- การเดินทางของ Sodlaway Silk จากโครงการฟื้นฟูผ้าไหมโดยเยาวชน สู่แบรนด์ผ้าไหมธุรกิจชุมชนที่ค่อยๆ เติบโต ต้องการยืนยันว่าวิถีชาวกวยต้องไม่หายไป และ ‘ผ้า’ หนึ่งผืน ทำหน้าที่นั้นได้
- ผ้าแต่ละผืน เริ่มต้นจากการไปพูดคุยกับชาวบ้านหลายหลังเพื่อสืบค้นข้อมูลให้ไกลเท่าที่ค้นได้มากที่สุด เช่น ผ้าเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชาวกวยอย่างไร ผ้าแต่ละผืนที่ได้มานั้นมาจากไหน ใครเป็นผู้นำเข้ามา ถึงขั้นตามไปขอดูผ้าเก่าในตู้ของผู้เฒ่า
- Sodlaway Silk จึงไม่ใช่แค่ผ้าไหมทอมือ แต่คือการถ่ายทอดลวดลายจากเรื่องราวและชีวิตชาวกวย
สถานประกอบการของ Sodlaway Silk หรือ กอนกวยโซดละเว ที่หมายถึงแบรนด์ผ้าไหมของชาวกวย ธุรกิจเพื่อชุมชน (SE: Social Enterprise) แห่งบ้านแต้พัฒนา ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ไม่หรูหรา ไม่มีการจัดวางอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมืออย่างเป็นกิจจะลักษณะอย่างภาพจำโรงทอผ้าแห่งอื่นๆ กลับกัน ต้นหม่อน วัตถุดิบหลักสำหรับทอผ้า ยืนต้นคละกับพืชผักสวนครัวในสวน ชั้นเลี้ยงไหมไม่เกิน 4 ใบจัดวางเป็นส่วนหนึ่งของชานบ้านเข้ามุมกำแพงง่ายๆ ด้านหนึ่ง และสัญลักษณ์หนึ่งเดียวที่ทำให้แขกไปใครมาพอจะรู้ว่านี่คือบ้านของผู้ประกอบการธุรกิจกอนกวยโซดละเว เห็นจะเป็นกี่ทอผ้าขนาดมาตรฐาน ตั้งตระหง่านหน้าบ้านราวเปียโนของนักดนตรีชั้นเอก
สิบเอกวินัย โพธิสาร หรือ ครูแอ๊ด แห่งโรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์ และแกนนำธุรกิจชุมชนแบรนด์ผ้าไหม Sodlaway Silk คือเจ้าของบ้านที่ว่า เมื่อถูกถามว่า พอผ้าไหมจากกอนกวยโซดละเวเริ่มเป็นที่รู้จัก มีคนติดต่อขอซื้อผ้ามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ครูเองยังมีงานหลักคือการสอนหนังสือ และรับหน้าที่อีกหนึ่งบทบาทเป็นโค้ชของเด็กๆ ใน โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ เอาเวลาไหนมาทอผ้าซึ่งต้องใช้ความประณีตระดับชั้นครู?
“เวลาว่างหลังเลิกสอนหนังสือ กลับมาทอผ้าที่บ้าน ทำอะไรจุ๊กจิ๊กไปเรื่อย” และการ ‘ทำอะไรจุ๊กจิ๊ก’ แบบที่ครูแอ๊ดว่า ไม่ใช่แค่ขั้นตอนการผลิตที่เริ่มตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทดลองย้อมสีไหมด้วยการสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติ นำไหมสองสีมาตีเกลียวให้เป็นเส้นเดียวตามกรรมวิธีโซดละเว จับลาย กระทั่งนำไหมขึ้นกี่ทอผ้า ไม่ใช่แค่นั้น… ครูแอ๊ดยังต้องรับออร์เดอร์ลูกค้า ให้ความรู้ลวดลายและเรื่องเล่าในผ้า แจกงานให้ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกในโครงการแบ่งกันทอ บริหารจัดการเงินทุนและกำไร สุดท้าย ครูแอ๊ดรับหน้าที่สอนเด็กๆ ในชุมชนให้ทอผ้าและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มากับผ้าสืบต่อไปด้วย
The Potential ปักหมุดจากสนามบินดอนเมืองสู่ชุมชนชาวกวยบ้านแต้พัฒนา จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อไปซื้อผ้า เอ้ย… ไม่ใช่! ไปพูดคุยกับสิบเอกวินัย ที่ไม่ใช่แค่การสร้างแบรนด์ระดับธุรกิจชุมชน แต่คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางของ Sodlaway Silkแบรนด์ที่ตั้งต้นขึ้นจากความต้องการยืนยันว่าวิถีชาวกวยต้องไม่หายไป และ ‘ผ้า’ หนึ่งผืน ทำหน้าที่นั้นได้
Sodlaway Silk จุดเริ่มต้นแค่อยากให้คนในชุมชนกลับมาใส่ผ้าไหมโซดละเว
บ้านแต้พัฒนา จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอโพธิ์กระสังข์ เป็นหมู่บ้านที่ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์กวย
“แต่ก่อนทุกบ้านจะมีกี่ทอผ้า ชาวบ้านเลี้ยงและย้อมสีไหมเอง เพราะชาวบ้านจะใช้ผ้าโซดละเวหรือที่เรียกว่า ‘ผ้าไหมหางกระรอก’ ในพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ตั้งแต่งานบวช งานแต่ง พิธีกรรมเกลนางออ (รำแม่มด) เพื่อเป็นเครื่องสมมารับแถน (เทวดาประจำตัวหรือประจำตระกูล) งานบุญเทศน์มหาชาติ งานบุญต่างๆ และรวมถึงงานอวมงคล
“แต่ก่อนคนทำผ้าเยอะมาก แต่พอชาวบ้านต้องเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ คนทำก็น้อยลง คือรู้ว่าทำยังไงแต่ไม่มีคนทำ ถามว่าถ้าไม่มีผ้าแล้วพิธีกรรมเหล่านั้นจะหายไปไหม? ไม่หาย พิธีกรรมยังมีอยู่แต่ชาวบ้านจะเลือกไปซื้อผ้าจากที่อื่นมาทำพิธีแทน”
“ตอน ม.4 ผมนุ่งผ้าเป็นครั้งแรก ซึ่งตอนนั้นเริ่มเห็นว่าคนทำผ้ามีน้อยลงทุกที นอกจากผมที่ทอเป็นก็ไม่มีเยาวชนรุ่นใหม่มาสืบทอด ตอนนั้นเลยคิดว่าทำยังไงจะให้เยาวชนมาศึกษาจนเขาทอผ้าได้ จนขึ้นมหา’ลัย จำได้ว่าใส่ผ้าไหมไปช่วยงานบุญสักงานที่ชุมชน พี่ติ๊ก (ปราณี ระงับภัย เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ศรีสะเกษ) เข้ามาถามว่า มีโครงการพัฒนาเยาวชนซึ่งมีงบประมาณสนับสนุนโครงการ สนใจหรือเปล่า? เลยลองคุยกับน้องๆ ในทีม ชวนกันมาทำโครงการ” สิบเอกวินัยเล่าย้อนไปเมื่อราว 5 ปีที่แล้ว ขณะกำลังศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
กว่าจะเป็นแบรนด์อย่างจริงจังและขายจริงในปัจจุบัน สิบเอกวินัยเล่าว่าช่วงสองปีแรกของการทำโครงการฯ เขาและทีมต้องลงเก็บข้อมูลเรื่องผ้าในชุมชน ตั้งแต่ไปพูดคุยกับชาวบ้านหลายหลังเพื่อสืบค้นข้อมูลให้ไกลเท่าที่ค้นได้มากที่สุดว่า ผ้าเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชาวกวยอย่างไรบ้าง ผ้าแต่ละผืนที่ได้มานั้นมาจากไหน ใครเป็นผู้นำเข้ามา ตามไปขอดูผ้าเก่าในตู้ของผู้เฒ่าผู้แก่ อยากรู้ว่าลายโบราณในหมู่บ้านมีมากน้อยแค่ไหน ลวดลายที่ว่ามักเป็นลายอะไร ผู้เฒ่าผู้แก่อธิบายถึงที่มาลายผ้าว่าอย่างไร จากนั้นจึงค่อยแกะลายลงกระดาษ มัดไหม และขึ้นกี่ทอผ้าต่อไป
“ลายที่เราพบส่วนใหญ่มักเป็นลายที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันหรือไม่ก็สัตว์ เช่น ลายคล้ายรูปสี่เหลี่ยมบนหลังงู ลายตะขอที่ใช้ตักน้ำในบ่อ ยังมีความหมายที่แฝงมากับโซดละเวแต่ละส่วน เช่น ผ้าที่มีตีนซิ่น ซึ่งชาวกวยเรียกว่า ‘บูลจ์บูลจ์’ มีความหมายถึงการก้าวเดิน การก้าวไปข้างหน้า ผ้าส่วน เสลิก จะเป็นการทอยกมุกก็เพื่อไม่ให้ซิ่นขาดง่าย ตัวตีนซิ่นจะทอแบบมัดหมี่ และหัวซิ่น จะยกขิดให้เกิดลายนูนขึ้นมา” ครูแอ๊ดเล่า
ลวดลายจากผ้าไหมกอนกวยโซดละเวไม่ใช่แค่เป็นลายกวยโบราณ แต่วัตถุดิบที่ใช้ทำ สิบเอกวินัยตั้งใจให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด โดยเฉพาะการใช้สีจากธรรมชาติ
“เราเริ่มทดลองใช้สีธรรมชาติตอนทำโครงการปีที่ 2 ถ้ามองดีๆ จะเห็นว่าผ้าแต่ละผืนมีสีไม่เหมือนกัน วัตถุดิบแบบเดียวกันแต่ผสมต่างฤดู ก็ได้สีไม่เหมือนกันแล้ว”
สิบเอกวินัยย้ำว่า ไม่ใช่แค่ผู้สวมใส่จะปลอดภัย แต่ผู้จัดทำ ย่อมได้ประโยชน์ตามไปด้วย
กอนกวยโซดละเว ธุรกิจชุมชนที่ค่อยๆ เติบโต
แม้เริ่มต้นจากการเป็นโครงการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ แต่ปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจที่ค่อยๆ เติบโตด้วยความตั้งใจอยากให้เป็นธุรกิจเพื่อชุมชน เยาวชนมีรายได้จากการทอผ้าเป็นอาชีพ สำคัญที่สุด ผ้าไหมโซดละเวจะทำหน้าที่บอกเล่าความเป็นมาและวิถีชีวิตของชาวกวยโดยที่พวกเขาไม่ต้องพูดอะไร
“เราทำโครงการมา 2 ปี คนเริ่มทักเข้ามาผ่านเพจเฟซบุ๊คตลอดว่าขายไหม ขอเข้ามาศึกษาดูงานได้ไหม เรียกว่าเดือนๆ หนึ่งเราเปิดรับคนเข้ามาดูงานสามถึงสี่รายเลย และเพราะเราคิดกันอยู่ตลอดว่าอยากให้คนรู้จักผ้าไหมบ้านเรามากกว่านี้ การทำแบรนด์เลยเป็นตัวเลือกที่ดี
“การทำโครงการปีที่ 3 จึงตัดสินใจทำเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์และทำแบรนด์ โดยใช้คำว่า Sodlaway Silk หรือ ‘กอนกวยโซดละเว’ บอกเล่าความเป็นกวยไปด้วยในตัว โดยได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิสยามกัมมาจล เข้ามาช่วยสอนเรื่องการทำแบรนด์ การออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์”
เมื่อเริ่มต้นจากต้นทุนชุมชน สมาชิกในกลุ่มก็เป็นคนในชุมชน เมื่อตั้งใจทำแบรนด์ของตัวเอง ครูแอ๊ดตั้งใจอยากให้ Sodlaway Silk เป็นธุรกิจชุมชน ทั้งส่วนแรงงานการผลิตและการกระจายรายได้
“เราแบ่งรายได้ออกเป็น 3 ส่วน คือ 50 : 40 : 10 คือ 50 เปอร์เซ็นต์แรกจะถูกเก็บเป็นทุนเพื่อทำงานต่อ 40 เปอร์เซ็นต์เป็นค่าแรงของผู้ทำผ้าผืนนั้น เช่น ชาวบ้านที่เราส่งงานต่อให้ หรือเยาวชนที่อยู่ในโครงการ อีก 10 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย ไว้ใช้ในกิจกรรมสาธารณะของหมู่บ้าน” ครูแอ๊ดแจกแจงสัดส่วนการเงิน
แม้กำลังการผลิตจะมีไม่มากเพราะแรงงานแต่ละคนต่างมีหน้างานหลักเป็นของตัวเอง และด้วยธรรมชาติของงานทำมือที่ต้องใช้เวลาและความประณีต ทำให้กำลังผลิตอาจไม่มากเท่าธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ครูแอ๊ดของเด็กๆ บอกว่าพอใจกับผลผลิต รายได้เพียงพอต่อขวัญและกำลังใจคนผลิต มากไปกว่าการค้าขาย มีผู้สนใจเข้ามาขอดูงานอยู่เรื่อยๆ
เต๋า-อภิชาต วันอุบล ขณะเข้าโครงการเป็นเพียงนักเรียนชั้น ม.3 แต่ปัจจุบันกลายเป็นหนุ่มนักศึกษาได้รับทุน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเรียบร้อย ปัจจุบันเต๋าคือมือหนึ่งเรื่องการทอ ออกแบบ และทำงานจัดการด้านการขายและถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ซื้อและผู้ขอเรียนรู้งาน
เต๋าเล่าให้ฟังว่าปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาขอดูงานเรื่อยๆ รวมถึงมีนักศึกษาเข้ามาขอข้อมูลเพื่อเก็บเป็นแรงบันดาลใจทำผลิตภัณฑ์ที่มาจากลวดลายผ้าไหมโซดละเวโบราณต่อไป
เต๋าเล่าว่าแม้รายได้ที่มาจากกอนกวยโซดละเวจะไม่ได้มากมาย แต่เพียงพอเป็นเงินเก็บและใช้จ่ายชีวิตมหาวิทยาลัย แต่มากกว่านั้น สิ่งที่ได้คือลวดลายผ้าไหมโบราณได้ถูกบันทึกและสืบสานต่อ สิ่งที่สิบเอกวินัยและเต๋าคิดเหมือนกันคือนี่เป็นมูลค่าที่ประเมินไม่ได้
“จากแค่สิ่งที่เราชอบเล็กๆ กลายเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ มีคนยอมรับงานของเรา มีหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการมากขึ้น รู้สึกว่ามันค่อยๆ เติบโต ซึ่งตอนแรกเราไม่คิดถึงอะไรขนาดนี้เลย แค่ชอบผ้าและทำไปเรื่อยๆ เหมือนต้นไม้เนอะ มันจะออกดอกออกผลตามเวลาของมัน” ครูแอ๊ดกล่าว