- ผู้เรียนต้องการทักษะสมัยใหม่ไม่ใช่หลักสูตรเก่า, ทักษะทางอารมณ์ (Soft Skill), การเชื่อมต่อและการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัล และ เข้าถึงชุมชนด้อยโอกาส
- คือ 4 แนวทางที่พัฒนาการศึกษายุคใหม่ โดยคนรุ่นใหม่จากหลายประเทศที่เห็นว่านี่คือการศึกษาที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด-19
- “ผมหวังว่าวิกฤตการณ์โควิด-19 จะพาเราไปสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น ไม่เพียงแค่หวังกำไรเท่านั้น และการจะไปสู่จุดนั้นได้เราต้องพัฒนาคนให้มีทักษะทางอารมณ์มากขึ้น”
วิกฤตการณ์ COVID-19 เป็นเมฆหนาที่บดบังอนาคตของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก สำหรับเด็กๆ ที่กำลังมองหาช่องทางการยกระดับการศึกษาและการพัฒนาทักษะนั้น เมื่อเผชิญการระบาดของโรคก็ยิ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ของการเรียนรู้ ซึ่งโดยปกติเด็กจบใหม่ก็ประสบปัญหาทักษะที่เรียนมาไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานอยู่แล้ว ในช่วง COVID-19 มีเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียนทั้งสิ้นกว่าพันล้านคน และคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจจะหางานทำหลายล้านคนก็ไม่สามารถหางานได้
ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะต้องหันกลับมาพิจารณาเนื้อหาและวิธีการสอน ทั้งในด้านวิชาการและการพัฒนาทักษะใหม่อีกครั้ง เพื่อให้นักเรียนสามารถเตรียมพร้อมและรับมือกับโลกของการประกอบอาชีพที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ภาครัฐบาลและภาคเอกชนไม่อาจแก้ไขปัญหานี้ได้ลุล่วงหากขาดความร่วมมือจากภาคประชาชน
ดังนั้นโครงการเยาวชนขับเคลื่อนสังคม Generation Unlimited จึงได้จัดการเสวนาออนไลน์ขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม วันพัฒนาทักษะเยาวชนโลกที่ผ่านมา โดยหัวข้อที่จะสื่อสารในการเสวนาครั้งนี้คือ “ความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการออกแบบระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะให้ตรงต่อความต้องการของพวกเขาหลังสถานการณ์ COVID-19” ดำเนินการเสวนาโดยลิซ่า เอ็นเจนก้า ผู้สนับสนุนเยาวชนจากประเทศเคนย่า
โดยวิทยากรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประกอบไปด้วย
- เฮนเรียตต้า ฟอร์ ผู้บริหาร UNICEF องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ มีเป้าหมายในการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก
- โรเบิร์ต มอริตซ์ ผู้บริหาร PwC หนึ่งในสี่บริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการจ้างงานพนักงานกว่า 276,000 คน
- อูลิเซส เบรนกี คนรุ่นใหม่จากประเทศอาร์เจนตินา นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (University of Buenos Aires) ทำงานให้องค์กร Eidos Global เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านอารมณ์และทักษะดิจิทัลให้คนรุ่นใหม่
- มาเรียม เอลโกนี คนรุ่นใหม่จากประเทศแอฟริกาใต้ นักศึกษาปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นักเขียนและสมาชิกขององค์การ UNICEF
- ราฟีค อัมรานี คนรุ่นใหม่จากประเทศอัลจีเรีย นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และธุรกิจ (American University of Beirut) เจ้าของโครงการ Beyond Your Thinking โครงการพัฒนาการศึกษาให้มีประโยชน์มากขึ้นโดยการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันต่อยุคสมัย
เฮนเรียตต้า ฟอร์ ผู้บริหาร UNICEF ได้แบ่งปันบทเรียนและคุณสมบัติสำคัญ 2 ประการ ที่พนักงานทุกคนควรมีสำหรับการทำงานในช่วง COVID-19
- เป็นคนมีความยืดหยุ่น : สิ่งที่โควิด-19 สอนเราก็คือการปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา เราเองก็จำเป็นจะต้องปรับตามโลกด้วย
- เป็นคนรู้จักแก้ไขปัญหา : ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร อย่ายอมแพ้ แต่จงหาทางออกให้เจอ เมื่อเจอทางออกแล้ว คุณก็จะทำทุกสิ่งให้สำเร็จได้
โรเบิร์ต มอริตซ์ ผู้บริหาร PwC ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นต่อการหางานและแบ่งปันประสบการณ์ทำงานของเขาเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้อื่นสามารถเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้เช่นเขา
- ทักษะการริเริ่มสิ่งใหม่ : คือการท้าทายต่อสิ่งที่เป็นอยู่ ทักษะนี้ได้สร้างนวัตกรรมและธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากมายในโลก
- ทักษะการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง : คือการไม่ยึดติดอยู่กับอดีต และต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทนักเรียน กำลังหางาน หรือกำลังทำงานอยู่ หากคุณเป็นคนที่มองไปข้างหน้าอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นทั้งด้านอาชีพและด้านสังคมรอบตัว “เราทุกคนมีหน้าที่ต้องผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น”
4 แนวทางที่พัฒนาการศึกษายุคใหม่
ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพมากขึ้น
อูลิเซส เบรนกี, มาเรียม เอลโกนี และ ราฟีค อัมรานี คนรุ่นใหม่จากประเทศอาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และอัลจีเรีย ได้เสนอ 4 แนวทางที่จะพัฒนาการศึกษายุคใหม่ให้เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพมากขึ้น ดังนี้
ผู้เรียนต้องการทักษะสมัยใหม่ ไม่ใช่หลักสูตรเก่า
อูลิเซส เบรนกี คนรุ่นใหม่จากประเทศอาร์เจนตินากล่าวว่า “การศึกษาในปัจจุบันคือการให้ครูจากศตวรรษที่ 20 มาสอนนักเรียนที่เกิดในศตวรรษที่ 21 ราวกับว่าหลักสูตรนั้นตามหลังความเป็นจริงอยู่ 100 ปี”
โรงเรียนและมหาวิทยาลัยในปัจจุบันไม่ได้สอนทักษะที่เหมาะสม ไม่ได้สอนด้วยเทคโนโลยีที่ทันต่อยุคสมัย และไม่ได้ตอบรับกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่เลย “ผมคิดว่าเราต้องทำให้ครูผู้สอนทราบว่าหลักสูตรในปัจจุบันมันล้าหลังไปแล้ว” เขาแสดงความคิดเห็นว่าบริษัทต่างๆ มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ “บริษัทมีเกณฑ์ในการรับพนักงานอยู่แล้ว พวกเขารู้ว่าทักษะใดที่เป็นที่ต้องการ ดังนั้นบริษัทจึงสามารถกำหนดทิศทางการสอนของคุณครูได้”
ทักษะทางอารมณ์ (Soft Skill) คือคำตอบ
มาเรียม เอลโกนี คนรุ่นใหม่จากประเทศแอฟริกาใต้กล่าวว่า “เด็กรุ่นใหม่ต้องมีทักษะการสื่อสารและการโน้มน้าว เพื่อให้พวกเขาสามารถเรียกร้องสิ่งที่ต้องการและผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้”
วิทยากรคนรุ่นใหม่อีกสองท่านก็เห็นด้วยกับมาเรียม พวกเขามองเห็นว่าการจะประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน คนรุ่นใหม่ต้องพัฒนาทักษะทางอารมณ์ (Soft Skill) เช่น การสื่อสาร การคิดแบบวิพากษ์ และความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต
“เมื่อไม่มีนโยบายหรือกฎหมายรับรองคนบางกลุ่มในสังคม คุณต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงมัน เช่น วิธีดำเนินคำร้อง วิธีจัดเดินขบวนเรียกร้อง หรือการสื่อสารให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อการร่างนโยบาย”
อูลิเซส เบรนกี ให้ความเห็นเสริมว่าสังคมควรเปลี่ยนความคิดที่ว่าทักษะเป็นเรื่องยากหรือต้องเน้นวิชาการ แต่ให้มองใหม่ว่าทักษะคือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในชีวิตประจำวันหรือที่เรียกว่า Human Skill
“ผมหวังว่าวิกฤตการณ์โควิด-19 จะพาเราไปสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น ไม่เพียงแค่หวังกำไรเท่านั้น และการจะไปสู่จุดนั้นได้เราต้องพัฒนาคนให้มีทักษะทางอารมณ์มากขึ้น”
การเชื่อมต่อและการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัล
ราฟีค อัมรานี คนรุ่นใหม่จากประเทศอัลจีเรียกล่าวว่า “วิกฤตการณ์นี้สอนให้เรารู้ว่าการเรียนออนไลน์เกิดขึ้นได้ สอนให้เราใช้เครื่องมือออนไลน์ในการแลกเปลี่ยนทักษะ สอน และเรียนรู้” อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญคือศักยภาพของการเชื่อมต่อและการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลที่ขยายการเข้าถึงและขยายโอกาสในการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่
อูลิเซส เบรนกี ให้ความเห็นเสริมว่า “เพื่อที่จะค้นพบทักษะโลกอนาคต ผมคิดว่าเราต้องเพิ่มความหลากหลายในช่องทางการเข้าถึงการเรียนออนไลน์เสียก่อน เมื่อมั่นใจว่าเด็กทุกคนสามารถเข้าถึงโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต เราก็สามารถสร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาทักษะโลกอนาคต”
เข้าถึงชุมชนด้อยโอกาส
มาเรียม เอลโกนี กล่าวว่า “ที่ประเทศซูดานบ้านเกิดของฉัน ผู้คนไม่ได้ทะเยอทะยานที่จะเป็นวิศวกร แต่พวกเขาปรารถนาเพียงแค่จะเป็นภรรยาของใครสักคน ซึ่งฉันคิดว่ามันควรจะเปลี่ยนแปลงได้แล้ว”
การเข้าถึงการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่เราได้ถกเถียงกันไปเมื่อสักครู่ มาเรียมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการหยิบยื่นโอกาสให้ผู้คนในพื้นที่ยากไร้ “การทำความเข้าใจแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในห้องเรียนเท่านั้น ฉันคิดว่ามันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะยื่นมือออกไปช่วยผู้คนที่เข้าไม่ถึงโอกาส”
มาเรียมเสริมว่า “ในมุมมองด้านธุรกิจ นี่คือการสร้างโอกาสให้ผู้คนในพื้นที่ห่างไกล ส่วนใหญ่นักศึกษาที่ได้รับโอกาสในการฝึกงานมีเพียงคนที่อาศัยอยู่รอบตัวเมืองหรือสามารถเข้าถึงสถานที่ทำงานได้เท่านั้น เพื่อไม่ทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลัง เราต้องมั่นใจว่าเด็กๆ ในพื้นที่ยากไร้เข้าถึงโอกาสนั้นเช่นกัน”
นอกจากนี้มาเรียมได้แสดงวิสัยทัศน์ที่ทรงพลังเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจว่า
“ฉันตั้งตารออนาคตที่เด็กรุ่นใหม่ทุกคนสามารถมีความฝัน โดยที่ไม่ต้องรู้สึกเจียมตัวว่าจะเป็นไปไม่ได้ด้วยสถานภาพของพวกเขา เมื่อถึงวันนั้น จะไม่มีทักษะใดในโลกนี้ที่ไกลเกินเอื้อมเพียงเพราะเขาเกิดมาด้อยโอกาส”
มาเรียม เอลโกนี
รับชมไฮไลต์ของการเสวนาย้อนหลังได้ที่ YouTube : World Youth Skills Day 2020 Virtual Dialogue With Youth Highlights
การเสวนานี้เป็นเพียงการแสดงความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างทักษะที่ผู้คนมีและสิ่งที่จำเป็นสำหรับโลกดิจิทัล เมื่อต้นปีนี้ PwC และ UNICEF ร่วมมือกัน เพื่อช่วยเหลือคนหนุ่มสาวหลายล้านคนทั่วโลกในการพัฒนาทักษะ โดยทั้งสององค์กรมีเป้าหมาย 10 ปีร่วมกันที่จะมอบอาชีพ การศึกษา และทักษะต่างๆ แก่คน 1 พันล้านคนภายในปี 2030 มุ่งสร้างโลกที่ยุติธรรมและยั่งยืนยิ่งขึ้นหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19