้ป้าโก้ต้องการต่อยอดสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้กลายเป็นตลาดวัฒนธรรมทุกๆ วันเสาร์ ทำให้คนที่มาจัดงานครั้งนี้ไม่ได้มีแค่ชาวบ้านสะนำ แต่มีคนอื่นๆ ในอำเภอบ้านไร่มาร่วมด้วย
“ที่ใช้คำว่าจัดเทศกาลรสชาติอาหารท้องถิ่น เพราะเราเห็นว่าอาหารที่นี่มีความหลากหลาย มันเป็นอาหารที่สร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชน สมมติเราจะทำอาหารขึ้นมาสักหนึ่งอย่าง บ้านนั่นปลูกหน่อไม้ บ้านนี้มีไก่ ไปขอเขามาได้ หรือถ้าอยากกินหน่อไม้คุณต้องไปกินที่บ้านนี้ ถ้าอยากกินหลามไก่ต้องไปบ้านหินตุ้มของชาติพันธุ์ขมุ ถ้าอยากกินน้ำพริกกะเหรี่ยงก็ต้องขึ้นไปกินข้างบน การไปกินอาหารที่ถิ่นเขาเราจะได้รสชาติที่แท้จริง รสชาติชีวิตพวกเขา”
ตัวงานออกแบบเป็น 4 โซน โซนที่หนึ่ง – ชิม เป็นโซนให้ทุกคนได้ชิมอาหารท้องถิ่น เช่น แจ่ว 10 อย่าง หลามบอน หลามไก่ กบหน่อไม้ ฯลฯ เป็นอาหารท้องถิ่นที่ทำกินในครัวเรือน โซนที่สอง – ซื้อขาย เป็นร้านขายจากคนบ้านไร่ที่มาตั้งให้ทุกคนได้ชิมช้อป ป้าโก้เล่าต่อว่า ทุกร้านถูกคัดสรรด้วยเกณฑ์ว่า ‘สามารถเล่าเรื่องราวในชุมชนได้’ ตัวอาหาร หรือสิ่งของที่ขายต้องบ่งบอกความเป็น ‘วิถีบ้านไร่’ เช่น มาที่บ้านไร่จะต้องได้กินก๋วยเตี๋ยวหน่อไม้หรือต้องได้กินยำหมากอ้งกาอาหารพื้นบ้านของคนสะนำ
“เราขอให้เขาทำแบบโบราณย้อนอดีตเลยนะ ตอนเด็กเขาเคยกิน เคยทำยังไง ก็ให้เขาทำแบบเดียวกันเลย คนร่วมงานจะได้รู้ว่าบ้านไร่เรามีรสชาติเป็นยังไง”
โซนที่สาม – เด็ก อีกหนึ่งโซนที่ดึงดูดความสนใจผู้ร่วมงาน (รวมถึงเรา) สนามเด็กเล่นจากของเล่นโบราณ ไม่ว่าจะเป็นกังโก๊ะ หรือกังโกะ (การนำกะลามะพร้าวมาผ่าครึ่ง แล้วเจาะรูที่ก้นกะลา 1 รู จากนั้นร้อยเชือกและมัดเป็นปม ทำเหมือนกันอีกข้างหนึ่ง ส่วนวิธีการเล่นคือผู้เล่นจะต้องเดินโดยใช้กะลา 2 ชิ้น เหยียบบนกะลาแล้วใช้นิ้วเท้าหนีบเชือกเหมือนใส่รองเท้าแตะ จากนั้นเดินแข่งกันว่าใครจะถึงเส้นชัยก่อน หากระหว่างเดินเท้าใครตกจากกะลาเป็นอันแพ้) กังกะ หรือไม้โถกเถก (เป็นไม้ไผ่ 2 ท่อน ยาว 1.5 – 2 เมตร เจาะรูสำหรับทำที่วางขาด้านละอัน วิธีเล่นให้ขึ้นไปเหยียบบนที่วางขา แล้วมือจับไม้ให้แน่นก่อนจะวิ่งหรือเดินแข่งกัน เดิมสันนิฐานว่าเคยเป็นเครื่องมือสำหรับเดินข้ามแม่น้ำ เข้าป่า เพื่อป้องกันอันตรายเนื่องจากไม่ได้สวมรองเท้า ต่อมาถูกดัดแปลงให้กลายเป็นของเล่นสำหรับเด็กๆ) รถล้อโบราณ รถไม้ลาก ธนู ฯลฯ ป้าโก้บอกว่าของเล่นพวกนี้ล้วนแต่เป็นของเล่นที่เด็กสมัยก่อนเล่นกัน นอกจากนี้มีอภินันทนาการของเล่นเสริมพัฒนาการโดย กลุ่มไม้ขีดไฟ (หรือ The Matches Group กลุ่มที่ทำงานจัดกระบวนการ ส่งเสริมให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้) อีกด้วย
และโซนที่สี่ – งานคราฟท์ พื้นที่สำหรับงานศิลปะทำมือ มีสอนวาดผ้าสีครามที่คนวาดทุกคนจะได้ผ้าเช็ดหน้าที่ตัวเองวาดกลับไปคนละ 1 ผืน
ส่วนบริเวณตรงกลางลาน คือ เวทีจัดแสดงดนตรีและกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วงดนตรี acoustic ที่บรรเลงเพลงขับกล่อมคนในงาน หรือการแสดงของคนท้องถิ่นอย่างการรำกะลาจากเด็กๆ ชาวกะเหรี่ยง ฟ้อนผีนางด้งจากชาวบ้านสะนำ
จุดหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจเรา คือบริเวณหน้าเวทีจะมีกลุ่มคนทั้งเด็กนักเรียนและผู้ใหญ่นั่งกระจัดกระจาย บนตักทุกคนวางสมุดวาดภาพ ส่วนอาวุธในมือก็แตกต่างกัน บ้างดินสอ บ้างพู่กันจุ่มสีน้ำ ทำให้ภาพออกมาตามสไตล์ใครสไตล์มัน ด้วยความสงสัยเราเดินเข้าไปดูว่าพวกเขากำลังวาดภาพอะไร ปรากฎว่าเป็นภาพของศาลาร้อยปีที่อยู่หลังเวที อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ป้าโก้ตัดสินใจเลือกลานวัดเป็นที่จัดงาน
“เรานึกถึงตอนไปปีนัง ที่นั่นเขาจะมีเด็กมานั่งวาดรูปตามที่ต่างๆ เลยนะ ที่งานเราก็อยากทำแบบนั้นบ้าง ก็ชวนเด็กๆ ผู้ใหญ่มาวาดรูปกัน
“ครั้งนี้เรามีหมุดหมายเรื่องศาลาร้อยปีเพราะมันถูกทิ้งจนจะล้มล่ะ แต่ความงามของมันยังมหัศจรรย์อยู่เลย สมัยก่อนศาลาไม้นี้ถูกใช้เป็นโรงเรียนแห่งแรกของอำเภอบ้านไร่ ข้อมูลพวกนี้เราก็ได้จากการไปชวนคนแก่ที่อยู่ในยุคนั้นมาเล่าให้ฟัง ซึ่งเราต้องการให้คนอื่นๆ เห็นความงามนี้เหมือนกัน เลยชวนคนในชุมชนมาช่วยกันทำให้ศาลาฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งผ่านการจัดงาน หมายความว่าศรัทธาชุมชนจะกลับมา ศาลาจะไม่โดดเดียวจะมีผู้คนมาสร้างชีวิตชีวาให้ ถ้าเรามีกิจกรรมต่อจากนี้”
ขึ้นต้นเป็นกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ในชุมชน ที่แตกใบอ่อนเป็นงานเทศกาล
“มันเริ่มตั้งแต่ป้าย้ายมาอยู่ที่นี่เลยนะ ใช้เวลาศึกษาเก็บข้อมูลมาประมาณ 12 ปี ก็เริ่มรู้ทีละอย่างสองอย่าง ไม่ใช่อยู่ๆ จะมาเจอนะ ครั้งแรกที่มาเราก็รู้ว่าคนที่นี่เขาเป็นคนลาว แต่ไม่รู้วิถีชีวิตเขาเป็นยังไง
“แล้วเรามองเห็นว่าพื้นที่นี้มันมีของเยอะมาก ทั้งความมั่นคงทางทรัพยากร เพราะอำเภอบ้านไร่อยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีทรัพยากรเยอะ หรือประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาที่มาจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของคนในพื้นที่ที่มีทั้งคนลาว ขมุ กะเหรี่ยง ฯลฯ การหาอยู่หากินของเขาพึ่งพากับธรรมชาติ เรียกว่าถ้าปิดเมืองคืออยู่ได้เป็นเดือนเป็นปี ไม่เดือนร้อนอะไร”
ถ้าพูดถึงจุดเริ่มต้นของงานเทศกาล ป้าโก้บอกว่า คงต้องย้อนกลับไปช่วง 12 ปีที่แล้ว ครอบครัวของป้าโก้เพิ่งย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านสะนำ ด้วยเหตุผลเดียวคืออยากให้ ‘ลูกโตเติบโตในชุมชนที่มีรากของตัวเอง’ แม้จะไม่ใช่บ้านเกิด แต่ป้าโก้เคยทำงานในพื้นที่นี้ ทำให้พอรู้จักว่าบ้านสะนำเต็มไปด้วยเรื่องราว ประเพณี วัฒนธรรม ที่เป็นรากของชุมชน
“ตอนแรกป้าวางแผนว่าจะมาทำเกษตร แล้วก็เขียนหนังสือเป็นของตัวเองสักเล่ม แต่อยู่ไปเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าต้องทำความรู้จักพื้นที่แล้วล่ะ เราต้องรู้จักหมู่บ้านสะนำ ต้องรู้จักคนในชุมชน รู้จักเด็กๆ เพราะถ้าคนในชุมชนรู้จักเรารู้จักลูกเรา ครอบครัวเราก็อยู่ได้ปลอดภัย ดูแลกันและกัน”
แต่คนต่างถิ่นอย่างป้าโก้จะเข้าไปทำความรู้จักกับคนในชุมชนได้อย่างไร? ป้าโก้เล่าว่า เธอเริ่มโดยใช้ความสามารถที่ติดตัวมา คือ กระบวนการเรียนรู้ นำมาถ่ายทอดให้เด็กๆ บ้านสะนำ ถือเป็นประตูบานแรกที่ทำให้เธอได้รู้จักกับหมู่บ้านสะนำ ป้าโก้เข้าไปหาครูที่รู้จักกันในโรงเรียนวัดสะนำ ขอเวลา 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สำหรับวิชา ‘ทักษะชีวิต’ ที่ป้าโก้ตั้งใจอยากให้เด็กๆ ในชุมชน (รวมถึงป้าโก้) ได้รู้จักบ้านเกิดของตัวเอง แต่ก่อนจะรู้จักชุมชนได้ เด็กๆ ต้องรู้จักตัวเองซะก่อน กระบวนการเรียนของป้าโก้จึงเริ่มจากทำให้เด็กรู้จักตัวเอง แล้วค่อยกลับไปรู้จักชุมชน ผ่านการค้นเรื่องราวว่าหมู่บ้านสะนำมีอะไรที่พวกเขาไม่รู้ มีอะไรที่พวกเขาอยากเล่า
“พอเข้าไปทำกระบวนการกับเด็ก เด็กก็จะพาเราไปหาพ่อแม่พวกเขา พาไปบ้าน เราก็ไม่เข้าใจวิถีชีวิตเขาหรอก ‘แบบนี้มันกินยังไง’ เด็กเลยคอยสอนเรา กระบวนการเรียนของป้าอันดับแรกให้เด็กไปค้นก่อนนะว่า ‘ไอ้ที่เอ็งกินอยู่ทุกวันมันทำยังไง’ มันทำไม่เป็นหรอกตอนแรก ยกเว้นบางคนนะที่รู้ว่าส่วนประกอบอาหารมีอะไร เราก็เอาสูตรที่เด็กค้นมาทดลองทำที่โรงเรียนแบ่งกันกิน การทำงานเราให้เด็กเป็นคน เราเป็นแค่คนจัดตั้งกระบวนการความคิดให้เขาเอาไปทำงานต่อ
“มีครั้งหนึ่งเราไปเจอป่าหมาก คือที่บ้านสะนำมีต้นหมากเยอะมากจนชาวบ้านตั้งชื่อป่านี้ว่า ‘ป่าหมากล้านต้น’ เราก็สนใจว่าทำไมปลูกต้นไม้เยอะจังก็กลับไปค้นว่าป่าหมากล้านต้นคืออะไร เจอว่าคนลาวที่สะนำเขากินหมาก ก็เลยหาพื้นที่ใกล้น้ำปลูกต้นหมาก เพราะงั้นบ้านไร่มีความสมบูรณ์เรื่องนี้”
จากจุดเริ่มต้นตามรอยป่าหมาก กลับทำให้ป้าโก้และเด็กๆ ได้ค้นพบต้นไม้ยักษ์ 300 ปี ซึ่งปัจจุบันเป็นแลนด์มาร์คที่ใครมาบ้านไร่ต้องแวะมาที่นี่ ป้าโก้เล่าต่อว่า พอเห็นพื้นที่นี้ครั้งแรกความรู้สึกมันบอกว่า ‘ที่ตรงนี้ควรเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กๆ’ ป้าโก้ตัดสินใจไปจัดกระบวนการเรียนรู้ใต้ต้นไม้ยักษ์ ใช้พื้นที่รอบๆ ต้นไม้ยักษ์เป็นห้องเรียนสิ่งแวดล้อมของเด็กๆ พาพวกเขาไปกอด ไปหอมดิน ไปทำความรู้จักต้นไม้ยักษ์
“แล้วที่โรงเรียนไม่มีห้องประชุม ไม่มีห้องให้เรารวมเด็ก แล้วป้าก็ไปเห็นกองขยะหน้าโรงเรียน คือมันเป็นพื้นที่ๆ เขาใช้ทิ้งขยะ เราเห็นก็เกิดไอเดียชวนเด็กๆ ว่า ‘เราทำบ้านดินกันเถอะ’ เด็กมันก็เอาเว้ย (เสียงตื่นเต้น) แต่เด็กก็ไม่รู้หรอกว่าบ้านดินคืออะไร เราก็ให้ความรู้ เรียนรู้ไปกับเด็ก เพราะตัวเราเองก็ไม่ใช่คนรู้เยอะ แต่เราใช้พื้นที่ตรงนี้เรียนรู้ไปกับเด็ก ประสบการณ์ที่เรามีตอนอยู่กรุงเทพฯ เก็บวางเลยนะ มันเอามาใช้ที่นี่ไม่ได้ ก็มาเริ่มต้นใหม่เรียนรู้ไปกับเขา
“สร้างบ้านดินเราอยากให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมด้วย เด็กๆ เป็นคนไปสื่อสารว่าบ้านใครมีดินก็ขอหน่อยจะมาสร้างบ้านดิน ถ้ามีก็วางไว้หน้าบ้านนะ เดี๋ยวตอนเย็นขับรถไปรับ ตอนแรกได้กองเล็กๆ มากองหนึ่ง ทีนี้เราเลยทำผ้าป่าดิน เพื่อบอกให้ชุมชนรู้ว่าเรากำลังจะทำสิ่งดีๆ นะ พระก็งงว่าต้องสวดบทไหน (หัวเราะ) เราเชิญผู้นำชุมชนมาร่วมด้วยให้เขาป้ั้นดินก้อนแรก พอเขาทำเสร็จก็เดินไปสั่งดินให้เราสองคันรถเลย
“เด็กๆ ก็ช่วยกันทำทั้งหลัง ใช้เวลาประมาณปีหนึ่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนก็งงนะว่าทำไมเราไม่จ้างช่างทำแปปเดียวเสร็จ เราก็บอกว่าคุณจะไม่ได้อะไรเลย สร้างบ้านดินเราได้เด็กที่เคยเอาแต่ขี่มอเตอร์ไซค์เล่นในชุมชน กินแต่เหล้า ไม่เคยสนใจอะไร เด็กกลุ่มนี้เขาพากันมาช่วยสร้างบ้านดินหลังนี้ หลังจากนั้นเด็กกลุ่มนี้เป็นกำลังหลักสำคัญของชุมชน เวลาชุมชนมีงานก็จะมาช่วยตลอด”
คนนอกแบบเราแค่ฟังกิจกรรมที่ป้าโก้เล่าก็รู้สึกสนุกละ แม้จะไม่ได้ลงไปสัมผัสด้วยตัวเอง ทำให้พอถามว่าการตอบรับของเด็กๆ เป็นอย่างไร ป้าโก้จึงตอบกลับมาด้วยรอยยิ้ม เพราะความสุขของคนสอน คือ ภาพเด็กๆ ที่ต่างรอคอยจะได้เรียนวิชาของเธอ
“เพราะมันสนุกไง เราใช้กระบวนการเรียนรู้ที่ให้เด็กเป็นคนทำเอง เขาอยากรู้อะไรก็ต้องไปค้น ไปลงมือทำ สร้างการมีส่วนร่วม ตัวเราเองไม่ได้เป็นครูที่สอนเด็ก แต่เด็กเป็นครูที่สอนเรา เพราะอย่างที่บอกเราเองก็ไม่ใช่คนรู้เยอะ เด็กๆ พาเราไปรู้จักบ้านเขา เพียงแต่เราให้เครื่องมือบางอย่างกับเขา เช่น ไปเก็บข้อมูลต้องทำยังไง วิธีการสัมภาษณ์ การตั้งคำถาม การเก็บข้อมูลด้วยการวาดภาพเป็น visual thinking การเล่าเรื่องด้วยตัวเอง”
อาหารทุกจาน สิ่งของทุกอย่าง เบื้องหลังคือวิถีชีวิตพวกเขา
‘หลาม’ เป็นอาหารที่เราได้ยินชื่อในงานบ่อยมาก คนในงานต่างก็พูดกันว่าต้องไปกินหลามไก่! ขออนุมานว่ามันคงเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อของชาวบ้านสะนำ ถ้าถามว่าเราพอจะมีไอเดียอะไรไหมกับอาหารจานนี้ บอกเลยว่าเป็นศูนย์ (เอาจริงๆ ก็อาหารทุกจานในงานแหละ) เราสามารถเชื่อมโยงได้แค่ว่า หลามไก่นี้จะเหมือนข้าวหลามหนองมลที่เราเคยกินไหมนะ? (ก็มีคำว่าหลามเหมือนกัน ต้องเป็นพี่น้องแน่ๆ)
เพื่อทำความรู้จักอาหารชนิดนี้ให้ลึกซึ้งขึ้น เราเดินไปยังซุ้มที่ทำอาหารดังกล่าว ตัวซุ้มนั้นเปิดโล่ง มีเพียงเสื่อผื่นใหญ่ที่ปูไว้ โต๊ะไม้สำหรับวางวัตถุดิบ และด้านหน้ามีเตาเผากระบอกไม้ไผ่ที่วางเรียงต่อกัน โดยมีชายคนหนึ่งเป็นคนคอยนั่งเช็คว่ากระบอกไหนสุกได้ที่แล้ว ก่อนจะหยิบให้หญิงคนหนึ่งนำอาหารในกระบอกเทลงถาดและแจกจ่ายให้คนที่ต่อแถวรอชิม
ร้อง แห้วเพชร หญิงคนดังกล่าวเล่าให้เราฟังว่า หลาม เป็นวิธีการทำอาหารอย่างหนึ่งของชาวขมุ โดยใช้ ‘กระบอกไม้ไผ่’ ซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่ายตามป่า เพราะสมัยก่อนเวลาคนเข้าป่าจะไม่ได้พกภาชนะไปประกอบอาหาร ไม้ไผ่จึงกลายมาเป็นอุปกรณ์ครัวที่หาได้ง่ายและสะดวกที่สุด
วิธีการทำหลามก็ไม่ยุ่งยาก เพียงใช้เนื้อสัตว์หรือผักอะไรก็ได้ผสมกับเครื่องแกงที่หาได้ตามท้องถิ่นอย่างเช่น ข่า ตะไคร้ พริก และอย่าลืมใส่วัตถุดิบที่เป็นหัวใจจานอาหารชาวลาวอย่าง ‘ปลาร้า’ พอผสมกันเสร็จก็เทใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วนำไปเผาจนสุกก็สามารถรับประทานได้ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นเธอยกตัวอย่างการทำหลามบอน ซึ่งจะมีวัตถุดิบก็คือมะเขือส้ม ปลาร้า พริก ข่า ตะไคร้ หมูสด น้ำตาล และต้นบอน (ผักพื้นบ้านดั้งเดิมของคนไทย นิยมนำก้านใบของต้นบอนมาประกอบอาหาร) ผสมส่วนประกอบให้เข้ากันเสร็จแล้วเทใส่กระบอกไม้ก่อนนำไปเผาให้สุก
คำอธิบายจบก็พอดีกับที่แถวคนต่อชิมหลามหมดลง เราเลยได้มีโอกาสชิมหลามจานนี้เป็นหลามไก่ หน้าตาของมันคือไก่ติดกระดูกผัดสีเข้มๆ ค่อนไปทางดำ เป็นสีที่น่าจะได้จากการใส่ปลาร้า ส่วนรสชาติของมันเค็มๆ เผ็ดๆ ตามวัตถุดิบที่ใส่
ถัดมาที่ซุ้มข้างๆ ที่ดึงความสนใจเราด้วย setting ที่เรียกว่าอลังการ เพราะพวกเขายกเอาห้องครัวมาตั้งในลานวัดแห่งนี้ เป็นห้องครัวแบบที่เรามักเห็นตามละครพีเรียด ด้านหน้ามีแคร่ตั้งอยู่ บนนั้นเต็มไปด้วยหม้อดิน 5 – 6 ใบ ภายในบรรจุน้ำข้นๆ สีเทาดำแตกต่างกันไป ป้ายผ้าสีขาวเป็นตัวบอกเราว่าอาหารพวกนี้คือ ‘แจ่ว’ อาหารของคนลาว มีทั้งแจ่วที่ชื่อคุ้นอย่างแจ่วมะเขือด้าน ไปจนถึงแจ่วที่ชื่อฟังไม่คุ้นหูอย่างแจ่วผีโพง
กันยา ชาวป่า หญิงประจำซุ้มอธิบายให้ฟังว่า แจ่วคือเครื่องจิ้มชนิดหนึ่งของชาวภาคอีสาน ถือเป็นเมนูประจำบ้าน เพราะวิธีการทำไม่ยุ่งยากสามารถเอาวัตถุดิบที่อยู่รอบตัวมาทำได้ เธอยกตัวอย่างแจ่วผีโพง ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้เป็นของสดทั้งหมด ประกอบด้วยปลาร้าสด มะเขือเทศสด พริกสด และกระเทียมสด ผสมให้เข้ากันจนได้แจ่วผีโพง ส่วนที่ว่าทำไมต้องชื่อแจ่วผีโพง (เป็นผีตามความเชื่อของคนภาคเหนือ) เพราะผีโพงชอบกินของสดเหมือนกัน
ส่วนแจ่วที่เราตักมา คือแจ่วมะเขือด้าน หน้าตาของอาหารจานนี้เหมือนแกงข้นๆ สีเทาที่ได้มาจากวัตถุดิบอย่างมะเขือ ส่วนรสชาตินั้นเพื่อนร่วมทางที่ไปกับเราได้ลองชิมบอกว่า ‘เหมือนกินลาบมะเขือ’
อาหารทุกชนิดล้วนมีที่มาจากสิ่งที่อยู่รอบๆ หมู่บ้าน ทำให้เราทึ่งมาก เหมือนกับดูรายการมาสเตอร์เชฟที่ผู้เข้าร่วมรายกายต้องดัดแปลงวัตถุดิบให้เป็นอาหารต่างๆ และทำให้เรานึกถึงคำพูดของป้าโก้ว่า ‘อาหารสร้างการเรียนรู้และความสัมพันธ์ในชุมชน’ จานอาหารสะท้อนให้เราเห็นวิถีชีวิตคนบ้านไร่ที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม หยิบจับวัตถุดิบรอบตัวมาดำรงชีวิต
ป้าโก้เล่าว่า คนที่นี่ส่วนใหญ่จะยังรักษารากเก่าไว้ค่อนข้างเหนียวแน่น พวกเขาใช้ชีวิตตามวิถีเดิม อย่างวิธีการทำอาหารที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็น หลาม หมก (นำเนื้อสัตว์หรือผักมาคลุกกับเครื่องปรุงรส ปลาร้า แล้วห่อด้วยใบตองก่อนจะนำไปเผาให้สุก) และจี่ (การทอดโดยใช้น้ำมันปริมาณน้อยๆ) หรือวิถีชีวิตของคนลาวที่จะต้องทำพิธีปิดบ้านทุกแรมหนึ่งค่ำเดือนหก ถือเป็นช่วงที่จะเปิดฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ โดยพวกเขาจะไหว้เจ้าบ้านที่นับถือ ในการไหว้จะต้องมีขนมและอาหารสำหรับใช้ในพิธีกรรม เช่น ข้าวต้มแร่ เหมือนขนมกล้วยเพียงแต่ใช้กล้วยตากทำ โดยเอากล้วยตากมาตำ จากนั้นนึ่งแล้วใส่ข้าวใส่กาบมะพร้าว กลายเป็นข้าวต้มแร่
“อย่างส้มกล้วย เกิดจากคนไปไร่แล้วมันร้อน ที่นี้ในไร่มีต้นกล้วยที่เขาปลูกไว้รอบๆ ก็เอากล้วยดิบใส่เกลือเม็ดหนึ่ง ปลาร้าชิ้นหนึ่ง พริกขี้หนูเม็ดหนึ่ง แล้วมะนาวนิดหนึ่ง ตอนเรากินครั้งแรกมันแบบ ‘โอ้โห้ นัวอยู่ในปากอ่ะแก’ เรียกน้ำลายมากเลย นี่ถือเป็นความมหัศจรรย์ของภูมิปัญญาที่เขามีอยู่ ลุงเบ้แกเห็นก็ถามเหมือนกันว่าทำไมมันมีหลากหลายมากเลย ก็โอเค เราเห็นอยู่แหละว่าที่นี่มีต้นทุนทรัพยากรเยอะ แต่ภูมิปัญญาที่มาสรรค์สร้างเป็นอาหารเขา ทำได้อย่างไร?
“คำพูดเดียวเลยคือ ‘จน’ เพราะว่าจนเลยต้องหากินอยู่รอบป่ารอบบ้าน แปรรูปให้ไม่ดูน่าเบื่อ ให้มันสนุก”
ส้มกล้วย หนึ่งคำ ประกอบด้วย กล้วยดิบ ปลาร้า มะนาว พริก ตะไคร้ ส้มกล้วย
ปลายทางของถนนเส้นนี้คือการที่ทุกคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองมี
ถึงแม้ท้องฟ้าจะเริ่มมืดลงแต่คนมางานกับเพิ่มขึ้น สร้างบรรยากาศครื้นเครงกว่าเดิม รอยยิ้มที่ปรากฎอยู่บนใบหน้าป้าโก้ตลอดทั้งงานคงเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความประสบสำเร็จงานนี้ได้เป็นอย่างดี ทุกคนที่มางานไม่ได้เพียงอิ่มท้อง หรือได้ของฝากกลับไป แต่พวกเขาได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนบ้านไร่ด้วย
ตลอด 10 ปีที่ทำงานในหมู่บ้านสะนำ ป้าโก้เล่าว่าได้พบเจอคนที่มีต้นทุนความรู้เยอะมาก ซึ่งป้าโก้ไม่อยากให้ความรู้พวกนั้นถูกเก็บเอาไว้ จึงชวนพวกเขามาทำบ้านให้เป็นพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องโชว์ความรู้ความสามารถที่ตัวเองมี ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กๆ ในหมู่บ้านและคนภายนอก
“อย่างบ้านป้าจำปีเขาเก่งเรื่องผ้ามาก ก็ชวนเขาทำบ้านให้เป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าลาวลายโบราณ ให้ความรู้เรื่องผ้าโบราณ เพราะลายผ้าส่วนใหญ่มันจะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนลาว เช่น ลายอ้อแอ้ เป็นเสียงของล้อเกวียนที่ดังขึ้นระหว่างอพยพ ลายอ้อแอ้จะแสดงเส้นทางที่คนลาวใช้เดินทางมาประเทศไทยตอนถูกกวาดต้อน เลยทำให้ลายเป็นแบบลดเลี้ยวเคี้ยวคด หรือลายขอขื่อ แรงบันดาลใจมาจากการไกวเปลเลี้ยงลูก ลายผ้าพวกนี้มีเรื่องเล่ามากมาย เราเลยจัดพื้นที่ให้เขาได้แสดงศักยภาพ ทั้งหมดจึงเริ่มจากเล็กๆ มาเรื่อยๆ
“ผู้ใหญ่ก็สนุกนะ เพราะเขาได้ฟื้นวิชาที่มีอยู่ในตัวมาเล่าให้ลูกหลานฟัง อย่างการทำควายมะพร้าว มันหายไปนานแล้วนะจากความทรงจำของคนในหมู่บ้าน เป็นของเล่นคนในท้องถิ่น โดยเอาก้านมะพร้าวมาเสียบกับกะลามะพร้าวที่เหลาให้เป็นเขาควาย ตอนเรากับเด็กๆ ไปเห็นก็ถามว่าคืออะไร คนทำก็เล่าให้เราให้เด็กฟัง เราได้ความรู้ ตัวเขาก็ได้ฟื้นวิชาในตัว
“เราอยากให้เขาเห็นว่าของที่พวกเขามีในตัวมันสร้างคุณค่าให้พวกเขาได้นะ การทำกิจกรรมหรือแม้แต่การจัดงานครั้งนี้มันก็ทำให้รากของชุมชนแข็งแรงขึ้น ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเชื่อมร้อยกันแน่น คนในชุมชนเองภูมิใจที่อาหารของเขามีคนสนใจ ชีวิตของเขามีคนสนใจ จริงๆ เราอยากให้พื้นที่นี้เป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆ ในอุทัยธานีได้ทำแบบนี้บ้าง เพราะเอาเข้าจริงอุทัยธานีมีพื้นที่แบบนี้เยอะมากนะ กำลังรอที่จะส่งเสียง เปล่งประกายอยู่” ป้าโก้กล่าวทิ้งท้าย