- แลกเปลี่ยนข้อมูลระบบการศึกษากับงาน TEP@Rayong 2020 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
- ดร.สัมพันธ์ ศิลปะนาฎ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป Western Digital ตัวแทนภาคธุรกิจ ขึ้นกล่าวบนเวทีว่า ตอนนี้คนทำงานทั่วโลกโดยเฉพาะองค์กรธุรกิจดิจิทัล ต่างต้องการคนที่มีทักษะ hard skill และ soft skill และดูเหมือนว่า soft skill จะมีคะแนนขึ้นนำกว่านิดๆ เพราะเทคโนโลยีอาจเข้ามาทำหน้าที่พวก hard skill ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่และท้าทายต่อคณะครู ภาคี และคนทำงานด้านล่างเวทีว่าจะร่วมมือกันผลักดันให้คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในรั้วโรงเรียนมีทักษะเช่นนี้ได้อย่างไร
- นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ได้แชร์เทคโนโลยี Learning Analytic Platform ที่จะช่วยเก็บข้อมูลการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายคนเพื่อบอกว่าเด็กคนนึงเก่งเรื่องอะไร ช่วยวิเคราะห์แผนการสอนของครูได้ด้วย อธิบายวิธีทำงานอย่างรวบรัดว่า เมื่อครูเขียนแผนการสอนเสร็จแล้วนำเข้าเครื่องวิเคราะห์นี้ จะช่วยวิเคราะห์ได้ว่าแผนนี้ครูกำลังจะถ่ายทอดทักษะอะไร โดดเด่นเรื่องอะไร ตรงกับที่ครูต้องการหรือไม่ ก็จะช่วยให้ครูวิเคราะห์แผนการสอนของตัวเองได้ด้วย
เข้าสู่ปีที่ปี 2 แล้วสำหรับโครงการปฏิรูปการศึกษาในชื่อโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยจังหวัดระยอง เป็นหนึ่งใน 6 จังหวัดครอบคลุมจากเหนือสู่ใต้ ได้แก่ สตูล ศรีสะเกษ ระยอง เชียงใหม่ กาญจนบุรี และจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และเช่นเคย คนทำงานได้จัดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคืบหน้า ร่วมกับภาคีเพื่อการปฎิรูปการศึกษา (Thailand Education Partnership: TEP) จัดงาน TEP@Rayong ร่วมเปลี่ยนการศึกษาระยอง ณ โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง วันที่ 12 กันยายน 2563
ผู้ร่วมงานมีหมดตั้งแต่โรงเรียนในโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้งรุ่น 1 และ 2 คับคั่งกว่า 50 แห่ง และองค์กรภาคี เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระยอง อบจ.ระยอง ศึกษาธิการจังหวัดระยอง Dappa, กลุ่มปตท., กลุ่มครูอย่าง Teach for Thailand, สถาบันอาศรมศิลป์ในฐานะเมนเทอร์ของพื้นที่, มูลนิธิสยามกัมมาจล กองทุนความเสมอภาคทางการศึกษาและอื่นๆ ที่เรียกว่าตบเท้าพร้อมใจกันมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นการศึกษา ที่ต่างเชื่อว่าไม่ใช่แค่หน้าที่โรงเรียนเท่านั้น
จุดแข็งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระยอง ในฐานะพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
สมศักดิ์ พะเนียงทอง กรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กล่าวในงานเพื่อให้เห็นบริบทพื้นที่ระยองว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าจังหวัดระยองมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากแค่ไหน เห็นได้จากรายได้/ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว หรือที่เรียกว่า GDP มากเป็นอันดับหนึ่งในไทยย้อนหลัง 10 ปี โดยในปี 2561 อยู่ที่ตัวเลข 1,067,449 บาท/ปี ซึ่งสูงกว่าอันดับที่ 2 คือ กรุงเทพฯ ซึ่งมีตัวเลข GDP ที่ 604,421 บาท/ปี ราวหนึ่งเท่าตัวเลยทีเดียว (ข้อมูลปี 2561 จากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
หมายความว่าจังหวัดมีความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจ แต่หากซูมลงไปดูประเด็นการศึกษา สมศักดิ์เห็นว่ายังเป็นความท้าทายที่จังหวัดระยองต้องทำงานต่อไป อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนทำงานในพื้นที่ สมศักดิ์เล่าว่าคนระยองไม่ได้นิ่งนอนใจแต่มีแผนเดินหน้าการศึกษาโดยตั้งใจทำเรื่อง ‘การศึกษาทุกช่วงวัย’ โดยตั้ง motto ว่า ‘เท่าเทียม เท่าทัน ทั่วถึง สมดุล’ ไว้ตั้งแต่ปี 61 และประกาศโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เริ่มก่อนที่จะมีการชักชวนจากคณะทำงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อถูกชักชวนเข้าเป็นหนึ่งในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คนระยองจึงขานรับและเดินหน้าเต็มที่
ขณะที่ดร.สัมพันธ์ ศิลปะนาฎ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป Western Digital ในฐานะภาคธุรกิจ ขึ้นเวทีขยายความว่าทำไมคนในภาคธุรกิจต้องเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการทำงาน แน่นอนว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคธุรกิจคือตลาดที่จะรองรับคนทำงาน/แรงงานในอนาคต แต่ในภาคธุรกิจทุกวันนี้ต่างก็ถูก disrupt จากเทคโนโลยี แรงงาน/คนทำงานในอนาคตไม่สามารถใช้ทักษะเดิมได้อีกต่อไป และหรือต่อไปภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้อาจไม่ใช่คำตอบของคนในอีก 10-20 ปีต่อจากนี้ ภาคธุรกิจจะเปลี่ยนรูปทั้งหมดเริ่มตั้งแต่การคัดคนเข้าทำงานเลยทีเดียว
ดร.สัมพันธ์ ย้ำประเด็นว่า ตอนนี้คนทำงานทั่วโลกโดยเฉพาะองค์กรธุรกิจดิจิทัล ต่างต้องการคนที่มีทักษะ hard skill และ soft skill และดูเหมือนว่า soft skill จะมีคะแนนขึ้นนำกว่านิดๆ เพราะเทคโนโลยีอาจเข้ามาทำหน้าที่พวก hard skill ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่และท้าทายต่อคณะครู ภาคี และคนทำงานด้านล่างเวทีว่าจะร่วมมือกันผลักดันให้คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในรั้วโรงเรียนมีทักษะเช่นนี้ได้อย่างไร
Learning Analytic Platform วิเคราะห์การเรียนรู้นักเรียนเป็นรายคน
กิจกรรมในตอนบ่ายคือการแยกคณะครูเข้ากลุ่มย่อยเพื่อพูดคุยประเด็นการศึกษาที่ตอบโจทย์บริบทพื้นที่ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ผู้เขียนเองมีโอกาสเข้ากลุ่มย่อยห้องหนึ่งที่ต้องการพูดถึงปัญหาเหล่านี้และอยากแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยีและ AI
โดยผู้เขียนมีข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจเรื่องบริบทพื้นที่จังหวัดระยอง กล่าวคือ โรงเรียนที่เข้าร่วมกลุ่มย่อยมีทั้งโรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนที่เรียนหลายภาษาทั้งจีน อังกฤษ ไทย หรืออาจเรียกว่าเป็นกลุ่มผู้ปกครองชนชั้นกลางที่มีกำลัง อันเนื่องจากบริบทจังหวัดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ขณะที่บางโรงเรียนเป็นโรงเรียนขนาดเล็กและผู้ปกครองเป็นแรงงานข้ามชาติหรือข้ามจังหวัดมาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างบ้านเมือง ทำให้เห็นว่าบริบทพื้นที่ก็มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่คนทำงานยกให้เป็นวาระสำคัญว่าจะจัดการศึกษาอย่างไรให้ความห่างนี้หดแคบลงได้มากที่สุด
ภาคีที่เข้าร่วมในห้องมีอยู่ 3 ภาคีด้วยกันในห้องนั้นคือ รณรงค์ ขันแข็ง จาก Teach for Thailand, นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และ ดร.อรฉัตร เลียงพิบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล (DEPA) ร่วมให้ความเห็นที่น่าสนใจโดยเฉพาะนพ.ก้องเกียรติ ที่พูดถึงการใช้ AI เข้ามาช่วยดูแบบแผนการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นรายคนว่ามีพฤติกรรมการเรียนอย่างไร หรือที่เรียกว่า Learning Analytic Platform
“รูปแบบการเรียนรู้ของเรามีหลายอย่างมาก ผมคนนึงที่เป็นคนเรียนจากการฟังไม่ได้ ถ้าขึ้นสไลด์ปุ๊บผมหลับทันที ผมจะเป็นคนเรียนได้ดีที่สุดจากการอ่านมากกว่า แปลว่า Learning Style ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
“อีกเรื่องคือ ตอนที่ผมเรียนหมอ ผมเรียนกับนายแพทย์คนนึงซึ่งเก่งมาก ตอนที่แกผ่าตัดให้ดูผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำยังไงผมถึงจะเก่งเท่าคุณหมอคนนี้ได้ ต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะเก่งเท่าคุณหมอท่านนี้ แล้วการถ่ายทอดทักษะนี่มันทำกันยังไงนะ? ซึ่งเอาเข้าจริง การทำงานเรื่องทักษะเป็นเรื่องเสียเวลา และคิดว่าเทคโนโลยีมันเข้ามาช่วยเรื่องนี้ได้”
นพ.ก้องเกียรติแชร์ต่อว่า Learning Analytic Platform นอกจากจะช่วยเก็บข้อมูลการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายคนเพื่อบอกว่าเด็กคนนึงเก่งเรื่องอะไร ยังช่วยวิเคราะห์แผนการสอนของครูได้ด้วย อธิบายวิธีทำงานอย่างรวบรัดว่า เมื่อครูเขียนแผนการสอนเสร็จแล้วนำเข้าเครื่องวิเคราะห์นี้ จะช่วยวิเคราะห์ได้ว่าแผนนี้ครูกำลังจะถ่ายทอดทักษะอะไร โดดเด่นเรื่องอะไร ตรงกับที่ครูต้องการหรือไม่ ก็จะช่วยให้ครูวิเคราะห์แผนการสอนของตัวเองได้ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ นพ.ก้องเกียรติ ออกปากว่ามูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ยินดีเข้าไปร่วมทำงานกับโรงเรียนในพื้นที่ด้วย
คล้ายกันกับ ดร.อรฉัตร จาก DEPA องค์กรที่ทำงานเรื่องการเขียนโค้ด ที่เธออธิบายก่อนว่ามันไม่ใช่แค่การใช้โปรแกรมแต่เป็นการสอนตรรกะวิธีการคิด ซึ่งเครือข่ายก็ได้เข้ามาทำงานเรื่องเทคโนโลยีกับเจ้าบ้านอย่าง โรงเรียนอัสสัมชัญระยองแล้ว และยินดีร่วมเข้าไปทำงานกับโรงเรียนในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป