- ย้อนเส้นทางของ คุณวุฒิ บุญฤกษ์ เด็กห้องวิทย์คณิตล้มเหลวสู่การเป็นนักศึกษาปริญญาเอก, นักวิจัย, ผู้ช่วยสอนจากคณะสังคมศาสตร์
- ความล้มเหลวสะท้อนผ่าน การตัดสินใจเลือกเรียนในสายวิทย์-คณิต เพียงเพราะเกรดถึงแทนที่จะเกิดจากความชอบ ผลร้ายคือเขาสอบตก แต่โชคดีที่ยังเบนเข็มกลับลู่ทางในช่วงมหาวิทยาลัย จากการทดลองทำงาน fieldwork (งานภาคสนาม) ทำให้รู้ว่าตัวเองชอบสายสังคมศาสตร์และมุ่งเอาจริงในด้านนี้
- งานวิจัยที่เขาชอบคือการทำเรื่องอะไรก็ได้ที่เป็นเรื่อง minority (ชนกลุ่มน้อย) หรือ marginalization (สภาวะชายขอบ) แม้งานที่ทำอยู่จะต้องเจอกับภาวะเครียดและไม่ได้สนุกแบบ positive แต่งานวิชาการช่วยพาออกไปเจอคนและชุมชนใหม่ๆ “มันให้อะไรกับเราเยอะมาก”
ภาพ: ชาวโรฮิงญา ซัยดุลบาซัร
หลายครั้งที่เราอดถามคำถามบ้านๆ กับนักวิชาการที่นั่งชิลล์อยู่ตรงหน้าไม่ได้ว่า ทำไมถึงเรียนปริญญาโท แล้วทำไมยังไม่หยุดและตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกในคอนเซ็ปต์เดิมอีก?
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ นักวิจัยและผู้ช่วยสอนจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรณาธิการเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) นักศึกษาปริญญาเอกทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตอบง่ายๆ และจริงใจซ้ำๆ ว่า “การทำวิจัยมันสนุกมากเลย”
เด็กหลังห้องอาจจะขอกด cry
แต่คุณวุฒิก็เคยกด angry กับการศึกษาไทยมาก่อน ตำแหน่งมากมายที่เขาถือครองอยู่นี้ ไม่รวมการเป็นนักข่าวหรือนักทำภาพยนตร์สารคดี ถ้าย้อนไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน คุณวุฒิก็อาจจะงงเหมือนกันว่าเขาแบกรับความวิชาการทั้งหมดนี้ไว้อย่างไรไหว
ในจังหวะเวลาที่ระบบการศึกษากำลังตีรันฟันแทงกันว่าการศึกษาภาคบังคับยัดเยียดภาระเชิงวิชาการให้เด็กมากเกินไป ควรจะจัดหาศาสตร์ที่มีความหลากหลายและเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เลือกและหาตัวตนของเขาด้วยจิตใจปลอดโปร่ง นักวิจัยที่อ่านเปเปอร์วิชาการหลังอาหารอาจจะตั้งคำถามว่า แล้วถ้าเป็นการเรียนการสอนเชิงวิชาการหนักๆ แต่เด็กเลือกแล้วว่าชอบล่ะ?
เด็กชายคุณวุฒิเป็นเพียงเด็กค่าเฉลี่ยปกติ ค่อนไปในทางห่วยเคมีในห้องที่เขาเรียกว่าเป็นห้องวิทย์-คณิตล้มเหลวที่โรงเรียน ต่อสู้กับความหฤหรรษ์ของวิชาเคมีและโลกของวิทยาศาสตร์ที่ตัวเองเข้าไม่ถึง จริตกบฏที่ตั้งคำถามกับทางเลือกที่ไม่มีน้ำใจของระบบการศึกษานำพาให้เขาตั้งชมรม English Reading Club พาเพื่อนไปดูงานที่ The Nation ทำหนังสือทำมือชื่อ ‘It’s My Way’ ขายเพื่อนสายศิลป์อย่างจริงจัง หรือแม้กระทั่งตั้งวงเล่นไพ่กับเพื่อนต่างห้องเป็นกิจวัตร
เป็นเด็กเกเรในสายวิชาการแต่เอาการเอางานอย่างมากที่จะเอาชนะความเป็นอื่นในสังคมการเรียนสมัยนั้น
ทว่าหลังจากที่ได้เลือกสิ่งที่ตัวเองอยากเรียนในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นระยะเวลา 4 ปีในช่วงปริญญาตรี ความเนิร์ดอันแรงกล้าต่อการศึกษาในสิ่งที่ชอบก็เติบโตอย่างออร์แกนิค คุณวุฒิอ่านหนังสือหรือศึกษาอย่างเกรี้ยวกราดจนเป็นนักวิจัยสายสังคมศาสตร์ที่กำลังศึกษาเรื่องโรฮิงญาด้วยแพชชั่น (และกุมขมับไปด้วย) ในระดับชั้นปริญญาเอก
เวลานี้นอกจากจะต้องเอ่ยชื่อวิทยานิพนธ์ (เอาแค่ปริญญาโทก็พอ) ว่าชื่อ Rohingya Diaspora in Thailand-Myanmar Borderland ผู้พลัดถิ่นชาวโรฮิงญาในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า อาจจะต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเขาเป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอนที่กำลังคร่ำเคร่งกับการสอนนักศึกษาปริญญาตรีที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวิชา เช่น Conceptualization ที่พูดถึงกระบวนการคิดเชิงสังคมศาสตร์ หรือ วิชาชาติพันธุ์สัมพันธ์และพหุวัฒนธรรม (Ethnicity and Multiculturalism) และเป็นพี่เลี้ยงโครงการพิเศษของ TCIJ School (โรงเรียนนักข่าว)
เราอาจจะต้องกาดอกจันไว้ดอกใหญ่ๆ ว่าต่อจากนี้ไป จะเป็นการสัมภาษณ์นักการต่างๆ ที่ว่ามาข้างต้นที่มีคอนเทนต์ค่อนข้างเฉพาะทางและเนิร์ดจนต้องกะพริบตาถี่ๆ บ้างในบางเวลา แต่อย่าเพิ่งกด cry หรือ angry เพราะสิ่งที่น่าสนใจคือพัฒนาการไม่มีเพดานของเด็กชายที่เข้าใจว่าตัวเองเป็นนักเรียนตลอดชีวิตเสมอ ถ้าได้เรียนในสิ่งที่รัก
เพราะอะไร?
เพราะการวิจัยมันสนุกมากขนาดนั้นเลยหรือเปล่า?
หัวหน้าห้องวิทย์ – คณิตล้มเหลว – แกนนำชมรม English Reading Club – ขาประจำวงไพ่
บรรยากาศของโรงเรียนเป็นแบบไหน
เราเรียนที่วัดสุทธิวราราม เข้าได้ด้วยการจับฉลากเข้าง่ายๆ ในแง่ของวิชาการ เราคิดว่าระบบการศึกษาไทยที่ผ่านมาที่เราเจอนอกจากจะสอนให้เราเชื่องแล้ว มันสอนให้เรา passive กับสิ่งรอบตัวมากเกินไปหน่อย เราเป็นเด็ก Gen Y ยุคแรกๆ ที่คิดว่ามันมีพื้นที่ในการแสดงออกค่อนข้างน้อย
และที่โรงเรียนวัดสุทธิฯ ก็มีสังคมและชนชั้นที่ค่อนข้างหลากหลายมาก ลูกนักการเมืองก็มี นักธุรกิจก็มี แม่ค้าพ่อค้า ลูกอาจารย์ นักกีฬา หลากหลายมาก นอกจากชนชั้นทางสังคมแล้ว ชนชั้นทางวัฒนธรรมก็เยอะเหมือนกัน มีความหลากหลายทางเพศและทางศาสนา ทางชาติพันธุ์ก็มี เช่น มีคนซิกข์ ฮินดู ลูกครึ่งมาเรียน แล้วด้วยความที่ในเขตสาธร ยานนาวา เจริญกรุง มัสยิดเยอะมาก มีมุสลิมที่มาจากทั้งชวา มลายู ปากีสถาน ทำให้แม้แต่มุสลิมด้วยกันเองที่มาเรียนโรงเรียนวัดก็หลากหลาย อย่างในห้องเรียนมีมุสลิมเฉลี่ยประมาณ 4 คน รวมเราด้วยก็ถือว่าเยอะนะ แต่ค่าเฉลี่ยของเพื่อนกะเทยเนี่ย 7-8 คน (หัวเราะ) มันมี subset ของ subset ในโรงเรียนเยอะมาก อันนี้เป็นข้อดีที่เราคิดว่าได้จากการเรียนมัธยม
จากวัฒนธรรมที่หลากหลายในโรงเรียน (ซึ่งเป็นโรงเรียนวัดด้วย) เรารู้สึกถึงการชนกันของวัฒนธรรมและศาสนาบ้างไหม
ตอนนั้นเราไม่รู้สึก เพิ่งมารู้สึกตอนที่โตขึ้นแล้วมี critical thinking (การคิดเชิงวิพากษ์) มากขึ้น ซึ่งน่าจะได้มาเพราะว่าเราอ่านหนังสือเยอะ คิดว่าตอนนั้นเรายอมตามเพราะคนอื่นเขาทำกันไง เช่น การฟังพระสวด ถ้าเราย้อนเวลากลับไปได้นะ เราอยากจะขออาจารย์ว่าเพื่อนที่ต่างศาสนิกขอไปนั่งรอในห้องได้ไหม ซึ่งมองในอีกมุมหนึ่ง เราก็ได้เรียนรู้เยอะเหมือนกันในความหลากหลายนี้ แต่โรงเรียนบังคับให้เราเสพเพียงศาสนาเดียว ทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่มีพื้นที่ของเรา นอกจากจะไม่มีพื้นที่ของวัยรุ่นแล้ว พื้นที่ที่อยากจะแสดงออกทางวัฒนธรรมก็ไม่มีเลย
ระบบการศึกษาไทย Passive อย่างไร
ห้องเรามันคือห้องเด็กสายวิทย์-คณิตล้มเหลวน่ะ เป็นชื่อเรียกที่ในโรงเรียนจะรู้กัน เรายอมเรียนไปทั้งๆ ที่เราก็ตกกระจุยเลย เท่าที่จำได้ เกรดวิชาเคมีที่ดีที่สุดของเราคือ 1 ซึ่งเราได้ 1 0 1 0 สลับอยู่อย่างนี้ ฟิสิกส์ได้ 2 บ้าง แต่ประเด็นคือว่าเขาทำให้เราไม่สามารถตัดสินอนาคตของตัวเองได้ มันไม่มีแม้กระทั่งกระบวนการที่จะให้เราเลือกก่อนว่าเราอยากเรียนสายนี้ เป็นฟังก์ชั่นที่จัดให้มาเลย ให้เลือก 2 ทางคือสายวิทย์-คณิต กับ สายศิลป์-สังคม สายสังคมเป็นห้องท้ายสุดของระดับชั้นซึ่งไม่มีวิชาการคำนวณเลย แต่เราก็ยังอยากเรียนเลขอยู่บ้าง ณ ตอนนั้นไม่มีสายให้เราเลือก เราเลยเลือกเรียนวิทย์-คณิตด้วยความรู้สึกที่เลือกไม่ได้
ทำไมถึงไม่ย้ายสาย
เราถูกบังคับให้เรียนสายวิทย์-คณิตเพราะว่าเกรดเราถึง โรงเรียนวัดสุทธิฯ จะมีทั้งหมด 12 ห้อง ห้องวิทย์ 6 ห้อง และสายอื่นๆ อีก 6 ห้อง เกรดเราอยู่ในระดับกลางๆ ไปทางดี แต่พอเข้า ม.4 เราก็ถูกจัดให้เรียนสายวิทย์ พอเรียนไปได้ 1 เทอม เราก็ให้พ่อแม่ไปคุยกับที่โรงเรียนว่าอยากจะย้ายสาย แต่ทางโรงเรียนบอกว่าคุณมีความสามารถที่จะเรียนอยู่ ทำไมไม่เรียนห้องที่มันมีคุณภาพมากกว่า ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่สู้เพื่อให้ได้ย้ายต่อนะ แต่รู้ตัวเองเลยว่าเราไม่สามารถเรียนสายวิทย์-คณิตได้
ที่ว่าห้องวิทย์ล้มเหลวคือล้มเหลวในแง่ไหน การศึกษา อาจารย์หรือเพื่อนในห้อง?
ทั้งหมดเลย เราไม่ได้โทษระบบอย่างเดียวนะ เราโทษตัวเองด้วย เพราะเราก็ไม่อยากเรียน เราเลยคิดว่าปัญหาคือระบบการศึกษา ตัวนักเรียน แล้วก็ตัวอาจารย์ด้วย ตัวอาจารย์ที่เรารู้สึกว่าเขาไม่มี mindset ของการคิดเชิงวิพากษ์เลย มันอาจจะไม่ต้องมีรึเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่การเรียนเป็นแพทเทิร์นแบบนั้นมันทำให้เราเชื่องมาก บางอย่างเรารู้อยู่แล้วว่าเราจะเรียนอะไร ก็เลยตัดสินใจไปเตะบอลดีกว่า แทนที่จะนั่งฟังเลคเชอร์นี่เราก็คิดว่าเอาเวลาไปเล่นไพ่ดีกว่า
เราแทบจะไม่รู้สึกถึงการเป็นครูของอาจารย์เลยด้วย เหมือนเขาแค่มาเลคเชอร์อย่างเดียว สุดท้ายเราเลยไปทำชมรม English Reading Club ขอให้อาจารย์ภาษาอังกฤษมาเป็นประธานชมรม ซึ่งมันก็หลุดจากความเป็นวิทย์-คณิตไปเลย
ดูไม่ใช่เด็กตั้งใจเรียนหนังสือมากมาย แล้วไปตั้งชมรม English Reading Club ที่ฟังดูค่อนข้างเนิร์ดได้อย่างไร
เราพยายามจะเป็นโรบินฮูด สิ่งที่เราทำในโรงเรียนแล้วเรารู้สึกภูมิใจมากเลยคือ เราไปรวบรวมเด็กกเฬวรากที่เล่นไพ่ เล่นดนตรี ดูดบุหรี่มาอยู่ในชมรม แล้วเราก็หาทุนกัน ลงขันกันไปดูงานที่ The Nation ตอนสมัย ม.5 เราพาเพื่อนสี่สิบกว่าคน จากหลากหลายห้อง ซึ่งเราสนิทเกือบทุกคนนะ รวมตัวกันที่ท่าเรือสาธรแล้วไปดูงานที่ตึก The Nation
ทำไมรวมเพื่อนได้เยอะขนาดนั้น
คล้ายๆ กับเป็น community ของเด็กที่เป็น subculture ของโรงเรียน เราสนใจเรื่องการแต่งตัวจากนิตยสาร Cheeze ที่ดังมากในตอนนั้น สนใจเรื่องการฟังเพลง เตะบอล แทงบอล เล่นไพ่ สูบบุหรี่ เลยไปชวนเพื่อนพวกนี้ซึ่งจัดว่าเป็นเด็กกเฬวรากเลยมาอ่านภาษาอังกฤษด้วยกัน แล้วชมรมก็ยาวนานมาจนถึง ม.6 ก็แยกย้ายกันไป เราว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จกับเพื่อนบางคนที่ตอนแรกไม่ได้สนใจการอ่านหนังสือเลย แล้วเราทำให้เขาเริ่มสนใจอ่านหนังสือ
เรามีเทปวงร็อคฝรั่งวงหนึ่งชื่อ System of a Down ซึ่งเราก็แชร์ให้เพื่อนฟัง เทปม้วนนี้มั่นใจเลยว่าฟังวนกันตั้งแต่ห้อง 5-12 แล้วอย่างเรื่องไปดูงานที่ The Nation เรารู้สึกว่าเราปฏิบัติการสำเร็จ ตอนนั้นไม่มีใครสนใจเรื่องสำนักพิมพ์ หรือนิตยสาร Student Weekly เลย
แล้วเราก็พยายามทำต่อ จัดบูธ จัดงานกับโรงเรียน พอย้อนกลับไปอธิบายตัวเอง เราว่าเราพยายามทำให้คนอื่นรู้ว่าเรามี agency (การกระทำของมนุษย์โดยเสรี เกิดขึ้นจากการกระทำของเจตนาของมนุษย์) ของเรานะเว้ยที่จะทำเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องในระบบ เราทำประกวดวงดนตรี จัดกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับการศึกษาเท่าไหร่ แต่มันเป็นวัฒนธรรมที่มันต่อยอดไปสู่การเรียนมหาวิทยาลัยได้ เราทำหนังสือทำมือด้วย หรือจัดงานขายเสื้อมือสอง ให้ทุกคนเอาเสื้อมือสองมาแลกกัน
เราไม่เคยมองเพื่อนเราว่าเป็นเด็กกเฬวรากแบบที่คนอื่นมองเลยนะ แต่อยากให้อาจารย์ในโรงเรียนรู้ว่าเขาก็มีสิ่งที่เขาทำได้ และทำได้ดีด้วย โดยที่อาจารย์ไม่ต้องมายุ่งด้วยซ้ำ มันเป็นความรู้สึกแบบนั้นตอนเด็กๆ ที่เราอยากจะชนะคนที่เราเอาชนะเขาในระบบไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องวิชาการที่เราแทบจะต้องเข้าไปกราบเขาเพื่อ “ขอเกรด 1 ให้ผมได้เปล่า”
คิดว่าอะไรเป็นชนวนสำคัญคอยผลักดันเราให้จัดกิจกรรม จัดประกวดดนตรีหรือทำสิ่งที่อยากจะพิสูจน์ให้ครูเห็นว่าเพื่อนมีศักยภาพในด้านอื่น
ความรู้สึกเป็นคนอื่นในโรงเรียนสำคัญมาก เรารู้สึกแปลกแยกกับระบบของโรงเรียนทั้งเรื่องทรงผมหรือการใช้อุปกรณ์ของโรงเรียนที่มันผลักเราออกจากระบบการศึกษา ไม่ได้พูดถึงแค่เรียนวิชาคณิต วิทย์ ไทย สังคม แต่เป็นระบบของการใช้อำนาจในโรงเรียนค่อนข้างเยอะจากทั้งศิษย์เก่าหรืออาจารย์ แล้วสิ่งเหล่านี้มันทำให้เราอยากจะเป็น someone พร้อมกับเพื่อนๆ ของเรา แต่ก็ไม่ได้อยากจะเป็น someone ของเพื่อนวิทย์-คณิตด้วย เพราะเรารู้สึกว่าเด็กวิทย์-คณิตถูก stereotype มาตลอด
เหมือนโรงเรียนมองบทบาทค่อนข้างชัดเจนว่าครูก็คือครู นักเรียนก็คือนักเรียน
ใช่ ไอ้ศัพท์ที่ว่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้เนี่ย ไม่เคยอยู่ในความคิดเราเลย เราก็เลยอยากทำกิจกรรมร่วมกัน ทำไมวิชาศิลปะถึงไม่ให้เรียนด้วยกัน เด็กห้องวิทย์ทำงานศิลปะโคตรเห่ย แต่ห้องสายศิลป์ทำงานดีขนาดนี้ ทำไมไม่จัดให้ช่วยกัน เด็กห้องศิลป์ห่วยวิชาเลขขนาดนั้น ทำไมไม่ให้ไปติว สนุกจะตาย เรากับเพื่อนอีกประมาณ 4-6 คนในห้องวิทย์ล้มเหลวทั้งสองห้องรู้สึกว่าเราเป็น nobody มากๆ เลยในสายวิทย์-คณิต เราเลยอยากจะทำอะไรของเราเอง
เราถือว่าเป็นเด็กที่มีภาวะผู้นำไหม?
ใช่ๆ เราเป็นโดยตั้งใจด้วย เราอยากจะเป็น someone ในห้องเราน่ะ เราไม่อยากเป็นไอ้คนที่สอบเคมีตกทุกเทอมแล้วก็เป็นใครก็ไม่รู้ที่ทำอะไรไม่ได้ ถ้าจะให้เราอธิบายตัวเองในตอนนี้ เราว่าเรามี agency มากๆ (การกระทำของมนุษย์โดยเสรี เกิดขึ้นจากการกระทำของเจตนาของมนุษย์) เลยที่จะทำเรื่องอื่นๆ แล้วเรารู้สึกไม่เหนื่อยเลยกับการกลับบ้านไปแล้วต้องมาเขียนหนังสือทำมือ แต่เราไม่ทำการบ้าน แล้วค่อยมาลอกเพื่อนตอนเช้า (หัวเราะ) เราอยากมีอะไรที่เรารู้สึกว่าเพื่อนต้องมาถาม เพื่อนต้องนึกถึงเราบ้าง เราเป็นหัวหน้าห้องสามปีรวดเลย แต่เราไม่ได้ถูกเลือกเพราะความเป็นผู้นำและเก่ง แต่เพื่อนเลือกเราเพราะเราทำอย่างอื่นได้ดีมั้ง เหมือนกับว่าเราไม่เนิร์ดขนาดที่จะอ่อนต่ออาจารย์ตลอดเวลา เราต่อรองได้บ้าง เหมือนเราอยู่กึ่งกลางระหว่างเด็กเรียนกับเด็กผี เพื่อนเลยเลือกเรา เราน่าจะเป็นคนแบบรับมือกับเด็กผีได้ และรับมือกับเด็กเรียนได้ ซึ่งมันเป็นข้อดีที่ทำให้เราเข้าถึงอาจารย์และตั้งชมรมได้
แล้วพอใช้ชีวิตมัธยมอยู่ในห้องวิทย์ล้มเหลวที่ไม่ได้อินกับเรื่องวิชาการมาก แต่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องใช้วิชาการ เราทำอย่างไร
ก็ทำๆ ไป ไม่ได้รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เลย ตอนแรกเราจะไปเรียนคณะสาธารณสุขที่ มศว เพราะว่าเราสอบตรงได้ แต่สุดท้ายไปเรียนวารสารฯ ที่ ม.บูรพา ตอนนั้นรู้สึกว่าอยากทำอะไรที่ออกไปข้างนอก ออกต่างจังหวัด เราไม่เครียดกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเลย เราชอบตัวเองตอนนั้นตรงที่ว่าเราสุขภาพจิตดีมาก เราเรียนอะไรก็ได้ที่เราได้เดินทาง ได้เติบโตนอกบ้านบ้าง
ทำไมถึงเลือกที่จะทำงานเรื่องโรฮิงญาในปริญญาโท: เพราะว่าทำวิจัยสนุกมาก
พอเข้าสู่การเรียนในมหาวิทยาลัยที่เริ่มมีความเป็นวิชาการเฉพาะทางอย่างชัดเจน เราตั้งใจเรียนตั้งแต่แรกหรือเราใช้เวลาในการทำความคุ้นเคยกับมัน
ช่วงแรกๆ ก็มีอะไรที่ไม่ชอบเหมือนกัน เพราะปริญญาตรีต้องเรียนวิชาพื้นฐานต่างๆ ที่เราไม่ชอบเลย โดยเฉพาะวิชาสร้างคุณลักษณะ สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต แต่พอเรามาเริ่มเรียนการเขียนข่าวเบื้องต้นเราก็เริ่มสนุกแล้ว สนุกมากเลย เรารู้สึกว่าเราได้เรียนวิชาการเขียนบทความ แล้วอาจารย์อ่านงานเรา คอมเมนต์งานเรา เรารู้สึกว่าการฝึกปฏิบัติทำให้เราได้ลองหลายอย่าง เราได้เขียนทั้งรีวิวอาหาร คอนเสิร์ต วงเสวนา
4 ปีในมหาวิทยาลัยน่าจะเป็นการศึกษาอีกแบบหนึ่งกับที่โรงเรียน
ใช่ มันทำให้เราอ่านเยอะขึ้น สิ่งที่สำคัญและเราคิดว่าเราได้ประโยชน์จาก ป.ตรีก็คือการเรียนการทำข่าว วิธีการตั้งคำถามให้ดีต้องทำยังไง เราได้ทำ fieldwork (งานภาคสนาม) เยอะมาก เราได้เคลื่อนไหวกับชาวบ้านในหลายๆ ประเด็นโดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมในภาคตะวันออก ซึ่งมัน shape เรา
เหมือนกับว่าเราล่องลอยมากๆ เลย แล้ววันหนึ่งเราได้มาทำอะไรที่มันคลิก เราเริ่มทำรายงานพิเศษ เริ่มทำข่าวเจาะ สารคดีเชิงข่าว สารคดีขนาดยาวครั้งแรก ซึ่งมันทำให้เรามารู้จักกับงานสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่หัวใจของมันคือการทำ fieldwork เหมือนกัน เรายืนยันว่าการเรียนหนังสือพิมพ์ของเรามันเอื้อประโยชน์ให้กับการเรียนสังคมศาสตร์ตอนปริญญาโทมากๆๆ
อย่างไร?
เพราะเราจะเข้าใจ methodology (วิธีวิทยา) ในการหาข้อมูลว่าการทำข่าว วิธีการเก็บข้อมูลระยะยาว หรือตั้งคำถามเพื่อจะนำไปสู่คำตอบในการวิจัยต้องทำแบบหนึ่ง แต่การตั้งคำถามเพื่อจะนำไปสู่คำตอบที่จะนำมาเขียนข่าวเร็วๆ ต้องทำอีกแบบหนึ่ง เราเข้าใจเซนส์พวกนี้เร็ว แต่เราจะอ่อนทฤษฎีมากเลย พื้นความรู้ด้านรัฐศาสตร์หรือสังคมวิทยาเราอ่อนมาก เราแทบจะต้องมาอ่านใหม่หมดเลยตอนเรียน ป.โท ซึ่งพอเรามองมันเป็นความสนุกมันก็ไม่มีปัญหาไง การอ่านอะไรยากๆ ไม่ยากเท่ากับการอ่านแล้วไม่เข้าใจ
เป็นคำตอบที่ค่อนข้างดีเลยนะถ้าจะพูดถึงความสำเร็จของการศึกษา
ใช่ เพราะว่ามันสนุกมาก มันสนุกตรงที่เราเรียนปุ๊บ เราทำงาน มีคอมเมนต์ คอมเมนต์แล้วแก้ แล้วงานเราดีไหม เราเห็นกระบวนการที่ชัดเจนไงว่างานเรามันมี timeline แล้วมันก็มีจุดสิ้นสุด ย้อนกลับไปเทียบกับการเรียนเคมี กูจะเอาเคมีไปทำอะไรวะ (หัวเราะ) มันไม่รีเลทกับเรา แล้วเราเรียนเคมีน่ะ เราจะเป็นนักเคมีในประเทศไทยเหรอวะ มันมีกี่คนวะ
ปริมาณการอ่านหนังสือเทียบจากตอนมัธยมมันเพิ่มขึ้นเยอะไหม
คูณสี่คูณห้าน่ะ รวม assignment ด้วยนะ ตอนมัธยมอาจจะอาทิตย์ละเล่ม เดือนละ 4-5 เล่ม แต่มหาวิทยาลัยนี่เดือนละสิบกว่ากว่าเล่ม แน่นอน มันเป็น assignment ด้วย แล้วเราต้องรีวิวหนังสือทุกอาทิตย์ส่งอาจารย์
พอเข้าไปเรียนปีหนึ่งในมหาวิทยาลัย มีจุดอะไรที่ช่วย Shape ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเราเติบโต
เราว่าเป็นเรื่องการอ่านงานแบบ monograph (หนังสือที่ย่อยมาจากงานวิจัย) ในปริมาณเยอะๆ ตอนอยู่ปี 4 เราฝึกงานที่บริษัทมติชนตอนปี 3 และได้ทำข่าวเรื่องไซยะบุรี เราอ่านงานวิจัยของอาจารย์คนหนึ่งแล้วเรารู้สึกว่าวิธีการแบบนี้มันคล้ายกับการทำข่าวเหมือนกันนะ แต่คุณอยู่ในพื้นที่นานกว่า คุณมีขอบเขตของคุณกับคนที่คุณศึกษาน้อยกว่า ทำไมนักข่าวถึงทำแบบนี้ไม่ได้ แล้วเราก็ไม่อยากทำงานรูทีนมั้ง ถ้าย้อนกลับไปตอนนั้นเราจะอธิบายตัวเองว่าเราอยากจะทำงานวิจัย งานสารคดี เลยเลือกมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เลย ด้วยเหตุที่ว่าหนังสือส่วนใหญ่ที่อ่านมาจากที่นี่ด้วยแหละ
ตอนตัดสินใจจะเรียนปริญญาโทคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อ ตัดสินใจได้เด็ดขาดเลยไหม
เด็ดขาดมาก ไม่ต้องเลือกเลย
โอ้โห เพราะอะไร
เพราะเรารู้สึกว่างานวิชาการทางสังคมศาสตร์หลายๆ ชิ้นในประเทศไทยมันใช้ methodology คล้ายกับสิ่งที่เราเคยทำข่าว แล้วมันเป็นข้อดีที่ถ้าเราเอามาปรับใช้กับการเรียนของเรา เราอาจจะทำงานข้อมูลเชิงลึกได้ดีมากขึ้นถ้าเรามีแนวคิดทางด้านสังคมศาสตร์ วิธีวิทยาและการทำงานด้านมานุษยวิทยามากขึ้นจากการเรียน ป.โท ตอนนั้นเรายังไม่ได้หวังว่าเราอยากจะไปเป็นนักวิจัยเหมือนตอนนี้นะ เราอยากทำงานข้อมูล รายงานพิเศษที่มันลึกกว่าคนอื่นเขาโดยที่มีวิธีคิดอยู่เบื้องหลังชัดเจน เลยทำให้เราไม่ลังเลเลยว่าทำไมเราถึงกระโดดไปเรียนสังคมศาสตร์ เพราะการเรียนวารสารฯ ตอน ป.ตรีแล้วไปเรียน ป.โทแบบเดิมอีก เราอาจจะต้องทำงานวิชาการด้านสื่อสารมวลชนเป็นหลักซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจ
เรารู้สึกว่าวารสารศาสตร์มันให้เครื่องมือกับวิธีคิดเรา แต่ยังไม่ให้องค์ความรู้ที่มันตกผลึกแล้วหรือถกเถียงได้ เราเพิ่งมารู้จักศัพท์ เช่น grand theory (ทฤษฎีมหภาพ) constructivism (ทฤษฎีการประกอบสร้างนิยม) positivism (แนวคิดปฏิฐานนิยม) หลังจากเรียน ป.โท ซึ่งเรารู้สึกว่าเราต้องการสิ่งเหล่านี้มากเลยในการทำงานวิจัย เราไม่อยากเป็นนักข่าวรูทีนทำงานรายวัน เรานับถือนักข่าวรายวันมากนะ แต่เราไม่อยากทำเพราะว่าเราทำได้ไม่ดีเท่าเขาหรอก ถ้าเราทำข่าวรูทีน เต็มที่ 2 ปีเราอาจจะตายน่ะ (หัวเราะ)
ขยายความเรื่อง ‘อยากเล่าเรื่องลึกๆ’ ที่ว่าให้ฟังหน่อย
รายงานพิเศษของเราเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ตอน ป.ตรีเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมหมดเลย โรงถลุงเหล็กจันทบุรี ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แล้วเรารู้สึกว่าเราต้องการองค์ความรู้ที่มันจะอธิบายเรื่องปรากฏการณ์พวกนี้ได้ลึกยิ่งกว่าการบอกว่าชาวบ้านมีปัญหากับทุนกับรัฐแย่งพื้นที่ทำกิน ไล่รื้อที่ดิน การสังหารชาวบ้าน เช่น การใช้วาทกรรมเรื่องคนอยู่ทีหลังกับคนอยู่มาก่อน หรือการใช้วาทกรรมในการอธิบายเรื่องโฉนดที่ดินที่มันถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมาย หรือแม้กระทั่งใช้สัญลักษณ์ในการต่อสู้ของชาวประมงแหลมฉบัง ซึ่งตอนนั้นเรายังอธิบายแบบนี้ไม่ได้ งานของเราในตอนนั้นมันขาดมุมมองความแหลมคมในเชิงวิชาการมากๆ เราเลยไม่ลังเลเลยที่จะเรียนสังคมศาสตร์ต่อเพราะเราสนุกกับมันมาก
การทำวิจัยในระดับปริญญาโท นอกจากจะทำให้เราเห็นภาพกว้างที่นอกจากสัมภาษณ์ทุกๆ ฝ่ายแล้ว เราเรียนรู้ด้วยว่าเราจะใช้วิธีการใดกับใคร ซึ่งมันไม่มีบอกในการทำข่าวหรอก และไม่มีเวลาพอด้วยที่จะให้นักข่าวใช้เวลาเพื่อที่จะทำ participant observation (การสังเกตแบบมีส่วนร่วม) กับชุมชน
เช่น เราเข้าไปอยู่ในชุมชนนานขึ้นเพื่อที่จะขึ้นไปบนเรือเขาได้ จับปลากับเขาได้ ไอ้วิธีการแบบนี้แม้ว่าจะใช้ระยะเวลานาน แต่ทำให้ข้อมูลที่เราได้มาแทบจะเป็นคนละเรื่องเลยกับเรื่องที่เราเคยเขียนตอน ป.ตรี หรือการเข้าถึงข้อมูลของรัฐ เราก็ต้องคิดแล้วว่าไปในฐานะอะไรจะทำให้เราได้ข้อมูลที่คมกว่า มากกว่า เราอาจจะต้องใช้ทุนทางสังคมของเราในการเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเพื่อที่จะเข้าไปเก็บข้อมูล มันทำให้เราทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่ข้อมูลที่แตกต่างได้
สนใจทำวิทยานิพนธ์เรื่องอะไรตอนเรียนปริญญาโท
การได้มาซึ่งหัวข้อวิทยานิพนธ์ ป.โทของเรามันมาจากทั้งการเรียน การอ่าน สังคม อาจารย์ และการออกไปเจอกับสังคมวิชาการต่างๆ (เคยไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ National University of Singapore ราว 3 เดือน) สิ่งเหล่านี้มันช่วยหล่อหลอมวิธีการคิดทางวิชาการของเราเยอะมากเลย งาน ป.โทของเราพูดถึงเรื่อง diaspora (การพลัดถิ่น) เป็นหลัก คอนเซ็ปต์มันพูดถึงคนพลัดถิ่นที่มีทั้ง route ที่เป็นเส้นทางและ root ที่เป็นราก ซึ่งการอธิบายแบบนี้มันน่าสนใจว่าเราจะอธิบาย contemporary refugee (ผู้ลี้ภัยในบริบทปัจจุบัน) ได้ยังไง
วิทยานิพนธ์ของเราชื่อ ‘ผู้พลัดถิ่นชาวโรฮิงญาในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า’ ตอนแรกเราไม่ได้สนใจเรื่องโรฮิงญา เราสนใจเรื่อง Burmese Muslim (มุสลิมพม่า) แต่จะทำยังไงให้งานน่าสนใจไปอีก ก็เลยทำเรื่องโรฮิงญาไปเลยดีกว่า หัวข้อนี้มันอยู่ในกระแสแล้วเรามีเพื่อนเป็นโรฮิงญาค่อนข้างเยอะในกรุงเทพฯ แต่ที่จับพลัดจับผลูต้องไปทำที่ชายแดนเพราะเราก็สนใจทั้งโรฮิงญาและชายแดนศึกษา
ทำไมจากภาพกว้างเรื่องสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สโคปแคบมาเรื่องมุสลิมพม่า แล้วทำไมต้องชายแดนศึกษาอีก
เรารู้สึกว่าการอธิบายชุมชนมุสลิมในชายแดนในไทยยังน้อยมาก แล้วทำไมถึงเป็นโรฮิงญา? เพราะจำนวนประชาการของโรฮิงญาเยอะขึ้นในไทยและในชายแดนพม่า แต่เราต้องรู้ว่าเราจะไม่ทำงานที่ซ้ำกับคนอื่น และต้องมีข้อเสนอทางวิชาการที่มันโอเค รับได้ อาจจะไม่ได้แหลมคมเหมือนนักวิชาการเก่งๆ แต่มันต้องมีข้อเสนอใหม่ ซึ่งการจะรู้ว่ามันเป็นข้อเสนอใหม่หรือเปล่า เราต้องอ่านงานคนอื่นมาก่อนไง เราถึงจะรู้ว่าเราจะทำหัวข้ออะไร
drive ของเราคือการทำเรื่องอะไรก็ได้ที่เป็นเรื่อง minority (ชนกลุ่มน้อย) หรือ marginalization (สภาวะชายขอบ) การทำเรื่องมุสลิมพม่านี่ก็เพราะว่าอย่างน้อยเขาก็ไม่ใช่คนไทย เราอยากทำเรื่องคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเรา แต่เราก็ยังอยากทำเรื่องที่เป็นไปได้อยู่ เราเป็นมุสลิม เราก็ใช้ทุนทางวัฒนธรรมของเราที่เป็นมุสลิมเพื่อเข้าสู่ชุมชนมุสลิมได้ แต่เราก็ยังได้ทำเรื่องคนอื่นอยู่ไง
มันเชื่อมโยงกับตอนที่เราเด็กๆ ด้วยไหมที่เรารู้สึกถึงความเป็นอื่นในโรงเรียน
เรารู้สึกว่าความเป็นอื่นของเราในไทยมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ความเป็นอื่นของเราที่เป็นมุสลิมมันทำให้เราใช้มันเป็นเครื่องมือในการทำงาน ทำวิจัยได้ แน่นอนว่าเราจะเข้าใจโลกทัศน์ของอิสลามและโลกทัศน์ของพุทธเพราะเราเรียนโรงเรียนวัด แต่ข้อเสียคือเราก็มักจะถูก stereotype ว่าเป็นมุสลิมต้องเป็นแบบนี้ๆๆ 1 2 3 4 ซึ่งมันทำให้เราอึดอัดตลอดเวลาเลยในการเป็นมุสลิมไทย มุสลิมกรุงเทพฯ ก็จะเป็นคนอื่นของมุสลิมจีนในเชียงใหม่ และมุสลิมในกรุงเทพฯ แบบเราที่ไม่ได้เคร่งมากก็จะเป็นคนอื่นในมุสลิมในกรุงเทพฯ ด้วยกัน เลเยอร์ของความเป็นอื่นของเรามันเยอะ แต่มันก็ข้อดีข้อเสียอยู่ที่เราจะใช้มันยังไง
เราศึกษาโรฮิงญา มุสลิมพม่า เลเยอร์ของเขาก็เยอะเหมือนกัน เราเลยอยากจะเข้าใจความเป็นอื่นในที่อื่นด้วย เวลาที่โรฮิงญามาอยู่ในปลายทางที่เขาไม่ได้ต้องการ เราจะเข้าใจเขาได้ยังไง งานเราอาจจะไม่ได้ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุด เราเชื่อว่าในวิทยานิพนธ์ของเรา คนอ่านจะเข้าใจ sense of belonging (สำนึกความเป็นเจ้าของ) ของคนอื่นได้แน่นอน
Sense of Belonging สำคัญอย่างไร? แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเข้าใจแล้ว
มันสำคัญกับคนทุกยุคนั่นแหละ เราอาจจะพูดถึง sense of belonging ในแง่ของอารมณ์มากๆ แต่ของผู้ลี้ภัย นอกจากเรื่องอารมณ์ ความรู้สึกแล้ว มันคือเรื่องความอยู่รอด ซึ่งมันสำคัญมาก
นักสังคมศาสตร์ทำงานวิจัยเพื่อที่จะเข้าใจมนุษย์ ไม่ใช่เพื่อที่จะตอบคำถามของตัวเองเท่านั้น ถ้าเข้าใจเขาได้สักนิดหนึ่งมันก็จะเป็นงานที่มีคุณค่า แต่ว่าทั้งหมดทั้งมวลมันจะเผยออกมาในงานเขียนของเราเลยว่างานคุณดีหรือเปล่า เข้าใจเขาดีจริงหรือเปล่า มันไม่มีเกณฑ์อะไรมาตัดสินเลยว่าเราเข้าใจเขาแล้ว เราคิดว่าลิมิตหรือเลเวลของการเข้าใจ subject ของเรามันอยู่ที่ว่าเราตอบคำถามของงานวิจัยเราเคลียร์หรือเปล่า เราตอบได้ดีหรือไม่ดี
พอเราศึกษาในประเด็นคนชายขอบเยอะ เรามีแนวโน้มที่จะ Romanticize คนที่เราศึกษาไหม
ใช่ ตลอดเวลา เราเลยต้องมี peer review (กระบวนการกลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก) มีผู้อ่าน มีอาจารย์คอยหาสมดุลความ dramatic ของเรา งานเราในยุคแรกโคตรโปรโรฮิงญาเลย ในขณะเดียวกันเรารู้สึกว่างาน ป.เอกของเราก็มองโรฮิงญาในแง่ negative มากไป
เวลาเราค้นพบว่าเรากำลัง Romanticize งานเขียนหรือคนที่เรากำลังศึกษาอยู่ เราทำอย่างไร
บางทีเราไม่รู้ เราเลยต้องการคอมเมนต์ แต่บางครั้งเรารู้สึกว่าแล้วไงล่ะ เราอยากจะเป็น voice ให้กับเขา เราก็ใส่ลงไปเลย เช่น มันมีเคสของโรฮิงญาที่ถูกอาสารักษาดินแดนทำร้าย เราก็เขียนลงไปในเปเปอร์เลย ปรากฏว่าการเขียนของเรามันเป็นการเขียนที่ทำให้ตัวตนของอาสารักษาดินแดนดูเป็นผู้ร้ายชัดเจนมาก แล้วโรฮิงญากลายเป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งจริงๆ แล้วมันคือการต่อรองกันในพื้นที่ชายแดน โรฮิงญาอาจจะทำผิดกฎหมาย แต่เราไม่สนใจ เรารู้สึกว่าอาสาฯ มีอำนาจ แต่ชาวโรฮิงญาไม่มีอะไรต่อรอง ทำไมเราจะเขียนแบบนี้ไม่ได้ เราใส่บทสัมภาษณ์โรฮิงญาเข้าไปเพราะเป็นสิ่งที่เขาพูดจริงๆ แต่ข้อเสียก็คือเราไม่ได้สัมภาษณ์อาสาฯ แต่มันเป็นเปเปอร์เรื่องโรฮิงญา เราไม่ได้คิดว่าการใส่บทสัมภาษณ์ของอาสาฯ เข้าไปจะทำให้มันรอบด้านขึ้น เพราะว่ามันไม่ใช่ข้อเสนอหลัก มันเป็นแค่ ethnography (ชาติพันธุ์วรรณนา) ที่เราอยากจะใส่เพื่อให้เห็นบริบทว่ามันเกิดอะไรขึ้น สุดท้ายมันขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการกับชุดข้อมูลที่เรา romanticize นั้นได้สมดุลแค่ไหน
พอเรียนต่อในระดับปริญญาโท เรารู้สึกว่าเราเป็นนักมานุษยวิทยาไหม
ไม่เลย เราสนใจงานมานุษยวิทยาก็จริงแต่เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันยังไม่เข้มข้นพอ แต่พอมาเรียน ป.เอก เราก็ไม่ได้สนใจแล้วว่าจะเป็นนักอะไร เรารู้สึกว่าการค้นหาความจริงในแบบของการทำวิจัยมันยิ่งน่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับเทรนด์วิชาการที่มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราเคยมีความคิดชุดหนึ่งตอนก่อนเรียน ป.โทด้วยว่าความรู้ทางสังคมศาสตร์มันหยุดนิ่ง เมื่อเราอ่านเยอะขึ้นเราจะรู้เยอะขึ้น แต่จริงๆ แล้วแนวคิดทฤษฎีพวกนี้มันถูกท้าทายอยู่ตลอดเวลา
งานวิชาการมันเป็นพลวัต พอเราทำเรื่อง Burmese Muslim งานต่อไปมันต้องไปไกลกว่านี้ แล้วก็จะมีคนมาเถียงเราอีก แล้วก็จะไปอีกๆๆๆ ซึ่งข้อเสนอที่มันเกิดขึ้นมา มันจะไม่มีทางเหมือนเดิม ข้อเสนอของเราเมื่อ 2 ปีที่แล้วตอนนี้มันตกไปแล้ว เราเสนอว่าความสัมพันธ์ชุมชนชายแดนมันเอื้อให้เศรษฐกิจชายแดนของโรฮิงญาอู้ฟู่ขึ้นโดยที่ไม่ต้องอาศัยการกำกับดูแลของรัฐแล้ว ซึ่งไปดูปรากฏการณ์ตอนนี้สิ มันเปลี่ยนไปแล้ว นั่นคือสิ่งที่งานวิชาการทำ
ทำไมถึงเลือกที่จะทำงานเรื่องโรฮิงญาต่อในปริญญาเอก: เพราะว่าทำวิจัยสนุกมาก
ปริญญาเอกแล้วทำไมยังสนุกอยู่อีก
เวลาเราทำวิจัยมันจะมีช่วงที่เราเครียดแต่ว่าสนุก แล้วก็เครียด แต่ว่าสนุก พอไปประชุมมีคนมาคอมเมนต์เพื่อให้เราพัฒนางาน แล้วก็มีคนชอบงานเราด้วย งานเราก็พัฒนาไปอีก เราว่ามันเป็นความสนุกที่มันไม่หยุดอยู่ที่ ทำวิจัยจบแล้วก็ทำเรื่องอื่นใหม่ มันเป็นเรื่องของกระบวนการมากกว่า เราว่าระหว่างทางในการทำวิทยานิพนธ์เล่มหนึ่งมันสนุกมากเลย มันเครียดมากเลยนะ แต่ว่าคุณจะได้ไปเสนองานหรือไปทำเวิร์คช็อป หรือไปประชุม แล้วงานคุณก็จะสะสมเลเวลไปเรื่อยๆ แก้นิดแก้หน้อย เพิ่มมุมนี้นิดหนึ่ง เพิ่มคอนเซ็ปต์นี้เข้าไป ถกเถียงกับคนนี้ แวะไปถกเถียงกับคนนี้อีกทีหนึ่ง
แล้วเรื่องโรฮิงญาที่เราเคยทำมันยังมีแง่มุมอื่นๆ อีกมากที่น่าทำ ก็เลยตัดสินใจเรียนต่อ ป.เอก ซึ่งเรายังคิดต่ออีกว่านอกเหนือจาก ป.โท ป.เอก เรื่องโรฮิงญาก็ยังมีมุมอื่นๆ ที่น่าทำอีกมากมาย พอเรายังมีพลังคิดกับมันเยอะ มันก็เลยสนุกน่ะ พอมันเป็นสิ่งที่เราชอบแล้วเราทำได้ดี ทำไมเราจะไม่ทำต่อล่ะ
แต่มันเป็นการทำงานที่เข้มข้น ประกอบไปด้วยความขัดแย้ง ความไม่สวยหรูของคอนเทนต์อยู่มากเหมือนกันนะ
มันอาจจะสนุกตอนที่เราได้ค้นคว้าข้อมูล แต่ตอนเก็บข้อมูลหรือตอนเห็นสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราก็เสียใจและหดหู่ แต่สิ่งเหล่านี้มันกลับกลายมาเป็นสิ่งที่ขับให้เราต้องทำ ต้องเขียนเรื่องพวกนี้ออกมา ไม่ได้เขียนออกมาเพื่อจะลบล้างสิ่งที่เกิดขึ้นนะ แต่อย่างน้อยที่สุด เราได้บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของเราผ่านงานวิจัย
ซึ่งมันแสตมป์ความเป็น official academic (งานวิชาการอย่างเป็นทางการ) เรารู้สึกว่าคุณค่าทางวิชาการ ในระยะยาว มันอาจจะตอบโจทย์คนที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ได้เทียบเท่ากับงานข่าวรายวัน (ที่เราก็ทำด้วยนะ) แต่ผ่านวิธีที่เป็นระบบและมีคำอธิบายในเชิงวิชาการ
แต่ว่างานวิชาการที่เฉพาะทางมากๆ มันวนเวียนอยู่ในวงการวิชาการหรือเปล่า ไม่ได้เผยแพร่ออกไปสู่คนหมู่มากเหมือนข่าวหรือบทความ
นี่เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้เราทำหนังเรื่อง ‘Michael’s’ (ภาพยนตร์สารคดีเล่าเรื่องชีวิตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 2 คนในแม่สอด จังหวัดตาก) ตอน ป.โท เรารู้แหละว่างานวิชาการบางทีมันอยู่บนหิ้งแล้วก็ไม่มีคนอ่าน ตอน ป.โทเราเลยเอางานเราไปส่งเป็นบทความลงเว็บ 2-3 ชิ้น จัดวงเสวนาบ้าง จัดนิทรรศการที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ทำอะไรที่มันพอจะสื่อสารได้โดยที่ใช้งาน ป.โทเราเป็นเบส ป.เอกเราก็จะทำเหมือนกัน เรารู้ว่างานขึ้นหิ้งน่ะมันถกเถียงกันในวงการวิชาการแล้วก็จบ เราก็สนุกในการประชุมไง แต่หลังๆ เรารู้สึกว่าเทรนด์ของงานวิชาการ เขาจะเอางานของตัวเองมาย่อยเพื่อทำมีเดียในแพลตฟอร์มต่างๆ เยอะขึ้นมาก ตอน ป.โทนี่เราทำสารคดียาว สั้น ภาพถ่าย วงเสวนา บทความในเว็บ ซึ่งเราคิดว่าเราทำได้ดีที่สุดแค่นั้นน่ะ แต่ว่า ป.เอกเราจะพยายามทำให้ได้มากกว่านั้นอีก
นอกจากคำถามในงานวิจัย จุดประสงค์ของการทำวิทยานิพนธ์เรื่องโรฮิงญาทั้งในปริญญาโทและปริญญาเอก คืออยากให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีเหรือเปล่า
ไม่กล้าคิดถึงขั้นที่อยากให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่อยากให้คนไทยเข้าใจ ไม่ใช่เฉพาะโรฮิงญานะ อยากให้คนเข้าใจไอเดียในฐานะพลเมือง เรื่องคำว่าผู้ลี้ภัย เรื่องคำว่า ‘คนอื่นในประเทศไทย’ หรือแม้กระทั่งคนต่างศาสนาที่ไม่ใช่คนไทย อย่างน้อยที่สุดอยากให้เข้าใจเขามากขึ้นสักนิดหนึ่ง เพราะว่าในบางที่เขาเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจนะ ในบางที่เขาเป็นมาเฟีย บางที่เขาเป็นผู้บริจาคหลัก คือเขาหลากหลายเกินกว่าที่คุณจะเข้าใจเขาแค่ว่าเป็นพวกขี้เกียจ มามีลูกในประเทศไทย สร้างภาระอย่างเดียวทั้งๆ ที่เงินภาษีของคุณไม่เคยไปถึงเขาเลย เราอยากให้เขาเข้าใจแค่นี้เลย แล้วที่เหลือมันจะตามมาเอง
เราเลยย่อยงานของเรามาทำงานสารคดี ภาพถ่าย สารคดีเวอร์ชั่นครึ่งชั่วโมงของเราดูง่าย ดูแล้วจะเข้าใจว่าโรฮิงญามี agency สูงมาก ไปต่างประเทศ พูดภาษาอังกฤษได้ คุณจะไม่ stereotype ผู้ลี้ภัยน่ะ ไอเดียเรามีแค่นี้เลยสั้นๆ
การ Stereotype มันส่งผลกระทบอะไรบ้าง
คุณจะไม่มีทางเห็นผลกระทบทันที แต่ในทางอ้อม การ stereotype คน มันคือการสร้างวาทกรรมชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อมันฝังอยู่ในตัวคุณแล้ว คุณไม่มีทางที่จะสลัดมันออกไปได้เลย เรากำลังจะก้าวไปสู่การเป็นพลเมืองโลกแต่ถ้าวิธีคิดของคุณเป็นแบบนี้ เราว่ามันค่อนข้างจะใจแคบมากเลย เพราะเรารีบตัดสินคนอื่นโดยที่เราไม่เข้าใจ
ถามอีกรอบ สิ่งที่ยังดึงให้เราอยู่กับมันก็คือความสนุกอีกเหรอ
มันไม่ได้สนุกแบบ positive แบบนั้นนะ ปะปนกับความเศร้า กับพลัง กับอะไรหลายๆ อย่าง เราตื่นเต้นทุกครั้งเลยนะเวลาไปประชุม เวลาเราได้เสนอสิ่งที่เราทำอยู่แล้วมีคนคอมเมนต์ มีคนชอบ ไม่ชอบ เราไปประชุมมาตั้งแต่ ป.โทเกิน 10 ครั้งแล้ว และทุกครั้งมันพาเราออกไปเจอชุมชนวิชาการใหม่ๆ แล้วมันให้อะไรกับเราเยอะมาก
อย่างตอนที่เราไปประชุม border study (ชายแดนศึกษา) ที่เนปาลเมื่อ 2 ปีที่แล้วระหว่างที่เรียน ป.โท เป็นงาน panel (งานวิจัยต่อเนื่อง) เล็กๆ หลังจากงานวันนั้นมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ ประเทศแคนาดา (McGill University-มหาวิทยาลัยที่เน้นด้านการวิจัย) เขาส่งข้อความมาว่าชอบมาก แล้วก็ส่งคอมเมนต์และแนวคิดเรื่อง capital (ทุน) มาให้อ่านเพิ่ม สุดท้ายเราได้เอาไปใส่ในเปเปอร์ของเรา แล้วพิมพ์เปเปอร์นั้นได้จากการแก้ไข เราคิดว่ามันดีมากเลย เขาไม่ได้เป็นอะไรกับเราเลยนะ เขาแค่มาฟัง panel เราและช่วยเหลือเรา
เราจะได้สิ่งที่เราตกผลึกหรือวิทยานิพนธ์ที่มันโอเค นอกจากตัวเราเองแล้ว ชุมชนนักวิชาการสำคัญมากๆ งานที่เราอ่านจะหล่อหลอมเราทั้งหมดเลย เรารู้สึกว่าชุมชนนักวิชาการไม่ได้หล่อหลอมให้เราทำงานวิจัยเก่งขึ้นนะ แต่จะหล่อหลอมได้ว่างานของเราควรจะเป็นไปในทิศทางไหน
ความตั้งใจของเราคือถ้าเราได้เป็นนักวิจัย เป็นอาจารย์ที่ดีในอนาคต เราจะเป็นคนแบบนี้ คือคนที่คิดและคอมเมนต์งานคนอื่นได้ และช่วยให้เขามีมุมมองที่แหลมคม ละเอียด หรือรอบด้านมากขึ้น
ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Michael’s’ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศผลงานประเภทสารคดี (รางวัลดุ๊ก) จากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และมูลนิธิหนังไทยในเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 19: 19th Thai Short Film and Video Festival และได้รับคัดเลือกฉายในเทศกาลในต่างประเทศ อาทิ Ethnografilm 2016, Global Migration Film Festival 2017 ฯลฯ คุณวุฒิเป็นผู้ช่วยสอนวิชา Conceptualization, Learning Through Activity, Ethnicity and Multiculturalism (ชาติพันธุ์สัมพันธ์และพหุวัฒนธรรม), Ecological Anthropology in Mekong Region (มานุษยวิทยานิเวศในลุ่มน้ำโขง) ให้กับนักศึกษาภาคปกติและนานาชาติที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับทุน SEASREP Postgraduate Fellowship by The SEASREP Foundation ในการศึกษาระดับปริญญาโท และทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ในระดับปริญญาเอก |