Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: May 2020

หากโควิดบังคับให้ครูเปลี่ยน จะสอนออนไลน์ยังไงให้ป็อปและยังมีปฏิสัมพันธ์กับศิษย์อยู่?
Social Issues
29 May 2020

หากโควิดบังคับให้ครูเปลี่ยน จะสอนออนไลน์ยังไงให้ป็อปและยังมีปฏิสัมพันธ์กับศิษย์อยู่?

เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ มานิตา บุญยงค์

  • ไม่มีเจตนาจะลดทอนปัญหาที่ความไม่พร้อมทางเทคโนโลยีกำลังถีบให้าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากว้างขึ้น และไม่ได้จะบอกว่าครูต้องเปลี่ยนมาฝึกสอนออนไลน์ทั้งหมด เพราะนั่นแปลว่าเรากำลังผลักให้ความรู้ไปรวมศูนย์ที่โรงเรียนและครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ เราไม่เชื่อเช่นนั้น
  • แต่ในระดับปฏิบัติการที่ครูจำนวนหนึ่งต้องเปลี่ยนไปจับกับเทคโนโลยีและมีผลทันทีในวันนี้ เราอยากผลิตเนื้อหาที่ให้กำลังใจและช่วยถามทวนกับครูที่สอนออนไลน์อยู่ก่อนว่า หากต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบออนไลน์ (ซึ่งเราหวังว่ามันจะเป็นแค่วิธีการแก้ปัญหาระยะสั้น) ต้องทำอย่างไร มีเทคนิคอะไรให้ครูปรับใช้ง่ายๆ ในการเปลี่ยนผ่านที่ครูหลายท่านอาจกำลังทดท้อนี้

#การเรียนออนไลน์ และ จัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผ่านฟรีทีวี โดย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลฯ (DLTV) และ กสทช. ครอบคลุมทุกระดับชั้นการศึกษาขั้นพื้นฐาน-อาชีวศึกษา-กศน. โดยเริ่มออกอากาศวันที่ 18 พฤษภาคม นั้น ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์คุณภาพการศึกษา รูปแบบการสอน และ ความไม่พร้อมทางเทคโนโลยีที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายิ่งถ่างกว้าง 

ข้ามพ้นจากประเด็นดราม่า มองไปที่คุณครูในระดับปฏิบัติการ จะเห็นว่าตลอด 4 เดือนเต็มที่ครูจำนวนหนึ่งทำงานหนักแม้อยู่ในช่วงปิดเทอม ต้องประเมินสถานการณ์ทั้งดีและแย่ที่สุด ทั้งมีการเตรียมสื่อการสอนออนไลน์ในกรณีที่การเปิดเรียนวันที่ 1 กรกฎาคมเปิดไม่ได้จริง 

ครูจำนวนหนึ่งที่เคยมีขนบการสอน ฝึกปรือให้ทำงานกับนักเรียนแบบเห็นหน้า วันนี้คุณครูหลายท่านต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ อัปเดตเทคโนโลยีใหม่ รับมือกับข้อจำกัดผ่านการเรียนออนไลน์ — เด็กนั่งหลับหน้าจอ บ้านหนึ่งหลังมีคนหลายอายุ ทำยังไงให้ไม่ว่าใครก็เรียนรู้ ‘ความรู้’ พร้อมกันได้ ทำยังไงให้เด็กมีเอเนอจี้ ยังสนุกกับการเรียนที่ไม่เห็นคนจริงๆ อยู่ และอื่นๆ  

ประเด็นตั้งต้นคือ — หากโควิด-19 บังคับให้ครูในห้องเรียนต้องปรับตัวเปลี่ยนการสอน จะสอนออนไลน์ยังไงให้ป็อปและยังมีปฏิสัมพันธ์กับศิษย์อยู่? 

ประเด็นนี้ทำให้เรานึกถึงคุณครูกลุ่มหนึ่งที่จัดการเรียนรู้นอกห้องเรียน ลงทุนเครื่องมือของตัวเอง ทำอย่างสนุกสนาน มีผู้ติดตามแบบเรียลไทม์ engagement สูง และมีวิธีกระตุ้นให้อยากเรียนรู้ผ่านหน้าจอและติดตัวไปด้วยตลอดเวลา สำคัญที่สุด ครูกลุ่มนี้จัดการเรียนรู้แบบ ‘ไม่เห็นหน้านักเรียน’ เป็นส่วนใหญ่ The Potential ชวนครูพิเศษนอกห้องเรียน ที่สอนทั้งต่อหน้า ตัวต่อตัว แต่เน้นเผยแพร่ความรู้สาธารณะในโลกออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย ที่คนส่วนใหญ่อาจไม่คุ้นหน้าคุ้นตาแต่หากถามเด็กๆ ที่อยู่ในช่วงแอดมิชชัน หลายคนพยักหน้าบอกว่าเคยเรียนผ่าน live ทั้งไอจีและเฟซบุ๊กสั้นๆ ด้วย ได้แก่

ครูหวาน-สุรีพร อินทร์เมือง เจ้าของเพจ Kru Whan: English On Air ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 700,000 คน และประสบการณ์สอนมากกว่า 8 ปี โดยมีเนื้อหาตั้งแต่ช่วงม.ต้น ม.ปลาย และ คนทั่วไปที่อยากใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน 

ครูพี่แอน-วรินธร เอื้อวศินธร เจ้าของเพจ Perfect English กับครูพี่แอน และสถาบันสอนภาษา Learnovate

และ ครูฝ้าย-ชนิตร์นันทน์ พรมมา เจ้าของเพจ ชีววิทยาง่ายๆ By ครูฝ้าย และเปิดคอร์สสอนวิชาชีววิทยาทางออนไลน์ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 

เนื้อหาทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเจตนาจะลดทอนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่กำลังจะถูกปัญหาความไม่พร้อมทางเทคโนโลยีถีบให้กว้างขึ้น และไม่ได้จะบอกว่าให้ทุกแห่งเปลี่ยนมาใช้การเรียนออนไลน์ทั้งหมด เพราะนั่นแปลว่าเรากำลังผลักให้ความรู้ไปรวมศูนย์ที่โรงเรียนและครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ เราไม่เชื่อเช่นนั้น เพียงแต่ในระดับปฏิบัติการที่ครูจำนวนหนึ่งต้องเปลี่ยนไปจับกับเทคโนโลยีและมีผลทันทีในวันนี้ เราอยากผลิตเนื้อหาที่ให้กำลังใจและช่วยถามทวนว่า หากต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบออนไลน์ (ซึ่งเราหวังว่ามันจะเป็นแค่วิธีการแก้ปัญหาระยะสั้น) ต้องทำอย่างไร 

Kru Whan: English On Air

หนึ่งในครูสอนภาษาอังกฤษที่เรามักเห็นคลิปวิดีโอสั้นๆ ตัดมาให้เห็นในสตอรีผ่านอินสตาแกรม และ คลิปวิดีโอยาวแบบ live ในเฟซบุ๊ก คนหนึ่งคือ ครูหวาน จากเพจและช่องยูทูปชื่อ Kru Whan: English On Air หรือ english_kruwhan ในอินสตาแกรม ด้วยการจัดรายการที่สนุก มีเทคนิคการจำศัพท์ผ่านบทสนทนาจริง และการพูดคุยด้วยความเป็นกันเองแบบ ‘พี่สาว’ ไม่ใช่ครู และส่วนใหญ่เป็นคลิปวิดีโอที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ ที่แปลว่า ‘ดูฟรี’ 

จุดนี้ครูหวานบอกว่า “ต้องเล่าก่อนว่าพื้นเพของครูหวานเป็นครอบครัวที่ยากจนนะ เติบโตในครอบครัวชาวนา จึงเชื่อว่าการศึกษาจะเป็นตัวยกระดับชีวิตคนเราให้ดีขึ้น และเชื่อว่าการศึกษามันควรจะฟรีด้วย พอสอนหนังสือถึงจุดหนึ่งที่เทคโนโลยีมา เรียกว่า right place right time ในช่วงสอนหนังสือผ่านเฟซบุ๊กแรกๆครูได้ทดลองสอนในไลฟ์สดเฟซบุ๊กปรากฏว่ามีคนดูตั้งยี่สิบคน เลยคิดว่างั้นลองเปิดเพจเลยแล้วกัน ช่วงแรกเพจมีคนตามแค่ร้อย สองร้อยคน จากนั้นเริ่มเป็นหลักพัน แต่มีครั้งนึง เราเอาคอนเทนต์ในหนังสือที่เขียนเองมาแชร์ลงโซเชียล แชร์เสร็จก็เข้านอน ปรากฏว่าตื่นมาโพสต์นั้นมีคนแชร์ห้าหมื่นแชร์! เยอะมาก งงมาก หลังจากนั้นเหมือนเครื่องสตาร์ทติด ไม่กี่สัปดาห์กลายเป็นหลักแสน แล้วก็ค่อยๆ ไต่ขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ทุกโพสต์ตอนนี้ของเราเลยไม่กั๊ก คิดแบบบ้านๆ ว่าถ้าจะให้ก็ให้เต็มที่” ตอนนี้ครูหวานจึงมีไลฟ์สอนสดทั้งในเฟซบุ๊กและสตอรีไอจีเต็มอิ่มแทบทุกคืน 

เข้าประเด็นตั้งต้น เข้าใจว่าเวลาที่ครูอัดคลิปวิดีโอจะไม่มีคนนั่งเรียนอยู่ด้วย ครูหวานทำอย่างไรให้การเรียนการสอนยังมีชีวิต คนที่นั่งดูอยู่รู้สึกว่าได้สื่อสารกับครูจริงๆ 

ครูหวานเล่าว่า ด้วยความที่ตั้งแต่จบมาก็เป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษกับนักเรียนมาตลอด (ไม่นับรวมช่วงเวลา 6 เดือนสั้นๆ ที่ไปทำงานออฟฟิศ แต่เพราะลองทำแล้วไม่ชอบ จึงออกมาทำตามฝันที่อยากเป็นครูมาตั้งแต่เด็ก) ทำให้เธอรู้ว่านักเรียนของเธอเป็นแบบไหน มักจะมีคำถามอะไร พูดง่ายๆ ว่ามีประสบการณ์การสอนกับนักเรียนแบบสดๆ มาหลายปีจึงปรับมาใช้กับห้องเรียนทั้งสดและออนไลน์ของเธอ 

ข้อแรกเลย จินตนาการ สำคัญที่สุด 

“ครูจะจินตนาการว่ามีน้องๆ อยู่ข้างหน้าเรา กำลังนั่งและมองหน้าเราอยู่ อาจเป็นภาพนักเรียนเป็นน้อง ม.ต้น ผมสั้น น้องๆ ม.ปลายมัดผมหางม้า แต่หลังๆ มาจะจินตนาการว่านักเรียนกำลังทำอะไรสักอย่างแล้วเอาเราเข้าไปอยู่ด้วย เพราะเด็กจะบอกเราบ่อยๆ ว่า ‘ครูหวาน หนูกำลังซักผ้าอยู่แต่ก็ฟังครูไปด้วยนะ’ บางคนบอกว่า ‘ครูหวาน หนูเป็นพยาบาลกำลังเข้าเวร แต่ฟังครูอยู่นะ’ และก็ถ่ายรูปส่งมาว่ากำลังเรียนอยู่ เราก็จะนึกภาพตามแบบนี้เลย แล้วจินตนาการว่านักเรียนกำลังยิ้มหรือหัวเราะกับการสอนของเราอยู่ มันจะช่วยทำให้เรามีเอนเนอร์จี้และพลังในทางบวกมากๆ 

“พอเห็นนักเรียนอยู่ตรงหน้าแบบนี้ เวลาจะพูด จะคุย จะหัวเราะ จะเล่นมุก เราต้องมีช่องไฟ เช่น ‘อะไรนะคะทุกคน พูดพร้อมกัน หนึ่ง สอง ซั่ม!’ และครูก็จะเว้นจังหวะไปประมาณ สาม สี่ วินาที เพื่อให้เขาตอบ ซึ่งครูเชื่อว่านักเรียนทำจริงๆแน่นอน”

ข้อสอง น้ำเสียงต้องครื้นเครง พลังงานคนสอนต้องไม่ตก และ ความรู้สึกของนักเรียนแม้ไม่เห็นหน้า ก็สำคัญต่อการเรียนรู้ 

“ปกติเวลาสอน ครูจะถามเขาก่อนว่า ‘เป็นยังไง สบายดีมั้ย อากาศเป็นยังไงบ้าง’ และครูจะจำได้ว่าใครเป็นใคร จำชื่อไม่ได้นะแต่จำรูปโพรไฟล์ได้เพราะเขาจะเข้ามาดูไลฟ์เราซ้ำบ่อยๆ พอเขามาเราก็จะ ‘อ้าว มาแล้วเหรอ?’ บางคนพิมพ์บอกเราว่าเมื่อวานเขามาไม่ได้เพราะแม่เข้าโรงพยาบาล เราก็จะจดชื่อไว้ พอเขากลับมาใหม่ก็จะถามว่าแบบ ‘คุณแม่เป็นไงบ้าง’ ซึ่งเคสต์นี้ไม่ได้มีบ่อยๆ นะคะ แต่คร่าวๆ คือจะพูดคุยเรื่องทั่วไปกับนักเรียนก่อน พยายามจดจำนักเรียนเท่าที่ทำได้ อย่างไลฟ์สดในอินสตาแกรม หากครูเคยวิดิโอคอลคุยกับนักเรียนคนไหน เราก็จะพยายามจำเรื่องราวเขาให้ได้ พอเขากลับมาวิดิโอคอลคุยกับเราอีก เราก็จะถามเขาถึงเรื่องที่เคยคุยกันมา เขาก็จะแบบ ‘อ้าวครูหวาน จำได้ด้วยเหรอ!’

“ต่อมาคือครูจะแชร์เรื่องส่วนตัว เช่น “นักเรียนเห็นมั้ย วันนี้ครูไปทำสีผมมาใหม่นะ” หรือสร้างความเป็นกันเอง แบบ ‘แป๊ปนึงนะ ครูหวานขอเกาจมูกก่อน’ 

“ที่สำคัญมากๆ คือเอเนอจี้หรือพลังงานของครู ถ้าครูมีเรื่องเศร้าหรือเรื่องเครียดๆ ครูจะปรับอารมณ์ตัวเองก่อนเลย เราอยากให้เขามาดูเราแล้วรู้สึกว่า ครูยังแฮปปี้เลย แล้วทำไมเราต้องเรียนแบบเศร้าๆ น่าเบื่อๆ หรือมีบรรยากาศลบๆ จะอธิบายยังไงดี? คือเราเชื่อเรื่อง positive vibe นะ ความร่าเริงสดใสที่มาจากน้ำเสียงและเอเนอจี้ของครู นักเรียนจะรับรู้ได้ และอยากให้นักเรียนรับรู้ว่าเราพร้อมมาสอนเขาจริงๆ ครูเชื่อว่าครูผู้สอนจะมีอิทธิพลต่อผู้เรียนมากๆเลยค่ะ” 

ข้อสาม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันที่หน้าจอกั้นไม่ได้ ครูเป็นครูไม่ใช่โรบอท 

อีกหนึ่งความท้าทายของการเรียนออนไลน์คือปฏิสัมพันธ์ ครูจะรู้ได้ยังไงว่านักเรียนยังเรียนกับครูอยู่ เข้าใจหรือไม่ รู้สึกอย่างไร และถ้าไม่เข้าใจจะถามตอบได้อย่างทันท่วงที 

“เวลาสอนๆ ไป จะอ่านคอมเมนต์ค่ะ อ่านตลอดเลย หรือพยายามถามว่า ข้อนี้ตอบถูกมั้ย? ถ้าตอบถูกหรือผิดก็ส่งสติ๊กเกอร์มาให้หน่อย หรือถ้านักเรียนมีคำถามระหว่างเรียนก็จะพยายามตอบทันที แต่ถ้าเป็นคอมเมนต์แบบ ‘ครูเห็นเมนต์หนูมั้ย ทำไมไม่ตอบเลย’ ก็จะบอกว่า ‘ครูเห็นแล้วนะ แต่ครูตอบไม่ได้เพราะถ้าครูตอบหนู ครูจะหลุดเลย’ พอช่วงท้ายๆ ไลฟ์ก็จะถามว่า ‘ใครมีคำถามมั้ย? ถามมาเลยนะ’ ‘วันนี้เป็นไง สนุกมั้ย อยากให้ครูทำอะไรอีก?’ บางทีมีนักเรียนบอก ‘ครูหวาน วันนี้พ่อหนูมาเรียนด้วยนะ’ เราก็จะแบบ ‘อุ๊ย จริงเหรอ ฝากสวัสดีพ่อด้วยนะ’ คือจะมีการสื่อสารรายบุคคลพุ่งตรงไปหาเขาค่อนข้างเยอะ ส่วนเวลาสอนก็จะเล่าเรื่องตลกไปด้วย แล้วก็จะบอกเขาว่า ‘ถ้าหัวเราะส่งสติ๊กเกอร์หัวใจมานะ’ ถ้าเราได้สติ๊กเกอร์หัวใจเยอะๆ ก็แสดงว่าเขาตลกกับเรา ยังอยู่กับเรา 

“พยายามจะสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากที่สุด ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นโรบอท เรียนออนไลน์ก็จริงแต่ไม่อยากให้เรื่องนั้นมาเป็นอุปสรรค คือยิ่งเรามีปฏิสัมพันธ์กับเขา เขาก็จะยิ่งไว้ใจเรามากขึ้น อยากให้เขารู้สึกว่ามีเราอยู่เขาอุ่นใจ เขาจะรอดกับภาษาอังกฤษ มีความมั่นใจและมีทัศนคติที่ดีกับภาษาอังกฤษ รู้ว่าเราจะไม่ทิ้งเขา”

ทิ้งทายก่อนจากกันไป ครูหวานขอส่งกำลังใจถึงคุณครูที่กำลังปรับตัวกับการสอนแบบใหม่ ที่ต้องรับเอาเทคโนโลยีและออนไลน์เข้ามา จากที่เคยเห็นสายตาของนักเรียนทุกคนเป็นการเห็นผ่านหน้าจอแทน 

“ต้องขอเป็นกำลังใจ และขอขอบคุณคุณครูทุกคนแทนนักเรียนด้วยที่กำลังพยายามเปลี่ยนแปลง ปรับตัวกับวิธีการสอนใหม่ๆ เข้าใจเลยว่ายาก โดยเฉพาะตอนนี้เป็นยุคที่ถ้าเราทำอะไรผิดนิดนึง เราจะได้รับ feedback เร็วมาก ครูหวานเองยังเคยถูกฝรั่ง bully เลยนะว่าทำไมต้องแอ๊บสำเนียงด้วย เลยเข้าใจอารมณ์ของคุณครูมากๆ ว่ากำลังรู้สึกอะไรตอนนี้ 

“นอกจากอัปเดตเรื่องเทคโนโลยี คิดว่าการสอนออนไลน์ครูต้องยืดหยุ่น ครูต้องทนได้กับคำวิจารณ์ ถ้ามีข้อผิดพลาดตรงไหน เรารีบแก้ไขให้เร็วที่สุด ไม่อยากให้คิดว่า ‘อายจังเราสอนผิด’ ‘ฉันเป็นตั้งครู ทำไมสอนผิด’ ครูหวานก็สอนผิดเหมือนกัน แต่พอรู้แล้วก็รีบขอโทษนักเรียนและแก้ไข ต้องบอกว่านักเรียนสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว เขารู้เยอะมากและเก่งมากๆ ตรงไหนที่ผิดพลาดเขาท้วงติงเราทันทีเลย ‘ครูหวาน อันนี้ไม่ใช่นะ’ ซึ่งมันไม่เป็นอะไรเลยค่ะ เราบอกนักเรียนกันบ่อยๆ ว่า ‘ผิดไปเลยเพราะเราจะเรียนรู้จากความผิด’ ครูเองก็เหมือนกัน เป็นครูก็ผิดได้ สำคัญคือถ้าถูกท้วงติงมาแล้วเราแก้ไขและขอโทษนักเรียน เขาจะเห็นว่า ‘ครูคนนี้โอเคนะ ครูไม่มีอีโก้เลย’ ซึ่งเราคิดว่าครูแต่ละท่านไม่อยากวางตัวเองให้เข้าถึงยากอยู่แล้ว แต่เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเนอะ เราทำการบ้านล่วงหน้าก่อนมาสอน ความถูกต้องของเนื้อหาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดด้วยค่ะ” 

Perfect English กับครูพี่แอน

หลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตาครูพี่แอนจากคลิปสอนภาษาในอินสตาแกรมที่ชื่อว่า krupann.english กับการวาดลวดลายสอนภาษาด้วย energy เหลือล้นและ acting ที่เล่นใหญ่ระดับรัชดาลัยเธียเตอร์ ทำให้คนดูได้ส่งเสียงหัวเราะขณะดูคลิปและได้รับความรู้ตรงสโลแกนการสอนที่ครูพี่แอนตั้งไว้ว่า ‘คนดูจะต้องสนุกพร้อมๆ กับได้รับความรู้’ 

“ตอนอยู่ ม.5-ม.6 ด้วยความที่ชอบภาษาอังกฤษมาก (ลากเสียง) เราเลยรับสอนให้น้องๆ อายุประมาณ 13-14 เริ่มจากเด็กข้างบ้านก่อนเลย สอนแบบตัวต่อตัว ชั่วโมงละ 50 หรือ 100 บาท อะไรก็ว่าไป เรารู้สึกว่าทำแล้วมีความสุข ได้เห็นเด็กประสบความสำเร็จจากสิ่งที่เขาเรียนรู้กับเรา ทำให้เราอยากที่จะเดินต่อในทางนี้

“เด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบภาษาอังกฤษเพราะรู้สึกยาก เลยตั้งกำแพงกับมัน เราพยายามทำให้การเรียนภาษาอังกฤษมันง่ายที่สุด ถ่ายทอดให้เหมือนเพื่อนคุยกับเพื่อน ไม่ใช่ถ่ายทอดแบบครูคุยกับนักเรียน เพราะถ้าเราทำตัวเป็นครูจริงจังซีเรียสมากๆ เด็กจะรู้สึกว่ามันเหมือนเรียนที่โรงเรียนเลย ที่เขารู้สึกเกร็ง เครียด กลัวผิด แต่พี่แอนจะปรับให้นักเรียนทุกคนมองเราว่า ‘เฮ้ย เราเป็นเพื่อนกันนะ’ เหมือนเวลาเรานั่งอยู่หน้าห้องสอบ เรียนกับครูมาทั้งเทอมไม่เข้าใจเลย แต่พอเพื่อนติวให้หน้าห้องสอบชั่วโมงเดียวกลับเข้าใจทันที เราอยากเป็นเพื่อนคนนั้น”

ปรับหลักสูตร เน้นพื้นที่ให้ว่างเข้าไว้ เด็กๆ จะมีสมาธิจดจ่อกับมัน

“เคยเห็นหนังสือเรียนทั่วไปใช่ไหม ที่เปิดขึ้นมาแล้วเจอ text  เต็มไปหมดเลย แค่ดูก็รู้สึกง่วงแล้ว ยิ่งถ้าเรียนออนไลน์อีก หลับดีกว่า”

คำถามที่ครูพี่แอนเจอบ่อยมากเมื่อครั้งเริ่มสอนออนไลน์แรกๆ ‘จะเรียนรู้เรื่องหรือเปล่า?’ ‘ถ้าสงสัยต้องทำยังไง ถามได้ไหม?’ ครูพี่แอนบอกว่า เนื้อหาที่สอนต้องทำให้เข้าใจง่ายที่สุด ถ้าเนื้อหายากทฤษฏีเยอะ สิ่งที่ตามมาคือเด็กหลับแน่นอน เพราะเด็กนั่งมองจออย่างเดียว ไม่ได้ขยับไปไหน ไม่เหมือนการนั่งในห้องเรียนที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับครู แล้วตัวครูสามารถเดินไปดูนักเรียนรายคนได้ ครูพี่แอนย้ำว่า การเรียนออนไลน์สิ่งที่จำเป็นต้องปรับมากที่สุด คือ หลักสูตรหรือวิธีเรียน

“เด็กๆ ส่วนใหญ่ชอบเปิดหนังสือมาแล้วเจอกับความโล่ง หรือ รู้สึกว่าหน้ากระดาษดูโล่ง ตัวหนังสือน้อยๆ มีช่องให้เติมคำตอบเยอะๆ เขาจะเกิดความรู้สึกว่า ‘เอ๊ะ ตรงนี้ต้องเป็นอะไรนะ’ ‘ช่องนี้ต้องเติมคำว่าอะไร’ เด็กชอบเติมค่ะ เขาไม่ชอบเห็นช่องว่างๆ เขาจะเกิดความสงสัยใคร่รู้ ขอเขียนหน่อยนะ และต้องมีกิจกรรมให้เขาได้ทำ ได้สนุกระหว่างเรียนกับเรา การปรับหลักสูตรหรือปรับวิธีเรียน อาจจะต้องทำการบ้านเยอะหน่อย ครูบางคนอาจจะรู้สึกว่า ‘ตาย ฉันต้องมาทำหลักสูตรใหม่จริงๆ เหรอ’ ใช่ค่ะ เราต้องทำเพื่อเด็ก”

ลองใช้น้ำเสียงหลายๆ โทน แอคติ้งเยอะๆ ส่งต่อพลังงานบวก

เวลาดูคลิปครูพี่แอนสอนภาษาอังกฤษ จุดเด่นอย่างหนึ่งที่เราเห็นชัด คือ ความตลกและเล่นใหญ่ ครูพี่แอนเล่าว่า ด้วยนิสัยเธอเป็นคนเฮฮาอยู่แล้ว ชอบสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนอื่น มันเลยสะท้อนมายังสไตล์การสอนที่ตลก ช่วยดึงเด็กไว้ที่หน้าจอ แต่ไม่ได้หมายความว่าครูทุกคนต้องสอนแบบเธอ ขึ้นอยู่กับสไตล์ความชอบของครูแต่ละคน เพียงแต่เวลาสอนออนไลน์ ถ้าสอนแบบเดิมๆ เหมือนในห้องเรียนปกติ ยืนหน้ากระดานพูดๆ ชี้ๆ ให้นักเรียนดู เด็กจะเบื่อและไม่โฟกัสกับการเรียน 

“เราเคยสังเกตไหมว่าทำไมเวลาเด็กดูพวกรายการตลก เด็กดูกันได้เป็น 10-20 นาที ไม่เบื่อเลย เพราะมันตลกไง การสอนออนไลน์ครูอาจจะต้องปรับเพื่อนักเรียนนิดหนึ่ง acting ต้องมากขึ้นหน่อย เช่น น้ำเสียงที่ใช้ ‘ใช่ไหมคะนักเรียน! (เสียงสูง)’ ‘มันเป็นอย่างงี้ไง! (เสียงตื่นเต้น)’ หรืออาจจะมี acting เป็นสองตัวละคร ซึ่งก็แล้วแต่ครูเลยสไตล์ใครสไตล์มัน 

“อย่างพี่แอนจะคิดเสมอว่า ถ้าเพื่อเด็ก เราจะกลายเป็นคนตลก ดูหลุดๆ บ้าง พี่แอนทำได้ ขอให้เด็กเรียนรู้เรื่องเหมือนดูหนังเรื่องหนึ่ง”

นอกจากลองปรับคาแรคเตอร์ในการสอน เพิ่ม acting แล้ว ความท้าทายอีกอย่างของการสอนออนไลน์ คือ คนสอนจะไม่รู้ว่าคนที่เรียนกับตัวเองเป็นใคร เขามีพื้นฐานความรู้มากน้อยแค่ไหน เข้าใจสิ่งที่คนสอนสื่อสารหรือไม่ ครูพี่แอนก็เห็นตรงกันกับครูหวานว่า นี่ก็เป็นการบ้านที่คุณครูต้องฝึก เวลาอัดคลิปให้ครูลองจินตนาการถึงเด็กที่จะเข้ามาเรียนในคลาส

“ตอนแรกจะรู้สึกแปลกนิดหนึ่งนะ เพราะปกติเราเคยสอนอยู่ต่อหน้านักเรียน เห็นนักเรียนจริงๆ พอตอนนี้ต้องสอนแบบมีจินตนาการสูงมาก มันก็เกิดคำถามว่า ‘ฉันคุยกับใครวะ? นี่มันคอมพิวเตอร์’ วิธีแก้คือเราก็จะเตรียมคำพูดไว้เลย เช่น ‘ใช่ไหมลูก!’ ‘ถูกต้องนะคะ!’ ‘เก่งมากค่ะลูก! นักเรียนตบมือให้ตัวเองค่ะ’ คือมันจำเป็นต้องมี acting แบบนี้จริงๆ ในการสอนออนไลน์

“แล้วต้องมีการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนเรื่อยๆ ด้วยนะ เช่น บอกนักเรียนว่า ‘นักเรียนทุกคนรู้ไหมว่าเราเรียนกันมาชั่วโมงหนึ่งแล้วนะ เร็วมากนะ ทุกคนหยิบมือขวาขึ้นมาจับบ่าตัวเอง แล้วตบบ่าตัวเอง แล้วบอกว่าฉันเก่งมากเลยเรียนมาได้ตั้งครึ่งชั่วโมงแล้วนะ ประสบความสำเร็จแล้ว’ คือต้องมีวิธีการพูดที่ทำให้เด็กรู้สึกว่า ฉันเก่ง ฉันทำได้ ทำแบบนี้ได้จินตนาการเราต้องมา”

ที่ครูพี่แอนเน้นย้ำกับตัวเองตลอด คือให้จินตนาการถึงความรู้สึกของเด็กๆ ที่เรียนอ่อนที่สุด การจดจ่อกับออนไลน์สั้นที่สุด 

“ต้องนึกถึงเด็กหลายๆ แบบด้วย เด็กบางคนเรียนไป 10 นาทีจะเริ่มเหนื่อยละ เราก็ต้องเตรียมคำพูดว่า ‘ลูกๆ เรื่องนี้อาจยากนิดหนึ่งนะ เข้าใจเลย เพราะพี่แอนตอนเรียนเรื่องนี้แรกๆ ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ถ้าใครไม่เข้าใจไม่เป็นไร เดี๋ยวเรามาฟังกันอีกรอบหนึ่ง’ เด็กกลุ่มนี้จะรู้สึกว่า ‘ เออ ครูเข้าใจหนู หนูไม่เข้าใจจริงๆ’ ส่วนเด็กที่เข้าใจแล้วเราก็จะบอกเขาว่า ‘ถ้าใครเข้าใจแล้วลูกๆ อย่าเพิ่งเบื่อที่จะฟังนะ เราจะต้องไปพร้อมๆ กับเพื่อน ไม่ทิ้งกัน’ เราต้องจินตนาการว่า มองไปทางนี้เห็นเด็กที่เข้าใจ มองไปอีกทางเห็นเด็กที่ไม่เข้าใจ 

“แต่วิธีการสอนแบบนี้มันก็ไม่ได้มาง่ายๆ นะ บางคนที่ไม่มีอาจจะต้องฝึก เริ่มจากสมมติว่าตัวเองเป็นนักเรียนคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในห้องเรียน และต้องเป็นเด็กนักเรียนที่ไม่เก่งที่สุดด้วยนะซึ่งเราต่างเคยรู้สึกแบบนั้นสักครั้งหนึ่งในชีวิตที่เดินเข้าห้องไปแล้วเรียนไม่รู้เรื่องอะไรเลย มันทรมานแค่ไหน อึดอัดอย่างไร ให้ลองคิดถึงเด็กที่เขาจะรู้สึกแบบนั้น”

เก็บคำหรูหราทางการไปก่อน ลองใช้คำง่ายๆ หยิบสิ่งของรอบตัวมาประกอบการสอน

“เรารู้สึกว่าพอใช้ภาษาง่ายๆ แล้วใส่ acting ให้มันหน่อย มัน relate กับเด็กมากกว่า อย่างวันก่อนพี่แอนสอนเรื่อง don’t blow it คำว่า blow แปลว่าเป่าใช่ไหม เราก็เอากระดาษมาฉีกให้นักเรียนดู นักเรียนก็แบบ ‘พี่แอนทำอะไรอะ?’ พอเห็นว่าเราทำอะไรแปลกๆ เขาจะเริ่มโฟกัสแล้ว เราก็บอกว่า ‘ดูนะว่าถ้าพี่แอนเป่ากระดาษอันนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น’ พอเป่าปุ๊บ กระจายปั๊บ พี่แอนก็จะบอกว่า ‘ฉะนั้น don’ blow it แปลว่าอย่าทำเละ’ ก็จะกลายเป็นภาพจำของเด็กทันที พอได้ยินว่า don’t blow it ภาพกระดาษเละลอยขึ้นมา ถ้าสอนแค่ว่า don’t blow it แปลว่า อย่าทำพัง ซึ่งเด็กจำไม่ค่อยได้หรอก สอนไปหนึ่ง 1 นาทีเด็กก็ลืมแล้ว แต่ถ้าคุณรู้จักที่จะเอา material ที่อยู่ข้างๆ อย่างทิชชูมาใช้ เอาสิ่งที่รอบตัวมาเล่นให้เยอะๆ อันนี้สำคัญมากที่จะทำให้นักเรียน engage เราได้ หลักการก็คือ การทำอะไรก็ได้ให้เด็กรู้สึกว่าภาษามันเป็นเรื่องง่ายๆ”

“สังเกตง่ายๆ ถ้าเราสอน 10 นาทีเด็กเริ่มหาย แสดงว่าเราสอนน่าเบื่อ แต่ถ้าเราสอนไปชั่วโมงหนึ่งเด็กยังอยู่ แสดงว่าอันนี้เวิร์ค โอเค อันนี้ก็เป็นวิธีสังเกตการสอนของเรา”

อ่านมาถึงตรงนี้คุณครูหลายคนคงรู้สึกเหนื่อยกับการสอนออนไลน์ ครูพี่แอนเองก็เข้าใจพร้อมกับขอส่งกำลังใจให้กับครูทุกคน เธอบอกว่า การสอนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ครูต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ ทำให้ระหว่างทางครูอาจจะเหนื่อยและท้อ

“มีคนถามเหมือนกันนะว่า พี่แอนไลฟ์สอนทุกวันไม่เหนื่อยเหรอ? เหนื่อยนะ แต่พอเห็นเด็กๆ ที่เรียนกับเราส่งคำศัพท์ที่เขาจดมาให้ดู แล้วบอกว่าได้จากพี่แอน มันรู้สึกหายเหนื่อยเลย เด็กได้รับความรู้จากการสอนของเรา มันตอบแทนสิ่งที่เราทำที่เราเตรียมมาทุกคืน พี่แอนอยากบอกคุณครูว่า การได้เห็นเด็กๆ เอนจอยไปกับการเรียนที่เราเตรียมไว้ให้ ได้เห็นเขาเรียนอยู่บ้านอย่างมีความสุข นั่นคือสิ่งที่ตอบแทนความเหนื่อยของครู พี่แอนอยากให้ครูมองว่า สิ่งที่เราทำๆ ไปเพื่อเด็กๆ พวกเขาคืออนาคตของชาติ”

ชีววิทยาง่ายๆ By ครูฝ้าย

อ่านเทคนิคของครูสอนภาษาแล้ว ลองมาอ่านเทคนิคของครูวิทยาศาสตร์กันบ้าง ครูฝ้าย เจ้าของเพจชีววิทยาง่ายๆ By ครูฝ้าย ครูฝ้ายเคยเป็นครูสอนในโรงเรียนก่อนที่จะออกมาสอนเอง ทำให้เธอมีประสบการณ์สอนทั้งสองแบบ เธอบอกก่อนเลยว่า การสอนทั้งสองแบบใช้ทักษะต่างกันมาก 

“ทักษะการพูดการสอนในห้องเรียนกับการไลฟ์สด หรือแม้แต่การติวในห้องประชุมใหญ่ๆ มันคนละทักษะกันเลยนะ ถึงจะใช้เนื้อหาเดียวกันสอน แต่มันไม่เหมือนกันเลย ทำให้ครูบางคนเขาถึงรู้สึกแย่กับการสอนออนไลน์ ทั้งๆ ที่สอนห้องสดเขาก็สอนเก่ง ฝ้ายเคยมาหมดแล้วเลยรู้ว่ามันใช้คนละทักษะจริงๆ แล้วอะไรก็ตามที่เป็นทักษะมันต้องใช้เวลา ช่วงแรกๆ คนส่วนใหญ่กลัวหมดแหละ

“เรื่องที่แตกต่างชัดเจนคือเรื่องปฏิสัมพันธ์ ไม่ใช่การสอนออนไลน์มันไม่มีเลยนะ มันมี แต่แค่เปลี่ยนรูปแบบจากที่เราสังเกตสีหน้า ท่าทาง เข้าใจหรือไม่เข้าใจเด็กจากการมองเห็น face-to-face มันจะเป็นเปลี่ยนถามด้วยการพิมพ์ลงไป เช่น อย่างไลฟ์สดในเฟซบุ๊กก็จะมีการถาม ‘เข้าใจไหมคะ’ ให้เด็กพิมพ์ตอบหรือกดหัวใจ กดหน้าเศร้าแทน คือพยายามคิดรูปแบบการตอบโต้กับเรา ให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กลับคืนมา

“การดึงเด็กให้อยู่กับเราให้ได้อันนี้สำคัญมาก เพราะว่าในห้องเรียน เราสามารถควบคุมชั้นเรียนและทำให้เด็กสนใจเราได้ง่าย แต่สมาธิของเด็กเรียนออนไลน์นั้นพร้อมจะหลุดไปตลอด วิธีแก้ของฝ้ายคือ จะหากิจกรรมมาให้เด็กทำช่วงท้ายคลิป เช่น แจกของต้นคลิป ให้กับเด็กที่ตอบถูก และสุ่มแจกของอีกครั้งกับเด็กที่อยู่กับเราถึงท้ายคลิป โดยกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์จะเปลี่ยนไปแล้วแต่ครูจะคิดกิจกรรมอะไรก็ได้

“ฝ้ายมองว่าการเรียนมันจะให้ทางเดียวไม่ได้ ต้องได้รับกลับมาด้วย ไม่งั้นจะเป็นการยัดเข้าไป โดยที่เราไม่สนใจว่าเด็กจะได้-ไม่ได้หรือเปล่า” 

ตัวช่วยหนึ่งที่จะช่วยครูได้ คือ การฟังฟีดแบคเยอะๆ โดยเฉพาะจากเด็กๆ ที่สอน เขาจะเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญ อย่าไปกลัวฟีดแบคของเด็กๆ 

“ตอนแรกเราทำโดยที่ไม่ได้ตั้งรับเรื่องฟีดแบคเลย ซึ่งมันก็มีทั้งบวกและลบ เรื่องลบ มันกระทบจิตใจอยู่แล้ว แต่ถ้าสิ่งที่เขาพูดมันเป็นเรื่องจริง เราต้องพยายามคิดให้ได้ว่า ‘ดีแล้วที่เขาบอก เราจะได้ไม่พลาดซ้ำ’ คือต้องปรับความคิดที่ตัวเราให้ได้ แต่ถ้าอันไหนเป็นคอมเมนต์ที่ไม่จริงหรือเป็นความเห็น  เช่น ฉากไม่สวยเลย เปลี่ยนฉากใหม่เถอะ หรือ เคยมีคอมเมนต์ว่า ‘แต่งหน้าแบบนี้เหมือนร้องไห้อยู่เลย’ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ปล่อยผ่าน ปล่อยวาง”

เชื่อมเนื้อหาทฤษฏีให้เข้ากับชีวิตประจำวันของเด็กๆ 

เป็นหลักการสอนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะห้องเรียนสดหรือสอนออนไลน์ เนื้อหาที่สอนเด็กสามารถ relate กับชีวิตประจำวันของเขาได้ ครูฝ้ายบอกว่า เธอเองก็เอาองค์ความรู้วิชาชีวะมาทำให้มันใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของนักเรียน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อย่างเช่น เรื่องเชื้อโรคต่างๆ หรือเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในร่างกายคน

“บางครั้งการเกริ่นนำอย่างเช่น เม็ดเลือดขาวเปรียบเหมือนทหาร เชื้อโรคเปรียบเหมือนศัตรู หรือแม้กระทั่งคำศัพท์ในชีวะ เช่น ex ที่แปลว่าข้างนอก ฝ้ายก็จะเอาไปเทียบกับวง exo ที่ theme ของวง สมาชิกมาจากดาวนอกโลก เราพยายามทำเนื้อหาชีวะให้ย่อยง่าย แล้วทำทุกอย่างเหมือนเป็นการเล่าให้นักเรียนฟังอย่างสนุกสนาน

“ไปหา fact ที่มันตลกๆ เช่น โลมาชอบพี้ยาด้วยปลาปักเป้า หรือ สังเกตไหมว่าทำไมดาราคู่นั้นคบกันแค่ 3 เดือนก็เลิกกันแล้ว เด็กอาจจะบอกว่า ‘คนทั่วไป 3 เดือนก็เลิกกันแล้วไม่ใช่เหรอครู?’ เราก็จะบอกว่าอันนี้มันเป็นเรื่องของฮอร์โมนนะ โยงเข้าเรื่องฮอร์โมนในชีวะไปเลย คือทำให้เด็กรู้สึกอยากฟังต่อ ซึ่งตรงนี้ครูต้องเตรียมการสอนให้ดี โดยอาจเปรียบเทียบกับตัวเองง่ายๆ ว่าถ้าเราฟังตัวเองแล้วเราต้องไม่ง่วง เป็นใช้ได้

“ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ลีลาการสอน การใช้น้ำเสียง โทนเสียง เน้น content ให้น่าสนใจ และมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ส่วนเรื่องโปรดักชันอยากให้มองเป็นเรื่องรอง ตอนฝ้ายไลฟ์ครั้งแรกเราใช้แค่โทรศัพท์เครื่องเดียวเองนะ อาศัยสลับหน้าจอไปมาระหว่างหน้าเรากับหนังสือ แต่ก็มีเด็กดูตั้ง 200 – 300 คน ถ้าเนื้อหาดียังไงเด็กก็สนใจ

“การเริ่มต้นทำอะไรซักอย่างย่อมเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเราจะทำไม่ได้เลย เพราะว่าในอดีตเราก็เคยผ่านการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ยุคกระดานดำ เครื่องฉายสไลด์ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงครั้งแรก ดังนั้นมันอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัว เรียนรู้ แต่ครูฝ้ายเชื่อว่าคุณครูทุกคนจะสามารถทำสิ่งนี้ได้ เพราะเป้าหมายของการสอน ท้ายที่สุดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ก็เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้”

ไม่ว่าจะสอนออนไลน์หรือในห้องเรียนปกติ สิ่งสำคัญคือการโฟกัสที่นักเรียน เด็กมีหลากหลายแบบทั้งที่เข้าใจเนื้อหาผ่านการบอกเล่าได้เร็ว จดจ่อได้นาน หรือ เด็กที่สมาธิหลุดจากจอได้ง่าย เข้าใจเนื้อหาได้ยากต้องทวนบ่อยๆ วิธีเตรียมการสอนอาจเริ่มจากการมองเห็นว่าเด็กของเราเป็นอย่างไร เหมาะกับการสื่อสารแบบไหน เนื้อหาอาจเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด แต่ถ้าวิธีสื่อสารไม่ดีก็อาจลดความน่าสนใจของเนื้อหานั้นลง ยิ่งเป็นการเรียนแบบออนไลน์ สมาธิการจดจ่อของเด็กน้อยกว่าอยู่ในห้องเรียนทำให้ ครูอาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอนเพิ่มลูกเล่นให้กับมัน 

เนื้อหาในบทความข้างต้นเป็นเพียงคำแนะนำ เป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับสไตล์การสอนของครูแต่ละคน แต่อย่าลืมว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ทดลอง เราต่างก็เพิ่งเคยตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ อาจมีข้อผิดพลาดบ้าง อาจมีอุปสรรครออยู่เต็มไปหมด The Potential ก็อยากจับมือให้กำลังใจครูและนักเรียนทุกคนผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน

Tags:

เรียนออนไลน์ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)Social Issuesระบบการศึกษาเทคนิคการสอน

Author:

illustrator

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยจากคณะแห่งการเขียนและสื่อมวลชน แม้ทำงานแรกในฐานะกองบรรณาธิการ The Potential หากขอบเขตความสนใจขยายไปเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และผู้ลี้ภัย แต่ที่เป็นแหล่งความรู้วัยเด็กจริงๆ คือซีรีส์แวมไพร์, ฟิฟตี้เชดส์ ออฟ จุดจุดจุด และ ยังมุฟอรจาก Queer as folk ไม่ได้

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Illustrator:

illustrator

มานิตา บุญยงค์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่รักการวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ ฝากติดตามผลงานที่ IG : mntttk ด้วยนะคะ

Related Posts

  • Creative learning
    ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง : เคลื่อนมุมคิดจากโรงเรียนเป็นฐาน สู่เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ (Child Base Learning)

    เรื่อง ปริสุทธิ์

  • Social Issues
    เปิดเทอมใหม่ อย่าเพิ่งสอนวิชาการ เยียวยาเด็กและเพื่อนครูด้วยกันก่อน

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ มานิตา บุญยงค์

  • Life classroom
    อนาคตจะเดินต่อไปอย่างไร เส้นทางการเรียนจะเป็นแบบไหน – ความกังวลของวัยรุ่นช่วงโควิด-19

    เรื่อง ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา

  • Learning TheorySocial Issues
    โอกาสใน COVID-19: เปลี่ยนจากเรียนแบบเหมาโหล สู่บทเรียนส่วนตัวแบบเลือกได้

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Learning TheorySocial Issues
    STUDY FROM HOME รวมคอร์สเรียนออนไลน์ในและต่างประเทศ และแพลตฟอร์มสร้างห้องเรียนสำหรับครู

    เรื่อง ชลิตา สุนันทาภรณ์ ภาพ ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

มุมมองใหม่ในการรู้จักตัวเอง ผ่านการดูไพ่ทาโรต์
Everyone can be an Educator
27 May 2020

มุมมองใหม่ในการรู้จักตัวเอง ผ่านการดูไพ่ทาโรต์

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • “เราบอกคนอื่นว่าเราดูไพ่เชิงจิตวิทยา ก็เพราะเน้นสำรวจโลกภายในและกระบวนการทางจิตบำบัดเป็นหลัก ช่วงแรกที่เปิด คนส่วนใหญ่จะมาหาเพราะอยากดูดวงและอยากรู้อนาคตที่เกี่ยวกับโลกภายนอก ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องแก้ความชอบของคนอื่น แต่สามารถใช้สิ่งที่เขาชอบอยู่แล้วมาพลิกกลับ ไม่ก็เพิ่มเติมแง่มุมอื่นเข้าไป แต่เป็นเฉพาะกรณีที่เขาสนใจนะ วิธีคือใช้คำถามที่เขามาเปิดไพ่ไปสำรวจภายในตัวเขาต่อ”
  • “แต่ในอีกช่วงชีวิตหนึ่ง เขาไม่อยากทำ x แล้วหรือมันไม่มี x แล้ว เช่น เขาไม่อยากอยู่ในกรอบของพ่อแม่แล้ว หรือแฟนทิ้งเขาไปแล้ว มันก็ลิดรอนพลังใจของเขา หน้าที่อย่างหนึ่งท่ามกลางอีกหลากหลายหน้าที่ของเราคือ ช่วยเป็นฝ่ายค้าน เช่น ถามเขาว่า ถ้าไม่อยู่ในกรอบของพ่อแม่ทุกเรื่องแล้วจะเป็นลูกที่ไม่ดีเลย จริงหรือ? นอกกรอบบางเรื่องคุณก็ยังเป็นลูกที่ดีได้อยู่ใช่ไหม?”
  • “คิดถึงคำว่า Wounded Healer เพราะเราก็เคยมีบาดแผลจริงๆ การได้อ่านไพ่และทำบำบัดให้ผู้อื่น ทำให้เราเชื่อมโยงกับผู้คนในทางอารมณ์และความรู้สึกผ่านการสนทนากันอย่างมีความหมาย คำว่า ‘มีความหมาย’ ของเราแปลว่า คุยกันแล้วดื่มด่ำ เพิ่มพลังชีวิต โดยเฉพาะถ้าเราเห็นว่าเขาคลี่คลายจากทุกข์ เราจะรู้สึกมีพลังมาก”

พอต้องคิดว่าจะพูดคุยกับใครในคอลัมน์ใหม่ชื่อ Everyone can be educator ในคอนเซปต์ว่า ใครๆ ต่างก็เป็นนักจัดการเรียนรู้ สื่อสารการเรียนรู้ในมุมมองและความสนใจของตัวเองได้ ในหัวคิดขึ้นทันที หนึ่งในนั้นต้องเป็นหมอดู ซิ! 

ในชีวิตเราต้องเคยฟังเพื่อนเล่าเรื่องทุกข์ใจเรื่องเดิมซ้ำวน เราให้คำปรึกษาอย่างสุดตัว ฟังอย่างสุดใจ แต่เหมือนจะไม่ค่อยได้ผลเท่าไร ผลคือเพื่อนยังอยู่ในพรมแดนความเศร้าที่ดูจะขยายขอบออกไปเรื่อยๆ แต่พอเพื่อนไปคุยกับหมอดู (หลากศาสตร์มาก เลือกเอาที่ชอบได้เลย) เท่านั้น เพื่อนเราก็เหมือนถูกเยียวยาและพบทางออกโดยฉับพลัน 

ดีใจกับเพื่อนจริงๆ อยากรู้ว่าหมอดูมองเห็นอะไรในสิ่งที่เราไม่เห็นเพื่อนจึงดีขึ้นทันตาขนาดนี้ สอบถามไปและได้คำตอบมาทำให้เราต้องตบเข่าฉาด แสงสว่างที่หมอดูชี้ทางให้เพื่อนเราช่างดีงาม … “แม่ง ก็เหมือนที่ X พูดเดี๊ยะเลย ทำไมไม่มีผลกับ XX เลยอะ” 

ข้อสันนิษฐานคือ หลายครั้งเรามักเรียนรู้(จักตัวเอง) เชื่อมั่น ศรัทธา และ ยอมรับบางอย่างเพื่อแก้ไขและตัดสินใจได้ใหม่ ก็เพราะฟังในสิ่งที่หมอดูบอก มักอนุญาตให้ตัวเองเข้าสู่โลกวิญญาณและเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็นแต่เชื่อว่าสารนั้นเดินทางผ่านคนตรงหน้าจริงๆ คนที่เราเรียกรวมๆ ว่า ‘หมอดู’  

นี่แหละ educator ที่เราควรหาตัวละครมาพูดคุย เขาทำอย่างไรที่ทำให้คนๆ นึงเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ยอมรับ และเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงของชีวิตได้อีกครั้ง 

ภัทร-ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา คือคนนั้นที่เรานึกถึง เธอเป็นผู้เยียวยาแนวผสมผสาน ที่ใช้ “ไพ่” เป็นเครื่องมือพบปะและเข้าไปคลี่คลายปมปัญหาในใจให้กับผู้คน นอกจากนี้ เธอยังเป็นนักแปลอิสระ โดยเนื้อหางานส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางศาสนา จิตวิทยา และกฎหมาย ทำงานให้หลากหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศ (ด้วยดีกรีปริญญาโทพร้อม Merit ด้านศาสนศึกษาที่ SOAS University of London การอบรมหลักสูตรสายจิตวิทยาวิเคราะห์ของสถาบัน C.G. Jung และหลักสูตรนักจิตบำบัดต่อเนื่องแนวซาเทียร์ เป็นต้น) นอกจากนี้ยังมีงานสอนภาษา งานจัดอบรมเวิร์กชอปเชิงจิตวิทยาด้วย  

“เราบอกคนอื่นว่าเราดูไพ่เชิงจิตวิทยา ก็เพราะเน้นสำรวจโลกภายในและกระบวนการทางจิตบำบัดเป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันคนที่มาหาเราก็มาเพื่อสิ่งเหล่านี้เป็นหลักนะ แต่ในช่วงแรกๆ ที่รับเปิดไพ่ คนส่วนใหญ่จะมาหาเพราะอยากดูดวงและอยากรู้อนาคตที่เกี่ยวกับโลกภายนอก ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องแก้ความชอบของคนอื่น แต่เราสามารถใช้สิ่งที่เขาชอบอยู่แล้วมาพลิกกลับหรือไม่ก็เพิ่มเติมแง่มุมอื่นเข้าไป แต่เป็นเฉพาะกรณีที่เขาสนใจนะคะ 

ซึ่งวิธีก็คือใช้คำถามที่เขามาเปิดไพ่ไปสำรวจภายในตัวเขาต่อ เช่น เขารู้สึกนึกคิดกับมันอย่างไร เขามีความคาดหวังต่อคนอื่นหรือความคาดหวังต่อตนเองอย่างไร แล้วสิ่งเหล่านั้นกระทบตัวตนและพลังชีวิตเขาอย่างไร

“มองว่าไพ่เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง ท่ามกลางเครื่องมือและวิธีการอีกมากมายที่แต่ละคนสามารถใช้ทำความเข้าใจตัวเอง ไพ่เป็นเหมือนประตูบานหนึ่งที่ใช้เปิดไปสู่การคุยกันเรื่องโลกภายใน” 

ไม่ว่าจะเรียกภัทรว่าอะไร แต่สิ่งที่เราอยากค้นเอาจากภัทรคือ แม่หมอผู้เยียวยาใจที่ใช้ไพ่เป็นเครื่องมืออย่างเธอมักเจอคำถามอะไรจากผู้คน พอจะตั้งข้อสังเกตในทางจิตวิทยากับมันได้หรือไม่ และการดูไพ่สร้างการเรียนรู้ให้ผู้คนรู้จักตัวเองอย่างไร  

ทราบมาว่าคุณมีความรู้หลายศาสตร์ กฎหมายด้วย ตอนเรียนปริญญาตรีคุณก็จบด้านศิลปศาสตร์ เอกภาษาจีน งานแปลของคุณเล่มหนึ่งคือหนังสือนั่งคุยกับจิ๋ม (The Vagina Monologues) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความเคลื่อนไหวยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและ LGBT ตอนนี้คุณยังอ่านไพ่ผสมกับการทำจิตบำบัดด้วย ท่ามกลางงานหลายประเภท มาลงเอยที่งานชิ้นหลังสุดได้อย่างไร? 

งานนี้มันสอดคล้องกับข้างในเราที่สุด และถ้าถามว่าเราได้อะไรจากการอ่านไพ่? ทุกกรณีที่มาคุยกับเรา เขาเป็นครูเราหมดเลยนะ อีกอย่าง การเยียวยาคนอื่นก็คือเยียวยาตัวเอง เอาจริงๆ มันเป็นความตั้งใจอยู่ก่อนแล้วด้วยว่าเราอยากเป็นผู้ให้ในสิ่งที่เราไม่ได้ในวัยรุ่น แม้ว่าตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบันมีผู้ใหญ่หลายคนเมตตาเรามากเลย แต่ตอนเราเริ่มเป็นวัยรุ่น เราไม่เคยเจอผู้ใหญ่ที่สามารถไดอะล็อกกับเราในแนวตั้งคำถามเชิงเยียวยา ยิ่งช่วงมัธยมปลายนี่เจอบางกรณีแบบที่เรารู้สึกในตอนนั้นว่าอาจารย์ใช้จารีตโดยเฉพาะเรื่องเพศมาเป็นอาวุธเลย แม้ตอนนี้เราพลิกมองเรื่องนั้นในมุมที่เป็นบวกแล้วนะ ในช่วงมหาวิทยาลัย เราได้รู้จักการตั้งคำถามกับชุดความเชื่อที่มันลิดรอนคุณค่าของคนที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า เช่น ผู้น้อยและผู้หญิงในบางบริบท 

พอตอนนี้เราอายุมากขึ้น ได้มีโอกาสช่วยตั้งคำถามกับความเชื่อต่างๆ ที่กดทับคนที่มาคุยกับเรา ทำให้เขากลับมารับรู้คุณค่าในตัวเองได้ เราคิดว่าอันนี้ก็คือการที่เราได้เยียวยาตัวเอง

ตอนที่ได้รับคำถาม เราแวบคิดถึงคำว่า wounded healer ผู้เยียวยาที่มีบาดแผลนะ เพราะว่าเราก็เคยมีบาดแผลจริงๆ การได้อ่านไพ่และทำบำบัดให้ผู้อื่น ทำให้เราเชื่อมโยงกับผู้คนในทางอารมณ์และความรู้สึกผ่านการสนทนากันอย่างมีความหมาย คำว่า ‘มีความหมาย’ ของเราแปลว่า คุยกันแล้วดื่มด่ำ เพิ่มพลังชีวิต โดยเฉพาะถ้าเราเห็นว่าเขาคลี่คลายจากทุกข์ เราจะรู้สึกมีพลังมาก 

คุณมีความหลังฝังใจที่ทำให้อยากเป็น “คนนั้น ให้คนอื่น” หรือเปล่า ความหลังอะไรที่ทำให้สนใจงานด้านจิตใจในทุกวันนี้?  

เราเกิดมาพร้อมกับโรคประจำตัวหนักขนาดที่หมอแผนปัจจุบันซึ่งเก่งมาก บอกกับพ่อแม่เราว่าให้ทำใจนะ ในการหาทางรักษาแนวทางเลือก… พ่อแม่พาเราไปหาพระรูปหนึ่งซึ่งท่านมีความรู้ทางการแพทย์และมีทีมลูกศิษย์ ท่านเมตตาเรามาก สุดท้ายเราก็รอดนะ แต่รอดแบบสามวันดีสี่วันไข้ ทั้งที่วัยเด็กควรเป็นช่วงวัยที่ได้พัฒนาฐานกาย ต้องได้เล่นกับเพื่อนแบบใช้แรง แต่บ่อยครั้งเราเล่นลักษณะเดียวกับเพื่อนไม่ได้ เรามีวัยเด็กที่มักต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ก็ป่วยอยู่บ้าน และมีความทรงจำวัยเด็กเกี่ยวกับวัดเยอะมาก ถึงแม้เราจะชอบวัดและสถานที่โบราณๆ แต่บางทีที่ป่วยแล้วไม่ได้ไปเจอเพื่อนที่โรงเรียนเราก็เหงานะ ตอนเด็กก็มีบ้างที่รู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนวัยเดียวกัน   

ตอนนั้นเราตั้งคำถามว่าทำไมเราเป็นแบบนี้ แต่สิ่งที่ช่วยเราตั้งแต่เด็กเลยก็คือหนังสือธรรมะ หนังสือปรัชญา ซึ่งมันอธิบายที่มาที่ไปของเราได้ มันช่วยให้รู้สึกว่าความป่วยไข้ของเรามีความหมาย หนังสือธรรมมะจะมีคีย์เวิร์ดแนว ‘ความเจ็บไข้มาเตือนให้ฉลาด’ ‘ทำโรคให้เป็นลาภ’ ‘โอกาสเห็นความจริงแห่งทุกข์’ เลยรู้สึกว่าเราต้องหาสิ่งดีๆ ให้เจอในความทุกข์ใช่ไหม ณ เวลานั้นในอดีต หนังสือพวกนี้เป็นเพื่อนของเรา ซึ่งสำหรับเด็กคนหนึ่งในวันนั้น มันดีมากเลย 

เรียกว่าหนังสือธรรมะ ทำให้เราผ่านช่วงเวลานั้นมาได้?  

(พยักหน้า) แต่ตอนเป็นวัยรุ่นหนังสือและวงการ ‘ธรรมะ’ (ทำท่าใส่เครื่องหมาย นัยว่าภัทรตั้งคำถามกับมัน) ก็เริ่มทำให้เราไม่ชอบตัวเองด้วย เพราะพออายุ 15-16 เป็นต้นไปเราก็เริ่มมีแฟน มีการหว่านเสน่ห์อะไรตามเรื่อง (หัวเราะ) การอ่านหนังสือเหล่านี้มามาก ทำให้ลึกๆ รู้สึกว่าเราไม่ใช่ ‘คนดี’ ของศาสนาอีกต่อไปแล้ว  

แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราก็ได้เข้าใจแง่มุมศาสนาในเชิงอำนาจที่รัฐนำมาใช้ควบคุมประชากร อีกทั้งกระบวนการใช้ศาสนาในทางการเมืองผ่านพระราชบัญญัติต่างๆ และเห็นจารีตแบบชายเป็นใหญ่ที่ปะปนกับความเชื่อทางศาสนา ซึ่งเรามาศึกษาละเอียดขึ้นตอนเรียนป.โท แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราชอบศาสนาน้อยลงนะ กลับรู้สึกดีที่ได้เห็นแง่มุมศาสนามากขึ้น เพราะเราสามารถแยกศาสนาที่เป็นสถาบันกับเรื่องจิตวิญญาณได้ ซึ่งอย่างหลังเนี่ย เราว่าแต่ละคนศึกษาตามรู้กายใจเองได้โดยไม่ต้องเกี่ยวกับรัฐหรือจารีตประเพณี 

ความเชื่อเดิมเกี่ยวกับศาสตร์ดูไพ่ในการทำนายอนาคตของคุณคืออะไร 

อย่างที่บอก จุดประสงค์หลัก เราอยากใช่ไพ่เพื่อสร้างบทสนทนาให้คนเข้าใจโลกภายในตัวเองมากกว่า และในส่วนของการพยากรณ์เหตุการณ์ภายนอก คนอยากดูเราก็ดูให้ได้ หลายครั้งเราก็ดูให้ตัวเองด้วยนะ แต่เราไม่ได้เชื่อว่ามันพยากรณ์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แค่เชื่อว่ามันเปิดให้เห็น ‘แนวโน้มหรือความน่าจะเป็น’ บางอย่างในช่วงเวลานั้นๆ หรือช่วยสะท้อนข้อมูลจากจิตไร้สำนึกลงไปที่หน้าไพ่ซึ่งเป็นสสาร แต่ เราใส่ปัจจัยใหม่ๆ ลงไปเปลี่ยนแปลงแนวโน้มต่างๆ ได้เสมอ (เน้นเสียง) สิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุดจึงเป็นกรรมในปัจจุบัน กับ การรับมือทางจิตใจมากกว่า  

ดังนั้น แม้คนมาดูไพ่เพราะอยากรู้ว่าอนาคตจะสมหวังไหมในเรื่องนั้นๆ ไหม แต่ถ้าเขาสนใจอยากคุยต่อ เราจะเน้นคำถามว่าถ้าเขาได้ในสิ่งที่มาถามไพ่ แล้วเขาจะได้อะไร? ซึ่งอาจเผยให้เห็นอีกสิ่งที่เขาต้องการอย่างแท้จริงแต่เขาอาจจะยังไม่รู้ตัว แล้วก็จะเห็นทางเลือกอื่นด้วย ส่วนการวางแผนรับมือกับอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้น การสนทนากันและกระบวนการจิตบำบัดช่วยได้ 

‘กรรม’ ในมุมมองของคุณคืออะไร? 

ตามที่เราเชื่อนะ กรรมคือการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ถ้าเอาแบบขยายความอีกหน่อย เราจะอิงรายละเอียดจากหลักกรรม 12 ซึ่งจำแนกกรรมเป็น 3 หมวด ตามเวลาที่ให้ผล ตามหน้าที่ และตามความยักเยื้องหรือลำดับความแรงในการให้ผล นอกจากนี้ เราเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีเหตุปัจจัยมาจากอดีต แต่เหตุไม่เที่ยง ผลก็ไม่เที่ยงด้วย และที่สำคัญ เราเชื่อว่าในห่วงโซ่แห่งเหตุและผลที่ร้อยเรียงกันไปนั้น เราใส่ปัจจัยใหม่ๆ ลงไปได้เสมอ  

อยากให้ช่วยยกตัวอย่างการอ่านไพ่เชิงทำนาย และการใส่ปัจจัยใหม่ๆ ลงไป คืออย่างไร? 

อย่างที่บอก เราเห็นหน้าไพ่เป็นแค่แนวโน้ม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือกรรมในปัจจุบัน  เช่น สมัยก่อน เคยมีช่วงที่จะสอบกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งคนพูดกันว่าวิชานี้โหดมาก แต่เราไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือ เราก็เปิดไพ่ให้ตัวเองออกมาเป็นเดอะซัน ซึ่งเราตีความว่าสำเร็จ แต่ลองนึกดูนะว่า ถ้าเราไม่อ่านอะไรไปเลย ก็สอบอัตนัยตกอยู่ดีใช่ไหม? ดังนั้น หน้าไพ่เป็นแค่ความน่าจะเป็น แต่หากจะให้ได้ผลตามต้องการ ตามประสบการณ์ของเรากรณีส่วนใหญ่นั้นก็ต้องประกอบกับกรรมในปัจจุบันของเราด้วย 

ถามแทนคนที่มาดูส่วนใหญ่ซึ่งเขาอาจไม่ได้อยากคุยเชิงบำบัด แต่พุ่งเป้าอยากมาดูดวง อยากให้ไพ่ชี้ทางอนาคตเลย อยากรู้ว่าคนส่วนใหญ่เขามาด้วยเรื่องอะไรกัน? 

ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมาดูเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ หนึ่งในนั้นคือ เรื่องรักๆ ใคร่ๆ (ลากเสียงยาว/หัวเราะ) ชอบคนนี้ เดตกับคนนั้นดีไหม คนนั้นเขาจะกลับมาเลือกเราไหม และอื่นๆ 

ส่วนอีกเรื่องที่จะดูกันมากคือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนๆ นั้นกับพ่อแม่ เช่น ลูกที่โตแล้วซึ่งกำลังไม่มีความสุขในการอยู่ร่วมกับพ่อแม่ แต่ก็ไม่มั่นใจจะออกไปอยู่ที่อื่น เขารู้สึกว่าพ่อแม่ติดลูกมากและปฏิบัติต่อลูกไม่สอดคล้องกับวัยผู้ใหญ่ของลูก ถูกพ่อแม่แทรกแซงเกินพอดีจนไม่ค่อยได้มีโอกาสใช้ศักยภาพของตนเองแก้ปัญหา ซึ่งมันกระทบกับความนับถือตนเองของคนคนนั้น 

ส่วนประเด็นที่เห็นว่าหลายคนมีร่วมกัน คือวิธีการให้คุณค่าตัวเองโดยเอาไปอิงกับความสัมพันธ์ เช่น ความสัมพันธ์กับคนที่รักที่ชอบ หรือความสัมพันธ์กับพ่อแม่ 

ส่วนผู้ชายนั้น มีบ้างที่มาคุยเรื่องความรู้สึกซับซ้อนละเอียดอ่อน แต่ส่วนใหญ่จะมาดูเรื่องงาน ถ้าเป็นธุรกิจก็มักจะเกี่ยวพันกับคดีความ ผู้ชายมักจะถามหาวิธีต่อสู้สั้นๆ จากไพ่ ซึ่งเราก็จะเอาความต้องการของเขาเป็นเกณฑ์ คือถ้าไม่ต้องการคุยกับเราเรื่องจิตใจ แบบลึกๆ เราก็ไม่จำเป็นต้องคุย 

นอกเหนือจากการดูไพ่ เราก็จะให้ข้อมูลที่อาจช่วยให้ผู้มาหาสมหวัง ถ้าเรื่องไหนเราพอจะรู้ เช่น ถ้าเขามาดูไพ่เรื่องลูก ซึ่งอาจไปเรียนประเทศที่เราเคยไปเรียน เราก็แนะนำเรื่องการหา supervisor หรือการสอบ IELTS ได้ หรือถ้าเขามาดูไพ่เกี่ยวกับคดี เราก็ให้คำแนะนำเชิงกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เราเคยมีประสบการณ์ให้เขาทราบเพิ่มเติมด้วยü 

อยากทราบว่า ‘ไพ่’ ช่วยคลี่คลายความสัมพันธ์อย่างไร? 

อันที่จริง ความสัมพันธ์ที่ควรคลี่คลายอย่างแรก คือความสัมพันธ์กับตัวเอง ดังนั้น ต่อให้เขามาขอเปิดไพ่ดูเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น แต่ในจังหวะที่เขาสนใจ เราก็สามารถใช้ไพ่สำรวจเรื่องราวที่เขาเล่าให้ลึกลงไป และก็มักจะเห็นเงื่อนไขในใจผู้คนอย่างนี้ว่า ฉันต้องสัมพันธ์กับคนๆ หนึ่งในลักษณะหนึ่งเท่านั้น ฉันถึงจะมีอาหารใจและมีพลัง แต่ถ้าสถานการณ์พลิกไม่เป็นตามเงื่อนไข พลังใจก็หมด  

เช่น บางคนมีเสียงลึกๆ ในใจว่า “ฉันต้องอยู่ในกรอบที่พ่อแม่กำหนดให้ เพราะมัน เท่ากับ ฉันเป็นลูกที่ดีและมีคุณค่า” “เขาเป็นแฟนกับฉัน เท่ากับ ฉันมีคุณค่ามากพอ ฉันรู้สึกได้รับการยอมรับ” เห็นไหม มันมีสมการ “x เท่ากับ y” อยู่ ซึ่งในช่วงเวลาที่เขาได้ x เขาก็ยังได้ y ก็ยังรู้สึกมีพลัง ซึ่งในจุดนั้นเขาจะยังไม่มาหาเราหรอก และเขาจะเชื่ออะไรมันก็เป็นสิทธิ์ของเขา 

แต่ในอีกช่วงชีวิตหนึ่ง เขาไม่อยากทำ x แล้วหรือมันไม่มี x แล้ว เช่น เขาไม่อยากอยู่ในกรอบของพ่อแม่แล้ว หรือแฟนทิ้งเขาไปแล้ว มันก็ลิดรอนพลังใจของเขา หน้าที่อย่างหนึ่งท่ามกลางอีกหลากหลายหน้าที่ของเราคือ ช่วยเป็นฝ่ายค้าน เช่น ถามเขาว่า ถ้าไม่อยู่ในกรอบของพ่อแม่ทุกเรื่องแล้วจะเป็นลูกที่ไม่ดีเลย จริงหรือ? นอกกรอบบางเรื่องคุณก็ยังเป็นลูกที่ดีได้อยู่ใช่ไหม? 

สมมุติมีใครคนหนึ่งอยากบวช แล้วพ่อแม่ไม่อยากให้บวช คนนั้นฝืนพ่อแม่ด้วยการไปบวชและตั้งใจภาวนา นี่เขาขัดคำสั่งพ่อแม่นะ เลวมากเลย? อกตัญญูเลยหรือ? “ถ้าเขาไม่เป็นแฟนกับคุณแล้ว เพราะเขาอยากจะซั่มสาวอื่นไปเรื่อยๆ นี่มันเกี่ยวกับคุณค่าของคุณจริงหรือ? นี่คุณตั้งใจรักษาศีลมาขนาดนี้แล้ว คุณก็มีคุณค่าอยู่แล้วหรือเปล่า?” 

นี่เป็นตัวอย่างการตั้งคำถามในลักษณะฝ่ายค้าน ฝ่ายตรวจสอบ ซึ่งต้องสอดคล้องกับความเชื่อของคนที่มาด้วยนะ ถ้าเป็นคริสต์หรือคนที่ไม่ได้ยึดถือศาสนา เราก็อาจจะถามอีกแบบ และคำถามค้านพวกนี้บางทีก็ต้องใช้ตัวอย่างสุดโต่งเว่อร์ๆ ไปอีกด้าน เพื่อให้ความเชื่อเดิมที่ทำให้เขาทุกข์มันถูกกระตุก จะได้มีจุดเปลี่ยน  

ส่วนใหญ่คนที่เห็นสมการในใจตัวเองชัดขึ้น จะเห็นทางเลือกอย่างอื่น ถ้าเขารู้ว่าเขาต้องการ y เขาหาวิธีการอื่นให้ได้ y โดยไม่ต้องใช้ x ก็ได้ เช่น สมมุติว่าแฟนทิ้งเขาไป แล้วเขารู้สึกว่าแฟนไม่เอา เขาไร้ค่า พอเขาเห็นว่าตัวเองต้องการคุณค่า แล้วสนทนาเชิงบำบัดไปเรื่อยๆ ก็ไปเห็นการถือศีลของตัวเอง เขาก็เห็นว่าตัวเองมีคุณค่าด้วยวิธีถือศีลนี้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องได้คุณค่าจากคนอื่นก็ได้ เห็นแบบนี้เขาก็จะสัมพันธ์กับตัวเองดีขึ้นและอยากเปลี่ยนสถานการณ์ข้างนอกน้อยลง เช่น ไม่ต้องเอาความสุขไปขึ้นอยู่กับการให้แฟนกลับมา ทำให้ไม่ต้องไปพูดจาแบบโมโหดึงดันทะเลาะกันกับแฟนที่อาจจะไม่อยากอยู่กับเขาแล้ว ความสัมพันธ์ที่กลมกลืนกับตัวเอง จึงนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับคนอื่นได้

การดูไพ่ที่ใช้คำถามเพื่อไปค้นหาสมการในใจคนมีที่มาอย่างไร?  

จริงๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องเห็นสมการอย่างเดียวนะคะ บางคนอาจจะมีประเด็นแบบอื่น และเราก็มีวิธีการอีกหลายอย่างที่จะช่วยปลดล็อคใจให้ได้ ส่วนเรื่องสมการนี่ส่วนหนึ่งก็จับเทคนิคมาจากการอบรบเป็นนักจิตบำบัดแบบซาเทียร์ ซึ่งเราอบรมอย่างต่อเนื่องมาตลอด แต่อาจารย์ท่านก็ไม่ได้บอกว่า โอ้… มาถึงให้มานั่งแก้สมการอะไรแบบนี้ แล้วเราก็ไม่ได้ใช้แนวซาเทียร์อย่างเดียว แต่เราต้องขอบพระคุณอาจารย์ที่ท่านถ่ายประสบการณ์ทั้งชีวิตในงานด้านจิตเวชและงานบำบัดของท่านให้เรา เพราะเป็นฐานสำคัญของกระบวนการที่เรานำมาใช้ อธิบายซาเทียร์คร่าวๆ ก่อนคือ ซาเทียร์มีการใช้ภูเขาน้ำแข็งอุปมาให้เห็นภาพภายในจิตใจคน โดยบอกว่า น้ำแข็งที่ปรากฏเหนือน้ำนั้นเป็นเพียงสถานการณ์ภายนอกที่เกิดขึ้น 

เช่น พ่อแม่ตีกรอบชีวิต แฟนทิ้ง อันนี้เป็นแค่สถานการณ์เหนือภูเขาน้ำแข็งที่เราเห็นง่ายกว่า แต่ลึกลงไปภายใต้ภูเขาน้ำแข็งจะมีอะไรอื่นอีกมาก เช่น ความรู้สึก ความรู้สึกต่อความรู้สึกซ้อนลงไปอีกที ลึกลงไปยังมุมมองต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อเหตุการณ์ มีความคาดหวังต่างๆ ไล่ลงไปถึงชั้นล่างๆ จะเป็นอาหารใจหรือความปรารถนาที่แท้จริง (yearning) ที่ขาดหายไปในเหตุการณ์รบกวนใจ เช่น ต้องการความสงบ ต้องการการยอมรับ มนุษย์ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าพลังชีวิตลดลง เมื่อไม่ได้อาหารใจ 

การสะท้อนให้เขาเห็นและช่วยเปลี่ยนแปลงสมการเหล่านี้ มันช่วยเยียวยาไหม อย่างไร? 

เอาตามที่คนอื่นบอกเรานะ เขาบอกมันช่วยเขามาก ส่วนใหญ่ที่คุยกันจะมีจุดที่เขาร้องไห้ หลังจากร้องไห้ก็รู้สึกถูกชำระล้าง รู้สึกโล่ง เขาได้กลับไปสัมผัสคุณค่าที่เขามีอยู่แล้ว เพราะเขาได้ปลดเงื่อนไขในใจที่ทำให้เขารู้สึกไม่มีค่าออกไปแล้ว เหมือนได้ยกก้อนหินหนักๆ ออกไป  

บางครั้งก็คุยปลอบใจเพื่อน ทำไมไม่เหมือนเวลาเพื่อนได้ยินจากกระบวนสนทนาหน้าไพ่? 

คงเป็นเรื่องของกระบวนการบำบัดที่ผสมผสานลงไปในการดูไพ่ อันนี้คงทำให้คนทุกข์รู้สึกได้รับการเยียวยา และพลังงานที่มองไม่เห็นอาจจะทำให้คนเปิดใจฟังด้วยหรือเปล่า? นี่แค่ถาม แต่ไม่มีคำตอบตายตัวให้นะคะ 

จริงๆ ผู้ที่มาขอให้เปิดไพ่ ไม่ได้ต้องการอะไรมาก ไปกว่าอยากมาเล่าเรื่องราวตนเองให้คนอื่นฟังหรือเปล่า? 

