ช่วงนี้สถานการณ์รอบตัวพวกเรากำลังร้อนระอุ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ หรือโรคระบาด ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็กต่างหยุดอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่เชื้อ การหากิจกรรมทำในช่วงที่ต้องหยุดอยู่บ้านดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดี ช่วยพักความเครียดความกังวลไปก่อน แล้วหันกลับมาใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว The Potential ขอนำเสนอกิจกรรมที่สามารถทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน จากวัสดุเหลือใช้รอบตัว และคนในครอบครัวสามารถทำร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นปลูกต้นกระบองเพชร ทำนิทาน 4 มิติ หรือทำเกมจากกล่องกระดาษลังเหลือใช้ นอกจากความสนุกที่ได้จากการทำกิจกรรม การได้เล่นด้วยกันถือเป็นเวลาทองที่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวกระชับขึ้น เราได้รู้จักลูกมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการฝึกทักษะและบ่มเพาะนิสัยให้กับเด็กๆ อีกด้วย เช่น ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ การทำสิ่งประดิษฐ์ บ่มเพาะนิสัยความรับผิดชอบ ความมุมานะ วางแผน และลงมือทำงานจนเสร็จ เป็นต้น
ภาพ : ปชาฤทธิ์ จอมเงิน
เนื่องจากช่วงนี้ไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ทำให้บ้านเมืองเราเดินหน้าสู่บรรยากาศแห่งการ ‘work from home’ รวมถึงโรงเรียนที่ทยอยปิดเพื่อป้องกันการแพร่ของไวรัส แต่ในคำว่า ‘อยู่บ้าน’ นั้นมีความหนักใจและกังวลใจซ่อนอยู่ อย่างไรก็ดี The Potential (หนึ่งในผู้ประสบภัย) เราจับความกังวลใจของผู้ปกครองบางท่านในแง่ ‘อยู่บ้านแล้วจะทำอะไรดี’ จึงหันไปปรึกษาเพื่อนพ้องน้องพี่นักออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อช่วยกันคิดกิจกรรมซึ่งมีโจทย์คือ ครอบครัวต้องทำเองได้ง่ายๆที่บ้าน จากวัสดุเหลือใช้ที่บ้าน ราคาไม่แพง และหาซื้ออุปกรณ์ได้ง่ายในสถานการณ์เช่นนี้
ไม่มากก็น้อย… เราหวังว่ากิจกรรมเหล่านี้จะช่วยคนในครอบครัวพักความเครียดความกังวล ถือโอกาสใช้วันเวลาแบบนี้กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว และทำกันยาวไปแบบ ‘นันสต็อป’ 7 วัน 7 กิจกรรมกันไปเลย
แจ๋-สิริกาญจน์ บรรจงทัด นักการละครหุ่น เจ้าของกลุ่ม puppet by Jae และขวัญ-ขวัญหทัย สมแก้ว วิทยากรอิสระ นักออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ เป็น 2 วิทยากรที่จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมที่ว่านี้
ขวัญ-ขวัญหทัย สมแก้ว แจ๋-สิริกาญจน์ บรรจงทัด
และเพื่อให้แน่ใจว่ากิจกรรมเหล่านี้เวิร์คกับเด็กจริงๆ เราได้ครอบครัวอาสามาลองทำกิจกรรมกับเราในวันนี้ คือธีตา นิเวศชนะจิต หรือแม่ยุ้ย และพ่อก็อต ปชาฤทธิ์ จอมเงิน สองสามีภรรยาเจ้าของ Little Splash Kid & café จ.นครปฐม พาน้องมอนิ่ง ชาริตา จอมเงิน ลูกสาววัย 5 ขวบของพวกเขามาทำกิจกรรมกับเราด้วย
ก่อนจะเริ่มทำกิจกรรมที่แจ๋และขวัญเตรียมมา แม่ยุ้ยก็ขอชิงแนะนำกิจกรรมที่เธอทำอยู่กับน้องมอนิ่ง นั่นคือการปลูกต้นกระบองเพชร
กิจกรรมที่ 1 หาบ้านให้กระบองเพชร
กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรม Outdoor ที่เด็กจะได้รู้จักวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการปลูกต้นไม้ ได้รู้จักชีววิทยาของพืชอวบน้ำ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกได้รู้จักกับสิ่งมีชีวิตลักษณะนี้ เพื่อให้เขาให้คุณค่ากับการเล่นที่ใส่ใจกับสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะพืช ว่าพืชเป็นสิ่งมีชีวิต เรากำลังเพาะพันธุ์พืชที่เราต้องใส่ใจเขาในฐานะที่เขาเป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่ง อาหารของพืชที่ต้องได้จากดิน ปุ๋ย น้ำ แสงแดด การสอนลูกให้ใส่ใจกับสิ่งมีชีวิตลักษณะนี้ ทำให้คาแรกเตอร์ของการใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ติดตัวลูกไป ขณะทำกิจกรรมลูกจะเห็นว่า ดิน หิน ทุกเม็ดมีคุณค่าต่อการก่อกำเนิดพืชมาได้ ซึ่งเวลาการเติบโตของไม้อวบน้ำก็เป็นเหมือนช่วงเวลาการเติบโตของลูกเช่นเดียวกัน
จุดเด่นของการทำกิจกรรมลักษณะนี้คือการวางแผน เตรียมอุปกรณ์ และลงมือทำทีละขั้นตอน ซึ่งจะได้ฝึกทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ การใส่ใจจดจ่อ การกำกับตัวเองให้อยู่นิ่งกับการทำงานทีละขั้นตอนจนกว่างานจะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งแต่ละขั้นนั้นไม่ง่าย ทำอย่างไรที่จะทำให้ลูกใส่ใจจดจ่อ และรับผลความสำเร็จร่วมกันทั้งครอบครัว รวมถึงเก็บอุปกรณ์ให้เรียบร้อย เป็นการสร้างลักษณะนิสัยของการรับผิดชอบได้
กิจกรรมนี้มี 2 ขั้นตอนสำคัญคือขั้นของการทำกระถาง เป็นงาน DIY และขั้นของการปลูก
ทำกระถาง
แม่ยุ้ยบอกว่า การปลูกต้นไม้เป็นกิจกรรมสุดโปรดของเธอ จึงไม่น่าแปลกใจที่ร้านของเธอล้อมรอบไปด้วยสวนสีเขียว และมักชวนน้องมอนิ่งมาทำกิจกรรมนี้ด้วยกัน ระหว่างที่เตรียมอุปกรณ์ น้องมอนิ่งก็เดินไปดูต้นกระบองเพชรที่เตรียมไว้ เมื่อมีคนถามว่ามีสายพันธุ์อะไรบ้าง น้องมอนิ่งก็สามารถตอบได้หมด แม่ยุ้ยอธิบายว่า การเปิดโอกาสให้ลูกลองทำกิจกรรมหลายๆ อย่าง เพื่อให้ลูกเจอสิ่งที่พวกเขาชอบ อย่างน้องมอนิ่งได้ลองปลูกต้นกระบองเพชรก็ชอบมาก ถึงขั้นสามารถดูและบอกได้ว่าต้นนี้สายพันธุ์อะไรในวัย 5 ขวบ
ก่อนจะเริ่มปลูกต้นกระบองเพชร คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกทำกระถาง DIY ก่อนได้ซึ่งใช้เวลาไม่นาน
วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ ปูนปลาสเตอร์ น้ำ พิมพ์ซิลิโคน หลอดชานมไข่มุก สีอะคริลิค และน้ำยาเคลือบสีอะคริลิค
แม่ยุ้ยอธิบายว่า ถ้าอยากให้กระถางแข็งแรงคงทนควรใช้ยาแนว หรือปูนซีเมนต์ แต่ที่แม่ยุ้ยเลือกใช้ปูนปลาสเตอร์เพราะแห้งเร็วทันใจเด็กๆ ที่ช่วงความสนใจจะสั้นกว่าผู้ใหญ่ ประกอบกับตัวต้นกระบองเพชรต้องคอยเปลี่ยนกระถางทุก 2 เดือน การใช้ปูนปลาสเตอร์จึงตอบโจทย์
ขั้นตอนการทำกระถาง
ผสมปูนปลาสเตอร์กับน้ำเปล่าในอัตราส่วน 1:1 แม่ยุ้ยอธิบายว่า ไม่มีปริมาณตายตัวว่าต้องผสมอัตราเท่าไร แล้วแต่ความพึงพอใจของคนทำว่าอยากได้เยอะแค่ไหน แค่ให้อัตราส่วนของน้ำและปูนปลาสเตอร์เท่ากัน เช่น น้ำหนึ่งแก้ว ปูนปลาสเตอร์หนึ่งแก้วเท่ากัน และขณะที่ผสมก็ค่อยๆ คนอย่างเบามือเพื่อไม่ให้เกิดฟองอากาศ ให้น้ำและปูนปลาสเตอร์เป็นเนื้อเดียวกัน ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนการตกแต่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับความชอบของคนทำว่าอยากได้กระถางสีอะไรก็ผสมสีลงไปได้ โดยใช้สีอะคริลิค หากทำกับลูกก็ให้เขาเลือกสีที่ชอบได้เพื่อทำให้เขาสนุกมากขึ้น แม่ยุ้ยแนะนำว่า ถ้าอยากให้กระถางเป็นลายหินอ่อน เวลาผสมสีลงไปไม่ต้องคนให้เป็นเนื้อเดียวกัน เทส่วนผสมลงพิมพ์ซิลิโคนที่เตรียมไว้ เวลาเทให้วางหลอดชานมไข่มุกไว้ตรงกลาง เพื่อสร้างเป็นรูที่ก้นกระถาง จากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีให้แห้ง นำออกมาจากพิมพ์ ทาน้ำยาเคลือบสีอะคลิลิคเพื่อให้คงทนมากยิ่งขึ้น เป็นอันเสร็จ
ปลูกต้นกระบองเพชร
วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ ต้นกระบองเพชร หินภูเขาไฟขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ดินทราย ปุ๋ย หินสำหรับตกแต่ง กระถาง และน้ำ
ขั้นตอนการปลูก
เริ่มจากผสมดินทรายกับน้ำ ใส่น้ำเพียงเล็กน้อยให้ดินทรายพอร่วนๆ ไม่เป็นก้อน นำกระถางที่เตรียมไว้สำหรับปลูกมา ใส่หินภูเขาไฟขนาดใหญ่ 1 ก้อนไว้ชั้นล่างสุดตรงก้นกระถาง ตามด้วยดินทรายที่ผสมไว้เล็กน้อย แล้วนำต้นกระบองเพชรมาใส่ จากนั้นเทดินทรายจนเกือบเต็มเหลือที่ประมาณ 1 นิ้วจากขอบกระถาง แล้วโรยปุ๋ยเล็กน้อย ตามด้วยหินตกแต่ง ซึ่งเหตุผลที่ต้องใส่หินตกแต่งแม่ยุ้ยอธิบายว่า ดินทรายนั้นเบา โดนลมเพียงเล็กน้อยหรือขยับกระถางก็ปลิวหมด การโรยหินก็เพื่อป้องกันไม่ให้ดินทรายปลิวและเพื่อความสวยงามด้วย ปิดท้ายด้วยการโรยหินภูเขาไฟขนาดเล็กไว้ชั้นบนสุดเพื่อความสวยงาม เป็นอันเสร็จ รดน้ำต้นกระบองเพชรให้ชุ่ม ขณะที่รดน้ำสีของหินที่อยู่ชั้นบนสุดก็เปลี่ยนไป แม่ยุ้ยอธิบายว่า เป็นคุณสมบัติของหินภูเขาไฟที่พอโดนน้ำแล้วจะเปลี่ยนสี ทำให้เวลารดน้ำรู้ว่าเรารดทั่วหรือยัง จึงเหมาะกับใช้ปลูกต้นกระบองเพชร แล้วเวลารดน้ำรดให้ชุ่มๆ ให้น้ำไหลหยดมาตามรูของก้นกระถาง แล้วค่อยกลับมารดใหม่อาทิตย์หน้า
รดน้ำอาทิตย์ละครั้ง!! น้องมอนิ่งบอกกับเราอย่างเชี่ยวชาญ
กิจกรรมที่ 2 นิทรรศการครอบครัว
แดดในสวนเริ่มแรงขึ้น แม่ยุ้ยเลยชวนทุกคนให้เข้ามาหลบแดดภายในร้าน แจ๋และขวัญก็ไม่ปล่อยให้เสียเวลาเปล่า พวกเธอชวนทำกิจกรรมต่อไป กิจกรรมที่ว่าคือ สร้างนิทรรศการในบ้านด้วยรูปถ่ายครอบครัว
ขวัญเล่าถึงที่มาของกิจกรรมว่า กิจกรรมนี้เป็นการสร้างช่วงเวลาที่สมาชิกครอบครัวจะได้นั่งและทบทวนความทรงจำที่มีร่วมกันผ่านการดูภาพถ่าย พร้อมสื่อสารความในใจที่ไม่กล้าพูดผ่านการเขียนการ์ด ฝึกความกล้าแสดงออกที่จะพูดความรู้สึกข้างในของเด็ก
แนวคิดของกิจกรรมนี้คือ การดึงความทรงจำ ความรู้สึกในช่วงเวลาดีๆ ที่ครอบครัวมีร่วมกันขึ้นมาใช้ พ่อกับแม่ควรให้เวลาคุยกับลูกอย่างใจเย็นมากกว่ามุ่งทำผลงานให้สำเร็จ
รูปแบบของกิจกรรม คือการใช้ภาพถ่ายความทรงจำที่ลูกจะต้องเป็นผู้เลือกเอง สิ่งสำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรใช้คำถามถามลูกว่า ภาพนี้เราไปที่ไหน มีใครอยู่ในภาพบ้าง เรากำลังทำกิจกรรมอะไร สิ่งที่ลูกประทับใจมากที่สุดคืออะไร หากเขาประทับใจแบบนี้ เขาอยากจัดวางภาพนี้ลงตรงส่วนไหนของกรอบรูปนี้
การตั้งคำถามจะช่วยให้เด็กนำตนเอง (Self directed) มีสิทธิ์เลือก มีสิทธิ์จัดวางเอง เลือกสีเลือกภาพตามความต้องการของเขาเอง เป้าหมายคือให้ชิ้นงานออกมาได้ ซึ่งระหว่างผลิตชิ้นงานลูกจะได้พัฒนาทักษะทางศิลปะโดยไม่ต้องคาดหวังถึงความสมบูรณ์และสวยงามของชิ้นงาน สิ่งสำคัญคือการพูดคุยกับพ่อแม่ และให้อิสระลูกในการเลือกภาพถ่าย เลือกสี และเขียนข้อความที่เขาอยากบอกพ่อกับแม่
หลังทำชิ้นงานเสร็จ สิ่งสำคัญคือการรับผิดชอบในการเก็บอุปกรณ์ และอย่าลืมชวนลูกมาชื่นชมภาพนี้ได้ทุกวัน หรือสามารถตั้งประเด็นที่จะเปลี่ยนภาพในแต่ละวัน หรือแต่ละสัปดาห์ก็ได้ เช่น สัปดาห์แห่งความอบอุ่น สัปดาห์แห่งอาหารการกิน สัปดาห์แห่งความชอบ เป็นต้น
วัสดุ อุปกรณ์ ได้แก่ กรอบรูป (ขนาดเท่าไรก็ได้ ในที่นี้ใช้ขนาด 16 x 21 นิ้ว) ตะขอ เชือก สว่าน ตัวหนีบไม้ กระดาษ ดินสอ สีโปสเตอร์ สีไม้ และภาพถ่ายของครอบครัว
ขั้นตอนการทำ
นำกรอบรูปมาเจาะรูด้านซ้ายและขวาด้านละกี่รูก็ได้ตามความต้องการ ขึ้นอยู่กับขนาดภาพ หากภาพขนาดเล็กจำนวนรู้ก็อาจมากหน่อย หรือตามแต่การสร้างสรรค์ได้เลย เพียงแต่จำนวนและระยะห่างของแต่ละรูของกรอบรูปฝั่งซ้ายและขวาต้องเท่ากัน ซึ่งของแม่ยุ้ยเลือกเจาะด้านละ 4 รู นำตะขอมาใส่แต่ละรูที่เจาะไว้ แล้วนำเชือกมาผูกกับตะขอทั้งสองฝั่งให้ได้เชือก 2 เส้นเพื่อให้แข็งแรง สำหรับเป็นราวไว้แขวนภาพถ่าย เป็นขั้นตอนการตกแต่ง ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคนว่าอยากตกแต่งอย่างไร ใครใคร่ระบายสีตัวหนีบก็ระบาย หรือใครใคร่ระบายสีกรอบรูปก็ทำได้เลย หรือใครชอบสีเดิมอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ ระหว่างรอให้สีแห้ง คุณพ่อคุณแม่และลูกคัดเลือกภาพถ่ายที่เป็นความทรงจำของครอบครัว ที่เคยท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งควรให้เวลาคุยกับลูกอย่างใจเย็นในขั้นตอนนี้ ใช้คำถามถามลูกว่า ภาพนี้เราไปที่ไหน มีใครอยู่ในภาพบ้าง เรากำลังทำกิจกรรมอะไร สิ่งที่ลูกประทับใจมากที่สุดคืออะไร หากเขาประทับใจแบบนี้ เขาอยากจัดวางภาพนี้ลงตรงส่วนไหนของกรอบรูปนี้ นำภาพมาแขวนที่ราวเชือกโดยใช้ตัวหนีบยึดไว้ ทำการ์ดสื่อสารความในใจ จากที่เคยมีความทรงจำร่วมกัน ลูกมีอะไรที่อยากบอกกับพ่อหรือแม่ และคุณพ่อคุณแม่มีอะไรที่อยากบอกลูก ก็เขียน หรือวาดภาพสำหรับน้องที่ยังเขียนไม่ได้ เพื่อส่งสารนั้นถึงกันและกัน อย่างวันนี้ ขณะทำกิจกรรมนี้ น้องมอนิ่งถามคุณแม่ว่า “หนูรักแม่” เขียนยังไงคะ ก็ถือว่าเป็นการบอกรักคุณแม่แล้วนะคะ เสร็จแล้วนำการ์ดหนีบไว้ที่กรอบรูปเป็นอันเสร็จกิจกรรม นำกรอบรูปตกแต่งไว้ในบ้าน และสามารถเปลี่ยนธีมไปได้เรื่อยๆ ทุกวันหรือสัปดาห์ เช่น สัปดาห์แห่งความอบอุ่น สัปดาห์แห่งอาหารการกิน สัปดาห์แห่งความชอบ เป็นต้น
กิจกรรมที่ 3 ลังกระดาษแปลงกาย: เกมฟุตบอล
กิจกรรมต่อไปเป็นการทำของเล่นจากวัสดุเหลือใช้ที่น่าจะมีทุกบ้าน นั่นคือ ‘กล่องลังกระดาษ’ โดยแจ๋และขวัญนำมาสาธิต 2 เกม คือ เกมฟุตบอล และ เกมเขาวงกต พวกเธอบอกว่าแรงบันดาลใจมาจากเกมกด เกมตู้ ที่เล่นครั้งยังเป็นเด็ก นำมาให้เด็กๆ ลองทำตั้งแต่กระบวนการผลิตตัวเกมไปจนถึงการเล่น เป็นข้อดีของการทำเกมเอง ที่เด็กๆ สามารถคิดเนื้อเรื่อง กฎกติกาได้เอง เป็นการฝึกทักษะทั้งภายนอก คือ ฝึกการใช้มือหยิบจับ ตัด ระบายสี และทักษะภายใน เช่น การจินตนาการ การคิดวิเคราะห์ การอยู่ร่วมกันกับคนอื่น เป็นต้น
แนวคิดของกิจกรรมนี้คือ การทำสิ่งประดิษฐ์ที่ซับซ้อนขึ้น ต้องใส่ใจจดจ่อ (Attention) มากขึ้น เกมนี้มีการทำชิ้นงานที่ซับซ้อน ต้องวางแผนงานมากกว่ากิจกรรมที่ผ่านมา ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกให้เข้าใจเรื่องการทำงานให้สำเร็จไปทีละขั้นกว่าจะสำเร็จเป็นงานชิ้นใหญ่ได้ เช่น การทำกล่อง ทำประตูฟุตบอล ทำสนาม ทำไม้หมุน ทำหุ่น ให้แข็งแรง เราอาจจะวางแผนในการทำกล่องชิ้นนี้ให้สำเร็จใน 3-5 วัน แต่ละวันให้เห็นความสำเร็จไปทีละขั้น กิจกรรมนี้ช่วงเวลาของการค่อยๆ ประดิษฐ์ จึงมีความสำคัญพอๆ กับการได้เล่นสนุกร่วมกัน
ความสนุกของเกมนี้คือช่วงเวลาของการเล่น ซึ่งการที่ลูกใจจดใจจ่อที่จะเล่นเกมนี้ เมื่อได้เล่นสนุกแล้ว พ่อแม่สามารถชวนคุยได้ว่า เห็นไหมว่ากว่าที่เราจะทำเกมเสร็จต้องอดทนและกำกับตนเอง (Self-directed) อย่างไร เพื่อให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจถึงชิ้นงานชิ้นโบว์แดงที่เขาทำ
ขวัญขยายเพิ่มเติมว่า แม้เกมที่จะทำนี้มีขายสำเร็จรูปหรือหาเล่นแบบออนไลน์ได้ง่ายๆ แต่การให้เด็กเริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลย เด็กต้องเป็นคนคิดออกแบบ สร้างมันขึ้นมา เขาจะได้ฝึกทักษะหลายๆ อย่าง เช่น การใช้มือ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ การสร้างความเชื่อมั่นว่า ‘ต่อให้ไม่มีอะไรตรงหน้า เขาก็สามารถสร้างมันขึ้นมาได้’ เด็กจะเกิดความรู้สึกที่ว่ามันไม่มีอะไรยากแล้วในความคิดของเขา ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ เขาสามารถสร้างของเล่นเองได้ ความกล้าที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นในตอนนี้
“การที่เด็กได้เล่นอะไรร่วมกันมันเป็นการจำลองการใช้ชีวิตในสังคม พี่น้องเล่นด้วยกันก็มีวิธีจัดการอารมณ์ตัวเองมาเกี่ยวข้อง การแพ้ชนะ ความรู้สึกตอนที่โกรธ วิธีจัดการกับมัน” แจ๋กล่าว
วัสดุ อุปกรณ์ ได้แก่ กล่องรองเท้า คัตเตอร์ กรรไกร ดินสอ สีโปสเตอร์ สีไม้ กระดาษแข็ง กระดาษวาดรูป กาว ตัวหนีบไม้ ก้านไม้ เทปกาว และลูกแก้วหรือลูกบอลจิ๋ว
ขั้นตอนการทำ
นำฝากล่องรองเท้าออก แล้วเจาะรูเป็นวงกลมขนาดเล็กตรงฝั่งด้านยาวของกล่องทั้งสองข้าง โดยจะเจาะกี่รูก็ได้ แต่ให้ระยะและจำนวนเท่ากันทั้งสองฝั่ง ตัดกล่องด้านหัวและท้ายเป็นรูปสี่เหลี่ยมเพื่อทำเป็นประตูฟุตบอล จากนั้นนำกระดาษแข็งมาตัดทำเป็นประตูฟุตบอล แล้วนำมาติดตรงกรอบสี่เหลี่ยมที่ตัดไว้ด้วยกาว ตัดกระดาษแข็งให้มีขนาดเท่ากับก้นกล่อง ตกแต่งให้เป็นเหมือนสนามฟุตบอล ขั้นตอนนี้เป็นการทำนักฟุตบอลในทีม ขวัญบอกว่า นักฟุตบอลจะเป็นใครก็ได้เป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือแม้แต่เจ้าหญิงก็ได้ แล้วแต่จินตนาการของเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ถามเด็กๆ ได้เลยว่าอยากได้นักฟุตบอลเป็นอย่างไร แล้ววาดลงกระดาษแข็ง ตัวละครหนึ่งวาด 2 แผ่น ด้านหน้าและด้านหลัง (เหมือนคนหันหน้าและหันหลัง) ระบายสี ตัดและนำมาติดที่ตัวหนีบ ส่วนจำนวนก็แล้วแต่ความพึงพอใจของแต่ละคน ด้วยขนาดกล่องที่นำมาทำครั้งนี้มีขนาดเล็ก ใช้ผู้เล่นทีมละ 3 คน แต่ถ้าใครใช้กล่องขนาดใหญ่อาจจะมีผู้เล่นมากกว่านี้ก็ได้ เตรียมไม้สำหรับสอดในรูที่เจาะไว้ ไม้ที่ใช้จะเป็นไม้อะไรก็ได้ เช่น กิ่งไม้ ไม้เสียบบาบีคิว ฯลฯ นำมาพันกับเทปสีเพื่อป้องกันเสี้ยนไม้ตำมือผู้เล่น เมื่อเตรียมอุปกรณ์ครบทุกอย่างก็ถึงขั้นตอนประกอบให้สมบูรณ์ เริ่มจากวางแผ่นสนามที่วาดไว้ในกล่องรองเท้า ตามด้วยสอดไม้เข้าไปในรู เสร็จแล้วก็นำนักฟุตบอลมาหนีบที่ไม้ โดยจะวางแต่ละทีมสลับแถวกัน เช่น ทีม A ไม้ที่หนึ่ง ทีม B ไม้ที่สอง ทีม A ไม้ที่สาม เป็นต้น
วิธีเล่น เหมือนกับการเล่นฟุตบอลแบบปกติ แค่เปลี่ยนจากใช้เท้าเตะ เป็นการใช้มือแทน โดยจะเตะฟุตบอลเข้าประตูของฝั่งตรงข้ามการขยับไม้
กิจกรรมที่ 4 ลังกระดาษแปลงกาย: เกมเขาวงกต
แนวคิดของเกมนี้คือ การนำวัสดุเหลือใช้ที่มีในบ้านมาทำเป็นของเล่น คุณพ่อคุณแม่ต้องชวนลูกสังเกตว่าที่บ้านเรามีของเหลือใช้อะไรบ้าง เช่น กล่องกระดาษ แก้วน้ำพลาสติก กระดาษสี เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่าวัสดุเหลือใช้สามารถนำกลับมาใช้ได้
เช่นเดียวกับเกมฟุตบอล เกมนี้ต้องอาศัยการวางแผนและการสร้างสรรค์ คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนคิดชวนคุยให้ลูกเป็นเจ้าของไอเดีย สร้างสรรค์ชิ้นงานร่วมกัน และช่วยทำให้งานสำเร็จ
การเล่นเกมนี้เด็กต้องใช้เซนส์เรื่องความสมดุล (Sense of balance) เพื่อเลี้ยงลูกบอลให้ไปถึงเส้นชัยให้ได้ ต้องกำกับอารมณ์ของตนเอง ไม่หงุดหงิด หากหงุดหงิด คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนคิดให้เขากำกับอารมณ์ตนเองได้แม้ว่าจะแพ้ และเป็นการฝึกให้เด็กใช้ร่างกายในการทรงตัวทั้งแขน ขา ทำให้เด็กได้ใช้ร่างกายมากกว่ากิจกรรมอื่นๆ
ขวัญบอกว่า กิมมิคของเกมนี้ไม่ใช่แค่การประดิษฐ์ แต่เด็กๆ จะเป็นคนคิดด่านอุปสรรคและกติกาเอง
“การที่ให้เด็กสามารถออกแบบกติกาเองได้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่อย่างเดียว เป็นการฝึกความมั่นใจให้กับเขา กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจกว้างพอ เปิดโอกาสให้ลูกมีสิทธิที่จะพูด เขียน ฟังสิ่งที่ลูกจะพูด รอคอย เริ่มต้นการสนทนาที่ดี
“เด็กบางคนแพ้ไม่เป็น ยืนยันว่าไม่ได้ เราต้องสอนให้เขาเคารพกติกาที่สร้างร่วมกัน แพ้ชนะเป็นเรื่องปกติ บอกเขาว่า ‘ตานี้หนูแพ้ตาหน้าอาจจะชนะ’ พ่อแม่ต้องคุยกันสอนลูกไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่คนหนึ่งตามกฎ แต่อีกคนตามใจลูก เพราะถ้าพ่อแม่ยอมตามใจลูกในครั้งที่หนึ่ง การสอนในครั้งที่สองครั้งที่สามนี่จะยากละ แต่ถ้าร่วมมือกันบอกว่า ‘ไม่เป็นไรนะลูก แพ้ก็ได้ ครั้งหน้าหนูอาจจะชนะก็ได้นะ’ สร้างความภูมิใจให้กับเขา ชีวิตจริงมันต้องเจออยู่แล้วมีแพ้ชนะเสมอ ถ้าอยู่ในบ้านแล้วแพ้ไม่เป็น การไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นนอกบ้านก็จะเป็นเรื่องยาก” ขวัญกล่าว
วัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ กล่องกระดาษลัง คัตเตอร์ ดินสอ สีอะคิลิค ลูกแก้ว กาว และกระดาษสี หรือวัสดุเหลือใช้อื่นๆ สำหรับนำมาทำอุปสรรคแล้วแต่การสร้างสรรค์ของแต่ละครอบครัว
ขั้นตอนการทำ
คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกสังเกตว่าที่บ้านเรามีของเหลือใช้อะไรบ้าง เช่น กล่องกระดาษ แก้วน้ำพลาสติก กระดาษสี เพื่อนำมาเป็นอุปกรณ์ ตัดกล่องลังให้มีก้นและด้านสี่ด้าน ความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร หรือแล้วแต่ความต้องการ ให้มีลักษณะคล้ายกระบะ นำแผ่นกระดาษลังที่ตัดออกมาเจาะรูเป็นวงกลม ขนาดและจำนวนตามที่ต้องการเพื่อเป็นอุปสรรคในเกม จากนั้นแปะทับด้วยกระดาษสีที่ตัดเป็นวงกลมลักษณะเดียวกับแผ่นกระดาษลัง นำเศษกระดาษลังที่เหลือจากการตัดมาทำเป็นด่านอุปสรรค ขั้นตอนนี้เด็กๆ จะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ออกไอเดียว่าอยากได้ด่านแบบไหนบ้าง แม่ยุ้ยก็ปล่อยให้มอนิ่งเป็นคนจัดการกับขั้นตอนนี้เอง เมื่อคิดได้แล้วว่าอยากได้ด่านแบบไหนบ้างก็ลงมือตัดเศษกระดาษลัง พร้อมทั้งตกแต่งระบายสีตามใจชอบ หรือผู้ปกครองที่นำไปทำสามารถใช้วัสดุอื่นเป็นอุปสรรคก็ได้เช่นกัน และนอกจากด่านที่เป็นอุปสรรคแล้ว ต้องมีโกล หรือเส้นชัย ในตัวอย่างนี้คือกระดาษลังที่ทำเป็นรูปบ้าน เตรียมอุปกรณ์เสร็จทั้งหมด ก็เข้าสู่ช่วงการประกอบเข้าด้วยกัน เริ่มจากวางแผ่นกระดาษลังที่เจาะเป็นวงกลมวางลงตรงก้นกล่อง ตามด้วยการนำด่านอุปสรรคที่เตรียมไว้มาติดกับแผ่นลังด้วยกาว เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
วิธีเล่น นำลูกแก้วมาใส่ในกล่องเขาวงกต ให้ผู้เล่นขยับกล่องพาลูกแก้วกลิ้งจากฝั่งหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้น ผ่านด่านต่างๆ ให้ไปถึงเส้นชัย
พอทำมาจุดนี้ทำให้สงสัยว่า ถ้าเด็กเกิดอาการเบื่อกลางคันขณะทำกิจกรรม ไม่ยอมทำต่อ พ่อแม่มีวิธีจัดการยังไง ขวัญตอบว่า ถ้าเด็กเบื่อก็ต้องพักต้องเบรก สมาธิของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการตั้งเป้าหมายร่วมกันตั้งแต่แรกว่าวันนี้จะทำอะไร เช่น วันนี้เราจะสร้างเกมนี้ให้เสร็จ หรือวันนี้เราจะเตรียมอุปกรณ์ให้ครบ แล้วค่อยทำพรุ่งนี้ เป็นต้น เป็นการฝึกความรับผิดชอบทั้งของพ่อแม่และตัวเด็กเองให้ทำตามเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้
“เบื่อก็ไปเบรกได้ แต่ไม่ใช่ว่าเราเบื่อแล้วไม่กลับมาทำอีก บอกลูกว่า ‘ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะเหนื่อยคนเดียวพ่อแม่จะเหนื่อยไปด้วยกัน’ อันนี้มันเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของพ่อแม่ลูก” ขวัญกล่าว
กิจกรรมที่ 5 หุ่นเงาโรงเล็ก
แนวคิดหรือเสน่ห์ของกิจกรรมนี้คือ การนำเรื่องเล่า นิทาน มาทำให้เป็นภาพ เมื่อใช้แสงไฟส่องไปที่เงาจะเกิดความมหัศจรรย์ เห็นความสร้างสรรค์ การทำกิจกรรมนี้สิ่งที่น่าใส่ใจคือ การให้เวลากับนิทาน ให้ลูกเข้าใจเรื่องราวของนิทาน เข้าใจตัวละคร เข้าใจแก่นเนื้อหาการเรียนรู้ของนิทานเรื่องนี้เป็นลำดับแรก
จากนั้น ขั้นตอนของการผลิตโรงละครและหุ่น พ่อแม่ก็ควรให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์และผลิตตัวละครตามจินตนาการของลูก วางแผนการทำอย่างเป็นระบบ ฝึกการวางแผน จินตนาการ กำกับตัวเอง จัดการอารมณ์ อดทนทำให้เสร็จเพราะใช้เวลาในการทำ พ่อแม่ให้เวลาในการทำได้มากกว่า 1 วัน
ในการทำหุ่นเงาพ่อแม่อาจชวนลูกให้เป็นคนเลือกใช้สี ใช้กรรไกร ทากาว นำมาฉายกับแสง หากไม่พอใจสามารถทำใหม่จนเป็นที่พอใจ ลูกจะได้เรียนรู้ถึงสุนทรียะของแสง สี รูปทรง โดยไม่ต้องคำนึงถึงความสมจริงและความสวยงาม แต่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้จินตนาการได้อย่างเต็มที่
เมื่อทำเสร็จแล้วจะวางแผนการเชิด ให้ลูกได้เป็นคนเล่าเอง เล่นเอง โดยพ่อแม่ไม่ปิดกั้นจินตนาการ พ่อแม่อาจจะเป็นเพียงผู้เล่าโครงเรื่อง แต่การพากย์ และบทสนทนาของตัวละครควรเปิดพื้นที่ให้ลูกเป็นคนเล่นเองเพื่อส่งเสริมจินตนาการ และเข้าใจในนิทานนั้นอย่างถ่องแท้มากขึ้น เด็กส่วนใหญ่จะจดจำเรื่องราวได้ และเล่นซ้ำ พ่อแม่ควรให้เวลาลูกได้เล่นซ้ำ เพราะนั่นเป็นช่วงเวลาที่กำลังหล่อหลอมให้เขาเข้าใจเรื่องราว พฤติกรรม เหตุและผลของตัวละครได้มากกว่าการฟังนิทานอย่างเดียว
นอกจากความสนุก ได้ใช้จินตนาการ เด็กๆ ยังได้เรียนรู้เรื่องแสง เช่น วัตถุตกกระทบแสงสะท้อนเป็นเงา หรือวัตถุถ้าอยู่ใกล้แสงเงาจะใหญ่ ถ้าอยู่ไกลเงาจะเล็ก เป็นต้น แล้วก็มีเรื่องของคณิตศาสตร์ เช่น การคำนวณระยะทาง
หากลูกๆ มีวินัย และชอบหุ่นเงาที่เล่นให้จบทั้งเรื่องได้ พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้เขาจัดแสดงให้ญาติๆ ได้ชม สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ควรให้เวลาในการฝึกซ้อม ให้ลูกเห็นว่าการจัดแสดงนั้นต้องมีการฝึกซ้อม ให้ลูกมีความพร้อมก่อนการจัดแสดงต่อหน้าผู้ชม
ดังนั้น สิ่งที่หุ่นเงาให้นอกจากวินัยและการทำหุ่นแล้ว ยังส่งเสริมเรื่องจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และการเป็นนักประดิษฐ์ที่มีระเบียบขั้นตอนให้ลูกด้วย ซึ่งสามารถนำทักษะเหล่านี้ไปใช้ได้ในทุกเรื่อง
“กิจกรรมหุ่นเงาเป็นกิจกรรมที่มีความมหัศจรรย์เพราะมันทำมาจากกระดาษแผ่นเล็กๆ แบนๆ เวลาที่เอามารวมกับแสงทำให้เกิดเป็นเงา เวลาเด็กเห็นเขาจะรู้สึกตื่นเต้น ไม่ว่ากระดาษจะเล็กแค่ไหนมาเจอกับแสงก็ใหญ่เต็มบ้านได้ อุปกรณ์การทำก็เรียบง่ายแต่สามารถทำให้สนุกได้ เหมือนเป็นความสนุกราคาถูกแต่ได้คุณค่าเยอะมาก” แจ๋ ในฐานะของคนทำละครหุ่นอธิบาย
“การสื่อสารด้วยละครเด็กจะจำภาพได้ดี ที่ต่างประเทศเลยสนับสนุนให้เด็กๆ ในทุกพื้นที่ได้ดูละครดีๆ ที่มีคุณภาพ เขามีงานวิจัยที่บอกว่าเด็กจะจำภาพละครได้ดีเป็นจิตใต้สำนึกได้มากกว่าสื่ออื่นๆ” แจ๋อธิบายเพิ่มเติม
วัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ กล่องกระดาษลัง คัตเตอร์ กระดาษสีขาวสำหรับเป็นจอฉาย (เป็นกระดาษชนิดใดก็ได้ที่แสงผ่านได้) กระดาษแข็ง กระดาษแก้ว ดินสอ สี กาว ไม้ และไฟฉาย
ขั้นตอนการทำ
ร่วมกันเลือกนิทาน หรือเรื่องเล่าที่จะนำมาทำละครหุ่นเงา อาจเป็นนิทานที่เคยอ่านมาแล้ว หรือเป็นเรื่องใหม่ก็ได้ หากเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเล่าหรืออ่านมาก่อน ให้คุณพ่อคุณแม่ให้เวลากับนิทาน เล่า เพื่อให้ลูกเข้าใจเรื่องราวของนิทาน เข้าใจตัวละคร เข้าใจแก่นเนื้อหาการเรียนรู้ของนิทาน ขั้นตอนการทำโรงละคร เริ่มจากตัดก้นกล่องลังให้เป็นกรอบสี่เหลี่ยม คล้ายเป็นทีวี ส่วนด้านฝากล่องให้เปิดออกให้หมด จากนั้นตัดกระดาษสีขาวที่เตรียมไว้ให้เป็นแผ่นสี่เหลี่ยม ขนาดขึ้นอยู่กับกรอบตรงกระดาษลังที่ตัดไว้ พอตัดเสร็จก็นำมาติดกาวแปะเข้ากับกรอบลัง กลายเป็นจอของโรงละครหุ่นเงา พอเตรียมโรงละครเสร็จ ต่อไปก็เป็นการเตรียมตัวละครหุ่นเงา ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจถามลูกว่าจากนิทานเรื่องที่เลือกนั้น อยากให้มีตัวละครอะไรบ้าง แล้วจึงวาดใส่กระดาษแข็ง เมื่อวาดเสร็จก็ตัดออกมาแล้วฉลุให้เกิดเป็นรูปร่าง เช่น เจาะตา ปาก เพื่อที่เวลาฉายไฟฉายจะเกิดเงาที่มองออกว่าเป็นตัวอะไร จากนั้นนำกระดาษแก้วมาปิดทับทากาว แล้วนำตัวละครไปติดกับก้านไม้สำหรับจับเชิดหุ่นในขณะเล่าเรื่อง
วิธีเล่น รวมตัวคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครอง กับเด็กๆ ที่หลังฉาก ให้เด็กๆ เป็นคนเล่านิทาน เชิดหุ่นเล่นเอง พากย์ และพูดบทสนทนาของตัวละครเอง โดยคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้เล่าโครงเรื่อง และช่วยฉายไฟ ขณะเชิดตัวละครให้ฉายไฟฉายไปที่ตัวละคร เด็กๆ สามารถเชิดหุ่นให้แสดงอาการ บทสนทนา และท่าทางได้ตามลักษณะของตัวละคร ช่วงนี้จะเห็นสีของกระดาษแก้วทำงานกับแสงได้เป็นเงาสีต่างๆ ขนาดใหญ่เล็กที่มหัศจรรย์ จึงมีคำเตือนคือ เด็กๆ อาจออกมาจากหลังฉากในฐานะผู้เล่ามาเป็นผู้ชม เพื่อชมความมหัศจรรย์ของเงา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจต้องแสตนบายเป็นผู้เล่าด้วยนะคะ
กิจกรรมที่ 6 นิทานสี่มิติ
แรงบันดาลใจกิจกรรมนี้ ขวัญเล่าว่า มาจากการเล่านิทานของพ่อแม่ให้เด็กฟัง นำนิทานพวกนั่นที่มีแค่ตัวอักษรมาทำให้กลายเป็นจริง ซึ่งกิจกรรมนี้จะใช้ศิลปะหลายแบบ เช่น การพับ วาดรูป ส่วนเนื้อเรื่องแล้วแต่ความชอบของเด็กๆ เลยว่าอยากนำเอานิทานเรื่องโปรดมาทำ หรือแต่งใหม่ให้เป็นนิทานของตัวเองก็ได้
แนวคิดของกิจกรรมนี้คือ การเล่านิทานเป็นช่วงเวลาของการส่งเสริมความเข้าใจในชีวิต เช่น คุณธรรม จริยธรรม และพฤติกรรมของตัวละครผ่านนิทาน พ่อแม่ควรคัดสรรนิทานเข้าบ้านที่จะส่งเสริมให้ลูกได้เข้าใจเรื่องราว บริบท พัฒนาการของตัวละคร เช่น บางเรื่องสอนเรื่องความรับผิดชอบ ความกตัญญู การเคารพต่อสิ่งแวดล้อม หรือพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การรักษาความสะอาด เป็นต้น คุณพ่อคุณแม่ควรคัดสรรเรื่องที่มีคุณค่าในการเรียนรู้ให้ลูก
ในการเล่านิทาน การเล่าที่ดีคือเล่าจากความเข้าใจของพ่อแม่ ไม่เร่งรีบ ช้าๆ ใช้ห้วงเวลานี้อยู่กับลูกให้เต็มที่ อาจเป็นช่วงเวลาเช้าหรือก่อนนอน กำหนดให้เป็นจังหวะเวลา (Rhythm) ที่สม่ำเสมอ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับลูกคือลูกจะมีจินตนาการมาก การเล่าเรื่องของเราจะไปปรากฎในจินตนาการของลูก ทุกคำที่เราคัดสรรจะไปสร้างภาพจินตนาการในหัวของลูก พ่อแม่ควรสังเกตว่าลูกชื่นชอบเรื่องไหน ให้เขาเลือกเรื่องที่อยากทำเป็นนิทาน 4 มิติ เพื่อให้ลูกทำซ้ำ
กระบวนการทำซ้ำผ่านกระบวนการทางศิลปะเป็นเหมือนการบันทึกประสบการณ์ผ่านจินตนาการให้เข้าไปอยู่ในความทรงจำของลูกอีกครั้ง จึงให้ความสำคัญกับเรื่องที่เขาอยากนำมาทำซ้ำ พ่อแม่อาจใช้เวลาในการถามว่าฉากสำคัญของนิทานนี้มีอะไรบ้าง หากลูกเลือก 4 ฉากสำคัญลูกจะเลือกฉากไหนบ้าง เช่น ตัวละครมาพบปะกัน เจอสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน การแก้ปัญหาของตัวละคร และฉากจบ เป็นต้น
ลูกจะเริ่มต้นที่ทำตัวละคร แยกแยะตัวละครในแต่ละฉาก ให้ลูกวางแผนในการทำนิทาน และรับผิดชอบทำให้ทั้ง 4 ฉากสำคัญปรากฏขึ้นมาจากมือของลูก เหมือนว่าเขาทำให้หนังสือนิทานมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งได้จากการทำนิทาน 4 มิตินี้
พ่อแม่ไม่ควรปิดกั้นจินตนาการในการใช้สี หรือความสมจริง เราอยากให้ลูกเป็นเจ้าของชิ้นงาน เมื่อทำนิทานสี่มิติเสร็จ เราจะให้ลูกร่วมเป็นคนเล่าผ่านฉากที่เขาเป็นคนเลือกเองและจดจำได้ จากปกติที่พ่อแม่เป็นคนเล่า
นอกจากการเลือกนิทานมาทำนิทาน 4 มิติ จะเป็นนิทานที่เขาชอบและประทับใจ ลูกยังสามารถแต่งนิทานขึ้นมาใหม่ได้ โดยให้เขาสร้างสรรค์ตัวละครขึ้นมา สร้างเรื่องราวให้ตัวละครเดินทางผ่านฉากและสถานการณ์ต่างๆ ผ่านปัญหา การแก้ปัญหา ทำให้ตัวละครเรียนรู้ได้ นิทานในลักษณะนี้เป็นมากกว่านิทานที่พ่อแม่ถ่ายทอดให้ลูกอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างลักษณะนิสัยในการสร้างชิ้นงาน กำกับตนเอง อดทน และสร้างทักษะการคิด จินตนาการให้กับลูก ทั้งหมดนี้จะเป็นทักษะที่หาได้ยากจากการอยู่กับโทรศัพท์มือถือ เพราะการทำกิจกรรมลักษณะนี้เป็นการฝึกเป็นนักสร้างสรรค์ เรียนรู้ความดีความงามผ่านนิทาน ซึ่งต้องแลกมากับการใช้เวลาและความสัมพันธ์ที่มีร่วมกันของครอบครัว
“ถ้าแต่งนิทานเอง เริ่มจากทำบัตรคำ โดยบัตรคำประเภทแรกจะเป็นตัวละครของนิทานเรื่องนี้ว่าจะมีใครบ้าง บัตรคำประเภทที่สองคือสถานที่ในนิทาน มีที่ไหนบ้าง เช่น สวนสนุก ป่า ทะเล เป็นต้น บัตรคำประเภทที่สามเป็นเรื่องของเสียง ตัวละครแต่ละตัวจะมีเสียงไม่เหมือนกัน เช่น เสียงร้องของแมว ก็ต้องมานั่งคิดว่าเวลาเล่าแต่ละตัวละครต้องใช้เสียงแบบไหน และบัตรคำประเภทที่สี่คือการกระทำของตัวละคร เช่น กำลังวิ่งไล่จับกันอยู่ หรือตัวละครนี้สามารถหายตัวได้ พอเขียนบัตรคำเสร็จก็มาเรียงกันช่วยกันแต่งเรื่อง
“ตัวละครเป็นบทบาทสมมติทำอะไรก็ได้ที่คนจริงๆ ทำไม่ได้ เหาะเหินเดินบนอากาศ ปล่อยพลัง ตัวยืดยาว เสริมจินตนาการ ช่วงที่เด็กเขาเล็กๆ การได้คิดนอกกรอบมันจะดี โตขึ้นไปเขาจะไม่ยืดถือ เขาจะรู้ว่ามันมีซ้ายมีขวา สามารถยืดหยุ่นได้
“บางคนกลัวว่าทำออกมาแล้วมันจะไม่สวย ไม่เพอร์เฟค เด็กๆ เขาไม่ได้มีความคิดพวกนี้ แต่เป็นพ่อแม่ที่กำลังใส่ความคิดพวกนี้ไปให้ลูก ขณะทำสามารถสอนความกล้า ให้ลูกกล้าจับ กล้าตัด กล้าเลอะ ชื่นชมซึ่งกันและกันตรงนี้ที่สำคัญ” ขวัญอธิบายเพิ่มเติม
วัสดุอุปกรณ์ กระดาษวาดภาพหรือกระดาษร้อยปอนด์ คัตเตอร์ ดินสอ สีชนิดใดก็ได้ และกาว
ขั้นตอนการทำ
กรณีทำนิทานสี่มิติจากนิทานที่ลูกเคยอ่านแล้ว ให้ลูกเลือกเรื่องที่อยากทำเป็นนิทาน 4 มิติ คุณพ่อคุณแม่ตั้งคำถามว่าฉากสำคัญของนิทานนี้มีอะไรบ้าง ให้ลูกเลือก 4 ฉากสำคัญในเรื่อง เช่น ตัวละครมาพบปะกัน เจอสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน การแก้ปัญหาของตัวละคร และฉากจบ เป็นต้น ทำฉาก โดยตัดกระดาษเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส พับกระดาษให้ตั้งฉาก ซึ่งจะพับกระดาษกี่ชิ้นก็ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อเรื่องว่ามีกี่ฉาก ซึ่งในครั้งนี้ทำ 4 ฉาก เป็นนิทาน 4 มิติ พอได้กระดาษครบตามที่ต้องการก็นำมาติดกันเป็นวงกลม จากนั้นก็ตกแต่งฉากตามเนื้อเรื่องที่วางไว้ แยกแยะตัวละครในแต่ละฉาก และทำตัวละครของแต่ละฉากโดยวาดตัวละครลงในกระดาษวาดภาพหรือกระดาษร้อยปอนด์ ระบายสีด้วยสีอะไรก็ได้ ในครั้งนี้เราใช้สีไม้ ตัดออกมาแล้วนำไปติดไว้ที่แต่ละฉากในลักษณะป๊อบอัปดังภาพประกอบ เป็นอันเสร็จ หากแต่งนิทานเอง ให้เริ่มจากทำบัตรคำ โดยบัตรคำประเภทแรกจะเป็นตัวละครของนิทาน ให้ถามลูกว่าตัวละครเรื่องนี้อยากให้มีใครบ้าง บัตรคำประเภทที่สองคือสถานที่ อาจถามว่าสถานที่ในนิทาน อยากให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหนบ้าง เช่น สวนสนุก ป่า ทะเล เป็นต้น บัตรคำประเภทที่สามเป็นเรื่องของเสียง ตัวละครแต่ละตัวจะมีเสียงไม่เหมือนกัน เช่น เสียงร้องของแมว ต้องคิดว่าเวลาเล่าแต่ละตัวละครต้องใช้เสียงแบบไหน และบัตรคำประเภทที่สี่คือการกระทำของตัวละครทำอะไรบ้าง เช่น กำลังวิ่งไล่จับกันอยู่ หรือตัวละครนี้สามารถหายตัวได้ พอเขียนบัตรคำเสร็จก็นำมาเรียงกันช่วยกันแต่งเรื่อง และทำขั้นตอนของการทำฉากและสร้างตัวละครดังขั้นตอนที่ 3-4 ได้เลย
วิธีเล่น คุณพ่อคุณแม่เล่านิทานโดยหมุนและเล่าไปทีละฉากจนจบเรื่อง เด็กๆ จะได้เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวอักษรแบนๆ แต่มีตัวละครจริงๆ ให้เด็กเห็นได้ ซึ่งสามารถเล่าซ้ำได้หลายครั้งตามต้องการ
กิจกรรมที่ 7 ร้องเพลง
หลังทำกิจกรรมมาตั้งแต่เช้า แม่ยุ้ยและมอนิ่งเริ่มหมดแรง แจ๋และขวัญเป็นผู้ชวนทำกิจกรรมสุดท้าย เป็นกิจกรรมง่ายๆ ไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรมาก คือ การร้องเพลง พวกเธอให้พ่อก็อตหยิบกีตาร์แล้วมานั่งตั้งวงร้องเพลงด้วยกัน โดยมีแม่ยุ้ยและมอนิ่งเป็นนักร้อง ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องร้องเพลงเพราะหรือต้องเล่นดนตรีเป็น แค่มานั่งใช้เวลาร่วมกันก็เพียงพอแล้ว เป็นการจบวันที่สวยงาม
แนวคิดของกิจกรรมนี้ คือ นอกจากการสร้างสรรค์กิจกรรมขึ้นมาใหม่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ที่เล่นดนตรีเป็นอาจนำเครื่องดนตรีมาเล่น ร้องเพลง เพื่อให้เกิดความบันเทิง อาจจะร้องให้ลูกฟังก่อน เหมือนการเล่านิทานที่พ่อแม่ร้องให้ลูกฟังก่อน ทั้งนี้การใช้คำ การเรียบเรียงภาษา อาจเลือกเพลงที่ไม่ยากเกินไป และความหมายของภาษา เข้ากับช่วงวัยของลูก
คำแนะนำสำหรับการทำกิจกรรมทุกกิจกรรม คือ ให้ลูกเล่นของเล่นที่ทำขึ้นแบบรักษาของ ทะนุถนอม ไม่ทำให้ของพังง่าย และแบ่งเวลาเล่น รวมถึงเล่นแล้วหาที่เก็บให้เรียบร้อย
เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่คงรู้สึกว่าทำไมกิจกรรมมันเยอะจัง? ฉันต้องทำทั้งหมดนี้เลยเหรอ? แค่อยู่กับลูกก็พอได้ไหม? ข้อเสนอจากเรา (จากการที่ได้สังเกตน้องมอนิ่ง ได้พูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ และวิทยากรทั้งสองคนแล้ว ได้คำตอบว่าพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องทำทุกกิจกรรม สามารถเลือกเฉพาะกิจกรรมที่ลูกสนใจ หรือจะไม่ทำกิจกรรมข้างบนที่ว่ามาเลยก็ได้ ไปทำอย่างอื่นแทนก็ได้ โดยการสังเกตว่าลูกชอบทำอะไรแล้วนำมาสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมได้ เพราะเป้าหมายที่แท้จริง คือ การที่ครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน ที่ผ่านมาพวกเราต่างต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ มีเรื่องให้กังวลเรื่องปากท้อง ตอนนี้เป็นโอกาสที่ได้พักอยู่บ้าน แม้จะเพราะสถานการณ์โรคระบาด หากมองในด้านดี มันคือช่วงเวลาที่ครอบครัวจะได้ใช้อยู่ด้วยกัน ทำความรู้จัก กระชับความสัมพันธ์ พร้อมฟันฝ่าอุปสรรคที่มีไปด้วยกัน ถือเป็นการกลับมาชาร์จแบตชีวิต แล้วค่อยกลับไปสู้ต่อ
ขอขอบคุณ แม่ยุ้ย พ่อก็อต และน้องมอนิ่ง ที่อาสามาทำกิจกรรมกับเรา และเอื้อเฟื้อสถานที่ที่ Little Splash Kid & café จ.นครปฐม ด้วยนะคะ