- เดียร์-กิตติธัช ดีการ เกษตรกรวัย 25 ปี ที่เรียนรู้การทำสวนจากการทำสวนยางและปลูกมันสำปะหลังในวัย 13 ปี
- ‘ผลกระทบจากสารเคมี’ ทำให้ชายหนุ่มเลือกที่จะเป็นเกษตรกรอินทรีย์ พร้อมกับทำตามความฝันที่อยากสร้างสวนเกษตรอินทรีย์ของเขาให้กลายเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่ทุกคนอยู่อย่างมีความสุข คนทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี เจ้าของสวนมีความสุข และผู้บริโภคซื้อสินค้าราคาเป็นธรรม
- “สวนมันก็เกิดจากความเป็นธรรมชาติ ความเป็นธรรมดา ไม่ต้องหรูหรา ปล่อยให้ระบบนิเวศในสวนดูแลกันเอง เราแค่คอยเป็นผู้ช่วยดูแลให้เกิดสมดุล” นี่คือสิ่งที่เดียร์เรียนรู้จากการทำเกษตรมา 13 ปี
‘รักสุขภาพ’ หนึ่งในคุณสมบัติยอดฮิตของใครหลายๆ คนในยุคนี้ โดยเฉพาะอาหารการกินที่ต้องเลือกผลิตภัณฑ์อินทรีย์เพื่อความมั่นใจและปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยราคาผลผลิตที่ค่อนข้างสูงทำให้มีเฉพาะคนบางกลุ่มที่เข้าถึงได้ แต่สำหรับ เดียร์-กิตติธัช ดีการ เกษตรกรวัย 25 ปี ผู้ซึ่งมีเป้าหมายอยากผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ราคาสามารถเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม
เดียร์เรียนรู้การทำสวนมาจากครูคนแรก คือ พ่อแม่ เหมือนเกษตรกรทั่วไปที่หน้าที่หนึ่งของลูกต้องทำสวนเป็นไม่ต่างกับอ่านออกเขียนได้ เขาคลุกคลีลงไปทำสวนโดยเริ่มจากการเป็นผู้ช่วยพ่อแม่ก่อนขยับตำแหน่งไปเป็นเจ้าของแปลงสวนมันสำปะหลังเมื่ออายุ 13 ปี ที่ดินเล็กๆ ที่พ่อแม่ยกให้เขาดูแลจัดการเอง นี่เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เขาได้ค้นพบว่าตัวเองหลงใหลการทำเกษตร ในขณะที่เพื่อนวัยรุ่นด้วยกันออกไปทำกิจกรรมประสาวัยรุ่น เดียร์ขออยู่โยงเฝ้าสวนตัวเอง เมื่อถึงเวลาเลือกอาชีพ เดียร์ตัดสินใจเดินเข้าสู่เส้นทางเกษตรกร
แต่ย่อหน้าข้างต้นไม่ใช่ภาพการทำสวนสวยๆ กลับกัน เขาเจอความทุกข์จากการใช้สารเคมีทำไร่ คุณภาพชีวิตของคนทำงานที่ไม่ได้ดีเหมือนสถานที่ที่ทำงานของพวกเขา และราคาผลผลิตที่ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งคนซื้อคนขาย ทำให้เดียร์ขอเลือกเป็นเกษตรกรสายเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งชวนชาวสวนเกษตรอินทรีย์ในระยองมารวมกลุ่มกันในนาม ‘เกษตรพอใจธรรม’ เพื่อต่อรองราคาผลผลิต และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทำงานในสวน ทั้งหมดนี้เพื่อทำตามความฝันในการสร้างพื้นที่เล็กๆ ที่มีความสุขระหว่างคนทำงาน เจ้าของสวน และคนซื้อ
บทสนทนาเริ่มต้นด้วยคำถามพื้นฐาน ‘อะไรที่ทำให้เขาสนใจในงานเกษตร อยากเป็นเกษตรกร?’ คำตอบของเดียร์คือภาพจำในวัยเยาว์ ภาพคุณย่าเก็บเมล็ดพันธุ์ผักผลไม้จากสวนหลังบ้าน นำเมล็ดพันธุ์ไปตากให้แห้งใส่ถุงพลาสติก เก็บไว้บนเพดานครัวบริเวณที่ๆ มีควันไฟจากการประกอบอาหารเพื่อไล่ความชื้น เมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูกก็นำเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้โยนลงดินปลูกได้ทันที
เด็กชายเดียร์เติบโตในสวนจังหวัดจันทบุรี หนึ่งในจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องสวนผลไม้ ภาพพ่อแม่ทำสวนเป็นสิ่งที่เดียร์เห็นจนชินตา ตัวของเขามีบทบาทในฐานะผู้ช่วยทำสวนของพ่อแม่ ทำให้ชีวิตของเขาผูกพันกับพื้นหญ้าและต้นไม้
“ตอนนั้นอายุ 13 พ่อแบ่งที่ให้ประมาณ 3 ไร่ ให้เราปลูกมันสำปะหลังเอง แล้วพ่อจะเป็นคนขายให้”
เดียร์ที่ตอนนั้นอายุ 13 ปี ได้รับภารกิจจากพ่อในการทำสวนมันสำปะหลังเป็นของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนที่เติบโตมากับการทำสวนอย่างเขา เดียร์เรียนรู้วิธีการทำสวนมาจากครูของเขา คือ พ่อและแม่ แต่คราวนี้เขาไม่ได้เป็นแค่ผู้ช่วย แต่เป็นเจ้าของมันสำปะหลังทั้ง 3 ไร่ เดียร์บริหารจัดการสวน เริ่มจากขอคนงานของพ่อแม่ โดยเขาไปช่วยทำสวนพ่อแม่เป็นการแลกเปลี่ยน
“วันหยุดเราก็เลือกที่จะไปทำงานของพ่อแม่ให้เสร็จก่อน งานส่วนตัวเราเอาไว้ทีหลัง แต่มันจะแยกยังไงในเมื่อมันอยู่วันเดียวกัน คือ เสาร์-อาทิตย์ มีวันแค่สองวันนี้ เราก็ต้องจัดสรรเวลา ตอนเช้าไปสวนยางของพ่อแม่ ตอนบ่ายไปลงทำสวนของตัวเอง
“ตอนนั้นที่สะพายถังฉีดยาไปสวนมันสำปะหลัง ชาวบ้านแถวนั้นเขาก็แซว ทีแรกเราก็เขินก็อาย แต่เราไม่สน ของของเรา เรารู้สึกว่าเราทำได้ จนกระทั่งถึงวันที่เก็บเกี่ยวผลผลิต เราได้รับคำชมจากชาวบ้าน เราไม่ได้รับโดยตรงนะเขาไปพูดกับคนอื่น เราได้ยินทีหลัง แอบดีใจว่าจริงๆ ที่เราทำเราไม่ได้บ้านะ แต่มันดี” เดียร์เล่าถึงความรู้สึกในตอนนั้น
สวนมันสำปะหลังของเดียร์ใช้เวลา 1 ปี ก็สามารถออกผลผลิตตอบแทนเจ้าของสวนอย่างเดียร์ เขาให้พ่อนำไปขาย ซึ่งเงินก้อนแรกที่ได้จากการทำสวนครั้งนี้จำนวน 30,000 บาท ความรู้สึกแรกที่เขาได้รับเงินก้อนนั้น คือ ดีใจที่ได้ช่วยแบ่งเบาภาระที่บ้านและหายเหนื่อย มันทำให้เขายิ่งหลงใหลในการทำสวนมากขึ้น
จุดเปลี่ยนของชีวิตเดียร์เกิดขึ้นตอนเขาขึ้นมัธยมปลาย เขาย้ายมาอยู่กับญาติที่จังหวัดระยอง ที่นี่เองเดียร์ได้รู้จักกับ กลุ่มรักษ์เขาชะเมา กลุ่มที่ทำงานด้านเยาวชน เดียร์เล่าว่ามันอาจจะเป็นเพราะจังหวะหรือโชคชะตา มีเพื่อนในห้องมาชวนเพื่อนคนอื่นๆ ไปทำงานค่ายวัฒนธรรมของกลุ่มรักษ์เขาชะเมา เดียร์ตัดสินใจไปเพราะอยากหาอะไรทำ การไปครั้งแรกทำให้เขาติดใจไปซ้ำอีกหลายครั้ง สุดท้ายเขากลายเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม และได้พบกับ ป้าแฟ้บ-บุบผาทิพย์ แช่มนิล หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์เขาชะเมา เป็นคนที่คอยรับฟังปัญหา ให้คำปรึกษา และคอยช่วยเหลือเดียร์
เมื่อเดียร์เรียนจบมัธยมปลายเขาต้องเจอกับทางแยกอีกครั้ง เป็นทางแยกสองทางที่ให้เขาเลือกเพื่อตัดสินอนาคตของเขาว่าจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย หรือออกไปทำงาน เนื่องจากปัญหาหลายๆ อย่าง เดียร์เลือกที่จะไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่ป้าแฟ้บผู้ซึ่งมองเห็นศักยภาพของเดียร์ ตัดสินใจชวนให้เดียร์เรียนต่อ พร้อมกับบอกว่ามีผู้ใหญ่ใจดีที่จะช่วยส่งเสียค่าเรียนให้กับเดียร์
สำหรับเดียร์แล้วนี่ถือเป็นโอกาสสำคัญของเขา ซึ่งเขาก็รับมันไว้ ซึ่งคงไม่ต้องถามว่าเขาจะเลือกเรียนอะไร เพราะสิ่งที่เขาหลงใหลและผูกพันกับมันมีอยู่อย่างเดียว คือ การทำเกษตร
“เราเลือกเรียนเกษตรเพราะเราเห็นว่าจริงๆ แล้วการเกษตรก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เกือบทุกอย่างมาจากพื้นฐานเรื่องเกษตร แล้วก็มีความชอบ เราสนุกเวลาอยู่กับต้นไม้”
การทำสวนเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช่แค่ดูแลต้นไม้ แต่ต้องดูแลชีวิตคนทำงานในสวนด้วย
“มันเป็นเหมือนกระแสที่ต้องทำตามกัน จากปลูกมันสำปะหลังที่ไม่ต้องใช้สารเคมี เรายังเคยไปช่วยเขาถอนหญ้า จนมาถึงยุคหนึ่งเราเห็นเขาต้องใช้ เห็นเขาฉีดตรงที่เราเคยไปช่วยเขาถอนหญ้า หรือช่วยเขาดายหญ้า”
ชีวิตของเดียร์ผูกพันกับการทำสวน เขาเริ่มทำสวนมาตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้เขาเห็นวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของมัน จากที่เคยใช้มือถอนหญ้าได้ ก็เปลี่ยนเป็นใช้หัวฉีดยาฆ่าหญ้า ในตอนนั้นเขายังไม่ได้มีความรู้เรื่องเกษตรมากนัก ไม่รู้ผลกระทบของสารเคมี สำหรับเดียร์การใช้สารเคมีคือให้ผลลัพธ์ที่เร็ว แต่ไม่ดีต่อร่างกาย คนรอบตัว ระบบนิเวศ รวมถึงตัวของเดียร์เองได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมี
“ณ ตอนนั้นก็เหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่เราเห็นเราจำ แต่เราเพิ่งมารู้สึกเอาตอนหลังๆ เมื่อก่อนเขาจะมีดักกระต่ายท้องถิ่นทั่วไปได้ แต่มาช่วงหลังๆ มันน้อยลง พวกกระต่าย ตัวอ้น หนู ตุ่น แม้แต่ตอนหน้าแล้งที่มันจะมาเยอะๆ ก็น้อยลง เหมือนระบบนิเวศมันเปลี่ยนไป มันอยู่ไม่ได้เพราะมียาฆ่าแมลง ถ้าตัวที่รับไปโดยตรงก็ตาย”
เดียร์เลือกเรียนคณะเกษตรเพื่อที่จะได้มีความรู้ในการทำเกษตรมากๆ มากกว่าความรู้ที่ตัวเองได้ตอนทำสวน แต่การเรียนในระบบอาจยังไม่ตอบโจทย์การทำเกษตร เพราะส่วนใหญ่เรียนเกษตรแบบใช้สารเคมีเดียร์จึงออกไปหาประสบการณ์จากการไปคลุกคลีและเรียนจริงๆ กับชาวสวน ทำให้เดียร์ได้เห็นการทำสวนหลายๆ แบบ เขากลับมาถามตัวเองว่าเขาอยากทำเกษตรแบบไหน
‘เกษตรอินทรีย์’ คือทางที่เดียร์เลือก เพราะเขาเห็นแล้วว่าแม้สารเคมีจะช่วยทุ่นแรง ให้ดอกออกผลเร็ว แต่มันก็ส่งผลไปยังระบบนิเวศ สัตว์ที่อยู่ในนั้น รวมถึงตัวของคนทำสวนเองด้วย ประกอบกับความโชคดีที่ผู้ใหญ่ใจดีที่ส่งเสียให้เดียร์เรียนก็มีความตั้งใจที่อยากจะทำเกษตรอินทรีย์ เขามีแปลงสำหรับทำเกษตรอินทรีย์โดยตรง หลังเรียนจบเดียร์ตัดสินใจมาช่วยพัฒนาสวนตรงนี้ต่อ งานของเดียร์คือการพัฒนาระบบสวนเกษตรอินทรีย์ให้สมบูรณ์แบบ เพื่อให้เกิดสมดุลมากที่สุด
การลงมาทำสวนเต็มตัวทำให้เดียร์เห็นว่า การทำสวนมันไม่ใช่แค่พัฒนาให้ต้นไม้ในสวนดีขึ้นเท่านั้น แต่ต้องดูแลคุณภาพชีวิตของคนทำงานในสวนด้วย เพราะพวกเขาก็เป็นฟันเฟืองที่สำคัญของการทำสวน แต่คุณภาพชีวิตของคนทำงานหลายๆ คนยังไม่ดีเท่าที่ควร พวกเขาต้องพบกับปัญหาหนี้สิน หรือการติดเหล้า แม้พื้นที่สวนที่พวกเขาทำงานอยู่จะดีแต่ชีวิตคนทำงานเหล่านี้กลับไม่ดีตาม เดียร์อยากเปลี่ยนแปลงตรงนี้ การดูแลคุณภาพชีวิตของพวกเขาจึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่เดียร์และพี่ใจดีของเดียร์กำลังพยายามทำ
“ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหมายความว่า เราเข้าไปดูไม่ได้แทรกแซงไม่ได้บังคับ แต่ซื้อใจให้เขาค่อยๆ เปลี่ยน มีตั้งแต่ติดเหล้าไปจนถึงติดยา มันมีหมดเลยอยู่ที่เราจะให้โอกาสไหม ให้เขาค่อยๆ เปลี่ยน อยากให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น เราเข้าไปทำให้คนงานแข็งแรงขึ้น อยู่แบบมีความสุข เงินเหลือมีเงินเก็บ”
“เราตั้งใจอยากทำพื้นที่ตรงนี้ให้มันเป็นสังคมเล็กๆ ระหว่างคนทำงานด้วยกัน ไม่ใช่กำไรหรือเนื้องานเพียงอย่างเดียว คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขบนพื้นฐานของการปฎิบัติต่อกันอย่างเป็นธรรม ในพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของเรา เขาควรมีความเป็นอยู่ที่ดีสอดคล้องกับพื้นที่ที่ดี”
กลุ่มเกษตรพอใจธรรม: การรวมตัวกันของชาวสวนเกษตรอินทรีย์ในระยอง
“เราเห็นระบบกลไกตลาดที่ไม่เป็นธรรม ผลิตผลไม้ทั่วไปที่อาบยาพิษ มีสารตกค้างให้ผู้บริโภค มันไม่ได้ถูกทั้งหมดหรือผิดทั้งหมด เพราะระบบมันเอื้อให้เป็นแบบนี้”
เทรนด์กระแสรักสุขภาพที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ผู้บริโภคหันมารับประทานผักผลไม้ที่เป็นปลอดสารเคมีมากขึ้น แต่ราคาที่ค่อนข้างสูงทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางถึงสูง ชนชั้นอื่นๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เดียร์อยากแก้ไขช่องว่างตรงนี้ เขาอยากทำผักผลไม้อินทรีย์ที่สามารถเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม
“เราอยากจะสร้างสวนเกษตรอินทรีย์ที่หนึ่ง ผักผลไม้ปลอดภัยชัวร์ สอง ราคาเป็นธรรมกับคนกิน คนทำด้วย ถ้าให้คนกินๆ ราคาถูกคนทำอยู่ไม่ได้ มันต้องแฟร์ทั้งสองฝ่าย คนซื้อมีกำลังซื้อที่เท่าไหร่ คนทำมีกำไรเท่าไหร่ถึงจะอยู่ได้ ไม่งั้นทำไปขาดทุนทุกปีก็อยู่ไม่ได้
เดียร์ตัดสินใจรวมกลุ่มกับชาวสวนอินทรีย์ในจังหวัดระยอง ตั้งเป็นกลุ่มชื่อว่า ‘เกษตรพอใจธรรม’ เป็นกลุ่มขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ เพราะแต่ละสวนก็จะมีฐานลูกค้าของตัวเองอยู่แล้ว เพียงแค่นำมารวมกัน ทำตลาดขายของเองโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาทำเพจเฟซบุ๊คและวางแผนการตลาด
“เรากำหนดราคาเอง ไม่อิงกับราคาตลาดทั่วไป เราเคลมให้ถ้าผลผลิตเสียหายหรือไม่โอเค ขายราคาเดียวทั้งฤดูกาล หมดฤดูจะมาคุยกันว่าปีหน้าเราจะประเมินผลผลิตปรับราคาขึ้นหรือลดยังไง คุยกับลูกค้าด้วยว่าเขาโอเคไหม แต่รับรองว่าเป็นผลไม้อินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์”
ซึ่งงานกลุ่มตรงนี้ก็ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มรักษ์เขาชะเมา พี่ๆ เพื่อนๆ ในกลุ่มมาช่วยเดียร์ทำ เช่น คนทำการตลาด รวมทั้งมีการทำ มาตรฐานควายยิ้ม เพื่อเป็นการรับรอง ต่อยอด และเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในชุมชน นอกจากนี้กลุ่มรักษ์เขาชะเมากับเดียร์ร่วมกันทำโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเกษตร เช่น โครงการพื้นที่อาหารปลอดภัย
“การที่เรารวมตัวเป็นกลุ่มที่เห็นได้ชัด คือ บริษัทวิ่งเข้าหาเรา แต่ถ้าเขาเข้ามาแล้วมาบิดเบือนความเป็นเรา เราพร้อมที่จะถอนตัวทันที เรามีความเป็นตัวตนมากพอที่จะเป็นแบบนี้”
การสร้างพื้นที่ที่มีความสุขระหว่างเจ้าของสวน คนทำงาน และคนกิน
จากบทสนทนาที่พาเราไปรู้จักชีวิตของเดียร์ สิ่งที่ทำให้เขาอยากมาเป็นเกษตรกร ได้รู้จักเส้นทางที่เดียร์ใช้เดินมาจนถึงตอนนี้ และเป้าหมายงานของเดียร์ที่อยากจะสร้างพื้นที่ที่มีความสุขของเขาเอง คำถามคือมันสามารถสร้างให้เป็นไปได้จริงไหม? เดียร์ตอบด้วยความมั่นใจว่ามันสามารถเป็นไปได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา เหมือนการปลูกต้นไม้ที่ต้องพรวนดิน ลงเมล็ดพันธุ์ รดน้ำ รอคอยให้เขาเติบโต ถ้าใช้วิธีลัดหรือเร่งด้วยการใส่สารเคมี ผลผลิตที่ได้อาจจะเร็ว แต่ไม่คุ้มกับสุขภาพของคนกินและสภาพแวดล้อมรอบๆ คนทำ
การสร้างพื้นที่ของเดียร์จึงค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เริ่มจากการทำสวนเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มระบบ ควบคุม ดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานต่อ ขยายพื้นที่สร้างความรู้ให้กับชาวสวนคนอื่นๆ เพื่อให้เขาเห็นว่าการทำสวนมีหลายทางเลือก มีทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับตัวของชาวสวนเองและคนกิน แล้วค่อยรวมกลุ่มสร้างความแข็งแรงของชาวสวนที่จะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและราคาเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค
จากเด็กอายุ 13 ปีกับสวนมันสำปะหลัง 3 ไร่ จนมาถึงชายวัย 25 ปี กับสวนเกษตรอินทรีย์ สิ่งที่เขาได้เรียนรู้ตลอดระยะเวลา 13 ปี หัวใจของการทำสวน คือ ธรรมชาติ ทุกสรรพสิ่งในสวนล้วนแล้วแต่มีชีวิต มนุษย์เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ คอยช่วยเหลือเมื่อมันต้องการอะไร
“สวนมันก็เกิดจากความเป็นธรรมชาติ ความเป็นธรรมดา ไม่ต้องหรูหรา ปล่อยให้มันดูแลกันเอง ณ จุดหนึ่งเราช่วยมันบ้าง เพราะมันมีชีวิตนะ พวกจุลินทรีย์ หรือแมลงในสวน มันสามารถเติบโตและแข็งแรงด้วยตัวเองได้ เราแค่เข้าไปดูวิเคราะห์ว่าอะไรที่มันขาดไปหรืออะไรที่วิกฤติ ก็เติมให้มัน
“เราพยายามสร้างให้มันเกิดสมดุลหรือใกล้เคียงมากที่สุด เกิดและเป็นธรรม ทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อมและธุรกิจ”