เห็นด้วยส่วนหนึ่งว่าเขาอยากมาเล่าเรื่องของเขาให้เราฟัง แต่ก็ต้องเป็นการเล่าในพื้นที่ปลอดภัยด้วย ซึ่งถ้าคนเห็นว่าเราไม่ปลอดภัยก็ไม่มาหาเราอยู่แล้วเนอะ(หัวเราะ) ความปลอดภัยในที่นี้หมายถึงการไม่ตัดสิน ความเข้าใจ ความเห็นใจ เพื่อนหลายคนที่มักตกร่องอารมณ์เศร้าเคยบอกว่าคุยกับเราแบบนี้ดีกว่าไปหาจิตแพทย์บางลักษณะอีก เราก็จะได้ยินเรื่องเล่าว่าเวลาไปหาจิตแพทย์ หากเจอท่านที่ไม่ได้เน้นเรื่องกระบวนการทำจิตบำบัด บางคนก็เจอการพูดคุยที่มีการตัดสินคุณค่าหรือเจอการรักษาโดยเน้นให้ยาจิตเวช ซึ่งบางกรณี เพื่อนเราก็ไม่ได้อยากกินยามากขนาดนั้นไง เขาต้องการคุยกับคนที่โอบอุ้มทางอารมณ์ได้ ไม่ตัดสิน เป็นหมู่เป็นพวก และพอจะรู้ภูมิหลังของเขา 

เราว่าพื้นที่ปลอดภัยมันทำให้คนสามารถปล่อยให้สิ่งที่อยู่ในใจเบื้องลึกได้ไหลออกมา ถ้าเราไปตัดสินความรู้สึกนึกคิดของเขา ข้อมูลที่ถูกตัดสินมันจะถูกกดซ่อนไว้ ซึ่งบางทีสิ่งนั้นแหละเป็นปมเงื่อนที่ทำให้เขาทุกข์ ถ้ามันออกมาไม่ได้ ก็ไม่รู้จะแก้อย่างไร 

ในการดูไพ่ให้คนที่อยากทำงานกับจิตใจด้วย เราแค่ทำหน้าที่ให้เขาได้เห็นตัวเอง ยอมรับ เห็นทางเลือกใหม่? 

ใช่ เราเป็นแค่คนกระตุ้น สมมติเขาเชื่อแบบหนึ่งมากเลยแล้วความเชื่อนั้นทำให้เขาทุกข์ เราก็อาจจะตั้งคำถามแบบเป็นฝ่ายค้านความเชื่อนั้น แต่สุดท้ายแล้วเขาจะเปลี่ยนความคิดหรือเปล่าเราก็ต้องเคารพเขา เขาอาจจะยังไม่เปลี่ยนตอนนี้ หรือเขาจะเลือกไม่เปลี่ยนเลย ก็เป็นสิทธิ์ของเขา  

ด้วยบุคลิกส่วนตัวเป็นคนอ่อนไหว (sensitive) และมีความเป็น wounded healer อย่างที่กล่าวไปตอนต้น การต้องรับฟังเรื่องทุกข์เศร้าคนอื่นมันไม่ทำให้คุณยิ่งแย่หรอกหรือ? หรือว่าจริงๆ แล้วมันมีข้อดีอะไรจากการพบเจอผู้คน สนทนาหน้าไพ่และช่วยเขาหาสมการในชีวิต 

หลายคนที่มาหาเราก็รู้ว่าเราเป็นคน sensitive ซึ่งคำนี้กินความรวมถึงร่างกายที่มีระบบประสาทที่ไวต่อสิ่งเร้าด้วย และหลายคนก็รู้ว่าเราเคยมีบาดแผล แต่ในความเคยมีบาดแผลนี่แหละที่ทำให้เราไม่ตัดสินคนที่มาหาเรา ไม่ทำตัวเหนือ คนที่ไม่เคยเจ็บในเรื่องนั้นๆ อาจมองว่าคนอื่น ‘อ่อนแอ’ ‘เปราะบาง’ (ใส่เครื่องหมายแปลว่าเราตั้งคำถามกับคำพวกนี้) แล้วนอกจากนี้มันก็จะมีคนที่คิดแบบว่าปัญหาแค่นี้อดทนสิทำไมฟูมฟาย ต้องร้องไห้ขนาดนี้เลยเหรอ? และอื่นๆ แต่เราไม่เคยเห็นว่าน้ำตาเป็นปัญหาเลยนะ เราเห็นน้ำตาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยาและเป็นเครื่องนำทางในหลายการบำบัดด้วยซ้ำไป  

การที่เราเคยมีบาดแผลจึงรู้ว่าหลายเรื่องก็ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะหลุด กว่าจะลอกคราบไปทีละชั้นๆ อย่างเราเองก็ยังต้องขัดเกลาตัวเองไปเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้เราก็ยังมีอารมณ์ต่างๆ อยู่ โดยเฉพาะความโกรธ แต่วงจรอารมณ์มันสั้นลงเยอะเท่านั้นเอง อย่างในกรณีคนมาหาที่เป็นเพื่อนๆ ซึ่งรู้จักเราจริง เขาก็จะเห็นว่า “เฮ้ย …แววตาเปลี่ยนภัทรมันเปลี่ยน” มีหลายคนมาให้เราบำบัดหรือดูไพ่ให้ทั้งที่รู้ว่าเราเคยมีแผลแบบนี้แหละ เพราะเราเป็นแค่คนธรรมดาที่พร้อมจะรับฟัง 

ส่วนเรื่องความ sensitive ก็มีน้องๆ เพื่อนๆ ที่จงใจมาปรึกษาเรื่องจิตใจกับเราและมาดูไพ่กับเรา บอกว่าเชื่อเราเป็นพิเศษ เพราะเรา sensitive และมีหลายๆ อย่างเหมือนเขา เขาคงต้องการคนธรรมาดาที่เห็นใจเขามากกว่ายอดมนุษย์ผู้แข็งแกร่งที่อาจจะตัดสินเขาเนอะ  

นอกจากเรื่องพวกนี้ เราว่าความเป็นคนธรรมดาที่มีกิเลสเหมือนคนทั่วไป มันก็มีประโยชน์ เวลาคนมาเล่าว่าเขาระเบิดโทสะ หรือซึมเศร้า หรือมีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ แบบนั้นแบบนี้ ถ้าเราเห็นว่าประสบการณ์คล้ายกันของเราจะเป็นประโยชน์กับเขา เราก็จะเล่าให้ฟัง หลายคนฟังเรื่องเราแล้วรู้สึกสบายใจขึ้นเพราะเขาไม่ได้มีตำหนิอยู่คนเดียว เราก็เคยทำผิด เราก็มีข้อบกพร่อง แค่ว่าบางกรณีเราก็ผ่านมาได้ด้วยวิธีอย่างนี้ๆ นะ ถ้าเขาจะลองทำตามก็ได้ หรือถ้าไม่ตาม มันทำก็เป็นสิทธิ์ของเขา 

เข้าใจว่าคุณสนใจทฤษฎีจิตบำบัดของคาร์ล ยุง(Carl Gustav Jung) เป็นพิเศษ และนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตตัวเองด้วย อยากให้ช่วยเล่าเรื่องคาร์ล ยุงคร่าวๆ และอยากให้เล่าว่าคุณปรับแนวคิดคาร์ล ยุงมาใช้กับการพูดคุยกับคนที่มาดูไพ่อย่างไร? 

คาร์ล ยุง เป็นจิตแพทย์ผู้ก่อตั้งจิตวิทยาวิเคราะห์ เกิดที่สวิตเซอร์แลนด์ มีชีวิตอยู่ในปี 1875 ถึงปี 1961 ร่วมสมัยกับศิลปินและนักเขียนหลายคนในช่วงคาบเกี่ยวของศตวรรษที่ 19 ถึง 20 ที่เราสนใจเพราะคุณพ่อยุงเป็นพระคริสตจักรปฏิรูปสวิส คุณตาของยุงที่เป็นนักเทววิทยาและศาสนจารย์ก็สื่อสารกับวิญญาณคนตาย ญาติๆ ของยุงก็จะเป็นแนวๆ นี้ ซึ่งก็ธรรมดาสำหรับสังคมชนบทสวิสในตอนนั้น และจริงๆ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เรื่องผี เรื่องวิญาณ ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิทยา ที่เล่าเพราะอยากให้เห็นบริบทแบบนี้ของยุงซึ่งเราก็จะได้กลิ่นสิ่งเหล่านี้ในงานเขียนเขา ตอนเด็กยุงชอบเล่นคนเดียว ยุงชอบอ่านปรัชญา ชอบอ่านประวัติศาสตร์ศาสนา ต่อมาเขาลงเรียนวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและแพทย์ศาสตร์หลักๆ เพราะความฝัน ซึ่งถ้าศึกษางานยุงก็จะเห็นว่าเขาให้ความสำคัญมากกับความฝันแล้วก็เหตุบังเอิญที่มีความหมาย ยุงเลือกเรียนเฉพาะทางด้านจิตเวชและได้มีประสบการณ์เข้มข้นจากการฝึกงานในโรงพยาบาลจิตเวชบูร์กเฮิลซลีกับจิตแพทย์ที่เด่นมากในยุคนั้น  

ต่อมายุงรู้จักและมีความสัมพันธ์กับฟรอยด์ (ซิกมันต์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาชาวยิว เจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์) ซึ่งนอกจากเรื่องงานแล้วก็มีเยื่อใยบางอย่างคล้ายพ่อกับลูกด้วย แต่ว่าฟรอยด์มีแนวคิดเกี่ยวกับแรงจูงใจของคนที่เน้นเรื่องเพศ ในขณะที่ยุงไม่ได้มองพลังงานทางจิต(Libido) ผูกขาดอยู่กับเรื่องเพศ แล้วยุงก็เห็นว่าข้างใต้จิตไร้สำนึกส่วนตัวของแต่ละคนยังมีเลเยอร์ที่ลึกกว่านั้นอีก ซึ่งยุงเรียกว่าจิตไร้สำนึกร่วม (collective unconscious) สรุปว่าในที่สุดยุงก็เป็นมกุฎราชกุมารให้ฟรอยด์ไม่ได้ หมายถึงว่า ฟรอยด์เคยอยากให้ยุงเป็นคนสืบทอจิตวิเคราะห์  แต่ยุงไปตั้งจิตวิทยาวิเคราะห์แยกจากฟรอยด์ และขาดกันในปี 1913 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ยุงป่วย เป็นปีเดียวกับที่งานต่างๆ ของนักเขียนที่เราสนใจหลายคนตีพิมพ์ และเป็นปีเดียวกับที่ยุงเห็นนิมิตก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มในปีถัดมา  

การศึกษาเรื่องจิตของยุงมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องลี้ลับและโหราศาสตร์ แล้วก็มีองค์ความรู้หลายศาสนาและมีเรื่องการเล่นแร่แปรธาตุด้วย ยุงสร้างคุณูปการทางจิตวิทยาไว้หลายเรื่องกว่านี้มาก อย่างเรื่องบุคลิกภาพ introvert / extrovert ก็มาจากยุง เรื่องความสอดคล้องต้องกัน และอื่นๆ 

แต่ในช่วงที่ผ่านมาเราสนใจในกระบวนการเยียวยาจิตใจที่สามารถใช้ตำนานและความฝันเป็นเครื่องมือได้ นอกจากนี้ก็สนใจเรื่อง Shadow เป็นพิเศษ ส่วนในการเอามาประยุกต์ในงานจิตบำบัด เราไม่ได้กวาดแนวคิดยุงมาทุกอย่าง หน้างานจริงมันต้องผสมผสานหลายศาสตร์และเอาคนที่มาหาเราเป็นศูนย์กลาง เราทำงานเชิงประยุกต์และไม่ยึดกับทฤษฎีขนาดนั้น คือถ้าคนที่มาหาเราเขาอยากสวดมนต์แล้วจะสบายใจขึ้น เราก็พร้อมจะจุดเทียนสวดมนต์พร้อมจิตบำบัดด้วย หรือถ้าเขามาหาเราโดยใช้นพลักษณ์และแบบวัดบุคลิกภาพ mbti อธิบายตัวเอง ซึ่งเราเองก็ศึกษามา เราก็พร้อมจะใช้ชุดภาษาของเขาในการคุยถ้าใช้แล้วมันจะเกิดประโยคที่ทำให้เขาหลุดจากเงื่อนทุกข์ นึกออกไหม 

กลับมาที่เรื่อง Shadow เราเริ่มสนใจเรื่องนี้มากตอนช่วงวิกฤตชีวิตเมื่อสักประมาณ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกับที่แปลหนังสือที่มีเนื้อหาสั้นๆ เกี่ยวกับโยคาจารย์แล้วคนเขียนเชื่อมโยงกับเรื่องจิตไร้สำนึกร่วมของยุง ก็เลยไปศึกษาให้ละเอียดขึ้นด้วย จากเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตเราพบว่าถ้าเราไม่ตระหนักรู้บางลักษณะในตัวเองมากๆ วันหนึ่งมันจะหาทางออกมาหลายๆ แบบ แต่การแสดงออกของเงามืดในตัวเราเองที่อันตรายพอสมควรคือเงาที่เราแสดงออก (project) ไปที่ความสัมพันธ์ และเราก็ต้องยอมตายทางจิตใจเพราะต้องขยายขอบเขตตัวเองออกไป การรู้จักเงามืดตัวเองมันจึงดีมากเลยนะ ทำให้เราบริบูรณ์ขึ้น  

ส่วนในการนำมาปรับใช้กับการดูไพ่ ตัวอย่างเช่น บางคนที่มาหามีลักษณะยอมคน กระทั่งรู้สึกว่าฉันไม่มีพื้นที่ของตัวเองเหลืออยู่แล้ว มีแต่ต้องทำตามที่คนอื่นชอบ ทำตามที่คนอื่นสั่ง ในเรื่องเล่าแบบนี้ เราก็จะมีชุดคำถามบางอย่าง แล้วถ้าเขาเปิดไพ่ขึ้นมาได้ไพ่อะไรในเชิงนักรบ นักสั่งการที่มีพลังห้าวหาญ เราจะสันนิษฐานร่วมกับบรรยากาศที่เราสัมผัสจากเขาว่าไพ่ใบนี้น่าจะสะท้อนลักษณะที่เป็นเงาของเขา เราก็จะบอกว่าให้ลองทำท่าแบบนี้แป๊ปนึงซิ (ยืนอกผายไหล่ผึ่ง กระทืบเท้า ชี้นิ้วสั่งไปที่คนอื่น) ลองทำท่าขึงขังมีอำนาจแบบที่คนอื่นบงการเขาดู ทำให้เขาสัมผัสกับพลังงานที่เขาไม่ค่อยได้ใช้หรือไม่รู้ตัวว่าใช้โดยขยายออกมาในการเคลื่อนไหวร่างกาย เขาก็รู้สึกมีพลังขึ้นมา 

มีอย่างอื่นด้วยไหมที่ปรับใช้กับคนมาดูไพ่? 

ก็มีถามบางคนว่าชอบตำนานอะไร ชอบวรรณกรรมอะไร ช่วงนี้ฝันอะไรไหม ในสิ่งเหล่านี้มีอะไรกระทบใจ แล้วมันมีความหมายกับคุณอย่างไร แต่ไม่ใช่ไปฟันธงให้เขาว่าฝันแบบนี้แปลว่าอะไรนะคะ เราไม่ได้มาหาความหมายสากล การทำงานกับความฝันเป็นเรื่องอัตวิสัยและต้องดูบริบทคนนั้น  

คุณสามารถใช้ไพ่เป็นเครื่องมือเผยให้เห็นสมการในใจของคนได้ แล้วการอ่านความฝันให้อะไร? 

จริงๆ ขอย้ำว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องเห็นสมการอย่างเดียวนะคะ บางคนมีประเด็นลักษณะอื่น และมันมีอีกหลายวิธีการที่เราใช้ปลดล็อคใจให้ได้ แต่ไม่เล่าหมดนะเดี๋ยวไม่สนุก(หัวเราะ) ส่วนที่ถามเรื่องความฝันว่าให้อะไร ความฝันก็เหมือนสัญลักษณ์บนไพ่ ในแง่ที่เป็นประตูสู่ข้อมูลบางอย่างและคนที่ให้ความหมายคือตัวคนฝันเอง เพราะความหมายของเขาจะมีบทบาทกับจิตใจเป็นการเฉพาะ แต่ละคนอาจให้ความหมายต่อสิ่งเดียวกันไม่เหมือนกัน อย่างนาย A กับนาย B ฝันเห็นดาบ นาย A อาจจะแปลว่านี่คืออาวุธในการฆ่าคน นาย B อาจจะบอกว่าเป็นพลังงานทางเพศ นอกจากนี้ การฝันเห็นดาบ อาจจะไม่เป็นประเด็นอะไรกับบางคนเลย ฝันแล้วก็ลืมไป แต่อีกคนอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นประเด็น แล้วเวลาเอามาคุย อย่างที่บอก เราต้องให้ความสำคัญกับความหมายที่คนๆ นั้น ให้เองและในบริบทของเขาเองด้วย 

สมมุติช่วงนั้นนาย C เพิ่งถูกให้ออกจากงาน เขารู้สึกเสียความมั่นใจ เสียคุณค่า กำลังหางานใหม่หรืออะไรก็ว่าไป ในช่วงนั้นเอง เขาฝันว่าจับดาบอยู่ในครัว แล้วรู้สึกมีพลังมากไม่เหมือนตอนตื่นเลย เวลาเอามาคุย เขาให้ความหมายว่าจะเอาดาบมาทำอาหารให้คนในครอบครัวกิน การใช้ดาบนั้นทำอาหารให้คนในครอบครัวเป็นเหมือนการชดเชยคุณค่าที่หายไป ยกเอาเรื่องดาบขึ้นมาพูดคุยแล้วใจมันเต็มขึ้น นี่สมสมุติตัวอย่างให้เห็นเฉยๆ ว่าความหมายมันไม่ผูกขาด

คำถามท้ายๆ ค่ะ อยากรู้ว่านิยามการเรียนรู้ของคุณคืออะไร? 

การเรียนรู้คือกระบวนการทำความรู้จัก ทำความเข้าใจสิ่งใหม่ หรืออาจเป็นสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วแต่สำรวจให้รู้จักมากขึ้น เข้าใจลึกขึ้น และทุกอย่างมันสอนเราได้หมดเลย  

ไพ่ เป็นการเรียนรู้ไหม?                                                                                    

ไพ่เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง จากเครื่องมือและวิธีการมากมายที่เราใช้ทำความเข้าใจตัวเองและผู้อื่น มองว่าเหมือนเป็นประตูบานหนึ่งที่ใช้สำรวจโลกภายในได้ เราคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ นอกจากช่วยให้คนอื่นเข้าใจตัวเองมากขึ้น เราก็เข้าใจตัวเองในมุมที่ลึกขึ้นด้วย เช่น เคยมีคนเล่าว่าเขารู้สึกว่าตัวเองเป็น Lone Wolf ฟังๆ ไปก็เอ้อ …เราก็รู้สึกนะ ฟังเขาแล้วเราก็เห็นบางอย่างในตัวเองทะลุปรุโปร่งเลย เราเข้าใจสิ่งต่างๆ เพิ่มไปเรื่อยๆ ผ่านการคุยกับคนที่มาดูไพ่กับเรา เรามีความสุขมากที่ได้เชื่อมโยงกับผู้คน 

Tags:

แบบแผนทางความสัมพันธ์spiritualภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนาeveryone can be an educator

Author:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Photographer:

illustrator

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่ทำงานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

Related Posts

  • MovieDear Parents
    About time: ความสัมพันธ์ต้องไม่พยายามฝ่ายเดียว คนในครอบครัวก็เช่นเดียวกัน

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Everyone can be an Educator
    เพจวิเคราะห์บอลจริงจัง: สนามความรู้ที่มากกว่าเกมกีฬา พื้นที่แสดงวิชาของ ‘วิศรุต สินพงศพร’

    เรื่อง ปริสุทธิ์

  • Myth/Life/Crisis
    ผ่านไซเรนในน่านน้ำ: เสียงวิจารณ์ภายในที่ต้อนเราให้อยู่ในวิธีคิดเดิมๆ

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Relationship
    ทำไมเราถึงชอบเป็นผู้ให้และลำบากใจที่จะเป็นผู้รับ? ชวนมอง “การให้” ที่อนุญาตให้ผู้อื่นเป็นผู้ให้บ้าง

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ MACKCHA

  • Myth/Life/Crisis
    คางุยะ เจ้าหญิงแห่งดวงจันทร์: ที่ทางของฉันบนโลกใบนี้

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

เปลี่ยนแปลง “การศึกษา” ด้วยการค้นหาความ “Unique” ในตัวครู | กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร
Unique Teacher
27 May 2020

เปลี่ยนแปลง “การศึกษา” ด้วยการค้นหาความ “Unique” ในตัวครู | กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร

เรื่อง กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ภาพ ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

  • ความ Unique ของครู คือขุมพลังที่สำคัญต่อการสร้างการเรียนรู้ ไม่แพ้การมีความรู้ที่เข้มข้น การมีเครื่องมือนวัตกรรมทางเทคโนโลยีทีทันสมัย หรือเทคนิคใหม่ในการจัดการเรียนการสอนที่แอคทีฟกระตุ้นการเรียนรู้ได้มากมาย
  • ความ Unique จะเชื้อเชิญให้ผู้คนเข้าหาเรา เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกศิษย์ หรืออาจได้รับเสียงสะท้อนว่าเมื่ออยู่กับครูแล้วรู้สึกปลอดภัย เพราะได้รับความไว้วางใจจากลูกศิษย์ เมื่อเราเป็นตัวเราได้อย่างแท้จริงแล้วจะสามารถช่วยเหลือผู้คนได้ด้วยวิธีคิดเชิงบวกในแบบที่ตัวเราเป็น
  • ความ “Unique” เป็นคุณสมบัติพิเศษที่เราไม่ค่อยรู้ตัวว่ามีอยู่ แต่มักใช้ได้ผลเสมอเมื่อนำตัวตนนี้มาใช้ในการสอน สังเกตได้จากบรรยากาศของห้องเรียนที่ผู้เรียนตื่นตัว สนใจเรียนรู้เป็นพิเศษ ความ Unique จึงไม่ใช่สิ่งที่เราต้องเรียนรู้ใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องสังเกตและใคร่ครวญบ่อยๆ จนค้นเจอ

ฤดูกาลใหม่กำลังจะเริ่มต้นในเร็วๆ นี้ 

ผมว่าฤดูกาลของธรรมชาติก็เหมือนกับฤดูกาลของชีวิตที่มีจังหวะของการเริ่มต้น เติบโต ทำงานอย่างเต็มที่ พักผ่อน ใคร่ครวญ สละ ละ หยุดวาง และเกิดใหม่หมุนเวียนอยู่ร่ำไป 

ฤดูร้อนผ่านไป ฤดูฝนเริ่มต้น เปลี่ยนผ่านไปสู่ฤดูหนาว ฤดูล้วนมีผลต่อสรรพชีวิต เช่น ต้นไม้ที่ผลิดอกออกผลในฤดูร้อน ชุ่มฉ่ำเติมพลังในฤดูฝน แล้วผลัดใบเปลี่ยนผ่านในฤดูหนาว ชีวิตจึงหยุดนิ่งสักพัก เพื่อให้บ่มเพาะพลังงานเตรียมพร้อมงอกใหม่ผลิใบ เป็นต้นไม้ที่เติบโตสมบูรณ์ในฤดูกาลที่แตกต่างกัน

Quarantine time คือ ช่วงเวลาของการหยุดอยู่กับตัวเอง เปรียบเหมือนกับฤดูกาลของธรรมชาติที่ส่งผลต่อฤดูกาลของชีวิตที่ทำให้เราได้หยุด เพื่อพักผ่อน เก็บตัวให้ได้ใคร่ครวญชีวิต ค้นหาคุณสมบัติเพื่อก้าวเดินต่อในฤดูกาลต่อไปอย่างมีพลัง 

สถานศึกษา โรงเรียน และมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่นเดียวกัน ต่างมีเวลาของการปิดเทอม เพื่อให้นักเรียนได้ปรับพลังงานชีวิต เมื่อผ่านบททดสอบที่ยากๆ ผ่านไปได้ก็มีการหยุดพักเตรียมตัวเพื่อการเริ่มต้นใหม่ในจังหวะย่างก้าวการเติบโตของชีวิต พร้อมสำหรับการเปิดเรียนที่ใกล้จะมาถึง เร็วๆ นี้

กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร

ครูได้พักเพื่อบ่มเพาะการเติบโต

เป็นที่น่าเสียดายเหมือนกันว่า คุณครู อาจารย์ นักการศึกษา แทนที่จะได้พักผ่อนเพื่อปรับพลังงานชีวิต ระหว่างปิดเทอม แต่ต่างต้องเตรียมตัววางแผนจัดการศึกษากันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะ เมื่อมีการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ทำให้ครูไม่สามารถรวมนักเรียนในห้องเรียนได้ตามปกติ จึงต้องคิดหาวิธีการในการใช้เครื่องมือจัดการศึกษาทางไกลรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้เข้าถึงนักเรียน นักศึกษา ให้สามารถสอนได้ตามปกติ สร้างวินัยใหม่ในการจัดการสอนออนไลน์ ต้องปรับตัวอย่างมากกับรูปแบบและเทคนิคการสอนใหม่ๆ ไม่นับรวมถึงการทบทวนความรู้ความเชี่ยวชาญในสาระวิชาที่ต้องสอน การเขียนหลักสูตร มาตรฐาน และแผนการจัดการศึกษา ไปจนถึงการวัดผล 

ในช่วงเวลาของความยุ่งยากในการแก้ปัญหาโลกแตกในการจัดการศึกษานี้ มองได้ทั้งปัญหาและโอกาสที่จะช่วยให้ครูได้ “เปลี่ยนแปลง” หรือ “สร้างสรรค์” อะไรใหม่ๆ ให้กับวงการศึกษา ที่สามารถเริ่มต้นได้จากตัวเราเอง 

(ขวา) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดังกมล ณ ป้อมเพชร

แน่นอนว่าการหยุดพักด้านหนึ่งสามารถยืดเวลาให้เราคิดวางแผนแก้ปัญหาได้มากขึ้น ขณะเดียวกันเราก็มีเวลามากขึ้นที่จะให้เวลากับการหยุดเพื่อเปลี่ยนผ่านฤดูกาลชีวิต เปลี่ยนบทบาทการเป็นครู อาจารย์ จากตัวตนเดิม ครูคนเดิมที่เหนื่อยล้าได้หยุดและเติบโตเป็นครูในคุณสมบัติใหม่ ให้การหยุดได้เป็นฤดูกาลที่เราจะได้บ่มเพาะการเติบโตภายในจิตวิญญาณของครู ด้วยการค้นหาสไตล์ความเป็นเอกลักษณ์ในตัวครู ที่จะใช้สร้างความสัมพันธ์กับลูกศิษย์ให้เกิดการเรียนรู้แบบใหม่ๆ 

เพราะความ Unique ของครู คือขุมพลังที่สำคัญต่อการสร้างการเรียนรู้ ไม่แพ้การมีความรู้ที่เข้มข้น การมีเครื่องมือนวัตกรรมทางเทคโนโลยีทีทันสมัย หรือเทคนิคใหม่ในการจัดการเรียนการสอนที่แอคทีฟกระตุ้นการเรียนรู้ได้มากมาย 

Unique สไตล์ ตัวตน ความโดดเด่น ในความเป็นครู 

ความ Unique หรือตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์ คือ คุณลักษณะที่เป็นธรรมชาติของคุณที่แสดงออกโดยไม่ได้ตั้งใจ

ซึ่งธรรมชาติความเป็นตัวเราเป็นส่วนผสมพิเศษของคุณสมบัติภายในอันหลากหลายที่สะสมจากประสบการณ์ชีวิต หรือได้รับมาจากความรู้สึกและบรรยากาศรอบๆ ตัว แล้วสะท้อนออกมาเป็นตัวเรา 

ครูแนน-ปาริชาต ชัยวงษ์ กับลูกศิษย์

และความเป็นธรรมชาติในความเป็นตัวเรามักจะเกิดขึ้นในเวลาที่เราเป็นตัวของตัวเอง เชื่อมโยงกับความมั่นคง (Grounding) ปลอดภัย (Security) เหมือนกับการได้กลับสู่บ้านเกิด หลายคนเชื่อว่า ตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์นี้เป็นเสี้ยวส่วนอันเก่าแก่ที่อยู่ภายในตัวเราที่พร้อมจะนำทางและเป็นแรงบันดาลใจให้เราในการทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ในฐานะครู

ในอีกด้านหนึ่ง ความ Unique สร้างมาจากสภาพแวดล้อมที่เราเติบโต ความเป็นคนกล้าแสดงออก ดุ เคร่งในระเบียบวินัย  หรือเป็นคนสนุกสนานร่าเริง ยืดหยุ่น ขี้เล่น มีอารมณ์ขัน มั่นใจ สร้างสรรค์ หรือใจดี ล้วนเป็นคุณสมบัติที่ได้รับมาจากการเลี้ยงดู ตัวแบบ หรือความคาดหวังจากสังคม 

แต่บางครั้ง ด้วยความคาดหวังของสังคมทำให้ความเป็น Unique ของครูไม่ได้นำมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ แต่เป็นครูจากตัวตนที่สังคมหล่อหลอมให้เราเป็น เช่น 

ครูที่ดุ และชอบที่จะควบคุมโดยใช้อำนาจ

ครูที่เป็นผู้รู้ ชอบชี้แนะสั่งสอนคนที่ไม่รู้

ครูที่แก่วิชา มุ่งเป้าการสอนที่เนื้อหาที่มีความสมบูรณ์แบบ ทันสมัย

ครูผู้น่าเกรงขาม มีความเป็นผู้ใหญ่มีสถานะอำนาจอยู่เหนือวัยวุฒิของลูกศิษย์ควรค่าแก่การเคารพ

ครูผู้คุมกฎ ที่มีอำนาจในการควบคุมชีวิต ผิด-ถูก ได้-ตก ของลูกศิษย์

การใช้ตัวตนในความเป็นครูที่สวมบทบาทที่สังคมหล่อหลอมตลอดเวลาทำให้ ความ Unique ที่เป็นคุณสมบัติเดิมแท้ หรือธรรมชาติความเป็นครูที่มีอยู่ภายในครูแต่ละคนได้ถูกละเลย จนไม่มีโอกาสได้ส่งมอบของขวัญอันมีค่าในการทำงานเป็นผู้สร้างการเรียนรู้ที่โดดเด่นและแตกต่าง 

ความ Unique เป็นอะไรได้บ้าง

ความ Unique เป็นตัวของตัวเอง เป็นธรรมชาติที่มีมาตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ว่าครูจะพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเท่าไร ครูจะรู้สึกเป็นธรรมดามากถ้าได้เป็นตัวของตัวเอง 

เรียกได้ว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษที่เราไม่ค่อยรู้ตัวว่ามีอยู่ แต่มักใช้ได้ผลเสมอเมื่อนำตัวตนนี้มาใช้ในการสอน สังเกตได้จากบรรยากาศของห้องเรียนที่ผู้เรียนตื่นตัว สนใจเรียนรู้เป็นพิเศษ ความ Unique จึงไม่ใช่สิ่งที่เราต้องเรียนรู้ใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องสังเกตและใคร่ครวญบ่อยๆ จนค้นเจอ

ความ Unique เป็นขุมพลังที่ใช้ขับเคลื่อนชีวิต ครูจะค้นพบจากการสังเกตกิจวัตรที่ลงมือทำแล้วมีความสุข มีแรงบันดาลใจที่จะผลักดันให้การเรียนรู้นั้นเกิดขึ้น  

ความ Unique เป็นสิ่งที่ครูนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนแล้วยิ่งมีความสร้างสรรค์ ต่อยอดไปได้เรื่อยๆ เกิดการพัฒนาทักษะในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่อยู่ในภาวะหมดไฟ หมดแรงบันดาลใจ เหนื่อยหน่าย เบื่อ (Burn out) แต่รู้สึกสอดประสานกับความเป็นตัวเราได้ดี มีความสุข

ครูยอดรัก ธรรมกิจ

ความ Unique หรือสิ่งที่เราเป็นจะเชื้อเชิญให้ผู้คนเข้าหาเรา เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกศิษย์ หรืออาจได้รับเสียงสะท้อนว่าเมื่ออยู่กับครูแล้วรู้สึกปลอดภัย เพราะได้รับความไว้วางใจจากลูกศิษย์ เมื่อเราเป็นตัวเราได้อย่างแท้จริงแล้วจะสามารถช่วยเหลือผู้คนได้ด้วยวิธีคิดเชิงบวกในแบบที่ตัวเราเป็น

ความ Unique ของเราอาจจะแตกต่างจากค่านิยมของสังคม ที่คาดหวังให้เราเป็นครูในแบบที่ควรเป็น ไม่ขึ้นอยู่กับรูปลักษณ์ภายนอก เช่น สีผิว รูปร่าง เพศ สถาะทางสังคม ระดับการศึกษา ศาสนา หรืออายุ ดังนั้น ความโดดเด่นในแบบที่เราเป็นจะมีความหลากหลาย แตกต่างจากครูในกระแสหลัก แต่จงเชื่อมั่นเถอะว่าความ Unique ในแบบที่คุณเป็นจะมีประโยชน์และสำคัญสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการหลากหลายเช่นเดียวกัน

ไม่มีความ Unique หนึ่งเดียวในตัวเรา

ยังมีความ Unique ที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเราอีกมากมายที่พร้อมให้ครูได้ค้นหา และอาจซ่อนอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ช่วงเวลาที่ครูมักไม่มั่นใจหรือเกิดความผิดพลาดในการสอน ความไม่มั่นคงขณะสอน อาจเป็นชั่วขณะที่ครูตั้งหลักไม่อยู่ ถ้าครูสามารถตระหนักรู้และใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งจะช่วยให้ครูได้ค้นพบของขวัญชิ้นสำคัญที่ครูสามารถนำมาใช้เป็นคุณสมบัติใหม่ในการสอนได้อย่างมีพลัง

บางครั้งครูที่ใช้ความ Unique ของการเป็นคนเข้มแข็ง/ห้าวหาญ ในการสอน แต่หากครูใช้คุณสมบัติตรงข้ามที่ครูอาจละเลย คือความเป็นคนอ่อนโยน/โอบอุ้ม ก็อาจทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่เข้าถึงผู้เรียนได้อย่างนุ่มนวล และช่วยเปิดใจให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงกับเรามากขึ้น

ครูที่ใช้เหตุผล/ความคิด นำความรู้สึก หากใช้ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ รับฟังผู้เรียนมากกว่าโต้แย้งและเอาชนะทางความคิด อาจได้ความรักความทุ่มเทจากลูกศิษย์ในการเรียนรู้ร่วมกันมากกว่าเว้นระยะห่าง

ความ Unique ที่ซ่อนอยู่หลากหลายในตัวตนขณะเป็นครูในช่วงเวลาที่ไม่คาดคิดหรืออยู่ในโซนของความไม่รู้ (Unknown) เช่นนี้ มักนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศและความสัมพันธ์ในการเรียนรู้ระหว่างครูกับลูกศิษย์ที่ไม่คาดคิดก็เป็นได้ 

ครูเอ๋-ปัญชลี ฉัตรอริยวิชญ์

เปลี่ยนแปลง “การศึกษา” ด้วยการค้นหาความ “Unique” ในตัวครู

ด้วยความเชื่อมั่นในคุณครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงทุกคนซึ่งเป็นแนวหน้าในการสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ The Potential จึงได้สร้างสรรค์คอลัมน์ใหม่ ในชื่อ “Unique teacher” ซึ่งคงได้ผ่านตาผู้อ่านมาบ้างแล้ว เราตั้งใจนำเสนอครู ที่นำความ Unique คุณสมบัติที่มีภายในตัวมาใช้สร้างสรรค์ห้องเรียนให้มีชีวิต และคำนึงถึงความมีชีวิตจิตใจของผู้เรียน มีอะไรบ้างฝากติดตามที่ The Potential นะครับ แต่แน่นอนว่าคุณครูเหล่านี้ล้มลุกคลุกคลานมาก่อนเช่นเดียวกัน อยากให้กำลังใจคุณครูทุกคน ชวนมาค้นหาความ Unique ของตัวเองกันครับ

การมีครูสักคนที่ไม่เพียงสอนเก่ง แต่เชื่อมั่น และมองเห็นเมล็ดพันธุ์ในตัวเราที่พร้อมจะเติบโต ผลักดันให้เรามีความหวังที่จะพัฒนาตัวเอง เส้นทางการเรียนรู้ที่มีความหมายก็พร้อมที่จะเริ่มต้นขึ้น และไม่เพียงนักเรียนที่เรียนรู้ แต่ครูก็เรียนรู้และขัดเกลาความยูนีคในตัวไปด้วยเช่นกัน

ติดตามอ่านคอลัมน์ Unique teacher ได้ที่ https://thepotential.org/column/unique-teacher/

Tags:

ครูกิตติรัตน์ ปลื้มจิตรunique teacher

Author:

illustrator

กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร

บรรณาธิการเว็บไซต์ The Potential

Illustrator:

illustrator

ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

เพิ่งค้นพบว่าเป็นคนชอบแมวแบบที่ชอบคนที่ชอบแมวมากกว่าชอบแมว (เอ๊ะ) มีความฝันว่าอยากเป็นแมวที่ได้อยู่ใกล้ๆคนที่ชอบ (จริงๆ ก็แค่อยากมีมนุดเป็นทาสและนอนทั้งวันได้แบบไม่รู้สึกผิดน่ะแหละ)

Related Posts

  • Transformative learning
    สำรวจแนวคิดว่าด้วย ‘Teacher Agency’ ในกระแส ‘School Improvement Movement’

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Unique Teacher
    ‘ให้เด็กเก่งในสิ่งที่อยากจะเก่งและเห็นคุณค่าของตัวเอง’: ครูเล็ก – โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ปริสุทธิ์

  • Unique Teacher
    จุฑา พิชิตลำเค็ญ อาจารย์ที่ตั้งหลักว่า “You Teach Who You Are” จัดการตัวเองก่อน จากนั้นค่อยไปสอนคนอื่น

    เรื่อง คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์ ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • Character building
    ‘LEARNING HOW TO LEARN’ เรียนเพื่อเรียนรู้: คอร์สเรียนออนไลน์ที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Character building
    ENTREPRENEURSHIP: ไม่ใช่พ่อรวยสอนลูก แต่คือหลักสูตรผู้ประกอบการที่สอนให้ทำได้ ทำเป็น

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

เติบโตก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง ผ่านตำนาน
Life classroom
25 May 2020

เติบโตก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง ผ่านตำนาน

เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • จากหนังสือ Man and His Symbols นั้น Dr. Joseph L. Henderson ได้กล่าวถึงสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับ “ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งสะท้อน “ความต้องการของมนุษย์ที่จะปลดปล่อยตัวเองจากรูปแบบชีวิตที่จำกัด ไปสู่ภาวะที่โตกว่า… ซึ่งในกรณีของคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ความรู้สึกครบถ้วนสมบูรณ์ อาจหาได้จากการรวมเนื้อหาจากจิตไร้สำนึกเข้าไว้กับความสำนึกรู้
  • สิ่งต่างๆ ที่กวนใจ หรือทำให้เราประทับใจมากในนิทานและตำนาน สามารถเป็นเครื่องมือพาเราไปทำความรู้จักกับลักษณะหรือด้านที่เราไม่ค่อยรู้จักเกี่ยวกับตนเองได้ โดยแต่ละคนมีประเด็นที่ต้องเข้าไปทำงานกับโลกภายในไม่เหมือนกัน
  • เช่น คนบางคนที่มีลักษณะโอนอ่อนมานาน อาจมองว่านางยักษ์เป็นผู้ร้ายกินคนที่กวนใจเราเหลือเกิน เมื่อสำรวจโลกภายในตัวเองก็พบว่ายักษ์เป็นภาพสะท้อนด้านนั้นของตัวเราซึ่งจำต้องตระหนักรู้และบ่มเพาะเพื่อเพิ่มอำนาจและอิสรภาพให้กับชีวิตของตน
  • ในกระบวนการใช้สัญลักษณ์บนไพ่ทาโร่สำรวจโลกภายในมักจะเห็นรูปแบบการเปลี่ยนผ่านของผู้คน จากการติดอยู่ในบางสิ่งบางอย่างที่คิดว่า ‘ปลอดภัยแล้ว’ ทว่าได้ทอดเงามืดไว้อย่างไม่อาจเลี่ยง กระทั่งความยึดถือดังกล่าวกลายเป็นหอคอยคุกที่รอวันพังทลายลงมา เสมือนอาณาจักรใกล้อวสาน เพื่อพบกับการเริ่มต้นใหม่ของตัวตนที่ไพศาลขึ้น

เสมือนกรุงเก่าล่มสลาย                   มาตรแม้นวางวาย

ผลิกลายเป็นเขตขัณฑ์ใหม่

แผ่วงมณฑลฉ่ำใจ                           พฤกษาเติบใหญ่

สุกใสประกายดารา

นานมาแล้ว มนุษย์ได้สร้างแบบแผนที่สามารถใช้โอบอุ้มการเปลี่ยนผ่านจากวัยหนึ่ง ไปสู่อีกวัยหนึ่งที่มีความเป็นผู้ใหญ่กว่าเดิม โดยเพศชายนั้น มีทั้งธรรมเนียมที่ให้เด็กชายต้องจากลาแม่ออกไปล่าสัตว์ดุร้าย ออกไปเผชิญพิธีกรรมอันเหี้ยมโหดในพื้นที่ไม่คุ้นเคย หรือออกบวช เป็นต้น ซึ่งล้วนมีสัญลักษณ์ของการตายจากสถานะเดิมและก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิกของกลุ่มที่มีสถานะใหม่ ส่วนจุดอ้างอิงการเปลี่ยนผ่านเติบโตของผู้หญิงในขนบเดิม มักเป็นเพียงการออกเรือนไปสู่การเป็นภรรยาและเป็นแม่ (มีหนังสือและบทความในวารสารวิชาการมากมายได้ค้นคว้าประเด็นที่เกี่ยวข้องไว้ เช่น บทความของ Charles F. Keyes เรื่อง Mother or Mistress but Never a Monk: Buddhist Notions of Female Gender in Rural Thailand) 

อย่างไรก็ดี บทความนี้มิได้เน้นสำรวจการเปลี่ยนผ่านซึ่งมีพิธีกรรมทางวัฒนธรรมรองรับให้ แต่จะสำรวจสภาวะจิตใจอันลักลั่น ชนิดกลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ยังไม่ถึง พร้อมนำเสนอกระบวนการทำงานกับกรอบกั้นในใจเราเอง โดยอาศัยนิทานและตำนานต่างๆ ช่วยพาเราให้ก้าวข้ามกรอบสู่สภาวะใหม่ซึ่งบริบูรณ์กว่าเดิม ซึ่งไม่จำเป็นว่านิทานและตำนานนั้นต้องตรงตามเวอร์ชั่น “อะไร” เพราะคำถามที่สำคัญกว่าคือ ภาพคล้ายมวลหมอกแห่งฝันอันพร่าเลือนนั้นอาจทำให้เราบริบูรณ์ขึ้น “อย่างไร” ได้บ้าง

เฉกเช่นเรื่องเล่าเหล่านี้คือ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระราชาและพระราชินีผู้ทรงธรรมให้กำเนิดเจ้าหญิงตัวน้อยผมสีทองลื่นสลวยทอดยาวราวแพรไหม แต่แล้วแม่มดก็ขโมยเจ้าหญิงไปเพื่อมาเลี้ยงไว้บนหอคอยในป่าเร้นลึก เส้นผมของเจ้าหญิงพริ้งเพรานั้นมีอานุภาพคืนความสาวให้แม่มดผู้ชราแห้งเหือด แม่มดกลายเป็นคุณแม่รู้ดีที่บอกว่าโลกข้างนอกนั้นช่างโหดร้าย และเพื่อปกป้องลูก แม่มดจึงจำต้องขังลูกผู้เปราะบางดุจกลีบดอกไม้หวานนวลไว้ในหอสูงเกินอาจเอื้อมกับแม่มดตลอดไป

อีกเรื่องที่คล้ายกันนั้นคือตำนานพื้นบ้านที่ว่ามีแม่ยักษ์เอาตัวละครเอกมาเลี้ยงไว้ และเมื่อตัวละครเอกรู้ว่าแม่เป็นยักษ์ ก็ผละหนีออกมาจากอาณาจักรยักษ์นั้น เมื่อแม่ยักษ์รู้ก็ตามมาพร้อมกับบทลงทัณฑ์ที่ลูกบังอาจหนี

ดูเหมือนว่าในเรื่องราวเหล่านี้มีความพยายามของตัวละครเอก ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ตำแหน่งแห่งที่อื่น โดยมีลักษณะที่เป็น ‘ด้านมืด’ ของบุคคลผู้เคยหล่อเลี้ยงรบกวนจิตใจของเขา ราวกับว่าพวกเขาเป็นต้นกล้าที่เติบใหญ่ขึ้น และกระถางเดิมที่เคยโอบอุ้ม บัดนี้กลับคับแคบและกลายเป็นโทษแก่เขาเสียแล้ว เขาไม่อาจอยู่ในภาชนะเดิมได้อีกต่อไป ทว่าก็มีอะไรบางอย่างคอยเหนี่ยวรั้งเพรียกหาให้เขากลับไปอยู่ที่เดิม ดุจห้วงเวลาแห่งความสัมพันธ์อันลักลั่นระหว่างพ่อแม่ผู้หวาดกลัวการสูญเสียระคนกับความขมขื่น 

ส่วนลูกในวัยที่ต้องเติบโตขึ้นเรื่อยไปก็ถูกตีกรอบให้ต้องฝืนใช้ชีวิตแบบเด็กๆ ต่อไปด้วยความเจ็บปวดแต่ก็ปะปนไปกับความอยากขบถ ขณะเดียวกันก็รู้สึกผิดและขาดความมั่นใจในศักยภาพและคุณค่าของตน กระนั้น นี่มิได้เป็นเพียงเรื่องทางกายภาพ เพราะก็มีหลายตัวอย่างของคนที่มีอายุพอสมควร และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างผู้ใหญ่คนหนึ่งแล้ว อีกทั้งผู้ที่เคยเลี้ยงดูเขาก็ได้วายชนม์ไปแล้ว หากแต่เขายังยึดถือบางอย่างที่เคยเป็นประโยชน์ในบริบทเก่าก่อน ซึ่งแม้มาบัดนี้ทำให้เขาเหนื่อยล้าเกินควรแล้ว แต่มันยังคงเป็นแรงขับให้เขาต้องทำตาม ‘คุณค่า’ ที่เชื่อมโยงกับสิ่งนั้นอยู่ต่อไป 

เช่น บางคนอาจถูกสอนเรื่องคุณค่าของการทำงานหนัก หรือการที่ต้องช่วยเหลือคนรอบตัวที่มาขอให้ช่วยอย่างไร้ขอบเขตโดยเฉพาะกับญาติพี่น้อง มาวันหนึ่ง เขารู้สึกว่าตนอายุมากและอ่อนแรงเกินไปแล้ว เขาเริ่มรู้สึกถูกเอาเปรียบ เขารู้สึกอยากพักผ่อน แต่ก็ยังมีแรงขับให้ต้องทำงานตลอดเวลาและต้องช่วยผู้คนไปอย่างระโหยโรยแรง เขาทรมานแต่ออกมาจากกรอบนี้ไม่ได้ เพราะมันถูกผูกสมการเป็นคุณค่าของเขามาแสนนานแล้ว  

หลายกรณีความอึดอัด ที่อีรุงตุงนังอยู่นั้นกลายร่างเป็นอาการซึมเศร้า หรือความเจ็บป่วยทางร่างกายเรื้อรัง มันคือการแสดงออกของจิตที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เฉกเช่นอาณาจักรในตำนานต่างๆ ที่คล้ายว่าปลอดภัยมานาน ทว่ามาบัดนี้กลับเกิดภัยพิบัติขึ้นมากมายอย่างไม่อาจเลี่ยง เช่น ตัวละครเอกพบภายหลังว่าผู้นำอาณาจักรที่เคยเลี้ยงดูเขานั้นเป็นยักษ์ร้าย หรือไม่ก็มีสัตว์ประหลาดมาบุกทลายอาณาจักร ซึ่งทำให้ตัวละครเอกไม่อาจดำรงอยู่แบบเดิมได้อีกต่อไป ตัวละครเอกต้องออกไปจากพื้นที่เดิม ไปเผชิญกับบางสิ่งที่เขาไม่รู้จักและอาจหวาดหวั่นมากด้วย แต่หลังจากผ่านบททดสอบนี้ เขาก็เปลี่ยนแปลงเป็นคนที่บริบูรณ์กว่าเดิม แต่หากเขายังสอบไม่ผ่าน เขาก็ต้องทนทุกข์ทรมานในกรงขังแบบเดิมๆ ประหนึ่งว่าได้ถูกยักษ์หรือสัตว์ประหลาดที่รบกวนใจเขา กลืนกินเข้าไป  

ในกระบวนการใช้สัญลักษณ์บนไพ่ทาโร่สำรวจโลกภายใน เรามักจะเห็นรูปแบบการเปลี่ยนผ่านอย่างนี้ของผู้คน จากการติดอยู่ในบางสิ่งบางอย่างที่คิดว่า ‘ปลอดภัยแล้ว’ ทว่าได้ทอดเงามืดไว้อย่างไม่อาจเลี่ยง กระทั่งความยึดถือดังกล่าวกลายเป็นหอคอยคุกที่รอวันพังทลายลงมา เสมือนอาณาจักรใกล้อวสาน (ห้วงที่หอคอยกำลังสั่นคลอน มักเป็นจุดที่คนมาขอให้เปิดไพ่ให้ และ/ หรือขอทำจิตบำบัด) เพื่อพบกับการเริ่มต้นใหม่ของตัวตนที่ไพศาลขึ้น และเปี่ยมด้วยความหวังดั่งแสงดาวพร่างพราย อาบไอดินกลิ่นพืชพรรณอันชุ่มน้ำ เช่นเดียวกัน ในบท Symbols of Transcendence จากหนังสือ Man and His Symbols นั้น Dr. Joseph L. Henderson ได้กล่าวถึงสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับ “ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งสะท้อน “ความต้องการของมนุษย์ที่จะเป็นอิสระจากภาวะการดำรงอยู่ที่เป็นเด็กเดียงสาเกินไป หรือการปลดปล่อยตนจากรูปแบบชีวิตที่จำกัด ไปสู่ภาวะที่โตกว่า… ซึ่งในกรณีของคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ความรู้สึกครบถ้วนสมบูรณ์ อาจหาได้จากการรวมเนื้อหาจากจิตไร้สำนึกเข้าไว้กับความสำนึกรู้”  

นิทานและตำนานต่างๆ เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งเหมือนกับความฝัน ที่มีภาษาอุปมาอุปไมย และสามารถใช้เป็นประตูเข้าถึงข้อมูลในจิตไร้สำนึกเพื่อจิตที่ไพบูลย์กว่าเดิมได้ โดยในนิทานและตำนานที่ได้กล่าวมา อาณาจักรซ่อนกลิ่นสาปของยักษ์เจ้าแค้น และหอคอยดำทะมึนของแม่มดจอมบงการนั้น แยกออกจากอาณาจักรอันปลอดภัยของพระราชาและพระราชินีผู้แสนดี กระนั้น หากสังเกตโลกภายในตนเอง ก็อาจพบว่าอาณาจักรเหล่านั้นเป็นอาณาจักรเดียวกัน โดยเราอาจพบ “ลักษณะ” ต่างๆ ของแม่มด ยักษ์ พระราชา พระราชินี และตัวละครอื่นๆ ในตัวเราเอง

เช่น เราต่างก็มีด้านที่เหี้ยมเกรียมและต้องการควบคุมคนอื่นให้อยู่หมัด (แม้แต่ลูกเองหลายครั้งก็ต้องการควบคุมพ่อแม่ไม่ให้ควบคุมตัวเอง) เพื่อหล่อเลี้ยงคุณค่าบางอย่างของเราให้คงอยู่ต่อไป เปรียบเหมือนที่แม่มดขังเจ้าหญิงไว้ในหอคอยเพื่อให้ตนเป็นสาวต่อไป พร้อมๆ กับที่พวกเรามีด้านที่เป็นผู้ใหญ่กว่านั้น ดั่งราชาราชินีผู้ทรงธรรม ซึ่งมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากขึ้น รวมถึงรับผิดชอบความทุกข์ความสุขของเราเอง โดยไม่ต้องคอยควบคุมหรือโทษปัจจัยภายนอกด้วย

อย่างไรก็ดี ในการถอดความหมายของนิทานเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่เราอาจไม่ตระหนักในตนนั้น เราไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับการตีความของนักจิตวิทยาเรืองนามทั้งหลาย เพราะเราแต่ละคนให้ความหมายของสิ่งเดียวกันไม่เหมือนกัน เช่น คนบางคนที่มีลักษณะโอนอ่อนมานาน อาจมองว่านางยักษ์เป็นผู้ร้ายกินคนที่กวนใจเราเหลือเกิน จึงเป็นด้านนั้นของตัวเราซึ่งจำต้องตระหนักรู้และบ่มเพาะเพื่ออธิปไตยที่มากขึ้น ส่วนบางคนอาจเห็นว่ายักษ์เป็นนักรบที่สามารถปกครองและดูแลผู้อื่นได้ จึงเป็นความเข้มแข็งและโอบอุ้มผู้อื่นในตัว ซึ่งเราได้ละเลยไป หรือบางคนอาจมองว่าแม่มดคือความเป็นนางพญาและความเป็นแม่ในตัวเธอผู้เป็นลูกเอง ซึ่งเธอมองข้ามและเห็นเฉพาะในคนอื่นมาตลอด หรือ บางคนก็เทียบเจ้าหญิงหวานแหววว่าเป็นผู้ที่ถูกขนบกดทับเรื่องทางเพศ ซึ่งต้องปลดแอกสู่ขุมพลังพรั่งพรู หรือบางคนกลับรู้สึกหมั่นไส้นักปกครองผู้สูงศักดิ์ ในกระบวนการสำรวจโลกภายใน เขาพบว่าตนเชื่อมโยงตัวละครลักษณะดังกล่าวกับหัวหน้าองค์กรที่มือถือสากปากถือศีล เสมือนเจ้าสำนักพรรคเทพที่ซุกซ่อนความเป็นมารยิ่งกว่ามาร และฉับพลันนั้นก็ปิ๊งแวบว่า อ๋อ อย่างนี้นี่เองที่ทำให้เขาหงุดหงิดกับความสุภาพแสนดี และหลีกเลี่ยงที่จะรับตำแหน่งผู้นำแสน ‘ดี’ แต่กลับชอบบทบาทขบถผู้จริงใจอย่างกร้านกระด้างตลอดมา เมื่อปัจเจก “เห็น” รูปแบบการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ของตนอย่างกระจ่างแล้ว แต่ละคนก็เปลี่ยนสถานะจากเหยื่อผู้ถูกสถานการณ์กระทำ เป็นผู้ที่เลือกสุขทุกข์ และวิถีใหม่ที่เต็มเปี่ยมกว่าเดิมได้ 

ฉะนั้น สิ่งต่างๆ ในนิทานจึงเชื่อมโยงกับ “ลักษณะ” “ด้าน” “รูปแบบ” ต่างๆ บนพื้นฐานประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันไปได้ การให้ความหมายของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน จึงไม่ควรจะต้องเป็นเรื่องผิดถูกแต่อย่างใด

ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นก็คือ นิทานและตำนานซึ่งคลับคล้ายบางเหตุการณ์ที่กวนใจในชีวิตจริงนั้น สามารถเป็นเครื่องมือพาเราไปทำความรู้จักกับลักษณะหรือด้านที่เราไม่ค่อยรู้จักเกี่ยวกับตนเองได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นด้านลบเสมอไป แต่อาจเป็นคุณงามความดีที่เรามองไม่เห็นในตนเองก็ได้ หรือ มันอาจทำให้เราประจักษ์ใจในรูปแบบของเหตุการณ์ทรมานใจที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างซ้ำซาก กระทั่งเราเป็นอิสระจากมันได้ ทั้งนี้ แต่ละคนมีประเด็นที่ต้องเข้าไปทำงานกับโลกภายในไม่เหมือนกัน  

ในหนังสือ The Old English Lives of St. Margaret ชุด Cambridge Studies in Anglo-Saxon England ตำนานของเซนต์มาร์กาเร็ต ซึ่งถูกมังกรกลืนเข้าไปแล้วออกมาได้นั้น สามารถเป็นตัวอย่างเชิงอุปมาของการทำความเข้าใจพื้นที่ที่ไม่ค่อยรู้จักในตนเอง และตระหนักรู้ได้ในที่สุด ตำนานเล่าว่ามาร์กาเร็ตมีแม่เลี้ยงที่รักและคอยดูแลเธอ จวบจนเธอเป็นวัยรุ่น ในขณะที่เธอกำลังดูแลฝูงแกะอยู่นั้น โอลิบริอุส (Olibrius) ผู้กำลังต่อกรกับชาวคริสต์ก็มาเห็นเธอเข้าและอยากได้เธอเป็นภรรยา ทว่าภายหลังมาร์กาเร็ตถูกจองจำเพียงเพราะเธอเป็นชาวคริสต์ โดยในคุกนั้นเอง ปิศาจก็ปรากฏเป็นมังกรต่อหน้าเธอและกลืนเธอเข้าไป เธอทำเครื่องหมายกางเขนซึ่งทำให้สามารถออกมาจากตัวมังกรได้ เราอาจพิเคราะห์เรื่องราวดังกล่าวว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมให้ความเชื่อในศาสนาหนึ่งอยู่เหนือกว่าอีกความเชื่อหนึ่ง แต่ในบริบทแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ความบริบูรณ์นั้น กางเขนอาจเป็นเครื่องหมายของกระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความถ้วนทั่วผ่านการที่เราสามารถเข้าไปเผชิญกับข้อมูลในจิตไร้สำนึก และนำสิ่งนั้นเข้ามาในความรับรู้ได้ พร้อมกันกับที่เราได้แผ่ขยายอาณาเขตใหม่แห่งตนให้กว้างใหญ่ออกไป

กระบวนการที่ปัจเจกเปลี่ยนผ่านจากการยึดถือในกรอบอย่างหนึ่งมากเกินไป สู่ความตระหนักรู้ในตนเองอย่างถ้วนทั่วบริบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ นั้น เกิดขึ้นราวกับการตายแล้วเกิดใหม่ โดยมีการกำหนดจุดศูนย์กลางแห่งวงมณฑลของเราใหม่ ครั้งแล้วครั้งเล่า

อ้างอิง
Literature for Young Adults: Books (and More) for Contemporary Readers โดย Joan L. Knickerbocker และ James A. Rycik
Man and His Symbols โดย Carl G. Jung, Marie-Louise von Franz, Joseph L. Henderson, Aniela Jaffé และ Jolande Jacobi
Mother or Mistress but Never a Monk: Buddhist Notions of Female Gender in Rural Thailand โดย Charles F. Keyes (American Ethnologist, Vol. 11, No. 2, May, 1984, pp. 223-241)The Old English Lives of St. Margaret โดย Mary Clayton และ Hugh Magennis

Tags:

การเติบโตMyth Life Crisisจิตวิทยาspiritual

Author:

illustrator

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา

ชอบอยู่กับต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ผืนน้ำ เที่ยวไปในโบราณสถาน และเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในเงามืด เราเองยังต้องเรียนรู้และขัดเกลาอะไรอีกมาก รู้สึกขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้ฟังเรื่องราวของทุกคนนะ (Line ID: patrasuwan)

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • How to enjoy life
    Perfectionist : เมื่อเรายังคงไขว่คว้าหาความสมบูรณ์แบบด้วยการเฆี่ยนตีตัวเอง

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Myth/Life/Crisis
    คางุยะ เจ้าหญิงแห่งดวงจันทร์: ที่ทางของฉันบนโลกใบนี้

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    Swan Lake 2: ข้อมูลที่จิตสำนึกไม่รับทราบ แต่หาทางไปปรากฏในความฝันและการเสพติด

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    Swan Lake 1: เงามืดในตัวเองที่เราไม่ยอมรับรู้ ซึ่งไปปรากฏในการเสพติดความสัมพันธ์

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Life classroom
    Perfume น้ำหอมมนุษย์: ความสัมพันธ์กับตัวเองและผู้อื่น ที่เรียนรู้มาจากผู้เลี้ยงดู

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

Parkใจ ปวดใจเมื่อไหร่ให้เข้าป่า
Creative learning
25 May 2020

Parkใจ ปวดใจเมื่อไหร่ให้เข้าป่า

เรื่องและภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • “เหมือนมีใครราดกาวสีดำสนิทบนฟ้า จากนั้นก็สาดกากเพชรลงไปโครมใหญ่ เป็นภาพที่ไม่ได้อัศจรรย์จนต้องหยุดหายใจ แต่ปลุกให้ตื่นโดยอัตโนมัติแล้วเดินออกไปมองให้เต็มตาขึ้นกว่าเดิม”
  • กิจกรรม Parkใจ #6 อาบป่า @เขาใหญ่ ตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ใน นิตยสารสารคดีจัดร่วมกับธนาคารจิตอาสา ผู้เข้าร่วมจะได้โอกาสเข้าป่าไปดูนก ดูชะนี ลองงีบแบบเงียบๆ ใต้ต้นไทร ดูดาวนิดหน่อย ลองหยิบใบไม้มาวิเคราะห์พอสนุกสนานให้เข้าใจได้ว่าจริงๆ แล้วเรากับธรรมชาติเชื่อมโยงกันได้อย่างไร ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณ
  • “เวลาที่นั่งอยู่นิ่งๆ ในบ้านที่กรุงเทพฯ บางครั้งเราจะรู้สึกไปเองว่ากำลังทำสิ่งที่ไม่มีสาระประโยชน์ แต่เมื่อเปลี่ยนมานั่งนิ่งๆ ต่อหน้าหมอก เหมือนอยากสารภาพกับมันในใจว่าอยากทำแค่นี้ อยากนั่งนิ่งๆ และเป็นตัวเองในบรรยากาศที่เย็นกำลังพอดี รู้สึกปลอดภัย ลืมตาขึ้นมาก็ไม่มีอะไรมาตัดสินว่าชีวิตควรจะทำอะไรต่อ”

“ได้ยินไหม”

เราชะงักฝีเท้า หูรับรู้แต่ความว่างเปล่าขณะกำลังเดินเงียบๆ อยู่ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติซายาโกะที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พร้อมกับช่างภาพสารคดีสายธรรมชาติ เขาบอกว่า เมื่อครู่มีนกเงือกตัวใหญ่บินผ่านไป เสียงดังมากเหมือนเฮลิคอปเตอร์บินเหนือศีรษะ เราเองก็ได้แต่ทำหน้าเหวอเพราะไม่ได้ยินและไม่เห็นอะไรทั้งนั้นแม้ว่าจะปิดปากกริบ และป่าก็กระซิบเบาๆ เพียงเล็กน้อยในย่ามบ่ายของฤดูร้อน

เขาก็ได้แต่ยิ้มน้อยๆ เป็นเชิงปลอบว่าเดี๋ยวก็คงจะได้เห็นอีกเพราะช่วงนี้นกเงือกรวมตัวกันบ่อยเพื่อผสมพันธุ์ มือใหม่มองดีๆ ไปนานๆ เดี๋ยวก็เห็นเอง นั่นคือคำปลอบใจธรรมดาตามประสาคนชอบดูนกที่มักจะจำสายพันธุ์ใน Bird Guide หนาปึ้กได้หมดทั้งเล่ม

ตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ในกิจกรรม Parkใจ #6 อาบป่า @ เขาใหญ่ ซึ่งนิตยสารสารคดีจัดร่วมกับธนาคารจิตอาสา ผู้เข้าร่วมจะได้โอกาสเข้าป่าไปดูนก ดูชะนี ลองงีบแบบเงียบๆ ใต้ต้นไทร ดูดาวนิดหน่อย ลองหยิบใบไม้มาวิเคราะห์พอสนุกสนานให้เข้าใจได้ว่าจริงๆ แล้วเรากับธรรมชาติเชื่อมโยงกันได้อย่างไร ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณ 

ต้นเฟิร์นสีน้ำตาลไหม้ที่ดูเหมือนตายไปแล้วตายจริงหรือเปล่า นกหลับอย่างไร พูพอนคืออะไร ต้นไทรที่ใหญ่โตกว่าพระพุทธรูปวัดดังเติบโตมาจากแมลงตัวจิ๋วได้จริงหรือ

ต้นไม้เยอะ อากาศก็เปลี่ยนเยอะ สำหรับคนที่ชอบเข้าป่าเป็นทุนเดิม การเดินทางสั้นๆ นี้ก็เหมือนการได้กลับบ้าน ไม่ romanticise ธรรมชาติจนเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้รู้สึกว้าวแปลกใหม่กับจักรวาลของระบบนิเวศน์ แต่ไม่ว่าจะคุ้นเคยกับป่าหรือไม่ การเข้าไปในอาณาจักรที่แตกต่างต้องใช้ประสาทสัมผัสลึกกว่าปกติถ้าอยากจะเข้าใจมันให้ซึ้งขึ้น

มองก็ต้องมองให้ดี ฟังก็ควรฟังให้ชัด จังหวะเดินก็จะเปลี่ยนไปเอง

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เหมือนเป็นปอดอีกแห่งที่สำคัญของไทย เป็นดินแดนของการผลิตออกซิเจน ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ พยุงภูมิอากาศและความหลากหลายของสายพันธุ์สัตว์ป่าเอาไว้ที่นี่

วิทยากรหลักๆ 2 คนคือ พี่ดำ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี และ ว่าน จิตรทิวัส พรประเสริฐ ช่างภาพสารคดีธรรมชาติ ค่อยๆ เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้ตามประสาคนสนใจในธรรมชาติเข้มข้นตามรายทาง และพวกเขาก็ดูเป็นคนสบายๆ คล้ายกับว่ามาพักผ่อนเหมือนกับเรานั่นแหละ

“ที่นี่เป็นบ้านของเขา พวกเราก็เหมือนเป็นแขกนะครับ”

เขาบอกไว้ตั้งแต่วันแรกที่เดินทางมาถึงเขาใหญ่

พี่ดำ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี

คำถามที่น่าสนใจกว่านั้นคือ คนเมืองอย่างเราๆ รู้สึก เข้าใจตัวเองและระบบสังคมที่ดำรงอยู่อย่างไรในเวลาที่พลังดิจิตอลเขย่าเราเข้าด้วยกันจนทุกอย่างเข้าถึงได้ง่าย ความหมายของการเข้าหาธรรมชาติหรือการเข้าป่าธรรมดาจะลึกซึ้งหรือผิวเผินแค่ไหน เป็นแค่ความสบายใจ การหลีกหนีวิถีเมือง หรือไปถึงการพยายามเข้าใจธรรมชาติบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน

เดินแบบสุนัขจิ้งจอก มองแบบนกฮูก ฟังแบบกวาง 

วันแรกเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการนั่งล้อมวงคุยและถามที่มาที่ไปของสมาชิกแต่ละคนที่แคมป์ลำตะคอง ซึ่งมีทั้งพยาบาลด้านจิตเวช พนักงานออฟฟิศ กองบรรณาธิการสื่อ นักออกแบบ นักเขียนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งชาวญี่ปุ่น จุดประสงค์ของหลายคนมาเพื่อพักผ่อนและทำความรู้จักกับการอาบป่า บางคนก็รู้สึกว่าป่าเป็นบ้านอยู่แล้ว อย่างโนบิ ชาวญี่ปุ่นคนเดียวในกรุ๊ปก็เผยสั้นๆ ว่า รู้สึกห่างหายจากธรรมชาติไปนาน และป่าก็ไม่ต่างอะไรจากบ้านของเขาเอง

ทีมงานเริ่มกิจกรรมต่อไปง่ายๆ คือให้แต่ละคนเลือกโปสการ์ดรูปที่ชอบหรือเชื่อมโยงกับตัวเองมากที่สุดจากกองใหญ่ มีทั้งรูปธรรมชาติ เสือ เห็ด ต้นไม้ ซึ่งบางคนเลือกรูปแมลงด้วยเหตุผลเพราะมันกำลังมีจำนวนลดน้อยลง เลือกต้นไม้ในหมอกเพราะแง่มุมทางสุนทรียศาสตร์ เต็มไปด้วยความคุลมเครือและเสน่ห์คล้ายกับชีวิต 

ป้าป้อม ผู้อาวุโสลำดับต้นๆ ในกลุ่มยิ้มเบาบาง พูดด้วยโทนเสียงเนิบนาบเข้ากับลมอ่อน

“ตอนแรกมองแค่ใยแมงมุมตกกระทบกับแสงแล้วสวย แต่พอดูไปเรื่อยๆ ไม่ได้มองแค่ความกลมกลืนของเส้นใยกับองค์ประกอบอื่นแล้ว แต่กลับมองว่าแมงมุมมันเก่งมากที่สามารถสร้างใยจากน้ำลายที่เหนียวมากได้ บ้านเราเองก็มีใยแมงมุมซึ่งเราปัดประจำ แต่เขาก็กลับมาสร้างใหม่ทุกวัน ไม่ย่อท้อเลย เลยรู้สึกว่ารูปนี้ให้พลัง ชีวิตอาจจะเจออะไรที่ทำให้ย่อท้อทั้งๆ ที่รู้ว่าเดี๋ยวเราก็ตายแล้ว วันนี้ใยแมงมุมสอนให้เราคิดถึงธรรมชาติของชีวิตว่าเกิดมาแล้วก็ต้องดับไป”

ทุกคนเลยสามารถเรียนรู้คาแรคเตอร์ของเพื่อนได้จากการบอกเล่าผ่านรูปและมุมมองของตัวเองต่อธรรมชาติ ซึ่งก็น่าแปลกใจที่หลายคนดูอินกับบริบทใหม่ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มเดินป่า

โดยทั่วไปแล้ว การอาบป่าเป็นศาสตร์จากญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า ชินรินโยคุ (Shinrin Yoku) ประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยทศวรรษ 1980 ท่ามกลางความฟู่ฟ่าของเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของนวัตกรรมและเทคโนโลยี รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นช่องโหว่ของความรุ่งเรือง นั่นคือความซึมเศร้า ภาวะอ่อนไหวทางอารมณ์ และความซูบผอมของจิตใจมนุษย์จากพลวัตของสังคม จึงส่งเสริมเรื่องการอาบป่าให้ประชากรรับรู้มากขึ้นโดยการตั้งสมาคมป่าบำบัดขึ้นในปี 2545 ประชาสัมพันธ์ผ่านงานวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าบรรยากาศในป่าสามารถช่วยบรรเทาความตึงเครียด ฝึกสมาธิ และทำให้นอนหลับดีขึ้น

และฮาวทูอาบป่าก็ไม่ได้เข้าถึงยากวุ่นวายอะไร เพียงแค่อยู่กับตัวเอง รู้ว่าตัวเองอยู่ในป่า เดินๆ นั่งๆ แล้วลองมอง สัมผัส สูดดม รับรส ปล่อยตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกที่เรากลายเป็นแขกแสนสงบเสงี่ยม เฝ้ามองต้นไม้ใช้ชีวิต ฟังเสียงหลายร้อยโน๊ตของนกและชะนี ถ้าโชคดีก็อาจจะได้สูดดมกลิ่นมูลเป็นก้อนๆ จากฝูงช้าง ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องเทร็กกิงมุทะลุไปเพื่อบรรลุอะไรทั้งนั้น

ดังนั้นเพื่อเตรียมการอาบป่าที่จะเกิดขึ้นในวันที่สอง พี่ต้น สุรศักดิ์ เทศขจร เมนเทอร์หลักอีกหนึ่งคนของกิจกรรมในตลอดสามวันสองคืน จึงเริ่มสอนการติดเครื่องมือการมองแบบนกฮูก ฟังแบบกวางป่า และเดินแบบสุนัขจิ้งจอก ทุกคนได้ลองถอดรองเท้า ใช้ปลายเท้าสัมผัสพื้นดิน ย่องช้าๆ ให้เหมือนสุนัขจิ้งจอก จากนั้นลองมองในรูปแบบใหม่ โฟกัสไปที่ภาพข้างๆ เพราะคลองสายตาเราสามารถจับความเป็นไปได้ถึง 180 องศา ใครจะเดินไปไหนก็ได้โดยอิสระ ลองหลับตา ตั้งสมาธิกับเสียงที่ได้ยิน พี่ต้นเรียกชื่อให้น่ารักว่านี่คือการลองทำแผนที่เสียง ในบริบทที่เปลี่ยนไป เราได้ยินอะไรจริงๆ บ้าง

แต่ละคนจับจองพื้นที่ของตัวเอง ไม่รู้ว่าคิดอะไรกันอยู่ในหัวบ้าง แต่บรรยากาศดูสงบ บางคนหลบมุม บางคนกางแขนรับพลังลม แดดหุบสลับแดดร่ม เสียงนกเงือกกับนกแก๊กร้องแซมๆ มาจากต้นไม้สักแห่งที่อยู่ไกลออกไป สักพักมีเสียงโพระดกกับกาเหว่าแว่วมาด้วยทำให้เราตื่นเต้นเหมือนกันว่าระยะเวลาสั้นๆ ที่เหลือ สายตาปุถุชนที่เจอแต่นกกระจอกในเมืองจะเจอนกแปลกๆ อะไรกับเขาบ้างไหม

ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน กวีชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้สั้นๆ ว่า “The earth laughs in flowers.” แปลง่ายๆ ตรงตัวว่า โลกเราหัวเราะออกมาเป็นดอกไม้ จะมีช่วงเวลาที่เราเข้าใจในเซนส์แบบนั้นได้ในความนิ่ง นิ่งมากพอที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง ป่าเปลือยให้เห็นว่าแท้จริงแล้วความคลุมเครือก็คือความงดงามที่เราอยากยิ้มให้ แต่เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป

เราเดินทางไปถึงเส้นทางชมธรรมชาติที่จุดชมวิวเขาเขียว ผาเดียวดายในช่วงเย็น อากาศยังอบอ้าวอยู่บ้าง ตามรายทางพี่ดำและว่านบรรยายคุณลักษณะคร่าวๆ ของป่าดิบเขา ป่าไผ่และไม้ยืนต้นทั้งหลาย อธิบายการอยู่ร่วมกันของไลเคนโดยมีตัวช่วยเป็นแว่นขยาย รวมไปถึงต้นเฟิร์นที่กองเหงาๆ เหมือนตาย แต่จริงๆ แค่พักผ่อนรอเวลาตื่น ความแข็งแกร่งของมันคือต้องการน้ำแค่นิดเดียวเพื่อเลี้ยงรากให้อยู่ได้

ราว 5 โมงสิบห้า เราใช้ชีวิตอยู่บนผาสูงที่ข้างหน้ามีแต่ดงป่าสีเขียว สำรวจทิวทัศน์ฝั่งปราจีนบุรีที่เห็นได้ไม่บ่อยครั้ง เมฆลอยสลับแสงแดดที่เตรียมเก็บกระเป๋ากลับบ้าน สีส้มที่พาดเป็นเส้นบางๆ บนต้นไม้คือภาพแคบที่ผสมสีแล้วแปลกและสวย ภาพกว้างที่เป็นพุ่มแพนโทนสีเขียวหลายเฉดก็ใจดีกับดวงตาโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไรกลับ

โจทย์ของเมนเทอร์พี่ต้น คือให้อยู่กับตัวเองไปเรื่อยๆ หาพื้นที่สบายๆ แล้วพักใจ ลองสังเกตนกบางจำพวกบินกลับรังในตอนเย็น อากาศเริ่มชื้นและครึ้มฝนหลังจากที่แดดเคยทอมาเป็นปื้น หลายคนนอนราบไปกับพื้นเพื่อเปลี่ยนวิสัยทัศน์ บางคนจดบันทึก อีกกลุ่มหนึ่งไปซุ่มดูเลียงผาที่โผล่มาให้เห็นโดยบังเอิญ

พี่ดำนั่งหลับตาอยู่บนโขดหิน ในมือยังมีกล้องส่องทางไกลที่เอาไว้ดูนกอยู่ในมือ 

“จุดชมวิวที่ผาเดียวดายเป็นจุดที่ดีมากที่เราจะได้ขึ้นไปดู เราจะเห็นมวลชีวิตมากมายที่เต็มไปด้วยทิวทัศน์เขา ต้นไม้หนาแน่น เรารู้สึกถึงพลังของชีวิตที่อยู่ตรงนั้นเยอะแยะไปหมด แล้วมันก็ส่งมาถึงเราได้เลย เราแค่ดู แล้วก็รับความรู้สึกของมวลทั้งหมดที่อย่ตรงนั้นกลับเข้ามาในตัวเรา ฟังเสียงของแมลง เสียงลม ทุกอย่างเป็นชีวิตที่เกื้อหนุนกันหมดนะครับ แล้วเราก็ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพลังชีวิตตรงนั้นด้วย”

ทัพหมอกเคลื่อนผ่านไปเหมือนสีเขียวตรงหน้าเป็นอดีต  5 วินาทีต่อมาก็กลายเป็นปัจจุบันอีกครั้ง ความเร็วของกลุ่มหมอกเทียบเท่ากับตอนที่ไถหน้าจอเฟสบุ้ก ปุยสีขาวไหลผ่านตัวและหน้า สัมผัสแบบไม่รู้สึกว่ามีการแตะต้องแต่ไม่อยากให้หายไป อยากมองมันวืดผ่านเราและต้นไม้ไปเรื่อยๆ 

เวลาที่นั่งอยู่นิ่งๆ ในบ้านที่กรุงเทพฯ บางครั้งเราจะรู้สึกไปเองว่ากำลังทำสิ่งที่ไม่มีสาระประโยชน์ แต่เมื่อเปลี่ยนมานั่งนิ่งๆ ต่อหน้าหมอก เหมือนอยากสารภาพกับมันในใจว่าอยากทำแค่นี้ อยากนั่งนิ่งๆ และเป็นตัวเองในบรรยากาศที่เย็นกำลังพอดี รู้สึกปลอดภัย ลืมตาขึ้นมาก็ไม่มีอะไรมาตัดสินว่าชีวิตควรจะทำอะไรต่อ

สำหรับคนที่มักจะนึกถึงป่าเขาอยู่เสมอๆ การอยู่แบบนี้ก็เหมือนได้กลับบ้านไปพักผ่อน ความทรงจำย้อนไปตอนอยู่บนยอดดอยต่างๆ  เราอาบทั้งป่าทั้งหมอกได้โดยกลิ้งไปกลิ้งมาได้ทั้งวัน และก็อยากหัวเราะออกมาเป็นดอกไม้เป็นเพื่อนโลกเหมือนกันถ้าฝนไม่ไล่หลังมาเสียก่อน

แค่ยกนิ้วก้อยขึ้นมาก็ปิดดวงจันทร์ได้ทั้งดวงแล้ว

ตกกลางคืน บริเวณใกล้แคมป์ พี่ชล หนึ่งในผู้เข้าร่วมทริปครั้งนี้เป็นสาวกของท้องฟ้า เขาพกกล้องดูดาวหนักๆ มาด้วย ในโอกาสที่มาเยือนเมืองป่าที่ฟ้าน่าจะเปิดให้เห็นสิ่งจำเป็นบนท้องฟ้ามากกว่าแสงรบกวน 

พี่ชลติดตั้งกล้องและเปิดเลคเชอร์ย่อมๆ เกี่ยวกับดาวต่างๆ บนท้องฟ้า โดยมีพี่ดำ geek ด้านดาราศาสตร์อีกหนึ่งคนเข้ามาร่วมช่วยอธิบายความสัมพันธ์ของจักรวาล ทวนความจำง่ายๆ สำหรับหลายคนที่ลืมไปแล้วว่าระบบสุริยะทำงานอย่างจริงจังอย่างไรบ้าง

อากาศตอนราวหนึ่งทุ่มเย็นนิดๆ ทุกคนผ่อนคลายจากกิจกรรมตอนเย็นและอิ่มท้องกันหมดแล้ว การได้ยืนแหงนหน้านานๆ และรู้ว่าตรงนั้นคือดาวอะไรเป็นสิ่งที่ชุบชูใจเหมือนได้กินของหวานตบท้าย หลายคนแวบไปดูกลุ่มดาวผ่านกล้องและตื่นเต้นกันใหญ่ เป็นการปิดฉากวันที่ได้ทั้งสุนทรีย์และสาระ เหมือนได้ย้อนกลับเปิดตำราอีกครั้ง ต่างกันตรงที่ว่าห้องเรียนใหญ่กว่ามากและคุณครูก็พร้อมสอนด้วยพลังที่มากกว่าผู้เรียนด้วยซ้ำ

อยากเห็นดาวลูกไก่ก็รู้วิธีดูตรงนั้นเลย บทสนทนาเต็มไปด้วยความสงสัยเรื่องกล้องดูดาว โอกาสในการเห็นดาวและเนบิวลาบนท้องฟ้า ดาวบริวาร ที่มาที่ไปของดาวจักรราศี ดาววัว ดาวแมงป่อง หรือเกร็ดเล็กน้อยของคนสมัยโบราณกับการดูดาวเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว

ผลัดกันเห่อกล้องดูดาวของพี่ชลและตื่นเต้นกันไม่นาน ก็ตื่นเต้นกันใหม่อีกรอบแบบไม่ทันตั้งตัว เพราะมีวัตถุพร้อมแสงตกวูบผ่านหน้าเราไปในความละเอียดที่ชัดเจนมาก ทุกคนเหวอ ชุดคำที่ใกล้เคียงกับภาพที่เห็นที่สุดคือฝนดาวตก แต่ก็ไม่แน่ใจอีกว่าใช่หรือไม่ จะบอกว่าเป็นเศษดาวเทียมก็ไม่น่าจะใหญ่ขนาดนั้น สุดท้ายเราไม่ได้คำตอบอะไรแต่ปฏิกริยาของทุกคนสื่อได้ว่ารู้สึกดีใจมากที่ได้เห็น

กลุ่มผู้ชุมนุมก็แยกย้ายเพื่อนัดราวตี 5 ของวันรุ่งขึ้น พี่ชลเปรยไว้ว่าอาจจะได้เห็นทางช้างเผือกถ้าฟ้าเปิด หลายคนดูพยักหน้าด้วยความตั้งอกตั้งใจ ส่วนเราพยักหน้าไปอย่างนั้นเพราะไม่ใช่มนุษย์เช้าอย่างจริงจังแม้ว่าปกติเข้าป่าแล้วจะขยันลุกขึ้นมาดูวิวดูเขาก็ตาม ในหัวกดฟอร์เวิร์ดข้ามไปตอนเดินเทรลที่เส้นทางซายาโกะในวันพรุ่งนี้แล้วเรียบร้อย

“จริงๆ ดวงจันทร์นี่ แค่ยกนิ้วก้อยขึ้นมาปิด เราก็มองไม่เห็นมันแล้วนะ” 

เราเข้านอนไปด้วยคำพูดแรนดอมของพี่ชล ลองยกนิ้วขึ้นมาเล็งให้ตรงจุดก็พบว่ามองไม่เห็นดวงจันทร์จริงๆ

5:10 AM

เหมือนมีใครราดกาวสีดำสนิทบนฟ้า จากนั้นก็สาดกากเพชรลงไปโครมใหญ่ เป็นภาพที่ไม่ได้อัศจรรย์จนต้องหยุดหายใจ แต่ปลุกให้ตื่นโดยอัตโนมัติแล้วเดินออกไปมองให้เต็มตาขึ้นกว่าเดิม

“โห ถามจริง……”

เสียงในหัวพูดอย่างนั้นจริงๆ ในเวลาราวตี 5 สิบนาที ก้าวงัวเงียออกมาจากที่พักไม่ถึง 50 เมตร เหมือนมีใครมาคลิกเม้าส์ภาพพาโนรามาของท้องฟ้าให้เป็นภาพตามเว็บไซต์ NASA ที่บันทึกชีวิตของดวงดาวเอาไว้ 

ทางช้างเผือกสวยมาก อยู่ดีๆ ตีห้าก็สว่างระยิบระยับจนนับถือตัวเองที่ตื่นขึ้นมา

ธรรมชาติคงฉายหนังแบบนี้บ่อยแล้ว แต่ตาเปล่าของเราไม่มีโอกาสได้เห็นเพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยและฟ้าปิด ในเมือง(หรือแม้แต่บนดอย)เต็มไปด้วยมลพิษทางแสง กลางป่ากลางเขายังต้องอาศัยโชคที่จะได้เห็น วันนี้จึงนับว่าเราโชคดีที่ตัดสินใจตื่นมาทักทายบทกลอนบนท้องฟ้าทั้งๆ ที่ยังลืมตาไม่ค่อยจะขึ้นดี

 ระยะทางจากตาเปล่าถึงดวงดาวบอกเราเอื่อยๆ ว่าความสวยงามนั้นทั้งเรียบง่ายและซับซ้อน ความสว่างจากทางช้างเผือกสะท้อนล้อกันกับสีเขียวที่ตกอยู่ในความมืดของต้นไม้ สร้างความหมายใหม่ให้กับสายตาที่มีต่อธรรมชาติ และมันเป็นแบบนี้ทุกครั้งที่พาตัวเองกลับเข้ามาในดินแดนของหลายชีวิตที่อยู่ได้เองอย่างแข็งแรง 

“แค่เห็นต้นไม้ เห็นสิ่งมีชีวิตอื่นที่เขาอยู่ได้ด้วยตัวของเขาเองและเราได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเขา แม้ในระยะเวลาอันสั้นก็พอ แล้วเราก็อ่อนแอมากๆ เนอะ เราไม่สามารถมาอยู่ในนี้ได้ตลอดไปหรอก แล้วเราก็ไม่สามารถไปอยู่ทุกที่ในพื้นที่นี้เพราะเราฉีกตัวออกไปสร้างสังคมของเรา แล้วเราก็เครียดกับสังคมมนุษย์อยู่เสมอ แต่อย่างน้อยเราได้กลับมาเจอเขาบ้างในบางพื้นที่ บางเวลาที่มันเป็นไปได้สำหรับเรา”

พี่ดำเอ่ยเอาไว้

เป็นเวลาที่เข้าใจว่าเราทั้งอ่อนแอและอ่อนไหว เป็นเศษเล็กๆ อีกชิ้นหนึ่งของจักรวาลที่กะพริบสู้ดวงดาวขนาดเล็กที่สุดไม่ไหว ซ้ำยังจ้องจะทำลายตัวเองไปเรื่อยๆ โดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ

นิ้วก้อยเล็กเปราะของเรา จริงๆ แล้วมันปิดบังความแข็งแกร่งของดวงจันทร์ได้แค่ตาเปล่าเท่านั้นเอง

กิน งีบ เดิน เห็น

วันนี้อาจจะได้เห็นชะนีมงกุฎ และนกเงือก

ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีชะนีสองสายพันธุ์ที่โด่งดังคือชะนีมือขาวและชะนีมงกุฎ ซึ่งเราได้ยินเสียงแว่วหูอยู่ตลอดตั้งแต่วนเวียนอยู่ในแถบแคมป์ลำตะคอง 

ชะนีกับผู้หญิงอาจจะคาบเกี่ยวกันตรงฟังก์ชันที่หลากหลายและซับซ้อน แค่กินผลไม้ทั้งเมล็ดและโหนกิ่งไม้ไปกิ่งต่อกิ่งก็โปรยเมล็ดพันธุ์ไปทั่วผืนป่าจากการขับถ่าย เป็นนักปลูกต้นไม้ตัวเก่งไม่แพ้นกเงือก แถมยังมีระบบสังคมที่น่าสนใจ มันหากินในพื้นที่เขตแดนของตัวเอง อยู่แบบผัวเดียวเมียเดียว และไม่สร้างรังแต่ย้ายต้นนอนไปเรื่อยๆ เป็น nomad ที่ปราดเปรื่องด้านการเปลี่ยนที่นอนอีกต่างหาก เพราะต้นที่ถูกเลือกจะต้องอยู่ห่างจากอาหารต้นสุดท้ายที่เพิ่งกินไปเพื่อหลีกเลี่ยงนักล่าที่แข็งแกร่งกว่ามาก่อกวนยามดวงอาทิตย์หลับ

แต่ชะนีบางตัวก็หัวถึงหมอนแถวปลายกิ่งเพราะเก๋าเกมมากพอที่จะควบคุมความปลอดภัยของตัวเอง มันมีระบบสังคมเหมือนกับที่มนุษย์มี และแตกต่างหลากหลายกันไปตามครัวเรือน

 เส้นทางเดินเทรลที่จะเกิดขึ้นในช่วงสายของวันนี้ที่กม.33 เส้นทางหนองผักชี ดงติ้ว(เส้นทางซายาโกะ)คือช่วงเวลาที่น่าลุ้นว่าชะนีจะได้เห็นชะนีหรือเปล่า ถ้าโชคดีก็อาจจะได้เห็นนกเงือกด้วยเพราะนี่คือช่วงเวลาที่มันกำลังรวมตัวกันสังสรรค์จับคู่

ก่อนจะเดินเข้าไปสำรวจป่า พี่ดำ วิทยากรหลักที่นำชาวแก๊งชมทั้งผืนป่าและผืนดาวเมื่อคืนชวนให้เล่นกิจกรรมสั้นๆ ก่อนเข้า คือ ให้สำรวจยีนเด่นยีนด้อยของตัวเอง แค่กางนิ้ว ดูลายมือ สังเกตลักษณะของเพื่อน บางคนห่อลิ้นได้ กระดิกหูได้ แค่นี้ก็เห็นความหลากหลายของตัวเองที่เหมือนกับธรรมชาติ

เสียงชะนียังคงดังแทรกเสียงใบไม้ไหวมาเรื่อยๆ ทางเดินในเส้นนี้ค่อนข้างเรียบและชิลล์มากในระดับที่ใส่รองเท้าแตะมาเดินได้สบายๆ (แต่ไม่ใช่ในหน้าฝน) วิทยากรแนะนำลักษณะทางธรรมชาติที่เห็นตามรายทาง ให้ข้อมูลเรื่องชนิดของนกเงือกและลักษณะนิสัยของมันจนเราเดินมาถึงจุดส่องรัง

เงียบ…และว่างเปล่า

ทุกคนกดปุ่ม mute ให้ตัวเอง กระซิบกระซาบ ผลัดกันใช้กล้องส่องทางไกลส่องอากาศและต้นไม้ เป้าหมายที่มีรูอยู่ไม่ไกล แต่ก็ไม่มีวี่แววของตัวผู้ว่าจะบินมาเป็นไฮไลท์ มีแต่จงอยปากของตัวเมียที่ผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ข้างในรัง คอยเขี่ยเศษอาหารรอสามี

งั้นก็คงต้องวัดดวงกันเอาตามท้องฟ้า ธรรมชาติมักจะมีนิสัยแบบนี้ คาดเดาไม่ค่อยได้ เวลารอคอยอยากจะเจออะไรจะไม่ค่อยได้เห็น

เรารอกันอยู่สักพักก็เดินไปต่อแถวดงยางเสียน ทีม park ใจคิดกิจกรรมน่ารักๆ ไว้คือให้แต่ละคนเดินไปตามหาใบไม้ที่ชอบมากันคนละ 5 ใบ แล้วมารวมกัน จัดวางเรียงสีและหาความแตกต่าง ตั้งคำถามว่ามันมีส่วนคล้ายกันไหม ก่อนที่เราจะได้ยินเสียงฮือฮาจากทางด้านข้างที่บอกว่าเห็นชะนีกำลังเคลื่อนไหว

ในต้นไม้สูงใหญ่ที่โซนถัดไปเป็นท้องฟ้า ชะนีก็ได้เห็นชะนีเสียทีหลังจากที่หลอนฟังเสียงมานานเป็นวัน มันโหนหิ้วตัวเองไปตามกิ่งไม้ด้วยความพลิ้วระดับสูง กิ่งไม้ขยับพองาม มองแล้วดูสงบ เป็นชีวิตที่ผ่อนคลาย เหมือนการเหวี่ยงตัวจากกิ่งสู่กิ่งสามารถทำได้ง่าย สายตาเราจับตามก้อนเล็กๆ ได้ไม่เท่าไหร่ มันก็เร้นหายไปในต้นไม้ใหญ่เพื่อใช้ชีวิตต่อ 

แล้วเราก็ไม่เจอสัตว์อะไรอีกเลย มีแต่พันธุ์ไม้แปลกหน้าในป่าดิบเขา เสียงนกที่ตีกันในที่ห่างไกลออกไป จนมาถึงต้นไทรต้นใหญ่ที่ทุกคนได้ปีนขึ้นไปถ่ายรูปก่อนจะกินข้าวในห่อใบตองที่ได้รับแจก

“หาที่ทางของตัวเองแล้วก็นอนได้เลยนะครับ”

เสียงเมนเทอร์พี่ต้นตะโกนมาแค่นั้น พี่ชลปลีกวิเวกออกไปนั่งสมาธิ ป้าป้อมนั่งเงียบๆ หลับตาบนขอนไม้ หลายคนเอนกายนอนลงกับพื้นไม่ห่างไกลจากต้นไทรบิ๊กเบิ้ม 

การอาบป่า 101 เริ่มเข้มข้นขึ้นในช่วงเวลานี้

เราเข้าป่าหลายครั้งแล้วทั้งในเวอร์ชันจริงจังและเที่ยวเล่น แต่ไม่เคยได้ลองนอนนิ่งๆ ตอนกลางวันแสกๆ การงีบสั้นๆ ในครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งการค้นพบที่ต้องทำซ้ำอีกแน่ในครั้งต่อไป เพราะความคิดได้โอกาสคัดกรองตัวเองในจังหวะที่คล้ายกันกับชาวนาที่กำลังฝัดข้าว รู้สึกใจเย็นลง ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากความรู้สึกสบายที่ได้พักผ่อนในอากาศที่ปลอดโล่ง ต้องยอมรับว่าการทำงานและความกังวลในชีวิตประจำวันดีดเราออกห่างจากสภาวะสงบแบบนี้มาช่วงหนึ่ง

เสียงชะนีเงียบไปแล้ว มันตื่นสายแถมตอนนี้ยังพิงต้นไม้นอนกลางวันสบายใจเฉิบอยู่ที่ไหนสักแห่ง เสียงนกก็แว่วกระทบใบไม้ที่เสียดกันจนคิดเสียว่าเป็น ASMR (autonomous sensory meridian response การตอบสนองต่อประสาทความรู้สึกโดยอัตโนมัติ โดยมากเป็นเสียงที่ฟังแล้วผ่อนคลาย) 

“ใครที่ได้เห็นธรรมชาติก็มักจะสบายใจอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้จะเป็นครั้งสำคัญเพราะเราได้กลับเข้ามาอยู่ในสังคมของพืชพันธุ์และชีวิตอื่นๆ ในธรรมชาติ แม้จะในช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่เราก็ได้กลับเข้ามาหาบางอย่างที่เราห่างหายไปนาน เราได้มีโอกาสเดินเข้ามาในป่าหรืออยู่ในพื้นที่ที่เป็นของเขาจริงๆ แล้วสิ่งนั้นก็ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมันสมบูรณ์ขึ้น” 

พี่ดำเคยกล่าวเอาไว้ และเราเห็นด้วยในประเด็นข้างท้ายที่ป่าช่วยเติมชีวิตและเยียวยาอาการหนึบใจ

“ต่อไปจะปล่อยให้ลองเดินคนเดียวในป่านะครับ”

มิชชันหลังตื่นก็คือการเดินทิ้งช่วงกันไปจนถึงปลายทางเพื่ออยู่กับตัวเอง เพราะบางคนเพิ่งเคยเดินป่าเป็นครั้งแรก แต่ละคนจึงมีประสบการณ์และความรู้สึกต่อช่วงนี้แตกต่างกัน 

พี่ดำออกตัวเป็นคนแรก ตามด้วยเราที่คอยเฝ้าดูอยู่ห่างๆ ภาพที่เห็นคือบก.รุ่นใหญ่เริ่มกอดต้นไม้เมื่อออกตัวเดินไปราว 100 เมตรแรก เทียบขนาดกันแล้วมนุษย์กับต้นไม้ก็เหมือนเป็นเด็กจิ๋วที่กำลังกอดยักษ์ 

ธรรมชาติมีพลังเร้นลับที่คอยเปลี่ยนให้เรากลายเป็นเด็กในบางมุมเสมอ แววตาที่ใช้มองต้นไม้ กลุ่มหมอก หรือทางช้างเผือกตลอด 1 วันกว่าของพี่ดำก็มีประกายสดใสเหมือนเด็กดีใจที่ได้ดูการ์ตูนหลังจากที่เรียนหนังสือคร่ำเคร่งมานานตลอดวัน

เขายังกอดต้นไม้ต้นที่พอจะกอดได้ไปตลอดทางเงียบๆ เราปล่อยพี่ดำให้หลุดสายตาออกไปจนไม่เห็นมีใครเลยลองคุยกับต้นไม้บ้างประปราย การคุยกับต้นไม้ในบ้านและในป่าต่างกันมากแต่สบายใจเหมือนกัน สัมผัสเปลือกของบางต้นก็ค้นพบว่าเย็นจนอยากเอาหน้าไปแนบ แอบมองไปด้านหลังก็เห็นสมาชิกในกลุ่มเดินตามๆ กันมา บางคนหยุดลูบเปลือกไม้เหมือนกันในขณะที่บางคนเดินเฉยๆ 

เราเก็บภาพรอให้หลายคนเดินผ่านไปจนกระทั่งเจอว่าน วิทยากรวัยรุ่นผู้ท่องจำนกได้ทั้งหมดใน Bird guide เดินเข้ามาพอดี เลยตัดสินใจเดินไปด้วยกัน บทสนทนาส่วนใหญ่คือการถามไถ่พันธุ์ไม้ วิธีการนอนของนก ถึงได้รู้ว่ามันมีเอ็นที่ขาไว้ล็อกตอนหลับจะได้ไม่ตกกิ่งไม้ ไปเรื่อยถึงเรื่องอุปนิสัยของชะนี แต่พอคุยไปได้สักพักว่านกลับหยุดเดินเอาดื้อๆ 

“โอะ นกเงือก”

เขามองขึ้นไปบนฟ้า ชี้ไปในทิศทางที่นกน่าจะบินผ่านไปแล้ว

“ไม่ได้ยินเหรอ เสียงปีกมันดังเหมือนเฮลิคอปเตอร์เลยนะครับ”

เราตอบด้วยสีหน้างงงวยทันทีว่าไม่ได้ยิน ตั้งแต่มาที่นี่เรายังไม่เห็นนกเงือกสักตัว

 ในป่ามีนิทานมากมายในความเรียบง่าย และบางครั้งมันตลกที่เซนส์ของเราจับจุดได้ต่างกันมาก การเดินป่าแม้จะในทางราบก็ใช้สติและสายตาที่ละเอียด ยิ่งละเอียดมากเท่าไหร่ ก็มองเห็นมากขึ้น ได้ยินมากขึ้นเท่านั้น

จอดใจ

“ในมุมของคนที่ไม่เคยเดินป่า ตอนแรกคาดหวังว่าจะได้ความรู้เหมือนเวลาอ่านนิตยสารสารคดี สิ่งที่ชอบคือความรู้ที่ได้เป็นความเพลิดเพลิน ไม่หนักไม่เบามากจนเกินไป ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่เชื่อมมนุษย์กับธรรมชาติเข้าด้วยกัน เช่น ช่วงที่ปล่อยให้เดินป่าคนเดียว”

“ตอนที่ได้เห็นชะนีจริงๆ แล้วเหมือนจะร้องไห้ ตอนกอดต้นไม้ก็ได้รับพลัง”

“เหมือนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง พอเข้าป่าแล้วรู้สึกว่าเราตัวเล็กมากๆ”

“ป่าที่เคยไปแต่ละครั้งไม่เหมือนกันเลย บางที่ร้อน บางที่เย็น บางที่มีเสียงแมลง หรือบางที่เงียบ แต่ไม่ใช่ความเงียบสนิท เป็นความเงียบที่เรารู้ว่าป่าไม่ได้อยู่เฉยๆ”

“รู้สึกดีใจที่เราใจง่ายกับการมาเข้าป่า เพราะก่อนหน้านี้งานเยอะมาก ชีวิตวุ่นวาย แต่รู้สึกชอบตัวเองที่สามารถลืมตำแหน่ง ลืมเกียรติยศได้จริงๆ เมื่ออยู่ที่นี่ มันทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้หายไปจากธรรมชาติจริงๆ แต่เราแค่ไม่ได้นึกถึงมัน”

เรานั่งล้อมวงกันในพื้นที่เดียวกันกับตอนดูดาว ฟ้ามืดไปมากแล้ว แต่ละคนออกความเห็นของตัวเองในการมา Park ใจครั้งนี้จนครบ ไม่คาดคิดเหมือนกันว่าจะมีผู้เข้าร่วมบางคนที่อินกับนกเงือกมากๆ ทั้งๆ ที่ไม่เคยสนใจมาก่อน หรือแม้กระทั่งบางคนก็ถึงกับร้องไห้ออกมา เพราะรู้สึกดีกับกิจกรรม และทีมงานที่ดูแลผู้เข้าร่วมอย่างละเอียดจนทำให้มองเห็นพฤติกรรมและทบทวนตัวเอง 

ระยะเวลาสั้นๆ เพียง 3 วัน 2 คืน กับการเดินเทรลที่ไม่ดุเดือด กิจกรรมบางกิจกรรมก็ย้อนวัยไปมาก แต่สุดท้ายแล้วมันก็ทำงานกับแต่ละคนในมิติที่แตกต่างกัน เห็นได้ชัดว่าหลายคนคงแบกอะไรมาจากเมืองไว้เยอะพอตัว การเข้าป่าง่ายๆ จึงเป็นการหลบหนีออกมาหาสมดุลในตัวเองเพียงชั่วครั้งชั่วคราว

ในกิจกรรมสุดท้ายที่ให้ทุกคนเดินออกไปเลือกชิ้นส่วนในธรรมชาติมาสร้างสรรค์เป็นศิลปะ ภาพของทุกคนมีประเด็นที่ต่างกัน ล้วงลึกถึง pain point บางคนร้องไห้ออกมาอีกครั้งเพราะเพิ่งเข้าใจว่าตัวเองคล้ายไม้ที่ผุพังที่ลอกมากับมือ บางคนเลือกหยิบดินขึ้นมาทั้งๆ ที่คนอื่นเลือกกิ่งไม้ใบไม้ ส่วนงานของพี่ชลก็กลายเป็นเหมือนกลุ่มดาวที่ตัวเองชื่นชอบทั้งๆ ที่องค์ประกอบคือดินและน้ำ

“เราพยายามใช้ธรรมชาติเยียวยาตัวเองในเมืองแล้วแต่ก็ไม่เคยหาย เพิ่งมารู้ตอนนี้เองว่าเราขาดมันมาตลอด เราทำงานกับคนที่ต้องพบเจอกับความอยุติธรรมในสังคม อยู่มากมันจึงทำให้เรารู้สึกเครียดและหดหู่ การมาครั้งนี้เลยเหมือนมาเยียวยาที่แท้จริง” หนึ่งในผู้เข้าร่วมร้องไห้ในยามสาย ก่อนที่จะระบายออกมา

“ต้องบอกว่าทุกคนเป็นหนูทดลองของกิจกรรมนี้นะครับ นี่คือการอาบป่าที่เราอยากให้คนเข้ามาสัมผัส อยากให้เขารู้สึกว่าทุกชีวิตที่อยู่ในป่า ต้นไม้แต่ละต้น สัตว์แต่ละตัวเป็นชีวิตๆ หนึ่ง จะเรียกว่าหนึ่งตัวก็ได้เหมือนเราที่เป็นมนุษย์หนึ่งคน มนุษย์แต่ละคนก็มีคาแรคเตอร์ มีบุคลิก ความรู้สึก มีชีวิตของเขา ต้นไม้ก็เหมือนกัน แม้ว่าจะเป็นชนิดเดียวกันแต่เขาก็มีคาแรคเตอร์ของเขา ฉะนั้นพอเกิดความรู้สึกนี้ เราก็จะเกิดความรู้สึกเคารพในธรรมชาติ เหมือนกับว่าเข้ามาในป่าแล้วเราจะรู้สึกว่าเขากำลังยืนมองเราอยู่

“วันหนึ่งที่เราเดินเข้าไปแล้วเรารู้สึกว่าที่นี่เป็นมิตรกับเราก็เท่ากับว่าเราอาบป่าได้สำเร็จแล้ว ยิ่งเดินเราก็ยิ่งรู้สึกว่าเขาต้อนรับเรามากขึ้นเรื่อยๆ สัตว์หลายตัวคุยกับเราได้ ก็หมายความว่าป่าไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมสำหรับเราอีกต่อไป เหมือนกลับมา reconnect เจอกับเพื่อนที่อยู่ในป่าอีกครั้งหนึ่งด้วยความรู้สึกว่าเขาเป็นชีวิตแต่ละชีวิต แล้วเราก็เป็นอีกชีวิตหนึ่งที่สามารถอยู่ร่วมกันได้”

สำหรับเรา เราเห็นป่ากับสัตว์เป็นเพื่อนมานาน เข้าอาณาเขตต้นไม้รกๆ กับดินที่ยุบได้ตอนเหยียบก็จะรู้สึกว่าเหมือนได้กลับบ้านอยู่เสมอๆ สูดอากาศเขียวสลับกับมองภูเขายิ่งนานยิ่งยิ้มออก ชอบต้นไม้ที่หายใจเสียงดังรดเราเพราะเหมือนได้อยู่ในเวลาที่เดินอีกแบบ ปวดใจจากเรื่องอะไรมา เรื่องราวเหล่านั้นก็มักจะได้รับการทะนุถนอมชั่วคราว เป็นมนตร์ของการหยุดความเจ็บปวดไว้แต่ก็เข้าใจว่ามันจะไม่หายไปไหน 

 เรา สัตว์ ป่า ต่างกลิ้งเข้าหากันในโหลที่เรียกว่าโลก กลิ้งกระทบกันทีไรความเสียหายก็เกิดขึ้นในระดับร้ายแรง ณ มุมใดมุมหนึ่งของโลกเสมอ

 ป่าทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะทั้งโดนบุกรุกโดยมนุษย์และปัจจัยอื่นๆ ที่มนุษย์จัดการนอกป่า แต่กระทบระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติในระดับหายนะ ถ้าเข้าไปท่องเว็บไซต์ของ NASA ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจะเห็นข้อมูลเชิงสถิติและวิทยาศาสตร์หลายรูปแบบที่บอกว่าโลกกำลังแย่ ตัวเลขของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ธารน้ำแข็งที่ลดลง ปริมาณก๊าสคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี 

ตั้งแต่ราวกลางศตวรรษที่ 20 มีสถิติที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างชัดเจนว่าเกิดขึ้นเพราะการกระทำจากมนุษย์ราวร้อยละ 90 ตั้งแต่ปี 2536-2559 ธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ลดลงราว 286 พันล้านตันต่อปี และ 127 พันล้านตันต่อปีในแอนตาร์กติกา ไม่รวมภัยธรรมชาติครั้งใหญ่และปัจจัยอื่นๆ ที่เห็นกันบ่อยๆ

จริงๆ คำว่าโลกร้อน และ จงรักษาสิ่งแวดล้อม ดูจะเป็นคำที่คุ้นหูเกินไปจนเราฟังแล้วก็ได้แต่พยักหน้า แต่ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาที่ตรงไหนก่อนเพราะมันเหมือนจะใหญ่เกินตัวไป urban development ต้อนเราให้รู้สึกว่าการใช้ชีวิตไปพร้อมๆ กับรักษ์โลกมันลำบากพอตัวอยู่เหมือนกัน

ถ้านายทุนใหญ่ยังไม่หยุดผลิตและมีสำนึกทางสิ่งแวดล้อมมากพอ ถ้าทุนนิยมยังเป็นตัวละครหลักของแก่นโลก เราใช้ถุงผ้าหรืองดรับพลาสติกกี่หมื่นครั้งจะเป็นผลที่ทำให้น้ำแข็งอีกซีกโลกละลายน้อยลงหรือเปล่า

พรมแดนของความรู้ที่หายไปทำให้เราเข้าใจความสำคัญของธรรมชาติ เราเข้าถึงหมีขั้วโลกได้จากสารคดี เห็นวอลรัสกลิ้งตกมาตายอย่างอนาถใจเพราะไม่มีที่อยู่ เราอยากที่จะรักมันให้มากๆ แต่ก็ไม่สามารถหยุดใช้ทรัพยากรเพื่อการดำรงชีวิตได้ เราจึงเป็นมนุษย์ที่ทำสงครามอยู่ฝ่ายเดียวและใช้ชีวิตอยู่ในปลายทางของการทำลาย ในขณะที่ธรรมชาติไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วยแต่ก็ต้องรักษาตัวเองไปก่อน

แต่ถ้าป่าและภูเขาที่ยืนนิ่งไม่พูดไม่จาอยู่ยังไม่ยอมแพ้เพราะธรรมชาติสู้คนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การดิ้นรนเพื่อปกป้องพื้นที่ปลอดภัยต่อสัตว์และตัวเราเอง ก็คงเป็นภารกิจที่ท้าทายและน่าสู้ไปด้วยกัน 

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาโครงสร้างแน่นอนอยู่แล้ว บางครั้งการลงมือแก้ก็ต้องอาศัยทั้งข้อมูลจากโลกจริงและความโรแมนติกเพื่อพยุงไม่ให้จิตใจย่อท้อจนเกินไป 

ถ้าเรารู้สึกว่ามันสำคัญมากพอ เราก็เชื่อว่าการเคลื่อนไหวในเชิงปัจเจกก็สามารถเติบโตได้ เริ่มตั้งแต่เคารพกันและกันในฐานะชีวิต ตั้งใจรักษาใบไม้หนึ่งใบ แล้วมันอาจจะสะเทือนไปถึงดวงดาวได้สักวัน

Tags:

เข้าป่าspiritualสิ่งแวดล้อมeco literacyvision quest

Author & Photographer:

illustrator

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่ทำงานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

Related Posts

  • Everyone can be an Educator
    ‘วิชาถิ่นนิยม’ บนดอยหลวงเชียงดาว: ก่อนจะเป็นเป็นจะที่นิยม ต้องทำให้ท้องถิ่นเป็นความรื่นรมย์เสียก่อน

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีอุบลวรรณ ปลื้มจิตร

  • Creative learning
    ศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน

    เรื่อง The Potential

  • Creative learning
    ศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน: หลักสูตรที่ไม่เหมือนใคร อาคารเรียนไม่ต้องใหญ่ แต่ห้องเรียนกว้างมาก

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

  • Creative learning
    ‘ด.เด็กเดินป่า’ ปล่อยมือลูกให้เดินเข้าป่าบ้าง ให้ที่ว่างของการเติบโต

    เรื่อง วิรตี ทะพิงค์แก

  • SpaceCreative learning
    โรงเรียนธรรมชาติ: รู้จักชีวิตที่ขาดสวิตช์ ปลั๊กไฟ และก๊อกน้ำ

    เรื่อง เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ภาพ บัว คำดี

ใน “การเรียนรู้” สมองทุกส่วนมีหน้าที่สำคัญทั้งสิ้น
Adolescent Brain
25 May 2020

ใน “การเรียนรู้” สมองทุกส่วนมีหน้าที่สำคัญทั้งสิ้น

เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • ช่วงทศวรรษที่ผ่านมานักประสาทวิทยาค้นพบว่า ไม่เพียง “สมองส่วนสีเทา” ซึ่งอยู่เปลือกนอกสุดเท่านั้นที่มีความสำคัญในการบันทึกความทรงจำต่างๆ เอาไว้ใช้ในภายภาคหน้า แต่ “สมองส่วนสีขาว” ซึ่งเคยถูกมองว่าไร้ชีวิตเพราะปราศจากเซลล์ประสาทและไม่มีจุดเชื่อมต่อเซลล์อื่นใด กลับสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน
  • กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในสมองเป็นการผนึกกำลังกันอย่างสมัครสมานสามัคคีของสมองทุกส่วน ซึ่งการจะทำงานที่สลับซับซ้อนเป็นหนึ่งเดียวได้นั้น สมองแต่ละส่วนต้องสื่อสารข้อมูลถึงกันอย่างมีประสิทธิภาพ
  • สมองส่วนที่ถูกใช้งานบ่อยๆ สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้แข็งแรงขึ้นได้เมื่อถูกใช้งานเป็นประจำ ที่น่าสนใจคือระหว่างการเรียนรู้สมองเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้เร็วมากด้วย งานวิจัยชี้ว่าแค่ช่วงขณะเล่นวิดีโอเกมจบ 16 ด่าน/หนึ่งรอบ สมองส่วนฮิปโปแคมปัสในส่วนสีเทาซึ่งทำหน้าที่เรียนรู้ด้านมิติสัมพันธ์ ตลอดจน “สมองส่วนสีขาว” ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว เซลล์ glia เพิ่มจำนวนขึ้น เส้นใยประสาทจากเซลล์สมองก็เกิดการยื่นและหดเพื่อส่งสัญญาณด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันความรู้ด้านประสาทวิทยาได้ขยายขอบเขตความสนใจจากกระบวนการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง (synapses) มาสู่การศึกษากลไกการทำงานของสมองแบบ ‘ทีมเวิร์ค’ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทศวรรษนี้มีงานวิจัยน่าสนใจมากมายที่ช่วยไขความกระจ่างว่าสมองมีกลไกการเรียนรู้อย่างไร ตั้งแต่การทำความเข้าใจว่าข้อมูลถูกรับ-ส่ง ประมวลผล และจัดเก็บอย่างไรขณะเกิดการเรียนรู้

จากบทความ The Brain Learns in Unexpected Ways ใน Scientific American เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563 ดร.อาร์ ดักลาส ฟีลด์ส (R. Douglas Fields) นักประสาทวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) สหรัฐอเมริกา สรุปประเด็นสำคัญไว้ว่า 

กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในสมองเป็นการผนึกกำลังกันอย่างสมัครสมานสามัคคีของสมองทุกส่วน ซึ่งการจะทำงานที่สลับซับซ้อนเป็นหนึ่งเดียวได้นั้น สมองแต่ละส่วนต้องสื่อสารข้อมูลถึงกันอย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ จุดที่น่าสนใจของประสิทธิภาพการทำงานสมองไม่ได้อยู่ที่ว่าเซลล์สามารถรับส่งสัญญาณได้รวดเร็วปรู๊ดปร๊าด แต่อยู่ที่ว่าเซลล์ต้องรับส่งสัญญาณมาบรรจบกันตรงเวลาต่างหาก สมองจึงจะทำงานสัมพันธ์กัน

ประเด็นสำคัญ

  • มีความเชื่อว่าการเรียนรู้อุบัติขึ้นที่ synapses หรือ เมื่อเซลล์สมองเชื่อมต่อกัน แต่ความจริงแล้ว กระบวนการเรียนรู้ที่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่มาจากสมองหลายส่วน และงานวิจัยในปัจจุบันก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่สมองส่วนที่มีเซลล์ประสาท (neuron) เท่านั้นที่ทำหน้าที่ในการเรียนรู้ “สมองส่วนสีขาว” (white matter) ซึ่งเป็นส่วนที่ไร้เซลล์ประสาท ที่ถูกมองว่าเป็นส่วนเฉื่อยก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน  
  • ในการเรียนรู้และจดจำซึ่งอาศัยการทำงานของสมองหลายส่วน ชุมสายสัญญาณที่สมองใช้สื่อสารจึงสำคัญมาก สมองส่วนที่เก็บชุมสายก็คือ “สมองส่วนสีขาว” นั่นเอง สายสัญญาณคือใยประสาท (axon) ซึ่งถูกหุ้มไว้ด้วยปลอกไมอีลิน (myelin sheath) โดยเจ้าไมอีลินนี้ช่วยให้สมองแต่ละส่วนเชื่อมสัญญาณถึงกัน
  • ไมอีลิน (myelin) ช่วยให้การรับส่งข้อมูลระหว่างเซลล์สมองบรรจบตรงเวลากันพอดี เป็นพระเอกสำคัญที่ทำให้สมองเกิดการเรียนรู้ได้ 

เนื่องจากปฐมบทของการศึกษาประสาทวิทยาว่าด้วยการเรียนรู้เกิดจากการทดลองที่พบว่าสุนัขจดจำเสียงกระดิ่งก่อนเวลาอาหารได้จนเกิดอาการน้ำลายไหลทุกครั้งที่ได้ยินเสียง งานศึกษายุคบุกเบิกที่ตามมามากมายจึงต่อยอดอธิบายกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในสมองโดยโฟกัสไปที่การทำงานของ “สมองส่วนสีเทา” (gray matter) ซึ่งเป็นชั้นที่ประกอบไปด้วยเซลล์ประสาทจำนวนมาก ทำหน้าที่ควบคุมการคิด การจำ ความรู้สึก และวนเวียนอยู่แต่กับการศึกษาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของเซลล์ประสาทระหว่างการเรียนรู้ในสมองชั้นนี้

แต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมานักประสาทวิทยาค้นพบว่า ไม่เพียง “สมองส่วนสีเทา” ซึ่งอยู่เปลือกนอกสุดเท่านั้นที่มีความสำคัญในการบันทึกความทรงจำต่างๆ เอาไว้ใช้ในภายภาคหน้า แต่ “สมองส่วนสีขาว” ลึกลงไปซึ่งเคยถูกมองว่าไร้ชีวิตเพราะปราศจากเซลล์ประสาท (neuron) และไม่มีจุดเชื่อมต่อเซลล์อื่นใดกลับมีความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน

เครดิตภาพจาก wongkarnpat.com

“สมองส่วนสีเทา” คือ เปลือกสมองชั้นนอก (cerebral cortex) หนา 3 มิลลิเมตร ทำหน้าที่ด้านการรับรู้ ซึ่งบริเวณชั้นนี้เองที่นักวิจัยเชื่อว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงเซลล์จากการเรียนรู้เกิดขึ้นที่นี่เท่านั้น  ถัดไปจากชั้นนี้คือ “สมองส่วนสีขาว” ซึ่งเต็มไปด้วยเส้นใยประสาท(axon) ที่ยื่นมาจากเซลล์สมองสีเทาจนเป็นโครงข่ายวงจรมากมาย โดยสาเหตุที่เรียกว่า “สมองส่วนสีขาว” ก็เพราะเส้นใยประสาทที่กระจุกตัวกันในชั้นนี้ถูกหุ้มด้วยไมอีลิน (myelin) เป็นปล้องๆ หากนึกภาพแล้วชั้นนี้ก็จะเหมือนชุมสายโทรศัพท์ที่มีสายสัญญาณอัดแน่น และสายซึ่งถูกหุ้มฉนวนไว้เป็นปล้องๆเหล่านั้นเรียกว่าปลอกประสาท (myelin sheath) นั่นเอง 

เมื่อเทคโนโลยีด้าน MRI เข้ามามีบทบาท งานวิจัยจึงเริ่มสแกนสมองและสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสมองชัดเจนขึ้น มีการพบว่าคนที่มีทักษะบางอย่างสูงโครงสร้างทางสมองจะแตกต่างไปจากปกติ เช่น นักดนตรีมีประสาทรับเสียงหนากว่าคนที่ไม่เล่นดนตรี ซึ่งตอนแรกนักวิจัยเข้าใจว่าจุดต่างเล็กๆ นี้อาจเป็นข้อได้เปรียบทางกายภาพที่ทำให้นักคลาริเนตและนักเปียโนเก่งทักษะดังกล่าว แต่ต่อมาก็สามารถพิสูจน์ได้ว่าโครงสร้างของสมองของพวกเขาเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจากการเรียนรู้ 

นี่จึงหมายความว่า สมองส่วนที่ถูกใช้งานบ่อยๆ สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้แข็งแรงขึ้นได้เมื่อถูกใช้งานเป็นประจำ 

ซึ่งนอกจากการฝึกฝนประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงเซลล์สมองได้แล้ว นักประสาทวิทยา Bogdan Draganski  และทีมวิจัยจาก University of Lausanne Switzerland ยังพบว่าสมองของนักเรียนแพทย์ขยายตัวใหญ่ขึ้นหลังทบทวนตำราก่อนสอบ และที่น่าสนใจคือระหว่างการเรียนรู้สมองเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้เร็วมากด้วย ในงานวิจัยของ Yaniv Assaf จาก Tel Aviv University ชี้ว่าแค่ช่วงขณะที่เล่นวิดีโอเกมจบ 16 ด่านในหนึ่งรอบ สมองส่วนฮิปโปแคมปัสในส่วนสีเทาซึ่งทำหน้าที่เรียนรู้ด้านมิติสัมพันธ์ ตลอดจน“สมองส่วนสีขาว” ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว กล่าวคือเซลล์สมองและเซลล์ค้ำจุนอื่นๆ ที่เรียกว่าเซลล์ glia เพิ่มจำนวนขึ้น นอกจากนั้นเส้นใยประสาทจากเซลล์สมองก็เกิดการยื่นและหดเพื่อส่งสัญญาณด้วยเช่นกัน 

ความลับสำคัญของกลไกการเรียนรู้อยู่ที่สมองส่วนสีขาว

ย่างสู่ทศวรรษนี้ เริ่มมีวิจัยที่หันมาสนใจ “สมองส่วนสีขาว” มีการพบว่าสมองส่วนสีขาวของโปรกอล์ฟและนักเล่นกลมืออาชีพแตกต่างจากคนที่เพิ่งฝึกหัด ทั้งยังมีการพิสูจน์ความเกี่ยวพันของสมองส่วนนี้กับ IQ ด้วย นักวิจัยจึงเริ่มหันมาศึกษากลไกการทำงานของสมองส่วนนี้และความเกี่ยวข้องที่มันมีต่อการเรียนรู้มากขึ้น 

เริ่มต้นจากการพบว่าเซลล์ค้ำจุน (เซลล์นอกเหนือจากเซลล์ประสาท เรียกรวมๆว่าเซลล์ glia ) ในสมองขาวที่ก่อนนี้ไม่สลักสำคัญใด สามารถรับรู้และตอบสนองต่อการทำงานของเซลล์ประสาทและสามารถปรับการรับส่งข้อมูลที่เกิดขึ้นในสมองได้ หนึ่งในการค้นพบที่น่าทึ่งและเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งของระบบสื่อประสาททั้งหมดอยู่ที่ปลอกไมอีลินที่หุ้มอยู่บนใยประสาท มีความสามารถในการปรับตัวให้หนาบางกว้างแคบ ช่วยให้การส่งสัญญาณผ่านเส้นใยประสาทอันซับซ้อนเป็นโครงข่ายไม่เพียงสามารถเชื่อมถึง แต่ยังควบคุมให้สัญญาณที่อยู่ใกล้ไกลต่างกันนั้นมาบรรจบพร้อมกันอีกด้วย 

ไมอีลิน

ปลอกประสาท หรือปลอกไมอีลิน เป็นเยื่อไขมันที่หุ้มตัวบนเส้นใยประสาทเป็นปล้องๆ เพื่อเร่ง สปีดการส่งสัญญาณผ่านกระแสไฟฟ้าไปตามแขนงใยประสาทให้เร็วขึ้น ใยประสาทจะถูกหุ้มแบบช่วงเว้นช่วงมีช่องว่างระหว่างปล้องเรียกว่า node of Ranvier ซึ่งมีประจุอิออนกระตุ้นให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น เมื่อเซลล์ประสาทจะส่งสัญญาณข้อมูล เซลล์ค้ำจุน 2 ตัวซึ่งแทรกตัวอยู่ในสมองชั้นนี้จะเข้ามาทำหน้าที่เป็น ‘คนงาน’ดูแลการหุ้มไมอีลินบนใยประสาทให้ เซลล์ตัวแรกรูปร่างเหมือนปลาหมึกชื่อ oligodendrocyte มีหน้าที่หุ้มหรือลอกไมอีลินส่วนเกินออกจากเส้นใยประสาท กับอีกตัวคือ astrocyte คอยดูแลปริมาณไมอีลินที่ถูกหุ้มให้พอเหมาะพอดี

เครดิตภาพจาก 2005 Pearson Education, Inc., Publishing as Benjamin Cummings.

เซลล์ค้ำจุนทั้งสองข้างต้นจะทำงานก็ต่อเมื่อเซลล์สมองและชั้นโมเลกุลหลั่งสารสื่อประสาทออกมาบริเวณจุดเชื่อมต่อเซลล์ (synapses) และทั่วทั้งเส้นใยประสาทเพื่อเป็นการบอกว่า ‘จะส่งสัญญาณผ่านใยประสาทเส้นนี้ละนะ’ เมื่อสารสื่อประสาทหลั่งมาถึง เซลล์ oligodendrocyte ก็จะยื่นหนวดปลาหมึกมาเกาะที่เส้นใยประสาทจากนั้นก็จะเริ่มสังเคราะห์ไมอีลินขึ้นหุ้มจุดที่ตัวเองเกาะไว้ 

ไมอิลินจะถูกหุ้มบนใยประสาทมากน้อยขึ้นอยู่กับว่าสัญญาณนั้นจำเป็นต้องเดินทางเร็วแค่ไหน ขณะที่เซลล์ astrocyte เป็นตัวกำหนดว่าต้องหยุดหุ้มเมื่อไหร่จึงจะได้ความหนาพอดี ยิ่งหุ้มหนามาก กว้างมาก ปลอกประสาทอยู่ชิดกัน ข้อมูลก็ยิ่งเดินทางได้เร็วขึ้น แต่เพราะสัญญาณถูกส่งมาจากใยประสาทที่สั้นบ้างยาวบ้าง เซลล์ค้ำจุนสองตัวนี้จึงต้องช่วยกันควบคุมการหุ้มให้เหมาะสมว่าสัญญาณใดต้องเดินทางเร็วขึ้นและสัญญาณใดต้องชะลอความเร็วลง 

สภาวะการปรับตัวของปลอกไมอีลินนี้คือกระบวนการที่สมองใช้จัดสรรสัญญาณที่มาจากส่วนต่างๆให้เดินทางมาบรรจบพร้อมกัน เป็นความยืดหยุ่นอันชาญฉลาดในการปรับตัวของสมองที่เราเรียกว่า Neuroplasticity ซึ่งเป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่ไขความลับของกลไกการเรียนรู้ในสมองที่เรากำลังพูดถึง

  • เครดิตภาพจาก David Cheney; Source: “Treadmilling Model for Plasticity of the Myelin Sheath,” by R. Douglas Fields and Dipankar J. Dutta, in Trends in Neurosciences, Vol. 42; July 2019

นอกจากไมอีลินมีบทบาทต่อการรับส่งสัญญาณผ่านเซลล์สมอง มันยังมีความสำคัญต่อการรับส่งสัญญาณผ่านคลื่นสมองด้วย เนื่องจากสมองไม่ได้ทำงานผ่านการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์เพียงอย่างเดียว คลื่นสมองคืออีกทางที่ช่วยให้เซลล์สมองที่อยู่ไกลกันคนละส่วนสามารถส่งสัญญาณถึงกันได้รวดเร็ว เช่น คลื่นสมองส่งสัญญาณให้สมองส่วนหน้าทำความเข้าใจด้านบริบทประสานกับฮิปโปแคมปัสที่เข้าใจเรื่องสถานที่ ทำให้เราจดจำใบหน้าคนที่ทำงานในตึกเดียวกันได้แม้เคยเห็นผ่านๆ เป็นต้น  

ด้วยการส่งคลื่นนี้ สมองจึงสามารถทำงานด้วยตัวเองทั้งในภาวะจิตรู้สำนึกและจิตใต้สำนึก โดยเฉพาะการนอนหลับซึ่งสำคัญต่อความจำระยะยาว คลื่นสมองจะถูกส่งออกมาสูงต่ำต่างกัน มีการกรอภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเลือกว่าจะเก็บเรื่องใดเข้าเป็นความจำ โดยบันทึกแต่ประสบการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์บางอย่างรุนแรง ประสบการณ์แปลกใหม่ เรื่องที่สนใจหรือมีแรงจูงใจสูงและเกิดในกาลเทศะประจวบเหมาะ 

ตลอดกระบวนการนี้ เซลล์นับล้านที่อยู่ในสมองแต่ละส่วนต้องเชื่อมถึงกันเพื่อปะติดปะต่อความทรงจำให้เป็นภาพสมบูรณ์ที่มีทั้งอารมณ์ ภาพ เสียง กลิ่นและลำดับเรื่องราวต่างๆได้ และเซลล์สมองที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องพร้อมรับส่งในจังหวะเดียวกัน การปรับตัวหนาบางของเยื่อไมอีลินช่วยให้การส่งสัญญาณอยู่ทำความเร็วเหมาะสม ซึ่งสำคัญต่อการรักษาคลื่นของสมองสองส่วนให้อยู่ในความถี่เดียวกันได้

ทีมวิจัยของ Patrick Steadman จาก the University of Toronto ทดลองในหนูที่ตัดแต่งพันธุกรรมให้ไมอีลินหยุดทำงานชั่วคราวพบว่า เมื่อไมอีลินไม่ก่อตัว การเชื่อมต่อของสมองที่อยู่ไกลกันก็ทำได้น้อยลง ส่งผลให้ความจำบกพร่อง ไมอีลินสามารถสร้างขึ้นได้ใหม่จากการเรียนรู้ซึ่งเกิดขึ้นขณะประมวลความจำตอนหลับ กรณีนี้ สมองของหนูทดลองก่อตัวไมอีลินขึ้นมาใหม่เมื่อถูกฝึกให้รู้ว่าสถานที่ใดปลอดภัยและอันตราย

โรคทางจิตประสาทบางอย่างเช่น อัลไซเมอร์ ไมอีลินจะถดถอยน้อยลงไปตามวัย ด้วยเหตุนี้คนสูงวัยจึงคิดอะไรได้ช้าและเรียนรู้สิ่งใหม่ยากกว่าหนุ่มสาว แต่งานวิจัยซึ่งศึกษาคนสูงอายุในเกาหลีใต้ก็ออกมาชี้ว่าการทดลองฝึกความจำเป็นเวลา 10 สัปดาห์ช่วยให้ผู้สูงวัยจำได้ดีขึ้น ภาพถ่ายของสมองแสดงให้เห็นชัดเจนว่า สมองส่วนสีขาวของพวกเขามีขนาดใหญ่ขึ้น

ประเด็นสำคัญหนึ่งที่อาจารย์ฟีลด์สพยายามขับเน้นผ่านกลไกการเรียนรู้ทั้งหมดนี้ คือการทำความเข้าใจตั้งต้นเสียใหม่ว่า สมองทำงานเป็นระบบใหญ่ที่ทุกส่วนล้วนมีความสำคัญและสอดประสานซึ่งกันและกันหมด อย่างข้อค้นพบของไมอีลินที่ก่อนนี้ถูกมองเป็นเยื่อไขมันที่มาหุ้มใยประสาทไว้โดยไม่มีความหมายอะไรนั้น บัดนี้กลายเป็นพระเอกสำคัญที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ แน่นอนที่สุดว่าหากต่อยอดจากความเข้าใจว่าสมองทำงานกันเป็นทีมเวิร์คนี้จะยิ่งช่วยขยายงานศึกษาที่กว้างไกลกว่าขอบเขตเดิมและเอื้อประโยชน์ในแวดวงการแพทย์ตลอดจนการศึกษาได้อีกไม่รู้จบ


ที่มา: scientificamerican.com

Tags:

Adolescent Brainวิทยาศาสตร์สมอง

Author:

illustrator

บุญชนก ธรรมวงศา

จบภาษาและการสื่อสาร เคยผ่านงานบริษัทออแกไนซ์ เปิดคลินิก ไปจนเป็นเลขาซีอีโอ หลังค้นพบและติดใจโลกนอกระบบตอกบัตร จึงแปลงร่างเป็นนักเขียน นักแปลและนักพยากรณ์ไพ่ ขี้โวยวายเป็นนิสัยที่อยากแก้ไขแต่ทำยังไงก็ไม่หาย ปัจจุบันกำลังเข้าใกล้ Midlife Crisis และหวังจะข้ามผ่านได้ด้วยวิถี “ช่างแม่ง”

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • Learning Theory
    ทบทวนความจำ ลงรายละเอียด เขียนผังมโนทัศน์: 3 กลยุทธ์ฝึกสมองให้คิดอย่างลึกซึ้ง เข้าใจเนื้อหาที่เรียน

    เรื่อง ปรียานุช ปรีชามาตย์

  • Family Psychology
    พ่อแม่ห้ามด้วยความเป็นห่วงแต่ลูกตีความว่าถูกตำหนิ และอีกหลายความขัดแย้งในบ้าน อ่านวิธีคลี่คลายที่นี่

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • Education trend
    วัยรุ่นวัยเรียนและจิตวิทยาแห่งการ ‘โกง’

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • BookAdolescent Brain
    ถ้าอยากสำเร็จต้องมี PASSION แต่ไม่มีใครบอกเลยว่า PASSION อย่างเดียวไม่พอ

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

เครื่องมือช่วยเด็กคุยกับตัวเอง คลี่คลายความเครียด โดยนักจิตวิทยาโรงเรียน
Education trend
21 May 2020

เครื่องมือช่วยเด็กคุยกับตัวเอง คลี่คลายความเครียด โดยนักจิตวิทยาโรงเรียน

เรื่อง The Potential ภาพ มานิตา บุญยงค์

การเปิดเทอมปีการศึกษา 2563 กลายเป็นวาระใหญ่ที่มีหลายประเด็นต้องทำงาน ตั้งแต่การจัดแผนการเรียนรู้อย่างไร ควรเปิดโรงเรียนเต็มที่เมื่อไร จะมีเรียนออนไลน์ไหม ขนาดไหน เครื่องมือการเรียนออนไลน์พร้อมหรือไม่ และอื่นๆ 

เด็กๆ กำลังเจอกับความเครียดที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ทั้งปัญหาทางการเงินของครอบครัว ความเครียดที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ความกังวลเรื่องการศึกษาต่อ กังวลว่าคนใกล้ตัวจะติดไวรัส และ ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่แค่นักเรียน ครูและครอบครัวครูก็เครียดไม่แพ้กัน การต้องอยู่กับความไม่แน่นอน ประชุมเพื่อคาดการณ์และเตรียมแผนการสอน และวาระส่วนตัวของแต่ละคน พูดได้ว่าสั่นสะเทือนตามกันไปหมด 

เพื่อช่วยครูคลี่คลายความเครียดนักเรียน เราชวน คุณนีท เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาโรงเรียน พูดคุยว่าความเครียดในนักเรียนหน้าตาเป็นอย่างไร ทำไมเราต้องสนใจ และ เครื่องมือให้ครูนำไปใช้คลี่คลายความเครียดของนักเรียนได้ง่ายๆ ไม่ว่าครูคนนั้นจะติดตัวแดงในสายตานักเรียน (เพราะอาจเข้มงวด แต่ซ่อนความหวังดีเอาไว้) หรืออันที่จริงก็สำหรับครูทุกคนที่อยากช่วยนักเรียน ‘จำนวนมาก’ คลี่คลายความเครียด เพราะใครก็รู้ว่า ครูหนึ่งคนต้องดูแลนักเรียนหลายชีวิตแค่ไหน อ่านได้ที่นี่

คุณนีทมีข้อเสนอที่น่าสนใจ และ ปรับไปใช้ง่ายๆ นั่นคือ การทำ mini talk กับนักเรียน และ ใช้เครื่องมือ ข-อ-อ-ก รับมือกับความเครียดนักเรียน (และความเครียดของครูด้วยกันเองด้วย)

Mini talk

เพราะเข้าใจว่าครูหนึ่งท่านดูแลเด็กหลายคน และเราต่างรู้กันว่าเด็ก โดยเฉพาะวัยรุ่นไม่ได้อยากเข้าหาครูขนาดนั้น โดยเฉพาะครูที่ดูดุ เฮี้ยว เจ้าระเบียบ เด็กอาจตั้งแง่และไม่เปิดใจได้ แต่ในกรณีที่ครูอยากช่วยนักเรียนคลี่คลาย การทำ mini talk คนละ 3 นาที โดยทำติดต่อกันอย่างน้อย 4 อาทิตย์ จะช่วยคลี่คลายและอาจสังเกตเห็นสิ่งที่อยู่ในใจผ่านลักษณะท่าทางของเด็ก น้ำเสียงของเด็ก วิธีการพูดคุยของเด็ก ระหว่างทำ mini talk ได้ 

“อาทิตย์แรกอาจเป็นคำถามแค่ ปิดเทอมที่ผ่านมาเป็นยังไง กินข้าวครบมื้อมั้ย เบื่อมั้ย ได้ออกจากบ้านบ้างมั้ย? แค่นี้ก็ได้นะคะ คำถามว่า ‘กินข้าวครบมื้อมั้ย’ มันไม่ได้ยิงตรงๆ ว่า เศรษฐกิจที่บ้านเป็นยังไง แต่ก็ได้เห็นว่า เขาสุขสบายดีรึเปล่า ค่อยๆ ถามตะล่อมๆ ไปแบบนี้ อาทิตย์แรกเด็กอาจไม่เล่าให้ฟังทั้งหมดหรอก เพราะมันคือครั้งแรกเนอะ แต่ก็ค่อยๆ ถามไปเรื่อยๆ นีทคิดว่าพอสักอาทิตย์ที่สามที่สี่ เราอาจชวนเด็กคุยได้ลึกขึ้น” 

ที่สำคัญที่คุณนีทย้ำคือ อย่าพยายามรีบตัดบทไปตัดสินเขา เป็นไปได้ว่าเรื่องที่เด็กเล่านั้นครูอาจไม่เห็นด้วย แต่ให้ตั้งหลักว่า เรากำลังอยากรับฟังเพื่อคลี่คลายบางอย่าง และถ้าอยากส่งมอบความคิดของตัวเองจริงๆ ให้ใช้วิธีตั้งคำถาม 

“เช่น สมมติเด็กบอกว่า อยู่ที่บ้านเบื่อมาก เพราะอยากช้อปปิ้ง ในใจเราอาจรู้สึกไม่เห็นด้วยก็ได้นะ แต่ถ้าเราตั้งหลักว่าอยากแก้ปัญหา ก็ต้องมุ่งไปที่ทางนี้ เพราะเด็กพูดเรื่องนี้มา คุยเรื่องอื่นไม่ได้  เราอาจจะถามเด็กว่า ‘เครียดเพราะไม่ได้ช้อปปิ้งใช่มั้ย แล้วอะไรที่จะทำให้หายเครียดได้ ช้อปปิ้งออนไลน์ได้มั้ย?’ ซึ่งเด็กอาจจะตอบ“yes” ก็ได้ แต่ถ้าเรามีทัศนคติส่วนตัวอยากให้เด็กประหยัด เราอาจชวนคุยก็ได้ว่า ‘แล้วถ้าซื้อออนไลน์ ซื้อมาแล้วใส่ไม่ได้ทำไงดี ไปลองที่ร้านดีกว่ามั้ย?’ คือต้องมีศิลปะนิดนึง คุยไปคุยมา เด็กอาจตัดสินใจรอเปิดเมือง แล้วออกไปซื้อที่ร้านโดยตรงก็ได้ ดังนั้นจุดประสงค์หลักของเราต้องชัด คืออยากคลี่คลายความเครียดให้เด็ก และช่วยเด็กแก้ปัญหา ซึ่งจากเรื่องที่เล่ามา การไม่ได้ช้อปปิ้งนี้ได้ถูกแก้ไขแล้ว คือเขาได้เห็นวิธีการว่า ได้ทั้งช้อปปิ้งออนไลน์ หรือ อดทนไปซื้อตอนร้านเปิดก็ได้”

เครื่องมือ ‘ข-อ-อ-ก’

สำหรับคุณครูที่อยากช่วยคลี่คลาย แต่คิดว่าการทำ mini talk เป็นไปได้ยาก หรือส่วนตัวไม่ถนัดพูดคุยให้คำปรึกษา เครื่องมือนี้เป็นชาร์จในการจัดการอารมณ์ ให้เด็กๆ ทำด้วยตัวเองได้ หรือ ครูอาจใช้ ‘ข-อ-อ-ก’ ใน mini talk อาทิตย์ที่ 3 หรือ 4 ก็ได้ 

วิธีการคือ 

  • ข : เข้าใจความเครียดของตัวเอง โดยให้ลิสต์ว่า ‘วันนี้’ เรารู้สึกเครียดเรื่องอะไร โดยให้ลิสต์มาทุกความเครียดที่นึกขึ้นได้ ไม่จำกัดจำนวน 
  • อ : อะไรคือความเครียดที่แท้จริง? ข้อนี้คือการตัดช้อยส์ออก จากข้อแรก ให้มาดูว่าความเครียดข้อไหนคือเรื่องที่เราเครียดจริงๆ อันไหนไม่เครียดก็ตัดออก หรือ ให้คะแนนความเครียด (rating) นั้นไว้ก็ได้ เช่น เราเครียดเรื่องนี้มากระดับ 5 เลยนะ 

    โดย ทุกๆ ความเครียดที่เหลืออยู่ในข้อ ‘อ : อะไรคือความเครียดที่แท้จริง?’ ให้อธิบายด้วยว่า ทำไมถึงเครียดข้อนี้ คุณนีทย้ำว่า ให้ ‘ร่ายยาว’ อธิบายความเครียดของเราไปเลย เช่น เครียดเรื่องการเรียนออนไลน์ระดับ 5 เลย เพราะที่บ้านอินเทอร์เน็ตไม่ดี แถมมีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวต้องแบ่งใช้กับพี่ชาย ไม่รู้ว่าจะสลับเรียนกับพี่ชายยังไง 
  • อ : โอเวอร์มั้ย? อย่างที่เรารับรู้กันดี บางทีเราชอบตีฟุ้งความเครียดเกินสิ่งที่มันเป็นจริงๆ คุณนีทบอกว่าที่ใช้คำว่า ‘โอเวอร์’ ก็เพราะอยากให้เด็กกลับมามองความเครียดตามความจริงมากขึ้น โดยในข้อนี้ ให้กลับไปดูลิสต์ความเครียดในข้อ ‘อ : อะไรคือความเครียดที่แท้จริง?’ แล้วตั้งคำถามว่า เราไฮไลต์มันจนโอเวอร์ไปมั้ย? เราอาจลองถามตัวเองจริงๆ ว่า “เออ เรื่องมันคอขาดบาดตายเลยหรอ? มันจะไม่มีวิธีการแก้เลยหรอ? หรือจริงๆ มันแก้ได้? มันยาก แย่ เยอะขนาดนั้น จริงๆ หรอ?

    หลักๆ ของข้อนี้คือ การดึงสติ เพื่อไปสู่เครื่องมือตัวสุดท้าย
  • ก : แก้ไข เมื่อประเมินเสร็จ ก็มาดูว่าจะแก้ยังไง ถ้าแก้ไม่ได้ก็อาจมาคุยกับครูหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่น นีทว่าถ้าทำชอยส์ได้มันดีนะ คือหาวิธีการแก้ปัญหาหลายๆ วิธี แล้วค่อยมาเลือกว่า วิธีใดดีที่สุด 

หากทำ mini talk ครูอาจช่วยตั้งคำถามให้เด็ก ช่วยดึงสติ และร่วมมือกับเด็กเพื่อคิดวิธีการแก้ปัญหา นีทว่าทุกปัญหามันมีทางออก แต่บางทีเรายังหาไม่เจอ 

“เครื่องมือ ‘ข-อ-อ-ก’ ครูก็ใช้ได้เหมือนกันนะ มันเหมือนยาสามัญประจำบ้าน ประเมินตัวเองทีละข้อแล้วหาทางแก้ ชั้นเครียดอะไรบ้าง โอเวอร์ไปมั้ย หาทางแก้ได้รึเปล่า” 

Tags:

เทคนิคการสอนวิชาภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ครูแนะแนว

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Illustrator:

illustrator

มานิตา บุญยงค์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่รักการวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ ฝากติดตามผลงานที่ IG : mntttk ด้วยนะคะ

Related Posts

  • Creative learning
    ‘งานบ้าน งานสวน งานครัว’ วิชาเรียนของเด็กๆ โรงเรียนบ้านกระถุนในช่วงโควิด – 19 ที่ยังคงได้ทักษะชีวิตและสมรรถนะที่จำเป็น

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Creative learning
    ลดภาระงาน เลือกทักษะที่สอดคล้องกับชีวิตเด็ก : หลักการจัดการเรียนรู้ในช่วงโควิด – 19 ของ ‘โรงเรียนบ้านปะทาย’

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • โจทย์ไม่เยอะแต่ท้าทาย เป้าหมายคือสมรรถนะ : การจัดการเรียนรู้ระดับประถม ‘ครูยิ้ม – ศิริมา โพธิจักร์’

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Education trend
    Hybrid Learning : เทรนด์การเรียนรู้แบบผสมผสานตอบโจทย์สถานการณ์โควิด-19

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Social Issues
    หากโควิดบังคับให้ครูเปลี่ยน จะสอนออนไลน์ยังไงให้ป็อปและยังมีปฏิสัมพันธ์กับศิษย์อยู่?

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ มานิตา บุญยงค์

เปิดเทอมใหม่ อย่าเพิ่งสอนวิชาการ เยียวยาเด็กและเพื่อนครูด้วยกันก่อน
Social Issues
21 May 2020

เปิดเทอมใหม่ อย่าเพิ่งสอนวิชาการ เยียวยาเด็กและเพื่อนครูด้วยกันก่อน

เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ มานิตา บุญยงค์

  • ตลอดระยะเวลาในการปิดโรงเรียนช่วงโรคระบาด มีหลายเรื่องที่ควรคุยกัน ตั้งแต่ความพร้อมในการเรียนออนไลน์ ความไม่พร้อมทางเทคโนโลยีที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายิ่งถ่างกว้าง ครูทำงานหนักขึ้นเพื่อเตรียมการเรียนการสอนแบบทางไกล แต่มีประเด็นหนึ่งที่คนพูดถึงแต่ถูกข่าวอื่นกลบไป นั่นคือ ความเครียดของผู้เรียนและเพื่อนครูด้วยกัน
  • เปิดเทอมใหม่ อย่าเพิ่งเร่งเรียนวิชาการ คุยกันเรื่องความเครียด เยียวยาศิษย์และเพื่อนครูด้วยกันก่อน คือประเด็นที่ The Potential และครูอีก 3 ท่านอยากคุยกันในวันนี้
  • ความเครียดมีผลต่อการเรียนรู้อย่างไร และ มีเครื่องมืออะไรช่วยครูรับมือกับความเครียดของเด็กๆ ก่อนเปิดเทอมบ้าง อ่านกันเต็มอิ่ม ที่นี่

การเปิดเทอมปีการศึกษา 2563 กลายเป็นวาระใหญ่ที่มีหลายประเด็นต้องทำงาน ตั้งแต่การจัดแผนการเรียนรู้อย่างไร ควรเปิดโรงเรียนเต็มที่เมื่อไร จะมีเรียนออนไลน์ไหม ขนาดไหน เครื่องมือการเรียนออนไลน์พร้อมหรือไม่ และอื่นๆ 

ในความปกติใหม่ (new normal) มีความไม่ปกติที่ต้องคลี่คลายก่อน นั่นคือ การเปิดเทอมนี้ นักเรียนมาพร้อมความเครียด(ใหม่)อันเป็นผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด อ้างอิงจากวงคุย Equity talk: การศึกษาไทยไปต่อได้ ถ้าเราร่วมมือกัน ในวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 

ใจความตอนหนึ่งยืนยันว่า เด็กๆ กำลังเจอกับความเครียดที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ทั้งปัญหาทางการเงินของครอบครัว ความเครียดที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ความกังวลเรื่องการศึกษาต่อ กังวลว่าคนใกล้ตัวจะติดไวรัส และ ความรุนแรงในครอบครัว 

อันที่จริงไม่ใช่แค่นักเรียน ครูและครอบครัวครูก็เครียดไม่แพ้กัน การต้องอยู่กับความไม่แน่นอน ประชุมเพื่อคาดการณ์และเตรียมแผนการสอน และวาระส่วนตัวของแต่ละคน พูดได้ว่าสั่นสะเทือนตามกันไปหมด 

ประเด็น ความเครียดของนักเรียนที่อาจพกติดตัวไปโรงเรียนและในห้องเรียน online ด้วย คุณครูมีส่วนช่วยคลี่คลายได้อย่างไร จัดการอย่างไรดี คือประเด็นที่ The Potential อยากพูดถึง และเพื่อให้เห็นเสียงของคนทำงานจริง เราชวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับห้องเรียนมาร่วมพูดคุย คือ 

  • คุณนีท เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาโรงเรียน พูดคุยว่าความเครียดในนักเรียนหน้าตาเป็นอย่างไร ทำไมเราต้องสนใจ และ เครื่องมือให้ครูนำไปใช้คลี่คลายความเครียดของนักเรียนได้ง่ายๆ ไม่ว่าครูคนนั้นจะติดตัวแดงในสายตานักเรียน (เพราะอาจเข้มงวด แต่ซ่อนความหวังดีเอาไว้) หรืออันที่จริงก็สำหรับครูทุกคนที่อยากช่วยนักเรียน ‘จำนวนมาก’ คลี่คลายความเครียด เพราะใครก็รู้ว่า ครูหนึ่งคนต้องดูแลนักเรียนหลายชีวิตแค่ไหน 
  • ผศ.ดร.เรวณี ชัยเชาวรัตน์ (ครูปอย) รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ (สาขาประถมศึกษา) ในบทบาททั้งครูและผู้บริหารที่อยากสื่อสารว่าเปิดเทอมใหม่ครูกังวล ต้องรับมือกับอะไรบ้าง และบอกว่า Happy Learning สำคัญอย่างไร 
  • ปาริชาต ชัยวงษ์ (ครูแนน) โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ (วิชาพระพุทธศาสนา ม.5 – ม.6) ตัวแทนเสียงของครูที่อยากบอกว่า ในสภาวะนี้ที่ทุกคนไม่เคยเจอกับมันมาก่อน ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงเรียนรู้ที่จะรับมือ เครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยครูและนักเรียนได้ คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดการตรวจสอบ ความคาดหวังของเบื้องบน 

คุณนีท นักจิตวิทยาโรงเรียน 

  • เครียดโควิดไม่ใช่แค่เครียดธรรมดา แต่คุกคาม พรากชีวิตหลายส่วน และพรากการแก้ปัญหาไปด้วย 

New normal แรกที่เจอก่อนเลยคือ ‘ความเครียด’ แต่ความเครียดครั้งนี้มีความแตกต่างจากความเครียดอื่นเล็กน้อย และหากเจาะจงไปที่ความเครียดของเด็กและวัยรุ่น คุณนีทเสนอว่าเราอาจมองความเครียดว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยใหญ่ คือ 

  • ความเครียดจากโควิดเอง : เป็นความกลัวจากโรคระบาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กลัวว่าเราจะติดโรคมั้ย เราเป็นพาหะรึเปล่า เราต้องปฏิบัติตัวอย่างไร โควิดจะทำให้การเรียนจากนี้เปลี่ยนไปรึเปล่า ซึ่งต้องไฮไลต์ไว้ด้วยว่า มันเป็น ‘ความกำกวม’ ที่ไม่มีใครรู้คำตอบ ไม่รู้จุดจบ จึงแก้ไขจัดการได้ยาก 
  • ความเครียดจากการถูกพรากชีวิต และ พรากวิธีแก้ปัญหา : มันคือเรื่อง ‘อะไรที่เคยทำได้ ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว’ เช่น แต่ก่อนอาจจะออกไปเล่นนอกบ้าน มีพื้นที่ส่วนตัวในบ้าน ไม่ต้องอยู่กับพ่อแม่หรือคนในครอบครัวตลอด 24 ชั่วโมง แต่เดี๋ยวนี้จะออกไปไหนไม่ได้ พูดบ่นมากก็ไม่ได้ และเหมือนทุกคนรอบตัวก็ส่งพลังเครียดใส่กันในบางเวลาอีก และความเครียดนี้ก็ ‘แก้’ ไม่ได้ด้วย เมื่อแก้ไม่ได้ก็ทำให้ความเครียดพอกพูน

หรือ เด็กบางคนอยู่ในครอบครัวที่ยากลำบาก อาจมีความเครียดเรื่องค่าใช้จ่ายที่บ้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ในสถานการณ์ปกติ เป็นความเครียดที่เขาแก้ได้ด้วยการออกไปทำพาร์ทไทม์ช่วงปิดเทอมเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ แต่ครั้งนี้ทำไม่ได้แล้ว ทำให้ความเครียดของเด็กไม่ถูกแก้ จึงต้องย้ำอีกครั้ง…เมื่อแก้ไม่ได้ก็ทำให้ความเครียดพอกพูน 

  • ความเครียดจากบริบท หรือ เรื่องส่วนตัวของเด็กเอง : คุณนีทบอกว่าแค่สองประเด็นข้างต้นก็ทำให้เครียดอยู่แล้ว ยังไม่นับรวมว่า เด็กแต่ละคนมีปัญหาของตัวเอง เช่น ที่บ้านอาจมีคนป่วยอยู่ที่บ้าน เมื่อเจอโควิดทำให้ไปโรงพยาบาลไม่ได้ ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นขณะที่รายได้ผู้ปกครองลดลง หรือ เด็กอาจต้องอยู่ที่บ้านตลอดเวลาแต่บ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย ปัญหายิบย่อยซึ่งแต่ละคนมีไม่เท่ากันเหล่านี้ ยิ่งสะสมในตัวเด็กได้ 

ความเครียดคือมวลรวมของสถานการณ์หลายอย่างรวมกัน เด็กบางคนเจอแค่ 2 ปัจจัยแรกก็ทำให้เครียดพอดูแล้ว หากรวมปัจจัยที่ 3 ซึ่งมีรายละเอียดยิบย่อยไม่เท่ากันในแต่ละคน เป็นไปได้ว่าความเครียดสะสมในตัวอาจพันกันเป็นเชือกที่ยิ่งมัดก็ยิ่งตึง แถมยังมีหลายปมในเชือกเส้นเดียวกันอีก 

“ความเครียดไม่เหมือนเงินที่เราหยอดในกระปุกออมสิน ที่หยอดไปเท่าไรมันก็มีเท่านั้นแต่ความเครียดคือเงินที่เราไปฝากธนาคารและมีดอกเบี้ย ที่ยิ่งฝากและทิ้งเวลานาน ดอกเบี้ยก็ยิ่งเพิ่มพูน 

“ทำไมเราต้องมาไฮไลต์ความเครียดของเด็ก? อันหนึ่งที่คิดว่ามีผลคือ เด็กมีความ ‘คิดวน’ ‘คิดไปไกล’ คือตีฟุ้งความเครียดนั้นให้ใหญ่กว่ากว่าสถานการณ์จริง ซึ่งอันนี้ไม่ใช่เรื่องผิดนะคะ มันเป็นเรื่องปกติของความคิด อย่างที่บอกว่าเขาถูกพรากชีวิตและพรากวิธีแก้ปัญหาไปด้วย และเวลาเราพูดเรื่องความเครียดมันมีหลายปม เช่น สมมติวันนี้พ่อแม่บ่นเราเรื่องไม่อ่านหนังสือ เพราะพ่อแม่ก็เครียดเรื่องค่าใช้จ่ายที่บ้านเป็นทุนเดิม ความคิดของเด็กอาจคิดวนได้ว่า ที่พ่อแม่เครียดเป็นเพราะเขารึเปล่า เขาเป็นภาระรึเปล่า เป็นเพราะเรื่องเงินรึเปล่า แล้วพรุ่งนี้มันจะเป็นแบบนี้อีกมั้ย แล้วอาทิตย์หน้าล่ะ เดือนต่อไปล่ะ ชั้นจะมีชีวิตอยู่รอดมั้ย คือความเครียดมันวิ่งไปไกลทั้งที่เรื่องยังไม่เกิด ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียด แต่ผู้ใหญ่อาจจัดการกับความคิดวนนี้ได้ หรือรู้ว่าตัวเองจะจัดการกับปัญหานี้ยังไง” 

“ความเครียดไม่ใช่ ‘เรื่อง’ แต่คือ ‘การรับรู้’ ว่าเรารับรู้เรื่องนี้ด้วยอารมณ์แบบไหน เช่น การไม่ได้ไปเที่ยวของเด็กคนนึง เขาอาจประเมินว่านี่คือความเครียดระดับสิบ ระดับร้อย แต่ผู้ใหญ่อีกคนอาจประเมินดีกรีความเครียดเรื่องนี้ไว้ที่ระดับสาม ซึ่งแบบนี้มันบอกไม่ได้ว่าใครเครียดมากหรือน้อยกว่ากัน นีทไม่ได้บอกว่าเราเปรียบเทียบความเครียดกันไม่ได้ แต่ถ้าเราวัดความเครียดด้วย ‘เรื่อง’ มันพื้นฐานไปหน่อยและไม่ได้เอาเจ้าของความเครียดเป็นที่ตั้ง 

“และนีทไม่ได้บอกว่า เราต้องโอ๋เด็กไปทุกเรื่องนะ เพราะอย่างที่ย้ำตลอดว่าเด็กมีภาวะความตีฟุ้งความเครียดเกินความจริงเช่นกัน เราดุได้ ชี้แจงกับเขาได้ แต่เราบอกโดยไม่ต้องด่าได้  และอยากให้เข้าใจว่า วัยรุ่นโตกว่าเด็กเล็กก็จริงอยู่ แต่เขาก็ยังเป็นแค่เด็กคนนึงที่กำลังเจอชีวิตใหม่ๆ ต้องไม่ลืมว่าความเครียดที่เข้ามาขณะนี้ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา เขากำลังเรียนรู้ ปัญหาบางอย่างแก้ได้ บางอย่างแก้ด้วยตัวเองไม่ได้ เราอาจต้องลองใช้ตาตัวเองมองอย่างไม่มีอคติ และใช้ความรู้สึกที่เราเคยเป็นวัยรุ่นมาจับความเครียดของวัยรุ่นเขาตอนนี้ เราจะเข้าใจเขามากขึ้น” 

ส่วนความเครียดในเด็กมีผลอย่างไร คุณนีทบอกว่า ความเครียดหนึ่งที่หนักๆ มันอาจจะพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้า หรือ การคิดสั้นได้ ซึ่งความโชคร้ายคือ มันบอกยากมากเลยว่าอะไรคือตัวที่นำไปสู่สิ่งนี้

ปกติเวลาที่เราเกิดความเครียด สมองเราจะเกิดปรับตัวเพื่อต่อสู้และคลี่คลายกับความเครียดนั้นได้เอง แต่กับสถานการณ์ความรุนแรงทางใจและกายในบ้านที่ไม่เคยหยุดหย่อน ทำให้เกิดสมองมีภาวะตึงเครียดอย่างไม่เคยได้พัก ความเครียดที่ว่าจะส่งสัญญาณไปเปลี่ยนแปลงการทำงานสมอง เช่น

การปรับลดเนื้อเยื่อสมองสีเทา เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านวัยเด็กสู่วัยรุ่นเพื่อปรับลดเซลล์ประสาทโดยธรรมชาติอันจะทำให้วงจรประสาททำงานได้ว่องไวขึ้น รับส่งข้อมูลรวดเร็วขึ้น ดึงข้อมูลที่เก็บอยู่ในความจำมาใช้เพื่อคิดตัดสินใจก็จะทำได้เร็วขึ้น แต่ความเครียดที่เกิดขึ้นในวัยเด็กทำให้ไมโครเกลีย (เป็นเซลล์ค้ำจุนชนิดหนึ่งซึ่งพบได้ในระบบประสาท) กัดกินเซลล์ประสาทและทำให้เกิดสภาวะอักเสบของเซลล์ประสาท กระตุ้นให้สมองกำหนดวิธีทำงานใหม่และยิ่งสร้างสภาพซึมเศร้าและวิตกกังวลให้เกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮามากเพราะแต่เดิมเราเชื่อว่าการอักเสบของสมองจะเกิดขึ้นเมื่อสมองได้รับความกระทบกระเทือน เช่น อุบัติเหตุ แต่การอักเสบในระดับต่ำจากความเครียดเรื้อรังก็เป็นเหตุให้เกิดการอักเสบของสมองได้เช่นกัน

เมื่อเซลล์ประสาทถูกทำลายมากเกินไป มันเชื่อมต่อกับกลไกสมองเรื่องความทรงจำ – การทำงานของฮิปโปแคมปัสเรื่องความทรงจำ และ คอร์ปัส-แคลลอสซัม และสมองส่วนหน้า – ทั้งหมดนี้มีผลต่อความสามารถในการคิด ตัดสินใจ สมาธิ และการควบคุมอารมณ์
หรือ แกนตอบสนองความเครียด HPA (ไฮโปธาลามัส-ต่อมใต้สมอง-ต่อมหมวกไต) ถูกตั้งโปรแกรมให้เร่งผลิตฮอร์โมนความเครียดในชื่อคอลติซอลและไซโตไคน์ ภาวะนี้หมายถึงสมองถูกตั้งโปรแกรมให้เราตอบสนองต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งด้วยความเครียดได้ง่ายและคลี่คลายยาก นี่เป็นคำตอบว่าทำไมบางคนจึงหลุดจากภาวะเครียดหรือเอาตัวเองออกจากความคิดด้านลบได้ยากโดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและจิตเภทบางประเภท นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยสมัยใหม่บอกว่ามันส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วย

อ่านเพิ่มเติม: ADVERSE CHILDHOOD EXPERIENCES: บาดแผลรุนแรงทางใจในวัยเด็กมีผลต่อโรคเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่
ไม่หนี ไม่สู้ สมองถูกแช่แข็ง จากความเครียดท่วมท้นในสมองเด็ก

เปิดเทอมนี้ เยียวยาเด็ก และเพื่อนครูด้วยกันอย่างไรดี? 

