- เพราะเชื่อว่าไอดอลยังทำหน้าที่เป็นต้นแบบให้กับใครบางคนได้อยู่ WISHDOM วงไอดอลเด็กไทยจึงจับเอาประเด็นการศึกษาและการเป็นจิตอาสามาเป็นคอนเซปท์หลักของวง
- ภารกิจหลักของ WISHDOM ไม่ใช่เพียงแค่ทำเพลงร้องเต้นอย่างวงไอดอลทั่วไป แต่พยายามสอดแทรกเนื้อหาด้านวิชาการต่างๆ สื่อสารผ่านโพสต์ในสื่อโซเชียลมีเดียของสมาชิกในวง
- วงไอดอล WISHDOM พยายามเชื่อมโลกสองใบระหว่าง ‘โลกการศึกษา’ และ ‘โลกบันเทิง’ เข้าด้วยกันและย้ำว่าโลกสองใบนี้มันไปด้วยกันได้
“ทำไมเรียนวิศวะแล้วมาเป็นไอดอล เรียนมาตั้งเยอะทำไมเลือกมาทำอะไรแบบนี้ แต่เรารู้สึกโชคดีมากกว่าเพราะได้เอาความฝันทั้งสองอย่างของเรามารวมกัน เอาความรู้ที่เรามีออกมาเผยแพร่ เราอยากจะสร้าง awareness ให้คนอื่นได้รู้เรื่องนาโนเทคโนโลยี” ริยา – อิสริยา นิรัคฆนาภรณ์ หนึ่งในวิชเกิร์ล จบเกียรตินิยม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
…
เกียรตินิยม ได้รับทุน ชนะเลิศ รับรางวัล เป็นจิตอาสา …
ถ้อยคำเหล่านี้ถูกโปรยลงในโปรไฟล์แนะนำตัวของเด็กสาวสมาชิกไอดอลวง WISHDOM
หากใครติดตามวงการไอดอลของเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าวงการไอดอลไทยมีการเติบโตอย่างน่าสนใจ มีวงไอดอลน้องใหม่ที่ออกมาโชว์การร้อง เต้น และทักษะความสามารถอื่นๆ ตามที่ตัวเองถนัดละลานตา
WISHDOM หนึ่งวงไอดอลน้องใหม่เปิดตัวได้ไม่นาน แตกต่างด้วยคอนเซปท์และแนวคิดที่แข็งแรง จับเอาประเด็นการศึกษาและการเป็นจิตอาสามาเป็นแก่นหลักของวง
WISHDOM มาจากคำว่า WISH ที่แปลว่า ‘ความปรารถนา’ และคำว่า WISDOM ที่แปลว่า ‘ปัญญา’ รวมความได้ว่า ‘ความปรารถนาแห่งปัญญา’ ส่วน ‘วิชเกิร์ล’ เป็นคำที่ใช้เรียก ‘trainee’ ของวง เป็นชื่อที่ผสมผสานมาจากคำว่า ‘วิชา’ และ ‘เกิร์ล’ ฉะนั้นความหมายของก็คือไอดอลที่เป็นตัวแทนด้านวิชาการต่างๆ
The Potential จึงชวน ณภัทร จารุเรืองศรี, ปาณัสม์ ครุฑธาซ, ศุภกร ไชยอเนกวุฒิ ผู้บริหารทั้งสามพูดคุยถึงที่มาที่ไป เหตุผลที่หยิบฉวยเอาประเด็นการเรียนรู้ขึ้นมาเป็น ‘หน้าร้าน’ หรือลึกๆ แล้วทั้งสามมีมุมมองต่อการศึกษาไปในทิศทางไหน แล้วทำไมจึงคิดว่าโลกการศึกษาและการเอนเตอร์เทนถึงไปด้วยกันได้
จุดเริ่มต้นของวง WISHDOM
ปาณัสม์: ก่อนหน้าจะมารวมตัวกันเพื่อทำวงไอดอล ต่างคนก็เคยทำงานของตัวเองมาก่อน ส่วนตัวผมเคยทำงานด้านการเก็บข้อมูล วิเคราะห์สถิติของไอดอลวงอื่นมาก่อนและรับราชการด้วย
แม้เราจะอยู่ในแวดวงการทำงานกับไอดอลไทย แต่ลึกๆ ผมยังรู้สึกว่าตัวเองมองหาไอดอลที่เป็นไอดอลจริงๆ อยู่เสมอ หมายถึง เรายังไม่เจอไอดอลในแนวที่เราอยากจะได้ ก็เลยอยากจะลองทำวงเองขึ้นมา นี่คือจุดเริ่มต้นทำให้เราคิด เริ่มวางแผน แล้ววงไอดอลแบบไหนที่เราอยากได้?
ส่วนตัวผมรู้สึกว่าในปัจจุบันคนมักมองคำว่าไอดอลในเชิงการเป็นอาชีพ มองว่าไอดอลคือใบเบิกทางเข้าสู่วงการบันเทิง ไอดอลคืออาชีพทำเงิน แต่ในความรู้สึกผมยังเชื่อว่า ‘ไอดอล’ ยังเป็นคำที่ยังมีความหมาย มีพลัง และมีอิทธิพลมากกว่านั้น ไอดอลยังทำหน้าที่เป็นต้นแบบสำหรับคนอื่นๆ ได้อยู่ เราจึงหยิบไอเดียตรงนี้ขึ้นมาสานต่อ และแน่นอนว่าสิ่งที่จับต้องได้มากที่สุด มักหนีไม่พ้นเรื่องการศึกษา มันน่าจะเป็นสิ่งที่มองเห็นชัดและแข็งแรงมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องการตีตลาดในยุคสมัยนี้ เราจำเป็นต้องมีจุดยืนที่แน่นอน
ต่อยอดไอเดียอย่างไร และการศึกษาแบบไหนที่อยากจะชู
ปาณัสม์: จริงๆ แล้ว การศึกษาคือไอเดียแรกที่ผุดเข้ามา แต่แน่นอนว่าการศึกษามันมีหลายแบบ ไอเดียแรกที่เราตั้งเป้าไว้ คือเราต้องการน้องๆ ที่อยู่ในสายวิทย์-คณิตเพียงอย่างเดียว ความคิดเช่นนี้มาจากพวกเราในฐานะผู้ริเริ่ม เราเคยทำงานกับสถิติ อยู่กับตัวเลขและการคำนวณมาก่อน เราจึงอินและถนัดกับประเด็นนี้
แต่พอเราเริ่มสังเคราะห์ คิด และตกผลึกกับมัน ก็พบว่าการศึกษามันมีหลากหลายแขนง เด็กบางคนมีความสามารถในด้านที่เขาถนัด บางทีคำว่าการศึกษามันอาจจะไม่ใช่ด้านการเรียนอย่างเดียวเสมอไป มันอาจจะเป็นสิ่งที่เขาหลงใหลอยู่ก็ได้ เราไปจำกัดความว่ามันคือตัวเลขอย่างเดียวไม่ได้
ณภัทร: โจทย์หลักที่เราต้องการจากน้องๆ คือ น้องจะนำความสนใจของเขามาถ่ายทอดให้กับแฟนๆ หรือคนที่มาติดตามเขาได้อย่างไร เราคัดเลือกสมาชิกในวงผ่านพื้นที่ในเฟซบุ๊ค โดยโปรยว่า ถึงจะร้องไม่เป็น เต้นไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร แค่น้องมาพร้อมความสามารถเฉพาะด้าน และมีใจอยากจะเผยแพร่การศึกษาและความถนัดที่มีก็พอ
‘การเผยแพร่ความรู้’ แบบไอดอลเป็นอย่างไร
ปาณัสม์: เรามักจะบอกกับน้องๆ เสมอว่า สิ่งไหนที่เขาถนัด ให้นำสิ่งนั้นมาสังเคราะห์และปรับให้เข้ากับชีวิตประจำวัน น้องแต่ละคนจะมีช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีแฟนเพจเป็นของตัวเอง นั่นเป็นพื้นที่จะแชร์ content ของตัวเอง ตามธรรมเนียมปกติไอดอลทั่วไปจะมีการโพสต์รูปหรือข้อความให้ผู้ติดตามได้ทราบว่าวันนี้ตัวเองทำอะไรมาบ้าง หรือใช้พื้นที่นี้พูดคุยกับแฟนคลับ แต่สำหรับ WISHDOM นอกเหนือจากการพูดคุยตามปกติ เราตั้งใจให้น้องๆ พยายามสอดแทรกเกร็ดความรู้ลงไปในโพสต์นั้นด้วย
เท่าที่ผ่านมา น้องๆ จะพยายามใส่ความรู้ลงในเนื้อหาแต่ละโพสต์ อาจจะไม่ได้จริงจังหรือหวือหวา แต่เป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น น้องสมาชิกคนหนึ่งในวงมีอาการท้องเสียถึงขึ้นเข้าโรงพยาบาล แต่แทนที่จะโพสต์ว่าตัวเองป่วยเฉยๆ น้องกลับเลือกถ่ายทอดเรื่องราว โดยการอธิบายให้เห็นถึงความอันตรายของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค รวมถึงแนะนำวิธีการป้องกัน ซึ่งเรายังไม่ค่อยเห็นการนำเสนอเนื้อหาแนวนี้ในวงการไอดอลไทยซักเท่าไร
ฟีดแบกจากแฟนคลับเป็นอย่างไรบ้าง
ปาณัสม์: ถ้านับจากวันที่ออดิชั่นถึงวันนี้ WISHDOM มีอายุประมาณ 3 เดือน สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราคิดว่าเริ่มทำสำเร็จในฐานะผู้เผยแพร่ความรู้ คือมีเหตุการณ์ที่พวกเราไปออกงานพบปะแฟนคลับ แล้วแฟนคลับบางคนถือหนังสือเรียนมาถามน้องๆ สมาชิกว่า ‘ข้อนี้ทำยังไง’ ‘ช่วยอธิบายหน่อย’ มันเป็นภาพที่ไม่เคยเห็นในวงการไอดอลมาก่อน หรือแฟนคลับบางคนเมื่อมาเจอกัน ก็มาปรึกษาด้านการเรียน ‘หนูอยากเข้ามหาวิทยาลัยนี้’ ‘อยากเรียนคณะนี้’ ‘อยากจะเรียนให้ได้เหมือนพี่ต้องทำอย่างไร’ แค่นี้เรารู้สึกว่ามัน success แล้วนะ
แบบนี้จะไม่กลายเป็นว่า เราชูแต่เด็กที่เรียนเก่งหรือ?
ณภัทร: ในวงเราไม่ได้มีแค่เด็กที่เรียนเก่งนะครับ อย่างที่บอกในตอนแรก เราคาดหวังให้มีแต่เด็กสายคำนวณ (วิทย์-คณิต) แต่เมื่อเราตีความกันใหม่ว่าการศึกษาคืออะไร มันจำกัดเพียงเกรดใช่หรือไม่ ข้อสรุปคือไม่ใช่ การศึกษามันคืออะไรก็ได้ตามความถนัดของเขา เขาจะเก่งด้านดนตรี วิชาการ สังคม แค่เขาเชี่ยวชาญและมีแพชชั่นในอะไรบางอย่างก็พอแล้ว
ปาณัสม์: ใช่ครับ เรามาทบทวนกันว่าจริงๆ แล้วคำว่าการศึกษาคืออะไร วิชาการก็คือการศึกษา ดนตรีก็คือการศึกษา การใช้ชีวิตก็คือการศึกษา เราเคยตั้งเป้าว่าเรากำลังมุ่งหา ‘ไอดอลสายคำนวณ’ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว WISHDOM คือ ‘ไอดอลสายการศึกษา’ น้องบางคนไม่ได้มีผลการเรียนดีมาก แต่เขาเป็นนักให้กำลังใจ แค่เขาเก่งในสิ่งที่เขาทำและมีใจอยากเผยแพร่
เพราะมองเห็นปัญหาอะไรในการศึกษาไทย
ปาณัสม์: ผมคิดว่าการศึกษาจะต้องช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็ก ไม่ใช่แค่ผลการเรียนที่ดี แต่มันมีแง่มุมอื่นๆ ผมมองเด็กไทยสมัยนี้ในฐานะคนที่จบมาแล้ว เขาอาจจะไม่ได้มีแรงบันดาลใจในการเรียน ไม่มีสิ่งที่ดึงดูดความสนใจให้เขาเรียนมากพอ ถ้าเกิดมีไอดอลหรือ symbol อะไรบางอย่างที่เป็นต้นแบบในการศึกษาของพวกเขาได้จริงๆ มันอาจจะสร้างแรงบันดาลใจหรือการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ได้
ณภัทร: ตั้งแต่แรกเรามักบอกเสมอ เราบอกให้น้องๆ ทุกคนที่จะมาออดิชั่นให้มาลองดูก่อน ถ้าไม่ชอบและคิดว่าตัวเองไม่เหมาะก็ไม่เป็นไร
เพราะผมรู้สึกว่าการศึกษาเปิดโอกาสให้เด็กไทยได้ทดลองน้อยมาก เราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อบอกน้องๆ ว่า เรามีพื้นที่ให้คุณได้ลองทำอะไรใหม่ๆ อยู่นะ
มีจุดยืนเรื่องการศึกษาที่แข็งแรง แล้วเรื่องร้อง เรื่องเต้น จะออกมาในรูปแบบไหน
ณภัทร: ในตลาดเพลงของวงไอดอลทั่วไป แนวเพลงมักเป็นแนว J-pop (ญี่ปุ่น) แต่เราพยายามจะทำให้วงของเรามีแนวที่ต่างออกไปจากตลาด พยายามเอาหลายๆ แนวมาผสมผสานกัน โดยซิงเกิ้ลแรกจะเป็นแนวร็อคผสมอิเล็กทรอนิกส์
ส่วนด้านเนื้อหาเพลง ในมุมมองของผม เพลงไอดอลในตลาดจะฟังกันค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ถ้าคนทั่วไปฟังอาจจะรู้สึกไม่คุ้น ฟังแล้วจั๊กจี้ เราจึงพยายามทำเพลงให้คนที่ไม่รู้จัก WISHDOM ก็สามารถฟังได้ ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่ทิ้งเรื่องการศึกษา จะพยายามใส่กิมมิคเกร็ดความรู้ต่างๆ เข้าไปในเพลง
การชูประเด็นการศึกษาขึ้นมาในวงไอดอล ประโยชน์คืออะไร
ปาณัสม์: อย่างแรกเราเชื่อว่ามันมีผลต่อตัวแฟนคลับหรือคนที่ติดตาม เขาจะได้ชื่นชมศิลปินตามคาแรกเตอร์ที่เขาชอบ และได้เกร็ดความรู้ ได้สาระประโยชน์ จากเนื้อหาที่สมาชิกในวงมอบให้
ในระยะยาวกว่านี้ เราตั้งใจไว้ว่าเราอยากผลักดันให้ WISHDOM มีโอกาสทำงานร่วมกันกับองค์กรด้านการศึกษาต่างๆ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น นิทรรศการความรู้ต่างๆ เป็นตัวช่วยในการดึงความสนใจ เป็นแรงบันดาลใจเชิญชวนให้เด็กไทยเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เราอยากให้น้องๆ WISHDOM เป็นสื่อกลางเชื่อมต่อระหว่างวงการศึกษาและวงการบันเทิง
เห็นพลังอะไรในตัวน้องๆ ไอดอลบ้าง
ณภัทร: ตอนนี้เรามีเด็กในวงที่เป็นตัวจริงทั้งหมด 14 คน จากวันแรกจนถึงวันนี้ เราไม่เคยคิดเลยว่าเขาจะทำได้ จากเด็กที่ร้องไม่เป็น เต้นไม่ได้ หลายคนพื้นฐานแทบเป็นศูนย์ เต้นไม่ได้ มือแข็ง ขาแข็ง ร้องเพลงไม่ตรงจังหวะ แต่ที่ผ่านมาเราเห็นความพยายาม เขาเริ่มเต้นได้ ร้องได้ ซึ่งเราเรียนรู้ว่ามันเกิดจากความตั้งใจของเขา ผมว่าไม่ต่างจากการเรียนหนังสือ ในเมื่อเด็กอยากทำ เขามีแพชชั่น เรามีหน้าที่ช่วยทำแพชชั่นนั้นให้สำเร็จ
จากการทำงานร่วมกันมา WISHDOM เหมือนโรงเรียน เหมือนบ้านที่เรามาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เราเปิดพื้นที่ เขาสามารถแสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนในเรื่องต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ สมาชิกคือ first priority
แม้โลกจะเปลี่ยนไปแล้ว แต่หลายคนยังคงมีแนวคิดว่า เด็กเรียนเก่งมักจะไม่ทำกิจกรรมร้องเล่นเต้นรำ คุณเห็นด้วยมั้ย
ปาณัสม์: เมื่อก่อนผมก็คิดแบบนี้นะครับ (หัวเราะ) ตอนที่เรารันโปรเจคท์นี้ก็ยังกังวลอยู่เลยว่าจะมีเด็กมาสมัครไหม แต่ปรากฏว่ามีเด็กสนใจเกือบ 200 คน ซึ่งไม่ได้มีแค่เด็กเรียนดีที่สมัครมาเท่านั้น ประวัติของทุกคนน่าสนใจเกือบหมด เราจึงต้องมีคณะกรรมการหลายคน พิจารณาหลายๆ ด้าน ทั้งบุคลิก ความสามารถร้องเต้นพื้นฐาน ทัศนคติ รวมถึงการพูดคุยสัมภาษณ์
ณภัทร: ผมว่าชีวิตเราทุกคนต้องการมีซีนนะ เราต้องการพื้นที่ out stand แต่ที่เราติดภาพจำว่าเด็กเนิร์ดจะไม่ทำกิจกรรม มัวแต่อ่านหนังสือ ผมว่าเด็กๆ เขาอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองมีพื้นที่ WISHDOM จึงเปรียบเสมือนพื้นที่ที่สร้างซีนให้เขามากกว่า ผลักสิ่งที่อยู่ในตัวเขาออกมา
ปาณัสม์: บางทีเด็กเนิร์ดที่มีซีน เขาอาจจะต้องเรียนเก่งมากๆ ซีนของเขาอยู่ในรูปแบบการสอบได้ที่หนึ่ง หรือเป็นตัวแทนการสอบระดับประเทศ ซีนของเขาคือการขึ้นไปรับรางวัลต่างๆ แต่สิ่งที่เรากำลังทำคือการให้พื้นที่ นำเอาคุณสมบัติที่ติดตัวเขามาฉายและ publish ต่อ
เลี้ยงสมดุลระหว่างโลกไอดอลกับโลกการเรียนของน้องๆ อย่างไร
ปาณัสม์: เรื่องนี้เราคุยกันตั้งแต่วันแรกๆ ที่เริ่มทำสัญญากัน เราให้ความสำคัญกับการศึกษามาเป็นอันดับหนึ่ง หากน้องมีภารกิจทางการศึกษาใดๆ ติดสอบ ติดอ่านหนังสือ ติดเรียน ติดรับปริญญา หรือไปเข้าค่าย สามารถลางานโดยไม่มีข้อแม้ เราจะไม่ปล่อยให้น้องๆ ต้องกังวลว่างานจะทำให้กระทบต่อการเรียน
คาดหวังว่า WISHDOM จะจุดกระแสไอดอลไทยอย่างไรบ้าง
ปาณัสม์: ตลาดไอดอลในไทยมันค่อนข้างมีแนวโน้มโตขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าเรายังจะสร้างกระแสได้ไม่มาก แต่เราคาดหวังจะเสนอจุดยืนของเราให้ดีที่สุด จะเห็นได้ว่า content ที่เป็นข้อมูลทางการศึกษาต่างๆ ที่น้องได้โพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย ไม่จำเป็นต้องถูกกดไลค์ กดแชร์ เฉพาะแค่ในกลุ่มโอตะเสมอไป แต่มันเผยแพร่ไปถึงคนทั่วไปที่อาจจะไม่ได้สนใจไอดอล หรือไม่ใช่ฐานแฟนคลับหลักของเรา
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น จีจี้ หนึ่งในสมาชิกในวง เคยโพสต์เรื่อง ‘อัลกอริธึม’ ของ แอปพลิเคชั่น Spotify ที่คำนวณตามพฤติกรรมฟังเพลงของ user โพสต์นี้มีคนเข้ามาแชร์และกดไลค์จำนวนมาก และนั่นคือ traffic ที่เราได้แลกเปลี่ยนโดยใช้ความรู้เป็นตัวเชื่อม
ในเมื่อ WISHDOM คือโรงเรียน ในฐานะผู้บริหารเราได้เรียนรู้อะไรจากโรงเรียนนี้บ้าง
ณภัทร: ผมค่อนข้างอยู่กับเอกสารอ้างอิงมาโดยตลอด เวลาน้องๆ อัพโหลดข้อความหรือ content ใดๆ ผมจะต้องรีเช็คความถูกต้อง โดยหารีเสิรช์ต่างๆ มายืนยัน มันก็ได้ฝึกตัวเองเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ปาณัสม์: สำหรับตัวผม การอยู่ตำแหน่ง CEO มันต้องดูแลภาพรวมทั้งโครงสร้าง มีเรื่องให้ต้องจัดการมากมาย มีการพูดคุยกับบริษัทแนวร่วม ถึงแม้ผมจะไม่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจมาก่อน แต่ก็ได้คำแนะนำจากคนอื่นๆ อยู่เสมอ เช่น การทำตลาดออนไลน์ การหาสปอนเซอร์ ทุกครั้งที่เราเข้าประชุมงานเหมือนกับได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เหมือนกัน
ศุภกร: การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่ว่าคุณยังเรียนในโรงเรียนหรือจบมาแล้วทำงานก็ตาม เราทุกคนยังต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา อย่างที่บอกว่าวงเรามีคอนเซปท์ที่แตกต่าง ผมได้เรียนรู้ว่าการคิดนอกกรอบนี้ มันคือการผสมผสานที่ลงตัว ทำให้การศึกษาไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ
คุยสั้นๆ กับ 3 เมมเบอร์ ‘อะไรทำให้เข้ามาเป็นไอดอลสายการศึกษา?’
จีจี้ – พรทิพย์ ทองอุไร:
นักเรียน ม.6 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย
ถนัดด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์
“ไอดอลเป็นแค่วิชาหนึ่งในชีวิต เป็นวิชาที่หนูเข้าไปเรียน วันหนึ่งมันจะต้องมีการวัดผล ซึ่งก่อนวัดผลก็แค่เตรียมตัวให้ดีที่สุดก็พอแล้ว”
หนูชอบเต้นชอบร้องมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ชอบวิทย์คณิตเหมือนกัน เราเป็นคนเรียนได้ดีในระดับหนึ่ง แต่พื้นที่ให้เลือกทั้งเอนเตอร์เทนและวิทย์คณิตมันไม่ได้เยอะมาก หนูต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ WISHDOM ไม่จำเป็นต้องเลือกเลย มันมีทั้งสองอย่างที่เราชอบ หนูคิดว่าหนูมีความสามารถในเชิงวิชาการติดตัวมา และวงนี้มีคอนเซปท์ที่ตอบโจทย์ แต่พอเข้ามาแล้ว ถึงแม้หนูชอบเต้นโคฟเวอร์มากๆ แต่หนูไม่ได้เต้นเก่ง WISHDOM ช่วยให้หนูฝึกการเต้นให้ลึกขึ้น บางครั้งตอนที่เต้นไม่ได้ รู้สึกท้อมากๆ แต่เราก็พยายามทำมัน ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการเรียน ถ้าทำไม่ได้-ก็อ่านหนังสือทวนอีกรอบ
แต่หนูเคยใช้ความพยายามผิดทาง เมื่อก่อนหนูพยายามจะเป็นใครก็ไม่รู้ อยากจะให้คนมารักมาชอบ แต่เมื่อหนูเปลี่ยนวิธีคิด ใช้ความพยายามนั้นกับตัวเอง บทบาทการเป็นไอดอลเป็นแค่วิชาหนึ่งในชีวิต เป็นวิชาที่หนูเข้าไปเรียน วันหนึ่งมันจะต้องมีการวัดผล ซึ่งก่อนวัดผลก็แค่เตรียมตัวให้ดีที่สุดก็พอแล้ว
ริยา – อิสริยา นิรัคฆนาภรณ์:
จบการศึกาาคณะวิศวกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“เรารู้สึกว่าไอดอลยังทำหน้าที่เป็นต้นแบบให้กับใครบางคนได้อยู่ ยิ่งถ้าได้ใช้ความสามารถของตัวเองเพื่อช่วยคนอื่น มันทำให้เรารู้สึกมีค่าและเติมเต็มมากๆ”
ที่ตัดสินใจสมัครเข้ามาในวงนี้เพราะคิดว่าเรายังมีความสามารถอื่นๆ ที่เอามาใช้ได้อีก เราไม่จำเป็นต้องเลือกอะไรเลย Why choose? when we can have both เราเป็นได้ทั้งสองอย่าง 1. เป็นไอดอล 2. เป็นผู้เผยแพร่ความรู้
ก่อนหน้านี้เรารู้ว่าไอดอลคืออาชีพหนึ่งที่ออกมาร้องมาเต้น ไอดอลแค่ต้องถ่ายรูปลงโซเชียล พูดคุยกับแฟนคลับ แต่พอมาทำจริงๆ เรารู้สึกว่าไอดอลยังทำหน้าที่เป็นต้นแบบให้กับใครบางคนได้อยู่ ยิ่งถ้าได้ใช้ความสามารถของตัวเองเพื่อช่วยคนอื่น มันทำให้เรารู้สึกมีค่าและเติมเต็มมากๆ ซึ่งมันเป็นคอนเซปท์ของวง
เอไมด์ – ศุภนุช สุขมะณี:
นักเรียน ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ชอบค่ายและงานจิตอาสา
“การเป็นไอดอลมันยากทั้งร่างกายและจิตใจ แต่มันทำให้หนูได้ออกมาจาก comfort zone หลังจากป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เรื่องความกดดันมีอยู่บ้าง แต่หนูจะเอาข้อผิดพลาดเป็นบทเรียนไม่ใช่บาดแผล มันทำให้หนูรู้สึกว่าตัวเองได้พยายามอีกครั้ง”
หนูชื่นชมไอดอลวงหนึ่งอยู่แล้ว มีช่วงหนึ่งที่หนูรู้สึกแย่กับชีวิต หนูได้ไอดอลวงนี้ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น – หนูจึงอยากเป็นคนหนึ่งที่ส่งต่อความรู้สึกดีๆ ส่งกำลังใจให้คนอื่นบ้าง จึงทำให้หนูสมัครเข้ามา อีกอย่างหนูชอบร้องเพลงอยู่แล้ว และคิดว่านี่คือก้าวแรกที่หนูจะได้ทำตามความฝันของตัวเอง ผ่านการทำสิ่งที่หนูรัก
ไอดอลคือสัญลักษณ์ของความพยายาม มอบความรู้ ความสุข ให้กำลังใจ
การเป็นไอดอลมันยากทั้งร่างกายและจิตใจ แต่มันทำให้หนูได้ออกมาจาก comfort zone หลังจากป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เรื่องความกดดันมีอยู่บ้าง แต่หนูจะเอาข้อผิดพลาดเป็นบทเรียนไม่ใช่บาดแผล มันทำให้หนูรู้สึกว่าตัวเองได้พยายามอีกครั้ง แม้ยอดไลค์หนูไม่เยอะ แต่ถ้าคอนเทนต์นั้นมันมีประโยชน์สำหรับใครสักคนที่เข้ามาอ่าน ก็พอใจแล้ว
หนูไม่รู้ว่าวงอื่นเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่หนูรู้สึกได้จาก WISHDOM นอกจากการฝึกร้อง เต้น เราคือวงที่พูดคุยกับเรื่องความรู้ แชร์ข้อมูลกัน แบ่งปันในสิ่งที่แต่ละคนถนัด