- Victory Crew วงคัฟเวอร์แดนซ์ เจ้าของรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเต้นคัฟเวอร์เพลง KILL THIS LOVE เพลงสุดฮิตของ BLACKPINK
- 4 สาว นักเต้น ล้วนเริ่มต้นเต้นจากการเป็นติ่ง เมื่อชอบจึงกลายมาเป็นแฟนคลับ ซ้อมหนัก และฝึกฝน จนคว้าแชมป์โลกได้ในที่สุด
- “การเต้นคือการได้สื่อสารสิ่งที่อยู่ภายในใจในความคิดของเราออกมาด้วย บางทีเราอยากถ่ายทอดความคิดความรู้สึกที่ซับซ้อนแต่ถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ เราสามารถใช้การเต้นเป็นตัวสื่อความรู้สึก ทั้งท่าเต้น เพลง หรือเนื้อเพลง หนูรู้สึกว่าการเต้นสามารถถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาได้หมดโดยที่เราไม่ต้องพูดอะไรเลย”
ภาพ: ธเนศร์ แก้วดวงดี
เรามาถึงตอนที่เด็กสาวทั้งสี่คนกำลังซ้อมเต้นกันเบาๆ ที่ลานหน้าห้องสตูดิโอสถาบัน Dance Zone
ใกล้ๆ กันมีลูกโป่งหลายใบสีชมพูกับดำจัดเป็นช่อใหญ่ ลูกโป่งสีชมพูใบใหญ่สุดมีคำแสดงความยินดีกับทีม Victory Crew – เจ้าของรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเต้นคัฟเวอร์เพลง KILL THIS LOVE เพลงสุดฮิตของ BLACKPINK เกิร์ลกรุ๊ปค่าย วายจี เอนเตอร์เทนเมนต์ จากเกาหลีใต้ที่โด่งดังสุดๆ
เช่นเดียวกันกับ มะยา-นภัสสวรรค์ ประทุมเมศร์ พี่ใหญ่วัย 17 ปี และ เพา-เพาพะงา การุณนราพร, โมมาย–ภัคภร เอี่ยมทัพ, เอ็ม-เอมิลี่ บี หลิง ตัน วัย 16 ปีที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในตอนนี้
“จริงๆ พวกหนูไม่คิดว่าจะได้ด้วยซ้ำ เพราะยอดวิวของเรานิดเดียวเอง” โมมายบอก ด้วยความที่คะแนนในการตัดสินมาจากทีมงานจากวายจีครึ่งหนึ่ง และจากยอดวิวใน YouTube อีกครึ่งหนึ่ง และย้อนกลับไป วิดีโอของพวกเธอมียอดวิวแตะ 6,000 กว่าเท่านั้น “คนอื่นได้กันไปตั้งหลายแสนวิว”
แต่ตอนนี้ยอดวิววิดีโอของพวกเธอก็ทะลุหลักล้านวิวไปไกลแล้ว ล่าสุดทางค่ายวายจีก็ยังประกาศว่าจะใช้คลิปวิดีโอผลงานของทีมไปเปิดโชว์เป็นส่วนหนึ่งในคอนเสิร์ตใหญ่ของ BLACKPINK ด้วย – คงไม่ต้องถามความดีใจ เพราะพวกเธอยิ้มกันจนแก้มปริ
หลังจากนั่งลง พวกเธอฮัมเพลง Kill This Love กันเบาๆ
“เป็นบลิงค์กันทุกคนเลยหรือเปล่า” (BLINK คือชื่อเรียกแฟนเพลงหรือ ‘ติ่ง’ ของ BLACKPINK) เราถาม
“เป็นค่า” สี่เสียงตอบประสานกันเสียงดัง ตามด้วยเสียงหัวเราะดังลั่น
ทำไมถึงชอบ BLACKPINK
เอ็ม : เขามีสไตล์ที่ไม่เหมือนเกิร์ลกรุ๊ปทั่วไป มีเสน่ห์ของตัวเองทั้งแนวเพลงและตัวศิลปิน
โมมาย : เพลงดึงดูดเราค่ะ ความสามารถแน่นมาก
เพา : ชอบลิซ่าค่ะ (ลลิษา มโนบาล – คนไทยคนเดียวใน BLACKPINK) หนูเห็นเคป๊อปหลายวงมีคนไทยเหมือนกันแต่ไปไม่ไกลเท่าลิซ่า และเขามีความสามารถสูง หนูมองเขาเป็นไอดอลเลย
มะยา : วงนี้มีเสน่ห์มีสไตล์ของตัวเอง ท่าเต้นแข็งแรงทำให้เราสามารถเอาท่าเขามาปรับเป็นท่าของเราได้
อ่านคอมเมนต์ในยูทูบแล้วคิดอย่างไรกับความเห็นแย่ๆ ต่อคลิปของเรา
โมมาย : พวกเราฟังแค่เรื่องที่จริง เรายอมรับและเก็บมาปรับปรุง เช่น แรงในการเต้นอาจจะยังไม่สุด มีจังหวะไม่พร้อมกันบ้างในบางครั้ง อันนั้นก็ยอมรับเพราะเราซ้อมกันน้อยด้วย
เพา : ใช่ แค่ประมาณ 4-5 วัน ซ้อมกันแค่วันละ 2-3 ชั่วโมง หลังเลิกเรียนบ้าง ช่วงในคลาสเรียนเต้นบ้าง
บางคอมเมนต์บอกว่า เราได้รางวัลเพราะเป็นคนไทย
ทุกคน : มันตลกมากเลย
มะยา : เรื่องพวกนี้มันวัดกันไม่ได้หรอกค่ะ อยู่ที่ความสามารถมากกว่า แต่เราไม่ได้ใส่ใจกับความเห็นแบบนี้เพราะคิดว่าเป็นอคติที่ใครต่างก็มี เรารับแต่คำติติงที่สามารถเอามาพัฒนาการเต้นของตัวเองได้ดีกว่า
อยากให้เล่าถึงที่มาของการถ่ายทำวิดีโอประกวด
โมมาย : ถึงไม่มีการประกวดเราก็ตั้งใจจะถ่ายทำวิดีโอเพลงนี้กันอยู่แล้ว พวกเราช่วยกันแกะท่าเต้นของทั้งเพลงก่อนจะตั้งหน้าตั้งตาซ้อมกันเอง ทั้งการเต้นและลิปซิงค์ ต้องทำเองหมดทุกอย่างเพราะครูประจำทีมย้ายไปสอนที่ฟินแลนด์
มะยา : ทุกครั้งที่มีการประกวด เราจะส่งวิดีโอร่วมแข่งด้วยตลอด ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะประสบความสำเร็จและพวกเราเองก็ไม่คาดหวังด้วย เราคิดแค่ว่าให้คนอื่นๆ ได้มีโอกาสเห็นฝีมือเราบ้าง ส่วนการถ่ายทำวิดีโอ ยกให้ครูเหน่ง (ปริญญา จิตตะวงค์) เลยค่ะ ครูเป็นเหมือนโปรดิวเซอร์ คอยควบคุมดูแลเรื่องนี้ ส่วนพวกเราก็รับหน้าที่ดูแลเรื่องการซ้อม ลิปซิงค์ ท่าเต้น และเสื้อผ้าหน้าผม – ซึ่งถ้าโป๊ไปก็จะโดนไล่ให้ไปเปลี่ยนใหม่
ครูเหน่ง : ปกติแล้วหลังเรียนจบแต่ละเพลง ผมจะเข้าไปดูว่าท่าเต้น ความแข็งแรงของเด็กๆ ผ่านหรือยัง ถ้าผ่านแล้วเราจะทำมิวสิควิดีโอให้ ถือเป็นโปรไฟล์ของทั้งตัวเด็กและสถาบัน โดยไม่ได้เจาะจงว่าจะทำประกวด เพียงแต่ครั้งนี้เพลง Kill This Love มันดังมากผมจึงต้องทำการบ้านมากกว่าเดิม ดูโทนดูอารมณ์ดูการเจาะคาแรคเตอร์ทั้งสี่คนแล้วเอามาประยุกต์ใช้ โดยไม่จำเป็นต้องถอดแบบวิดีโอต้นฉบับมาเป๊ะๆ ใช้เวลาถ่ายทำจริงๆ ราว 4-5 ชั่วโมง ประมาณ 6-7 เทค และเด็กๆ ก็เต็มที่ อดทนถ่ายจนเสร็จ
โมมาย : พวกเราสู้ค่ะ (ยิ้ม)
ทั้งสี่คนเข้าสู่โลกของการเต้นกันนานหรือยัง
มะยา : พวกเราเคยเรียนเต้นกันมาในหลายที่หลายแนว รู้จักกันมาเรื่อยๆ จนมารวมตัวกันที่แดนซ์โซน แต่ละคนต่างก็มีพื้นฐานการเรียนเต้นมานานและค่อนข้างแข็งแรงกันเลยทีเดียว อย่างตัวหนูเองก็เริ่มเต้นบัลเลต์ตั้งแต่ 3 ขวบ ต่อด้วยแนวแจ๊ส คอนเทมโพรารี สตรีทแดนซ์ ฮิปฮอป พอเต้นมาเรื่อยๆ ก็เริ่มสนใจการเต้นคัฟเวอร์ เพราะรู้สึกว่ามันสนุกดีที่ได้ลิปซิงค์ตามศิลปินเกาหลี ตอนนี้ก็พยายามจะเต้นให้ได้ครบทุกแนวเพราะมันก็จะเป็นทักษะติดตัวต่อไปในฐานะแดนเซอร์มืออาชีพ
โมมาย : ตอน 8 ขวบ หนูขอให้แม่พาไปเรียนเพราะชอบดูคนอื่นเต้น แต่หนูเริ่มจากแจ๊สไม่ใช่บัลเลต์ จากนั้นก็ขยับไปเรียนแนวอื่นๆ ด้วย
เอ็ม : หนูเริ่มตอน 10 ขวบ แต่เริ่มจากความเป็นติ่งเกาหลีก่อน แค่ดูวิดีโอเคป๊อป เห็นเขาเต้นคัฟเวอร์ก็เลยบอกแม่ให้พาไปเรียนเต้นหน่อย จากนั้นก็พัฒนาตัวเองมาเรื่อย
เพา : หนูเริ่มตอนประมาณ 5-6 ขวบเพราะแม่อยากให้ไปเรียนพัฒนาบุคลิกภาพ (ทุกคนหัวเราะครืน) พอไปเรียนหลายๆ ปีเข้าก็เริ่มชอบ ทำให้ขยับจากบัลเลต์ไปเป็นแจ๊ส คอนเทมโพรารี ก่อนจะเริ่มมาสนใจการเต้นแบบสตรีทและคัฟเวอร์
การเต้นมีเสน่ห์อย่างไร เคยมองภาพตัวเองในอนาคตที่ไม่ได้เต้นบ้างไหม
(มองหน้ากัน ส่ายหัว)
มะยา : คิดไม่ออกเลย การเต้นเป็นวงการที่เข้าแล้วออกไม่ได้
โมมาย : นอกจากร่างกายจะไม่ไหวจริงๆ
มะยา : การเต้นคือการได้สื่อสารสิ่งที่อยู่ภายในใจในความคิดของเราออกมาด้วย บางทีเราอยากถ่ายทอดความคิดความรู้สึกที่ซับซ้อนแต่ถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ เราสามารถใช้การเต้นเป็นตัวสื่อความรู้สึก ทั้งท่าเต้น เพลง หรือเนื้อเพลง หนูรู้สึกว่าการเต้นสามารถถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาได้หมดโดยที่เราไม่ต้องพูดอะไรเลย
โมมาย : หนูเคยลองหันไปทำอย่างอื่น เช่น วาดรูป ถึงจะรู้สึกดีแต่มันไม่มีความสุขเท่ากับตอนที่เราเต้น ทำให้เราอยู่กับการเต้นได้นานมากกว่า สมมุติมีเรื่องอะไรคั่งค้างใจอยู่ก็ระบายออกทางการเต้นแทน
เอ็ม : หลายครั้งที่เห็นนักออกแบบท่าเต้นในยูทูบยิ่งผลักดันให้หนูพยายามพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะท่าเต้นของไอดอลที่เราชื่นชอบ ทำให้เราอยากเต้นเก่งมากขึ้นอีกเรื่อยๆ
มะยา : มีบางช่วงที่เราอยากย้ายไปลองทำอย่างอื่นดูว่าจะรุ่งหรือเปล่า หนูเคยไปทางงานเบื้องหลัง เป็นพิธีกร ทั้งที่เคยคิดว่าอยากทำงานเบื้องหลังมาก แต่พอได้มาทำจริงๆ กลับไม่มีความสุขเลย พอถึงช่วงพักก็แอบไปเต้นอยู่คนเดียว สุดท้ายเราก็หนีการเต้นไปไหนไม่ได้ เพราะเราหลงรักมันหัวปักหัวปำไปแล้ว
เคยมีใครในชีวิตที่พูดว่าสิ่งที่เราทำมันไร้สาระบ้างไหม
เอ็ม : ไม่มีเลยค่ะ (ทุกคนร้อง “โห โชคดีมาก”)
เพา : เป็นคนที่บ้านหนูเองนี่แหละค่ะ ด้วยความเป็นคนรุงรังของตัวเองทำให้ไม่ค่อยบอกพ่อแม่เวลามีงานเต้น ทำให้เขาโมโหแล้วขู่ว่าถ้าทำตัวอย่างนี้ก็จะไม่ให้เต้นแล้ว
โมมาย : เพื่อนพ่อค่ะ เขาอคติกับการเต้นทุกประเภทมาก ตอนที่ลูกสาวของเขาอยากเรียนเต้นบ้างเขาก็เริ่มมาพูดกับพ่อแม่หนูว่าเลิกส่งลูกสาวไปเรียนเต้นได้แล้ว ดีที่พ่อกับแม่ไม่ใส่ใจคำพูดเหล่านั้น
มะยา : ของหนูเป็นญาติๆ ฝั่งพ่อค่ะ ช่วงนั้นที่หนูต้องสอบจบ ม.6 ผู้ใหญ่หลายคนก็บอกว่าให้เลิกเต้นแล้วไปเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ก่อน การเต้นมันไร้สาระเอาไปทำอะไรกินไม่ได้ หนูก็ยิ้มๆ แต่ในใจคิดว่า ‘ไม่อะ ฉันไม่เลิกเต้น’
ปกติคิดท่าเต้นกันเองหรือเปล่า และใครเป็นคนคิด
ทุกคนชี้ตรงไปที่ มะยา
มะยา : (ยิ้ม) เวลาฟังเพลง หนูจะฟังทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในนั้น ทุกครั้งที่ฟังร่างกายจะขยับไปเอง อาจเป็นเพราะทักษะที่เราเรียนเต้นมาเยอะบวกกับความหลงใหลในการเต้นของตัวเองด้วย เพราะตัวหนูเองลงทุนกับความรู้เรื่องการเต้นไว้มาก ทั้งเรียนเต้น เวิร์คช็อปบ่อยๆ ไปลองเข้าสตูดิโออื่นที่คิดว่าจะมอบประสบการณ์กับท่าเต้นใหม่ๆ ให้เราได้อยู่ตลอด ทุกท่าที่ออกมาเหมือนหนูไม่ได้บังคับเพลง แต่เพลงกำลังควบคุมให้หนูคิดท่าตามนั้นมากกว่า
ลิซ่าเป็นหนึ่งในไอดอลที่หลายคนยึดเป็นแรงบันดาลใจในการไล่ตามความฝัน แล้วความฝันของแต่ละคนคืออะไรบ้าง
มะยา : ความฝันของหนูเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ค่ะ ทั้งนักออกแบบท่าเต้นระดับโลก หรือเป็นแดนเซอร์ให้ศิลปินต่างประเทศ บางทีก็อยากเป็นครูด้วย ความฝันยังไม่ค่อยนิ่งเท่าไหร่ แต่ยังไม่หลุดไปจากเส้นทางการเต้นแน่นอน อย่างน้อยหลังจากนี้หนูก็กำลังไปตามเส้นทางโดยที่สมัครทุนไปเรียนด้านการเต้นโดยตรงกับ Korean National University of Arts ที่เกาหลีใต้ค่ะ
โมมาย : หนูอยากทำเบื้องหลัง เป็นครีเอทีฟโปรดิวเซอร์ อยากสนับสนุนการเต้น อยากผลิตวิดีโอหรือผลงานออกมาให้คนอื่นได้เห็นเหมือนครูเหน่ง หรืออาจเป็นแดนเซอร์ควบคู่กันไปด้วย
เพา : หนูเองก็ยังไม่แน่ใจหรอกค่ะ แต่ก็นึกถึงตัวเองในแบบที่เลิกเต้นแล้วไม่ออกจริงๆ
เอ็ม : ไม่ต่างกันค่ะ อะไรก็ได้ที่จะทำให้หนูได้เต้นต่อไปเรื่อยๆ
คิดอย่างไรกับความคิดที่บอกว่าเรียนจบมัธยมแล้วต้องตรงเข้ามหาวิทยาลัยเลย
มะยา : (ส่ายหน้า) จริงๆ ถึงตอนนี้ความคิดแบบนี้ควรเปลี่ยนได้แล้ว เรามักคิดว่าเรียนจบแล้วต้องเข้ามหาวิทยาลัย หางานทำ แต่หนูคิดว่ามันไม่จำเป็นต้องเรียงตามรูปแบบนี้ก็ได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราค้นพบว่าตัวเองชอบ หลงใหลกับอะไร และยินดีจะอยู่กับมันไปชั่วชีวิตมากกว่า ส่วนมหาวิทยาลัย เราจะเข้าไปเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ที่เราอยากหาความรู้เพิ่มเติม
บางทีผู้ใหญ่จะชอบถามว่าจบ ม.6 แล้วจะไปเรียนที่ไหนต่อ เหมือนกดดันเบาๆ ว่าเราต้องเข้ามหาวิทยาลัยนะ แต่หนูรู้สึกว่าเราหยุดพักค้นหาตัวเอง พอมั่นใจจริงๆ แล้วจะได้ไม่เสียเวลาดีกว่า ถ้าทุกคนลองเปิดใจกับเรื่องการศึกษาของเด็กๆ มองให้กว้างกว่าเส้นทางที่เคยเป็นมาก็คงจะดี