- นวัตกรรมของนวัตกรคนอื่นๆ อาจเกิดจากการขบคิดหวังแก้ปัญหาให้สังคม แต่ Inshelter เกิดมาจากความขี้เกียจล้วนๆ
- เพราะไอเดียเกิดจากแม่สั่งให้ไปตากผ้าแต่ตัวเองติดพันเล่นเกมอยู่ จึงอยากได้ตัวช่วยเก็บผ้าให้โดยไม่ต้องออกไปทำเอง
- เรื่องเล่าของพวกเขาอาจบอกให้รู้ว่า อย่าดูถูกไอเดียที่ดูกิ๊กก๊อก และอย่าเพิ่งรีบร้อน บั่นทอนตัวเองด้วยการพูดว่า ‘เป็นไปไม่ได้’
เรื่อง: มณฑลี เนื้อทอง
ภาพ: โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่
คุณเคยมีปัญหาตากผ้าแล้วลืมเก็บจนฝนตกผ้าเปียกไหม?
เพราะฟ้าฝนเมืองไทยมักไม่ค่อยเป็นใจสำหรับการตากผ้า จากแดดจ้าๆ เผลอแวบเดียวฝนก็ตก จนคนตากต้องวิ่งตาตั้งตามเก็บ ถ้ากำลังทำติดพันทำอย่างอื่นอยู่ ก็ไม่แคล้วได้ผ้าเปียกอับชื้นมาให้ซักใหม่
เพราะปัญหาแดดฝนไม่เป็นใจนี่เอง ทำให้ Inshelter ราวตากผ้าอัจฉริยะ เกิดขึ้น ให้เราสามารถตากผ้าได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องพะวงคอยเก็บผ้า เพราะเมื่อฝนมา ราวอัจฉริยะจะเก็บผ้าแทนเราเอง
ขอชวนไปรู้จักกับราวตากผ้าอัจฉริยะนี้ พร้อมๆ กับทำความรู้จักนวัตกร 6 หนุ่มแดนใต้ พัชรพล จริงจิตร (ฟอร์ด) ชญานนท์ แซ่ลี้ (เนย) ธนาพล เพชรชนัฐ (โอห์ม) ธราเทพ แซ่ลิ่ม (เกมส์) เดชธนา ปัตตะพัฒน์ (เจ) รัฐกรณ์ พัฒโน (ปลั๊ก) ที่สารภาพอย่างตรงไปตรงมาว่า พวกเขาไม่ต่างอะไรกับคนที่หลงเขาวงกต
ราวตากผ้าอัจฉริยะเกี่ยวอะไรกับเขาวงกต? พวกเขาพร้อมจะเล่าให้ฟังแล้ว…
นวัตกรรมเกิดได้จากความขี้เกียจ
นวัตกรรมของนวัตกรคนอื่นๆ อาจเกิดจากการขบคิดหวังแก้ปัญหาให้สังคม แต่สำหรับปลั๊ก Inshelter เกิดมาจากความขี้เกียจล้วนๆ
“ตอนนั้น ผม เนย ปลั๊ก กำลังคิดโปรเจ็คต์ ม.6 ว่าจะทำอะไรดี คิดกันไว้หลายอย่างแต่ไม่เวิร์ค จนเหลืออีกแค่สองวันต้องส่งหัวข้อ ปลั๊กก็บอกว่าเราทำราวตากผ้าอัจฉริยะกันไหม เพราะเขาเคยเล่นเกมอยู่ แล้วแม่ใช้ให้ไปเก็บผ้า แต่มันเป็นเกมที่หยุดไม่ได้ (หัวเราะ) ก็ต้องเล่นต่อไป” ฟอร์ดเล่าถึงแนวคิดผลงานด้วยรอยยิ้ม
ถึงจะตั้งต้นมาจากความขี้เกียจ แต่กลับเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มเป้าหมายคุณแม่บ้านที่มีปัญหากับการตากและเก็บผ้า กระนั้น ปลั๊ก-ฟอร์ด-เนย ก็ยอมรับตามตรงว่า ตอนนั้นพวกเขาไม่รู้เลยว่าจะต้องเริ่มต้นจากอะไร
“ได้โจทย์แต่เราไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ลองไปถามอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ก็แนะนำให้ไปดูราวตากผ้าว่ามันเป็นอย่างไร แล้วเราจะทำอย่างไร หาผ้ามาปิดไหม แล้ววิธีการปิดผ้าใช้ลักษณะไหนดี เราไปนั่งคิดกันประมาณ 1-2 เดือนกว่าจะออกมาเป็นรุ่นแรก ซึ่งยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่” ฟอร์ดเล่าถึงผลงานรุ่นแรกที่พัฒนาส่งประกวด NSC ก่อนจะต่อยอดมาถึงโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่
Inshelter รุ่นแรกนั้นมีลักษณะเป็นราวรูปตัวยูคว่ำสูง 60 เซนติเมตร มีราวสำหรับแขวนผ้าแกนเดียว มีรอกร้อยผ้าสำหรับเลื่อนปิดเวลาฝนตก ที่ควบคุมด้วยโปรแกรมสั่งงาน ซึ่งเมื่อทีมมองย้อนกลับไปพวกเขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ดูไม่ได้!”
และกรรมการเองก็เห็นด้วย ต่างแต่เพียงกรรมการมองเห็นถึงไอเดียที่น่าสนใจ และความเป็นไปได้ที่น่าจะพัฒนาออกมาให้ดีมากขึ้น Inshelter จึงผ่านค่ายต่อกล้าฯ ค่ายแรกมาได้ชนิดที่ทีมเองก็ไม่คาดคิด
“ตอนที่รู้ว่าผ่านค่ายแรกก็ดีใจ แต่ก็งงๆ ว่าเขาประกาศผิดหรือเปล่า (หัวเราะ) ผ่านมาแบบงงๆ” ฟอร์ดเล่าอย่างอารมณ์ดี พร้อมบอกว่าเป็นช่วงเวลาไม่นานที่พวกเขาได้ดีใจ เพราะหลังจากนั้นคือการเรียนรู้แบบหฤโหด
“กีฬาหรือดนตรีเราอาจเล่นคนเดียวได้ แข่งกับคนอื่น แต่งานนวัตกรต้องทำร่วมกับคนอื่น มันไม่ได้แข่งกับใคร แต่แข่งกับตัวเอง” เกมส์เล่าให้ฟัง
วิถีการเรียนรู้ระหว่างทาง
ทั้งหกหนุ่มยอมรับตรงไปตรงมาว่า พวกเขาไม่ใช่คนเก่ง แต่พวกเขามีความชอบและความอยากทำ เห็นได้จากอดีตของแต่ละคนที่ล้วนผ่านงานประกวดมาอย่างโชกโชน ทว่างานแต่ละชิ้นที่ผ่านมามักเกิดมาจากแรงบันดาลใจหรือไอเดียฉับพลัน ที่ยังขาดองค์ความรู้รองรับ
Inshelter เองก็เป็นเช่นนั้น…
“ตอนนั้นเราไม่มีความรู้อะไรเลย แค่รู้สึกว่าอยากทำ” ฟอร์ดเล่าย้อนไปถึงตอนที่ทีมได้หัวข้อโปรเจ็คต์ ซึ่งเปรียบได้กับคนที่ยืนอยู่หน้าทางเข้าเขาวงกต และมองเห็นแสงสว่างอยู่ที่ปลายทาง พวกเขารู้ว่าต้องไปให้ถึงปลายทางนั้น แต่ต้องไปทางไหน จะผ่าเขาวงกตเบื้องหน้าไปได้อย่างไร พวกเขาไม่รู้!
ไม่ผิดถ้าจะบอกว่า พวกเขาเริ่มต้นจากศูนย์…
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่พวกเขาจะเริ่มต้นจากศูนย์แล้วจะหยุดอยู่แค่ศูนย์ตลอดไป
หากคนอื่นต้องเรียนให้รู้ก่อนลงมือทำแล้วล่ะก็ พวกเขากลับใช้รูปแบบของการลงมือทำก่อน แล้วค่อยเรียนรู้ระหว่างทาง ทั้งการเรียนรู้จากผู้รู้และการแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง
และมากกว่าการต้องเรียนรู้ก็คือ การได้รู้ว่าความรู้เพียงด้านเดียว ไม่อาจการันตีว่าจะสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้
“ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่าง แต่เวลาเริ่มทำอะไรสักอย่าง เราต้องไปศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนั้น มันทำให้เรารู้หลายๆ อย่าง และที่สำคัญคือ เราทำคนเดียวไม่ได้ แม้แต่คนที่มีความรู้คล้ายกันมาทำด้วยกันก็ไม่ได้ เพราะต้องมีหลายอย่างมารวมกัน กีฬาหรือดนตรีเราอาจเล่นคนเดียวได้ แข่งกับคนอื่น แต่งานนวัตกรต้องทำร่วมกับคนอื่น มันไม่ได้แข่งกับใคร แต่แข่งกับตัวเอง” เกมส์ ผู้เข้าร่วมกลุ่มในภายหลังกล่าว
Inshelter ก่อร่างสร้างตัวจากแนวทางนี้ หลังจากพลาดหวังการเข้าโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่มาตั้งแต่ ม.4 ถึง ม.5 ในที่สุด ม.6 ปลั๊ก-ฟอร์ด-เนย ก็สามารถผลักดัน Inshelter จนผ่านการคัดเลือกค่ายแรกมาได้ พร้อมๆ กับคำวิจารณ์ให้ปรับแก้ผลงานแบบแทบยกเครื่องใหม่หมด พวกเขาก็ไม่รีรอที่จะชวน เกมส์-โอห์ม-เจ มาช่วยกัน โดยฟอร์ดรับหน้าที่เขียนโปรแกรม เกมส์ที่มีทักษะทางช่างยนต์จากที่บ้าน มาช่วยออกแบบฮาร์ดแวร์ร่วมกับเนยและปลั๊ก โอห์มที่มีทักษะทางไฟฟ้าจากทางบ้าน มาช่วยทำวงจรไฟฟ้า เจที่สนใจเรื่องวงจรอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่เด็ก มาช่วยพัฒนาซอฟต์แวร์
“เมื่อก่อนเราทำงานขึ้นมาสักชิ้น เราไม่เคยรู้สึกว่าต้องไปถามผู้ใช้ เราต้องคิดถึงผู้ใช้ด้วยหรือ เราทำเพราะเราอยากทำ แต่งานนี้ทำให้ได้เรียนรู้ว่าผู้ใช้สำคัญมาก” เนยกล่าว
ไอเดียดี ไม่สำคัญเท่าคนใช้ได้
จากการขับเคลื่อนผลงานผ่านแรงบันดาลใจฉับพลัน ใช้วิธีศึกษาเรียนรู้ระหว่างทางไปพร้อมๆ กับการลองผิดลองถูกพัฒนาผลงาน แสวงหาความรู้ด้วยตัวเองผ่านอินเทอร์เน็ต การสอบถามผู้รู้อย่างรุ่นพี่ มาจนถึงการเข้าโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 6 ถือเป็นหมุดหมายที่ช่วยตะล่อมให้พวกเขารู้หลักในการทำงานให้ง่ายและชัดเจนขึ้น
“ค่ายแรกสอนเรื่องปัญหาผู้ใช้ที่ใช้ของของเรา เราจะเจาะจงว่าปัญหาของผู้ใช้คนนี้เราจะแก้อย่างไร เขาเป็นผู้ใช้ประเภทไหน ทำอะไรได้บ้าง สอนวิธีการคิดเกี่ยวกับการนำเสนอ การเขียนแผนผังความคิด การแจกแจงงานของแต่ละทีมเป็นอย่างไร” ฟอร์ดเล่าถึงประสบการณ์ค่ายที่ได้รับ ที่ทำให้ทีมมีหลักในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาผลงานบนฐานของผู้ใช้จริง
“รุ่นแรกต้องแก้หลายจุดมาก หนึ่ง ด้านโครงสร้าง สอง ด้านโค้ดดิ้ง สาม ด้านวงจรไฟฟ้า” ฟอร์ดอธิบาย
ก่อนที่เนยจะขยายความต่อว่า “อย่างแรกเลยคือ ราวเตี้ยไป ความสูง 60 เซนติเมตรกรรมการบอกว่าไม่ใช่ขนาดมาตรฐานของราวตากผ้าจริงๆ ราวจริงต้องสูง 1.20-1.40 เมตร เราจึงปรับปรุงความสูงและความกว้างก่อน เปลี่ยนมาใช้โครงที่ทำจากพีวีซีและอลูมิเนียม และเปลี่ยนอีกครั้งมาใช้โครงสำเร็จรูปเพื่อให้ได้มาตรฐานตามท้องตลาดที่สุด แล้วเราก็มาดูวงจรไฟฟ้า กลไกแบบเก่าเป็นรอกวิ่งไปวิ่งมาซึ่งช้า กว่าผ้าคลุมจะเลื่อนปิดได้หมดใช้เวลาเป็นนาที ผ้าข้างในเปียกฝนหมดก่อนพอดี เราจึงคิดเปลี่ยนเป็นแบบม้วน ม้วนเพลาครั้งเดียวแต่ผ้าออกสองทาง”
“แบบเดิมวงจรไฟฟ้าไม่เสถียร” โอห์มรับไม้อธิบายต่อ “วิธีการต่อยุ่งยากและไม่ปลอดภัย ขนาดของกล่องก็ใหญ่และหนักมากเพราะมีแบตเตอรี กรรมการบอกว่าให้ลดขนาดกล่องลง เอาแบตเตอรีและหม้อแปลงออก แล้วเปลี่ยนมาใช้อะแดปเตอร์แทน ทำให้วงจรเสถียรกว่าเดิม และลดขนาดลงได้เยอะ”
“เราเปลี่ยนวัสดุผ้าคลุมด้วย จากพลาสติกใสที่อายุการใช้งานต่ำ มาเป็นโพลีเอสเตอร์ขาว สวยกว่าและอายุการใช้งาน 2-3 ปี ซึ่งเราเองก็ไม่รู้เรื่องผ้ากันมาก่อนเลย เริ่มจากไปหาดูในกูเกิล หาตามร้านกันสาด ให้เขาแนะนำ” เนยเล่าถึงกระบวนการเรียนรู้ของทีมที่ค้นพบหลักสำคัญของการสร้างนวัตกรรม ว่าต้องตอบสนองผู้ใช้
อึดถึกทน…ประสาคนต่อกล้าฯ
“หลังกลับจากค่ายที่สอง มหาวิทยาลัยเปิดเรียนและทำกิจกรรมกันไปเยอะแล้ว ซึ่งเราขาดไป พอเรากลับไปเลยเจอตารางกิจกรรมแน่นมาก จนลืมงานทางนี้ไปเลย มารู้ตัวอีกทีตอนพี่ๆ โค้ชจะลงมาติดตามงานอยู่แล้ว (หัวเราะ) ทำงานไม่ทัน แล้วยังมีเรื่องสอบที่ต้องอ่านหนังสือจนไม่มีเวลาทำงานอีก หลังจากรอบสองที่ทีมโค้ชลงมามีคอมเมนต์เยอะมาก แก้ทุกอย่างตั้งแต่เรื่องวงจร โครงสร้าง กลไก ซอฟต์แวร์ เป็นช่วงที่แก้เยอะที่สุด และก่อนนำเสนอรอบสุดท้ายเราก็ติดสอบไฟนอลกันอีก ตอนนั้นเรารู้คะแนนมิดเทอมแล้วว่ามันแย่มาก สอบไฟนอลเราจึงต้องตั้งใจสุดๆ” เนยเล่าช่วงมรสุมของชีวิต
ด้วยตารางเรียนตารางสอบที่รัดตัว ทำให้ทีมตัดสินใจพักงานเพื่ออ่านหนังสือสอบอย่างมุ่งมั่น และใช้ช่วงเวลาที่ไม่ว่างนั้น จ้างช่างเชื่อมทำโครงสร้างรุ่นที่ 3 ไปพลางๆ ก่อนที่ทีมจะกลับมารวมตัวลุยงานกันอีกครั้งหลังสอบเสร็จ ซึ่งทีมบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นช่วงเวลาที่พิสูจน์ความเป็นเพื่อนได้ดีที่สุด ทั้งในมิติของการทำงานเป็นทีม และการทุ่มใจร่วมกันสู้
“ตอนทำกลไก เกลียวหมุน เราพยายามมองให้รอบด้านแล้วแต่ก็ยังเห็นแค่คำว่า เกลียวหมุน พอกลไกที่สองเป็น รอก ก็มองเห็นแค่ว่าแบบรอกมันน่าจะดีที่สุดแล้ว มองไม่เห็นอย่างอื่น สุดท้ายปลั๊กเสนอว่าทำกลไกให้ผ้าม้วนลงมาจากด้านบน มันเป็นจุดที่ตกผลึก ที่สะท้อนให้เห็นว่าบางครั้งความคิดของเราคนเดียวมันไปไม่รอด มันจะดีกว่าถ้าเราช่วยกันเป็นทีม” เกมส์เล่าถึงการเรียนรู้ของตัวเอง
“ผมสุขภาพไม่ดี แต่พอเห็นว่าเพื่อนต้องการความช่วยเหลือ ช่วงฟอร์ดไม่อยู่ ไม่มีคนเขียนโค้ด ผมก็ต้องฮึดขึ้นมา” เจเล่าด้วยรอยยิ้ม
“การทำงานนี้ทำให้เราวางใจเพื่อนมากขึ้น เพราะเห็นว่าเพื่อนช่วยเราได้ ไม่ใช่ว่าเราจะทำทุกอย่างได้เองทั้งหมด” ฟอร์ดทิ้งประเด็น
“ณ วันนี้ก็ถือว่ามาไกลมาก แต่คิดว่ายังดีกว่านี้ได้อีก”
จากศูนย์…มุ่งสู่เส้นชัย
จากไอเดียฉับพลันที่ปราศจากแนวทางการพัฒนาผลงาน ทั้ง 6 หนุ่มผ่านกระบวนการเรียนรู้ระหว่างทางมาจนถึงวันนี้ ที่ผลงาน Inshelter ใกล้เป็นความจริง แม้ทีมจะต้องเสียต้นคิดอย่างปลั๊กไป หลังจากที่เจ้าตัวค้นพบเส้นทางใหม่ของชีวิตในการสอบเข้าคณะสัตวแพทยศาสตร์ แน่นอนว่าสมาชิกที่เหลือล้วนเสียดาย แต่พวกเขาก็พร้อมที่จะสู้ต่อเพื่อให้ผลงานชิ้นแรกของทีมเดินทางไปสู่การเป็นต้นแบบที่สมบูรณ์พร้อมใช้งานที่สุดให้ได้
“ถามว่าเหนื่อยไหม ยังไงก็ต้องเหนื่อยอยู่แล้ว (หัวเราะ) แต่ก็ได้ประสบการณ์ใหม่ สนุกดี” เกมส์กล่าวถึงเส้นทางที่ทีมผ่านมา และที่ต้องฝ่าฟันต่อไปในอนาคต ด้วยแววตาภาคภูมิใจ
ก็จะไม่ให้ภูมิใจได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาเกิดจากศูนย์ การที่สามารถเดินทางมาถึง ณ จุดนี้ได้ ไม่ว่าใครก็ต้องภูมิใจในตัวเอง
“คิดถึงตอนค่ายแรกที่ให้กรรมการโค้ชชิ่ง ผม เนย ปลั๊ก ถามกรรมการว่า ‘จะให้เปลี่ยนเป็นอะไรดี กรรมการบอกว่า พวกพี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน น้องลองไปคิดสิ’ (หัวเราะ) ก็กลับมาคิดกันอยู่หลายรอบมาก เหมือนไม่ซับซ้อนนะราวตากผ้า แต่มันเยอะไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ได้ ตอนนั้นเราไม่รู้อะไรเลย รู้แค่ว่าต้องเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนเป็นอะไร” ฟอร์ดเล่าย้อนความหลังอย่างร่าเริง
“จนเราคิดกันได้และไปนำเสนอ โค้ชก็นึกภาพไม่ออกว่า ที่จะให้ผ้าหมุนออกมามันหมุนอย่างไร แต่ในหัวปลั๊กกับผมตอนนั้นคิดออกมาแล้วว่ามันต้องได้ จนทำออกมาเป็นโครง เห็นแล้วก็ ‘เฮ้ย! โอ้โห! มันได้เว้ย!’ (หัวเราะ) คือในหัวผมไม่ได้คิดว่ามันจะสวยขนาดนั้น แต่มันสวย ดีกว่าที่เราคิดเอาไว้อีก มาจนถึง ณ วันนี้ก็ถือว่ามาไกลมาก แต่คิดว่ายังดีกว่านี้ได้อีก” เกมส์ยิ้มท้ายประโยค
“เราจะทำต่อให้เสร็จแน่นอน ถ้าขายได้ก็จะดีมาก แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่ต้องทำ อย่างน้อยได้เอาไว้ใช้งานที่หอก็ยังดี” ฟอร์ดให้คำสัญญาอย่างมุ่งมั่น
แม้วันนี้การเดินทางของ Inshelter จะยังไปไม่ถึงเส้นชัย แต่ก็นับได้ว่าผลงานชิ้นนี้มาไกลจากจุดเริ่มต้น ที่เป็นเพียงไอเดียแสนบรรเจิดอยู่หลายช่วงตัว
และเช่นเดียวกัน แม้วันนี้หกหนุ่มแดนใต้อาจจะยังไม่หลุดออกจากเขาวงกตเสียทีเดียว แต่พวกเขาก็ใช้การเรียนรู้คลำทางมาจนเข้าใกล้แสงสว่างที่ปลายทางมากแล้ว อีกไม่นานสิ่งที่พวกเขามาดหมายก็จะกลายเป็นจริง
พวกเขาคงไม่มีวันนี้ ถ้าวันนั้นในอดีตพวกเขาไม่กล้าที่จะเดินออกจากเลขศูนย์ แล้วตรงเข้าหาเขาวงกต