- Social awareness คือการตระหนักรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นทักษะทางอารมณ์และสังคมที่สำคัญในยุคศตวรรษที่ 21
- ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น, การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย, ความเคารพในผู้อื่น, การเอาทัศนคติของคนอื่นมาใส่ในใจเรา คือ คีย์เวิร์ดของทักษะนี้
- เราจะช่วยให้เด็กๆ มีทักษะนี้เพิ่มขึ้นได้ง่ายๆ โดยผ่านพฤติกรรม ‘การเข้าใจผู้อื่น’ ของพ่อแม่ และการพาเด็กตั้งคำถาม ‘ถ้าเป็นเรา-เราจะรู้สึกยังไง’
ทักษะตัวสุดท้ายของทักษะศตวรรษที่ 21 – Social and cultural awareness การตระหนักรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม ทักษะสำคัญของมนุษย์ (ที่ต้องอยู่ร่วมกันในสังคม) ศตวรรษนี้
การตระหนักรู้ทางสังคมเป็นหนึ่งในทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning Skills: SEL) ที่ถูกระบุในวงการศึกษาว่า ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน จำเป็นต้องออกแบบการเรียนรู้ ให้เด็กๆ มีทักษะ ทัศนคติ และพฤติกรรมที่จะจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ตรงหน้า รวมทั้งกระบวนการคิดเรื่องการจัดการกับความสัมพันธ์ในตัวเองและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลให้เป็นไปอย่างมีคุณธรรมและเอื้ออาทร
ทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL) ประกอบไปด้วย
- Self-Awareness: การตระหนักรู้ในตัวเอง
- Self-Management : การบริหารจัดการตัวเอง
- Responsible Decision-Making: ความรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองเลือก
- Relationship Skills: ทักษะด้านความสัมพันธ์
- Social Awareness: การตระหนักรู้ทางสังคม
Social awareness คืออะไร
เฉพาะ Social and cultural awareness การตระหนักรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม ที่ถูกไฮไลต์ให้เป็น 1 ใน 16 ทักษะจำเป็นของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 และหนึ่งใน SEL หมายถึง…
ความสามารถในการมีทัศนคติแห่งความ ‘เข้าอกเข้าใจ’ (empathy) ต่อผู้อื่น ในแง่ของความแตกต่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา สังคม วัฒนธรรม บรรทัดฐานแต่ละสังคม (norm) ผู้ที่มีความต้องการพิเศษหรือเฉพาะทาง โดยเฉพาะโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซับซ้อน ขนานใหญ่ที่ยิ่งจะเพิ่มเลเยอร์ของความหลากหลายให้ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก เช่น ความหลากหลายทางเพศที่เพิ่มนิยามมากขึ้น หรือ ความหลากหลายทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ในยุคที่เส้นพรมแดนประเทศพร่ามากเลือนขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งหมดที่กล่าวไปไม่ใช่เรื่องไกลตัวเด็กเลย จำลองสถานการณ์ลงมาให้ใกล้ตัวเด็กอย่างชุมชนที่อยู่อาศัย หรือสังคมในห้องเรียนที่เด็กๆ ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันทุกวัน ไม่ว่าจะในชุมชนหรือในห้องเรียน เราต่างมาจาก ‘หลายพ่อพันแม่’ หลายศาสนา หลายความเชื่อ หลายเพศ ซูมลงไปให้เล็กในระดับความสัมพันธ์ ความเข้าอกเข้าใจยังหมายถึงการทำความเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นผ่านสิ่งที่พวกเค้าไม่ได้พูด เช่น สีหน้า ท่าทาง บรรยากาศระหว่างกัน อวัจนภาษาเหล่านี้ก็นับเป็นหนึ่งในทักษะคนที่ ‘เข้าใจอกใจ’ จะมองเห็นได้
อ้างอิงจาก CASEL เว็บไซต์เรื่องแหล่งข้อมูลทางการศึกษาระบุคีย์เวิร์ดของการตระหนักรู้ทางสังคม ไว้ว่ามีคีย์เวิร์ดดังนี้
- Perspective-taking: การเอาทัศนคติของคนอื่นมาใส่ในใจเรา การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยการรับรู้มุมมองความคิดความเชื่อที่แตกต่าง
- Empathy: ความเข้าอกเข้าใจ, การเข้าไปนั่งในใจผู้อื่น
- Appreciating diversity: การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย
- Respect for others: ความเคารพในผู้อื่น
รายการสารคดีจาก ThinkTV ร่วมกับ CASEL อธิบายความหมายของ Social awareness ว่านักออกแบบการเรียนรู้จะสร้างทักษะนี้ให้เด็กได้อย่างไร
Social awareness สร้างได้อย่างไรบ้าง
เมลิสสา ชลินเกอร์ (Melissa Schlinger) รองประธานกรรมการแห่ง CASEL และ เมญา ดอร์ซีย์ (Maya Dorsey) ผู้อำนวยการ Family Engagement and Community Partnerships แห่ง Learn to Earn Dayton อธิบายในสารคดีจาก ThinkTV ร่วมกับ CASEL ข้างต้นในทั้งความหมายและการออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กๆ มีทักษะด้านความเข้าใจทางสังคมว่า…
สิ่งหนึ่งที่ครูออกแบบได้คือการใส่คำถามว่า “ถ้าหนูอยู่ในสถานการณ์นั้น หนูจะรู้สึกยังไงนะ และเราจะทำอย่างไรในสถานการณ์นั้นดี?” คำถามนี้ช่วยให้เด็กมีจินตนาการถึงสถานการณ์ของคนอื่น เริ่มใส่คำถามนี้ได้ตั้งแต่การลองคิดแทนเพื่อน หรือชี้ชวนตั้งคำถามถึงความรู้สึกของตัวละครในนิทาน, ในหนังสือที่เด็กๆ จะอ่านกัน, ออกแบบให้นักเรียนทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มบ่อยๆ และผลัดเปลี่ยนให้เด็กๆ ได้เวียนเป็นสมาชิกในกลุ่มเพื่อทำงานร่วมกับคนอื่นที่เด็กๆ ไม่สนิทด้วย หรือจะวิธีอื่นๆ ก็ได้ทั้งนั้นแล้วแต่ไอเดียสร้างสรรค์ของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ในห้องเรียนเลย
ผู้ปกครองช่วยเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เล่นกับเพื่อนที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างที่กล่าวไป รวมทั้งสร้างโอกาสให้เขาได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนหลายๆ วัย เช่น ผู้สูงอายุ เพื่อนที่อายุมากหรือน้อยกว่า หรือแม้แต่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนของคุณพ่อคุณแม่ แบบนี้ก็ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้อยู่กับความแตกต่างหลากหลายเช่นกัน ขณะที่ดอร์ซีย์เน้นว่า การเรียนรู้ของเด็กๆ ไม่ได้มาจากการ ‘บอกให้เด็กยอมรับ’ แต่เด็กๆ เรียนรู้จากพฤติกรรมของพ่อแม่ พูดให้ง่ายกว่านั้น เค้าจะเป็นในสิ่งที่พ่อแม่เป็น – ถ้าอยากให้เด็กๆ โอบรับความแตกต่างหลากหลาย พ่อแม่ต้อง ‘เข้าอกเข้าใจ’ เป็นแบบอย่างเสียก่อน
ฟังดูแล้วการจำลองตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์คนอื่นเพื่อ ‘เข้าไปถึงใจ’ ใครอีกคนนั้นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญจนหลายคนไม่เข้าใจว่านี่มันต้อง ‘ฝึก’ กันด้วยหรือ แต่ชลินเกอร์ปิดท้ายสารดคีสั้นไว้อย่างน่าสนใจว่า เรื่องเล็กน้อยแบบนี้ หลายครั้งส่งผลยิ่งใหญ่มหาศาลในแง่การสร้างความไม่เข้าใจระหว่างกัน เรื่องเล็กน้อย เช่น บางครั้งที่คุณโกรธ – คุณต้องการพื้นที่เพื่อคลี่คลายอารมณ์ คุณต้องการให้คู่กรณีถอยไปก่อน, บางครั้งที่คุณเศร้า – คุณต้องการแค่อ้อมกอดอบอุ่นและคำปลอบโยนที่เงียบเชียบ, หรือบางครั้งที่ท้อ – คุณต้องการคำพูดเพื่อเชียร์อัพก้อนกำลังใจ ทั้งหมดนี้ต้องการการปฏิบัติอันมาจาก ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ ในรูปแบบที่ต่างกัน
ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ชลินเกอร์ชวนดูชิ้นข่าวทั้งออฟไลน์และออนไลน์ การกระทบกระทั่งรุนแรงซึ่งหลายเหตุการณ์ต้องสังเวยด้วยชีวิต ต่างมาจากความเกลียดชังอันเนื่องจากความเชื่อที่ต่างกัน
ในโลกปัจจุบันที่พรมแดนประเทศไร้ความหมาย ความหลากหลายกลายเป็นความปกติสามัญ ถ้าเด็กๆ ไม่มีพื้นที่ทดลองได้มีประสบการณ์ปรับตัวกับความหลากหลาย คงยากจะคาดเดาว่าเราจะมีคนรุ่นใหม่มีคาแรกเตอร์แบบไหนกัน