Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: December 2019

เส้นด้ายฝ้ายขาวกับต้นงิ้ว จากห้องวิทย์เด็กๆ มัธยม ส่งให้ปู่ย่าทอต่อในชุมชน
Character buildingCreative learning
4 December 2019

เส้นด้ายฝ้ายขาวกับต้นงิ้ว จากห้องวิทย์เด็กๆ มัธยม ส่งให้ปู่ย่าทอต่อในชุมชน

เรื่อง กิติคุณ คัมภิรานนท์

  • เพราะไม่ได้มองว่าโครงงานวิทย์เป็นแค่กิจกรรมแลกเกรด แต่คือความท้าทายที่จะพัฒนาเส้นใยจากต้นงิ้วแดงที่เห็นดาษดื่นในชุมชนให้เป็นสินค้าขายและใช้งานได้จริง 
  • นักเรียนชั้น ม.4 และ ม.6 จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย จึงค้นคว้า ระดมสมอง ทดลอง (ซ้ำแล้วซ้ำอีก) ที่จะผสมฝ้ายขาวและใยจากต้นงิ้วแดงซึ่งสองอย่างนี้ยังไม่เคยมีใครผสมสำเร็จมาก่อนให้กลายเป็นเส้นใยที่แข็งแรง เหนียว แต่ยังคงความนุ่ม และนำไปใช้งานได้จริง 
  • แม้จะบอกว่านี่คือโครงงานนักเรียนชั้นมัธยมปลาย แต่การทดลองขยายจากห้องแล็บในโรงเรียนสู่ชุมชนข้างนอก เพราะเรื่องนี้ต้องให้ปู่ย่าตายายที่ทอผ้าเป็นจริงๆ ช่วยกันคิดแก้ไขและร่วมทดลอง
ภาพ: โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่

การสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตในท้องถิ่นถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งน้องๆ ทีมโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย ก็ได้ยกระดับแนวคิดของพวกเขาไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่แทบไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างฝักของต้นงิ้วแดง โดยนำมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นเส้นด้ายใยผสมเพื่อเป็นวัตถุดิบให้กับผ้าทอ และนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อย่างน่าสนใจ

ใยใหม่ในหลอดเก่า

ด้ายงิ้วแดง มีจุดกำเนิดมาจากการที่ทีมต้องคิดทำวิชาโครงงาน โดยค้นหาหัวข้อจากปัญหาที่ชุมชนประสบอยู่ เดิมทีนั้นทีมเลือกหัวข้ออื่น แต่หลังจากทดลองทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ อาจารย์ที่ปรึกษาจึงชี้เป้าไปที่เรื่องเส้นใยจากวัตถุดิบทางธรรมชาติที่ชุมชนมี เมื่อนั้นเองทีมก็เกิดไอเดีย

“แถวบ้านมีเส้นใยเยอะ ครูบอกให้ลองไปหาว่าจะเอามาทำอะไรได้ไหม ตอนแรกเราจะใช้หญ้าแห้วหมู แต่กระบวนการนำเส้นใยออกมามันยาก จึงไปหาอะไรที่เป็นเส้นใยเลย จนไปเจอว่าแถวบ้านมีงิ้วแดงเยอะ ยังไม่มีใครเอามาทำ เราเลยลองเอามาทำ” เนย-จินตนารี สุบานงาม เล่าถึงที่มาของโครงงาน

ทีมศึกษาแนวทางจากโครงงานของรุ่นพี่ที่เคยทำเส้นด้ายใยผสมจากแกนข้าวโพด จนเกิดแนวทางที่จะสร้างเส้นใยใหม่จากโครงร่างเดิมของรุ่นพี่ ด้วยการทำด้ายใยผสมระหว่างฝ้ายขาวกับงิ้วแดง ด้วยมุ่งหมายให้เป็นวัตถุดิบสำหรับชุมชนนำไปต่อยอดสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าทอและอื่นๆ เป็นการสร้างอาชีพโดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ใดๆ อยู่แล้วด้วย

แต่ทีมหารู้ไม่ว่า ที่ไม่มีใครเอางิ้วแดงมาทำเป็นเส้นใยนั้น ก็เพราะว่ามันทำยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมคิดที่จะทำด้ายใยผสม ซึ่งต้องหาอัตราส่วนที่พอเหมาะระหว่างฝ้ายขาวและงิ้วแดง

เนยเล่าต่อว่า “พ่อบอกว่าต้นงิ้วมีกระเปาะที่มีตัวเส้นใยเหมือนฝ้าย แต่เอามาทำเส้นด้ายไม่ได้หรอก ส่วนใหญ่เขาเอาไว้ยัดหมอน แต่หนูคิดว่ามันน่าจะทำได้นะ เลยไปหายายคนหนึ่งในหมู่บ้านที่เขาปั่นฝ้าย ให้ยายช่วยลองปั่นให้หน่อย ตอนแรกไม่เวิร์ค ยายบอกว่ามันยาก ปั่นออกมาก็ขาด วุ่นวาย ยายเลยบอกไม่ต้องทำหรอก (หัวเราะ)”

ด้ายใยผสมงิ้วแดงคงกลายเป็นหมันไปแล้ว หากทีมเชื่อที่พ่อของเนยและยายบอก ทว่าทีมกลับนำคำพูดนั้นมาเป็นเชื้อไฟสร้างแรงบันดาลใจในแง่ หากไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนแต่ทีมทำได้ มันย่อมหมายถึงการค้นพบสิ่งใหม่ที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนไม่มากก็น้อย

“หนูคิดว่าวิทยาศาสตร์ทำได้ทุกอย่าง ทุกปัญหามันมีทางแก้เสมอ และมันสามารถโยงเข้าวิทยาศาสตร์และปรัชญาได้หมด วิธีแก้ว่าทำไมมันไม่ผสมกัน มันก็อยู่ที่อัตราส่วน ลองผสมในอัตราส่วนใหม่ก็แก้ปัญหานั้นได้แล้ว” สไปร์ท-ชุติมา ราชคมน์ กล่าวอย่างมั่นใจ

ทีมจึงถอยหลังกลับมาทดลองปรับวิธีการและส่วนผสม ด้วยการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“ต้องศึกษาเพิ่มเติมเพราะมันเป็นเส้นด้ายใยผสม ซึ่งคุณสมบัติการเกาะตัวกันมันอ่อนมาก พวกหนูต้องไปศึกษาว่าต้องผสมในอัตราส่วนแค่ไหนขึ้นไปจึงจะผสมกันได้ จนได้สูตรฝ้ายต่องิ้วแดงที่ 7:3” สไปร์ทแจกแจงการค้นพบของทีมด้วยรอยยิ้ม

พิสูจน์ความเจ๋งด้วยกระบวนวิทย์

แม้จะปรับอัตราส่วนผสมระหว่างฝ้ายขาวและงิ้วแดงได้แล้ว แต่ทีมก็ต้องการการรับรองคุณสมบัติที่เป็นวิทยาศาสตร์ของด้ายใยผสมผลงานของตัวเอง ส่วนหนึ่งก็เพื่อขยายผลสู่การสร้างอาชีพในชุมชนได้อย่างสนิทใจ และอีกส่วนคือการพิสูจน์ความเจ๋งของผลงานผ่านการประกวด

“ความโดดเด่นของเส้นใยงิ้วแดงคือความนุ่ม แต่ถ้านุ่มมากความแข็งแรงจะน้อย เราเลยต้องวัดความแข็งแรงว่าจะทนแรงกระทำเพื่อผลิตเป็นผ้าได้ไหม รวมไปถึงการติดสี และการเก็บอุณหภูมิของเส้นใย เพราะถ้าเส้นใยเก็บอุณหภูมิดีจะทำให้มันอุ่น นอกจากทำเสื้อก็สามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้ เช่น ฉนวนความร้อน หรือแก้วเก็บความร้อน เป็นต้น” สไปร์ทกล่าวถึงกระบวนคิดทางวิทยาศาสต์และการต่อยอดผลงานของทีม

หลังจากปั่นเป็นด้ายใยผสมออกมาได้แล้ว ทีมได้ทำการทดสอบคุณสมบัติของด้ายงิ้วแดงใน 4 ประเด็น ได้แก่ ความนุ่ม ความแข็งแรง การเก็บอุณหภูมิของเส้นด้าย และการย้อมติดสี ซึ่งน่าสนใจที่การทดสอบบางประเด็นนั้น ทีมก็ใช้วิธีการง่ายๆ ทุนน้อย แต่ได้ผลเช่นเดียวกัน

“ตอนนั้นคิดถึงเครื่องทดสอบใหญ่ๆ เช่น เครื่องวัดแรงตึง แต่มันหายากและมีราคาสูง ครูเลยบอกว่าอย่าไปคิดเยอะ ให้ทำการทดลองแบบง่ายๆ ที่วัดได้เหมือนกัน เลยนึกถึงแล็บอนุบาลที่เป็นเครื่องชั่งสปริง คือทำให้เส้นใยขาดโดยการชั่งน้ำหนัก แต่เครื่องชั่งสปริงมันจะดีดกลับถ้าแรงสองฝั่งไม่เท่ากัน เลยลองเครื่องชั่งลูกตุ้ม ทำให้ได้ค่าใกล้เคียง” สไปร์ทยกตัวอย่างการแก้ปัญหาของทีม

การทดสอบคุณสมบัติทำให้ผลงานของทีมมีความน่าเชื่อถือ จึงไม่แปลกที่ด้ายงิ้วแดงจะได้รับคัดเลือกไปแข่งโครงการแลกเปลี่ยนที่ประเทศสิงคโปร์จนได้เหรียญทองแดงกลับมา รวมไปถึงการเข้าแข่งขัน YSC (การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์) และต่อยอดมาสู่โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 6 

“ตอนนั้นมันยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่ เราจึงอยากทำต่อไปเรื่อยๆ ให้มันพัฒนาได้มากกว่านี้” เนยบอกถึงเหตุผลที่ทีมสมัครเข้าโครงการต่อกล้าฯ

ซึ่งทุกคนต่างก็สมหวัง เพราะได้รับการกระตุ้นจากทีมโค้ชให้พัฒนาผลงานให้ดีที่สุด

“สิ่งที่เราต้องทำเพิ่มในโครงการต่อกล้าฯ คือ ทำให้เส้นใยผสมกันให้ดีมากกว่าเดิม ไม่ขาดง่าย เพิ่มความแข็งแรงให้มากที่สุด เราจึงเน้นเรื่องการหาวิธีผสมเส้นใยใหม่ เพราะวิธีผสมฝ้ายกับงิ้วแดงแบบพื้นบ้านนั้นผสมได้ไม่ดีพอ ก็ได้ช่วยกันประดิษฐ์เครื่องผสมขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ” สไปร์ทเล่าถึงงานที่เพิ่มขึ้นของทีม

และมากกว่านั้นก็คือ การนำเอาเส้นใยที่ผสมได้นั้นไปทดลองทอเป็นผ้าจริงๆ

การไม่ยอมแพ้จะช่วยแก้ทุกปัญหา!

แน่นอนว่าการนำเส้นใยไปทอเป็นผ้าจริงนั้น ในทีมไม่มีใครทำเป็น ทีมจึงต้องเดินออกจากห้องทดลองไปลงชุมชนจริง ที่กลุ่มทอผ้าบ้านฮวก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา บ้านเกิดของเนย เพื่อให้กลุ่มช่วยสอนวิธีการทอผ้าให้ รวมถึงให้กลุ่มได้ทดลองใช้ด้ายงิ้วแดงไปในตัว

“กลุ่มเป้าหมายเราคือกลุ่มผู้ทอผ้า และพี่โค้ชก็อยากเห็นว่ามันเอาไปใช้ได้จริงๆ เราเลยต้องไปฝึกทอกี่ใหญ่ ก็เจอปัญหาว่าต้องใช้ด้ายเยอะมาก ซึ่งเราทำวัตถุดิบไม่ทัน เลยปรับเป็นทอกี่เอวแทนเพราะใช้ด้ายน้อยกว่า ไปฝึกทอกับกลุ่มคุณยายในชุมชน ไปทดลองไม่กี่คน เขาก็บอกว่ามันนุ่มนะ พอซักแล้วยิ่งนุ่มกว่าเดิม” เนยเล่าด้วยรอยยิ้ม 

“ตอนนี้ผลสำเร็จคือ ทำด้ายออกมาได้ รู้แนวทางการนำด้ายไปใช้ คือสามารถเอาไปทอได้ ใช้การทอแบบกี่เอวได้ ครูที่โรงเรียนก็มีหลายคนที่ใช้ผ้าพวกนี้เยอะมาก เขามาดูก็บอกว่าคุณสมบัติโอเค เขาชอบเนื้อสัมผัส แต่อยากให้ใช้สีที่เป็นธรรมชาติมากกว่านี้ เล่นสีไทยๆ และครูหลายๆ คนก็ชอบ มาขอซื้อ บอกว่าจะเอาไปใส่กับผ้าซิ่น” สไปร์ทเสริมถึงผลตอบรับอย่างมีความสุข

ซึ่งแน่นอนว่ากว่าที่ผลงานจะพัฒนามาถึงขั้นนี้ได้ พวกเขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ต้องทดลองไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ และบางครั้งก็ต้องเสียน้ำตาไปหลายหยด

“ช่วงที่ต้องไปนำเสนอผลงานที่งาน NECTEC-ACE (งานประชุมวิชาการและนิทรรศการ) หนูแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน ต้องไปแข่งงานอื่นที่บาหลี แล้วกลับมากรุงเทพฯ ตีกลับมาเชียงรายเปลี่ยนกระเป๋าเพื่อไปกรุงเทพฯ ต่อ ตอนนั้นยังทำงานไม่เสร็จ พอเสร็จงานก็ไม่ได้นอนเพราะวันรุ่งขึ้นมีสอบไฟนอล ไม่ได้อ่านหนังสือสักตัว ตอนนั้นเครียดจนน้ำตาไหล” สไปร์ทเล่าย้อนถึงสิ่งที่ผ่านมา

ก่อนที่เนยจะเล่าถึงในช่วงเวลาเดียวกันนั้นในส่วนของตัวเองว่า “ตอนนั้นต้องเอางานไปโชว์ หนูเริ่มเครียดต้องวางแผนว่าแต่ละอาทิตย์ต้องทำอะไรบ้าง ต้องไปติดต่อยายในชุมชน แต่หนูกลับบ้านแค่เสาร์อาทิตย์ คนที่รับภาระแทนทั้งหมดคือแม่ รู้สึกผิดที่ต้องโยนให้แม่ช่วยทำ (น้ำตาซึม) ตอนทอตัวเสื้อ พี่โค้ชบอกให้เอาตัวตั้ง (เส้นยืน) เป็นด้ายของเรา แต่ยายบอกว่าทำไม่ได้แต่ให้ใช้ด้ายจากโรงงานเพราะมันแข็งแรงกว่า แม่ต้องหาวิธีให้มันตั้งเป็นเส้นยืนให้ได้ อาทิตย์ก่อนนั้นต้องย้อมสี แต่ทำแล้วพัง สีเพี้ยน ฝ้ายก็หมด แม่ต้องขับรถไปลาวเพื่อซื้อฝ้ายมาให้ใหม่ แล้วขับรถมาที่โรงเรียนกับยาย นั่งเย็บเสื้อให้จนเสร็จ ตอนนั้นหนูนั่งร้องไห้คนเดียวอยู่ที่บาหลี โทรไปบอกแม่ว่าหนูขอโทษ รู้สึกว่าทำให้แม่ลำบากทั้งๆ ที่มันเป็นงานของหนู แต่ก็ผ่านมาได้… (ยิ้มทั้งน้ำตา)”

นั่นคือส่วนหนึ่งในการฟันฝ่าอุปสรรคของทีม ที่นอกจากจะมีแรงสนับสนุนจากภายนอก ทั้งครูอาจารย์ ผู้ปกครอง และกลุ่มผู้ใช้แล้ว ทีมเวิร์คภายในทีมก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ 

“เป็นประสบการณ์ดีๆ ที่ได้เรียนรู้เมื่ออยู่กับเพื่อน ได้เรียนรู้นิสัยกัน ได้มาทำงานหนักด้วยกัน เผชิญอุปสรรคต่างๆ ด้วยกัน ดีใจที่เราไม่ได้ตัวคนเดียว มีเพื่อนที่ประคับประคองกันไปให้ผ่านพ้น สู้ต่อไปให้สำเร็จ ได้มีผลงานให้เราได้เห็นได้ภูมิใจ ซึ่งตอนนี้ก็ภูมิใจมากแล้ว” ฝน-ศุภวรรณ การงาน กล่าว

และเหนืออื่นใดทั้งหมด สิ่งที่พวกเขามีอยู่เต็มเปี่ยมก็คือ ความไม่ยอมแพ้! และเชื่อมั่นว่าวิทยาศาสตร์จะหาทางออกให้กับทุกปัญหาหากเราพยายามมากพอ ความมุ่งมั่นนี้คือสิ่งที่ช่วยฝ่าทางตันของคำว่า ทำไม่ได้ ผลักดันให้ทีมสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพให้ชุมชนได้จริงต่อไปในอนาคต

“มันต้องอดทนไม่ว่าจะหนักหนาแค่ไหน เชื่อว่าทุกอย่างมีทางออกของมัน ถ้าชีวิตมันง่ายมันก็ไม่ใช่ชีวิต” เนยกล่าว

“มันเป็นประสบการณ์ว่าเราผ่านมาได้ วันข้างหน้าก็ต้องผ่านไปได้ การทำโครงงานมันไม่มีใครแพ้ อยู่ที่ตัวเรา ถ้าเรายอมแปลว่าเราแพ้ แต่ถ้าเราทำ แม้ไม่ได้เสร็จวันนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราแพ้” สไปร์ทสำทับ

ถึงวันนี้ด้ายงิ้วแดงได้ถูกพัฒนาจากจุดเริ่มต้นมาไกลโข แต่แน่นอนว่ามันยังไม่ใช่สุดท้ายปลายทาง ทุกคนในทีมต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำเพื่อผลักดันผลงานชิ้นนี้ไปให้ไกลกว่าเดิม

“นี่คือนวัตกรรม ความจริงนวัตกรรมไม่ต้องเอาเทคโนโลยีมาเกี่ยว แต่ทำแล้วสามารถนำมาทดแทนหรือแก้ปัญหาบางอย่างในสังคมได้ สำหรับด้ายงิ้วแดงหนูรู้สึกว่ามันไม่จบแค่นี้ มันต้องทำต่อไปเรื่อยๆ” สไปร์ทกล่าวอย่างมุ่งมั่น

Tags:

คาแรกเตอร์(character building)21st Century skillsโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่นวัตกรผู้ประกอบการ(entrepreneurship)

Author:

illustrator

กิติคุณ คัมภิรานนท์

Related Posts

  • Creative learningCharacter building
    สามหนุ่มอาชีวะนักพัฒนา เจ้าของ WIMC อุปกรณ์ตรวจสอบมอเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ

    เรื่อง กิติคุณ คัมภิรานนท์

  • Creative learningCharacter building
    GO SCIF: เปลี่ยนจักรยานคันเก่าให้เป็นเกมออกกำลังกายสุดล้ำ

    เรื่อง กิติคุณ คัมภิรานนท์

  • Creative learningCharacter building
    CLOWN PANIC: เกมการเดินทางของตัวตลกที่หวังให้ผู้เล่นมีความสุข

    เรื่อง The Potential

  • Creative learningCharacter building
    OR HEALTH: ชุดปลูกต้นอ่อนข้าวสาลีอินทรีย์ที่ได้แรงบันดาลใจจากอาจารย์ผู้จากไปด้วยโรคมะเร็ง

    เรื่อง กิติคุณ คัมภิรานนท์

  • Growth & Fixed Mindset
    ‘กล้า’ เด็กหนุ่มที่เติบโตและอีโก้หายไปในโรงเพาะเห็ด

    เรื่อง

HONEY BOY: ใครๆ ก็อยากเป็นพ่อที่ดี แต่พ่อก็เป็นคนหนึ่งที่ยังเจ็บปวดเหมือนกัน
MovieHealing the trauma
3 December 2019

HONEY BOY: ใครๆ ก็อยากเป็นพ่อที่ดี แต่พ่อก็เป็นคนหนึ่งที่ยังเจ็บปวดเหมือนกัน

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Honey Boy เรื่องจริงของนักแสดงไชอา ลาบัฟ (Shia LaBeouf) กับวัยเด็กที่ต้องใช้ชีวิตกับพ่อที่เพิ่งออกจากคุกในข้อหาค้ายา ติดเฮโรอีน เพิ่งหายจากภาวะแอลกอฮอลิค อาศัยอยู่กับโอติสในโมเต็ลเก่าที่คนข้างบ้านเรียกมันว่า ‘แหล่งซ่องสุม’ บทภาพยนตร์เรื่องนี้เขียนขึ้นจากไดอารีขณะเข้าบำบัดอาการ PTSD สภาวะเจ็บ (ปวด) ป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง
  • ชั้นแรกมันคือการกลับไปทบทวนชีวิตวัยเด็กที่ทิ้งร่องรอยในตัวเขาผ่านการเขียน อีกชั้น มันคือการกลับไปทำความเข้าใจคนเป็นพ่อผ่านการสวมบทเป็นพ่อเขาเองในภาพยนตร์เรื่องนี้

“The only thing that dad gave me was pain, and you are going to take that away?”
“Can I?”  

สิ่งเดียวที่พ่อให้ผมมาคือความเจ็บปวด แล้วคุณยังจะเอามันไปอีกหรือ?
เอาไปได้หรือ?

สำหรับฉัน ไดอะล็อกนี้ไม่ใช่บทที่เจ็บปวดที่สุดในภาพยนตร์ Honey Boy แต่มันเหมือน ‘โอติส’ หมดสิ้นแล้วทุกสิ่งอย่าง เพราะแม้แต่ความเจ็บปวดที่พ่อทิ้งไว้และนี่คือสิ่งที่เขาใช้หล่อเลี้ยงมันในชีวิต

แค่นี้ คุณ-นักบำบัด ก็คิดว่าเราไม่ควรเก็บมันไว้ ต้องการให้เราทิ้งมันไป อย่างนั้นหรือ? 

แต่แทนที่จะตอบคำถาม นักบำบัดกลับสวนกลับทันที “Can I?” ฉันเอาได้เหรอ? ก็เหมือนยิ่งตบหน้าว่า คงมีแต่เจ้าของความทรงจำเท่านั้นที่จะทำความเข้าใจแล้วค่อยๆ ปล่อยมันไป

Honey Boy คือเรื่องของ ‘โอติส’ เด็กหนุ่มอายุ 12 ปี ขณะนั้นเขากำลังเป็นนักแสดงเด็กถ่ายทำซีรีส์ครอบครัวเรื่อง Even Stevens เผยแพร่ทางช่องดิสนีย์ และ ณ วัยนั้น ณ วันนั้น โอติสเองก็ไม่รู้ว่าเขาจะไปรอดกับอาชีพนี้รึเปล่า บทของโอติสใน Even Stevens เป็นเด็กธรรมดาทั่วไปที่เรียกร้องต้องการความรักจากพ่อ ต้องการให้พ่อ (ในซีรีส์) ทำตัวเป็นพ่อที่ปกป้องลูกบ้างและทำซักที ขณะที่พ่อของโอติสในชีวิตจริงคืออดีตตัวตลกโรดิโอ (Rodeo การแสดงการขี่ม้าผาดโผนโจนทะยาน) อดีตทหารในสนามเวียดนามที่เพิ่งออกจากคุกในข้อหาค้ายา (แถมออกมาแล้วก็ยังปลูกต้นกัญชาริมถนนและมีเทศบาลเป็นคนรดน้ำให้อย่างดี, แสบชะมัด) ติดเฮโรอีน เพิ่งหายจากภาวะแอลกอฮอลิค อาศัยอยู่กับโอติสในโมเต็ลเก่าที่คนข้างบ้านเรียกมันว่า ‘แหล่งซ่องสุม’

นี่ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ของพ่อลูก แต่ยังเป็นเจ้านายกับลูกน้อง โอติสคือเจ้านาย เขาจ้างพ่อตัวเองมาเป็นคนดูแลนักแสดง ช่วยซ้อมบท และอยู่เป็นเพื่อน ขณะที่มีแบ็คกราวด์ลึกลงไปอีกว่า พ่อกับแม่โอติสเลิกกันตั้งแต่เขาอายุ 3 ขวบ โอติสอยู่กับแม่ที่ซาน เฟอร์นันโด วัลเลย์, ลอสแองเจลิส ตั้งแต่นั้นจนกระทั่งวันหนึ่งมีคนบุกเข้ามาในบ้านและข่มขืนแม่ของเขาแล้วหนีหายไป วันนั้นโอติสอายุ 10 ขวบ วันนั้นเขาอยู่ในบ้านด้วย 

ทั้งหมดข้างต้นคือโอติสในพาร์ทเด็ก แต่หนังตัดสลับชีวิตของโอติสในวัยผู้ใหญ่ด้วย วัยที่เขาคุยกับนักบำบัด – ไดอะล็อกที่เขียนถึงในย่อหน้าแรก โอติสในพาร์ทนี้คือโอติสที่เป็นนักแสดงฮอลลีวูดที่ทำงานและมีชื่อเสียงตั้งแต่เด็ก โด่งดังจากซีรีส์ช่องดิสนีย์ แต่ถูกส่งเข้าสถานบำบัดเพราะนี่เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่เขาถูกจับกุมตัวข้อหาอาละวาดและดูหมิ่นเจ้าพนักงาน อ่อ… ส่วนข้อหาที่เขาถูกจับก่อนหน้าจนบันดาลโทสะใส่ตำรวจก็คือ เมามากจนขับรถชน

ในสถานบำบัดนี้ โอติสถูกวินิจฉัยว่าเป็น PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) สภาวะเจ็บ (ปวด) ป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง วิธีการบำบัดของโอติสต้องใช้ ‘การเขียน’ เป็นเครื่องมือ ในช่วงเริ่มแรกในสถานบำบัด โอติสปฏิเสธการรักษาและบอกว่า… 

“พ่อไม่ได้ทิ้งร่องรอยความเจ็บปวดไว้ ที่เขาเป็นแบบนี้ไม่ใช่เพราะพ่อ” 

แต่ก็สมุดเล่มนี้เองที่กลายเป็นที่มาของบทภาพยนตร์ทั้งเรื่อง เขียนโดย ไชอา ลาบัฟ (Shia LaBeouf) นักแสดงชาวอเมริกันที่โด่งดังตั้งแต่วัยเด็ก เป็นนักแสดงนำใน Even Stevens นี่เป็นเรื่องจริงของเขา และคนที่แสดงบทเป็นพ่อของโอติส ก็คือ ลาบัฟ เอง – เขาเล่นเป็นพ่อของตัวเอง

“วันที่แม่ถูกข่มขืน เขาอยู่ที่นั่นด้วย” อัลมา ฮาเรล (Alma Har’el) ผู้กำกับภาพยนตร์เชิงสารคดีชาวอิสราเอล-อเมริกัน ให้สัมภาษณ์เอาไว้

มันจะเป็นอย่างไรนะ วันที่ลาบัฟจรดมือเขียนเรื่องราววัยเด็ก นั่นหมายถึงเขาต้องกลับไปเปิดกล่องความทรงจำแล้วปลุกมันขึ้นมาใหม่ทั้งในฐานะผู้ถูกกระทำและในฐานะผู้ตรวจสอบผู้คนที่อยู่ล้อมรอบเหตุการณ์นั้นทั้งหมดอีกที นักบำบัดทำเกินไปรึเปล่า ทำไมต้องให้เขากลับไปยังวันและวัยที่เจ็บปวดที่สุดและเริ่มเปิดเทปม้วนนั้นใหม่อีกครั้งด้วย? 

ฟากหนึ่ง ‘โอติส’ คือเด็กอายุ 12 ปีที่ต้องรับมือกับพ่อที่พูดคำหยาบไม่หยุด ไม่ใช่แค่กับเขาแต่พร้อมจะตะโกนจนสุดเสียงกับทุกคนรอบข้าง เล่นมุกตลกที่ไม่ขำแต่คล้ายเป็นอาวุธป้องกันตัวเองมากกว่า ไม่เคยอยู่เคียงข้างโอติส อารมณ์สวิงขึ้นลงเสมอ เดี๋ยวให้กำลังใจเดี๋ยวต่อว่า เดี๋ยวดีเดี๋ยวโมโหร้าย พ่อพร้อมจะล้อเลียน เยาะเย้ย ถากถางเขาทุกเรื่องเพื่อยืนยันว่าเขายังมีตัวตนในโลกของโอติสอยู่ หรือบางครั้งก็เพียงเพื่อจะได้ยินว่าเขายังสำคัญสำหรับลูก 

แต่ทั้งหมดนั้น หนังไม่ได้เล่าภาพของลาบัฟผู้พ่อในฐานะผู้ร้าย ไม่เลย เพราะทุกไดอะล็อกที่ลาบัฟผู้พ่อพูด เราเห็นความเปราะบาง ไม่มั่นคง พยายามแล้วที่จะไม่ทำลายทุกอย่างให้ล้มครืนเพื่อจะเป็นพ่อที่ดี – ทั้งในสายตาคนอื่นและตัวเอง 

“But I am in pain” คือคำพูดของลาบัฟผู้พ่อในสถานบำบัดผู้ติดสุรา และแทบจะเป็นครั้งเดียวที่เขาพูดอย่างเปิดเปลือยถึงความล้มเหลวในฐานะพ่อ แต่เขาพยายามแล้ว แต่เราก็รู้ว่านี่เป็นคำพูดที่ผ่านปลายปากกาของโอติส หรือของลาบัฟในชีวิตจริง 

เขารู้ว่าลาบัฟผู้พ่อเป็นคนเส็งเคร็ง เป็นบาดแผลในชีวิต แต่ก็เป็นเขาอีกเช่นกันที่รู้ว่าพ่อพยายามแล้ว พ่อก็มีบาดแผลเหมือนกัน มันมีบางไดอะล็อกที่ลาบัฟผู้พ่อบอกเล่าว่าตัวเขาเองก็รับมรดกความเจ็บปวดผ่านพ่อของตัวเองอีกทอด และเขาก็ส่งต่อมันให้กับโอติส หรือลาบัฟตัวจริงอย่างช่วยไม่ได้ 

มันยากไหมนะ ที่ต้องทำงานกับ ไชอา ลาบัฟ ในฐานะผู้เขียนบท เจ้าของเรื่อง นั่งดูชีวิตของเขาวัยเด็กผ่าน ‘โอติส’ และดูเขาเล่นเป็นพ่อตัวเอง? ผู้สัมภาษณ์นาม เจมส์ มอทแทรม (James Mottram) ถามผู้กำกับ และบันทึกลงในบทความในเว็บไซต์ inews.co.uk/

“มันมากเกินกว่าจะบรรยายนะ เหมือนเรากำลังมองงูไล่กินหางตัวเองเพื่อจะผลิตไข่ทองคำออกมา หลายครั้งมากที่ฉันนั่งอยู่หลังจอมอนิเตอร์แล้วร้องไห้ หลายครั้งมากที่ฉันต้องต่อสู้กับเขาเพื่อดึงให้พวกเราออกจากภาวะกัดกินแบบนี้” ฮาเรลตอบ  

มอทแทรมผู้สัมภาษณ์คนเดิมเขียนในบทสัมภาษณ์ของเขาว่าก่อนหน้านี้เขาก็เคยสัมภาษณ์ลาบัฟตอนที่เขาแสดงหนังเรื่อง Wall Street: Money Never Sleeps ครั้งนั้นลาบัฟบอกเขาว่า

“พ่อเป็นผู้ชายที่ไม่เดินจูงมือเขา เพียงเพราะกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าเป็นผู้ชายที่ตุ๋ยเด็ก นั่นแหละ คือชีวิตวัยเด็กของผม”

“ปมของลาบัฟมันลึกและกัดกินมาก” ฮาเรลกล่าว

อย่างที่บอก อย่างที่รู้สึก ไม่ว่าจะเป็น ลาบัฟ ผู้เขียนบท/เจ้าของเรื่องจริง หรือ โอติส เด็กชายวัย 12 ที่ถูกเขียนขึ้นจากความทรงจำผ่านบทที่ถูกรีไรท์ ไม่ได้เล่าให้พ่อตัวเองเป็นผู้ร้าย ไม่ได้บอกว่าโอติสดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อไปจากพ่อเส็งเคร็งนี้ กลับกัน โอติสทำทุกอย่างเพื่อให้พ่อยังอยู่ ใช้อำนาจเข้าข่มในฐานะนายจ้างก็ทำมาแล้ว แม้ว่านั่นจะเป็นการจุดไฟเผากำแพงด่านสุดท้ายของคนเป็นพ่อจนเรื่องราวบานปลายกลายเป็นปมฝังใจสุดลึก แต่นั่นก็เพราะโอติสต้องการต่อสู้ต่อรองเพื่อให้ยังมีกันและกันอยู่ 

“ผมรอให้พ่อ เป็น ‘พ่อ’ มาโดยตลอด” บทพูดของโอติสฉากหนึ่ง เขานั่งพูดกับตัวเอง

การเป็นพ่อที่ดีคืออะไรนะ? ตอบไม่ได้จริงๆ หรอก เพราะต่อให้ดีแค่ไหนก็ต้องมีสักจังหวะที่เราเผลอทำร้ายกันจนกลายเป็นปมได้อยู่ดี มนุษย์เราเปราะบางจะตายเนอะ แต่ไม่ว่าพ่อที่ดีคืออะไร และต่อให้ตลอดทั้งเรื่อง Honey Boy จะทำเราปั่นป่วนและเห็นใจสองพ่อลูกตรงหน้าแค่ไหน หนังจะปลอบใจเราด้วยภาพพ่อลูกนั่งสูบกัญชาริมทางหลวงและหวังว่าต่อไปนี้เราจะใช้ชีวิตในแบบของเราให้ดี 

ภาพมันฟังดูบ้าชะมัด แต่มันอุ่นใจจริงๆ นะ หรืออันที่จริงอาจเป็นลาบัฟเองก็ได้ที่รู้สึกว่า ความสงบ ไว้ใจได้เพราะพ่อนั่งโอบกอดอยู่ข้างหลัง คือความหมายที่เขาเคยกระซิบกับตัวเองแล้ว …ผมรอให้พ่อ เป็น ‘พ่อ’ มาโดยตลอด

ใครๆ ก็อยากเป็นพ่อที่ดี ทำไมจะไม่? แต่พ่อก็เป็นคนหนึ่งที่ยังเจ็บปวดเหมือนกัน

Tags:

ซึมเศร้าภาพยนตร์จิตวิทยาศิลปินแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)

Author:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Related Posts

  • Dear ParentsMovie
    Whisper of the heart : เมื่อลูกมีความฝันต่างจากคนอื่น อยากให้ครอบครัวถามไถ่ รับฟัง และเชื่อใจ

    เรื่องและภาพ พิมพ์พาพ์

  • Healing the traumaFamily Psychology
    ไม่เป็นไรถ้าจะมีวัยเด็กที่เจ็บช้ำ เรียนรู้จากมันเพื่อเป็นพ่อแม่ที่มั่นคงทางใจได้

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ บัว คำดี

  • Healing the traumaFamily Psychology
    เปิดลิ้นชักความทรงจำพ่อแม่ สะสางปมเลวร้าย เลี้ยงลูกด้วยหัวใจที่เป็นมนุษย์

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ บัว คำดี

  • Family Psychology
    เคยเป็นลูกแบบไหน ก็จะเป็นแม่แบบนั้น

    เรื่อง ญาดา สันติสุขสกุล

  • Dear Parents
    ความในใจ 5 อย่าง ของเด็กสอบตก

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

VISION QUEST: กระโจนเข้าป่า หลอมรวมกับตัวตนที่หลงลืม
Life classroom
3 December 2019

VISION QUEST: กระโจนเข้าป่า หลอมรวมกับตัวตนที่หลงลืม

เรื่องและภาพ กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร

  • ทำความรู้จัก Quest ในคอร์สภาวนา 3 มิติ คือ รู้ตัว รู้ตน รู้ธรรมชาติ กับ ณัฐ-ณัฐฬส วังวิญญู นักเคลื่อนไหวทางสังคม จากสถาบันขวัญแผ่นดิน
  • ละ-ลอกคราบ-หลอมรวม คือกระบวนการเควส เพื่อเปิดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ให้ได้หยั่งลงไปอย่างลึกซึ้งในธรรมชาติดั้งเดิม และได้ค้นเจอจิตวิญญาณเดิมแท้
  • เมื่อหันหลังให้ป่ากลับสู่เมือง การทำเควสทำให้พบว่า โลกทัศน์ต่อธรรมชาติเปลี่ยนไป น้ำที่เราดื่ม คนที่เราคุยด้วย ลมที่พัดผ่านเรา ทำให้ลึกซึ้งกับภาวะตรงหน้ามากขึ้น

My Soul Journey to the Quest

เราเป็นคนกรุงเทพฯ แท้ๆ พ่อแม่ให้ชีวิตเกิดมาและก็ใช้ชีวิตไปตามปกติสุข แต่พอเข้าสู่ช่วงกลางของชีวิตที่ว่ากันว่ามันจะมี midlife crisis เกิดขึ้นได้กับคนหนึ่งคน สำหรับเราก็เป็นเหมือนกันแต่มันผ่านมา 2 ปีแล้ว ตอนนั้นเราคิดว่าเรามีตัวตนแข็งทื่อ ขับเคลื่อนด้วย passion ที่มุ่งเป้าไปสู่ความสำเร็จในชีวิต ยึดเหนี่ยวอยู่กับสิ่งที่สังคมให้ค่าและมันเกาะยึดเราจนรู้สึกว่าหนักอึ้ง งานการสำเร็จก็จริงแต่ยุ่งยากซับซ้อน ความสัมพันธ์รอบตัวเรียบง่ายแต่ก็ซ่อนความขัดแย้งไว้อยู่ แม้รู้สึกว่าเป้าหมายชัดเจนแต่ยังลังเลสับสนและกังวลเสมอว่าหนทางที่ว่านั้นชัดเจนจริงหรือเปล่า

ช่วงเวลานั้นเราเลยตัดสินใจเดินทางเพื่อรู้จักกับการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ที่เข้าไปทำความรู้จักตัวตนด้านใน เราเห็นความกลัวที่แช่แข็งอยู่ในตัวเรา เรามีความขัดแย้งภายในที่สะท้อนออกไปแสดงออกยังโลกภายนอก ยิ่งเรียนรู้โลกภายในเท่าไรก็ยิ่งทำให้อยากคืนกลับสู่ความเป็นธรรมชาติและความจริงแท้ที่ธรรมชาติมอบให้ 

หนึ่งในนั้นทำให้เราได้รู้จักกับเควส (Quest) ในคอร์สภาวนา 3 มิติ คือ รู้ตัว รู้ตน รู้ธรรมชาติ กับ พี่ณัฐ-ณัฐฬส วังวิญญู กระบวนกรจากสถาบันขวัญแผ่นดิน จัดขึ้นในป่าลุ่มน้ำไทรโยค เมืองกาญฯ ทำให้ได้ชิมลางกับการเข้าสู่ธรรมชาติ เราอดอาหาร 1 วัน 1 คืน เราได้เผชิญหน้ากับความกลัว กับความเชื่อมโยงอันหลากหลายกับต้นไม้ หิน ดิน น้ำ บรรดาผีเสื้อ แมลง นก ดวงดาวและพระจันทร์ ธรรมชาติให้พลังต่อชีวิตเรามาได้เฮือกหนึ่ง พร้อมกับปัญญาญาณมากมาย ที่ทิ้งร่อยรอยเอาไว้ให้เราได้ทำการบ้านต่อ หลังจากนั้น บอกได้เลยว่า… “ชีวิตเราไม่ง่ายเลย” 

แน่นอน…ครบรอบเดือนเกิดในรอบปีแห่งวัยกลางของชีวิต เราสัญญากับตัวเองว่าจะไปเควสอีกครั้ง เราวางใจให้ GAIA  MOTHER EARTH หรือแม่ธรรมชาติ ได้โอบกอดเรา ได้ขัดเกลาดวงจิตอย่างที่มันควรเป็น ได้ให้ขุมพลังและสารสำคัญ ที่จะเป็นปัญญาญาณให้เราได้ใช้ชีวิตต่อในเส้นทางเดินหลังขวบวัยนี้

การเดินทางเริ่มต้น

กลางดึกในคืนแรมจันทร์ ใต้ร่มไม้ใหญ่ที่บ่อน้ำพุร้อนยางปู่โต๊ะ ป่าต้นน้ำดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เราได้แม่ธรรมชาติให้พลังกับเรา ความร้อน-เย็นช่วยให้ร่างกายเราปรับสมดุล ชั่วขณะที่น้ำเย็นแช่ตัวไหลผ่านร่างกายและหัวใจเรา มือเราเท้ากับก้อนหินก้อนหนึ่งที่เราคว้าขึ้นมา หินรูปทรงกลมก้อนเท่าหัวใจ เราลูบคลำไปจนพบเส้นสายแร่ธาตุ นูนขึ้นมาเป็นเส้นๆ ใช่…เหมือนเป็นเส้นเลือด ฉับพลันเราคิดทันทีว่า นี่คือหัวใจที่แข็งเป็นหินของเรา

เช้าวันนั้น เราพกหินเดินทางไปเชียงราย ด้วยเป้าหมายที่จะหาคำตอบว่าเราจะเยียวยา ‘หินในใจ’ เราได้อย่างไร หินที่ทำให้ใจเราแข็งแกร่ง แข็งแรงมุ่งมั่น ท้าทายฝ่าฟัน ต่อโลกที่เรายืนอยู่นี้

Journey Down

“เควสเป็นพิธีกรรมแห่งการเปลี่ยนผ่าน ละทิ้ง ตายแล้วเกิดใหม่ เดินทางดิ่งลงสู่ดิน การเข้าไปเผชิญกับความกลัว ความโดดเดี่ยว ความตาย เดินทางไปสู่สภาวะไร้ที่พึ่ง เพื่อค้นหาว่า soul (จิตวิญญาณ) ของเราคืออะไร ต้องการอะไร” และนี่คือการเดินทางอย่างท้าทายของฮีโร่ พี่ณัฐบอก… 

แม้ว่าการเดินทางของจิตวิญญาณแบ่งได้เป็น 3 ระดับ หนึ่ง journey up ไปหาแสงสว่าง สวรรค์ ท้องฟ้าอันแผ่ไพศาล สอง journey middle การแสวงหาการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ร่วมกับมนุษย์ เครื่องมือในการเข้าใจตัวเองและการกลับมาเป็นปกติ และสุดท้าย journey down เดินทางดำดิ่ง เข้าไปเผชิญกับความกลัวของตัวเอง ซึ่งมันยั่วหัวใจเรามาก ทั้งๆ ที่เรากลัวว่าเราจะเปราะบางมาก เหมือนเมื่อย้อนกลับไป 2 ปีที่ผ่านมา ก็ตามที

เพียงคืนแรกที่มาถึง ความมืดและเงาของความกลัวก็เคาะประตูเราอย่างเบาๆ ขณะเล่าชีวิตให้เพื่อนร่วมทริปทั้ง 10 คนฟัง เราเผยชีวิตในวัยเด็กให้เพื่อนๆ ที่เรียกว่า ‘สภาอันศักสิทธิ์’ ได้สืบค้นและช่วยสร้างความชัดเจน 

แน่นอน…การเป็นตัวเราที่ช่างเล่าและวางโครงเรื่องผ่านการกลั่นกลองด้วยความคิด ทำให้เพื่อนเห็นได้ว่าช่างไร้ชีวิตและความรู้สึก ซึ่งนั่นคือส่วนลึกที่ปิดประตูเอาไว้ในตัวเรา พอถามความรู้สึกจึงไม่อาจรู้สึกได้ ขณะถูกท้าทายความรู้สึกที่ชวนให้หยั่งถึง ทันใดนั้น ทีมเจ้าบ้านที่หน่วยจัดการต้นน้ำแม่งา ขุนน้ำวัง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย จึงออกมาทำงานเป็นตัวแทนความรู้สึกภายในของเรา ด้วยธรรมชาติจัดสรร เมาท์ออร์แกน ‘เพลงเดือนเพ็ญ’ ถูกเป่าอย่างเยือกเย็น ในความเงียบ…พอๆ กับความหนาว และความมืดในคืนนั้น พลันต่อมาด้วยขอบของการแสดงความรู้สึกของครอบครัวที่เราเองก็ไม่สามารถสวมบทได้ เราคิดว่านี่เป็นบทบาท (role) ที่ผุดขึ้นมาสะท้อนจิตวิญญาณของเราในปัจจุบันที่ไม่อาจเป็นอื่นได้อีกต่อไป  

 “ชายผู้ใช้ความคิด หัวใจที่เป็นหิน นักเล่าเรื่องที่ไม่เข้าไปแตะความรู้สึก เด็กน้อยที่โดดเดี่ยว” คือส่วนหนึ่งของบทที่เราเล่นในชีวิตจริง เป็น archetype (รูปแบบ) หนึ่งในแบบแผนทางจิตของชีวิตมนุษย์ที่มีอีกมากมาย คงคุณลักษณะโบราณมีมายาวนานแต่เป็นสากล แบบแผนที่มีอิทธิพลในชีวิตอย่างที่สุด ถ้าเรายึดเกาะกุมมันเข้ามาและเล่นบทนั้นยาวนานเกินไป เพราะขั้วบวก ขั้วลบที่ไหลวนอย่างไม่สมดุล

เช่น ‘นักเลง’ ด้านหนึ่งคืออันธพาลระรานคนอื่น ด้านหนึ่งมันให้อำนาจและภาวะผู้นำที่เราเฉลิมฉลองได้ทุกครั้งเมื่อคนอื่นบาดเจ็บ “นางฟ้า นางบำเรอ นักรัก นักเล่น กษัตริย์ ชายแก่ พ่อ แม่” ล้วนเป็นบทที่เราเล่นเป็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นบทบาทที่ให้เรื่องราวในชีวิตที่ทั้งแข็งแกร่ง เสริมพลังอำนาจ และความเปราะบาง ไปพร้อมๆ กัน เส้นบางๆ ที่คั่นกลางอยู่ภายในตัวเราเช่นนี้ คือ ขอบ (edge) ที่ท้าทายเราให้ก้าวข้ามความคุ้นชินเดิม ไปสู่อาณาเขตที่เราไม่รู้จัก ขอบที่ผุดปรากฏขึ้นมานี้เองที่เชื้อเชิญให้เราทำงานกับมันต่อ เพื่อให้ทั้งขั้วบวกและขั้วลบนั้นกลับมาสมดุล

ละ (Severance) ลอกคราบ (Threshold) หลอมรวม (Incorporation)

กระบวนการเควส เป็นพิธีกรรมโบราณที่ช่วยให้เราหลงลืมเวลาของมนุษย์ เพื่อเชื่อมต่อกับจิตวิญญาณของตัวเอง ณ กาลเวลาที่โบราณจนมันไร้กาลเวลา การอดอาหารทำให้เราอ่อนแอทางร่างกาย ที่จะช่วยส่ง ‘ความทรงจำ’ บางอย่างมาทำงานต่อ

หากเล่าโดยง่าย เราเข้าไปเควสในป่าผ่านการตั้งโจทย์อะไรบางอย่างที่อยากหาคำตอบ เข้าสู่ธรรมชาติ เพื่อให้ป่าหยิบยื่นคำตอบ ผ่านปรากฏการณ์ที่เผยให้กับเรา พี่ณัฐเรียกว่าเป็น “ภาษาจิตวิญญาณธรรมชาติ” ลม ความร้อน ความพลิ้วไหว สัตว์ทั้งหลาย และบรรดาความฝันคือ ญาณทัศนะที่เราจะนำกลับมา รอให้เราถอดรหัส และหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

สละ/ละ (severance) คือขั้นแรกที่เราได้เข้าสู่พิธีกรรมแห่งการตาย รอบกองไฟก่อนจะเข้าสู่ป่า เราบอกกับตัวเองว่า เราขอสลัดละตัวตนที่ติดดี ความหลอกลวงและการยึดติดในวัตถุนิยม เราขอให้เรา “ค้นพบตัวตนอันจริงแท้ ขุมพลัง และหนทางการเดินต่อของเราต่อไปในชีวิตนี้” คืนแห่งการใคร่ครวญเพื่อทำความเข้าใจตัวตนความเป็นมนุษย์ของตัวเรา เพื่อแยกออกสู่การสัมผัสจิตวิญญาณที่ต้องการเดินทางสู่การเติบโต ทำให้เราได้คำถามและเควสที่เราต้องการชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เราละที่จะกินอาหาร 3 คืน 3 วัน สละที่พำนักอันสะดวกสบาย เสื้อผ้าที่เสริมสร้างอำนาจในบทบาทที่เราเป็นในชีวิตประจำวัน หยิบเอาเพียงข้าวของบางส่วนที่จะช่วยให้เราอยู่ในป่าได้อย่างไม่ตายไปจริงๆ

ป่าสนผสมผสานกับไม้ใหญ่ต้นน้ำวัง ร่องรอยของเฟิร์น มอส และความชื้นที่ปกคลุมเขาหินปูน ความสูง 1,000 เมตรสูงจากระดับน้ำทะเล ต้นไม้ใหญ่ปากทางต้อนรับเราตั้งแต่ทางเข้า เราแวะขอพรอันศักดิ์สิทธิ์จากต้นไม้ หลับตาเพื่อให้เราหลอมรวมกับความนิ่งเงียบ การเติบโต และจังหวะชีวิตแบบที่ป่าเป็นอยู่จริง เราเดินทางไปยังภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ที่จุดสูงสุดของพื้นที่ป่าลึก โอบล้อมด้วยสันเขาที่สูงใหญ่ของผืนป่าอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ที่ซึ่งผืนดินยืนสูงแตะสู่ผืนฟ้า ลมหนาวพัดโชยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปลุกวิญญาณความกล้าระหว่างเดินข้ามขอบถนนตรงดิ่งเข้าสู่ป่าของเรา 

ลอกคราบ (threshold) กล้าๆ กลัวๆ คือ ความรู้สึกที่มาถึงในที่สุด ในความว่างเปล่าจากโลกวุ่นวาย ความมืดของค่ำคืน ท้องฟ้า ดวงดาว แสงจันทร์ นอกจากเสียงแมลง ลม ในความมืดนั้นค่อยๆ ปรากฏ เสียงที่ดังก้องจากการคุยกับตัวเองอยู่โดดเดี่ยว และความอ่อนล้าของร่างกาย นำพาความทรงจำหนึ่งที่ผุดขึ้นมาอย่างคาดไม่ถึง ‘ที่พึ่งพา’ ในวัยเด็ก หญิงหม้าย นักต่อสู้ที่เราพักพิงมาแต่อ้อนแต่ออก ในยามที่เราไม่มีใคร ปรากฏขึ้นมาตรงหน้าในคืนนั้น คนที่เราตัดขาดความรู้สึก คิดถึง รัก ห่วงหา นับตั้งแต่วันที่เขาตายจาก ‘ตัวตนที่รู้สึก’ ของเราได้ตายลงไปพร้อมๆ กับความทรงจำที่เรามี 

ต้นไม้ที่เราพัก กระตุ้นให้เราสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณความเก่าแก่ของเพศหญิง ที่โอบอุ้มเรา พระจันทร์เต็มเดือนที่เรียกร้องให้เราออกมายืนโดดเดี่ยวในป่ายามค่ำคืน ท้าทายความกลัวที่ลึกลงไปในหัวใจ ชั่วขณะที่ลมพัด นกร้อง ผีเสื้อบินมาเกาะ เราหันกลับไปก้มมองเงาในตัวเราที่พาดผ่านจากฟ้าลงสู่ดิน ไม่มีอะไรปลุกเราได้เท่าเงาในตัวเราเอง กล้า-กลัว สว่าง-มืด สายตาของหญิงหม้ายในเงาของตัวเรา ทำงานส่งสัญญาณให้เราใช้ปัญญาญาณทำงานต่อ น่าแปลกตรงที่การทำงานของคืนนั้นไม่ได้ลอกคราบเราในทันที แต่กระตุ้นให้เรานำมาทำงานต่อ ในสภาอันศักดิ์สิทธิ์ 

3 วัน 3 คืนกับการเดินไปพำนักกับต้นไม้ ต้นแล้วต้นเล่า ลมที่พัดขัดเกลาจิตให้ปั่นป่วน การเดินทางของ มด แมลง นก ผีเสื้อในยามเช้า เสียงจิ้งหรีด กรีดร้องฟ้องพระจันทร์ ความว่าง และอิดโรย นำพาให้เรามาถึงจุดที่อ่อนแรงที่สุด ไข้ขึ้นจนเพ้อทุกบ่ายของวัน แต่นั่น ไม่ได้ทำให้เราตายได้เลย 

พอช่วงเย็นของคืนสุดท้ายที่อยู่ในป่า เราได้ไปสวนดอกไม้ซึ่งอยู่ระหว่างทางไปป่าชื้น ตรงนั้นได้ให้พลังงานอาหารและความตื่นตาตื่นใจ เหมือนที่ตั๊กแตน ผีเสื้อ ผึ้ง มากินดื่มน้ำหวานจากดอกไม้ พลังงานจากภูเขาสูงใหญ่ร้องขอให้เราหนักแน่น ไว้ใจในความโดดเดี่ยว ในฉับพลันนั้นมันผลักดันให้เราเคลื่อนไหวในจังหวะเดียวกับธรรมชาติ จู่ๆ การเคลื่อนไหวร่ายรำ คำพูดไม่มีความหมายก็ผุดขึ้นมาเอง เราเต้นรำต่อเนื่อง ไปพร้อมกับนก แมลง และป่าสนที่ส่งเสียง นั่นหรือไม่ที่เรียกว่าการลอกคราบทางจิตวิญญาณ ที่เขย่าให้เราได้ด้นสดแบบไม่ต้องคิดและคาดหวังอะไร จากสิ่งรอบตัวในที่แห่งนี้

เวลาผ่านไป ในเช้าวันใหม่ เรากับเพื่อนเดินอย่างอิดโรยก้าวออกจากพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ กายอ่อนแรง แต่จิตวิญญาณตื่นรู้ดื่มด่ำกำซาบเข้ามาพร้อมให้เรานำกลับไปใช้ในโลกมนุษย์เมืองอย่างเรา

หลอมรวม (incorporation) ตัวตนที่เราได้รับ คือ ตัวตนรู้สึก การคอนเนคกับจิตวิญญาณธรรมชาติ รวมถึงผู้คน การทำความเข้าใจด้านที่เราตัดขาดอย่างลึกซึ้งเพราะความกลัวเปราะบางเป็นของขวัญที่นำกลับมา สภาอันศักดิ์สิทธิ์เชื้อเชิญให้เราได้คุยกับคนรักที่ตายจาก บรรดาเสียงที่เราไม่เคยพูดได้พรั่งพรูบอกออกมา การเดินทางสู่ความมืด ตัวตนที่เราไม่ยอมเป็นเหมือนมันได้เปิดโอกาสให้เราได้หลอมรวม

ตำนานชีวิต (Life Myth)

เหมือนกับว่าตำนานชีวิตเราไม่จบลงง่ายๆ หรอก vision quest เปิดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ให้เราได้หยั่งลงไปอย่างลึกซึ้งในธรรมชาติดั้งเดิม ให้เราได้ค้นเจอจิตวิญญาณเดิมแท้ 

วันนี้เรากลับมายังเมืองหลวงที่ไร้ป่าเขาแล้ว ระหว่างกินข้าวมดดำเดินไต่ขึ้นมาบนโต๊ะอาหาร แต่เราไม่ฆ่าทิ้งเหมือนที่เคยทำ เรายิ้มและพูดคุยกับมดดำอย่างงงๆ เรานั่งรถผ่านต้นไม้น้อยใหญ่ข้างถนน ทักทายเหมือนเพื่อนอีกคนที่เราไม่ได้ทักทายมานาน โอ้โห… เราว่าโลกทัศน์ต่อธรรมชาติของเราเปลี่ยนไป น้ำที่เราดื่ม คนที่เราคุยด้วย ลมที่พัดผ่านเรา เราว่าเราลึกซึ้งถึงความศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างจากตอนที่อยู่บนเขา บนดอย 

ที่สำคัญ เราเห็นได้ว่า หัวใจของเรามันกลับมาไว้ใจในความรู้สึก และเชื่อมั่นในตัวของเราเองมากขึ้น พอๆ กับเชื่อมั่นในทุกจิตวิญญาณที่เราพบเจอในแต่ละวัน “ด้วยความเคารพ และการอยู่ร่วมกัน” 

จนวันนี้ เรายังคิดถึงเพื่อน พี่ น้อง ในสภาอันศักดิ์สิทธิ์ พี่น้องผู้ดูแลป่าต้นน้ำแม่งา พี่น้องหมู่บ้านงิ้วเฒ่า อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ที่ดูแลป่าต้นน้ำให้คนปลายน้ำอย่างเรา และที่สำคัญ เราเชื่อว่าถ้ามีโอกาสอีก เราอยากอนุญาตให้เราได้เข้าไปทบทวนตำนานชีวิตของเรา ได้เล่าเรื่อง ได้ดูละครตำนานชีวิตของเราอีกครั้ง…

ขอขอบคุณ พี่ณัฐ-ณัฐฬส และ พี่อ้อ-จิตติมา วังวิญญู และครอบครัว และทีมงานสถาบันขวัญแผ่นดิน ที่จัดกระบวนการเรียนรู้ ให้เราได้เรียนรู้อย่างดำดิ่ง และกระโจนไปสู่ป่าอย่างห้าวหาญ


นิเวศภาวนา (Vision Quest) พัฒนามาจากพิธีกรรมของชาวอินเดียนแดงโบราณ ผสมผสานกับการสมาทานธุดงควัตรบางข้อในพุทธศาสนา ออกแบบมาเพื่อให้คนมีประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านของช่วงชีวิต และเติบโตทางจิตวิญญาณจากการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

นิเวศภาวนาเป็นการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณที่อาศัยการอดอาหารและอยู่ลำพังในธรรมชาติ เพื่อสลัดละความปลอดภัยมั่นคงอย่างอ่อนน้อม ผู้เดินทางจะต้องยอมสละชีวิตของตนให้เป็นของธรรมชาติ ยอมตายลงในเชิงจิตวิทยาเพื่อเกิดใหม่อย่างมีเป้าหมาย เพื่อค้นหาว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร โลกปรารถนาให้เราทำอะไรที่จะเกิดประโยชน์ ศักยภาพและความหมายของชีวิตของเราคืออะไร นิเวศภาวนาจึงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับผู้ที่อยู่ในวัยเปลี่ยนผ่าน เช่น วัยรุ่นกำลังจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ คนที่กำลังจะเปลี่ยนงาน หรือคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงตนเอง รวมถึงคนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่พื้นที่ใหม่ในชีวิต เช่น กำลังจะบวช กำลังจะแต่งงาน หรือแม้แต่กำลงจะหย่า นิเวศภาวนาจะช่วยให้เราละทิ้งตัวตนเก่าและเพิ่มพลังชีวิตใหม่

ในวัฒนธรรมโบราณ มนุษย์เฉลิมฉลองและประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในช่วงสำคัญของชีวิต ไม่ว่าจะตอนเกิด วัยรุ่น หรือย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และในบางพื้นที่ยังมีพิธีกรรมในช่วงที่ชีวิตประสบภาวะวิกฤตหรือการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เช่น ประสบอุบัติเหตุ หรือต้องเดินทางไกล เป็นต้น แต่วิถีชีวิตสมัยใหม่ทำให้คนห่างหายจากพิธีกรรมเหล่านี้ จึงไม่มีโอกาสใคร่ครวญและถอดบทเรียน โลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์เก่าก็ทำให้คนมองว่าพิธีกรรมเป็นเรื่อง “งมงาย” และไม่เกี่ยวข้องกับชีวิต นี่คือเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้มนุษย์สมัยใหม่รู้สึกว่างเปล่าและไม่เชื่อมโยงกับใครเลย นิเวศภาวนาจะนำเราเข้าสู่เส้นทางการเปลี่ยนผ่านอย่างมีความหมาย

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

ที่มา คุณ Nueng Srisuda Chomp

Tags:

spiritualกิตติรัตน์ ปลื้มจิตรจิตวิทยาปม(trauma)เข้าป่า

Author & Photographer:

illustrator

กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร

บรรณาธิการเว็บไซต์ The Potential

Related Posts

  • How to enjoy life
    ผลัดใบจากความกลัว ผลัดใจเก่าทิ้งไป เพื่อชีวิตใหม่ที่งดงาม

    เรื่องและภาพ วิรตี ทะพิงค์แก

  • Healing the traumaFamily Psychology
    ไม่เป็นไรถ้าจะมีวัยเด็กที่เจ็บช้ำ เรียนรู้จากมันเพื่อเป็นพ่อแม่ที่มั่นคงทางใจได้

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ บัว คำดี

  • How to enjoy lifeFamily Psychology
    SAND TRAY THERAPY: ปลดล็อคเรื่องเศร้าที่เล่ายากด้วยการบำบัดในถาดทราย

    เรื่อง

  • Healing the trauma
    เราต่างมีภูเขาน้ำแข็งอยู่ภายใน กลไกป้องกันตัวเองของเราเป็นแบบไหนกัน

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Education trend
    ถึงเวลาเอาคะแนน ‘ยกมือตอบในห้อง’ ออกได้หรือยัง?

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

ดนตรีแบบไหน เหมาะกับวัยลูก
Family Psychology
2 December 2019

ดนตรีแบบไหน เหมาะกับวัยลูก

เรื่องและภาพ The Potential

ในทางมนุษยปรัชญา (anthroposophy) ‘ดนตรี’ มีส่วนสำคัญในการสร้างมนุษย์คนหนึ่งให้เติบโตอย่างสมดุลและมีจังหวะของตัวเองที่เข้ากับโลก  แล้วเราจะใช้ดนตรีแบบไหน เพื่อสร้างจังหวะให้ลูกแต่ละวัยอย่างเหมาะสม ?

อายุ 0-7 ปี: ดนตรีและเสียงที่ดีที่สุดมาจากพ่อแม่ 

เสียงที่ดีที่สุดสำหรับเด็กเล็กคือเสียงพ่อแม่เขา ถ้าพ่อแม่ร้องเพลงกับลูก​ เพราะเขาไม่ได้ฟังแค่เสียง เขาไม่ได้สนใจว่าพ่อแม่ร้องเพลงเพี้ยนไหม แต่เสียงเหล่านั้นมันเป็นเสียงที่มีความรัก ความอบอุ่น เด็กจะรับสิ่งนั้นได้

พ่อแม่หลายคนบอกว่าอยากให้ลูกรักดนตรี แต่ไม่เคยร้องเพลงกับลูก​ อย่าหวังว่าลูกจะรักดนตรี ลูกจะรักดนตรีเมื่อพ่อแม่รักดนตรีและใช้ดนตรีและเสียงร้องเพลงเลี้ยงเขา โดยไม่จำเป็นต้องใช้เพลงเด็ก เป็นเพลงอะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่จังหวะหนักๆ เพราะจังหวะที่เร้ามากเกินไปจะส่งผลให้เด็กตื่นก่อนวัย คาแรคเตอร์ของเด็กเล็กคือเขาจะอยู่ในห้วงภวังค์ฝัน อ่อนหวาน เบลอๆ ไม่มีความฝันไหนที่มีลักษณะเป็นเสียงกลองหนักๆ ฉะนั้นเพลงที่เหมาะกับเด็กวัยนี้คือเพลงที่มีเสียงและจังหวะที่อ่อนโยน ดีที่สุดเมื่อพ่อแม่ร้องเพลงให้ลูกฟัง

อายุ 7-14 ปี: เครื่องดนตรีแบบสายสร้างสมดุล

เด็กช่วงนี้มาพร้อมกับความรู้สึกเต็มเปี่ยม เขาจะชอบเพลงที่ตรงกับความรู้สึกตัวเอง โดยเฉพาะช่วงหลังอายุ ​12​ เด็กๆ จะเริ่มเลือกฟังเพลงต่างๆ ด้วยตัวเอง​ พ่อแม่อาจแนะนำเพลงดีๆ ให้ลูกได้​ แต่เด็กก็จะชอบเพลงที่เขาเลือกฟังด้วยตัวเองมากกว่า​ ลูกจะชอบเพลงที่มีทำนองเพราะๆ​ ใช้ภาษาสวยๆ จังหวะดีๆ​ ​ไม่ว่าจะเป็น เพลงเกาหลี เพลงไทย ทุกอย่างจะเป็นไปตาม feeling ของเขา โดยเครื่องดนตรีอย่าง ไวโอลิน เชลโล เหมาะกับเด็กวัยนี้ เพราะเครื่องสายช่วยทำให้เด็กวัยนี้ที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นรอบตัวมากๆ เกิดความสมดุล นิ่ง ฟังอย่างดี และเล่นให้เสียงที่แม่นยำจากการฟัง

อายุ 14-21 ปี: เด็กเลือกฟังด้วยตัวเอง

เด็กช่วงนี้จะเลือกฟังดนตรีด้วยตัวเอง​ ในฐานะพ่อแม่เราสามารถเตรียมสิ่งที่คิดว่าดีไว้ให้เขาได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงระยะหนึ่งเท่านั้น จากนั้นเขาจะกลายเป็นผู้เลือกเอง พ่อแม่ควรเคารพการเลือกของเขา

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ดนตรีบำบัด:ไม่ใช่แค่ฟังแต่ร้องมันออกมา ให้ท่วงทำนองเยียวยา เสียงเพลงสร้างพัฒนาการชีวิต

Tags:

พ่อแม่จิตวิทยาดนตรีการศึกษาแนววอลดอร์ฟ(Waldorf)

Author & Illustrator:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Related Posts

  • Family Psychology
    ดนตรีบำบัดสร้างจังหวะของลูกให้ตรงกับจังหวะของโลก

    เรื่อง The Potential

  • Family Psychology
    ดนตรีบำบัด: ไม่ใช่แค่ฟังแต่ร้องมันออกมา ให้ท่วงทำนองเยียวยา เสียงเพลงสร้างพัฒนาการชีวิต

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา ภาพ สิทธิกร ขุนนราศัย

  • BookFamily Psychology
    การแบ่งปันอารมณ์ความรู้สึกในครอบครัวคือขุมพลังชีวิตของลูก

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • Family Psychology
    เล่าเรื่องอย่างใส่ใจใคร่ครวญ: พ่อแม่เข้าใจตัวเองมากเท่าไหร่ ยิ่งเข้าใจลูกมากเท่านั้น

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • Family Psychology
    ไม่ผิดหรอกหากพ่อแม่จะกอดตัวเองบ้าง

    เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ

Posts navigation

Newer posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel