- มิ้ว – อริสา โพธิ์ชัยสาร จากทีม ‘แบ่งปันความอิ่ม’ หน่วยพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หนึ่งในผู้ที่ลุกขึ้นมาพัฒนาโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19
- ด้วยการจัดทำคูปองปันกันอิ่มไว้ตามร้านอาหารต่างๆ โดยจ่ายเงินค่าอาหารเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อให้คนที่ลำบากสามารถมาทานอาหารได้ ส่วนคนที่พอมีก็สามารถซื้อและเซ็นคูปองไว้ เพื่อแบ่งปันให้คนที่เดือดร้อนคนอื่นๆ ต่อไป
- “เริ่มจากเงิน 200 บาทของเรานี่แหละ จากนั้นไปชวนพี่ๆ ซึ่งทำงานที่ศิริราช ชวนอาจารย์หมอที่อยู่ในหน่วยด้วย คุณหมอบางคนเขาฝากเงินมาให้ เพราะตัวเองรักษาผู้ป่วยโควิดอยู่ ออกมาไม่ได้ แต่อยากจะดูแลประชาชนเหมือนกัน เขาซาบซึ้งที่ประชาชนส่งหน้ากากส่งของเข้าไปให้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของ Pay It Forward ซึ่งจริงๆ ในเมืองไทยก็มีหลายๆ กลุ่มที่ทำอยู่”
ภาพ: ทีมแบ่งปันความอิ่มประเทศไทย
ภายใต้วิกฤตโควิด-19 ทำให้เราได้เห็นการช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทั้งแจกอาหาร แจกข้าวของ แต่ด้วยเงื่อนไขของการดำเนินวิถีชีวิตในช่วงโควิด ทำให้การช่วยเหลือมักถูกจำกัดอยู่เพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น ทั้งที่ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน
แต่มีโครงการหนึ่งที่ไม่ได้ต้องการแค่ช่วยเหลือคนในพื้นที่ แต่ยังสร้างพลังให้ทุกคนได้เชื่อมั่นว่า ไม่ว่าเราจะมีน้อยแค่ไหน เราทุกคนสามารถเป็นผู้ให้ได้เสมอ นั่นก็คือโครงการ “แบ่งปันความอิ่ม” หรือ “Pay it forward” โครงการที่จัดทำคูปองปันกันอิ่มไว้ตามร้านอาหารต่างๆ โดยจ่ายเงินค่าอาหารเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อให้คนที่ลำบากสามารถมาทานอาหารได้ ส่วนคนที่พอมีก็สามารถซื้อและเซ็นคูปอง เพื่อแบ่งปันให้คนที่เดือดร้อนคนอื่นๆ ต่อไป
วันนี้เรามาคุยกับ มิ้ว – อริสา โพธิ์ชัยสาร ทีมแบ่งปันความอิ่ม จากหน่วยพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ได้ลุกขึ้นมาพัฒนาโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน ว่าสิ่งสำคัญของการช่วยเหลือคนครั้งนี้คืออะไร และพลังของคนตัวเล็กๆ ทั่วทั้งประเทศเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไรบ้าง
เมื่อความช่วยเหลือไปไม่ถึงคนเดือดร้อน
เราเห็นคนเดือดร้อนจากโควิด แม้รัฐจะออกมาตรการเงินเยียวยา 5,000 บาท แต่ด้วยเหตุปัจจัย ทำให้คนที่เป็นชายขอบของสังคมไม่สามารถเข้าถึงมาตรการการช่วยเหลือนี้ได้ และยิ่งทำให้เขากลายเป็นชายขอบมากกว่าเดิมอีก อย่างคนแถวหอเรา มีเงินในกระเป๋าแค่ร้อยเดียว แต่ว่าต้องเอาเงินไปซื้ออินเทอร์เน็ต เพื่อที่จะมาลงทะเบียนรับ 5,000 บาท ซึ่งมันไม่ได้จบในครั้งเดียว ลงทะเบียนผิดบ้างอะไรบ้างก็ไม่ได้เงิน
เราเองเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่เดือดร้อนแบบนั้นและหาทางออกไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น วันนี้ที่เรายังไม่ได้เดือดร้อนถึงขั้นนั้น เราก็ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างนึง จะปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้ เราไม่มีหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายก็จริง แต่สิ่งนี้คือสิ่งที่เราลุกขึ้นมาทำได้ คิดแค่นั้นเราก็ทำเลย
ไม่ใช่แค่ประชาชนช่วยหมอ แต่หมอก็อยากช่วยประชาชน
เราคุยกับพี่สาวว่าในวิกฤตโควิดแบบนี้เราจะช่วยคนได้ยังไงบ้าง เเราเห็นคนเยอะแยะเลยที่เดือดร้อนและเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือของรัฐบาล พี่สาวก็เลยบอกว่ามันมีนะ Pay It Forward ให้เราไปจ่ายเงินล่วงหน้าไว้ก่อนเพื่อให้คนอื่นมากินข้าวจากเงินที่เราจ่ายไป รู้สึกว่าน่าสนใจมาก คิดกับพี่ว่า ‘เรามาทำกันไหม’ ก็เลยเริ่มทำ
เริ่มจาก 200 บาทของเรานี่แหละ จากนั้นไปชวนพี่ๆ ซึ่งทำงานที่ศิริราช ชวนอาจารย์หมอที่อยู่ในหน่วยด้วย คุณหมอบางคนเขาฝากเงินมาให้ เพราะตัวเองรักษาผู้ป่วยโควิดอยู่ ออกมาไม่ได้ แต่อยากจะดูแลประชาชนเหมือนกัน เขาซาบซึ้งที่ประชาชนส่งหน้ากากส่งของเข้าไปให้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของ Pay It Forward หรือ แบ่งปันความอิ่ม ซึ่งจริงๆ ในเมืองไทยก็มีหลายๆ กลุ่มที่ทำอยู่
มากกว่า “อยากมีเงิน” คือ “อยากมีค่า”
เราเข้าใจว่าความลำบากความเดือดร้อนมันเป็นยังไง เวลาที่คนไม่มีหนทางที่จะเดินต่อ มันคิดสั้นได้เสมอเลย อย่างบางคนวันนี้เขามีงานทำ ดูแลรับผิดชอบตัวเองได้ ตื่นขึ้นมาอีกวัน เขากลายเป็นคนตกงาน ไม่มีเงินค่าเช่าหอ ไม่มีเงินซื้อข้าว เขากลายเป็นคนไร้บ้านเลยทันที ทั้งๆ ที่เขาก็ยังมือดีเท้าดี ยังทำงานได้ แต่ว่าด้วยภาวะตอนนี้ มันทำให้เขาไม่สามารถดูแลตัวเองได้ มันก็ไม่แปลกเลย ที่หลายคนเขาจะรู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเอง แล้วก็เลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง เพราะคนทุกคนอยากมีคุณค่าในตัวเอง มีคุณค่าที่จะทำอะไรเพื่อผู้อื่น แต่วันนึงเราตื่นขึ้นมา เรากลายเป็นคนไร้ค่า มันรู้สึกแย่มาก
ต้องเซฟตัวเองให้มาก เรามาเพื่อช่วยไม่ใช่สร้างภาระ
สำหรับโควิด ความจริงเราก็กลัวค่ะ เพราะเราก็ทำงานในโรงพยาบาลด้วย เราก็ต้องระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ เราเห็นแล้วว่าบุคลากรทางการแพทย์เหนื่อยแค่ไหน เวลาเราออกไป เราก็ต้องป้องกันตัวเองดีมากๆ เลย หน้ากากต้องใส่ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือต้องพก เวลายืนคุยกันเราจะห่างกันแค่ไหน ที่จะไม่ทำให้เขารู้สึกว่าหวาดกลัว ต้องเซฟตัวเองให้มากที่สุด เพราะว่าถ้าเป็นจิตอาสาแล้วติดโควิด จากที่อยากทำดีจะกลายเป็นสร้างภาระแทน
แม้จะช่วยแบบเดิมไม่ได้ แต่เราก็ยังช่วยกันได้
การช่วยเหลือคนในช่วงนี้ต้องระมัดระวังหลายอย่างเลย เพราะว่าโควิด มันทำให้เราไม่สามารถช่วยเหลือกันได้แบบน้ำท่วม ไฟไหม้ คือเรามีของ เราขนกันไปแจก คนมารวมตัวกัน แจกได้ แต่ช่วงโควิดทำแบบนั้นไม่ได้ โรงทานยุคโควิดต้องเปลี่ยนไป ซึ่งแบ่งปันความอิ่มก็จะไปตอบโจทย์ เป็นเหมือนโรงทานยุคใหม่ คือมีคนหิวเดินเข้ามา เอาไปทาน อย่างนี้ ไม่ต้องทำเป็นจำนวนมากๆ คือเราจะบอกกับร้านเสมอว่าค่อยๆ แจกนะ ไม่ใช่เท่ากับโรงทาน เพราะว่าคนหิวมีทุกวัน เพราะฉะนั้นไม่ต้องรีบแจกให้หมดภายในวันเดียว ตรงนี้ก็จะช่วยได้แล้ว เหมือนเป็นการบริหารจัดการการทำบุญรูปแบบใหม่
น้ำใจคนไทยมีมากกว่าที่เราคิด
จริงๆ พอเริ่มทำแบ่งปันความอิ่ม เราได้เห็นเลยว่าคนไทยใจดีมีเยอะมาก เพียงแต่ว่ายังไม่ได้มีช่องทางเพื่อให้เขาได้แสดงออกหรือว่าหยิบยื่นน้ำใจนั้นให้กับเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มมีคนเปิด คนไทยก็พร้อมที่จะหยิบยื่น เข้ามาช่วยกัน
มีคนติดต่อขอบริจาคเยอะมาก ซึ่งเราไม่ได้รับบริจาค เพราะเงินจะมากองอยู่ตรงกลาง ไม่กระจายไปทั่วประเทศ เราก็เลยบอกให้เขาไปลองทำในชุมชนดูไหม เพราะคนเดือดร้อนมีทุกที่จริงๆ เราก็ให้เมล็ดพันธุ์ไป ให้ไฟล์คูปอง ให้วิธีการว่าทำยังไงชุมชนถึงจะทำได้สำเร็จ แล้วก็คอยสนับสนุนให้เขาลองเอาเมล็ดพันธุ์นี้ไปปลูกในชุมชนของเขาเอง ก็ปรากฏว่ามันก็เบ่งบาน แล้วมันก็สุขใจเอง ที่ได้ให้เอง ได้ทำด้วยตัวเอง
แม้เพียงเล็กน้อย ก็สร้างสังคมแห่งการแบ่งปันได้
เราคิดว่าการไม่นิ่งเฉย ต่อความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญ เราก็สามารถสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันได้ คนตัวเล็กๆ นี่แหละที่ลุกขึ้นมาทำ เราว่าแค่เด็กคนเดียวได้เห็น ว่าวันที่เดือดร้อนผู้ใหญ่เขาช่วยกันแบบนี้ แล้วเด็กได้มีโอกาสได้กระปุกออมสินตัวเอง เอามาบริจาค 10 บาท 20 บาท ให้เด็กได้รู้จักการช่วยคน เราค่อยๆ ปลูกฝังให้เขาเติบโตในสังคมแห่งการแบ่งปันแบบนี้ไปเรื่อยๆ
บางคนมีศักยภาพในการเลี้ยงลูกหลานตัวเองให้รอดได้ ได้การศึกษาที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี แต่ถ้าสังคมไม่รอด เราก็ตั้งคำถามกลับไปว่า แล้วลูกหลานเราจะรอดไหม เราว่าแค่เด็กหนึ่งคนได้เห็นการแบ่งปันนี้ก็คุ้มค่าแล้ว
เติมความอิ่ม พร้อมกับเติมเต็มคุณค่าให้กันและกัน
เราคุยกันตลอดเลยว่าคนที่เขาเดือดร้อนในวันนี้ เขาแค่กำลังเจอกับวิกฤต แต่ว่าเขายังเป็นคนที่มีแรงมีพลัง เราต้องเสริมพลังให้เขาได้ลุกขึ้นมา เมื่อถึงวันต่อมาที่มันดีขึ้น กลับมาช่วยคนอื่นได้ ไม่ต้องมองว่าตัวเองเป็นภาระ อย่ามองว่าตัวเองสร้างความเดือดร้อนให้ใคร วันนี้โควิดมันไม่ได้เลือกนี่ว่าคุณรวย คุณจน ทุกคนโดนผลกระทบกันหมด เพราะฉะนั้นคนที่ยังพอมีกำลังสู้ไหวอยู่ ก็มาจับมือเพื่อนคนที่กำลังล้ม ลุกขึ้นมา จะได้สู้ไปด้วยกัน
อันนี้เราว่าสำคัญมาก ทุกๆ ร้านที่เราไป เราก็จะบอกร้าน ให้พูดกับคนที่ใช้คูปองว่า “ไว้ทำงานได้แล้ว กลับมาซื้อคูปองให้คนอื่นนะ” มีบางคนวันนี้มาหางาน แล้ววันต่อมาก็ยังหางานไม่ได้ แต่วันนี้เขาบอกกับร้านว่า จะมาขอล้างจานให้ที่ร้านได้ไหม หรือบางคนบอกว่าวันนี้ไปรับจ้างมาได้แล้ว วันนี้ไม่ใช้คูปองนะ ขอจ่ายเหมือนเดิม บางคนก็บอกว่ายังหางานไม่ได้ ไม่มีอะไรจะให้เลย ก็เลยไปพับใบเตยหอมเป็นดอกกุหลาบเอามาฝากให้คนที่เขามาเติมอิ่ม เราก็ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นภาระ แล้วตัวเขาเองก็ซาบซึ้ง แล้วการแบ่งปันตรงนี้มันก็ไปเติมเต็มหัวใจของเขา ที่ตอนนี้อาจจะแบบอ่อนแอแล้วก็บอบช้ำมากๆ
เราจะช่วยกันได้ เราต้องเชื่อใจกันก่อน
เราได้เห็นว่าชุมชนนี่แหละคือหัวใจสำคัญในการดูแลกันและกัน เพราะถ้าชุมชนไม่ลุกขึ้นมาทำ จะไม่เติบโตและยั่งยืนได้ขนาดนี้ ที่สำคัญคือทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานของความเชื่อใจ อย่างไปร้านค้าก็จะมีคนถามว่า เอาเงินไปให้เขา 500-600 แล้วจะไว้ใจได้ยังไงว่าเขาจะทำ คือมันต้องเริ่มต้นจากความเชื่อใจจริงๆ
เราไปคุยกับเขา เขาดูเป็นคนใจดี เขาอยากช่วยเขาอยากทำ แล้วร้านค้าเองตอนนี้เขาก็เดือดร้อน เราก็เหมือนไปช่วยเขา แล้วเราก็บอกเขาว่า หนูไว้ใจและเชื่อใจคุณป้ามากๆ ว่าคุณป้าจะช่วยเลือกคนที่เดือดร้อนให้กับหนู หนูดูแลเขาไม่ได้ แต่ว่าคุณป้าจะช่วยดูแลได้
เราคิดว่ามันเป็นการเหนี่ยวนำให้คนส่งต่อจิตใจที่ดีๆ กัน เหมือนเราเหนี่ยวนำว่าคุณเป็นคนดีนะ แล้วคนที่เขารออยู่ เขาก็รอคนดีอย่างคุณนี่แหละไปช่วยเหลือ มันก็เหนี่ยวนำให้พวกเรามีจิตใจที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มต้นจากคำว่าเชื่อใจก่อน แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะพอเวลาอิ่มหมด บางทีร้านค้าเขาก็จะเติมเอง
อย่างร้านคุณพี่จุ๋ม บางกรวย เจ้าหญิงแห่งวงการแบ่งปันของเรา ตอนแรกที่เราไปดีล เขาบอกเริ่มต้นที่ 40 บาท เราบอกว่าเราขอซื้อ 30 ได้ไหม คนจะได้กินได้จำนวนเยอะขึ้น เขาก็บอกว่า ได้ แต่เป็นข้าวไข่ดาวไข่เจียวได้ไหม เราก็บอกว่า ก็ได้นะ อย่างน้อยคนก็ได้กิน
พอเขาเห็นคนเก็บขยะมาเขาก็เรียกก่อน เขาก็ฉีกคูปองให้ คุณป้าที่เป็นคนเก็บขยะก็ไปบอกเด็กๆ ว่า ร้านเจ๊จุ๋มมีข้าว เด็กๆ ก็ออกมาเต็มเลย แล้วพอพี่เขาเห็นเด็กที่มาจากชุมชนแออัด ไข่เจียวไข่ดาวเขาก็ทำไม่ได้แล้ว ก็เอาหมูแถมไข่ดาวไปอีกในราคา 30 บาท ร้านเขาก็มีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วเขาก็ทำต่อเรื่อยๆ ไม่หยุด ไปชวนคนนู้นคนนี้มาทำ
เหนื่อยแค่ไหน ก็เปี่ยมด้วยพลังใจและพลังชีวิต
คนที่เป็นผู้ปันอิ่ม ร้านปันอิ่ม หรือแม้กระทั่งตัวเราก็มีความสุข เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เราไม่เลื่อนนาฬิกาปลุก ปกติคือเหนื่อยเหลือเกิน แต่ทุกวันนี้ 6 โมงก็ดีดขึ้นมา ทั้งที่เมื่อคืนนอน ตี 2 ตี 3 อยากลุกขึ้นมาตอบอยากลุกขึ้นมาดูว่า มีใครถามอะไร เราจะคิดวางแผนต่อยังไง
ทีมเราก็ทำทุกอย่างเลย 10 กว่าคน ตอนนี้ work from home เราแบ่งออกเป็น 2 ทีม มีส่วนที่ลงสนามกับส่วนแอดมินเพจ มาคอยตอบคำถาม ดูแลร้านค้า ถ้ามีคนอยากจะบริจาคก็จะแนะนำให้ดูในอัลบั้ม แล้วสามารถโอนเงินได้เลย แต่ทุกอย่างทำหลังเลิกงานนะคะ
คนที่ไม่มี เขาจะคิดเผื่อคนที่ไม่มีเสมอ
มีเคสหนึ่งวันนั้นเราไปแถวสี่แยกบ้านแขก ไปเจอร้านไข่เจียว 1 ฟอง 25 บาท 2 ฟอง 30 บาท ก็ติดคูปองเรียบร้อยแล้ว อธิบายให้เจ้าของร้านรู้เรื่องแล้ว ก็มีพี่คนนึงที่ดูเหมือนเป็นคนไร้บ้านเดินเข้ามา เขากำเหรียญ 5 มา 5 เหรียญ แล้วก็ถามเขาว่าวันนี้ทานอะไรดีคะ เขาก็บอกว่าขอซื้อข้าวไข่เจียวฟองนึง 25 บาทเอาเหมือนเดิม เราก็เลยบอกว่างั้นวันนี้เราขออนุญาตมาแบ่งปันนะ อยากจะขอจ่ายให้ไว้ก่อนได้ไหมสัก 30 บาท วันนี้ให้ไข่ 2 ฟองเลย เขาก็ยิ้มแล้วก็บอกว่า ครับ ขอบคุณมากนะ งั้นผมขอขายแค่ฟองเดียวได้ไหมครับ 25 บาท อีก 5 บาทผมขอเก็บไว้ให้เพื่อน
โอ้โห ตอนนั้นใบคูปองในมือสั่นเลย คนที่เขาไม่มี เขานึกถึงคนที่ไม่มีเสมอเลย โดยส่วนใหญ่ที่เราไปเจอก็จะเป็นแบบนี้ 25 บาทของเขา กว่าที่เขาจะหาได้ แต่พอวันนี้มีให้เลือก เขาก็เลือกเอาเท่าเดิม แล้วก็ขอแบ่งส่วน 5 บาทของเขา เอาไว้ให้คนอื่นอีก มันยิ่งใหญ่มาก
ไม่ใช่แค่ร้านข้าวไข่เจียวนะ อย่างรถไอติมปั่นจักรยาน ที่คนแก่ชอบขายเป็นไอติมตัด หรือน้ำแข็งใส เราก็เอาเข้าร่วมโครงการนะ เพราะเรารู้สึกว่าการได้กินอะไรแบบนี้ มันก็เป็นเหมือนรางวัลในชีวิต
ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นอย่างใจเราเสมอไป
อย่างที่บอกว่า มันเริ่มต้นจากความเชื่อใจ เพราะฉะนั้นลองดูก่อน ถ้าเขาไม่แจก ไม่ดี ไม่ทำ เราก็แค่ไม่ไปเติมร้านเขาแล้วแค่นั้นเอง เราจะเติมไม่เกิน 600 บาทต่อร้านอยู่แล้ว ประมาณ 20 -30 อิ่ม เงิน 600 บาทมันไม่ได้ทำให้รวยในทันที ถ้าเขาทำดีเขาก็จะได้รับการต่อยอดเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่จากเรานะ แต่จากชุมชนรอบข้าง
เคยมีเคสที่ร้านไม่แจกอิ่มที่เราไปซื้อไว้ ชุมชนเขาก็จะจัดการกันเอง เราที่เป็นคนเข้าไปในชุมชน ต้องไม่ไปสุมให้เขาหัวร้อนขึ้น เราก็จะบอกว่า ไม่เป็นไรหรอกค่ะ เดี๋ยวไปเติมร้านอื่นก็ได้ มีร้านไหนแนะนำไหมคะ แล้วก็ชี้ให้เขาเห็นอีกแง่นึงว่า หรือเขาอาจจะเอาคูปองไปแจกผู้ป่วยติดเตียงที่ออกมาไม่ได้หรือเปล่า พูดไปแบบนี้เขาจะได้คลายความโกรธกันลงบ้าง
ถามว่าในใจเรารู้สึกไหม มันก็เป็นธรรมดา ที่เราจะต้องรู้สึกเสียใจอยู่แล้ว เพราะว่ามันเป็นเงินบุญ แต่เราก็ต้องแสดงออกไปแบบนั้น ไม่งั้นจะกลายเป็นว่า ไปทำให้ชุมชนเขาทะเลาะกัน แค่เราไม่ทำแบบเขาก็ได้ ถ้าเรารู้สึกว่ามันไม่ดีแต่อย่าไปว่าเขาเลย เราอาจจะไม่รู้ความจริงทั้งหมด พยายามเหนี่ยวนำให้ไปในทางที่ดี มันจะได้ไปต่อได้ ไม่งั้นมันก็ทำต่อไม่ได้
การให้เล็กๆน้อยๆ เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่
รู้สึกว่าคนที่เข้ามาร่วมแบ่งปันความอิ่ม เขาจะได้เห็นว่าแค่เริ่มให้จากตัวเอง ก็มีความสุขทั้งตัวเขาเองและคนที่ได้รับ มันเป็นการให้ที่เริ่มด้วยจำนวนเล็กน้อย มีแค่ 10 บาทก็แบ่งปันได้ รูปแบบการทำบุญก็จะเปลี่ยนไป ไม่ต้องทำทีละเยอะๆ เป็นหมื่นเป็นแสน และได้ทำบุญกับคนที่กำลังเดือดร้อนจริงๆ
สังคมเรามีความหลากหลายมากเลย อย่างตอนนี้ก็มีหลวงพ่อติดต่อมา อยากจะขอฝากสตางค์ไปช่วยโยม เมื่อก่อนเราไปทำบุญที่วัด แต่ตอนนี้หลวงพ่อติดต่อมาอยากจะช่วยประชาชน
มีบ้านนึงเขาจะพาเด็กๆ ไปทำ ให้เด็กเป็นอาสาสานอิ่มอธิบายเองเลย เด็กๆ ชอบที่ได้แคะกระปุกออกมาได้เซ็นคูปอง วันต่อมาเขากลับไปดู Feedback สิ่งที่เด็กๆ ภูมิใจที่สุดคือคูปองของเขาถูกใช้ แล้วก็คูปองที่ทำไปมีคนมาเติม ทำให้เราได้เห็นว่ามันมีทั้งให้ มีทั้งรับ
มือของคนตัวเล็กๆ จะช่วยประคับประคองสังคมไปด้วยกัน
ถ้าเรารู้สึกว่าเราต้องทำอะไรบางอย่าง เพราะเราทนไม่ไหวกับสิ่งที่ได้เห็น ก็ขอให้เราลุกขึ้นมาทำ ไม่ว่ามันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตาม เราจะไม่เสียใจที่เราได้ลองทำ ถ้าไม่สำเร็จเราก็แค่หยุดทำ หาสิ่งใหม่มาทำ แค่นั้นเอง ไม่ต้องกลัว และไม่ต้องหยุดที่จะกล้าคิดกล้าฝัน คิด ทดลอง ลงมือ ทำเลย เราเรียนรู้ว่า การเป็นคนตัวเล็กๆ ก็ทำได้ มีน้อยก็แบ่งได้ แล้วถ้ามันเป็นสิ่งที่ดี มันก็จะเหนี่ยวนำผู้คนที่ดีให้มาเจอกัน วันนั้นที่เราทำก็ไม่ได้คิดว่ามันจะไปได้ไกลหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากขนาดนี้ เพราะพลังจากคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเรานี่แหละ ที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมให้เดินไปได้
สิ่งที่กลุ่มแบ่งปันความอิ่มทำในวันที่สังคมเผชิญวิกฤต อาจไม่ใช่แค่การแบ่งปันมื้ออาหาร แต่อาจหมายถึงการแบ่งปันคุณค่า แบ่งปันน้ำใจ แบ่งปันความรู้สึก ว่าเขาไม่ได้เผชิญปัญหาอยู่เพียงลำพัง ทุกมื้อเล็กๆ เพียง 20-30 บาท ที่ถูกหยิบยื่นจากชุมชน ได้ส่งมอบความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ให้กับพวกเขาไปด้วย ไม่แน่ว่าสิ่งที่จะทำให้เรารอดชีวิตจากการแพร่กระจายของไวรัสในครั้งนี้ อาจจะหมายถึงการแพร่กระจายของน้ำใจ และความปรารถนาดีที่มีต่อกันให้เต็มทั่วทั้งสังคมก็เป็นได้