- เสวนาที่ชวนคนรุ่นใหม่พูดคุยถึงห้องเรียนยุค New normal จะรับเทคโนโลยีมาช่วยจัดการเรียนรู้อย่างไรที่ยังสร้างการเรียนรู้ ครูไม่เหนื่อยเกินไป และสร้างประสบการณ์เรียนรู้ได้อย่างสมจริง
ภาพ: StartDee
ถึงแม้โรงเรียนกลับมาเปิดเรียนตามปกติตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ได้ทำให้รูปแบบการเรียนการสอนภายในโรงเรียนจำเป็นต้องเปลี่ยนไป การศึกษาไทยยุคใหม่จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เป็นส่วนสำคัญ
จึงเป็นที่มาของงานเสวนาระดมความคิดทางการศึกษาที่จัดขึ้นโดย StartDee ในหัวข้อ “เมื่อโฉมหน้าห้องเรียนหลังเปิดเทอมเปลี่ยนไป ออกแบบการศึกษาอย่างไรให้เด็กไทยเรียนรู้ได้อย่างไร้รอยต่อ” งานเสวนาจัดขึ้นที่ BASE Playhouse สามย่านมิตรทาวน์ พื้นที่การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ โดยวิทยากรรับเชิญผู้คร่ำหวอดในวงการการศึกษาไทยได้มาแสดงทัศนะต่อการปรับตัวของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเทคโนโลยีทางการศึกษา บุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการปรับตัวของผู้ปกครอง
โดยวิทยากรที่ได้รับเชิญมาพูดทั้งหมดได้แก่
- คุณทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิชาการ TDRI ด้านการปฏิรูปการศึกษา
- ครูร่มเกล้า ช้างน้อย ครูคณิตศาสตร์รุ่นใหม่ โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม เจ้าของไอเดียขับเคลื่อนการสอนรูปแบบใหม่ใน inkskru
- คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้ง StartDee แอปพลิเคชันด้านการศึกษาที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาไทย
- คุณเมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง BASE Playhouse ที่เชื่อมั่นในการฝึกฝนทักษะที่วัดผลได้จริง
- คุณกัญญาภัค บุญแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด
จุดเริ่มต้นของการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ให้เทคโนโลยีขับเคลื่อนการศึกษา
คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้ง StartDee แอปพลิเคชันด้านการศึกษาที่มุ่งนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาระบบการศึกษาไทย ได้กล่าวเปิดงานเสวนาและแสดงความคิดเห็นว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้การศึกษาในช่วงวิกฤติโควิด-19 เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ พร้อมชูแนวคิด ‘TURN TECH TO TEACHER’ 7 ปัจจัยที่เทคโนโลยีสามารถช่วยการศึกษาได้ ดังนี้
- T Teaching เนื้อหาการสอน : ให้บริการบทเรียนคุณภาพที่ให้ความรู้อย่างครอบคลุมทั้งด้านวิชาการและทักษะชีวิตที่จำเป็น
- E Experience ประสบการณ์การเรียน : สร้างบรรยากาศที่เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่ยกการเรียนในห้องมาไว้บนออนไลน์แบบไม่สนใจบริบท
- A Access เข้าถึงง่าย : สามารถใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือทั้ง iOS, Android และ Desktop พร้อมร่วมมือกับ AIS แจกซิมฟรี ให้เด็กๆ ทั่วประเทศใช้บริการได้โดยไม่เสียค่าอินเทอร์เน็ต
- C Classroom : เทคโนโลยีเป็นทางเลือก ไว้เป็นตัวช่วยครูในห้องเรียน
- H Hand-made/Personalized เฉพาะบุคคล : ฟีเจอร์ My Startdee วิเคราะห์ข้อมูลผู้เรียนแต่ละบุคคลว่าควรเรียนเรื่องอะไร มีอะไรที่ยังขาด ปรับตามความสามารถและความถนัด (ดูจากการทำข้อสอบถ้าตอบผิดในข้อที่ง่ายจะเปลี่ยนเนื้อหาให้ง่ายลง เพื่อให้เข้ากับความความสามารถของผู้เรียน)
- E Equality สนับสนุนความเท่าเทียมทางการศึกษา : โดยการร่วมมือกับ Garena, Taejai และบริษัทที่สนใจด้านการศึกษา เพื่อมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กที่อยู่ห่างไกลและมีฐานะยากจน
- R Research/Data ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล : นำข้อมูลที่มีมาใช้วิเคราะห์ วิจัย และพัฒนาให้ตอบโจทย์ผู้เรียนมากขึ้นอยู่เสมอ รวมถึงวางแผนร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยต่างๆ เพื่อออกแบบงานวิจัยร่วมกัน
คุณทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิชาการ TDRI ด้านการปฏิรูปการศึกษา ได้แบ่งปันอุปสรรคและ 3 บทเรียนสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาไทยในช่วงเปิดภาคเรียนที่ผ่านมา
บทเรียนแรก-คือความไม่พร้อมของนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์การสื่อสารและไฟฟ้า
บทเรียนที่สอง-คือความไม่พร้อมของครูที่พบความยากลำบากในการสอนทางไกลเนื่องจากความซับซ้อนในเชิงการเตรียมการสอนและการเลือกใช้อุปกรณ์
และบทเรียนสุดท้ายคือมาตรการของภาครัฐที่เข้มงวดเกินไป เช่น การเลื่อนเปิดเรียนมาเป็น 1 ก.ค. โดยคุณทัฬหวิชญ์ได้ให้ความเห็นว่า ปกติในช่วงปิดเทอมหรือช่วงรอยต่อนักเรียนมักจะลืมบทเรียนที่โรงเรียนกันอยู่แล้ว ยิ่งเลื่อนปิดเทอมให้ไกลออกไปก็ยิ่งต้องคำนึงถึงการทบทวนบทเรียนในช่วงเปิดเรียน
ในด้านของทิศทางการศึกษาไทยในอนาคต คุณทัฬหวิชญ์ได้แบ่งปันการปรับตัวที่เป็นไปได้ทั้งหมด 3 เรื่อง ได้แก่
- การใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนช่วยให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพขึ้น แต่ต้องคำนึงว่าควรใช้เครื่องมือใดที่จะเหมาะสมที่สุด
- ความยืดหยุ่นของสถานศึกษา โรงเรียนควรยืดหยุ่นเกี่ยวกับตารางเรียน หากต้องการให้นักเรียนมีทักษะ การเรียนควรจะเปลี่ยนจากการเรียนแยกแต่ละวิชามาเป็นการบูรณาการมากขึ้น และเมื่อเด็กสามารถเรียนรู้จากนอกห้องเรียนได้ เช่น การเรียนผ่านแอปพลิเคชัน StartDee โรงเรียนก็อาจจะนับรวมเข้ากับชั่วโมงเรียน นอกจากนี้โรงเรียนควรหารือเกี่ยวกับการปรับลดชั่วโมงเรียนใหม่
- การปรับบทบาทของภาครัฐ ที่สามารถร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนออนไลน์ของนักเรียน เช่นเดียวกับที่ StartDee ร่วมมือกับ AIS ในการแจกซิมอินเทอร์เน็ตให้ใช้ฟรี
ครูร่มเกล้า ช้างน้อย ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม เจ้าของไอเดียขับเคลื่อนการสอนรูปแบบใหม่ใน inskru ได้ให้ข้อเสนอแนะในการออกแบบการเรียนการสอนที่ผสมผสานการเรียนออนไลน์และออฟไลน์อย่างมีประสิทธิภาพโดยการใช้แนวคิด Design Thinking ทั้ง 5 กระบวนการเพื่อออกแบบการเรียนที่เหมาะสมที่สุด
- Empathise ทำความเข้าใจ เก็บข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมของนักเรียน สำรวจความพร้อมของคุณครู หาตัวอย่างการสอนจากแหล่งอื่น
- Define ลิสต์ปัญหาทั้งหมด
- Ideate รวบรวมไอเดียที่ได้แล้วเลือกวิธีที่คิดว่าดีหรือเหมาะสมที่สุด
- Prototype ออกแบบโมเดลในกระดาษแล้วไปคุยกับผู้อำนวยการ
- Test ให้คุณครูทุกคนดูโมเดลและรับข้อเสนอแนะเพื่ออุดช่องโหว่
โดยการออกแบบการสอนของโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตารามจะแบ่งออกเป็นการเรียนออฟไลน์ที่โรงเรียนเป็นหลัก 5 วิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ อังกฤษ ไทย สังคม และอีก 5 วิชาที่นักเรียนสามารถรับภารกิจไปทำต่อที่บ้านแต่โรงเรียนนับเป็นชั่วโมงเรียน ได้แก่ พลศึกษา สุขศึกษา ศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ สำหรับนักเรียนที่ไม่สะดวกเรียนที่บ้านโรงเรียนจะจัดพื้นที่ให้โดยมีคุณครูดูแล
นอกจากนี้คุณครูร่มเกล้ายังแบ่งปันนวัตกรรม QR SHEET ซึ่งเป็นเอกสารการเรียนที่คุณครูเตรียมไว้โดยแนบ QR Code คลิปการสอนใน YouTube ที่สอนตามลำดับเอกสารการเรียน ทำให้นักเรียนสามารถเข้าใจเนื้อหาได้อย่างง่ายดาย โดยแรงบันดาลใจในการสร้าง QR SHEET เกิดจากการที่นักเรียนขาดเรียนเพื่อไปทำงานส่งเสียตัวเองเรียน ครูร่มเกล้าจึงคิดสร้างช่องทางที่ทำให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงบทเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้ง StartDee แอปพลิเคชันด้านการศึกษาที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาไทยแสดงทัศนะว่าการเรียนออนไลน์ที่ดีนั้นมีอยู่จริงแต่ต้องปราศจาก 3 สิ่งนี้ ได้แก่
- ต้องไม่บังคับ เพราะไม่ใช่นักเรียนทุกคนหรือทุกครอบครัวที่มีความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยี
- ต้องไม่ทดแทนการเรียนในห้องเรียน เพราะบทบาทของคุณครูที่โรงเรียน การเจอเพื่อนและทำกิจกรรมที่โรงเรียนยังมีความสำคัญ จึงควรเรียนออนไลน์ควบคู่
- ต้องไม่สอนเหมือนในห้องเรียน การสอนออนไลน์ที่ดีไม่ใช่การย้ายห้องเรียนกายภาพมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่เป็นการออกแบบประสบการณ์ของผู้เรียนให้สอดรับกับพฤติกรรมของเด็กในการเรียนออนไลน์
ซึ่งคุณพริษฐ์ยังชี้แจงอีกว่าการออกแบบประสบการณ์ (Experience) ในการเรียนออนไลน์นั้นเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการพัฒนาแอปพลิเคชันการเรียนรู้ออนไลน์ของ StartDee เช่นกัน นอกจากนี้ คุณพริษฐ์ยังนำเสนอเทคนิค 3 จ. ในการจัดทำสื่อการสอนออนไลน์ของ StartDee อีกด้วย
- จูงใจ หลังจากที่ StartDee เปิดให้ทดลองเรียนฟรีช่วงหนึ่ง มีเด็กเข้ามาดาวน์โหลดเยอะมาก แต่หลังจากนั้นก็เลิกเรียนไป จึงเปิดตัวฟีเจอร์ Startdee World ที่มีการแจกเหรียญและ XP เพื่อเพิ่มเลเวลหลังดูวิดีโอและหลังทำแบบฝึกหัด ซึ่งสามารถนำไปซื้อชุดตกแต่งตัวละครในแอปพลิเคชันได้ ซึ่งสถิติออกมาว่าหลังเปิดตัวฟีเจอร์ ผู้ใช้มีการดูคลิปและทำแบบฝึกหัดเพิ่มขึ้นถึง 72%
- จดจ่อ จากสถิติของผู้ใช้ในแอปพลิเคชันพบว่าความยาวที่เหมาะสมของแต่ละคลิปจะอยู่ที่ 10 นาที หากคลิปมีความยาวมากกว่านั้นอัตราการดูจบจะลดลง จึงแนะนำว่าการแบ่งคลิปเป็นหลายคลิปช่วยให้เด็กๆ จดจ่อได้ดีกว่า
- จดจำ สร้างการจดจำเกี่ยวกับเนื้อหาด้วยการผูกกับเรื่องเล่า
คุณเมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง BASE Playhouse ให้ความเห็นว่า การฝึกฝนทักษะผ่านช่องทางออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพนั้นสามารถทำได้ด้วยกระบวนการออกแบบประสบการณ์ของผู้เรียนให้พวกเขาลงมือทำจริง คงความสนุกและสานสายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนได้เหมือนเดิม บางทักษะสามารถฝึกฝนผ่านออนไลน์ได้ เช่น ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะการแก้ปัญหา และทักษะการสื่อสาร
นอกจากนี้ เขาได้ให้นิยามของความเก่งว่าเป็นการดึงศักยภาพของตัวเองออกมาเพื่อสร้างความสำเร็จในเส้นทางที่ตัวเองอยากจะเป็นได้ และไม่จำเป็นต้องเก่งตามความคาดหวังของสังคม ซึ่งเขามองว่าความเก่ง (Competence) นั้นเกิดจาก 3 สิ่งได้แก่
- ชุดความรู้ (Knowledge) สามารถได้รับจากการทำความเข้าใจ เช่นการอ่านหนังสือ
- ชุดทักษะ (Skill) จำเป็นต้องใช้เวลาในการฝึกฝนในสนามจริง
- ชุดความคิด (Mindset) คือมุมมองหรือทัศนคติของคนๆ หนึ่งที่มีต่อเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างยากที่สุด
โดยชุดความรู้นั้นเป็นสิ่งที่คุณครูสามารถส่งต่อให้นักเรียนผ่านทางออนไลน์ได้อยู่แล้ว ส่วนชุดทักษะและชุดความคิดนั้นถือเป็นความท้าทายของคุณครูทุกท่านในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ต้องสรรหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดในแบบของตัวเองเพื่อมอบให้กับนักเรียน
คุณกัญญาภัค บุญแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด สำนักพิมพ์สำหรับเด็กและเยาวชนที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 28 ปี ได้แสดงความคิดเห็นในมุมมองของผู้ปกครองเกี่ยวกับการศึกษาในยุค New Normal ว่า
“ที่ผ่านมาพ่อแม่และผู้ปกครองอาจทิ้งภาระและความคาดหวังทางการเรียนของลูกไว้ที่โรงเรียน แต่โควิด-19 ได้สอนบทเรียนให้เรารู้ว่า การสนับสนุนจากสถาบันครอบครัวนั้นสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด” และยังให้คำแนะนำกับผู้ปกครองท่านอื่นให้ปรับตัวให้เท่าทันกับรูปแบบการเรียนแบบใหม่ พยายามทำความเข้าใจธรรมชาติของการเรียนในระบบออนไลน์ ไปจนถึงการปลูกฝังการรักการอ่านและทักษะชีวิตที่สำคัญในโลกอนาคต
รับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ Facebook : https://www.facebook.com/startdeethailand/videos/302265464289452/