“อยากชวนมองอย่างนี้ค่ะว่า เวลาเราเปิดเทอมใหม่ เข้าโรงเรียนใหม่ เข้ามหา’ ลัยใหม่ เราจะมีการปฐมนิเทศ มีการรับน้อง มีรุ่นพี่หรือครูมาบอกว่าในเทอมนี้เราจะเจออะไร จะเรียนอะไรบ้าง ครูเป็นใคร เพื่อนใหม่คนนี้เป็นใคร ถ้าจำกันได้ อาทิตย์แรกของการเปิดเทอมนี่เราไม่เคยได้เรียนเลยนะ แต่เป็นช่วงเวลาปรับตัวปรับใจ ทำความรู้จักกับเพื่อน แล้วนี่คือ New normal เลยนะ เราจะไม่ให้เวลาปรับตัวกันหน่อยหรือ? เลยคิดว่าก่อนเปิดเทอมจริง เราน่าจะมีการพูดคุยเล่นๆ เพื่อปรับตัวกันก่อน” คือข้อเสนอของคุณนีท ซึ่งเป็นความเห็นที่ตรงกันกับ ครูปอย และ ครูแนน ว่าโรงเรียนทั้งคู่ตั้งใจใช้เวลา 1 – 2 อาทิตย์ล่วงหน้า ทดลองเรียนรู้ online โดยมีจุดประสงค์เพื่อปรับตัว ทำความคุ้นเคย และให้ผู้ปกครองและเด็กไม่กังวลใน New normal นี้ 

มากกว่านั้น คุณนีทมีข้อเสนอที่น่าสนใจ และ ปรับไปใช้ง่ายๆ นั่นคือ การทำ mini talk กับนักเรียน และ ใช้เครื่องมือ ข-อ-อ-ก รับมือกับความเครียดนักเรียน (และความเครียดของครูด้วยกันเองด้วย) 

Mini talk

เพราะเข้าใจว่าครูหนึ่งท่านดูแลเด็กหลายคน และเราต่างรู้กันว่าเด็ก โดยเฉพาะวัยรุ่นไม่ได้อยากเข้าหาครูขนาดนั้น โดยเฉพาะครูที่ดูดุ เฮี้ยว เจ้าระเบียบ เด็กอาจตั้งแง่และไม่เปิดใจได้ แต่ในกรณีที่ครูอยากช่วยนักเรียนคลี่คลาย การทำ mini talk คนละ 3 นาที โดยทำติดต่อกันอย่างน้อย 4 อาทิตย์ จะช่วยคลี่คลายและอาจสังเกตเห็นสิ่งที่อยู่ในใจผ่านลักษณะท่าทางของเด็ก น้ำเสียงของเด็ก วิธีการพูดคุยของเด็ก ระหว่างทำ mini talk ได้ 

“อาทิตย์แรกอาจเป็นคำถามแค่ ปิดเทอมที่ผ่านมาเป็นยังไง กินข้าวครบมื้อมั้ย เบื่อมั้ย ได้ออกจากบ้านบ้างมั้ย? แค่นี้ก็ได้นะคะ คำถามว่า ‘กินข้าวครบมื้อมั้ย’ มันไม่ได้ยิงตรงๆ ว่า เศรษฐกิจที่บ้านเป็นยังไง แต่ก็ได้เห็นว่า เขาสุขสบายดีรึเปล่า ค่อยๆ ถามตะล่อมๆ ไปแบบนี้ อาทิตย์แรกเด็กอาจไม่เล่าให้ฟังทั้งหมดหรอก เพราะมันคือครั้งแรกเนอะ แต่ก็ค่อยๆ ถามไปเรื่อยๆ นีทคิดว่าพอสักอาทิตย์ที่สามที่สี่ เราอาจชวนเด็กคุยได้ลึกขึ้น” 

ที่สำคัญที่คุณนีทย้ำคือ อย่าพยายามรีบตัดบทไปตัดสินเขา เป็นไปได้ว่าเรื่องที่เด็กเล่านั้นครูอาจไม่เห็นด้วย แต่ให้ตั้งหลักว่า เรากำลังอยากรับฟังเพื่อคลี่คลายบางอย่าง และถ้าอยากส่งมอบความคิดของตัวเองจริงๆ ให้ใช้วิธีตั้งคำถาม 

“เช่น สมมติเด็กบอกว่า อยู่ที่บ้านเบื่อมาก เพราะอยากช้อปปิ้ง ในใจเราอาจรู้สึกไม่เห็นด้วยก็ได้นะ แต่ถ้าเราตั้งหลักว่าอยากแก้ปัญหา ก็ต้องมุ่งไปที่ทางนี้ เพราะเด็กพูดเรื่องนี้มา คุยเรื่องอื่นไม่ได้  เราอาจจะถามเด็กว่า ‘เครียดเพราะไม่ได้ช้อปปิ้งใช่มั้ย แล้วอะไรที่จะทำให้หายเครียดได้ ช้อปปิ้งออนไลน์ได้มั้ย?’ ซึ่งเด็กอาจจะตอบ“yes” ก็ได้ แต่ถ้าเรามีทัศนคติส่วนตัวอยากให้เด็กประหยัด เราอาจชวนคุยก็ได้ว่า ‘แล้วถ้าซื้อออนไลน์ ซื้อมาแล้วใส่ไม่ได้ทำไงดี ไปลองที่ร้านดีกว่ามั้ย?’ คือต้องมีศิลปะนิดนึง คุยไปคุยมา เด็กอาจตัดสินใจรอเปิดเมือง แล้วออกไปซื้อที่ร้านโดยตรงก็ได้ ดังนั้นจุดประสงค์หลักของเราต้องชัด คืออยากคลี่คลายความเครียดให้เด็ก และช่วยเด็กแก้ปัญหา ซึ่งจากเรื่องที่เล่ามา การไม่ได้ช้อปปิ้งนี้ได้ถูกแก้ไขแล้ว คือเขาได้เห็นวิธีการว่า ได้ทั้งช้อปปิ้งออนไลน์ หรือ อดทนไปซื้อตอนร้านเปิดก็ได้” 

เครื่องมือ ‘ข-อ-อ-ก’

สำหรับคุณครูที่อยากช่วยคลี่คลาย แต่คิดว่าการทำ mini talk เป็นไปได้ยาก หรือส่วนตัวไม่ถนัดพูดคุยให้คำปรึกษา เครื่องมือนี้เป็นชาร์จในการจัดการอารมณ์ ให้เด็กๆ ทำด้วยตัวเองได้ หรือ ครูอาจใช้ ‘ข-อ-อ-ก’ ใน mini talk อาทิตย์ที่ 3 หรือ 4 ก็ได้ 

วิธีการคือ 

  • ข : เข้าใจความเครียดของตัวเอง โดยให้ลิสต์ว่า ‘วันนี้’ เรารู้สึกเครียดเรื่องอะไร โดยให้ลิสต์มาทุกความเครียดที่นึกขึ้นได้ ไม่จำกัดจำนวน 
  • อ : อะไรคือความเครียดที่แท้จริง? ข้อนี้คือการตัดช้อยส์ออก จากข้อแรก ให้มาดูว่าความเครียดข้อไหนคือเรื่องที่เราเครียดจริงๆ อันไหนไม่เครียดก็ตัดออก หรือ ให้คะแนนความเครียด (rating) นั้นไว้ก็ได้ เช่น เราเครียดเรื่องนี้มากระดับ 5 เลยนะ 

    โดย ทุกๆ ความเครียดที่เหลืออยู่ในข้อ ‘อ : อะไรคือความเครียดที่แท้จริง?’ ให้อธิบายด้วยว่า ทำไมถึงเครียดข้อนี้ คุณนีทย้ำว่า ให้ ‘ร่ายยาว’ อธิบายความเครียดของเราไปเลย เช่น เครียดเรื่องการเรียนออนไลน์ระดับ 5 เลย เพราะที่บ้านอินเทอร์เน็ตไม่ดี แถมมีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวต้องแบ่งใช้กับพี่ชาย ไม่รู้ว่าจะสลับเรียนกับพี่ชายยังไง 
  • อ : โอเวอร์มั้ย? อย่างที่เรารับรู้กันดี บางทีเราชอบตีฟุ้งความเครียดเกินสิ่งที่มันเป็นจริงๆ คุณนีทบอกว่าที่ใช้คำว่า ‘โอเวอร์’ ก็เพราะอยากให้เด็กกลับมามองความเครียดตามความจริงมากขึ้น โดยในข้อนี้ ให้กลับไปดูลิสต์ความเครียดในข้อ ‘อ : อะไรคือความเครียดที่แท้จริง?’ แล้วตั้งคำถามว่า เราไฮไลต์มันจนโอเวอร์ไปมั้ย? เราอาจลองถามตัวเองจริงๆ ว่า “เออ เรื่องมันคอขาดบาดตายเลยหรอ? มันจะไม่มีวิธีการแก้เลยหรอ? หรือจริงๆ มันแก้ได้? มันยาก แย่ เยอะขนาดนั้น จริงๆ หรอ?

    หลักๆ ของข้อนี้คือ การดึงสติ เพื่อไปสู่เครื่องมือตัวสุดท้าย
  • ก : แก้ไข เมื่อประเมินเสร็จ ก็มาดูว่าจะแก้ยังไง ถ้าแก้ไม่ได้ก็อาจมาคุยกับครูหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่น นีทว่าถ้าทำชอยส์ได้มันดีนะ คือหาวิธีการแก้ปัญหาหลายๆ วิธี แล้วค่อยมาเลือกว่า วิธีใดดีที่สุด 

หากทำ mini talk ครูอาจช่วยตั้งคำถามให้เด็ก ช่วยดึงสติ และร่วมมือกับเด็กเพื่อคิดวิธีการแก้ปัญหา นีทว่าทุกปัญหามันมีทางออก แต่บางทีเรายังหาไม่เจอ 

“เครื่องมือ ‘ข-อ-อ-ก’ ครูก็ใช้ได้เหมือนกันนะ มันเหมือนยาสามัญประจำบ้าน ประเมินตัวเองทีละข้อแล้วหาทางแก้ ชั้นเครียดอะไรบ้าง โอเวอร์ไปมั้ย หาทางแก้ได้รึเปล่า” 

เยียวยาความเครียดเด็ก ในสายตา ผศ.ดร.เรวณี ชัยเชาวรัตน์ 

ผศ.ดร.เรวณี หรือ ครูปอยเล่าก่อนว่า โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีได้ทดลองเปิดหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ฉบับทดลองเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนไปแล้ว เพื่อลดความเครียดและกังวลของผู้ปกครองให้เห็นหน้าตาก่อนว่าการเรียนรู้ทางออนไลน์เป็นอย่างไร อุปกรณ์พร้อมไหม ขาดเหลืออะไรบ้าง และไม่มีการเก็บคะแนนเพื่อนำไปประเมินใดๆ และแจ้งกับผู้ปกครองและนักเรียนให้ทราบโดยทั่วกัน นอกจากนี้ ที่โรงเรียนยังจะเริ่มเรียนออนไลน์ก่อน ในวันที่ 25 พฤษภาคม ก่อนวันเปิดเรียนจริงเพื่อทำให้ชิน(อีกครั้ง) ด้วย 

ที่มีการเรียนทดลองล่วงหน้าเช่นนี้ ก็เพราะต้องการบรรเทาความเครียดของผู้ปกครองด้วยส่วนหนึ่ง 

“พ่อแม่ไม่ใช่ครู เขาไม่รู้ว่าควรรับมือหรือจัดการอะไรยังไงด้วยซ้ำ ถ้าเราไม่เตรียมเขา ไม่สร้างความเข้าใจก็เท่ากับโรงเรียนผลักภาระไปให้ผู้ปกครองเลย ต้องคุยกัน ว่าเขารับได้แค่ไหน เราเตรียมอะไรให้ได้บ้าง ต้องสื่อสารและไว้ใจกัน เราล้วนปรารถนาดีต่อเด็กๆ”

ความเครียดที่เด็กพกจากบ้าน มีตั้งแต่เด็กในช่วงรอยต่อเพิ่งเข้าโรงเรียนใหม่ ความรู้ที่ถูกปูไม่เท่ากันช่วงปิดเทอม ความพร้อมทางเทคโนโลยีไม่เท่ากัน ความเครียดที่ได้รับผลกระทบจากครอบครัว  

สำหรับเรื่องความเครียดที่เด็กๆ พกมาจากบ้าน ครูปอยให้ความเห็นว่ามีหลายประเด็นที่ต้องพูดถึง เช่น ความเครียดของเด็กที่เพิ่งเข้าเรียนใหม่ เช่น นักเรียนชั้น อนุบาล1 ป.1 ป.4 ม.1 ยังไม่รู้จักเพื่อน ไม่รู้จักครู ทุกอย่างใหม่หมด คาดว่าความเครียดของเด็กกลุ่มนี้คือความกังวลและกลัวเรื่องการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ด้วย 

อีกส่วน คือ ตอนปิดเทอม นักเรียนบางคนถูกเสริมความรู้หรือประสบการณ์โดยผู้ปกครองไม่เท่ากัน บางบ้านมีกำลังและความพร้อมซึ่งอาจพาเด็กๆ ไปเติมความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ เรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่บางคนไม่ได้เสริมตรงนี้ ทำให้พื้นฐานความรู้ไม่เท่ากัน นี่อาจเป็นความกังวลของเด็กๆ และครูหลายท่าน คิดว่าต้องใช้เวลาในการปรับฐานของผู้เรียนให้ใกล้เคียงกัน 

ความเครียดเพราะต้องเปลี่ยนวิธีและเครื่องมือในการเรียน ซึ่งแต่ละคนพร้อมไม่เท่ากัน ก็เป็นอีกหนึ่งความเครียดของเด็กๆ 

“อีกเรื่องที่บางทีเราอาจนึกไม่ถึงคือปัจจัยเกื้อหนุนความพร้อม เช่น เราจะบอกว่าให้เด็ก print ใบงานที่บ้านหรือหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตที่บ้าน แต่บางทีเราลืมนึกไปว่าที่บ้านเขาพร้อมหรือเปล่า เด็กๆ ก็พกความกังวลนี้มานะ”

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่อง ความเครียดที่เด็กอาจได้รับจากผู้ใหญ่ด้วย “เราคิดว่าช่วงที่ผ่านมา เด็กน่าจะรับความเครียดของผู้ใหญ่ เราไม่รู้เลยว่าผู้ปกครองเด็กๆ สูญเสียรายได้ช่วงโควิดนี้ไปกี่มากน้อย อะไรที่เขาเคยได้กิน ได้ใช้ ได้เล่นในภาวะปกติแต่ตอนนี้ทำไม่ได้ เด็กต้องรับมือกับอะไรแบบนี้ด้วย เราคิดว่าต้องสื่อสารสร้างความเข้าใจกับเด็กในสถาการณ์จริงเหล่านี้ ซึ่งครูที่โรงเรียนก็น่ารักมากนะคะ เราจะเปิดเรียนออนไลน์ในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ ครูก็ตั้งใจว่าจะพูดคุยเรื่องโควิดและผลกระทบที่เกิดขึ้นที่บ้าน อธิบายง่ายๆ ว่าทำไมถึงไปไหนไม่ได้ อยากกินเคเอฟซีทำไมไม่ได้กิน (หัวเราะ) บางทีเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องง่ายๆ นะ เรื่องนี้พ่อแม่คุยกับลูกได้ แต่บางทีพ่อแม่ไม่รู้ว่าต้องสื่อสารยังไง นี่แหละ เราก็จะชวนกันคุยเรื่องเหล่านี้ก่อน” 

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ครูปอยได้แสดงความเห็นที่น่าสนใจและจะกระทบไปถึงการทำงานของครูอีกทอด นั่นคือ การเปิดเทอมครั้งนี้ครูและโรงเรียนกำลังเจอกับ New normal ใหม่ คือ ครูจะเจอกับเด็กที่เรียนออนไลน์ที่บ้านแล้วรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องมาเรียนก็ได้ และถ้าโรงเรียนยังไม่เป็นพื้นที่ปลอดภัยกับเด็กกลุ่มนี้อีก นี่อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่เลย 

“เปิดเทอม 1 กรกฎาคม เราขอพูดในแง่ว่าเราได้เปิดเรียนกันจริงๆ นะคะ สิ่งที่ต้องเจอแน่นอนและถือเป็นหนึ่ง new normal ด้วย คือเราคิดว่าจะเจอเด็ก 2 แบบคือ กลุ่มที่อยากมาโรงเรียนมาก รู้สึกว่าปิดเทอมนี้มันยาวนานมาก อยากมาเจอเพื่อน เจอครู กับนักเรียนอีกกลุ่มที่รู้สึกว่าไม่ต้องมาเรียนก็ได้ เรียนที่บ้านก็ได้ ซึ่งเราเชื่อว่าตอนนี้เราเรียนรู้ที่ไหนก็ได้นะ แต่ก็ยังเชื่อว่าโรงเรียนมีฟังก์ชันแง่การจำลองภาพสังคม เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งการมาโรงเรียน ครูและเพื่อนจะช่วยกันฟูมฟักตรงนี้ได้ 

“แต่ถ้าเด็กกลุ่มนี้มาแล้วเจอการจัดหนักทางวิชาการเลย ยิ่งทำให้ความรู้สึกของการมาโรงเรียนเป็นลบ เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียนรู้ น่าจะเป็นผลเสียมากกว่าดี เราคิดว่าถ้าครูใช้เวลาสักประมาณ 1 – 2 สัปดาห์หรือมากกว่านั้นตามช่วงวัยในการเตรียมให้เขาพร้อมต่อการกลับมาเรียนในสภาวะปกติ ทำให้เขาเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังโควิดว่ามันกระทบกับชีวิตเขายังไง มันน่าจะช่วยให้ความอยากเรียนรู้พัฒนาขึ้น ซึ่งเราอาจต้องเสียเวลาในช่วงเตรียมการนี้ประมาณหนึ่ง

“ส่วนตัวเราเชื่อในเรื่อง happy learning นะ การเรียนรู้จะมีประสิทธิภาพ เขาควรอยู่ในบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ บรรยากาศที่เขารู้สึกว่าปลอดภัย แต่ถ้ามาแล้วเจอภาวะกดดันในเชิงของวิชาการเอง การคาดหวังตัวคะแนนผลสัมฤทธิ์เชิงตัวเลข มันไป force ไปกดดันเขา ในแง่นั้น มันทำให้ไม่ happy แล้วอะ (หัวเราะ)” 

ครูก็เครียดเหมือนกัน : New normal ในประเด็นการศึกษา การทำงานในวิกฤตและความคุ้นเคยใหม่ ต้องเชื่อมั่น ไว้ใจกัน 

ในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหาร ดูแลซัพพอร์ตการทำงานครูในโรงเรียน สิ่งหนึ่งที่ครูปอยให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ ความเครียดความกดดันที่อยู่บนบ่าครู ซึ่งครูอาจส่งต่อให้กับผู้เรียน อย่างหนึ่งที่ฝ่ายบริหารอยากทำความเข้าใจต่อครูและผู้ปกครองคือ ในช่วงเวลานี้ ครู ผู้ปกครอง ต้อง ‘เชื่อมั่น’ ในกันและกัน 

“เด็กรับรู้ความเครียดจากผู้ใหญ่นะ ความเครียดของครูก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจไปทำให้การมาโรงเรียนของเด็กๆ เกิดความเครียดขึ้นได้หรือเปล่า อะไรที่ลดทอนความเครียดของครูได้ หน้าที่ของผู้บริหารอย่างเรา ในบริบทของโรงเรียนเรา พยายามหาจุดร่วม 2 ส่วน คือ เราไม่ได้ทิ้งวิชาการ แต่ก็ไม่ได้เอามาเป็นธง ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าเป้าหมายในการพัฒนาเด็กคนหนึ่ง เราดูเขาด้วยคะแนน ตัวเลข หรือเราอยากเห็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากเขา

“ครูกังวลว่าถ้าไม่เร่งเรียนจะมีปัญหา จะสอนไม่ทัน เราว่ามันขึ้นอยู่กับเป้าหมายโรงเรียนและการสื่อสารกับผู้ปกครองนะ ในช่วง 20 สัปดาห์ของการเรียนหลังจากนี้ เรียกว่าครูต้องรื้อโครงสร้างการเรียนการสอนตั้งแต่เปิดเทอมจนปิดเทอมเลยล่ะ  2 – 4 สัปดาห์แรกน่าจะถูกตัดไปเลยเพื่อใช้ปรับพื้นฐานและเตรียมเด็กๆ ให้เขาพร้อมกลับมาสู่สภาวะปกติ ฉะนั้น 20 สัปดาห์ นี่หายไปแล้ว 4 สัปดาห์นะ แล้วมันจะมีเรื่องกิจกรรมนู่นนี่นั่นตามแต่ละสังกัดที่จะมาลดทอนเวลานี้ไป ครูอาจจะต้องมาคัดกรองเนื้อหาว่าส่วนไหนที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้เองที่บ้านได้ ก็ทำเป็นแพ็คเกจ learning kit ให้เขานั่งทำที่บ้าน อะไรที่ต้องอธิบาย ต้องคุย ต้องทำในชั้นเรียน ต้องใช้เวลาเท่าไรก็มาดูกันและวางโครงตรงนี้ใหม่อย่างไร คือให้ออนไลน์มันเป็นอะไรที่เป็นไปเพื่อถ่ายทอดเนื้อหาที่จำเป็น

“มันเป็น New normal ของคนเป็นครูด้วยเนอะ ต้องเปลี่ยนชุดความคิดการทำงานในระบบทั้งหมด เราต้องเชื่อมั่นว่าเด็กๆ พร้อมจะเรียนรู้ ขณะเดียวกันผู้ปกครองก็ต้องเชื่อว่าครูพยายามอยู่นะในการหาทางที่ดีที่สุดให้เรียน ส่วนผู้บริหารก็ต้องเชื่อว่าครูพยายามทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ พอมีฐานความเชื่อมั่นแบบนี้ เราจะพยายามลดทอนอะไรในเชิงการตรวจสอบออกไปได้ เช่น รายงานการทำงานของครูที่ไม่จำเป็นต่างๆ เราตัดออกไปได้” 

เยียวยาความเครียดเด็ก ในสายตา ครูแนน – ปาริชาต ชัยวงษ์

“คนเราเวลาเครียดก็ทำให้ศักยภาพในการเรียนรู้ลดลงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ความเครียดทำให้เราตั้งสมาธิจดจ่อกับเรื่องที่อยู่ตรงหน้าได้ยากขึ้น แล้วความเครียดมากน้อยก็ไม่สามารถวัดได้จากช่วงวัยหรือมาตรวัดของผู้ใหญ่ ความเครียดเป็นประสบการส่วนบุคคลที่เปรียบเทียบกันไม่ได้ ดังนั้น มุมมองต่อความเครียดของเด็กแบบที่เรามักได้ยิน เช่น ‘มีแค่หน้าที่เรียนจะเครียดอะไรมากมาย’ หรือ ‘นี่ยังแค่มัธยม ถ้าเรียนมหาวิทยาลัย หรือทำงานเครียดกว่านี้อีก’ จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าอีกหนึ่งอุปสรรคในการเรียนรู้ของเด็ก 

“เครียดก็คือเครียด ถ้าเครียดก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือ ซึ่งเด็กแต่ละคนก็มีวิธีจัดการกับสภาวะนี้ของตัวเองแตกต่างกัน บางคนต้องการแค่เวลาหรือพื้นที่ส่วนตัวในการเยียวยาตัวเอง บางคนต้องการให้อยู่ข้างๆ รับฟัง พอให้รู้ว่าเขาไม่ได้กำลังเผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยว หรือบางคนอาจต้องได้รับการช่วยเหลือผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ที่ครูทำได้เบื้องต้นคือทำให้เขารู้ว่าทุกความรู้สึกของเขาสำคัญ มาทำความรู้จักและผ่านมันไปด้วยกันไหม เมื่อถึงจุดที่อารมณ์ของเด็กเขาพร้อม เขาก็พร้อมจะกระโดดเข้ามาเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น”

ครูแนนเล่าก่อนว่าทำไมความเครียดของนักเรียน จึงมีผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ มากกว่านั้น นี่ยังเป็นความเครียดจากสถานการณ์ที่ไม่เคยมีใครเจอมาก่อน 

อย่างไรก็ตาม ครูแนนเล่าว่าก่อนเปิดเทอมในวันที่ 1 กรกฎาคม โรงเรียนได้จัดให้มีการทดลองเรียนทางไกลแบบออนไลน์ จุดประสงค์หลักก็เพื่อป้องกันการเรียนรู้ถดถอยเมื่อนักเรียนไม่ได้มาโรงเรียนเป็นเวลานาน และเพื่อทดลองระบบเรียนทางไกล หากว่าวันเปิดเทอมที่กำหนดไว้ไม่สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ และคาดหวังให้เป็นเพียงการทำความรู้จักกับการใช้งานระบบ และเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนที่ไม่พร้อม มากกว่าการเรียนจริงจัง แต่ดูเหมือนว่าเหตุการณ์จะไม่ได้เป็นอย่างที่คิด

“ตอนแรกออกแบบบทเรียนไม่เครียดนะ รู้สึกว่ามันน่าสนุกและท้าทายมาก แต่พอเอาเข้าจริงกลับมีคำสั่งมาให้ทุกโรงเรียนทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล และจะมีการนิเทศ ติดตามดูแล เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ บางโรงเรียนก็เลยให้ครูทุกคนสร้างห้องเรียนออนไลน์ เช็คชื่อ เก็บคะแนน วิชาเรียนในช่วงทดลองนี้ก็เลยแน่นราวกับว่าเปิดเทอมกันแล้วซะอย่างนั้น

“ข้อดีก็คือมันทำให้ครูทุกคนได้ลองเรียนรู้รูปแบบการเรียนแบบใหม่ และหากเรารายงานผลตามสภาพจริงเราจะได้เห็นปัญหาและแก้ไขเตรียมพร้อมก่อนเปิดเทอมกันต่อไปได้ แต่ข้อเสียก็คือแนวปฏิบัติแบบนี้มันข้ามเส้นทดลองไปเยอะมาก เหมือนเราลืมจุดประสงค์ของการทดลองเรียนทางไกลที่คุยกันไว้แต่แรก ลืมนึกถึงใจนักเรียนที่ไม่พร้อมไปเลย

“พอยิ่งวางเงื่อนไขเยอะ ก็ยิ่งทำให้ครูมีความกังวลมากขึ้น สุดท้ายภาระมันก็ไปตกที่นักเรียน พอนักเรียนเห็นเปิดให้เรียนครบทุกวิชา เพื่อนที่เข้าไปเรียนก็มีงานให้ทำมีคะแนน ถึงแม้จะบอกเขาว่าเป็นการทดลองเพื่อหาทางซัพพอร์ตคนที่ไม่พร้อม แต่เด็กเขาจะนั่งสบายใจรอการสนับสนุนหรอ สุดท้ายความกังวลมันก็ถูกส่งผ่านไปที่เด็กและผู้ปกครองอย่างเลี่ยงไม่ได้”

ในประเด็นความเครียดของผู้เรียน ครูแนนมองไม่ต่างจากคุณนีทและครูปอยที่มองว่า ความเครียดที่เด็กๆ กำลังเผชิญมีทั้งเรื่องในห้องเรียนและเรื่องส่วนตัว โดยเธอเองก็เตรียมพร้อมรับมือปัญหาดังกล่าวไว้ อย่างหนึ่งจะหยิบมาใช้ คือ ‘การเช็คอินสภาพจิตใจนักเรียน’ ก่อนเริ่มเรียน

“มันเป็นเรื่องพื้นฐานของชั้นเรียนอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ เรามีสิ่งที่เรียกว่า ‘การเช็คอิน’ ให้ทั้งครูและนักเรียนได้เตรียมพร้อม และตระหนักรู้อยู่กับปัจจุบัน มีหลายวิธีง่ายๆ อย่างอารมณ์วันนี้เป็นสีอะไร ชีวิตตอนนี้เหมือนหนังเรื่องอะไร หากเป็นคลาสเรียนปกติที่มีเวลาจำกัด 50 นาที อาจทำให้เก็บรายละเอียดไม่ได้มาก หรือบางคาบต้องเว้นไป แต่เมื่อเป็นการเรียนออนไลน์ที่ยืดหยุ่นเรื่องเวลาทำให้การดูแลจิตใจนักเรียนผ่านการเช็คอินทำได้ถี่ถ้วนขึ้น

สถานการณ์ตอนนี้มันยิ่งจำเป็นจะต้องดูแลใจกัน เพราะเราไม่รู้เลยว่าตลอดช่วงที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้เขาเป็นอย่างไร ยิ่งเป็นนักเรียนกลุ่มใหม่ที่ไม่เคยเรียนด้วยกันมาก่อน เราแทบไม่รู้จักเขาเลย ยิ่งต้องคิดให้รอบ ต้องไม่ทำให้เขารู้สึกว่าถูกรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัว หรือต้องตอบแบบเดาใจครู

“อย่างที่เราทำอยู่จะเป็นการ์ดภาพให้เลือกประมาณ 80 ใบ อัพโหลดภาพ แล้วให้เขาช่วยเลือก 1 ภาพมาแนะนำตัวหน่อย ภาพไหนแทนคำตอบ ‘ชีวิตคืออะไร’ หรือ ‘การ์ดใบไหนตรงใจที่สุด’ เราก็จะได้เห็นว่าที่เด็กเลือกภาพนี้ เล่าเรื่องแบบนี้ สภาพจิตใจเขาน่าจะเป็นอย่างไร อาจไม่สามารถเข้าใจเขาได้ทั้งหมด แต่ก็พอให้เราเอากลับมาทำการบ้านต่อได้

“สำหรับเด็กที่ไม่พร้อม เราก็เช็คจากระบบและติดต่อกับเด็กส่วนตัว พูดคุยช่วยให้เรารับรู้ปัญหาและให้เด็กคลายความกังวลเบื้องต้นก่อน แล้วสุดสัปดาห์ค่อยกลับมาคุยกันในระดับชั้นว่าสำหรับเด็กที่ไม่พร้อม ซึ่งก็มีหลายกลุ่มแบ่งตามข้อจำกัดเนี่ย เราจะปรับวิธีเรียนหรือสนับสนุนเขาอย่างไรได้บ้าง จากนั้นเสนอฝ่ายบริหารเพื่อขอรับการสนับสนุนจากทางโรงเรียน แล้วก็ดำเนินการกันต่อไป”

เปลี่ยนการตรวจสอบให้เป็นความเชื่อมั่นและไว้ใจซึ่งกันและกัน ยาดีที่จะช่วยรักษาความเครียดของครูและนักเรียนได้

เมื่อพูดถึงวิธีรับมือกับความเครียดของนักเรียนแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ลืม คือ ครูก็เป็นคนหนึ่งที่ควรได้รับการเยียวยาความเครียด เพราะครูเองก็ต้องเจอทั้งปัญหาการทำงาน ไหนจะปัญหาส่วนตัว ครูแนนในฐานะครูคนหนึ่ง เธอบอกว่า สิ่งที่จะช่วยลดความเครียดของครูได้ คือการลดกระบวนการแบบราชการลง เพราะกระบวนการแบบนั้นให้อำนาจส่วนกลางมากกว่ากระจายอำนาจ คำสั่งส่วนกลางกลายเป็นอุปสรรคในการตัดสินใจของโรงเรียน โรงเรียนควรมีอำนาจในการบริหารจัดการตนเองได้ คาดหวังผลสัมฤทธิ์ กำกับ ตรวจสอบให้น้อยลง และให้พื้นที่อิสระในการทำงานกับโรงเรียนและครูให้มากขึ้น คือสิ่งจำเป็นเพื่อให้ครูไม่เครียดและสามารถหาวิธีสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างเต็มที่

“สิ่งที่จะทำให้ครูเครียดน้อยลงมากๆ เลย คือการลดนโยบายสั่งการ ควบคุม กำกับ ตรวจสอบจากส่วนกลางให้น้อยลง กระจายอำนาจสู่โรงเรียน เน้นการมีส่วนร่วมของครู ไว้ใจกันให้มากขึ้น เคารพและรับฟังความคิดเห็นของคนที่ทำงานกับนักเรียนโดยตรงให้มาก บริบทโรงเรียนเป็นอย่างไร

“ถ้าเรียนทางไกลพร้อมไหม หรือศึกษาตามอัธยาศัยเหมาะกว่า ควรมีมาตรการดูแลป้องกันอย่างไร ส่วนกลางต้องสนับสนุนอะไรบ้าง ควรเป็นสิ่งที่โรงเรียนและชุมชนตัดสินใจเอง เพราะนี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครเคยเจอ ไม่มีใครเป็นผู้รู้ผู้ตื่น ไม่ควรผูกขาดการตัดสินใจ ควรให้โรงเรียนและครูมีอิสระในการทำงาน โดยไม่ต้องคอยกดดันทั้งตัวเองและนักเรียนให้เป็นไปตามมาตรฐานของใคร

