Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: February 2023

Matilda The Musical: เมื่อโลกไม่เข้าข้าง เราต้องยืนหยัดเพื่อตัวเอง
10 February 2023

Matilda The Musical: เมื่อโลกไม่เข้าข้าง เราต้องยืนหยัดเพื่อตัวเอง

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • มาทิลด้า เวิร์มวู้ด คือตัวละครหลักวัย 5 ขวบ จากภาพยนตร์แนวแฟนตาซี Matilda The Musical ที่มีเค้าโครงจากวรรณกรรมสุดคลาสสิกเรื่อง Matilda ของโรอัลด์ ดาห์ล ยอดนักเขียนชาวเวลส์ผู้ล่วงลับ
  • มาทิลด้า คือตัวแทนของเด็กหลายคนที่เติบโตมากับครอบครัวและโรงเรียนที่มีแนวคิดอำนาจนิยม ทว่าเธอกลับไม่ยอมจำนนและลุกขึ้นต่อต้าน เพื่อยืนหยัดในสิทธิเสรีภาพของเด็ก
  • ขณะที่โลกดูเหมือนจะไม่เข้าข้างมาทิลด้า เธอก็ได้พบกับครูฮันนี่ที่เข้าอกเข้าใจและสนับสนุนให้เธอได้เติบโตในแบบของตัวเอง

[*บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์]

“แค่ได้เจอว่าโลกไม่เข้าข้างเรา ไม่ใช่ว่าเราจำเป็นต้องทนและยิ้มหวานเข้าใส่” 

นี่คือประโยคที่ติดหูระหว่างชมภาพยนตร์เรื่อง Matilda The Musical เพราะสำหรับผม ทุกครั้งที่รู้สึกว่าโลกไม่เข้าข้าง มันไม่ง่ายเลยที่จะพูดหรือสร้าง Mindset ให้ตัวเองแบบนี้ 

ผมแปลกใจมากว่าทำไมภาพยนตร์ถึงกำหนดให้คำพูดดังกล่าวออกมาจากปากของเด็กผู้หญิงอายุห้าขวบอย่าง ‘มาทิลด้า เวิร์มวู้ด’ แทนที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มากประสบการณ์ชีวิต ดังนั้นผมจึงอยากรู้ว่าอะไรทำให้เด็กคนหนึ่งมีความคิดเช่นนี้ และเธอจะเลือกดำเนินชีวิตต่อไปยังไงในโลกที่ไม่เข้าข้างและไม่ง่ายเลยที่จะลุกขึ้นสู้ ซึ่งแน่นอนว่าโลกที่มาทิลด้าเอ่ยถึง ย่อมหนีไม่พ้น ‘ครอบครัว’ และ ‘โรงเรียน’ ที่ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้แนวคิดแบบอำนาจนิยม

เด็กน้อยในห้องใต้หลังคา

มาทิลด้า เกิดในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่รัก โดยพ่อกับแม่มักโอดครวญว่าตนทำเวรกรรมชั่วร้ายอันใดถึงถูกโชคชะตาลงโทษด้วยการส่งเด็กหน้าขนแสนทุเรศลงมาเกิดเป็นลูกในไส้ 

เช่นนี้ มาทิลด้าจึงถูกเลี้ยงดูแบบขอไปที ไล่ตั้งแต่บ้านที่แม้จะหลังใหญ่โต แต่พ่อแม่กลับให้มาทิลด้าอยู่ในห้องใต้หลังคาแคบๆ โทรมๆ ส่วนเรื่องการศึกษาแทนที่จะส่งเธอไปโรงเรียน พวกเขากลับปล่อยปะละเลย โดยอ้างว่าไม่มีเวลาบ้าง ลืมอายุของมาทิลด้าบ้าง ทำให้เธอต้องออกไปขวนขวายหาความรู้ที่ห้องสมุดด้วยตัวเอง ซึ่งหนังสือที่มาทิลด้าอ่านค่อนข้างหลากหลาย ทั้งตำราเรียนของผู้ใหญ่และวรรณกรรมชื่อดังมากมาย ทำให้เธอมีความคิดอ่านที่ลึกซึ้งจนบรรณารักษ์ห้องสมุดถึงกับทึ่งในความฉลาดเกินอายุ

สิ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ ต่อให้มาทิลด้าจะดูฉลาดหรือพูดจามีเหตุผลแค่ไหน แต่พออยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่มีสถานะเป็น ‘ผู้กุมความถูกต้อง’ พรสวรรค์ของมาทิลด้ากลับทำให้เธอเป็นได้เพียง ‘เด็กอวดดี’ คนหนึ่ง

อย่างฉากที่พ่อบอกคนในบ้านว่าวันนี้มีลูกค้าหลงกลซื้อรถมือสองที่พ่อเอารถพังๆ สองคันมาประกอบกันเป็นคันใหม่ มาทิลด้าเตือนพ่อว่าสิ่งที่ทำมันผิดกฎหมาย ทว่าพ่อกลับต่อว่ามาทิลด้าอย่างรุนแรง พร้อมนำหนังสือที่มาทิลด้ายืมจากห้องสมุดมาฉีกทิ้งด้วยความโมโห เพราะพ่อกับแม่ของเธอเชื่อว่าหนังสือเป็นตัวการที่ทำให้ลูกหัวแข็ง 

“แค่ได้เจอว่าโลกไม่เข้าข้างเรา ไม่ใช่ว่าเราจำเป็นต้องทนและยิ้มหวานเข้าใส่ ถ้าเราได้แต่กลัวและก้มหัวยอมเขาไป ก็คงเหมือนเราพูดว่าทำแบบนี้ก็ได้ แต่มันไม่ใช่ไง ถ้าดูแล้วไม่ใช่ต้องทำให้รู้เสียบ้าง แต่เราจะรอใครให้มาแก้ไขก็คงไม่มี มีเพียงตัวเราเท่านั้นที่แก้เรื่องร้ายให้เป็นเรื่องดี ถึงคราวเป็นตัวแสบบ้างแล้ว” 

หลังจากถูกฉีกหนังสืออย่างไม่ยุติธรรม มาทิลด้าไม่เพียงไม่กลัว เธอกลับยืนหยัดเพื่อความถูกต้อง และดำเนินการตอบโต้ด้วยการแอบทากาวไว้ที่หมวกใบเก่งของพ่อ ทำให้เขาไม่สามารถถอดหมวกออกจากศีรษะ ซึ่งหากตัดประเด็นเรื่องบาปบุญคุณโทษ ในความเป็นภาพยนตร์แนวแฟนตาซีผมมองว่าการกระทำของมาทิลด้า คือกลวิธีปกป้องตัวเองอย่างหนึ่งที่ช่วยปลดล็อกความรู้สึกจากการตกเป็น ‘เหยื่อ’ ของเผด็จการในครอบครัว 

ครูใหญ่ผู้ลุ่มหลงในอำนาจ

ไม่เพียงต้องทนกับ Toxic Parents ชะตากรรมของมาทิลด้ายังไม่ต่างจากเด็กๆ หลายคนที่ต้องมาเจอกับอำนาจนิยมในโรงเรียน

วันหนึ่ง มีผู้ตรวจการโรงเรียนแวะมาที่บ้านของมาทิลด้าเพื่อสอบถามพ่อแม่เธอถึงสาเหตุที่ไม่ส่งลูกไปโรงเรียนตามที่กฎหมาย และขู่ว่าจะปรับเงินพ่อแม่ของมาทิลด้าอย่างหนัก ทำให้พ่อของมาทิลด้าโมโหและเลือกส่งลูกสาวไปเรียนที่ ‘ครันเชมฮอลล์’ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองอันกดขี่และโหดร้ายของครูทรันช์บลู 

“อกาธา ทรันช์บูล ครูใหญ่ของครันเชมฮอลล์ เธอตัวใหญ่ แข็งแรง น่ากลัว เคยแข่งขว้างค้อนโอลิมปิก และรู้ไหมว่าฉันเพิ่งทำอะไร ฉันโทรหาเธอและบอกเธอว่า แกน่ะเป็นนังเด็กผีตัวแสบที่ชอบก่อเรื่อง แล้วเธอก็รอเจอแกสุดๆ” 

ผมรู้สึกสงสารมาทิลด้าที่ ‘หนีเสือปะจระเข้’ เพราะไหนจะทนกับพ่อแม่ที่ไม่ได้เรื่อง ยังต้องมาเจอกับครูใหญ่จอมเผด็จการ ทั้งยังชอบขู่และทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียนที่ไม่เชื่อฟังด้วยสารพัดวิธีการสุดเหี้ยมโหด อาทิ การเด็กจับทุ่มออกนอกรั้วโรงเรียน การดึงหูเด็กจนหูใหญ่ยานกว่าใบหน้า และการจับเด็กเข้าไปขังในตู้แขวนคอที่เต็มไปด้วยของมีคม ฯลฯ

“เด็กๆ ทั้งหลาย ครูจะเป็นครูใหญ่ของพวกเธอได้ยังไง ถ้าทำให้พวกเธอกลัวเข้ากระดูกไม่ได้ เมื่อฉันเข้ามาในห้อง ถ้าเด็กชั้นเล็กสุดฉี่ไม่เล็ดสักนิด งั้นฉันก็สอบตกในการเป็นนักการศึกษา”ครูทรันช์บูลกล่าว

จากประโยคนี้จะเห็นว่าครูทรันช์บูลมองว่าเด็กคือคนที่ต้องจัดการให้อยู่ในกรอบ “…จะสอนเด็กได้ ขั้นแรกต้องทำให้เด็กเชื่อง” เธอจึงนิยมใช้ความรุนแรงและคำพูดข่มขู่มาเป็นเครื่องมือที่ทำให้เด็กๆ กลัว โดยลืมนึกไปว่ายิ่งบังคับมากเท่าไหร่ เด็กก็จะยิ่งโหยหาอิสรภาพมากขึ้นเท่านั้น

มาทิลด้าจึงเป็นเหมือนตัวแทนของเด็กขบถที่พร้อมปลดแอกตัวเองจากระบบอำนาจนิยมที่สืบทอดกันมาอย่างไร้เหตุผลของพวกผู้ใหญ่ ดังนั้นเมื่อเห็นเพื่อนๆ ถูกครูทรันช์บูลหาเรื่องลงโทษนักเรียนแบบไม่มีเหตุผล มาทิลด้าจะเป็นคนที่ลุกขึ้นตั้งคำถามและต่อต้านการกระทำอันป่าเถื่อนครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งผมมองว่าการไม่ยอมจำนนของมาทิลด้าได้ค่อยๆ ทำลายบรรยากาศของความกลัว ทั้งยังจุดประกายให้เพื่อนๆ หันมาร่วมแรงร่วมใจกันต่อต้านครูใหญ่จอมเผด็จการ

ฉากที่ชัดเจนที่สุดคือฉากที่ครูทรันช์บูลนำนักเรียนทั้งหมดมาสอบสะกดคำที่โรงอาหาร ซึ่งหากใครตอบผิดจะต้องถูกขังในตู้แขวนคออันโหดร้าย ทำให้ตอนที่นักเรียนคนหนึ่งตอบผิดและถูกครูทรันช์บูลเดินมาลากตัว เพื่อนๆ ที่เหลือจึงลุกขึ้นยืนบนโต๊ะพร้อมสะกดคำศัพท์แบบผิดๆ ราวกับท้าทายอำนาจ ทำให้ครูทรันช์บูลตกตะลึงและตระหนักว่าระเบิดเวลาของเด็กๆ ได้นับถอยหลังแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริงยังมีตัวละครอย่างครูทรันช์บูลอีกมากที่ดูงี่เง่า บ้าอำนาจ และชอบระบายอารมณ์กับเด็กอย่างไร้เหตุผล เพียงแต่หลายคนอาจไม่ได้เล่นใหญ่และแฝงตัวอย่างแนบเนียนในคราบของครูที่ดูน่าเชื่อถือ ซึ่งจุดนี้ผมมองว่าคงจะดีไม่น้อยถ้ามีกลไกการตรวจสอบสุขภาพจิตของครู เพราะนับวันเราจะเห็นตัวอย่างของครูผู้บิดเบี้ยวมากขึ้นตามข่าวโทรทัศน์และโซเชียลมีเดีย  

ครูฮันนี่ผู้เปี่ยมด้วยความเมตตา

นอกจากภาพของครูทรันช์บูลที่ภาพยนตร์กำหนดให้เป็นดั่งตัวแทนของเผด็จการบ้าอำนาจ พวกเขาก็ไม่ลืมที่จะใส่บทของตัวละครที่ผมชอบที่สุดอย่าง ‘ครูฮันนี่’ ผู้เป็นตัวแทนของความเมตตาและเข้าอกเข้าใจนักเรียน 

ตอนมาทิลด้ามาโรงเรียนครั้งแรก ครูฮันนี่ได้ต้อนรับเธออย่างอบอุ่น ก่อนขอแรงมาทิลด้าช่วยจัดการกระดานดำที่เต็มไปด้วยโจทย์คณิตศาสตร์ของพวกผู้ใหญ่ที่มาขอใช้ห้อง ซึ่งคำว่าจัดการของครูฮันนี่หมายถึงลบกระดานให้สะอาด ทว่าด้วยความใสซื่อมาทิลด้าจึงจัดการแก้โจทย์เหล่านั้นอย่างง่ายดายทำเอาครูฮันนี่อ้าปากค้าง

หลังจากทึ่งในความอัจฉริยะของมาทิลด้า ครูฮันนี่ก็ทราบว่ามาทิลด้าเป็นหนอนหนังสือที่เสพวรรณกรรมระดับโลกไม่น้อยกว่าเจ็ดเล่มต่อสัปดาห์ เธอจึงพยายามไปขอร้องครูทรันช์บูลให้ช่วยผลักดันมาทิลด้าให้เขยิบขึ้นไปเรียนกับเด็กสิบเอ็ดขวบ ทว่ากลับถูกครูใหญ่ปฏิเสธและต่อว่า แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ครูฮันนี่ถอดใจ ทั้งยังแอบวางแผนเพื่อสนับสนุนความสามารถของมาทิลด้าด้วยตัวเอง

“ครูเชื่อว่าสมองของหนูล้ำเป็นพิเศษ ครูจึงดำเนินการบางอย่างเอง ตั้งแต่พรุ่งนี้ ครูจะคัดสรรหนังสือฉลาดๆ มาให้ หนูสามารถนั่งอ่านขณะที่ครูสอนเพื่อนๆ ได้เลย และถ้าหนูมีคำถามอะไร ครูจะพยายามตอบให้ดีที่สุด หนูว่าดีไหมจ๊ะ”

ผมรู้สึกว่าตลอดทั้งเรื่อง คำพูดนี้ของครูฮันนี่คือประโยคที่กินใจที่สุด เพราะตลอดชีวิตห้าปีของมาทิลด้า ไม่เคยมีสักครั้งที่พ่อแม่จะสนใจว่าเธอชอบหรือปรารถนาสิ่งไหน ต่างกับครูฮันนี่ที่รู้จักกันไม่กี่วันแต่กลับเอาใจใส่ดูแล และมอบความรักแบบไม่มีเงื่อนไขให้แก่มาทิลด้าจนหนูน้อยถึงกับโผกอดครูสาวด้วยความขอบคุณ

ขณะที่เรื่องราวในโรงเรียนดำเนินไปเรื่อยๆ ผมสังเกตว่าภาพยนตร์ค่อยๆ ให้เผยเรื่องราวชีวิตวัยเด็กของครูฮันนี่ ทำให้ผมรู้สึกว่าบางครั้งครูฮันนี่อาจมองว่ามาทิลด้าคล้ายเป็นตัวแทนของเธอในวัยเด็ก เพราะเธอเองสูญเสียพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก เธอจึงจำใจต้องอยู่กับป้าใจร้ายอย่างครูทรันช์บูลที่เลี้ยงดูเธออย่างโขกสับมาตลอดชีวิต หนำซ้ำยังถือวิสาสะยึดบ้านและสมบัติของพ่อแม่ผู้ล่วงลับไปทั้งหมด 

“ป้าใจร้ายใจดำกว่าที่เธอจะนึกออก…ครูรู้แต่ว่าการถูกผู้หญิงคนนั้นข่มเหงเป็นปีๆ ทำให้ครูน่าสมเพช”

ผมมองว่าความสัมพันธ์อันงดงามระหว่างครูฮันนี่กับมาทิลด้า คล้ายกับการพบกันของคนอ้างว้างที่มีบาดแผลจากผู้ใหญ่ใจร้าย ทำให้ทั้งคู่มีความเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่าย ทั้งยังช่วยกันเยียวยาหัวใจที่บอบช้ำของกันและกัน 

ดังนั้น หลังจากที่มาทิลด้าบังเอิญพบว่าตัวเองมีพลังจิตที่สามารถเห็นภาพในอดีตของพ่อแม่ครูฮันนี่ รวมถึงพลังในการบังคับสิ่งของให้ขยับตามใจชอบ มาทิลด้าจึงอาศัยช่วงเวลาเพื่อนๆ ประท้วงครูทรันช์บูลเรื่องการสอบสะกดคำ ใช้พลังจิตบังคับชอล์กให้เขียนข้อความบนกระดานดำโดยมีใจความสำคัญให้ครูทรันช์บูลคืนบ้านและสมบัติทั้งหมดให้กับครูฮันนี่และรีบไสหัวไปให้ไกลที่สุด ไม่เช่นนั้นครูทรันช์บูลจะต้องถูกจัดการเหมือนกับที่เธอเคยจัดการพ่อของครูฮันนี่

พอความลับอันดำมืดและผิดกฎหมายของครูทรันช์บูลถูกแฉ ทำให้ครูทรันช์บูลยอมแพ้และหนีไปแต่โดยดี ส่วนครูฮันนี่ก็สามารถก้าวข้ามอดีตอันแสนเจ็บปวดของเธอ ก่อนก้าวขึ้นมารับหน้าที่ครูใหญ่ ก่อนเปลี่ยนชื่อโรงเรียนครันเชมฮอลล์ที่ปกครองด้วยความกลัวให้กลายเป็นโรงเรียนเดอะบิ๊กเฟรนด์ลี่ที่เปี่ยมด้วยความรักความเข้าใจ  

Matilda The Musical เป็นภาพยนตร์แนวมิวสิคัลและแฟนตาซีที่ดัดแปลงจากละครเพลงดีกรีรางวัลโทนีและ Oliver Award โดยผู้กำกับ แมทธิว วอร์ชัส อย่างไรก็ตามต้นฉบับจริงๆ ของหนูน้อยมาทิลด้านั้นมาจากวรรณกรรมสุดคลาสสิกเรื่อง Matilda ของโรอัลด์ ดาห์ล ยอดนักเขียนชาวเวลส์ผู้ล่วงลับ

Tags:

โรอัลด์ ดาห์ลภาพยนตร์ปม(trauma)การเติบโตเด็กครอบครัวมาทิลด้าMatilda The Musical

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Illustrator:

illustrator

ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Related Posts

  • Movie
    The Edge of Seventeen: เราต่างต้องการเป็นที่รักและมีค่าเสมอสำหรับใครบางคน

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Book
    บ้านเล็กในป่าใหญ่: ที่พักพิงแสนปลอดภัยในโลกอันน่าหวาดหวั่นคือ ‘ครอบครัว’

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Early childhoodFamily Psychology
    เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.2 ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่ได้ทำให้สิ่งสำคัญต่อตัวเด็กเปลี่ยนแปลง

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Movie
    Inside Out 2: เมื่อไม่อาจหลีกหนีความวิตกกังวล สิ่งสำคัญคือการรู้เท่าทันและไม่ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Movie
    The Holdovers: ในวันที่ไม่มีใครเหลียวแล ขอแค่ใครสักคนที่มอบไออุ่นและเยียวยาหัวใจกัน

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 8. การหล่อหลอมความเป็นผู้ก่อการ โดยดำเนินการที่ปัจเจกบุคคล วัฒนธรรม และโครงสร้าง
Transformative learning
7 February 2023

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 8. การหล่อหลอมความเป็นผู้ก่อการ โดยดำเนินการที่ปัจเจกบุคคล วัฒนธรรม และโครงสร้าง

เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ’ ตอนที่ ๘. การหล่อหลอมความเป็นผู้ก่อการ โดยดำเนินการที่ปัจเจกบุคคล วัฒนธรรม และโครงสร้าง โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช
  • ครูถูกระบบเรียกร้องให้เป็นตัวของตัวเอง ทำงานอย่างริเริ่มสร้างสรรค์ โดยระบบไม่ได้หาทางเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของการทำงานของครู ที่ครอบงำครูด้วยลัทธิบูชาผลงาน ทำให้ครูแสดงบทบาทผู้ก่อการ (teacher agency) ได้ยาก
  • เราต้องการความเป็นผู้ก่อการของครู เพราะครูต้องเป็น “ผู้ปฏิบัติงานที่ฉลาด” (intelligent worker) ที่ส่งผลให้ระบบการศึกษาเป็น “ระบบที่ฉลาด” (intelligent system) “ผู้ปฏิบัติงานที่ฉลาด” ในที่นี้ หมายถึง “ผู้ปฏิบัติงานที่มีความเป็นผู้ก่อการ” (agentic worker) นั่นเอง

บันทึกชุด เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ นี้ ตีความ (ไม่ใช่แปล) จากหนังสือ Teacher Agency : An Ecological Approach (2015) เพื่อหนุนการดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะของไทย ให้เป็นหลักสูตรที่มีครูเป็น “ผู้ร่วมสร้าง” (co-creator) โดยขอย้ำว่า ผมเขียนบันทึกชุดนี้แบบตีความสุดๆ ในหลายส่วนได้เสนอมุมมองของตนเองลงไปด้วย ท่านผู้อ่านจึงพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ อย่าเชื่อโดยง่าย

บันทึกที่ ๘ นี้ ตีความจากบทที่ 6 Individual, Cultural and Structural Framings of Agency

ตั้งแต่ต้น(คริสต)ศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้นมา เป็นกระแสของการศึกษาทั่วโลก ว่าต้องส่งเสริมให้ครูเป็นตัวของตัวเอง หรือเป็นอิสระมากขึ้นในการทำหน้าที่ทางวิชาชีพ ดังหลักสูตร Curriculum for Excellence ของสก็อตแลนด์ระบุว่า มีความสำคัญยิ่งที่ครูต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนที่ตนทำงาน

ความคาดหวังบทบาทครูเช่นนั้นมีปัญหา เพราะเป็นความคาดหวังที่ขัดแย้งกับแนวทางปฏิบัติ ที่การควบคุมครูยังคงเข้มข้นตามแนวเดิม ที่ปฏิบัติมานานมาก คือเข้มข้นทั้งการควบคุมปัจจัยนำเข้า (input regulation) และปัจจัยขาออก (output regulation) คือผลงาน

ปัจจัยนำเข้าคือหลักสูตร สก็อตแลนด์ใช้หลักสูตรเก่าที่ระบุรายละเอียดที่ต้องปฏิบัติอย่างเข้มข้นมาเป็นเวลา ๒๐ ปี เมื่อประกาศใช้หลักสูตรใหม่ Curriculum for Excellence ในปี 2010 – 2011 ที่ให้อิสระแก่ครูขึ้นมาก ครูก็ยังคงปฏิบัติตามแนวเดิม เพราะไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการระบุปัจจัยขาออก ที่ระบุเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ และก่อตัวเป็นลัทธิบูชาผลงาน (performativity) ตามกระแสการบริหารงานภาคธุรกิจ และการบริหารงานภาครัฐของสังคมภาพใหญ่ ที่ผมมองว่าเป็นกระแสโลก      

ครูจึงทำงานอยู่ในระบบที่มีความขัดแย้งอยู่ในระบบเอง ครูถูกระบบเรียกร้องให้เป็นตัวของตัวเอง ทำงานอย่างริเริ่มสร้างสรรค์ โดยระบบไม่ได้หาทางเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของการทำงานของครู ที่ครอบงำครูด้วยลัทธิบูชาผลงาน ทำให้ครูแสดงบทบาทผู้ก่อการ (teacher agency) ได้ยาก    

ย้ำว่า เป็นข้อผิดพลาด ที่ระบบการศึกษาหรือหลักสูตร เรียกร้องความเป็นผู้ก่อการจากครู โดยไม่หนุนหรือเอื้อด้วยการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในการปฏิบัติงานของครู ข้อผิดพลาดนี้มาจากความเข้าใจผิด ว่าพฤติกรรมการเป็นผู้ก่อการขึ้นอยู่กับตัวครูเท่านั้น ในความเป็นจริง พฤติกรรมก่อการของครูขึ้นกับ ๒ ปัจจัย คือปัจจัยด้านตัวครู กับปัจจัยด้านระบบนิเวศในการทำงานของครู     

หากต้องการใช้พลังก่อการของครู ต้องไม่หลงพัฒนาตัวครูเท่านั้น ต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศในการทำงาน (ที่หนังสือเรียกว่า cultural and structural dimension) ให้เอื้อต่อการทำงานริเริ่มสร้างสรรค์ไปพร้อมๆ กันด้วย   

ในบันทึกตอนที่ ๘ นี้ มุ่งตอบคำถาม ๓ ข้อ คือ 

  1. ความเป็นผู้ก่อการของครูคืออะไร พิจารณาลักษณะด้านต่างๆ ของความเป็นผู้ก่อการของครู ทั้งด้านบวก และด้านลบ
  2. ความเป็นผู้ก่อการของครูมีที่มาจากไหน หรือถามใหม่ให้ชัดหรือเจาะจงยิ่งขึ้นว่า ปัจจัยด้านบุคคล วัฒนธรรม และโครงสร้าง ที่เอื้อต่อการบรรลุความเป็นผู้ก่อการของครู มีอะไรบ้าง โดยทีมวิจัยตรวจสอบ (๑) ความเคยชินของครู ซึ่งหมายถึง มีความพยายามดึงครูออกจากความเคยชินเดิมๆ แต่เป็นการยากมากที่จะดึงเอาความเคยชินเดิมๆ ออกจากครู (๒) ความขัดแย้งระหว่างหลักสูตรใหม่ที่เปิดกว้างมากขึ้น  กับวัฒนธรรมตรวจสอบที่ยังดำเนินต่อเนื่อง (๓) วาทกรรมและความสัมพันธ์ที่ช่วยส่งเสริมความเป็นผู้ก่อการของครู     
  3. ความเป็นผู้ก่อการของครูก่อผลอะไรได้บ้าง หรือกล่าวใหม่ว่า หากโรงเรียนและนโยบายด้านหลักสูตรส่งเสริมความเป็นผู้ก่อการของครู จะเกิดผลดีอะไรบ้าง และความเข้าใจที่แจ่มชัดขึ้นเรื่องความเป็นผู้ก่อการของครู จะก่อผลพัฒนาโรงเรียนอย่างไรบ้าง

ข้อค้นพบ

ข้อค้นพบที่ระบุในหนังสือ มีที่มาจาก ๒ แหล่ง คือ จากรายงานวิจัยที่มีการเผยแพร่มาก่อน กับจากผลงานวิจัย Teacher Agency and Curriculum Change ของทีมผู้นิพนธ์หนังสือ Teacher Agency เอง โดยข้อค้นพบแรกคือ มีแนวคิดเรื่องความเป็นผู้ก่อการ ๒ แนว คือ (๑) แนวสังคมวิทยา (sociological view) มองว่าความเป็นผู้ก่อการมาจากการหล่อหลอมทางสังคม และ (๒) แนวนิเวศวิทยา (ecological approach) ที่บอกว่า ความเป็นผู้ก่อการมีลักษณะ

  • เป็นปรากฏการณ์ที่ผุดบังเกิด (emergent phenomenon) ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่สิ่งที่บุคคลมี แต่เป็นสิ่งที่บุคคลบรรลุ และแสดงพฤติกรรมออกมา    
  • เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติภายในของบุคคล และเงื่อนไขภายนอก ความเป็นผู้ก่อการ ณ จุดหนึ่ง เหตุการณ์หนึ่ง มีความจำเพาะ เพราะเกิดจากการบรรจบกันของ ๓ ปัจจัยคือ (๑) แรงขับดันของบุคคล (๒) ทรัพยากร (หรือทุน) ที่มี และ (๓) บริบท หรือสภาพแวดล้อม ที่เอื้อ  
  • เป็นสิ่งที่มีมิติด้านเวลา (temporal) และความสัมพันธ์ (relational) ซึ่งหมายความว่า เป็นกระบวนการเกาะเกี่ยวทางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลายาวนาน ที่มีความจำแห่งอดีต มีความมุ่งหมายแห่งอนาคต และมีการปฏิบัติ ณ ปัจจุบันขณะ ปัจจัยทั้งสามนำไปสู่การตีความว่าความเป็นผู้ก่อการเกิดจากพลังสามที่เกาะเกี่ยวกัน คือ (๑) พลังแห่งอดีตหรือการปฏิบัติซ้ำๆ จนเป็นนิสัย (iterational dimension) (๒) พลังแห่งจินตนาการไปในอนาคต (projective dimension) และ (๓) พลังแห่งการตัดสินใจ ณ ปัจจุบันขณะ (practical-evaluative dimension)  

ข้อความตอนนี้ในหนังสือ Teacher Agency ทบทวนสาระในบทก่อนๆ อย่างยืดยาว ผมจะสรุปมาเพียงสั้นๆ    

  • ทฤษฎีสามประสานของความเป็นผู้ก่อการของครู ประกอบด้วย (๑) มิติของการปฏิบัติซ้ำๆ ในอดีต (iterational) (๒) มิติด้านจินตนาการไปในอนาคต (projective) และ (๓) มิติด้านการปฏิบัติและประเมิน ณ ปัจจุบันขณะ (practical-evaluative)
  • ความเชื่อและปณิธานความมุ่งมั่นของครู ที่สำคัญ ๓ ด้านคือ (๑) ความเชื่อเกี่ยวกับนักเรียน (๒) ความเชื่อเกี่ยวกับบทบาทของครู และ (๓) ความเชื่อเรื่องเป้าหมายสูงส่ง (purpose) ของการศึกษา สรุปได้ว่า ครูมักมีความเชื่อหรือมุมมองที่แคบ และมักไม่กล้าท้าทายอำนาจเหนือ
  • ทรัพยากรเชิงวาทกรรมและคำศัพท์ของครู มีความแตกต่างกันทั้งด้านเนื้อหา และด้านความลึกและเชื่อมโยง และความสามารถเชื่อมโยงประเด็นแคบๆ หรือเฉพาะหน้าหรือเป็นแฟชั่นไปสู่ภาพใหญ่หรือคุณค่าที่กว้างขวางหรือลึกซึ้งกว่า ความแตกต่างดังกล่าวมีผลมาจากอายุ (age effect) และรุ่น (generation effect) ทำให้ครูกลุ่มที่มีประสบการณ์มากกว่าตีความหลักสูตรใหม่อย่างยืดหยุ่นกว่าและน่าจะนำมาสร้างคุณประโยชน์ได้ดีกว่า 
  • เครือข่ายทางสังคมของครู เมื่อศึกษาที่กลไก PLC – Professional Learning Community พบว่ามักได้รับความเอาใจใส่ในความหมายและเป้าหมายที่แคบและตื้น และผมขอแถมกรณีประเทศไทยว่า มักทำกันเป็นแฟชั่นหรือตามคำสั่ง อย่างไรก็ตามเมื่อศึกษาในชื่อของเครือข่ายทางสังคม หรือปฏิสัมพันธ์ของครูและผู้บริหาร พบว่าปฏิสัมพันธ์ที่ดี ที่เป็นแนวราบและสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน มีพลังมาก ทำให้ครูในโรงเรียนริมทะเลสาบร่วมใจกันดำเนินการใช้ประโยชน์จากหลักสูตรใหม่ Curriculum for Excellence แตกต่างจากอีกสองโรงเรียน 
  • แรงกดดันจากภายนอก ในรูปของกลไกความรับผิดรับชอบ ซึ่งนำไปสู่วัฒนธรรมบูชาผลงาน (performativity) ในโรงเรียน โดยมีกลไกตรวจสอบจากภายนอก และระบบตรวจสอบภายในโรงเรียน หล่อหลอมครูให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาและวิธีการที่ผู้อื่นกำหนด ไม่คุ้นกับการคิดเองหรือร่วมกันคิด ในลักษณะที่ครูเป็นตัวของตัวเอง อย่างที่หลักสูตรใหม่ Curriculum for Excellence ต้องการให้ปฏิบัติ เป้าหมายเชิงคุณค่าของครูและโรงเรียนจึงเปลี่ยนไป จากเน้นทำเพื่อสนองนักเรียน กลายเป็นเน้นทำเพื่อสนองผลงาน แทนที่จะสอนนักเรียน กลายเป็นสอนเพื่อสอบ    

สรุปว่า หลักฐานดังกล่าวบ่งชี้ชัดเจนว่า หากจะให้หลักสูตรใหม่ Curriculum for Excellence ของสก็อตแลนด์ ประสบความสำเร็จ ต้องไม่หลงดำเนินการพัฒนาขีดความสามารถของครูเพียงอย่างเดียว ต้องมีมาตรการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วย ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป   

หล่อหลอมความเป็นผู้ก่อการของครู

ได้กล่าวแล้วในหลายบันทึก ว่าความเป็นผู้ก่อการเป็นสิ่งผุดบังเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของ ๒ ปัจจัยคือ (๑) บุคคล (ทักษะ ความรู้ ความเชื่อ ฯลฯ) (๒) เงื่อนไข ซึ่งได้แก่ วัฒนธรรม โครงสร้าง ทรัพยากร และปัจจัยขัดขวาง ปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยสองกลุ่ม ที่แจงออกเป็นปัจจัยย่อยๆ ได้มากมายหลากหลายนี้มีความเป็นพลวัตสูงมาก ทำให้เกิดคุณสมบัติเฉพาะขึ้นในแต่ละปัจจุบันขณะ และหากมีสภาพพอเหมาะ พฤติกรรมความเป็นผู้ก่อการก็แสดง (ผุดบังเกิด – emerge) ออกมา   

ต่อไปเราจะพิจารณาปัจจัยที่หล่อหลอม หรือปิดกั้น ความเป็นผู้ก่อการของครู  

  • นโยบายที่ผิดพลาด ที่เอาใจใส่เฉพาะการพัฒนาขีดความสามารถของครูเป็นรายคน 

หนังสือ วิเคราะห์ข้อความเสนอนโยบายการศึกษาจากหลากหลายองค์กรที่มีชื่อเสียง รวมทั้งจากผลงานวิจัยเด่นๆ และสรุปว่า มีแนวโน้มจะเน้นที่การพัฒนาครูเป็นรายคนเพื่อเป้าหมายคุณภาพการศึกษา น้อยมากที่ระบุว่าต้องพัฒนาตัวแนวทางการบริหารงานของระบบการศึกษา หรือพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานของครู ควบคู่ไปด้วย โดยหลุมพรางสำคัญคือวิธีคิดเชิงเส้นตรง หรือคิดชั้นเดียว ไม่ตระหนักว่า การศึกษา หรือการเรียนรู้ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนยิ่ง และระบบการศึกษาก็ซับซ้อนไม่แพ้กัน

ประเด็นสำคัญยิ่งที่มักถูกละเลยคือ โรงเรียนมีไว้เพื่ออะไร และการศึกษาสร้างคุณค่าอะไรบ้างแก่นักเรียน ส่วนใดที่การศึกษาในปัจจุบันย่อหย่อน           

ผมตีความว่า การพัฒนาครูที่เรียกว่า professional development ที่ทำกันในปัจจุบันนั้น เป็นการพัฒนาแบบแยกส่วน เน้นพัฒนาความรู้และทักษะเชิงเทคนิค ไม่ได้คำนึงถึงการพัฒนาครูทั้งคนในทุกมิติ ที่เรามักพูดกันว่า พัฒนาทั้ง 3H (head, heart, hand) หรือสมัยนี้ใช้คำว่า ASKV (attitude, skills, knowledge, values) เราจึงเห็นว่า วิญญาณครูของคนที่ประกอบวิชาชีพครูถดถอยลงไป และที่สำคัญยิ่งขาดมิติในการส่งเสริมให้ครูมีส่วนร่วมกันพัฒนาระบบการศึกษา โดยทำหน้าที่นี้ผ่านการทำงานประจำของครูนั่นเอง แล้วมีการร่วมกันสะท้อนคิด เพื่อดำเนินการพัฒนาระบบจากหน่วยย่อยไปสู่ระบบใหญ่ของประเทศ ที่เรียกว่า bottom-up systems development ข้อความในย่อหน้านี้มาจากจินตนาการของผมทั้งหมดจึงอาจมีข้อผิดพลาดอยู่ด้วย  

หากระบบการศึกษาไทยเอื้อให้ครูร่วมทำหน้าที่พัฒนาระบบ ตามแนวทางในย่อหน้าก่อน ครูไทยจะได้มีโอกาสพัฒนาความเป็นผู้ก่อการได้สูงยิ่ง  

ข้อสรุปสำหรับหัวข้อย่อยนี้คือ นโยบายที่ผิดพลาด เอาใจใส่เฉพาะการพัฒนาขีดความสามารถของครูเป็นรายคน ไม่เอาใจใส่สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ครูได้ทำงานอย่างริเริ่มสร้างสรรค์ที่หน้างานของตน ทำให้ครูมีโอกาสแสดงความเป็นผู้ก่อการได้น้อย 

  • มิติด้านปัจเจกบุคคล วัฒนธรรม และโครงสร้าง ของความเป็นผู้ก่อการของครู

ข้อความในหนังสือ Teacher Agency ตอนนี้นิยาม “ความเป็นผู้ก่อการ” (agency) ไว้อย่างลึกซึ้งมาก โดยบอกว่าครูบรรลุความเป็นผู้ก่อการเมื่อครูมีโอกาสตัดสินใจเลือกทางเลือกหนึ่งจากหลายทางเลือก ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง โดยมีความสามารถตัดสินว่าทางเลือกใดเหมาะสมที่สุดต่อเป้าหมายสูงส่ง (purpose) ของการเป็นครู จะเห็นว่าความเป็นผู้ก่อการจะถูกจำกัดหากทางเลือกถูกจำกัด และหากไม่มีทางเลือกเลย ความเป็นผู้ก่อการก็ไม่มีโอกาสเกิด    

เพื่อให้เข้าใจ “ความเป็นผู้ก่อการ” ให้ลึก ต้องพิจารณา เรื่องยากๆ สองประเด็น

  1. ความแตกต่างระหว่าง ความเป็นผู้ก่อการ (agency) กับ การเป็นตัวของตัวเอง (autonomy) การเป็นตัวของตัวเองหมายถึงมีกฎข้อบังคับจากหน่วยเหนือ หรือจากภายนอก ให้ปฏิบัติตามน้อย สมมติว่ากระทรวงศึกษาธิการยกเลิกกฎเกณฑ์กติกาที่กำหนดให้โรงเรียนปฏิบัติตามลงครึ่งหนึ่ง แต่ครูก็ยังปฏิบัติตามรูปแบบเดิม อย่างนี้แสดงว่าครูมีโอกาสเป็นตัวของตัวเองสูงขึ้นมาก แต่ไม่มีความเป็นผู้ก่อการ ผมตีความว่า การมีโอกาสเป็นตัวของตัวเองเปิดโอกาสให้คนได้แสดงพฤติกรรมผู้ก่อการ แต่ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ใช้โอกาสนั้น เขาเหล่านั้นไม่ใช่ผู้ก่อการ ในทางตรงกันข้าม ผมได้เห็นตัวอย่างบุคคลจริงที่เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการของไทย ที่ไม่เคยพูดเลยแม้แต่ครั้งเดียวว่าเรื่องดีๆ ที่ผู้ใหญ่ไปร่วมกันคิดนั้น ติดกฎระเบียบหรือข้อจำกัดใดๆ ท่านไปหาทางจัดการให้มีการดำเนินการได้ทุกเรื่อง นี่คือผู้ก่อการตัวจริง ที่หาทางออกจากสภาพ autonomy ต่ำได้เสมอ     
  2. ความเป็นผู้ก่อการดี กับก่อการด้านไม่ดี ความเป็นผู้ก่อการอาจดำเนินการเชิงสร้างสรรค์ก็ได้ หรือเชิงทำลายก็ได้ โดยทั่วไปเมื่อพูดคำว่าผู้ก่อการเราหมายถึงก่อการเชิงสร้างสรรค์ แต่หนังสือก็ยกตัวอย่างครูที่แสดงความเป็นผู้ก่อการ (สร้างสรรค์) ด้วยการหลีกเลี่ยงข้อกำหนดในหลักสูตร เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักเรียนที่ตนดูแล ดังนั้นความเป็นผู้ก่อการของครูจึงมีจุดมุ่งหมายที่คุณค่าและเป้าหมายสูงส่ง (purpose) ของการศึกษา นี่คือมิติด้านจินตนาการไปในอนาคต (projective) ของความเป็นผู้ก่อการ

เมื่อกล่าวถึงเรื่องเป้าหมายสูงส่ง (purpose) ของการศึกษา หนังสือแจกแจงเป้าหมายไว้ ๓ มิติ คือ (๑) ด้านคุณวุฒิ (qualification) (๒) ด้านพัฒนาการเชิงสังคม (socialization) ซึ่งผมขอเพิ่มเป็น ด้านสังคมและอารมณ์ และ (๓) ด้านความเป็นมนุษย์ (person) ที่มีความคิดอิสระ มีวิจารณญาณและพฤติกรรมที่เปี่ยมศีลธรรม    

โดยต้องไม่ลืมว่า เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของการศึกษาคือการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีทั้งความสัมพันธ์ยึดโยงกับสังคม และความเป็นอิสระไม่ยึดมั่นอยู่กับความคิดหรือพฤติกรรมเดิมๆ ในสังคม เป็นการพัฒนาสองขั้วตรงกันข้ามให้พัฒนาขึ้นไปพร้อมๆ กัน 

การศึกษาต้องช่วยให้มนุษย์เราได้พัฒนายกระดับขั้วตรงกันข้ามเช่นนี้ขึ้นไปในอีกมากมายหลากหลายมิติ ผมตีความว่า การยกระดับเช่นนี้ เป็นการปูพื้นฐานสำหรับการพัฒนาความเป็นผู้ก่อการต่อไปในอนาคต     

กลับมาที่ครูทั้ง ๖ คนในโครงการวิจัย ทุกคนแสดงอาการของการถูกระบบนิเวศของการทำงานลิดรอนความเป็นผู้ก่อการทั้งสิ้น ระบบนิเวศดังกล่าวมีลักษณะ ให้ความไว้วางใจต่ำ มีการติดตามตรวจสอบพร้อมทั้งกดดันให้ต้องมีผลงาน ซึ่งมักนำไปสู่การสร้างผลงานปลอมเพื่อดำรงภาพพจน์ไว้    

ทำไมจึงต้องการความเป็นผู้ก่อการของครู

นี่คือประเด็นคุณค่าของความเป็นผู้ก่อการของครู    

คำตอบคือ เพราะระบบการศึกษาต้องเป็น “ระบบที่ฉลาด” (intelligent system) จึงจะทำหน้าที่จัดการศึกษาในมิติที่ลึกและทรงคุณค่าได้ ในปัจจุบันระบบการศึกษาของสก็อตแลนด์มีสภาพไปในทางที่ตื้นเขิน และมีความไม่สุจริตซ่อนอยู่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะระบบไม่สนใจบทบาทด้านความเป็นผู้ก่อการของครู ในการทำหน้าที่ร่วมพัฒนาหลักสูตร ร่วมพัฒนาระบบการศึกษา จากจุดทำงานของตน ในลักษณะของ “การพัฒนาจากล่างขึ้นบน” (bottom-up development)    

“ระบบที่ฉลาด” หมายความว่า เป็นระบบที่มีการเรียนรู้และปรับตัว ณ ทุกจุดของระบบ เพราะระบบการศึกษาเป็นระบบที่ซับซ้อน และเป็นพลวัตอยู่ตลอดเวลา มีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย และปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ การปรับตัว ณ จุดปฏิบัติงาน ต้องการความเป็นผู้ก่อการของครู และบุคลากรหน้างานทั้งหลาย หากไม่ส่งเสริมให้ครูและบุคลากรหน้างานมีความเป็นผู้ก่อการ ก็ไม่มีทางที่ระบบการศึกษาจะเป็น “ระบบที่ฉลาด” ได้   

แต่ลัทธิบูชาผลงาน ที่มีฐานคิดจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ และแนวคิดเชิงกลไก (mechanistic) และลดทอนความซับซ้อน (reductionism) มีผลลดทอนความเป็นผู้ก่อการของครู เราจึงเห็นสภาพปัญหาของการศึกษาที่ไม่สามารถยกระดับคุณภาพและคุณค่าที่แท้จริงได้ ผมขอสะท้อนว่า สภาพนี้เป็นจริงไม่เฉพาะในประเทศสก็อตแลนด์เท่านั้น ระบบการศึกษาไทยก็ตกหลุมพรางนี้ด้วย    

ย้ำว่า ปัญหาการศึกษาที่กำลังเผชิญอยู่เกือบจะทั่วโลก เป็นปัญหาที่ระบบ ซึ่งหมายความว่ามีการออกแบบและจัดการระบบที่ผิดพลาด คือเป็นระบบกลไก และลดทอนความซับซ้อน จึงกลายเป็นระบบที่ไม่ฉลาด หากไม่แก้ไขที่ระบบ เอาแต่แก้ไขที่ตัวครู หรือมุ่งพัฒนาตัวครูเท่านั้น ครูก็จะเผชิญปัญหาความขัดแย้งกับระบบ ผลคือครูส่วนใหญ่จะสยบยอมอย่างที่เห็นอยู่ในทั้ง ๓ โรงเรียนในโครงการวิจัย ครูที่ไม่สยบยอมเป็นคนพิเศษ (มีความเป็นผู้ก่อการสูง) และมีเป็นส่วนน้อย ก็ต้องทำงานอย่างยากลำบาก เพราะต้องเผชิญลัทธิบูชาผลงาน และการควบคุมสารพัดระดับและกลไก   

มองแง่ดี ในด้านที่ให้ความหวัง ที่ระบบการศึกษาที่ผิดพลาดยังคงให้ผลลัพธ์ที่ดีพอสมควรอยู่ในปัจจุบัน ก็เพราะเรามีครูที่ดีจำนวนมาก ครูเหล่านี้มีจิตวิญญาณครู และเข้าใจคุณค่าแท้จริงของการศึกษา และมุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่อคุณค่านั้น ดังกรณีครู ๖ คน ในโครงการวิจัย ประเด็นสำคัญคือ หากระบบเปลี่ยน โดยละจากลัทธิบูชาผลงาน หันไปเอื้อให้ครูใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ ณ จุดปฏิบัติงาน เป็นผู้พัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง และส่งสัญญาณไปยังระบบใหญ่ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และปรับตัวของระบบใหญ่ ระบบการศึกษาจะส่งมอบผลงานที่ทรงคุณค่ากว่าในปัจจุบันอย่างมากมาย และที่สำคัญ ระบบการศึกษาจะวิวัฒน์ไปสนองสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตได้           

เราต้องการความเป็นผู้ก่อการของครู เพราะครูต้องเป็น “ผู้ปฏิบัติงานที่ฉลาด” (intelligent worker) ที่ส่งผลให้ระบบการศึกษาเป็น “ระบบที่ฉลาด” (intelligent system) “ผู้ปฏิบัติงานที่ฉลาด” ในที่นี้ หมายถึง “ผู้ปฏิบัติงานที่มีความเป็นผู้ก่อการ” (agentic worker) นั่นเอง

สภาพเช่นนี้ ไม่เพียงมีผลดีต่อครูเป็นรายบุคคลเท่านั้น ยังมีผลทำให้ วิชาชีพครู เป็น “วิชาชีพที่ฉลาด” (intelligent profession) ส่งผลให้ครูมีความภาคภูมิใจในการเป็นครู สังคมให้ความยกย่องนับถือ และครูเกิดความสุขความพึงพอใจการทำหน้าที่ครูของตน    

สามารถอ่านบทความ เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ ตอนที่ 1 – 7 ได้ที่นี่ 

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 1.ปณิธานสู่ระบบการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ของไทย – The Potential

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 2. ครูผู้ก่อการคือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร – The Potential

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 3. ความเป็นครูผู้ก่อการ กับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร – The Potential

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 4. ความเชื่อและปณิธานความมุ่งมั่นของครู – The Potential

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 5. คลังคำและวาทกรรมของครู – The Potential

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 6. คุณค่าของปฏิสัมพันธ์ – The Potential

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 7. ลัทธิบูชาผลงาน – The Potential

Tags:

Priestleyหนังสือ-วิจารณ์ครูหนังสือเอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการTeacher AgencyTeacher Agency : An Ecological ApproachAgentic Teacherครูผู้ก่อการครูผู้กระทำการ

Author:

illustrator

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และได้ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.) ดำรงตำแหน่งกรรมการของหน่วยงานและมูลนิธิหลายแห่ง

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Transformative learning
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 9. เกื้อกูลความเป็นผู้ก่อการของครู

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learningEducation trend
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 5. คลังคำและวาทกรรมของครู

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learningEducation trend
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 4. ความเชื่อและปณิธานความมุ่งมั่นของครู

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learningEducation trend
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 3. ความเป็นครูผู้ก่อการ กับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learningEducation trend
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 2. ครูผู้ก่อการคือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

เรียนเมตริกซ์จาก KFC เรียนตรีโกณฯ จากคดีฆาตกรรม: ห้องเรียนคณิตของ ‘ครูนัน’ ที่พาเด็กเชื่อมใช้ได้จริง
7 February 2023

เรียนเมตริกซ์จาก KFC เรียนตรีโกณฯ จากคดีฆาตกรรม: ห้องเรียนคณิตของ ‘ครูนัน’ ที่พาเด็กเชื่อมใช้ได้จริง

เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • เปิดห้องเรียน Active Learning คุยกับ ครูนัน-วิตรานันท์ นันทผาสุข ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ (ปทุมวัน) ผู้พยายามตอบคำถามของนักเรียนว่า ‘เราเรียนคณิตศาสตร์กันไปทำไม’ ด้วยการสร้างสรรค์วิธีการเรียนให้น่าสนใจและเหมาะกับนักเรียนในยุคนี้
  • คอนเซ็ปต์คืออยากให้นักเรียนเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้ และทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกไปกับการเรียน โดยดึงคอนเทนต์ต่างๆ มาใช้กับบทเรียน  ไม่ว่าจะเป็นเกม เพลง หรือหนัง เพื่อให้นักเรียนลดอคติและเข้าใจคณิตศาสตร์อย่างแท้จริง
  • กิจกรรม ‘สืบเลือดปริศนา’ คือตัวอย่างการออกแบบการเรียนรู้ที่ครูนันใช้สอนเรื่องตรีโกณมิติ ทำให้นักเรียนเห็นว่าบทเรียนนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ เพราะเรื่องคดีฆาตกรรม หรือเรื่องที่ลึกลับมักจะดึงดูดให้เด็กสนใจได้ เหมือนกับการ์ตูนโคนัน ที่ทำให้เรารู้สึกอยากติดตามเนื้อเรื่อง 

เรียนตรีโกณมิติ จากการคำนวณหยดเลือด?

เรียนภาพตัดเลขาคณิต จากเกม Fruit Ninja?

เรียนเมตริกซ์ จากการคำนวณราคาชุดไก่ KFC?

ใครจะไปรู้ว่า สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรานั้นเชื่อมโยงกับคณิตศาสตร์จนสามารถดึงเอามาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นบทเรียนในห้องเรียนได้ และยังทำให้นักเรียนเข้าใจคณิตศาสตร์มากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก

The Potential ชวนคุยกับ ครูนัน-วิตรานันท์ นันทผาสุข ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ (ปทุมวัน) ผู้พยายามตอบคำถามของนักเรียนว่า ‘เราเรียนคณิตศาสตร์กันไปทำไม’ ด้วยการสร้างสรรค์วิธีการเรียนให้น่าสนใจและเหมาะกับนักเรียนในยุคนี้ โดยดึงเอาคอนเทนต์ต่างๆ มาเชื่อมโยงกับบทเรียน เพื่อทำให้นักเรียนเชื่อว่าสิ่งที่เรียนไปสามารถใช้จริงได้อย่างแน่นอน

“คอนเซ็ปต์ของเราคืออยากให้นักเรียนเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้ และทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกไปกับการเรียน โดยเราจะดึงคอนเทนต์ต่างๆ มาใช้กับบทเรียน”

กิจกรรม ‘สืบเลือดปริศนา’ คือตัวอย่างการออกแบบการเรียนรู้ที่ครูนันใช้สำหรับการสอนเรื่องตรีโกณมิติ ซึ่งหลังจากจัดกิจกรรมไปก็ได้รับความสนใจจากนักเรียนและสังคมเป็นอย่างมาก แต่นอกเหนือไปจากกิจกรรมนี้แล้ว ครูนันยังได้สร้างสรรค์และดึงสิ่งต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับการสอนอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเกม เพลง หรือหนัง เพื่อให้นักเรียนลดอคติและเข้าใจคณิตศาสตร์อย่างแท้จริง

มาร่วมหาคำตอบกับ ครูนัน ถึงจุดเริ่มต้นการออกแบบห้องเรียน Active Learning ในวิชาคณิตศาสตร์ และความคิดเห็นในฐานะครูรุ่นใหม่ที่ต้องรับมือกับนักเรียนเจน Z รวมถึงมุมมองต่อการเรียนคณิตศาสตร์ในระบบการศึกษาไทย

อะไรคือจุดเริ่มต้นการออกแบบห้องเรียน Active Learning วิชาคณิตศาสตร์?

ในฐานะครูเราก็ต้องหาคำตอบที่ดีที่สุดเพื่อให้เด็กเชื่อว่า สิ่งที่เขาเรียนไปจะได้ใช้จริงๆ และจากประสบการณ์ของตัวเองก็เข้าใจเลยว่า คณิตศาสตร์มันเข้าใจยากและไม่ค่อยน่าสนใจ แต่ถามว่าเราจะแก้ปัญหายังไง ก็คือเราต้องทำให้เห็นภาพมากขึ้น ทำให้เห็นว่าสามารถนำคณิตศาสตร์ไปปรับใช้ในชีวิตได้ 

แต่จุดเริ่มต้นที่ได้เห็นการเรียนการสอนแบบนี้เริ่มมาจากตอนที่เราเรียนอยู่ในคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ครูจะพยายามเอาเคสและตัวอย่างกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างสร้างสรรค์ลักษณะนี้มาให้ดู ว่าสามารถทำได้มากกว่าการสอนแบบบรรยาย 

พอเราเห็นกิจกรรมที่น่าสนใจ หรือมองว่าถ้านักเรียนได้เรียนแล้วจะไม่น่าเบื่อ ก็ดึงมาปรับให้เข้ากับบทเรียน เพราะก็มีหลายกิจกรรมที่เราจัดขึ้นโดยอ้างอิงจากเคสที่เราเคยเรียนในมหาลัย

และตอนที่เราก้าวเข้ามาสู่ระดับมหาวิทยาลัย สิ่งที่เราได้เรียนรู้ได้ระดับอุดมศึกษามันไปตอบคำถามที่เกิดขึ้นในสมัยมัธยมหลายข้อ เพราะตอนมัธยมเราอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเกิดเป็นสูตรนี้ขึ้นมา หรือทำไมต้องใช้สูตรนี้ๆ พอเราเรียนมหาลัยเราก็จะสามารถเชื่อมโยงได้ว่ามันมีที่มา และมีการเชื่อมโยงกันอย่างไร แน่นอนว่าถ้าเราได้รู้คำตอบตั้งแต่เด็ก เราอาจจะเห็นภาพมากขึ้นไปตั้งนานแล้ว

เราเลยตั้งใจที่จะจัดกิจกรรมให้ห้องเรียนไม่ใช่ห้องเรียนแบบเดิมๆ โดยมีเป้าหมายจะทำเดือนละครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นเนื้อหาไปถึงเรื่องไหน และพยายามจะเปลี่ยนห้องเรียนให้กลายเป็นกิจกรรมที่ไม่น่าเบื่อ ซึ่งห้องเรียนและกิจกรรมต่างๆ ที่เห็น ก็ทำอย่างนี้ไปทุกเดือน โดยสามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ได้ผ่านเฟซบุ๊กของเราได้ (Witranan Nanthaphasuk)

ทำไมถึงเลือก กิจกรรม ‘สืบเลือดปริศนา’ มาใช้สอนเรื่องตรีโกณมิติ?

จริงๆ กิจกรรมทั้งหมดที่เราทำมีค่อนข้างหลากหลาย เพราะแต่ละเดือนเราเปลี่ยนกิจกรรมไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่กิจกรรม ‘สืบเลือดปริศนา’ ก็เป็นคลาสหนึ่งจากทั้งหมดที่ได้รับความสนใจมาก

ตอนนั้นสอนถึงเรื่องตรีโกณพอดี ซึ่งเราก็ใช้วิธีตรงๆ ในการสอนเพื่อแก้โจทย์ร่วมด้วย แต่ที่สร้างกิจกรรมขึ้นมาเพราะเห็นว่าพวกโจทย์ปัญหาท้ายบทเป็นคำถามที่แค่ให้หาความสูงของเสาธง หรือความสูงของต้นไม้ อย่างเช่น มองต้นไม้ด้วยมุมเงย 30 องศา แล้วต้นไม้จะสูงเท่าไหร่ แค่นั้นเลย 

ก็มองว่าโจทย์แบบนี้มันยังตอบคำถามนักเรียนไม่ได้ เพราะเด็กก็จะงงว่า “อ้าว นี่เราเรียนตรีโกณไปเพื่อแค่หาความสูงต้นไม้เหรอ?” มันไม่สามารถตอบโจทย์นักเรียนได้จริงๆ

เราคิดว่ากิจกรรมนี้จะทำให้นักเรียนเห็นว่าบทเรียนนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ เพราะเรื่องคดีฆาตกรรม หรือเรื่องที่ลึกลับมักจะดึงดูดให้เด็กสนใจอยู่แล้ว เหมือนกับการ์ตูนโคนัน ที่ทำให้เรารู้สึกอยากติดตามเนื้อเรื่อง เลยคิดว่าถ้าเราทำให้คาบเรียนน่าติดตามเหมือนการ์ตูนหรือหนังที่เราดูได้ก็คงจะดี

ซึ่งคาบนั้นเราขอห้องเปิดประชุมเลย ไปเซ็ตสถานที่แล้วจัดฉากขึ้นมา แล้วไปตามนักเรียนให้ขึ้นมา พอขึ้นมาเราก็ค่อยๆ เล่าสตอรี่ว่ามีเหตุฆาตกรรมเกิดขึ้นในโรงเรียนของเรา เป็นขั้นนำเพื่อให้นักเรียนเกิดความสนใจ จากนั้นก็เปิดไฟให้เด็กดูของจริง

เริ่มจากการคุยตั้งคำถามโดยยังไม่ต้องพุ่งไปยังตัวเนื้อหา ว่าถ้าเกิดเจออย่างนี้แล้วต้องการสืบสวน ต้องดูจากอะไร ถ้าหากจะดูจากรอยเลือดเราต้องดูยังไง มีหลักฐานอะไรบ้าง

เราให้นักเรียนลองดูหยดเลือด เพราะว่าถ้าเลือดหยดลงมาตรงๆ ก็จะมีเป็นลักษณะเป็นวงกลม แต่ถ้าหยดเอียงๆ แสดงว่าต้องเกิดการไหล ก็ให้เขาลองเอาเชือกลากเส้นดู เพื่อให้เห็นว่าเลือดนั้นพุ่งมาจากจุดๆ เดียว พอกำหนดจุดคร่าวๆ แล้ว ก็มาดูว่าสถานที่จริงว่า ผู้เสียชีวิตนั้นอยู่ห่างไกลจากจุดเลือด แล้วถ้าเป็นแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง แล้วให้นักเรียนลองมาวัด คำนวณ ตั้งสมมติฐาน แล้วค่อยสรุปกิจกรรมว่าเราได้อะไรจากกิจกรรมนี้

ซึ่งผลที่เห็นได้ชัดคือ นักเรียนที่ไม่ค่อยจะสนใจเรียนเขาเริ่มมามุงดูว่าทำอะไรกัน เพราะคาบเรียนของเราไม่ใช่คาบที่นั่งเรียนอยู่กับโต๊ะแล้ว ส่วนนักเรียนที่เขาสนใจอยู่แล้วก็สนใจมากขึ้น ก็รู้สึกว่าการที่จัดกิจกรรมแบบนี้มันสามารถดึงความสนใจของเด็กได้ดีกว่า

แล้วกิจกรรมอื่นๆ ที่เคยจัดมามีอะไรบ้าง?

เนื่องจากคอนเซ็ปต์ของเราคืออยากให้นักเรียนเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้ และทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกไปกับการเรียน โดยเราจะดึงคอนเทนต์ต่างๆ มาใช้กับบทเรียน อย่างเช่น การสอนกราฟ เราก็เอาเกม GraphWar ที่เป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่งในติ๊กต่อกมาโยง โดยเราก็ให้เด็กๆ เล่นเกมนี้กันในห้อง

หรือสอน sine cos tan ก็เอาเพลง Sine From Above ของ Lady Gaga มาให้เด็กดู แล้วมาคุยกันว่า sine ในที่นี้มันคือ sine ในตรีโกณหรือเปล่า ซึ่งก็มาเฉลยว่ามันเกี่ยวข้องกัน เพราะคลื่นเสียงที่เห็นใน MV นั้นอยู่รูปของกราฟ sine และเพลงในอัลบั้มนี้ก็ใช้รูปเป็นกราฟ sine เหมือนกัน 

เราพยายามชี้ให้เด็กเห็นว่าแม้เหมือนมันจะดูไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้านักเรียนไปทำงานเกี่ยวกับเรื่องเสียง เขาก็ต้องมีความรู้เรื่องกราฟ sine เหมือนกัน ในเรื่องการเพิ่มเสียง ยืดกราฟเสียง เป็นต้น หรือว่าตอนที่เราฝึกสอนเราก็เอาเกม Fruit Ninja มาสอนประกอบในเรื่องภาพตัดเลขาคณิต และลองผ่าผลไม้ของจริงให้เด็กดู

อีกคลาสหนึ่งที่ได้ผลตอบรับค่อนข้างดีคือ KFC คือเราจะโยนคำถามให้เด็กว่า คิดว่าชุดสุขใจจะได้ไก่กี่ชิ้น แล้วถ้าชุดอิ่มใจได้ไก่ 3 น้ำ 2 ชุุดไหนคุ้มกว่ากัน คิดแบบสมการว่าจะประหยัดไปกี่บาท แต่ KFC มีตั้งหลายชุด จะคิดทุกชุดยังไง 

ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นการสอนเรื่องเมตริกซ์​ โดยเอาข้อมูลลง Excel แล้วคำนวณผ่าน Excel เพราะคณิตศาสตร์นั้นเราไม่จำเป็นต้องคำนวณเองเสมอไป เราแค่เอาคอนเซปต์ของมันมาใช้ว่าดำเนินการยังไง สอนว่าจะเอาตารางคูณตารางใน Excel ต้องทำยังไง ใช้สูตรอะไร

เราไม่ได้คาดหวังว่านักเรียนต้องคำนวณเลขถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ในวันนั้น แต่ต้องการให้นักเรียนเข้าใจว่าการคูณเมตริกซ์สองตัวคืออะไร และได้ผลลัพธ์ออกมาลักษณะไหน เพราะเราก็พยายามจะจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนโดยการหยิบคอนเทนต์ต่างๆ ขึ้นมา โดยดูว่าอะไรที่เหมาะกับนักเรียนของเรา 

เคยพบปัญหา ‘สอนไม่ทัน’ เวลาจัดกิจกรรมแบบนี้ไหม?

แน่นอนครับ เพราะการจัดกิจกรรมแบบนี้ก็ต้องมีสิ่งที่เราต้องแลก เราจะต้องแลกคาบเรียนไป 2 คาบเต็มๆ กับโจทย์ที่อาจะทำได้แค่ 2-3 ข้อ ในสถานการณ์เดียวกัน ถ้าเราสอนไม่ทันจริงๆ เราก็ต้องเก็บกิจกรรมลงไปก่อน เพราะไม่อย่างนั้นเด็กเราก็จะเรียนไม่ทันห้องอื่น เลยเป็นข้อเสียคือเราสามารถทำได้แค่เดือนละครั้ง เนื่องจากว่าหลักสูตรแกนกลางพื้นฐานค่อนข้างแน่นมากอยู่แล้ว

ถามว่าปัญหามาจากไหน หนึ่งเลยคือเรื่องของหลักสูตร ทั้งโรงเรียนกับระดับชาติ เพราะถ้าเนื้อหาเยอะเกินไป เวลาต่อคาบก็จะมีน้อย เราไม่่ได้มีเวลาให้นักเรียนไปดื่มด่ำกับกิจกรรมเหล่านี้ เพราะเราอาจจะสอนไม่ทันแล้ว 

หรือสมมติอีก 2 เดือนจะสอบแล้ว แต่เรายังเหลือเนื้อหาอีก 1 บท ซึ่งตัวเนื้อหากับเวลาที่เหลือมันไม่สามารถจะเอื้อให้จัดกิจกรรมแบบนี้ได้เยอะ

ในฐานะครูรุ่นใหม่ มีวิธีการรับมือกับเด็กนักเรียน เจน Z ยังไง?

อันดับแรกเราจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเลย แต่ก่อนหน้านี้ที่สอนระดับชั้น ม.5 เขาจะอายุห่างจากเราประมาณ 5-6 ปี ก็ไม่ได้รู้สึกต่างขนาดนั้น ยังสามารถเข้าใจพฤติกรรมว่าเขาชอบอะไรไม่ชอบอะไร อะไรห้ามไม่ได้ 

แต่ว่าเด็กม.1 นี่คือห่างจากเราเป็น 10 ปีไปแล้ว ข้ามเจนไปเยอะแล้ว ทำให้พฤติกรรมบางอย่างเน้นออกมาชัดเลยว่าแตกต่างจากเจนเรามาก เช่น เขาไม่สามารถอยู่ห่างจากอุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้นานขนาดนั้น เราไม่ได้มองว่าผิดนะ เพราะเข้าใจว่ามันเป็นพฤติกรรมของเขาไปแล้ว ว่าต้องขอจับให้อุ่นใจสักนิดนึง ขอหยิบขึ้นมาให้ได้ดูหน้าจอสักนิดก็ได้

แต่ในทางกลับกัน ถ้าพูดถึงในเรื่องการเรียนรู้ นี่ก็ไม่ใช่พฤติกรรมที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้นั้นได้ ดังนั้นเราก็ต้องมีข้อตกลงบางอย่าง ซึ่งก็ไม่ใช่การดุการว่า เพราะเรารู้ว่าการดุการห้ามนั้นไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เพราะเด็กอาจจะต่อต้านได้

มีอะไรอยากฝากถึงนักเรียนเกี่ยวกับการเรียนคณิตศาสตร์บ้าง?

สำหรับม.ต้น ขอให้เชื่อไว้ก่อนว่าสิ่งที่เราเรียนไปยังไงก็ได้ใช้แน่นอน เพราะแต่ละบทก็มีวิธีใช้ที่แตกต่างกัน หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าเรียนไปทำไม แน่นอนว่าเราเรียนไปเพื่อให้ได้ใช้ แม้อาจจะไม่ได้ใช้ทั้งหมดก็ตาม เพราะมันเป็นการศึกษาภาคบังคับที่เขาคิดมาแล้วว่ายังไงก็ได้ใช้

ส่วนม.ปลาย เนี่ย หากเรากางดูหลักสูตร เราเรียนม.ปลายเพื่อที่จะสามารถสอบเข้ามหาลัยโดยเฉพาะ เพราะนี่คือจุดประสงค์ของม.ปลาย ตามหลักสูตรของไทย เขามองว่า ถ้าจบ ม.3 คือคุณได้รับการศึกษาภาคบังคับที่เพียงพอแล้ว และสามารถไปต่อยอดอื่นๆ ตามสายอาชีพที่ต้องการได้

อันนี้คือปัญหาหนึ่งเหมือนกันที่ระบบการศึกษาในไทยทำให้นักเรียนมองภาพไม่ชัด ว่าเราเรียนคณิตศาสตร์ตอนม.ปลายกันไปทำไม 

สุดท้ายอยากจะเสนอแนะอะไรถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหลักสูตรวิชาคณิตศาสตร์บ้าง?

เราขอแยกเป็น 2 ส่วน คือหลักสูตรแกนกลาง กับหลักสูตรเพิ่มเติม คือคิดว่ามีส่วนที่ต้องคุยกัน 3 หน่วยงาน คือ หน่วยงานแรกคือสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ​(สพฐ.) เขาต้องคุยก่อนว่า ที่เราเรียนไปทั้งหมดนั้นเพื่ออะไร ซึ่งถ้าเขาออกแบบมาดีพอแล้ว ถัดไปเขาต้องไปจับมือคุยกับกระทรวงการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์(อว.) แล้วไปคุยกับ สสวท. ที่ออกข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย

บางครั้งสาเหตุที่เราไม่สามารถจะจัดกิจกรรมในห้องเรียนได้ก็เพราะอาจมีคนมองว่ามันไม่เห็นต้องเอาไปใช้สอบเข้าเลย สุดท้ายแล้วข้อสอบเข้ามันก็ไม่ได้สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning แต่ถ้าเราสามารถออกแบบให้เชื่อมโยงกันได้มันจะดีกว่าไหม เพราะข้อสอบเข้าปัจจุบันก็ไม่ได้ stable ขนาดนั้น มีปัญหาที่นักเรียนบ่นกันทุกๆ ปี ที่เปลี่ยนระบบไปเรื่อยๆ ไม่คงที่สักที หรือดรามาต่างๆ ที่เอา TGAT มาให้สอบ ทั้งๆ ที่นักเรียนไม่เคยเรียน คิดว่าหน่วยงานต่างๆ ต้องกลับมาตั้งคำถามว่าเขาได้เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนในโรงเรียนกับข้อสอบเข้าแล้วหรือยัง

สุดท้ายทางออกเดียวคือทุกฝ่ายที่ดูแลเรื่องนี้ต้องคุยกัน ว่าอะไรที่เหมาะสม อะไรที่สามารถตัดออกได้ บางเรื่องตัดออกได้เลยด้วยซ้ำ เพราะมีหลายเรื่องที่เราไม่จำเป็นต้องเรียนขนาดนั้นแล้ว

แต่ถ้าจะปรับหลักสูตรสักครั้งเราอยากให้คุยกันว่าอะไรคือเป้าหมายของหลักสูตร อยากให้เด็กมีสกิลในการคิดเชิงเชื่อมโยง หรือมีวิชาการเพื่อสอบเข้า 

ยกตัวอย่างที่เกาหลี หรือจีนที่การสอบเขาเข้มข้นมาก อันนั้นก็ดูออกว่าเขาเน้นวิชาการหนักๆ ซึ่งไม่ผิดที่เขาจะสอนเรื่องยากๆ เพราะหลักสูตรประเทศเขามองว่าเด็กที่เก่งต้องเป็นแบบนี้

เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็ต้องมากำหนดก่อนว่า เด็กที่เก่งของเราคืออะไร คือเด็กที่รู้วิชาการเข้มๆ หรือเด็กที่สามารถเชื่อมโยงความรู้กับชีวิตประจำวันได้

Tags:

เทคนิคการสอนเกมวิชาคณิตศาสตร์Active Learningหนังครูนัน-วิตรานันท์ นันทผาสุข

Author:

illustrator

กนกพิชญ์ อุ่นคง

A girl who aspires to live like a yacht floating on the ocean, a dandelion fluttering over the heather, a champagne bursting in party.

Related Posts

  • Creative learning
    ‘ไม่สอนสูตร ไม่บอกวิธี’ ห้องเรียนคณิตฯ Pro-Active ของ ‘ครูบอย – มานะ คำจันทร์’ ที่เน้นกระบวนการคิด ติดตั้งทักษะการแก้ปัญหา

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • Creative learning
    ‘วิธีหาคำตอบไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว’ ห้องเรียนคณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการคิดมากกว่าผลลัพธ์

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Creative learning
    จาก ‘ขยะ’ สู่การเรียนรู้ที่เด็กออกแบบเอง : โครงงานบูรณาการกับการสร้าง Co – Agent โรงเรียนบ้านกู้กู ภูเก็ต

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Unique Teacher
    ‘จงทำให้เด็กรู้สึกโชคดีที่มีเราเป็นครู’ ครูคณิตที่นิยามตัวเองเป็น ‘นักการศึกษา’ ของครูร่มเกล้า ช้างน้อย (2)

    เรื่อง สัญญา มัครินทร์ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Unique Teacher
    ‘จงทำให้เด็กรู้สึกโชคดีที่มีเราเป็นครู’ ครูคณิตที่นิยามตัวเองเป็น ‘นักการศึกษา’ ของครูร่มเกล้า ช้างน้อย (1)

    เรื่อง สัญญา มัครินทร์

Stutz: เปิดอกสื่อสารออกไป ให้หัวใจได้บำบัด
Dear ParentsMovie
2 February 2023

Stutz: เปิดอกสื่อสารออกไป ให้หัวใจได้บำบัด

เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • ‘Stutz’ เป็นหนังสารคดีที่พูดถึงชีวิตและวิธีการบำบัดที่น่าสนใจของนักจิตบำบัดชื่อว่า ‘ฟิล สตัตช์’ (Phil Stutz) ที่มาช่วยบำบัด ‘โจนาห์ ฮิลล์’ ผู้กำกับของหนังสารคดีเรื่องนี้
  • ความประทับใจในวิธีการบำบัดที่มีเอกลักษณ์ของสตัตช์เป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้โจนาห์อยากทำหนังเรื่องนี้ขึ้น เพื่ออยากช่วยให้คนอื่นๆ ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น
  • หลักการโดยรวมของสตัตช์จะสอนให้เรามองภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้น ทำความเข้าใจมัน และปรับมุมมองของตัวเอง ไม่มีอันไหนเลยที่บอกให้เราไปแก้ไขที่คนอื่น

Tags:

หนังสารคดีจิตบำบัดพ่อแม่Stutzความเข้าใจลูกบาดแผลทางจิตใจการเลี้ยงดูการใช้ชีวิต

Author:

illustrator

พิมพ์พาพ์

เป็นลูกคนเดียวจากแม่เลี้ยงเดี่ยว เรียกตัวเองว่านักวาดภาพประกอบที่ชอบวาดคนหน้าแมว เผลอเสียน้ำตาให้กับหนังครอบครัวอยู่บ่อยๆ

Related Posts

  • Dear ParentsMovie
    Survival of the thickest – แด่ผู้รอดชีวิตจาก toxic parents

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Book
    พ่อแม่ไม่ใช่อรหันต์ ปล่อยวางความคาดหวังแล้วหันมา ‘ใจดีกับตัวเอง’ 

    เรื่อง อัฒภาค

  •  The Road: ถึงโลกล่มสลาย…แสงสว่างยังอยู่ในใจเธอเสมอ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Movie
    Life is Beautiful: โลกอาจโหดร้าย พ่ออาจไม่สมบูรณ์แบบ แต่ความรัก(ลูก)นั้นทำให้ชีวิตงดงามเสมอ

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Dear ParentsBook
    โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก: โลกร้ายกาจอาจไม่ทำลายคน ความเดียวดายต่างหาก

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

Posts navigation

Newer posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel