- โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล (Jonathan Livingston Seagull) หนังสือนิยายขนาดสั้น เล่าเรื่องราวนกนางนวล ชื่อ โจนาธาน ลิฟวิงสตัน ซึ่งแตกต่างจากนกตัวอื่นในฝูง จนถูกขนานนามว่า ‘ตัวหัวเน่า’ เพราะโจนาธานเลือกเดินทำตามความฝัน แทนที่จะทำตามขนบฝูงใช้ชีวิตหากินให้อิ่มท้องไปวันๆ
- ริชาร์ด บาค (Richard Bach) ผู้เขียนนิยายดังกล่าวเคยเป็นนักบิน ซึ่งนักเขียนที่มีปูมหลังด้านการบิน มักจะมีแง่มุมและการนำเสนอแนวคิดเชิงปรัชญาเรื่องเสรีภาพ หรือการแสวงหาตัวตน ซึ่งอาจจะเกี่ยว (หรือไม่เกี่ยวก็ได้) กับความคุ้นเคยในอิสรภาพ เสรีภาพ หรือการหลุดพ้น ที่ได้จากการลอยตัวอยู่สูงจากพื้นโลก
- แม้ว่าโจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล จะยังคงเป็นหนังสือที่ขายดีและได้รับการยกย่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปจะทำให้ความรู้สึกที่นักอ่านมีต่อหนังสือเล่มนี้เปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคปัจจุบันที่การค้นหาตัวตน ความเป็นขบถ และการคิดนอกกรอบ ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป
โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล (Jonathan Livingston Seagull) น่าจะเป็นหนังสือนิยาย (ขนาดสั้น) เชิงปรัชญาเล่มแรกๆ ที่ผมได้อ่าน หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องว่า เป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซในด้านการสร้างแรงบันดาลใจ ว่าด้วยการค้นหาตัวตน การพัฒนาศักยภาพของความเป็นมนุษย์ หรือแม้กระทั่งการแสวงหาความหลุดพ้นในทางศาสนา
หนังสือเล่มเล็ก ซึ่งเป็นผลงานของ ริชาร์ด บาค (Richard Bach) เป็นเรื่องราวของนกนางนวล ชื่อ โจนาธาน ลิฟวิงสตัน ซึ่งแตกต่างจากนกนางนวลตัวอื่นๆ ในฝูง จนถูกขนานนามว่า ‘ตัวหัวเน่า’ ด้วยเหตุผลเพราะโจนาธานเลือกที่จะเดินตามความฝัน ด้วยการฝึกฝนทักษะการบินที่สมบูรณ์แบบ แทนที่จะเลือกทำตามขนบของนกนางนวล ด้วยการใช้ชีวิตเพื่อหากินให้อิ่มท้องไปวันๆ
บาค ซึ่งเป็นทั้งนักเขียนและนักบิน เริ่มเขียนเรื่องราวของนกนางนวลหัวขบถพิมพ์ลงเป็นตอนๆ ในนิตยสารการบิน Flying ก่อนที่จะตีพิมพ์รวมเล่มออกมาครั้งแรกในปี 1970 และกลายเป็นหนังสือขายดีไปทั่วโลก อีกทั้งยังได้รับคำชื่นชมอย่างท่วมท้น ประหนึ่งคำภีร์ หรือแผนที่ชีวิตในยุคแสวงหาของเหล่าบุปผาชน
โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกว่านักเขียนที่มีปูมหลังทางด้านการบิน (นอกจากบาคแล้ว อองตวน เดอ แซงแต็กซูเปรี ผู้เขียน เจ้าชายน้อยและแผ่นดินของเรา ก็เป็นนักเขียนอีกคนที่มีปูมหลังเป็นนักบินเช่นกัน) มักจะมีแง่มุมและการนำเสนอแนวคิดเชิงปรัชญาเรื่องเสรีภาพ หรือการแสวงหาตัวตน ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งอาจจะเกี่ยว (หรือไม่เกี่ยวก็ได้) กับความคุ้นเคยในอิสรภาพ เสรีภาพ หรือการหลุดพ้น ที่ได้จากการลอยตัวอยู่สูงจากพื้นโลก
ความโด่งดังของเจ้านกนางนวลแหกคอก ทำให้ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอเมริกัน ฮอล บาร์ทเลท (Hall Bartlett) หยิบเอาเรื่องราวของโจนาธาน ลิฟวิงสตันไปดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ ออกฉายในปี 1973
ถึงแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ จะไม่ได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่บวกสักเท่าไหร่ เนื่องจากมีการดัดแปลงเนื้อหาต่างไปจากหนังสือค่อนข้างมาก จนถึงขั้นที่บาคตัดสินใจยื่นฟ้องร้องทางกฎหมาย แต่เพลงประกอบภาพยนตร์ซึ่งเป็นผลงานของ นีล ไดมอนด์ (Neil Diamond) ศิลปินแนวโฟล์คระดับหัวแถวในยุคนั้น ได้รับคำชื่นชมอย่างมาก และสามารถกวาดรางวัลแกรมมี่ในปี 1974
สำหรับในเมืองไทย หนังสือเล่มนี้ ถูกแปลออกมาอย่างน้อย 3 สำนวน คือ สำนวนของ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, สำนวนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ และสำนวนล่าสุดของปัณณวีร์ โดยที่สำนวนแปลของ อ.ชาญวิทย์ น่าจะเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด (ข้อความที่เป็นตัวเอนในบทความชิ้นนี้ คัดลอกมาจากฉบับแปลสำนวนของ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ)
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หนังสือเล่มเล็ก เนื้อหาอ่านง่ายไม่ซับซ้อน จะโดนใจนักอ่านทั่วโลก เพราะแก่นหลักของหนังสือที่มุ่งเน้นการค้นหาตัวเอง การแหกจากขนบเก่าๆ ประจวบเหมาะกับยุคสมัยของการแสวงหาทั้งเสรีภาพและตัวตน ในช่วง 40 – 50 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงหลังสงครามเวียดนาม และเป็นยุคสมัยของเหล่าฮิปปี้บุปผาชน
มีจุดที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ก็คือบาคเคยเป็นนักเทศน์มาก่อน ทำให้เขาค่อนข้างมีทักษะในการใช้ถ้อยคำ เพื่อถ่ายทอด หรือสั่งสอน ได้อย่างน่าประทับใจ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้บาคใช้ถ้อยคำที่สั้นๆ ง่ายๆ แต่มีความลึกซึ้งกินใจ และเปิดโอกาสให้ผู้อ่าน สามารถตีความไปได้ในทิศทางที่ตรงกับใจของตน
ประเด็นที่โดดเด่นชัดเจนที่สุดของหนังสือเล่มนี้ คือ ความกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง การไล่ตามความฝันที่ตัวเองรัก ซึ่งทำให้โจนาธาน แตกต่างจากนางนวลตัวอื่นในฝูง จนถูกมองว่าเป็น “ตัวหัวเน่า”
“ทำไมนะ จอน ทำไม” แม่ถามขึ้น “ทำไมมันยากนักรึที่จะทำตัวให้เหมือนนกอื่นๆ ในฝูง”
นอกเหนือจากประเด็นเรื่องความเป็นตัวของตัวเอง การยืนหยัดเพื่อไล่ตามความฝันแล้ว โจนนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกหลายด้าน อาทิ แนวคิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ซึ่งถูกหยิบมาพูดถึงในบางช่วงของหนังสือ
อิสระเสรี เป็นธรรมชาติที่แท้จริง อะไรที่มาขวางกั้นอิสระเสรีภาพจะต้องโยนทิ้งไป ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรม ความเชื่อโชคลาง หรือข้อจำกัดไม่ว่าจะมาในรูปใด
“กฎที่แท้จริงอันเดียวคือ กฎที่นำไปสู่อิสระเสรีภาพ” โจนาธานตอบ “ไม่มีกฎอื่น”
แนวคิดต่อต้านการบริโภคนิยม ก็เป็นอีกประเด็นที่มีคนตีความไว้ โดยในเนื้อเรื่อง โจนาธาน ให้ความสำคัญกับการไล่ตามความฝัน ซึ่งก็คือ การฝึกบินให้สมบูรณ์แบบ ขณะที่นกนางนวลตัวอื่นในฝูง ให้ความสำคัญกับการหากินเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ไปวันๆ
นกนางนวลส่วนมาก มักไม่พะวงกับการเรียนรู้เรื่องบินมากไปกว่าที่จะบินแบบง่ายๆ มันมักจะบินจากฝั่งออกไปหาอาหารแล้วก็บินกลับ สำหรับนางนวลทั่วๆไป การกินนั้นสำคัญกว่าการบิน แต่สำหรับโจนาธานนั้น การกินไม่ใช่เรื่องสำคัญไปกว่าการบิน
หรือการพัฒนาเพื่อบรรลุศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ โดยอาศัยความมุ่งมั่นของจิตใจ ก็เป็นอีกประเด็นที่มีการตีความจากหลายประโยคที่อยู่ในหนังสือ เช่น
“การที่จะบินให้เร็วเท่าความนึกคิด ไปที่ไหนก็ได้คือ” เจียงกล่าว “เธอจะต้องเริ่มด้วยความคิดที่ว่า เธอได้ไปถึงแล้ว”
หรือแม้กระทั่งประเด็นในเชิงศาสนา อย่างเช่นการแสวงหาความหลุดพ้น ซึ่งสามารถตีความโยงไปถึงหลักคำสอนเรื่องการหลุดพ้นในศาสนาพุทธ หรือการบรรลุโมกษะในศาสนาฮินดู
“ร่างกายของเธอทั้งหมด จากปลายปีกหนึ่งไปสุดอีกปีกหนึ่ง” โจนาธาน มักจะพูดขึ้นบางขณะ “ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากความคิดของเธอเอง มันเป็นรูปร่างที่เธอมองเห็น เมื่อเธอตัดโซ่ตรวนออกจากความคิดได้ เธอก็ตัดโซ่ตรวนนั้นออกจากร่างกายได้ด้วย”
แม้ว่าโจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล จะยังคงเป็นหนังสือที่ขายดีและได้รับการยกย่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้น ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปจะทำให้ความรู้สึกที่นักอ่านมีต่อหนังสือเล่มนี้ เปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคปัจจุบันที่การค้นหาตัวตน ความเป็นขบถ และการคิดนอกกรอบ ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป
คนหนุ่มสาว หรือแม้กระทั่งเด็กวัยรุ่นทุกวันนี้ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง หลายคนค้นพบตัวเองตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น หลายคนเริ่มวิ่งไล่ตามความฝันตั้งแต่วัยเด็ก ขณะที่การแสดงออกซึ่งความเป็นขบถ แหกคอก คิดนอกกรอบ ไม่กลัวที่จะลุกขึ้นยืนถกเถียงกับผู้ใหญ่ กลายเป็นสิ่งปรกติธรรมดาสามัญ จนไม่จำเป็นต้องอาศัยแรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งอีกแล้ว
ผมหยิบหนังสือเล่มนี้ให้ลูกชายอ่าน พร้อมขอให้เขาเขียนบอกเล่าความรู้สึกที่มีต่อโจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล
แน่นอนครับ สิ่งที่คุณจะได้อ่านต่อจากนี้ (ทุกคนในยุคสมัยนี้เป็นตัวหัวเน่าด้วยกันทั้งนั้น) ไม่ได้เป็นตัวแทนความคิดของนักอ่านรุ่นใหม่ทุกคน แต่อย่างน้อย ก็พอจะแสดงให้เห็นว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง หรือบริบทที่เปลี่ยนไป ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งที่หนังสือเล่มหนึ่งพยายามนำเสนอ ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้เช่นกัน
ไม่มากก็น้อย
ทุกคนในยุคสมัยนี้เป็นตัวหัวเน่ากันทั้งนั้น
“aged like fine wine” เป็นวลีภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกบุคคลหรืออะไรก็ตาม ที่ดีขึ้นหรือมีคุณค่าขึ้นตามกาลเวลาดังเช่นไวน์ ส่วนวลีที่ว่า “aged like milk” ก็มีความหมายตรงกันข้าม (เหมือนกับนมที่ทิ้งไว้นานก็มีแต่บูดเน่า) สำหรับผม หนังสือเล่มนี้สามารถอธิบายได้ว่ามัน “aged like a can of soda” หรือยิ่งนานก็ยิ่งกร่อยและจืดจาง
ผมกำลังจะสื่อว่า สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นเอกลักษณ์ แปลกใหม่ และเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ คน เมื่อผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน มันก็สูญเสียประกายที่มันเคยมีไปจนหมด เหมือนกับน้ำอัดลมที่ตั้งทิ้งไว้จนความซ่าหายไป เหลือเพียงแค่น้ำหวานธรรมดาๆ
เดาได้ไม่ยากว่าผมไม่ชอบหนังสือเล่มนี้ ผมไม่สามารถพูดได้ว่า นี่คือความคิดที่เป็นตัวแทนเด็กรุ่นใหม่ทุกคนได้ แต่ผมเชื่อว่าคนรุ่นเดียวกันหลายคนอาจจะคิดเหมือนผม ความคิดของผมตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบคือ แล้วไง มันไม่ได้ให้ความบันเทิงกับผม หรือแนวคิดใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งความเพลิดเพลินจากการใช้ภาษาอย่างมีระดับ
ผมรู้สึกเหมือนกับกำลังอ่านหนังสือสอนใจที่เขียนมาด้วยใจความสำคัญเพียงอย่างเดียว นั่นคือ เราสามารถเป็นสิ่งที่เราอยากจะเป็นได้ ไม่จำเป็นต้องไปยึดติดกับคนหมู่มากหรือคนรุ่นก่อน ผมคิดว่ามันฟังดูเหมือนไลฟ์โค้ชในรูปแบบนิยาย
อีกจุดหนึ่งที่ผมไม่ชอบ คือ ภาคที่สี่ของหนังสือ ด้วยความยาวที่ไม่ถึงยี่สิบหน้า ผมไม่คิดว่ามันจะสามารถสานต่อเรื่องราวได้อย่างมีความหมายมากนัก ใจความสำคัญของมันเองก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจขนาดนั้น โจนาธานถูกบูชาดั่งเทพเจ้า และคำสอนของเขาถูกมองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นกธรรมดาๆ มิควรทำตาม แต่สุดท้ายนกที่เป็นกบฏผู้ไม่เชื่อฟังคำสอนของคนรุ่นก่อน ก็นำการบินมาฝึกฝนอีกครั้ง
กระนั้น ความคิดของผมก็ยังเป็นเหมือนเดิม แล้วไง
ผมไม่ปฏิเสธว่า หนังสือเล่มนี้เป็นวรรณกรรมสำคัญของผู้คนในยุคนั้น สังเกตดูว่าผมหลีกเลี่ยงที่จะเขียนว่ามันสูญเสีย ‘คุณค่า’ ของมันไปตามกาลเวลา เพราะว่านั่นไม่จริง หนังสือเล่มนี้เป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า และเป็นงานเขียนที่ดี
แต่นั่นไม่เกี่ยวกับความชอบของผม ผมไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อศึกษาคุณค่าด้านสังคม หรือผลกระทบของมันต่อความคิดของคนยุคก่อน ผมไม่ใช่นักนักมานุษยวิทยาหรือนักวรรณคดี ผมอ่านหนังสือเพื่อให้ตัวผมได้อะไรบางอย่างกลับมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นความบันเทิง แนวคิด หรือความรู้
โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล ไม่ได้ให้อะไรเหล่านี้กับผมเลย ในด้านนี้ ผมไม่แน่ใจว่าคนรุ่นใหม่จะเห็นด้วยกับผมขนาดไหน เพราะนี่อาจจะเป็นแค่ความเห็นที่สุดโต่งของวัยรุ่นคนหนึ่งก็ได้
ผู้อ่านที่ช่างสังเกตจะรู้สึกตัวว่า ทั้งหมดที่ผมเขียนมานี้เป็นการย้ำใจความของ โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล เพราะผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกิน ที่จะรู้สึกไม่ชอบในสิ่งที่หลายๆ คนยกกันให้เป็นวรรณกรรมชั้นครู เหมือนกับที่โจนาธาน นกนางนวลหัวขบถไม่สนใจที่จะถูกมองว่าเป็นตัวหัวเน่าของฝูง เพื่อที่จะฝึกฝนการบินที่เขารัก
ในท้ายที่สุดแล้ว เราก็อยู่ในยุคที่มีผู้คนแบบโจนาธานให้เห็นอยู่ทั่วไป ไม่ว่าคนรุ่นก่อนจะพูดว่านิยายเล่มนี้ดีหรือไม่ดี ไม่ว่าผมจะพูดว่านิยายเล่มนี้น่าเบื่อขนาดไหน ถ้าคุณอยากจะอ่านมัน ไม่ว่าจะเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อหาคุณค่าในด้านสังคม ก็ทำไปเถอะครับ
เพราะถึงอย่างไร ทุกคนในยุคสมัยนี้ ล้วนแต่เป็นตัวหัวเน่ากันทั้งนั้น