- เมื่อการขายงานผ่าน NFT กำลังได้รับความนิยม ต่อให้ไม่ใช่คนสายศิลปะคงได้ยินข่าวทำนองว่าขายงานศิลปะได้หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน กระตุ้นต่อมอยากรู้ว่าวงการนี้เป็นอย่างไร
- ชวนคุยกับ กิม – ฮากีม หมันวาหาบ วัย 15 ปี เป็นศิลปินชาวไทยที่ลงขายงาน NFT ด้วยเช่นกัน โดยงานศิลปะที่กิมทำเป็นแบบ 3D Art หรือภาพศิลปะแบบสามมิติ ซึ่งกิมเรียนรู้ด้วยตัวเองตั้งแต่อยู่ป.6 รู้จักกับงาน 3D Art และ NFT ไปพร้อมๆ กับชีวิตของกิม
NFT หรือ Non – Fungible Token เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่จุดเด่น คือ การเป็นโทเคน (เหรียญ) ที่ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้ เรียกได้ว่ามีชิ้นเดียวในโลก นิยมใช้กับงานในแวดวงศิลปะ ด้วยการนำภาพวาด งานศิลปะต่างๆ เพลง เกม และอื่นๆ มาสร้างเป็น NFT
ในเวลานี้ NFT กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ฝั่งเมืองไทยต่อให้ไม่ใช่คนที่ติดตามวงการศิลปะก็คงเคยได้ยินข่าวทำนองว่า ‘เด็กอายุ… ปีขายงาน NFT ได้แสนกว่าบาท’ อาจทำให้หลายคนหันมาสนใจและอยากรู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร เพราะมีแนวโน้มว่าการขายงาน NFT อาจกลายเป็น ‘อาชีพ’ ยอดนิยมของคนรุ่นใหม่ในตอนนี้
กิม – ฮากีม หมันวาหาบ วัย 15 ปี เป็นศิลปินชาวไทยที่ลงขายงาน NFT ด้วยเช่นกัน โดยงานศิลปะที่กิมทำเป็นแบบ 3D Art หรือภาพศิลปะแบบสามมิติ ซึ่งกิมเรียนรู้ด้วยตัวเองตั้งแต่อยู่ป.6
บทสนทนาต่อไปนี้จะทำให้ทุกคนได้รู้จักกับงาน 3D Art และวงการ NFT และรวมถึงอาจทำให้ใครบางคนลุกขึ้นมาวาดลวยลายงานศิลปะก็ได้
โลก 3D ART
หลังจากได้โน้ตบุ๊กเครื่องแรกที่กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการท่องโลกของกิมที่กำลังอยู่ชั้นป.3 โดยปกติกิมใช้เล่มเกม หาข้อมูลที่สนใจ และได้รู้จักกับ ‘ครูยูทูบ’
“ยูทูบเนี่ยแหละตัวสำคัญเลย ผมดูและก็เรียนทำตามเขาไปเรื่อยๆ”
วันหนึ่งขณะที่กิมกำลังเล่มเกมซึ่งเป็นสิ่งที่เขาบอกว่าชอบที่สุด เบื้องหลังความสนุกที่ได้รับ คือ ฉากที่อลังการ และการครีเอทตัวละครในรูปแบบต่างๆ ทำให้กิมรู้สึกว่า “เราไม่อยากเป็นแค่คนบริโภค แต่อยากสร้างด้วย อยากรู้ว่าทำยังไงถึงออกมาเป็นแบบนี้ได้ เราอยากเป็นสายผลิต”
เมื่อแพสชันเกิดขึ้น กิมใช้ของที่อยู่ใกล้ชิดเขาที่สุดในการเริ่มศึกษาว่าการทำกราฟิกในเกมทำอย่างไร นั่นก็คือ ครูยูทูบ ทำให้เขาได้รู้จักกับงานศิลปะที่เรียกว่า ‘3D Art’ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่างานศิลปะแบบสามมิติ ซึ่งความหมายก็ตรงตามตัวเลยว่าเป็นการสร้างงานศิลปะที่มีความเสมือนจริง แตกต่างจากงานศิลปะที่เป็นแบบ 2D ก็คือการวาดภาพบทพื้นงานต่างๆ แต่ 3D จะเป็นการปั้นรูปขึ้นมาเป็นสิ่งต่างๆ ผ่านโปรแกรม เช่น Zbrush, cinema 4D, Blender
“ตอนแรกฝึกปั้นจากวงกลมให้ออกมาเป็นรูปร่างอะไรก็ได้ ค่อยๆ พัฒนาจนสามารถสร้างโมเดล (คำเรียกชิ้นงาน 3D Art) ใส่ดีเทล เทกเจอร์ต่างๆ หรือกระดูกทำให้มันเคลื่อนไหวเหมือนมีชีวิต (ภาษาคนทำ 3D art จะเรียกกระดูกว่า Rigging)
“เสน่ห์ของ 3D Art ในมุมผม คือเหมือนเราได้สร้างสิ่งๆ หนึ่งในคอมพิวเตอร์ด้วยวัตถุดิบที่ไม่จำกัด สร้างสิ่งที่เกิดขึ้นในจินตนาการของเรา โดยที่ไม่ใช่การวาดด้วยดินสอ”
สัตว์ประหลาดต่างๆ ที่ทำให้เราตื่นตาในโลกภาพยนตร์ การสร้างโลกที่ไม่มีอยู่จริง การสร้างฉากและตัวละครในเกม รวมถึงการ์ตูนที่สมจริงเหมือนคน ทั้งหมดคืองาน 3D Art
กิมแชร์ช่องยูทูบที่เขาเริ่มเรียนทำ 3D Art CG Shortcuts, New Plastic, Josh Pierce ส่วนใหญ่จะเป็นยูทูบเบอร์ต่างชาติ ทำให้ความยากของการเรียน 3D Art คือ กำแพงภาษา กิมเล่าว่า หาคนสอนในยูทูบที่เป็นคนไทยไม่ค่อยเจอ ทำให้ต้องเรียนกับชาวต่างชาติ ซึ่งข้อดีได้พัฒนาทักษะภาษา
ถ้ามีโอกาสลองเข้าไปชมผลงานของกิมผ่านแอ็กเคานต์อินสตาแกรม hakkemwahab ภาพที่เราจะได้เห็น คือ โมเดลที่เป็นโครงกระดูกต่างๆ ให้ความรู้สึกดูหลุดจากความเป็นจริง กิมเรียกงานที่เขาทำว่าเป็นแนวไซไฟ (Sci – Fi หรือ Science Fiction เป็นไอเดีย เรื่องราวที่แต่งขึ้น โดยตั้งอยู่บนฐานคิดทางวิทยาศาสตร์)
งานของกิมจะเป็นการผสมผสานระหว่างการดึงสิ่งที่เขาชอบมาปั้นเป็นโมเดลต่างๆ นั่นก็คือความเชื่อทางศาสนาคริสต์ ตำนาน และนักปราชญ์ต่างๆ
“ผมชอบใช้พวกรูปปั้น หรือว่านักปราชญ์ เพราะมันโดนใจเราตรงที่มีสิ่งพวกนี้มีสตอรี่ในตัวมันเอง เช่น ผมชอบนักปราชญ์คนหนึ่งชื่อว่า Chrysippus เป็นนักปราชญ์ที่ตายเพราะหัวเราะ ผมชอบสตอรี่ของเขาก็เลยเอามาปั้นเป็นโมเดล ใส่หัวกะโหลกให้เขา”
กิมหยิบผลงานที่เขาชอบมาที่สุดมาเล่าให้เราฟัง เป็นงานที่เอานักปราชญ์ชาวกรีกชื่อว่า Chrysippus มาปั้นทำงาน 3D Art เพื่อส่งเข้างานประกวดที่จัดโดยศิลปินในดวงใจเขา Billelis ถึงแม้จะไม่ชนะในการประกวด แต่ผลงานชิ้นนี้ก็ยังคงติดอันดับหนึ่งผลงานที่กิมชอบมากที่สุด
ทำไมถึงชอบละ? – เราพยายามหาคำตอบ เพราะรู้สึกได้ถึงพลังที่แผ่ออกมาจากตัวกิมเมื่อเขาพูดถึงผลงานชิ้นนี้ มีทั้งความสุข สนุก และภูมิใจที่ได้ทำ กิมเพียงแต่ยิ้มให้เราและตอบว่า “ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่ว่าเราชอบชิ้นนี้มากๆ ภูมิใจที่ได้ทำ”
โลก NFT
NFT แพลตฟอร์มลงงานที่กำลังมาแรงในหมู่คนทำงานศิลปะ กิมเป็นคนหนึ่งที่นำงานไปลง เขาเล่าว่ารู้จัก NFT ตอนอ่านข่าวศิลปินที่ชื่อว่า Beeple ขายงานได้ราคา 2 พันล้านบาทผ่าน NFT ทำให้กิมสนใจเช่นกัน เขาทดลองลงขายงานทั้งหมด 4 ชิ้น ผลตอบรับมีคนซื้อผลงานของเขาทั้งหมดโดยคอลเลกเตอร์คนไทย (คำที่ใช้เรียกคนที่ซื้อผลงาน NFT) ตกชิ้นละประมาณหนึ่งหมื่นบาท
ความรู้สึกตอนขายผลงานชิ้นแรกได้เป็นยังไง – เราถามกิม
“ตื่นเต้นมากๆ ตอนนั้นวิ่งไปบอกพ่อบอกแม่ ดีใจสุดๆ ได้เงินก้อนแรกงาน NFT” ประกายในแววตากิมยังคงปรากฏร่องรอยให้เราเห็น ถึงแม้ช่วงเวลานั้นจะผ่านไปแล้ว
แม้ผลตอบแทนจะเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้กิมสนใจ NFT แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุด คือ NFT เป็นเสมือนประตูที่เปิดกว้างให้คนที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนได้เห็นผลงานของกิม เป็นเหมือนสนามที่ทุกคนสามารถลงแข่งด้วยกัน
“มีคนต่างชาติมาคอมเมนต์ในไอจีผมว่าสุดยอด เท่ อ่านแล้วเราก็รู้สึกดีสุดๆ นะ ที่มีคนรู้สึกดีกับงานเรา”
โลกรอบข้างของกิม
นอกจากงาน 3D Art ที่กิมรัก ‘คอมพิวเตอร์’ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กิมรัก อาจจะมากกว่างานศิลปะด้วยซ้ำ กิมเล่าว่าเพราะความชอบในคอมพิวเตอร์เนี่ยแหละ ที่ทำให้เขารู้จักกับ 3D Art และเป็นทักษะสำคัญในการทำงานศิลปะดังกล่าว
“มีพี่ที่โรงเรียนผมคนหนึ่งเขาเป็นเซียนคอมพ์เลยแหละ ผมชอบเวลาเขาเขียนโค้ดให้ดูแล้วบนหน้าจอก็ออกมาแบบหนึ่ง ทำให้ผมสนใจอยากทำแบบพี่เขาได้”
ที่หาดใหญ่วิทยาคาร โรงเรียนที่กิมเรียนตอนนี้ มีเปิดสอนวิชา Coding (การเขียนชุดคำสั่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์) ทำให้เขาได้ขยับเข้าใกล้สิ่งที่ชอบ ประกอบกับโรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนตั้งชมรมที่สนใจและมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญมาช่วยสอนนักเรียนด้วย
“ผมเคยสร้างเกมส่งอาจารย์ เป็นเกมผีเอาไว้แกล้งเพื่อน (หัวเราะ) เราเซ็ตคำสั่งว่าถ้าคนเล่นเดินผ่านจุดนี้จะมีผีออกมาแกล้ง”
ที่ขาดไม่ได้ คือ คนที่ให้อุปกรณ์กิมทำให้กิมได้รู้จักและทำงานศิลปะ ก็คือพ่อแม่ กิมบอกว่าตัวเขาโชคดีที่พ่อแม่ปล่อยให้ทำสิ่งที่อยากทำ “ผมชอบคอมพ์อยู่แล้ว แม่ก็สนับสนุนว่าจะชอบคอมพิวเตอร์จริงๆ ไปสายนั้นเลยก็ได้ คือปล่อยเราเต็มที่ โน้ตบุ๊กที่ได้มาเพราะบอกว่าเราอยากได้ เขาก็ซื้อให้มา”
โลกอนาคตของกิม
“ผมอยากลองปั้นโมเดลแล้วเอามาจัดถ่ายรูปให้ภาพออกมาแนว cinematic (cinematic photography การถ่ายภาพโดยจัดองค์ประกอบให้เหมือนภาพยนตร์ ให้ความรู้สึกที่ลึกกับคนดู) แพนกล้องช้าๆ โชว์โมเดลของเรา” กิมเล่าถึงแพลนงานชิ้นต่อไปของเขา ที่คราวนี้จะขยับไปทำงานอีกฝั่ง การจัดโชว์แสดงผลงาน ทำให้เราสงสัยว่ากิมอยากจัดโชว์แสดงผลงานของตัวเองไหม นอกจากแพลตฟอร์มอย่างอินสตาแกรมและ NFT
“อยากเหมือนกันครับ ไปจัดนิทรรศการในห้องเล็กๆ สักห้องหนึ่ง เอาผลงานขึ้นจอให้คนมาดู แต่คงต้องโตก่อนนะ (หัวเราะ) เพราะที่สงขลาคนสนใจน้อย ถ้าไปกรุงเทพฯ แถวภาคกลางคงมีคนสนใจบ้าง ผมเห็นในกรุงเทพมีจัดนิทรรศการศิลปะเต็มไปหมดเลย แถวบ้านผมคือไม่มีเลย (หัวเราะ)”
ส่วนแพลนอนาคตของกิม เขาตั้งเป้าว่าอยากเป็นศิลปินที่มีชื่อระดับโลกเช่นเดียวกับไอดอลของเขา ก่อนจะไปถึงความฝันนั้น กิมขอทำความฝันหนึ่งให้เป็นจริงก่อน “จะมีเว็บๆ หนึ่ง ที่คนในวงการ 3D Art บอกว่าเข้ายากมาก (เน้นเสียง) เป็นเว็บที่ศิลปินดังๆ เข้าไป ผมก็อยากเข้าเว็บนั้นให้ได้ด้วย” กิมกล่าวทิ้งท้าย