- ‘โก้-ประสิทธิ์ เกียรติวัชรวิทย์ หรือ ‘เฮียโก้’ ชื่อในวงการพากย์เกม eSports ที่หลายคนรู้จัก บอกว่ากว่าจะได้มายืนจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย การเป็นนักพากย์ไม่ใช่แค่การพูดเก่ง แต่ยังต้องเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของ eSports ให้ได้อย่างถ่องแท้
- นักพากย์เกม คือ อาชีพที่รวมศาสตร์ทักษะทั้งการสื่อสารและความแม่นยำในเนื้อหาเกมผสมผสานเข้าด้วยกัน โดยที่นักพากย์แต่ละคนจะมีเทคนิคการพากย์ประจำตัวสื่อสารออกมาให้ครบรส ต้องสนุก ควบคู่สาระ และทำให้คนดูรู้สึกมีส่วนร่วมกับการแข่งขันให้ได้
- นอกจากความบันเทิง eSports ยังเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ เช่น ทักษะการวางแผน การคิดวิเคราะห์ และการรู้จักแพ้
ในโลกที่เทคโนโลยีวิ่งเข้าหาแบบไม่ต้องร้องขอ ไม่ว่าคนหนุ่มสาว วัยรุ่น หรือแม้แต่เด็กเล็ก ก็สามารถเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างง่ายดาย สิ่งที่ตามมาและถูกพูดถึงบ่อยครั้ง นั่นคือพฤติกรรม ‘ติดเกม’ โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นหรือเด็ก ที่สังคมมักมองว่านี่คือปัญหา เป็นเรื่องใหญ่ที่ควรเร่งแก้ไข
ไม่ต่างกับ ‘โก้-ประสิทธิ์ เกียรติวัชรวิทย์’ พิธีกรดำเนินการแข่งขันเกม eSports หรือ นักพากย์เกม วัย 30 ปี มีดีกรีจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากประเทศอังกฤษ ตั้งแต่เด็กๆ โก้เป็นเด็กเนิร์ดที่ทำอะไรจริงจัง จนใช้ความชอบพาตัวเองมาสุดทาง โก้เล่าว่าเขาคือ ‘เด็กติดเกม’ ชอบเล่นเกมมาตั้งเเต่จำความได้ มักจะชวนเพื่อนๆ ในหมู่บ้านมารวมตัวกันเล่นเกม play station แต่เล่นในลักษณะเอาสนุกและเน้นสร้างความสัมพันธ์มากกว่าแข่งขันกัน
เป็นเด็กติดเกม แล้วพ่อแม่ว่าอย่างไร
ครอบครัวก็ไม่ค่อยแฮปปี้ ในยุคนั้นเกมเดียวที่พ่อผมรู้จักคือเตรติส (Tetris) เขาเลยไม่เข้าใจว่าทำไมเราไม่เอาเวลาไปทำอย่างอื่นเลย ทำไมไม่อ่านหนังสือหรือเรียนพิเศษ ซึ่งตอนนั้นผมก็คิดนะ ว่าการให้เด็กนั่งอ่านหนังสือเฉยๆ ทั้งวี่ทั้งวัน มันน่าเบื่อ และตอนนั้นผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงไม่แฮปปี้กับการที่ผมนั่งเล่นเกม ก็มันสนุกอะ
แสดงว่ามีวิธีสร้างความเข้าใจกับพ่อแม่?
ตอนนั้น ผมไม่ได้ดีลอะไรมากมาย พ่อแม่แค่ห้ามบ้างเวลาเราเล่นเยอะๆ แต่ไม่ได้ขนาดต่อต้าน อาจจะเป็นเพราะว่าตอนที่ผมเล่นเกม ผมไม่ได้ทำอะไรเสียหาย ผมรับผิดชอบชีวิตได้ สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้
ความรับผิดชอบ คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ครอบครัวไม่ต่อต้านการเล่นเกม
ใช่ มันเป็นเรื่องของความรับผิดชอบล้วนๆ ติดเพื่อน ติดยา ติดเกม ติดอะไรก็ตาม ทั้งหมดมันคือเรื่องของการบริหารเวลา
ถ้าเราใช้เวลาไปกับกิจกรรมใดเยอะเกินพอดี มันก็ย่อมส่งผลเเย่อยู่แล้ว ไม่ได้ผิดที่ตัวกิจกรรม มันผิดที่เวลาที่เสียกับมันมากกว่า แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่หลายๆ คน ไม่เข้าใจ เพราะเขาไม่ได้โตมากับกิจกรรมนั้น โลกของเขาอาจมีแค่การเรียนหนังสือ
จากเด็กติดเกมในวันนั้น เข้าสู่วงการ eSports ได้อย่างไร
2 ปีที่แล้ว ผมเริ่มจากการเล่นเกมมาเรื่อยๆ จนมีโอกาสได้ลงแข่งในฐานะนักกีฬา eSports จากนั้นก็ขยับมาเป็นโค้ช เป็นคอมเมนเตเตอร์ จนได้มาทำ MC หรือคนพากย์เกม
ซึ่งแต่ละตำแหน่งมันต่างกันเยอะมาก หน้าที่ของคนแข่งหรือนักกีฬา คือการทำให้ดีที่สุด แข่งให้ชนะ ต้องเล่นให้ดี ต้องซ้อมอย่างหนัก กดดันมาก บวกกับผมเป็นคนค่อนข้าง emotional จึงไม่อยากรับความกดดันตรงนั้น ผมอยากให้เกมเป็นสิ่งสนุกอยู่ จึงเริ่มถอยออกมาจากเก้าอี้ผู้เล่นมากขึ้น
เมื่อขยับมาเป็นโค้ช หน้าที่หลักคือการขยายมุมมองแก่นักแข่ง ผมโชคดีที่เคยเป็นทั้งนักแข่งเกมมาก่อน ดังนั้นสายตาของเราก็จะมองได้สองทาง ซึ่งก็เป็นมุมมองที่ค่อนข้างจะเฉพาะตัว เพราะมีประสบการณ์ผ่านการเเข่งขันมาก่อน การเป็นโค้ชต้องมีเรื่องของการเจาะรายละเอียดที่มากขึ้น เก็บข้อมูลให้กับผู้เล่นเพื่อเอาข้อมูลที่ดีไปประกอบการตัดสินใจ แต่โค้ชไม่ใช่คนสั่ง เป็นคนช่วยขยายมุมมองให้เเก่ผู้เล่นมากกว่า บางครั้งนักแข่งรับผิดชอบในตำแหน่งของตัวเองได้ดี แต่อาจจะไม่แม่นยำในภาพรวม โค้ชจึงต้องให้มุมมองที่ใหญ่ขึ้น สร้างความชัดเจนว่าผู้เล่นแต่ละคนกำลังทำอะไรอยู่ ทำเพื่ออะไร และจะทำอะไรต่อไป
แสดงว่าสำหรับคุณโก้ การเป็น MC พากย์เกม คือจุดสูงสุด
คำว่าสูงสุดที่ว่ามันคืออะไร? ผมเล่นเกมเพื่อเล่นกับคน ได้เจอเพื่อน ได้เจอสังคม ผมว่ามันเป็นการขยับตำแหน่งมากกว่า เเค่เปลี่ยนมุมมองเท่านั้นเอง
การเป็นนักพากย์เกม ไม่ใช่แค่มานั่งพูดๆๆๆ ผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยม แต่นักพากย์ต้องเป็นพิธีกรที่ขึงขังไปด้วย อธิบายกติกาการแข่งขัน ระบบการให้คะแนนให้กระชับชัดเจน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องมีก็คือ skill set สองอย่าง นั่นคือ การสื่อสาร (communication) และ ความเชี่ยวชาญและแม่นยำในตัวเกม (game knowledge)
การใช้ Skill Set ในอาชีพนักพากย์ต้องทำอย่างไรบ้าง
เเน่นอนว่าหน้าที่ของเราก็ผสมความเป็นพิธีกรลงไป ก่อนการแข่งจะเกิดขึ้นก็ต้องเตรียมข้อมูลเบื้องหลังของเกมแต่ละแมทช์ นั่งคิดเเล้วว่าโปรเเกรมการแข่งเป็นอย่างไร รายการนี้การเเข่งขันมีทีมอะไรบ้าง แล้วแต่ละทีมมีผลงานหรือเคยแข่งอะไรมา จัดเตรียมเนื้อเรื่องระหว่างสองทีม มีเรื่องราวเชิงลึกแค่ไหนมาเล่าให้คนดูฟังบ้างเพื่อให้เกิดสีสัน ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่คนดูชอบเพราะเขาจะได้รู้ข้อมูลนอกจากหน้าจอตรงหน้า
และที่สำคัญเราจะดึงเรื่องไหนขึ้นมาพูด และจะพูดอย่างไร ต้องใช้น้ำเสียงแบบไหน คุมเสียงอย่างไร ใช้ภาษาแบบไหน ให้ทุกคนรู้สึกอินไปกับเรา
เพราะว่าสุดท้ายเเล้วหลักของการเป็นนักพากย์ คือ การมีเกมเป็นตัว input และนักพากย์มีหน้าที่ส่ง output ออกไป มันไม่เหมือนสมัยก่อนที่เป็นนักเเข่ง ซึ่งตอนนั้น output ของเราคือเกม
กลายเป็นว่าหน้าที่ของผม คือ ต้องนั่งคิดว่ามุมมองของผู้เล่นเขาคิดอะไรอยู่ เขาทำอะไรอยู่ ทำไมเขาถึงเดินเกมแบบนี้ ทำไมเขาถึงเลือกใช้ตัวละครนี้ ทำไมถึงเลือกใช้อาวุธนี้ นี่คือสิ่งที่ผมต้องเข้าใจและสื่อสารออกมาให้คนทุกคนดู
หลายๆ ครั้ง คนดูจะรู้สึกห่างไกลกับคนแข่ง เหมือนเกมอยู่บนหิ้ง และรู้สึกไม่มีส่วนร่วม MC หรือนักพากย์จึงต้องสื่อสารเพื่อให้รู้สึกว่าเกมใกล้ชิดกับเขามากขึ้น พากย์ให้อินกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ได้
นักพากย์เกมต้องทำการบ้านหลังกล้องหนักแค่ไหน
ในฐานะคนที่ชอบเล่นเกม การศึกษาเรื่องพวกนี้เป็นงานอดิเรกอยู่เเล้ว ผมเลยไม่ได้รู้สึกว่าทำงานหนัก ยิ่งเราเคยผ่านการเป็นโค้ชมาด้วย จึงทำให้รู้เทคนิคต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่ใช่ว่าจะหยุดนิ่ง ผมดึงประสบการณ์ร่วม จากการที่เคยเป็นทั้งคนเล่น เป็นโค้ช คอมเมนเตเตอร์ จนมาถึงเป็นนักพากย์ และ MC เยอะมาก ยกตัวอย่างง่ายๆ ผมจะรู้ได้เลยว่าขณะที่แข่งขันอยู่ นักกีฬากดดันแค่ไหน ช่วงเวลานั้นมันมีแต่อารมณ์ที่รุนเเรง ซึ่งคนที่ไม่ได้อยู่บนเวทีอาจจะไม่เคยสัมผัส แต่เราเข้าใจดี ดังนั้นเราจึงเอาความรู้สึกที่เคยเกิดขึ้น สื่อสารให้คนดูเขาอินตามได้
ถ้าสมมุติว่าการเเข่งขันเกม ไม่มี MC และนักพากย์ จะเป็นอย่างไร
มันจืดแน่ๆ (หัวเราะ) เราต้องเเยกคำว่า sport กับ spectator sport กีฬา กับ กีฬาที่มีคนดูให้ออกจากกันก่อน
sport คือการเเข่งขันกีฬาเพื่อความเป็นเลิศล้วนๆ แต่ถ้าเป็น spectator sport เน้นเรื่องของคนดูและความบันเทิงเข้ามาเกี่ยว ซึ่งการเล่นเกม ผมคิดว่ามันมี potential มากพอที่จะเชื่อมโยงกับคนที่อยู่บนหน้าจอได้ นักพากย์จึงทำหน้าที่ต่อสายระหว่างเกม นักแข่ง คนดู ให้ทั้งสามสิ่งนี้เชื่อมต่อกันและสุดท้ายมันก็จะเกิดเป็นความบันเทิงขึ้น
ความยากหรือจุดท้าทายในอาชีพนักพากย์คืออะไร
ความยากที่หลีกไม่ได้ ก็คงเป็นการต้องจับอารมณ์ที่เกิดขึ้นตรงนั้นให้เร็วและขยี้ อะไรก็ตามที่มีอิมแพคต่อคนดู นักพากย์ต้องจับอย่าปล่อยมันไป ถ้าเปรียบเหมือนเป็นพ่อครัว หากมีวัตถุดิบดี แต่เราทำไม่อร่อยมันก็เสียดายของ เช่นเดียวกันกับในเกม ถ้าเหตุการณ์ตรงหน้ามันพีคมาก แต่ถ้าเราจับตรงนั้นไม่ได้และปล่อยให้มันผ่านไป มันก็เสียของ นี่คือสิ่งที่ challenge ที่สุดในอาชีพนักพากย์ ดังนั้นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ต้องมีคือ ‘ไหวพริบ’ และ ‘การเปลี่ยนความคิดให้เป็นคำพูดได้อย่างเร็วที่สุด’
อีกอย่างคือการพากย์ หรือ เป็น MC ในงานอีเวนท์หรือสถานที่เปิด จะทำให้ควบคุมได้ยากมากกว่า เพราะมีตัวแปรมากมาย ดีกรีความวุ่นวายจากสิ่งรอบข้างสูงกว่า มีอารมณ์ของผู้ชมที่อยู่ในงาน ทำให้สมาธิเราจดจ่อไปที่เกมและการพากย์ไม่เต็มที่ แต่มันมันส์นะ เหมือนเราดูคอนเสิร์ต ถ้าเรานั่งฟังเพลงเฉยๆ ก็สนุก แต่ถ้าเราได้เอาตัวเองไปอยู่ในคอนเสิร์ตนั้น มันจะสนุกกว่า ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น คอนเสิร์ตเราอาจจะแพลนได้ว่าต่อไปร้องเพลงนี้ แต่เราในฐานะนักพากย์ ไม่ใช่คนดำเนินเกม มีเพียงคนแข่งเท่านั้นจะที่สร้างสิ่งที่อยู่บนหน้าจอ
หัวใจสำคัญ คือต้องอย่าลืมว่านักพากย์ก็เป็นคนดู เราเป็นหัวหน้าคนดู ทุกคนที่ฟังที่กำลังดูเกมอยู่นั่นหมายถึงเราด้วย ดังนั้นเมื่อเราเป็นคนดู เราต้องรู้ว่าจุดไหนคือจุดสนุก ดึงออกมา และสื่อสารออกมายังไง ให้เขาอินไปกับเกม ณ ช่วงเวลานั้นให้ได้
เด็กรุ่นใหม่สนใจอาชีพนี้เยอะไหม
ทุกอาชีพที่ได้อยู่หน้ากล้อง อาชีพที่แสงสปอตไลท์ส่องไปถึง คนชอบและอยากเป็นอยู่แล้ว เพราะมันโดดเด่นและได้อยู่ในสายตา ลองนึกไปถึงวันแรกที่เราเริ่มเข้ามาพากย์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่สวยเอาซะเลย เละเทะ ยับเยินมาก ผมไม่รู้จังหวะ ไม่รู้ว่าจะพูดตอนไหน พอได้พูดก็พูดยาวเกินไป น้ำเสียงจริงจังเกินไป เป็นโมโนโทนเกินไป ควบคุมความตื่นเต้นไม่ได้ ก็ไม่คิดว่าจะมาจริงจังกับมัน
เอาเข้าจริงไม่ว่าจะอาชีพไหน ทุกคนก็เป็นได้ แต่การฝึกฝนคือเรื่องสำคัญ ต้องไปลุยก่อน ไปลองเล่นให้เชี่ยวชาญ บางคนอาจจะไม่ชอบเพราะเขามองเกมเป็นเรื่องของความผ่อนคลาย นักพากย์ต้องฝึกเล่น ฝึกวิเคราะห์มัน หา play pattern หาวิธีเดินเกมที่ได้คุณภาพที่สุด สเต็ปต่อมาคือการเขยิบออกจากตัวละคร มาวิเคราะห์กลยุทธ์ โดยใช้ประสบการณ์รวมถึงข้อมูลจากต่างประเทศ ทั้งหมดเพื่อเก็บเป็นคลังข้อมูล ทำให้เรื่องพวกนี้มันไปอยู่ในจิตใต้สำนึก เวลาพากย์จะได้ออกมาอัตโนมัติ
‘เฮียโก้’ เป็นนักพากย์เกมแบบไหน
มองตัวเองทำได้หลายด้าน จริงจังก็ได้ สาระก็ได้ ตลกก็ได้ เรามองว่าตัวเองเป็นคนที่สามารถเอนเตอร์เทนและให้สาระไปพร้อมๆ กัน เราไม่จำเป็นต้องเลือก ไม่จัดตัวเองว่าต้องไปอยู่ในกล่องไหน ทำอะไรได้ก็โชว์ไปเลย อาจจะไม่ได้ตลกสุด พีคสุด สาระสุด แต่แค่เราคนเดียวเอาอยู่ก็พอแล้ว
เกม คือ สิ่งที่ไร้สาระ คิดแบบนั้นไหม
จากคำพูดที่บอกว่าเด็กจะก้าวร้าวเพราะเกม หัวร้อน จนส่งพฤติกรรมหยาบคาย ผมว่ามันไม่ได้เพราะเกม แน่นอนว่าการเล่นเกมอาจจะมีพื้นที่เอื้อให้การปะทะอารมณ์ หรือการด่ากันอย่างง่ายๆ เช่น เราเห็นทีมไหนแพ้ ก็ด่า ทับถม
ทางแก้ไขของผมในฐานะ MC และนักพากย์ ไม่สามารถทิ้งทีมที่แพ้และอวยทีมชนะได้ เราต้องเสนอมุมมองของทีมแพ้ เมื่อการแข่งขันจบ มันจะมีคนที่คอยมาทับถมอีกฝ่ายอยู่แล้ว แต่แทนที่เราจะไปขยี้จุดนั้นโดยการห้ามเขา เราให้ความเข้าใจดีกว่า ทำให้เข้ารู้ว่ามันมีอะไรที่อยู่เบื้องหลังการแพ้นั้น เมื่อมีข้อความแย่ๆ ไหลเข้ามาในคอมเมนต์ เช่น
“ไอ้กาก!”
“ไอ้xx! เล่นไม่ได้เรื่อง”
“ทีม A อ่อน!!”
เราไม่จำเป็นต้องอ่าน หรือหยิบมันขึ้นมาเป็นประเด็นให้เกิดการปะทะที่มากขึ้น ในฐานะนักพากย์และผู้ดูข้อมูล เราเปลี่ยนคำพูดใหม่ เช่น “ทีมA สู้ๆ” แค่นี้ง่ายๆ เลย
นอกจากความบันเทิง ประโยชน์ของเกม คืออะไร
หน้าที่หลักคงเป็นความบันเทิง แต่เกมช่วยสะท้อนสังคมได้ในระดับหนึ่ง แล้วเป็นสังคมที่มีแต่ความจริงด้วยนะ อีกอย่างอยากให้ผู้ปกครองรู้ไว้คือเกมไม่ใช่กิจกรรมที่สร้างอาชีพให้กับทุกคน ไม่ว่าจะฟุตบอล บาสเกตบอล หรือเล่นเปียโน ดังนั้นไม่อยากให้พ่อแม่คาดหวังว่าลูกจะต้องไปสุดทางหรือต้องได้ประโยชน์จากกิจกรรมเหล่านี้ แต่อยากให้โฟกัสว่า ลูกของคุณสนุกกับกิจกรรมนั้นแค่ไหน ลูกของคุณดึงทักษะอะไรมาใช้ในชีวิตประจำวันได้บ้าง
คอนเซ็ปต์ที่คล้ายกันจนปฏิเสธไม่ได้ของกีฬาและเกม คือการสอนให้ลูก ‘รู้จักแพ้’ ถึงมันจะดูดาวน์ๆ นิดนึง แต่คนเป็นพ่อเป็นแม่รู้ดี ว่าเรื่องการสอนให้ลูกรู้จักแพ้ รู้จักล้ม มันสำคัญมากแค่ไหน
พ่อแม่มักมีกรอบที่ยึดไว้ว่า ลูกต้องเรียนหนังสือให้เก่ง การเรียนเท่านั้นคือสำคัญที่สุด จึงเป็นกับดักทำให้มองว่าเกมคือสิ่งอันตราย แต่ผมก็ไม่แปลกใจ เพราะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ผลการเรียนดีเท่ากับมีอนาคตดี แต่อย่างที่บอกไปตั้งแต่แรก ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบและการจัดสรรเวลาของตัวเอง ดังนั้นแทนที่จะห้ามลูกไม่ให้เล่น เราต้องหันมาสอนเรื่องเวลาและวินัยของลูกดีกว่า