- ‘พื้นที่ชุมชนคลองแม่ข่า’ อีกหนึ่งพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่มีปัญหาเชิงภูมิทัศน์เมืองและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนมายาวนานเกือบ 20 ปี แปรสภาพเป็นแหล่งรับน้ำเสียชั้นดีของเชียงใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
- Imagine Maekha โปรเจ็คต์ใหญ่ที่รวบรวมหน่วยงานจากรัฐ เอกชน และภาคประชาชน รวบรวมข้อมูล แรงงาน และสร้างสรรค์ เพื่อคน น้ำในคลองแม่ข่า และ ในใจของคนใน-นอกชุมชนให้ใสขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
- รับหน้าที่สถาปนิกชุมชนและ ‘กระบวนกร’ โดย ฮอมสุข สตูดิโอ ไม่ได้ใช้แค่ความรู้เชิงสถาปัตย์ แต่จับองค์ความรู้ของหลายองค์กรแล้วออกแบบกระบวนการเพื่อให้แต่ละหน่วยงานใช้สิ่งที่ตัวเองมี แก้ปัญหาคลองแม่ข่าร่วมกัน
เราเกือบจะคุ้นชินเสียแล้วกับปัญหาคลองน้ำเน่าเสีย สภาพแวดล้อมโดยรอบ และผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ได้มาตรฐานทั้งๆ ที่บริบทแวดล้อมของชุมชนนั้นมีศักยภาพที่จะพัฒนาทั้งในเชิงกายภาพ, เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม หรือเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สามารถเป็นต้นแบบให้กับหลายๆ พื้นที่ได้
หลายชุมชนมีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าไปช่วยวิเคราะห์และลงมือแก้ปมที่ยุ่งเหยิง แต่ผ่านไปหลายสิบปี สภาพน้ำในคลองหรือสภาพจิตใจของคนที่อยู่อาศัยภายในก็ยังไม่ใสขึ้น
ยากที่จะแจกแจงอย่างชัดเจนว่าสาเหตุที่ปัญหาเหล่านี้ยังเรื้อรังคืออะไร หรือสาวไปถึงต้นตอว่าใครเป็นคนทำให้คลองมีทัศนียภาพเสื่อมโทรม ที่อยู่อาศัยของชาวบ้านถูกทิ้งร้าง หรือความสวยงามทั้งทางกายภาพและภายในได้ถูกลบเลือนไปจากสายตาของคนที่อยู่อาศัยในเมืองนั้น
คำถามสำคัญคือใครบ้างที่ยังนั่งทำงานและลงพื้นที่อย่างแข็งขันเพื่อดำเนินการแก้ไขด้วยวิธีการของตัวเองไม่ว่าคลื่นความซับซ้อนของปัญหาจะถาโถมมากกว่าในอดีต หรือภาครัฐจะเข้ามาช่วยมากน้อยแค่ไหนก็ตาม
‘พื้นที่ชุมชนคลองแม่ข่า’ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีปัญหาเชิงภูมิทัศน์เมืองและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนมายาวนานเกือบ 20 ปี แปรสภาพเป็นแหล่งรับน้ำเสียชั้นดีของเชียงใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เชิงทดลองที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาจัดการปัญหาแต่ไม่ได้เกิดการเชื่อมโยงที่เหนียวแน่นมากพอ จึงไม่เกิดการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงรูปธรรม
โครงการ Imagine Maekha จึงเป็นอีกหนึ่งโปรเจ็คต์ใหญ่ที่เกิดขึ้นมาเพื่อรวบรวมหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนเพื่อรวบรวมข้อมูลและแรงงาน สร้างสรรค์เพื่อ ‘คน’ น้ำในคลองแม่ข่า และ ในใจของคนใน-นอกชุมชนให้ใสขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และการจะดำเนินการแบบนั้นได้คือการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและมั่นคง
ฮอมสุข สตูดิโอ คือสตูดิโอสถาปนิกที่เป็นหนึ่งในแขนขาของโครงการนี้ ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ประกอบไปด้วยสมาชิก 5 คน คือ โอบ-โอบเอื้อ กันธิยะ, กิต-กฤษฎิ์ธาดา อินทยศ, รติ จิรานุกรม, บุ๊ค-คัมภีร์ คงเกิด และ ตูมตาม-ทศวีร์ โพคา เป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่โอบรับแรงบันดาลใจในการพัฒนาชุมชนด้วยการใช้องค์ความรู้เชิงสถาปัตย์สมัยเรียนมาปรับใช้
จนถึงเวลานี้ แม้พวกเขาจะเป็นน้องใหม่ที่เข้ามาช่วยจัดการปัญหาเมืองที่ตัวเองอยู่ให้สวยงามมากขึ้นด้วยแรงใจและแรงงานของตัวเอง เริ่มจากการปฏิเสธคำที่คนทั่วไปเรียกๆ กันว่า ‘โครงการปฏิวัติแม่ข่า’ ที่พวกเขาคิดว่าแม่ข่าไม่ใช่ปัญหา นี่มันไม่ใช่การปฏิวัติ แต่เป็นการมาร่วมจินตนาการคลองแม่ข่าในอนาคตไปด้วยกันต่างหาก
แม่ข่าในจินตนาไกล
ทางสตูดิโอรับงานโครงการปฏิวัติแม่ข่ามาได้อย่างไร
โอบ: จริงๆ ไม่อยากใช้คำว่าปฏิวัติ เราอยากใช้ตามชื่อโครงการ คือ Imagine Maekha เพราะมันไม่ใช่การปฏิวัติ imagine คือการชวนกันมามองภาพอนาคตแม่ข่าไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นใครก็มองแม่ข่าในมุมมองของเขา และสร้างอนาคตร่วมกันได้
ฐานจริงๆ ของโครงการเริ่มจากโครงการพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นโครงการหลักของเขาที่จะพัฒนาคลองแม่ข่า ซึ่งจะดูเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นหลัก จากนั้นจึงมี พี่ตี๋-ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร แห่งใจบ้านสตูดิโอ ซึ่งเขาทำงานเรื่องแม่ข่ากับ พอช. อยู่แล้ว ชักชวนพวกเรามาทำด้วยเมื่อกลางปีที่แล้ว เป็นโอกาสและจังหวะดีที่มีการร่วมมือจากหลายองค์กร พวกเราก็เลยรวมกลุ่มกันทั้งชาวสถาบันวิจัยสังคม, พอช., ใจบ้าน สตูดิโอ, พวกเราฮอมสุข และทางจังหวัดร่วมกันตั้งเป็นแคมเปญใหญ่ชื่อ Imagine Maekha ที่ชวนทุกคนมาจินตนาการไปด้วยกัน
ในฐานะสถาปนิก เข้าไปช่วยด้านอะไรบ้าง
โอบ: พอลงชุมชนแล้วจะเห็นปัญหาเยอะกว่าปัญหาทางด้านสถาปัตย์ หรือปัญหาที่ใหญ่มากกว่าที่ศาสตร์การออกแบบเพียงอย่างเดียวจะช่วยเหลือหรือทำให้มันดีขึ้นได้ ซึ่งเราก็มีทีมอีกหลายๆ ทีม ประเด็นมันซ้อนทับกันอยู่ สิ่งที่เราทำหลักๆ ก็คือเราพยายามสร้าง scenario หรือที่เขาเรียกกันว่าจินตภาพของแม่ข่า เพื่อให้ทุกคนได้มองเห็นตรงนั้น เติมไอเดียเข้าไปด้วยกัน เหมือนเราเป็นคนช่วยจูงความคิด เป็นคนนำร่วมกันกับคนอื่นมากกว่า
แต่ถ้าในแง่ของสถาปนิกที่เราทำอยู่ก็คือการออกแบบเบื้องต้น ซึ่งคือการสะสมไอเดียจากหลายภาคส่วนทั้งภาคสังคม สิ่งแวดล้อม โบราณสถาน ตัวชุมชนด้วย จากนั้นจึงนำมาสร้างเป็นจินตภาพร่วมกัน เราสนใจที่จะทำงานด้านสังคมอยู่แล้ว เราเรียนสถาปัตย์ฯ มา บางทีการเรียนการสอนเรื่องการออกแบบอาคารมันดูเป็นเรื่องส่วนตัวเกินไป ก็เลยถามตัวเองว่าแล้วบทบาทสถาปนิกจะอยู่ในสังคมแบบไหนได้อีก
อยากให้ช่วยเปรียบเทียบว่าสภาพแม่ข่าในตอนแรกเป็นอย่างไร แล้วมันสามารถพัฒนาให้ไปได้ไกลมากแค่ไหน
โอบ: ตามสภาพตอนนี้คือเป็นคลองที่น้ำเน่าเสีย แต่มันจะเน่าเสียในช่วงเขตเมืองจนปล่อยลงแม่น้ำปิง ริมคลองแม่ข่าก็จะเป็นที่อยู่อาศัยเหมือนกับเป็นที่ดินที่ชิดริมคลองเลย ดังนั้นก็จะไม่มีพื้นที่อื่นๆ ให้เราได้เห็น ส่งผลให้ไม่มีการดูแลคลอง แต่สิ่งที่เราอยากให้มันเป็นคือเราจะมองทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม อยากให้แม่ข่าเป็นสะพานนิเวศน์ สะพานเศรษฐกิจ เป็นที่อยู่อาศัยของคน เป็นพื้นที่สาธารณะ ถ้าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้น ระบบการจัดการน้ำดีขึ้น คลองก็จะใสเพิ่มมากขึ้น
เท่ากับว่า หนึ่งในหัวใจหลักคือทำให้คลองน้ำใสก่อน?
กิต: ถ้าในเป้าที่ทีมวางไว้กับเรื่องแม่ข่าคือไม่ใช่การตามปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ทำให้น้ำใสก่อนแล้วค่อยทำอย่างอื่น แต่เรายิงเป้าหมายไปไกลกว่านั้น
ถ้าแม่ข่าถูกปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น ปรับสภาพแวดล้อม เปิดพื้นที่คลองให้เชื่อมเมืองมากขึ้น ปัญหาที่อยู่ตามรายทางมันจะถูกแก้ไปโดยอัตโนมัติ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเรามุ่งไปทำภาพอนาคตเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่สนใจปัจจุบัน
โอบ: ด้านน้ำ ตอนนี้ก็มีการพัฒนา มีการพยายามขุดลอก พยายามผันน้ำเข้ามาเรื่อยๆ แต่เราก็ไปทุ่มกับการทำให้น้ำใสอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมถ้าเราไม่ดูเรื่องอื่นควบคู่ไปด้วย
เราไม่ได้มองแม่ข่าเป็นปัญหา แต่มองเป็นโอกาสในการพัฒนา เราจึงพยายามเข้าไปหาคนที่มีความรู้ในด้านสิ่งแวดล้อม, เศรษฐกิจ หรือชุมชน เช่น ด้านโบราณสถานเรามีกรมศิลปากร ด้านสังคมมีสถาบันวิจัยสังคมของ มช. ด้านชุมชนเราก็เข้าไปตั้งกองทุนในชุมชน แล้วเอาข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลดูโอกาสที่มันจะเกิดขึ้น
ถ้าในด้านสถาปัตย์คือเราจะเติมข้อมูลเหล่านั้นลงไปในผังเพื่อให้เห็นภาพว่าพื้นที่ตรงนั้นตรงนี้ จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง
บุ๊ค: ในอนาคตเมืองเชียงใหม่จะเปลี่ยนไปเพราะคลองแม่ข่าเปลี่ยนไป เรื่องทางสัญจร วันหนึ่งตลอดเส้นทางของแม่ข่าจะกลับมาใส จะมีพื้นที่ชายน้ำที่อุดมสมบูรณ์ คนเชียงใหม่จะได้มองเห็นว่าคลองแม่ข่ากลายเป็นสวนสาธารณะหลักของเมือง เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่คนก็อยากมาอยู่เพราะว่ามันมีการลงทุนเกิดขึ้น
แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีการสัญจรอย่างเป็นจริงเป็นจัง?
โอบ: ยังครับ ตอนนี้เราแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ก้อนใหญ่ๆ หนึ่งคือภาครัฐ เจ้าของที่ดิน เจ้าของอำนาจ สองคือประชาชนคนที่อยู่อาศัยในคลอง กับสามคือภาคประชาสังคมและคนทั่วไป เพราะฉะนั้นก็จะมีการทำงานที่แตกต่างกันออกไปในรูปแบบที่ต้องก้าวออกไปพร้อมๆ กัน
จากการที่พยายามก้าวไปพร้อมๆ กัน การพัฒนาในเชิงรูปธรรมเริ่มมีมาให้เห็นบ้างหรือยัง
กิต: ที่เห็นได้ชัดคือเป็นกองทุนแม่ข่าที่คนในชุมชนและเครือข่ายต่างๆ จัดตั้งขึ้นมา แต่สิ่งที่เริ่มเห็นเป็นกายภาพชัดๆ คือ กิจกรรมล่องคลอง เช่น วันเด็กก็ชวนเด็กมาลงคลองเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าจริงๆ แล้วแม่ข่าที่คนเชียงใหม่หรือคนต่างจังหวัดมองแม่ข่าว่าเป็นคลอง เป็นชุมชนแออัดหรือเป็นสลัม จริงๆ แล้วมีมิติอื่นๆ มากกว่านั้น
โอบ: ซึ่งตอนนี้กำลังจะมี workshop และเลือกพื้นที่ Pilot Project ในการพัฒนา
กิต: แต่จากเกณฑ์มาตรฐานนะครับ พื้นที่ที่เราวางไว้ต้องเป็นพื้นที่ที่มีความร่วมมือจากชุมชน เห็นคลองธรรมชาติ และบางครั้งเราต้องสร้าง quick wind คือโซนพื้นที่ Pilot สร้างจินตภาพ ให้เห็นผลเชิงประจักษ์จริงๆ ว่าแม่ข่าสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร และในเชิงกายภาพตอนนี้กำลังมีตรงชุมชนกำแพงงามที่จะดีไซน์ landscape ทางเดินริมคลองกับศาลาริมน้ำเป็นท่าเรือสำหรับเวลามีเรือมาล่องแล้วก็จอดพัก ตัวศาลาก็มีการทำงานบูรณาการกับภาคการศึกษาด้วย คือ คณะสถาปัตย์ มช. ที่จะพาเด็กๆ มาร่วมกระบวนการชุมชน ทำงานออกแบบ และไปสร้างจริงที่พื้นที่ชุมชนตรงนั้นเลย
ออกแบบพื้นที่จากบริบทไม่ใช่ Google Earth
คนในชุมชนตอบรับกับอาคารหรือว่าสิ่งที่เราอยากเข้าไปพัฒนาอย่างไรบ้าง
กิต: จริงๆ หลายภาคส่วนแก้ปัญหาคลองแม่ข่ากันมานานเป็น 20-30 ปีแล้วครับ ซึ่งก็มีหลายโครงการพัฒนาเข้ามาในชุมชน จากที่มีปัญหาการจัดการแบบต่างคนต่างทำ ไม่มีการร้อยเรียงโครงการ หรือว่าทำงานต่อ ก็เลยอาจจะทำให้ชาวบ้านหรือความร่วมมือจากคนในชุมชนค่อนข้างแผ่วลง เหมือนเขาหมดพลังเพราะว่ามันก็ยังไม่ดีขึ้นสักที จริงๆ เราก็มีชาวบ้านที่เป็นแกนนำชุมชนหรือแม้แต่อาสาสมัครที่เป็นเด็กที่เขาให้ความร่วมมือในการทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ เป็นอย่างดี
ลึกๆ แล้วชาวบ้านรู้สึกหรือเปล่าว่าเขาเองก็อยู่แบบนี้ของเขาได้ ไม่ต้องมีใครมาพัฒนาพื้นที่ เป้าหมายของเราและเป้าหมายของชาวบ้านตรงกันหรือไม่
โอบ: โดยธรรมชาติของชาวบ้าน เขาก็จะคิดว่าอยู่กันแค่นี้แหละ เขาก็ไม่ได้มีแรงมีพลัง หรือทรัพยากรอะไรที่จะมาร่วมพัฒนา แต่ถ้าเกิดเราลงไปแล้วบอกเขาว่า มันพัฒนาแบบนี้ได้ อะไรๆ จะดีขึ้น แรกๆ เขาก็จะมีท่าทีหรือบอกปัดว่าไม่เป็นไร อยู่แบบนี้ได้ แต่พอเราใส่พลังของเราเข้าไปเขาก็เริ่มเห็นภาพ เราถึงต้องการ Pilot Project ที่ทำให้… ไม่ใช่แค่ชาวบ้าน แต่คนเชียงใหม่ทั้งหมดได้เห็นว่าการพัฒนามันเกิดได้จริง แล้วหลังจากนั้นผมก็เชื่อว่ามันจะมีพลังอีกมากมายที่จะมาช่วยให้เกิดความสำเร็จ
มองการบาลานซ์พื้นที่เศรษฐกิจเชิงท่องเที่ยวและพื้นที่ส่วนตัวของชาวบ้านอย่างไร ในฐานะนักออกแบบเราส่งเสริมและช่วยประเด็นนี้ด้วยไหม
กิต: เรามีหลักการมองชุมชนด้านกายภาพ เช่นว่า นี่คือพื้นที่ส่วนตัว นี่คือ semi public เช่น ชานหน้าบ้านที่เชื่อมกับถนนสาธารณะข้างๆ หรือนี่เรียกว่าพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเราก็ใช้ความรู้ตรงนั้นมาวางผังจัดโซนใหม่โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขหลายๆ อย่าง เช่น ริมคลองจริงๆ มันควรจะเซ็ตถอยออกมา 1-10 เมตร หรือ 2-3 เมตร แล้วแต่ตามสภาพพื้นที่ แถมเราได้ใช้ความรู้ของเราในการดูบริบทของแต่ละพื้นที่ว่าแต่เดิมชาวบ้านเขาอยู่กันยังไง แล้วคนที่อยู่ตรงนั้นเป็นคนมาจากไหน เขาอยู่มาตั้งแต่การก่อตั้งชุมชนเลยหรือเปล่า หรือเขาเป็นแค่แรงงานมาเช่าพักอยู่ในพื้นที่
สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามองเห็นว่าบริบทของกายภาพที่เราจะเปลี่ยน เราจัดรูปแบบของอาคารได้ การวางโซน land use ต่างๆ ในพื้นที่ชุมชนไปในรูปแบบไหนได้บ้างที่มันจะสอดคล้องกับบริบทของเขา เขาก็ยังอยู่อาศัยในพื้นที่ของเขาได้ แต่ก็มีเส้นของพื้นที่สาธารณะเสียบเข้ามาในพื้นที่ด้วย
ข้อดีข้อเสียของการพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสานระหว่างพื้นที่สาธารณะ และ แหล่งที่อยู่อาศัยคืออะไร
กิต: ข้อเสียคือมันมีความซับซ้อนในการจัดการและพัฒนาเพราะมีเงื่อนไขเยอะมากๆ ถ้าเราไม่คิดให้ดีหรือว่าเราใจร้อน มันจะทำให้ทิศทางการพัฒนาเป๋ไปเลย
โอบ: แต่ในทางกลับกันข้อดีก็คือ ถ้าเราจัดการมันได้ มันจะเกิดมันพื้นที่ที่มีมิติทั้งชีวิต ทางความสัมพันธ์ สิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดีมาก
บุ๊ค: ถ้าเราออกแบบตามผู้ใช้จริง เราจะมองศักยภาพของคนที่อยู่กับมัน ถ้าคนที่สร้างหรือคนที่ดูแลได้มาใช้เอง ยังไงมันก็เกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ใช่ทำรูปปั้น ออกแบบวางต้นไม้ตามธรรมเนียมนิยมแบบไม่ได้ฟังเสียงคนใช้งาน แต่โปรเจ็คต์นี้เราฟังทุกฝ่ายมากๆ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากเรา top-down ลงไปแต่เป็น bottom-up
กิต: ครับ เราเลือกมองจากบริบท ไม่ใช่ Google Earth
พื้นที่สาธารณะเสื่อมโทรม หน้าที่ของใคร
คิดว่าคลองที่เป็นพื้นที่สาธารณะควรให้รัฐจัดการหรือเปล่า ทำไมประชาชนถึงต้องเข้าไปช่วยพัฒนามากขนาดนี้
โอบ: เราไม่ควรผลักภาระให้รัฐทำอยู่ฝ่ายเดียวเพราะเขามีพลังไม่มากพอจะทำทุกพื้นที่ให้มันดีได้หรอก เราเองซึ่งเป็นผู้ที่อยู่อาศัยและอยู่กินที่นี่ ถ้าเรามองย้อนกลับไป ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหนของเชียงใหม่ เรามีบทบาทที่ทำให้คลองแม่ข่าเป็นแบบนั้น (เน่าเสีย) อยู่
เพราะฉะนั้นมันก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องลุกมาทำอะไรเพื่อสังคมสักอย่าง ในฐานะที่เรามีอะไรที่ต่างจากรัฐ มีพลังเชื่อมโยง มีวิธีคิดและระบบการจัดการที่หลากหลายและอยู่นอกเหนืออำนาจรัฐ เราก็ทำเท่าที่เราทำได้ แต่ถ้าสองอย่างนี้ไปด้วยกันได้ก็จะทำให้เมืองเราดี
บุ๊ค: ผมว่าการเปลี่ยนแปลงเมืองจะเริ่มจากหน่วยย่อยเล็กๆ เริ่มจากบ้านของใครของมัน จากบ้านก็มาเป็นชุมชน มันก็ใหญ่ขึ้นมาเรื่อย กลายเป็นเมือง จังหวัด
มีปัญหาอุปสรรคอะไรจากการทำงานกับภาครัฐ หรือส่วนที่ช่วยส่งเสริมกันอย่างไรบ้าง
โอบ: ต้องพูดว่าภาครัฐเองเขาก็มีกฎระเบียบและวิธีคิดของเขา ซึ่งบางทีมันไม่ได้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ แล้วมันกลายเป็นว่าเราใช้ความคิดชุดเดียวกันแก้ปัญหาทุกอย่างไม่ได้
ปัญหาที่เรามักเจอกับภาครัฐคือโครงสร้างภาครัฐไม่เอื้อ เขามีข้อมูลและทรัพยากรที่จะแก้ปัญหา แต่บางทีนโยบายที่ออกแบบมาไม่ตรงจุด ข้อดีของเราคือ เรามีอิสระในการทำงาน เราจับข้อดีข้อเสียของแต่ละฝ่าย เช่น รัฐมีข้อดีตรงมีอำนาจ มีงบประมาณและมีทรัพยากร ใช้ความรู้ความคิดของเราไปจับตรงนั้นของเขาให้มาช่วยส่วนของเราได้ไหม มีเหตุการณ์ไหนที่จะช่วยแก้ปัญหาในแบบของเราได้
แล้วถ้ามีสิ่งที่เราต้องทำแน่นอน แต่ในกฎเกณฑ์หรือการขออนุญาตภาครัฐ ทำไม่ได้ล่ะ?
โอบ: มีบ้างครับ เช่น เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพราะส่วนใหญ่กรรมสิทธิ์ที่ดินของแม่ข่าจะเป็นของกรมธนารักษ์หรือเทศบาล พอเราขอข้อมูล เขาก็จะตอบสนองทำนองว่าอยากได้ตรงไหนก็บอก ซึ่งเขาไม่ยอมให้ทั้งหมด ต้องแจ้งด้วยว่าจะเอาไปทำอะไรเพื่ออะไร แต่บางทีเราเองก็ยังไม่รู้ว่าเราจะต้องเอาไปทำอะไร แต่เราต้องมีข้อมูลไว้ก่อน
กิต: เพราะเราเองก็ต้องการข้อมูลชัดเจนว่าพื้นที่ตรงนี้ของใคร กรรมสิทธิ์ของเขตฯ เท่าไหร่ เพื่อที่เราจะได้นำมาวิเคราะห์จัดการและสร้างจินตภาพหรือวางผัง แต่บางครั้งการที่เราไปขอข้อมูลหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ กลายเป็นว่าเขาบอกกลับไปมาว่าให้ไปขอที่นั่นแทน โยนกันไปโยนกันมา เราก็ยังไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจน
แล้วแก้ปัญหาอย่างไร
กิต: พอถึงจุดนี้มันจะมีการทำงานที่แยกเป็น 2 ฝ่าย ถ้าเรามัวแต่ไปรอข้อมูลที่ต้องชัดเจนจริงๆ ก็ไม่ได้ทำงานแน่ๆ ดังนั้นเราก็ทำอีกเส้นหนึ่งรอไปก่อนเลยจากการสำรวจ ในเชิงความรู้ของทางสถาปัตย์คือการเก็บข้อมูล ติดอาคารขอบเขตชุมชนเองเลย เราก็ทำเช่นนั้นรอไปก่อนเลย
ความท้าทายในเชิงสถาปัตย์ที่จะต้องออกแบบอาคารในชุมชนลักษณะนี้คืออะไร
กิต: เนื่องด้วยพื้นที่มีโจทย์ที่หลากหลายทับซ้อนกันอยู่ มีเลเยอร์ของโบราณสถาน ท่าน้ำ ท่าเรือ เขตแนวคลองและกฎหมายต่างๆ หรือแม้แต่ชุมชนคนที่อยู่อาศัย กลุ่มคนเมือง กลุ่มคนชาติพันธ์ุ กลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ
ความท้าทายในการออกแบบทางสถาปัตย์คือ สมมุติเราออกแบบอาคาร 1 หลัง วางลงไปในพื้นที่นั้น อาคารและสภาพแวดล้อมตรงนั้นมันได้ตอบโจทย์กับทุกบริบทของพื้นที่ที่เราเห็นหรือเปล่า? ไม่ใช่ว่าการออกแบบบ้าน 1 หลัง วางลงไป ตึ๊ง… แล้วยังไงต่อ? ความท้าทายในการงานแม่ข่าจริงๆ คือ มันจะโยงไปถึงมิติต่างๆ ที่มากกว่าแค่ด้านกายภาพเยอะมาก
บุ๊ค: ผมมองเป็นเรื่องความยั่งยืน เวลาเราสร้างสิ่งที่เราออกแบบ มันก็จะส่งผลกระทบต่อบริบท ต่อสังคม ต่อชุมชนซึ่งเราต้องคิดไปถึงอนาคต อดีตแล้วก็ปัจจุบันด้วย เพราะว่าคลองแม่ข่าเป็นเหมือนกับเส้นเลือดของเมืองเชียงใหม่
เท่าที่ฟังๆ ดู เหมือนไม่ได้ทำงานแค่เฉพาะสถาปนิกเท่าไหร่?
โอบ: แต่สิ่งที่เราเรียนรู้จากงานมันจะพัฒนาชุดความคิดของการออกแบบด้านของสถาปนิกของเราไปได้ไกลอีกเยอะ
ทำงานชุมชน เหมือนเจอผู้หญิงในฝัน
จากวันแรกที่เข้ามาทำโครงการนี้จนถึงวันนี้กราฟความรู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง
โอบ: สำหรับผมมันก็จะปะทุขึ้นเรื่อยๆ นะครับ อาจจะเป็นเพราะว่าเราสนุกกับมัน สนุกที่เห็นปัญหาแล้วรู้สึกว่ากำลังจะแก้มันได้ ยิ่งมีปัญหาแล้วเรายิ่งแก้มันได้ก็เท่ากับว่าเป็นการพิสูจน์ว่าเรามีสิ่งที่เราเชื่อ เราฝัน เราทำได้นะ วันนี้ก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อีกอย่างคือเราทำงานกับคนกลุ่มใหญ่ เราเลยไม่รู้สึกว่าเราทำงานอยู่คนเดียว พอเห็นคนมีพลังแล้วก็ยิ่งมีพลังเพิ่มมากขึ้น
กิต: ผมก็จะมีขึ้นๆ ลงๆ อยู่บ้าง ด้วยความที่เราทำงานคนหมู่มาก บางครั้งแกนหรือทิศทางมันเขว แต่ทุกครั้งที่มันเริ่มเขว เราก็จะรู้สึกว่าเออเราไม่ได้เขวคนเดียวนี่หว่า สิ่งที่มันดีกว่าคือทุกคนรู้ว่าตัวเองกำลังเขวอยู่นะ แล้วทุกคนกลับมารวมโต๊ะด้วยกัน คุยกันว่าใครทำอะไรอยู่ ซึ่งการกลับมารวมกลุ่มคุยกันมันทำให้เกิดแรงผลักดันที่จะสร้างเป้าหมายใหม่ๆ ในการทำงานขึ้นมา
รติ: รู้สึกดีใจครับ เพราะโอกาสที่จะได้ทำงานแบบนี้มันน้อยมาก แล้วเรารุ่นใหม่ด้วย มีไฟที่จะทำงานตรงนี้จึงรู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ดีและดีใจที่ได้ทำครับ ความรู้สึกเหมือนเจอผู้หญิงในฝันเลย
บุ๊ค: ผมมองเป็นความโชคดีนะครับที่ได้พัฒนาเมืองเชียงใหม่ คิดว่าคนเชียงใหม่เองก็อยากจะเข้ามาร่วมด้วย พวกเราก็ขออุปมาตัวเองเป็นตัวแทนที่มีโอกาสได้ทำงานนี้ เราอาจจะเด็กๆ ถ้าเทียบกับคนอื่นๆ ในทีม ซึ่งเราก็ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุดเพราะสุดท้ายก็ต้องมีคนที่กล้ามาทำงานตรงนี้ต่อไป
คิดว่าโปรเจ็คต์ใหญ่ที่เราทำอยู่จะเปลี่ยนแปลงสังคม หรือว่าเป็นถนนสู่การเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่
ทุกคน: เต็มๆ เลยครับ
โอบ: มองว่า Imagine Maekha ที่เราทำมันเป็นรูปแบบที่เกิดได้ยากมากๆ ที่ภาคประชาสังคม ประชาชนและภาครัฐจะเข้ามาทำงานร่วมกันแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับเมืองขึ้นได้
ผมมองว่ามันเป็นรูปแบบใหม่ของสังคมที่เมื่อก่อนเราก็รอการพัฒนาจากภาครัฐหรือภาคธุรกิจ ซึ่งสองภาคนี้ก็ไม่ได้มีเป้าหมายร่วมกัน แต่นี่เป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่ดีไซน์ออกมาให้ทุกคนมีบทบาทที่จะพัฒนาเมืองไปด้วยกัน โดยที่เราเป็นคนจัดระบบ เป็นเพียงแค่กระบวนกรที่พยายามเอารูปแบบกระบวนการให้ทุกหน่วยงานและองค์กรได้ใช้สิ่งที่เขามีเพื่อแม่ข่าให้ได้มากที่สุด
คิดว่าโปรเจ็คต์นี้จะทำพัฒนาให้เราเป็นนักออกแบบลักษณะไหนในอนาคต
โอบ: จริงๆ ผมไม่อยากตอบว่าเป็นแบบไหน แต่อยากให้ความรู้และประสบการณ์ที่เราประสบพบเจอมันหล่อหลอมเราไปเอง
กิต : เรายังไม่อยากเห็นว่าเราจะไปเป็นนักออกแบบเชิงอนุรักษ์ หรือสถาปนิกชุมชนจริงๆ แต่เราอยากให้ประสบการณ์หรือความรู้ที่ผ่านงาน Imagine Maekha มันค่อยๆ เซ็ตอัพตัวตนของสตูดิโอเราขึ้นมา เพราะว่าอีก 1 ปัจจัยหลักคือเราเพิ่งจบใหม่ ภาษาบ้านๆ คือเรายังละอ่อน เราอยากเรียนรู้ให้มันกว้างกว่านี้ก่อน
ถามจริงๆ คิดว่าเราจะทำมันสำเร็จไหม
รติ: ถ้าไม่คิดว่าสำเร็จก็คงไม่นั่งทำอยู่ตรงนี้ครับ
คำว่าสำเร็จคืออะไร
บุ๊ค: สำเร็จไปทีละเล็กทีละน้อย เช่นตอนนี้เราสามารถล่องเรือเที่ยวแม่ข่าได้เราก็คิดว่าเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว เห็นทุกหน่วยงานมาคุยกันรู้เรื่องมากขึ้นก็ถือเป็นความสำเร็จ เห็นคนที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ เขากล้าพูดและกล้าออกความคิดเห็น เขากล้าพูดว่าอยากได้อะไรแล้วเราเอามาทำงานของเราต่อได้ ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จ
โอบ: ถ้าถามผมว่า 100 เปอร์เซ็นต์ของความสำเร็จคืออะไร ก็คือการได้เห็นแม่ข่าเป็นสิ่งที่เราฝันไว้เป็นสะพานนิเวศน์ สะพานเศรษฐกิจ ไม่ว่าหน้าตามันจะออกมาเป็นยังไง แต่ถ้ามันเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ได้ ผมว่าคือความสำเร็จแล้ว
บุ๊ค: แค่เห็นปลาตัวเดียวว่ายอยู่ในคลองแม่ข่า เราก็ดีใจมากแล้วครับ