“แต่ท้ายที่สุดก็คิดว่าอำนาจส่วนหนึ่งยังอยู่ในมือครูนะ ถ้าครูมีความกล้ามากพอ มีความเป็นนักวิชาการให้มากกว่าเป็นข้าราชการ เห็นความสำคัญของงานที่ทำว่าเวลาแต่ละนาทีที่เด็กใช้ไปกับเรา คือ เวลาของการเติบโตในฐานะมนุษย์ของเขา และการเติบโตของเขาก็เป็นจิ๊กซอว์ของสังคมที่เขาอยากเห็น ครูก็จะไม่สยบยอมทำตามคำสั่งโดยไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ทำงานกับเด็กเนอะ ถ้าสิ่งที่ทำมันสะท้อนให้เห็นว่าเรานึกถึงเด็กเป็นสิ่งท้ายๆ แปลว่ามันมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นแล้วรึเปล่า

“อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยเยียวยาครู ก็คือครูด้วยกันเนี่ยแหละ ในสภาวะที่เราไม่สามารถเจอนักเรียนที่เป็นกำลังใจหลักในการทำงานของเราได้ตามปกติ เราจำเป็นต้องได้รับพลังจากครูด้วยกัน การได้เจอ ได้ทำงานกับคนที่พร้อมเดินไปลองผิดถูกด้วยกัน มันทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว อันนี้เป็นพลังงานที่ดีที่สุดในช่วงนี้เลย”

New normal ความหมายใหม่ของคำว่า ‘วินัย’

ก่อนจากกัน ครูแนนทิ้งท้ายเรื่อง new normal ในวงการการศึกษาบ้านเรา ที่อาจเป็นโอกาสดีให้เรากลับไปตีโจทย์เรื่องจุดมุ่งหมายการศึกษาใหม่ กลับไปตั้งคำถามกับระบบเดิมที่มีอยู่ว่ามันตอบโจทย์การเรียนรู้จริงๆ หรือไม่

“เวลาพูดถึง new normal เรามีความหวังมากเลยนะ การศึกษาเป็นเครื่องมือในการร่วมออกแบบสังคมที่เราใฝ่ฝัน ถ้าเราเพียงผลิตซ้ำและส่งต่อความรู้แบบสารัตถะ ค่านิยมของการมีวินัยหมายถึงการแต่งกาย ทรงผมถูกระเบียบ เด็กดีหมายถึงเด็กที่ว่านอนสอนง่าย ร้องเพลงชาติเสียงดัง เรียนดีหมายถึงตอบข้อสอบถูกหมด ไม่ว่าจะเรียนออนไลน์หรือใช้เทคโนโลยีล้ำหน้าแค่ไหน ก็คงไม่ใช่ความปกติใหม่ที่พาสังคมไปข้างหน้า

“เราอยากเห็นระบบที่เปิดทางให้ครูเป็นมนุษย์ เป็นนักการศึกษา เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นห้องเรียนที่ตั้งคำถามกับความรู้ ความจริง ความดี มองเห็นและสร้างนิยามใหม่ทั้งต่อตัวเองและสังคมได้ ปรากฏการณ์ครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นนิยามคำว่าวินัยและความรู้ที่เปลี่ยนไป เราเห็นเด็กเรียนทางไกลในชุดอยู่บ้าน บริหารเวลาเรียนเอง ลงชุมชนไปเรียนรู้กับป้าน้าอา หรือทำงานช่วยที่บ้าน เป็นประจักษ์พยานสำคัญให้ทุกคนได้เห็นว่าเด็กเขาสร้างวินัยและองค์ความรู้ของเขาขึ้นมาด้วยตัวเองได้ เมื่อเขามีอิสระและได้ทำในสิ่งที่มีความหมาย และมันจะเป็นส่วนหนึ่งของเขาไปตลอด ก็หวังว่าเราจะไม่ทำเป็นมองผ่านไป และยอมกลับไปอยู่กับความไม่ปกติเดิมอย่างที่เคยเป็นมา”

Tags:

เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์เรวณี ชัยเชาวรัตน์ซึมเศร้าเทคนิคการสอนจิตวิทยาความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ปาริชาต ชัยวงษ์ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)

Author:

illustrator

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยจากคณะแห่งการเขียนและสื่อมวลชน แม้ทำงานแรกในฐานะกองบรรณาธิการ The Potential หากขอบเขตความสนใจขยายไปเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และผู้ลี้ภัย แต่ที่เป็นแหล่งความรู้วัยเด็กจริงๆ คือซีรีส์แวมไพร์, ฟิฟตี้เชดส์ ออฟ จุดจุดจุด และ ยังมุฟอรจาก Queer as folk ไม่ได้

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Illustrator:

illustrator

มานิตา บุญยงค์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่รักการวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ ฝากติดตามผลงานที่ IG : mntttk ด้วยนะคะ

Related Posts

  • Education trend
    เครื่องมือช่วยเด็กคุยกับตัวเอง คลี่คลายความเครียด โดยนักจิตวิทยาโรงเรียน

    เรื่อง The Potential ภาพ มานิตา บุญยงค์

  • Learning Theory
    Relational mindset: ‘ครูแสดงความเอาใจใส่ต่อศิษย์’ เทคนิคที่จะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ดีขึ้น

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิชครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • Dear Parents
    ผู้ใหญ่เครียด เด็กก็เครียด: ภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ สิ่งที่คุณพ่อ-คุณแม่และเด็กๆ ควรมีในปี 2020

    เรื่อง ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา ภาพ ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

  • Social Issues
    เมื่อโรงเรียนเป็นพื้นที่แห่งความกดดันและไร้สุข จึงต้องปรับตัวและรับผิดชอบความป่วยไข้นี้

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Dear Parents
    ความในใจ 5 อย่าง ของเด็กสอบตก

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

จัดการเรียนการสอนอย่างไรในสถานการณ์โควิด-19: จากบทเรียนต่างประเทศสู่การจัดการเรียนรู้ของไทย
Social Issues
18 May 2020

จัดการเรียนการสอนอย่างไรในสถานการณ์โควิด-19: จากบทเรียนต่างประเทศสู่การจัดการเรียนรู้ของไทย

เรื่อง ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • โควิด-19 ทำให้สถานศึกษาต้องปิดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส แต่ไม่อาจหยุดยั้งการเรียนรู้ได้ เรา ‘เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส’ ด้วยการเปลี่ยนให้ทุกๆ ที่กลายเป็นโรงเรียน พร้อมกับปรับกระบวนการเรียนรู้ใหม่ให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ของเด็ก
  • ปรับหลักสูตรให้กระชับควบคู่ไปกับจัดลำดับความสำคัญ รวมทั้งผ่อนคลายตัวชี้วัดเรื่องโครงสร้างเวลาเรียนจะช่วยลดความกดดันของครูและนักเรียน เช่นที่มลรัฐ Alberta ประเทศแคนาดา พวกเขากระชับหลักสูตรโดยเน้นเนื้อหาที่จำเป็นตามช่วงวัย เพื่อให้ครูสามารถนำไปวางแผนการสอนและใช้เวลาได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งออกคู่มือหลักสูตรฉบับย่อสำหรับผู้ปกครอง เพื่อสื่อสารให้เข้าใจถึงหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงไป
ภูษิมา ภิญโญสินวัฒน์ นักวิจัยด้านนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (The Thailand Development Research Institute: TDRI) หนึ่งในบทความชุด TDRI Policy Series on Fighting Covid-19

ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเราควรเปลี่ยนให้ทุกๆ ที่กลายเป็นโรงเรียน เพราะการเรียนรู้ยังต้องดำเนินอยู่แม้นักเรียนไม่สามารถไปโรงเรียนตามปกติ ในหลายประเทศที่ประกาศมาตรการปิดโรงเรียน รัฐบาลมักจะออกมาตรการด้านการเรียนรู้มารองรับ ด้วยการเรียนทางไกลรูปแบบต่างๆ โดยพิจารณาจากเงื่อนไขความพร้อมด้านอุปกรณ์ ความพร้อมของพ่อแม่ และความพร้อมตามช่วงวัยของเด็ก

สำหรับประเทศไทย ความท้าทายในการเปลี่ยนครั้งนี้ไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์โควิด-19 เท่านั้น แต่ควรเป็นการ ‘เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส’ ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ดีกว่าเดิม ดังนั้น มาตรการการเรียนรู้ของไทยจึงไม่ควรปรับแค่กระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียน แต่ต้องปรับใหญ่ทั้งระบบการเรียนรู้ที่ต้องสอดคล้องกันและเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ของเด็ก

กระชับหลักสูตร ปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 และสื่อสารให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทราบ

หลักสูตรการศึกษาพื้นฐานของไทยในปัจจุบัน เน้นเนื้อหามาก ครูจำเป็นต้องใช้เวลาเยอะเพื่อสอนได้ครบถ้วน และไม่เอื้อให้นักเรียนมีส่วนร่วม (Active Learning) เท่าที่ควร และหากยังใช้หลักสูตรเดิมในการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ครูจะต้องใช้เวลาสอนมากขึ้นเพื่อสอนให้ครบถ้วน

การปรับหลักสูตรให้กระชับควบคู่ไปกับจัดลำดับความสำคัญ รวมทั้งผ่อนคลายตัวชี้วัดเรื่องโครงสร้างเวลาเรียนจะสามารถช่วยลดความกดดัน โดยยังคงคุณภาพขั้นต่ำไว้ได้ ตัวอย่างของ มลรัฐ Alberta ประเทศแคนาดา ได้กระชับหลักสูตรโดยเน้นเนื้อหาจำเป็นตามมาตรฐานของแต่ละช่วงวัย เพื่อให้ครูสามารถนำไปวางแผนการสอนและใช้เวลาได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งออกคู่มือหลักสูตรฉบับย่อสำหรับผู้ปกครอง เพื่อสื่อสารให้เข้าใจถึงหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงไป

หลักสูตรแกนกลางของไทยกำหนดตัวชี้วัด ‘ต้องรู้’ และ ‘ควรรู้’ ในแต่ละสาระวิชาแล้ว แต่ต้องเพิ่มความชัดเจนในการสื่อสารให้แก่ครูและผู้ปกครอง

โดยระบุเนื้อหาจำเป็นของแต่ละช่วงวัย และเปิดให้ครูมีอิสระในการจัดการเรียนรู้เนื้อหาส่วนอื่นๆ ตามความเหมาะสม ในขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการควรให้ศึกษานิเทศก์ (Supervisor) ทำหน้าที่เป็นโค้ชให้แก่ครู โดยให้คำแนะนำในการเลือกตัวชี้วัดและเนื้อหานอกเหนือจากส่วนที่จำเป็นเพื่อให้เหมาะกับบริบทและสถานการณ์ของพื้นที่ อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการควรออกคู่มือหลักสูตรฉบับย่อสำหรับผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจบทบาทใหม่ และสามารถติดตามการเรียนรู้ของเด็กได้

นอกจากนี้ โรงเรียนต้องไม่ละเลยการให้ความรู้แก่นักเรียนแต่ละช่วงวัยในการป้องกันตนเองจากโรคระบาด ซึ่งองค์กรอนามัยโลกได้จัดทำคู่มือไว้แล้ว

เพิ่มความยืดหยุ่นของโครงสร้างเวลาเรียนและความหลากหลายของรูปแบบการเรียนรู้

ความยืดหยุ่นในการใช้เวลาและการเลือกรูปแบบการเรียน จะทำให้ครูสามารถออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่เหมาะสมและส่งเสริมการเรียนรู้รายบุคคล (personalized learning) ได้ ดังตัวอย่างของมลรัฐ Alberta ประเทศแคนาดา ซึ่งมีแนวทางสนับสนุนให้ครูจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (blended learning) โดยแนะนำการกำหนดจำนวนชั่วโมงการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ได้แก่

  • ชั่วโมงเรียนรู้ผ่านจอสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย โดยคำนึงถึงพัฒนาการด้านร่างกาย (ปัญหาด้านสายตา) และพัฒนาการด้านสังคม (ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น)
  • ชั่วโมงการเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้านจากการทำใบงาน ชิ้นงาน ค้นคว้าด้วยตัวเอง และ
  • ชั่วโมงที่ครูและนักเรียนทำกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกัน

ในสหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญต่อการตอบสนองของผู้เรียนแต่ละคนแตกต่างกัน โดยจัดทำฐานข้อมูลของสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ที่ครูและนักเรียนสามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังเปิดช่องให้หน่วยงานอื่นๆ และแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก

ในขณะที่นิวซีแลนด์เตรียมชุดการเรียนรู้พื้นฐานให้นักเรียน ซึ่งประกอบด้วยคู่มือออนไลน์ และชุดการเรียนรู้ (สื่อแห้ง) เพื่อให้นักเรียนทุกคนทั้งที่สามารถเข้าถึงและไม่สามารถเข้าถึงระบบเรียนออนไลน์สามารถใช้เรียนรู้ได้

ในกรณีของไทย แม้หลักสูตรแกนกลางของไทยเปิดให้มีความยืดหยุ่นในการกำหนดชั่วโมงเรียน แต่ก็ยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับโครงสร้างเวลาเรียนที่ค่อนข้างแข็งตัว ดังนั้น หากกระทรวงศึกษาธิการช่วยผ่อนคลายโครงสร้างเวลาเรียนลง และเปิดช่องทางการสื่อสารให้ครูได้สอบถามข้อสงสัย ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ครูออกแบบการเรียนรู้อย่างยืดหยุ่น นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังสามารถเปิดให้เอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบการเรียนรู้และสื่อการเรียนรู้ เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนา แลกเปลี่ยนเครื่องมือและเทคนิคใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายและเหมาะสมกับเด็กมากขึ้น

ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ และสอนอย่างมีแผนที่เหมาะสม

ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ครูจะต้องเตรียมความพร้อมก่อนการสอนแบบใหม่ วิธีการหนึ่งคือ การออกแบบหน่วยการเรียนรู้ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะหลังการระบาดของโควิดสิ้นสุดลง ทั้งนี้ควรเริ่มต้นโดยการจัดกลุ่มตัวชี้วัดให้เป็นหน่วยการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้แผนการเรียนรู้มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์การระบาด เช่น ครูสามารถออกแบบหน่วยการเรียนรู้หน่วยละ 2 สัปดาห์ เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการประเมินสถานการณ์การระบาด ทั้งนี้ หากครูสามารถออกแบบหน่วยการเรียนรู้แต่ละหน่วยให้ร้อยเรียงกันอย่างเป็นระบบทั้งเทอมหรือทั้งปี ก็จะช่วยให้นักเรียนสามารถพัฒนาตนเองตามศักยภาพได้ดียิ่งขึ้น และได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในอนาคต

ในทางปฏิบัติ การจัดหน่วยการเรียนรู้สามารถจัดตามเนื้อหาหรือตามประเด็นที่น่าสนใจ และยังสามารถบูรณาการข้ามวิชาหรือในวิชาเดียวกัน หลังจากนั้นครูควรกำหนดคำถามสำคัญของแต่ละหน่วย และวางแผนการติดตามการเรียนรู้ตามตัวชี้วัดด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติอย่างชัดเจน เลือกสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็ก และสื่อสารกับพ่อแม่ให้ทราบถึงบทบาทที่จะเปลี่ยนไป

เนื่องจากการเสริมทักษะออกแบบหน่วยการเรียนรู้ ตั้งคำถาม เลือกใช้สื่ออย่างเหมาะสมจะทำให้ครูออกแบบหน่วยการเรียนรู้ได้มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการควรจะสนับสนุนการเพิ่มทักษะเหล่านี้ตามความต้องการของครูในแต่ละพื้นที่ โดยอาจจะเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญในภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคม ช่วยพัฒนาศักยภาพครูให้ตรงกับทักษะที่ต้องการ และสนับสนุนให้มีการเพิ่มทักษะให้แก่ศึกษานิเทศก์ เพื่อเป็น ‘โค้ชหน้างาน’ ให้แก่ครูต่อไป

ยกระดับการประเมินเพื่อการพัฒนา (formative assessment) เพื่อไม่ให้เด็กเสียโอกาสพัฒนาความรู้และทักษะ

เมื่อนักเรียนไปโรงเรียนตามปกติไม่ได้ ครูกับนักเรียนก็จะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันลดลง ทำให้ครูไม่สามารถติดตามพัฒนาการของนักเรียนได้เต็มที่ อาจทำให้ไม่สามารถรู้ปัญหาของนักเรียนได้ทันเวลา โดยเฉพาะความรู้ด้านภาษาและการคำนวณ ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ระยะยาว การประเมินเพื่อพัฒนาจึงไม่สามารถลดหรือละทิ้งไปได้ทั้งการประเมินเพื่อการเรียนรู้ (assessment for learning) ของเด็ก เพื่อให้ครูทราบถึงกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก โดยจะสามารถให้ feedback กับเด็กและปรับแผนการเรียนรู้ได้ตรงตามสถานการณ์ และการประเมินซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้​ (assessment as learning) ของเด็ก โดยครูเปิดโอกาสให้เด็กย้อนคิดถึงกระบวนการเรียนของตนเอง กระบวนการนี้จะทำให้เด็กมีความรับผิดชอบและเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเองมากขึ้น รวมถึงเมื่อเด็กเข้าใจตนเองก็จะเป็นโอกาสที่จะวางแผนการเรียนรู้ของตนเองร่วมกับผู้ปกครองและครูได้

การประเมินเพื่อพัฒนาทั้ง 2 ลักษณะจึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างเด็ก ผู้ปกครองและครูมากขึ้น วิธีหนึ่งที่ทำได้คือ การประเมินเพื่อพัฒนาอย่างไม่เป็นทางการรายบุคคล (personalized check-ins) เพื่อติดตามการเรียนรู้ สุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักเรียน โดยให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ในกรณีของเด็กโต อาจจะเพิ่มการประเมินตนเองและการประเมินเพื่อน (self & peer assessment) เข้าไปด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์ในการช่วยฝึกทักษะการสะท้อนคิดให้เด็กได้อีกทางหนึ่งด้วย

การประเมินเพื่อพัฒนาจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คือ หนึ่ง – มีการเสริมศักยภาพครูในการใช้และออกแบบเครื่องมือประเมิน สอง – มีการเปิดให้เอกชน และภาคประชาสังคมที่มีความเชี่ยวชาญด้านการประเมินเข้ามาร่วมพัฒนาเครื่องมือการประเมินใหม่ๆ และ สาม – มีการเปิดเวที (platform) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูกับผู้เชี่ยวชาญ

การประเมินเพื่อรับผิดรับชอบ (assessment for accountability) ยังคงควรไว้ แต่ควรให้น้ำหนักการประเมินโอกาสทางการเรียนของเด็ก มากกว่าการวัดความรู้ด้วยคะแนนสอบ

สถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันทำให้ต้องใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย ดังนั้น คุณภาพการศึกษาที่เด็กจะได้รับในแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน จึงไม่สามารถใช้คะแนนวัดความรู้หรือทักษะแบบเดียวกันเพื่อให้เกิดความรับผิดรับชอบได้  มิฉะนั้นก็อาจส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงควรปรับเกณฑ์ข้อสอบวัดความรู้ (test-based) มาสู่การให้น้ำหนักกับตัวชี้วัดที่ไม่ใช่ด้านวิชาการ (non-academic measure) มากขึ้น เช่น อัตราการเข้าเรียน (attendance rate) หรืออัตราการออกกลางคัน (drop-out rate) เป็นต้น โดยการเก็บข้อมูลตัวชี้วัดเหล่านี้ที่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อลดภาระครู เช่น ใช้ระบบ Google Classroom บันทึกการใช้งาน ซึ่งจะช่วยทำให้เขตพื้นที่สามารถติดตามและให้การสนับสนุนโรงเรียนได้ตรงกับความต้องการมากขึ้นด้วย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19” สามารถอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ตารางด้านล่าง

ลำดับบทความ / บทวิเคราะห์
1รัฐต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อแก้วิกฤตการณ์โควิด-19 และลดความเดือดร้อนของประชาชนให้ครอบคลุมและตรงจุด
2Fit-to-fly ไม่ช่วยกันโควิด-19 ซ้ำเพิ่มภาระคนไทยในต่างแดน
3ระวังความรุนแรงในโรคระบาด เมื่อ “บ้าน” อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
4เราไม่ทิ้งกัน แต่มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบรอบแรก รัฐทิ้งใครไว้เบื้องหลังหรือไม่?
5เปิดเมืองอย่างไรให้เศรษฐกิจขยับและคุมการระบาดได้
6แลไปข้างหน้า: ชีวิต (ใหม่?) ของคนไทยหลัง 30 เมษา 63
7ครัวเรือนเกษตร เมื่อไรจะได้รับการเยียวยา? ฝ่ามรสุมราคาพืชผลตกต่ำ ภัยแล้งและโควิด-19
8วิกฤตโควิด-19 รัฐต้องเร่งลดช่องว่างดิจิทัล เพื่อความเท่าเทียมในห้องเรียนออนไลน์
9ประสบการณ์ต่างประเทศของการระบาดและมาตรการคุมการระบาดไวรัสโควิด-19: 5 ข้อสังเกต 4 บทเรียน 3 ความสำเร็จ 2 จุดเปลี่ยน 1 เปิดเมือง
10ฮาวทูทิ้ง: ทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างไรให้ปลอดภัยกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
11ทำอย่างไรให้แรงงานต่างด้าวกว่า 2 ล้านคนในไทยปลอดภัยจากโควิด-19
125 คำถามและ 4 โจทย์ว่าด้วยการสนทนาเรื่อง “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด”
13การศึกษาพื้นฐานในยุค โควิด-19: จะเปิด-ปิดโรงเรียนอย่างไร?

Tags:

ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)TDRIภูษิมา ภิญโญสินวัฒน์ระบบการศึกษาDisruption

Author:

Illustrator:

illustrator

เพชรลัดดา แก้วจีน

นักวาดภาพประกอบอิสระ มีความสนใจปรากฏการณ์ต่างๆในสังคม ชอบสังเกตผู้คน เขียนบันทึก และอ่านหนังสือ ยามว่างมักใช้เวลาไปกับการดริปกาแฟและเล่นกับแมว

Related Posts

  • Social Issues
    NEW NORMAL ของการศึกษาไทยคืออะไร เมื่อการเรียนทางไกลไม่ใช่คำตอบ

    เรื่อง ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • Social Issues
    การศึกษาพื้นฐานในยุคโควิด-19: จะเปิด-ปิดโรงเรียนอย่างไร?

    เรื่อง ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • Social Issues
    โรงเรียนอาจไม่เหมือนเดิม: 3 ประเด็นที่ต้องตาม โคโรน่าไวรัสทำให้การศึกษาเปลี่ยนไปอย่างไร

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พิมพ์พาพ์

  • Social Issues
    ปิดโรงเรียนแล้วอย่างไรต่อ? มาตรการรับมือ ‘หลัง’ ปิดโรงเรียน จากรัฐบาลทั่วโลก

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Learning TheorySocial Issues
    STUDY FROM HOME รวมคอร์สเรียนออนไลน์ในและต่างประเทศ และแพลตฟอร์มสร้างห้องเรียนสำหรับครู

    เรื่อง ชลิตา สุนันทาภรณ์ ภาพ ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

NEW NORMAL ของการศึกษาไทยคืออะไร เมื่อการเรียนทางไกลไม่ใช่คำตอบ
Social Issues
18 May 2020

NEW NORMAL ของการศึกษาไทยคืออะไร เมื่อการเรียนทางไกลไม่ใช่คำตอบ

เรื่อง ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • การเกิดโควิด-19 ทำให้ ‘ความปกติใหม่’ หรือ ‘New Normal’ เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน รวมไปถึงภาคการศึกษาเองก็ที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ทำให้เกิดคำถามว่า ความปกติใหม่ของการศึกษาไทยจะเป็นอย่างไร และใครจะเป็นผู้กำหนดหน้าตาของความปกติใหม่นี้
  • แม้การเรียนทางไกลและเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาท แต่เมื่อคำนึงถึงต้นทุนที่สูงและผลลัพธ์เชิงคุณภาพและความเสมอภาคที่ไม่ชัดเจน ผู้เขียนเชื่อว่า เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยุติลง ระบบการศึกษาในภาครวมจะกลับไปสู่การจัดการเรียนในโรงเรียนเป็นหลัก ส่วนการเรียนทางไกลเป็นเพียงทางเลือก
  • ปรากฏการณ์ของโควิด-19 ที่ทำให้นักเรียนไม่ได้ไปโรงเรียน ครูจัดการเรียนการสอนไม่ได้เหมือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดความตระหนักรู้ใหม่ถึงสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นแท้จริงต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น หลักสูตรแกนกลางที่มีอยู่เดิมเทอะทะเกินไปและไม่เหมาะกับบริบทของเด็กแต่ละคน และ กฎเกณฑ์เรื่องการแต่งกายและการไว้ทรงผมไม่มีความสำคัญเมื่อเด็กเรียนรู้อยู่ที่บ้าน
บทความโดย ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยด้านนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (The Thailand Development Research Institute: TDRI) เป็นหนึ่งในบทความชุด TDRI Policy Series on Fighting Covid-19

เมื่อวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกเริ่มคลี่คลายลง หลายๆ ภาคส่วนเริ่มพูดถึง ‘ความปกติใหม่’ หรือ ‘New Normal’ ที่จะตามมา ภาคการศึกษาเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ทั่วโลกและในประเทศไทย โดยเฉพาะการปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ทำให้ทั้งภาคนโยบาย โรงเรียน ครู และนักเรียนนักศึกษา ต้องหันมาใช้การเรียนการสอนทางไกลอย่างเร่งด่วน ชวนให้หลายคนคิดว่า เมื่อโควิด-19 ผ่านไป การเรียนรู้ทางไกลและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้จะกลายเป็นความปกติใหม่ของการศึกษาไทย ทว่า ความปกติใหม่นี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะอะไร หากมิใช่แล้ว ความปกติใหม่ของการศึกษาไทยจะเป็นอย่างไรแน่ และใครจะเป็นผู้กำหนดหน้าตาของความปกติใหม่นี้

บทความโดย ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยด้านนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (The Thailand Development Research Institute: TDRI) เป็นหนึ่งในบทความชุด TDRI Policy Series on Fighting Covid-19

ทำไมการเรียนทางไกลและการเรียนออนไลน์จะยังไม่ใช่ “ความปกติใหม่” แต่อาจเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของครู

การจัดการเรียนทางไกลและการเรียนออนไลน์ที่ทั่วถึงและมีประสิทธิผลสูงสำหรับผู้เรียนทุกคน ต้องพึ่งพาหลายปัจจัย ทั้งความพร้อมด้านเทคโนโลยี ความพร้อมของครูในการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ และความพร้อมของครอบครัวและนักเรียนในการเรียนรู้จากที่บ้าน ปัจจัยเหล่านี้มีต้นทุนมหาศาล เช่น หากรัฐจะจัดสรรเงินช่วยเหลือค่าคอมพิวเตอร์แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ยากจนคนละ 10,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณถึง 2,800 ล้านบาท (จากบทความ โดย ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู) และหากรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์ให้เฉพาะนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษที่มีอยู่กว่า 700,000 คนตามเกณฑ์การคัดกรองของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คนละ 10,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนที่ครอบครัวนักเรียนต้องจ่าย ทั้งค่าอินเทอร์เน็ต ค่าอาหารกลางวัน ต้นทุนค่าเสียโอกาสของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องใช้เวลาดูแลการเรียนของลูกแทนการทำงานหารายได้ และต้นทุนค่าเสียโอกาสของนักเรียนจากการเรียนทางไกลหรือเรียนออนไลน์ ที่งานวิจัยจำนวนไม่น้อยบ่งชี้ว่า ก่อให้เกิดผลลัพธ์ต่ำกว่าการเรียนตามปกติกับครูในห้องเรียน

เมื่อคำนึงถึงต้นทุนที่สูงมากในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเรียนทางไกลด้วยเทคโนโลยี และผลลัพธ์เชิงคุณภาพและความเสมอภาคที่ไม่ชัดเจน ผู้เขียนเชื่อว่า เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยุติลง ระบบการศึกษาในภาครวมจะกลับไปสู่การจัดการเรียนในโรงเรียนเป็นหลัก ส่วนการเรียนทางไกลด้วยเทคโนโลยีจะเป็นเพียงทางเลือกที่ถูกนำมาใช้ในบางสถานการณ์ กับนักเรียนแค่บางกลุ่ม และในบางพื้นที่ แต่จะยังไม่ใช่ความปกติใหม่ของการศึกษาไทยในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ บุคลากรทางการศึกษาจำนวนมากได้ปรับตัวเพื่อใช้เทคโนโลยีในการทำงานทางไกล เช่น การประชุมออนไลน์ การจัดการเอกสารออนไลน์ผ่านคลาวด์ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าว แม้ว่าจะไม่ได้เปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนโดยตรง แต่น่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ จึงมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปแม้การระบาดสิ้นสุดลง

“ความปกติใหม่” ของภาคการศึกษาไทย ควรเป็นการให้น้ำหนักแบบใหม่เพื่อจัดการปัญหาเดิม

ปรากฏการณ์ของโควิด-19 ที่ทำให้นักเรียนไม่ได้ไปโรงเรียน ครูจัดการเรียนการสอนไม่ได้เหมือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดความตระหนักรู้ใหม่ถึงสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นแท้จริงต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น หลักสูตรแกนกลางที่มีอยู่เดิมเทอะทะเกินไปและไม่เหมาะกับบริบทของเด็กแต่ละคน และ กฎเกณฑ์เรื่องการแต่งกายและการไว้ทรงผมไม่มีความสำคัญเมื่อเด็กเรียนรู้อยู่ที่บ้าน เป็นต้น

เราควรใช้ความตระหนักรู้ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์นี้ มาออกแบบอนาคตของการศึกษาไทย โดยให้น้ำหนักกับสิ่งที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียน มากกว่า เงื่อนไขที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบาย แนวคิดหรือผลประโยชน์บางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของนักเรียน

  • ให้น้ำหนักกับ ปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างครูและนักเรียน มากกว่า จำนวนชั่วโมงที่นักเรียนอยู่ในห้องเรียนหรือเรียนผ่านสื่อโทรทัศน์หรือสื่อออนไลน์
  • ให้น้ำหนักกับ การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับความสนใจของนักเรียน เชื่อมโยงกับชุมชนและบริบทที่นักเรียนอยู่ มากกว่า การเรียนรู้อิงตามมาตรฐานแบบเดียวกันทั้งประเทศ
  • ให้น้ำหนักกับ การประเมินผลเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน (formative assessment) จากชิ้นงานและพฤติกรรมของนักเรียน มากกว่า การประเมินเพื่อการตัดสิน (summative assessment) เพื่อนำไปใช้ให้คุณให้โทษแก่โรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษา
  • ให้น้ำหนักกับ การช่วยเหลือนักเรียนที่มีความท้าทายในการเรียน ควบคู่กับ การส่งเสริมนักเรียนกลุ่มอื่นๆ ให้เต็มตามศักยภาพ เนื่องจากนักเรียนที่ขาดแรงจูงใจในการเรียนเป็นทุนเดิมหรือมาจากครอบครัวยากจนมีแนวโน้มจะหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นเมื่อสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
  • ให้น้ำหนักกับ การเรียนรู้เพื่อสุขภาพกายและใจ ควบคู่กับ การเรียนรู้ด้านวิชาการ สถานการณ์โรคระบาดส่งผลต่อสุขภาพกายและใจของทุกคนรวมถึงเด็กๆ ทุกวัย ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของสมองชี้ให้เห็นว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ยากเมื่อเด็กมีความเครียดหรืออยู่ในภาวะที่เป็นอันตราย ครูจึงควรสอดแทรกเนื้อหาความรู้เรื่องสุขภาวะ การดูแลสุขภาพกายและใจ เพื่อให้เด็กเรียนรู้และปรับตัวได้ท่ามกลางสถานการณ์ครอบครัวและสังคมที่ไม่แน่นอน
  • ให้น้ำหนักกับ การจัดสรรทรัพยากรออฟไลน์แก่เด็กและครอบครัว ควบคู่กับ ทรัพยากรออนไลน์ เช่น จัดสรรหนังสือเด็กให้แก่ครอบครัวด้อยโอกาสเพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ที่บ้าน จัดให้มีอาสาสมัครติดตามสถานการณ์เด็กในแต่ละครอบครัวและให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการดูแลลูก ในลักษณะเดียวกันกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ เป็นต้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนในด้านต่างๆ ไม่เพียงแค่การศึกษาเท่านั้น

การสร้างความปกติใหม่ตามข้อเสนอนี้สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล เพียงอาศัยการปรับมุมมองของผู้กำหนดนโยบาย ปรับกระบวนการทำงานของบุคลากรทางการศึกษา สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ รวมถึง ถอดบทเรียนองค์ความรู้จากทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากแนวทางการจัดการศึกษาที่กล่าวมานี้ คือ “ความปกติเดิม” ที่เกิดขึ้นมาแล้วในระบบการศึกษาของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงบางโรงเรียนในประเทศไทยที่ปรับการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 มาก่อนหน้านี้ และน่าจะยังคงสอดคล้องกับโลกในอนาคต

บทสรุป: มีหรือไม่มีโควิด-19 ก็ต้องร่วมออกแบบความปกติใหม่ที่การศึกษาไทยต้องการ (desirable new normal)

แม้ไม่มีโควิด-19 ระบบการศึกษาไทยก็กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจากปัจจัยขับเคลื่อนจำนวนมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจ เช่น สภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ด้านสังคม เช่น โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง ด้านเทคโนโลยี เช่น disruptive technology ที่ทำให้ทักษะที่เป็นที่ต้องการเปลี่ยนไป และด้านการเมืองการปกครอง เช่น การดำเนินนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น ผู้เขียนมองว่า โควิด-19 เป็นทั้ง “ตัวเร่งปฏิกิริยา” ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงที่รอท่าอยู่เกิดขึ้นเร็วขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้มาใช้ในวงกว้าง และเป็น “ตัวหน่วงปฏิกิริยา” ให้แผนการบางอย่างชะลอออกไป เช่น การนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในปีการศึกษา 2563

การเร่งปฏิกิริยาและการหน่วงปฏิกิริยาของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องบางส่วนต้องปรับตัวด้วยความจำเป็น เช่นเดียวกับแรงดึงและแรงผลักของปัจจัยขับเคลื่อนต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการศึกษาไทยมาโดยตลอด หากขาดการออกแบบเชิงรุกและการตั้งรับปรับตัวของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคการศึกษา ก็เป็นไปได้สูงมากว่าอนาคตของการศึกษาไทยจะเคลื่อนคล้อยไปตามแรงเหล่านี้จนไม่สามารถควบคุมทิศทางไปสู่จุดหมายที่ต้องการได้

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า การจินตนาการถึง “ความปกติใหม่” ที่กำลังจะมาถึง ไม่ควรถูกตีกรอบไว้ด้วยสถานการณ์ความจำเป็นจากโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ ที่ควบคุมไม่ได้เท่านั้น แต่ควรเป็นการจินตนาการถึง “ความปกติใหม่ที่เป็นที่ต้องการ” (desirable new normal) จากการหารือและวางแผนร่วมกันของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางศึกษา ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม พ่อแม่ ผู้ปกครอง และที่สำคัญที่สุด คือตัวนักเรียนเอง

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19” สามารถอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ตารางด้านล่าง

ลำดับบทความ / บทวิเคราะห์
1รัฐต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อแก้วิกฤตการณ์โควิด-19 และลดความเดือดร้อนของประชาชนให้ครอบคลุมและตรงจุด
2Fit-to-fly ไม่ช่วยกันโควิด-19 ซ้ำเพิ่มภาระคนไทยในต่างแดน
3ระวังความรุนแรงในโรคระบาด เมื่อ “บ้าน” อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
4เราไม่ทิ้งกัน แต่มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบรอบแรก รัฐทิ้งใครไว้เบื้องหลังหรือไม่?
5เปิดเมืองอย่างไรให้เศรษฐกิจขยับและคุมการระบาดได้
6แลไปข้างหน้า: ชีวิต (ใหม่?) ของคนไทยหลัง 30 เมษา 63
7ครัวเรือนเกษตร เมื่อไรจะได้รับการเยียวยา? ฝ่ามรสุมราคาพืชผลตกต่ำ ภัยแล้งและโควิด-19
8วิกฤตโควิด-19 รัฐต้องเร่งลดช่องว่างดิจิทัล เพื่อความเท่าเทียมในห้องเรียนออนไลน์
9ประสบการณ์ต่างประเทศของการระบาดและมาตรการคุมการระบาดไวรัสโควิด-19: 5 ข้อสังเกต 4 บทเรียน 3 ความสำเร็จ 2 จุดเปลี่ยน 1 เปิดเมือง
10ฮาวทูทิ้ง: ทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างไรให้ปลอดภัยกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
11ทำอย่างไรให้แรงงานต่างด้าวกว่า 2 ล้านคนในไทยปลอดภัยจากโควิด-19
125 คำถามและ 4 โจทย์ว่าด้วยการสนทนาเรื่อง “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด”
13การศึกษาพื้นฐานในยุค โควิด-19: จะเปิด-ปิดโรงเรียนอย่างไร?
14จัดการเรียนการสอนอย่างไรในสถานการณ์โควิด-19: จากบทเรียนต่างประเทศสู่การจัดการเรียนรู้ของไทย
15จะดูแลคุณภาพชีวิตเด็กไทยอย่างไรในวันที่ ปิดโรงเรียน จากโควิด-19?
16เตรียมความพร้อมระบบขนส่งสาธารณะไทย ในสถานการณ์โควิด-19

Tags:

ระบบการศึกษาโรงเรียนDisruptionณิชา พัฒนเลิศพันธ์ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)TDRI

Author:

Illustrator:

illustrator

เพชรลัดดา แก้วจีน

นักวาดภาพประกอบอิสระ มีความสนใจปรากฏการณ์ต่างๆในสังคม ชอบสังเกตผู้คน เขียนบันทึก และอ่านหนังสือ ยามว่างมักใช้เวลาไปกับการดริปกาแฟและเล่นกับแมว

Related Posts

  • Social Issues
    จัดการเรียนการสอนอย่างไรในสถานการณ์โควิด-19: จากบทเรียนต่างประเทศสู่การจัดการเรียนรู้ของไทย

    เรื่อง ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • Social Issues
    การศึกษาพื้นฐานในยุคโควิด-19: จะเปิด-ปิดโรงเรียนอย่างไร?

    เรื่อง ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • Social Issues
    เลื่อนเปิดเทอม: โจทย์ วิธีรับมือ ของ 4 ครูไทยในพื้นที่และบริบทที่แตกต่าง

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ นัฐพล ไก่แก้ว

  • Social Issues
    ปิดโรงเรียนแล้วอย่างไรต่อ? มาตรการรับมือ ‘หลัง’ ปิดโรงเรียน จากรัฐบาลทั่วโลก

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Learning TheorySocial Issues
    STUDY FROM HOME รวมคอร์สเรียนออนไลน์ในและต่างประเทศ และแพลตฟอร์มสร้างห้องเรียนสำหรับครู

    เรื่อง ชลิตา สุนันทาภรณ์ ภาพ ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

Posts navigation

Older posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel