- สำหรับคุณหมอโกมาตร การแยกการเรียนออกจากการเรียนรู้ คือสิ่งที่ผิดพลาด
- จบแพทยศาสตร์บัณฑิต แล้วบินไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยา แต่คุณหมอไม่อายที่จะรำผีฟ้าเพื่อรักษาชาวบ้าน เพราะเชื่อว่านี่เป็นการรักษาตามระบบทฤษฎีโรคในหมวดความเชื่อพื้นบ้าน
- นั่นเพราะคุณหมอเข้าใจในความเป็นมนุษย์ ที่เป็นส่วนผสมอันลงตัวระหว่างการเรียนและการเรียนรู้ จนหลอมรวมเป็นเนื้อตัว เป็นการเดินทางของเราที่คนอื่นเดินแทนไม่ได้
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
เพราะ ‘ความรู้’ ใหม่ๆ ที่มากขึ้นตามกาลเวลา ทำให้คนรุ่นใหม่ แยกความหมายของคำว่า ‘เรียน’ กับ ‘เรียนรู้’ ออกจากกันอย่างเด็ดขาด
ในทัศนะของ นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กลับคิดว่า การแยกการเรียนออกจากการเรียนรู้ คือสิ่งที่ผิดพลาด
“มันมีอคติบางอย่างของการเรียนรู้สมัยใหม่ เรามักจะพูดกันว่าเรียนรู้แบบท่องจำหรือเรียนรู้แบบก๊อปปี้มันจะมีคุณค่าอะไร เพราะมันก็มีความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามา ความรู้ชุดเก่าก็ถูกพิสูจน์ว่ามันอาจจะไม่ใช่”
คุณหมอยืนยันว่าเราจำเป็นต้องตั้งคำถามกับความคิดความเชื่อชุดนี้ อาจจะไม่ใช่เพื่อหักล้าง หรือเพื่อหาว่าฝั่งไหนชนะ เพราะด้วยชีวิตและประสบการณ์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ของคุณหมอ ประกอบขึ้นทั้งจากการเรียนและเรียนรู้
แพทยศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไปศึกษาต่อปริญญาเอกสาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอย่างคุณหมอ ยอมรับว่า ถึงจะเรียนแพทยศาสตร์มาตั้งแต่จบมัธยมปลาย แต่ความรู้สึกพร้อมที่จะเป็นแพทย์มากที่สุด กลับปรากฏต่อเมื่ออายุ 40 ปลายๆ เข้าไปแล้ว
อาจพูดได้ว่า เพราะตอนนั้นคุณหมอมี ‘ความเข้าใจในความเป็นมนุษย์’ ซึ่งสั่งสมมาจากการเรียนและการเรียนรู้ จนหลอมรวมเป็นเนื้อเป็นตัว และเป็นการเดินทางที่คนอื่นจะมาเดินแทนไม่ได้
คุณหมอเคยอธิบายว่า พื้นฐานของมนุษย์มีอยู่ 3 อย่าง 1.ถูกจดจำ 2.ได้รับการให้อภัย และ 3.ทำให้ชีวิตมีความหมาย
ความต้องการ 3 อย่างนี้เป็นประสบการณ์ของผู้ชายคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เขาทำงานช่วยชีวิตคน ซึ่งมักเสียชีวิต เขาได้เจอคนที่กำลังจะตายหรือมีโอกาสเสียชีวิตสูงเยอะ ผู้ชายคนนี้รู้สึกว่าการบอกคนที่กำลังจะตาย ว่า ตาย ทำให้คนคนนั้นยิ่งกลัวหนักเข้าไปอีก เขาเลยหลีกเลี่ยง บอกแต่ว่าไม่เป็นไร หมอจัดการได้ แต่ไม่นานคนพวกนั้นก็ตาย
จนวันหนึ่งเขาไปเจอเด็กประสบอุบัติเหตุ อายุ 22 ประสบอุบัติเหตุตอนขับมอเตอร์ไซค์ เด็กถามเขาว่าจะตายไหม ไม่รู้ด้วยสัญชาตญาณหรือว่าอะไร ผู้ชายคนนี้บอกไปว่า คุณอาจจะไม่รอด เด็กคนนั้นก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นคุณช่วยไปจัดการสิ่งที่ผมต้องการให้หน่อย ผู้ชายคนนี้ก็ทึ่งในความไม่ตื่นกลัว มีสติของเด็ก
ตั้งแต่นั้นมาเขาจึงตัดสินใจบอกคนที่ประสบอุบัติเหตุว่าคุณมีโอกาสเสียชีวิต ถ้าคุณใกล้เสียชีวิตคุณอยากทำอะไร คุยกับคนเป็นร้อยๆ คน ไม่เกี่ยงเชื้อชาติ ภาษา การศึกษา คนรวย คนจน ส่วนใหญ่จะตกมาที่ความต้องการ 3 ประการ ก่อนตาย
หนึ่ง ต้องการได้รับการให้อภัย คนอยู่ในสังคม ต้องเคยทำอะไรผิดพลาด ละเมิดคนอื่น ทำให้คนอื่นเสียใจ หรือเอาแต่ใจตัวเอง ไม่ใส่ใจคนอื่น โดยเฉพาะคนรัก คนใกล้ชิด พ่อแม่ ลูก ภรรยา สามี เราจะมีเรื่องรู้สึกผิดอยู่ในใจติดตัวมาก ทุกคนจึงอยากได้รับการให้อภัย
สอง ถูกจดจำ เป็นธรรมดาที่เราอยากถูกจดจำในเรื่องที่ดีๆ แม่ที่ใกล้เสียชีวิต มักบอกลูกว่า เรื่องที่แม่เคยทำผิดอะไรมาขอให้รู้ว่าแม่รักเขาก็พอ
สาม อยากให้ ชีวิตที่ผ่านมา ได้ทำอะไรที่มีความหมาย ไม่ปล่อยปละละเลยชีวิต ไม่เหลวไหลไปวันๆ แม้จะเป็นแกงสเตอร์ หรือเด็กแว้น ถึงเวลาจริงๆ เขาก็อยากถามว่า การใช้ชีวิตที่ผ่านมา มันยังมีคุณค่าอยู่ใช่ไหม การทำเรื่องนั้น เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ดีใช่ไหม
สามเรื่องนี้เป็นคำถามที่ไม่ใช่มีใครสามารถตอบและถามแทนคุณได้ หรือเป็นคำถามในวันที่คุณนอนอยู่บนเตียงใกล้จะตาย รู้สึกว่าจะไม่มีชีวิตรอด และคุณก็จะต้องตอบสามเรื่องนี้ให้ได้
จะดีกว่าไหมถ้าสามข้อนี้ถูกเอามาใช้คิดในการดำเนินชีวิตของเรา มากกว่าที่จะไปนั่งตอบในวาระสุดท้ายของชีวิต
ก่อนจะตอบสามข้อนี้ได้ต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ก่อน?
ทั้งสามข้อนี้มันสะท้อนว่าลึกๆ แล้วความเป็นมนุษย์ของเรามันอยู่ตรงไหน ในเวลาที่เราเผชิญกับสถานการณ์ที่เราเรียกว่าวาระสุดท้าย เรื่องราวไร้สาระทั้งหลายมันถูกลอกถูกร่อนออกไปหมด มันไม่มาห่วงว่าเรา ขาว ดำ ผอม หน้าเรียวหรือเปล่า เราไม่ได้ห่วงเรื่องเกียรติยศ ชื่อเสียง หน้าตา หรือสมบัติอะไรแล้วเพราะเรื่องพวกนี้ถูกลอกออกไปหมด แต่สิ่งที่เป็นแก่นหรือเป็นแกนของมนุษย์เป็นสิ่งที่เราแคร์ ที่เรารู้สึกว่าอันนี้คือสาระสำคัญของการมีชีวิตอยู่
โดยส่วนตัวคุณหมอ คำว่าเรียนและเรียนรู้มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ผมอยากตีความว่าการเรียนอาจจะอาศัยความรู้ที่คนอื่นเขาสะสมมา แล้วเราก็ไปเรียน
ส่วนการเรียนรู้มันเป็นเนื้อเป็นตัวของเรามากกว่า เป็นการเดินทางของเราเองที่จะให้คนอื่นมาเดินแทนไม่ได้ คนอื่นอาจจะเคยได้บทเรียนแบบนี้ในชีวิตของเขา แต่เราไม่รู้สึกรู้สมไปกับสิ่งที่เขาได้เรียนรู้หรอก ถ้าตัวเราเองไม่ได้เรียนรู้เอง
ยกตัวอย่าง สตีฟ จอบส์ ที่สนใจอ่านหนังสือเรื่องเซน หรือเรื่องความตาย เขาคิดว่าตัวเองได้อ่านได้เรียนเรื่องแบบนี้ รวมถึงเรื่องการเผชิญความตายมาในระดับหนึ่งแล้ว แต่ในวันที่เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งในตับอ่อน และมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียงหกเดือน เขาก็บอกว่า ทำไมไม่เหมือนกับที่เรียนหรือที่อ่านมาก่อนหน้านี้ มันทำให้เขาลุกขึ้นมาตอนเช้าแล้วถามตัวเองว่า เรื่องที่ทำอยู่นี้มันใช่เรื่องที่ควรเสียเวลาทำไหม ถ้าคำตอบคือไม่ใช่ มันก็ควรจะเลิกทำแล้วหันไปทำอย่างอื่นได้แล้ว
เรื่องพวกนี้มันไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราเรียนจากการจำที่คนอื่นเขาบอกมา แต่เป็นเนื้อเป็นตัวของเราเอง ซึ่งการเรียนและการเรียนรู้อาจจะต่างกันอย่างนี้มั้ง
สำหรับผมรู้สึกว่าเวลาเราเรียนรู้ มันเหมือนกับเป็นการเดินทางสองเส้นทางต่อกัน เส้นทางภายนอกก็เรียนไป โลกมีอะไรให้เรารู้ ความรู้อื่นที่เขาสะสมมา เราทำราวกับว่ามันเป็นสุญญากาศไม่ได้ ทุกเรื่องที่เราเรียนเรารู้เป็นเรื่องใหม่หมดหรือเปล่า มันก็ไม่จริง มันก็มีภูมิปัญญาสะสมมาอยู่ตลอดในประวัติศาสตร์ของภูมิปัญญามนุษย์ แต่ขณะเดียวกันก็มีการเดินทางอีกอันหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครมาเดินแทนเราได้ ถ้าเราใช้ความรู้ของคนอื่นมันก็ได้ในระดับหนึ่ง แต่นี่คือการเดินทางของตัวเองซึ่งเรียกว่าการเรียนรู้ภายใน
เช่น ทำไมประชาธิปไตยบ้านเรามันจะมีแต่ความลุ่มๆ ดอนๆ เราก็ไปหาความรู้มา แต่ความรู้ทั้งหมดนั้นมันจะมีความหมายอย่างไรกับตัวเราเอง ต้องมีการทำงานอีกรอบหนึ่ง อันนี้ผมคิดว่าเป็นความสำคัญของการเรียนรู้
ในสังคมปัจจุบันเราจำเป็นต้องไปเรียนก่อนหรือเปล่าถึงจะออกไปเรียนรู้ หมายความว่าเรียนก่อนเพื่อให้รู้ว่าเราขาดอะไรจะได้ไปเรียนรู้เพิ่มเติม ในสิ่งที่เราอยากรู้จริงๆ
อันนี้ผมไม่ค่อยจะคิดอย่างนั้นนะ ผมรู้สึกว่าการแยกออกเป็นสองอันมันเป็นการแยกที่ผิดพลาด
มีหนังสือน่าสนใจอยู่เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือด้านมานุษยวิทยา ชื่อ ‘Learning in Likely Place’ การเรียนรู้ในที่ที่ควรจะไปเรียน การตั้งชื่อของหนังสือเล่มนี้หมายความว่าสถานที่ที่เราไปเรียนรู้ ทุกวันนี้มันอาจจะไม่เป็นสถานที่ที่ควรไปเรียนก็ได้นะ เช่น ไปถูกขังอยู่ในคอก
แต่หนังสือเล่มนี้มีตัวอย่างว่าการเรียนรู้ในจารีตของความรู้จริงๆ เขาทำกันยังไง บทความตอนหนึ่งเล่าถึงการเรียนรู้เรื่องศิลปหัตถกรรมของญี่ปุ่น คนเขียนไปทำวิจัยโดยไปเป็นศิษย์ของช่างกลุ่มนี้จริงๆ ก่อนจะพบว่าเขาเรียนไม่เหมือนที่เราเรียน หลักการข้อแรก เขาจะต้องเรียนวิธีก๊อปปี้ วันๆ ไม่ต้องทำอะไร ไปเอางานชั้นครูมาแล้วคุณก็ก๊อปปี้ให้มันเหมือน อย่าไปรีบครีเอทีฟ การที่เราจะครีเอทีฟได้ทักษะพื้นฐานเราต้องแน่น เลื่อยไม้ยังไม่ตรง เข้ามุมไม่สนิท คุณจะไปครีเอทีฟได้ยังไง เพราะงานชั้นครูมันต้องใช้ทักษะพื้นฐานขั้นสูง กว่าคุณจะทำให้เหมือนของเขาได้คุณต้องใช้สิ่ว ใช้ค้อน ใช้เลื่อย มันต้องฝึกซ้ำซากอยู่นั่น จนทักษะพื้นฐานเหล่านี้มันอยู่ในมือคุณ แล้วค่อยมาพูดถึงเรื่อง creativity กัน
มันมีอคติบางอย่างของการเรียนรู้สมัยใหม่ เรามักจะพูดกันว่าเรียนรู้แบบท่องจำหรือเรียนรู้แบบก๊อปปี้มันจะมีคุณค่าอะไร อันนี้ต้องตั้งคำถามไว้เยอะๆ เพราะมันจะสวิงไปสวิงมา บางครั้งมันเป็นไปตามอคติของยุคสมัยก็ได้
อคติของยุคสมัยคืออะไรบ้างคะ เช่น ดูถูกความรู้ชุดเดิม?
คือความรู้ชุดเดิมเราก็ไม่ใช่ว่าเราจะไปโรแมนติกกับมันได้สักขนาดไหนนะ เพราะมันก็มีความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามา ความรู้ชุดเก่าก็ถูกพิสูจน์ว่ามันอาจจะไม่ใช่ แต่มันก็มีแนวคิดชุดหนึ่งที่ศึกษาสิ่งที่เรียกว่า Presentism หรือ ปัจจุบันนิยม มันแปลว่า คิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบันมันดีที่สุด ซึ่งบางทีมันอาจจะไม่ดีที่สุดก็ได้ มันอาจจะมีอคติอะไรแฝงอยู่เยอะเลย อันนี้เราจำเป็นต้องรู้ทันมันพอสมควรเหมือนกัน
หรือหมายความว่าเราต้องรู้ภาคทฤษฎีถึงจะลงมือปฏิบัติได้
ที่สำคัญกว่ามันต้องวิพากษ์กันหน่อย ไม่ใช่เอาแต่รับมา มันก็ง่ายและเราก็ชอบที่จะถูกยืนยันว่าสิ่งที่เราเชื่ออยู่ในปัจจุบันมันถูก เพราะมันก็อุ่นใจดี ใช่ไหม
หลังๆ มาผมก็ไปอ่านบทความบทหนึ่งเขาบอกว่า แนวคิดที่แยกการเรียนรู้ โดยแบ่งเป็นฐานกาย ฐานใจ มันเหลวไหลทั้งปวงเลย งานวิจัยไม่มีการยืนยันในเรื่องนี้ มีแต่ว่าคนไหนที่ถนัดเรียนเรื่องนั้นก็จะรู้สึกว่ามันสบายที่จะไปเรียนด้วยวิธีการแบบนั้น แต่เมื่อติดตามประเมินผลในระยะยาว ก็ไม่ได้ดี ไม่ได้เป็นประโยชน์และทำให้การเรียนรู้ดีกว่าการเรียนที่มันต่างไปจากฐานที่เขาถนัด ดีไม่ดีการที่เราจำเป็นต้องไปเรียนฐานอื่นบ้าง มันอาจจะสำคัญมากก็ได้
ถ้าเราไปดูประวัติการศึกษาของแถบสแกนดิเนเวียน มีรูปแบบการศึกษาหนึ่งที่เรียกว่า Sloyd (สลอยด์) เป็นวิธีการสอนเด็ก เช่น เด็กเข้ามาเรียนชั้นประถมปุ๊บก็ให้ไปเรียนเป็นช่างไม้ตั้งแต่ทำอะไรไม่เป็น ประถมปลายอาจจะต่อเป็นกล่อง โตขึ้นมาหน่อยก็ต่อเป็นรถ มัธยมก็ทำโต๊ะตู้เก้าอี้ไปเลย การเรียนโดยการฝึกใช้มือมันแตกต่างจากการเรียนโดยการฝึกใช้หัว
การให้เด็กทุกคนเรียนแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าต่อไปทุกคนจะเป็นช่างไม้ทุกคน แต่เขาให้ทุกคนฝึกการเป็นช่างในตัวเอง ทำให้คนพวกนี้โตไปในอนาคตไม่ดูถูกงานช่าง แตกต่างจากบ้านเรา ช่างมีหน้าที่ซ่อมสิ่งที่ชำรุดเสียหาย แต่ไม่ใช่ช่างที่ทำงานสร้างสรรค์
ทำไมเราถึงมีเฟอร์นิเจอร์ดีๆ ที่ทำจากสแกนดิเนเวีย เพราะเมื่อคนไม่ดูถูกงานที่ใช้มือ คนที่มีความสามารถก็ได้รับการส่งเสริมในสิ่งที่เขาเป็น
การเรียนรู้ควรข้ามไปเรียนฝั่งอื่นบ้าง ไม่ใช่มามัวนั่งแยกฐานกาย ฐานใจ โอ้ย ฉันฐานใจจะไปให้นั่งคำนวณได้ยังไง ยิ่งต้องให้มาฝึกต้องผ่านความยากลำบาก จะไปเอาแต่ที่ตนถนัด ตนเป็น โลกของคุณก็จะแคบไปแคบมา จะเป็นคนที่ข้ามศาสตร์ข้ามสายไม่ได้
เหมือนกับความเป็นมนุษย์ ที่เราก็ต้องอยู่กับสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ ทำในสิ่งที่ไม่ได้เลือก
พอพูดถึงความเป็นมนุษย์ มันมีอะไรอยู่ในนี้เต็มไปหมด แต่เวลาเราพูดถึงเรื่องการศึกษาความเป็นมนุษย์ อยากให้มองความเป็นมนุษย์ว่าเป็นเรื่องศักยภาพ มันคือความเป็นไปได้ มันมีความเป็นไปได้อยู่ในคน ถ้าเราเห็นความเป็นไปได้เราก็เห็นว่าไอ้ที่เป็นอยู่เนี่ย มันมีความเป็นไปได้มากกว่านั้นอีก ไม่ใช่ว่าเขาเป็นแบบนี้เขาก็จะต้องเรียนรู้แค่แบบนี้
ถ้าคุณสร้างการศึกษาโดยวิธีคิดทำนองนี้ มันคือการศึกษาบนความเป็นไปไม่ได้ เด็กมันเป็นมาแบบนี้แล้วมันเป็นไปไม่ได้หรอกที่มันจะต้องเป็นอย่างอื่น หรือเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะไปเรียนด้วยวิธีอื่น ไม่ใช่ละ ถ้างั้นเราไม่ต้องการครูบาอาจารย์ที่เก่งในการอ่านเด็กใช่ไหม เห็นศักยภาพของเขา เห็นความเป็นไปได้ที่เขาจะไปไกลกว่านั้น
ผมเคยไปคุยกับคุณหมอเรื่องการแพทย์และสาธารณสุข หมอก็ถามผมว่าถ้ามีคนในหมู่บ้าน เกเร ไปข่มขืนลูกสาวชาวบ้าน แล้วเขาก็มาหาเรา แต่เราไม่อยากจะรักษาเขาเลย เราจะทำยังไง
ถ้าเราหลับหูหลับตารักษาเขาไปเหมือนซ่อมมอเตอร์ไซค์ ไม่รู้หรอกว่ามอเตอร์ไซค์ไปทำอะไรมาก็ซ่อมๆ ไป แต่นี่ไม่ได้ มันมีเรื่องราวแล้วเราจะทำยังไง ถ้าเราไปมองความเป็นมนุษย์ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ตายตัวเราก็จะเจอปัญหาอย่างนี้ แต่ถ้าเรามองว่ามนุษย์คือความเป็นไปได้ วันนี้เขาอาจจะเป็นแบบนี้แต่ก็เป็นไปได้ว่าต่อไปเขาอาจจะกลับตัวกลับใจได้ อาจจะกลายมาเป็นคนที่ช่วยเหลือคนอื่นได้ เป็นไปได้
บางทีคิดเอามันไม่เกิดหรอก มันอาจไม่เป็นความจริงที่คนคนนี้จะกลายเป็นคนประพฤติดีประพฤติชอบขึ้นมา แต่การคิดเช่นนั้นมันต่ออายุอุดมคติของเราได้ เรารักษาคนไข้ก็คิดว่าถ้าเขาหายเขาจะได้ไปดูแลครอบครัว แต่เขาจะดูแลหรือเปล่าเราไม่รู้ แต่การที่เราคิดเช่นนั้นมันหล่อเลี้ยงอุดมคติของเราให้มั่นคง มันก็คือการทำงานกับความเป็นมนุษย์ในตัวเรา อย่าเพิ่งสิ้นหวังกับมนุษยชาติ มองมันเป็นศักยภาพไป
ดังนั้นครูบาอาจารย์ในห้องเรียน บางทีก็อาจจะต้องมองแบบนี้ให้มากหน่อยว่า เขาจะงอกงามไปเป็นอะไรมากกว่าสิ่งที่เราเห็นในตอนนี้ สำหรับคนที่มีอาชีพครูบาอาจารย์ สิ่งตอบแทนสูงสุดในชีวิตเขาคือเห็นคนเติบโตงอกงามขึ้นมาต่อหน้าต่อตา
ซึ่งอาจไม่ต้องเป็นครูก็ได้ แต่เป็นคนในครอบครัว?
พ่อแม่ก็สำคัญ บางทีพ่อแม่ก็มีประสบการณ์ในช่วงชีวิตของตัวเองมาเพื่อนิยามความสำเร็จแบบหนึ่ง พ่อแม่มีชีวิตดิ้นรนอยู่กับการสร้างเนื้อสร้างตัวเพราะยุคสมัยเป็นแบบนั้น เวลามีลูกก็จะเป็นห่วงว่าลูกจะมั่นคงไหม ลูกจะต้องมาลำบากเหมือนเราไหม
ตอนผมเรียนแพทย์ จบมาก็ไปอยู่โรงพยาบาลอำเภอชนบท คลินิกก็ไม่เปิด โรงพยาบาลเอกชนก็ไม่ไป ต่างจากเพื่อนหมอที่อยู่จังหวัดเดียวกัน พ่อแม่เขาก็จะมาเล่าว่าลูกทำนั่นทำนี่ แม่ก็ฟังแล้วคิดว่าน่าจะรายได้ดีกว่าลูกเรานะ (หัวเราะ) แม่ก็คอยโทรมาถามว่าเป็นไง มีเงินไหม พอกินไหม มั่นคงหรือเปล่า
ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอก ตอบแม่ไปว่า ก็อยู่ได้ สบายๆ พี่ชายคนโตโทรมาบอกว่าแม่เป็นห่วง เอางี้ดีไหม โกมาตร เอาเงินมา 2,500 ทุกเดือน เขาจะเอาเงินอีก 2,500 มาใส่ แล้วก็ส่งไปให้แม่เดือนละ 5,000 ทุกเดือน เพื่อให้แม่รู้สึกว่ามีเงินส่งไปให้แม่ แม่เขาไม่ได้อยากได้เงินหรอกเพราะธุรกิจที่บ้านมั่นคงพอสมควร ผมก็บอกพี่ชายไปว่า แม่ไม่ได้ต้องการให้ทำแบบนั้น แม่ต้องการมั่นใจว่าเรามีความมั่นคงเท่านั้น เดี๋ยวผมจะแสดงให้แม่ดูเองว่ามันมั่นคงอย่างไร
เป็นธรรมดาเพราะเขานิยามความสำเร็จจากสิ่งที่เขาต่อสู้ดิ้นรน พอมาถึงยุคเรา เราก็นิยามความสำเร็จบนความดิ้นรนของเรา เช่น มีลูก เราอยากให้ลูกเราเป็น somebody เพราะเราเองต่อสู้มาจาก ไพร่ หรือพ่อค้าห้องแถว เรียนให้เก่งเพื่อให้สอบเอนทรานซ์ให้ได้ เอนทรานซ์เป็นด่านพิสูจน์เลยว่าเอ็งเป็น somebody หรือเปล่า ถ้าเอ็งสอบได้ถือว่าโอเค ผ่านด่าน ได้ไปต่อ จริตแบบนี้อยู่กับเรา วันๆ เราก็พาไปกวดวิชาตอนเช้า ตอนบ่ายเรียนเกาหลี ตอนเย็นเรียนยูโด กลางคืนเปียโนต่อคุมอง เอาให้โดดเด่นเป็นหลักประกันว่าต่อไปจะได้มีชีวิตอยู่ในสังคมแบบไม่ต้องมาดิ้นรนเหมือนเรา
ยิ่งถ้าเราไปเอาสคริปต์หรือบทที่เราเคยเล่นจนชำนาญมาเป็นบทให้ชีวิตลูกแสดง ยิ่งอันตราย เราไม่เห็นว่าลูกมีความเป็นไปได้ต่างจากคำตอบสำเร็จรูปที่คนรุ่นเราสร้างขึ้น เคยชินและคุ้นเคยกับมัน
เหมือนที่คุณหมอเคยเปรียบเทียบการเลี้ยงดู ระบบการศึกษาเหล่านี้ว่าเหมือนโดนดมยา
(พยักหน้า) ผมคิดว่ามีส่วน ไม่ว่าระบบการศึกษา หรือ ระบบงาน มันไม่อนุญาตให้เราได้ทำอะไรตามความรู้สึกสักเท่าไหร่ เหมือนเราก็เดินไป ไม้รู้สึกรู้สมกับสิ่งที่อยู่ข้างทาง
อาจจะเป็นผลของการศึกษาแบบหนึ่งก็ได้ คือการศึกษาที่ไม่เน้นให้เรากลับไปหาสิ่งที่เรามุ่งมั่น สิ่งที่เรามีแรงปรารถนาที่อยากจะทำ พอเราไม่ได้รู้สึกกับเรื่องที่เราเรียน เราก็ไม่ต้องมารู้สึกกับเรื่องที่เราทำ
ผมย้อนกลับไปนึกถึงการเรียนแพทย์ของตัวเอง ผมไม่มีความทรงจำที่รู้สึกว่ามันมีประสบการณ์บางอย่างที่ทำให้ผมอยากจะเป็นแพทย์อย่างมาก ผมกลับมีความรู้สึกว่าผมพร้อมที่จะเป็นแพทย์มากตอนผมอายุ 40 ปลายๆ ผมรู้สึกว่าความงดงามของการเป็นแพทย์ มันไม่เคยปรากฏ เราเรียนแพทย์เหมือนเราเรียนเป็นหุ่นยนต์มากกว่า ซึ่งถ้าผมมีความรู้สึกเหมือนตอนที่ผมอายุ 40 ปลายๆ ถ้าความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นตอนผมเรียนแพทย์ ผมก็จะเรียนอีกแบบหนึ่ง ผมคงจะมีความสนุกกับมัน มีความรู้สึกถึงความอัศจรรย์ของวิชาการมากกว่านี้ มากกว่าเรียนเพื่อที่จะสอบให้ผ่าน ให้ได้เกรด แล้วก็เรียนจบไป
ระหว่างที่เรียนมัธยมได้อ่านหนังสือหมอเมืองพร้าว และ หมอแมกไซไซ ชีวประวัติของนพ.กระแส ชนะวงศ์ เขียนโดย คุณสุมิตร เหมะสุธน ก็รู้สึกว่าเป็นหมอก็ช่วยคนได้เยอะดี อำเภอพร้าวทั้งอำเภอมีหมออยู่คนเดียว สู้มันทุกเรื่อง โรคติดต่อ โรคระบาดยันสุขภาพความเป็นอยู่ ชาวบ้านถูกนายทุนเอาเปรียบ ทำให้เราสนใจ แต่พอมาเรียนในมหา’ลัย มันไม่มีอะไรมาหล่อเลี้ยงอุดมคติเหล่านี้ มีแต่เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตร ค่ายชนบท
เอาเข้าจริง การเรียนในหลักสูตร มันแทบไม่ได้เป็นแรงบันดาลใจ ทั้งที่เราเดินอยู่ในโรงเรียนแพทย์ มีทั้งห้องประชุม ห้องสมุด มีชื่อคนนั้น คนนี้ แต่เราไม่เคยได้ฟังว่าคนคนนี้ ได้ทำอะไรบ้าง
มีหมอที่รวมตัวกันออกไปผ่าตัดซ่อมเด็กหูน้ำหนวกทุกปี เราไม่เคยรู้ เราก็เรียนของเราไป ตะบี้ตะบัน ถามว่าเรียนแพทย์จบมามีบุคคลในอุดมคติไหม ก็มี 2 คนที่อ่านในหนังสือ ส่วนที่เห็นตัวเป็นๆ ได้เรียนรู้กับเขาในโรงเรียนแพทย์ ผมไม่รู้จักเลย ไม่ใช่ไม่มีนะแต่หลักสูตรไม่ได้ให้ความสำคัญ รู้แต่เด็กนักศึกษาเข้ามานั่งคุยกันว่าอาจารย์คนนี้นะเว้ย อยู่เอกชน กระจกหน้ารถเบนซ์มีป้ายจอดรถโรงพยาบาล 5 ดาว อยู่กี่อัน มันเป็นระบบการศึกษาที่ไม่ได้หลอมหัวใจเรา
แต่คุณหมอรู้สึกพร้อมที่จะเป็นแพทย์ก็ตอนไปเรียนต่อด้านมานุษยวิทยา?
มันก็มีส่วนนะ พอเราไปเรียนเราก็รู้สึกว่าการแพทย์มันเป็นศิลปะจริงๆ เพราะคนแต่ละคน ไม่เหมือนกัน โรคที่เขาเป็น เป็นโรคเดียวกัน แต่ประสบการณ์ความเจ็บป่วยและความทุกข์มันไม่เหมือนกันเลย เราชนชั้นกลางไส้ติ่งอักเสบก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ ชาวบ้านในชนบทเป็นก็อีกเรื่องหนึ่ง
ยุคสมัยก็เกี่ยว คนติดเชื้อเอดส์สมัยหนึ่งอยู่ในโลกแห่งความโกรธ เกลียดและกลัว เวลาผ่านไป 20 ปี ปัจจุบันประสบการณ์ความเจ็บป่วยก็เปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
ทางการแพทย์ คนเป็นโรคเดียวกันแต่วิธีการที่เราจะดูแลเขาเราต้องเป็นศิลปินที่จะสร้างสรรค์การดูแลที่เหมาะกับเขา
เราต้องเป็นศิลปินออกแบบสร้างสรรค์การดูแลให้เหมาะกับคนไข้ ยกตัวอย่าง คุณยายเป็นมะเร็งที่ผิวหนังใต้ตา ในทางการแพทย์ไม่ได้ร้ายแรงอะไร หมอนัดทุกอย่างแล้วก็ไม่ยอมมา ทางการแพทย์ถือว่าเคสแบบนี้คือคนไข้ดื้อ ไม่รักตัวเอง โรครักษาได้ก็ไม่ยอมมา แต่พอตามไปดูที่บ้าน พบว่า คุณยายคนนี้มีหลานสองคนที่พ่อแม่ทอดทิ้ง ยายต้องดูแลทุกวันตั้งแต่เล็ก ถ้าเรานัดเขามาผ่าตัด พักฟื้นหลายวัน หลานจะอยู่อย่างไร พอเราเจอแบบนี้ก็ต้องคอยแก้ปัญหาอื่นๆ ดูว่าเขามีญาติไหม หรือให้หลานๆ มานอนด้วยที่โรงพยาบาลเลย
มันเห็นความเป็นไปได้มากขึ้น เห็นชีวิต ความเป็นมนุษย์ สังคมความเป็นอยู่ที่เขามี จะทำให้เห็นได้ชัดขึ้นว่าการแพทย์เป็นศิลปะจริงๆ มันต้องการครีเอทีฟที่จะมาสร้างสรรค์กระบวนการเยียวยาที่มันงดงามและมีประสิทธิภาพ เอาความรู้ทางการแพทย์มาใช้ให้เป็นประโยชน์
ซึ่งถ้าเราสามารถเร้าให้นักศึกษาไม่เฉพาะแพทย์ ทำให้เขาได้เห็นว่า วิชาของเขามันงดงาม และมีแต่ความเป็นไปได้ สิ่งนี้ก็เป็นอาวุธที่ใช้ในการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ การเรียนแบบนี้ทำให้คนกล้าคิด กล้าครีเอท ไม่ใช่เรียนมาเพื่อผลิตซ้ำความรู้แบบเดิมๆ
ในความเห็นของคุณหมอ อุปสรรคที่กั้นไม่ให้เราค้นหาศักยภาพตัวเอง คืออะไรบ้าง
เวลาที่ผมชวนคนอื่นคิดเรื่องนี้ ก็มักจะได้ยินว่า ถ้าให้แพทย์ดูแลลงไปถึงความเป็นมนุษย์ขนาดนั้นน่าจะตายก่อน เพราะแค่นี้ก็รักษาจะไม่ทันกันอยู่แล้ว คนไข้วันละ 100-200 คน บางครั้งแพทย์พยาบาลก็ต้องปักน้ำเกลือขึ้นวอร์ดก็มี ซึ่งจุดนี้มันมีสองแง่มุม
แง่หนึ่งการดูแลในฐานะผู้สร้างสรรค์กระบวนการเยียวยา ได้ครีเอทวิธีการใหม่ๆ มันเป็นพลังมากๆ มีตัวอย่างที่วอร์ดผู้ป่วยเด็กมะเร็ง จุฬาฯ เด็กๆ เหล่านี้จะร้องตลอดเวลา เพราะเขาไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว พ่อแม่ก็เศร้า เพราะเห็นลูกป่วย จึงมีโครงการขึ้นมาที่ตอบโจทย์ความเป็นมนุษย์มากขึ้น เช่น พาเด็กไปเที่ยวพร้อมพ่อแม่พี่น้องของเขา ไปทะเล ไปเล่นน้ำ ไปวิ่งเล่น กลับมากลายเป็นว่ามีแรงสู้มากขึ้น ฉะนั้นบางทีมันก็ไม่ได้ตรงไปตรงมา บางอย่างก็เป็นอุปสรรคจริงๆ ที่หนีไม่ได้ เช่น เรื่องงบประมาณ แต่พอได้ทดลองทำแล้ว มันพาไปเจอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่มันทำให้เราไม่ยอมแพ้
แง่ถัดมา ก็ต้องยอมรับว่าระบบมันก็ยังไม่เอื้อขนาดนั้น มันเป็นเรื่องที่จะหาคนตำหนิ ต่อว่าก็ยาก ระเบียบราชการก็แน่นหนาขึ้น ความคาดหวังเยอะขึ้น พอเจอเรื่องที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ร้องเรียน ฟ้องร้อง มันบั่นทอนจิตใจพวกเรา เหนื่อยกับสภาพที่เป็นอยู่ (เศร้า) แต่มันก็เป็นเรื่องธรรมดา บางช่วงก็มีความหวังมากหน่อย บางช่วงก็ไม่มี มนุษย์มีความสามารถหนึ่งที่ติดตัวมา คือการเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ
แล้วอุปสรรคการค้นหาศักยภาพด็กไทย คืออะไร
ผมคิดว่ามีเหตุผลที่มันสร้างสภาพที่เราเจอ คือ ‘สภาพที่ไร้พลังสร้างสรรค์’ ครอบครัว เป็นส่วนสำคัญ ผมรู้สึกว่าครอบครัวปัจจุบันผลักภาระการเลี้ยงดูไปให้โรงเรียนเยอะ คาดหวังจากโรงเรียนเยอะ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโรงเรียน ผมเคยเข้าไปนั่งเรียนกับลูก สมัยเรียนที่เมืองนอก อย่างน้อยอาทิตย์ละวัน ไปนั่งช่วยจัดของ ช่วยดูแล ทำให้เราได้เห็นบรรยากาศ สภาพห้องเรียน และเห็นว่าครูปฏิบัติต่อลูกเราอย่างไร
พอย้ายกลับมาที่ไทย เรียนโรงเรียนในอำเภอหนึ่ง ผมเสนอให้แม่บ้านที่ว่างๆ เข้าไปเป็นอาสาสมัครในโรงเรียน เขาก็ไม่อนุญาต สังเกตได้จากทางขึ้นตึกที่มีป้ายแปะไว้เลยว่า “ผู้ปกครองห้ามเข้า” แต่ผมก็เข้าใจนะ เพราะถ้าเปิดให้พ่อแม่เข้ามา เขาก็จะดูแลแต่ลูกเขาคนเดียว โดยที่ไม่สนใจลูกคนอื่น
ผมก็ไม่แน่ใจว่าไอเดียแบบนี้จะเหมาะกับทัศนคติที่ไหลเวียนอยู่ในประเทศไทยได้หรือเปล่า มันเลยทำให้ระบบการศึกษาไทยเป็นแบบนี้
ในต่างประเทศ ถ้าผมจำไม่ผิดประเทศยุโรปประเทศหนึ่ง รถติดมาก ลองจัดระบบการเข้างานให้เหลื่อมกัน โดยเข้าเรียน 7 โมงครึ่ง พนักงานออฟฟิศเข้า 9 โมง โรงงานเข้า 10 โมง จากนั้นก็เริ่มศึกษาว่า เวลาชีวิตของหนึ่งครอบครัวจะเป็นอย่างไร ปรากฏว่าวิธีนี้ทำให้เวลาคุณภาพของสมาชิกครอบครัว พ่อแม่ลูกลดลงไป เขาจึงไม่สานต่อนโยบายนี้
รวมถึงบ้านพัก ที่เปิดให้เช่า ถ้ามามากกว่าหนึ่งเจนเนอเรชั่น มาเป็นครอบครัว ค่าเช่าก็จะถูกลงมาก เช่นเดียวกับรถไฟที่ตีตั๋วแบบครอบครัวก็จะถูกลงเพราะส่งเสริมให้ไปกันแบบครอบครัว แต่ประเทศไทยชีวิตครอบครัวยังล้มเหลวในเชิงการจัดการให้ครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกัน สิ่งที่ตามมาคือพ่อแม่ไม่เข้าใจลูก ไม่เห็นศักยภาพของลูกรวมถึงเวลาที่จะเรียนรู้ลูกด้วยตัวเอง สร้างสรรค์วิธีเลี้ยงลูกที่ไม่สำเร็จรูปเกินไป
พูดง่ายๆ เหมือนสังคมแบบปรนัย วันหยุดไม่ดูทีวีก็ไปห้าง เราเหน็ดเหนื่อยจากงานที่เราทำ เสาร์อาทิตย์วันหยุดต้องไปซื้อกับข้าวมาตุนเพราะวันอื่นไม่มีเวลาไป โลกยิ่งซ้ำเติมเข้าไปใหญ่
รวมถึงระบบโรงเรียน ที่ยังเน้นให้การบ้านต้องถูก ถ้าทำผิดนั่นคือความผิดของเด็ก จริงๆ ถ้าผิดก็ให้เรียนรู้ไปว่าผิด ใช้อักษรอะไรให้ถูกก็เรียนรู้ไป
ยกตัวอย่าง ตอนลูกผมกลับมาเรียนที่เมืองไทย ผ่านไป 6 เดือน วันหนึ่งเขาบอกว่าไม่อยากไปโรงเรียนในวันจันทร์ ขอไปเรียนตอน 10 โมงได้ไหม เพราะตอนเช้าวันนั้นมีวิชาศิลปะ เขาไม่อยากไปเรียน
เราก็แปลกใจ ให้เขาไปหยิบสมุดวาดรูปมาให้ดู พอมาเปิดดูพบว่า ครูให้คะแนนรูปวาด 3/10 แถมครูยังบอกว่าลูกผมวาดรูปขี้เหร่ที่สุดในห้อง ผมก็ถามเขาว่า แก่น (ลูก) วาดอะไร แก่นตอบว่า ครูให้วาดรูปโจทย์วันแม่ แก่นจึงวาดรูปคุณยายที่ยืนอยู่หน้าประตู แล้วให้เงินตอนแก่นขึ้นรถสองแถวไปเรียน
ตั้งแต่เรียนอยู่ที่อเมริกาไม่มีหรอกคนแก่ที่รักเด็ก พอเขากลับมาเมืองไทย คุณยายจะตื่นเช้ามาให้เงินเขาไปโรงเรียน ไปซื้อขนมกิน เกิดมาเขาไม่เคยได้รับสิ่งนี้ นี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของเขาตั้งแต่กลับมาเมืองไทย ผมก็เลยไปถามครูคนนั้นว่า มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมลูกผมถึงไม่มีความสุขในการวาดรูปอีกแล้วทั้งที่แต่ก่อนเขาชอบมาก
ครูก็ยอมรับกับผมตามตรงว่า จริงๆ แล้วครูเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ ซึ่งพาเด็กไปสอบวิทยาศาสตร์ ได้รางวัลกลับมามากมาย ผอ. ก็เลยให้มาช่วยสอน ครูก็สอนด้วยการไปซื้อโปสเตอร์เกี่ยวกับรูปศิลปะสำเร็จรูปมานั่งศึกษาและพบว่า รูปที่จะแข่งแล้วชนะ จะต้องเป็นรูปใหญ่ๆ ต้องฝนสีให้เต็มอย่าให้มีรูรั่ว ส่วนโจทย์วันแม่ที่ครูมอบหมายให้นักเรียนวาด รูปที่ครูคิดว่าดีคือรูปที่มีแม่ มีพวงมาลัย มีลูกนั่งข้างๆ อยู่ในบ้านที่มีเฟอร์นิเจอร์ นอกบ้านต้องมีต้นไม้ มีธรรมชาติ
ผมก็ถามต่อว่า ครูครับ รูปวาดที่ครูต้องการมีเด็กสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่จะวาดได้ ครูก็ตอบทันทีว่า ‘โอ้ยมีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์หรอก’ งั้นแสดงว่าสิ่งที่ครูกำลังทำอยู่ ครูกำลังทำร้ายเด็กอีก 95 เปอร์เซ็นต์ ให้เขารู้สึกเกลียดศิลปะใช่ไหม?
ซึ่งสิ่งนี้ไม่น่าจะถูกต้อง เราจะไปรู้ได้ไงว่าภาพดอกทานตะวันของแวนโกะห์มันมาจากความรู้สึกอะไร เพราะศิลปะมันมีเพื่อรับใช้มนุษย์ การที่ครูตัดสินให้คะแนนเด็ก โดยไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ที่มาที่ไป มันจะทำได้อย่างไร รูปที่แก่นวาดอาจจะเป็นประสบการณ์ที่ใกล้กับความเป็นแม่มากที่สุดก็ได้
หลังจากนั้น ลูกผมก็ได้คะแนนเต็ม 10 หมด ซึ่งไม่รู้เป็นวิธีแก้ที่ถูกต้องหรือเปล่านะ (หัวเราะ) แต่ทุกวันนี้ลูกผมก็ทำงานเป็นกราฟิกดีไซน์
ระบบโรงเรียนมันก็คงเป็นแบบนี้ด้วย ระบบที่สำเร็จที่ถูกนิยามไว้ล่วงหน้าว่าเด็กทำสิ่งนี้ถึงจะดี ถึงจะใช่ เราก็แค่ทำคำตอบสำเร็จรูปที่ครูมี เป็นการเรียนแบบปรนัย คิดดูสิขนาดวิชาศิลปะยังต้องมีปรนัย
สุดท้าย เพื่อให้เข้าใจในความเป็นมนุษย์ (ที่แปลว่าเป็นไปได้) คุณหมอจึงมีโครงการให้แพทย์ ‘เล่าเรื่อง’ อยากให้คุณหมออธิบาย และอะไรคือเป้าหมายปลายทาง
ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐ จะมีความรู้ 2 ชุดที่ครอบงำ อย่างแรกคือแผนบริหาร การจัดการองค์กรสมัยใหม่ ซึ่งเน้นหนักไปที่กระบวนการสร้างมาตรฐาน เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมาตรฐานเป็นสิ่งประกันคุณภาพ ถ้าหากโรงพยาบาลไม่มีมาตรฐานเลย ไม่มีการวางระบบ ก็จะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
แต่ในกระบวนการพัฒนาระบบเหล่านี้ เราใช้ระบบการประเมินในเชิงปริมาณทั้งหมด หมายถึงทุกอย่างถูกทอนมาเป็นตัวเลข ตัวชี้วัด เมื่อเรามีชีวิตอยู่ในองค์กรทุกอย่างจะมีความสำคัญเมื่อถูกนับได้ ไม่ว่าจะ KPI หรืออะไรก็ตาม ชีวิตเราถูกลดทอนเป็นตัวเลขลงไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่แปลว่าจะดีเสมอไป
ถามว่า ชีวิต ความเจ็บป่วย การสูญเสีย ที่ต้องเผชิญ มันมีเครื่องมือที่ใช้วัดเหรอ?
อ๋อ แม่ตายเหรอ ไหนลองทำแบบประเมินความสูญเสียซิ เราจะได้ประเมินและวัดการเยียวยาคุณ ซึ่งกระบวนการพวกนี้มันทำลายความเป็นมนุษย์ ความรู้สึกของคน ซ้ำเติมเข้าไปอีก เมื่อเราพูดถึง narrative หรือ เรื่องเล่าการดำเนินชีวิตผู้คนในโรงพยาบาล เราจำเป็นต้องใส่ใจ เพราะตัวเรื่องมันมาชดเชยสิ่งที่ตัวเลขไม่มี ถ้าเราจะให้แพทย์ พยาบาล ทำงานโดยเอาแค่ตัวเลขอย่างเดียว ป่วยมาก็ดูแค่เลือดกี่เปอร์เซ็นต์ โดยไม่คำนึงถึงเรื่องราวอื่นๆ ในชีวิตเลย คุณไม่ต้องเข้าใจ ไม่ต้องใส่ใจ แบบนั้นก็ไม่ต้องมีหมอก็ได้ มีแค่คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวก็พอ
ผมเคยเจอผู้หญิงคนหนึ่งเป็นมะเร็งกระดูก ถูกตัดขาจนเสมอต้นขา แม่เป็นมะเร็ง พี่สาวล้มละลาย ชวนกันไปซื้อยาฆ่าแมลงกินให้ตายๆ ไป แต่แม่ห้ามไว้ ผมไปเยี่ยมแก แกนั่งเย็บผ้าของแกไป ผมถามเขาว่ามีความฝันอะไรอีกไหม เขาบอกว่ามีหลานอยู่คนหนึ่งเรียนใกล้จบปริญญาตรีแล้ว ทุกวันที่นั่งเย็บผ้าก็เพื่อส่งหลานเรียนให้จบ ซึ่งเป็นหลานคนเดียวในตระกูลที่จะเรียนจบปริญญา
นี่คือเรื่องราวที่ถ้าเราทำงานอยู่กับตัวเลข เราจะไม่มีทางรู้เลย และมันสำคัญมากสำหรับเราที่มีหน้าที่ดูแล เยียวยาพวกเขา มันทำให้เรารู้สึกมีคุณค่าที่เราได้ดูแลเขา ไม่งั้นก็คงไม่ต่างกับการซ่อมเครื่องจักร เพราะเราทำงานกับมนุษย์ มนุษย์มีเรื่องเล่า เราไม่รู้เลยว่าเรื่องนี้มันจะไปจบลงตรงไหน รู้แต่ข้อมูลเชิงปริมาณ รู้ระดับน้ำตาล รู้ตัวเลขมากมาย แต่ไม่รู้เลยว่า ผู้หญิงคนนี้เคยผ่านปัญหาอะไรมาบ้าง
เราในฐานะแพทย์ ความเจ็บปวดไม่ได้อยู่แค่ในร่างกายแต่มันอยู่ในชีวิต ถ้าเราไม่สนใจ story เราจะเข้าใจคนได้อย่างไร
เรื่องเล่าช่วยถอนพิษชีวิตได้ ต่างจากตัวเลขซึ่งไม่เหลือเรื่องราวที่เชื่อมโยงไปถึงความเป็นมนุษย์ ความเป็นคนได้เลย
นี่เป็นสิ่งที่เราพยายามฝึกทักษะ การฟัง การเขียน ให้หมอพยาบาลเป็นนักเขียนก็ได้ เพราะผมเชื่อว่าถ้าคุณมีสายตาของนักเขียน คุณจะมีชีวิตอีกแบบหนึ่ง ถ้าคนป่วยเดินเข้ามา เราจะไม่ได้สนใจแค่บัตรผู้ป่วย แต่เราจะมองไปถึงเสื้อผ้าที่เขาใส่ สีหน้าแววตาเขาต่างกับเดือนที่แล้วที่เจอไหม แววตาเขาบอกความฝัน ความทุกข์ อดีตที่ตามมาหลอกหลอนเขาหรือไม่ แล้วอนาคตอะไรที่เขายังเป็นห่วงอยู่
การเขียนจะทำให้มีมุมมองของความอยากรู้อยากเห็น การเขียนคือการเอาตัวเราเข้าไปอยู่ในเรื่องราวของเขา คือการเอาตัวเราเข้าไปนั่งในตัวเขา ถ้าเราฝึกบ่อยๆ empathy หรือการเข้าอกเข้าใจ จะเกิด
เราไม่ต้องสูญเสียลูก แต่เราจะเข้าใจได้ทันทีเลยว่าความรู้สึกเหล่านั้นมันเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกอาชีพ