จากประสบการณ์ทำงานตรวจคนไข้ในแผนกจิตเวชแบบไม่อั้นกว่า 30 ปี คุณหมอสรุปว่า “ระบบการศึกษาสร้างเด็กป่วยจำนวนมากพอแล้ว” คุณหมอมักจะตอบซ้ำๆ ว่า “ถ้ามีความรู้เรื่องพัฒนาการเด็กสักนิด และผ่อนคลายระบบการศึกษาซะหน่อยให้ทุกคนหายใจโล่งขึ้นอีกหน่อย ของมันสบายๆ รอได้” แต่พ่อแม่และครูต่างหาก ไม่ชอบรอ เมื่อไม่ยอมรอ บวกกับสภาพบ้านเมืองที่ไร้เสรีภาพ โดยเฉพาะด้านความคิดและการศึกษา ปลายทางคือ การศึกษาแบบ 0.4 ในประเทศไทยซึ่งตั้งธงไว้ที่ 4.0
ฤดูสอบเข้าแสนเครียดเวียนมาถึง ถึงคิวของเด็กๆ ม.3 ป.6 และอนุบาล เตรียมลงสนามรบ เอ๊ย! สนามสอบ เพื่อแย่งชิงเก้าอี้ที่มีจำกัดในโรงเรียนเด่นดัง
ที่เครียดพอๆ กับเด็กหรืออาจจะมากกว่าคือพ่อแม่ ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ลูกเป็น ‘ผู้แพ้’ ในสนามสอบที่ผู้ชนะย่อมมีน้อยกว่า
อดีตหัวหน้าภาควิชาจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ไม่เพียงเฝ้าดูปรากฏการณ์เช่นนี้มากว่า 30 ปี แต่ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าไปแก้ปัญหาปลายทางอย่างอัตโนมัติ
“คิวผู้ป่วยจิตเวชเด็กที่โรงพยาบาลยาวขึ้นเรื่อยๆ ครูทุกโรงเรียนส่งเด็กมาทุกวัน วันละเยอะๆ ส่วนใหญ่สงสัยเรื่องสมาธิสั้น อะไรจะสงสัยกันได้เยอะและเร็วขนาดนั้น เป็นสังคมที่ไม่ปกติ คุณพ่อคุณแม่ไม่เป็นตัวของตัวเอง ครูบอกให้มาโรงพยาบาลก็มา เป็นความทุกข์กันถ้วนหน้า”
เมื่อต้องมาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่ตรวจคนไข้ทุกวันแบบไม่อั้น ไม่กำหนดโควตา และไม่มีคิว เป็นอย่างนี้มากว่า 30 ปี คิดอย่างเดียวว่า “อย่างไรวันหนึ่งก็คงต้องแพ้”
หลังเกษียณ คุณหมอจึงเปิด ‘โรงเรียนพ่อแม่’ เพื่อปูพื้นวิชาพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองให้ลองตั้งต้นกันใหม่ โดยไม่หวังพึ่งการศึกษาไทยที่ปฏิรูปแล้วปฏิรูปอีก (ให้ไม้ยมกไปอีก 10 ตัว)
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนไข้เด็กในแผนกจิตเวชจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะนโยบาย (ตอบทันที) เกิดจากระบบการศึกษาที่เป็นแบบนี้ ตัวชี้วัดเป็นแบบนี้ คะแนน O-NET A-NET ต้องได้เท่านี้ เด็กต้องได้เกรดเท่านี้ที่เหลือถือว่ามีความบกพร่อง ใช้คำนี้แล้วกัน
ตัวระบบการศึกษามีตัวชี้วัดแบบนี้ แล้วถูกซ้ำเติมด้วยนโยบายคัดกรองผู้ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือออกมาแล้วส่งไปบำบัด โอเค ประโยคมันฟังดูดี แต่ขอโทษ ความจริงคือผู้ให้ความช่วยเหลือมีจังหวัดละคนเดียว จิตแพทย์เด็กไม่ได้มีเยอะ หลายจังหวัดไม่มีด้วยซ้ำ ที่มีงานก็ล้นตัว
งานจิตแพทย์เด็กเป็นงานที่รีบทำไม่ได้ ไม่เหมือนการจิ้มหูฟัง ต้องค่อยๆ พูด ค่อยๆ คุย ถ้าจะทำให้ได้มาตรฐานต้องส่งตรวจทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา แต่ละคนใช้เวลาเป็นชั่วโมง รีบไม่ได้ ฉะนั้นถ้าเรามีระบบการศึกษาที่มีตัวชี้วัดแบบนี้ เรียนไม่เก่ง คัดออก ตั้งสมมุติฐานว่าเป็นผู้ป่วย มีนโยบายคัดกรองแล้วฝันว่าจะมีระบบการช่วยเหลือที่ดี ความจริงคือมันไม่ดี (ย้ำ) ทั้งไม่ดีและไม่พอเพียง ระบบก็ล่ม
หรือจริงๆ แล้วสภาพจิตของเด็กเอง ก็เปลี่ยนไปด้วยมั้ยคะ
ผมมีสมมุติฐานว่า ไม่ได้มากขึ้น ความคาดหวังของพ่อแม่และครูต่างหากที่มากขึ้น และมากผิดปกติ เอาเฉพาะเรื่องเดียว การเรียนก่อน 7 ขวบ เด็กคนไหนทำไม่ได้และถูกคาดหวังว่าเขาต้องทำได้ เช่นนี้เรียกว่าการคาดหวังที่มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือจิตวิทยาพัฒนาการ กระทั่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทุกคนก็รู้กันอยู่ว่าก่อน 7 ขวบเราไม่เรียน เราไม่ใช้การอ่านการเขียนการคิดเลขเป็นตัวชี้วัด เราเล่นกันอย่างเดียว…
จับเข้าห้องเรียน มองกระดาน อ่าน เขียน บวกเลข 4 หลักให้ได้ภายในอนุบาล 3 ทำนองนี้ นี่เป็นความคาดหวังที่ผิด ไม่ปกติ
ความคาดหวังที่สูงขึ้นทำให้เด็กถูกกระทำ ในทางตรงข้าม ปล่อยเด็กวิ่งเล่นที่เนินหญ้า ฝึกใช้กล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก การเรียนรู้ในธรรมชาติ เด็กๆ ทุกคนไปได้เอง
ขณะที่เด็กและพ่อแม่บางกลุ่ม ได้รับการศึกษาทางเลือก ความรู้ใหม่ๆ อย่าง EF (Executive Function), ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ฯลฯ แต่ทั้งหมดยังต้องอยู่ในระบบเดิมๆ อย่างนั้นแล้วจะไปต่อได้อย่างไร
กระบวนทัศน์เดิม พ่อแม่เป็นผู้กำหนดเป้าหมายให้ลูกว่าโตขึ้น ควรเรียนสาขานี้ ทำงานแบบนี้ จะได้มีฐานะแบบนี้ อันนี้เป็นค่านิยมและวัฒนธรรมของประเทศไทย ซึ่งวัดกันที่สถานะและการเงิน ก็เกิดการแข่งขันชิงดีชิงเด่นรุนแรงตั้งแต่อนุบาล แม้กระทั่งการติว การกวดวิชา พวกเราเข้าในไลน์กลุ่มผู้ปกครองก็จะเห็น การปิดบังติวเตอร์ ไม่บอกเพื่อนว่าติวที่ไหนดี พวกนี้เป็นวัฒนธรรมที่ไม่ปกติ ทั้งหมดนี้อยู่บนกระบวนทัศน์เดิมที่เชื่อว่า เรียนเก่ง สถาบันดี เกรดสูง มีคอนเน็คชั่น จบออกไปแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย
คงจะจริงในคนรุ่นผม มีส่วนอยู่บ้าง แต่ผมเชื่อว่าศตวรรษนี้ไม่จริง ตัวแปรที่มากับโลกสมัยใหม่สูงมาก แล้วเรากั้นเด็กไม่ได้เลย เด็กสมัยนี้ไม่ได้เซ่อซ่าเหมือนผม ผมไม่รู้อะไรเลย เรียนอย่างเดียว เด็กสมัยนี้อยากรู้อะไรหากูเกิล กำหนดเป้าหมายเอง ครูที่โรงเรียนทุกวันนี้ต่างหากที่ให้ไม่ได้ พ่อแม่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว
พ่อแม่ส่วนใหญ่มีข้อมูลมากขึ้น แต่พ่อแม่รุ่นเก่ากว่านี้ ยังมีส่วนในการกำหนดอนาคตลูก หรือเราต้องรอผลัดรุ่นหรือเปล่า
ผมไม่คิดว่าเรารอได้ เพราะตอนนี้การแข่งขันมันเกิดขึ้นรุนแรง เราจะมานั่งงมอยู่ประเทศเดียวไม่ได้แล้ว ถ้าของเรา EF ยังไม่ดี เราถูกแย่งงานในตลาดอาเซียน คนยังไม่เห็นภาพพวกนี้เฉยๆ เราเป็นฐานเงินเดือนของบัณฑิตประเทศอื่นแล้ว ยังไม่มีใครวาดภาพโครงสร้างพวกนี้ออกมาให้เราดูชัดๆ ฉะนั้นมานั่งรอให้หมดอีก 1 เจนเนอเรชั่นจึงไม่น่าจะได้
กระบวนความคิดแบบไทยๆ เป็นอุปสรรคต่อ EF มากน้อยแค่ไหน
ความคิดแบบไทยๆ แปลว่าอะไร
เช่น การศึกษาแบบไทยๆ โรงเรียนดี มหาวิทยาลัยดี งานดี และมีคอนเน็คชั่น?
เป็น… ความคิดและค่านิยมแบบนั้น จะไปจำกัดความคิดเชิงวิพากษ์ criticize thinking มันแคบเกินไป หากทำสำเร็จก็ดีใจด้วย แต่ตอนนี้เรากำลังพูดถึงระดับประเทศ คนทำไม่สำเร็จมีเยอะกว่าคนเรียนเก่ง เด็กที่เข้าสถาบันดีๆ ไม่ได้ เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ไม่ได้ คอนเน็คชั่นไม่ดี เอาเขาไปเก็บไว้ที่ไหน สังคมแบบนี้ไม่ถูก นี่ต่างหากทรัพยากรสำคัญของประเทศชาติ
คนที่แพ้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ self esteem (ความนับถือตัวเอง) ไม่ดีแน่ๆ แล้วก็เป็น self esteem ที่ไม่มีทางแก้ด้วยเพราะเด็กพวกนี้ส่วนใหญ่ เค้ารู้อยู่แก่ใจว่าพ่อแม่มีเงินเท่านี้ ฐานะเท่านี้ จ่ายค่ากวดวิชาติวเตอร์ได้แค่นี้ เขาไม่มีความหวังเลยว่าจะเข้าสู่สถาบันหรือมหาวิทยาลัยดีๆ ได้
ถ้าเข้าใจแผนภูมิ EF ก็จะเข้าใจว่า self esteem เป็นบันไดก่อนจะไปสู่ EF อยู่แล้ว ดังนั้นคำถามที่ว่าเรื่องทั้งหมดขัดขวาง EF มั้ย คำตอบคือ ขัดขวาง เพราะระบบ ค่านิยม วัฒนธรรมแบบนี้ทำลาย self esteem เด็กที่แพ้ ซึ่งผมเดาแต่คงเดาถูกแหละ ปริมาณมากว่าเด็กที่ชนะแน่ๆ และมากกว่าเยอะด้วย เราปล่อยสังคมเป็นแบบนี้มานานมากแล้ว เป็นสิบปี ใช้ไม่ได้ ต้องแก้
เด็กทุกคน ต่อให้สติปัญญาบกพร่อง สมาธิสั้น เด็กพิเศษ พัฒนาได้หมด รับรองได้ แต่ต้องเข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็ก, EF และทำให้ระบบการศึกษาเปิดกว้างมากกว่านี้ มีเสรีภาพมากกว่านี้ ทางเดินของเด็กๆ จำเป็นต้องกว้างกว่านี้
เรื่อง EF ได้รับความสนใจใคร่รู้ในหมู่พ่อแม่ชนชั้นกลาง เพราะเข้าถึงข้อมูล แล้วคนส่วนใหญ่ที่อาจไม่รู้จัก EF แต่ต้องการแบบนี้เหมือนกัน จะทำอย่างไร
สื่อมีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ การเล่นก่อน 7 ขวบเป็นเรื่องซีเรียส การเรียนก่อน 7 ขวบไม่จำเป็น นอกจากไม่จำเป็นแล้วอาจจะสร้างผลเสีย การทำงานเป็นเรื่องต้องฝึก การทำงานโดยใช้นิ้วมือจริงๆ action เป็นเรื่องที่ทุกบ้านต้องใส่ใจ มิใช่ส่งเสริมแต่ด้านการเรียนเพียงอย่างเดียว งานการอื่นไม่ต้องทำ
เหตุที่จะให้ทำงานไม่ใช่เพราะงาน แต่เพื่อให้สมองดี เป็นฐานของ EF ในอนาคต อันนี้เป็นความรู้ที่เราควรให้ แต่การจัดการเชิงระบบมันก็อย่างว่า สมมุติว่าเราเผยแพร่ความรู้เสร็จแล้ว พ่อแม่อยากเล่น ก็เกิดคำถามถัดไปว่าเล่นที่ไหน สนามเด็กเล่นอยู่ที่ไหน ใครดูแลงบประมาณนี้ อันนี้เป็นเรื่องเชิงระบบ การเล่นก็ต้องมีที่เล่นปลอดภัย กว้างขวาง กระจาย พ่อแม่อาจไม่จำเป็นต้องรู้เรื่อง EF ปู่ย่าตายายก็ไม่ต้องรู้ แต่ตื่นเช้ามาอยากให้ลูกให้หลานได้เล่น ออกไปนอกบ้าน ไปไหน เล่นที่ไหน อันนี้คือสิ่งที่รัฐต้องช่วย สังคมต้องช่วยกันสร้าง เรามีที่เหลือเฟือ เยอะแยะเหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้ว
นโยบายด้านการเรียนก่อนปฐมวัย คิดว่าต้องเปิดเวทีคุยกันอย่างจริงจังยิ่งกว่าเดิมว่าเป็นผลดีหรือผลเสียกันแน่ จำเป็นแค่ไหนที่เด็กต้องอ่านออกเขียนได้ก่อน 7 ขวบ มาคุยกันใหม่มั้ย เปิดเวทีวิชาการคุยกันมั้ย มันก็น่าจะคุยได้ แต่ถ้าเรากำหนดตัวชี้วัดว่าเด็กต้องทำได้ เพราะรู้อยู่ว่าวัฒนธรรมการทำงานและระบบราชการ เราทุกคนก็พร้อมทำตามคำสั่งให้เด็กอ่านออกเขียนได้ คิดเลขหลายหลักได้ก่อน 7 ขวบ ทุกคนก็พร้อมจะทำตามคำสั่งโดยไม่ตั้งคำถาม และกดดันเด็ก ก็เสียหายอีก
ในความคิดคุณหมอ จุดไหนแก้ปัญหายากที่สุด
แก้ยากทุกส่วนแต่ถ้าจะต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่างก็ยังเชียร์ว่าให้ทำที่ระบบการศึกษา รองลงมาคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำเรื่องที่เล่น ห้องสมุด ของพวกนี้ทำปุ๊บได้ปั๊บ พูดกันนักหนาว่าเงินก็มี และควรจะทำ อันนี้คือรูปธรรม แต่ระบบการศึกษาจำเป็นต้องปฏิรูปโดยด่วน
ที่ทำห้องเรียนพ่อแม่เพราะคุณหมอคิดว่าระบบการศึกษาไม่สามารถช่วยได้?
ใช่ ระบบการศึกษาสร้างเด็กป่วยจำนวนมากพอแล้ว สร้างโดยไม่เจตนาก็เยอะ แต่ที่สร้างโดยเจตนาว่าเรียนไม่ได้ให้ไปตรวจที่ รพ. ผมคิดว่านโยบายนี้ควรทบทวน ควรนั่งลงคุยกันใหม่ ที่ผ่านมาทุกอย่างกดดันไปที่ตัวเด็ก พ่อแม่ครูกดดันพร้อมๆ กันหมด เด็กถูกกระทำฝ่ายเดียว และเราจะได้คุณภาพของประชากรต่อรุ่นไม่ดี
เด็กที่มีพื้นฐาน EF ดีมาก ขณะที่การศึกษา สภาพแวดล้อมมันเหมือนเดิม สุดท้ายเขาจะยอมจำนน มี self esteem ต่ำลง หรือผ่านไปได้
EF ดีน่าจะแข็งแรงนะ แหล่งเรียนรู้อยู่ในอินเทอร์เน็ต อยู่แน่ๆ เราไม่รู้เฉยๆ ว่ามันอยู่ ต่อให้มีข้อจำกัดด้านภาษาอังกฤษ เราก็เห็นอยู่ แอพฯ เรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ขอให้เรากำหนดเป้าหมายให้ตัวเองเป็นให้ได้ก็พอ สมองดีพอสมควร ดีไม่ใช่ดีแบบเรียนเก่ง แต่ดีแบบควบคุมความคิดอารมณ์การกระทำได้ดี อยากรู้ภาษาอังกฤษ เรียน อยากรู้วิชาอะไร เรียน
ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ เด็กที่ EF ดีมีโอกาสที่ทักษะศตวรรษที่ 21 จะดีด้วย หนึ่งในทักษะที่สำคัญคือ ทักษะชีวิตหรือ Life Skill องค์ประกอบของทักษะชีวิตคือการที่ชีวิตไปได้เรื่อยๆ กำหนดเป้าหมายแล้วไปให้ได้
เด็กที่ผ่าน รร.ทางเลือกแล้ว EF ดี หรือผ่านโฮมสคูลแล้ว EF ดี เด็กที่พ่อแม่ส่งเรียน รร.ทั่วไปตามปกติที่เร่งเรียนแต่พ่อแม่รู้ทันพยายามส่งเสริมการเล่นการทำงานแล้ว EF ดี เด็กพวกนี้ทักษะชีวิตจะดี มีความหมายว่าเขาพร้อมรอมชอมกับกติกา คือ อย่าดื้อกับข้อสอบชุดนี้ ถ้าข้อสอบชุดนี้เฉลย ค. รู้ทั้งรู้ว่าเป็นคำเฉลยที่ไม่เข้าท่านัก เพราะตัวเองไปค้นมาแล้ว ตอบ ค. ซะดีๆ เป็นทักษะ ไม่สู้ตาย
ทักษะชีวิตที่ดี ไม่ได้ให้สู้ตาย ให้ทำ ประเมิน เดินหน้าต่อไป
สมมุติเด็กๆ สามารถหาข้อมูลเอง เช่น วิชาประวัติศาสตร์ แต่กลับได้ความจริงคนละชุดกับในหนังสือเรียนหรือข้อสอบ… ความขัดแย้งมันเกิดขึ้น เราควรชี้แนะเขาอย่างไร
ผมยืนยันว่าเราควรให้เสรีภาพลูก เราควรบอกและชี้แนะว่าลูกสนใจอะไร อยากรู้อะไร อย่ามัวแต่นอน มีกูเกิลให้ค้นก็ค้น ค้นออกมาแล้วไม่ได้แปลว่าต้องเชื่อ การอ่านข้อมูลใดๆ ในกูเกิลวันนี้เป็นเพียงการบริหารความคิด ไม่ได้ให้เชื่อ ตรงนี้ต่างหากที่ทำให้ตัวทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิตดีขึ้น พอทักษะชีวิตดี ทำให้เอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์
ดังนั้นต่อให้ข้อสอบแย่ยังไง เด็กคนนั้นก็จะยอมรอมชอม เพราะกติกาของเปเปอร์นี้ ตกคือตกนะจ๊ะ เขารู้ทั้งรู้ว่าเปเปอร์นี้ก็ไม่ได้เข้าท่ามากนักหรอก เขามีความรู้เยอะกว่านั้นเยอะ แต่เขาพร้อมจะรอมชอม อย่างนี้ถึงจะเรียกว่า EF และทักษะศตวรรษที่ 21 ดี
ถ้าสู้ตายคาสนาม เราก็จะขมวดคิ้วแล้ว เออ ยังไงกัน ไหงคุยกันว่าเข้า รร.ทางเลือกแล้วทักษะชีวิตดี
อย่างนั้นเราจะเรียกสิ่งนั้นว่าอุดมการณ์ได้หรือเปล่า
ถูกต้องเราเรียกว่าอุดมการณ์ แต่การตัดสินใจว่าจะสู้ตายตอนไหนเนี่ย ผมคิดว่าเรื่องนี้ดีเบตได้เรื่อยๆ วิวาทะได้ บางครั้งเราก็รู้สึกว่าคนบางคนตายเร็วไปหน่อย เราไม่ได้บอกว่าใครผิดใครถูก แต่ดีเบตได้ และเราควรสู้ตายเมื่อไหร่ อุดมการณ์ อุดมคติผมยืนยันว่าต้องมี วัยรุ่นไทยควรมี ต้องมีเยอะ มีมากกว่าทุกวันนี้ด้วย แต่มันไม่ได้แปลว่าสู้ตายเสมอไป ไม่ใช่
ถ้าดูจากการเลี้ยงดูแบบไทย วัฒนธรรมไทย จริงๆ แล้วเรามี EF มาก่อนหน้านี้หรือเปล่าแต่อาจจะไม่ได้เรียกว่า EF
ไม่ เราไม่มี อาจจะมีก็ไม่พอ เล่นและทำงานก็ยังดีกว่าไม่เล่น ไม่ทำงาน แต่ผมเชื่อว่าไม่พอ สังคมไทยยังอ่อนด้อยมากเรื่องการอ่าน ผมคิดว่าการอ่านยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของ EF ต้องมีทั้งการอ่านการเล่น การทำงานในช่วงปฐมวัย สมองจึงจะพัฒนา EF ที่ดี การ pruning (กำจัดเซลล์สมอง ส่วนที่ไม่ได้ใช้หรือใช้น้อยออกไป) การเพิ่มปลอกมัยอีลิน (myelin ปลอกที่ห่อหุ้มเส้นใยประสาท) ความเร็วของการส่งสัญญาณประสาท เราต้องการทั้ง 3 องค์ประกอบ การอ่าน การเล่น การทำงาน
การเรียนเอาไว้หลัง 7 ขวบ ที่ผ่านมา สมัยผมเด็กๆ เราก็ไม่ได้เรียนก่อน 7 ขวบจริงๆ เราก็เล่นกับทำงาน แต่การอ่าน ผมคิดว่ายังเป็นส่วนน้อย การที่จะบอกว่าประเทศไทยมี EF อยู่ก่อนแล้ว แล้วมาตั้งคำศัพท์คำใหม่ให้หรูๆ เฉยๆ ผมคิดว่าไม่ใช่ เราไม่มี ถึงมีก็ไม่ได้ใช้เพราะเด็กทุกคนไปสอบด้วยข้อสอบมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีเป้าหมายให้เลือก ไม่มีอะไรให้วิเคราะห์
การอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญ การเปลี่ยนเครื่องมือ (tool) ในการอ่าน มีผลต่อการอ่านหรือคุณภาพการอ่านอย่างไร
มีงานวิจัย แต่ผมจำไม่ได้หมดเท่าที่จำได้มีงานวิจัยหนึ่งน่าสนใจ คือ ด้วยความที่สมองเด็กกำลังพัฒนา เสพอะไรสมองได้อย่างนั้น เราพบว่า เช่น การอ่านหนังสือ มือได้แตะ ได้คลำ ทุกๆ หน้าที่เปลี่ยนไป หน้ากระดาษด้านซ้ายจะหนากว่าด้านขวา นิ้วโป้งซ้ายจะจับหน้ากระดาษที่หนาขึ้นทุกที นิ้วโป้งขวาจะจับกระดาษที่บางลงทุกที พวกนี้ส่งสัญญาณขึ้นสู่สมองด้วยว่านิ้วจับที่ตรงไหน สมองก็เรียนรู้ว่าเนื้อหาตรงนี้อยู่เนื้อหาประมาณ เศษ 1 ส่วน 4 ของหนังสือเล่มนี้ รูปแบบของสมองก็จะพัฒนาไปอีกแบบหนึ่ง
การเขี่ยเรื่อยๆ ในอีบุ๊ค เราระบุตำแหน่งยาก สมองจะพัฒนาอีกรูปแบบหนึ่ง ผมไม่สรุปวันนี้ว่าแบบไหนดีกว่า แต่แตกต่าง แต่ในฐานะผู้มีความรู้ด้านจิตวิทยาพัฒนาการ ผมก็บอกว่าหนังสือที่เป็น book จริงๆ ดีกว่าตรงการลูบการคลำ การสัมผัสการแตะดีต่อการพัฒนาสมองและพัฒนาบุคลิกภาพมากกว่า สำหรับเด็กนะที่สมองยังไม่นิ่ง ยังเปลี่ยน ถ้าผู้ใหญ่ยังไงก็ได้ อยากอ่านอีบุ๊คก็อ่านเถอะ
ตั้งแต่เปิดโรงเรียนพ่อแม่ นอกจากความอยากรู้ หลายคนมาพร้อมปัญหา ส่วนใหญ่เขาขาดหรือมีปัญหาอะไร
คาดหวังสูง ทุกคนเลย คาดหวังว่าเด็กควรจะทำอย่างโน้นอย่างนี้ได้เมื่ออายุเท่านี้ ถ้าสังเกตผมตอบก็จะพบคำตอบซ้ำๆ ของรอได้ จะรีบอะไร ไม่รู้ ผมไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น เราคาดหวังสูงจริง แต่จริงๆ ของรอได้
ถ้าเรามีความรู้เรื่องพัฒนาการเด็กสักนิด และผ่อนคลายระบบการศึกษาซะหน่อยให้ทุกคนหายใจโล่งขึ้นอีกหน่อย อย่าตึงเครียดกันนัก อย่าแข่ง อย่าเปรียบเทียบกันมากนัก แม้กระทั่งการเข้าสังคมก็เป็นของรอได้ เด็กเขาไม่พร้อมก็แปลว่าไม่พร้อม ไม่ต้องกดดัน
ตอนนี้สภาพสังคมเป็นแบบนี้มาก เปรียบเทียบและแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันเอง แล้วก็เครียดถ้วนหน้า แต่ความจริงแล้ว 7 ขวบปีแรก ของรอได้เกือบทั้งนั้น ของมันสบายๆ รอได้
รายการประกวดความสามารถของเด็กๆ ที่มุ่งไปการแสดง ร้องเพลง เต้น ขณะที่เด็กเก่งแบบอื่นๆ อาจไม่ได้รับการนำเสนอ ตรงนี้มีส่วนชี้นำหรือ shape มากน้อยแค่ไหน
คงมีส่วนชี้นำอยู่บ้าง เข้าข่ายแข่งขันเปรียบเทียบ แต่สิ่งที่อยากให้รู้คือเด็กโดยเฉพาะก่อน 7 ขวบถึงก่อนวัยรุ่น ภาษาจิตวิทยาสมัยใหม่เรียก growth mindset กระบวนทัศน์พัฒนา คือ เราควรชื่นชมเด็กที่การกระทำ แล้วการกระทำที่เราควรชื่นชมไม่พ้นความขยันหมั่นเพียร มุมานะ อดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เราไม่ควรลงไปชมเนื้อหามากจนเกินไป เช่น ร้องเพลงเก่ง เป็นต้น
ความจริงแล้วมีข้อแนะนำว่าอย่าทำมากไป เพราะเด็กคนนั้นเองจะหมดแรงเร็ว นำไปสู่เรื่องติดบอร์ดเด็กเก่งหน้าโรงเรียน ความจริงคือไม่ควรทำ เป็นการชมเชยตรงผลลัพธ์สุดท้าย แถมไปชมเชยเด็กกลุ่มเดียว แล้วที่เหลือว่าไง
ที่จริงเด็กทุกคนควรถูกชมเชยที่การกระทำที่มันเป็น positive ความขยัน ความพยายาม ความไม่ย่อท้อ ความอดทน การต่อสู้
ไม่จำเป็นที่เด็กทุกคนต้องเป็น someone?
ไม่จำเป็นอยู่แล้ว (ตอบทันที)
พ่อแม่มาห้องเรียนพ่อแม่พร้อมความคาดหวังที่สูง ในทางกลับกัน ปัญหาเด็กๆ คืออะไร
เคยมีอยู่คลาสหนึ่ง ให้เด็กๆ ถาม พ่อแม่ห้ามถาม เด็กทุกคนจะพูดเหมือนกันเลย พ่อแม่ห้ามจัง แล้วพ่อแม่ก็ทำทุกอย่างที่ห้ามหนู
ชัดเลย พ่อแม่ห้ามทุกเรื่อง ไม่ให้ทำทุกอย่างแล้วพ่อแม่ก็ทำสิ่งที่ห้าม เช่น ห้ามเล่นมือถือระหว่างกินข้าว อันนี้โดนจังๆ ทุกบ้าน
ก็ยังคงอยู่ที่เราคาดหวังสูงว่าเด็กห้ามนั่นห้ามนี่และต้องนั่นต้องนี่ ขณะที่ความเป็นจริง เราปล่อยเสรีภาพได้ตามสมควร ห้ามเฉพาะเรื่องที่อันตราย ซีเรียส แค่นั้นเอง นอกนั้น เด็กก็วิ่งๆ ไปเถอะ ทดลอง พัฒนา ลองผิดลองถูกได้
เราต้องเป็นต้นแบบให้ลูก?
ถ้าเรื่องเล่นมือถือ ใช่แน่ แต่พ่อแม่สมัยใหม่ มีศัพท์ว่า authentic parents มีความหมายใหม่ว่าพ่อแม่ควรเดินตามจริงๆ คือลูกชอบอะไรเราก็ตาม คอยส่งเสริม เรามีหน้าที่เดียวคือ ระวังตกเหวตายเท่านั้นแหละ แต่ก็เดินตาม ชอบ เราก็นั่งดูไปเรื่อย พ่อแม่สมัยใหม่เรามีข้อแนะนำให้ทำแบบนั้นจริงๆ
อย่างที่บอก ตัวแปรเยอะกว่าแต่ก่อนเยอะ เยอะมากจนไม่มีพ่อแม่คนไหนคุมลูกอยู่หมัดหรอก อยากลองก็ลอง ถ้าพ่อแม่คุมแล้วได้ผลก็ดีใจด้วย แต่ที่จริงเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้ผล และเขาเสียโอกาสที่จะเรียนรู้ทักษะการควบคุมตนเอง เพราะจริงๆ เขาคือคนที่ควบคุมตนเอง เราควบคุมเขาตลอดไปไม่ได้ ทักษะการควบคุมตนเองต้องฝึก ไม่ใช่พ่อแม่มาสอน
กระบวนการพัฒนา EF ในเด็กสองคนแต่อยู่คนละสังคม ยกตัวอย่างเช่น คนหนึ่งอยู่ในระบบการศึกษาแบบไทย อีกคนอยู่ในระบบการศึกษาฟินแลนด์ เด็กสองคนนี้จะต่างกันมั้ย
ก็น่าจะต่างเพราะว่าเวลาเรามีเสรีภาพทางความคิดนี่มันดีจริงๆ นะ (หัวเราะ) ไม่รู้จะว่าไง เวลาผมดูหนังแล้วผมสามารถหาหนังดีๆ มาดูได้โดยไม่ต้องมีการเซ็นเซอร์เลย แน่นอนว่ามันมีทั้งเรื่อง negative positive มันดีต่อสมองของเรามากและทำให้ทางเลือกของชีวิตเรามาก โลกทัศน์กว้าง วิสัยทัศน์ดีขึ้น
เด็กสองคนนี้ต่างแน่ๆ อยู่แล้ว ในสังคมบ้านเราเราก็ทำสิ่งที่ดีที่สุด แต่ใช่ ถ้าเขาได้มีโอกาสไปอยู่บางประเทศเขาก็จะตะลึง เหมือนที่ผมเคยตะลึง เขามีเสรีภาพมากที่จะคิด แค่นั้นก็ต่างกันเยอะมาก และ self esteem มันมากระทั่งการคิดด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องการทำ ทำไม่ได้แต่คิดได้ ตัว self esteem ก็ยังจะมา คิดได้แฮะ เก่งจังเลยเรา แต่ว่าเวลาห้ามคิด มันก็หมด ฝ่อไปหมดทั้งระบบ
แสดงว่าเสรีภาพทางการคิดเป็นร่มใหญ่ของการปฎิรูปการศึกษาและทุกอย่าง?
แน่นอน (เสียงสูง) คือ ทักษะการเรียนรู้ มันมีทฤษฎีอยู่
คิด วิพากษ์ – Criticize thinking หมายความว่า ไม่เชื่อง่ายและมีความคิดที่เป็นอิสระจากทุกอย่าง มีเสรีภาพที่จะคิด สื่อสาร – Communication เกิดเป็นคน คิดแล้วก็ต้องสื่อสาร คือ พูด เขียน เล่นละคร โต้วาที จัดนิทรรศการ เดินรณรงค์ เมื่อเจอคนคิดไม่เหมือนเรา ซึ่งต้องเจอแน่ๆ อยู่แล้ว ร่วมมือกัน – Collaboration เวลามนุษย์มีเสรีภาพ เขาจะพูดและคิด และเจอคนอื่นๆ คิดไม่เหมือนเรา เราก็ เถียง – Compete ประนีประนอม – Compromize เพราะเรามีเป้าหมายร่วม แม้จะคิดต่างแต่เรามีเป้าหมายร่วม รอมชอมกันที่จุดหนึ่งแล้วทำงานด้วยกัน การเถียงที่ดีจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าความคิดสร้างสรรค์ Creativity และนวัตกรรม Innovation เพราะการเถียงกันในกลุ่มคนที่มีเสรีภาพมากพอ จะสนุก ถ้าเถียงกันอย่างมีเสรีภาพ นวัตกรรมจะเกิดโดยไม่รู้ตัว คือ 1+1+1 จะไม่ได้เท่ากับ 3 แต่เท่ากับ 5 ในการประชุมที่ดี เพราะความคิดจะพลุ่งพล่านมาก แต่ต้องการเสรีภาพ ที่ประชุมแบบนี้มีและมันก็ดีจริงๆ แต่มีน้อย ในที่ประชุมราชการไม่ดี
เช่นนั้นแล้วพื้นฐานการไม่ยอมรับความเห็นต่างของบ้านเรา จึงไม่ค่อยเกิดนวัตกรรมหรือความคิดใหม่ๆ
เราต้องยอมรับว่าบ้านเราห้ามคิด เฉพาะในองค์กรราชการ เราก็รู้อยู่ว่าคิดมากไม่ค่อยได้ ผู้บังคับบัญชาไม่ค่อยอนุญาตเท่าไหร่ ในองค์กรเอกชนควรดีกว่าแต่ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมอยู่ดี
ถ้าเราเป็นพ่อแม่ที่อยู่ในประเทศห้ามคิด ห้ามพูด แต่อยากให้ลูกมีความคิด มีทักษะการเรียนรู้ ควรทำอย่างไร
เราให้ทักษะกับลูกได้ เราให้เสรีภาพกับลูกได้ด้วยการรับฟังเขาเพราะเรายอมรับความคิดของเขา แต่การยอมรับไม่ได้แปลว่าความคิดถูก เขาต้องเรียนรู้ว่ามีมนุษย์คนอื่นคิดไม่เหมือนกัน และเขาต้องเตรียมตัว collaborate
แบบนี้สอนได้ครับ มันดีกว่าการบอกว่าลูกผิด อย่างนี้จบเห่ จบกันตั้งแต่ต้น เราก็ทำตัวเหมือนครู
อาจจะบอกว่าพ่อมีความคิดแบบนี้ แล้วบอกว่ามีคนคิดไม่เหมือนกัน แต่มันต้องมีจุดลงตัวที่ใดที่หนึ่งที่ให้ชีวิตดำเนินไปได้
มันดีกว่าการห้ามลูกคิดซึ่งบางบ้านก็เป็นจริงๆ นะ เอาแค่การกำหนดเป้าหมายให้ลูกสอบเข้าคณะนั้น คณะนี้ มหา’ลัยนี้ แค่นี้ก็คือการห้ามคิดแล้ว คือห้ามคิดเป็นอื่น บรรยากาศมันออกแบบนั้น
เราผ่อนหนักเป็นเบาได้ในบ้านของเรา
ทราบว่าห้องเรียนพ่อแม่ได้รับความสนใจมาก คิวยาวตลอด
มาจาก กทม. เป็นส่วนใหญ่ แปลกดีนะครับ ผมก็งงว่าทำไมถึงมีดีมานด์ ไม่น่าจะมีดีมานด์เยอะขนาดนั้น ถามว่าทำไม เดาว่าทุกคนเป็นทุกข์ ทุกข์เรื่องชิงดีชิงเด่น คาดหวังสูง การศึกษาแบบนี้ ลูกดื้อจังเลย 3 ขวบก็ต้องไป รร. แล้ว ยิ่งดื้อหนักกว่าเก่า มันก็เป็นวงจรร้ายเนอะ
เด็กสมาธิสั้นปล่อยให้วิ่งแถวนี้ จะสั้นได้ยังไง ถามจริงๆ วิ่งได้วิ่งไป แต่ถ้าบอกให้นั่งนิ่งๆ 1 ชม. โห โดนข้อหาสมาธิสั้นทันที
เครื่องมือสื่อสารส่วนใหญ่ทำให้เด็กสมาธิสั้นจริงๆ มั้ย
การใช้มือถือก่อน 2 ขวบ มีงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่ามีผลทางลบ ทั่วโลกเห็นตรงกันว่าห้าม ประเทศที่โหดๆ หน่อย ห้ามก่อน 3 ขวบ หลังจาก 2 ขวบก็เป็นวิวาทะกันอยู่ คือ การทำงานวิจัยเรื่องพวกนี้เป็นการทำในมนุษย์ ไม่มีทางออกแบบได้ดีที่สุด แต่ถ้าถามว่าการใช้ไอทีเร็วเกินไป มากเกินไป มีผลไหม เชื่อว่ามีแน่
แต่อยากจะเรียนว่า หลังจาก ป.1 ระบบการศึกษาก็ต้องทำให้เด็กใช้ไอทีเป็นด้วยนะ ไม่อย่างนั้นก็ไล่ตามประเทศอื่นไม่ทัน อย่างชาญฉลาด ใช้เพื่อเรียนรู้ เพื่อทักษะชีวิต เพื่อ serve ชีวิตตัวเองให้ดีกว่าเดิม
ถ้า 7 ขวบดูแลร่างกายตัวเองได้ ดูแลรอบตัวเองได้ ดูแลบ้านได้ครึ่งหลัง ไอทีไม่น่ากลัว กว่าจะทำอะไรทั้งหมดนี้ได้ การควบคุมตนเอง โฟกัสไม่ว่อกแว่ก อดเปรี้ยวไว้กินหวาน จะแกร่งพอสมควร ดังนั้นการยื่นมือถือ ยื่นแทบเล็ตให้ ควรทำได้แล้ว
ทำไมเป็นพ่อแม่สมัยนี้มันลำบากจังครับ/ค่ะ
แน่ๆ คือระบบการศึกษากดดัน เตรียมอนุบาลต้องเข้า อนุบาล 1-3 ต้องอ่านออกเขียนได้ นโยบายบอกว่า ป.1 ต้องอ่านออกเขียนได้ วัฒนธรรมบ้านเราผู้ใหญ่สั่ง ทุกอย่างก็พรึ่บ โดยไม่ฟังอะไรทั้งนั้น กดดันเด็กกันทุกชั้นปี กดดันกันเป็นทอดๆ นี่เฉพาะตัวระบบกับนโยบายก็แย่แล้ว
แต่วัฒนธรรมประเภทชิงดีชิงเด่น เปรียบเทียบระหว่างพ่อแม่ด้วยกัน ไม่ยอมกัน เรียนตามตรงก็ทำกันเอง แต่ถ้า strong เราไม่ทำ ลูกชายลูกสาวผมเป็นลูกหมอเพียงคนเดียวที่เข้าโรงเรียนระดับรองในจังหวัด ทุกวันนี้ไม่มีปัญหาอะไร ก็เรียบร้อยดี