- ค่าย Young Creator’s Camp หรือ YCC คือพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เด็กมัธยมปลายที่สนใจการเขียนโค้ดหรือการออกแบบ ได้ลงมือสร้างโปรดักท์เป็นของตัวเอง จัดขึ้นเมื่อ 29-31 มีนาคมที่ผ่านมา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- ค่าย YCC เกิดขึ้นโดย ภูมิ-ภูมิปรินทร์ มะโน เด็กหนุ่มวัย 17 เป็นหัวเรือใหญ่ นั่งแท่นประธานค่าย ได้รับการร่วมมือร่วมแรงของเพื่อนๆ พี่น้องเยาวชนในแวดวงเทคโนโลยี
- กระบวนการเวิร์คช็อปในค่ายทั้งสามวัน อยู่บนหลักการและแนวคิดเรื่อง Design thinking, User experience, Lean startup ซึ่งทั้งสามศาสตร์นี้ จะช่วยให้ได้โปรดักท์ที่ดีที่สุด
ภาพ: อรสา ศรีดาวเรือง
“เพราะการเขียนโปรแกรม ไม่ใช่งานของกรรมกรห้องแอร์ แต่เป็นงานของนักเวทมนตร์”
นี่คือดอกผลของความพยายามเกือบ 1 ปีเต็มที่ ภูมิ-ภูมิปรินทร์ มะโน เด็กหนุ่มวัย 17 ผู้หยุดเรียนไว้ที่ ม.4 เพื่อเริ่มการเรียนรู้ตลอดชีวิต (อ่านได้ที่นี่) ทุ่มเทเวลาและแรงใจในการเตรียมตัว เพื่อสร้างพื้นที่ให้คนที่สนใจในการเขียนโค้ดหรือการออกแบบดีไซน์ ได้โชว์ศักยภาพและปล่อยของที่ตัวเองมีออกมา
จุดเด่นที่น่าสนใจของค่าย Young Creator’s Camp เรียกสั้นๆ ว่า YCC Camp คือบุคคลที่อยู่หลังฉากล้วนเป็นเยาวชนทั้งหมด ทำเองตั้งต้น วางแผน ฟอร์มทีม ระดมทุน คิดค้นกระบวนการ เจาะกลุ่มเป้าหมาย ประชาสัมพันธ์ จนค่ายสามวันเกิดขึ้นได้
‘เด็กสร้างค่าย’ คือสามคำของงานนี้จริงๆ
ค่ายนี้จัดขึ้นเพื่ออะไร
ก่อนอื่นผมขอแบ่งจุดประสงค์ของค่ายนี้เป็น 2 ข้อ คือ 1.จุดประสงค์ต่อน้องๆ และ 2.จุดประสงค์ต่อสังคม
อย่างแรกผมอยากให้น้องๆ ที่เข้ามาร่วมค่ายได้สนุกกับการสร้างโปรดักท์ มองมันไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ และเมื่อน้องกลับบ้านไป ทำให้น้องรู้สึกอยากเล่นสนุกกับเพื่อนๆ มากขึ้น ให้เขารู้สึกว่าการเขียนโปรแกรมไม่ใช่งานของกรรมกรห้องแอร์ แต่เป็นงานของนักเวทมนตร์
ส่วน hidden agenda จุดประสงต์ต่อสังคมของเรา คือการสร้างชุมชนนักสร้าง หรือ creator community ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ถึงแม้ตอนนี้ในประเทศเริ่มมีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เยอะมากขึ้น แต่น้อยคนจะให้ความสำคัญกับ ‘นักสร้างวัยเด็ก’
“ทุกคนชอบบอกว่าเด็กเป็นอนาคตของชาติ แต่ผมว่าไม่ใช่ ผมว่าเด็กคือปัจจุบัน” แล้วทำไมเราไม่ทำปัจจุบันให้ดี
โปรดักท์ที่ว่า…คืออะไร
เป็นได้หมดครับ ทั้งแอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ หรืองานออกแบบ แต่ผมมองลึกไปกว่านั้น สิ่งที่น้องๆ จะได้จากค่ายอย่างแน่นอน คือการสร้าง prototype หรือการจำลองต้นแบบมากกว่า เพราะเป้าหมายตั้งแต่แรกของค่าย เราไม่ได้ให้ทุกคนทำทุกอย่างได้ภายใน 3 วัน แต่เป็นการให้น้องๆ ฝึกทำแบบร่าง แบบจำลอง ขุดเอาไอเดียของตัวน้องๆ ออกมา แล้วดูว่า ‘ไอเดียนั้น ถ้ามันเกิดขึ้นจริงแล้วจะเวิร์คไหม’
โดยน้องๆ จะได้ลองขึ้นโครงเขียนโค้ด เขียนเว็บ ทำแอพพลิเคชั่น รวมถึงงานดีไซน์ด้วยตัวเอง
กิจกรรมในค่าย มีอะไรบ้าง และน้องๆ จะได้รับประโยชน์อะไร
กิจกรรมในค่ายจะถูกแบ่งเป็น 3 วัน วันแรกคือ ‘วันคิดไอเดีย’ เป็นวันที่พาน้องๆ เข้าร่วมเวิร์คช็อปผ่านศาสตร์ทั้งสามที่ผสมผสานกัน ได้แก่ Design thinking, User experience, Lean startup โดยทั้งสามศาสตร์นี้ เหมือนเป็นการช่วยมองเหรียญหลายๆ ด้าน
สมมุติเราต้องการสร้างโปรดักท์ให้ถึงมือผู้ใช้ เราต้องอาศัยการมองจากสามศาสตร์นี้ นั่นคือ การมองจากผู้ใช้เป็นหลัก ดูว่าผู้ใช้มีลักษณะเป็นอย่างไร การทำโปรดักท์ให้เด็กอายุ 18 ในเมือง ย่อมต่างจากโปรดักท์ที่ทำให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในชนบท เพราะบริบทมันต่างกัน
ศาสตร์ต่อมาคือ design thinking จะช่วยฝึกให้น้องคิดไอเดีย ร่างไอเดียขึ้นมาในเวลาที่จำกัด ทำให้น้องสามารถจับความคิดที่ลอยฟุ้งออกมาเป็นไอเดียจริงให้ และสุดท้ายตามด้วย lean startup ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ให้ทุกคนเชื่อในความล้มเหลว เพราะว่าไอเดียแรกที่เราคิด ไม่มีวันที่จะถูกต้องทั้งหมด ไอเดียแรกเกิดจากความมโน เกิดจากความฟุ้งของเราเอง ดังนั้นเราต้องอาศัยหลักของผู้ใช้และอาศัยของข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเพื่อพิสูจน์ว่าไอเดียนั้นจริงหรือเจ๋ง
ทำไมต้องเป็นสามศาสตร์นี้ มันเชื่อมโยงกันอย่างไร
ผมมองว่ามันมีความ overlap กันสูงมาก ถ้ามองเป็นวงกลมสามวง จะมีส่วนที่เป็นจุดคาบเกี่ยวกันอยู่หลายจุด เช่น design thinking จะช่วยทำให้ไอเดียออกมาเป็นโปรดักท์ได้ง่ายขึ้น และทั้งสามศาสตร์นี้มันเสริมทำให้น้องๆ เห็นภาพรวมชัดขึ้น เหมือนเป็นกรวยที่ค่อยๆ ช่วยตกตะกอนไอเดียของน้องให้เป็นจริง
ภูมิใช้มาตรวัดอะไรในการเลือก 3 ศาสตร์นี้มาถ่ายทอดในเวิร์คช็อป
ต้องบอกก่อนว่า ผมได้ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวเข้าร่วมด้วย ผมเคยผ่านการเข้าค่ายของ ‘โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่’ ซึ่งในค่ายนั้นเคยมีคลาสสอนศาสตร์เรื่อง user experience หรือ UX มันเปิดมุมมองผมมากๆ โดยธรรมชาติของคนที่เป็นโปรแกรมเมอร์หรือดีไซเนอร์จะมีแนวคิดว่าความคิดตัวเองจะถูกต้องเสมอ แต่พอเข้าคลาส UX มันทำให้มองเห็นตัวผู้ใช้มากขึ้น ต้องเข้าใจ ต้องนึกถึง มีความเห็นอกเห็นใจ มีเมตตาต่อเขามาขึ้น
เพราะ “product ที่ดีต้องเข้าใจ users”
เช่นเดียวกับ Lean startup ผมได้มาจากการร่วมงาน Startup Thailand อย่างที่บอกศาสตร์นี้จะช่วยสอนให้เราไปต่อได้เมื่อล้มเหลว เราชอบ Lean startup มาก เพราะเราเป็นคนที่กลัวการล้มเหลว แต่ Lean startup ทำให้เรามองความล้มเหลวเปลี่ยนไป สนุกกับความล้มเหลว ‘เฟลก็ได้ไม่เห็นเป็นอะไรนิ’ ซึ่งผมคิดว่ามันเหมาะที่จะเอามาส่งต่อให้น้องๆ ในค่าย
ดังนั้นในค่ายนี้จะมีทั้งการผสมผสานทั้งการเห็นอกเห็นใจผู้ใช้ ผสมผสาน design thinking จะช่วยให้ไอเดียคมและชัดขึ้น รวมถึงยังผสมผสานกับการไม่กลัวที่จะล้มไปด้วย
แล้วทั้งสามศาสตร์นี้ จะช่วยให้น้องๆ เข้าใจการสร้างโปรดักท์อย่างไร
กิจกรรมวันแรกของค่าย เราจะให้น้องๆ แชร์เรื่องอะไรก็ได้ ที่คิดว่าเป็นปัญหาที่น้องเจอ โดยเรายกตัวอย่างคร่าวๆ อาจเป็นเรื่องคมนาคม ความเหลื่อมล้ำ การเหยียดหยาม เหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ แล้วปล่อยให้น้องๆ ได้คิดออกมาว่าปัญหาที่น้องเจอคืออะไร
ซึ่งปัญหาที่เจอเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างตัวตนหรือต้นแบบของผู้ใช้ (user) ยกตัวอย่างเช่น ผมต้องการออกแบบปุ่มซื้อของที่ใหญ่ขึ้นให้นายโลมา ซึ่งเราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่านายโลมาเป็นใคร นิสัยอย่างไร ความต้องการของเขาคืออะไร
ต่อมาคือการเวิร์คช็อปให้น้องๆ เรียนรู้เรื่อง user journey เราจะให้น้องวาดเส้นทางการเดินทางผู้ใช้ ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการเจอปัญหา ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางมาค่ายวันนี้ ต้องเจอปัญหาอะไรบ้าง ตั้งแต่ตื่นนอน รถติด กินข้าวไม่ทัน ต้องนั่งรถเมล์หลายต่อ รอนาน จากนั้นก็ให้น้องพล็อตความรู้สึกเอาไว้ว่ารู้สึกอย่างไร มันไม่โอเคเพราะอะไร
จากนั้นหยิบปัญหาดังกล่าวมาแก้ไข โดยการให้ทางเลือกอยู่ในประโยคว่า ‘จะดีกว่าไหม ถ้า…’ จะดีกว่าไหม ถ้าเราทำให้รถไม่ติด จะดีกว่าไหมถ้ามีรถมารับเราถึงที่ สิ่งนี้จะก่อให้เกิดแอพพลิเคชั่นที่เป็นตัวช่วยต่างๆ มากมาย
เมื่อเจอปัญหา เจอทางเลือก ต่อมาคือการลงมือแก้ไข โดยการทดลองทำตามสมมุติฐาน สมมุติฐานคือสิ่งที่น้องมโนขึ้นมา ต้องตรวจสอบก่อนว่าข้อมูลนั้นว่าเป็นจริงหรือไม่ โดยวิธีสัมภาษณ์ผู้ใช้และหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต
ในค่ายวันที่ 2 เราจะให้น้องลงมือพิสูจน์ไอเดียของตัวเอง โดยตามหากลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใช้ (user) ตามต้นแบบของน้องๆ ในบริเวณชุมชนลาดกระบังหรือสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อน้องๆ จะได้รู้ว่าไอเดียของตัวเองเป็นอย่างไร ทำได้จริงไหม หรือมีจุดใดบ้างต้องปรับปรุง
จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงการเขียนโค้ดโปรแกรมข้ามวันข้ามคืนไปถึงวันที่ 3 และปิดท้ายด้วยการสรุปผลและนำเสนอผลงานทั้งสามวันให้กรรมการได้แนะนำต่อไป
ค่าย YCC ใครสามารถเข้าร่วมได้บ้าง
เหมาะกับเด็กมัธยมที่มีความสนใจ หรือมีความเชี่ยวชาญในการเขียนโปรแกรมและการออกแบบ เราแบ่งการรับสมัครเป็น 2 กลุ่ม คือโปรแกรมเมอร์ 15 คน ดีไซเนอร์ 15 คน
ผมเชื่อว่าคนที่จะเห็นโปรดักท์ได้ดีที่สุด คือคนที่เขียนโปรแกรมได้ ออกแบบดีไซน์ได้ เท่าที่จากคนที่สมัครมาทั้งหมด พบว่าสมมุติฐานของผมค่อนข้างเป็นจริง
พวกเขาเข้าใจเวิร์คช็อปได้เร็วมาก ถึงแม้ผมจะสอนเป็นครั้งแรก ไม่เคยทำค่ายหรือเวิร์คช็อปมาก่อน อีกสาเหตุที่ค่ายนี้ต้องรับเด็กที่พอมีพื้นฐานมาก่อน เพราะระยะเวลา 3 วัน สั้นมากกับการจะผลิตชุมชนนักสร้าง หรือ creator community ขึ้นมา
และเป้าหมายของผมอีกอย่างคือการส่งต่อให้น้องที่มาเข้าค่ายในวันนี้ ได้ลุกขึ้นมาสร้างค่ายของตัวเอง
ทำค่ายครั้งแรก เจอความเครียด หรือความยาก ท้าทายอะไรบ้าง
ต้องบอกเลยครับว่าผมเครียดมาก เครียดจนนอนไม่หลับ แต่พอได้ลงมือสอน ลงมือเวิร์คช็อป แล้วเราเห็นน้องๆ เข้าใจเนื้อหาตามที่เราสอน มันภูมิใจมาก
เตรียมตัวหนักแค่ไหน
เราเตรียมตัวหนัก และไม่ใช่แค่ผมคนเดียวในฐานะประธานค่าย แต่คนที่น่าชื่นชมกว่าผมก็คือทีมงานเพื่อนๆ สตาฟทุกคนที่มาช่วยกัน ทุกคนทำงานกันหนักมากและพร้อมจะพลิกไปตามสถานการณ์ เมื่อเช้าที่ค่ายไฟดับเราก็ผ่านมากันได้ ในฐานะประธานค่ายผมรู้สึกว่าเราไม่ต้องแบกอะไรไว้เองคนเดียว เพราะทีมงานทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน ทุกคนอยากเห็นว่าค่ายจะออกมาหน้าตาอย่างไร
“เกือบ 1 ปีทุ่มเทมา จากที่ผมเคยพูดเล่นๆ ว่าอยากทำค่าย ตั้งแต่มีไอเดียฟุ้งๆ จนตอนนี้กลายเป็นจริงขึ้นมา มันก็ภูมิใจครับ”
ย้อนถามนิดนึงว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้ภูมิตัดสินใจลงมือทำค่าย
เพราะโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ครับ ผมเข้าใจผิดไปว่าโครงการนี้จะไม่มีรุ่นที่ 7 แล้ว เลยทำให้ผมแพนิคมาก เพราะมันเป็นค่ายที่ดี เราอยากส่งต่อสิ่งดีๆ ให้น้อง โดยการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้ แต่ถ้าไม่มีค่ายก็น่าเสียดาย จึงตัดสินใจจัดค่ายเอง แต่โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ก็ยังมีอยู่ ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะความเข้าใจผิดที่ว่านี้ทำให้เราฮึดสู้สร้างค่ายขึ้นมา โดยมีโครงการต่อกล้าฯ เป็นแรงบันดาลใจ
ค่ายจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีเงิน ภูมิใช้วิธีใดในการหาผู้สนับสนุน
ก่อนอื่นเลยเราต้องมองหาองค์ที่เห็น value หรือคุณค่าของค่ายเราก่อน จากนั้นใช้วิธีเดินเข้าไปหาองค์กรนั้นๆ ด้วยตัวเอง เข้าไปพูดคุยและอธิบายให้เขาเห็นว่าค่ายเราคืออะไร ประโยชน์ของค่ายเราอยู่ตรงไหน สื่อสารกับผู้สนับสนุนของเราตรงไปตรงมา
ผมใช้วิธีนี้และคิดว่าวิธีนี้ดีกว่าการยื่นเอกสารหรือส่งจดหมายขอเงินลอยๆ ที่สำคัญเราต้องคิดแทนองค์กรที่จะเป็นผู้สนับสนุนของเราด้วยว่า ‘ค่าย YCC ของเราก็สามารถสร้าง value ให้เขาได้เช่นกัน’ ซึ่งค่ายนี้มีสปอนเซอร์ทั้งหมด 10 เจ้า ตัวเลขงบประมาณกลมๆ ที่ใช้ทำค่ายอยู่ที่หนึ่งแสนเก้าหมื่นบาท
ส่วนการรวมสตาฟ เราก็เริ่มชักชวนจากเพื่อนๆ ที่รู้จักในแวดวงเดียวกัน ทั้งที่เจอกันในค่ายอื่นรวมถึงค่ายต่อกล้าฯ ผมขอบขอบคุณทุกคนมากจริงๆ ที่ทำให้ค่ายนี้มันเกิดขึ้น รวมถึงสปอนเซอร์ด้วย
“ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมไม่เข้าใจหรอกครับ ว่าคนบ้าที่ไหนจะเอาเวลาเป็นเดือนๆ ไม่หลับไม่นอน ยอมโดดทำงาน ยอมโดดไม่เข้ารับใบจบ เพื่อมาทำค่ายเล็กๆ ค่ายนี้ โดยที่ไม่มีค่าตอบแทนอะไรให้เขาเลย แต่ถึงตอนนี้ผมเข้าใจแล้วเพราะพวกเราเห็นภาพเดียวกัน”
ในอนาคต ค่าย YCC จะดำเนินต่อไหม
สนุกมากครับ ยังไงจะดำเนินต่อแน่นอน แต่เราจะไม่ดำเนินต่อแบบปกติ เราจะชวนน้องที่มาร่วมค่ายกับเราครั้งนี้ลุกขึ้นมาเป็นพี่ค่ายในปีหน้า อาจจะไม่ใช่ค่าย YCC แบบปีนี้ เป็นค่ายใหม่พี่เพิ่มความท้าทายขึ้นหรืออะไรก็ตามแต่
เวลาเกือบ 1 ปีที่ทุ่มเท จนเป็นรูปเป็นร่าง ภูมิรู้สึกอย่างไรบ้าง
เหมือนเราฝันอยู่เลย ที่เราทำอยู่นี่มันจริงหรอ มีพื้นที่ มีเวิร์คช็อปที่เราคิดเอง มีพี่ๆ วิทยากร มันเหมือนฝันเลย ปีก่อนผมยังเคยพูดอยู่เลย จัดค่ายแค่นี้ให้มาพูด 1 วันก็ทำได้แล้วไม่เห็นต้องเตรียมอะไรเลย แต่พอขยับมาเป็นประธานค่ายแล้ว มันทรมาน มันเจ็บ มันเหนื่อย แต่สิ่งที่ออกมาคุ้มค่า เราอยู่กับทุกกระบวนการตั้งแต่ไอเดียยังเป็นวุ้น ผ่านการประชุม ผ่านการทำงานจนเป็นรูปเป็นร่าง คงไม่มีอะไรจะมากไปกว่าคำขอบคุณและความดีใจ
เชื่อในพลังของเทคโนโลยีมากแค่ไหน
ร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ หลายๆ คนบอกว่าปัญหาต่างๆ มันควรแก้ที่คนไม่ใช่เทคโนโลยี แต่ผมเห็นต่าง
ผมเชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้มีอิสระทางความคิด มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่ออยู่ตามกรอบใดๆ มนุษย์เป็น free thinking ไม่ควรมีใครมากำหนดว่ามนุษย์ควรทำหรือไม่ทำอะไร แต่ควรจะมีเทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์ทำในสิ่งที่ถูกต้องได้ง่ายขึ้นและช่วยทำให้สังคมดีขึ้น เทคโนโลยีที่ดีควรทำให้ชีวิตมนุษย์ง่ายขึ้น
“เป้าหมายในชีวิตของผมคือการเป็น technology developer นอกจากผมจะพัฒนาโปรดักท์ของตัวเองแล้ว ผมจะพัฒนาชุมชนนักสร้าง ชุมชนโปรแกรมเมอร์อายุเยาว์ ผมอยากทำสิ่งนี้มานาน”
ผมมองว่าเราทำโปรดักท์ให้คนอื่น ก็เหมือนเราจับปลาให้เขากิน เกิดวันใดวันหนึ่งเราไม่อยู่ เราเหนื่อยเกินที่จะทำเอง วิชาจับปลาก็จะตายไปพร้อมเรา แต่ถ้าเราสร้างชุมชนนักสร้าง ส่งต่อให้เด็กรุ่นต่อไป สิ่งเหล่านี้มันก็จะไม่หายไป และมันจะไม่เป็นเหมือนเดิม เพราะน้องทุกคนก็มีไอเดียที่ต่างกัน
จริงๆ อย่างที่บอก ค่าย Young Creator’s Camp แค่อยากให้น้องรู้สึกสนุกกับการทำโปรดักท์ ผมเคยเจอมาเยอะแล้วคนที่มาเขียนโปรแกรมเพราะอยากได้เงิน ไม่ต่างกับกรรมการห้องแอร์ ดังนั้นค่ายนี้แค่ไปจุดประกายให้น้อง เหมือนที่ค่ายต่อกล้าให้เติบใหญ่เคยให้กับผม ซึ่งในฐานะที่ผมเองก็เป็นเยาวชนอายุ 17 คนหนึ่ง ผมจึงอยากส่งต่อวิธีนี้ผ่านค่ายให้น้องๆ มากกว่า