- เรื่องทั้งหมดมันเริ่มต้นจากการสอบสัมภาษณ์ เธอรู้ทุกแบรนด์ Dior, Vivienne Westwood ถามมาเถอะ ตอบได้ทุกอย่าง ยกเว้นเรื่องของศิลปินแห่งชาติบ้านตัวเองที่ทอผ้าตีนจก
- คำถามฝังใจนั้นจึงพาเธอกลับบ้านที่แพร่หลังเรียนจบ มาทำเสื้อผ้าหม้อห้อม แต่เพราะความชอบไม่ได้หยุดอยู่แค่สีฟ้าคราม วัตถุดิบต่างๆ อย่างครั่ง ดาวเรือง มะเกลือ และใบหูกวาง จึงถูกหยิบมาใช้หมด
- คนใส่ควรรู้จักเสื้อผ้า รู้เรื่องราวว่ามันผ่านกระบวนการอะไรบ้าง เพื่อที่จะรักและรักษา อยากใส่เสื้อตัวนี้ไปนานๆ ไม่ได้ใส่แล้วทิ้ง
ภาพ: จินตพงศ์ สีพาไชย
กมลชนก แสนโสภา หรือ กุ๊กกิ๊ก ในวัย 19 ปี คือนักศึกษาที่มุ่งมั่นจะเรียนแฟชั่นที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ปีหนึ่ง ตอนสอบสัมภาษณ์เธอท่องเรื่องราวในตำนานของแบรนด์ระดับโลกอย่าง Dior, Vivienne Westwood ไปอย่างดี แต่ความมั่นใจนั้นต้องพังครืนลงเมื่ออาจารย์ที่คณะเอ่ยถามว่า
“แล้วศิลปินแห่งชาติที่ทอผ้าตีนจกถวายพระราชินี ที่เป็นคนแพร่บ้านเธอน่ะเธอรู้จักไหม”
กุ๊กกิ๊กเล่าว่าตอนนั้นเธอหน้าเสีย เพราะรู้หมดว่า Dior มีประวัติศาสตร์อย่างไร แต่กลับไม่รู้ว่าที่บ้านตัวเองมีศิลปินแห่งชาติอยู่ กลับไปถามพ่อแม่ที่บ้านเขาก็รู้หมด คำถามของอาจารย์จึงตั้งรกรากอยู่ในใจ ไม่ไปไหน
“คำถามมันกระแทกใจจนจำมาถึงทุกวันนี้ เหมือนว่าเราลืมรากเหง้าที่เราเกิดอยู่ที่นี่ เรามัวแต่ไปท่องอะไรตามในหนังสือ ไม่ดูอะไรรอบตัว ตอนนั้นเรายังไม่มีอะไรที่เราโฟกัสที่เป็นตัวเอง เหมือนแค่คนอยากสอบติด ไม่ได้มีเป้าหมายที่ว่าฉันจะมาเรียนสิ่งนี้เพราะอะไร”
เมื่อได้เข้าเรียนสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ เอกออกแบบสิ่งทอ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างจริงจัง กุ๊กกิ๊กจึงตั้งใจศึกษาเรื่องการทอผ้าด้วยการไปลงพื้นที่เองกับ อาจารย์ประนอม ทาแปง ศิลปินแห่งชาติ สาขาประณีตศิลป์-ศิลปะการทอผ้า (คนที่อาจารย์เอ่ยถึงนั่นแหละ) ที่ศูนย์การเรียนรู้ผ้าจกเมืองลอง บ้านเกิดของเธอ กินนอนกับชาวบ้านราวหนึ่งเดือน ได้วิทยายุทธ์การทอผ้าจกมานิดหน่อย บวกกับประกายที่ยังเปล่งแสงวับๆ แวมๆ เรื่องการย้อมผ้า เพราะเห็นว่าคนที่นั่นย้อมใบมะม่วงกัน
การย้อมผ้าและคำถามของอาจารย์จึงค้างอยู่ในฝันแค่ครู่เดียว
จบปีสี่ปุ๊บ จึงได้เกิดเป็นกมลชนกผู้มีพลังประดิษฐ์เสื้อหม้อห้อมอยู่ในตัว ลองผิดลองถูก เริ่มตั้งแต่เรียนแบบไม่รู้จนเรียนรู้และจะเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ มาจนถึงตอนนี้เธออายุ 26 ปี แบรนด์ กมล อินดิโก้ (Kamon Indigo) แบรนด์เสื้อผ้าและข้าวของสารพัดของกุ๊กกิ๊กดำเนินมาถึงปีที่สาม
วันที่เราเจอแคปชั่นน่ารักในอินสตาแกรมทำนองว่า “ใบห้อม หอมฟุ้ง กมลกลับถึงเมืองแป้แล้วเน้อเจ้า พร้อมรับงานละเน้อ”
วันที่เธอไม่อยากหยุดแค่ทำผ้าย้อมครามหรือลวดลายซ้ำเดิมอีกต่อไป
ค่อยๆ ย้อมตัวเองให้เป็นตัวเอง
ความคิดที่จะทำแบรนด์เริ่มมาตั้งแต่สมัยเรียนเลยไหม
กมลชนก: เราอยากทำตั้งแต่อยู่ปีสองแล้ว แต่ยังไม่ได้ชัดเจน เมื่อก่อนอยากทำงานทอเพราะว่าได้ไปเรียนรู้เรื่องราวการทอผ้าอย่างลึกซึ้งกับครูนอม แล้วเราก็เหมือนหลงมันเพราะมันมากกว่าที่เราเห็นข้างนอก ยิ่งเรียนก็ยิ่งชอบยิ่งอยากรู้ ตอนแรกก็อยากทอผ้านั่นแหละ แต่เพราะการทอผ้าก็ทำให้เรามาเจอการย้อมผ้าด้วย เพราะกว่าจะเป็นผ้าเป็นชิ้นเราก็ต้องย้อมก่อนเอามาทอ ได้ไปช่วยพี่เขาย้อมฝ้าย แล้วเขาเอาใบมะม่วงมาย้อมได้สีเหลืองๆ ออกเขียวๆ นิดๆ เลยรู้สึกว่าจริงๆ เราเอาสีมาจากธรรมชาติได้เนอะ
การไปลงพื้นที่เปลี่ยนความคิดเราไปเลยไหมว่าเราจะกลับมาทำสิ่งนี้
ตอนนั้นก็คิดว่าถ้าจบมาอยากทอผ้า เพราะรู้สึกว่าตรงนั้นไม่มีวัยรุ่นอย่างเราทำเลย มีแต่เด็กน้อยที่พ่อแม่เขามาทอ ซึ่งก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราอย่างหนึ่งว่าเด็กตัวแค่นี้ยังทอได้เลย แต่ช่วงเราเรียนจบเรากลับไปที่เดิมกลายเป็นว่าเด็กเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำแล้วและครอบครัวเขาก็ไม่ได้สนับสนุน ช่วงประมาณปีสอง เทอมสองเราได้โอกาสไปสาธิตเรื่องการทอผ้าที่เมืองทองธานี แล้วไปเจอการย้อมห้อมที่อยู่บูธตรงข้ามกัน เลยได้ไปเจอป้าที่ทำห้อมแล้วป้าบอกว่าเธอรู้ไหมว่าหม้อห้อมมันมาจากต้นนี้ เขาก็บอกว่าถ้าอยากรู้ปิดเทอมให้ไปบ้านป้า เดี๋ยวป้าสอนให้ เราก็เลยไปเรียนรู้ ถึงจะไม่ได้จริงจังขนาดที่ก่อหม้อได้ แต่เราก็มองเห็นช่องทาง ตอนเริ่มขึ้นปีสามก็เริ่มคิดว่าอยากลองทำงาน ลองขายของดู จึงเริ่มเอาหม้อห้อมมาขายที่กรุงเทพฯ
หลังจากเรียนจบจึงตัดสินใจลุยทำแบรนด์เสื้อผ้าหม้อห้อมเลยไหม
ทำเลยเพราะมีผ้ามัดย้อมเหลืออยู่ เลยลองเอามาเย็บขาย ลองให้เพื่อนใส่ก่อน แล้วเพื่อนก็บอกปากต่อปาก เราเลยเริ่มได้ลูกค้าข้างนอกมา เริ่มอยู่ได้แล้ว แต่ก็คิดว่ายังไงก็อยากจะทำเรื่องทอผ้าอยู่ ติดตรงที่ว่ามันใช้ทุนและกำลังเยอะ เราจึงกลับมามองที่หม้อห้อมเหมือนกันว่าสิ่งนี้มันก็อยู่ในคำขวัญบ้านเราด้วย เราอยากกลับมาอยู่บ้าน เพราะสิ่งที่เรานึกถึงมันอยู่ที่บ้าน หรือสิ่งที่อยากทำในอนาคตก็อยู่ที่บ้าน
ดังนั้นกลับมาบ้านแล้วสิ่งที่ทำก็คือ…
ก็ทำห้อมแบบไม่ศึกษา (หัวเราะ) คิดว่ารู้ดีแล้วไง ไม่หาความรู้เพิ่ม แล้วพอมีโอกาสได้ไปออกงานสไตล์ออร์แกนิคซึ่ง เขาขายงานคราฟต์ที่มาจากธรรมชาติจริงๆ เราก็เห็นราคาของเรากับเขามันแตกต่างกันมาก สมมุติของเรา 200-300 บาท ของเขา 500-600 บาท แบบเดียวกันเลย เลยมีสองความคิดว่าทำไมเขาขายแพงจัง เพราะมันเป็นงานธรรมชาติหรืองานมือเหรอ อีกความคิดหนึ่งคือเรากำลังทำอะไรที่เราไม่รู้รึเปล่า ขายอยู่หลายวันเลยได้ลองถามร้านข้างๆ เขาเลยอธิบายให้ฟังว่าสีเทียนมันมีหลายประเภท รู้ไหมว่าทำสีอะไรอยู่ กลายเป็นว่าเราไม่รู้ เราซื้อเป็นแกลลอนมาแล้วเอามาย้อม เพราะคิดว่าตัวเองทำไม่ได้หรอก มันยาก เราเข้าใจว่ามันก็หม้อห้อมเหมือนกัน เขาเลยให้กลับไปดูใหม่ตั้งแต่เริ่มว่ามันปลูกที่ไหน กว่าเขาจะย้อมได้เขาทำยังไงกับมันบ้าง
Kamon Indigo แปลว่า หัวใจสีคราม
จากวันที่เป็นแค่คนที่เอาสีมาย้อมอยู่หลังบ้าน เราเปลี่ยนตัวเองอย่างไรบ้าง
เราเปิดโลกให้กว้างขึ้น ถามทุกที่ที่อยู่ในชุมชนทุ่งโฮ้งนั่นแหละว่าเขาย้อมกันทำยังไง ใช้เวลาเกือบปีถึงได้รู้ว่าการย้อมมันมีหลายแบบ บางคนเขาก็ทำมะเกลืออยู่แล้ว ย้อมสีดอกไม้อย่างอื่นด้วย แต่เราก็ไม่ได้รู้สูตรมากนัก เราไปขอยืมหนังสือที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ มาอ่านบ้างว่ามีพืชอะไรที่ให้สีบ้างแล้วมาทดลองเอง ทำมั่ว (หัวเราะ) สมมุติเขามีน้ำสนิม เราก็ทำตาม มีน้ำด่าง มีเกลือ มีสารส้ม เราก็เอามาลองเทสต์หมดเลยว่าถ้าเอามาจุ่มอันนี้แล้วได้สีอะไร ใส่ตู้เก็บไว้ พอนานแล้วก็มาดูอีกทีว่าสีมันเปลี่ยนไหม ถ้าสีมันซีดเราก็ไม่ทำสีนั้น เช่น เราทำงานเขียนเทียน แล้วเทียนมันอยู่กับสีย้อมร้อนไม่ได้ เราก็ไปคิดสูตรให้มันซับซ้อนกว่าเดิมว่าทำยังไงให้สีที่เย็นแล้วมันติดเส้นใยผ้า เราก็ไปทดลองเอง ใส่อันนี้ แช่อันนี้แล้วเอามาย้อมได้ไหม ลองผิดลองถูกเอาจนกว่ามันจะติดสีแล้วก็ลายชัดเหมือนเดิม
ด้านวัตถุดิบในการย้อมผ้า นอกจากห้อม นานเท่าไหร่เราถึงขยายไปทำสีอื่นๆ
ที่แพร่ไม่ได้มีห้อมเยอะ คนปลูกมีอยู่แค่สองสามที่ ซึ่งมันน้อย อย่างช่วงเดือนเมษายนห้อมจะตายหมดเลย เวลาเราได้มาเราก็จะเอามาเก็บไว้ เมื่อก่อนเวลาไม่มีห้อมเราก็สั่งครามธรรมชาติอีสานมาทำ ซึ่งตอนแรกคิดว่าเราไม่อยากเล่าเรื่องวัตถุดิบอื่นเพราะจะกลายเป็นทำให้ห้อมไม่ชัดเจน แต่พอเราอยู่กับมันเยอะๆ เราก็เริ่มย้อนกลับไปหาตัวเองว่าเมื่อก่อนเราเป็นยังไงนะ เราสนุกกับอะไรบ้าง จริงๆ แล้วตัวเองไม่ได้ชอบสีฟ้าคราม ชอบแต่งตัวสีสัน อยากให้มีทุกสีอยู่ด้วยกัน เพราะมันสดใส โลกมันน่าอยู่ ก็เลยคิดว่าจะทำยังไงดีให้กลับมาเป็นตัวเองแบบสมัยเรียนอีกครั้ง
วัสดุธรรมชาติที่ใช้ตอนนี้มีอะไรบ้าง ใช้เกณฑ์อะไรเลือก
ตอนนี้มีครั่ง ใบหูกวาง ดาวเรือง มะเกลือ แล้วก็มีห้อม เลือกสีมาจากวัตถุดิบที่มีในพื้นที่ของเรา อย่างใบหูกวางกับดาวเรืองมันให้สีเหลืองเหมือนกันแต่คนละเฉด อย่างคำแสดจะได้สีส้ม แต่เท่าที่เราสังเกตมาคือมันออกปีละครั้ง นั่นหมายความว่าเราจะทำสีส้มได้แค่ปีละรอบเท่านั้น เราเลยต้องใช้ทฤษฎีแม่สีที่เราเรียนมาก็คือเอาสีมาผสมกัน หลักๆ ก็คือเราใช้พืชรอบตัวที่มีในฤดูกาลไหนก็ได้ แต่ขอให้มันได้แม่สี แล้วเราค่อยไปแปลงให้มันได้สีเฉดอื่นๆ
ด้วยความที่วัตถุดิบมีจำกัด วิธีทำซับซ้อน จำนวนชิ้นงานก็ไม่ได้มีเยอะใช่ไหม
ใช่ อย่างเราเอาใบไม้มาทำสี เราก็ไม่ได้คิดว่าเราจะต้องไปตัดต้นไม้มา เพราะนั่นก็เหมือนกับว่าเราเอาเรื่องมาเล่าแต่เรากลับไปทำลายเขา สิ่งที่เราทำคือเราอาจจะไปเด็ดเอาใบไม้จากต้นที่เขาตัดมาแล้วเอามาแช่น้ำถนอมมันไว้ ถ้าเรายังไม่ได้ย้อมเราก็สกัดเอาน้ำทิ้งไว้ แล้วก็เอาไปทิ้งเป็นปุ๋ยใต้ต้นไม้ดีกว่าปล่อยให้มันแห้งเหี่ยวไป มันก็ไม่มีคุณค่า คนก็ไม่รู้จักพืชตัวนี้ แล้วถ้าสมมุติในหน้านั้นใบหูกวางร่วงหมดเลย เราอาจจะต้องใช้ใบมะม่วงแทนซึ่งจะได้สีเหลืองคนละเฉด เราก็ต้องสื่อสารกับลูกค้าด้วยว่าตอนนี้มีสีแบบนี้นะ ถ้าเขาอยากได้สีอื่น เขาก็ต้องรอ เรามีเครือข่ายนะ ถ้าเขาสนใจเราก็แนะนำร้านอื่นให้เขา
ทิศทางการดีไซน์เสื้อผ้า วัตถุดิบ การทำแบรนด์ไปสู่การเป็นธรรมชาติเต็มตัว ใช้เวลานานเท่าไหร่
เกือบปีเลยนะ อย่างเราทำห้อมเศรษฐกิจ จู่ๆ เกิดจะมาเปลี่ยนเป็นธรรมชาติเลย ต้นทุนก็เปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยน ถ้าเราเปลี่ยนเลยจะขายของไม่ได้แน่ๆ เพราะว่าสินค้าจะแพงมาก เลยมานั่งคิดว่าคนเข้าใจเราจากการเล่าเรื่อง เลยคิดว่าคงมีคนที่เป็นกลุ่มที่เสพงานแบบนี้อยู่แล้ว มีกำลังซื้อ แล้วเราต้องดูด้วยว่าตลาดงานคราฟต์ธรรมชาติไม่ได้อยู่ง่ายๆ เราต้องรู้ว่าเขาทำอะไรกันมาแล้วบ้าง เราเรียนออกแบบมาเราต้องทำไม่เหมือนเขา แต่ทำยังไงให้มันขายได้ จะเป็นเราหมดก็ไม่ได้ เลยเหมือนแยกตัวเองออกมาว่าชอบอะไร อยากจะเล่าอะไร
เราก็ค่อยๆ ปรับเอาเคมีกับธรรมชาติมาผสมกัน มีการลดต้นทุน พยายามอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ เพราะเราเองก็เคยเล่าในเรื่องที่เราไม่ได้เข้าใจจริงๆ เลยทำให้เราอยากเล่าใหม่ ทีนี้ไม่ได้ขายของอย่างเดียวแล้ว เราเริ่มลงรูปต้นห้อม แล้วเล่าให้เขาฟังไปด้วยว่าเราใช้วัตดุดิบนี้ทำนะ กว่ามันจะได้มันต้องทำยังไง เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเลย
แต่แบรนด์ไหนๆ ก็เล่าเรื่องกันทั้งนั้น เรามีวิธีวางแผนที่จะเล่าเรื่องของเราไหมและเล่าอย่างไร
เราว่าเราเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ทำให้มันสนุก ตลกได้ เรายังอายุไม่มาก เราคิดว่าเราสามารถส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้มากกว่า อย่างเราทำเสื้อกุยเฮง (เสื้อแบบจีน คอกลม แขนสั้น ผ่าอก) ถ้าเป็นเสื้อกุยเฮงแบบปกติคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ใส่หรอกเพราะมันเหมือนชุดใส่ไปทุ่งนา เราก็พยายามจับมันมามิกซ์กับอย่างอื่น อย่างน้อยถ้าเขาไม่ซื้อแต่เขาได้เห็นเสื้อกุยเฮงก็พอแล้ว
หรือเราทำเสื้อสายธรรมชาติอยู่แล้ว เราเห็นแมลงที่มาเกาะเสื้อ เราเลยอยากให้ธรรมชาติมาอยู่ด้วยกัน ก็เลยคิดว่างั้นเอาแมลงมาไว้บนผ้าเลยแล้วกัน สิ่งนี้เลยทำให้แบรนด์ของเราไม่เหมือนคนอื่น นั่นก็คือลายผ้ากับการเล่าเรื่อง เวลาเราถ่ายรูปชุด บางทีเราไม่ได้ต้องการจะขายโดยตรง เราอยากเล่ามากกว่า อยากให้คนอ่านมาเป็นเพื่อนเรา
เสื้อผ้าแต่ละตัวกว่าจะเสร็จใช้เวลานานเท่าไหร่
ถ้ารวมย้อมและปั๊มก็ประมาณ 2-3 วัน แล้วแต่ ยิ่งถ้าเป็นห้อมแล้วหม้อย้อมไม่ดี จุลินทรีย์ไม่แข็งแรงก็จะย้อมไม่ติด เราก็ต้องเลื่อนวันออกไปอีก อย่างลายแมลงที่คิดขึ้นมา เราก็ประดิษฐ์บล็อก ไม่ต้องวาดทุกรอบ ขึ้นแบบก่อนเพื่อให้สามารถนำไปปั๊มได้ แต่เราก็ต้องวาดแมลงตัวอื่นออกมาเพื่อทำให้มันมามิกซ์กันได้ด้วย แต่การทำบล็อกนี่ไม่ได้แปลว่าปั๊มปุ๊บแล้วเสร็จเลยนะ เราต้องมาใส่ลายในตัวแมลงของเราอีก
เอาองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาเก่าๆ มาประยุกต์กับงานเราบ้างไหม
ส่วนใหญ่จะเป็นการย้อมที่เอามาประยุกต์ เช่น ดีไซน์ของชุด เราจะประยุกต์ไม่ให้มันดูโบราณ เมื่อก่อนเขาย้อมฝ้ายที่จะเอามาทอหรือย้อมบนผ้าที่เป็นผืน หรือเอาเทคนิคเขียนเทียนที่โบราณใช้ไม้เขียนเป็นลายเลย เราก็เอามาประยุกต์กับเทคนิคสมัยเรียน คือทำบล็อกขึ้นมาเอง วาดลายแล้วดัดเป็นลายตามที่เราวาด จากนั้นค่อยมาทำลวดลายบนผ้า ผสมผสานกันเพื่อที่จะเล่าเรื่องท้องถิ่นเรานี่แหละ ว่าธรรมชาติรอบตัวเรามีอะไรบ้าง เช่น เราจะทำลายเสือเพื่อเชื่อมโยงกับพระธาตช่อแฮซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีขาล แล้วเริ่มเอามาทำตุ๊กตา ทำลายปักบนผ้า ทำให้มันเป็นเสื้อหม้อห้อมที่ดูเท่ วัยรุ่นก็อยากใส่ ในขณะเดียวกันก็เล่าเรื่องได้ด้วย
แม่สีแบบ ‘กุ๊กกิ๊ก’ ในอนาคต
ทำไมเราถึงอยากเล่าทั้งเรื่องผ้าทอหรือห้อมมากขนาดนี้
เพราะคิดว่าหลายๆ คนที่เป็นคนแพร่เหมือนกัน เขาอาจจะยังไม่รู้จักห้อมดีเหมือนที่เราเพิ่งรู้ว่ามันเป็นพืชตอนเราอยู่ปีสอง แล้วเราทำได้เลยอยากลองทำ ส่วนเรื่องผ้าทอ เรารู้สึกว่าคนทำเรื่องผ้าทอมีแต่คนอายุเยอะ อีกอย่างบนผ้าทอมีเรื่องให้เล่าเยอะมากแต่คนรุ่นใหม่ส่วนมากมองผ้าทอเชย มองว่าเป็นของคู่กับคนรุ่นแม่ รุ่นยายที่ใส่ไปวัด แต่พอเราได้รู้จักเลยเข้าใจแล้วว่าทำไมเขาถึงใส่ซิ่นเข้าวัด เพราะบนซิ่นน่ะมันเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนา เมื่อก่อนเขาทอเพื่อที่จะใส่ไปวัดเอง เลยยิ่งมีตัวเดียวในโลกที่เป็นของคนคนนั้น
อย่างสมัยนี้จะมีแบรนด์ใช่ไหม คนโบราณเขาก็มี เขาเรียกว่า ‘หมาย’ ที่เขาจะทำเป็นลายของเขาเองใส่ไว้ตรงขอบซิ่น ถ้าซิ่นนี้ไปอยู่กับใครก็ตามถ้าเขาเห็นลายนี้ เขาก็จะรู้ว่าซิ่นนี้มาจากเขา เราเลยคิดว่ามันเจ๋งมาก
จำเป็นไหมที่เราจะต้องรู้ที่มาของเสื้อผ้าที่เราใส่
เราคิดว่ามันจำเป็นนะ เพราะเราคิดว่ามันมีคุณค่า เวลาเราจะขายของ เราจะเล่าเรื่องราวของชิ้นงานก่อนว่ามันผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง มันมาจากไหน คนที่อยากได้เขาก็ต้องรักษามัน อย่างการซักผ้าของเรามันซักแบบปกติไม่ได้นะ ต้องรักมันตั้งแต่การใส่มันอย่างทะนุถนอมแล้วก็ทำความสะอาดมันอย่างดี เลยคิดว่าคนที่อยากได้จะต้องรักและดูแลมัน เหมือนรักธรรมชาติและรักเสื้อผ้าของเขาไปด้วย เลยอยากใส่เสื้อตัวนี้ไปนานๆ ไม่ได้ใส่แล้วทิ้ง
จนมาถึงตอนนี้รู้สึกว่าอาชีพมั่นคงไหม
เราคิดว่ามันมั่นคงเพราะมนุษย์ก็อยู่กับธรรมชาตินั่นแหละ แต่เราจะอยู่ได้เพราะเราทำงานแบบไม่หยุดอยู่กับที่ พยายามหาสิ่งใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ไม่ใช่เข้าใจแต่ตัวเองแต่ต้องเข้าใจผู้บริโภคหรือคนที่เราจะสื่อสารกับเขาด้วย อีกอย่างหนึ่งคือเสื้อผ้ามันอยู่ในปัจจัยสี่ แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าเราจะทำแค่เสื้อผ้า อนาคตถ้าเราเรียนรู้เรื่องอาหารมากกว่านี้ เราก็อาจจะไปทำอาหารหรือยา ถ้าเรายังอยู่แบบนี้เราก็คิดว่าเราน่าจะอยู่ไม่ได้เหมือนกัน การที่เราพยายามทำสิ่งใหม่ทำให้เราไม่ต้องแข่งกับใคร แค่แข่งกับตัวเอง
เทรนด์กลับเข้าหาธรรมชาติก็มี แต่โลกก็พัฒนาไปรวดเร็ว จัดสมดุลตรงนี้อย่างไร
เทรนด์เรื่องธรรมชาติก็เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม แต่ก็มีอีกมุมหนึ่งที่เราเป็นเหมือนๆ เขา เราเลยคิดว่าเราเข้าใจความก้าวหน้าของโลกเหมือนกัน ซึ่งก็ต้องเอามันเข้ามาปรับกับแบรนด์ด้วยเพราะว่าเราอาจจะอยู่บ้านนอก อยู่กับธรรมชาติ แต่บางอย่างเราก็วัตถุนิยมเหมือนกัน สำหรับเราการพัฒนาบางอย่างถ้ามีก็ดีกว่าไม่มี ในอนาคต สิ่งที่เรากำลังจะทำเพิ่มคือเราอยากจะเชื่อมโยงแบรนด์ให้เข้ากับธรรมชาติ เราคิดว่าปัญหาตอนนี้คือบ้านเราขยะเยอะ มันไม่สามารถย่อยสลายในเวลารวดเร็วได้ เลยคิดว่าเราสามารถเอาขยะมาทำอะไรได้บ้าง เช่น อาจจะเอาพลาสติกมาทอเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้อยู่กับร่างกาย ก็อาจจะลดขยะได้
ความตั้งใจในการสืบสานวัฒนธรรมหรือการเล่าเรื่องผลงานในพื้นที่มีพลังมากขึ้นไหม
เราว่ามันมีตรงที่ว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาสนใจได้ เรามีเวิร์คช็อป คนที่สนใจก็ได้มาทำความรู้จัก มันกำลังมีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีคนเข้ามาเรื่อยๆ เรากลับมาทำงานที่บ้านเพราะอยากมาอยู่กับครอบครัว แล้วก็มองว่านี่คือสิ่งเล็กๆ ที่เราทำให้ตัวเอง ครอบครัว และบ้านเกิดของเรา ตอนนี้ก็ชวนหลานเรามาช่วยทำงานด้วยเพราะมองว่าเราอยากให้คนที่อยู่รอบตัวเรามีชีวิตที่ดี มีชุมชนที่ดี และมีบ้านที่ดี ทำกับวงเล็กๆ ให้ดีก่อน แล้วค่อยๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งของเราเหมือนกัน