Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: September 2021

‘อย่าเป็นคนฉลาดที่สุดในห้อง’ นักวิทย์โนเบลแนะวิธีเรียนให้รุ่ง
Book
17 September 2021

‘อย่าเป็นคนฉลาดที่สุดในห้อง’ นักวิทย์โนเบลแนะวิธีเรียนให้รุ่ง

เรื่อง

  • ชวนฟังคำแนะนำวิธีเรียนอย่างไรให้รุ่งจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง เจมส์ วัตสัน (James Watson) กับหนังสือ Avoid Boring People (ให้หลีกลี้คนน่าเบื่อ)
  • “อย่าเป็นคนที่ฉลาดที่สุดในห้อง” วัตสันมองว่า แต่ละคนควรออกจากความเคยชินเดิมๆ การมีเพื่อนร่วมชั้นเรียนหรือเพื่อนในแล็บเดียวกันที่เก่งมากจนสามารถบอกได้ว่า การให้เหตุผลของคุณมีช่องโหว่อย่างไร หรือรู้ข้อเท็จจริงที่สามารถใช้พิสูจน์ถูกผิดในข้อโต้แย้งของคุณ ย่อมต้องนับว่าเป็นเรื่องดี
  • “เมื่อเข้าฟังสัมมนาเรื่องที่คุณสนใจ ให้นั่งแถวหน้าสุด” ไม่ต้องกลัวว่าจะเบื่อหรือเผลอหลับโชว์คนอื่นในห้อง ถ้าฟังไม่ทัน ไม่รู้เรื่อง คุณก็มีโอกาสดีจะถามแทรกได้สะดวกเพราะอยู่ใกล้ ซึ่งจะเป็นโอกาสดีกับอีกหลายคนในห้องที่อาจจะตกอยู่ในอาการเดียวกับคุณ

ผมเชื่อว่ามีคนแนะนำวิธีการเรียนให้ประสบความสำเร็จไว้มากมาย ทั้งที่เป็นบทความและหนังสือเป็นเล่มๆ เรื่องที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังวันนี้ มาจากหนังสือชื่อ Avoid Boring People (ให้หลีกลี้คนน่าเบื่อ) ของเจมส์ วัตสัน (James Watson) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน หนึ่งในคู่หูมหัศจรรย์ที่ไขความลับเรื่องโครงสร้างของดีเอ็นเอสำเร็จ 

คู่หูอีกคนที่ช่วยกันไขความลับนี้เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ชื่อ ฟรานซิส คริก (Francis Crick)   

สิ่งที่ทั้งคู่ทำนายไว้อย่างถูกต้องก็คือ ดีเอ็นเอต้องมีโครงสร้างเป็น ‘สายคู่’ ที่จับกันอย่างจำเพาะโดยเบส 4 ชนิดในดีเอ็นเอ มองเห็นเป็นโครงสร้างที่บิดเป็นเกลียวเรียกว่า double helix ซึ่งได้กลายมาเป็นชื่อหนังสือของวัตสัน คือ The Double Helix (ในภาษาไทยมีผู้แปลไว้นานแล้วในชื่อ ‘เกลียวชีวิต’) ที่กลายมาเป็นหนังสือบันทึกการแข่งขันและการค้นพบโครงสร้างของ ‘รหัสพันธุกรรม’ ในรูปของดีเอ็นเอ 

มาดูกันนะครับว่า นักวิทย์รางวัลโนเบลอย่างเจมส์ วัตสัน แนะนำว่าจะเรียนให้โลดจนรุ่งอย่างสุดๆ ต้องทำอย่างไรบ้าง แน่นอนว่านี่เป็นเพียงความคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ยังไม่ใช่ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าต้องเป็นเช่นนี้อย่างแน่นอน แต่ก็น่าสนใจอยู่ดีว่า เขาคิดว่าอย่างไร และทำไมจึงคิดเช่นนั้น 

1

คำแนะนำแรกของวัตสัน คือ “อย่าเป็นคนที่ฉลาดที่สุดในห้อง” อ่านแว้บแรกจะงงว่าฉลาดที่สุดในห้องแล้วไม่ดียังไง? 

เขามองว่าแต่ละคนควรออกจากความเคยชินเดิมๆ ทางวิชาการ การมีเพื่อนร่วมชั้นเรียนหรือเพื่อนในแล็บเดียวกันที่เก่งมากจนสามารถบอกได้ว่า การให้เหตุผลของคุณมีช่องโหว่อย่างไร หรือรู้ข้อเท็จจริงที่สามารถใช้พิสูจน์ถูกผิดในข้อโต้แย้งของคุณ ย่อมต้องนับว่าเป็นเรื่องดี 

การที่แวดล้อมไปด้วยคนที่มีความคิดแหลมคมแบบนี้ จะทำให้คุณมีความคิดเฉียบแหลมไปด้วยในที่สุด อ่านแล้วก็นึกถึงภาษิต ‘คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล’ อยู่นะครับ

แต่แกก็เตือนไว้ด้วยเหมือนกันว่า วิธีการคิดและทำแบบนี้นี่ ออกจะผิดธรรมชาติอยู่บ้าง โดยเฉพาะผู้ชายที่มีนิสัยประจำตัว คือ ต้องการเป็นผู้นำหมู่หรือจ่าฝูง แต่แกเห็นด้วยกับฟากที่เชื่อว่า เป็นนักเคมีที่เก่งน้อยที่สุดในภาควิชาเคมีที่เยี่ยมยอดสุดๆ ย่อมจะดีกว่าเป็นดาวรุ่งอยู่ในภาควิชาที่โดดเด่นน้อยกว่า 

พร้อมกันนี้ เขายกตัวอย่างของกรณีของไลนัส พอลิง (Linus Pauling) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่ในช่วงทศวรรษ 1950 เป็นคู่แข่งคนสำคัญและในวงการเชื่อกันว่า น่าจะเป็นคนไขความลับโครงสร้างของดีเอ็นเอได้เป็นคนแรก เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีใน ค.ศ. 1954 สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับ ‘ธรรมชาติของพันธะเคมีและการประยุกต์ใช้ความรู้ดังกล่าวในการไขความลับโครงสร้างของสารเชิงซ้อนหลายชนิด’

แต่ไม่ใช่จากการระบุโครงสร้างของดีเอ็นเอได้อย่างถูกต้อง

วัตสันมองว่าความเหนือกว่าของพอลิงต่อคนรอบข้าง ทำให้การสื่อสารกับคนรอบตัวของเขาเป็นแบบทางเดียว คือ เขาพูดและคนอื่นฟัง แทนที่จะเป็นแบบ 2 ทาง และนั่นก็ทำให้เขาต้องการฟังแต่คำชม และไม่ต้องการฟังคำวิจารณ์ ซึ่งมีส่วนทำให้เขาพ่ายแพ้ในการแข่งขันหาโครงสร้างดีเอ็นเอ ทั้งที่มีโอกาสมากกว่าและเป็นตัวเก็งที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจับตามอง เพราะเขาเพิ่งไขโครงสร้างโปรตีนสำคัญๆ หลายชนิดที่สลับซับซ้อนสำเร็จก่อนหน้านั้น

2

คำแนะนำข้อที่ 2 คือ “ให้เลือกผู้ร่วมทีมที่ฉลาดเท่าๆ กัน” 

กรณีนี้วัตสันมองตัวเขาเองกับคริกว่า การที่สองคนเก่งเท่าๆ กัน แต่ชำนาญคนละเรื่อง จะช่วยส่งเสริมกันและกันได้ดี เรียกว่าทำให้ 1+1 แล้วได้มากกว่า 2 การที่เขารู้เรื่องเทคนิคคริสตัลโลกราฟี (crystallography) น้อยมาก แต่คริกที่เก่งฟิสิกส์มากกว่าและชำนาญในเรื่องนั้น ขณะที่เขารู้เรื่องชีววิทยาลึกซึ้งกว่า กลับเป็นส่วนผสมที่เหมาะที่สุดสำหรับการไขความลับเรื่องโครงสร้างของดีเอ็นเอสำเร็จ  

เขาเชื่อว่าความร่วมมือแบบนี้เองที่ได้ช่วยทำให้ ‘ก้าวข้าม’ แนวคิดที่ไม่ได้เรื่องหรือมีจุดอ่อนอย่างไม่น่าเชื่อได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น 

บางคนอาจสงสัยว่าถ้าอย่างนั้น มีหลายคนขึ้นไปอีก เช่น เป็นทีม 3 หรือ 4 คนจะไม่ยิ่งดีหรอกหรือ? 

เขามองว่าถ้ามี 3 คนเมื่อไหร่ ไม่ช้าก็เร็วจะมีคนใดคนหนึ่งกลายเป็นผู้นำกลุ่มในที่สุด และยังอาจมีใครสักคนในกลุ่มที่เกิดความรู้สึกว่าตัวเองไม่สนิทเท่ากับอีก 2 คนที่เหลือที่เค้าสนิทกันด้วย ซึ่งจะทำให้สัมพันธภาพแบบ 3 คนล่มได้ง่ายมาก รวมไปถึงการที่อาจจะบังเอิญไม่อยู่ในตอนที่เกิดการค้นพบสำคัญ 

ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นก็คงแย่อยู่สักหน่อย 

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการให้เครดิตที่ยากกว่าด้วย การบอกว่ามีส่วนร่วมในงานนี้เท่าๆ กัน 2 คน และต้องหารผลงานเป็น 2 ส่วน ทำได้ง่ายมาก เข้าใจไม่ยาก ขณะที่การแบ่งเครดิตสำหรับ 3 คนหรือ 4 คน  เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ 

นี่แค่ 3 – 4 คนนะครับ มากกว่านี้ก็ยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก 

คำแนะนำต่อไปของเขา ยิ่งหนักเข้าไปอีก เขาบอกว่าจากประสบการณ์ มีมหาวิทยาลัยหรือเมืองบางแห่งกระตือรือร้นจะหานักวิทย์โนเบลมาเพิ่มจากที่มีอยู่แล้วคนหนึ่ง แต่แทนที่สองนักวิทย์โนเบลจะช่วยกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศวิชาการที่ดียิ่งขึ้น ดึงเอาอัจฉริยภาพของคนรอบข้างได้ดียิ่งขั้น ผลมักจะลงเอยในทางร้ายมากกว่าจะดี

ถือเป็นเรื่องธรรมดาอยู่เองที่นักวิทย์โนเบลแต่ละคนจะรู้สึกว่า ตัวเองต้องมีความสำคัญ และต้องไม่ด้อยกว่าอีกคน การวางตัวคุยเขื่องข่มอีกคนจึงอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นี่ยังไม่นับว่ากว่าจะได้รางวัลโนเบล ก็จะมักจะล่วงเลยเวลาที่นักวิทยาศาสตร์คนนั้นเก่งแบบ ‘ท็อปฟอร์ม’ ไปแล้วสัก 10 – 20 ปี 

มีบางรายต้องผ่านไปถึงราว 40 ปีทีเดียว เรียกว่าเป็น ‘ผู้มาก่อนกาล’ มากๆ การค้นพบนั้นแปลกใหม่และเหลือเชื่อจนกระทั่งวงการวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะคณะกรรมการโนเบล ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้หรือมีความสำคัญมากพอและมีประโยชน์ต่อมนุษยชาติมากพอ จนเวลาได้พิสูจน์ความจริงนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างชัดเจนว่า เป็นการค้นพบที่จริงแท้แน่นอน

มีนักวิทย์โนเบลจำนวนหนึ่งที่แทบไม่ได้ค้นพบอะไรยิ่งใหญ่อีก หลังจากจบปริญญาเอกหรือทำโพสต์ด็อกที่ทำให้ค้นพบครั้งยิ่งใหญ่และได้รับรางวัลโนเบล ไม่ต้องอื่นไกล อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทย์ที่ดังที่สุดในโลกยุคใหม่ แทบไม่ได้ค้นพบอะไรที่ยิ่งใหญ่จริงๆ อีกเลย หลังจากปีมหัศจรรย์ ค.ศ. 1905 ที่เขาตีพิมพ์เปเปอร์สำคัญระดับเขย่าวงการติดๆ กันถึง 4 ฉบับ ความยิ่งใหญ่ของเขาเห็นได้จากการที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังส่วนหนึ่งบอกว่า อย่างว่าแต่ 4 ฉบับเลย แค่ฉบับเดียวก็เพียงพอจะทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลได้แล้ว   

วัตสันแนะนำว่าหากเลือกได้ ให้เลือกผู้ร่วมงานที่ยังไม่โด่งดังนัก อายุยังไม่มากนัก แต่เก่งมากๆ เพราะคนพวกนี้อยู่ในช่วงที่เยี่ยมยอดที่สุดในการสร้างผลงานทางวิทยาศาสตร์ วิธีนี้จะทำให้คุณได้พบกับความแปลกใหม่ และเกิด ‘ความกระชุ่มกระชวยทางวิชาการ’ ได้มากกว่า 

3

คำแนะนำต่อไป คือ “เมื่อเข้าฟังสัมมนาเรื่องที่คุณสนใจ ให้นั่งแถวหน้าสุด”

ตรงกันข้ามกับที่คนส่วนใหญ่มักเลือกทำ คือ นั่งอยู่ท้ายห้อง จะได้ลุกเดินหนีออกจากห้องได้ง่ายกว่าหากไม่เข้าใจหรือไม่สนุก เขาแนะนำว่าไม่ต้องกลัวว่าจะเบื่อหรือเผลอหลับโชว์คนอื่นในห้อง ถ้าฟังไม่ทัน ไม่รู้เรื่อง คุณก็มีโอกาสดีจะถามแทรกได้สะดวกเพราะอยู่ใกล้ ซึ่งจะเป็นโอกาสดีกับอีกหลายคนในห้องที่อาจจะตกอยู่ในอาการเดียวกับคุณ 

คำถามของคุณอาจเป็นคำถามดีๆ ที่ผู้พูดหรือผู้สอนต้องเก็บกลับไปคิดต่อ หรือต่อยอดความคิดเดิมให้เยี่ยมยอดมากขึ้นไปอีก  

การรอให้พูดจบหรือสัมมนาเลิกแล้วค่อยถาม ถือเป็น ‘ความสุภาพที่ชวนให้ป่วย (pathologically polite)’ แบบหนึ่งที่ไม่ควรทำ แย่ยิ่งกว่านั้น คือ คุณอาจจะลืมคำถามของตัวเองไปเรียบร้อยแล้วในตอนนั้น

4

คำแนะนำสุดท้ายได้แก่ “พยายามขยายขอบเขตความรู้ของคุณผ่านการลงเรียนวิชาที่เมื่อแรกได้ยินหรือได้เห็น อาจจะเกิดอารมณ์กลัวหรือชวนขนหัวลุก”  

เขาเล่าเรื่องตัวของเขาเองว่า การที่เลือกเรียนปักษีวิทยาในระดับปริญญาตรี เพราะเขาเรียนคณิตศาสตร์ไม่เก่ง แม้พยายามมากที่สุดแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยได้คะแนนเกินเกรด B เลย และพยายามที่จะหลบเลี่ยงวิชาทำนองนี้ 

แต่การจะทำความเข้าใจระดับโมเลกุลได้ ก็หนีไม่พ้นจะต้องใช้ฟิสิกส์และคณิตศาสตร์มาช่วยด้วย ไม่มีทางเลยที่จะเข้าใจรูปทรง 3 มิติของโมเลกุลต่างๆ โดยไม่อาศัยคณิตศาสตร์ (สมัยนั้นยังไม่มีซอฟต์แวร์สำเร็จรูปช่วย) เขาจึงตัดสินใจลงเรียนคณิตศาสตร์ระดับสูงเพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้กับงานวิจัยของตัวเอง เพื่อให้ทำงานวิจัยได้ดียิ่งขึ้น เข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น  

สุดท้าย แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ทุกเรื่องทีเรียน แต่บางเรื่องที่ได้เรียน เช่น การวิเคราะห์การกระจายตัวแบบปัวซอง (Poisson distribution analysis) ก็จำเป็นสำหรับการทดลองส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับเฟจ (phage) หรือไวรัสที่ก่อโรคในแบคทีเรียที่ใช้ในการทดลอง ซึ่งเขาก็แฮปปี้มาก 

อ่านถึงตรงนี้คงจะเห็นได้ว่า คำแนะนำแบบนี้นำมาจากประสบการณ์ส่วนตัวมากๆ แต่ถ้าคุณเป็นคนเก่งหรือแม้แต่เป็นอัจฉริยะ ไม่แน่ว่าคำแนะนำแบบนี้อาจจะดีกับคุณก็ได้นะครับ

สำหรับคนที่ต้องการคำแนะนำมากกว่านี้ ลองไปหาหนังสือเล่มนี้อ่านเพิ่มเติมดูนะครับ   

Tags:

วัยรุ่นหนังสือจิตวิทยาชีวิตการทำงาน

Author:

Related Posts

  • Book
    แปดขุนเขา – คือขุนเขาลูกไหน…ในใจคุณ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Creative learning
    “วิชาทักษะแห่งความสุข” มะขวัญ วิภาดา อาจารย์ที่พาไปเข้าใจความสุขบนโลกที่เศร้าลง

    เรื่อง กรกมล ศรีวัฒน์ ภาพ ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

  • How to enjoy life
    ณัฐวุฒิ เผ่าทวี: เศรษฐศาสตร์ความสุขในครอบครัว “ถ้าคนหนึ่งสุขที่สุด แล้วคนอื่นทุกข์อยู่หรือเปล่า”

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะรชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

  • How to enjoy lifeBook
    งานทำคุณ หรือคุณทำงาน คำถามจากหนังสือ A LIFE AT WORK – ที่ทางของคุณบนโลกนี้

    เรื่อง ญาดา สันติสุขสกุล

  • How to get along with teenager
    จะทำอย่างไรเมื่อลูกวัยรุ่นของคุณ ‘กลอกตา’ ใส่?

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

กรอบเพศแบบสองขั้ว (Gender binary) : วิทยาศาสตร์ชายเป็นใหญ่ที่กดทับเด็กในระบบการศึกษา
Learning Theory
16 September 2021

กรอบเพศแบบสองขั้ว (Gender binary) : วิทยาศาสตร์ชายเป็นใหญ่ที่กดทับเด็กในระบบการศึกษา

เรื่อง กุลธิดา ติระพันธ์อำไพ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • การที่สังคมใช้ระบบเพศแบบสองขั้ว (Gender binary) คือ ชาย – หญิง ส่งผลให้เด็กๆ ถูกตีกรอบเพศ และหากเด็กคนไหนมีลักษณะที่ต่างออกไปก็จะถูกปัดไปเป็นเด็กที่ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานความเป็นหญิงและความเป็นชายที่สมบูรณ์ตามแบบฉบับที่สังคมสร้างขึ้น
  • เมื่อเด็กต้องเข้าไปในระบบการศึกษา สิ่งที่เราสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปคือ แบบการเรียนการสอนที่ยังคงยึดติดกับกรอบของเพศแบบสองขั้ว ทั้งจากหนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษาและเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์
  • ระบบวัฒนธรรมที่กล่าวว่าเพศที่แท้จริงมีเพียงสองเพศ ได้แก่ เพศชายและเพศหญิง เพิ่งถือกำเนิดในศตวรรษที่ 17 และถูกยกย่องในศตวรรษที่ 19 โดยนักวิทยาศาสตร์ผิวขาว ผู้มีความเชื่อว่าการแบ่งแยกเพศออกเป็นเพศชายและเพศหญิงนั้นถือเป็นสิ่งที่ดีงาม
Trigger warning: การทารุณทางคำพูด, การเหยียดเพศ

เพศชายและเพศหญิง ‘สองตัวเลือก’ ในใบสูติบัตรที่ทารกมักถูกระบุตั้งแต่แรกเกิด สิ่งที่เรามักเห็นตามมา คือ การจำแนกเลี้ยงดูเด็กตามบทบาทของเพศกำเนิดอยู่บ่อยครั้ง เริ่มจากการตั้งชื่อทารกให้อยู่ในบริบทของความเป็นชาย ความเป็นหญิง การเลี้ยงดูเด็กตามบทบาทในสังคมของเพศกำเนิด 

ยกตัวอย่างเช่น การเล่นของเพศกำเนิดชาย มักจะเป็นของเล่นจำพวกหุ่นยนต์ รถบรรทุก หรือการเล่นแบบใช้พละกำลังเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่หากเป็นเพศกำเนิดหญิงของเล่นก็มักจะเป็นจำพวกตุ๊กตา การเล่นขายของเสียมากกว่า หรือแม้กระทั่งประเภทของการ์ตูน เพศกำเนิดชายมักถูกเลือกให้ดูการ์ตูนจำพวกต่อสู้ ฮีโร่ ในขณะที่เพศกำเนิดหญิงมักจะเป็นแนวการ์ตูนตาหวาน หรือบาร์บี้ 

นอกจากนี้สีของเด็กผู้ชายและผู้หญิงยังถูกแบ่งออกอย่างชัดเจน อย่างเด็กผู้ชาย – สีฟ้า เด็กผู้หญิง – สีชมพู และหากเด็กคนไหนไม่ได้เลือกในสิ่งที่บทบาทเพศกำเนิดว่าต้องเลือก ก็มักถูกตั้งคำถามถึงอัตลักษณ์ทางเพศ และในกรณีที่แย่ที่สุด เด็กอาจถูกพ่อแม่หรือผู้ปกครองปฏิบัติในลักษณะที่ต่อต้านการกระทำเหล่านั้น ทำให้ตัวเด็กเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยทางด้านจิตใจขึ้นมา

และเมื่อเด็กต้องเข้าไปในระบบการศึกษา สิ่งที่เราสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปคือ แบบการเรียนการสอนที่ยังคงยึดติดกับกรอบของเพศแบบสองขั้ว (Gender binary) ที่สังคมกำหนดอย่างเลี่ยงไม่ได้ อ้างอิงจากหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560 ได้ระบุบทบาทหน้าที่ในครอบครัวของพ่อและแม่ไว้อย่างชัดเจน ทั้งในตัวรูปภาพและเนื้อหาว่า ‘พ่อ’ คือ เพศกำเนิดชาย ‘แม่’ คือ เพศกำเนิดหญิง บทบาทของพ่อและแม่ คือ หัวหน้าครอบครัว แต่พ่อจะต้องเป็นผู้นำ หาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว สอนลูกอ่านหนังสือ ในขณะที่แม่จะต้องทำกับข้าว ทำงานบ้าน

และนอกจากนั้นในหนังสือเรียนสสวท. เองก็ได้ระบุเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจนว่า เพศของมนุษย์ในทางชีววิทยานั้นมีเพียงแค่เพศชายและเพศหญิง สามารถแบ่งแยกได้โดยโครโมโซมเพศชาย คือ XY และ โครโมโซมเพศหญิง คือ XX ทั้งยังมีการกำหนดฮอร์โมนเพศ อย่างฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) คือ ฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งจะมีหน้าที่ทำให้ลูกกระเดือกมีขนาดใหญ่ขึ้น, มีขนที่ใบหน้า, มีกล้ามเนื้อ และฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) คือ ฮอร์โมนเพศหญิง ที่ทำให้ผู้หญิงมีหน้าอก สะโพกที่พาย มีเสียงที่แหลม มีช่วงไหล่ที่แคบ

หากเด็กคนไหนมีลักษณะที่ต่างออกไปจากสิ่งที่วิทยาศาสตร์เหล่านี้กำหนด เด็กเหล่านั้นก็จะถูกปัดไปเป็นเด็กที่ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานความเป็นหญิงและความเป็นชายที่สมบูรณ์ตามแบบฉบับที่สังคมสร้างขึ้น

“เป็นธรรมชาติที่เด็กผู้ชายจะต้องมีความแข็งแรงกว่าเด็กผู้หญิงอยู่แล้ว”

“เป็นผู้หญิงอะไรทำไมมีหนวด เหมือนผู้ชายเลย”

“ผู้ชายจริงๆ เหรอ ทำไมถึงไม่มีลูกกระเดือก แล้วยังมีเสียงเหมือนผู้หญิงเลยล่ะ”

“เป็นผู้หญิงทำไมไม่มีนมเลย”

“ผู้หญิงอะไรตัวสูงเหมือนผู้ชาย”

“เป็นผู้ชายแบบไหนมีหน้าอกเหมือนผู้หญิง”

บ่อยครั้งที่เด็กคนไหนมีลักษณะที่แปลกแยกไปจากสิ่งที่วิทยาศาสตร์เหล่านี้กำหนด ก็มักจะถูกตั้งคำถามเชิงล้อเลียน ทำให้เด็กที่มีลักษณะทางกายภาพเหล่านั้นรู้สึกไม่ปลอดภัยในร่างกายตัวเอง จนไปถึงขั้นตั้งคำถามถึงความผิดปกติในตัวเอง สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้เด็กเกิดความรู้สึกแปลกแยกและกลายเป็นบาดแผล (Trauma) ทางจิตใจ ไม่มั่นใจในสภาพร่างกาย ไปถึงขั้นพยายามหาหนทางแก้ไขเพื่อให้ตนสามารถตรงตามบรรทัดฐานทางกายภาพของเพศเหล่านั้นที่สังคมกำหนด

“ทางชีววิทยา มนุษย์มีเพียงแค่เพศชายและหญิง

เรื่องนี้มันคือข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์จะเถียงได้อย่างไร”

“ยอมรับได้ว่ามนุษย์มีความหลากหลาย

แต่ไม่อาจเถียงเรื่องฮอร์โมนเพศหญิงชาย หรือโครโมโซมเพศหญิงชายได้หรอกนะ”

คำพูดเหล่านี้มักถูกยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้งในกรณีที่กล่าวถึงเรื่องของความหลากหลายทางเพศ ทั้งการยกวิทยาศาสตร์ในระบบการศึกษามาเน้นย้ำว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจเลี่ยงได้ ยิ่งทำให้เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาตอกย้ำความเข้าใจในเรื่องเพศแบบสองขั้ว (Gender binary) ว่าคือความจริงทางธรรมชาติที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ และหากเด็กคนไหนเกิดความรู้สึกที่แตกต่างและหลุดออกจากเกณฑ์ที่วิทยาศาสตร์เหล่านี้กำหนด สิ่งที่มักจะตามมา คือ ความรู้สึกผิดในตนเองและอาจไปถึงขั้นว่ากล่าวว่าตนเองผิดปกติ 

นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่ประจักษ์ชัดอย่างเป็นรูปธรรม คือ การเน้นย้ำในระบบเพศแบบสองขั้วว่าเป็นข้อเท็จจริงผ่านการบังคับเลือกเพศและการใช้สรรพนาม เด็กจะต้องระบุเพศที่มีเพียงสองตัวเลือกในโรงเรียน (เพศชาย-เพศหญิง) หรือการระบุสรรพนามที่มีเพียงเพศชาย (นาย) และเพศหญิง (เด็กหญิง/นางสาว) ทั้งหมดนี้ยิ่งตอกย้ำว่าระบบเพศแบบสองขั้วนั้น คือ ระบบที่ถูกต้องและดำรงอยู่จริง ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าการกระทำรูปแบบนี้กลายเป็นสิ่งที่กำลังกดทับเด็กให้หลุดออกจากกรอบ ‘ความปกติที่ถูกต้องของสังคม’ ยิ่งเด็กรับรู้และเข้าใจตัวตนของตนเองมากเท่าไหร่ คำว่า ‘ความปกติที่ถูกต้องของสังคม’ ก็ยิ่งห่างไกลมากขึ้นเท่านั้น

ซึ่งหากจะกล่าวกันแล้ว สังคมของเราถูกดำเนินมาด้วยระบบเพศแบบสองขั้ว (Gender binary) มาโดยตลอด ทุกอย่างล้วนแฝงอยู่ในทุกอณูของการใช้ชีวิต แล้วสิ่งเหล่านี้เป็นจริงแค่ไหน? แท้จริงแล้วระบบเพศแบบสองขั้ว (Gender binary) หรือระบบวัฒนธรรมที่กล่าวว่าเพศที่แท้จริงมีเพียงสองเพศ ได้แก่ เพศชายและเพศหญิง เพิ่งถือกำเนิดมาในศตวรรษที่ 17 และถูกนำขึ้นมายกย่องในศตวรรษที่ 19 โดยนักวิทยาศาสตร์ผิวขาว ผู้มีความเชื่อว่าการแบ่งแยกเพศออกเป็นเพศชายและเพศหญิงนั้นถือเป็นสิ่งที่ดีงามสำหรับผู้มีอารยะชนผิวขาว ทั้งยังใช้ในการแบ่งแยกตนให้สูงส่งกว่าชาติพันธุ์อื่นๆ

ยิ่งไปกว่านั้น แท้จริงแล้วการถือระบบเพศแบบสองขั้ว (Gender binary) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันยังได้รับเผยแพร่มาจากลัทธิการล่าอาณานิคมของคนผิวขาวชาวตะวันตก ที่ต้องการขยายดินแดนและเข้าถึงทรัพยากรของพื้นที่อื่น โดยการใช้คำว่า ‘อารยธรรมอันสูงส่ง’ เข้ามาเผยแพร่ ทั้งที่ความจริงแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการกดขี่ชนพื้นเมืองให้อยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจทางการเมืองเท่านั้น

María Lugones นักปรัชญาสตรีนิยมและศาสตราจารย์ด้านวรรณคดีเปรียบเทียบและสตรีศึกษา ได้กล่าวถึงเรื่องการล่าอาณานิคมกับเพศไว้ว่า “ชาวตะวันตกผิวขาวได้เข้ามาขยายอาณานิคมโดยนำแนวคิดเรื่องเพศและเชื้อชาติเข้ามาแนะนำด้วย ซึ่งแนวความคิดนี้กลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมชนพื้นเมือง โดยกำหนดเพศแบบระบบสองขั้วตรงข้าม (Gender Binary) และกำหนดหมวดหมู่ทางสังคมแบบลำดับชั้น (Social hierarchies) ซึ่งผู้หญิงจะถูกกำหนดให้มีความสัมพันธ์ที่เป็นรองภายใต้ผู้ชายในทุกประเภท ดังนั้นการล่าอาณานิคมทำให้เกิดแนวคิดเรื่องเชื้อชาติและเพศขึ้นมา” 

นอกจากนี้ โอเยรองเก โอเยวูมิ (Oyèrónkẹ́ Oyěwùmí) นักวิชาการสตรีนิยมและนักทฤษฎีเพศภาวะได้เน้นย้ำถึง ‘ความไม่มีจริงของระบบเพศแบบสองขั้ว’ จากงานวิจัยของเธอเกี่ยวกับชาวโยรูบา (Yorùbá) ของประเทศไนจีเรีย เบนินและโตโก ว่าสังคมโยรูบาก่อนการล่าอาณานิคมนั้นไม่มีระบบเพศสภาพในสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งระบบการกดขี่ทางเพศเหล่านี้เพิ่งจะมาเกิดขึ้นหลังยุคที่สังคมโยรูบาผ่านการล่าอาณานิคมมาแล้ว ระบบเพศแบบสองขั้วได้ครอบคลุมและบังคับกดขี่ความเป็นหญิงในทุกมิติ โอเยวูมิอธิบายว่า แนวความคิดเรื่องเพศได้รับการแนะนำโดยชาวตะวันตกผิวขาว ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ปกครองและกดขี่ ผู้หญิงถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้การดูแลของผู้ชายและไม่สามารถมีอำนาจ, เป็นเจ้าของที่ดิน หรือมีส่วนร่วมในบทบาทผู้นำในสังคม

และในก่อนที่ระบบเพศแบบสองขั้วจะเป็นที่นำมาใช้ นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังคงเชื่อว่าในตัวมนุษย์คนหนึ่งมีทั้งความเป็นชายและความเป็นหญิงอยู่ภายในตัวอีกด้วย นอกจากนี้การใช้ระบบเพศแบบสองขั้วยังถือเป็นการลบตัวตนของอินเทอร์เซ็กซ์ (Intersex) หรือ บุคคลที่เกิดมาพร้อมกับลักษณะโครงสร้างทางกายภาพหรือ/และทางเพศที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ ไม่ได้ตรงกับกรอบของความเป็นหญิงหรือชาย โดยการกล่าวอ้างว่าอินเทอร์เซ็กซ์เป็นเพียงโรคชนิดหนึ่ง 

ซึ่งแท้จริงแล้ว Claire Ainsworth ได้อธิบายไว้ในวารสารเนเจอร์ วารสารวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกถึงเรื่องนี้และเรื่องเพศไม่ใช่แค่เลขฐานสอง (ชาย-หญิง) หรือระบบสองขั้ว แต่เป็นเหมือนสเปกตรัม ดังนั้นกรณีการแบ่งแยกเพศด้วยโครโมโซมจึงไม่ถูกต้อง เพราะแท้จริงแล้วโครโมโซมของมนุษย์ไม่ได้ถูกกำหนดได้อย่างตายตัวว่าโครโมโซม XX คือ เพศหญิง และโครโมโซม XY คือ เพศชาย แต่มีความซับซ้อนกว่านั้น 

“เมื่อมีโครโมโซม Y อยู่ คุณเป็นผู้ชาย และหากไม่มีโครโมโซม Y คุณก็คือผู้หญิง แต่แพทย์ทราบมานานแล้วว่าคนบางคนนั่งคร่อมพรมแดนเพศ โครโมโซมเพศของพวกเขาบอกสิ่งหนึ่ง แต่อวัยวะสืบพันธุ์ (รังไข่หรืออัณฑะ) หรือกายวิภาคศาสตร์ทางเพศพูดอีกอย่างหนึ่ง พ่อแม่ของเด็กที่มีอาการที่กล่าวมา หรือที่รู้จักกันในภาวะที่มีเพศคลุมเครือหรือความแตกต่างหรือความผิดปกติของพัฒนาการทางเพศ (DSDs) มักต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบากว่าจะเลี้ยงลูกเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง ซึ่งเอาจริงๆ แล้วจากงานวิจัยในปัจจุบัน ทุกๆ ทารก 100 คนจะมีมากกว่า 1 คนที่เป็น DSDs หรือ อินเทอร์เซ็กซ์ (Intersex)

“และเมื่อพันธุกรรมถูกนำไปพิจารณา ขอบเขตระหว่างเพศจะยิ่งพร่ามัวยิ่งขึ้นอีก นักวิทยาศาสตร์ได้ระบุว่ายีนจำนวนมากมีความเกี่ยวข้องกับรูปแบบหลักของ DSD และได้เปิดเผยการแปรผันของยีนเหล่านี้ว่า มีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อเพศทางกายวิภาคหรือทางสรีรวิทยาของบุคคล ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีใหม่ในการจัดลำดับดีเอ็นเอและชีววิทยาของเซลล์เปิดเผยว่าเกือบทุกคนเป็นเซลล์ที่แยกจากกันทางพันธุกรรมในระดับที่แตกต่างกัน เพศกำเนิดของบางคนก็อาจจะไม่สัมพันธ์กับส่วนอื่นในร่างกายได้ งานวิจัยบางชิ้นยังแนะนำว่าเพศของแต่ละเซลล์ขับเคลื่อนพฤติกรรมของมันเองผ่านเครือข่ายอันซับซ้อนของปฏิสัมพันธ์ระดับโมเลกุล”

และมีงานวิจัยอีกจำนวนมากที่ระบุว่า โครโมโซมเพศเป็นสิ่งที่ไม่สามารถระบุเจาะจงได้อย่างถ่องแท้ เซลล์มนุษย์มีความซับซ้อนยิ่งกว่านั้น นอกเหนือจากโครโมโซม XX, XY ยังคงมีโครโมโซม XYY, XXY,  XXX, X หรือโครโมโซมอื่นๆ ที่ผสมกันได้อีกเช่นเดียวกัน

การมีโครโมโซม XX แต่มีอวัยวะเพศชายสามารถเกิดขึ้นได้ ในขณะเดียวกับที่การมีโครโมโซม XY แต่มีอวัยวะเพศหญิงก็เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน การมีอยู่ของอินเทอร์เซ็กซ์ได้ยืนยันว่าความหลากหลายและระบบเพศแบบสองฐานนั้นไม่เป็นจริง ซึ่งการลบตัวตนของอินเทอร์เซ็กซ์ (Intersex) ด้วยการจัดกลุ่มว่าเป็นเพียงโรคนั้นจะไม่เป็นธรรมไป เพราะยังคงมีงานวิจัยจำนวนมากที่ออกมาบอกว่าเด็กที่เป็นอินเทอร์เซ็กซ์แท้จริงแล้วสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี เพียงแต่การที่ผู้ปกครองให้แพทย์ศัลยกรรมเลือกเพศในตอนแรกเกิดนั้นเกิดจากความหวาดกลัวและกังวลในการเลี้ยงดู เนื่องจากเป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน

อย่าลืมว่าบางทีความจริงก็ไม่อาจน่ากลัวเท่าความกลัว ก่อนที่เราจะมีประสบการณ์ เราจำต้องหวาดกลัวและไม่มีประสบการณ์มาก่อน การปัดกลุ่มอินเทอร์เซ็กซ์เป็นเพียงโรคนั้นไม่ใช่ทางออกของปัญหา ยังแต่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กถ้าหากการศัลยกรรมมีปัญหา 

สิ่งสำคัญ คือ การที่เราควรเปิดใจและลองมองว่า แท้จริงแล้วเพศของเราเป็นดั่งสเปกตรัม ถ้าระบบเพศแบบสองขั้วที่ก่อสร้างมาจากการล่าอาณานิคมไม่ได้เป็นเรื่องแท้จริงแต่อย่างใด วิทยาศาสตร์ที่ออกมาเพื่อตอบสนองโครงสร้างอำนาจนี้ก็ไม่ได้เท็จจริงเสมออย่างนั้น 

การให้เด็กเติบโตและมีสิทธิ์เลือกเพศของเขาในอนาคต คือ สิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กเข้าใจในตัวตนและเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่  และนอกจากการมีครอบครัวหรือผู้ปกครองที่ให้การสนับสนุน เข้าใจ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้แล้ว โรงเรียนก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่จะช่วยโอบรับและสร้างความเข้าใจในความหลากหลายนี้

นอกจากนี้ฮอร์โมนเพศชายและเพศหญิงที่แบ่งออกเป็นแบบเลขฐานสอง (กล่าวคือมีเพียง 2 เพศ ได้แก่ เพศชายและเพศหญิง) ก็เช่นเดียวกัน ฮอร์โมนเพศถูกทำให้เป็นที่รู้จักครั้งแรกในศตวรรษที่ 19 โดยเป็นการนำมาเสริมทฤษฎีโครโมโซมเพศ ในแง่มุมที่กล่าวว่า โครโมโซมเพศมีคู่ที่เข้าคู่กันเพื่อให้เข้ากับฮอร์โมนที่กำหนดความเป็นหญิง-ชาย สาเหตุนี้จึงทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนถูกแยกออกจากกันเป็นครั้งแรกเพื่อเสริมแรงทฤษฎีนี้ (นอกจากนี้ การเสริมแรงนี้ยังคงเป็นรากฐานในการเสริมสร้างแนวความคิดที่ว่า ‘เพศกำเนิดเป็นเรื่องทางชีววิทยาและตายตัว’ ในยุคหลังอีกด้วย) 

ทั้งที่ความจริงแล้วฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ถูกเรียกว่าเป็นฮอร์โมนเพศหญิงก็สามารถมีอยู่ในเพศกำเนิดชายในระดับที่สูงเช่นเดียวกับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่ถูกเรียกว่าเป็นฮอร์โมนเพศชายก็สามารถมีอยู่ในเพศกำเนิดหญิงในระดับที่สูงไม่ต่างกัน การมีปริมาณฮอร์โมนทั้งสองนี้อยู่ในระดับที่แตกต่างจากที่วิทยาศาสตร์เหล่านั้นกำหนด ไม่ได้แปลว่าเราผิดปกติหรือแตกต่าง แท้จริงแล้วคือเรื่องธรรมชาติและธรรมดาของมนุษย์ 

ร่างกายของเพศกำเนิดหญิงอาจมีขนขึ้นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่การมีหนวด เช่นเดียวกับร่างกายของเพศกำเนิดชายอาจมีแทบไม่มีขนเลย เพศกำเนิดหญิงอาจมีเสียงที่ใหญ่ห้าว เช่นเดียวกับเพศกำเนิดชายก็สามารถมีเสียงที่แหลมเล็กและไร้ลูกกระเดือก ส่วนคำถามที่ว่าทำไมร่างกายของเพศชายถึงแข็งแรงและมีกล้ามเนื้อมากกว่าเพศหญิงก็คงต้องมองย้อนกลับไปที่การเลี้ยงดูในตอนต้น เด็กที่เกิดมาเป็นเพศกำเนิดชายมักถูกเลี้ยงดูไปในทางที่เปิดโอกาสให้กล้ามเนื้อได้เสริมสร้างตั้งแต่ยังเด็ก ต่างจากเพศกำเนิดหญิงที่ลักษณะการเลี้ยงดูและการเล่นมักจะเปิดโอกาสให้สมองสร้างทักษะการจดจำได้มากกว่า 

สิ่งสำคัญที่เราควรรื้อถอนและลบอคติทางเพศทั้งหลาย สร้างความเข้าใจว่าร่างกายของมนุษย์แตกต่างและซับซ้อนมากกว่าที่จะมาหนดให้เป็นเพียงแค่ระบบเลขฐานสอง มันยังมีหลากหลายปัจจัยและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มากกว่านั้น

หากเราลบอคติและมองด้วยใจที่แท้จริง จะเห็นได้ว่าระบบเพศแบบสองขั้วหรือ Binary นั้นแท้จริงแล้วเป็นเพียงสิ่งที่สังคมกำหนดขึ้นมาเพื่อให้เกิดเป็น ‘วัฒนธรรมอันถูกต้อง’ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องทางชีววิทยาอย่างที่วิทยาศาสตร์ในระบบการศึกษาพร่ำบอก แต่แม้ว่าจะเป็นเรื่องของชีววิทยาจริงๆ ก็ไม่อาจเถียงได้ว่าแท้จริงแล้วมันสามารถเปลี่ยนและลื่นไหลได้ตามกาลเวลาอยู่แล้ว เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าวิทยาศาสตร์และชีววิทยาในอดีตพัฒนามาจนถึงปัจจุบันเพราะการตั้งคำถามในชุดความรู้เดิมๆ จนเกิดการวิวัฒนาการและการกำเนิดชุดความรู้ใหม่ๆ 

ดังนั้น จึงไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์แบบใดที่ตายตัวและสมบูรณ์แบบ หากแต่ถ้าเรานำมันมาเป็นชุดความรู้-ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจเถียงได้ เมื่อนั้นโลกคงถึงกาลอวสานสิ้นความรู้เพราะอคติที่ไม่เปิดรับของเหล่ามนุษย์โลก

การยอมรับและโอบรับความหลากหลายไม่ใช่เรื่องยาก ในทุกวันนี้มีเด็กจำนวนมากที่ถูกกดทับจากวิทยาศาสตร์ที่มีอคติทางเพศและถูกปัดไปเป็นคนชายขอบ เด็กที่ต้องดิ้นรนอยู่ในวังวนของความสงสัยในความแตกต่างของตนเอง เด็กที่ต้องพยายามปีนป่ายเพื่อให้เข้าไปในกรอบอันนั้นเพียงเพราะข้อเท็จจริงทั้งหลายเหล่านี้ได้สร้างทัศนคติและมุมมองที่น่าเจ็บปวด รวมทั้งข้อกฎหมายที่ไม่เคยเข้าถึงความหลากหลายทางเพศเลยแม้แต่เศษเสี้ยว 

อย่าปล่อยให้พวกเขาถูกทอดทิ้ง อย่าปล่อยให้พวกเขาต้องเกลียดชังในความเป็นตนเอง โปรดโอบรับและเปิดใจมองเห็นความหลากหลายเหล่านี้ อย่าแบ่งแยกหรือกีดกันเขาออกไป การสร้างค่านิยมและวางรากฐานทางวิทยาศาสตร์และกฎหมายใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก หากเพียงแต่วันนี้เราคงต้องตั้งคำถามกับตนเองว่าเราสามารถสร้างโลกที่โอบรับคนทุกคนได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมไหม 

ถ้าคำตอบนั้นคือใช่ โลกที่เด็กและคนทุกคนสามารถเป็นตนเองได้โดยไม่รู้สึกผิดและภูมิใจในสิ่งเหล่านั้นคงไม่เกินจริง

อ้างอิง
แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน (Beyond the Gender Binary)
What is intersex?
สสวท.คู่มือครู รายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา 
Sex isn’t chromosomes: the story of a century of misconceptions about X & Y
Sex redefined
Sex isn’t binary, and we should stop acting like it is
Pediatric Differences in Sex Development
Sex Chromosome Abnormalities
Androgen insensitivity syndrome
Coloniality of Gender

Tags:

ระบบการศึกษาเพศวิทยาศาสตร์

Author:

illustrator

กุลธิดา ติระพันธ์อำไพ

ชื่อชอบงานศิลปะ แต่ไม่ถนัดวาดรูป รักการถ่ายรูป ค้นพบตัวได้ที่อาร์ตแกลหรือร้านหนังสือ สนใจในเรื่องเพศ สังคม จิตวิทยา มนุษย์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม เป็นเฟมินิสต์แอคทิวิสต์ที่ชอบฟังนิทานก่อนนอน เชื่อในความหลากหลายและฝันอยากมีโลกที่โอบอุ้มคนทุกคน

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Everyone can be an Educator
    ชวนเด็กเล่นเกม เรียนรู้ผ่านกล ฝึกฝนกระบวนการคิด : ฟิสิกส์แสนสนุกฉบับ ‘วิทย์พ่อโก้’ ดร.พงศกร สายเพ็ชร์

    เรื่อง ปริสุทธิ์

  • Voice of New Gen
    คุณวุฒิ บุญฤกษ์: เด็กชายผู้ล้มเหลวในวิชาวิทย์ สู่นักวิจัยสายสังคมศาสตร์

    เรื่องและภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • Education trend
    ‘สก็อตแลนด์’ ประเทศแรกที่สอนเรื่อง LGBTI ในโรงเรียน

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊

  • 21st Century skills
    CREATIVE PROCESS : 7 นิสัยทำลายความคิดสร้างสรรค์

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Social Issues
    ฟังเสียงเด็ก TCAS: อยากให้ครูแนะแนวเป็นแบบไหน?

    เรื่อง The Potential

Olive Kitteridge : อาจใช้เวลาทั้งชีวิตกว่าจะยอมรับ เราไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอารมณ์ร้ายๆ ของแม่
Book
16 September 2021

Olive Kitteridge : อาจใช้เวลาทั้งชีวิตกว่าจะยอมรับ เราไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอารมณ์ร้ายๆ ของแม่

เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Olive Kitteridge นวนิยายตีพิมพ์ในปี 2008 เล่าเรื่อง โอลีฟ คิตเตอริดจ์ ครูสอนคณิตศาสตร์ที่เข้มงวด ดูยากที่จะเข้าถึงและอยู่ใกล้ๆ เธอใช้ชีวิตวัยเกษียณกับสามีผู้แสนอ่อนโยนและดูใจดี ชื่อว่าเฮนรี คิตเตอริดจ์ พวกเขามีลูกชายด้วยกัน 1 คน ชื่อว่า คริสโตเฟอร์ 
  • คริสโตเฟอร์กับโอลีฟเป็นแม่ลูกที่ไม่ค่อยสนิทกันเท่าไหร่ ทั้งสองไม่ใช่ประเภทที่จะเปิดใจคุยกันหรือทำความเข้าใจกันและกัน ด้วยบุคลิกของโอลีฟด้วยที่บางครั้งก็ดูอึดอัดที่จะทำความเข้าใจอะไรที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก
  • “เราไม่เคยรู้ว่าตัวเองทั้งถูกควบคุม และถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์จากการที่แม่ชอบโทษและโยนความผิดมาให้เรา เค้ามักจะบอกว่าเราเป็นต้นเหตุที่ทำให้เค้าต้องเหนื่อย หรือทุกความรู้สึกที่เค้าเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนมันเกิดขึ้นเพราะเรา เรามักจะรู้สึกแย่และโทษตัวเองอยู่บ่อยๆ”

Tags:

แบบแผนทางความสัมพันธ์โรคพ่อแม่ทำหนังสือ

Author:

illustrator

พิมพ์พาพ์

เป็นลูกคนเดียวจากแม่เลี้ยงเดี่ยว เรียกตัวเองว่านักวาดภาพประกอบที่ชอบวาดคนหน้าแมว เผลอเสียน้ำตาให้กับหนังครอบครัวอยู่บ่อยๆ

Related Posts

  • Myth/Life/Crisis
    ดอเรียน เกรย์ : ความเหงาและหัวใจที่เชื่อมโยง

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Movie
    Gifted (2017) ‘ขอโทษ’ ของขวัญที่ดีที่สุดในการรักษาความสัมพันธ์

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Early childhoodFamily Psychology
    ถ้อยคำทำร้ายลูก(3): ไม่ต้องร้อง เป็นพี่ต้องเสียสละ เป็นน้องต้องเชื่อฟังพี่ เป็นเด็กดีเชื่อฟังพ่อแม่ ที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อลูก

    เรื่อง อังคณา มาศรังสรรค์ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Family PsychologyEarly childhood
    ถ้อยคำทำร้ายลูก(2): อย่าทำนะ เดี๋ยวตำรวจมาจับ, ตีพื้น นี่แหนะจัดการให้แล้ว, นิสัยเหมือนพ่อ/แม่ไม่มีผิด

    เรื่อง ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์อังคณา มาศรังสรรค์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Early childhoodFamily Psychology
    ถ้อยคำทำร้ายลูก(1) ทำไมโง่อย่างนี้ ไม่น่าเกิดมาเป็นลูกฉันเลย ทำได้แค่นี้แหละ โกหก!

    เรื่อง อังคณา มาศรังสรรค์ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

มองโลกแบบไหนถึงเรียกว่าในแง่ร้าย
How to enjoy life
15 September 2021

มองโลกแบบไหนถึงเรียกว่าในแง่ร้าย

เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • คนที่มองโลกในแง่ร้ายมักมีแนวโน้มที่จะอธิบายสาเหตุของสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังเผชิญในรูปแบบที่สิ้นหวังเป็นส่วนใหญ่ ส่วนคนที่มองโลกในแง่ดีนั้นจะอธิบายสาเหตุในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน
  • งานวิจัยพบว่า การมองโลกในแง่ดีหรือร้ายอาจถ่ายทอดได้โดยพันธุกรรม โดยรูปแบบในการอธิบายสาเหตุของแม่หรือผู้เลี้ยงดูนั้นมีอิทธิพลต่อรูปแบบที่เด็กจะใช้อธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ในอนาคต การมองโลกในแง่ดีหรือร้ายเป็นสิ่งที่ค่อยๆ สั่งสมไปตามเวลา สิ่งแวดล้อมที่แต่ละคนเติบโตขึ้นมาจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก
  • หากแก้ไขไม่ได้เสียที แต่มันก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แค่มีแต่คนชอบบอกว่าเรามองโลกในแง่ร้าย ก็ไม่ต้องคิดมากก็ได้ครับ บุคลิกภาพในความหมายของจิตวิทยาคือความแตกต่าง ไม่ได้บอกว่าอะไรถูกหรือผิด อะไรดีหรือเลว การมองโลกในแง่ร้ายมันก็เป็นบุคลิกภาพแบบหนึ่ง 

คนนั้นมองโลกในแง่ดี คนนี้มองโลกในแง่ร้าย รูปแบบการมองโลกนั้นเป็นหนึ่งในความแตกต่างของคนเราและเป็นสิ่งที่ใช้แบ่งคนรอบตัวที่นิยมใช้กันมากทีเดียว แน่นอนว่าเวลาที่มีคนบอกเราเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เราก็คงรู้สึกไม่ดีเท่าไรนัก และจะยิ่งฟังไม่เข้าหูหากเราไม่ได้คิดว่าเราเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย คำถามที่ตามมาคือ แล้วคนแบบไหนกันที่เรียกว่าคนมองโลกในแง่ร้าย? ต้องดูเป็นคนมืดมน หน้าบึ้ง ดูเครียดๆ พูดอะไรก็มีแต่เรื่องลบๆ แบบนั้นหรือเปล่า แล้วคนที่มองโลกในแง่ดีต้องยิ้ม หน้าตาสดใส อารมณ์ดี พูดอะไรก็ดูดีมีความหวังใช่ไหม บทความนี้จะชวนมาทำความรู้จักการมองโลกในแง่ดีและในแง่ร้ายกันครับ ว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่

จริงๆ แล้วคำว่า ‘มองโลกในแง่ดี’ และ ‘ในแง่ร้าย’ นั้นเป็นคำที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว และปรากฏอยู่ในวรรณกรรมและหนังสือปรัชญาเก่าๆ มีสำนวนของประเทศแถบตะวันตกที่เปรียบเปรยทำนองว่า คนสองคนเห็นน้ำครึ่งแก้วเหมือนกัน แต่คนมองโลกในแง่ดีจะคิดว่า “เหลือตั้งครึ่งแก้ว” แต่คนมองโลกในแง่ร้ายจะคิดว่า “หมดไปตั้งครึ่งแก้ว” ซึ่งบอกว่าสิ่งที่เหมือนกันนั้นแต่ละคนก็มองต่างกันไป บางคนมองในแง่ดี บางคนมองในแง่ร้าย แต่ในโลกความจริงการจะบอกว่า “แง่ดี” หรือ “แง่ร้าย” มันไม่เรียบง่ายแบบนั้น คนเราต่างคนต่างก็มีเกณฑ์ที่แตกต่างกันในการบอกว่าอะไรดีหรือไม่ดี บางครั้งคนหนึ่งบอกว่า “แย่จัง” ซึ่งพอเราดูเราก็พบว่าสถานการณ์มันมืดมน หมดหนทางจริงๆ แบบนี้เราจะเรียกว่าเขามองโลกในแง่ร้ายหรือเปล่า หรือคนที่มองโลกในแง่ดีต่อให้เจออะไรก็ต้องรู้สึกว่ามันมีเรื่องดี มีคุณค่า มีความหวังเสมอไปไหม เพื่อหาหลักในการฟันธงว่าใครมองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้าย เรามาดูมุมมองของทั้งสองคำนี้ในแวดวงจิตวิทยากันดีกว่าครับ

นักจิตวิทยาเองก็พยายามที่จะหาคำอธิบายถึงเรื่องความแตกต่างของมนุษย์ในด้านนี้ และหากฎเกณฑ์ที่ชัดเจนมาแบ่งว่าใครมองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้าย มาร์ติน เซลิกแมน (เกิด ค.ศ. 1942) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้พยายามศึกษาสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสิ้นหวัง’ ว่าสถานการณ์และปัจจัยแบบใดที่จะทำให้คนสิ้นหวัง และเขาก็พบว่าการอธิบายสาเหตุของสถานการณ์ที่กำลังเผชิญในแต่ละคนนี่เองที่ทำให้เกิดความสิ้นหวัง ‘การอธิบายสาเหตุ’ ที่ว่านั้นเป็นทฤษฎีที่บอกว่าในสถานการณ์เดียวกัน คนเราจะอธิบายสาเหตุของสถานการณ์โดยอัตโนมัติ และอธิบายออกเป็น 3 มิติ เพื่อให้เห็นภาพ ขอสมมติว่าสถานการณ์ คือ ‘โดนเจ้านายด่า’ มาดูกันว่าคนเราจะอธิบายสาเหตุสถานการณ์นั้นในแต่ละมิติอย่างไรบ้าง

มิติที่มาของสาเหตุ : มิตินี้อธิบายว่าสถานการณ์มีสาเหตุมาจากตนเอง หรือมาจากสิ่งภายนอก ถ้าสาเหตุมาจากตนเอง การที่เจ้านายด่านั้นสาเหตุเกิดขึ้นจากตัวเรา เช่น เราทำงานไม่ดี หรือเจ้านายเห็นโหงวเฮ้งเราแล้วไม่ชอบ แต่ถ้าเกิดจากภายนอกหรือสิ่งรอบๆ ตัว ก็อาจมองว่า สงสัยเจ้านายทะเลาะกับเมียมา หรือสงสัยอากาศร้อนเลยหงุดหงิดแล้วมาพาลด่าเรา 

มิติความทั่วไป : มิตินี้อธิบายว่าสถานการณ์แบบดังกล่าวเกิดแค่กับเราคนเดียว หรือเกิดกับคนอื่นๆ ด้วย ถ้าเกิดแค่กับเราคนเดียว ก็คือเจ้านายก็ด่าแต่เราแหละไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แผนกทำงานไม่ดีก็จ้องจะด่าแต่เรา คนอื่นก็เคยทำผิดไม่เห็นถูกด่า แต่ถ้าเกิดกับคนอื่นด้วย คือไม่ว่าใครก็เคยถูกเจ้านายด่าทั้งนั้น ไม่ว่าหัวหน้าแผนกยันแม่บ้าน ถ้าทำผิด หรือบางทีขวางหูขวางตาเจอด่าหมดทุกคน

มิติความคงทน: มิตินี้อธิบายสถานการณ์จะอยู่คงทนตลอดไป หรือเกิดแค่ชั่วคราวเท่านั้น ถ้าอยู่คงทนคือชีวิตการทำงานนี้เจ้านายคงจะด่าเราจนลาออกหรือตายกันไปข้างถึงเลิกด่า ปัญหานี้ไม่มีวันจบง่ายๆ แต่ถ้าเกิดชั่วคราวคือเดี๋ยวพอเจ้านายอารมณ์ดีหรือหายโกรธเมื่อไหร่ แกก็กลับมาพูดดีกับเราเอง 

เซลิกแมนใช้ทฤษฎีนี้ในการอธิบายว่าสถานการณ์ที่สิ้นหวังนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร คนที่สิ้นหวัง คือ เมื่อเจอเรื่องไม่ดีจะอธิบายปัญหานี้ว่าเกิดจากตัวเขา เกิดกับเขาคนเดียว และจะเกิดแบบนี้ตลอดไป สรุปแล้วคือทำอะไรกับปัญหาไม่ได้เลย เพราะสาเหตุมันมาจากตัวเองจะโทษใคร แถมเรื่องร้ายๆ ก็เจาะจงเกิดแค่กับตนเอง และมันไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้นด้วย เซลิกแมนก็นำทฤษฎีการอธิบายสาเหตุนี่แหละครับมาแบ่งว่าใครมองโลกในแง่ดีหรือใครมองโลกในแง่ร้าย 

หากใครมีแนวโน้มที่จะอธิบายสาเหตุของสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตในรูปแบบที่สิ้นหวังเป็นส่วนใหญ่ เราจะเรียกว่าคนนั้นมองโลกในแง่ร้าย ส่วนคนที่มองโลกในแง่ดีนั้นจะอธิบายสาเหตุในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน 

ผมขอสรุปเป็นตารางให้เห็นภาพแบบด้านล่าง ว่าคนที่มองโลกในแง่ร้ายอธิบายสาเหตุแตกต่างจากคนที่มองโลกในแง่ดีอย่างไร

เมื่อเจอเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกแย่

บุคลิกภาพ/มิติการอธิบายที่มาของสาเหตุความทั่วไปความคงทน
คนมองโลกในแง่ดีจากสิ่งอื่นรอบตัวใครๆ ก็เจอเดี๋ยวก็ผ่านไป
คนมองโลกในแง่ร้ายจากตัวเองมีแต่ฉันที่เจอจะเจออีกเรื่อยๆ

เมื่อคนเจอเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกดี

บุคลิกภาพ/มิติการอธิบายที่มาของสาเหตุความทั่วไปความคงทน
คนมองโลกในแง่ดีจากตัวเองมีแต่ฉันที่เจอจะเจออีกเรื่อยๆ
คนมองโลกในแง่ร้ายจากสิ่งอื่นรอบตัวใครๆ ก็เจอเดี๋ยวก็ผ่านไป

ไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ที่แย่ๆ ที่อธิบายสาเหตุแตกต่างกัน คนมองโลกในแง่ร้ายเมื่อเจอสถานการณ์ที่ดี ก็มักจะอธิบายสาเหตุในทิศทางที่สลับกับคนมองโลกในแง่ดี สมมติสถานการณ์ คือ ลูกค้าชม คนที่มองโลกในแง่ร้ายกลับไม่คิดว่านั่นเพราะตนเองบริการดีหรือทำงานเก่ง แต่จะกลับไปมองว่าเกิดจากสาเหตุภายนอก เช่น ลูกค้าอาจจะอารมณ์ดีอยู่ และยังมองว่าเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็เจอ เช่น ก็สินค้างวดนี้ทำออกมาดี ใครติดต่อเขาก็ชมทั้งนั้น นอกจากนี้สถานการณ์แบบนี้ไม่คงทน เช่น เดี๋ยวครั้งหน้าก็อาจจะไม่ได้คำชมอีกแล้ว ส่วนคนมองโลกในแง่ดีก็มองตรงกันข้ามกันหมดเลย

จิตวิทยามีคำว่า ‘บุคลิกภาพ’ คือ ความแตกต่างของคนที่จะตอบสนองหรือทำอย่างไรเมื่อเจอกับสิ่งต่างๆ บุคลิกภาพมีหลายด้านครับ เช่น บุคลิกภาพด้านอินโทรเวิร์ต (introvert) ที่อาจจะเคยได้ยินกัน หรือบุคลิกภาพด้านรูปแบบความผูกพัน และการมองโลกในแง่ดีหรือร้ายก็เป็นบุคลิกภาพในด้านหนึ่ง บุคลิกภาพนั้นจะบอกถึงการตอบสนองส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ทุกครั้งนะครับ อย่างคนที่มองโลกในแง่ร้ายหากเจอเหตุการณ์ที่ไม่ดีก็ไม่ได้แปลว่าจะโทษตัวเอง มองว่ามีแต่ฉันที่เจอ และจะเจอไปตลอดทุกๆ ครั้ง แต่ว่าเมื่อคนมองโลกในแง่ร้ายหากเจอเหตุการณ์ที่ไม่ดี ก็มีแนวโน้มที่จะอธิบายสาเหตุแบบนั้น

สิ่งหนึ่งที่มีผลต่อการอธิบายสาเหตุ คือ ความชัดเจนของสถานการณ์ด้วย หากสมมติเราถูกเจ้านายด่า เพราะเราตื่นสายไปหาลูกค้าไม่ทัน ตรงนี้เราจะโทษตัวเองก็ไม่แปลก หรือถ้าเราถูกหวยแล้วมองว่ามันคงไม่ได้เกิดทุกครั้งก็ถือว่ามันชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้น หากสถานการณ์มันอธิบายสาเหตุได้เด่นชัดเราจะอธิบายเหมือนแบบในตารางที่ดูเหมือนคนที่มองโลกในแง่ร้ายก็อาจจะตัดสินไม่ได้ว่าเรามองโลกในแง่ร้าย 

นอกจากนี้ในการอธิบายแต่ละสถานการณ์อาจจะไม่ได้มองในแง่ร้ายในทุกมิติพร้อมๆ กันก็ได้ เช่น ถ้าถูกหวยกิน ก็อาจจะมองโทษตัวเองว่าเรามันดวงซวย แต่อาจจะไม่ได้มองว่าเกิดขึ้นแต่กับเรา ใครๆ ก็ถูกหวยกินทั้งนั้น อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมแล้วมักจะอธิบายในทิศทางเหมือนตารางด้านบนมากกว่า สรุปแล้วการมองโลกในแง่ดีหรือร้ายเป็นภาพรวมของหลายๆ เหตุการณ์ว่าจะอธิบายอย่างไร จะใช้เหตุการณ์เดียวตัดสินไม่ได้

แล้วทำไมบางคนถึงมองโลกในแง่ดี บางคนถึงมองโลกในแง่ร้าย ตรงนี้อาจจะยังไม่มีคำตอบฟันธง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จากงานวิจัยพบว่าการมองโลกในแง่ดีหรือร้ายนั้นอาจจะถ่ายทอดได้โดยพันธุกรรม เพราะจากงานวิจัยที่ศึกษาฝาแฝดที่มียีนเหมือนกันเป๊ะ รูปแบบการอธิบายสาเหตุก็มีแนวโน้มว่าคล้ายคลึงกันมากกว่าแฝดคล้ายหรือพี่น้องที่ยีนต่างกัน อย่างไรก็ตามสิ่งแวดล้อมที่แต่ละคนเติบโตขึ้นมาก็เป็นปัจจัยสำคัญมากๆ 

งานวิจัยพบว่า รูปแบบในการอธิบายสาเหตุของแม่หรือผู้เลี้ยงดูนั้นมีอิทธิพลต่อรูปแบบที่เด็กจะใช้อธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ในอนาคต นอกจากนี้เช่นเดียวกับบุคลิกภาพอื่นๆ การมองโลกในแง่ดีหรือร้ายเป็นสิ่งที่ค่อยๆ สั่งสมไปตามเวลา 

วิธีที่คนรอบตัวชมหรือตำหนิก็ส่งผลให้คนมองโลกในแง่ร้ายหรือดีแตกต่างกัน เช่น ตอนที่ทำอะไรออกมาดีคนรอบตัวก็บอกว่าฟลุกล่ะสิ แต่พอเราทำไม่ดีบอกว่าไม่ตั้งใจ ประสบการณ์แบบนี้ถ้ามันเกิดบ่อยๆ ก็หล่อหลอมให้เป็นมองโลกในแง่ร้ายได้

คำถามที่หลายๆ คนอาจจะอยากรู้ตอนนี้คือ แล้วตัวฉันมองโลกในแง่ดีหรือร้ายกันแน่ วิธีวัดนั้นมีหลายวิธีครับ เวลานักจิตวิทยาจะวัดเรื่องนี้ วิธีหนึ่งที่นิยมใช้ก็คือ เขาจะให้คนฟังหรืออ่านสถานการณ์สมมติหลายๆ สถานการณ์ทั้งดีและไม่ดี และให้คนอธิบายสาเหตุของสถานการณ์แต่ละสถานการณ์ในรูปแบบ 3 มิติทั้งที่มาของสาเหตุ ความทั่วไป และความคงทนของสถานการณ์ และนำคะแนนเฉลี่ยของแต่ละมิติมาดูแนวโน้มว่าอธิบายไปในทิศทางของคนที่มองโลกในแง่ร้ายหรือแง่ดีมากกว่ากัน แต่ในการวัดที่แม่นยำนั้นอาจจะต้องเก็บข้อมูลจากประชากรหรือคนจำนวนมากเกี่ยวกับการอธิบายสาเหตุของสถานการณ์ที่ใช้วัดเหล่านั้น แล้วใช้สถิติมาช่วยวิเคราะห์เพื่อดูว่าหากเทียบกับบุคคลส่วนใหญ่แล้ว คนนี้อธิบายค่อนไปทางกลุ่มที่มองโลกในแง่ดีหรือร้าย เราอาจจะไม่ค่อยได้มีโอกาสได้วัดเรื่องนี้เท่าไรนัก เพราะการวัดแบบจริงๆ จังๆ มักจะใช้กับงานวิจัยมากกว่า แต่ถึงแบบนั้นเราอาจจะพอสังเกตเวลาเจอเหตุการณ์ในชีวิตทั้งเหตุการณ์ที่ดีหรือร้ายแล้วดูว่าเราเองอธิบายสถานการณ์อย่างไรตามมิติดังกล่าว นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่พอจะทำให้เห็นได้ว่าตัวเรามองโลกในแง่ดีหรือร้ายอย่างไร แต่การวัดด้วยตนเองอาจจะทำให้ไม่ได้รับผลลัพธ์ที่แม่นยำนัก ดังนั้นหลักคร่าวๆ คือถ้ามันไม่กองไปในทางสิ้นหวังแทบจะทุกเหตุการณ์ ก็อาจจะไม่ต้องคิดมากก็ได้กับเรื่องนี้

คำถามต่อมาคือ แล้วจะทำอย่างไร หากเรารู้ตัวว่าเราเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายเกินไป ผลเสียอย่างหนึ่งของการมองโลกในแง่ร้าย คือ ความเครียด และงานวิจัยพบว่าคนมองโลกในแง่ร้ายมากก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า แต่อย่างที่บอกไว้ในด้านบนว่าการมองโลกในแง่ร้ายเป็นบุคลิกภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดได้จากทั้งพันธุกรรมจากพ่อแม่ จากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก และประสบการณ์ที่ค่อย ๆ สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก มันจึงเป็นสิ่งที่คงทนและเปลี่ยนแปลงยาก แต่ถึงจะเปลี่ยนยากก็ไม่ได้แปลว่าเปลี่ยนไม่ได้ เรื่องยีนเรื่องประสบการณ์วัยเด็กเราคงทำอะไรกับมันไม่ได้ แต่เรื่องการตีความถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนี้เป็นสิ่งที่พอจะปรับได้ครับ หากเรายังปล่อยให้เราตีความในรูปแบบที่สิ้นหวังในมิติ 3 แบบดังตารางข้างต้นบ่อยๆ การมองโลกในแง่ร้ายนั้นก็จะยิ่งฝังแน่นคงทน 

หากสถานการณ์มันกำกวมว่า มันเกิดจากใคร มันเกิดกับใครบ้าง และจะคงอยู่ตลอดไปไหม บุคลิกภาพอาจจะทำให้เรามองว่ามันเกิดจากเรา เกิดแค่กับเรา และคงอยู่ต่อไป หากเป็นสถานการณ์ที่ไม่ดี แต่ถ้าเหตุมันชัดเจน บางครั้งเราก็อาจมองในแง่ร้ายเกินจริง เช่น โทษตัวเองเกินจริง เจ้านายด่าเพราะเราตื่นสายก็จริง แต่เพราะนาฬิกาปลุกมันเสียพอดี หรือมองว่าสถานการณ์มันจะเกิดแบบนี้ต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง มาสายครั้งเดียวเจ้านายคงมองเราว่าขาดความรับผิดชอบไปตลอดแน่ๆ ซึ่งก็ไม่น่าจะขนาดนั้น หากอธิบายเหตุการณ์ในแง่ดีไม่ได้จริงๆ ลองพยายามปรับจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเราเป็นเกิดกับคนอื่นแทนครับ ว่าในสถานการณ์เดียวกันหากคนอื่นทำแบบนี้เราจะยังอธิบายสาเหตุในแบบเดียวกันไหม ทั้งในมิติที่มาของสาเหตุ ความทั่วไป และความคงทนของสถานการณ์ บางครั้งพอเรามองในสายตาคนนอกแล้วมุมมองจะเปลี่ยนไป หลายครั้งเรื่องที่เลวร้ายพอไม่ได้เกิดกับเรา มันก็ไม่ใช่เหตุการณ์คอขาดบาดตายขนาดนั้น ถ้าคิดแบบนี้เราจะอธิบายสาเหตุได้ตรงกับความจริงขึ้นครับ

หากแก้ไขไม่ได้เสียที แต่มันก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แค่มีแต่คนชอบบอกว่าเรามองโลกในแง่ร้าย ก็ไม่ต้องคิดมากก็ได้ครับ บุคลิกภาพในความหมายของจิตวิทยา คือ ความแตกต่าง ไม่ได้บอกว่าอะไรถูกหรือผิด อะไรดีหรือเลว การมองโลกในแง่ร้ายมันก็เป็นบุคลิกภาพแบบหนึ่ง 

การมองในแง่ดีเองอาจจะทำให้ไม่เครียด มีความหวังมากกว่า แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ผลดี หลายๆ ครั้งที่มองในแง่ร้ายแล้วมันตรงกับความเป็นจริงมันยังดีกว่าการมองโลกในแง่ดีในแบบที่ผิดจากความเป็นจริง เช่น เรื่องของสุขภาพ ถ้ามองโลกในแง่ดีเกินจริง จะเกิดผลเสียให้ไม่เตรียมตัวจัดการ ท้องเสียเรื้อรังก็คิดว่าสงสัยเป็นเพราะอากาศร้อน หรือช่วงนี้กินของแปลกๆ บ่อยๆ ไม่ได้คิดว่าเป็นเพราะร่างกายผิดปกติอะไร คิดว่าอาการแบบนี้ใคร ๆ เขาก็เป็นกัน เดี๋ยวก็หายไม่ต้องไปหาหมอ อธิบายแบบนี้ก็อันตราย เพราะไม่ทุกข์ใจในตอนนี้จริง แต่มันจะรักษาไม่ทันการเอา 

แต่ถ้ามองโลกในแง่ร้ายหนักข้อเข้า แล้วรู้สึกว่าช่วงนี้เครียดเกินไป ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ชีวิตการทำงาน และความสัมพันธ์รอบตัว อย่ากลัว หรือลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพเช่น นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์นะครับ ปล่อยให้มันกระทบกับชีวิตไปนานๆ ชีวิตจะยิ่งมีแต่เรื่องทุกข์ใจเพิ่มและยิ่งมองโลกในแง่ร้ายมากขึ้นเปล่าๆ 

อ้างอิง
Alarcon, G. M., Bowling, N. A., & Khazon, S. (2013). Great expectations: A meta-analytic examination of optimism and hope. Personality and Individual Differences, 54(7), 821-827.
Bates, T. C. (2015). The glass is half full and half empty: A population-representative twin study testing if optimism and pessimism are distinct systems. The journal of positive psychology, 10(6), 533-542.
Davidson, K., & Prkachin, K. (1997). Optimism and unrealistic optimism have an interacting impact on health-promoting behavior and knowledge changes. Personality and social psychology bulletin, 23(6), 617-625.
Schulman, P., Keith, D., & Seligman, M. E. (1993). Is optimism heritable? A study of twins. Behaviour research and therapy, 31(6), 569-574.
Seligman, M. E. P. (1990). Learned optimism. New York: Pocket Books.

Tags:

การมองโลกในแง่ดีการมองโลกในแง่ร้ายบุคลิกภาพสุขภาพจิตจิตวิทยา

Author:

illustrator

พงศ์มนัส บุศยประทีป

ตั้งแต่เรียนจบจิตวิทยา ก็ตั้งใจว่าอยากเป็นนักเขียน เพราะเราคิดความรู้หลายๆ อย่างที่เราได้จากอาจารย์ หนังสือเรียน หรืองานวิจัย มันมีประโยชน์กับคนทั่วไปจริงๆ และต้องมีคนที่เป็นสื่อที่ถ่ายทอดความรู้แบบหนักๆ ให้ดูง่ายขึ้น ให้คนทั่วไปสนใจ เข้าใจ และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่อยากให้มันอยู่แต่ในวงการการศึกษา เราเลยอยากทำหน้าที่นั้น แต่เพราะงานหลักก็เลยเว้นว่างจากงานเขียนไปพักใหญ่ๆ จนกระทั่ง The Potential ให้โอกาสมาทำงานเขียนในแบบที่เราอยากทำอีกครั้ง

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Life classroomHow to enjoy life
    เปลี่ยนที่ทำงานเป็นพื้นที่ฮีลใจ ‘โศรยา ทองดี’ ฮีลเลอร์แห่งโบว์เบเกอรี่เฮ้าส์

    เรื่อง The Potential

  • Character building
    ‘บุคลิกภาพ’ สร้างได้? เข้าใจ 5 บุคลิกหลักจากมุมมองทางจิตวิทยา

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy life
    อย่าให้โลกร้ายทำลายเรา: ‘Gratitude’ ขอบคุณเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Myth/Life/Crisis
    ฟังเสียงผีแมรี่และหลากหลายบุคลิกลักษณะที่ซ่อนอยู่ภายใน

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Character building
    ระบุที่มาของความสุขและทุกข์ด้วยหลัก PERMA และจงวาดวงกลมความทุกข์ให้เต็มกระดาษเอสี่!

    เรื่อง เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

วัยเยาว์ที่ถูกพรากไป ในโลกที่ไม่ปลอดภัยดังเดิม : EP.2 แนวทางการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับลูกปฐมวัย
Early childhood
15 September 2021

วัยเยาว์ที่ถูกพรากไป ในโลกที่ไม่ปลอดภัยดังเดิม : EP.2 แนวทางการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับลูกปฐมวัย

เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • เป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์เราจะกลัวการเปลี่ยนแปลง เด็กๆ ก็เช่นกัน พวกเขารู้สึกหวาดกลัว กังวลใจกับสิ่งที่เขาเผชิญเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เช่น การกลับไปเรียนที่โรงเรียนหลังจากที่กักตัวอยู่บ้านเป็นเวลานาน
  • พ่อแม่มีหน้าที่เตรียมความพร้อมให้เขารับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เริ่มจากทำให้เด็กๆ รู้ว่าตนเองสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองบ้าง เขาจะเรียนรู้ขอบเขตข้อจำกัดของตัวเอง ทำให้พวกเขารับรู้ว่าสามารถควบคุมและพึ่งพาตนเองได้
  • ในช่วงสถานการณ์โรคระบาด เด็กอาจจะรู้สึกว่าแต่ละวันช่างยาวนาน โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยที่ยังไม่เข้าใจเรื่องของ ‘เวลา’ หากที่บ้านมีปฏิทินที่สามารถให้เด็กๆ ดูจำนวนวันที่ผ่านไปได้ จะทำให้เด็กๆ เข้าใจว่าพวกเขาต้องหยุดอยู่บ้านนานแค่ไหน และต้องรออีกจนถึงเมื่อไหร่ จึงจะกลับไปโรงเรียนได้อีกครั้ง

เรียนรู้การปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับเด็กๆ

เป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์เราจะกลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งที่เปลี่ยนไปทำให้เรารู้สึกไม่คุ้นเคย เราไม่มีทางรู้เลยว่า ความเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อชีวิตเรามากน้อยเพียงใด และยาวนานแค่ไหน

เด็กๆ ก็เช่นกัน พวกเขารู้สึกหวาดกลัว กังวลใจกับสิ่งที่เขาเผชิญเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เช่น การกลับไปเรียนที่โรงเรียนหลังจากที่กักตัวอยู่บ้านเป็นเวลานาน การต้องขึ้นชั้นเรียนใหม่ การต้องย้ายโรงเรียน การย้ายบ้าน บางสิ่งหายไป คนสูญเสียบุคคลที่รัก และยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่จะทยอยเข้ามาในชีวิตของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราในฐานะพ่อแม่มีหน้าที่เตรียมความพร้อมให้เขารับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

เด็กๆ ที่มีการปรับตัวกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดี เมื่อ…

1.เมื่อเด็กๆ รับรู้ความสามารถและข้อจำกัดของตนเอง

เด็กๆ ที่รู้ว่า ตนเองสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองบ้าง เขาจะเรียนรู้ขอบเขตข้อจำกัดของตัวเอง ทำให้พวกเขารับรู้ว่าตนเองสามารถควบคุมและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งความสามารถนี้จะเกิดขึ้นได้ หากเด็กคนนั้นได้เรียนรู้การช่วยเหลือตนเองและทำงานตามวัยของเขา…

เริ่มจากการช่วยเหลือตัวเอง (Self care) เช่น กินข้าว อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน แต่งตัว ใส่รองเท้า หวีผม จัดกระเป๋า เป็นต้น

เมื่อดูแลตนเองได้ ก็ขยับขยายไปสู่การดูแลส่วนกลางด้วยการทำงานบ้าน เช่น รดน้ำต้นไม้ เช็ดโต๊ะ ล้างแก้วน้ำ กวาดบ้าน ถูบ้าน เป็นต้น

ข้อสำคัญ ผู้ใหญ่ควรเปิดโอกาสให้เด็กๆ ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง และให้การสอนผ่านการลงมือปฏิบัติไปกับลูก มากกว่าการทำให้เลยทันที 

ผู้ใหญ่อาจจะต้องมีความอดทนเพียงพอ เพื่อรอให้เด็กทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพราะเด็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นฝึกช่วยเหลือตัวเอง พวกเขาอาจจะทำได้ไม่คล่องแคล่วเหมือนผู้ใหญ่ และผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะไม่ตรงกับความคาดหวังของเรา ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรตระหนักถึงกระบวนการเรียนรู้เป็นสำคัญ ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ตรงใจ

2.เมื่อเด็กๆ มีความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง และรู้จักขอความช่วยเหลือในยามจำเป็น

เด็กๆ ที่มีทักษะการเเก้ปัญหา จะไม่กลัวที่ออกไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะเขาจะไม่กลัวที่จะต้องเผชิญปัญหา

ซึ่งทักษะนี้จะเกิดขึ้นจากการที่พ่อแม่และผู้ใหญ่ทำเป็นแบบอย่างให้เด็กดูเมื่อเจอปัญหา และเปิดโอกาสให้เด็กแก้ปัญหาด้วยตัวเขาเอง โดยให้การแนะนำวิธีการ แต่ไม่ชี้นำหรือบังคับให้เขาทำตามที่เราต้องการ เด็กจะมีโอกาสได้คิด และตัดสินใจเอง 

เมื่อเด็กๆ เผชิญปัญหา อย่ารีบบอกวิธีการแก้ให้กับพวกเขา ลองชวนเด็กๆ คิดถึงทางแก้หลายๆ ทาง และให้พวกเขาได้ตัดใจเลือกทางด้วยตัวเอง ถ้าเด็กๆ ตัดสินใจผิด ผู้ใหญ่ไม่ควรโกรธหรือลงโทษพวกเขา แต่ควรให้การเคียงข้างและช่วยเหลือด้วยการสอนวิธีการที่ถูกให้กับเด็กๆ 

ที่สำคัญผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กๆ รู้ว่า เมื่อพยายามอย่างเต็มที่แล้ว เราทำสิ่งนั้นไม่ได้ด้วยตนเอง หรือ สิ่งที่เผชิญนั้นเกินกำลังของเรา การขอความช่วยเป็นทางเลือกที่ควรทำและทำได้ เพราะเด็กๆ บางคนอาจจะลืมนึกถึงการขอความช่วยเหลือในยามจำเป็น

3.เมื่อเด็กๆ มีความคิดยืดหยุ่น

เด็กที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ และยินดีที่จะประนีประนอมกับความคิดที่ไม่เหมือนตนเอง จะสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ได้อย่างดี

พ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถส่งเสริมเขาได้ด้วยการ ให้เด็กๆ เล่นอย่างอิสระกับของเล่น Free form ภายใต้กติกาที่เหมาะสม เช่น กฎ 3 ข้อ ไม่ทำร้ายตนเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำลายข้าวของ เพื่อให้เด็กๆ ได้สร้างสรรค์การเล่นใหม่ๆ ด้วยตนเอง ผู้ใหญ่ไม่ควรกลัวว่า ‘เด็กๆ จะเบื่อ’ เพราะความเบื่อเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีของจินตนาการ เมื่อเด็กๆ เบื่อ พวกเขาจะพยายามสร้างสรรค์วิธีการเล่นใหม่ๆ จากของเล่นเดิมๆ หรือสิ่งที่มีอยู่รอบตัว 

ความคิดยืดหยุ่นจะเกิดขึ้นได้จากการที่เด็กๆ พยายามคิดหาวิธีใหม่ๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่จำกัด หรือจากสิ่งที่พวกเขามีนั่นเอง

4.เมื่อเด็กๆ มีเป้าหมายระยะสั้นที่พวกเขาสามารถทำสำเร็จได้

ในข้อนี้ผู้ใหญ่สามารถให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ด้วยการย่อยงาน (Task Analysis) กล่าวคือ นำงานยากมาแบ่งเป็นงานย่อยๆ หลายงาน เพื่อเพิ่มความสำเร็จในการทำงานให้กับเด็กๆ มากขึ้น หรือในกรณีที่เป้าหมายระยะยาวดูจะห่างไกลเกินไป ผู้ใหญ่สามารถแบ่งเป้าหมายระยะยาวเป็นเป้าหมายระยะสั้นๆ เพื่อให้เด็กๆ มองเห็นความสำเร็จทีละขั้นได้ชัดเจนขึ้น

เมื่อเด็กๆ รู้ว่า แต่ละขั้นของการรับมือกับปัญหา พวกเขาต้องทำอะไรได้บ้าง เด็กๆ จะรู้สึกกังวลน้อยลง เพราะการแบ่งเป้าหมายใหญ่ๆ เป็นเป้าหมายย่อยๆ ทำให้เด็กๆ มีโอกาสทำสำเร็จได้มากขึ้น และเมื่อพวกเขาทำได้สำเร็จ ความมั่นใจในตัวเองจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตาม ส่งผลให้พวกเขามีกำลังใจและกล้าเผชิญอุปสรรคต่อไปในอนาคต

ยกตัวอย่างเช่น เด็กอายุ 3 ขวบ ตั้งใจฝึกแต่งตัวเอง เป้าหมายระยะยาว คือ ‘การแต่งตัวเองได้’ แบ่งเป็น 5 เป้าหมายระยะสั้นแรก

  1. ถอดกางเกงได้เอง
  2. ถอดเสื้อแบบไม่มีกระดุมได้เอง
  3. ใส่กางเกงได้เอง
  4. ใส่เสื้อได้เอง
  5. ถอดกระดุมเม็ดใหญ่ได้เอง

ในแต่ละขั้นที่ทำสำเร็จ เด็กๆ จะเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และมีกำลังใจในการทำสิ่งที่ท้าทายขั้นต่อไป

แม้ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดที่เด็กๆ ต้องอยู่บ้านเป็นระยะเวลายาวนาน แต่พัฒนาการของเด็กๆ ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ ดังนั้น พ่อแม่และผู้ใหญ่พัฒนาและเติบโตต่อไปได้ โดยช่วยให้เด็กๆ ตั้งเป้าหมายที่พวกเขาอยากทำให้สำเร็จด้วยกัน และฝึกฝนวันละนิดวันละหน่อย จนสามารถทำได้สำเร็จในท้ายที่สุด

5.เมื่อเด็กๆ รับรู้ว่า พวกเขาไม่ได้เผชิญการเปลี่ยนเเปลงนั้นเพียงลำพัง

พ่อแม่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกอุ่นใจ ในวันที่การเปลี่ยนแปลงมาถึง เด็กต้องเผชิญกับการปรับตัวมากมาย หากเขารับรู้ว่าเขาไม่ได้สู้คนเดียว พ่อแม่พร้อมจะสู้ไปกับเขาด้วย เชื่อว่าเขาจะเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง

ในข้อนี้พ่อแม่อาจจะนำเรื่องเล่าประสบการณ์วัยเด็กของเรามาเล่าให้ลูกฟังได้ หากเราเคยเผชิญการเปลี่ยนแปลงหรือปัญหาแบบเดียวกันกับลูก เด็กจะรู้สึกดีเมื่อเขารับรู้ว่าพ่อแม่ก็เคยผ่านมันมาก่อนเช่นกัน

6.เมื่อเด็กๆ รู้ว่า สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร

การที่เรารู้ว่า เราต้องไปเผชิญกับอะไร เราอาจจะเตรียมใจได้ถูก

สำหรับเด็กๆ ที่ต้องไปโรงเรียน  ไปเจอคนใหม่ๆ การที่เขาได้รู้ว่าหน้าตาของสถานที่ และผู้คนที่เขาต้องไปเจอเป็นเช่นไร เพื่อที่เขาจะได้ประเมินสถานการณ์ได้ก่อนจะไปเผชิญในวันจริง พ่อแม่สามารถพาเขาไปดูโรงเรียน บ้าน หรือสถานที่ได้ เพื่อให้เขาเกิดความคุ้นเคย ที่สำคัญเราสามารถเล่าถึงคนที่เด็กจะต้องไปรู้จักก่อนได้ เช่น คุณครูของลูกเป็นอย่างไร ชื่ออะไร หรือ ในห้องมีเพื่อนกี่คน ลูกจะได้ทำอะไรบ้าง เป็นต้น

ในช่วงสถานการณ์โรคระบาด เด็กๆ อาจจะรู้สึกว่า แต่ละวันช่างยาวนาน โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยที่ยังไม่เข้าใจเรื่องของ ‘เวลา’ คำแนะนำ หากที่บ้านมีปฏิทินที่สามารถให้เด็กๆ ดูจำนวนวันที่ผ่านไปได้ จะทำให้เด็กๆ เข้าใจว่าพวกเขาต้องหยุดหยู่บ้านนานแค่ไหน และต้องรออีกจนถึงเมื่อไหร่ จึงจะสามารถกลับไปโรงเรียนได้อีกครั้ง เราอาจจะให้เขาดูวันที่จะได้กลับไปและวงเอาไว้ และในทุกวันให้เด็กๆ มากากากบาทวันแต่ละวันที่ผ่านไป พวกเขาจะเข้าใจเรื่องระยะเวลาที่ต้องรอมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

7.เมื่อเด็กๆ รู้ว่า ความเปลี่ยนเเปลงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต และเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเผชิญ

สำหรับเด็กๆ ที่ต้องเผชิญกับสูญเสียบางสิ่งบางอย่าง ใครบางคนหายไปจากชีวิตของเขา ไม่ว่าจะเป็นการจากเป็นหรือจากกันถาวร พ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถช่วยเขาให้ผ่านเรื่องนี้ไปได้ด้วยการ ‘รับฟัง’ ไม่ใช่เพียงแค่เสียงพูด และจากใจของเด็กด้วย อยู่เป็นเพื่อนเขา และกอดเขาแน่นๆ (หากเขาอนุญาตให้เรากอด) จนกว่าเขาจะสบายใจ

สุดท้าย แม้ว่าเราจะเตรียมพร้อมให้กับลูกอย่างเต็มที่ตาม 7 ข้อข้างต้นแล้วก็ตาม บางครั้งความเปลี่ยนแปลงก็หนักหนาสำหรับจิตใจของเด็กน้อย พ่อแม่ และผู้ใหญ่ควรปลอบประโลมเขาด้วยความเข้าใจ เราอนุญาตให้เขาแสดงออกทางความรู้สึกและอารมณ์ได้ ลูกอาจจะหงุดหงิด โกรธ เศร้า สิ่งที่เขาแสดงออกอาจจะเป็นการร้องไห้ วีนเหวี่ยง และอื่นๆ เรามีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้เขาไม่ทำร้ายตัวเอง ผู้อื่น หรือ สิ่งใด ให้เวลาเขาสงบด้วยการอยู่เคียงข้าง ณ จุดนี้ลูกจะเรียนรู้ว่า เขาไม่ต้องเก็บมันไว้ เพราะพ่อแม่ยอมรับตัวเขา ลูกจะค่อยๆ ยอมรับตัวเองและสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้นในเวลาต่อมา

พ่อแม่สามารถให้ความมั่นใจกับเขาด้วยการย้ำเตือนว่า ลูกไม่ได้เผชิญการเปลี่ยนแปลงนี้เพียงลำพัง พ่อแม่จะอยู่กับลูก ไม่ต้องกดดันหรือเร่งรีบใดๆ เด็กแต่ละคนใช้เวลาปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน เมื่อเขาพร้อม เด็กจะสามารถก้าวข้ามผ่านและเติบโตต่อไป

Tags:

พ่อแม่ปฐมวัยไวรัสโคโรนา(โควิด-19)การเลี้ยงลูก

Author:

illustrator

เมริษา ยอดมณฑป

นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เพจที่อยากให้ทุกคนเข้าถึง ‘นักจิตวิทยา’ ได้มากขึ้นในฐานะเพื่อนแปลกหน้าผู้เคียงข้าง ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาที่ห้องเรียนครอบครัว เป็น "ครูเม" ของเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ ความฝันต่อไปคือการเป็นนักเล่นบำบัด วิทยากร นักเขียน และการเปิดร้านหนังสือเล็กๆ เป็นของตัวเอง

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • ‘ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน’ …แล้วนิสัย(เสีย)ของเด็กมาจากใครกันนะ?

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Creative learning
    ‘บ้านรัก’ สู่บ้านแห่งการเรียนรู้ ชวนพ่อแม่เป็นครู เรียนผ่านงานบ้าน งานสวน งานครัว : ครูอุ้ย – อภิสิรี จรัลชวนะเพท อนุบาลบ้านรัก

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Character building
    ประชาธิปไตย Vs. เผด็จการ เมื่อการเลี้ยงดูสามารถสร้างคาแรกเตอร์เหล่านี้ได้

    เรื่อง The Potential ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Early childhood
    “เด็กแต่ละคนปีนต้นไม้ไม่เหมือนกัน ถ้าเราไม่เชื่อ เราจะไม่เห็น” ชั้นหนึ่ง (First Grade)

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Family Psychology
    พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน เพราะความรักเป็นเรื่องไม่อาจฝืน

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

‘ใบงานบูรณาการ’ โรงเรียนบ้านเขาจีน : เมื่อครูช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ร่วมในโจทย์เดียว ลดภาระผู้เรียนและผู้ปกครอง
Creative learning
13 September 2021

‘ใบงานบูรณาการ’ โรงเรียนบ้านเขาจีน : เมื่อครูช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ร่วมในโจทย์เดียว ลดภาระผู้เรียนและผู้ปกครอง

เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • เมื่อเห็นว่าปัจจัยใหญ่ที่ทำให้เกิดความเครียด คือ จำนวนภาระงาน ทางโรงเรียนจึงร่วมกันลดใบงานและปรับเป็น ‘ใบงานบูรณาการ’ รวมสาระวิชาเข้าด้วยกัน
  • ครูทุกคนยอมลดเนื้อหาตัวเอง ยอมลดความเป็นเจ้าของวิชา เลือกใช้เนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับเด็กในเวลานี้และผู้ปกครองสามารถเชื่อมโยงได้ ก็คือเนื้อหาในชีวิตประจำวัน
  • หัวใจสำคัญของโรงเรียนบ้านเขาจีน คือ การเข้าใจบริบทและรับฟังเสียงของนักเรียน เพราะเขาเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด การไม่ฟังหรือเลือกจะเพิกเฉยอาจกลายเป็นการทำร้ายนักเรียน ยิ่งในสภาวะที่ปัญหารุมเร้า ถ้าโรงเรียนเลือกเป็นคนยื่นมือช่วยเหลือ นั่นคงส่งผลดีกับนักเรียนไม่น้อย

เสียงตัดพ้อถึงภาระการเรียนที่ซ้ำเติมวิกฤตในช่วงเวลานี้ คือสิ่งที่ผู้อำนวยการและครูโรงเรียนบ้านเขาจีนรับรู้มาโดยตลอด โดยเฉพาะใบงานในแต่ละรายวิชาที่มากมายจนกลายเป็นความเครียด ดังนั้น ที่โรงเรียนบ้านเขาจีน โรงเรียนขยายโอกาสตั้งอยู่ในจังหวัดสตูล สิ่งที่พวกเขาลงมือเพื่อจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ก็คือการสำรวจข้อมูลนักเรียนและผู้ปกครอง และออกแบบใบงานบูรณาการ ซึ่งเป็นตัวอย่างการปรับตัวของโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมที่ถูกนำมาแชร์ในการเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 บทเรียนครูสามเส้า กรณีศึกษาเครือข่ายโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล 

โดยหลังจากได้ข้อมูลของนักเรียนมาแล้ว ทางโรงเรียนได้นำมาวิเคราะห์และแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็น 3 ระดับตามความพร้อม หนึ่ง – ระดับสีเขียว คนที่มีความพร้อมทุกด้าน เช่น อุปกรณ์ในการเรียนและผู้ปกครองที่สามารถสอนลูกได้ สอง – คนที่ขาดความพร้อมด้านใดด้านหนึ่ง และสาม – ไม่มีความพร้อม

เมื่อแบ่งกลุ่มนักเรียนได้ งานต่อไปคือ ครูจะเป็นคนออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน ซึ่งการออกแบบไม่ได้ทำเพียงคนเดียว แต่ทำร่วมกันทั้งโรงเรียนผ่านวง PLC (Professional Learning Community) การสอนมีทั้ง on hand, on line, on demand นักเรียนเรียนผ่านวีดีโอการสอนของครู หากนักเรียนคนไหนมีความพร้อมก็สามารถเรียนออนไลน์ได้ แต่ถ้านักเรียนที่ไม่พร้อม ไม่สามารถเรียนออนไลน์ ให้ผู้ปกครองมารับ – ส่งใบงาน และถ้านักเรียนสามารถไปรวมกลุ่มกับเพื่อนได้ ค่อยขยับขยายไปเรียนออนไลน์เช่นเดียวกัน

“เราต้องสำรวจองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับการจัดการเรียนออนไลน์ เริ่มจากข้อมูลผู้ปกครอง อุปกรณ์ของนักเรียน แม้ผลสำรวจค่อนข้างชัดว่านักเรียนส่วนใหญ่มีโทรศัพท์มือถือ แต่ถ้าดูลึกๆ จะเป็นของผู้ปกครองซะส่วนใหญ่ และองค์ประกอบอีกอย่างที่ต้องรู้ คือ เทคนิคความชำนาญของครูในการใช้เทคโนโลยีสำหรับจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับพอใช้ บทบาทของผู้บริหารสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ พัฒนาครูให้ชำนาญขึ้น จัดเป็นกลุ่ม ให้คนเก่งช่วยประกบ จนครูมีความพร้อม” เสรี มากแสง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาจีนกล่าวในวงเสวนา

เสรี มากแสง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาจีน

ใบงานเยอะ ใช่ว่าจะพัฒนาศักยภาพ แต่เป็นการสร้างภาระนักเรียน

ปัญหาที่เกิดกับนักเรียนบ้านเขาจีนเช่นเดียวกับปัญหาของเด็กโรงเรียนอื่น คือ จำนวนงานที่เยอะ สร้างภาระและความกดดัน “เราคิดว่าสถานการณ์น่าจะยาวนานออกไป เด็กอาจอยู่แบบนี้ไม่ได้แน่ๆ ก็ทำสำรวจถามความคิดเห็นนักเรียน ประมาณ 70% บอกว่าสามารถเรียนออนไลน์ต่อได้ แต่จำนวนใบงานที่ไม่ลด นักเรียนสะท้อนว่าภาระงานเยอะ เกิดความเครียด ผู้ปกครองเองก็เครียดเพราะไม่สามารถสอนตามเนื้อหาในใบงานให้ลูกได้ ตัวครูก็เครียดสั่งงานไปไม่ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ” ผอ.เสรีกล่าว

แม้ก่อนการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โรงเรียนจะสำรวจข้อมูลไว้แล้วแต่ยังคงไม่เพียงพอ เพื่อแก้ไขปัญหา ผอ.เสรีและครูหารือร่วมกันในวง PLC ว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เริ่มจากมองหาสาเหตุว่าความเครียดที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุใด สำหรับนักเรียนคือ ภาระงานเยอะ ผู้ปกครองเกิดความเครียดจากสภาพสังคม การทำงาน แล้วต้องสอนลูกอีก

เมื่อเห็นว่าปัจจัยใหญ่ที่ทำให้เกิดความเครียด คือ จำนวนภาระงาน ทางโรงเรียนจึงร่วมกันลดใบงานและปรับเป็น ‘ใบงานบูรณาการ’ รวมสาระวิชาเข้าด้วยกัน 

ครูไหม – อาอีฉ๊ะ เปรมใจ กล่าวในวงเสวนาว่า ทางครูเคยคิดที่จะทำ แต่ตกลงกันไม่ได้เรื่องเนื้อหา แต่ละคนก็อยากให้เนื้อหาของตัวเองเยอะๆ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่คราวนี้มีปัจจัยเรื่องความเครียดของเด็กและผู้ปกครอง ทำให้ทุกคนยอมลดเนื้อหาตัวเอง ยอมลดความเป็นเจ้าของวิชา เลือกใช้เนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับเด็กในเวลานี้และผู้ปกครองสามารถเชื่อมโยงได้ ก็คือเนื้อหาในชีวิตประจำวัน

“หยิบข้อมูลโควิดมาสร้างเป็นโจทย์ให้เด็กตอบคำถาม เช่น ถ้าเป็นวิชาคณิตศาสตร์ ให้แจกแจงตารางความถี่ จำนวนผู้ติดเชื้อ วิชาภาษาอังกฤษ ให้ดูภาพและเขียนคำศัพท์ วิชาสังคม ตั้งคำถามว่าถ้านักเรียนต้องทำงานกับคนที่เคยเป็นโควิดจะทำอย่างไร เป็นต้น สุดท้ายให้นักเรียนนำเสนองานที่ทำเป็นคลิปสั้นๆ เพื่อที่เขาจะได้ลำดับความคิด รู้จักคัดข้อมูล พัฒนาทักษะสมรรถนะด้านการสื่อสาร

“วิธีประเมินผลเราก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรดี เมื่อตัวเราไม่ได้อยู่กับเด็กตลอดเวลา ผู้ปกครองต้องเป็นคนบอกข้อมูลนี้กับเรา ออกเป็นแบบสอบถามเป็นคำถามสั้นๆ ง่ายๆ ให้ผู้ปกครองติ๊ก เช่น นักเรียนขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง, นักเรียนเอาใจใส่ต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย, นักเรียนมีอิสระกับเวลาที่เหลือ และมักใช้ในการทำอะไร เพราะเมื่องานลดมีเวลาอิสระมากขึ้น เด็กจะใช้ทำอะไร 

คอมเมนต์ผู้ปกครองคนหนึ่งบอกว่า เวลาอิสระลูกใช้ค้นหาความสามารถของตนเองและพัฒนาให้ดีขึ้น พอฟังแบบนี้เราก็อยากไปคุยกับเด็กต่อเลย เพราะตอนสอนออนไลน์มีเด็กคนหนึ่งเรียนไปด้วยเอาโทรศัพท์ใส่กระเป๋า แล้วก็นั่งทำงานอื่น หรือมันเป็นสิ่งที่เขาต้องทำอยู่แล้ว อยากพัฒนาให้ดีขึ้น หรืออยากศึกษาอาชีพอื่น เป็นสิ่งที่อยากทำต่อไป บางคนก็บอกดีแล้วที่เด็กจะได้มีเวลามาขึ้น” ครูไหมอธิบายใบงานบูรณาการ

ครูไหมเล่าต่อว่า ในอนาคตเพื่อพัฒนาใบงานบูรณาการ อยากชวนผู้ปกครองมาร่วมออกแบบด้วย เพราะโรงเรียนอาจขาดบางส่วน ได้ผู้ปกครองมาเติมเต็ม เป็นครูในชีวิตจริงของเด็กๆ

ครูไหม – อาอีฉ๊ะ เปรมใจ โรงเรียนบ้านเขาจีน

ผอ.เสรี กล่าวว่า การยอมเปลี่ยนแปลงของครูเพราะมองเห็นปัญหาและมานั่งตกผลึก เป็นคีย์หลักสำคัญในการแก้ไขปัญหา 

“ในสถานการณ์ตอนนี้ ทั้งความอันตรายของสุขภาพ ความเครียด ถ้าเรามองความสุข ความสำเร็จของเด็กเป็นที่ตั้ง พ่อแม่ ครูก็จะมีความสุข ไม่ว่าภาระใดที่หนักทำด้วยความเต็มใจจะเบา”

ในมุมของตัวแทนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาโรงเรียนบ้านเขาจีนที่ได้ทดลองใช้ใบงานบูรณาการ เธอบอกว่าเมื่อครูเปลี่ยนใบงานให้มีทุกรายวิชาในใบเดียว ลดงาน ลดความเครียด ถ้าเราตั้งใจทำให้เสร็จก็เสร็จ สบายใจ มีพ่อแม่คอยช่วย รู้สึกอุ่นใจขึ้น “อยู่ที่บ้านเราต้องดูแลตัวเองเยอะขึ้น เพราะไม่มีครูคอยเป็นที่ปรึกษาเหมือนตอนอยู่โรงเรียน อยู่บ้านเราต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ทำงานด้วยตัวเอง”

หัวใจสำคัญของโรงเรียนบ้านเขาจีน คือ การเข้าใจบริบทและรับฟังเสียงของนักเรียน เพราะเขาเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด การไม่ฟังหรือเลือกจะเพิกเฉยอาจกลายเป็นการทำร้ายนักเรียน ยิ่งในสภาวะที่ปัญหารุมเร้า ถ้าโรงเรียนเลือกเป็นคนยื่นมือช่วยเหลือ นั่นคงส่งผลดีกับนักเรียนไม่น้อย

Tags:

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไวรัสโคโรนา(โควิด-19)สตูลหลักสูตรฐานสมรรถนะล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้โรงเรียนบ้านเขาจีน

Author:

illustrator

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยจากคณะแห่งการเขียนและสื่อมวลชน แม้ทำงานแรกในฐานะกองบรรณาธิการ The Potential หากขอบเขตความสนใจขยายไปเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และผู้ลี้ภัย แต่ที่เป็นแหล่งความรู้วัยเด็กจริงๆ คือซีรีส์แวมไพร์, ฟิฟตี้เชดส์ ออฟ จุดจุดจุด และ ยังมุฟอรจาก Queer as folk ไม่ได้

Related Posts

  • ถอดบทเรียน ‘ครูสามเส้า’ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต้องเป็นโอกาสและโจทย์ร่วมของสังคม : มุมมอง ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Creative learning21st Century skills
    วิชาสตูดิโอและภาคสนามออนไลน์ : เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เด็กออกแบบเองได้ กับโรงเรียนมัธยมรุ่งอรุณ

    เรื่อง ปริสุทธิ์

  • Social Issues
    จุดเปลี่ยนพลเมืองไทยคุณภาพใหม่ ผู้เรียนต้องเป็น ‘learner person’ มีสมรรถนะเป็นฐานการเรียนรู้

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Creative learning
    ‘เห็ดหรรษา’ วิชาปากท้องที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ ภาษาและทักษะสมรรถนะ : ผอ.ปวีณา พุ่มพวง โรงเรียนวัดถนนกะเพรา

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Creative learning
    ลดภาระงาน เลือกทักษะที่สอดคล้องกับชีวิตเด็ก : หลักการจัดการเรียนรู้ในช่วงโควิด – 19 ของ ‘โรงเรียนบ้านปะทาย’

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ลิตเติลทรี : วรรณกรรมเยาวชนคนดี (ที่ยังมีคำถาม)
Book
10 September 2021

ลิตเติลทรี : วรรณกรรมเยาวชนคนดี (ที่ยังมีคำถาม)

เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • “ย่าบอกว่า เราไม่อาจรักอะไรที่เราไม่เข้าใจ เราไม่อาจรักคนหรือพระเจ้าได้ หากเราไม่เข้าใจคนผู้นั้น ไม่เข้าใจพระเจ้า“
  • ลิตเติลทรี (The Education of Little Tree) หนึ่งใน 50 วรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยม แต่งโดย ฟอร์เรสต์ คาร์เตอร์ (Forrest Carter) เป็นเสมือนอัตชีวประวัติวัยเด็กของผู้แต่งที่มีสายเลือดอินเดียนแดง เล่าเรื่องราวของ ลิตเติลทรี ที่อาศัยอยู่กับปู่เป็นลูกครึ่งสก็อต – เชโรกี และย่าผู้เป็นชนเผ่าเชโรกีเต็มตัว
  • แม้ว่าเรื่องราวของลิตเติลทรีจะทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสวิถีชีวิตคนชนเผ่า แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนได้ค้นพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นจากจินตนาการล้วนๆ ส่วนคาร์เตอร์มีชื่อจริงว่า อาซา เอิร์ล คาร์เตอร์ (Asa Earl Carter) มีปูมหลังเคยเป็นสมาชิก Ku Klux Klan กลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงที่เชื่อว่า คนขาวเท่านั้นที่เป็นเผ่าพันธุ์บริสุทธิ์

จะมีวรรณกรรมเยาวชนสักกี่เรื่อง ที่ทำให้ผู้อ่านน้ำตาซึมแทบทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาอ่าน

จะมีวรรณกรรมเยาวชนสักกี่เรื่อง ที่สอดแทรกปรัชญาแง่คิดการใช้ชีวิตและความผูกพันระหว่างคนกับธรรมชาติได้อย่างบริสุทธิ์ใสซื่อ งดงาม และลึกซึ้ง

จะมีวรรณกรรมเยาวชนสักกี่เรื่อง ที่เขียนจั่วหัวว่าวรรณกรรมเยาวชนเผ่าเชโรกี ที่เป็นเหมือนอัตชีวประวัติวัยเด็กโดยผู้แต่งที่มีสายเลือดอินเดียนแดง

และจะมีวรรณกรรมเยาวชนสักกี่เรื่อง ที่ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในหนังสือยอดเยี่ยมของโลก ก่อนที่จะถูกหยิบลงจากชั้นหนังสือแนะนำลงไปตั้งกองกับพื้น หลังจากมีการขุดคุ้ยเรื่องราวชีวิตของผู้แต่ง ที่ต่างจากเรื่องราวในหนังสือราวฟ้ากับเหว

ผมกำลังพูดถึงวรรณกรรมเยาวชนที่มีชื่อว่า ลิตเติลทรี หรือ The Education of Little Tree ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน 50 วรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยม ที่เด็กทุกคนควรหามาอ่านก่อนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่

The Education of Little Tree เขียนโดย ฟอร์เรสต์ คาร์เตอร์ (Forrest Carter) ส่วนฉบับภาษาไทย แปลโดย กรรณิการ์ พรมเสาร์ โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า ลิตเติลทรี พร้อมคำโปรยใต้ชื่อเรื่องว่า ‘วรรณกรรมเยาวชนเผ่าเชโรกี’

เชโรกี หรือ เชอโรคี (Cherokee) คือ ชนเผ่าอินเดียนแดงเผ่าหนึ่งในอเมริกา จัดเป็นหนึ่งในชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุด มีวัฒนธรรมสูงที่สุด รวมทั้งมีภูมิปัญญา ศรัทธาความเชื่อในเรื่องความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ระหว่างคนกับธรรมชาติ

เรื่องราวของลิตเติลทรี เป็นเหมือนบันทึกความทรงจำวัยเด็กของฟอร์เรสต์ คาร์เตอร์ ผู้กลายเป็นเด็กกำพร้าทั้งพ่อและแม่ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ทำให้ต้องไปอาศัยอยู่ในหุบเขากลางป่ากับปู่และย่า ซึ่งเรียกเขาว่า ลิตเติลทรี

ลิตเติลทรีใช้ชีวิตอยู่กับปู่ ซึ่งเป็นลูกครึ่งสก็อต – เชโรกี และย่าผู้เป็นชนเผ่าเชโรกีเต็มตัว ท่ามกลางธรรมชาติบริสุทธิ์ หาเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่เล็กๆน้อยๆ แต่ก็มีธุรกิจหลัก คือ การต้มเหล้าข้าวโพดขายให้แก่ร้านขายของชำในเมือง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในขณะนั้น

การใช้ชีวิตในหุบเขาของหนูน้อยลิตเติลทรี นอกจากจะทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงความสัมพันธ์อันอบอุ่น ระหว่างลิตเติลทรีกับปู่และย่าแล้ว ยังสอดแทรกแง่มุมปรัชญาชีวิตที่ลึกซึ้ง ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ คนกับคน คนขาวกับคนอินเดียนแดง และชาวคริสเตียนกับคนนอกศาสนา

โดยส่วนตัวแล้ว ตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบเป็นครั้งแรก ผมรู้สึกว่าลิตเติลทรี คือ บ้านเล็กในป่าใหญ่ ในเวอร์ชั่นชนพื้นเมืองอินเดียนแดง ทั้งสไตล์การเล่าเรื่องแบบเรียบง่าย กึ่งบันทึกความทรงจำวัยเด็ก บวกกับฉากหลังของเรื่องที่แม้ว่าจะไม่ใช่ยุคเดียวกัน แต่ก็ไม่ห่างจากกันมาก เพราะยังเป็นช่วงเวลาที่ยังมีการบุกเบิกจับจองที่ดินในแดนเถื่อน ที่ยังมีตัวละครชนพื้นเมืองอินเดียนแดงเป็นตัวละครหลัก

อย่างไรก็ดี ลิตเติลทรี มีแง่คิดที่ผู้อ่านพบเจอได้ชัดเจนกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะแง่คิดเหล่านั้น มาจากวิถีภูมิปัญญาแบบชนพื้นเมืองที่อิงกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ซึ่งแตกต่างจากวิถีชีวิตของคนเมืองอย่างชัดเจน

ในตอนที่ปู่พาลิตเติลทรีเข้าไปในป่าเพื่อวางกับดักล่าสัตว์เป็นอาหาร ปู่บอกกับเด็กน้อยด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า

“จงเอาเท่าที่จำเป็น เมื่อเจ้าล่ากวาง จงอย่าเลือกตัวที่ดีที่สุด ให้เลือกตัวที่เล็กและเชื่องช้า เพื่อกวางเหล่านี้จะได้เติบโตแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีเนื้อให้เรากินสม่ำเสมอ เสือดำปาโก้รู้กฎข้อนี้ดี หลานเองก็จงจำไว้” แล้วปู่ก็หัวเราะ “แต่เจ้าผึ้งทีบิเท่านั้น ที่เก็บสะสมไว้มากกว่าที่มันจะใช้หมด…มันก็เลยถูกหมีกับแรคคูนและเชโรกีขโมย คนที่สั่งสมและปรนเปรอตัวเองมากกว่าที่จะแบ่งปันผู้อื่นก็เหมือนกัน พวกนี้จะถูกช่วงชิงเป็นเหตุให้เกิดสงคราม….”

แม้ว่าจะอ่านหนังสือไม่ออก แต่ปู่ก็รักหนังสือและมักจะหยิบยืมหนังสือจากห้องสมุดมาให้ย่าอ่านให้ปู่กับลิตเติลทรีฟังเป็นประจำ ซึ่งหนังสือส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือของเชคสเปียร์ หรือไม่ก็ประวัติศาสตร์ของประเทศอเมริกา

แต่ถึงอย่างนั้น ปู่ก็มักจะมีปัญหาในเรื่องถ้อยคำ โดยปู่บอกว่า ถ้ามีคำน้อยลง ในโลกนี้คงไม่มีปัญหามากเท่านี้ และปู่เห็นว่า สิ่งที่สำคัญกว่าถ้อยคำที่พูด ก็คือ เสียง (หรือน้ำเสียง) ที่ทำให้คนฟังรู้สึกได้ เช่นเดียวกับการฟังเสียงดนตรี

พูดถึงเรื่องถ้อยคำแล้ว มีอยู่ตอนหนึ่งที่ผมชอบมาก ก็คือเวลาที่ปู่บอกรักย่า จะใช้คำว่า I kin ye ซึ่งคำว่า kin แปลว่า ญาติพี่น้อง แต่สำหรับปู่กับย่าแล้ว คำนี้ยังแปลว่าเข้าใจอีกด้วย ดังนั้น เมื่อปู่กับย่ามีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ปู่กับย่าจึงมีความรัก

ย่าบอกว่า เราไม่อาจรักอะไรที่เราไม่เข้าใจ เราไม่อาจรักคนหรือพระเจ้าได้ หากเราไม่เข้าใจคนผู้นั้น ไม่เข้าใจพระเจ้า

แม้ว่าเรื่องราวของลิตเติลทรี จะสอดแทรกแง่มุมดีๆ ของชีวิต แต่ก็ยังมีอีกหลายด้านของชีวิตที่ถูกนำมาตีแผ่ เสียดสี อย่างเจ็บแสบ และทำให้เราอดหัวเราะออกมาไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องราวของนักการเมือง นักเทศน์ หรือแม้กระทั่งสาธุคุณผู้นำศาสนา ซึ่งดูจะกลายเป็นตัวร้ายที่น่ารังเกียจในหนังสือเล่มนี้

เรื่องราวอันแสนน่ารัก ใสซื่อ และแฝงด้วยแง่คิดต่างๆ มากมาย ทำให้ลิตเติลทรี กลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับของ New York Times Best Seller List คว้ารางวัลหนังสือยอดเยี่ยม Abby Award Winner ในปี 1991 รวมทั้งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยม 50 เล่ม ที่เด็กควรอ่านก่อนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่

โอปราห์ วินฟรีย์ นักแสดงและพิธีชื่อดัง ผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในสตรีผู้ทรงอิทธิพลของโลก ยกย่องหนังสือเล่มนี้ว่ามีคุณค่าทางจิตวิญญาณอย่างยิ่ง ในช่วงแนะนำหนังสือเมื่อปี 1994

ทว่า ในอีก 13 ปีต่อมา โอปราห์ วินฟรีย์ ประกาศว่าเธอขอถอดหนังสือเล่มนี้ออกจากหนังสือแนะนำ และพูดว่าเธอทนให้หนังสือเล่มนี้ อยู่บนชั้นหนังสือในบ้านของเธอไม่ได้อีกต่อไป

เกิดอะไรขึ้นกับวรรณกรรมเยาวชนคนดีเล่มนี้?

ในช่วงหลังจากที่หนังสือ ลิตเติลทรี ได้รับความนิยมอย่างสูง นักประวัติศาสตร์หลายคน ได้ค้นพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นบันทึกความทรงจำวัยเด็กอย่างที่ฟอร์เรสต์ คาร์เตอร์ ผู้แต่งกล่าวอ้าง พูดง่ายๆ ว่า เป็นนิยายที่แต่งขึ้นจากจินตนาการล้วนๆ เพราะเมื่อค้นประวัติของคาร์เตอร์แล้ว ไม่เคยมีการระบุว่าเขากำพร้าพ่อหรือแม่แต่อย่างใด

สิ่งที่ชวนอึ้งยิ่งกว่านั้น ก็คือ ฟอร์เรสต์ คาร์เตอร์ มีชื่อจริงว่า อาซา เอิร์ล คาร์เตอร์ (Asa Earl Carter) ซึ่งมีปูมหลังเคยเป็นสมาชิก Ku Klux Klan ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงที่เชื่อว่า คนขาวเท่านั้นที่เป็นเผ่าพันธุ์บริสุทธิ์

อาซา เอิร์ล คาร์เตอร์ เคยทำงานด้านการเมือง โดยเป็นคนร่างสุนทรพจน์ให้กับ จอร์จ วอลเลซ (George Wallace) ผู้ว่าการรัฐอลาบามา โดยสุนทรพจน์ที่เขาร่างขึ้น สนับสนุนการแบ่งแยกเชื้อชาติอย่างชัดเจน และที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น เขาเคยก่อตั้งกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง ที่แยกสาขามาจากกลุ่ม Ku Klux Klan โดยสมาชิกกลุ่มที่คาร์เตอร์ก่อตั้ง เคยก่อเหตุพยายามทำร้ายแนท คิง โคล (Nat King Cole) นักร้องเพลงแจ๊ซ ชาวอเมริกันแอฟริกัน รวมถึงลักพาตัวและทำร้ายร่างกายคนอเมริกันผิวสีจนบาดเจ็บสาหัส และแม้ว่าตัวคาร์เตอร์จะรอดพ้นข้อกล่าวหาในคดีนี้ แต่สมาชิกในกลุ่ม 4 ใน 6 คนที่ก่อเหตุ ก็ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง และต้องโทษจำคุก 20 ปี

หลังจากนั้นคาร์เตอร์ลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐอลาบามา ด้วยการชูนโยบายแบ่งแยกเชื้อชาติสีผิวอย่างสุดโต่ง แต่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงในพื้นที่ไม่มีใครสนับสนุนเรื่องนี้ ทำให้เขาได้คะแนนเสียงรั้งท้ายในการชิงชัย

สุดท้าย อาซา เอิร์ล คาร์เตอร์ เลิกเล่นการเมือง เปลี่ยนชื่อเป็น ฟอร์เรสต์ คาร์เตอร์ และหันมาประกอบอาชีพนักเขียน และเขาไม่เคยยอมรับว่า ฟอร์เรสต์ คาร์เตอร์ และอาซา เอิร์ล คาร์เตอร์ คือ คนๆ เดียวกัน

ผมเพิ่งอ่านหนังสือลิตเติลทรี จบเป็นรอบที่ 3 และเป็นการหยิบมาอ่านครั้งแรก หลังจากที่ค้นพบข้อมูลอันน่าตกใจเกี่ยวกับตัวผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ ผมถามตัวเองว่า รู้สึกอย่างไรกับหนังสือเล่มนี้

มีนักวิจารณ์หนังสือหลายคนที่พยายามชี้ว่า หนังสือเรื่องลิตเติลทรีอาจเป็นความพยายามลบล้างความผิดในใจของคาร์เตอร์ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่เห็นด้วย และมองในทางตรงข้ามว่า สุดท้ายแล้วลิตเติลทรีก็เป็นแค่การกระทำอันเสแสร้งของคนที่เปื้อนเลือด ทั้งที่มือและหัวใจ

ผมยอมรับว่า ในการอ่านลิตเติลทรีครั้งล่าสุด ผมยังเสียน้ำตาให้กับความผูกพันอันแสนอบอุ่นของลิตเติลทรี กับปู่ ย่า และตัวละครอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวิลโลว์จอห์น หรือแม้กระทั่งหมาล่าเนื้ออย่างบลูบอยและริงเกอร์ และเมื่ออ่านจบแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังคงวางอยู่บนชั้นหนังสือของผม

แต่ถ้าถามว่า จะหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านซ้ำอีกครั้งหรือไม่ ผมก็ยังไม่มีคำตอบ

Tags:

วรรณกรรมปฐมวัย

Author:

illustrator

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

อดีตนักแปล-นักข่าว ปัจจุบันเป็นพ่อค้า พ่อบ้าน และพ่อของลูกชายวัยรุ่น รักหนังสือ ชอบเข้าร้านหนังสือ และชอบซื้อหนังสือมาดองเป็นกองโต

Related Posts

  • Creative learning
    ‘บ้านรัก’ สู่บ้านแห่งการเรียนรู้ ชวนพ่อแม่เป็นครู เรียนผ่านงานบ้าน งานสวน งานครัว : ครูอุ้ย – อภิสิรี จรัลชวนะเพท อนุบาลบ้านรัก

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • แมงมุมเพื่อนรัก : สายใยแห่งมิตรภาพ ความตาย และการไถ่บาป

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Early childhoodSocial Issues
    คัดเลือกเข้า ป.1 ถ้าไม่สอบวิชาการ ใช้วิธีอะไรได้บ้าง? ตัวอย่างโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ และ เพลินพัฒนา

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีเพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Social IssuesEarly childhood
    นพ.สุริยเดว ทรีปาตี: ให้ลูกร่วมทุกข์สุข เรียนวิชาผิดหวัง รับมือเด็กเจนอัลฟ่าด้วยพลังบวก

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Learning Theory
    งานบ้าน กับ การบ้าน ทำอะไรดี?

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

ปลดล็อกระบบการศึกษาไทย ปฏิรูปการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะ : เสียงสะท้อนจากผู้ทรงคุณวุฒิ
Social Issues
10 September 2021

ปลดล็อกระบบการศึกษาไทย ปฏิรูปการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะ : เสียงสะท้อนจากผู้ทรงคุณวุฒิ

เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • “ขอเพียงเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้คิด ได้ทำ การปฏิรูปการศึกษาก็จะเกิดขึ้น” บทเรียนการจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดสตูล จากงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์‘ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 บทเรียนครูสามเส้า กรณีศึกษา เครือข่ายโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล 
  • หลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นหนึ่งกุญแจสำคัญในการจัดการเรียนรู้ เพราะยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางและมีความยืดหยุ่นตามบริบทของนักเรียน รวมถึงช่วยปลดล็อกสิ่งที่รัดตรึงครูในอดีต โดยให้ครูได้ทำ 3 เรื่องสำคัญ คือ สอนความรู้ ฝึกทักษะให้เด็กได้ทำจริง และพัฒนาทัศนคติ อารมณ์ อุปนิสัย ซึ่งจะทำให้เด็กจัดการชีวิตของตนเองได้ 
  • “เราไม่ได้ปลดล็อกแค่หนีโควิด เราปลดล็อกไปถึงระบบของวิธีคิด วิธีการมองเรื่องบริหารจัดการที่ทุกอย่างควรจะคลายตัวขึ้น แล้วเราจะเห็นความก้าวหน้าของโรงเรียนว่าเขาไปฉิวเลย แล้วการซัพพอร์ทหลักๆ คือ เรื่องวิชาการ ไม่ใช่ใช้กฎระเบียบเข้าไปกำกับ ทุกหน่วยงานก็ต้องปรับบทบาทของตัวเองเหมือนกัน”

ในสถานการณ์โควิด-19 แม้เด็กจะต้องเรียนที่บ้าน ทว่าบทเรียนการจัดการเรียนรู้จากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนรุ่งอรุณ และโรงเรียนเครือข่ายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดศรีสะเกษ ระยอง และสตูล ในงาน เสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ที่ผ่านมา ต่างพิสูจน์ให้เห็นว่า ครูแปรวิกฤตเป็นโอกาสในการพัฒนาเด็กเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตัวเองหรือ Self – Directed Learner โดยมีหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นกุญแจสำคัญในการจัดการเรียนรู้

และในครั้งที่ 3 นี้กับ ‘บทเรียนครูสามเส้า’ กรณีศึกษาเครือข่ายโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล นอกจากนำเสนอตัวอย่างการปรับตัวภายใต้บริบทของพื้นที่และสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของโรงเรียนบ้านเขาจีนและโรงเรียนอนุบาลสตูล บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษายังชี้ประเด็นสำคัญที่ว่า สถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ คือ จุดเปลี่ยนสำคัญของการออกแบบการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะ อันจะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาต่อไป

หลักสูตรฐานสมรรถนะ ตัวช่วยออกแบบการเรียนรู้

ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฐานสมรรถนะ พูดถึงประเด็นโอกาสในการเรียนรู้ที่สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 และการจัดการเรียนรู้บนหลักสูตรฐานสมรรถนะที่จะขับเคลื่อนให้โรงเรียนมีอิสระมากขึ้น โดยมีรัฐทำหน้าที่สนับสนุน 

“หลักสูตรฐานสมรรถนะไม่ใช่ปีศาจ แต่เป็นผู้ช่วยให้เกิดการออกแบบการเรียนรู้ อย่างวันนี้ก็จะเห็นว่า PLC เกิดขึ้นที่บ้าน โดยครูเป็นผู้ช่วยทำร่วมกันกับพ่อแม่ ให้เด็กเป็นผู้จัดการเรียนรู้ของตัวเองได้ และชุมชนเข้ามาช่วยด้วย” 

แล้วหลักสูตรฐานสมรรถนะดีอย่างไร ทำไมจึงต้องเปลี่ยนมาใช้หลักสูตรนี้? ดร.สิริกร ชี้ประเด็นนี้ว่า เพราะความรู้มีความหลากหลาย เปลี่ยนแปลงเร็ว โลกซับซ้อนขึ้น เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และคาดเดาไม่ได้ ด้านภาคธุรกิจเองก็พบว่า เด็กจบการศึกษามาแล้วมักทำงานไม่เป็น ดังนั้น สิ่งที่ควรทำก็คือ ทำให้เด็กมีทั้งความรู้ และเครื่องมือการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำงานหรือในชีวิตได้ 

เพราะหลักสูตรฐานสมรรถนะยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง มองถึงความถนัด ศักยภาพ ความสนใจ และข้อจำกัดของเด็กแต่ละคน หลักสูตรมีความยืดหยุ่น ปลดล็อกสิ่งที่รัดตรึงครูในอดีต โดยให้ครูได้ทำ 3 เรื่องสำคัญ คือ สอนความรู้ ฝึกทักษะให้เด็กได้ทำจริง และพัฒนาทัศนคติ อารมณ์ อุปนิสัย ซึ่งจะทำให้เด็กจัดการชีวิตของตนเองได้ 

“บทเรียนทั้ง 3 อาทิตย์ ทำให้เห็นแล้วว่า ‘สมรรถนะ’ ทำให้ผู้เรียนเขาทำเป็น มีพฤติกรรม มีเจตคติที่เหมาะสม มีความคิดริเริ่ม มากกว่าจะกำหนดว่าเขาจะเรียนเนื้อหาอะไร แล้วต้องจำไปสอบ การเรียนรู้ก็มีความหมายมากขึ้น”  

อีกทั้งในวิกฤตนี้ทำให้เกิดการ Up – Skills โดยเฉพาะ Digital Skill ทั้งเด็ก ครู ผู้ปกครอง และผู้อำนวยการต่างนำพาโรงเรียนสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้โดยมุ่งที่เด็กอย่างแท้จริง ตัวอย่างพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ ระยอง และสตูล ตอกย้ำให้เห็นว่า ขอเพียงเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้คิด ได้ทำ การปฏิรูปการศึกษาก็จะเกิดขึ้น 

โครงงานฐานวิจัย ทางลัดหลักสูตรฐานสมรรถะ

ด้าน รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อนุกรรมการด้านบริหารงานวิชาการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หยิบประเด็นการทำโครงงานฐานวิจัยมาขยายต่อ โดยสรุปเป็นหลัก 5 ประการของการทำ Research – Based Learning (RBL) คือ

ประการที่หนึ่ง วิจัยคือการพัฒนาปัญญา วิจัยจึงเป็นงานของเด็กไม่ใช่งานของครู ส่วนครูเปลี่ยนบทบาทเป็นโค้ช 

ประการที่สอง วิจัยต้องทำให้เห็นคุณค่าของความรู้ นำความรู้มาแก้ปัญหา ดังนั้นต้องเขาไปสู่ระบบการรู้เหตรู้ผล 

ประการที่สาม พยายามลดทอนหลักการสถิติที่ใช้วิธีการสำรวจความคิดเห็น สัมภาษณ์ สอบถามที่คุณครูคุ้นชินไปให้ได้ 

ประการที่สี่ วิจัยต้องเกิดการพัฒนา เป็นเรื่องในพื้นที่และมีที่มา 

และประการสุดท้าย วิจัยต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ เริ่มต้นด้วยฉันทะและปิดท้ายด้วยวิมังสา 

“การทำโครงงาน คือ ทางลัดของหลักสูตรฐานสมรรถนะ คือให้เด็กปฏิบัติ เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีหลักสูตรฐานสมรรถนะ เราต้องหาทางปรับความคิดการสอน ที่ให้เกิดการเรียนรู้จากการทำงาน ซึ่งผมก็เห็นทิศทางนี้ว่าเรากำลังจะทำหลักสูตรฐานสมรรถนะให้มีการปฏิบัติมากขึ้น”

จากกรณีศึกษาของสตูล ทำให้เข้าใจบทบาทใหม่ของพ่อแม่ จากเดิมที่เคย ‘สั่ง’ เปลี่ยนมาเป็น ‘สอน’ เกิดความสัมพันธ์กับพ่อแม่ผ่านงานของพ่อแม่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ทิศทางของหลักสูตรที่ประเมินโดยดูพฤติกรรมขณะที่เด็กทำงานนั้นมาถูกทางแล้ว แต่ครูจะต้องรู้วิธีการประเมิน รู้วิธีหา S (Skills) – ทักษะ และ A (Attitude) – ทัศนคติหรือเจตคติ ถอดออกมาจากการทำงานให้ได้ ซึ่งรศ.ดร.สุธีระมองว่า น่าจะประเมินผู้ปกครองด้วย แต่ประเมินเพื่อฟีดแบ็กกลับให้เห็นคุณค่าของการจัดการเรียนรู้ให้กับลูก อีกทั้งโรงเรียนยังค้นพบเทคนิคดีๆ อย่าง ‘นาฬิกาชีวิต’ เด็กได้รู้จักการใช้ชีวิตตามเวลาที่มีจำกัด นำไปสู่การจัดการตนเอง 

“episode ของสตูลน่าสนใจที่โรงเรียนพัฒนาตนเองโดยไม่ต้องมีพี่เลี้ยงข้างนอกเข้ามา กระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการ Induction ของตนเอง มัน Induce ขึ้นมาเอง แต่ว่าใช้เวลาเป็นสิบปี ถ้าจะเอาของสตูลไปใช้ควรจะต้องศึกษาทุนเดิมที่เขามีอยู่ก่อนโควิดด้วย”

‘ครู พ่อแม่ ชุมชน’ ลุกขึ้นมาเป็นนักบริหารจัดการเรียนรู้ 

ขณะที่ รศ.ประภาภัทร นิยม อธิบดีสถาบันอาศรมศิลป์และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ ได้สะท้อนคิดจากบทเรียนครูสามเส้าของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลถึงการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งสู่สมรรถนะว่า สตูลเริ่มจากการเปลี่ยน Mindset เปิดการเรียนรู้ออกจากห้องเรียนและโรงเรียน โดยใช้โครงงานฐานวิจัย และเลิกคาดหวังว่านักเรียนจะเรียนรู้ที่โรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ เพราะการเรียนรู้เกิดได้ทุกที่ทุกเวลา 

“คุณครูเองก็เริ่มที่จะพัฒนาทักษะใหม่ๆ โดยไม่ต้องมีใครมาสั่ง ทั้งสองโรงเรียนก็จะเห็นว่าครูเขาพัฒนาทักษะใหม่ๆ ในวิธีการจัดการเรียนการสอน ลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเขาเอง ใช้การสอนผ่านโทรศัพท์ก็ดี หรือถึงตัวเด็กเป็นรายบุคคล ซึ่งไม่เคยทำมาก่อนก็เกิดขึ้น ผ่านเครื่องมือที่สำคัญก็คือ PLC”

นอกจากพัฒนาทักษะแล้ว ยังพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ อย่าง ‘นาฬิกาชีวิต’ ของโรงเรียนอนุบาลสตูล ซึ่งพลิกเรื่องของอำนาจการบริหารจัดการตัวเองกลับคืนสู่เด็ก เปลี่ยนตารางเรียนเดิมๆ เป็นตารางชีวิต ซึ่งผู้ปกครองก็สะท้อนว่า ยิ่งช่วยกันกับนักเรียนพากันประเมินว่าสิ่งที่ได้ทำผ่านตารางชีวิตนั้นมากน้อยแค่ไหน เด็กจะยิ่งลุกขึ้นกำกับตัวเองได้มากขึ้น อีกทั้งยังมี ‘ใบงานบูรณาการ’ ของโรงเรียนบ้านเขาจีน ซึ่งเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้เด็กเกิดการทำงานแบบเป็นองค์รวม โดยใช้แนวทางของการบูรณาการชี้นำให้เด็กมีวิธีคิดแบบบูรณาการ 

“ทั้งมายเซ็ตก็ดี ทั้งทักษะก็ดี ทั้งเครื่องมือก็ดี มันไปเอื้อให้เกิดการพัฒนาบริหารจัดการตัวเองทั้งนั้นเลย ซึ่งเป็นการย้ายฐานอำนาจเลยนะ เดิมทีนักเรียนถูกจัดการ แต่บัดนี้เขาต้องจัดการตัวเอง พ่อแม่ลุกขึ้นมาร่วมจัดการ 

สตูลสะท้อนชัดเจนว่า ทุกคนต้องลุกขึ้นมาเป็นนักบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ อันนี้ถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลางมากเลยนะ ถือว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ชัดเจนมาก” 

ที่สำคัญคือ ต้องให้ความไว้วางใจในความสามารถหรือสมรรถะกับพื้นที่ โรงเรียน ครอบครัว และชุมชน ที่จะลุกขึ้นมาเป็นพาร์ทเนอร์ที่แท้จริงในการจัดการศึกษา ซึ่งรศ.ประภาภัทร บอกว่า นี่เป็นบทเรียนที่ภาครัฐต้องกลับมามองดู  

“เราไม่ได้ปลดล็อกแค่หนีโควิด เราปลดล็อกไปถึงระบบของวิธีคิด วิธีการมองเรื่องบริหารจัดการที่ทุกอย่างควรจะคลายตัวขึ้น แล้วเราจะเห็นความก้าวหน้าของโรงเรียนว่าเขาไปฉิวเลย แล้วการซัพพอร์ทหลักๆ คือ เรื่องวิชาการ ไม่ใช่ใช้กฎระเบียบเข้าไปกำกับ ทุกหน่วยงานก็ต้องปรับบทบาทของตัวเองเหมือนกัน”

พลังแห่งการเรียนรู้ในวิกฤต พัฒนาสมรรถนะครูและนักเรียน

จากการนำเสนอตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ในบริบทของพื้นที่และสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของสตูล รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี ประธานคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มองเห็นถึงพลังจากการปรับตัวครั้งนี้

“พลังที่ชัดเจนมากๆ เลยก็คือ พลังของกระบวนการแก้ปัญหาและกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งโรงเรียนและคุณครูเผชิญกับปัญหาในภาวะวิกฤต แล้วเวลาเราเจอปัญหาสิ่งแรกที่เราจะทำคือ พยายามใช้ประสบการณ์เดิม ความรู้เดิม มาใช้ในสถานการณ์ใหม่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่ว่าปัญหาใหม่ บางทีก็ใช้แบบเดิมไม่ได้แล้ว มันไม่เวิร์ก เด็กก็เบื่อ แล้วก็มีความขัดข้องเกิดขึ้น เช่น เครื่องไม้เครื่องมือไม่พร้อม” 

สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อโรงเรียนเริ่มที่จะคิดหาทางใหม่เพื่อเอาชนะวิกฤตนี้ อย่างแรกที่ต้องทำคือ การหาข้อมูล เพราะในกระบวนการคิดต้องมีข้อมูลเป็นฐาน เพื่อการแก้ปัญหาที่ถูกจุด ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ได้ดำเนินการเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ทั้งหาข้อมูลนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ซึ่งจากฐานข้อมูลนั้นจะนำไปสู่การร่วมกันคิด ร่วมกันหาทางออกผ่านวง PLC เป็นกระบวนการที่จะทำเกิดไอเดียในการออกแบบการเรียนรู้ ดังที่โรงเรียนวัดเขาจีน ระดมความคิดจนได้ใบงานบูรณาการมา 

“กระบวนการที่คุณครูได้ทำมา กระบวนการเหล่านั้นก็คือกระบวนการสร้างสมรรถนะครู เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผ่านมาคือครูได้พัฒนาสมรรถนะให้เกิดขึ้นในตัวเอง โดยการเผชิญกับปัญหาแล้วก็นำเอาความรู้ ทักษะ เจตคติต่างๆ เอามาใช้ในการแก้ปัญหา และโดยการร่วมมือกัน”  

“สุดท้ายนี้สิ่งที่หวัง คือ โรงเรียนจะเป็นคลังขององค์ความรู้ใหม่ๆ และองค์ความรู้นี้จะเป็นองค์ความรู้ที่มาจากฐานของครูไทย ของโรงเรียนไทย บนบริบทของเด็กไทยซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการศึกษาของประเทศ ซึ่งวันนี้สตูลทำให้เห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม” ดร.ทิศนา ทิ้งท้าย

Tags:

หลักสูตรฐานสมรรถนะล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

Author:

illustrator

นฤมล ทับปาน

Related Posts

  • Creative learning
    ‘ใบงานบูรณาการ’ โรงเรียนบ้านเขาจีน : เมื่อครูช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ร่วมในโจทย์เดียว ลดภาระผู้เรียนและผู้ปกครอง

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Creative learning21st Century skills
    วิชาสตูดิโอและภาคสนามออนไลน์ : เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เด็กออกแบบเองได้ กับโรงเรียนมัธยมรุ่งอรุณ

    เรื่อง ปริสุทธิ์

  • Social Issues
    จุดเปลี่ยนพลเมืองไทยคุณภาพใหม่ ผู้เรียนต้องเป็น ‘learner person’ มีสมรรถนะเป็นฐานการเรียนรู้

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Creative learning
    ‘เห็ดหรรษา’ วิชาปากท้องที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ ภาษาและทักษะสมรรถนะ : ผอ.ปวีณา พุ่มพวง โรงเรียนวัดถนนกะเพรา

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Social Issues
    ‘ปิดโรงเรียน เปิดชีวิต’ พลิกวิกฤตเป็นโอกาสทางการศึกษาที่เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ : มุมมองจากผู้ทรงคุณวุฒิ

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

‘บ้านรัก’ สู่บ้านแห่งการเรียนรู้ ชวนพ่อแม่เป็นครู เรียนผ่านงานบ้าน งานสวน งานครัว : ครูอุ้ย –  อภิสิรี จรัลชวนะเพท อนุบาลบ้านรัก
Creative learning
9 September 2021

‘บ้านรัก’ สู่บ้านแห่งการเรียนรู้ ชวนพ่อแม่เป็นครู เรียนผ่านงานบ้าน งานสวน งานครัว : ครูอุ้ย – อภิสิรี จรัลชวนะเพท อนุบาลบ้านรัก

เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • เลี้ยงเด็กตามธรรมชาติ คือ แนวการสอนแบบวอลดอร์ฟที่อนุบาลบ้านรักใช้เป็นหลักในการจัดการเรียนรู้ หัวใจสำคัญ คือ การให้เด็กได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติและจังหวะชีวิตของเขา โดยที่ผู้เลี้ยงไม่ไปรบกวนหรือแทรกแซง
  • ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อนุบาลบ้านรักยังคงใช้ ‘งานบ้าน งานสวน งานครัว’ เป็นกิจกรรมหลัก แต่เปลี่ยนจากคุณครูพาทำเป็นการเรียนรู้ที่บ้านโดยมีพ่อแม่พาทำ เช่น ระเบียบวินัย อาหารการกิน การจัดโต๊ะอาหาร เป็นต้น
  • เรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองต้องรู้ในการเลี้ยงเด็กตามธรรมชาติ คือ การเลียนแบบ (Imitations) และพลังเจตจำนง (Will) เด็กเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเขา และมีพลังมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ ผู้ปกครองต้องเข้าใจและไม่เผลอไปขัดขวางหรือแทรกแซงการเติบโตของลูก

เกือบ 2 ปีที่สังคมไทยต้องใช้ชีวิตอยู่กับโควิด – 19 การปรับตัวเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนรวมถึงระบบการศึกษา ไม่เว้นแม้แต่การเรียนรู้ของเด็กๆ ที่อนุบาลบ้านรักแห่งนี้

สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก ‘อนุบาลบ้านรัก’ คือ บ้านสำหรับดูแลเด็กปฐมวัยตามแนวการศึกษาวอลดอร์ฟ (Waldorf) ที่ยึดหลักดูแลเด็กตามธรรมชาติ ความใกล้ชิดระหว่าง ‘แม่ครู’ และเด็กๆ ถือเป็นแนวทางสำคัญในการประคับประคองเฝ้ามองการเติบโตของพวกเขา ทว่ามาตรการเว้นระยะห่างกลายเป็นอุปสรรคในการเปิดบ้านให้เด็กมาเรียนรู้ร่วมกัน

บทความชิ้นนี้ The Potential ชวน ครูอุ้ย – อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก พูดคุยถึงวิถีการปรับตัวของอนุบาลบ้านรักภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาได้หันไปให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่บ้าน โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้สนับสนุน นับเป็นตัวอย่างหนึ่่งที่น่าสนใจสำหรับการจัดการเรียนรู้ในช่วงเวลานี้

ปรับมายเซ็ตคนทำงาน เทคโนโลยียังทำให้เราส่งความปราถนาดีให้เด็กได้

“หนึ่งเดือนแรกเราเด๋อมากเลยนะ เป็นอะไรที่งง นั่งหันหน้าคุยกันและปฎิเสธลูกเดียวว่าเราทำไม่ได้ๆ” 

หลังจากเผชิญโควิด – 19 ระลอกสองที่หนักกว่ารอบแรกถึงขั้นไม่สามารถเปิดบ้านต้อนรับเด็กๆ ได้ ครูอุ้ยเกิดอาการเคว้งคว้างว่า วิถีอนุบาลตามธรรมชาติอย่างพวกเขาจะปรับตัวอย่างไร ผู้ปกครองบางคนเอ่ยปากว่าในเมื่อเจอกันไม่ได้ ก็ขอให้ครูอุ้ยส่งกิจกรรมอะไรก็ได้มาให้ลูกๆ ทำ แต่ในความรู้สึกครูอุ้ยรู้สึกขัดแย้งกับทางเลือกนี้ เพราะทุกกิจกรรมคุณครูต้องเป็นคนนำพาเด็กทำ ถ้าส่งของให้แล้วเด็กจะดูใครเป็นต้นแบบ ใครจะเป็นคนพาเด็กทำ

“ไปปรึกษาพระอาจารย์ ท่านพูดดีมาก ทำให้เราตื่นและฉุกคิดได้ ‘เวลาที่คนโทรศัพท์ส่งพลังคำอวยพรไปให้คนปลายสาย ก็ช่วยให้คนนั้นรับได้นะ ทำไมเราไม่คิดว่าพลังที่ครูส่งให้เด็ก ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ถ้าเป็นพลังที่ดีส่งไปยังไงก็ถึงเด็ก อุปกรณ์สื่อสารเป็นเพียงแค่กายภาพ ความปราถนาดีเป็นจิตใจให้ไกลกว่า ไปให้พ้นเครื่องมือสื่อสาร ส่งไปให้โค้งเหมือนสายรุ้งเลย 

“คนทำงานตามแนวธรรมชาติ ต้องหลุดจากแนวคิดเดิมๆ ที่ว่าเทคโนโลยีช่วยไม่ได้ ต้องคิดใหม่ เพราะในสถานการณ์นี้เราไม่รู้ว่าจะได้เจอเด็กเมื่อไร”

‘งานบ้าน งานสวน งานครัว’ กิจกรรมหลักของอนุบาลบ้านรักที่เด็กๆ ยังสามารถทำได้ในช่วงเวลานี้ แต่เปลี่ยนจากคุณครูพาทำเป็นพ่อแม่พาทำแทน โดยทีมงานอนุบาลบ้านรักจะส่งคลิปกิจกรรมต่างๆ วันละหนึ่งคลิป ครูอุ้ยอธิบายว่าตัวคลิปจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกอธิบายฮาวทูทำกิจกรรมที่เด็กและผู้ปกครองสามารถดูและทำตามไปด้วยกัน ครูจัดส่งอุปกรณ์ไปให้ถึงบ้าน ส่วนช่วงหลังครูอุ้ยจะปล่อยให้เด็กๆ ไป free play เล่นอย่างอิสระ และส่งคลิปบรรยายข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้ปกครองในการเลี้ยงดูลูกและตัวอย่างอนุบาลวอลดอร์ฟจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้เห็นตัวอย่างการปรับตัวในหลายๆ ที่

“เราพยายามเลือกกิจกรรมที่เราทำช่วงปกติ เช่น วันจันทร์ – ร้อยดอกไม้ วันอังคาร – ทำขนม วันพฤหัส – ทำสีน้ำสีเทียน กิจกรรมอะไรที่พ่อแม่สามารถทำอยู่บ้านได้เราส่งอุปกรณ์ไปให้หมด อุปกรณ์วาดเขียน อุปกรณ์สำหรับทำขนม ส่งแม้กระทั่งแป้ง ยีสต์ และก็ขอให้ผู้ปกครองช่วยส่งการบ้าน มีถ่ายคลิปวีดีโอส่งมาว่าลูกทำอะไรมาให้ดู เป็นความภูมิใจที่ความปราถนาดีเราส่งให้เป็นผล

“เมื่อก่อนอนุบาลทำหน้าที่ไป ครูทำหน้าที่ดูแลเด็กๆ ให้ความรู้ต่างๆ พ่อแม่อาจทราบบ้างไม่ทราบบ้าง แต่อาจจะไม่ได้ลงลึก เห็นแค่ผลงานของลูก แต่ ณ วันนี้ไม่ใช่ละ เด็กต้องอยู่บ้าน เราต้องคุยกับพ่อแม่ใหม่ เหมือนเราทำอบรมครูใหม่เลย คุณพ่อคุณแม่ตกที่นั่งต้องเลี้ยงเด็กเอง”

เลี้ยงเด็กตามธรรมชาติ : ไม่แทรกแซง ขัดจังหวะชีวิตของเขา

แม้ผู้ปกครองที่อนุบาลบ้านรักจะมีความเข้าใจการเลี้ยงเด็กตามธรรมชาติ แต่ก็ยังต้องมีการเติมความรู้ ปรับมายเซ็ตในการเลี้ยงเด็ก

“เลี้ยงเด็กตามธรรมชาติ” เป็นประโยคที่ครูอุ้ยย้ำกับเราเสมอ ที่อนุบาลบ้านรักใช้แนวการสอนแบบวอลดอร์ฟ (อ่านบทความเพิ่มเติม) หัวใจสำคัญ คือ การให้เด็กได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติและจังหวะชีวิตของเขา โดยที่ผู้เลี้ยงไม่ไปรบกวนหรือแทรกแซง 

เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น ครูอุ้ยยกตัวอย่างปลาในธรรมชาติกับปลาในฟาร์มเลี้ยง ถามว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกอะไร แน่นอนว่าเราก็ต้องอยากได้ปลาจากธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะคำว่า ‘ธรรมชาติ’ ให้ความรู้สึกปลอดภัย สะอาด เหมาะจะรับเข้าไปในร่างกายเรา ครูอุ้ยพยักหน้ารับและอธิบายต่อว่า แต่พอพูดถึงเลี้ยงเด็กตามธรรมชาติคนกลับงง ‘เลี้ยงยังไง?’ เพราะเราข้ามช็อตนี้มานานจนไม่รู้ว่าธรรมชาติของเด็กต้องการอะไร เราจะรู้ได้เมื่อคนเลี้ยงไม่เข้าไปแทรกแซง (disturb) ตั้งแต่เด็กเกิดจนเริ่มเดินได้ เด็กมีพัฒนาการตามธรรมชาติ เราควรทำหน้าที่เป็นคนสังเกตและเฝ้ามอง สนับสนุนตามสมควร เขาพลิกตัวอย่างไร คลานแบบไหน ไม่เข้าไปอุ้มจนเด็กไม่ได้เดิน หรือป้อนอาหารไม่ให้เด็กกินเอง

“ทำยังไงเด็กถึงจะสอดคล้องกับการเติบโตตามธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องยากเลยนะ ลองมองดูรอบๆ ตัว มีงานที่พ่อแม่หรือพวกเราทำอยู่แล้ว อยู่รอบๆ ตัวเด็ก งานบ้าน งานสวน งานครัว เราแค่เปิดโอกาสให้เขามีความอยาก (inspire) ที่จะทำได้เหมือนเรา 

พอเขาเห็นครูหรือผู้ปกครองจับไม้กวาด หรือเช็ดโต๊ะ เขาจะเลียนแบบทำตาม ทำให้มันสอดคล้องเป็นกิจวัตรประจำวัน เช้า – สาย – บ่าย นี่เป็นโอกาสที่เราจะหยิบยื่นให้เด็ก เป็นการรับข้อมูลตามธรรมชาติ”

‘เลียนแบบ’ วิธีรับข้อมูลและเรียนรู้ของเด็กเล็กโดยใช้ร่างกาย

หลังปรับมายเซ็ตแล้ว ครูอุ้ยยก 2 เรื่องที่สำคัญและจำเป็นที่ผู้ปกครองต้องรู้ในการเลี้ยงเด็กตามธรรมชาติ คือ การเลียนแบบ (Imitations) และพลังเจตจำนง (Will)

เด็กเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ โดยผ่านการเห็น ทั้งจากคนใกล้ชิดอย่างพ่อแม่ ครู หรือคนที่อยู่รอบๆ ตัว เช่น แม่ค้า ยามรักษาความปลอดภัย และเวลาเลียนแบบไม่ใช่เฉพาะเหตุการณ์นั้นๆ เขาเลียนทั้งตัวของสิ่งที่เขาเห็นเป็นแบบ เช่น คุณพ่อคุณแม่พูดด้วยสำเนียงนี้ด้วยอารมณ์ที่เห็นแบบนี้ หน้าตาเป็นลักษณะแบบนี้ “เชื่อไหมว่าเด็กทำตามหมดเลย ถอดแบบมาเลย หน้าแบบนี้เลย อะไรเนี่ย เกิดอะไรขึ้นที่บ้าน ซึ่งพ่อแม่หรือผู้ใหญ่บางคนอาจจะคิดว่าเราไม่ใช่ต้นแบบเด็ก เลยเผลอใช้ชีวิตไม่ระวังทำพฤติกรรมที่อาจส่งผลต่อลูก”

ลักษณะการรับข้อมูลของเด็กเล็กจึงเป็นการเลียนแบบ เป็นเหตุผลที่ต้องดูว่ากิจกรรมอะไรที่เหมาะสมให้เด็กได้เลียนแบบเพื่อใช้ช่วงเวลานี้อย่างคุ้มค่า เพราะก่อน 6 ขวบ การเลียนแบบและการมีจินตนาการร่วมด้วยจะออกมาในรูปแบบของการเล่น เสมือนเป็นการย่อยความรู้ลงสู่ตัวเด็ก กล่าวคือเด็กจะเลียนแบบผสมจินตนาการและย่อยเป็นความรู้ผนึกในเนื้อตัว เมื่อพ้นช่วงเวลานี้ไปแล้วเด็กก็อาจจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ แต่เขาจะมีการคิดวิเคราะห์ ไม่ได้แสดงออกชัดเจนให้เราเห็นว่าเขารับข้อมูลอะไรไป

กิจกรรมที่ครูอุ้ยจัดให้เด็กๆ โดยหลักจะเป็นงานบ้าน งานสวน งานครัวที่สามารถทำได้ง่าย เช่น ระเบียบวินัย อาหารการกิน การจัดโต๊ะอาหาร จังหวะชีวิตเช้าถึงเย็นต้องเป็นไปอย่างเรียบร้อย มีเล่น เรียนรู้ พักผ่อน นอนกลางวันแล้วก็ไม่ได้หนักหรือหย่อนเกินไป รวมถึงมีแบบของอาชีพต่างๆ ให้เขาได้รู้จัก

“อาชีพถ้าเป็นแบบที่น่าสนใจ เราก็เอาเข้ามาให้เขาเรียนรู็ได้ เช่น งานช่างต่างๆ ช่างไม้ มีอีกอาชีพที่เด็กชอบ เด็กชอบกินพิซซ่า ให้คนขายพิซซ่ามาสักวันทำพิซซ่าให้เด็กดู เขาจะได้รู้ว่าที่กินไปจริงๆ ขั้นตอนเยอะนะ ให้มีโอกาสได้ทำเอง แล้วเป็นคนทำพิซซ่าจริงๆ ดูเก๋กว่าดูครูนั่งทำ 

“สิ่งที่เราอย่ามองข้ามการเรียนรู้ของเด็ก เด็กเก็บได้รอบตัว เราให้ความสำคัญกับ imitations การเรียนรู้ผ่านการมีแบบและการทำตาม เป็นประเด็นแรกที่ขอให้ผู้ปกครองเข้าใจ หลายคนจะมองข้าม”

แล้วถ้าผู้ใหญ่เผลอหลุดแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีออกมาล่ะ? เราตั้งคำถามกับครูอุ้ย เพราะการต้องเป็นแบบให้ลูกตลอดเวลาคงสร้างความกดดันให้พ่อแม่ไม่น้อยว่าเขาควรหรือไม่ควรทำอะไรต่อหน้าลูก และช่วงเวลานี้ยิ่งยากลำบากขึ้นเพราะสถานการณ์ที่ส่งแต่พลังลบ จนพ่อแม่อาจเผลอแสดงอารมณ์ลบๆ ให้ลูกเห็น

ครูอุ้ยตอบคำถามโดยเริ่มที่ประเด็นการแสดงพฤติกรรมไม่ดี เป็นเรื่องปกติที่เราจะหลุดเพราะนั่นเป็นนิสัยของเรา แต่ถ้าเราอยากเป็นแบบที่ดีให้เด็กๆ อาจต้องออกแรงขัดเกลาซักหน่อย ถ้าผู้ใหญ่คนไหนเผลอแสดงกริยาไม่ดี…ครูอุ้ยยกตัวอย่างครูคนหนึ่งเผลอใช้เท้าปิดพัดลมทำให้เด็กทั้งห้องเห็นก็ทำตาม ครูอุ้ยให้คำแนะนำว่าก็เปลี่ยนมาใช้มือปิดให้เด็กเห็น ทำได้สัก 3 เดือนเด็กๆ ก็เปลี่ยนพฤติกรรมกลับมาใช้มือเหมือนเดิม

ส่วนเรื่องอารมณ์ อย่างที่บอกว่าเด็กไม่ได้เลียนแบบเฉพาะการกระทำตรงหน้า แต่รวมถึงสิ่งที่อยู่ในใจคนเลี้ยงด้วย ถ้าเขาเห็นพ่อแม่จัดการสิ่งนี้ด้วยอารมณ์นี้ ตอนนี้เขาอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่เหมือนเผชิญเหตุการณ์เดียวกันเขาก็อาจเลือกทำแบบที่พ่อแม่ทำ แต่เมื่อโตขึ้นเด็กอาจคิดได้ว่า “ฉันไม่เห็นต้องแสดงอารมณ์แบบนี้เลย” แต่จะดีกว่าไหมถ้าพ่อแม่เริ่มระมัดระวังตั้งแต่ตอนนี้ ดีกว่าไปถึงตอนที่ให้ลูกคิดเอง

“เวลาไปร้านอาหารที่มีเด็กตัวเล็กๆ มาช่วยพ่อแม่ ครูอุ้ยจะชอบสังเกตดู เขาจะเดินยกจานไปเก็บ ทำหน้าตาประมาณหนึ่งที่บ่งบอกว่านี่ไม่ใช่ตัวเขา มีชักสีหน้านิดหนึ่ง เอาผ้าเช็ดๆ ปัดเศษที่อยู่บนโต๊ะลงไปกองที่พื้น เราก็มองอ้าปากค้าง ทำไมเด็กทำแบบนี้ อีกสักพักมีผู้ใหญ่เดินเอาจานไปเก็บทำหน้าแบบเดียวกันเลย เวลาเช็ดโต๊ะก็ทำแบบเดียวกันเด๊ะ นี่แหละพลังการเลียนแบบ ไม่ใช่เลียนแบบเฉพาะการทำงาน เธอเลียนหน้าตาด้วย (หัวเราะ)”

‘อย่าห้าม อย่าโมโห’ หากเด็กๆ กำลังใช้พลังเจตจำนง 

“ช่วงที่เขาแบเบาะต้องคว่ำ คลาน ทำไมเขาถึงทำได้โดยไม่มีการสอน ทำไมเขาถึงมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ เพราะนี่เป็นของขวัญจากเบื้องบนที่เด็กทุกคนได้ พลังเจตจำนง หรือ will”

เรื่องจำเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ปกครองควรรู้ ครูอุ้ยหยิบเรื่องพลังเจตจำนง (Will) มาอธิบายให้ฟังว่า เด็กเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเขา และมีพลังมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองต้องเข้าใจเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เผลอไปขัดขวางหรือแทรกแซงการเติบโตของลูก

“ยกตัวอย่างคว่ำถ้วยข้าวของเด็กน้อยที่เพิ่งหัดกินได้เอง เด็กทำได้ก็หัวเราะชอบใจ แต่ผู้ใหญ่จะเป็นลมตายเพราะคว่ำหมดแล้ว (หัวเราะ) เด็กไม่รู้ว่าคว่ำแล้วมันเดือดร้อนอะไร เขารู้ว่าเขาคว่ำถ้วยได้แล้ว นี่คือเจตจำนงที่พยายามทำจนสำเร็จ เป็นเรื่องที่ดีนะ แต่ถ้าเรื่องไหนไม่ดีด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เราก็ค่อยๆ บอก อย่าโมโห ‘ทำอย่างนี้ลูกก็ไม่ได้ทานสิคะ หรือเอาชามสองใบ ให้คว่ำถ้วยเปล่า ต้องหาวิธีการ ไม่ใช่เห็นอะไรก็ขัดไปหมด”

เมื่อเห็นลูกทำอะไร พ่อแม่อย่าเพิ่งทักหรือออกอาการห้ามทันควัน ให้หยุดคิดโดยใช้หลัก 3 ข้อร่วมพิจารณา คือ หนึ่ง – สิ่งที่เขาทำไม่เกิดอันตรายกับตัวเอง สอง – ไม่เกิดอันตรายกับคนอื่น และสาม – ไม่ได้สร้างความเสียหายกับสิ่งของอย่างจริงจัง เพราะถ้าพ่อแม่เลือกที่จะห้ามก่อน “เฮ้ย หยุดๆ” จะทำให้เด็กไม่กล้าหรือกลัวที่จะทำอะไร หรือบางทีถ้าเขาทำอะไรอยู่พ่อแม่สามารถส่งคำแนะนำร่วมด้วย เช่น ลองจับตรงนี้สิ จับสองมือนะลูก 

‘อนุบาล’ ไม่เท่ากับโรงเรียน

อนาคตที่ไม่รู้ว่าสถานศึกษาจะเปิดได้เมื่อไร รวมถึงการเรียนขณะนี้ก็มีเสียงเด็กๆ บอกว่าไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร บางครอบครัวเลือกให้ลูกลาออกและมาเรียนโฮมสคูล ซึ่งสไตล์การทำโฮมสคูลก็ตามความชอบความสนใจของพ่อแม่ แต่มีโฮมสคูลประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยม คือ ให้ลูกเรียนโดยเลือกซื้อคอร์สหรือจ้างคนมาสอน หากเป็นเด็กโตที่ถึงวัยอ่านเขียนอาจเป็นเรื่องปกติ แต่ในปฐมวัยอาจยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฝึกทักษะอ่านออกเขียน การเร่งพวกเขาอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโต

“สมัยก่อนที่ครูอุ้ยเริ่มเรียนเรื่องการเลี้ยงเด็ก มีคนบอกว่า เธอรู้ไหมสมัยก่อนเขาต้องเชื่อยาย แม่ต้องเชื่อยาย ลูกเชื่อแม่ ลูกดูแบบแม่ แบบยาย สามเจเนอเรชั่นนะ แต่ตอนนี้เราไม่ได้อยู่กับยาย ยายก็ไม่ได้ทำหน้าที่เลี้ยงหลาน ทุกคนกระจัดกระจาย ไม่ได้เกิดการส่งต่อถ่ายทอด ความรู้ในการเลี้ยงเด็กก็เปลี่ยนไปอีก”

“แม่ในยุคนี้ต้องแสวงหาความเป็นตัวตนให้เจอเลยละ ต้องมีความกล้าที่จะใฝ่หาว่ามนุษย์เราเกิดมาเพื่อที่จะทำอะไร แต่ที่แน่ๆ เราต้องเกิดมาเพื่อเป็นแม่ของเด็กคนนี้แหละ ต้องทำหน้าที่นี้ให้ได้ พาเขาข้ามอุปสรรคและรับรู้ว่าโลกนี้มีความจริงและความงาม”

แล้วเด็กจะอ่านออกเขียนได้เมื่อไร? ต้องรอขึ้นป.1 หรือไม่ ครูอุ้ยอธิบายว่า ที่จริงเด็กเล็กก็สามารถเข้าใจตัวอักษรได้ แต่เขาจะจำเป็นระบบสัญลักษณ์ เช่น ไปซื้อของเห็นป้ายก็รู้ว่าตรงนั้นมีอะไรที่เขาต้องการ เด็กเรียนรู้ด้วยวิธีนี้ เพียงแต่ผู้ใหญ่ไปคิดว่าเขาต้องสะกดคำก่อน ถ้าเราข้ามช็อตนี้ยังไม่ต้องสะกดคำ ให้เด็กรู้เป็นสัญลักษณ์ไปก่อน เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องการรู้อะไรที่ต้องสะกด เดี๋ยวไปทำตอนนั้นก็ได้ เพราะเขาจะมีความพร้อม ความละเอียดในการจำได้มากกว่า

“ช่วง 3 – 4 ขวบเรียนรู้ผ่านอะไร…ก็ผ่านมือไง มือคนเรามีพลังมากเลยนะ เป็นเหมือนประตูเปิดรับการเรียนรู้และผนึกเข้าไปในตัว ยกตัวอย่างการจับไม้กวาด คุณต้องรู้น้ำหนักก่อนถึงจะเลือกไม้ที่เหมาะสมกับตัวเอง แค่นี้เด็กก็ได้เรียนรู้ละ หรือการล้างจาน สถานะสสารบนโลกใบนี้ไม่เหมือนกัน มีดิน น้ำ ลม ไฟ ทำไงให้จานสะอาดก็ต้องผ่านน้ำหลายๆ น้ำ น้ำเย็น น้ำอุ่น แล้วทำอย่างไรให้จานแห้งก็เช็ดหรือตากแดด แป๊บเดียว กระบวนการล้างชามเด็กรู้เรื่องดิน น้ำ ลม ไฟ แต่เราไม่เคยเอาสิ่งเหล่านี้มาคุยว่าล้างชามได้อะไร ตอนโตค่อยทำละกัน

“คำที่ครูอุ้ยเคยพูดบ่อยๆ ว่า อนุบาลไม่ใช่โรงเรียนๆ สงสัย ณ ปีที่ครูอุ้ยแก่เป็นหญิงชราในนิทานคงจะเป็นจริงแล้วละมั้ง (หัวเราะ) ไม่จำเป็นต้องมาที่อนุบาลด้วยซ้ำ ถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถทำที่บ้านด้วยตัวเองได้ ให้เด็กโตตามธรรมชาติเถอะจะมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงอะไรก็ว่าไป” ครูอุ้ยทิ้งท้าย

Tags:

พ่อแม่ปฐมวัยการศึกษาแนววอลดอร์ฟ(Waldorf)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)อนุบาลบ้านรัก

Author:

illustrator

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยจากคณะแห่งการเขียนและสื่อมวลชน แม้ทำงานแรกในฐานะกองบรรณาธิการ The Potential หากขอบเขตความสนใจขยายไปเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และผู้ลี้ภัย แต่ที่เป็นแหล่งความรู้วัยเด็กจริงๆ คือซีรีส์แวมไพร์, ฟิฟตี้เชดส์ ออฟ จุดจุดจุด และ ยังมุฟอรจาก Queer as folk ไม่ได้

Related Posts

  • Early childhood
    วัยเยาว์ที่ถูกพรากไป ในโลกที่ไม่ปลอดภัยดังเดิม : EP.2 แนวทางการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับลูกปฐมวัย

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Early childhood
    ‘ธาตุ’ ในวัยอนุบาล เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน

    เรื่อง อุบลวรรณ ปลื้มจิตร

  • Learning Theory
    วอลดอร์ฟ 100 ปี: การศึกษามนุษยปรัชญาที่ต้องการสร้าง ‘จินตภาพ’ และ ‘ความสร้างสรรค์’ มากกว่า ‘ความจำ’

    เรื่องและภาพ ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Early childhood21st Century skills
    โปรดจ่ายใบสั่งยาที่เขียนว่า ‘เล่น เล่น และเล่น’

    เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ

  • Early childhoodCharacter building
    อนุบาลบ้านรัก : ตื่นเช้าไป ‘บ้าน’ ไม่ใช่โรงเรียน

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊

ในวันที่ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสังคมไม่โอเค : คุยกับสมภพ แจ่มจันทร์ Knowing Mind
Social Issues
8 September 2021

ในวันที่ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสังคมไม่โอเค : คุยกับสมภพ แจ่มจันทร์ Knowing Mind

เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • “สถานการณ์ที่เราเผชิญตอนนี้ ไม่ว่าจะการเมืองหรือโรคระบาด ผมว่ามันเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงนะ เพราะส่งผลกระทบต่อชีวิต เราเห็นยอดคนตายขึ้นทุกวัน ทำให้คนกังวลว่าจะมาถึงตัวเองหรือคนที่เรารักหรือเปล่า หรือความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อมีการชุมนุม ซึ่งอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ เราปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเหตุการณ์พวกนี้สามารถเป็นชนวนที่อาจนำไปสู่การเกิดบาดแผลทางใจได้ ถ้าไม่มีการรับมือหรือจัดการที่เหมาะสม”
  • คุยกับ สมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาและผู้ก่อตั้ง Knowing Mind ศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและส่งเสริมสุขภาวะ ว่าในวันนี้ที่เราต้องตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สร้างพลังงานลบจะส่งผลกับจิตใจเราอย่างไร วิธีเยียวยาไม่ให้ใจของเราพัง

หากถามถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคมตอนนี้เป็นอย่างไร คงเหมือนลูกโป่งขนาดใหญ่ ที่ภายในไม่ได้ถูกอัดด้วยแก๊ส แต่เป็นพลังงานลบที่มาจากความกังวล หดหู่ กลัว โกรธ เกลียด ฯลฯ ของประชาชน อัดแน่นอยู่ในลูกโป่งรอวันระเบิด หรืออาจจะระเบิดไปแล้วแต่สุดท้ายก็ถูกครอบด้วยขวดแก้วอัดอยู่ต่อไปไม่สามารถระบายออกมาได้

ลำพังแค่อยู่กับพลังงานลบ อย่างโกรธคนอื่น หรือกลัวนู่นนี่นั่น สักเพียง 10 นาที เราบางคนก็ทนไม่ไหว ต้องรีบหาทางออกมา แต่ ณ วันนี้ที่เราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่สร้างแต่พลังงานลบ จะหลบหนีก็ทำได้ยาก สภาวะเช่นนี้จะส่งผลอะไรกับจิตใจของเราบ้าง

ชวนคุยกับ สมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาและผู้ก่อตั้ง Knowing Mind ศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและส่งเสริมสุขภาวะ ว่าในวันนี้ที่เราต้องตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สร้างพลังงานลบจะส่งผลกับจิตใจเราอย่างไร เป็นแค่อารมณ์ที่เกิดขึ้นรอวันระบายหรือบาดแผลทางใจ (trauma) ที่ต้องไปแก้ในอนาคต วิธีเยียวยาไม่ให้ใจของเราพังไปมากกว่านี้ รวมถึงบทบาทของกลุ่มผู้ให้คำปรึกษาที่เปลี่ยนไป

ช่วงนี้บรรยากาศการให้คำปรึกษาเป็นอย่างไรบ้าง

จำนวนคนที่เข้ามารับคำปรึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับโควิด – 19 ซะทีเดียว เพิ่มขึ้นด้วยตัวเอง ผมว่าเพราะส่วนหนึ่งความเข้าใจของคนเพิ่มมากขึ้น และเราก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย

ความแตกต่างที่เกิดคือ รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป ก่อนหน้านี้เราแทบจะไม่รับปรึกษาทางออนไลน์ เพราะเราเชื่อมั่นการมาคุยแบบตัวต่อตัว ไม่ใช่แบบออนไลน์ไม่ดีนะ แต่การคุยแบบนี้สิ่งที่ผมเห็น คือ หน้าคุณ ผมไม่เห็นที่เหลือเลยว่าคุณกำลังทำอะไร เป็นไปได้ว่าจะทำให้เราประเมินไม่ถูก เพราะนอกจากสังเกตอาการท่าทาง บรรยากาศที่ออกมาจากตัวคนๆ นั้นก็มีผล บางคนเศร้ามากๆ จนมีรังสีความเศร้าจากตัวเขาออกมาให้เราได้สัมผัส

Knowing Mind ปิดทำการชั่วคราวมาตั้งแต่การแพร่ระบาดรอบแรกๆ เลยครับ พอสถานการณ์ดูท่ากลับมาดีขึ้น เราก็กลับมาเปิดช่วงกลางปีจนมาถึงต้นเมษายนที่ผ่านมาต้องปิดอีกรอบ จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้เปิดเลย 

ประเด็นที่คนมาปรึกษามีเกี่ยวข้องกับโควิด – 19 บ้างไหม

ปีนี้ประเด็นที่มาปรึกษาจะคาบเกี่ยวกับโควิด – 19 มากขึ้นเรื่อยๆ ปีที่แล้วไม่ค่อยเยอะ แต่ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากโควิด – 19 โดยตรงอย่างเช่นติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงนะ แต่โควิด – 19 ส่งผลให้ปัญหาหลักของคนที่มาปรึกษามีซับซ้อนขึ้น ผมมานั่งดูบันทึกแทบทุกเคสที่มาปรึกษาได้รับผลกระทบโควิดไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะด้านครอบครัว การทำงาน วิถีชีวิต กิจกรรมส่วนตัว หรือความสนใจส่วนตัว ล้วนได้รับผลกระทบ ส่งผลให้ปัญหาหลักของพวกเขาแก้ยากขึ้นเหมือนกัน

โดยภาพรวมแล้วผมว่าปัญหาของคนเรายังคงเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์อยู่ดี ในด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้านประกอบกัน 

ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น คู่รัก พ่อแม่ลูก เพื่อนที่ทำงาน หัวหน้างาน หรือความสัมพันธ์กับตัวเองที่ไม่ดี รู้สึกไม่พึงพอใจในตัวเอง ไม่พอใจในรูปร่างหน้าตา ความรู้ความสามารถตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่เก่ง หรือเป็นความสัมพันธ์กับสถานการณ์ในชีวิตก็ได้ ไม่พอใจว่าสังคมเป็นแบบนี้ บ้านเมืองเป็นแบบนี้ การเมืองมันไม่โอเค ประเด็นเหล่านี้มีแนวโน้มเรื่อยๆ พอความสัมพันธ์ไม่โอเคมันก็กระทบความรู้สึกจิตใจเขา

ตอนนี้ความสัมพันธ์ที่คนไม่โอเคสุด คงเป็นความสัมพันธ์กับสังคม จนบางทีทำให้เราเกิดภาวะอยากให้โลกแตก ไม่อยากอยู่แล้ว ความรู้สึกแบบนี้จะส่งผลกระทบอะไรกับเราบ้าง เป็นภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือถึงขั้นสร้างเป็น trauma (บาดแผลในใจ) 

เป็นไปได้ทั้งสองแบบครับ ตั้งแต่ความขุ่นเคืองใจ ไม่สบายใจ หรือรุนแรงจนเป็น trauma ก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง 

เวลาที่เราเจอสถานการณ์ร้ายแรงในชีวิต เช่น เกิดอุบัติเหตุรุนแรง ตรวจพบโรคร้ายแรง ถูกทำร้าย หรือถูกคุกคามทางเพศ เป็นต้น มีโอกาสที่การเผชิญสิ่งเหล่านี้จะเกิดผลกระทบเป็นบาดแผลในใจเรา  แม้จะเผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน

สถานการณ์ที่เราเผชิญตอนนี้ ไม่ว่าจะการเมืองหรือโรคระบาด ผมว่ามันเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงนะ เพราะส่งผลกระทบต่อชีวิต 

เราเห็นยอดคนตายขึ้นทุกวัน ทำให้คนกังวลว่าจะมาถึงตัวเองหรือคนที่เรารักหรือเปล่า หรือความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อมีการชุมนุม ซึ่งอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ เราปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเหตุการณ์พวกนี้สามารถเป็นชนวนที่อาจนำไปสู่การเกิดบาดแผลทางใจได้ ถ้าไม่มีการรับมือหรือจัดการที่เหมาะสม

วิธีรับมือหรือจัดการที่เหมาะสมเป็นอย่างไร

ปัจจัยที่จะทำให้คนคนหนึ่งมีบาดแผลทางใจหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เริ่มตั้งแต่ปัจจัยก่อนเกิดเหตุ เราถูกเลี้ยงดูมาแบบไหน มีประสบการณ์วัยเด็ก บุคลิกภาพอย่างไร พันธุกรรมที่ได้รับถ่ายทอดจากพ่อแม่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็นต้นทุนเดิม ถ้าต้นทุนเดิมเราดี เมื่อเจอเหตุการณ์ร้ายแรงก็อาจไม่ส่งผลกระทบมาก แต่บางคนที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่มีความมั่นคงทางจิตใจ พันธุกรรมมีแนวโน้มเครียดทุกข์ได้ง่าย เวลาเจอเหตุการณ์เช่นนี้ก็มีแนวโน้มเกิดบาดแผลทางใจได้ง่ายกว่า 

ปัจจัยต่อมาคือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ว่าเหตุการณ์นี้รุนแรงแค่ไหน แต่ระดับความรุนแรงก็ไม่ได้มีตัวชี้วัดที่แน่ชัด เพราะความรุนแรงแต่ละคนไม่เหมือนกัน สิ่งที่เป็นจุดร่วม คือ ความรุนแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต การบาดเจ็บที่รุนแรง หรือการถูกคุกคามตัวตน เหตุการณ์เหล่านี้ถือเป็นเหตุการณ์รุนแรง ถึงเราไม่ได้เจอด้วยตัวเองแต่การรับรู้มันก็มีโอกาสที่เราจะเกิดบาดแผลทางใจด้วย แต่อาจจะน้อยกว่าคนที่ประสบโดยตรง 

และปัจจัยภายหลังเกิดเหตุการณ์ เช่น เมื่อเราเจอเหตุการณ์แบบนี้มีระบบดูแลช่วยเหลือหรือสนับสนุนรองรับหรือเปล่า มีคนใกล้ชิดคอยดูแลไหม คนที่เผชิญเหตุการณ์ไม่ดีมา ถ้าเขามีคนรอบข้างคอยรับฟัง เขาสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือที่เหมาะสม ตัวเขาอาจจะไม่เป็นอะไรเลยก็ได้

ฉะนั้น การช่วยเหลือหลังเกิดเหตุการณ์มีผลมากๆ รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดตามมาหลังจากนั้นก็มีผลด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดโควิด – 19 จากที่คุณเคยทำงานได้ แต่วันนี้ทำงานไม่ได้ ไม่มีรายได้ เกิดความเครียด คนรอบตัวก็ติดเชื้อโควิด – 19 ไปหมด ทุกอย่างรุมเร้า แต่ถ้าคุณมีระบบสวัสดิการที่จะเข้ามาช่วยซับพอร์ต เฮ้ย…คุณไม่ต้องกลัวหรอก เดี๋ยวก็มีเงินช่วย ถ้าป่วยก็มีระบบการรักษาที่ดีรองรับ มันก็อาจลดผลกระทบทางใจลงไปได้ แต่ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ‘คุณก็ดูแลตัวเองไปสิ’ แถมโดนต่อว่าซ้ำเติมว่าเป็นเพราะคุณไม่ระวังตัวเอง ไม่จัดการชีวิตให้ดีเลยเป็นแบบนี้ มันก็จะยิ่งบั่นทอนจิตใจคุณขึ้นไปอีก และมีโอกาสเกิดบาดแผลทางจิตใจสูง

ผมสรุปเป็นภาพรวมแล้วกันว่ามีปัจจัยหลายอย่างมากเลยครับ ว่าเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบกระเทือนจิตใจคนคนนั้นมากน้อยแค่ไหน และมันไม่ใช่เป็นเรื่องของเจ้าตัวเพียงลำพัง ไม่ใช่เพราะเขาคิดบวกไม่เป็น เขาอ่อนแอ แต่มีปัจจัยหลายอย่างมากๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาเอง และเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตเขา 

มีวิธีให้เราเช็คตัวเองได้ไหมว่า สุขภาพจิตที่เราเป็นอยู่ตอนนี้มันระดับไหน อยู่ในระดับที่เราควรกังวลหรือยัง

ผมว่าไม่มีเกณฑ์ที่แน่ชัด เท่าที่ผมสังเกตคนที่มาเข้ารับคำปรึกษาจะมี 2 ส่วน คือ คนที่อาการชัดเจนมากจนคุณปฎิเสธไม่ได้ กับคนอีกกลุ่ม คือ คนที่รู้ตัวว่ามีปัญหาแต่จัดการเองไม่ได้ เลยเลือกจะมาหาก่อนที่จะหนักไปกว่าเดิม 

ดังนั้น ผมว่าเกณฑ์ชี้วัดที่ง่ายที่สุด ถ้าคุณสามารถจัดการปัญหา ให้ค่อยๆ ลดลงได้ มีคนใกล้ชิดคอยช่วย ก็สามารถทำไปได้เลย แต่ถ้าเห็นว่าคุณจัดการไม่ได้ ไม่มีแนวโน้มที่ปัญหาจะลดลงหรืออาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ นี่อาจเป็นสัญญาณว่าเราอาจต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ 

สรุปคือสังเกตแนวโน้มและผลกระทบครับว่าปัญหาที่เราเจอมีแนวโน้มเป็นอย่างไร แก้ได้หรือแก้ไม่ได้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นลดลงหรือเพิ่มขึ้น

ผมว่าการเจอเหตุการณ์ร้ายแรงมันส่งผลกระทบกับเราอยู่แล้วละ แต่ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ที่ปรับตัวได้ค่อนข้างดี ผลกระทบจะค่อยๆ ลดตามธรรมชาติ หรือถ้าคุณเป็นคนมีต้นทุนที่ดี มีการจัดการที่ดี แต่ถ้าปัญหาไม่ลด แปลว่าต้นทุนในตัวเราบางอย่างอาจไม่พอที่จะจัดการกับความรู้สึกปัญหาที่เกิดขึ้น เราก็จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก

ดูจากสถานการณ์ตอนนี้ เราอาจต้องอยู่แบบนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง พอจะมีคำแนะนำในการดูแลรักษาใจเราไม่ให้พังไปมากกว่านี้ไหม

ถ้าเราลองทบทวนความรู้สึกของเราดีๆ ‘ตายวันนี้เลยดีไหม ไม่อยากอยู่แล้ว’ จริงๆ ความรู้สึกแบบนี้ก็เป็นภาพสะท้อนว่าลึกๆ เรายังมีความฝัน ความหวัง ความปรารถนาที่จะมีชีวิต มีสังคมที่ดี แต่ว่าความหวัง ความฝันนี้มันยากเหลือเกิน ดูเป็นไปไม่ได้เลยในสถานการณ์แบบนี้ เลยทำให้เรารู้สึกสิ้นหวัง พอมันเกิดขึ้นต่อเนื่องและยาวนานก็เลยกลายเป็นความรู้สึกว่าไม่อยากอยู่แล้ว ตายดีกว่า

อันดับแรกผมว่าเราต้องมองให้เห็นก่อนนะ ชีวิตที่เรามุ่งหวังเป็นแบบไหน หาคำตอบให้ตัวเองซะหน่อยหนึ่ง ถ้าสังคมตอนนี้มันแย่มาก อย่างน้อยกลับมาถามตัวเองซะหน่อยว่าสิ่งที่เราต้องการ สิ่งที่เราอยากเห็น หน้าตาเป็นแบบไหน บางทีเราอาจจะไม่เคยถามตัวเองชัดๆ มีเป็นภาพลางๆ อยู่ในหัว และถ้าภาพนั้นชัดขึ้น คำถามต่อมาคือวันนี้สิ่งที่เราพอจะทำได้เพื่อให้ความฝัน ความหวังเราเป็นจริง เริ่มต้นทำส่วนไหนได้บ้าง 

พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องรับผิดชอบมันด้วยตัวเอง เพราะไม่เคยมีอะไรที่เป็นของเรา หรือขึ้นอยู่เราจริงๆ ทั้งหมดหรอก แม้แต่ความหวัง ความฝัน แต่มันขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย 

แต่เราลองวางปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ลงก่อน แล้วมาดูว่ามีส่วนไหนที่เราขยับปรับเปลี่ยนด้วยตัวเองได้ สิ่งนี้อาจทำให้เราลุกมาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้คน ทำงานรณรงค์ประเด็นสาธารณะต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่รัฐควรรับผิดชอบและดูแล ก็เป็นเรื่องที่เราต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา แต่ตอนนี้มันยังไม่ได้ เราพอจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ได้สังคมเป็นอย่างที่เราอยากเห็น และตรงนี้เองผมว่ามันจะทำให้เรามีพลังขึ้นมาว่า เฮ้ย จริงๆ แล้วก็มีส่วนที่ขึ้นอยู่กับเรานี่หว่า 

ความฝันไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนอื่นทั้งหมด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางสังคม หรือโควิด – 19 ทั้งหมดนะ แต่ขึ้นอยู่กับเราด้วยส่วนหนึ่ง

แต่ก็ไม่ง่ายนะครับ ที่จะให้เรานั่งคิดเองคนเดียวแล้วจะค้นพบคำตอบเลย เพราะสมองเรามีส่วนที่เป็นเหตุผลและอารมณ์ความรู้สึก พอความรู้สึกมันรุมเร้าขึ้นมา ส่วนที่คิดเป็นเหตุเป็นผลก็ลดน้อยตามธรรมชาติ การมีกัลยาณมิตร เพื่อน คนใกล้ชิดที่เขาพร้อมจะรับฟังเรา พร้อมนั่งทบทวนสะท้อนจะเป็นตัวช่วยหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่มี การไปพูดคุยกับนักจิตวิทยา นักบำบัดก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น 

คุณสมภพบอกว่าความรู้สึกอยากให้โลกแตก แต่ลึกๆ ยังมีความหวังอยู่ ซึ่งเป็นอารมณ์บวก แต่ทำไมเราถึงแสดงออกมาในแง่ลบ

ความรู้สึกเป็นพลังงานอย่างหนึ่ง ต้องการพื้นที่ในการแสดงออก ไม่ว่าคุณจะรู้สึกอะไร มันอาจไม่ได้บวกหรือลบในตัวมันเอง แต่เราใช้ว่าบวกหรือลบเพราะมันเชื่อมโยงกับการที่เราได้รับในสิ่งที่ต้องการหรือไม่ เมื่อเราเศร้าแล้วต้องการร้องไห้ นี่คือการแสดงออกอย่างหนึ่งของความเศร้า บางทีร้องไห้อาจจะจบเพราะได้ปลดปล่อยความเศร้า ความโกรธก็ต้องการปลดปล่อยเช่นกัน 

บางทีถ้าเรามองข้ามคำหยาบต่างๆ ไป จะพบว่าลึกๆ แล้วความโกรธก็เป็นภาพสะท้อนความไม่พึงพอใจของชีวิตความเป็นอยู่ผู้คนที่กำลังเกิดขึ้น เราจะช่วยยังไงให้สิ่งนี้โอเคขึ้น

ถ้าเป็นปัญหาส่วนตัว เราก็อาจต้องการคนใกล้ชิดที่ไว้วางใจพูดคุยปัญหานี้ได้ หรือถ้าเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสังคม เราก็ต้องการพื้นที่ทางสังคมเพื่อแสดงออก เฮ้ย นี่มันเป็นปัญหาที่ฉันไม่ได้สร้างเอง แต่เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่มันใหญ่กว่านี้ ผลกระทบจากโครงสร้างสังคมที่แก้ไม่ได้ด้วยตัวฉันเอง ฉันต้องการส่งเสียงแห่งความไม่พึงพอใจนี้ออกมา สิ่งที่รัฐทำได้คือ การมีพื้นที่รับฟัง ตอนนี้เราอาจมีพื้นที่นี้อยู่บ้างแต่น้อยมาก 

จริงๆ แค่ได้ส่งเสียงสื่อสารความไม่พึงพอใจออกไปอาจจะเพียงพอที่จะช่วยบรรเทาความรู้สึกลงได้บ้าง ถ้าเสียงนี้ได้รับการรับฟังและนำไปแก้ไขนะ แต่พอไม่ได้รับฟังหนำซ้ำยังถูกเพิ่มเติมความไม่พึงพอใจให้มากไปอีก เช่น เธอคิดร้าย เป็นเพราะเธอคิดไม่ดีเอง เธอทำตัวไม่เหมาะสม มันเลยสร้างความไม่พึงพอใจให้มากขึ้นไปอีก ไม่แก้ไขแต่กลับซ้ำเติม มองข้ามความทุกข์ยากของเขาไป มันนำไปสู่การแสดงออกทางอารมณ์ไปอีกขั้น จากส่งเสียงเป็นการลงมือ ถ้าเราไม่มองเรื่องนี้ในมุมถูก – ผิด เราสามารถเข้าใจได้เลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนความไม่พึงพอใจที่จำเป็นต้องได้รับการใส่ใจ

คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีคนมาปรึกษาเรา และในสถานการณ์นี้ที่ค่อนข้างมีความเปราะบาง การให้คำปรึกษาควรเป็นอย่างไร? 

การรับฟังก็คือการวางคำแนะนำลงก่อน เวลาพูดถึงการปรึกษานักจิตวิทยา คนส่วนมากจะมีความคิดว่า ‘ฉันอยากมาได้ข้อคิด’ ‘อยากได้แนวทางหรือวิธีการสักอย่างเอาไปทำอะไรต่อ’ แต่กระบวนการนี้ สิ่งที่นักจิตวิทยาทำคือการสะท้อนให้เขาได้เห็นว่า ตกลงแล้วปัญหาอยู่ตรงไหน ตัวเขาต้องการอะไรกันแน่ 

จากประสบการณ์การทำงานของผม ทุกคนมีคำตอบอยู่แล้วในตัวเอง เพียงแต่ว่าในสถานการณ์ที่อารมณ์ความรู้สึกมันเยอะ เรามองไม่เห็นคำตอบเหล่านี้หรอก 

เราอาจมองเห็นแต่ว่า ‘ฉันอยากตายไม่อยากอยู่ละ’ ‘ฉันคับข้องใจมาก’ เราจะเห็นแค่ความรู้สึกแต่ไม่เห็นคำตอบที่จริงๆ มันมีอยู่แล้วละว่าคุณอยากจะทำอะไร อยากตัดสินใจแบบไหน

ถ้าเราเป็นเพื่อนที่อยู่ในสถานะที่รับฟังได้ มันก็คือการรับฟังนะที่เราจะช่วยเขาได้ เพื่อสะท้อนให้เขาเห็นภาพตัวเองชัดเจนขึ้น การรับฟังคือการให้พื้นที่ แต่ไม่ใช่ให้คำแนะนำหรือตัดสิน คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่าเราต้องมีคำตอบที่ดีให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อทำให้เขาสบายใจ แต่คำตอบบางอย่างก็ไม่เป็นรูปธรรม เช่น ‘เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว แกต้องทำใจแล้วละ’ ‘แกต้องปล่อยวางนะ’ เรามักได้ยินคำแนะนำทำนองนี้เยอะนะ มันก็จริงที่เราทำอะไรในสถานการณ์แบบนี้ไม่ได้ แต่การบอกให้ปล่อยวางกับการช่วยให้เขาปล่อยวางได้เป็นคนละเรื่องกันนะ ถ้าบอกให้เขาปล่อยวางต้องเข้าใจก่อนว่าเหตุผลที่ทำให้เขายังยึดอยู่ทำให้ไม่สามารถปล่อยได้คืออะไร 

การทำงานของนักจิตวิทยาจึงไม่ได้บอกว่าเขาควรจะทำอะไร แต่เราช่วยเขาดูว่าเขาติดขัดตรงไหน พอจะปรับเปลี่ยนหรือขยับตรงไหนได้บ้าง ส่วนจะเปลี่ยนหรือไม่เป็นการตัดสินใจของเจ้าตัว เรามีหน้าที่สะท้อนให้เขาเห็นว่า เออ สิ่งที่เขากำลังเป็นอยู่ มันเป็นยังไงนะ สิ่งที่เกิดขึ้นมาได้ยังไง และเกี่ยวข้องกับปัจจัยอะไรบ้างในชีวิตของเขา เพื่อให้เขาเห็นภาพตัวเองชัดขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นตัวเองหรอกครับ หรือต่อให้เห็นก็เห็นแค่บางส่วน ผมเป็นนักจิตวิทยาเองก็ไม่ค่อยเห็นตัวเอง  การมีบุคคลที่สามมานั่งรับฟังเรา สะท้อนเรา มันก็ทำให้เราได้เห็นตัวเองมากขึ้น 

ทักษะหนึ่งที่อาจจะเป็นตัวช่วยก็คือ empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) แต่บางครั้งเราไม่สามารถทำได้ ไม่สามารถเห็นอกเห็นใจบางคนได้ แม้ลึกๆ เราจะรู้ว่ามีปัจจัยอะไรให้เขาเป็นคนแบบนี้ เป็นไปได้ไหมที่เราสามารถเปิดปิดสวิตทักษะนี้ 

เรียกว่าเป็นภาวะดีกว่า empathy ไม่ได้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลานะ แต่เกิดขึ้นเมื่อปัจจัยเหมาะสม เช่นว่าถ้าเราอยากทำให้น้ำเป็นน้ำแข็งก็ต้องเอาไปแช่เย็น ถูกไหม? นั้นคือภาวะเหมาะสมที่จะทำให้เกิดน้ำแข็ง แต่ถ้าเอาน้ำตั้งไว้กลางห้องแล้วบอกว่าอยากให้เป็นน้ำแข็ง ไม่ได้หรอก ความเห็นอกเห็นใจก็เช่นกัน จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีปัจจัยที่เหมาะสม 

ดังนั้น โอกาสที่เราจะเห็นอกเห็นใจคนที่เราเกลียดถึงยากมากๆ เพราะความเกลียดชังขัดขวาง empathy อยู่ หรือให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้กระทำมันยากมากนะ เพราะตอนนี้ความรู้สึกเขาเต็มไปด้วยความคับแค้นใจจากการถูกกระทำ เป็นกลไกตามธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูกนะ 

ถ้าเราอยากเกิด empathy ต้องเริ่มจากยอมรับก่อนว่าเราไม่สามารถเกิด empathy ด้วยปัจจัยอะไร เข้าใจปัจจัยก่อน และถ้าเราสามารถกำจัดความโกรธความเกลียดก็จะสามารถเห็นอกเห็นใจเขาได้เอง เพียงแต่ตอนนี้ใจเราเต็มไปด้วยความโกรธ ก็เลยทำไม่ได้เท่านั้นเอง ไม่จำเป็นต้องไปฝืนตัวเอง แต่หาทางดูแลความรู้สึกเหล่านี้ให้ลดน้อยลง เมื่อถึงจุดหนึ่ง empathy ก็อาจเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ

คนกลุ่มหนึ่งที่กำลังเผชิญความเครียดเช่นกัน แต่มักถูกมองข้าม คือ เด็กและวัยรุ่น คุณสมภพพอจะมีคำแนะนำวิธีรับมือจัดการกับความเครียดให้พวกเขาไหม

ก่อนอื่นต้องรู้ตัวก่อนว่าเครียด แต่ผมไม่ค่อยอยากให้เป็นคำแนะนำกับเยาวชนเพราะว่าจะเป็นภาระเขา พูดตามตรงมันยากมากที่เด็กคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาจัดการความเครียดด้วยตัวเอง เพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดมันนอกเหนือการควบคุมเขา เช่น อยู่ในบ้านที่พ่อแม่จู้จี้จุกจิก คอยควบคุมด่าทอคุณ ถามว่าคุณจะหนีไปไหนได้เหรอ? บางคนมาเจอนักจิตวิทยายังไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ความเครียดของเด็กจำนวนมากมีปัจจัยเยอะเกินไปและไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวคนเขาคนเดียว นักจิตวิทยาอาจแนะนำว่าให้ลองทำแบบนี้สิ ซึ่งอาจจะหายเครียดชั่วคราว แต่สุดท้ายก็เครียดใหม่อยู่ดีเพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดยังคงอยู่

เราถึงต้องเปลี่ยนแปลงอะไรที่มากกว่าตัวบุคคล บางทีนักจิตวิทยาอาจจะเรียกพ่อแม่มาคุยด้วยถ้าเขายินยอม แต่พ่อแม่บางคนก็ไม่รู้ตัวนะ ว่าตัวเองเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกเกิดปัญหาสุขภาพจิต ถ้าพ่อแม่คนไหนเข้าใจก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ลูกดีขึ้น แต่ถ้าไม่ แล้วมองว่า ‘ปัญหาอยู่ที่ลูก ลูกต้องไปรักษาไปบำบัด’ ไปที่ไหนก็ไม่หายหรอกครับ เพราะพ่อแม่ไม่เข้าใจว่าปัญหาไม่ใช่ของลูกคนเดียว มันเหมือนปัญหาของปัจเจกมันไม่เคยเป็นของเขาคนเดียวเลยนะ มันเป็นภาพสะท้อนปัญหาทางสังคม แต่มันอาจจะไกลเกินกว่าที่จะไปถึง เราเลยต้องตั้งต้นที่ปัจเจกก่อน

ผมไม่ได้หมายความว่าเป็นเพราะพ่อแม่นะที่ทำให้ลูกมีปัญหา เพียงแต่อยากสื่อสารว่าให้มองปัญหาว่าไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้อง 

ความเครียดของลูกไม่ใช่แค่ปัญหาของลูกที่เกิดจากตัวลูก แต่เป็นปัญหาของทุกคนในครอบครัวที่ต้องช่วยกันและไม่มองว่าเกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง

คุณสมภพเคยพูดถึงบทบาทของผู้ให้คำปรึกษาที่เปลี่ยนไป โดยปกติคนกลุ่มนี้จะทำงานเชิงปัจเจก คือแก้ไขตัวเอง คุณสมภพตั้งข้อสังเกตว่าเริ่มทำงานเชิงระบบมากขึ้น เพราะอะไรถึงสนใจประเด็นนี้ 

ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองคนหนึ่ง เรามีหน้าที่ต่อสังคมอยู่แล้ว อันดับแรก คือ การสำนึกรู้ว่าเรามีพื้นที่สาธารณะที่รับผิดชอบร่วมกัน การที่คุณไม่ไปทิ้งขยะหน้าบ้านคนอื่น ก็ถือว่าคุณรับผิดชอบต่อสังคมแล้วนะ หรือเห็นอะไรไม่ดี ไฟถนนเสียแล้วแจ้ง นี่คือการทำหน้าที่พลเมืองคนหนึ่ง นักจิตวิทยาก็เป็นพลเมืองคนหนึ่ง เจออะไรที่ไม่โอเคที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตคน ผมว่าเราก็สามารถทำหน้าที่ได้เลย

ส่วนสเต็ปที่มากไปกว่านั้นในขอบเขตของนักจิตวิทยา ผมว่าคงเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ เริ่มตั้งแต่ในสถาบันการศึกษาเลยก็ได้ ซึ่งผมว่าขาดอยู่เยอะ เพราะไม่ได้มีวิชาจิตวิทยาในหลักสูตรของกระทรวงศึกษา ไม่ได้มีการสอนให้เด็กเข้าใจและจัดการอารมณ์ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ 

นอกจากนี้งานที่ผมคิดว่าเรายังเข้าไปมีส่วนร่วมน้อยคือ การเคลื่อนไหวทางสังคมจริงๆ อย่างเช่นการรณรงค์เชิงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต เราควรดูว่าสิ่งทั้งหลายที่เกิดในสังคมมีโอกาสกระทบกับความรู้สึกผู้คนหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการออกนโยบาย ระเบียบแบบนี้มันส่งผลต่อสุขภาพจิตประชาชนหรือเปล่า ส่งเสริมหรือทำให้คนแย่ลง ถ้ามันส่งผลเราก็ควรที่จะเรียกร้องได้นะ คุณไม่ควรทำแบบนี้มันทำให้คนเรามีปัญหาทางจิตใจเพิ่มมากขึ้น 

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมในแง่การบริหาร ผลักดันออกนโยบายที่เอื้อต่อสุขภาพจิตประชาชนมากขึ้น ที่ต่างประเทศเขาตระหนักรู้เรื่องนี้กันมากนะ เรื่องสุขภาพจิตอยู่ในทุกๆ อณูของชีวิตเรา ดังนั้น ทุกๆ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน คุณควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเข้าไปให้คำแนะนำด้วย เพราะนโยบายที่ออกมาแล้วไม่คำนึงถึงมิติจิตใจมันส่งผลกระทบได้นะ แม้กระทั่งนโยบายการเยียวยาที่ตั้งใจทำเพื่อช่วยเหลือคน แต่หากคุณทำให้มันซับซ้อนเกินไป ก็จะทำให้คนที่ทุกข์อยู่แล้วทุกข์ยิ่งกว่าเดิม 

ถ้าเรามีความรู้ด้านสุขภาพจิตจะรู้ว่า เฮ้ย ในภาวะแบบนี้คุณควรจะทำให้มันง่ายที่สุด ซับซ้อนน้อยที่สุด ทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายที่สุด ไม่ใช่ไปกีดกันสร้างความซับซ้อนเพื่อป้องกันคนที่ไม่เกี่ยว ไม่มีสิทธิ์ แต่คุณอาจลืมไปว่าพอมันซับซ้อนมันก็กระทบกับกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ 

นอกจากโควิด – 19 ที่ทำให้เรามีปัญหาสุขภาพจิต ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหรือไม่ที่ส่งผล

เพราะปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่แค่เรื่องของเจ้าตัว ‘ฉันคิดไม่ดี เลยมีปัญหาทางจิตใจ’ แต่เป็นเรื่องสภาพแวดล้อมพอสมควรเลยนะครับ ซึ่งเราจะละเลยปัจจัยเหล่านี้เพราะมองว่าควบคุมไม่ได้ โอเค บางอย่างอาจควบคุมไม่ได้จริงๆ เลยเริ่มตั้งต้นแก้ไขที่ตัวเราเอง กลายเป็นว่าพอเรามาหมกหมุ่นกับตัวเอง เกิดความรู้สึกว่าเราแย่ ลืมมองว่าข้างนอกมีผลยังไง ฉะนั้น มองให้รอบด้านที่สุด ค่อยๆ ทำงานกับมันไปที่ละส่วนเท่าที่จะเป็นไปได้ เท่าที่ชีวิตตอนนี้เอื้ออำนวย

การมีรัฐสวัสดิการที่ดีก็อาจเป็นตัวช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตไปได้

ต้องบอกว่าใช่ครับ แต่ถามว่าปัญหาจะหมดไปไหม คงไม่หรอก เพราะนี่เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น การมีสวัสดิการที่ดี จะทำให้ไม่เราต้องมานั่งกังวลเรื่องเจ็บป่วย หรือปัญหาปากท้อง เพราะถ้าคุณยังมีปัญหาเหล่านี้คุณคงไม่มีเวลามาคำนึงว่า ‘คุณเกิดมาทำไม’ ไม่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายในชีวิต หรือหางานที่ทำให้คุณรู้สึกมีคุณค่า เพราะเรื่องจำเป็นที่สุดของคุณ คือ หาเงินเลี้ยงปากท้องในแต่ละวัน

ฉะนั้น การมีสวัสดิการทำให้คนไม่ต้องมาเครียดในเรื่องเหล่านี้ จะได้มีเวลามาครุ่นคิดเรื่องอื่นมากขึ้น มีเวลามาสร้างสรรค์สิ่งอื่นๆ หรืออาจค้นพบและจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นๆ

นอกเหนือจากสิ่งที่ได้พูดคุยกันไปแล้ว คุณสมภพมีอะไรอยากทิ้งท้ายไหม

ขอพูดเรื่องบริการสุขภาพจิตในประเทศไทยแล้วกันครับ บริการนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร แม้คุณตระหนักรู้ว่าตัวเองมีปัญหา ต้องการความช่วยเหลือ แต่การมาพบนักจิตวิทยาก็ไม่ง่ายเลยนะ ตามโรงพยาบาลรัฐก็ไม่ได้มีนักจิตวิทยาทุกแห่ง หรือไปโรงพยาบาลเฉพาะทางก็ไม่ได้การันตีว่าคุณจะได้พบนักจิตวิทยา ด้วยกระบวนการที่ซับซ้อน คือคุณต้องให้หมอวินิฉัยว่าคุณเป็นโรคอะไร ตัดสินใจว่าควรรักษาด้วยวิธีไหน ทานยาหรือคุยกับนักจิตวิทยา

บางคนเลยเลือกมาเอกชนเพราะง่ายกว่าไม่ซับซ้อน แต่ข้อจำกัด คือ เป็นบริการที่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำประเทยไทย สมมติมาเจอนักจิตวิทยาที่ Knowing Mind ครั้งหนึ่ง คุณต้องทำงาน 5 วัน ถามว่าจะมีใครที่มาเจอได้ ก็มีแค่คนกลุ่มหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง 

อาจจะมีบริการฟรี สายด่วนต่างๆ หรือองค์กรการกุศล ซึ่งเป็นความช่วยเหลือเบื้องต้น เพราะอาจไม่ได้ทำโดยนักวิชาชีพหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญมากพอ ถ้าต้องการเจอนักวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญจริงๆ มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อีกทั้งปัญหาสุขภาพจิตไม่เหมือนปัญหาร่างกายที่พอจะประเมินได้ อ้อ คุณขาหัก ต้องใช้เวลาเท่าไรกว่ากระดูกจะต่อเหมือนเดิม แต่ปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถบอกไม่ได้แน่ชัด การที่คนคนหนึ่งจะปรับเปลี่ยนความคิด มุมมองใหม่ กรอบเวลาก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ไม่ได้สรุปแน่ชัดว่าคุยแล้วต้องคุยอีกกี่ครั้ง ฉะนั้น การทำให้คนเข้าถึงบริการสุขภาพจิตให้ง่ายที่สุดคงจะดีครับ

Tags:

จิตวิทยาปม(trauma)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ความเครียดสมพร แจ่มจันทร์

Author:

illustrator

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยจากคณะแห่งการเขียนและสื่อมวลชน แม้ทำงานแรกในฐานะกองบรรณาธิการ The Potential หากขอบเขตความสนใจขยายไปเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และผู้ลี้ภัย แต่ที่เป็นแหล่งความรู้วัยเด็กจริงๆ คือซีรีส์แวมไพร์, ฟิฟตี้เชดส์ ออฟ จุดจุดจุด และ ยังมุฟอรจาก Queer as folk ไม่ได้

Related Posts

  • How to get along with teenager
    Teenage Burnout : ภาวะหมดไฟในวัยรุ่นวัย (หมด) ฝัน

    เรื่อง จณิสตา ธนาธรชัย ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to get along with teenager
    ในวันที่โลกดูสิ้นหวัง และตัวฉันที่กำลังจะหมดหวังกับตัวเอง : EP.3 “I am worth enough.”

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • How to enjoy lifeFamily Psychology
    SAND TRAY THERAPY: ปลดล็อคเรื่องเศร้าที่เล่ายากด้วยการบำบัดในถาดทราย

    เรื่อง

  • Family Psychology
    เคยเป็นลูกแบบไหน ก็จะเป็นแม่แบบนั้น

    เรื่อง ญาดา สันติสุขสกุล

  • Education trend
    ถึงเวลาเอาคะแนน ‘ยกมือตอบในห้อง’ ออกได้หรือยัง?

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

Posts navigation

Older posts
Newer posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel