- Vocaby เกมส่งเสริมการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษ เป็นเกมแนวปริศนาและผจญภัยโดยผู้เล่นต้องใช้ถอดรหัสคำศัพท์ภาษาอังกฤษเพื่อทำภารกิจในแต่ละด่านให้ผ่าน ผลงานของนวัตกรรมเยาวชนจากโรงเรียนสตรีอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง
- แม้เป็นเกมด้านการพัฒนาภาษาอังกฤษ แต่ทีมงานหลายคนเกลียดภาษาอังกฤษเข้าไส้ อันเนื่องจากความหลังฝังใจจากการถูกบังคับให้เรียน
- Vocaby จึงไม่ใช่แค่เกมพัฒนาภาษาอังกฤษให้คนอื่น แต่เป็นการท้าทายตัวเองในการทำงานในสิ่งที่ไม่ชอบ เพื่อเป้าหมายใหญ่ที่พวกเขาอยากไปถึงมากกว่า
เรื่อง: มณฑลี เนื้อทอง
ภาพ: โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่
ปัจจุบันและต่อไปในอนาคต ภาษาอังกฤษจะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตและการทำงานของเรา แต่ในความเป็นจริง ภาษาอังกฤษยังคงเป็นหนึ่งในวิชาที่นักเรียนหลายคนเบือนหน้าหนี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องเรียนรู้จากตำราแกรมม่า
แล้วถ้าเปลี่ยนใหม่ ให้เด็กๆ เรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านเกมล่ะ?
นิดา-สุภนิดา พลอยคำ, มุกกี้-กมลชนก กลิ่นระรวย, ก๊องส์-ศักดิ์ชัย เปาอินทร์, แกน-มงคลากร คิดว่ามันคงสนุกกว่าถ้าน้องๆ จะได้ฝึกภาษาอังกฤษไปพร้อมๆ กับการเล่นเกม พวกเขาทั้งสี่จึงทุ่มสุดตัวกับภารกิจ Vocaby เกมแนวปริศนาและผจญภัยส่งเสริมการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษ เปิดโลกการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้น้อง พร้อมทั้งเปิดโลกแห่งโอกาสให้ทั้งสี่ทะยานไปหยิบฝันของพวกเขาเองด้วย…
โอกาสอยู่ตรงหน้า! หยุดไหมหรือไปต่อ?
Vocaby มีต้นกำเนิดมาจากมูลเหตุเหมือนน้องๆ ม.ปลาย หลายทีมต้องพัฒนาโปรเจ็คต์ปลายภาคในชั้นเรียน และไหนๆ ก็ทำมาแล้ว ก็ส่งประกวดด้วยเลยจะได้ไม่เสียเที่ยว
ต่างแต่เพียง Vocaby นั้น เวอร์ชั่นแรกกับเวอร์ชั่นปัจจุบันแทบไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลย
“ตอนส่ง NSC ทำเกมแสบซ่าท้าฝัน เป็นเกมเกี่ยวกับการเลือกอาชีพ โดยนำจุดเด่นของแต่ละอาชีพใส่ไปในเกม เช่น ถ้าเป็นเชฟก็จะมีรูปแบบการเล่นแบบหนึ่ง ถ้าเป็นครูก็จะมีรูปแบบการเล่นอีกแบบหนึ่ง” นิดาเล่าถึงผลงานเมื่อครั้งที่เธอยังทำร่วมกับมุกสองคน ซึ่งเกมแสบซ่าท้าฝันของพวกเธอก็สามารถทะลุเข้าไปถึงรอบระดับประเทศของรายการ NSC และเมื่อถูกรุ่นพี่ชักชวนเข้าโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 6 ทั้งสองก็ไม่รอช้าที่จะคว้าโอกาส สมัครเข้าร่วมพร้อมทั้งดึงรุ่นน้องอย่างก๊องส์เข้ามาร่วมทีมทันที
“คิดว่ามันเป็นโอกาสของเราครับ ต้องเต็มที่กับมัน” ก๊องส์กล่าวอย่างมาดมั่น
และหาก Vocaby คือเกมที่ผู้เล่นต้องใช้ทักษะภาษาอังกฤษในการแก้ปัญหาและฝ่าด่านมากมายเพื่อไปให้ถึงเส้นชัยฉันใด เส้นทางการทำงานของทีมก็แทบไม่ต่างกับตัวเกมเลยแม้แต่น้อย เริ่มตั้งแต่การได้รับคำแนะนำให้รื้อเกมใหม่ทั้งหมด
“ค่ายแรกเราได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการว่า ผลงานเราควรเอาจุดเด่นของอาชีพหนึ่งมาเลย แล้วทำซีรีส์ย่อยให้เด่นทีละอาชีพ คือใช้วิธีทำเกมหลักแล้วเพิ่มด่านเพิ่มเลเวลเอา ซึ่งมันต้องเปลี่ยนระบบ ต้องเขียนโค้ดเพิ่มเยอะมาก เกมเดิมมีทั้งเชฟ จิตรกร ครูภาษาอังกฤษ โค้ชมองเห็นว่าภาษาอังกฤษมันมีประโยชน์และสามารถต่อยอดไปได้ไกลกว่าอาชีพอื่นๆ เลยแนะนำให้เอาครูภาษาอังกฤษมาเป็นเกมหลัก เราก็เลยเปลี่ยนชื่อผลงานเป็น Vocaby มาจากคำว่า vocabulary ที่แปลว่าคำศัพท์” นิดาร่ายยาวถึงจุดเปลี่ยนของผลงาน
ทำกันมาตั้งนาน เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่ต้องทิ้งผลงานกว่าค่อน พวกเขารู้สึกกันอย่างไร?
“ตอนแรกก็ลังเล เพราะแสบซ่าท้าฝันมีไอเดียหลักให้คนที่สับสนในอาชีพได้มาลองเล่น เขาจะได้รู้ว่าเขาชอบอาชีพไหน แต่พอได้คุยกันจริงๆ เราควรก้าวต่อไป เราควรเลือกสิ่งที่พัฒนาต่อยอดไปไกลมากขึ้น เราไม่ควรยึดติดกับความคิดเดิมที่ไม่สามารถพัฒนาต่อยอดได้” นิดากล่าวอย่างมุ่งมั่น
ไม่ต่างกับมุกที่ว่า “เสียดายสิ่งที่ทำมา แต่ถ้าเราไปต่อได้ไกลกว่าเดิมก็ดีกว่า”
เพราะมองเห็นโอกาสที่ผลงานจะสามารถไปได้ไกลกว่าเดิม แม้ว่าจะต้องยอมสละผลงานส่วนหนึ่งทิ้งไว้ก่อน แต่พวกเขาก็เลือกที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้ไม่ให้หลุดมือ
“เราต้องเพิ่มด่าน เหมือนเอาเกมย่อยหนึ่งเกมมาเพิ่มเป็นเกมที่มี 3 ด่านใหญ่และมีด่านย่อยในนั้น จำนวนด่านที่ต้องทำมากขึ้น จึงชวนแกนมาช่วยเขียนโค้ดกับก๊องส์ มุกทำกราฟิก ก็ต้องวาดเยอะขึ้น ส่วนหนูดูภาพรวม ประสานทีมโค้ชและอาจารย์ เก็บข้อมูลว่าต้องทำอะไรเพิ่มเติมบ้าง” นิดาเล่าถึงการแบ่งหน้าที่ในทีมอย่างชัดเจน
กล้าไหม? ถ้าต้องทำในสิ่งที่เกลียด
แม้การเปลี่ยนระบบ เขียนโค้ดใหม่ และทำกราฟิกเพิ่มจะเป็นขอบเขตงานที่ใหญ่ไม่ต่างอะไรกับทำเกมใหม่ขึ้นมาเกมหนึ่ง แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่เพียงอย่างเดียวของทีม เพราะสมาชิกในทีมส่วนใหญ่นั้นเกลียดภาษาอังกฤษ!
“ความรู้สึกต่อภาษาอังกฤษของหนูอยู่กลางๆ ค่อนไปทางรังเกียจ (หัวเราะ) เป็นคนที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ มีปัญหามาตั้งแต่ประถมฯ ครูภาษาอังกฤษดุ เวลาเราพูดไม่ได้ครูจะตี เลยไม่ชอบเรียน ไม่ชอบครู ฝังหัวมาตั้งแต่วันนั้น พอพื้นฐานเราไม่ดี มาเรียนต่อยอดก็เป็นปัญหา พอไม่เข้าใจก็ไม่อยากเรียน ตั้งกำแพงว่าไม่ชอบภาษาอังกฤษ” นิดาเล่าพลางขมวดคิ้ว
แต่น่าสนใจว่าแม้นิดาและเพื่อนๆ จะไม่ชอบภาษาอังกฤษ แต่พวกเขาก็กล้าพอที่จะพัฒนาเกมภาษาอังกฤษ ด้วยเหตุผลว่าเกมมีโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ดังที่กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ตาม ความกล้านั้นก็มาพร้อมกับความหวาดหวั่น แต่ด้วยปณิธานแน่วแน่ว่า ‘ต้องไปต่อ’ ทีมจึงต้องดิ้นรนหาทางออก
เพราะทุกอุปสรรคนั้นมีทางออกเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าเรามุ่งมั่นที่จะฝ่าฟันอุปสรรค์นั้นอย่างแน่วแน่แค่ไหน และสำหรับทีม Vocaby บอกได้เลยว่าพวกเขามุ่งมั่นเกินร้อย
“เราต้องไปต่อ เลยเอาแกนเข้ามาช่วย เพราะนอกจากเขียนโค้ดแล้วเขาก็เก่งภาษาอังกฤษ แกนกับครูตองก็จะช่วยเรื่องคำศัพท์เป็นหลัก ซึ่งทำไปทำมามันก็ทำให้เราได้ภาษาอังกฤษมากขึ้น แม้จะเป็นระดับประถมฯ แต่ก็มีศัพท์หลายคำที่เราลืมหรือไม่รู้จักเลย” นิดาเล่าด้วยรอยยิ้ม
และนอกจากการตรวจสอบความถูกต้องของคำศัพท์กับพจนานุกรมแล้ว ทีมไม่ลืมที่จะนำผลงานไปตรวจสอบกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นน้องๆ นักเรียนชั้น ป.4-6 ด้วย
“ไปทดลองใช้ที่โรงเรียนเทศบาล 4 ประถมสาธิตเทศบาลเมืองอ่างทอง ได้ทดลองกับเด็ก ป. 4-6 และทดลองเผื่อในเด็กกลุ่ม ป.2-3 ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่น้องเขาขอให้พัฒนาเกมเพิ่ม คือให้เพิ่มด่าน เพิ่มเลเวล เพราะเขาสามารถเล่นได้จนจบเลย” นิดากล่าวถึงการนำผลงานไปทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมายจริง ซึ่งส่วนใหญ่ให้เสียงสะท้อนไปในทางที่ดี
“น้องบอกว่าภาพน่ารัก แนวภาพเหมาะกับกลุ่มผู้ใช้ คือเป็นภาพตัวละครเล็กๆ น่ารักๆ รู้สึกภูมิใจที่ได้ใช้ความสามารถของตัวเองให้เป็นประโยชน์ ทำให้น้องสนุก” มุกกล่าวอย่างภูมิใจในฐานะมือกราฟิก
“มันจะต่างกับการเทสต์กับเพื่อนหรือคนรู้จัก ถ้าไม่เกรงใจก็แกล้งไปเลย แต่อันนี้เราได้ฟีดแบ็คจริงๆ ได้เห็นว่าคนอื่นจริงๆ เขาก็ชอบนะ ทำให้มีกำลังใจพัฒนาต่อ” แกนสำทับ
“เราเห็นความพยายามเล่นของเด็ก เห็นว่าสิ่งที่เราทำตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เขาสนุก มันทำให้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป” นิดาสรุปความอย่างแจ่มใส
ฝ่าพ้นแรงเสียดทาน จักรวาลก็อยู่เบื้องหน้า
หลักการส่งกระสวยขึ้นสู่อวกาศ จำเป็นต้องมีจรวดเชื้อเพลิงแข็งและถังเชื้อเพลิง เพื่อเป็นแรงส่งให้กระสวยฝ่าแรงเสียดทานของชั้นบรรยากาศ พุ่งไปสู่ห้วงอวกาศได้
การทำงานของทีม Vocaby เองก็ไม่ต่างกับการส่งกระสวยขึ้นสู่อวกาศนัก เพราะกว่าที่ผลงานจะสำเร็จได้ ทีมต้องฝ่าฟันแรงเสียดทานมากมาย ทั้งจากภายนอกและภายในทีมเอง
“มันมีความยากมาตลอด จนไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นจุดที่ยากที่สุด (หัวเราะ) มันยากตั้งแต่ให้เราเปลี่ยนโจทย์ ดึงอาชีพใดอาชีพหนึ่งมาทำ ต้องออกแบบเพิ่มว่าถ้าเอาอาชีพนี้มาทำมันจะไปต่อยังไง เพิ่มด่านยังไง ทำยังไงให้เรื่องเดียวที่ทำมันไม่น่าเบื่อ ซึ่งคำศัพท์กับเรื่องราวมันต้องเชื่อมโยงกัน ต้องบริหารจัดการใช้วัตถุดิบที่วาดให้มีประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่ใช้แค่ครั้งเดียว” นิดาเปิดหัวถึงความยากที่ทีมประสบ
“และทั้งหมดนั้นเราต้องเร่งทำให้ทันเวลาตามเป้าหมาย” ก๊องส์กล่าวต่อ
ก่อนที่มุกจะยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรง “ความยากคือจำนวนรูปที่ต้องวาดเพิ่มขึ้น และเราต้องส่งต่อให้คนเขียนโค้ด ต้องทำให้ทันเวลา ต้องแบ่งเวลากับงานโรงเรียน ซึ่งบางทีเราพยายามทำงานเต็มที่แล้ว แต่พอเพื่อนมากดดัน ทำให้เราไม่มีไอเดีย ไม่มีกำลังใจทำงานต่อ”
นั่นคือแรงเสียดทานจากภายนอกทีม ซึ่งประเด็นนี้นิดายกมือรับผิดแต่โดยดี
“หนูเป็นคนใจร้อนมาก งานต้องเป๊ะ ต้องตรงเวลา ต้องได้ตามกำหนด ถ้าไม่ได้หนูจะเหวี่ยงหรือวีนเลย (ยิ้ม) ซึ่งด้วยเวลาที่บีบ ด้วยโจทย์ที่มากขึ้น ส่งผลให้เรากดดัน แล้วเราก็เอาความกดดันมาใส่เพื่อน พูดแรงๆ ใส่จนเพื่อนเครียด ยิ่งเขาเครียดงานก็ยิ่งไปช้า มันก็ทำให้หนูได้เรียนรู้ไปเองว่า คำพูดแรงๆ มันส่งผลกระทบในทีม ทุกคนทำงานหนัก เหนื่อยในงานของตัวเองอยู่แล้ว เราควรเห็นใจ เข้าใจกันมากขึ้น” นิดากล่าว
หากทีมเปรียบได้กับกระสวย ถังเชื้อเพลิงก็คงเปรียบได้กับผลงานเวอร์ชั่นเก่าที่ส่งแรงขับเคลื่อนให้พวกเขาพุ่งฝ่าด่านของการประกวดเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโครงการต่อกล้าฯ ก่อนจะปลดตัวเองออกไปเพื่อให้กระสวยพุ่งไปได้ไกลต่อ และความมุ่งมั่นเกินร้อยของทีมก็คงเปรียบได้กับจรวดเชื้อเพลิงแข็งที่ส่งพลังให้ทีมสามารถฝ่าฟันแรงเสียดทานต่างๆ นานา ทั้งปริมาณงานมหาศาล เวลาที่กระชั้น และการบริหารจัดการภายในทีมมาได้อย่างปลอดภัย จนมาถึงห้วงอวกาศ ได้แนบสนิทความฝันที่เปล่งประกายคล้ายดวงดาว
“ผลงานนี้เราตั้งเป้าหมายไว้ที่สามารถลง Android และ iOS ได้ นั่นเป็นความฝันของพวกเรา ซึ่งตอนนี้ก็รันได้แล้วทั้งสองตัว” นิดากล่าวถึงผลงานพร้อมยิ้มกว้าง
และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ตัวผลงานเท่านั้นที่น่าภาคภูมิใจ แต่การเรียนรู้และทุ่มกำลังฝ่าฟันอุปสรรคตลอดการทำงานที่ผ่านมา ก็ทำให้ทั้งสี่เติบโตขึ้นอย่างน่าภาคภูมิใจเช่นกัน
“สิ่งสำคัญคือการมองไปข้างหน้า เราอาจมีไอเดียหลักของเรา แต่บางครั้งอะไรที่เราสามารถพัฒนาต่อยอดได้ อาจไม่ตรงกับความคิดเรา แต่ทำให้งานเราตอบโจทย์มากขึ้น พัฒนาได้มากขึ้น เราก็ควรเรียนรู้เพิ่มเติม หรือยอมเปลี่ยนเพื่อให้สิ่งที่เราทำอยู่ไปไกลมากขึ้น อย่างผลงานนี้มันตอบโจทย์ทั้งโค้ช และตอบโจทย์ผู้เล่น เขาเล่นแล้วมีความสุข เขาสนใจจริงๆ เราก็มีความสุขแล้ว ส่วนตัวหนูเองแม้ตอนนี้จะยังไม่ใช่คนเก่งภาษาอังกฤษ (หัวเราะ) แต่พอได้เรียนรู้จริงๆ มันก็ไม่ได้แย่ มันก็สนุก และมันยังมีวิธีอื่นให้เรียนรู้ ก็พูดได้ว่าภาษาอังกฤษทำให้เรามาไกลถึงจุดนี้” นิดาปิดฉากบทสนทนาอย่างร่าเริง
สำหรับนักเรียนหรือครูท่านใดสนใจโหลด Vocaby เป็นสื่อการสอนให้ชั้นเรียน Vocaby ดาวน์โหลดได้แล้วผ่าน google play http://bit.ly/2lxwqXg |