- กล้าดี D.I.Y ผลงานกระถางสำเร็จรูปจากวัสดุธรรมชาติ สู่การสร้างจุดขายที่ให้ลูกค้ามีส่วนในการปั้นกระถางรักษ์โลกขึ้นมาด้วยตัวเอง
- ความท้าทายของโครงการอีกหนึ่งอย่างคือ กล้าดี D.I.Y ยังต้องน่าซื้อน่าใช้ พร้อมผลิตเป็นสินค้าขายในท้องตลาดได้จริง
- เพราะไม่มีต้นไม้ต้นไหนที่โตใหญ่มาตั้งแต่เกิด มนุษย์เองก็เช่นนั้น เด็กๆ เจ้าของไอเดียกระถาง กล้าดี D.I.Y ต้องเปิดรับความรู้ที่เหมาะสม และทดสอบความรู้ด้วยการทดลองทำจริง และเติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กับผลงานที่พัฒนา
เรื่อง: มณฑลี เนื้อทอง
ภาพ: โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่
กระถางพลาสติกสำหรับเพาะกล้าไม้โดยทั่วไปแม้จะแข็งแรง แต่ก็มักสร้างปัญหาเวลาที่ต้องย้ายกระถางเพื่อนำกล้าไม้ไปปลูกลงดิน เพราะต้องใช้วิธีกระแทกก้นกระถาง บ้างก็ต้องเขย่าจนรากขาดดินกระจาย กล้าไม้ที่ควรจะโตก็กลับไม่รอดไปอย่างน่าเสียดาย
กล้าดี D.I.Y จึงเกิดขึ้นจากความคิดและฝีมือของน้องๆ มัธยมต้นจาก โรงเรียนสงวนหญิง จังหวัดสุพรรณบุรี แทนที่จะต้องมานั่งปวดหัวกับปัญหาการย้ายกระถางกล้าไม้ลงดิน มันคงดีและน่าสนุกกว่า ถ้าเราสามารถปั้นกระถางจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เพื่อใช้เพาะกล้า เวลาย้ายลงดินก็ย้ายไปทั้งกระถาง สะดวกสบายกว่า และกล้าไม้ก็ไม่มีความเสี่ยงที่จะตายระหว่างการเดินทางจากกระถางไปสู่ดินด้วย
ต่อไปนี้คือเรื่องราวของต้นกล้าที่โตในกระถาง ทั้งต้นกล้าที่เป็นพันธุ์ไม้จริงๆ และต้นกล้าในความหมายเปรียบเปรยถึงน้องๆ ที่โตดีเพราะกระถางนั้นมีรู
เปลี่ยนแนวคิดโลกกรีน เป็นผลิตภัณฑ์น่าสนุก
จุดเริ่มต้นของ กล้าดี D.I.Y นั้นมาจากการทำโครงงาน ‘การศึกษาวัสดุธรรมชาติที่เหมาะสมกับการปลูกต้นกล้าเพื่อทดแทนถุงพลาสติกดำและกระถางพลาสติก’ ของ คิม-ชุติชัยกิจสุวรรณรัตน์, การ์ตูน-สุชานรี พรธานิศกุล และ มิ้นต์-ญภา วังกรานต์ ในโครงการ Smart Class ของโรงเรียนสงวนหญิง ซึ่งทั้งสามรับช่วงโครงงานต่อมาจากรุ่นพี่ที่ได้ริเริ่มโครงการไว้อีกทอดหนึ่ง
ก่อนจะเป็น กล้าดี D.I.Y ที่ให้ผู้ใช้ประดิษฐ์กระถางด้วยตัวเองสมชื่อนั้น กระถางในเวอร์ชั่นแรกนั้น ทีมนำถั่วลิสงมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตขึ้นรูปกระถางแบบพร้อมใช้ ซึ่งผลงานผ่านเวทีการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition: YSC) ก่อนที่ทีมจะได้แรงสนับสนุนจากอาจารย์ที่ปรึกษาให้เข้าร่วมต่อยอดผลงานในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 6 ซึ่งได้เปลี่ยนผลงานของทั้งสามให้มีจุดขายมากขึ้น
ส่วนกล้าดี D.I.Y เวอร์ชั่นล่าสุดเป็นชุด D.I.Y. ที่ประกอบด้วยเปลือกถั่วลิสง ตัวประสาน แม่พิมพ์ ไม้คน พร้อมคู่มือวิธีการ ลูกค้าที่ซื้อไปสามารถปั้นกระถางถั่วลิสงขึ้นมาเองได้ง่ายๆ และช่วยให้เวลาย้ายต้นกล้าลงดินสะดวกสบายขึ้น
“กระถางทำจากวัสดุธรรมชาติ มีถั่วลิสงเป็นธาตุอาหารให้พืชในตัวด้วย ปกติแล้วถ้าปลูกในถุงพลาสติกหรือกระถางดำ เราต้องย้ายต้นไม้จากกระถางไปปลูกลงดิน แต่ของเราไม่ต้องย้ายกระถาง ปลูกลงไปในดินได้เลย ลดปัญหาเรื่องรากขาด ดินแตก ต้นพืชตาย” มิ้นต์เสริมความ
อย่างไรก็ตาม กว่าที่ผลงานจะพัฒนามาถึงขั้นนี้ คิม-การ์ตูน-มิ้นต์บอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามันไม่ใช่ง่ายๆ เพราะการเปลี่ยนรูปแบบผลงานหมายถึงงานหนักที่เพิ่มขึ้น จนทั้งสามต้องชวน นุ่น-พิชาพร ทรัพย์สวนแตง, ปัน-อธิปัญญ์ เทพทอง และ นันท์-นภัสนันท์ กลับสงวน เข้ามาเสริมทัพ
ทำวิจัยเชิงพาณิชย์ ของต้องดีและต้องขายได้!
กว่าจะได้กล้าดี D.I.Y เวอร์ชั่นแรกมานั้น ทีมเองก็ต้องทำวิจัยในรูปแบบของการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในการหาสูตรของส่วนประกอบต่างๆ ที่ลงตัวให้สามารถขึ้นรูปเป็นกระถางถั่วลิสงได้ ซึ่งนั่นก็ถือว่ายากแล้ว
แต่ความยากของ D.I.Y เวอร์ชั่นล่าสุดคือการวิจัยเพื่อตอบโจทย์เชิงพาณิชย์ กล่าวคือการวิจัยสัดส่วนและออกแบบผลิตภัณฑ์ของวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบในการทำกระถาง เพื่อให้ลูกค้าซื้อไปทำเองได้ ซึ่งเหมือนจะง่าย แต่เอาจริงๆ แล้วไม่ง่าย ทั้งในแง่ของส่วนประกอบและดีไซน์ของผลิตภัณฑ์
“ตอนแรกที่ทำโครงงานเราจะขายแค่ตัวกระถาง แต่พอเปลี่ยนเป็นชุด D.I.Y. ให้ลูกค้าทำเอง ก็ต้องคำนึงถึงผู้ใช้มากขึ้นว่าเขาจะปั้นกระถางได้ไหม เขาจะขึ้นรูปยากไหม เราก็ต้องปรับให้เป็นวิธีปั้นกระถางให้ง่ายพอสำหรับคนที่ไม่เคยทำด้วย” นันท์เกริ่นถึงความกังวลใจของทีม
ขณะที่มิ้นต์ช่วยจะเสริมว่า “มันยากตรงที่เหมือนเอางานของเราไปให้ลูกค้าทำ เราต้องคำนึงถึงลูกค้า ต้องคิดเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่อยากให้เขาหงุดหงิดจนไม่อยากทำ ต้องให้เขารู้สึกสนุกไปกับงานของเรา”
จากข้อกังวลข้างต้นนั้น ทีมก็เจอปัญหาจริงๆ ในตอนทดลองทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว
“ตอนแรกเราใส่ภาชนะตัวประสาน (กาว) แยกไว้ในถุงซิปล็อค แต่พอเอามาเทใส่แม่พิมพ์เพื่อผสมตัวประสานกับวัสดุธรรมชาติ ตัวประสานรีดออกมาจากถุงได้ไม่หมด อัตราส่วนจึงเพี้ยน ทำให้ขึ้นรูปไม่ได้ เราก็ต้องมาทดลองสูตรกันใหม่ ทำยังไงจะแก้ปัญหานี้ได้ โค้ชก็แนะนำให้เอาตัวประสานใส่ในแม่พิมพ์ไปเลย แล้วค่อยเอาวัสดุธรรมชาติมาใส่ผสมกันทีหลัง ซึ่งกว่าจะทำได้ตามสูตรก็ต้องทดลองกันหลายสิบครั้ง ทดลองไปเรื่อยๆ หาสาเหตุไปเรื่อยๆ ไม่กาวน้อยไป น้ำก็ยังไม่พอ ค่อยๆ ปรับสูตรทีละนิดจนลงตัว” มิ้นต์ยิ้มหลังเล่าจบ
หลังจากพัฒนาจนลงตัว ทีมก็นำผลิตภัณฑ์ไปให้ผู้ใช้ได้ทดลองใช้ ซึ่งกลุ่มผู้ใช้นั้นมีทั้งนักเรียนและคุณครูที่โรงเรียนสงวนหญิง รวมไปถึงผู้ปกครอง โดยนอกจากนำเสนอผลิตภัณฑ์แล้ว ทีมยังมีการเก็บข้อมูลแบบสอบถามเพื่อประเมินความพอใจของผู้ใช้ ทั้งในด้านแพ็คเกจจิ้งและความสะดวกสบายในการใช้ ซึ่งส่วนใหญ่มีเสียงตอบรับไปในทางดี
และกระบวนการนี้ก็ทำให้ทีมได้เรียนรู้ถึงการทำงานร่วมกับผู้ใช้ว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการพัฒนาผลงานไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์
“งานอื่นเราให้แค่กลุ่มเล็กๆ ได้ทดลองใช้ เช่น กรรมการ แต่พอเราทำผลิตภัณฑ์ที่มีคนซื้อ เราต้องขยายกลุ่มทดลองให้หลากหลายมากขึ้น และเรียนรู้เรื่องการรับฟังเขา เข้าใจเขา ฟังมุมของเขาว่าต้องการอะไร เพราะเราเป็นคนทำเราทำได้ เขาอาจจะทำไม่ได้ เราต้องฟังเขาแล้วปรับให้สะดวกกับเขามากที่สุด” นันท์เล่าอย่างกระตือรือร้น
เป็นต้นไม้ในกระถางที่มีรู
คนที่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วนั้น ยากที่จะพัฒนาตนเองได้ เพราะต่อให้ใครป้อนความรู้ใหม่ๆ ให้ถึงที่ก็ล้นออกนอกแก้วเสียหมด แต่สำหรับทีมกล้าดี D.I.Y พวกเขาไม่ใช่น้ำเต็มแก้ว และก็ไม่ใช่แค่น้ำไม่เต็มแก้วด้วย แต่เป็นเหมือนกล้าไม้ในกระถางที่มีรู
หากกล้าไม้จะเจริญเติบโตได้ด้วยการอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของดินที่หมาดนุ่ม ซึมซับน้ำใหม่ในปริมาณที่พอเหมาะ และปล่อยทิ้งน้ำเสียออกทางรูกระถางเพื่อเหลือที่ว่างให้อากาศฉันใด มนุษย์ก็พัฒนาตนเองได้จากการเปิดใจสร้างพื้นที่ให้พร้อมรับการเรียนรู้ เลือกซึมซับความรู้ที่จำเป็นและเหมาะสม และที่สำคัญคือ ปล่อยทิ้งความทะนงตนและความพลาดหวัง เพื่อเหลือที่ว่างให้จินตนาการและความฝันฉันนั้น
นั่นเองคือสิ่งที่ทีมกล้าดี D.I.Y ทำ
“เรารับฟังและแก้ตามคำแนะนำของโค้ชตลอด ซึ่งมันต้องแก้หลายครั้งมาก ก็รู้สึกเหมือนกันว่าทำไมไม่บอกให้แก้ทีเดียวไปเลย (หัวเราะ) แต่เราก็ต้องย้อนมองความเป็นจริงว่าผลงานเรามันยังไม่ดีพอจริงๆ พี่เขาช่วยเราพัฒนา เราก็ต้องยอมรับความคิดเห็นเขา เขาก็เปิดใจให้เราเสนอ ก็แชร์กัน ทำให้ผลงานออกมาดีที่สุด ซึ่งพี่โค้ชก็ทำให้ผลงานมันดีกว่าที่เราคิดไว้เยอะมาก เกินกว่าที่เราคาดหมายตั้งแต่แรก เป็นสิ่งที่สอนเราว่าทำอะไรก็แล้วแต่อย่าท้อ พยายามรับฟังความคิดเห็นคนอื่นแล้วมาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้อย่างสวยงาม แม้ต้องเปลี่ยนสูตรบ่อย เหมือนที่โธมัส เอดิสัน ทำเป็นพันๆ ครั้ง มันไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เป็นการค้นพบสิ่งใหม่” นันท์กล่าวพร้อมยิ้มสดใส
“จากที่คิดแค่ว่านำเสนอคุณครูในชั้นก็จบ ไม่คิดว่าจะแข่งขันหรือพัฒนาต่อ การเข้าโครงการต่อกล้าฯ เหมือนเป็นกำไรของพวกเรา นอกจากพัฒนาผลงานได้เกินจากที่คิดไว้ ยังได้ความรู้เยอะมาก และเป็นความรู้ที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ในห้องเรียน ทั้งการตลาด UX-UI (User Experience ประสบการณ์ผู้ใช้/User Interface โครงสร้างหรือรูปร่างหน้าตาที่ช่วยให้การทำ UX สมบูรณ์และพร้อมใช้) การสร้างช่องทางสื่อสารกับลูกค้า ทำคิวอาร์โค้ด เปิดแฟนเพจตามที่พี่โค้ชแนะนำ ก็มีคนติดตามสนใจงานเรามากขึ้น และมีคนสั่งซื้อแล้วด้วย” มิ้นต์เสริมอย่างร่าเริง
เพราะไม่มีต้นไม้ต้นไหนที่โตใหญ่มาตั้งแต่เกิด ทุกต้นล้วนต้องเคยผ่านการเป็นเมล็ดเล็กๆ ที่บอบบางมาก่อน มนุษย์เองก็เช่นนั้น เมื่อเปิดรับความรู้ที่เหมาะสม และทดสอบความรู้ด้วยการทดลองทำจริง ความเติบโตก็เกิดขึ้น พร้อมๆ กับผลงานที่พัฒนาขึ้น
เหมือนเช่น กล้าดี D.I.Y จากผลงานกระถางสำเร็จรูปจากวัสดุธรรมชาติ สู่การสร้างจุดขายที่ให้ลูกค้ามีส่วนในการปั้นกระถางรักษ์โลกขึ้นมาด้วยตัวเอง และที่สำคัญคือ งานนั้นขายได้จริงผ่านช่องทาง Facebook Fan Page: Kladee DIY และมีโอกาสที่จะเติบโตยิ่งขึ้นไปอีก
นี่คือความเติบโตของกล้าดี D.I.Y และแน่นอนว่าคือการเติบโตของกล้าพันธุ์ดีทั้ง 6 ชีวิตด้วย
“จากกระถางที่ขายตามตลาดทั่วไป พอได้เข้าโครงการฯ ได้พัฒนามาเรื่อยๆ จากกระป๋องที่มีไม้ลุ่ยๆ ค่อยๆ พัฒนาให้มีถุง มีโลโก้ มันสวยขึ้นมาก ดีใจที่ผลงานมีคนที่สนใจและซื้อไปใช้” การ์ตูนกล่าวอย่างมีความสุข
“งานนี้มีความหมายสำหรับเราทุกคน เป็นผลงานที่มาจากมือเราเอง เราเริ่มต้นมันมาแล้วผลงานได้ไปอยู่ในมือคนอื่น คนอื่นได้ใช้ผลงานที่มาจากความคิดเรา รู้สึกภูมิใจที่เรามาไกลมาก จากผลงานที่ตั้งใจแค่นำเสนอครูให้จบๆ ไป กลายมาเป็นผลงานที่คนอื่นเอาไปใช้ ภูมิใจที่เขาได้ใช้ผลงานของเรา” มิ้นต์เผยความรู้สึก
“ผลงานของเราอาจจะไม่ได้ถูกใจทุกคน แต่เราทำด้วยความใส่ใจ” นันท์กล่าวพร้อมรอยยิ้ม “เราทุกคนเริ่มจากศูนย์และตั้งใจทำให้ดีที่สุด หวังว่าคนที่นำผลงานไปใช้จะมีความสุข สนุก ใช้ได้จริง ที่ผ่านมาเราไม่ยอมแพ้ สู้ทำจนถึงที่สุด ไม่ปิดกั้นความคิดตัวเอง และอย่าปิดกั้นความคิดเห็นคนอื่น ถ้าเราทำอะไร ทุกคนทั่วโลกจะได้ใช้มัน นั่นคือความคิดที่เป็นบวกจะทำให้ผลงานออกมาดีและสร้างสรรค์ ถึงวันนี้ต้องบอกว่า กล้าดี D.I.Y เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ส่วนต่อกล้าฯ ได้ให้สิ่งที่จะอยู่ไปตลอดชีวิตค่ะ (ยิ้ม)